ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พุทโธหาย

๑o เม.ย. ๒๕๕๔

 

พุทโธหาย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๓๗๘. เพราะเขาถามมาข้อ ๓๗๕. แล้วก็บอกขอยกเลิกคำถาม ข้อ ๓๗๘. เรื่อง “ขอขมา ขอยกเลิกคำถามนั้นครับเพราะผมเข้าใจแล้ว” ข้อนั้นเขายกเลิกไปแล้ว คือคำถามนี้ไม่มี คำถามนี้ไม่มี เขายกเลิกไปแล้ว แต่เรามันอยากตอบ เรามันอยากตอบ เพราะคำถามนี้มันเป็นประเด็นที่ว่าคนเขามาถามปัญหานี้เยอะมาก แล้วผู้ที่ปฏิบัติก็มาถามปัญหานี้เยอะมาก แล้วพระปฏิบัติมา เวลาปฏิบัติไปแล้วมีความผิดพลาด ก็มาถามปัญหาอย่างนี้เหมือนกัน

ทีนี้ปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่คนมาถามบ่อยมาก เรื่อง “พุทโธหายหรือไม่หาย”

นี่ก็เหมือนกัน “สงบแล้วคำบริกรรมหายหรือครับ” เขาไม่เชื่อไง เขาไม่เชื่อว่าพุทโธนี้จะหายได้

ถาม : ปัญหาข้อที่ ๑ ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นองค์หนึ่ง เคยสอนไว้ว่าให้มีคำภาวนากำกับไว้ตลอด เมื่อใดที่เข้าสู่จิตสงบแล้วคำบริกรรมจะหายไปเอง

หลวงพ่อ : แล้วเขาถามว่า “จริงหรือครับ”

ถาม : ปัญหาข้อที่ ๒ ถูกต้องที่สุดครับ

หลวงพ่อ : เห็นได้ตามนี้เลย เพราะนี่ประสบการณ์ของเขา

ถาม : ตราบใดที่ยังรู้ว่าคำบริกรรมหายไป ยังสามารถบริกรรมต่อได้ ก็ต้องบริกรรมต่อไปก่อน จนไม่สามารถทำต่อไปได้ คือมันตัน นึกไม่ออก และนิ่งอยู่ แล้วจึงค่อยถอนออกมาใช้ปัญญาพิจารณา (นี่คำถามเขา)

หลวงพ่อ : นี้คือความเข้าใจผิดหมดไง คือความเข้าใจผิด! นี่คนถามเขาเข้าใจของเขาอย่างนี้ แล้วเขาบอกว่าเขาก็ไม่แน่ใจ เขาถึงบอกว่า “ถ้าสงบแล้วคำบริกรรมจะหายไปหรือคะ” เขาไม่เชื่ออยู่แล้ว แล้วเขาบอกว่าประสบการณ์ของเขานี่ เขาบริกรรมอย่างไรแล้วมันก็มี คือเขาตามรู้ไปไง มันก็มี จิตนิ่งขนาดไหนเขาก็รู้ได้ กระทบได้ตลอดไป เพราะเขาภาวนาแบบอภิธรรม เขารู้ตลอด

ฉะนั้นคำบริกรรมนี้หายไปไม่ได้หรอก นี่ในความเห็นของเขา เขาถึงถามว่า

“สงบแล้วคำบริกรรมจะหายไปเหรอคะ”

เราถึงบอกว่า “พุทโธหาย” คำว่าพุทโธหายนี่นะ.. นี่แล้วเขาบอกว่า

ถาม : ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นองค์หนึ่ง

หลวงพ่อ : เราก็คิดว่าน่าจะเป็นหลวงตานี่แหละ

ถาม : ให้มีคำบริกรรมกำกับไว้ตลอดไป

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดอย่างนั้น เขาบอกว่าสายหลวงปู่มั่นทำอย่างนี้ แต่พูดถึงว่า “ถ้ามันสงบแล้วคำบริกรรมจะหายเหรอ” เขาพูดนะ นี่เราจะเคลียร์ปัญหานี้ เราจะเริ่มเคลียร์ปัญหานี้แล้ว

