ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ถามต้องมีเหตุ

๖ เม.ย. ๒๕๕๔

 

ถามต้องมีเหตุ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเป็นข้อ ๓๖๗. นะ

ถาม : ๓๖๗. เรื่อง “สวดมนต์แล้วตัวหมุน”

หลวงพ่อ : เขาถามมาเรื่องตัวหมุน แล้วเราตอบเขาไป แล้วมันเป็นประโยชน์นะ

ถาม : ตอนนี้ไม่หมุนเกือบเดือนแล้ว ดีใจมาก ทำตามคำแนะนำของหลวงพ่อ ขอบคุณ.. ตอนนี้กำลังฟังธรรมะของหลวงพ่อย้อนหลังทางอินเตอร์เน็ต

หลวงพ่อ : เขาแจ้งผลมา ก็ยังว่าใช้ได้อยู่ ถามมาว่าเวลาภาวนาไปแล้วมันจะตัวหมุนมาก ตัวโยกตัวคลอนมากแล้วจะแก้ไขอย่างใด แล้วเราอธิบายไปแล้ว นี้เพียงแต่แจ้งผลมาว่า

“ตอนนี้ไม่หมุนแล้วค่ะ ทำตามคำแนะนำของหลวงพ่อ ขอบคุณมาก”

ทำตามคำแนะนำก็บอกว่าให้พุทโธชัดๆ ไว้ พุทโธไว้ชัดๆ เพราะเวลาตัวมันหมุน เวลาอธิบายไปมันหลากหลายมาก ทีนี้พอหลากหลายมากมันไปเข้ากับทางของพระบางองค์ เพราะเขาสอนให้หมุน สอนให้หมุน

เราไม่ได้สอนให้หมุน สอนให้หยุดหมุน! ถ้าหมุนอยู่ เคลื่อนไหวอยู่ มันเป็นสมาธิไม่ได้ การเป็นสมาธิคือนิ่งอยู่ ไม่เคลื่อนไหว แต่ก่อนที่มันจะเป็นสมาธิมันอาจมีการเคลื่อนไหวก่อน เคลื่อนไหวเข้าไปสู่ความหยุดนิ่ง แต่ถ้าบอกว่าเคลื่อนไหวตลอดเวลามันไม่ใช่ ถ้าพูดถึงสมาธินะ แต่ถ้าปัญญานั่นก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นเวลาพูด พอบอกว่าตัวหมุนมันเป็นจริต เป็นนิสัย มันมีคำถามเข้ามาอีกเยอะมากเลย อู๋ย.. หลวงพ่อ ถ้าตัวหมุนแล้วไปเหมือนกับพระองค์นู้น เหมือนกับพระองค์นั้น มันไปเข้ากับพระองค์นั้นๆ เหมือนกับเป็นการไปการันตีว่า การตัวหมุนนั้นเป็นความถูกต้อง.. เราไม่ได้บอกว่าการตัวหมุนนั้นเป็นความถูกต้อง แต่การตัวหมุนมันอาจมีหมุนได้ แล้วแต่จริตนิสัยของจิต

เหมือนคนถนัดซ้าย ถนัดขวา คนเราเขียนหนังสือถนัดขวาเป็นส่วนใหญ่ แต่คนถนัดซ้ายมี ถ้าคนถนัดซ้ายหรือถนัดขวา เวลาเราเขียนหนังสือ หรือเวลาเราทำวิชาชีพแล้วมันออกมาเป็นผลงานอันนั้นต่างหาก ไม่ใช่ว่าถนัดซ้ายหรือถนัดขวามันจะเป็นความถูกหรือความผิด แต่ผลงานนี่ คนส่วนใหญ่แล้วเป็นคนถนัดขวา

นี่ก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่การประพฤติปฏิบัติแล้วมันอาจจะสงบไปเฉยๆ ก็ได้ คำว่าสงบไปเฉยๆ จะเป็นส่วนใหญ่นะ ส่วนใหญ่เพราะอะไร ส่วนใหญ่เพราะว่าคนเรานี่ ยอดของเจดีย์เป็นส่วนน้อย ฐานของเจดีย์เป็นส่วนใหญ่ คนชั้นรากหญ้า คนชั้นกลาง คนชั้นส่วนบน

นี่ก็เหมือนกัน คนส่วนบน คนส่วนใหญ่ ที่ว่าจริตนิสัยทำได้ง่าย หรือเป็นที่ว่าจะเห็นฤทธิ์เห็นเดช รู้วาระจิตต่างๆ มันเป็นคนส่วนใหญ่ของยอดเจดีย์ แต่ส่วนพื้นฐานของเจดีย์นี่มันสงบไปเฉยๆ โดยที่ไม่มีสิ่งใด โดยไม่มีสิ่งต่างๆ ไอ้พวกเราก็เลยแปลกใจ แปลกใจว่าทำไมเราไม่มีแบบนั้นๆ แบบนั้นนะเหมือนกับคำว่าคนถนัดซ้ายหรือถนัดขวานี่แหละ คนถนัดขวาจะเป็นคนส่วนใหญ่ คนถนัดซ้ายเป็นคนส่วนน้อย แต่คนส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ เวลาทำวิชาชีพแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นการหมุนๆๆ มันก็เป็นลักษณะอย่างนี้ ถ้ามันหมุน มันเป็นจริตนิสัยของบางคนมันมี ถ้ามันมีแล้วเราก็พุทโธไว้ชัดๆ หรือว่าเรากำหนดสติไว้ การหมุนมันเป็นกิริยาภายนอก แต่ถ้ามันปล่อยวางได้ มันเข้ามาสู่ความสงบนะ ความหมุนก็จะหายไป แล้วจิตจะมีความสงบด้วย มีกำลังด้วย มีพื้นฐานด้วย.. นี้พูดอธิบายถึงว่าจิตหมุน ไม่ได้ว่าจิตหมุนถูก ไม่ได้ว่าจิตหมุนจะเป็นคุณงามความดี ไม่ใช่! มันเป็นเวรกรรมของจิตดวงนั้นต่างหาก มันเป็นเวรกรรมของคน มันเป็นความถนัดของจิต เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมและไปยืนยันสิ่งนั้นได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าถ้ากำหนดพุทโธชัดๆ หรือกำหนดสติชัดๆ กำหนดลมหายใจชัดๆ ชัดๆ ไว้ มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป แล้วมันจะเข้ามาสู่ตัวจิต ถ้าเข้ามาสู่ตัวจิตแล้วนิ่งอยู่ เห็นไหม นิ่งอยู่พร้อมกับสติ พร้อมกับความรู้สึก นิ่งอยู่อันนี้ นี่เป็นสัมมาสมาธิ แล้วเราก็จะมีความสุข สิ่งนั้นมันก็ผ่านมา มันผ่านพ้นไป.. นี่พูดถึงว่า “จิตหมุน”

ถาม : ๓๖๘. เรื่อง “ด้วยหลักด้วยเกณฑ์”

