เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o เม.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรามาทำบุญ เห็นไหม พอเวลาทำบุญ “การเสียสละนั้นเป็นบุญโดยสัจธรรม” โดยสัจจะนะ เพราะมันหลุดจากมือเราไป ถ้ามันหลุดจากมือเราไปแล้ว มันเป็นของๆ เรา คำว่าของๆ เราเพราะเหตุใด สิ่งนี้เป็นวัตถุที่เสียสละออกไป แต่มันเสียสละออกไป จิตใจของเราเป็นผู้กระทำ จิตใจของเราตั้งเจตนามาตั้งแต่ก่อนจะมา

เจตนานี้สำคัญ เห็นไหม ถ้าเจตนาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาของเราทำด้วยความอิ่มเอิบใจ แต่บางคนชักชวนกันมา มันก็ยังลังเลใจ ความลังเลใจนี้หลวงตาเทศน์คำว่า “ถ้าประตูของใครเปิดมาก อากาศจะเข้าได้มาก ประตูของใครแง้มๆ ไว้ อากาศก็จะเข้าได้น้อย”

ความลังเล ความต่างๆ แต่โดยธรรมชาติของจิตมันเป็นแบบนี้ จิตมันเป็นแบบนี้มา ถ้าจิตเป็นแบบนี้ แบบคนที่มีศรัทธา ความเชื่อ เจตนาบริสุทธิ์ กับความลังเล กับคนที่ปิดเลย เห็นไหม คนที่ปิดเลยเขาบอกว่า สิ่งนี้เราแสวงหาของเรามาทำไมเราต้องไปให้ แต่ถ้าเขาเห็นประโยชน์ของเขา นี่ในทางโลกเขาบอกเลยว่าให้พระไป ทำบุญกุศลกับพระไป พระไม่เห็นทำอะไร วันๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย

ถ้าเราสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล เราเห็นด้วยนะ การสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาลต่างๆ เราเห็นด้วย สิ่งนั้นเป็นบุญกุศลเหมือนกัน แต่! แต่เนื้อนาบุญมันแตกต่างกัน ความแตกต่างกันนะ สิ่งนั้นเราเสียสละเพื่อสังคมโลก โลกมีการศึกษา เจ็บไข้ได้ป่วยมีการรักษา อันนั้นเป็นบุญแน่นอน เป็นบุญกุศลเด็ดขาด เราเห็นกันอยู่ การเสียสละมันก็ต้องเป็นบุญกุศล แต่เนื้อนาบุญของโลก เห็นไหม ถ้าเราเสียสละลงไป เนื้อนาบุญ เนื้อนาบุญเวลาพระไม่ต้องทำสิ่งใดเลย

ถ้าพระไม่ต้องทำสิ่งใดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้องค์เดียวนะ เป็นอาจารย์ เป็นผู้สอนสามโลกธาตุ ตั้งแต่พรหมลงมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สอนหมดเลย พระก็เหมือนกัน เวลาหลวงปู่มั่น เห็นไหม กลางคืนขึ้นมา ๔ ทุ่มท่านไม่เคยว่างเลย เทวดาจะมาฟังเทศน์ตลอด เราก็ไม่เชื่อ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านบอกว่า ๔ ทุ่มขึ้นไปไม่ว่างเลย

อยู่ในป่านะงานล้นมือ อยู่ในบ้านเราทำอะไรกันบ้าง อยู่ในป่างานล้นมือ ล้นมือที่ไหน เห็นไหม เวลาเราบริหารจัดการ เราคิดนี่เราทำด้วยอะไร เราทำด้วยหัวใจใช่ไหม เราทำด้วยความคิด ทำด้วยสมองของเรา แต่ถ้าเราบริหารจัดการของเรา นี่ดูเราควบคุมใจของเรา เวลาใจของเรานี่ ที่ว่าพระไม่ทำสิ่งใดเลย นั่งสมาธิ ภาวนา บอกพระไม่ทำอะไรเลย

ถ้าทำงานของพระ พระนี่งานมหาศาลมาก ใจของเราเอาไว้ในอำนาจของเรานะ นี่เป็นงานมหาศาล แล้วใจของเราเป็นนามธรรม เวลาจะเอาอำนาจของเรา ทำไมต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาล่ะ.. เดินจงกรม เดินจงกรมเพื่ออะไร เดินจงกรมไปนี่เหงื่อไหลไคลย้อย เห็นไหม จิตมันไม่อยู่ซักที จิตมันไปตลอด แต่ถ้าจิตนี่เอาอะไรไปจับมัน เอาอะไรไปจับมัน ก็เอาสติจับมัน เรายิ่งนั่ง ยิ่งตีโพยตีพาย ยิ่งเดือดเนื้อร้อนใจ ทีนี้ก็เอาสิ่งใดไม่ได้เลย มันต้องสงบจากภายนอก เห็นไหม สัปปายะ.. สถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก

