สาระในโลก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อันนี้คำถามนี้ก่อน เพราะเมื่อวานเราไปเน้นตรงนั้น อันนี้เลยมองข้ามเลยแล้วลืมไป เขาถามมานะเมื่อวาน อันนี้ปัญหาในเว็บไซต์เป็นตั้งๆ เลย เอาไว้ก่อน มันเป็นคำถามแห้ง อันนี้คำถามสด
ถาม : เรื่อง โลกนี้มีอะไรที่เป็นสาระที่ควรใส่ใจบ้าง (นี่คือคำถามนะ)
หลวงพ่อ : เราเกิดมาในโลกนี้ สิ่งใดที่เป็นสาระเป็นแก่นสาร ถ้าเป็นสาระเป็นแก่นสาร มันต้องย้อนกลับมาผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาก่อน ว่าเรานี่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างใด ถ้าเรามีความรู้สึกนึกคิด เช่นอย่างเรานี่เราเป็นคนจีนนะ เราเชื้อสายจีน เชื้อสายจีนเป็นคนที่แบบว่าพ่อแม่เขาต้องให้ขยันทำมาหากิน เป็นคนขยันขันแข็ง คนจีนเขาจะฝึกลูกให้ทำมาค้าขาย ให้ฝึกหัดมาตั้งแต่เด็ก ให้มีความขยันขันแข็ง
เราเป็นคนเชื้อสายจีน ฉะนั้นเวลาเราจะออกบวชเป็นเรื่องที่ลำบากยากแค้นแสนเข็ญ เพราะอะไร เพราะในมุมมองของโลก ในมุมของโลกบอกว่าบวชพระไปแล้วมันไม่ได้ทำงาน บวชไปแล้วกินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน เป็นเรื่องที่ฝึกหัดขี้เกียจ ไม่เป็นคนขยันขันแข็ง โลกเขามองว่าเป็นคนที่ไม่สู้สังคม เป็นคนที่หนีโลก เป็นคนที่เอารัดเอาเปรียบ เป็นคนที่เอาตัวรอด นี้เป็นความเห็นไง
เขาบอกว่า โลกนี้มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร มันอยู่ที่มุมมองของใครไง มุมมองของคน เห็นไหม อย่างเช่นเรา เพราะว่าเราประสบการณ์กับตัวเราเองมา ก่อนจะบวชพ่อแม่เป็นกังวลเรื่องนี้มาก เพราะว่าเขาฝึกเรามาตั้งแต่เด็กให้เป็นคนขยันขันแข็ง ขยันขันแข็งจริงๆ ทำงานทำจริงทำจังมาก มันเป็นนิสัย บวชแล้วภาวนาแล้วถึงจะได้เข้าใจว่า อ๋อ.. วาสนาคนมันเป็นแบบนี้ วาสนาคนจะมีสัจจะ มีความเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ แต่ถ้าคนวาสนาไม่เต็มที่มันจะอ่อนแอ อ่อนแอแล้วทำอะไรไม่จริงไม่จัง ทำอะไรประสบความสำเร็จมันก็เป็นไปได้ยาก
ฉะนั้นว่า โลกนี้มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร ถ้ามองทางโลกเขาก็บอกว่า ความประสบความสำเร็จในชีวิต ทำแล้วมีคนเชื่อถือศรัทธา ทำอะไรนี่ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย เพราะแก่นสารของโลกมันไม่มี แก่นสารของโลกนี้เป็นผลของวัฏฏะ
ผลของวัฏฏะคือกามภพ รูปภพ อรูปภพ
กามภพคือตั้งแต่เกิดในโลกนี้ รูปภพ อรูปภพ เห็นไหม กามภพตั้งแต่เทวดาลงมา รูปภพ อรูปภพเป็นพวกพรหม มันก็เวียนตายเวียนเกิดไง มันเป็นผลของวัฏฏะ การเกิดการตายนี้เป็นผลของวัฏฏะ ฉะนั้นแก่นสารในโลกนี้มันไม่มี! มันไม่มีแล้วเกิดมาทำไม มันไม่มีแล้วเราเกิดมามีชีวิต เราเกิดมามีทุกข์
มันไม่มี.. มันไม่มีแก่นสาร แต่! แต่มันเป็นผลของวัฏฏะ เป็นผลของเวรของกรรม เป็นผลของจิต มันเป็นสิ่งที่ จะบอกว่าเป็นธรรมชาติ มันก็ไปเข้ากับธรรมะเป็นธรรมชาติอีกแหละ เขาบอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ เราบอกว่าธรรมชาติคือวัฏฏะนี้ไง ธรรมชาติคือการเวียนตายเวียนเกิด ธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้ว นี่ผลของโลก
มันมีอยู่ใช่ไหม มันมีอยู่แล้วเราต้องเป็นไปตามนั้น เป็นไปตามนั้นเพราะมันเป็นวิบาก มันเป็นวิบากนะ มันเป็นวิบากว่าเราต้องเกิดต้องตาย มันเป็นวิบาก ทีนี้วิบากเกิดจากอะไร วิบากคือผลจากกรรม กรรมคืออะไร กรรมมันอยู่ที่จิต จิตมันมีการกระทำนั้น เวลาเราทำนี่ เราทำด้วยกายกรรม วจีกรรม มันเป็นกิริยา วจีกรรมถ้าไม่คิดมันจะพูดออกมาได้ไหม ถ้าไม่คิดมันจะทำได้ไหม
กายกรรม วจีกรรม มันเกิดจากมโนกรรม มันมีมโนกรรมก่อน เพราะมโนกรรมมันคิด มันจินตนาการก่อน มันต้องมีความหมายของมันก่อน มันถึงมีการกระทำออกมา ทีนี้มีการกระทำออกมา กรรมมันอยู่ที่นั่นไง ฉะนั้นพอกรรมอยู่ที่นั่น จิตมันก็เวียนตายเวียนเกิดไง นั้นเป็นผลของโลกไง
เขาบอกว่าโลกนี้มีอะไรเป็นแก่นสาร เราบอกว่าโลกนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ โลกนี้มีอยู่นะ เราพูดบ่อยบอกว่า ดอกบัวเกิดจากโคลนตม ฉะนั้นเวียนตายเวียนเกิดมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติของมัน ทีนี้ธรรมชาติมันต้องให้ผลเป็นแบบว่าเสมอภาคใช่ไหม ทีนี้ธรรมชาติให้ผลไม่เสมอภาค ธรรมชาติให้ผลไม่เสมอภาคเพราะมันมีบุญกับบาปไง
บาปมันก็ให้ผลในทางทุกข์ยาก บุญมันก็ให้ผลในทางดีๆ แต่เวียนตายเวียนเกิดนี่เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติสัจจะมันมีของมัน แต่เรามีเวรมีกรรมของเรามันทำให้ธรรมชาตินี้ไปตามดีและชั่ว ได้บวกหรือลบ ฉะนั้นโลกมีเท่านี้