หลวงพ่อ : คำถามนี้ ชื่อมันแปลกอยู่ คำถามนะ เรื่องด้วยหลักด้วยเกณฑ์ แต่ชื่อผู้ถามนะ “ใจก็ไม่มี” ถ้าใจก็ไม่มีก็ไม่ต้องถามแล้ว ใจก็ไม่มี.. แล้วคำถามนี้มันแปลกมาก ฉะนั้นเราจะตอบเฉพาะ เพราะถ้าไม่ตอบเลยมันก็เหมือนกับเขาว่าแหย่รังแตน แล้วแตนมันไม่ต่อย ในเมื่อเขาแหย่รังแตนแล้ว แตนมันต้องออก

เขาพูดถึงว่า “จิตส่งออก”

ถาม : ผลอันเกิดจากจิตส่งออกแล้วหวั่นไหวเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตเป็นมรรค สติเห็นจิตสังขาร (นี่เขาพูดถึง) ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ สติเห็นจิตสังขารไม่ได้ สติไม่ใช่จิต สติไปเห็นสิ่งใด สติมันก็ค่อยๆ จับไว้เฉยๆ สติเป็นตัวพื้นฐาน เป็นตัวให้เริ่มต้นทำสมาธิ สติเป็นตัวเริ่มต้นทำให้ทำทุกๆ อย่าง แต่ตัวสติจะทำอะไร สติก็คือสติ สติเห็นจิตสังขาร

การอธิบายแบบนี้ จิตเห็นจิตแจ่มแจ้งเป็นมรรค สติเห็นจิตสังขารในขันธ์ ๕ ในความรู้สึกของผม เป็นธรรมขั้นตัดสังโยชน์ในส่วนของสักกายทิฏฐิเท่านั้น เพราะการล่วงพ้นจากขันธ์ ๕ เป็นการละสังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นการเปิดประตูพระนิพพาน ประตูแรกคือพระโสดาบัน หากความคิดของผมผิด ขอหลวงพ่อโปรดแผ่ความเมตตามายังศิษย์ผู้อยู่ไกลด้วยครับ

เพราะผมพิจารณาว่า การตัดแขนตัดขาที่ขาดไป ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวแต่อย่างใด ส่วนจิตที่ยังไม่ตัดขาดนั่นสิคือยังรู้สึกอยู่ แต่เมื่อตัดจนสุดท้ายแล้ว ขันธ์ทั้งหลายก็เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่เรา จิตต้องซักฟอกที่จิต ไม่ใช่ซักฟอกที่ขันธ์ ขอให้ความเมตตาด้วย

หลวงพ่อ : อย่าวิตก วิจารเกินไปเลย อย่าเป็นห่วงว่ามีเงินมีทองเยอะๆ แล้วไม่มีที่เก็บ ไม่ต้องห่วง อย่าห่วงว่ามรรคผลนิพพานเราจะไม่รู้จักมัน ไม่ต้องห่วง! ไม่ต้องห่วง! เพราะว่าคำถามนี้มันแปลกมาก มันแปลกที่ว่ามันเป็นการโต้แย้งไง เป็นการโต้แย้ง คำถามอันนี้มันถามบอกว่า

“ถ้าจิตเห็นจิต จิตละขันธ์ ขันธ์มันไม่ใช่จิต ถ้าจิตละขันธ์แล้วก็ต้องไปซักฟอกกันที่จิต”

แล้วซักฟอกอย่างไรล่ะ? แล้วซักฟอกอย่างไร? ลูกเราเกิดมา เราอยากให้ลูกเราจบด็อกเตอร์ แล้วเราบอกให้ลูกเราจบด็อกเตอร์แล้วค่อยมาเรียนอนุบาลหรือเปล่า ลูกเราคลอดออกมาแล้วลูกเราเป็นด็อกเตอร์ เสร็จแล้วก็เรียนจากด็อกเตอร์ลงมาใช่ไหม เป็นด็อกเตอร์ก่อน แล้วก็ค่อยปริญญาโท แล้วปริญญาตรี แล้วก็มาเรียนชั้นอุดมศึกษา มาเรียนมัธยม มาเรียน ป.๔ แล้วมาเรียนอนุบาล เป็นอย่างนั้นเหรอ? ลูกเราเกิดมาเราก็ต้องให้เรียนอนุบาลขึ้นไปก่อนใช่ไหม จากอนุบาลเราก็ ก.เอ๋ย ก.ไก่ ไปเรื่อยๆ จนเขาเรียนมัธยม แล้วเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เขาเป็นด็อกเตอร์ไป

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราว่าสติเห็นจิตสังขาร เขาจะบอกว่าที่เราพูดกันมันเป็นของต่ำต้อย ถ้าพูดถึงว่ามันต้องไปฟอกกันที่จิตต่างหาก ไม่ใช่ฟอกกันที่ขันธ์.. จะฟอกอะไรหรือไม่ฟอกอะไร มันเริ่มต้นจาก

“ดอกบัวเกิดจากโคลนตม”

มันก็เกิดจากจิตที่เรามีกิเลสทั้งนั้นแหละ แต่โดยสามัญสำนึกของพวกเรา ว่าใครมีกิเลสปฏิบัติไม่ได้ ใครมีความอยากปฏิบัติไม่ได้ ต้องไม่มีความอยากถึงปฏิบัติ ก็พระอรหันต์ไปปฏิบัติ ไอ้พวกเราปฏิบัติไม่ได้เพราะเรามีความอยาก ความอยากมันเป็นสามัญสำนึก มันมีของมันอยู่แล้ว ถ้ามันไม่มีความอยากเราจะมาเกิดเป็นคนเหรอ เกิดเป็นคนมีอวิชชาอยู่นี้เพราะมันมีความอยาก จิตใต้สำนึกมันมีหมดแหละ

เราบอกเราไม่อยากๆ เพราะเราเรียนมาใช่ไหม อย่างพวกเรานี่เป็นผู้ใหญ่ เห็นไหม มารยาทสังคมเราก็ต้องเรียบร้อยใช่ไหม เราจะปล่อยตัวเราเหมือนเด็กๆ ได้เหรอ เด็กๆ มันเล่นกัน มันจะนอนกลิ้งอย่างไรก็ได้ มันก็เรื่องของเด็ก ไม่มีใครถือสามันหรอก แต่เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราจะทำอย่างนั้นมันจะเสียมารยาทไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่พอเราศึกษาธรรมะขึ้นมาแล้วเราก็มีมารยาทใช่ไหม เขาบอกไม่ให้มีความอยาก อู้ฮู.. กิริยามารยาทเรียบร้อยน่าดูเลย ไม่มีความอยาก จิตนี้เรียบร้อย จิตนี้ไม่มีความอยาก เราก็คิดได้แค่นี้แหละ แต่ความจริงมันมีกิเลส ความอยาก จิตใต้สำนึกมันมี อยากลึกๆ มันมี ถ้ามันไม่มีความอยากอยู่ลึกๆ มันจะปฏิบัติทำไม

พวกเราอยากพ้นจากทุกข์ใช่ไหม เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เวลาเรากราบไหว้ เราทำวัตร เราสวดมนต์ นี่อิติปิ โส ภะคะวา เห็นไหม ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็อยากเป็นอย่างนั้น เราอยากเป็นนะ บุคคล ๘ จำพวกใช่ไหม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

ในสังฆคุณ บุคคล ๘ จำพวก จิตนี้มันจะพัฒนาของมันไป เวลาเราปฏิบัติไปแล้ว เรานี่แหละเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์ แล้วพอเราเป็นอย่างนั้นแล้ว ถ้ามันเป็นไปตามข้อเท็จจริงของมัน นี้มันเป็นความจริง

ถ้าความจริงนี่การกระทำมันก็มีความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะมันก็เป็นมรรคอันหนึ่ง มันอยากพ้นทุกข์ มันไม่ได้อยากโดยที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อยากโดยที่ทำลายตัวเอง.. นี่ความอยากโดยจิตใต้สำนึกมันมีอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาเราไปศึกษากันแล้ว เห็นไหม มารยาทสังคมเราก็ว่าเรารู้ไปหมด

ทีนี้ย้อนกลับมา “ถ้าละขันธ์ฟอกขันธ์มันก็เป็นแค่โสดาบัน” แล้วเอ็งได้โสดาบันหรือยังล่ะ? ถ้าเอ็งได้แล้วมันก็จบไง ถ้ายังไม่ได้ แล้ววิตก วิจารไปอะไร?