ปัญหาของมัน คือว่าสมัยหลวงปู่มั่นท่านไปอยู่กับมูเซอ ท่านไปอยู่ที่นั่นแล้วมูเซอเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่าหลวงปู่มั่นท่านมาอยู่ที่นี่ เพราะเขาอยู่ในป่าในเขามันเป็นชุมชนของเขา แล้วมีผู้แปลกหน้าเข้าไป พอมีผู้แปลกหน้าเข้าไปเขาบอกว่าเป็นเสือเย็น พระ ๒ องค์นี้เป็นเสือเย็นนะ อย่าเข้าไปใกล้นะเดี๋ยวจะมีภัยร้ายต่อเรานะ ทีนี้หลวงปู่มั่นท่านรู้วาระจิตไง

นี่ไงที่เราบอกเมื่อวานนี้ ที่ว่า “คุยกันทางสมาธิ” ถ้ารู้วาระจิตท่านก็รู้ว่าเขาคิดกันอย่างไรแล้ว พอคิดกันอย่างไรแล้วท่านก็พูดกับ.. ตอนนั้นท่านไปกับมหาทองสุข ไปด้วยกัน ๒ องค์ ฉะนั้นหลวงปู่มั่นถึงบอกว่ามหาทองสุขเป็นเพื่อนตาย เวลาไปอยู่ไหนมันจะเกิดวิกฤติด้วยกัน จะอยู่กับมหาทองสุข ก็เลยบอกมหาทองสุข ลูกศิษย์นะบอกว่าเราไปไหนไม่ได้แล้ว นี่ดูความเมตตาของหลวงปู่มั่นสิ ท่านบอกว่า

“มหา เราจะไปไหนไม่ได้นะ ถ้าเราไปไหนนะ เวลาเราไปแล้วถ้าพวกนี้ตายไป ถ้าอนาคตพวกนี้ตายไป เพราะเขาเพ่งโทษหลวงปู่มั่น ว่าหลวงปู่มั่นเป็นเสือเย็น ถ้าเราไม่แก้ปัญหาอันนี้ก่อน แล้วเราจากที่นี่ไป ประชาชนหมู่บ้านนี้ ถ้าเขาตายไปเขาจะเกิดเป็นเสือเป็นสางหมดเลย เพราะเขาเพ่งโทษหลวงปู่มั่นว่าหลวงปู่มั่นเป็นเสือเย็น ฉะนั้นเราไปไหนไม่ได้ เราต้องแก้ไขปัญหานี้ให้จบก่อน”

ฉะนั้นท่านก็ทนอยู่ที่นั่น พอทนอยู่นั่นปั๊บพวกนั้นก็เข้ามาดูนะว่ามันเป็นอะไร แล้วทำอะไรอยู่ แล้วพวกกะเหรี่ยงเขามาถามว่า

“เห็นเดินไปเดินมานี่เดินทำไม”

นี่ไงจะเข้าพุทโธหายนี่แหละ พุทโธหายของหลวงปู่มั่นไง

“พุทโธเราหาย เราหาพุทโธอยู่ เราหาพุทโธอยู่”

“แล้วถ้าคนอื่นช่วยหาได้ไหม”

“โอ้โฮ.. ถ้าช่วยหายิ่งดีใหญ่เลย มันยิ่งเจอได้ไวๆ”

