เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ เม.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันหยุดเรามาทำบุญ พระพุทธศาสนา เห็นไหม ถ้าพูดถึงมีวันนักขัตฤกษ์หรือมีงาน เราจะทำบุญกุศล มันเป็นพิธีกรรมทางศาสนา แต่เวลาพระเราทำตัวไม่ดี..

เห็นไหม มันมีอยู่หน่วยราชการบางหน่วย เราไม่เอ่ยชื่อ เวลาเขาทำบุญนะเขาเลี้ยงคนแต่เขาไม่เลี้ยงพระ เขาไม่ยอมนับถือพระสงฆ์ เขานับถือพระพุทธ พระธรรมเท่านั้น มีบางหน่วยงานเขาไม่ยอมนับถือพระสงฆ์ เขาเป็นชาวพุทธนี่แหละ แต่เขาเห็นว่าการที่พระในพุทธศาสนาทำตัวไม่ดี เขาบอกว่านี่เขาคิดของเขาเองไง เขาคิดของเขาเองว่าเขาก็เป็นชาวพุทธ เขาก็ทำบุญของเขา เขาเลี้ยงคนและก็หน่วยงานของเขา

ฉะนั้นอันนี้มันเป็นความเห็นนะ แต่ถ้าเป็นความเห็นของเรา คนเรานี่มีโง่มีฉลาด ในสังคมทุกสังคมจะมีคนดีและคนเลว สังคมนั้นเราต้องเลือกเอาเองว่าสิ่งใดดีและสิ่งใดไม่ดี ฉะนั้นเราเป็นชาวพุทธ เวลาเราเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเราก็ถือตัวถือตนของเรา พอถือตัวตนของเรานะ แล้วเราเองเราก็มีความรู้สึกนึกคิดของเรา โดยธรรมชาติของเรา ในการศึกษาของเรา พอมีใครเสนอความรู้สึกที่เหมือนเรา เราจะพอใจทันที

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ในพุทธศาสนา ไม่มีกำมือในเรา”

ไม่มีกำมือในเราคือไม่มีลับลมคมใน ในพุทธศาสนานี่เผยแผ่ เปิดเผย ถูกต้อง ชอบธรรม ทีนี้พอไม่มีกำมือในเรา นี่เราแบมือออกมาในมือเราจะไม่มีอะไรเลยใช่ไหม พอไม่มีอะไรเลยปั๊บเราไม่ทำอะไร เราปล่อยวางเลย แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นพุทธศาสนา

การปล่อยวาง ความว่างในพุทธศาสนา.. ความว่าง เห็นไหม ดูสิเขาทำยุ้งทำฉางกันมาเพื่อเก็บข้าวปลาอาหารนะ เวลาเก็บเกี่ยวขึ้นมา เขาก็เก็บเข้าไปไว้ในยุ้งในฉาง ถ้าเราสร้างยุ้งฉางของเรามา แต่ในยุ้งฉางว่างเปล่า มันเป็นพุทธศาสนาหรือเปล่าล่ะ?

ในยุ้งในฉางของเราต้องมีข้าวนะ มีข้าวเปลือก มีทุกอย่างเก็บไว้ในยุ้งในฉางของเราเพื่อดำรงชีวิตนะ ก่อนที่มันจะว่างเปล่า ความว่างเปล่าเพราะเราใช้สอยไปจนข้าวปลาอาหารนั้นหมดจากยุ้งฉางนั้น การที่เราใช้ข้าวปลาอาหารหมดจากยุ้งฉางนั้นก็เพื่อดำรงชีวิตของเราใช่ไหม เราดำรงชีวิตของเราให้เจริญเติบโตขึ้นมา ให้เรามีการฝึกฝนขึ้นมา ให้เรามีปัญญาของเราขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน การว่างเปล่าๆ ว่างเปล่ามันต้องมีที่ไปสิ.. นี่ไม่มีกำมือในเรา คำว่าไม่มีกำมือในเรา กว่าที่จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทุกข์ยากขนาดไหน เวลาสร้างบุญญาธิการมานี่พันธุกรรมทางจิต ดูสิความรู้สึกนึกคิดของคนมันไม่เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิด คนมีเชาว์ปัญญา คนมีความฉุกคิด ถ้าคนมีสติมีความฉุกคิดนะ กิเลสมันจะไม่ลากความคิดของเราไป พอกิเลสไม่ลากความคิดของเราไป เราเชื่อในความคิดของเรา แล้วถ้ามีใครมารับรองความคิดของเรา เราจะว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง แล้วมันเป็นความจริงหรือเปล่าล่ะ?