เขาถามว่า โลกนี้มีอะไรเป็นแก่นสาร เราเข้าใจว่าคนถามนี้ เขาจะให้เข้าใจเรื่องชีวิตไง เรื่องชีวิตเรื่องโลก ฉะนั้นถ้าเรื่องโลก ถ้าเราไปพูดเรื่องธรรมะก่อน มันก็จะทำให้เหมือนกับตะแบง เขาถามเรื่องหนึ่งก็ตอบอีกเรื่องหนึ่ง เขาถามเรื่องโลก เราจะไปตอบเรื่องธรรม นี้เขาถามเรื่องโลกก็ต้องเอาเรื่องโลกขึ้นมาตั้งก่อน ว่าโลกนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นวิบาก มันเป็นผล แต่เพราะมันมีผลอยู่แล้ว เพราะเราเกิดเป็นคน เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเกิดพบพุทธศาสนา ถ้าในพุทธศาสนานั่นคือธรรมแล้ว
โลกนี้มีอะไรเป็นแก่นสาร.. ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมนะ ครูบาอาจารย์จะบอกว่า หัวใจเรานี้เป็นแก่นสาร หัวใจของคน หลวงตาท่านพูดบ่อย แล้วเวลาท่านพูดนะ คนฟังแล้วมันก็เฉยๆ แต่เราฟังทีไรเราก็สะเทือนทุกที ว่า ที่มานี้มาเพราะหัวใจของคน เวลาหลวงตาท่านไปไหนนะ ท่านบอกว่า ท่านไปเอาหัวใจคน ท่านไปเพื่อน้ำใจคน ท่านมองสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ท่านไม่มองเรื่องสิ่งอื่นเลย ท่านมองเรื่องน้ำใจคน
น้ำใจนี่มันมาจากใจ แต่ตัวใจจริงๆ มันเป็นฐีติจิต แต่เวลาแสดงออกด้วยน้ำใจ ด้วยคุณค่า หลวงตาไปไหนท่านบอกว่า เราไปเอาน้ำใจคน เราเห็นแต่น้ำใจคนทั้งหมด ทีนี้น้ำใจนี่มันอยู่ในอวิชชา น้ำใจของพวกเรามันโดนกิเลสครอบงำอยู่
ฉะนั้นเรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง ท่านมาเพื่อมาเอาน้ำใจ เราก็ศรัทธา เราก็มีความเชื่อ เวลาท่านไปที่ไหน เราไปทำบุญกุศลกับท่าน แล้วเราก็มีความปลื้มใจ เราก็มีความสุข อันนี้คือบุญ บุญของเราคือได้เสียสละกับครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเรามีความสุข เรามีความสุข เรามีความชื่นบาน นี่คือบุญ
บุญและบาป เวลาเราปฏิบัติธรรมมันต้องข้ามพ้นทั้งบุญและบาป บุญนี้จะพาให้เราไปเกิดในสวรรค์ ในพรหม ในสิ่งต่างๆ มันก็เป็นผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือว่าเวลาเราเกิดมานี่ เราเกิดมาด้วยบุญกุศลมันก็เกิดในวัฏฏะ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ ถ้ามีบุญเราก็ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ถ้ามีบุญ มีบุญเราก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ เป็นมนุษย์ที่พ่อแม่คาบช้อนเงินช้อนทองอย่างนั้นล่ะ
ถ้าเรามีบุญนะเราก็คาบช้อนเงินช้อนทอง ออกมาก็มีแต่ความสุข แต่! แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า คนเราไม่ใช่ดีเพราะการเกิด คนเราดีเพราะการกระทำ
การเกิดนี้มันเกิดจากผลบุญกุศลใช่ไหม แต่ความดีที่เราจะพ้นทุกข์ มันต้องทำให้เราทำ ทาน ศีล ภาวนา เราต้องภาวนาของเรา คนดี คนชั่ว คนที่มันจะพ้นจากทุกข์ได้ มันจะต้องพ้นจากทุกข์ได้ที่การภาวนา ด้วยการที่เราขวนขวายช่วยเหลือตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราดีเพราะว่าเราได้เกิด เหมือนกับศาสนาฮินดู เห็นไหม เกิดเป็นพราหมณ์ แพศย์ กษัตริย์ วรรณะของเขา เขาเกิดวรรณะไหน แล้วเขาเป็นวรรณะนั้น เขาก็ต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป
นี่ก็เหมือนกัน การเกิดนะ เกิดด้วยบุญกุศลพาเกิด แต่ว่าเวลาผลนี่ โลกนี้มีอะไรเป็นแก่นสาร มีอะไรเป็นสาระ ถ้าเป็นสาระนี่เรามองไม่ออกหรอก โดยธรรมชาติของพวกเรา พวกเรานี่ติ๊งต๊อง วุฒิภาวะมันต่ำไง มองอะไรไม่เข้าใจหรอก เราจะมองสิ่งใดไม่เข้าใจหรอก เราก็มองเรื่องโลก ทุกคนก็มองว่า โอ้โฮ.. จริงๆ นะ ทุกคนคิดว่าคนมีตังค์ คนร่ำรวยจะมีความสุข ทุกคนคิดอย่างนั้นหมด แล้วเวลาพวกโยมทำงานแล้วประสบความสำเร็จแล้วสุขไหม ถามตัวเองนั่นล่ะ เวลามีเงินเยอะๆ กอดเงินมันสุขไหม?
ถ้าเป็นคนดี เราเป็นคนดีนะ เงินนั้นจะเป็นประโยชน์ ถ้าเราเป็นคนไม่ดีนะ เงินนั้นมันซื้อได้ทั้งหมด มันทำลายทั้งหมดแหละ ที่หลวงตาพูดบ่อย เห็นไหม เปรต ๔ ตัว ทุ สะ นะ โส ที่ว่ามีเงินแล้วเที่ยวไปซื้อลูกซื้อเมียเขา ทำลายครอบครัวเขาทั้งหมดเลย เงินทั้งนั้นนะ เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี แต่ได้ใช้เงินนี้เพื่อประโยชน์สุขส่วนตน แต่ไปทำลายเขาหมดเลย เวลาตายไปตกนรกอเวจีนะ
นี่ไงถ้ามีเงิน เราไปมองกันตรงนั้นไง เราถึงบอกว่าพวกเรามองกันไม่ออกหรอก เราไม่รู้นะว่าคนไหนมีความสุขจริงและไม่มีความสุขจริง แต่เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า อย่างเช่นหลวงตา ครูบาอาจารย์เรานี่นิ่ง! เฉย! นิ่งอยู่อย่างนั้นล่ะ ยิ่งหลวงปู่ลีนี่ นิ่งอยู่เลย ความนิ่งอยู่อันนั้นนิ่งอยู่เพราะอะไร
ความสุขสิ่งใดในโลกนี้ เท่ากับความสงบไม่มี จิตมันสงบนิ่งของมัน มันไม่ต้องการสิ่งใดเลย เวลามันขยับออกมาเขาเรียกเสวยนะ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์นะ จิตไม่มี ทุกอย่างไม่มี เป็นธรรมธาตุ พลังงานคงที่ แต่เวลาจะคิดเขาเรียกว่าเสวย มันต้องกระเพื่อม พอมันกระเพื่อมปั๊บ พอมันจะคิดอะไรมันมีสติมาพร้อม เพราะกระเพื่อม อย่างเช่นเราขยับตัวเราจะมีความรู้สึกไหม.. มี
