ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คุยทางสมาธิ

๙ เม.ย. ๒๕๕๔

 

คุยทางสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๓๗๑. เรื่อง “คุยทางสมาธิ ใช่อุปาทานหรือเปล่าครับ”

นมัสการหลวงพ่อ ผมฟังหลวงพ่อทางอินเตอร์เน็ต ที่หลวงพ่อแก้ปัญหาเรื่องพระองค์หนึ่ง แล้วรู้สึกชอบใจหลวงพ่อมาก ก็เลยหารูปหลวงพ่อทางอินเตอร์เน็ต แล้วก็เพ่งที่รูป กำหนดรู้หนอ.. รู้หนอ ที่รูปหลวงพ่อ คืออย่างนี้ครับ ไม่ทราบว่าผมเหมือนได้คุยกับหลวงพ่อทางสมาธิจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงอุปาทานที่เกิดขึ้นในสมาธิของผมครับ

ในสมาธิหลวงพ่อคุยว่า “มึง กู” (อันนี้ใช่ อันนี้ใช่.. หัวเราะ) แต่เรื่องที่คุยผมจำไม่ค่อยได้ ไม่ทราบว่าหลวงพ่อเวลาคุยเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ? ทำไมครั้งหลังสุดที่ในสมาธิ ผมฟังหลวงพ่อพูดว่า “กูรู้ว่ามึงเป็นปุถุชน” จำได้ประมาณนี้ครับ กราบเรียนถามเพราะความสงสัย กลัวเป็นอุปาทาน กราบขออภัยถ้าหากคำถามไม่สำรวม กลัวเป็นอุปาทานจริงๆ ครับ สวัสดีครับ นมัสการครับขออนุญาตทิ้งในอีเมล์

หลวงพ่อ : เรื่องนี้นะ สำคัญมากคือความรู้สึก ความนึกคิดของเรา โดยความรู้สึกนึกคิดของคน เราโตมา แล้วเราอยู่ในสังคมอย่างนี้ ในสังคมแบบนี้ เห็นไหม เขาบอกคนรู้จักกัน มักคุ้นกัน ถึงจะมีความขัดแย้งกัน คนไม่รู้จักกัน ไม่มักคุ้นกัน จะไม่มีความขัดแย้งกันเลย แต่เพราะความมักคุ้น ความขัดแย้งใช่ไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราอยู่ในศาสนานี่เราเห็นพระ เห็นพระเห็นความประพฤติ เห็นสังคมนี่ เราเห็นแล้วมันไม่น่าเลื่อมใส แต่เวลาเราไปอ่านในพระไตรปิฎก อ่านในธรรมวินัย มันน่าเลื่อมใสมาก มันน่าเลื่อมใสมาก แต่ทำไมเวลาคนประพฤติปฏิบัติมันไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ

ฉะนั้นกรณีอย่างนี้มันทำให้จิตใจเราคัดค้าน ทำให้จิตใจเรามันไม่ยอมรับความเป็นจริง พอไม่ยอมรับความเป็นจริงมันก็มีของมัน ในหัวใจของมัน แต่พอมาฟังอินเตอร์เน็ต เห็นไหม พอมาฟังแล้วเห็นว่ามันเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไง เพราะเราบวชใหม่ๆ เราก็รู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน ตอนบวชใหม่ๆ ไปอ่านในวินัยมุขต่างๆ นี่ทึ่งมากเลย

เฮ้ย! พระพุทธเจ้าสอนเป็นวิทยาศาสตร์หมดเลยนี่หว่า เอ๊ะ.. ทำไมชีวิตเรา เราอยู่กับสังคม เห็นไหม เราอยู่กับสังคม อยู่กับประเพณีวัฒนธรรม มันเป็นเรื่องนิทานชาดกไปทั้งนั้นเลย แต่พอเวลาเราไปศึกษาธรรมะมันเป็นวิทยาศาสตร์หมดเลย

มันทึ่งมากนะตอนบวชใหม่ๆ ทึ่งมากเลย พอทึ่งแล้ว พอมันศึกษาไปๆ มันเข้าไปแล้วเราพิสูจน์ของเราด้วย ทีนี้พอพิสูจน์ หัวใจมันก็เปิดกว้างใช่ไหม พอหัวใจมันเปิดกว้างขึ้นมานี่ ทำสิ่งใดมันก็จะเป็นความจริงของมัน แต่ถ้าเราไปหมักหมมกับความคิดเก่า เห็นไหม ความคิดดั้งเดิมของเรา มันไม่น่าเชื่อถือ ฉะนั้นพอมีความศรัทธาขึ้นมาก็อยากเห็นรูปหลวงพ่อ เอารูปหลวงพ่อแล้วเพ่งกสิณ แล้วหลวงพ่อมาคุยกับผมในทางสมาธิได้ไหม

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาเขาบอกว่า เขากำหนดรู้หนอ รู้หนอ.. รู้หนอ รูปหนอ นามรูปต่างๆ เขาปฏิเสธนิมิต เอ็งยังไม่รู้อีกเหรอ? เขาปฏิเสธความเห็น แล้วเอ็งเห็นนี่เอ็งปฏิบัติผิดแล้วนะมึง ถ้าเป็นอภิธรรมนี่เอ็งผิดเต็มๆ เลย เพราะอะไร เพราะเขารังเกียจสมถะ เขาว่าสมถะนี้มันไม่ใช่ปัญญา แล้วเอ็งไปเห็นนิมิต นี่โดยอภิธรรมเอ็งก็ผิดแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เอ็งผิดเพราะอะไร เพราะว่าเป็นนิมิตๆ ถ้าเป็นนิมิตขึ้นมานี่ นิมิตมันเกิดจากจิต เห็นไหม จิตไปรู้สิ่งต่างๆ

ฉะนั้นถามว่า “หลวงพ่อพูดอย่างนั้นจริงหรือเปล่า?”

สิ่งที่มันเป็นไปได้ เป็นไปได้ว่าเราเห็นนิมิต เห็นความรู้สึกของเรา แต่ถ้าพูดถึงว่า เวลาหลวงพ่อส่งจิตมาแล้วผมกำหนดดู แสดงว่าจิตของผมพัฒนาขึ้นมาแล้ว อย่างนี้มันทำให้เราคลาดเคลื่อนจากหลักความเป็นจริง

หลักความเป็นจริง ในการปฏิบัตินี่ปฏิบัติเพื่อเอาชนะตัวเรานะ การปฏิบัติทั้งหมดปฏิบัติเพื่อตัวเรา ปฏิบัติเพื่อจิตของเรา จิตของเรามันยังเร่ร่อน จิตของเรามันยังไม่มีหลักเกณฑ์สิ่งใดเลย แล้วไปรู้ไปเห็นอะไรนี่ เราจะรู้เห็นอะไร เหมือนกับเราเอาเงินล้านหนึ่ง แล้วบอกให้เด็กนี่เอาไปใช้จ่าย เด็กนี้มันจะบริหารเงินล้านได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ให้มันล้านหนึ่งมันบอกมันไม่พอ จะเอา ๕๐๐ ล้าน เพราะล้านหนึ่งทำอะไรไม่ได้ ถ้า ๕๐๐ ล้านจะทำธุรกิจได้ นี่ถ้าจิตมันพัฒนาขึ้นมา

ทีนี้บอกว่าถ้ามันเห็นอย่างนี้ปั๊บมันจะเป็นอะไร จิตมันยังไม่มีอะไรพัฒนาการของมัน เราจะบอกว่าเรื่องกระแสจิต การที่คุยทางจิตนี่เป็นไปได้ไหม.. ได้! แต่ความเป็นไปได้ จิตมันต้องมีหลักมีเกณฑ์ของมันตามความเป็นจริง คือเราจะพูดกันโดยข้อเท็จจริง เราจะไม่พูดไปด้วยความเลื่อนลอย เราจะไม่พูดกันด้วยกระแส ด้วยหัวใจที่มันเป็นไป

จิตมันมีหลายระดับ มันมีของมันมหาศาลเลย ถ้าจิตของมันนะถ้ามันเห็นนิมิตใช่ไหม ถ้าเรากำหนดเพ่งนี่นะมันเหมือนกับกสิณ ถ้ามันเหมือนกับกสิณนะ แล้วสิ่งที่มาสิ่งนี้ เห็นไหม ถ้าโต้แย้ง ถ้าหัวใจมันขัดแย้ง มันก็ปฏิเสธทั้งหมดเลย ถ้าหัวใจมันยอมรับ มันเห็นดีเห็นงามไปหมดเลย นี่เราถึงเชื่อตัวเราเองไม่ได้ไง

เวลาเราโต้แย้งนะ เราจะโต้แย้งเราเต็มที่เลยนะ พระองค์นี้ใช้ไม่ได้ๆ ใช้ไม่ได้หมดเลย แต่ถ้าเราเชื่อนะ พระองค์นี้ทำผิดแต่เขาบอกองค์นี้ดีๆๆ ไปหมดเลย.. มันดีมันชั่วนี่พระองค์นั้นทำอย่างหนึ่งนะ แต่หัวใจที่เชื่อและไม่เชื่อนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้หัวใจที่มันเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้ามันเชื่อขึ้นมา มันก็เชื่อตามมันไปเลย ถ้ามันไม่เชื่อมันก็โต้แย้ง