นี่คืออุบาย อุบายบอกให้พวกกะเหรี่ยงหัดภาวนา บอกว่าพุทโธเราหาย แล้วคนอื่นช่วยหาได้ไหม โอ๋ย.. ถ้ามีใครมาช่วยหานะก็ยิ่งดีใหญ่ มันจะได้เจอเร็วขึ้น.. ฉะนั้นพวกกะเหรี่ยงเขาก็พุทโธ พุทโธ พุทโธของเขาไป เห็นไหม พุทโธไป พอจิตมันลงหมดที่ว่าพุทโธหายหรือไม่หายนี่แหละ.. หายหรือไม่หายนี่นะ คนภาวนาไม่เป็นพูดไม่ได้หรอก แล้วคนภาวนาไม่เป็นก็จะเถียงกันอย่างนี้ไปจนวันตาย แต่ถ้าใครเข้าไปเจอเข้าไปเห็นแล้วนะ พุทโธหายหรือไม่หายมันจะรู้

ฉะนั้นพอบอกว่าพุทโธหาย คำว่า “พุทโธหาย” ของหลวงปู่มั่น ท่านเป็นอุบาย เพราะพุทโธหลวงปู่มั่นไม่หายหรอก แต่ท่านบอกว่าพุทโธท่านหาย..

“ท่านที่เดินจงกรมอยู่นี่ทำอะไรอยู่”

“ก็พุทโธเราหาย”

เขาก็เลยบอกว่า “ถ้าพุทโธหายนี่ แล้วพวกโยมจะช่วยหาได้ไหม”

“อู้ฮู.. ได้สิ! ถ้าพวกโยมช่วยหานะยิ่งดีใหญ่เลย มันยิ่งได้พบง่ายขึ้น”

เขาก็พุทโธของเขาด้วยความซื่อ ความใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดคาในหัวใจ ไม่มีลับลมคมในในหัวใจ เขาพุทโธของเขา พุทโธของเขาจนจิตเขาลง พอจิตเขาลงมันสว่างหมดนะ พอสว่างหมดแล้วมองไปที่หลวงปู่มั่น เห็นเป็นดวงใจหลวงปู่มั่นใส ครอบโลกธาตุเลย อู้ฮู.. ก้มลงกราบนะ “อู๋ย..ไม่หาย! พุทโธหลวงปู่มั่นไม่หาย พุทโธเราต่างหากหาย”

พอเช้าขึ้นมาก็ไปกราบท่าน เห็นไหม บอกว่า

“ตุ๊โกหก พุทโธตุ๊ไม่หาย พุทโธพวกเราสิหาย”

ก็เลยกราบแล้วกราบอีก เข้าใจผิดว่าเป็นเสือเย็น มีความเข้าใจผิดเพราะจิตมันมีอคติ ถ้าพวกนี้ตายไปจะเกิดเป็นเสือเป็นสางหมด นี่หลวงปู่มั่นท่านพูดนะ ฉะนั้นหลวงปู่มั่นท่านว่า “มหาทองสุข เราจะไปไหนไม่ได้นะ เราต้องอยู่ที่นี่ อยู่ที่นี่จนกว่าจะแก้ทิฐิมานะ จนกว่าจะแก้ความเห็นของเขาได้ ถ้าแก้ความเห็นของเขาได้ แล้วเราค่อยไป”

พอแก้ความเห็นของชาวหมู่บ้านนั้นได้หมดเลย เสร็จแล้วท่านก็จะลาจากแล้ว โอ้โฮ.. ร้องไห้รำพันนะ “ตุ๊ไม่ต้องไป ตุ๊อยู่นี่ ตุ๊ตายทางนี้ก็เผาได้ ตุ๊จะต้องการอะไรทางนี้ก็ให้ได้ ตุ๊ไม่ต้องไป ตุ๊ไม่ต้องไป” ไม่ให้ไปแล้ว ทีแรกว่าเป็นเสือเย็นนะ

คำว่าพุทโธของหลวงปู่มั่น มันเป็นอุบายว่าพุทโธหาย แต่คำว่าพุทโธหายของหลวงตา มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาหลวงตานี่นะท่านบอกว่าท่านออกประพฤติปฏิบัติ พอท่านออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ทีแรกตอนที่ท่านเรียนอยู่ เห็นไหม ท่านบอกเรียนอยู่ ๗ ปี ท่านก็พุทโธ พุทโธอยู่ เพราะว่ามันไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะท่านกำลังศึกษา ท่านจะเรียนบาลีอยู่