นี่ไงเราถึงบอกว่ามันวิตก วิจารไปไง กลัวว่าเราเป็นเศรษฐีแล้วไม่มีที่เก็บตังค์ไง เราเป็นเศรษฐีแล้ว ทรัพย์สมบัติเราจะไม่มีที่เก็บ.. ไม่ต้องห่วง มันจะแค่ละขันธ์หรือไม่ละขันธ์ ขอให้มันทำจริงเถอะน่า! ให้มันเป็นจริงขึ้นมา จิตเห็นจิตนี่...

นี้เราตอบแบบกั๊กนะ เพราะเราเข้าใจว่าคำถามนี้ ถามเพื่อจะเอาไปหากินไง หลวงพ่อตอบมา แล้วเราจะได้เอาไปเรียบเรียงใหม่ จะเอาไปเรียบเรียงใหม่อีกแล้วเหรอ จิตเห็นจิตนี่ พูดถึงถ้ามันเป็นเรื่องความสงสัยจริง อะไรจริง คำถามอย่างนี้มันเป็นคำถามแบบว่ามันไม่มีเหตุมีผล คำถามว่า “ถ้าจิตเห็นจิต จิตสังขาร แล้วพอตัดสังขารแล้ว มันก็แค่ละสักกายทิฏฐิ แล้วมันก็เป็นการฟอกขันธ์ แต่ความรู้สึกของเรา เราต้องฟอกที่จิต”

แล้วฟอกที่จิตฟอกอย่างไรล่ะ? ถ้ามันรู้แล้ว รู้แล้วแล้วฟอกอย่างไร? คำถามนี่เป็นคำถามลวง จะลวงให้ตอบไง

ฉะนั้นไอ้เรื่องอย่างนี้มันเป็นโดย “อริยสัจมีหนึ่งเดียว” จิตส่งออกเราพูดจบหมดแล้ว จิตมันส่งออกอย่างใด มันผ่านขั้นตอนอย่างใด อย่างเช่นเรานี่ โทษนะ อย่างพวกโยมมานั่งอยู่นี้ด้วยมารยาทใช่ไหม โยมก็ต้องแต่งตัวด้วยความสุภาพเรียบร้อยใช่ไหม ทีนี้เวลาโยมจะทำความสะอาดร่างกายเรานี่ เรากลับไปที่บ้านเราทำอย่างไร เราก็ต้องเปลื้องผ้าออก เราต้องอาบน้ำชำระล้างร่างกายใช่ไหม

ขันธ์มันก็เปรียบเหมือนเสื้อผ้านี่แหละ เปรียบเหมือนเสื้อผ้าใช่ไหม เพราะว่าจิตมันส่งออกไป เราออกมานี่โดยมารยาทสังคม เราไปอยู่ในสังคมไหนเราก็ต้องทำตัวให้เราเข้ากับสังคมนั้น

จิต.. โดยธรรมชาติของมันจิตมันส่งออก ส่งออกผ่านอะไร ก็ผ่านขันธ์ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด แล้วเวลามันจะซักฟอกกันไป มันก็ต้องซักฟอกจากขันธ์นั้นเข้ามา ถ้าไม่ซักฟอกจากขันธ์เข้ามาจะไปซักกันที่ไหน เขาบอกขันธ์ไม่ต้องซักฟอกเลย โยมกลับไปนี่ เราจะเอาด้ายเย็บไว้เลยนะ เสื้อผ้าชุดนี้เย็บตายตัวอยู่นี่เลย เวลาอาบน้ำก็อาบพร้อมเสื้อผ้าไป เวลาไปไหนก็อยู่อย่างนี้ตลอดไปเลย คือห้ามถอดเสื้อผ้าเลย เป็นไปได้ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ขันธ์กับจิตมันไม่ใช่อันเดียวกัน แต่มันก็เป็นขั้นตอนของมัน เราจะไปสังคมไหน เราจะทำอย่างไรใช่ไหม เราจะนุ่งเสื้อผ้าอย่างใดเข้ากับสังคมไหน เราไปทำงานเราก็แต่งชุดราชการ เราไปทางอื่นเราก็แต่งชุดอย่างอื่นไป

ความคิด! คิดดี คิดชั่ว ความคิดมันก็ฟอกของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ความคิดมันก็ฟอกของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ฉะนั้นเวลาคนภาวนาเป็น อย่างพวกเราไม่ต้องถามเนาะ ว่าเสื้อผ้ามันใส่อย่างไร มันถอดอย่างไร แต่เด็กๆ มันต้องถามนะ เด็กๆ มันไม่ยอมใส่ด้วย พ่อแม่ต้องปล้ำกันน่าดูเลยกว่าจะใส่เสื้อผ้ามันได้ แต่ผู้ใหญ่นี่ไม่ต้องถาม

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าคนมันภาวนาแล้วมันไม่ต้องถาม มันจะไปถามอะไร ถ้ามันรู้แล้วมันจะไปถามอะไร แล้วถ้ามันถามขึ้นมามันก็แปลกเนาะ เราเป็นพ่อคนแม่คน ถอดเสื้อผ้า ใส่เสื้อไม่เป็น มันน่าแปลกใจเนาะ เอ๊ะ.. เราโตจนขนาดนี้แล้ว เสื้อผ้ายังใส่ไม่ถูก ยังว่าเอ๊ะ.. ถ้าขันธ์มันไม่มี มันก็เป็นแค่ก้อนธาตุ แล้วจิตมันจะฟอกอย่างไร

มันก็แปลกอยู่ มันแปลกอยู่ว่าทำไมเราโตจนป่านนี้แล้วยังนุ่งผ้า เปลื้องผ้ายังไม่เป็น มันก็แปลกอยู่ มันแปลกอยู่เพราะอะไร แปลกอยู่เพราะภาวนาไม่เป็นไง แต่ถ้าภาวนาเป็น เราเป็นถึงพ่อคนแม่คน เราต้องถามไหมนุ่งผ้า แก้ผ้า ทำอย่างไร มันก็ชำนาญหมด

ขันธ์กับจิต! ขันธ์มันแบบว่า ในเมื่อสุดท้ายแล้ว เวลาตัดขันธ์ไปแล้วผมมีความเข้าใจว่า เวลาตัดขันธ์ออกมาแล้ว ขันธ์มันขาดแล้ว แล้วที่ขันธ์มันขาดไปแล้วมันก็ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดใช่ไหม มันไม่มีแล้ว.. มันไม่มี เวลามันเสวยมันรู้ของมัน ถ้ามันมี มันเป็นไป มันจะรู้ของมัน