ถ้ามันไม่วิเวกได้ไหมล่ะ? มันไม่วิเวกเพราะเหตุใดล่ะ? นี่มันเป็นวิเวกไง นี้พูดถึงเนื้อนาบุญ เราจะฝึกเนื้อนาบุญของเรานะ คนเราเกิดมามันมีกรรม กรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดของคนก็ไม่เหมือนกัน เห็นไหม หลวงตาบอก “กรงขัง” กรงขังคือความรู้สึกนึกคิดของเรา มันขังความรู้สึกของเราไว้ สิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดของเรา

ความรู้สึกนี้มาจากไหน ความรู้สึกนึกคิดมันมาจากพันธุกรรมทางจิต จิตมันได้เปลี่ยนแปลง มันได้พันธุกรรมของมันมาแต่ละภพแต่ละชาติ เกิดมาแล้วมีการกระทบสิ่งใดบ้าง มีความบาดหมางสิ่งใด มีความกระทบสิ่งใด มันฝังลงที่จิตหมด ถ้าฝังลงที่จิตหมดนะ ดูสิการฝังลงนี่ความคิด ความรู้สึกของเรา ความนึกคิด เห็นไหม มันขังความรู้สึกนั้นไว้ ความรู้สึกนั้นคือตัวจิต ถ้ามันขังความรู้สึกอันนี้ไว้ “นี่กรงขังของใจ”

แล้วเรามีกรงขัง คนเราเกิดมานะตื่นกลัว บางคนตื่นกลัวบ้าง บางคนขี้ตกใจบ้าง บางคนต่างๆ แล้วสิ่งนั้นมันจะฝังใจเรามาตลอด ถ้ามันฝังใจเรามาตลอด พอสิ่งใดกระทบขึ้นมา มันจะแสดงออกของมันโดยธรรมชาติของมัน เห็นไหม เราต้องกลับมาทำความสงบของใจ เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์กับเรา

ถ้าเพื่อประโยชน์กับเรานี่ เวลาทำบุญกุศลนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง เวลาทำบุญกุศล เป็นบุญกุศลของเรานะ บุญกุศลนี้เป็นอามิส.. ทาน ศีล ภาวนา เราทำบุญกุศล ภาวนาเพื่ออะไร เพื่อให้มันได้เสียสละออกมา ให้จิตใจมันมีการบริหารจัดการของมัน ถ้ามันการเสียสละ มีการให้อภัย มีการเปิดหัวใจ เราจะฟังธรรมเข้าใจนะ เวลาฟังธรรม คำพูดคำเดียวกันนี่แหละ แต่ถ้าหัวใจปิดกั้น เวลาฟังแล้วนะไม่รู้เรื่อง แต่วันใดหัวใจมันเปิดนะ

“ทำไมมันซึ้งนัก! ทำไมมันกินใจนัก! ทำไมมันสะเทือนหัวใจนัก!”

ถ้ามันจะซึ้งใจเพราะอะไร เพราะเราได้บริหารจัดการของเรานี่ไง มันมีทาน ศีล ภาวนา ทานของเราคือการเสียสละ คือการเปิดหัวใจให้มันกว้างขึ้น แล้วทำความปกติของใจ ถ้าจิตปกติ เวลามันฟังธรรมขึ้นมาแล้วมาทำบุญกุศล บุญกุศลนี้มันทำขึ้นมาเพื่อการฝึกใจของเรา เวลาฟังธรรมขึ้นมานี่เพื่อเตือนตัวเรา

“จากใจดวงหนึ่ง สู่ใจดวงหนึ่ง”

ใจของครูบาอาจารย์ของเรา ท่านฝึกหัดของท่านมา ท่านพัฒนาของท่านมา ท่านแก้ไขของท่านมา ท่านจะรู้นะ เหมือนการขับรถ คนขับรถไม่เป็นขึ้นไปขับรถ มันจะเอารถไปไหนล่ะ มันก็หมุนอยู่นั่นแหละ ยังดีมันหมุนแต่มันยังไม่พาตกถนนนะ ถ้าคนขับรถของเขาเป็นนะ เขาจะเอารถของเขาเคลื่อนออกจากที่ เขาจะเอารถของเขาไปทำประโยชน์ของเขา เขาจะเอารถของเขาไปหาผลประโยชน์มาเพื่อเลี้ยงครอบครัวของเขา