ทีนี้ท่านไปเรียนบาลีอยู่ ท่านบอกว่าพุทโธ พุทโธนี่เหมือนจอมแห เหมือนเราทอดแหแล้วเราดึงขึ้นมา จอมแห แหมันจะรวมเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว พุทโธ พุทโธของท่าน ท่านบอกท่านได้สมาธิ ได้จิตรวมนี่ ๓ หน ๗ ปีนี่ได้ ๓ หน ทีนี้พอท่านจะออกปฏิบัติจริงจัง เพราะท่านจบบาลีแล้ว ท่านเรียนจบเป็นมหา ท่านจะออกประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ท่านก็คิดว่าท่านเป็นตัวของตัวเองแล้ว ท่านกำหนดดูจิตเฉยๆ ท่านบอกท่านดูเฉยๆ ท่านไม่มีอะไรเลย ท่านดูไว้เฉยๆ

นี่ไปอยู่ที่จักราช ดูอยู่อย่างนี้จิตมันก็สงบได้ แต่สงบแล้วพอเริ่มออกทำงานมันเสื่อมหมดเลย ไปทำกลดหลังหนึ่งบอกเสื่อมหมดเลย พอเสื่อมแล้วนี่ทุกข์มากเลย ก็พยายามจะดูเฉยๆ ตั้งสติเฉยๆ เพราะมีความรู้ ท่านจบมหามา โอ๋ย.. เราทำของเราได้ ทุกอย่างทำได้ พอทำขนาดไหนมันก็ไม่ได้ ท่านบอกว่าทำอยู่เกือบเป็นเกือบตาย สงบวัน ๒ วันนะ เหมือนกลิ้งครกขึ้นภูเขา แล้วครกนั้นมันจะกลิ้งทับตัวเองแบนแต๋ดแต๋เลย

ทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ ทำอย่างไรก็ไม่ได้ จนพยายามคิดของท่านเองไง เอ๊ะ.. ทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะว่าขนาดศึกษามาจนเป็นมหา แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติมาก็มีหลวงปู่มั่นเป็นหลัก สุดท้ายแล้วว่า “เอ๊ะ.. เราคงขาดคำบริกรรม”

พอขาดคำบริกรรมท่านก็บอกกำหนดพุทโธ พุทโธ ๓ วันแรก.. นี่คำนี้เวลาใครดูจิตกันเคยนะ ใครปล่อยใจร่อนเร่จนเคยนะ เวลาจะบังคับนี่ท่านบอก “อกแทบแตก!”

๓ วันแรกมาพุทโธใหม่นี่นะอกแทบแตกเลย ทั้งๆ ที่ทีแรกก็พุทโธมานี่แหละ แต่เพราะมีการศึกษามา เพราะต้องการสะดวกใช่ไหม เรามีปัญญาใช่ไหม เพราะปัญญาของเรานี่ไง เราเป็นเหยื่อของความคิดเราเองไง พอสุดท้ายแล้วมันก็เสื่อมหมดเลย แล้วเสื่อมหมดก็เอาขึ้นมาไม่ไหวด้วย พอขึ้นไปวัน ๒ วันมันกลิ้งมาทับแล้ว เพราะไม่มีหลักยึด ไม่มีคำบริกรรม

อย่างเช่นพระพุทธเจ้าก็มีอานาปานสติกำหนดลมไว้ ถ้าไม่มีหลักยึดมันก็กลิ้งทับอย่างนั้นล่ะ จนสุดท้ายไม่ไหวไง พอไม่ไหวขึ้นมา เอ๊ะ.. เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะเหตุใด ก็ทุกข์มากๆ นี่คนเจริญแล้วเสื่อมจะทุกข์มาก สุดท้ายเพราะขาดคำบริกรรม ท่านก็มาพุทโธ พุทโธนี่แหละ