เราดูแล้วคำถามนี้มันแปลกมาก มันแปลกเพราะว่ามันไม่ได้ถามถึงว่าตัวเองปฏิบัติอย่างไร อย่างเช่นเราขับรถไป เวลาเราหลงทาง เราจะรู้เลยว่าเราไปช่องทางไหน แล้วหลงทางอย่างใด เราถึงถามใช่ไหม จะมาวัดนี้ อู้ฮู.. หลงไปหนองตากยาเลย ไปเมืองกาญจน์ยังกลับมาไม่ถูกเลย เออ.. ถ้าถามอย่างนี้ถูก

คำถามแบบนี้มันจะเป็นคำถามแบบว่า เราปฏิบัติไปแล้วมันจะผิดหรือจะถูก จะผิดเพราะเราปฏิบัติไปแล้วมันผิด พอผิดไปแล้วมันจะไปอีกช่องทางหนึ่ง แล้วไปอีกช่องทางหนึ่ง เราจะกลับมาอีกช่องทางให้ถูกต้องนี่ทำอย่างใด นี่ถ้าผลของการปฏิบัตินะ เวลาครูบาอาจารย์ธัมมสากัจฉา ที่เขาคุยกัน เขาคุยกันอย่างนั้น

เวลาจิตสงบแล้วเป็นอย่างไร? ออกรู้อะไร? ออกรู้ภูตผีปิศาจ ผิด.. ออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ใจธรรม ถูก.. แล้วออกรู้นี่กำลังพอไหม? แบกรับไหวไหม? เด็ก ถ้างานมันใหญ่เกินไป เด็กมันจะรับงานสิ่งนั้นไม่ได้ มันทำงานสิ่งนั้นไม่ไหว ผู้ใหญ่พอเจองานสิ่งนั้นปั๊บ ผู้ใหญ่จะแก้ไขงานสิ่งนั้นได้ตลอดรอดฝั่งไป

จิต! ถ้ามีกำลังขึ้นมา มันพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมแล้ว ถ้ารับไม่ไหวต้องกลับมาพุทโธเพื่อให้กำลังมันเข้มแข็งขึ้นมา พอจิตมันเข้มแข็งขึ้นมาปั๊บ มันกลับไปทำงานใหม่ โอ้โฮ.. มันทำได้คล่องแคล่วมากเลย แต่ถ้าจิตมันไม่มีกำลัง มันไปทำงานอย่างไรมันก็ทำไปไม่รอดหรอก

จิตถ้าไม่มีสมาธิ ไปทำงานอะไรไม่ได้หรอก นี้จิตถ้าไปทางที่ถูก ถ้าไปทางที่ผิดนะ ไปรู้นู่นรู้นี่ ไปรู้ออกไป ไปรู้นิมิต ไปเห็นสิ่งต่างๆ เห็นแล้วกลับมานะ กลัวก็กลัวเกือบตาย พอเห็นแล้ววิ่งหนีนะ กลับมาหอบเลยนะ อู้ฮู.. ไปเห็นมาแล้ววิ่งกลับมา แล้วมาถามว่านั่นคืออะไร ก็เอ็งวิ่งหนีกลับมายังมาถามกูอีกว่านั่นอะไร

ถ้ามันผิดมันจะเป็นอย่างนี้ไง มันมีผิดมีถูกแล้วมาถามปัญหา ไอ้นี่มันไม่มีผิดไม่มีถูก เพียงแต่ตั้งประเด็นขึ้นมา เห็นไหม ถ้าขันธ์มันขาดไปแล้ว ขันธ์มันขาดไปแล้วก็ไม่มีความเจ็บปวดสิ จิตต่างหากมันมีความเจ็บปวด นี่มันต้องมาฟอกกันที่จิตสิ ไม่ใช่มาฟอกกันที่ขันธ์.. เอ็งมาถามทำไมว่าเสื้อผ้าถอดอย่างไร เอ็งไม่เคยถอดเหรอ? เอ็งโตจนป่านนี้ถอดเสื้อผ้าไม่เป็นเหรอ? อ้าว.. โตจนป่านนี้นะ นุ่งผ้า เปลี่ยนเสื้อผ้ามาขนาดนี้แล้วมันก็ต้องรู้ของมัน

อันนี้พูดถึงมันจะถามให้ไขว้เขว เราจะบอกว่าให้ถามจนตาย หลักมันไม่มีเปลี่ยนหรอก เวลาคนภาวนาเป็นนะ พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้

“เหมือนหลัก ๘ ศอก ฝังดินลงไป ๔ ศอก โผล่ออกมา ๔ ศอก โดนลม โดนน้ำ แดดฝนขนาดไหน หลักนั้นก็ไม่คลอนแคลนหรอก”

คนภาวนาเป็นนะ เป็นโสดาบันนะเป็นอกุปปธรรม จะมั่นคงในโสดาบัน ไม่คลาดเคลื่อน ไม่หวั่นไหว เป็นสกิทาคามี จะเป็นสกิทาคามีโดยมั่นคง ไม่คลาดเคลื่อนและหวั่นไหว เป็นอนาคามี จะอยู่ในขั้นของอนาคามีด้วยความมั่นคง ไม่มีการคลาดเคลื่อนเพราะเป็นอกุปปธรรม.. อกุปปธรรม อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นพระอรหันต์ด้วยยิ่งชัดเจนใหญ่

ฉะนั้นจะให้มันหวั่นไหว การถามให้คลาดเคลื่อนมันเป็นไปไม่ได้หรอก ไม่ต้องมาทำให้คลาดเคลื่อน เป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องมาถามให้มันมั่ว เป็นไปไม่ได้! เป็นไปไม่ได้หรอก

ฉะนั้นว่าจิตก็ไม่มี ถ้าจิตก็ไม่มีแล้ว นี่ผู้ถาม ชื่อนิกเนมเขาไง ผู้ถามชื่อ “ใจก็ไม่มี” ถ้าใจก็ไม่มีแล้วมันก็ไม่ต้องถามแล้ว ขนาดใจมันก็ไม่มีแล้ว แต่ถ้าถามนะก็ถามมาด้วยข้อเท็จจริง ปฏิบัติไปแล้วมันเป็นอย่างไร ปฏิบัติไปนี่ถ้าถามให้ถามอย่างนั้น ว่าตัวเองปฏิบัติแล้วมันมีประสบการณ์อย่างใด ผิดถูกเราหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านจะคอยแก้ผิดแก้ถูกให้เรา

ไอ้นี่มันไม่มีอะไรผิดอะไรถูกเลยเข้าใจว่า ผมเป็นห่วงว่า ในเมื่อขันธ์มันขาดไปแล้ว พอขาดไปแล้วมันก็ไม่มีความรู้สึก แล้วความรู้สึกมันอยู่ที่จิต แล้วมันจะไปฟอกกันอย่างไรล่ะ? ถ้าตอบไม่ได้ก็เขียนมาใหม่เนาะ สงสัยจะตอบคนอื่นไม่ได้