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันจะเริ่มต้นนี่ทำอย่างใด? ทีนี้พอเราเข้าใจ นี่ผู้ที่ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราที่ไม่เป็นจริง พอไม่เป็นจริงเขาก็บอกว่า “ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย ทำให้มันเหนื่อยยากไปทำไม อยู่เฉยๆ นั่นก็คือธรรมแล้ว มันเป็นความว่างๆ ไง ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ไม่ต้องทำอะไรเลย มันจะโตขึ้นมาเอง”

นี่เกิดจากท้องพ่อท้องแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่ดูแลมา พ่อแม่ไม่ฝึกมา ลูกคนนั้นจะดีขึ้นมาได้อย่างไร หัวใจถ้ามันไม่ได้ฝึกฝนขึ้นมา ไม่มีการกระทำขึ้นมา มันจะดีได้อย่างไร รถนี่บอกจอดไว้เฉยๆ แล้วรถมันจะดีไปเอง มันก็จะผุพังไปไง จิตใจที่มันอยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ มันเป็นนามธรรม ใจเรานี้เป็นนามธรรม เพราะใจของเรามันไม่เคยเน่าเสีย

เวลาสิ่งที่ทำความเป็นบาปอกุศลนะ มันก็ซับลงที่ใจนี่แหละ ใครทำมากทำน้อยจิตใจดวงนั้นรู้ ความลับไม่มีในโลก ใครทำคุณงามความดีขนาดไหนมันก็ซับลงที่ใจนั้นล่ะ พอมันซับลงมาอยู่ที่ใจ เห็นไหม พอใจมันได้ทำคุณงามความดีของมัน

คนทำดี ทำดีง่าย ทำชั่วยาก.. คนทำชั่ว ทำแต่ความชั่ว ทำความดีได้ยาก จิตใจมันทำแต่คุณงามความดีของมัน มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันไปคบเพื่อน เพื่อนพาไปทางไม่ดีมันก็ อื๊อ.. ไปได้อย่างไร อันนี้มันเป็นความไม่ดี แต่ถ้าคนจิตใจมันเป็นอย่างนั้น พอเพื่อนชวนมันไปทันทีเลย เห็นไหม การกระทำอย่างนี้จิตมันพัฒนาของมันอย่างนี้ มันถึงว่าเป็นพันธุกรรม เป็นอำนาจวาสนาบารมี เป็นการกระทำ นี่ถึงว่าทำบุญสูญเปล่า! เวลาทำมานี่เสียสละไปแล้วไม่เห็นได้สิ่งใดๆ มาเลย

สิ่งที่เสียสละ เสียสละเพราะเหตุใดล่ะ สิ่งที่ได้มาก็คือหัวใจที่มันมีพัฒนาการของมัน มันเข้าใจของมัน มันเสียสละของมัน มันพัฒนาของมันขึ้นมา เห็นไหม พอมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว มันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันเริ่มมีเหตุมีผล คนเรามีเหตุมีผล บอกอยู่เฉยๆ มันจะดีเอง นี่มันจะเป็นไปได้อย่างไร

ถ้าอยู่เฉยๆ ดีเอง ดูพราหมณ์สิ เห็นไหม กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร เกิดมาแล้วเป็นวรรณะ วรรณะอยู่อย่างไรก็ต้องอยู่อย่างนั้น ขยับสิ่งใดไม่ได้เลย นี่เพราะเป็นการเกิดหรือ ก็เกิดมาเป็นอยู่วรรณะไหนก็ต้องอยู่วรรณะนั้นไปหรือ แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “คนเราไม่ได้ดีด้วยการเกิด คนเราดีด้วยการกระทำ” คนเราดีด้วยการบริหารจัดการ คนเราดีด้วยการพลิกแพลงหัวใจ ได้เข้มแข็งขึ้นไป

พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะ เป็นกษัตริย์ก็มี เป็นกฎุมพีก็มี เป็นทุคตะเข็ญใจก็มี นี่ไงคนเกิดมาถ้าทำถึงที่สุดแห่งทุกข์มันก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน คุณงามความดีเกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรา นี่เกิดมาภพชาติใด สถานะใด ถ้ามีความขยันหมั่นเพียร ถ้าจิตใจมันมีคุณธรรมขึ้นมา มันจะคิดแต่ความดีๆ