ฉะนั้นพอจิตมันจะออกเสวยอารมณ์นี่มันขยับตัว พอมันขยับตัวมันจะมีสติไปพร้อม ทีนี้พอมีสติไปพร้อมมันจะรู้เลยว่าคิดหรือไม่คิด จะเสวยหรือไม่เสวย ถ้าไม่เสวยมันก็อยู่ของมัน อยู่ปกติของมัน แต่เวลาสิ้นชีวิตไปนะ อนุปาทิเสสนิพพานคือไม่มีธาตุขันธ์แล้ว มันเป็นธรรมธาตุล้วนๆ แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่นี่สอุปาทิเสสนิพพาน
ฉะนั้น อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า เพราะอะไร เพราะในใจท่านจะคิดหรือไม่คิด ท่านรู้หมด แล้วคิดแล้วจะพูดออกไป มันกระเทือนใครไม่กระเทือนใคร แต่ทำไมหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เรานี่อย่างกับฟืนอย่างกับไฟเลย ไหนว่าไม่คิด ไม่คิดทำไมมันแรงขนาดนั้น อันนี้มันเป็นธรรมะ! ธรรมคือว่าเตือนลูกศิษย์
การแสดงธรรม การบันลือสีหนาท ฤทธิ์ในพระพุทธศาสนา เราบอกว่าฤทธิ์นะ มีหูทิพย์ ตาทิพย์นี่ฤทธิ์ในพุทธศาสนา แต่พระพุทธเจ้าบอกเลย
ฤทธิ์ในพุทธศาสนาคือการบันลือสีหนาท
คือการเทศน์ คือการที่หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ ที่ว่าออกมาแรงๆ นั่นล่ะคือการบันลือสีหนาท นี้คือฤทธิ์ในพุทธศาสนาที่ยอดเยี่ยมที่สุด แต่พวกเราเจอเข้านะ โอ้โฮ.. นี่มันไฟ อย่างกับไฟเลย โอ้โฮ.. พระอรหันต์เป็นอย่างนี้เหรอ โอ้โฮ.. พระอรหันต์ก็ต้องโอ๋ไง โอ๋กันไปก็โอ๋กันมา ไอ้เราก็คิดว่าพระอรหันต์ต้องโอ๋ใช่ไหม พอไปเจอโอ๋ๆ เข้าหมด ล้วงกระเป๋าเกลี้ยงเลย พอไปเจอของจริงเข้าไม่เอา เจอของจริงเข้าไม่เอา
นี้พูดถึงว่าเราเข้าใจไม่ได้หรอก เพราะความที่เราไม่เข้าใจนี้ เราก็คิดของเราไปใช่ไหม ฉะนั้นเวลาเราอ่านพระไตรปิฎกกันว่าพระอรหันต์ต้องเรียบร้อย พระอรหันต์นะในพระไตรปิฎกนี่พระพุทธเจ้าเป็นผู้บัญญัติเอง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าบัญญัติเอง พระอรหันต์ต้องบัญญัติตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน
ทีนี้พอพระพุทธเจ้าบัญญัติตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา พระพุทธเจ้านี่ ในพระอรหันต์ทั้งหมดมีพระพุทธเจ้าองค์เดียวที่ละนิสัยได้ ละกิเลสด้วย ละนิสัยด้วย ตั้งแต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะลงมา เป็นพระอรหันต์แต่ละนิสัยไม่ได้ นิสัยสันดานอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ละกิเลสได้ ฉะนั้นมีอยู่องค์เดียวที่เวลานอน นอนสีหไสยาสน์ ฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าเขียนถึงพระอรหันต์ในพระไตรปิฎก ถึงเขียนตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ทีนี้พระพุทธเจ้าลงมามันก็มีองค์เดียว
ทีนี้เวลาพระอรหันต์ในพุทธกาลนะ พระอรหันต์เวลาไปไหนนะ ไอ้ถ่อย! ไอ้ถ่อย! ไอ้ถ่อยก็เหมือนกับเราพูดภาษาพ่อขุนรามคำแหงนั่นล่ะ ไอ้ถ่อย! ไอ้ถ่อย! ทีนี้พอไอ้ถ่อย มันมีญาติโยมเขามีดีปลีเอามาขาย นี้พระอรหันต์นะว่า ไอ้ถ่อยจะไปไหน คนขายดีปลีมันโกรธมาก ก็ว่า ไอ้ถ่อยมึงจะไปไหน ก็ย้อนพระอรหันต์ไง
พอย้อนพระอรหันต์เสร็จปั๊บ คนขายดีปลีนี้ก็เอาดีปลีไปขาย สมัยโบราณเป็นเหมือนตลาดนัด พอไปถึงปั๊บจะเอาดีปลีไปขาย เปิดมาดีปลีเป็นขี้หนูหมดเลย พอเป็นขี้หนูก็ตกใจ พอตกใจ เพื่อนที่ไปด้วยก็ถามว่าเมื่อกี้เอ็งทำอะไรบ้าง ก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่เดินผ่านมา เห็นพระองค์หนึ่งเขาบอกว่าไอ้ถ่อย ด้วยความโกรธก็ตอบไปว่าไอ้ถ่อยเหมือนกัน.. ให้กลับไปขอขมาพระองค์นั้น พ่อค้านั้นรีบกลับไปหาพระองค์นั้นแล้วขอขมา ขอขมากับพระอรหันต์ กลับมาขี้หนูกลับเป็นดีปลีอย่างเก่า
นี่พระอรหันต์นะ ไปไหนนะ ไอ้ถ่อย ไอ้ถ่อย เวลาทักคนท่านพูดภาษาพ่อขุนรามฯ ฉะนั้นพอเราคิดว่าพระอรหันต์ต้องเป็นแบบพระพุทธเจ้า ต้องเป็นแบบนั้นหมดใช่ไหม ฉะนั้นพอเราไปอ่านพระไตรปิฎกกัน เราก็คิดกันอย่างนั้น ฉะนั้นพระอรหันต์ในเมืองไทยมีอยู่องค์เดียว ไม่ใช่องค์เดียว มีอยู่ทุกองค์แต่เป็นอย่างนี้(พระพุทธรูป) องค์อย่างนี้เป็นพระอรหันต์เพราะไม่ได้ขยับเลย
นี้เราเข้าใจไม่ได้ไง พอความที่เราเข้าใจไม่ได้ เพราะปัญญาเราไม่ถึงหรอก แต่ถ้าพอเราปฏิบัติไปเราจะเข้าใจ แล้วเราจะรู้ พอเราเข้าใจแล้วเราจะรู้นะ
หลวงตาบอก เวลาแสดงธรรมมันบอกถึงกึ๋นไง มันบอกถึงในหัวใจนั้น ถ้าพูดออกมาผิด คนๆ นี้ภาวนาไม่เป็น
การแสดงธรรมจะต้องไม่ผิดจากอริยสัจเลย การพูดออกไปจะอยู่ในหลักในเกณฑ์ตลอด จะปิดบังขนาดไหนมันก็ออก แต่ถ้าคนไม่มี พยายามจะพูดอริยสัจนะ นั้นคืออริยสัจจำ อริยสัจจำมันอยู่ผิวเผิน เพราะอริยสัจจำมันเป็นอริยสัจของพระพุทธเจ้า แต่กิเลสของตัวมันไม่เข้าใจ สิ่งที่ไม่เข้าใจ พูดออกไปนะมันคลาดเคลื่อน
เราเองนี่เราสงสัย แล้วเราไม่แน่ใจสิ่งที่เราจะพูด เราพูดออกไปถูกไหม เราไม่แน่ใจในความรู้ความเห็นของเรา แล้วเราแสดงออกไปมันจะชัดเจนไหม แต่พระอรหันต์นะจะแน่ใจในความรู้ความเห็น เพราะความรู้ความเห็นนั้นมันพลิกแพลงมาตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ตั้งแต่เป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพาน ๑