อย่าลวง! อย่าลวง! ถามลวงไม่มีประโยชน์หรอก

ข้อ ๓๖๙. นะ เห็นไหม ข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ ฟังนะ.. เวลาคนภาวนา คนทำอะไรผิดพลาดไปแล้ว มันผิดแล้วเราจะแก้ให้ถูก นี่เรามีครูบาอาจารย์กันมาเพื่อเหตุนี้ไง เพื่อทำให้ดี ถ้าจะมาชักให้มันไขว้เขว ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก

ถาม : ๓๖๙. เรื่อง “การเอาชนะการลบหลู่พ่อแม่ครูบาอาจารย์”

กระผมได้เกิดความคิดที่ไม่ดีต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เช่นตบหัวมันซะดีไหม? (ความคิดนะ นี่ความคิดเขา) หรือมีความหยาบเกิดขึ้นที่ใจ ซึ่งกระผมไม่ได้มีเจตนาในการที่จะคิดอย่างนั้นเลย ความคิดพวกนั้นจะเกิดมากตอนที่พบหรือเห็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หรือตอนที่ไปพบ ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นบ้างแต่ไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งกระผมพยายามที่จะชนะมันให้ได้ แต่ก็ไม่ได้

กระผมพยายามพุทโธ พุทโธ ความคิดนั้นก็หยุดลง แต่ไม่เด็ดขาด มันกลับคิดเกิดขึ้นมาอีก ทั้งที่ผมโกรธในความคิดเช่นนั้นมาก ทั้งที่กระผมก็มีความศรัทธา เคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์อย่างหาที่สุดไม่ได้ ถ้ากระผมชนะความคิดพวกนี้ได้ กระผมก็จะได้หมดจากความคิดพวกนี้ซะที เป็นอิสระซะที ขอความเมตตาหลวงพ่อด้วยครับ

หลวงพ่อ : นี่ถ้าคนปฏิบัติไป พอเวลาปฏิบัติไปแล้ว จิตเรามันจะสัมผัสนั้น สัมผัสนี้มีขึ้นมา กรณีอย่างนี้ เห็นไหม กรณีอย่างนี้มีมากพอสมควร เพราะเราแก้กรณีอย่างนี้ไปเยอะมาก เป็นทั้งพระ เป็นทั้งโยม เป็นทั้งพระ พระก็เป็นนะ พระไม่ใช่วัดเรา พระวัดอื่นนี่แหละ เขามาหานะ เขาบอกว่าจิตใจมันแปลก เวลาคิดถึงครูบาอาจารย์ปั๊บมันจะมีคำจาบจ้วงมาตลอดเลย ทั้งๆ ที่ผมก็เคารพนะ ผมก็รักนะ พูดอย่างนี้ทุกคนเลย ทั้งๆ ที่ผมก็เคารพ แต่ทำไมเวลาเข้าไปใกล้ จิตใจมันจะติเตียนไปตลอดเลย

ทั้งๆ ที่เราก็รัก.. รักคือปัจจุบันไง รักคือเรามีสตินี่ เราเข้าใจได้ใช่ไหมว่านี่คืออาจารย์เรา เราก็อยากจะหาทางออกกันทั้งนั้นแหละ เราก็หาครูบาอาจารย์เพื่อจะช่วยเหลือเรา แต่ไอ้จิตใต้สำนึก ไอ้ลึกๆ เห็นไหม ไอ้ลึกๆ นี่มันด่า มันว่า มันติเตียน แล้วมันก็เป็นทุกข์น่ะสิ ไอ้ลึกๆ นี่มันกรรมเก่าไง

ลึกๆ คือกรรมเก่าใช่ไหม อย่างเช่นรสนิยมนี้มันอยู่ที่ความรู้สึกของเรานะ แต่พอรสนิยมนี่เราก็รู้ว่ารสนิยมใช่ไหม นี่เขาเรียกว่าจริตนิสัย ทีนี้พอเรามาแล้ว สิ่งนี้มันสมควรหรือไม่สมควร มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เราก็พยายามจะระงับ พยายามจะระงับมัน

นี่พันธุกรรมทางจิตมันมีของมันมา ฉะนั้นกรณีอย่างนี้นะเราจะบอกว่า เราตัดใจเลย ตัดใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้มันเป็นกรรมเก่า กรรมเก่าคือว่าจิตใต้สำนึก สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมา ฉะนั้นในปัจจุบันนี้มันเหมือนกับการชักเย่อกัน เหมือนกับความคิดลึกๆ มันมีความรู้สึกอย่างนี้ แต่ชักเย่อคือความคิดปัจจุบันนี้ไง ความคิดปัจจุบันเรารู้อยู่ว่าอะไรผิดชอบชั่วดี เพราะเรามีสติปัญญาใช่ไหม เรามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แล้วอะไรเป็นคุณงามความดีล่ะ?

“กตัญญูกตเวที” การรู้คุณคน มันเป็นเครื่องหมายของคนดี ฉะนั้นครูบาอาจารย์ พ่อแม่ครูจารย์เราก็เคารพ เราก็รัก ไปอาศัยท่านนะ เราไปอาศัยท่านเอง เวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น เห็นไหม เวลามานี่ใครไปนิมนต์ฎีกามา ก็ทุกคนมาหาหลวงปู่มั่นเอง ทุกคนก็อยากจะพ้นจากทุกข์ ทุกคนก็มาหาหลวงปู่มั่น

ฉะนั้นเวลาหลวงปู่มั่นท่านแก่ชราภาพ ท่านเป็นวัณโรค หลวงตาท่านเห็นว่าหลวงปู่มั่นท่านชราภาพ ท่านฉันอาหารเช้าไม่ได้ ท่านก็ไปเอาน้ำมะพร้าวอ่อน แต่ให้ในเพลนะ ใส่แก้วไปให้ท่านดื่ม ท่านบอกว่า “ดื่มไม่ได้หรอก ดื่มไม่ได้”

“ทำไมล่ะ”

“นี่ไงไอ้พวกตาดำๆ มันมองอยู่”

หลวงตาท่านบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นมันก็เป็นเทวทัต!” คือถ้าครูบาอาจารย์ป่วยขนาดนี้แล้วถ้าท่านดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนจะทำให้ท่านมีกำลังขึ้นมาบ้าง แต่คนที่มาหวังพึ่งเขาบอกว่านี่มันขาดธุดงค์ไง เป็นผู้นำไม่ชัดเจน

หลวงตาท่านใส่เลย ท่านใส่บอกว่า “ถ้าคนคิดอย่างนั้นมันผิด! เพราะว่าอะไร เพราะว่าเรามาอาศัยท่าน แล้วท่านแก่ชราภาพขนาดนี้” นี่ความกตัญญูกตเวที เราไปอาศัยท่านใช่ไหม อย่างเช่นในปัจจุบันนี้เราอาศัยพระพุทธเจ้านะ อย่างเราก็อาศัยพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ใช่ไหม ว่าให้ภิกษุออกบิณฑบาต ให้คฤหัสถ์เขาใส่บาตร