คนดี..ทำความดีง่าย ทำความชั่วยาก คนชั่ว..ทำความชั่วง่าย ทำดียาก.. นี่ถ้ามันทำของมัน มันพิจารณาของมันขึ้นมา อันนี้ล่ะมันเป็นอำนาจวาสนา มันเป็นสติปัญญา มันเป็นความเข้มแข็งของใจ แล้วใครจะชักจูงเราไปไหนเราจะไม่ไปกับเขา เราต้องมีเหตุมีผลของเรา ถ้าเรามีเหตุมีผลของเรา สิ่งนี้เราไม่เป็นเหยื่อตัวเราก่อนนะ

ดูทางโลกเวลาที่เขาคดโกงกันเพราะอะไร เพราะเราโลภของเขา เราเป็นเหยื่อเอง เราอยากได้ของเขา เราอยากได้ดิบได้ดีของเขา แล้วพอเขาบอกว่าสิ่งนี้ดีๆ ดีจริงหรือเปล่า แล้วเราตามเขาไปทำไม พอเราตามเขาไปเราก็เป็นเหยื่อของเขา แต่ถ้าเราไม่เป็นเหยื่อเราก่อน เห็นไหม นี่เขามีสิ่งใด เรามีสติยั้งคิด นี่ไงถ้ามีสติยั้งคิดอำนาจวาสนามันเกิดตรงนี้ ถ้ามีสติยั้งคิดว่าเราจะเป็นจริงหรือ ไม่ต้องทำสิ่งใดเลยมันจะดีขึ้นมานี่มันจะเป็นจริงหรือ

ถ้ามันเป็นจริงคนอื่นเขาดีไปหมดแล้ว คนเกิดมานี่ก็ดีไปหมดแล้ว ทำไมต้องมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมต้องมีศาสดาของเรา ทำไมต้องสร้างบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นี่พอสร้างขึ้นมาแล้วความคิดแตกต่าง ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมปัญจวัคคีย์ก็ออกบวชเหมือนกัน อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ทำไมไม่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ

ปัญจวัคคีย์ก็ปฏิบัติมา พระพุทธเจ้าไปไหน ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากอยู่ ปัญจวัคคีย์ก็ทำด้วยกันมา ทำไมมันไปไม่ได้ล่ะ? มันไปไม่ได้ เห็นไหม จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา นี่ด้วยความเห็นของโลก เข้มแข็งขนาดนี้ยังทำไม่ได้ แล้วมาอ่อนแออย่างนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร ก็ทิ้งไปเลย

พอเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาพิจารณาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เวลาอดอาหารนี่ อดอาหารมา ๔๙ วัน จนรากขนเน่า ขนหลุดหมดเลย กลั้นลมหายใจจนสลบไปถึง ๓ หน เพราะด้วยความไม่มีใครสอน ไม่มีใครบอก ต้องค้นคว้าหาของท่านเอง แต่เวลาท่านสำเร็จของท่านมาแล้ว เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เห็นไหม บอกว่า “อดอาหารนี้เราห้าม แต่! แต่ถ้าใครอดเพื่อเป็นวิธีการ อดเพื่อจะต่อสู้กับกิเลส เราอนุญาต”

มันมีอยู่นะ เพราะว่าการอดอาหารนั้น ถ้าอดอาหารไม่เป็น เราก็คิดว่าทุกข์มันอยู่ที่ร่างกาย ทุกข์มันอยู่ที่รูปธรรม ทุกข์มันอยู่ที่จับต้องได้ เราก็จะไล่ต้อน จะเอาให้มันจนมุมเลยใช่ไหม แต่เราไม่รู้หรอกว่าความทุกข์มันอยู่ที่ความรู้สึก! ความทุกข์มันอยู่ที่อารมณ์ ความทุกข์มันอยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ภพ ซากศพของคนมันไม่ทุกข์หรอก คนตายเอาไปเผาไฟมันไม่เห็นร้องเรียกว่ามันมีความทุกข์เลย แต่เรามีชีวิตอยู่ นู่นก็ทุกข์ นี่ก็ทุกข์ โอดโอยไปหมดเลย แล้วความทุกข์ที่มันโดนขังไว้ด้วยความรู้สึกนึกคิดเรา มันขังเราไว้ เห็นไหม