ถ้ามันไม่เป็นความจริง เห็นไหม “กาลามสูตร” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อในหัวใจของเรา ถ้ามันไม่มีกำมือในเราทำไมมันถึงไม่มีล่ะ ก่อนที่จะไม่มีกำมือในเรามันต้องรู้จริงสิ ในกำมือเราก็มี เราคลายออกก็มี เราปล่อยวางก็มี เราสลัดทิ้งไปก็มี พุทธศาสนาสอนวิธีการไว้มหาศาลเลย วิธีการเริ่มต้น เช่นหลวงตาท่านบอกเลย

“สตินี่แหละ! ถ้ามีสติสามารถกั้นคลื่นของกิเลสตัณหาความทะยานอยากได้หมดเลย”

กั้นคลื่น คำว่ากั้นนี่มันไม่ได้ทำลาย มันกั้นไว้ ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดที่มันโหมใส่เรา เราจะยับยั้งได้ เราจะกั้นมันไว้ไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจเราก็ได้ เรากั้นไว้ได้ชั่วคราวไง แต่พอคลื่นมันใหญ่ขึ้นๆ เรากั้นไว้ได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมันก็จะล้นฝั่งเข้ามา

สติ เห็นไหม “ขันติบารมี” เวลาเรามีขันติธรรม เราพยายามอดทนของเรา แต่ความอดทนของคนมันมีขีดจำกัดของมันไง แต่อดทนได้ขนาดนี้ อดทนได้มากน้อยขนาดไหน แล้วสิ่งที่มันเร้าเข้ามาที่มากกว่าขนาดนี้ มันก็จะล้นฝั่งเข้ามา

ฉะนั้นอดทนไว้ อดทนไว้ นี่มีขันติธรรม มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ถ้ามีสมาธิขึ้นมาเราแยกแยะได้แล้ว สิ่งที่ล้นเข้ามามันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความคิดเหมือนกัน แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา มันจะมีปัญญาเข้ามาต่อต้าน มีปัญญาเหมือนกัน มีความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดอันหนึ่งมันมีสมาธิรองรับ แต่สมาธิอันหนึ่งเป็นสมาธิเกิดจากตัวตนของเรา เกิดจากความพอใจของเรา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากความพอใจของเรามันเป็นอันหนึ่ง

แต่ถ้าปัญญาที่เกิดจากสมาธิ สมาธิมันเป็นกลางไง มันเป็นกลางเพราะว่ามันไม่มีเราบวก มันไม่ใช่เราพอใจและไม่พอใจ ถ้าเราพอใจเราก็ว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ถ้าเราไม่พอใจเราก็ว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง เราพอใจหรือไม่พอใจนี่เราเข้าข้างตัวเองไปแล้ว

ถ้าเรามีสมาธินะ แต่ถ้าเราเข้าข้างตัวเองเดี๋ยวสมาธิก็เสื่อม เพราะเข้าข้างตัวเอง ตัวเองก็ขาดสติ เข้าข้างตัวเอง ตัวเองก็ขาดคำบริกรรม เข้าข้างตัวเอง ตัวเองก็ไม่มีสติปัญญาควบคุม ปล่อยไปเดี๋ยวมันก็ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา พอเสื่อมไปแล้ว เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันจะฝึกฝนใจดวงนั้น ให้ใจดวงนั้นจนมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาว่า ถ้าเราขาดสติ เราไม่ควบคุมของเรา เห็นไหม

ยุ้งฉางเราไม่ดูไม่แลของเรา มอดปลวกมันก็แทะ มันก็ชอนไชของมัน มันทำให้ยุ้งฉางนั้นเสียหายได้ แต่ถ้าเราดูแลของเรา เราคอยกำจัดปลวก เราใช้ยาฆ่าแมลงป้องกันไว้ ยุ้งฉางนั้นมันก็จะดีของมัน แล้วยุ้งฉางนั้นมันจะมีข้าวเปลือก มีสิ่งต่างๆ ขึ้นมานะ มันจะมีสติ มันจะมีปัญญาขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมานะ ไม่ใช่ยุ้งฉางมีแต่ยุ้งฉางเฉยๆ นี่ว่างเปล่าๆ สิ่งใดไม่ต้องทำเลย มันจะว่างเปล่าๆ ว่างเปล่ามาจากไหน?