จิตที่เราปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันเห็นสิ่งใด เราเห็นนะเห็นด้วยจิตของเรา ถ้าเห็นด้วยจิตของเรา เราจะแก้ไขของเราอย่างไร ถ้าเห็นเป็นนิมิตใช่ไหม เป็นนิมิตอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เป็นนิมิตขึ้นมานี่เรารับรู้ไว้ แล้วถ้ามันเป็นอย่างไรมันจะเป็นไหม.. เพราะสิ่งที่เป็นนิมิต เห็นไหม เวลาภาวนาครูบาอาจารย์บอกตรงนี้สำคัญมากเลย

“มันจะเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่ มันจะเห็นสิ่งใดเราต้องกลับมาที่จิตของเรา ถ้าเห็นแล้วนะ ความเห็นแล้วพิสูจน์ได้”

อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดเลย ท่านบอกว่า “เมื่อก่อนจิตท่านสงบ แล้วเกิดเห็นลำแสงพุ่งขึ้นมา” ท่านก็ตามลำแสงไปว่าจะไปจบเมื่อไหร่ ตามไปๆๆๆ ตามไปไม่มีวันจบ ไม่จบ ท่านเลยพุทโธ พุทโธดึงจิตกลับมา จบ! นี่ลำแสงตามไปเท่าไหร่ก็ไม่จบ.. นี่ก็เหมือนกัน นิมิตถ้าเห็นนะ คราวนี้เห็นนิมิตอย่างนี้ คราวหน้าเห็นนิมิตที่ละเอียดกว่า นิมิตไปเรื่อยๆ

นิมิตคือนิมิต! ถ้าเห็นนิมิตแล้วนะ นิมิตมันเป็นประโยชน์อะไรกับเรา ถ้านิมิตนี้มันเตือนนะ เตือนว่าเรานี่ขี้เกียจ เรานี่ไม่เอาไหน เออ.. นิมิตอย่างนี้ดี ถ้านิมิตบอกว่า อู๋ย.. เราเป็นขั้นนั้นๆ นะ นิมิตนี้ทำให้เราหลง มีนิมิตไหนบ้างที่มันจะมาเตือนเราว่าตื่นเช้าขึ้นมาก็ไม่ภาวนา ทำอะไรก็ไม่เอาไหน เราต้องตั้งสติ

นิมิตอย่างนี้มีมากไหม นิมิตอย่างนี้ไม่ค่อยมี แต่นิมิตนี่มันจะชักไหลไป.. นิมิตนะ เพราะจิตเรายังมีกิเลสอยู่ ยังมีอวิชชาอยู่ เวลาเกิดสิ่งใด มันก็จะชักให้เราไปตามมัน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้าเราทำจิตสงบเข้ามา เกิดปัญญาเข้ามาจะไปฆ่ากิเลส

“โดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต จะไม่ยอมให้ใครไปทำร้ายมันเด็ดขาด”

โดยธรรมชาติของกิเลส กิเลสนี่ร้ายขนาดนี้นะ ร้ายขนาดที่ว่าพอเรารู้ทันมันปั๊บนี่มันจะพลิกเลย มันจะพลิกแบบว่าบังเงา บังเงาอ้างธรรมะไง ว่านี่เป็นธรรมๆ นะ ทำให้เราคลาดเคลื่อน กิเลสนี่เวลาถ้ามันจวนตัวขึ้นมานะ มันพลิกมันบังเงาทันที คือมันเคลมว่าเป็นพวกเราเลย มันเคลมว่านี่เป็นธรรมะแล้วนะ นี่ใกล้เป็นพระอรหันต์แล้วนะ นี่เกือบจะสำเร็จแล้วนะ มันจะเคลมเป็นพวกเราทันที แต่เริ่มต้นถ้ายังไม่เคลมนะ มันก็จะโต้แย้ง จะขัดแย้ง

นี่กิเลสเป็นอย่างนี้! ธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเวลาเห็นอะไรก็แล้วแต่ ความเห็นก็คือความเห็น นี้เขากลัวเป็นอุปาทาน จะเป็นอุปาทานหรือไม่เป็นอุปาทานนี่ไม่สำคัญ สำคัญว่ามีสติปัญญาใคร่ครวญไหม

ดอกบัวเกิดจากโคลนตมนะ ทุกอย่างเกิดจากจิตที่เป็นอวิชชานี่แหละ เราเกิดมาในโลกนี้เรามีอวิชชา เรามีความไม่รู้มาเกิด จะบอกว่าสิ่งนี้ไม่มีกับเรานี่เป็นไปไม่ได้ แต่การที่เราจะไปพิสูจน์ตรวจสอบกับมัน เราต้องมีสติกับเราเข้ามา แล้วเข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบแล้วแก้ไข พอแก้ไขแล้ว อุปาทานอย่างหยาบๆ มันก็เริ่มคลายตัวออก

มันก็มีอุปาทานอย่างกลางใช่ไหม แล้วมันจะมีอุปาทานอย่างละเอียดนะ อุปาทานนี่มันก็มีหลายซับหลายซ้อนไง เราบอกว่าอย่างนี้เป็นอุปาทานใช่ไหม พออุปาทานแล้วมันก็ทิ้งเลยนะ นี่มันเป็นอุปาทานอย่างหยาบๆ แล้วอุปาทานอย่างละเอียดล่ะ

ฉะนั้นว่ามันเป็นอุปาทานหรือเปล่า กลัวเป็นอุปาทาน.. ไม่ต้องกลัว เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะเวลาบอกว่าเขากำหนดรู้หนอ รู้หนอ ในพวกอภิธรรมเขาบอกว่านิมิตนี่ใช้ไม่ได้ อะไรใช้ไม่ได้ เราก็โต้แย้งไป โต้แย้งไปว่า ถ้าจริตนิสัยของคนที่มันจะเป็นนิมิตนี่นะ มันจะไปรู้หนอ รู้หนอ มันก็มีนิมิต มันจะบอกว่าใช้ปัญญา มันก็มีนิมิต ถ้าจิตมันมีนิมิตมันเป็นนิสัยอย่างนั้นมา อย่างเช่นคนถนัดซ้ายก็เขียนมือซ้ายตลอดไป คนถนัดขวาก็เขียนมือขวาตลอดไป เราบอกเขียนมือซ้ายนี่นะตัวหนังสือมันไม่สวย เขียนมือซ้ายแล้วมันทำให้เราไม่สะดวก ให้หัดเขียนมือขวาอะไรแบบนี้ อันนี้เพราะความเห็นของเราเอง แต่คนถนัดซ้ายมันเขียนมือซ้ายสวยกว่าคนเขียนมือขวาอีก

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเกิดนิมิตใช่ไหม จิตนี้มันจะมีนิมิต จิตที่มันจะรู้จะเห็นของมัน มันก็จะรู้เห็นอย่างนั้น.. คำว่ารู้เห็นนี่มันเป็นจริตนะ แต่คำว่าถูกต้องนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ! คำว่าถูกต้องหมายถึงว่า ถ้ามันมีนิมิต มันมีสิ่งใด เราจะจมอยู่กับนิมิตนี่เราก็จมอยู่กับสถานะเดิมๆ อย่างนี้ ถ้าจิตมันสงบมันก็จะเห็นอยู่อย่างนี้ เราจะอยู่แค่นี้ใช่ไหม เราจะพัฒนาไหม ถ้าเราพัฒนาเราก็ต้องทิ้งไง เราก็ต้องนิมิตให้ละเอียดขึ้นมา ถ้าเราจะพัฒนานะ

นี้เพียงแต่เราพูดในฐานะที่ว่า ถ้ามันมี! ถ้ามันมีคือมันมีตามข้อเท็จจริง แต่ถ้าจะปฏิบัติที่ให้มันเจริญขึ้นไป ให้มันพัฒนาขึ้นไป มันก็ต้องทิ้งตรงนั้นเข้ามาเหมือนกัน ทีนี้คำว่าคนมีก็ต้องทิ้ง คนไม่มีถ้ามันสงบแล้ว ไม่มีก็คือไม่มี.. นี่พูดถึงนิมิต นิมิตอันหนึ่ง

ฉะนั้นเขาบอกว่าหลวงพ่อส่งจิตมาคุยไหม อะไรไหมนี่.. คำว่าเป็นคุณงามความดีนะ เพราะเวลาทำความสงบของใจ ขนาดว่าจิตสงบแล้วเห็นเป็นพระพุทธรูปทองคำ ถ้าจิตมันสงบแล้ว สงบที่ลึกกว่าจะเห็นเป็นพระพุทธรูปทองคำ แล้วเป็นแก้วใสนี่ ทำไมมันแตกต่างกันล่ะ?

เห็นเป็นพระพุทธรูปทองคำ เห็นเป็นต่างๆ นี่เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถ้าเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอีกอย่าง เป็นโดยเนื้อแท้นี่ มันก็เป็นไปได้..