พุทโธ พุทโธ พุทโธ ๓-๔ วันมันอึดอัดมาก เพราะว่าจิตเรานี่เหมือนเด็กๆ เราเคยปล่อยมันตามสบาย แล้วไปบังคับให้มันอยู่ในอำนาจของเรา ท่านบอกแย่มากเลย แย่มากคือกิเลสมันโดนบังคับนี่มันต่อต้านมาก มันมีความทุกข์มาก แต่ท่านก็ทำด้วยความจริงจังของท่าน ท่านพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธหายไง

คำว่า “พุทโธหาย” นี่พุทโธไม่ได้ เห็นไหม

ถาม : ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นองค์หนึ่ง เคยสอนไว้ว่าให้ใช้คำภาวนากำกับไว้ตลอดไป เมื่อใดที่จิตเข้าสู่ความสงบแล้ว คำบริกรรมจะหายไป

หลวงพ่อ : นี่ไง ความจริงมันปรากฏ ความจริงมันเป็น พอมันหายไป เห็นไหม คนภาวนาไม่เป็นนะ พอพุทโธมันหายนี่ มันหายด้วยความซื่อสัตย์ มันหายด้วยข้อเท็จจริง มันไม่ใช่หายด้วยความกะล่อน มันไม่ได้หายด้วยความมารยาสาไถย เดี๋ยวจะเข้าตรงนี้.. ถ้ามันหายด้วยข้อเท็จจริงมันจะเป็นอย่างนี้ พอพุทโธมันหายนี่เพราะคนไม่มีอะไรต่อรองใช่ไหม พอพุทโธหาย เอ๊อะ! ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ พอพุทโธหาย อ๋อ.. พุทโธหายก็อยู่กับผู้รู้นั้น

นี่อานาปานสติ เวลารวมใหญ่มันเป็นอย่างนี้ เพราะเวลารวมใหญ่นะ พุทโธ พุทโธนี่เรามีจิตกับคำบริกรรม พุทโธ พุทโธมันเป็นสองตลอด พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันเป็นหนึ่งเดียว นี่มันเป็นหนึ่ง มันไม่มีอะไรกระทบไง เหมือนมือเรามีสองข้าง เราทำงานกันหมดเลย แต่เรามีมือข้างเดียว มือจะไปกระทบกับอะไร

พอพุทโธ พุทโธ.. พุทโธจนมันเป็นอันเดียว มันจะกระทบกับอะไร พอไม่กระทบอะไรแล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ ทำอย่างไรต่อไป? ฉะนั้นก็อยู่กับผู้รู้ซะ อยู่กับผู้รู้พอมันคลายออก เห็นไหม พอมันคลายออกมันก็มีแล้ว พอมีก็พุทโธอัดเข้าไปอีก พุทโธอัดเข้าไปอีก

“ฉะนั้นพุทโธนี่หายจริงๆ! แต่มันต้องหายด้วยข้อเท็จจริง”

ทีนี้เราจะพูดถึงที่ว่าเวลาสังคมเขาสับสนกันตรงนี้แล้ว สังคมเขาสับสนกันว่า ถ้าพุทโธมันหาย พุทโธมันหาย.. ฉะนั้นคนที่สอน อย่างเรานี่นะเราอยู่กับครูบาอาจารย์ เห็นไหม หลวงปู่มั่น หลวงตา ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นพระอรหันต์หมดเลย ท่านก็พูดถูก สอนถูกหมดเลย ไอ้เราเพิ่งบวชใหม่ใช่ไหม เราก็ฟังหลวงตา ฟังหลวงปู่มั่นท่านพูดนะ บอกพุทโธหายใช่ไหม พุทโธหายเราก็พุทโธ พุทโธจะให้หายไง จะให้หาย