ว่างเปล่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่างเปล่ามา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มาอีก ๖ ปี ศึกษากับคนที่สอนผิดๆ มาอีก ๖ ปีนะ สุดท้ายแล้วใครก็สอนเราไม่ได้ ใครสอนไปมันก็ออกนอกลู่นอกทาง เห็นไหม นี่ย้อนกลับมาอานาปานสติ ย้อนกลับมาที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณนี่มันยืนยัน ยืนยันว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนอดีตชาติไป เคยเป็นมาๆ พระเวสสันดรเคยเป็นมาหมดเลย ก็เป็นมาแล้วเป็นอย่างไรต่อล่ะ เป็นมาแล้ว ถ้ามันย้อนกลับมาแล้วออกไปจุตูปปาตญาณ เห็นไหม ถ้าเป็นมามันก็เป็นไป มันมีความเป็นมา มันก็จะมีความเป็นไปใช่ไหม มีมามันมีความเป็นพื้นฐาน ความเป็นไปเพราะเวรกรรมของมัน

นี่มันต้องไปเกิดสภาวะแบบนั้น ฉะนั้นอาสวักขยญาณที่เกิดขึ้นมาชำระกิเลสล่ะ อาสวักขยญาณมันจะว่างเปล่ามาจากไหน มันต้องมีกิจจญาณ สัจจญาณ มันมีกิจกรรมของจิต มันมีการกระทำของมัน ถ้าไม่มีสิ่งใดเลย เราไปนั่งในครัวนะแล้วบอกอาหารมันสำเร็จรูปมา นั่งมองมันนะ โอ้โฮ.. นั่นก็เป็นแกง ไอ้นั่นก็เป็นข้าว มันจะเป็นไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่ถ้าเราได้บริหารจัดการ เราได้เกิดการกระทำขึ้นมา มันจะเป็นอาหารที่เราตั้งใจจะให้มันเป็นชนิดใดๆ มันจะเป็นชนิดนั้น

ในการภาวนาก็เหมือนกัน ในการภาวนาของเรา ในพุทธศาสนา เห็นไหม มันไม่มีกำมือในเรา คือมันเป็นการพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าท่านเปิดเผย พุทธศาสนาอยู่ในที่สว่าง เปิดเผยตรวจสอบกันได้ สิ่งใดเกิดขึ้นมา สิ่งใดจะเป็นมาเราต้องตรวจสอบกัน คำว่าตรวจสอบ ตรวจสอบเพราะอะไร?

ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ในการประพฤติปฏิบัตินี่เราเป็นปุถุชน กว่าเราจะเป็นกัลยาณปุถุชนที่เราจะควบคุมจิตของเราได้ เราก็ทุกข์ยากขนาดไหน.. ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส กัลยาณปุถุชนมันควบคุมตัวเองได้ พอควบคุมตัวเองได้นี่ กัลยาณปุถุชนทำสมาธิก็ได้ง่ายขึ้น แล้วเวลาออกรู้ เห็นไหม ถ้าไม่ออกรู้มันไม่เป็นโสดาปัตติมรรค ไม่เป็นโสดาปัตติมรรคเพราะอะไร เพราะว่าในเมื่อเรารู้ของเรา สมาธิเป็นของเรา กัลยาณปุถุชนเราควบคุมของเราได้ มันก็เป็นเรา

เราก็คือเรา! เราก็คือเรา ไอ้กิเลสมันก็สะสมอยู่ในเรานั่นแหละ แต่ถ้ามันออกรู้ เห็นไหม ออกรู้ในอะไร นี่คำว่ากิเลส ดูสิเวลาอารมณ์เราถ้าอะไรมันกระทบขึ้นมา อารมณ์เราเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด มันมีความกระทบใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ออกรู้นี่มันกระทบเข้ามา เวลาออกรู้นะกระทบเข้ามาที่จิต กระทบเข้ามาที่จิตเพราะอะไร.. ถ้าจิตมันออกรู้ ออกรู้ในอะไร ออกรู้ในสิ่งที่มันไม่เคยรู้ มันไม่เคยเห็น มันไม่เคยรู้ในเรื่องอะไร มันไม่เคยรู้เรื่องไตรลักษณ์ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ความเป็นอนัตตา ความแปรสภาพ ความไม่คงที่ของมัน ความไม่คงที่ของอะไร ความไม่คงที่ของร่างกาย สักกายทิฏฐิไง ความเห็นว่านี่เป็นของเรา นี่เป็นของเรา