ฉะนั้นที่ว่าจิตมาคุยๆ นี่มี เป็นไปได้จริง! เป็นไปได้จริง แต่เพราะเราอยู่ในสังคมปฏิบัติ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นไปได้จริง เหมือนกับในเมืองไทย เศรษฐีประเทศไทยอันดับหนึ่ง อันดับสอง อันดับสามนี่ใครๆ ก็รู้อยู่ แต่เราก็พยายามจะให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น.. ถ้าเราพอ เป็นชนชั้นกลาง เรามีความเป็นอยู่ได้ ถ้าเรามีความสุข อันนี้มีความสำคัญมากกว่า

อันนั้นก็เหมือนกัน อันที่ว่าถ้าจิตเป็นอย่างนั้นมี สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่กำหนดจิตคุยกันทางจิต รับรู้กันทางจิตนี่เป็นไปได้ไหม.. เป็นไปได้! เป็นไปได้ต่อเมื่อวุฒิภาวะ ผู้ที่จิตเขามีหลักเกณฑ์เขาทำได้ แล้วทำได้ด้วยข้อเท็จจริง แต่ในวงปฏิบัติของเรานี่ เราเจอมาเยอะแล้วสังเวชมาก สังเวชว่าผู้ที่ปฏิบัติไป แล้วครูบาอาจารย์บอกว่าคุยทางจิตๆ คุยทางจิตจนสติเสียไปเลย พอเสียไปนะ อยู่ที่บ้านนี่เสียงอะไรแก็ก! ว่าส่งจิตมาแล้ว

ถ้าอย่างนี้นะตายเลย เพราะอยู่ที่นี่ ศาลานี่นะ เวลากลางวันความร้อนจะร้อนมาก พอเริ่มตอนเย็นปั๊บ พวกรางน้ำได้รับความร้อนมันจะขยายตัว พอขยายตัวปั๊บมันจะมีเสียงตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้นะจะมีคนส่งจิตมาหาเราทั้งวันเลย เพราะมันระเบิดปัง! ปัง!

นี่ถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม มันเป็นจริงไหม แต่ถ้าเรามีสติใช่ไหม สิ่งนี้คืออะไรล่ะ มันคือความร้อน ความร้อนมันสะสมตัวของมัน ความร้อนนี่ โลหะมันก็ขยายตัว มันหดตัว แต่ถ้าคนบอกว่าอันนั้นเป็นนิมิต เป็นคนส่งกระแสจิตมา

เราเห็นจริงๆ นะ พระนี่เขาพาเราไป ไปแก้พ่อเขา พ่อเพื่อน เขาบอกว่านี่อาจารย์เขาสอนเรื่องคุยกันทางจิต คุยไปคุยมาจนคนๆ นั้น ประสาเรานะคือเสียสติไปเลย พอเสียสติไปแล้วนะ ในบ้านเสียงดังแก็กไม่ได้เลย เสียงแก็กนี่ว่าอาจารย์ส่งจิตมาแล้ว อาจารย์ส่งจิตมาแล้ว แล้วเขาพยายามจะแก้ พยายามจะฟื้นขึ้นมา

ถ้าเราเอาอย่างนี้เป็นการวัด เป็นความรู้สึก จิตนั้นมันจะได้ยินตลอดไป แต่ถ้าเราพัฒนาของเรานะ เพราะว่ากรณีอย่างนี้มันเหมือนกับปฏิภาณไหวพริบ มันเป็นเรื่องวุฒิภาวะของจิต ถ้าจิตมีกำลังมาก มีกำลังน้อยขนาดไหน แต่โดยอริยสัจ.. ศีล สมาธิ ปัญญา!

“ศีล สมาธิ ปัญญา” สมาธิคืออะไร สมาธิคือจิตตั้งมั่น ตั้งมั่นได้มากน้อยแค่ไหน แล้วตั้งมั่นได้ขนาดนั้นนี่เราทำกัน จะเพ่งรูปเราก็ได้ จะเพ่งอะไรก็ได้ แต่ถ้าจิตสงบนะ จิตสงบแล้วมันสงบเข้ามา สิ่งที่รู้ที่เห็นนี่เพ่งชัดๆ สิ่งที่รู้ที่เห็นมันจะไม่รับรู้ มันจะรู้สิ่งใดเราตั้งสติไว้ แล้วจิตมันสงบเข้ามาๆ

แล้วถ้าสงบเข้ามานี่ออกฝึกหัดใช้ปัญญา หัดใช้ปัญญาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมนี่แหละ ถ้ามันหัดใช้ปัญญาขึ้นมา จิตของเรามันจะได้ซักฟอก จิตของเรามันจะได้พัฒนา พอพัฒนาแล้วมันจะทำสมาธิก็ง่ายขึ้น จะทำอะไรก็สะดวกขึ้น คนขับรถที่ชำนาญนะ เขาใช้นิ้วเดียวหมุนไปทุกเรื่องเลย เขาทำได้หมดเลย ไอ้คนขับรถใหม่นะ มันสองมือจับพวงมาลัยแน่นๆ นะ มันยังกลัวรถมันตกถนนเลย

จิตที่ฝึกใหม่ๆ มันจะจับพวงมาลัย ๓ มือ ๔ มือ มันกลัวรถมันตกถนน แต่ถ้าคนขับรถเป็นนะ นิ้วเดียวเขาหมุนไปทั่ว รถนี่เขาคุมได้หมดเลย.. เราพัฒนาอย่างนี้ให้จิตเราชำนาญขึ้นมา แล้วที่ว่าเป็นอุปาทานหรือไม่เป็นอุปาทาน เป็นอะไรต่างๆ ขึ้นมา มันจะเริ่มไม่กังวล ถ้าไม่กังวล เห็นไหม จากขับรถนะสองมือ สองเท้าด้วย อู้ฮู.. เกร็งไปหมดเลย แล้วมันก็ยังไม่ได้ผล นี่แล้วก็ว่าเป็นอุปาทานๆ เพราะอะไร เพราะเราเกร็งไปหมดเลย เราฝึกฝนของเรา เราพัฒนาของเราขึ้นไป มันจะเป็นอุปาทานหรือไม่เป็นอุปาทานนั้นเรื่องหนึ่ง

เรื่องคุยกันทางจิต อะไรต่างๆ นี่นะ เพราะเขาถามมา ถ้ามันไม่พูด.. พอพูดไปแล้วนี่เราอยากรู้ว่าข้อเท็จจริงมันเป็นไปได้ไหม ส่งจิตถึงกันเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ เวลาเข้าสมาบัตินะ โอ้โฮ.. ชัดเจนมาก เวลาพระโมคคัลลานะไปไหนๆ นี่ชัดเจนมาก แต่เวลาพระโมคคัลลานะ เห็นไหม มีพราหมณ์คนหนึ่ง เขาเห็นว่าพระนี่ประพฤติปฏิบัติตัวเหลวไหลแล้ว

นี่ขนาดสมัยพุทธกาลนะ เขาว่าพระอรหันต์คงจะไม่มีแล้ว ก็ปรึกษากับลูกศิษย์ ก็ทำบาตรไม้จันทน์ แล้วเอาไม้ไผ่สองลำต่อกัน แล้วดันบาตรไม้จันทน์อยู่บนยอดไม้ไผ่ แล้วก็ประกาศว่า

“ถ้ามีพระอรหันต์จริง ขอให้เหาะขึ้นไปเอาไม้จันทน์นั้น ถ้าไม่มีจริงเขาจะไม่นับถือพุทธศาสนา”

พระโมคคัลลานะกับลูกศิษย์เดินผ่านไปทุกวัน พระโมคคัลลานะก็บอกให้ลูกศิษย์ขึ้นไปเอาสิ ลูกศิษย์ก็บอกพระโมคคัลลานะเหาะขึ้นไปเอาสิ เกี่ยงกันอยู่หลายวันนะ จนถึงสุดท้ายแล้วลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะเหาะขึ้นไปเลย เหาะขึ้นไปปั๊บนะ ฉวยบาตรไม้จันทน์แล้วก็เหาะลงมา พอเหาะลงมานะ พราหมณ์คนนั้นดีใจมาก กราบแล้วกราบอีกเลย

“ผมมั่นใจในพุทธศาสนา ผมคิดว่าศาสนาพุทธนี้มันไม่มีมรรคไม่มีผลแล้วแหละ ผมดีใจมาก” โอ๋ย.. ดีใจมากเลย แล้วก็ไปเชื่อมั่นในพุทธศาสนา ทีนี้ข่าวก็ร่ำลือไปทั่ว พอร่ำลือไปทั่วนะ ฉะนั้นพอตอนเช้าลูกศิษย์พระโมคคัลลานะจะไปบิณฑบาตทีไรนะ เขาบอกว่าถ้าไม่เหาะไม่ใส่บาตร ต้องเหาะให้เขาดูแล้วดูอีก เหาะแล้วเขาก็ใส่บาตร

ข่าวนี้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอก “โมฆะบุรุษ.. เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร! เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร! ไม่ให้ทำ ให้เอาบาตรไม้จันทน์นั้นมาทุบทำลายทิ้งเสีย แล้วไม่ให้ทำอย่างนั้น บอกว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วศาสนาจะไม่มั่นคง”