พระอรหันต์ต้องผ่านขั้นตอนการกระทำนี้มาทั้งหมด พระอรหันต์จะรู้เห็นการเป็นไปของจิตที่ผ่านมาทั้งหมด แล้วพระอรหันต์จะลังเลสงสัยในความรู้ความเห็นของตนได้อย่างไร ฉะนั้นการแสดงออกของพระอรหันต์ชัดเจนมาก แต่! แต่มีน้อยองค์ พอมีน้อยองค์ การแสดงออกไปนี่โลกรู้ได้ยาก เว้นไว้แต่ท่านจะใช้กาลเวลา การพิสูจน์จากสังคม พอสังคมเริ่มยอมรับ เริ่มเอะใจ แล้วเริ่มใช้สติปัญญาฟัง นั่นสังคมจะเริ่มได้ประโยชน์ อืม.. จริง จริง แต่เป็นความจริงเหนือโลก เป็นความจริงที่ว่า ธรรมะอันนั้นเป็นความจริง แต่คนฟังโคตรสงสัยเลยล่ะ
จริง! แต่เราไม่รู้ด้วยไง แต่เราก็ยังว่ามันเป็นความจริง แต่คนฟังโคตรสงสัยเลย แต่ถ้าเป็น ธรรมะนิยาย นิยายธรรมะ เวลาโลกเขาแสดงธรรม เขาแสดงธรรมะนิยาย นิยายหมายถึงว่ามันเป็นจินตนาการ มันเป็นการตรึกเอา แล้วพอเขาแสดงธรรมมา พวกเรามันก็มีอวิชชา มีความลังเลสงสัยอยู่แล้ว พอเจอธรรมะนิยายนะ โอ้โฮ.. ซาบซึ้ง ซาบซึ้งมากๆ แต่ถ้าเจอธรรมะของจริงนะ ฟังไม่ออก แต่ถ้าเจอนิยายนะ โอ้โฮ.. ใช่! ใช่! โอ้โฮ.. เข้าใจได้เลย แหม.. เหมือนกันเปี๊ยบเลย โอ๋ย.. ใช่เลย
มันเป็นนิยาย! ถ้าเจอธรรมะนิยายนะ เพราะเรามีอวิชชา เรามีความลังเลสงสัย เรามีความไม่รู้ เรามีความไม่เข้าใจ แต่จิตใต้สำนึกเราอยากปฏิบัติธรรม เราอยากได้ธรรม แต่ธรรมอันนี้เรายังไม่เคยได้สัมผัส เราไม่มีสันทิฏฐิโกในหัวใจของเรา พอไปเจอครูบาอาจารย์ที่มีศักยภาพทางสังคม แสดงธรรมะนิยายนี่แหม.. ซาบซึ้งมาก แต่ถ้าไปเจอธรรมะของจริงแบบหลวงตาท่านสอน ท่านบอกเลยนะ ไม่มีลูบหน้าปะจมูก
จมูกขาดหมด! เพราะอะไร เพราะนี่คือสัจจะ แล้วเราจะรู้จริงหรือไม่รู้จริง เรื่องของผู้ฟัง แล้วถ้าผู้ฟังปฏิบัติเข้ามา มันจะเข้าสู่สัจจะนั้น ฉะนั้นสงวนสัจจะอันนั้นไว้ ถึงถ้าเป็นธรรมจริงแล้วจมูกขาดหมด ไม่มีลูบหน้าปะจมูก แต่นิยายนี่ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูกนะ มันอุ้มทั้งตัวเลย มันอุ้มทั้งคนขึ้นมาเลย มันไปอุ้มเขาหมดไง
นี้พูดถึง สาระแก่นสารในโลกนี้ มีอะไรเป็นที่น่าใส่ใจบ้าง พูดไปนี่ เราพูดมาตั้งแต่โลกก่อน ถ้าเราจะบอกว่า หัวใจสำคัญ หัวใจสำคัญ มีคนที่แบบว่าคนพาลเขาเคยพูดนะ บอกว่า ถ้าหัวใจมันสำคัญ ก็นึกเอาเองทุกอย่างไม่ต้องทำอะไรเลย เขาพูดขนาดนั้นก็มีนะ คนถ้าไม่เห็นด้วยเขาก็จะถากถาง
ฉะนั้นเวลาเราพูดธรรมะไป เราจะพูดดีหรือพูดชั่วก็แล้วแต่ ถ้าคนเขาไม่เห็นด้วยเขาก็จะถากถาง เขาจะทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ อันนั้นเป็นเรื่องของเขานะ แต่ถ้าเป็นความจริง อย่างเช่นเด็ก เราก็ปฏิสันถารเด็กในฐานะของเด็ก เราจะปฏิสันถารผู้ใหญ่ ในฐานะของผู้ใหญ่ เราจะปฏิสันถารคนเข้ามาวัดใหม่ๆ อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคนมาเก่าๆ คนมาอยู่วัดแล้วเป็นนักปฏิบัติ ถ้าเขาทำอะไรผิด
เหมือนกับหลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะ ตอนหลวงปู่เจี๊ยะท่านไปอยู่กับหลวงตานะ แล้วท่านปรารถนาดี ท่านจะไปปรับพื้นกุฏิ เสร็จแล้วท่านก็ไปทุบพื้นกุฏิ มันผิดเวลาไง หลวงตาท่านเดินไปหาหลวงปู่เจี๊ยะนะ
ท่านเจี๊ยะ ท่านก็เคยอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นพาทำอย่างนี้หรือ
คือคนเรารู้กันแล้ว นี่เวลาทำผิด แต่ถ้าคนไม่รู้นะ เราปฏิสันถารคนที่ไม่เป็นก็อีกอย่างหนึ่ง แต่คนที่เป็นแล้ว เข้าใจแล้ว ทำอะไรเราควรรู้ของเรา ถ้าเราไม่รู้แสดงว่าเราขาดสติแล้ว เราได้ผิดพลาดแล้ว
ฉะนั้นเวลาคนที่ปฏิบัติ คนที่มาวัด คนที่ปฏิบัติแล้ว ถ้าเสียงดังหรืออะไรนี่ เราเอ็ดทันทีเลย เพราะสิ่งนั้นเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าผิด แสดงว่าเราเลื่อนลอยแล้ว ถ้าเราเลื่อนลอย ครูบาอาจารย์จะต้องลงปฏัก ถ้าคนที่ไม่รู้ เห็นไหม ผิดเพราะไม่รู้ ผิดเพราะความพลั้งเผลอ ผิดเพราะเรารู้อยู่ นี่มันผิดหลายอย่างไปหมดเลย
ฉะนั้น โลกนี้มีอะไรเป็นสาระที่ควรใส่ใจ
ถ้าหัวใจเราพัฒนาขึ้นมาแล้วนะ เราจะมีจุดยืนของเรา เราจะทนแรงสังคม เราจะทนแรงเสียดสี คนที่ไปวัดนี่ เขาเสียดสีว่าพวกนี้เป็นพวกที่ไม่เอาไหน ไม่รู้จักหาเงินหาทอง เอาเวลาไปสูญเปล่า ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์เราจะบอกเลย
เงินทองในธนาคารชาติมันมีตั้งหลายหมื่นหลายแสนล้าน มันเป็นของสาธารณะ เราก็พออยู่พอกิน เราก็รับรู้ของเราได้ นี่เราจะทนแรงเสียดสีได้ แล้วไม่ใช่ทนแรงเสียดสีเปล่าๆ นะ เยาะเย้ยมันกลับได้ เยาะเย้ยนะว่าฉันไม่ใช่ตาบอดอย่างพวกแก พวกแกก็เหมือนกับหนอนในส้วม มันรอมูตร คูถ มันจะกินส้วม
นี่ก็เหมือนกัน เอ็งอยู่ในสังคม เอ็งก็หาแต่ลาภสักการะ เอ็งก็หาแต่โลกธรรม ๘ เอ็งก็กินแต่เรื่องโลกๆ อย่างนั้น ข้าอิ่มพอแล้ว ข้าจะไปหาคุณธรรมของข้า ข้าจะไปหาสิ่งที่เป็นสาระ เป็นความจริงของข้า แล้วพอมาอยู่วัดแล้วได้จริงไหมล่ะ พอมาอยู่วัดแล้วทุกข์น่าดูเลย แดดเปรี้ยงๆ เลย แล้วมันสุขที่ไหน ความสุขมันอยู่ไหนล่ะ?