ทุกคน จิตใต้สำนึกมันนอนใจ อนุสัยมันนอนเนื่องไปกับใจ มันนอนอยู่ของมันว่าสิ่งนี้เป็นของเราอยู่แล้วใช่ไหม ดูสิเราเกิดมากับเรา ชีวิตนี้ก็เป็นเรา เราเดินไปไหนชีวิตก็ไปกับเรา นี่มันเป็นเราทั้งหมด ทำไมเวลาเดินๆ ไปนี่ตายขณะเดินล่ะ เดินไปแล้วตายเดี๋ยวนั้น อุบัติเหตุตายเดี๋ยวนั้นมันเป็นเราไหม มันไม่เป็นเรา เห็นไหม มันไม่เป็นเราเพราะอะไร นี่เพราะมันออกรู้ พอออกรู้แล้วมันสะเทือนเข้ามา เหมือนกับอารมณ์

อารมณ์จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระทบนะ ถ้าไม่มีการกระทบ อารมณ์ไม่เกิดหรอก เวลาเรานอนหลับอยู่มันไม่มีอารมณ์ เห็นไหม เว้นไว้แต่ฝัน นี่ไงอารมณ์กระทบ กระทบกับอะไร จิตกระทบกับอะไร จิตมันกระทบกับอะไร แต่ถ้ามันไม่สงบเข้ามา มันจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรกระทบกับอะไร มันก็เป็นเราไปหมดเลย นี่ความคิดก็เป็นเรา แล้วก็ไปมองที่ความคิดว่าความคิดดับ ไม่ต้องมองก็ดับ

ดูสิเวลาคนเขามีปัญญาขึ้นมา เขาทบทวน เห็นไหม เขาต้องตรวจสอบตลอดเวลา เขาต้องทดสอบจิตใจของเขา เขาต้องทบทวนปัญญาของเขา ถ้าไม่ทบทวนปัญญามันก็จางไป แล้วทำไมต้องทบทวนล่ะ?

การทบทวนคือการกระทบ! ข้อมูล กับความรู้สึก กับจิตมันกระทบกัน แล้วมันใช้ปัญญาใคร่ครวญของมัน นี่เป็นเรื่องของโลกนะ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของธรรมล่ะ เห็นไหม ถ้าเรื่องของธรรม จิตมันจะสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา นี่ออกรู้มันกระทบ ออกรู้เพราะจิตมันยังไม่รู้ ถ้าออกรู้ นั่นล่ะโสดาปัตติมรรค ถ้าไม่มีการออกรู้โสดาปัตติมรรคมันจะมาจากไหน ถ้ามันออกรู้แล้วรู้เป็นอย่างไร?

นี่ไงถ้ามันเป็นไป ออกรู้เป็นอย่างไร เพราะเรามีครูมีอาจารย์ใช่ไหม ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ ออกรู้มันก็เข้าข้างตัวเองหมด ออกรู้ก็ตอนนี้เพ้อเจ้อ เพ้อฝันกันไปหมดนะ ในการปฏิบัติมันเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน พอเพ้อฝันขึ้นไป เพ้อฝันแต่อ้างอิงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สักแต่ว่า ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย แล้วเวลาทำ อย่างเช่นพาหิยะ ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์เลย ก็ว่าเราก็ทำกันได้ เราก็ทำกันได้