ศาสนาจะมั่นคงขึ้นมาด้วยอริยสัจ นี้ในพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดคือการบันลือสีหนาท คือการแสดงธรรม คือสัจจะความจริง สัจจะความจริงนี้สำคัญ เหาะเหินเดินฟ้า พูดคุยกันทางวาระจิตมันเป็นเรื่องฌานสมาบัติ มันเป็นเรื่องฌานโลกีย์ เรื่องอภิญญา

อภิญญา ๖ เห็นไหม ถ้าอธิบายเรื่องพระอรหันต์ไปอีกไกลเลย พระอรหันต์กี่ประเภท สุกขวิปัสสโก เตวิชโช พระอรหันต์ที่ว่าเป็นพระอรหันต์เรียบๆ ถ้าพระอรหันต์แล้วมีฤทธิ์มากน้อยขนาดไหน แล้วถ้าเป็นฉฬภิญโญ อภิญญา ๖ อย่างเช่นหลวงปู่ตื้อ เพราะหลวงปู่ตื้อเราพูดบ่อย หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่มั่น พระพุทธเจ้ากับพระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้ากับพระสารีบุตร ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มีวุฒิภาวะ พระพุทธเจ้าจะตั้งพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะได้อย่างไร

ถ้าหลวงปู่มั่นท่านไม่มีความรู้ความเห็นของท่านตามความเป็นจริง ท่านให้หลวงปู่ตื้อไปในที่ที่ท่านเห็นของท่าน ว่าไปในถ้ำเชียงดาวมันผ่านไปไม่มีที่สิ้นสุด ข้างในมันจะมีอะไรต่างๆ นี่ ท่านเห็นของท่านหมดนะ ทีนี้ท่านอายุมาก หลวงปู่มั่นท่านอายุมาก ท่านให้หลวงปู่ตื้อไป หลวงปู่ตื้อนี่นะท่านดำน้ำเข้าไป ๗ วัน ๗ คืน ไม่ทะลุถ้ำ ไปอยู่เรื่อยๆ นั่นล่ะ

แล้วเวลาขึ้นถึงหน้าผาตัด เห็นไหม นี่หลวงปู่มั่นท่านเล่า หน้าผาตัดบนถ้ำเชียงดาวมีพระปัจเจกพุทธเจ้ามานิพพานหลายองค์ ทีนี้หลวงปู่มั่นท่านก็ชราภาพอีกแหละ ท่านก็ให้หลวงปู่ตื้อขึ้นไป พอหลวงปู่ตื้อท่านขึ้นไปข้างบน เมื่อก่อนนะธรรมชาติยังไม่เป็นแบบนี้ พอขึ้นไปถึงข้างบนนะ หน้าผานี่ท่านบอกอยู่ไม่ได้ ลมแรงมาก ลมพายุแรงมาก หลวงปู่ตื้อนะต้องเอาตัวท่านเองมัดกับต้นไม้ไว้ พิงต้นไม้ไว้ แล้วเอาผ้าอาบผูกกับต้นไม้ไว้ ไม่อย่างนั้นลมมันจะพัดไปเลย สมัยนั้นนะ

นี่พูดถึงว่า หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่ตื้อ เรื่องนี้สบายมาก สบายมาก.. เราจะบอกว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราต้องพูดเป็นวิทยาศาสตร์ คือมีพยานหลักฐาน ไม่ใช่เราพูดคนเดียว ทำคนเดียว ทำได้คนเดียว แล้วคนอื่นทำไม่ได้กับเรา เราก็โม้ไปตลอดใช่ไหม แต่ถ้าใครทำอะไรได้ มันต้องมีพยานที่คนทำได้เหมือนกัน แล้วพิสูจน์ตรวจสอบเหมือนกัน

ฉะนั้นเวลาหลวงปู่มั่นท่านจะมีสิ่งใดที่เป็นการพิสูจน์ทางโลก ท่านจะให้หลวงปู่ตื้อ เพราะหลวงปู่ตื้อท่านแข็งแรงมาก แล้วหลวงปู่ตื้อจะขึ้นไปพิสูจน์ แล้วพิสูจน์ลงมาแล้วนะเหมือนกัน ฉะนั้นหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่ตื้อ เห็นไหม ที่ว่าหลวงปู่ตื้อท่านไปที่หนองผือ นี้หลวงตาท่านเล่า เวลาแจกอาหาร นี่พอแจกอาหารอยู่หลวงปู่ตื้อท่านฉันเลย กำลังแจกอยู่นี่ หลวงปู่มั่นเห็น

“อ้าว.. ตื้อ ทำไมกินข้าวล่ะ”

“อ้าว.. ก็ผมหิว ก็ผมหิว”

หลวงปู่มั่นท่านไม่เห็นว่าอะไรหลวงปู่ตื้อเลย เพราะว่าวุฒิภาวะมันเท่ากัน ความรู้ความเห็นนี่มันรู้อยู่ ถ้าคนรู้นะ กฎหมายก็คือกฎหมาย คนที่มันทำดี กฎหมายของพระอรหันต์นี่มันสติวินัย มันพ้นจากกฎหมายทั้งหมด กฎหมายอะไรก็ไม่มีจะไปบังคับผู้ที่เป็นพระอรหันต์หรอก ฉะนั้นเวลาท่านประชุมสงฆ์ หลวงปู่มั่นท่านพูดนะ

“ใครห้ามเอาอย่างหลวงปู่ตื้อนะ ถ้าใครเอาอย่างหลวงปู่ตื้อหัวขาดนะ หัวขาด”

เพราะหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่ตื้อท่านทำงานร่วมกัน ท่านรู้ ท่านเป็นพยานต่อกันได้ แต่ผู้ปฏิบัติใหม่พวกเอ็งทำอะไรอยู่ จิตใจพวกเอ็งกิเลสยังมีอยู่

ฉะนั้นเวลาพูดถึงหลวงปูตื้อนี่นะ ท่านบอกว่า “ตื้อทำไมฉันล่ะ.. ก็ผมหิว” นี้คือสัจธรรม ก็ผมหิวจริงๆ ก็ผมหิวผมก็ฉัน ทีนี้มันฉันก็ฉัน นี้พูดถึงความรับรู้ของใจของท่าน แต่ถ้าเป็นโลก เห็นไหม เป็นโลกก็แบบว่าพระอยู่ด้วยกันใช่ไหม เขายังแจกอาหารอยู่ องค์อื่นเขายังไม่เสร็จเลย องค์อื่นเขายังไม่ได้ แล้วฉันก่อนได้อย่างไร

แล้วถามว่าทำไมฉันล่ะ? อ้าว ก็ผมหิว.. เออ หิวก็คือความจริง แต่เพราะมีคุณสมบัติอันนั้น คุณสมบัติที่ท่านเป็นพยานต่อกัน.. คำว่า “เป็นพยานต่อกัน” นี่มันเป็นความจริงนะ

ฉะนั้นสิ่งนี้มันมี แต่ให้มันมีตามความเป็นจริงเถอะ แต่ขณะที่เราปฏิบัติอยู่ ของสิ่งนี้มันเป็นของข้างเคียง เครื่องเคียง เราต้องเอาสัจจะก่อน เอาสัจจะ เอาความจริงก่อน เอาสัจจะ เอาความจริง เอาอริยสัจก่อน.. ถ้าเอาสัจจะความจริง เอาอริยสัจนี้แล้ว เป็นพระอรหันต์แล้วนะ ของสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเราทีหลัง

นี่ไว้เป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าเราเอาสิ่งนี้ก่อน เราไปเอาของข้างเคียงแต่เราไม่เอาตัวหลัก เราเอาของข้างเคียง เอาฤทธิ์เอาเดช เอาความรู้ แต่เราไม่ได้เอาอริยสัจ การชำระกิเลสในหัวใจของเรา ฉะนั้นตรงนี้สำคัญมาก

ฉะนั้นเวลาพวกอภิธรรมเขาพูดถึงบอกว่าสมถะผิด สมถะเป็นนิมิต เป็นต่างๆ นี่ อันนี้ก็เศร้าใจ เศร้าใจคือว่าเป็นการตัดตอน การตัดตอนนี่พืชจีเอ็มโอเขายังไม่อยากให้ปลูกเลย เพราะการพิจารณาไปแล้วมันมีพิษมีภัยของมัน ไอ้นี่ในการตัดตอนว่าเราต้องใช้ปัญญาอย่างเดียว เราจะไม่ติดเป็นสมถะ มันเป็นการตัดตอนแบบนั้นไม่ได้ เพราะจิตมันต้องพัฒนาของมัน

ศีล สมาธิ ปัญญา ในการเกิดอริยมรรคมันต้องมีสัมมาสมาธิ มันจะพร้อมของมัน ถ้าพร้อมของมัน นี่คือความจริงของมัน ถ้าความจริงของมัน จะเป็นความจริงของมัน.. แล้วพูดถึงถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง นี่เราเป็นความจริง เราจะบอกได้ไหมว่ารถนี่ เขาเอาล้อไปไว้บนหลังคา แล้วรถมันจะเลื่อนไป โอ้โฮ.. วิ่งดี๊ดีเลย แต่ล้ออยู่บนหลังคานี่ใครจะเชื่อไหม

นี่ก็เหมือนกัน สมาธิไม่ต้องทำก็ตัดล้อทิ้ง แล้วบอกว่ารถมันจะวิ่งไปได้ เออ.. ก็งงอยู่นะ มันจะวิ่งไปได้ก็คือมันไหลมาจากเขา คือจิตเวลามันพัฒนาขึ้นมา มันวูบวาบในหัวใจก็ว่า เออ.. นี้เป็นธรรม นี้เป็นธรรม แต่มันก็แค่ไอ้ภูเขา หน้าผาลาดชันที่มันสไลด์ไปได้เท่านั้นแหละ แต่ถ้าเป็นบนถนนทางเรียบเป็นไปไม่ได้!