คฤหัสถ์ เห็นไหม การทำบุญกุศล เช้าขึ้นมาก็หุงข้าวใส่บาตร นี่เป็นหน้าที่ของเขา เราเป็นพระใช่ไหม พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ เราก็อาศัยธรรมวินัยดำรงชีวิต เราอาศัยพระพุทธเจ้าอยู่ แล้วเราจะเคารพพระพุทธเจ้าไหม ที่เรามีกินมีใช้อยู่นี้ก็เพราะพระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ ธรรมอย่างนี้บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมอย่างนี้ แล้วเราเกิดมาในท่ามกลางพุทธศาสนา แล้วเราได้อยู่ได้อาศัย ได้ดำรงชีวิตในธรรมวินัยนี้ เราต้องเคารพพระพุทธเจ้าไหม

ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า ถ้าสิ่งนี้มันมี.. ในปัจจุบัน เห็นไหม กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องแสดงออกของคนดี เป็นเครื่องหมายของคนดี ฉะนั้นในปัจจุบันนี้เราเกิดมาแล้วเราเข้าใจของเรา เราก็มีความกตัญญูกตเวทีกับอาจารย์ของเรา ฉะนั้นในปัจจุบันนี้ สติปัญญาในปัจจุบันนี้มันก็ต้องยื้อกัน.. แล้วเรื่องจิตใต้สำนึก จะบอกว่ามันสุดวิสัย

มันไม่สุดวิสัยหรอกมันแก้ได้ แต่มันเหมือนกับสุดวิสัย เพราะมันเป็นจิตใต้สำนึกเพราะเราไม่มีสติปัญญาจะไปยับยั้งตรงนั้นได้ ถ้ามีสติปัญญาไปยับยั้งตรงนั้นได้ เห็นไหม ให้เราพุทโธ พุทโธ พุทโธชัดๆ ไว้ พุทโธชัดๆ ไว้ แล้วพยายามอุทิศส่วนกุศล เจ้ากรรมนายเวรไง อุทิศส่วนกุศล มีเวรมีกรรมต่อไป ให้เลิกแล้วต่อกัน

นี่มันมีในสมัยพุทธกาล ที่ว่าเป็นเพื่อนกันสองคนผลัดกันฆ่ามาตลอดเลย เป็นเพื่อนกันนะ แล้วเกิดมาเป็นเพื่อนกันทุกชาติ แล้วฆ่ากันมาทุกชาติเลย แล้วมีอยู่ชาติหนึ่งอยู่ในถ้ำ ไปป่ากลับมาด้วยกันสองคน แล้วก็นอนอยู่ด้วยกัน เพื่อนคนนี้ถึงวาระที่จะฆ่าเขานี่ลุกขึ้นมาแล้ว คิดจะฆ่าเขา ทีนี้พระพุทธเจ้าแบบว่าพุทธกิจ ๕ ไง เล็งญาณแล้วเห็น พระพุทธเจ้ามาเลย พระพุทธเจ้ามาด้วยฤทธิ์เลยนะ บอกหยุดก่อนๆ อย่าเพิ่งทำอะไร แล้วก็ให้ปลุกเพื่อนขึ้นมา พอปลุกเพื่อนขึ้นมา พอทั้งสองคนลุกขึ้นมาเลยนะ แล้วก็เทศน์เลย

“เธอสองคนผลัดกันฆ่า ชาตินี้ นาย ก. ฆ่า นาย ข. ชาติต่อไป นาย ข. ฆ่า นาย ก. ชาติต่อไป นาย ก. ฆ่า นาย ข. ผลัดกันทำอย่างนี้มาเป็นแสนๆ ชาติ ฉะนั้นต้องให้อโหสิกรรมต่อกัน” ให้ปลุกคนที่จะโดนฆ่าชาตินี้ขึ้นมา..

อยู่ในพระไตรปิฎกไปเปิดได้ พอปลุกขึ้นมาแล้วเทศนาว่าการให้มันละกันที่หัวใจไง ถ้าเราไม่ละกันที่นี่นะ มันละกันไม่ได้ ฉะนั้นพอปลุกขึ้นมานี่นั่งฟังเทศน์ ท่านเทศน์ให้ฟังเลย พอเทศน์ให้ฟัง พอเราฟังเทศน์แล้วใช่ไหม เราก็มีความละอายใช่ไหม

นี่ไงที่ว่าเวลาเราด่า เรามีคำหยาบเกิดในใจ มันอยู่ที่หัวใจใช่ไหม ฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ทำความเข้าใจ เราทำความเข้าใจว่าสิ่งนี้เราเคยมีความบาดหมาง เคยมีสิ่งใดมา ฉะนั้นสิ่งนี้เราขออโหสิ นี่เราถึงบอกว่าให้อุทิศส่วนกุศล ให้อุทิศส่วนกุศล แก้ไปเรื่อยๆ แล้วเวลาสวดมนต์ทำวัตรทุกครั้งไป พอสวดมนต์ทำวัตรเสร็จแล้วนี่ขอขมารัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ถ้าเป็นพ่อแม่ครูจารย์เรา ขอขมาตลอด อุทิศส่วนกุศลแล้วขอขมาลาโทษ ขอเถอะ ขอให้หมดเวรหมดกรรม ขอ! ขอ! อุทิศไป อุทิศไป พออุทิศไป จิตใต้สำนึกที่มันด่าไง จิตใต้สำนึกที่มันด่าเราพยายามอุทิศออกไป พยายามอุทิศออกไป

เวรกรรมมันมีนะ เวรกรรมของใครของมัน เวรกรรมเก่าๆ มันมี เวรกรรมมันมี ฉะนั้นอันนี้มันเป็นกรรมเก่า กรรมใหม่ ให้อุทิศไป แล้วทีนี้พอเสร็จแล้วเราก็มาพุทโธอย่างที่ว่านี่ ถูกต้องแล้ว พยายามพุทโธ พุทโธของเราไว้ พุทโธทำใจเราให้มีสติปัญญาควบคุมได้ มันจะควบคุมได้

คำถามนะ “การเอาชนะการลบหลู่ครูบาอาจารย์”

เขาพูดเอง คำถามคือการพยายามจะเอาชนะใจตัวเองในการลบหลู่ครูบาอาจารย์.. นี่เวลาพวกเรานักปฏิบัติ พุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้หมายถึงว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนจะแก้ไขในหัวใจของตน ตนเป็นผู้ดูแลตรวจสอบในหัวใจของตน ถ้าตนเป็นผู้ดูแลตรวจสอบในหัวใจของตน แล้วเราไม่มีทางออก เราก็หาครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้คอยแนะนำ

หลวงปู่มั่นบอกว่า “จิตสูงกว่า พยายามจะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้นมาได้”

ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัติ ในการถามปัญหามันต้องมีเหตุมีปัจจัยอย่างนี้ ปัญหามันถึงจะเป็นปัญหา ไม่ใช่ปัญหาลอยๆ มา ไอ้นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ.. นี่ปัญหามันมีของมัน ทีนี้ปัญหานี้เราตอบบ่อยมาก เพราะคนเป็นมาก แต่เวลาคนเข้ามาในเว็บไซต์ พอไปอ่านเจอปั๊บก็จะถามปัญหาใหม่ขึ้นมา แต่มันก็เป็นปัญหาซ้ำเก่า ซ้ำเก่าคือเราเคยตอบปัญหาอย่างนี้มาแล้ว

ฉะนั้นเอาต่อไปอีกปัญหาหนึ่ง

ถาม : ๓๗๐. เรื่อง “การนั่งสมาธิกับการบรรลุธรรม”