มันก็เหมือนเราเห็นเศรษฐี นี่เศรษฐี มหาเศรษฐีเราก็เป็นได้ เราทุกคนเป็นได้กันจริงๆ นะ แต่ทำแล้วเป็นไหมล่ะ เห็นเศรษฐีเขามีเงินมีทองมหาศาลเลย เราก็เป็นได้ ใช่สิทธิของคนเป็นได้หมดแหละ ถ้าใครทำกิจการต่างๆ ประสบความสำเร็จก็เป็นเศรษฐี ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จ ทำแล้วมันก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป.. นี่ก็เหมือนกัน เห็นเขาทำได้ๆ แล้วเราทำได้จริงหรือเปล่าล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน มันปล่อยวางๆ ปล่อยวางจริงหรือเปล่าล่ะ? นี่มันปล่อยวาง มันเป็นกระแสสังคม มันเป็นกระแส เห็นไหม แล้วเราก็อ้างกันว่าพาหิยะทำได้ ใครก็ทำได้ เราก็ต้องทำได้ แต่เราไม่ได้คิดถึงว่าคนเรามันมีกรรมเก่า กรรมใหม่นะ กรรมเก่าทำให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ แล้วเราจะมาสร้างกรรมใหม่กันอยู่ ถ้าเราไม่มีศีลธรรม จริยธรรม ยึดหลักเกณฑ์ในหัวใจของเรา หัวใจของเรามันก็จะดีดดิ้นไปตามอำนาจของมัน แต่เพราะเราเกิดมาในพุทธศาสนา เราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อมั่นในปู่ ย่า ตา ยายของเราที่ยึดศาสนานี้เป็นที่พึ่ง ฉะนั้นเราก็ต้องเอาศีลธรรมนี้มากรอง

ศีล ๕ ควรทำหรือไม่ควรทำ แล้วพอเราควรทำหรือไม่ควรทำ เราก็เรียกร้องกัน นี่ว่าปาณาติปาตา เราไม่รังแกเขา ทำไมเขารังแกเรา ทำไมเขาทำเรา ทำไมเขาฆ่าสัตว์ ทำไมเขาทำสิ่งนั้นตกล่วง อันนี้นี่ไงกรรมเก่า กรรมใหม่ เด็กบางคนจะไม่ยอมทำสิ่งนี้เลย เด็กบางคนทำแล้วเป็นเรื่องสะใจของเขา นี่ไงจิตใจที่มันสร้างมานี่กรรมเก่า

กรรมเก่า กรรมใหม่.. กรรมเก่ามันจะทำให้เรามีมุมมอง มีปฏิภาณ มีไหวพริบ ถ้ามันมีไหวพริบขนาดนี้นี่กรรมเก่า กรรมใหม่เราก็ต้องมาฝึกฝนของเรา เพราะกรรมเก่ามันเหมือนกับสมบัติ เห็นไหม เงินเรามีของเราเป็นมรดกตกทอดมา แต่เงินนี้เราจะมาสร้างสมให้เป็นสมบัติที่เราหาขึ้นมา เป็นสมบัติที่เรากระทำขึ้นมา มันทำอย่างไร

กรรมเก่าทำให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วมีศีลธรรม จริยธรรมมากรองไว้สิ่งหนึ่ง กรองไว้ให้เรามีศีลธรรม จริยธรรม ให้จิตใจเราไม่เร่ร่อนออกไปนอกลู่นอกทาง ถ้านอกลู่นอกทางนะ เห็นไหม กรรมนี่ทำให้เกิดผลของวัฏฏะ สิ่งใดก็เกิดจากการกระทำของเรา ถ้าเราทำสิ่งใด ยิ่งเรามีปัญหากระทบกระเทือนในหัวใจของเรา เรายิ่งทำประชดตัวเอง ยิ่งทำร้ายตัวเอง มันก็ยิ่งจะเลวร้ายไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามันมีปัญหากระทบหัวใจของเรานะ หยุด! ตั้งสติ มันเป็นเพราะอะไร หาเหตุหาผล ถ้าหาเหตุหาผลนะ หาเหตุว่าในปัจจุบันนี้สู้แก้ไขของเราไป

หยุด! หยุด! ไม่ต้องไปประชด มันเป็นผลการกระทำของเรามาทั้งนั้น เราจะมาเกิดในครอบครัวอย่างใด เกิดมาแล้วมีแรงเสียดสีขนาดไหน นั้นมันก็เป็นกรรมเก่ามาทั้งนั้น นี่ใช้เวรใช้กรรม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“เวร..ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

เราเกิดมาแล้ว เวลาหลวงตาท่านสอน พ่อแม่ของเราเป็นพระอรหันต์ของเรา เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่ของเรานี่ ถึงพ่อแม่เราจะผิด หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ “ถึงพ่อแม่เราจะผิด เราก็ไม่ควรจะไปโต้แย้งทั้งสิ้น เพราะผลของกรรมมันจะเข้าถึงเรา” ถึงพ่อแม่เราจะผิด ทีนี้เราบอกถ้าพ่อแม่เราผิดมันต้องเอาศีลธรรมเข้าจับสิ ว่าผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ใช่! ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก แต่มันต้องมีอุบาย