ความสุขมันต้องแลกมาจากความเพียร ความสุขมันต้องแลกมาจากความจริง
ความสุขที่เยินยอปอปั้นกันนั้นมันเป็นความสุขของโลก มันเป็นเรื่องโลกเขายกยอปอปั้นกัน แต่ความจริงผู้ใดทำผู้นั้นจะเป็นผู้สัมผัส มันเป็นปัจจัตตัง มันไม่มีซื้อขายในท้องตลาด ถ้าธรรมะมีซื้อขายในท้องตลาด มหาเศรษฐีโลกมันซื้อนิพพานไปหมดแล้ว.. จะเป็นมหาเศรษฐี หรือยาจกเข็ญใจ จะเข้าปฏิบัติธรรมต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาเอาเอง ไม่มีซื้อขาย ไม่มีแลกเปลี่ยน ของใครของมัน
ฉะนั้นมันก็ย้อนกลับมาที่บุญกุศลของเรา ใครทำมาดี ใครสร้างมาดี มันจะมีสติ มีเชาว์ปัญญา สอนง่าย รู้ง่าย คนที่ว่ามันดื้อนี่ โอ้โฮ.. แล้วถ้ามันดื้อตาใสด้วยนะ โอ้โฮ.. ยิ่งไปใหญ่เลย ดื้อไม่ดื้อเปล่า ดื้อตาใสด้วย
นี้พูดถึงว่า โลกนี้มีอะไรเป็นสาระที่ควรใส่ใจ มันเป็นที่การพัฒนาการของใจนะ ถ้าใจเราพัฒนาการไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นสาระ เป็นคุณประโยชน์นี่ละเอียดชัดเจนขึ้น แต่ถ้าจิตใจของเรายังต่ำต้อย จิตใจของเรายังเป็นโลกๆ อยู่ มันก็มองสาระที่โลกเขามีกันนี่แหละ ทุกคนอยากมีชื่อในประวัติศาสตร์ แต่ชื่อในประวัติศาสตร์อาจเป็นชื่อเก่าเราจากชาติที่แล้วก็ได้ เรามาอ่านซ้ำอ่านซาก
เรามาอ่านชื่อในประวัติศาสตร์ของเก่าๆ เรานะ ประวัติศาสตร์นี้เราสร้างไว้แล้วเราตายไป เราเกิดมาเราก็มาเรียนขี้เก่าเรานั่นล่ะ เรียนสิ่งที่เราสร้างไว้ แล้วเราบอกว่า นี่ของใครวะ ของใครวะ จิตมันไม่รู้หรอกว่าใครเป็นธรรม
นี่เราอยากมีชื่อในประวัติศาสตร์ แล้วมันก็จะเป็นรอยเท้าโคย้ำอยู่กับที่.. พูดถึงเรื่องอย่างนี้นะ ภาวนาไปจะรู้เองเห็นเองแล้วเข้าใจได้หมด ไม่ใช่เอามาขู่กันนะ
นี่พูดถึงว่า โลกนี้มีอะไรเป็นสาระที่ควรใส่ใจบ้าง!
คำถามต่อไป..
ถาม : ๑. เพิ่งเริ่มต้นปฏิบัติ ต้องการทราบว่าในขณะนั่งสมาธินั้น นอกจากต้องท่องพุทโธกำกับตลอดแล้ว ต้องเอาจิตเพ่งที่พุทโธตลอดหรือเปล่า เพราะทำไปสักพัก สมาธิเริ่มไม่มี กระวนกระวาย ฟุ้งซ่านด้วยค่ะ
หลวงพ่อ : พุทโธเฉยๆ เวลาเราพุทโธนี่นะ ถ้าเรากำหนดเฉยๆ แล้วว่างไปนี่ คนชอบอย่างนั้น แล้วตอนนี้เราเศร้าใจนะ เราไม่ใช่อิจฉาตาร้อนใคร เราไม่แย่งความดีความชั่วของใคร ใครทำดีคนนั้นได้ดี ใครทำชั่วคนนั้นได้ชั่ว เราไม่เคยแย่งหรือไม่เคยอิจฉาตาร้อนใครเลย แต่เราสงสาร!
คำว่า สงสาร เหมือนเรานี่ เราทำให้เราเสียเวลาเปล่า เราทำให้เราสูญเปล่า อันนี้เราเสียดาย ที่เราพูดกับโลกนี่นะเราเสียดายแทนเขา เสียดายแทนคนปฏิบัติว่านั่งเฉยๆ แล้วว่างๆ สบายๆ เพราะมีคนคิดอย่างนี้หมด
โดยธรรมชาติของพวกเรา พอโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารจัดการจะเครียดมาก คนเรานี่เครียดแล้วมีความทุกข์กดดันตัวเอง แล้วพอวางความเครียดได้ทุกคนจะมีความสุข ทุกคนพอปล่อยวางตรงนี้ มันจะเป็นผลดีกับจิตดวงนั้น ฉะนั้นเวลาใครมีความเครียดนะ แล้วนั่งเฉยๆ แล้วความเครียดหมดไป เขาบอก นี้คือการปฏิบัติธรรม
แล้วทางโลก ทางผู้ที่เขียนธรรมะนิยายเขาพูดอย่างนั้นจริงๆ การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ถ้าใครปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันแล้วจะมีความสุข แล้วพวกเรามีความเครียด ในสังคมมีความเครียดมาก พอไปปฏิบัติแล้วมีความสุข โอ๋ย.. ใช่เลย! ใช่เลย! มันก็ปล่อยวาง แต่มันจะเอาสิ่งใดเป็นเครื่องดำเนินต่อไปล่ะ
เราเสียดายตรงนี้ไง เราเสียดายที่ธรรมะของเรานี่มันมีมรรคมีผล พระพุทธเจ้ากว่าจะรื้อค้นขึ้นมา พุทธศาสนานี่รื้อค้นมานะ ต้อง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ท่านสร้างบุญญาธิการมามาก มันถึงมีมุมมอง มีเชาว์ปัญญา มีสิ่งต่างๆ ที่ย้อนกลับมาดูตัวเองได้ แล้วค้นคว้าตัวเองจนพ้นจากกิเลสไป
ฉะนั้นสิ่งนี้ถ้าเรามีเชาว์มีปัญญา สิ่งที่เราเกิดมาพบนี่มรรคผลมันมี แล้วเวลาเรากำหนดเฉยๆ แล้วว่างไป มันก็เป็นการขาดช่วงกัน แล้วเราจะเอาอะไรดำเนินต่อไปเข้าสู่มรรค เราจะเอาอะไรดำเนินต่อไปเข้าสู่การประพฤติปฏิบัติในพุทธศาสนา ในพุทธศาสนานะบอก กำหนดว่างๆ เฉยๆ แล้วสบายๆ
เราเห็นเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็ยอมรับว่ามันเป็น มันย้อนมาเป็นตรงไหนรู้ไหม ตรงที่ว่าคนเรามันเครียด คนเรามันมีความกดดัน แล้วพอความกดดันนั้นหายไปมันมีความสุขไหม มี! มันเรื่องธรรมดา พอเรื่องธรรมดาปั๊บ เราบอกว่านี่มันเป็นสมาธิของโลกๆ ไง แล้วตอนปัจจุบันนี้โลกเขาคิดกันอย่างนั้น แล้วใครมาเสนออย่างนี้ปั๊บทุกคนเชื่อหมดนะเพราะอะไร เพราะมันได้ง่ายๆ ไง แต่พอเริ่มจะเข้าสู่พุทธศาสนา เข้าสู่พุทธศาสนานะ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีศีลใช่ไหม นี่ปาณาติปาตา การทำลายสัตว์ให้ตกร่วงเป็นบาป เพราะเราทำลายชีวิตเขา การไปเบียดเบียนเขาล่ะก็เป็นปาณาฯ การคิดเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเป็นปาณาฯ หมดเลย พอเป็นปาณาฯ แล้ว จิตนี่พอมันมีศีล นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด นู่นก็ไม่ควรทำ นี่ก็ไม่ดี พอมันมีศีลก็เกิดสมาธิ มีสมาธินะเพราะศีลมันเป็นพื้นฐานใช่ไหมว่าเราไม่ควรทำใคร ไม่ควรจะรังแกใคร ไม่ควรทำสิ่งใดเลย
พอจิตเป็นสมาธิขึ้นมา ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมาเขาเรียก ผู้วิเศษ ถ้าคนเป็นสมาธิแล้ว เห็นไหม ฤๅษีชีไพรเวลาเขาดูอดีตชาติ เขาดูอะไร เขาก็เอาสมาธินี่แหละดู ถ้าเราไม่มีศีล พอมีสมาธิขึ้นมานี่มันจะทำอะไรก็ได้ไง ฉะนั้นเรื่องคุณไสยฯ เรื่องการทำสิ่งใดๆ มันอยู่ที่สมาธิ ดูทางโลก เห็นไหม ผู้ที่มีสมาธิดี ปฏิบัติดีต่างๆ จะบริหารจัดการธุรกิจของตัวได้ดีมากเลย ถ้าคนมีแต่ความเครียด สมาธิมันไม่มีอยู่แล้ว.. นี่พูดถึงทางโลกนะ
ถ้าเป็นทางธรรม ถ้ามีสมาธิขึ้นมาแล้วมันมีศีลคุมอยู่ มันจะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันไม่มีศีลล่ะ ไม่มีศีลเป็นสมาธิได้ไหม มันเป็นสมาธิได้แต่มันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร อ้าว.. เรามีกำลังแล้วเราจะทำอะไรก็ได้ เราจะเบียดเบียนใครก็ได้ เราจะรังแกใครก็ได้ เราจะอะไรก็ได้ทั้งหมดเลย พอทำไปๆ มันก็เกิดบาปอกุศล เกิดกรรมกับจิตดวงนั้นเอง พอเสร็จแล้วมันก็เข้าสู่ตัว มันก็เป็นปอบเป็นผี เป็นอะไรไปเลย แต่ถ้าเป็นสัมมาล่ะ มีศีลอยู่ล่ะ นี่ศีล สมาธิ ปัญญา!