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ หนูมีคำถามดังนี้ สมมุติว่าชาตินี้ถ้าหนูนั่งสมาธิแล้วหนูได้แค่ขณิกสมาธิ โดยไม่สามารถได้สมาธิที่สูงขึ้นไปกว่านี้ เพื่อใช้ปัญญาพิจารณาตามจริงได้ ถ้าอย่างนั้น ชาตินี้หนูก็จะไม่สามารถบรรลุธรรม หรือเป็นเบื้องต้นแค่พระโสดาบันก็ไม่ได้ใช่ไหมคะ

หนูเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า และเชื่อว่ากายใจนี้ไม่ใช่เรา คำที่ครูบาอาจารย์สอนหนูก็เชื่อและศรัทธาค่ะ และหนูก็ปรารถนาอยากไปนิพพาน แต่หนูไม่สามารถเห็นทุกสิ่งได้ด้วยปัญญาค่ะ เปรียบเหมือนเรียนอภิธรรมก็เข้าใจ แต่ไม่มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริงนะคะ กราบนมัสการด้วยเคารพอย่างยิ่ง

หลวงพ่อ : ถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว เราได้สมาธิแล้ว หลวงตาท่านจะแนะนำตลอดเวลาว่าให้หัดฝึกใช้ปัญญา ถ้าสมาธินะ เวลาเป็นสมาธิแล้วนี่เราบอกเราได้แค่ขณิกสมาธิ ไม่ได้อุปจารสมาธิ แล้วเราจะพิจารณาเห็นกาย เห็นจิต เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงได้อย่างไร

ฉะนั้นถ้าจิตเราเป็นสมาธิแล้วเราก็หัดใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาเสร็จแล้วก็กลับมาทำสมาธิอีก ถ้าเราใช้ปัญญาแล้วกลับมาทำสมาธิอีก สมาธิมันจะทำได้ง่ายขึ้น สมาธิจะปลอดโปร่งมาก แต่ถ้ามันทำสมาธิไม่ได้ เวลาใช้ปัญญาแล้วมันจะฟุ้งซ่านไป เราก็บังคับไว้

มันต้องสังเกต มันต้องหมั่นสังเกตจิตของเราเอง ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ ถ้าเวลาฟุ้งซ่าน มันไม่ลงสู่สมาธิ เราจะให้มันคิดมากเกินไปมันก็จะฟุ้งซ่านออกไปใช่ไหม เราก็ต้องตั้งสติพุทโธ พุทโธให้ชัดเจน ถ้ามันชัดเจนขึ้นมาแล้ว เราใช้ปัญญาขึ้นไป ปัญญามันจะลัดเลาะ คือว่ามันพยายามจะไม่ให้จิตนี้ไปเกี่ยวเนื่องกับอะไร มันจะเข้าสมาธิได้ง่าย เห็นไหม มันก็เริ่มต้นได้

คือว่าถ้าเราทำไม่ได้เลย เราก็จะไม่ได้โสดาบันเลย คำว่าได้โสดาบันหรือไม่ได้โสดาบันนี่เราไปห่วงตรงนั้นไง เราว่าจิตต้องลงเป็นสมาธิเต็มที่เลย ถ้าจิตมันลงสมาธิแล้วนะเราใช้ปัญญามันจะปลอดโปร่งมาก มันจะทะลุมาก ดูสิเวลาเราใช้ปัญญา เห็นไหม ปัญญาโดยทั่วไป เวลาเราคิดในหน้าที่การงานมันเครียดมากเลย

ถ้ามันไม่มีสมาธินะ มันก็เหมือนๆ กันนั่นล่ะ มันจะเครียด มันจะวิตก วิจาร มันจะไม่ลงลึกไง มันจะไม่ชำระกิเลส ฉะนั้นเราต้องอาศัยสมาธิ ทีนี้สมาธิเราไม่ได้มากใช่ไหมเราก็ใช้ปัญญาฝึกไป ฝึกไปเพื่อให้มันส่งเสริมกัน ระหว่างสมาธิกับปัญญานี่ ส่งเสริมกันว่าทำให้สมาธิได้ง่ายขึ้น

ฉะนั้นหัดใช้ปัญญาได้ ทีนี้เพียงแต่ว่า บอกว่าต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิจะเกิดปัญญาไม่ได้.. อันนี้เป็นการยืนยันถึงข้อเท็จจริงไง เวลาข้อเท็จจริงเป็นโสดาบันมันต้องเป็นแบบนั้น ฉะนั้นยืนยันในข้อเท็จจริง แต่ถ้าเราเป็นการฝึกหัดใหม่ แบบฝึกหัด! แบบฝึกหัดไม่ใช่ความจริง ถ้าแบบฝึกหัดเราก็ฝึกหัดของเราไป พอฝึกหัดของเราไปเราจะเห็นความจริง เราจะมั่นคงของเราขึ้นมา ถ้ามั่นคงขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวโสดาบันมันอยู่แค่เอื้อมไง

นี่หนูก็อยากจะไปนิพพานด้วยค่ะ แต่ขนาดโสดาบันหนูยังไม่มีปัญญาเลย แล้วหนูจะไปนิพพานได้อย่างไร.. เราก็หวังทุกคนแหละ แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม พระในเมืองไทยนี่ ๔ แสนกว่าเกือบ ๕ แสนองค์นะ แล้วเวลาปฏิบัติจริงจัง ในครูบาอาจารย์ของเรา เวลาพระโพธิสัตว์ปรารถนาเป็นล้านๆ ล้านๆ เลยนะ แล้วมันก็สละทิ้งๆ สละออกไปเพราะมันไม่ไหว เวลาปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์เป็นล้านๆ แต่ถึงที่สุดเป็นพระพุทธเจ้าได้สักกี่องค์ ๑ หรือ ๒ องค์ยังได้หรือไม่ได้ อันนี้ขนาดเป็นพระโพธิสัตว์นะ

ฉะนั้นเวลาพระเรานี่ ๔ แสนกว่า เวลาปฏิบัติไปแล้ว ในความรู้สึกมันจะเหลือมากี่องค์ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ฟากตาย ฟากตาย” คือเราต้องจริงจัง ถ้าจริงจังนี่ข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ไง ข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ แต่! แต่ใน ๔ แสนกว่าองค์มีพระอรหันต์ไหม? มี! มี! แล้วพระอรหันต์มาจากไหนล่ะ พระมาจากไหน พระก็มาจากคน แล้วเราเป็นอะไร เราเป็นคน เราเป็นคนเราก็มีจิตใจและร่างกาย เราก็เป็นคนๆ หนึ่ง เราก็มีโอกาสคนหนึ่ง

ฉะนั้นเวลาเราทำของเราไป เราก็ทำของเราด้วยความเป็นจริงของเรา แต่! แต่ว่ามันต้องเป็นข้อเท็จจริง ฉะนั้นสิ่งที่เรายืนยันออกไปว่าต้องศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องสมาธิเราเน้นย้ำขึ้นมา เพราะสังคมเขาปฏิเสธสมาธิกันไง สังคมเขาปฏิเสธการต่อเนื่อง การพัฒนาการของจิต มันไปตัดตอนกัน แล้วจิตมันจะพัฒนาไปได้อย่างไร