จิตที่มันเป็นไปตามความเป็นจริง จิตที่เป็นอริยมรรคนี่มันเป็นไปตามความเป็นจริงของมัน อริยมรรค เห็นไหม มรรคญาณ สิ่งที่มรรคสามัคคีมันชำระกิเลส มันจะเป็นความจริงของมัน.. นี่มันถึงว่าเวลาเราพูดอยู่ มันมีเสียงพูดได้ เพราะเราสังเกตว่าครูบาอาจารย์ท่านก็เฉยอยู่นะ ความเฉยอยู่มันก็เป็นสังคมๆ หนึ่ง สังคมหนึ่งเขามีความเชื่อถือกันอย่างนั้น

สังคมกรรมฐานของเราก็มีความมั่นคง มีครูบาอาจารย์เราเป็นหลัก ก็ยังมั่นคงของเราอยู่ ถ้าครูบาอาจารย์หลักๆ เราไม่อยู่ มันจะไหลไปตามเขา ไหลไปเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันอนุมานเอาได้ มันเป็นธรรมะอนุมาน มันเป็นธรรมะนิยาย มันเป็นสิ่งที่จินตนาการกันได้ แต่ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น! ไม่เป็นอย่างนั้นแล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างที่ผู้ที่มีความจริงรู้นั่นแหละ เป็นอย่างผู้ที่มีความจริงรู้

อันนี้พูดถึง.. เพราะมันมี ๒ อย่างในปัญหานี้ ปัญหา ๑. คือว่าคุยกันทางจิต ๒. มันแบบว่ากำหนดรู้ เพราะว่าสังคมเขาไม่เห็นด้วยกับเรื่องนิมิต ไม่เห็นด้วยกับเรื่องสมาธิอยู่แล้ว

แล้วคำถามว่ามันเป็นอุปาทานไหม.. ไม่เป็นหรอก มันเป็นเรื่องความจริง เหมือนกับเราปอกเปลือกส้ม เราต้องปอกออก นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เรารู้เราเห็น แล้วเราพิจารณาไป เดี๋ยวมันจะรู้ มีประโยชน์กับมัน แล้วมันจะปอกของมันไปเรื่อยๆ

นี่เข้าปัญหานี้นะ ปัญหานี้จบแล้ว ปัญหาเรื่อง “เป็นอุปาทานหรือเปล่า?” เพราะเราพูดนี่ พูดเพื่อให้มันเป็นเรื่องข้างนอกไป..

ข้อ ๓๗๒. ไม่มี ที่ว่าไม่มีนี่คือว่ามันเป็นหัวข้อขึ้นมา มันจะมีไวรัส มันมีที่ว่าไม่มีนี้บ่อยๆ เลย เพราะมันจะส่งเข้ามาแล้วเราไม่เปิด

ถาม : ๓๗๓. เรื่อง “การบิณฑบาต”

ผมเห็นที่กทม. มีการรับบิณฑบาตแถวตลาด โดยมีคนขายข้าวของที่ใส่บาตร และมีพระสงฆ์ยืนอยู่เพื่อรับบาตร และมีคนคอยเก็บสิ่งของขึ้นรถปิ๊กอัพ มองดูแล้วรู้สึกอย่างไรพิกล ผมไม่รู้ว่าคิดอกุศลไปหรือเปล่า แต่ดูแล้วบิณฑบาตที่ท่านได้ก็เยอะแล้ว น่าจะพอฉันในมื้อนั้นๆ ไม่รู้ว่ากรณีนี้มีข้อวัตรปฏิบัติอย่างไรครับ แล้วหลวงพ่อมีแนวความคิดในเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ

หลวงพ่อ : โอ้โฮ.. มันก็เป็นภาระเราอีกแล้วเนาะ

ถาม : และผมเดินผ่านพระสงฆ์ที่ยืนรับบาตร และกำลังท่องบ่นคาถา หรือคำให้พรอยู่ ก็ผายมือมาที่ผม คล้ายๆ ว่าเชิญใส่บาตร ได้อะไรประมาณนั้นครับ ดูแล้วไม่ค่อยน่าเลื่อมใสครับ ทุกวันนี้ผมก็เดินเลี่ยงๆ ไป

หลวงพ่อ : อันนี้ เห็นไหม ในธรรมวินัยมันอยู่ที่ศรัทธาความเชื่อ อยู่ที่เป้าหมายไง ถ้าเราบวชแล้วบวชเพื่ออะไร? ถ้าเราบวชเพื่อจะพ้นจากทุกข์ เวลาหลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ เวลาท่านไปอยู่ที่ไหน ท่านไปถึงบ้านหลังใหญ่แล้ว.. บ้านใหญ่หมายถึงหมู่บ้านมากหลังคาเรือน ท่านบอกว่าท่านไม่อยู่หรอก ท่านก็พยายามจะไปหาที่น้อยๆ หลังคาเรือน

น้อยๆ หลังคาเรือนเพราะอะไร เพราะเราจะอาศัยชีวิตเขา แล้วเขาไม่มายุ่งกวนกับเรา นี่เวลามีเป้าหมายเพื่อจะพ้นจากทุกข์ เขาจะหาสถานที่เป็นสัปปายะ

๑. อาหารเป็นสัปปายะ คือพอดำรงชีวิตเท่านั้นแหละ มีข้าวมีอะไรพอเลี้ยงชีวิต แค่นี้ก็พอแล้ว

๒. สถานที่เป็นสัปปายะ ต้องการความสงบสงัด แล้วต้องการที่ที่เราไม่คุ้นเคย ถ้าคุ้นเคยแล้ว จิตใจนี่พอมันคุ้นเคยแล้ว มันจะคุ้นชิน มันจะไม่ค่อยหาทางออก แต่ถ้าเราไปที่ไหน เราไปอยู่ที่ป่าช้า ไปอยู่ที่ใหม่ ไปอยู่ที่มืดเราจะมีสิ่งใดที่แปลกใหม่ พอแปลกใหม่มันจะตื่นตัว การตื่นตัวนี่ล่ะเราแสวงหากันอยู่

นี้เราจะบอกว่าพระที่เขาบวชมาเพื่อจะพ้นจากทุกข์ คือเป้าหมายไง ถ้าพระที่มีเป้าหมายที่จะพ้นจากทุกข์ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของที่เล็กน้อยมาก แต่! แต่ผู้ที่บวชขึ้นมานี่ บวชขึ้นมาเพื่อสิ่งใด ถ้าบวชขึ้นมาเพื่อสิ่งใด อย่างนี้ถ้าเป็นเรื่องการทุจริต เรื่องการที่เขาหาผลประโยชน์กัน มันก็แค่เศษเงิน แต่ทำไมเขาแสวงหากัน

แต่ถ้าพวกเรา เห็นไหม ดูสิเช่นหลวงปู่พรหม หลวงปู่พรหมนี้ท่านเป็นผู้มีฐานะนะ แล้วท่านสองคนตายายไม่มีบุตร ท่านต้องมาปรึกษากันว่าเราอยู่กันไปทำไม เพราะถ้าเราตายไปนี่สมบัติก็อยู่ที่นี่ เราอยู่ไปทำไม ก็คุยกัน เสร็จแล้วท่านก็มาปรึกษากัน ท่านบอกถ้าอย่างนั้นเราออกบวชกันทั้งสองคนตายาย

หลวงปู่พรหมเป็นพระอรหันต์แน่นอน แต่ภรรยานี่ไม่แน่ใจ สมบัติทั้งหมดยังเสียสละเลย แจกอยู่ ๗ วันไม่หมดนะ นี่สมัยพุทธกาลก็มี แต่สมัยปัจจุบันนี้ เวลาคนที่เขามีความคิดอย่างนี้ก็มี ทำไมเขาทำอย่างนี้ ที่เขาเสียสละไปแล้ว แล้วมาหาผลประโยชน์เล็กน้อยอย่างนี้ มันอยู่ที่เป้าหมาย ดูพระเราบวชมา พอเราพูดถึงว่ามรรคผลนิพพานนี่ทุกคนก็กลัว ทุกคนบอกว่ามันสุดเอื้อม มันเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงแล้วเรามีทุกข์ไหมล่ะ?