มีพระหลายองค์มาก มาหาเราบอกว่า “พุทโธต้องหาย” เพราะข้อเท็จจริงอย่างนี้เรารู้อยู่ ธรรมดาตามความเป็นจริง พุทโธมันจะหายไป เพราะพุทโธนี่เป็นสมมุติ พุทโธนี่เราวิตกขึ้นมา พุทโธนี่เรานึกขึ้นมา แต่เวลามันสงบมันสงบโดยตัวของมันเอง แต่ต้องอาศัยพุทโธเข้าไปไง อย่างเช่นเราจะกินข้าว เราจะหุงข้าว เราไม่มีข้าวเปลือก เราไม่มีข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสาร เราจะเอาข้าวที่ไหนมาหุง

นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรา เราไม่กำหนดพุทโธ ไม่พัฒนาขึ้นมา จิตมันจะสงบได้อย่างไร จิตมันก็อยู่ของมัน มันคิดว่ามันสงบไง ฉะนั้นโดยข้อเท็จจริงนี่พุทโธมันหายโดยข้อเท็จจริง ทีนี้เราบวชใหม่ใช่ไหม เราบอกหลวงตาท่านบอกว่าพุทโธหาย หลวงปู่มั่นก็บอกพุทโธหาย กูก็พยายามจะทำให้มันหาย

นี่ไงพอจะทำให้มันหาย พอเริ่มต้นไปทำขึ้นมา แล้วมันก็หายไปจริงๆ หายไปสู่ไหน หายไปสู่ภวังค์ หายไปสู่ความไม่รู้ แล้วก็งงกันนะว่าพุทโธหาย พุทโธหาย.. เรานี่แกล้งลืมก็ได้ เหมือนกับเราแกล้งลืมนะ ความคิดเราเป็นทุกข์มาก แล้วเราจะไม่ให้คิด เราจะไม่ให้คิด แล้วมันได้ไหม?

ทีนี้พอพุทโธนี่ พุทโธมันหาย คำว่าพุทโธหาย เราเคยเป็นอุบายของเรานะ เราพูดกับพระหลายองค์ที่ว่าพุทโธหาย เราบอกว่า “พุทโธห้ามหาย!” ถ้าพุทโธห้ามหาย ให้เราพุทโธชัดๆ นะ พุทโธชัดๆ ไปนี่นะ พอพุทโธไปเรื่อยๆ มันจะไม่ตกภวังค์ แล้วพอเราห้ามหายนะ! ห้ามหาย! แต่ถ้ามันจะหายนะ มันหายของมันโดยข้อเท็จจริง

เหมือนน้ำแข็งนี่นะ เราเอาน้ำแข็งก้อนหนึ่งไว้บนฝ่ามือ แล้วบอกว่าน้ำแข็งห้ามละลาย มันเป็นไปได้ไหม? น้ำแข็งมันต้องละลายไปหมดใช่ไหม อันนี้ก็เหมือนกัน เราพุทโธชัดๆ เวลามันเข้าสมาธินี่มันเหมือนน้ำแข็งที่ละลายลงไป พอละลายไปแล้วมันเหลือแต่น้ำ

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนมันพุทโธไม่ได้ จนพุทโธไม่ได้นี่มันเป็นความจริง นี่พูดถึงข้อเท็จจริงนะ แต่เพราะพระเรา เพราะความเห็นของเรา บอกพุทโธต้องหาย พุทโธต้องหาย แล้วเราก็โดนกิเลสเราหลอกไง เราเริ่มต้น ๑. คืออยากให้หาย ๒. สร้างภาพการหาย ๓. ทำไม่รู้ไม่ชี้ให้มันหาย พอมันหายแบบนี้มันหายแบบแกล้งหายไง

เพราะเราไปรู้โจทย์ไว้แล้ว รู้คำตอบไว้แล้วว่าพุทโธต้องหาย อ้าว.. พุทโธต้องหายไง พอพุทโธต้องหาย ทุกคนพยายามจะให้มันหาย มันก็เลยกลายเป็นว่าซื่อบื้อ หายแบบคำบริกรรม แต่ไปอยู่กับความซื่อบื้อของตัว แล้วก็บอกว่าอันนั้นเป็นสมาธิ มันถึงได้ทำสมาธิกันไม่ถูก ทำสมาธิกันไม่เป็น