ทีนี้พอมีสมาธิแล้วนี่ สมาธิเป็นอย่างไร? นี่ไงจะเข้าตรงนี้แล้ว จะเข้าว่า ทำไมต้องพุทโธ ทำไมต้องพุทโธล่ะ?
ถ้าไม่มีพุทโธนะมันสูญเปล่า.. มันสูญเปล่าแล้วทำความสงบได้ไหม.. ได้
เวลาทำให้มันปล่อยวางได้ไหม.. ได้
แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ.. ก็แค่นี้
แล้วทำอย่างไรต่อไป? จะทำอะไรต่อไปล่ะ? เวลามันเครียดมันก็เครียด เวลาคิดให้มันสบายๆ คิดตรึกในธรรมะ มันว่างได้ไหม.. ได้ แล้วทำอย่างไรต่อไป? มันต่อไปไม่ได้ไง มันต่อไปไม่ได้เพราะมันไม่มีอะไรสืบต่อใช่ไหม ฉะนั้นเวลาสัมมาสมาธิถึงให้กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เกาะพุทโธไว้
จิตเราร่อนเร่ แต่ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มันยึดของมันไว้ พอพุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธนี่เครียดไหม.. เครียด พุทโธเฉยๆ ไม่ต้องใช้จิตเพ่งอะไรทั้งสิ้น พุทโธเฉยๆ
คำว่า พุทโธเฉยๆ เราใช้คำว่า พุทโธเฉยๆ พุทโธชัดๆ
พุทโธชัดๆ เพราะอะไร พุทโธชัดๆ เพราะธรรมชาติของจิต จิตนี้คือพลังงาน ดูพลังงานสิ ดูถ่านสิ ถ่านในเตา เห็นไหม พอเวลาติดไฟแดงๆ นี่พลังงานมันคลายตัวไหม พอมันคลายตัว มันเผาไหม้ตัวเองจนหมดใช่ไหม แล้วก็เป็นขี้เถ้าไป
พลังงานของจิต จิตนี้มีพลังงานของมัน สันตติว่าจิตเป็นดวงๆ นี่ไม่! มันเป็นสันตติคือมันมีพลังงานในตัวมันเอง พอมีพลังงานในตัวมันเอง พอมันคิดนี่มันเสวยอารมณ์ พลังงานมันก็ส่งออกหมด เห็นไหม นี่มันส่งออกหมด
ทีนี้พอมันส่งออกหมด โดยธรรมชาติของจิตมันคิดจนมันทุกข์ คิดจนมันเพลีย คิดอยู่บ้าบอคอแตกอยู่นั่นล่ะ เราก็บอกบังคับมัน บังคับมันโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บังคับให้มันอยู่กับพุทโธ เห็นไหม ให้มันคิดพุทโธไง ไม่ให้มันคิดเรื่องอื่นไง ให้มันคิดพุทโธ
พลังงานทั้งหมดมาอยู่ที่พุทธานุสติ.. พุทธานุสติ พระพุทธเจ้า! พุทธา พุทโธคือพุทธะ เราเอาความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดไปฝากไว้กับพระพุทธเจ้าก่อน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม หลวงตาบอกว่า ถ้ากำหนดพุทโธนี่มันสะเทือนสามโลกธาตุ
หลวงตาพูดเอง ใครกำหนดพุทโธ พุทโธนั้นสะเทือนสามโลกธาตุ
กามภพ รูปภพ อรูปภพ เพราะจิตนี้มันเคยเกิดมาในสามโลกธาตุ พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธมันสะเทือนหัวใจ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพราะธรรมดามันคิดใช่ไหม พลังงานมันคลายออกใช่ไหม เราก็ให้มันอยู่กับพุทโธ พอพลังงานทั้งหมดมันอยู่ที่พุทโธ นี่พุทโธ พุทโธมันก็ปลิ้นไปนู่น ปลิ้นไปนี่ ทุกข์ฉิบหายเลยพุทโธ ทำไมพุทโธมันไม่อยู่สักที
มันไม่อยู่เพราะจิตเรากิเลสมันหนา กิเลสมันดื้อด้าน ความเคยชิน ความเคยใจ ใจมันเคยเร่ร่อน แล้วพอเราให้มันจัดระเบียบ เหมือนเด็กๆ เลย ปล่อยมันเล่นแทบทั้งวันเลยนะ พอบอกให้มันนั่งเรียบร้อยนะ เดี๋ยวร้องไห้แล้ว ถ้าจับให้เด็กนั่งเรียบร้อยนะ เดี๋ยวพ่อแม่บอกว่ากลับเถอะ เอาไม่อยู่ แต่ถ้าปล่อยให้มันเล่นนะ แหม.. ทั้งวันเลย
ถ้ามันคิดโดยธรรมชาติของมันนี่สบายมาก พอบังคับให้คิดพุทโธมันเดือดร้อนแล้ว มันเดือดร้อนแล้วเพราะมันจะดีไง พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธจนมันพุทโธไม่ได้นะ ทีนี้พอพุทโธ เดี๋ยวพุทโธมันอ่อนบ้าง พุทโธมันชัดบ้าง นี่เพราะเราอ่อนแอ การฝึกของเรามันยังไม่เข้มแข็ง การฝึกของเรา เราฝึกมามันอยู่ที่จริตนิสัยด้วย
อย่างเช่นหลวงปู่บัว เพราะครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง ขนาดว่าท่านบวชครั้งแรกนะ พอเอามีดโกนโกนผม พอผมตกนี่เป็นพระโสดาบันเลย หลวงปู่บัว.. ในสมัยพุทธกาลก็มีนะ เวลาโกนผมนี่ ผมตกเป็นพระโสดาบันเลย
คำว่าพระโสดาบันกับพุทโธ กว่าจะเป็นสมาธินี่แตกต่างกันไหม เราจะบอกว่าจิตของคน เห็นไหม ถ้าคนมีอำนาจวาสนา แม้แต่พอเห็นผมตกจากศีรษะแค่นั้นแหละ นี่เพราะมันมีหลักมีเกณฑ์อยู่ในใจอยู่แล้ว คำว่าหลักเกณฑ์อันนี้มันอยู่ที่อำนาจวาสนาสร้างมา ถ้าคนสร้างอย่างนี้มา พุทโธมันไม่ปลิ้นหรอก