นี่พุทธศาสนาสอนที่นี่ พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ไปเคารพบูชาที่ไหนเลย พุทธศาสนาสอนให้พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ความรู้สึกของเรา ธาตุรู้ ธาตุความรู้สึก พุทธะ พุทโธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพุทธะ คือผู้ตื่น เรามันยังหลับใหลอยู่ไง

นี่เราบอกเราเป็นชาวพุทธนะ เราจะหาทางออกกันนะ แล้วเราก็หลับใหลอยู่ในกรงขังความรู้สึกนึกคิดของเราไง แล้วอยู่เฉยๆ ก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ไม่ต้องทำอะไรเลย ไอ้พวกที่ทำเป็นพวกไม่มีปัญญา มันต้องทุกข์ มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค หาแต่ความทุกข์มาใส่ตัว ไอ้เราเป็นคนมีวาสนา เราเป็นคนมีความสุข เราไม่ต้องทำอะไรเลย สิ่งที่ไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้สิ่งใดมา

นี่เราเสียสละของเรามา มันก็เป็นบุญกุศลของเรา เราเสียสละมานะ แล้วเรากลับไปเล่าให้ใครฟัง เขาก็ฟังนิทานของเรา แต่เขาไม่ซาบซึ้งใจเหมือนเรา แล้วนิทานอันนั้นมันก็ไม่ฝังใจของเขา แต่เราทำของเรามา ภาพนี้มันประทับใจเรามา มันฝังลงที่ใจอยู่แล้ว ทีนี้พอเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สติก็สติของเรา สมาธิก็สมาธิของเรา ปัญญาก็ปัญญาของเรา ถ้าเกิดปัญญาของเรานี่มันชำระกิเลสของเรา เราจะรู้เป็นขั้นเป็นตอนของเราขึ้นไป

เรารู้เป็นขั้นเป็นตอนนะ มันเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง นี่นิพพานฝากกันได้หรือ นิพพานขอกันได้หรือ สิ่งต่างๆ นี้เขาบอกมาเล่ามา แล้วเราจำมา เราได้ยินมา แล้วเราบอกว่าเป็นของเรา.. เป็นของเราหรือ? ของยืมเป็นของเราไหม แม้แต่เราเกิดมาในภพชาตินี้นะ มนุษย์สมบัตินี้สำคัญมาก สำคัญเพราะเรามีบุญกุศลของเรา เราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ของเราขึ้นมา เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้ว มันก็ยังเป็นการยืมมา ยืมมาคือสมมุติไง

ชีวิตนี้เป็นสมมุตินะ ทุกคนต้องมีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แล้วชีวิตนี้เราได้บุญกุศลของเรามา ได้มาแล้วเราจะทำอะไรต่อไป เราจะทำดำรงชีวิตแบบโลกเขาใช่ไหม แล้วเราก็จะตายไปแบบนี้ใช่ไหม

นี่มันก็เหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีลธรรม สัตว์มันก็เหมือนมนุษย์นี่แหละ มันก็ดำรงชีวิตของมันเหมือนกัน มันก็รักครอบครัวของมันนะ สัตว์นี่ลองไปรังแกมันสิ มันรักครอบครัวของมัน มันรักลูกของมัน มันรักเหมือนกัน นี่มันก็ดำรงชีวิตเหมือนมนุษย์นี่แหละ แล้วเราเองถ้ามีสตินะ เราจะไม่อยู่ในกรงขังความรู้สึกนึกคิดของเรา เราจะเอาความรู้สึกของเราแหกออกจากกรงขังอันนี้ไป แหกออกจากขันธ์ ๕ แหกออกไปจากความรู้สึกนึกคิดเดิม

ความรู้สึกนึกคิดเดิมมันทำให้เราอยู่ในอำนาจของมัน ทำไมเราไม่คิดแตกต่างล่ะ เราไม่คิดแตกต่างมาเปรียบเทียบล่ะว่าเราจะทำจิตของเรา ทำความรู้สึกของเรา ความรู้สึกอันนี้มันจะแปรสภาพ มันจะเปลี่ยนแปลงไหม นี่ความรู้สึกนึกคิดนะ มันยังคิดซ้ำคิดซาก มันยังเจ็บช้ำน้ำใจ แต่เวลาตัวจิตมันละเอียดกว่าความรู้สึกนึกคิดนี้อีก แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงไหม

นี่ไงถึงบอกว่าตัวความรู้สึกอันนี้มันจะมีสมบัติของมันคืออริยทรัพย์ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา แล้วตัวมันเองจะเป็นอนัตตาไหม ความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นอนัตตา แล้วตัวมันล่ะ ตัวมันก็เกิดดับอยู่นี่ แต่ถ้ามันทำอย่างไรมันจะไม่เป็นอนัตตาล่ะ แล้วมันเป็นอัตตาไหม อัตตาก็มีทิฐิมานะไง แล้วมันเป็นธรรมธาตุล่ะ มันเป็นธาตุธรรมล่ะ มันเป็นความรู้จริงล่ะ มันเป็นประโยชน์กับเราล่ะ

นี่เรารับรู้ได้ สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง มันหลอกกันไม่ได้ เวลาครูบาอาจารย์เขาหลอกนะ ท่านก็พูดไป เราก็ อืม.. อืม.. แต่จะไม่รู้จริง แต่ถ้ารู้จริงนะเราดักหน้าได้หมดแหละ เวลาครูบาอาจารย์นะ ให้เอาความรู้สึกเรานี่เทียบ ถ้าเราทำความสงบได้มากขนาดไหน ปัญญาเราเกิดได้มากขนาดไหน ท่านพูดออกมานี่จริงไหม พูดไม่ถึงความรู้สึกนึกคิดเรา พูดเสมอความรู้สึกนึกคิดเรา พูดเหนือความรู้สึกนึกคิดเรา

เหนือความรู้สึกนึกคิดนะ เพราะว่าเราต้องพัฒนาของเราไปเรื่อยๆ ใจที่สูงกว่าจะชักนำใจที่อ่อนกว่าขึ้นมา ใจที่สูงกว่านะ ใจที่ต่ำกว่าจะแก้ใจที่สูงกว่าไม่ได้.. ใจที่สูงกว่า ความรู้สึกของเราจะลึกล้ำกว่า แล้วพยายามดึงสิ่งนั้นขึ้นมา ดึงไว้ที่ไหน ดึงด้วยการชี้นำนี่ไง ดึงด้วยการบอกว่าสิ่งที่เราว่าละเอียดๆ นั่นล่ะ มันมีสิ่งที่ละเอียดมากกว่านั้น สิ่งที่ละเอียดมากกว่านั้นเป็นอย่างไร ขนาดละเอียดแค่นี้ก็ทำมาเกือบเป็นเกือบตายแล้ว มันยังมีมากกว่านี้อีกเหรอ แล้วถ้าพิสูจน์ไปมันยังมีมากกว่านี้ มากกว่านี้ จนถึงที่สุดของมันเป็นที่อันเดียวกัน

อันเดียวกัน เห็นไหม นี่ฟังธรรม เรามาทำบุญกุศลนะ เราเป็นชาวพุทธ ความรู้สึกของเราเป็นปัจเจกชน แต่เราเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ด้วยกัน ความอยู่ด้วยกัน กระทบกระทั่งกัน การเสียสละเผื่อแผ่กัน อันนี้เป็นการฝึกใจ ให้ใจเรานี่ฝึกใจ ถ้าไม่กระทบใจเราก็ไม่มีอะไรแสดงออก ถ้ามีการกระทบ ใจเราก็แสดงออก เห็นไหม

ธรรมะเก่าแก่! โลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทา มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา นี่สิ่งนี้เป็นโลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่มันมีประจำของมัน แต่มันแก้ไขสิ่งใดไม่ได้ แต่หัวใจของเราเวลากระทบ เวลามีความรู้สึกนี่เราจะแก้ไข การแก้ไขนี้คือการพัฒนาการของมัน ถ้ามีการแก้ไข ความปรับปรุงของมัน ควบคุมมัน ดูแลมัน

มันจะมีการพัฒนาการของมัน พัฒนาการอันนี้ นี่จิตมันเจริญขึ้น เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ จิตถ้ามันไม่มีการเจริญมันจะเอาอะไรมาเสื่อม จิตไม่เสื่อมมันจะเอาอะไรเจริญ อยู่เฉยๆ แล้วมันจะเป็นไปเอง มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เห็นไหม เราถึงต้องทำของเรา แล้วเราจะรู้ของเราเองว่า มรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับมรรคในหัวใจของเรา..

สิ่งที่พัฒนาการในหัวใจของเรามันจะเป็นอันเดียวกันไหม? เราจะรู้เท่าทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? เราจะรู้ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? เราจะรู้ทันจิตของเราไหม? เราจะรู้ทันควบคุมจิตของเราไหม? เราจะพาจิตของเราพ้นจากกรงขังของกิเลสที่มันขังเราอยู่ได้ไหม? เอวัง