ถ้าหัวใจเราทุกข์ หัวใจเรามีความทุกข์อยู่ นิพพานคือพ้นจากทุกข์นั้น ถ้ามันมีทุกข์อยู่มันก็ต้องพ้นจากทุกข์ได้ มันมีมืดก็มีสว่าง มันมีสิ่งที่เราว่าเป็นไปไม่ได้ มันยังมีสิ่งที่เป็นไปได้

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่เพราะถ้าพระมีความคิดอย่างนี้ ทีนี้สังคมมันเป็นสังคมส่วนใหญ่เนาะ นี่เขาบอกว่า “แล้วมีข้อวัตรปฏิบัติอย่างไร”

ข้อวัตรปฏิบัติเขาก็ห้ามอยู่แล้ว ข้อปฏิบัติเขาห้ามอยู่แล้วนะ บิณฑบาตสาย บิณฑบาตอะไรนี่ พระพวกที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่เขาตรวจมีอยู่ เดี๋ยวนี้โลกมันเจริญไง เช้าๆ ขึ้นมาเขาจะมีตรวจอยู่ เพราะเวลาประชุมสังฆาธิการพวกนี้เขาจะร้องเรียนนะ บอกว่านี่ค่ารถก็ไม่มี ค่าน้ำมันก็ไม่มี คือเขาต้องตรวจไง เหมือนตำรวจเลยลาดตระเวน

พระก็มีนะ พระนี่ตอนเช้าๆ ในกรุงเทพฯ มีออกดู ออกดูว่าพระบิณฑบาตแล้วมันทำผิดถูกไหม บิณฑบาตนี่มันน่าเคารพไหม แล้วมีกรณีอย่างนี้นะเขาจับ พอจับแล้วนะผลลงโทษมันไม่รุนแรงไง พอจับวันนี้ พรุ่งนี้ก็มาใหม่ จับแล้วจับอีกอยู่อย่างนั้นล่ะ

ทีนี้ก็ถึงบอกว่ามันอยู่ที่ความละอายใจ ถ้าเรามีความละอายเราก็ไม่ทำ ถ้าเราไม่มีความละอาย พอไม่มีความละอายแล้วเราก็บอกว่าเราถูกต้อง พอเราถูกต้องขึ้นมาแล้วนี่เขาจับ พระฝ่ายที่จับ พอจับแล้วทำอย่างไรล่ะ จะสึกเลยเหรอ มันก็ไม่ถึงกับว่าจะต้องจับสึกใช่ไหม เพราะว่าสึกนี่มันก็ต้องมีผลทางวินัยก่อนใช่ไหม แต่ทำผิดอย่างนี้.. เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่โกงเขาเกิน ๑ บาท ใครมีเจ้าทุกข์ว่านี่เกินบาท แล้วโกงบาท

กรณีอย่างนี้จับสึกไม่ได้ แล้วพอจับสึกไม่ได้ด้วย แล้วพอปฏิบัตินี่ ข้อวัตรปฏิบัติเขามีอย่างไร เขามีเจ้าหน้าที่พระนะ พระนี่เขาก็ควบคุมดูแลกันอยู่ ทีนี้พอควบคุมดูแลอยู่ มันเป็นว่าผู้ที่ทำนี่.. เพราะว่าในสังคมเขามีกันอยู่ เขามีกันอยู่ที่ว่ามันมีผลประโยชน์ร่วมกันไง ระหว่างพระกับแม่ค้าเขามีประโยชน์ร่วมกันอยู่

แต่ถ้าคนมันละอายนะ อย่างเช่นพวกเรานี่ พวกเราว่าโอ๋ย.. ถือศีล ๕ ก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ พอจะทำธุรกิจมันยุ่งไปหมดเลย ทำไมเรามีความละอายล่ะ ไอ้อย่างนี้ความละอายมันเป็นความคิด อันนี้เป็นความเห็นของเขา เรื่องการบิณฑบาต แล้วมันก็อย่างที่ว่าเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดเขาจัดการแหละ

อ้าว.. อันนี้ยาว

ถาม : ๓๗๔. เรื่อง “พิจารณาอย่างไรดี”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง หนูขออนุญาตเล่าเรื่องราวและคำถาม ถามเลยนะคะ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหนูมีเรื่องตื่นเต้นเกิดขึ้นที่ทำงาน คือมีพนักงานคนหนึ่งทำความผิดกฎของบริษัท โดยหนูเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องด้วย ในขณะที่หนูทำความผิดคล้ายๆ กัน แต่ไม่แรงเท่าและไม่มีใครรู้ พอหนูทราบความผิดปกติ หน้าที่ของหนูคือต้องรายงานหัวหน้า ในระหว่างที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน หนูก็เกิดอาการตื่นเต้นมาก หนูขอย้อนกลับไปในอดีตที่เคยมีอาการตื่นเต้นด้วยนะคะ (นี่คำถามหมดนะ ต้องอ่านนิดหนึ่งเดี๋ยวมันจะไม่เข้าใจ)

ครั้งที่ ๑. หนูเคยรายงานกับพระอาจารย์ท่านหนึ่งสมัยที่ปฏิบัติธรรม หนูตื่นเต้นมาก พูดเสียงสั่น ควบคุมไม่ได้ หนูก็รู้ตัวว่าที่กำลังตื่นเต้นอยู่นั้น ปรากฏอาการที่หายไปทันทีเฉยๆ หนูก็พูดปกติ ตอนนี้หนูก็แค่ว่า “นี่เป็นปกติ”

ครั้งที่ ๒. หนูออกไปอยู่หน้าห้อง ใจหนูเต้นแรงมาก มากจนพูดไม่ออก จะพูดไม่ได้เลย หนูรู้ว่าตื่นเต้น แต่เหมือนไม่ได้ตั้งสติว่าเราตื่นเต้นอยู่ มันก็ค่อยๆ คลายไป

ครั้งที่ ๓. เมื่อประมาณไม่เกิน ๑ ปี หนูเล่าอะไรบางอย่างที่น่าตื่นเต้นให้เพื่อนฟัง และรู้สึกหนาว หนูพยายามเดินไปคุยให้ร่างกายอบอุ่น (นี่พูดถึงการตื่นเต้น)

คำถามคือว่ามันมีอาการวูบวาบ พอมาครั้งหลังในขณะที่เล่าให้หัวหน้าฟังเรื่องเอกสารประกอบ หนูมือสั่นมาก (นี่พูดถึงความรู้สึกของเขา) ตอนนั้นคิดว่าเป็นธาตุไฟ แบบนี้เองที่คนตื่นเต้นแล้วมือไม้เย็น หรือสิ่งที่เราเสียงสั่น มือสั่น เพราะอาการต่างๆ (นี่จะคุยเรื่องภาวนานะ)

คำถาม..

๑. หนูสงสัยว่า ทำไมอาการตื่นเต้นมันรุนแรงขึ้น หรือแสดงออกมากขึ้น

๒. ตอนที่เรารู้ว่ามันเป็นอาการตื่นเต้น แล้วอาการหายไป มันคือการทำงานของสติใช่ไหม ตอนที่เกิดเหตุหนูก็ไม่ได้นึกว่าจะพิจารณาอย่างไรดี หนูควรพิจารณาอย่างไร

๓. หรือว่าใจมันรู้สึกมันเองที่ทำผิดไว้เหมือนกัน มันเลยตื่นเต้น

๔. หรือว่าเมื่อใจมีความรู้สึกเวทนาเกิดขึ้น ธาตุมันเปลี่ยนแปลงไม่ปกติใช่ไหมคะ

ขอคำแนะนำว่าต้องเพิ่มอะไรในการภาวนาหรือเปล่าคะ ขอความเมตตาจากหลวงพ่อด้วย

หลวงพ่อ : อาการตื่นเต้น นี่พูดถึงอาการตื่นเต้น แล้วเขาจับอาการตื่นเต้นได้ เหมือนกับเรานี่ทำความผิด เหมือนคนสำนึก ถ้าเราสำนึกนะ.. ถ้าเราไม่สำนึกนี่เราแก้ไขสิ่งใดไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ลูกหลานเรา หรือคนทั่วไปจะบอกว่าตัวเองไม่ผิด ถ้าตัวเองไม่ผิดนี่เราไม่มีความผิด เราไม่มีความสำนึกเลย

ในการปฏิบัติ ทุกคนก็ปฏิบัติ.. นี่ที่มันมีปัญหากันอยู่นี้ เพราะว่าทุกคนพอเวลามาปฏิบัติปั๊บ ก็เหมือนกับว่าจิตใจเราดีอยู่แล้ว ทุกอย่างเราปฏิบัติแล้วเราต้องก้าวเดินไป แต่เราไม่ได้เข้าใจว่า เราเองนี่มันจะดี มันก็ดีของปุถุชนไง เขาเรียก “ฆราวาสธรรม” ธรรมของฆราวาส เราดีในรูปแบบของฆราวาสใช่ไหม เราไม่ได้ดีแบบโสดาบัน ไม่ได้ดีแบบสกิทาคา ไม่ได้ดีแบบพระอนาคา ไม่ได้ดีแบบพระอรหันต์

ความดีของพระอรหันต์ก็อย่างหนึ่ง วุฒิภาวะของพระอรหันต์อย่างหนึ่ง วุฒิภาวะของพระอนาคาก็อย่างหนึ่ง วุฒิภาวะของพระสกิทาคาก็อย่างหนึ่ง วุฒิภาวะของพระโสดาบันก็อย่างหนึ่ง วุฒิภาวะของปุถุชน เราเป็นปุถุชนเขาเรียกฆราวาสไง พอฆราวาสนี่เราก็ว่าของเราดีอยู่แล้ว พอเราดีอยู่แล้ว นี่ตรงนี้ที่มันเป็นปัญหาคือเป็นปัญหาตรงนี้ “ถ้ามันดีอยู่แล้วต้องทำอะไร?”