ฉะนั้นพอบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่พุทโธหาย เพราะของเขาบอกว่า เขาดูแลเขาพิจารณาของเขา เขาบอกว่าเขาดูหนอ เห็นหนอ รู้หนอ กระทบหนอ ความหนอของเขานี่เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะหาย.. ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่เคยหายไง เพราะมันไม่เคยหายมันก็ไม่รู้ว่าหายไง มันไม่เคยหายเพราะอะไร เพราะบอกว่า ถ้ามันหายไปมันจะขาดสติ ถ้ามันหายไปมันไม่มีสติ มันไม่มีปัญญา เราก็กลัวมันจะหาย ก็เลยว่าดูของเราไปด้วย

จิตมันจะหลอกไปเรื่อย มันจะละเอียดขนาดไหนมันก็กระทบตลอด มันไม่มีหายหรอก คำว่าไม่หายนี้เพราะอะไร เพราะเราทำไม่ถึงที่สุดของมัน เขาบอกว่าถ้าพุทโธ พุทโธไป เห็นไหม ถ้าพุทโธมันจะหายนะมันจะไปสู่ทางตัน คำว่าไปสู่ทางตันเพราะตัวเองไม่รู้ไง

เราจะเปรียบเทียบนะ นักกีฬากระโดดน้ำ เขาต้องมีสะพานใช่ไหม เวลาเขามีสะพานไปนี่ เราเดินไปจะกระโดดน้ำ นักกีฬาอยู่บนสะพาน ที่สุดแห่งสะพานมันก็เป็นสะพานตัด เหมือนสะพานที่กระโดดน้ำ มันก็ต้องไปสู่อากาศ ไม่มีสะพานรองรับ แต่ขณะที่เราจะไปกระโดดเราต้องเดินไป เราเดินบนสะพานหรือเปล่า? แน่นอน เราเดินบนสะพานไป

ทีนี้เราเดินบนสะพานไป เราพุทโธ พุทโธนี่มันมีของมันใช่ไหม เวลามันทะลุไป ทะลุคือเรากระโดดจากสะพาน เรากระโดดจากกระดานกระโดดไป มันจะมีอะไรรองรับเรา ไม่มี เราอยู่บนอากาศใช่ไหม ฉะนั้นสิ่งที่ว่ามันเป็นทางตัน พอมันออกไป พอจิตมันจากสมมุติ เห็นไหม ปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน ถ้ามันหลุดออกไปจากสิ่งที่รองรับ มันก็เป็นอีกสถานะหนึ่งใช่ไหม มันจะเป็นทางตันที่ไหน

ไอ้คำว่าทางตัน เพราะเราเข้าใจว่าเป็นทางตัน พอถึงทางตันแล้วเราออกใช้พิจารณา ฉะนั้นนี่มันเป็นความเข้าใจผิด! เป็นความเข้าใจผิดของผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติ หรือปฏิบัติแล้วไม่ถึงที่สุด ฉะนั้นหลวงตาท่านพูดบ่อย บอกว่า “เดี๋ยวนี้เขาปฏิบัติกันพอเป็นพิธี”

คำว่าพอเป็นพิธี ก็ปฏิบัติพอเป็นพิธี เห็นไหม ก็นี่ไงปฏิบัติต้องอยู่ในกรอบหมด จะไม่ยอมกระโดดน้ำ เพราะกระโดดน้ำไปเดี๋ยวมันตาย จะต้องอยู่บนสะพานตลอดไป แล้วก็จะต่อสะพานไปเรื่อยๆ ยาวไปเรื่อยๆ พิจารณาไปอย่างไรมันก็อยู่ในสะพานไปเรื่อยๆ ไม่ยอมกระโดดออกไป