การสั่งสอน เห็นไหม ทิฐิมานะของคนไม่เหมือนกัน พ่อแม่สอนลูก ก็ถือสิทธิว่าลูกเป็นของเรา นี่จ้ำจี้จ้ำไชได้เลย ไอ้ลูกจะเถียงพ่อแม่นะ ไม่ได้แล้ว ไม่ได้แล้ว แต่เราต้องใช้อุบายสิ เราต้องค่อยๆ ใช้อุบาย ทำไมพ่อแม่สอนหนูได้ล่ะ ทำไมหนูพูดเหตุผลบ้างไม่ได้ล่ะ ค่อยๆ คุยกัน ถ้าพ่อแม่ได้ฟังเหตุผล พ่อแม่ก็จะสะอึก ถ้าสะอึกอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์กับเรา แต่คนเราเวลาเกิดโทสะแล้วไม่มีความคิดได้หรอก ฉะนั้นเราต้องมีสติก่อน เห็นไหม

นี่พูดถึงทางโลกนะ เวลาทางโลกมันยังต้องมีอุบาย อุบายอย่างนี้เกิดขึ้นมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากครูบาอาจารย์ของเรา เพราะท่านเห็น ท่านรู้จักกิเลส กิเลสเวลาอนุสัยมันกลมกลืนไปกับอารมณ์ความรู้สึกแล้วมันไม่ไว้หน้าใครเลย แต่ถ้าเรามีสติสตังนะ เรามีสติขึ้นมาเรายับยั้งไว้ก่อน สติยับยั้งไว้แล้วมันไม่กลมกลืนไปไง โทสะ โมหะมันไม่กลมกลืนไป พอไม่กลมกลืนไปเราก็พูดด้วยเหตุด้วยผลกันได้ ถ้าเราพูดด้วยเหตุด้วยผลกัน เห็นไหม

“เหตุและผล รวมลงเป็นธรรม”

เหตุและผล แต่ถ้ามีอารมณ์เข้ามาแล้วมันไม่มีเหตุ มันไม่มีผลแล้ว มันจะฟันกันอย่างเดียว ฉะนั้นเราตั้งสติไว้ แล้วมันจะเห็นผลหยาบๆ การยับยั้ง การใคร่ครวญ การปรึกษาหารือกัน การกระทำให้สิ่งที่มันเป็นประโยชน์ขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จนถึงที่สุดนะ ไม่มีสิ่งใดจะมีคุณค่ากับชีวิตของเรา ไม่มีสิ่งใดจะมีคุณค่าเท่ากับความรู้สึกของเรา เราถึงต้องตั้งสติแล้วทำความสงบของใจเข้ามา

“สุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

สิ่งที่แสวงหามานี้ไว้เพื่อดำรงชีวิต แล้วเราจะหาอริยทรัพย์ ทรัพย์สมบัติของเรา เพื่อให้จิตนี้มันเกิดดีขึ้น มันพัฒนาดีขึ้น พันธุกรรมให้มันตัดแต่งให้มันเจริญขึ้นไป ถึงที่สุดมันสร้างอำนาจวาสนา มันมีปฏิภาณไหวพริบขึ้นมา มันจะเห็นโทษของแค่เล็กน้อยไง ที่โลกเขาอยู่กัน นั่นก็ผิด นี้ก็ผิด เราจะไม่ทำ เราจะเห็นความผิดพลาดของมัน เห็นความเศร้าหมองของมัน แล้วเราจะรักษาหัวใจของเรา จนถึงที่สุดนะเราจะพ้นจากทุกข์ไปได้ พอพ้นจากทุกข์ไปได้ เราจะเห็นเลยว่า จิตหยาบ จิตละเอียดที่สังคมเขาดูกันมันเป็นแบบใด เพื่อประโยชน์กับเรานะ

นี้คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่มีกำมือในเราไง”

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้วไม่มีกำมือในเรา แต่เราไม่มีสิ่งใดเลย เราบอกไม่มีในเรา.. ไม่มีในเรา ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย มันก็เป็นขี้ลอยน้ำ เอวัง