มีคนมามากเลยว่า ผมก็เป็นคนดีนะ เพราะเพื่อนชวนเพื่อนมาไง ผมเป็นคนดี โอ้โฮ.. ผมคนสุดยอดดีเลย แล้วเพื่อนเขาบอกว่าอยากให้ทำดีกว่านี้ เขาก็เถียงกันอยู่นั่นล่ะ เราบอกว่า “โยมนี่ดีอยู่แล้ว แต่ดีในสาธารณะ ดีในผลประโยชน์ของสาธารณะไง” เพราะสมบัติที่เราทำกันอยู่นี้เป็นสมบัติสาธารณะ ถ้าเรามีมรดก ถ้าเราตายเราไม่มีครอบครัวนะ มรดกของเรานี่ตกเป็นของสาธารณะ ตกเป็นของรัฐบาล

ฉะนั้นถ้าเป็นคนดีใช่ไหม เราหาเงินหาทอง เรามีสมบัติทุกอย่างหมดเลยเป็นของใครล่ะ เป็นของสาธารณะ แม้แต่ตกแก่ลูกหลานเราก็เป็นสาธารณะ นี่ดีในสาธารณะ แต่ของเราล่ะ ของเรานี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าเป็นดีของส่วนบุคคลล่ะ.. ถ้าส่วนบุคคลนะ “บุญและบาปไง”

บุญและบาปนี่เป็นความดีของฆราวาสธรรม แต่ถ้าเราภาวนาขึ้นไปนะ เราเป็นโสดาบันนี่เราจะรู้ว่าเราเป็นโสดาบัน ถ้าเราไม่รู้ว่าเป็นโสดาบัน อู๋ย.. หนูได้โสดาบันหรือยังคะ ไอ้นั่นบอกเอ็งได้โสดาบันแล้ว ๒ หน โอ๋ย.. ดีใจ มึงเป็นโสดาบันมึงต้องถามเขาด้วยเหรอ.. หนูเป็นอะไรคะ หนูเป็นอะไรคะ? นั่นล่ะคือยังไม่ได้

ฉะนั้นถ้าเราเป็นโสดาบัน นี่ธรรมส่วนบุคคลเราต้องรู้ว่าเป็นโสดาบัน เรารู้ว่าเป็นโสดาบัน อย่างเช่นเรานี่เราหลงผิดว่าเป็นโสดาบัน แต่เราไม่ได้เป็นนะ เราก็ไปอ้างกับอาจารย์ว่าผมเป็นโสดาบัน อาจารย์บอกไม่ใช่ เถียงกันหัวขาดเลยนะ เถียงเสร็จแล้วเราก็ไม่ได้โสดาบัน เพราะอะไร เพราะโสดาบันเราผิด

ถ้าเราเข้าใจว่าเราได้โสดาบันแต่เราไม่ได้ เราก็ไปเถียงเลย นี่บอกว่าโสดาบันเราต้องรู้ก่อนๆ รู้ผิดก็มี! รู้ว่าได้เป็นโสดาบันแต่ไม่เป็นก็มี แต่ถ้ามันรู้จริงขึ้นมานี่มันเป็นความรู้จริงขึ้นมา ความจริงที่รู้จริงขึ้นมา นี่อันที่รู้จริงขึ้นมา.. ถ้ารู้จริงขึ้นมา ไปถึงครูบาอาจารย์ พออธิบายให้ครูบาอาจารย์ฟัง เพราะหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นนะท่านไม่พูดสักคำเลย พอเล่าจบนะอย่างมากก็นิ่ง ไม่ก็ เออ! เพราะว่ามันยื่นให้กันไม่ได้ไง มันเป็นสมบัติส่วนตนไง มันเป็นสมบัติส่วนบุคคลไง แต่ส่วนบุคคลต้องเหมือนกันด้วย

ฉะนั้นเขาบอกว่า เขาก็ดีอยู่แล้วทำไมต้องปฏิบัติ เราจะพูดอย่างนั้นนะ เวลาพูดกับเขานี่เราพูดแรง บอกว่า “ไอ้สมบัติที่เป็นสมบัตินี่เป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติของโลก แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนาด้วย แล้วธรรมนี่มันมีอยู่ต่อหน้าเรา เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าบอกเลย อาหารสำรับถ้ามาไว้ต่อหน้าเรา ถ้าเราไม่กินนะ เขายกสำรับไปแล้วเราไม่ได้อะไรเลย”

เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนา นี่ธรรมเหมือนกับสำรับอาหารนั้น เราจะกินหรือไม่กิน เราจะเอาหรือไม่เอา แล้วถ้าเขาเอาสำรับนี้ออกไป คือตายแล้วนะมึงจบนะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามึงเกิดมาแล้วบอกว่า ก็ดีอยู่แล้วไม่ต้องทำ.. ถ้าเป็นคนแบบว่าเขาคิดทางโลกนั่นก็เรื่องของเขานะ แต่ถ้าเขาควรแก่สมบัติส่วนตัวของเขา เขาจะได้ดีของเขา จะมากมีขนาดไหนนะนั่นเป็นสมบัติสาธารณะ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ของเรา แต่ถ้าตอนเช้าที่โยมมาทำบุญนั่นล่ะของโยม

เพราะอะไร เพราะมันสละขาดไปจากมือ เราเสียสละออกไปเท่าไร นั่นล่ะของเรา นี่คือบุญเกิดไง เราเสียสละออกไปนั่นล่ะของเรา ถ้าเราไม่เสียสละออกไปนะ นี่ไฟไหม้เรือนมันไหม้หมดเลย เวลาตายไปแล้วไม่ได้อะไรติดมือไปเลย แต่ถ้าสละออกไปนั่นล่ะของเรา

นี่พูดถึงอามิส บุญกุศลนะ แต่ถ้าปฏิบัติล่ะ ปฏิบัตินี่แลกมาด้วยความเจ็บปวดนะ ไม่ได้ซาดิสก์ ความเจ็บปวดคือเวทนา เดี๋ยวบอกไปว่าแลกด้วยความเจ็บปวด เดี๋ยวพวกนั้นมันทิ่ม มันทำร้ายตัวเองกันใหญ่เลย.. ไม่ใช่ แลกมาด้วยเวทนา

นี้ถ้าแลกมา เห็นไหม นี่อาการที่มันตื่นเต้น อาการต่างๆ คนเรานี่นะ.. อันนี้มันจะเหมือนกับนิมิตครั้งแรกไง นิมิตเสียง นิมิตต่างๆ นิมิตที่เห็นก็คือนิมิต อาการที่มันหวาดหวั่น เรารู้สึกตัวเราเอง แต่การหวาดหวั่นนี่จิตใต้สำนึกเลย ฐีติจิตเลย

นี่เวลากิเลส อุปกิเลส.. กิเลสคือสิ่งที่มันขับเร้าหัวใจของเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว เราออกไปทำสิ่งต่างๆ อุปกิเลส จิตสงบผ่องใส ความใสที่ติดอยู่นั้นก็คือกิเลส กิเลสที่เราพัฒนาไม่ได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าพอมันวูบวาบ เห็นไหม มันวูบวาบมันก็เป็นอาการของใจ มันเป็นอาการของใจ ถ้าเราวูบวาบอย่างนั้นมันเตือนเราแล้ว เตือนเราว่าเราทำได้ไหม สิ่งนี้ผิดหรือถูก ถ้าสิ่งที่ผิดเราก็ไม่ควรทำ สิ่งที่ถูกเราต้องเร่ง ฉะนั้นเวลารถนี่ ทุกคนมองที่ว่าเครื่องกำลังมีเท่าไร แต่โดยธรรมชาตินะ เขาดูว่าเบรกล็อกหรือไม่ล็อก เบรกดีหรือไม่ดี เบรกแล้วรถนี่มันจะมีแรงเฉื่อยไปอีกเท่าไร

นี่ไง เบรกนี่ สติที่มันเบรก รถถ้าไม่มีเบรกไปไม่ได้เลยนะ รถนี่ถ้าไม่มีเบรก รถจะขับไปได้อย่างไร.. การสำนึกตน เห็นไหม เวลาเบรกเราต้องเบรก เพราะเราจะเข้าทางโค้ง เราจะเข้าทางร่วม ทางแยก เราต้องชะลอรถเราเพื่อจะเข้าให้ถูกทาง ถ้าเราชะลอไม่ได้ รถไปไม่ได้หรอก