ทีนี้พอเรามาพุทโธ ทำไมมันเดือดร้อนขนาดนี้ล่ะ ทำไมมันขนาดนี้ ขนาดนี้นะหลวงตาบอกว่า มีหนึ่ง ถ้าเราปล่อยมัน มันจะมีต่อไป ถ้าเราฝืนมัน สู้มัน การฝืนมัน สู้มันก็คือสู้กับกิเลส แล้วทุกคนอยากเจอกิเลส ทุกคนอยากสู้กับกิเลส เวลาจะต่อสู้มันกลับไม่เอา
ทีนี้พอพุทโธ.. นี่พลังงานทั้งหมดมันเคยเร่ร่อน พอพลังงานทั้งหมดมาอยู่ที่พุทโธ ทีนี้พุทโธนี่มันเป็นพุทธานุสติ มันเป็นธรรม แต่ถ้าคิดตามอำนาจ คิดตามใจตัวเองนี่มันพอใจ นั่นคือตัณหา ดูสิอาหารที่อยากกินเขาบอกว่าไม่มีประโยชน์กับร่างกายหมดเลย อาหารที่เขาบอกมีประโยชน์กับร่างกายไม่อยากกินเลยสักคน อาหารที่อยากกินเขาบอกไม่มีประโยชน์กับร่างกาย แต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเราก็ไม่ชอบ
พุทโธก็เหมือนกัน พุทโธคืออาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่สุด! แต่เราก็ไม่อยากเอาเลย เราอยากจะให้มันเร่ร่อน อยากจะกินไอ้พวกย่างๆ ปิ้งๆ แล้วก็บอกว่าอยากให้ตัวเองร่างกายแข็งแรง แล้วมันก็แข็งแรงไหมล่ะ.. แต่ถ้ากินดี พุทโธ พุทโธนี่แหละ พุทโธไปเรื่อยๆ นี่พูดถึงข้อเท็จจริงเลยนะ
ฉะนั้นถ้าเราพุทโธ อยู่กับพุทโธชัดๆ ถ้าจิตอยู่กับพุทโธนะ อยู่กับพุทโธก่อน พุทโธ พุทโธจนระยะสั้นเข้ามา จนถ้ามัน เอ๊อะ! เอ๊อะ! นั่นล่ะคือสมาธิ.. พอเอ๊อะเป็นสมาธิแล้ว เป็นอะไรรู้ไหม นี่ที่เราบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
สมาธินี้มีพลังงาน สมาธินี้เป็นฐาน กรรมฐาน! สมาธินี้เป็นฐาน ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมานะมันจะมีดาบเพชร มันจะฟาดฟันกิเลสได้ทั้งหมด กิเลสขึ้นมานี่หัวขาดหมดเลย แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ มันคิดว่ามันเป็นนิพพาน ว่างๆ สบาย.. สบาย ว่างๆ นี่แล้วมันมีอะไรขึ้นมาอีก แต่ถ้ามันมีสมาธินะมันมีกำลังของมัน แล้วถ้ามันพิจารณากายของมัน เห็นไหม ถ้ามันพิจารณาของมัน มันจะไปเป็นตามธรรมไง มันจะแปรสภาพ มันจะเป็นไตรลักษณะ มันจะเป็นไตรลักษณ์ มันจะเป็นอนัตตา
มันจะเป็นของมันเพราะอะไร เพราะสมาธิเป็นพื้นฐานไง แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ โอ๋ย.. เห็นกายนะ โอ้โฮ.. กายต่อกาย กายยอดกาย จินตนาการได้หมดแหละ เพราะพวกเราปฏิบัติกันมา พวกเราฟังกันมา จนมันเคยไง แล้วถ้ามันเกิดขึ้นนี่ เกิดขึ้นได้จริงๆ นะ แต่ไม่มีกำลังหรอก แต่ถ้ามีสมาธินะ ศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้ามีสมาธิ.. ถ้ามีสมาธิเป็นฐานนะ เวลามันพิจารณากายนี่ พรึ่บ! ขาด พรึ่บ! ขาด พอพิจารณาจนเต็มที่แล้วนะ พอมันจะเหลือทุกอย่าง มันจะแปรสภาพหมด มันจะเหลือโครงกระดูก เหลือสิ่งใดที่เป็นของคมแข็งนะ บอกให้มันแปรสภาพเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันจะพรึ่บ! พรึ่บ! พรึ่บเลย
นี้ถ้ามันมีจริงนะ! ถ้ามันเป็นจริง แล้วถ้าเป็นจริงนี่ พูดอย่างไรคนจำไปเอามาคุยได้ ถ้าคนจำมาพูด ถามทีเดียวนี่หงายท้องเลย แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ.. อืม ก็เป็นครั้งเดียวแล้วลืมไปแล้ว แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ พูดกี่ร้อยกี่พันหนก็ได้ถ้ามันเป็นจริง
ฉะนั้นถึงบอกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ทำไมต้องพุทโธ แล้วทำไมต้องเพ่งด้วยล่ะ?
เราไม่ต้องเพ่ง พุทโธเฉยๆ แต่ให้มันชัดขึ้นมา ชัดขึ้นมาหมายถึงว่าจิตทั้งหมดอยู่กับพุทโธ ถ้าเราพุทโธมันก็แฉลบไปเรื่อยๆ แฉลบไปเรื่อยๆ ฉะนั้นไอ้เวลาเพ่งนี่นะ ไม่ต้องเพ่ง ไม่ให้เพ่ง เขาไม่ให้เพ่ง ฉะนั้นไอ้ที่ว่าต้องเพ่งด้วย อันนี้แบบว่าเราเติมเข้าไปไง
ต้องเพ่งจิตหรือเปล่า? เวลาเพ่งพุทโธ พุทโธนี่เรานึกเอา เรานึกเอา เพราะการนึกเอานี่มันนึกที่ไหนล่ะ มันนึกจากเจตนา ถ้าเราไม่มีเจตนานึก มันจะไม่มีวิตก วิตกขึ้นมาจากจิต พุทกับโธนี้เป็นวิจาร พุทโธ พุทโธ พุทโธจนเกิดปีติ พอเกิดปีติแล้วมันจะเกิดสุข พอเกิดสุขแล้วเกิดเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น.. ชัดเจนมาก!