เราก็เพียงแต่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา คือว่าให้จิตมันพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นไป เราถึงยืนยันสมาธิๆ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าเราต้องได้สมาธิเต็มที่ เราได้สมาธิขนาดไหน เราก็ใช้ปัญญาของเราได้ ปัญญานี่เราฝึกใช้ของเราได้ ฝึกของเรา ใช้ของเรา

แล้วอย่างที่ว่านี้ “แม้แต่เบื้องต้นที่ว่าเป็นพระโสดาบันหนูก็จะไม่ได้ใช่ไหมคะ”

ถ้ามันได้มันก็คือได้ มันไม่ใช่ว่าใครจะบอกว่าได้หรือไม่ได้ มันเป็นจิตดวงนั้น ถ้ามันสมควรของมัน มันพิจารณาของมันโดยสมบูรณ์ของมัน มันก็เป็นของมันโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นโดยสัจจะ สัจจะข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น มันก็ได้เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นมันอยู่ที่เราขยันหมั่นเพียร เห็นไหม นี่มันก็จะลงตรงนี้ ลงที่แบบว่าเราพูดบ่อย เอาไปเป็นคติไง

กระรอกมันอยู่ชายทะเล แล้วลมพายุมันพัดรังของมันตกไปในทะเล แม่กระรอกนะมันเอาหางไปชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด เอาหางชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด จนเทวดาทนไม่ไหวนะ เพราะกระรอกตัวนี้เป็นกระรอกพระโพธิสัตว์ เอาหางไปชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด เอาหางไปชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด จนเทวดามาถามนะ แปลงเป็นเทพบุตรมาถามว่า

“กระรอกทำอะไร”

“ลมพายุมันพัดลูกตกลงไปในทะเล”

“แล้วทำอะไรล่ะ”

“จะเอาหางนี่ชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด”

“ทำทำไมล่ะ”

“ทำเพื่อให้น้ำทะเลมันแห้ง เพื่อจะได้ค้นหาลูกตัวเองเจอ” แล้วมันเป็นไปได้ไหม? กระรอกตัวหนึ่งเอาหางไปชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด เอาหางชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด จะให้น้ำทะเลแห้ง

นี่คือความเพียรไง มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยแต่กระรอกไม่สน เทวดาก็ถามว่ามันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ไม่รู้ แต่ด้วยความรักลูก ลูกตกลงไปในน้ำทะเล จะเอาลูกขึ้นมาให้ได้ เอาหางไปชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด แล้วก็วิ่งไปเอาหางชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด จะให้น้ำทะเลแห้ง

จนสุดท้ายเทวดาด้วยฤทธิ์ เอาลูกของกระรอกขึ้นมาคืนให้กระรอกได้ด้วยฤทธิ์ แต่ด้วยความคิดของกระรอกจะเอาหางชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด ให้น้ำทะเลนี้แห้ง ให้น้ำทะเลเหือดแห้งไป เพื่อจะได้ไปค้นหาลูก เพื่อจะเอาลูกตัวเองกลับมา

นี้คือความเพียรของพระโพธิสัตว์ แล้วกรณีอย่างนี้มันเอาไปเป็นคติตัวอย่างได้ เพราะเราปฏิบัติใหม่ๆ เวลาเราท้อถอยนะ โธ่.. ปฏิบัติโยมเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย เราเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย เหนื่อยน่าดูเลย ทุกข์มาก เวลาจิตใจมันไม่สู้นะ เวลามันท้อถอยนี่คิดถึงพระพุทธเจ้า เราจะคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงหลวงปู่มั่น นิสัยเรานะเราจะคิดถึงพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์ ๖ ปีทุกข์กว่าเราเยอะนัก ไอ้เรามันเศษคน มันจะไปทุกข์อะไรขนาดนั้น

ยิ่งถ้าหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นออกปฏิบัติใหม่ๆ ไปไหนมีแต่คนวิ่งหนีเลย ไม่เคยเห็นนุ่งผ้าดำๆ อย่างนี้ มันไม่ใช่พระที่เขาคุ้นเคย.. นี่ไม่มีใครสนใจ มีแต่คนวิ่งหนี ท่านพยายามของท่าน ท่านยังเอาตัวท่านรอดมาได้

ฉะนั้นเวลาเราท้อแท้นะ เราจะคิดถึงพระพุทธเจ้ากับหลวงปู่มั่นมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่บวชใหม่ๆ เลย จะคิดถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทุกข์กว่าเรา หลวงปู่มั่นทุกข์กว่าเอ็งเยอะนัก ความทุกข์เอ็งนี่ขี้ตีน ไม่ได้เศษทุกข์ของหลวงปู่มั่นด้วย มันก็ฮึดกันมาหน่อยหนึ่ง มันก็สู้ขึ้นมา สู้ขึ้นมา เอามาเรื่อยๆ

กรณีนี้ก็เหมือนกัน “หนูได้ฟังหลวงพ่อพูด แล้วหนูทำสมาธิไม่ค่อยได้”

พยายามทำของเราไปไง พยายามทำของเราแล้วใช้ปัญญา พอจิตมันสงบ คือสบายๆ เราก็ใช้ความคิด ใช้ความคิดถึงชีวิตว่าเกิดมาทำไม ชีวิตมีปัญหาอะไร แล้วปัญหาอย่างนี้เราหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน เวลาจิตมันเห็นโทษมันก็ปล่อย พอปล่อยมันก็เป็นสมาธิพักหนึ่ง เวลามันคิดใหม่มันก็คิดได้ง่ายขึ้น คิดได้ดีขึ้น

พอคิดได้ดีขึ้นนะ พอมันปล่อยๆ วันหลังพอมันจะคิดถึงว่าชีวิตนี้คืออะไร นี่มันไม่สนเลย มันปล่อยหมด มันปล่อยหมด.. นี่มันคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ นี่คือการฝึกใช้ปัญญา

หลวงตาบอกว่า “ถ้ามีสมาธินะแล้วไม่ออกใช้ปัญญา สมาธิก็คือสมาธิ”

ทีนี้ถ้าไม่มีสมาธิ ความคิดมันก็เป็นโลกียปัญญา เป็นปัญญาของโลกๆ ฉะนั้นนี่มันจะส่งต่อกัน.. ฝึกไปหัดไป เพราะมันมีปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ต้องไปท้อถอย พยายามสู้ของเรา เราจะได้ประสบการณ์ของเรา เห็นไหม

ถาม : แต่หนูไม่สามารถเห็นทุกสิ่งได้ด้วยปัญญาค่ะ เปรียบเหมือนไปเรียนอภิธรรมก็เข้าใจ แต่ไม่มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริง

หลวงพ่อ : ไม่มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริง เพราะนั่นมันเป็นสุตมยปัญญา แล้วเราปฏิบัติของเราไปอย่างนี้ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา แล้วจะเป็นภาวนามยปัญา

ภาวนามยปัญญา คือปัญญาเกิดจากการภาวนา ไม่ใช่เกิดจากการเรียน ไม่ใช่เกิดจากสัญญา เกิดจากความจำ มันจะเกิดโดยการภาวนา แล้วการภาวนานี้เกิดจากจิต แล้วมันจะเข้ามาทำลายจิต แล้วหนูจะได้เป็นพระโสดาบัน! เอวัง