ในการระลึกรู้สึกตัว ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องมีตรงนี้ด้วย ถ้ามีตรงนี้ นี่เวลาถ้ารถเราไปทางตรงใช่ไหม ถ้ามันถูกทาง เราเหยียบคันเร่งเต็มที่เลย เหยียบคันเร่ง เห็นไหม เวลาถ้ามันทำถูกต้องดีงาม เราต้องเร่งความเพียรเราเต็มที่เลย ทำคุณงามความดีของเราให้เยอะ

ฉะนั้น “หนูสงสัยว่า อาการตื่นเต้นที่รุนแรงนั้นมันแสดงออกขึ้นมา”

มันแสดงออก สิ่งที่มันแสดงออกนี้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเรามีสติ เรารับรู้ได้ไง ถ้าเราไม่มีสติล่ะ เราไม่รับรู้เลย อาการนั้นเราก็ไม่รู้ แล้วมันหนุนเราออกไป กรณีนี้เขาย้อนไปตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือตั้งแต่หน้าห้อง ถ้าหน้าห้องนะ อาการของใจคือว่าจริตนิสัยมันเป็นแบบนี้ คนเรามันมีจริตนิสัยแตกต่างกันไป ฉะนั้นถ้าเด็กบางคน ยิ่งออกหน้าห้องมันยิ่งรื่นเริง ยิ่งอาจหาญของมัน เห็นไหม แต่ถ้าเรามีอาการอย่างนี้ เราก็ต้องพัฒนาจากจุดนี้ขึ้นไป

“ดอกบัวเกิดจากโคลนตม”

โคลนตนคือเริ่มต้นจากทุน จากที่จิตเราเป็น จิตเราเป็นอย่างไร เราก็เริ่มต้นจากตรงนั้น แล้วทำคุณงามความดีของเราขึ้นไป ฉะนั้นถ้าจิตมันเป็นอาการวูบวาบ เราก็รับรู้ แล้วเราก็แก้ไขของเราไป มีสติของเราไป ทำของเราไป มันจะเริ่มดีขึ้นๆ นี่พูดถึง “หนูสงสัยว่า อาการที่ตื่นเต้นที่รุนแรงนี้มันจะแสดงออกขึ้นมา”

ถาม : ตอนนี้รู้ถึงการตื่นเต้น อาการหายไปก็คือการที่มีสติใช่ไหมคะ หรือว่าใจหนูมันเป็นเองมันเป็นเองที่ทำผิดเหมือนกันไว้ มันเลยตื่นเต้น

หลวงพ่อ : อันนี้แน่นอน เพราะเราเคยทำผิดไว้ ความผิดอันนั้น เห็นไหม เหมือนกับคนที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เขาบอกคนทำชั่วได้ดีเยอะแยะไปเลย เราก็ไม่คิดเลยว่าคนทำชั่วเขาก็นั่งทับความผิดของเขาไว้ คนทำผิดเขาต้องนั่งทับความผิดของเขาไว้ แล้วเขาต้องการให้คนมาคอยดูแลความผิดของเขา ไม่ให้มีใครดึงสิ่งนั้นขึ้นมา ไม่มีความสุขหรอก แต่ด้วยที่ว่าอยากได้อยากเป็น มันก็ทำของมันไป

อันนั้น เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าบอกว่า เวลาเราแย่งชิงกันไปขอดกองไฟไง เราแย่งชิงกันเพื่อมีอำนาจ แป๊บเดียว อำนาจทำให้คนเสีย แต่ถ้าคนมีสติ อำนาจทำให้เป็นคนดีก็ได้ ถ้ามีอำนาจแล้วทำคุณงามความดีมันก็จะได้

ถาม : หรือหนูเรียนถามว่าใจนี่มีความเวทนาใช่ไหม

หลวงพ่อ : ใช่

ถาม : เกิดจากธาตุที่มันเปลี่ยนแปลงใช่ไหม

หลวงพ่อ : เกิดจากเวทนา ธาตุมันเปลี่ยนแปลงต่อเมื่อมีเวทนาแล้ว

ถาม : ขอคำแนะนำ

หลวงพ่อ : ตั้งสติ เห็นไหม เราตั้งสติของเราไว้ สติเรามีอยู่แล้ว นี่เขาภาวนาด้วย

ถาม : ขอคำแนะนำว่าต้องเพิ่มสิ่งใด ขอความเมตตาหลวงพ่อแก้ไขข้อข้องใจลูกศิษย์คนหนึ่งค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าเรามีความผิด เราจะแก้ไขของเราไป.. นี่คือการปฏิบัติ สิ่งนี้มันเป็นจริตนิสัยที่คนแก้ไขมันไม่ได้ คือมันมีอยู่ของมันใช่ไหม คือจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน แล้วถ้าเรามีสิ่งใดเราก็แก้ไขของเราไป

แก้ไขของเราไป.. คำว่าแก้ไขของเราไปนะ มันเหมือนกับภูมิประเทศ สถานที่ คนอยู่บนดอย ความเป็นอยู่บนดอย การดำรงชีวิตบนชาวดอยก็เป็นอย่างหนึ่ง คนอยู่ในที่ลุ่ม อยู่ในแหล่งน้ำ ก็ดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง

อันนี้ก็เหมือนกัน จริตนิสัยของเราเป็นอย่างนี้ เราอยู่บนดอย เราอยู่บนดอยนะ การดำรงชีวิตของคนบนดอย เขาต้องประหยัดมัธยัสถ์ของเขาส่วนหนึ่ง แต่ถ้าคนเขาอยู่ชายทะเลนี่เขาก็มีการดำรงชีวิตของเขาอีกอย่างหนึ่ง

จิตของคน! จิตของคน! เราแบบว่าโดยทั่วไป เห็นไหม เราก็ว่าจะให้เหมือนคนนู้นคนนี้ จิตของเราเป็นอย่างนี้ ถ้ามันมีอาการอย่างนี้ เรารับรู้อย่างนี้ นี่มันเป็นกรรมเก่า กรรมใหม่ที่มันสร้างมา เราก็ตั้งสติแก้ไขของเราไปเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนคือว่า พอมันรับรู้มันตื่นเต้น พอเรามีสติมันก็หายไป แล้วเราก็สร้างคุณงามความดี ถ้ามันมีอีกแล้วสติเราทันนะ ถ้ามันมีสติปัญญามันไล่กันทัน มันก็จะค่อยๆ จางไปๆ กลับมาเป็นปกติ

ในการประพฤติปฏิบัติของคน ถ้าจิตมันมีปัญหาขึ้นมา สิ่งที่การแก้ไขจะต้องกลับมาเป็นปกติก่อน ถ้ากลับมาเป็นปกติแล้ว แล้วพอก้าวเดินออกไปมันจะมีการผิดพลาดสิ่งใด เราก็ต้องแก้ไขกันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เวลากลับไปเป็นปกติแล้วอาจจะผิดได้อีกนะ เพราะมันจะลงที่เก่าไง

ถ้ามันจะลงที่เก่าปั๊บเราตั้งสติไว้ จะไม่ให้จิตนี้ลงที่เก่า ลงที่เก่าคือว่าลงที่ความคิดเดิม ความคิดเดิม ความเห็นเดิมนี่เราดึงไว้ ดึงไว้ พอมันจะลงบอกไม่เอา อันนี้ไม่เอา พอไม่เอาแล้วตั้งสติไว้ มันก็จะเลยความคิดนี้เข้าไป เป็นความคิดสิ่งที่ดีขึ้น

นี้เวลาแก้ไขจิตนะ อย่างเช่นเวลามันจะลงภวังค์ เห็นไหม เวลานั่งปุ๊บหายทุกทีเลย ลงภวังค์ทุกทีเลย แล้วเราจะแก้ไม่ให้มันลงภวังค์นี่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันจะลงเราไม่ให้ลง ดึงไว้ๆ ดึงไม่ให้ลงภวังค์ ถ้ามันถึงเป็นสมาธิแล้วนะ พอเป็นสมาธินี่เราดึงไม่ได้ มันจะลงของมันไป

ถ้ามันเป็นภวังค์นี่ดึงไว้ เพราะเราไม่ให้ลง มันดึงได้ แต่ถ้าเป็นสมาธิแล้ว ถ้าเหตุผลมันพอนะ มันจะลงของมันไป ลงของมันไป ถ้าเรายังพุทโธต่อไปนี่มันก็ส่งเสริมมันไป ไม่ใช่ดึงไว้มันจะเร่งตัวส่ง ตัวส่งของเรา ถ้าจิตมันเข้าไปถึงฐานปั๊บจบหมดเลย อัปปนาสมาธินี่หมับ! สักแต่ว่า สักแต่ว่ารู้นะ รู้ชัดเจนมาก.. ไม่ใช่ตกภวังค์ มันถึงบอกว่าว่างๆ มันหายไปเลย อย่างนี้จบหมดแหละ อันนั้นไม่มีสติ

sฉะนั้นถ้าแก้ไขไปแล้วมันจะเป็นแบบนี้ เริ่มจากพอแก้ไขไปแล้วมันจะหายจากการที่ว่ามันวูบวาบ หายจากการต่างๆ กลับมาเป็นปกติ แล้วเราจะก้าวเดินไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อมรรคผลนิพพาน เอวัง