ถ้าทำนะ โดยหลักมันเป็นอย่างนี้ไง แต่คนเขาบอกว่า อู้ฮู.. ผมมีวิตก วิจาร ปีติ สุขหมดเลยนี่ ผมได้อะไร.. ได้บ้าเพราะมึงจำมา มึงได้บ้า แต่ถ้าได้จริงนะ เพราะพุทโธนี้คือวิตกขึ้นมา วิตกมาจากไหน วิตกขึ้นมาจากจิต เพราะถ้าจิตไม่วิตก พุทโธในหนังสือเป็นของหนังสือ พุทโธของผู้ปฏิบัติเป็นของผู้ปฏิบัติ พุทโธเราวิตก นั้นเป็นพุทโธของเรา.. ถ้าพุทโธของเรามันเกิดจากไหน มันเกิดจากจิตของเรา ถ้ามันสงบมันสงบไปสู่ไหน มันสงบเข้าไปสู่จิตของเรา
นี่ไง แต่เวลาพูดถึงพุทโธ พูดถึงธรรมะนะ มันไปเอาธรรมะของคนอื่นมาคุยโม้กันนะ แต่ธรรมะที่เราจะปฏิบัติมันไม่พูดถึง แล้วพูดไม่เป็น แต่ถ้าคนปฏิบัติแล้วเวลาเราวิตกขึ้นมา พุทโธวิตกมาจากไหน วิตกขึ้นมาจากจิตดวงนั้น วิจาร พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธ วิตก วิจารจนจิตนี้มันกล่อมตัวมันเอง จนจิตนี้มันพัฒนาของตัวมันเอง พอมันเข้ามาสู่ตัวมัน เห็นไหม มันเกิดปีติขนลุกขนพอง ตัวเบาตัวลอย
หลวงปู่เสาร์ เห็นไหม นั่งอยู่นี่ลอยขึ้นมาเลย ลอยขึ้นมาเลย นี่ถ้าใครมีจริตนิสัยมันแสดงออกทันที จิตมันเข้าสู่สถานะเดิมของมัน เข้าไปสู่ธรรมชาติของมัน มันจะแสดงของมันตามจริตนิสัย แล้วเห็นเลย แล้วเข้าใจได้เลย
นี่พอเข้าสู่จิตของตัวเองแล้วถ้าไม่ออกใช้ปัญญา สมาธิก็คือสมาธิ สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้.. แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ ปัญญาที่เกิดขึ้นมานี้เขาเรียก โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากโลก เกิดจากสัญชาตญาณ โลกียะคือความคิดเรานี่ไง คือความคิด ความบริหารจัดการของเรา นี่วิชาชีพ
โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากภพ เกิดจากจิต จิตที่เป็นกิเลส แต่พอจิตสงบ จิตมันเป็นสมาธิ เพราะกิเลสสงบตัวลงถึงเกิดสมาธิได้ ที่ไม่เป็นสมาธิเพราะจิตมันมีกิเลสฟาดฟันอยู่ ถ้าจิตมันสงบตัวลง นั้นคือสมาธิ สมาธิคือกิเลสมันสงบตัวลง พอสงบตัวลง นี่ปัญญาที่เกิดคือปัญญาปลอดจากกิเลส ปัญญาปลอดจากโลก เขาถึงเรียก โลกุตตรปัญญา
ปัญญาอย่างนี้มันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันถึงจะมาชำระกิเลสในใจของตัวเอง เพราะกิเลสมันสงบตัวลง ให้ปัญญาได้ออกก้าวเดิน ออกก้าวเดินด้วยสัมมาสมาธิ แล้วจะกลับมาชำระในหัวใจของตัว ถึงต้องมีพุทโธ มีอานาปานสติ มีคำบริกรรมอะไรก็ได้ ขอให้จิตนี้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ขอให้มันเป็นศีลจริงๆ สมาธิจริงๆ ปัญญาจริงๆ ไม่ใช่สมาธินึกเอา
ฉะนั้นสมาธินึกเอา สมาธิโลกๆ ที่ว่านี้เราก็เห็นใจนะ ที่ว่าโลกเขาเคร่งเครียด โลกเขามีความกดดัน ถ้าเขาปฏิบัติธรรมแล้วเขามีความสบายมันก็คุ้มค่าแล้ว ศาสนาก็มีประโยชน์มหาศาล ทำให้คนคลายทุกข์มันก็สุดยอดแล้วแหละ เราก็เห็นด้วย แต่มันเป็นฆราวาสธรรม มันเป็นธรรมของฆราวาส ธรรมของผู้อยู่กับโลก แต่มรรคผลมันมีอยู่ เราควรพูดสิ่งที่มีสัจจะ มีความจริงที่มีเป้าหมาย
สิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ ปฏิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์ ไม่ใช่แก้ไขทุกข์ บรรเทาพออยู่กันได้ แต่ธรรมของพระพุทธเจ้านี่มันแก้กิเลสได้ ชำระกิเลสได้ มันเป็นประโยชน์มาก เราถึงเศร้าใจกับผู้ที่ว่า... ถ้าบอกว่ามันเป็นอย่างนั้น ก็ใช่มันเป็นอย่างนั้น แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นอย่างที่เขาว่ากัน
ธรรมะพระพุทธเจ้านี้ชำระกิเลส ฆ่ากิเลสนะ แล้วทำให้เราพ้นจากทุกข์นะ แล้วเราเกิดมาพบแล้วเราจะมองข้ามไป ใช้แต่ของเล็กน้อยตามประสาโลก นั่นมันก็เป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม นี่พูดถึงปฏิบัติธรรม!
ถาม : ๑. เพิ่งเริ่มต้นปฏิบัติ ต้องการทราบว่าขณะนั่งสมาธินั้น นอกจากต้องท่องพุทโธกำกับตลอดแล้ว ต้องเอาจิตเพ่งที่พุทโธตลอดหรือเปล่าคะ
หลวงพ่อ : ไม่ต้องเพ่ง ให้พุทโธชัดๆ คำว่าชัดๆ นี่จิตมันรู้ของมันเอง เพ่งหรือว่าพุทโธหายใจเข้าและหายใจออก เห็นไหม
หายใจเป็นอานาปานสติ พุทโธเป็นพุทธานุสติ
แต่เวลาฝึกใหม่ๆ เป็นรูปธรรม คือให้มันจับต้องได้ง่าย เพราะคนปฏิบัติใหม่ๆ มันจับต้นชนปลายไม่ถูกหรอก มันยากไปหมด ฉะนั้นหายใจเข้าให้นึกพุทนะ หายใจออกให้นึกโธนะ แต่มันจับปลาสองมือ เพราะอานาปานสติกับพุทธานุสติ พอปฏิบัติไปๆ ก็จะไปลงภวังค์ข้างหน้านั้น
การเพ่งนี่ พอจิตมันทำงานหลายอย่าง มันก็ทำให้เราไม่เข้มงวดใช่ไหม เราเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง พุทโธชัดๆ พุทโธท่องไวๆ แล้วพุทโธ พุทโธ โธๆๆๆๆ เลยก็ได้ อะไรก็ได้ขอให้จิตมันมีที่เกาะที่ยึดนะ แล้วพอมันสงบเข้ามามันจะเป็นประโยชน์กับมัน มันต้องมีสติ มันต้องมีความรับรู้ สมาธิต้องมีผู้ที่เป็นเจ้าของสมาธิ ปัญญาต้องมีผู้ที่เป็นเจ้าของปัญญา ไม่ใช่ปัญญาในสาธารณะ ปัญญาในตำรา ปัญญาสาธารณะนี้ไม่มีประโยชน์กับเรา
ปัญญาเกิดกับเรา ปัญญาชำระกิเลสกับเรา เหมือนอาหารอยู่ในลิ้นเรา เราจะรู้รส เหมือนสมาธิอยู่กับเรา เราต้องรู้สิว่าสมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาอยู่กับเรา ต้องรู้สิว่าปัญญาเป็นอย่างไร แล้วเวลามันฆ่ากิเลสนี่ฆ่าได้จริงๆ เลย
ฉะนั้นเราถึงบอกตอนเช้าว่าพระไม่ทะเลาะกัน ถ้าพระทะเลาะกัน แสดงว่ามันไม่เคยได้ลิ้มรส ถ้าได้ลิ้มรสแล้วนะมันจะเป็นอันเดียวกัน
ธรรมเป็นอันเดียวกัน
ฉะนั้นเขาบอกว่าเวลาอ้างนู่นอ้างนี่.. ใช่มันอ้างคนอื่น แต่ตัวเองมีหรือไม่มี ตัวเองมี พูดคำเดียวก็จบ พอจบแล้วมันก็เป็นธรรม เป็นคุณประโยชน์กับสังคม เป็นประโยชน์กับโลก เอวัง