นี่ความคิดของเขาคือเขาไม่ยอมกระโดดออกไป เพราะกระโดดออกไปมันก็กระโดดออกไปสู่โลกุตตรปัญญา เราอยู่บนสะพานนี้มันก็เป็นโลกียปัญญา มันเป็นโลกียะ มันเป็นความรู้สึก เป็นความผูกพัน เป็นเวรเป็นกรรม เป็นสิ่งที่ใจนี้สร้างมา เขาไม่ยอมออกไปสู่ความจริง เขาจะอยู่กับสิ่งที่เป็นสมมุติบัญญัติที่จิตเราสร้างมา

นี่มันมุมกลับนะ มุมกลับ มีพระบางองค์พอปฏิบัติแล้วเขาบอกว่าเขาพ้นจากทุกข์ เขาพ้นจากสมมุติบัญญัติ เขาบอกเกิดมาจากใคร เกิดมาจากธาตุ ๔ ไม่มีพ่อไม่มีแม่ แต่ของเรานี่พระพุทธเจ้ายังเกิดจากพระเจ้าสุทโธทนะ มันต้องมีพ่อมีแม่ มันมีที่มาที่ไป สมมุติบัญญัติไง เราต้องเกิดจากสมมุติไป แต่ถ้าบอกว่าเราเกิดมาจากธาตุ ๔ เราก็บอกว่าเราเกิดมาจากไม้กระบอก เราไม่มีสมมุติบัญญัติ เราเข้าใจสิ่งใดไม่ได้เลย

มันต้องมีของมัน ฉะนั้นถ้ามีของมัน พอถ้ามันไปสู่ความจริง เห็นไหม มันพ้นจากสมมุติบัญญัติออกไป ทีนี้พอมันพ้นไปนี่มันพ้นไปอย่างไร นี่ถ้าเป็นมันถึงเป็นไปได้ไง แต่ถ้ามันไม่เป็น เห็นไหม มันไม่เป็น ถ้าปฏิบัติไปมันก็พ้นจากพุทธพจน์ พอพ้นจากพุทธพจน์ไปแล้วมันก็จะเสียหาย อะไรก็ว่ากันไป

ถ้าภาวนาแล้วมันติดกันอย่างนั้น มันก็จะเป็นไปไม่ได้ ความเป็นไปไม่ได้นี่ถ้าพุทโธหาย เพราะความเข้าใจผิดทั้งนั้น ฉะนั้นจำได้ไหมเวลาหลวงตาท่านมาโพธารามท่านจะพูดบ่อย

“ถ้าคนไม่เคยรวม จะไม่รู้ว่ารวมเป็นอย่างใด คนไม่เคยเข้าอัปปนาสมาธิ จะไม่รู้ว่าอัปปนาสมาธิเป็นแบบใด”

แล้วมันจำเป็นไหมว่า ต้องเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้วถึงออกมาพิจารณา การพิจารณาของเขานะ บอกว่า “พอเข้าไปสู่ทางตัน นึกไม่ออกแล้วนิ่งอยู่อย่างนั้นค่อยถอนออกมาใช้ปัญญา”

นึกไม่ออก นิ่งอยู่อย่างนั้นแล้วค่อยถอนออกมาใช้ปัญญา.. คำว่าเข้าแล้วถอนนี่เวลาเราเข้าใจ คำว่าถอน เห็นไหม เข้าสมาธิ ถอนออกสมาธิ มันก็เป็นรูปธรรมใช่ไหม เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ แต่ถ้าคนเข้าสมาธินี่ถอนอย่างไร? เข้าอย่างไร? เวลาออก ออกอย่างไร? เวลาเข้านี่จิตละเอียดเข้าไปขนาดไหน?

ขนาดกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมชัดๆ เวลาถ้าจิตมันละเอียดขนาดไหน ถ้ามันเห็นลมมันใส เห็นลมต่างๆ แล้วลมละเอียดขึ้นมานี่ลมเป็นอย่างไร แล้วพอมันละเอียดจนมันวางลม เห็นไหม มันวางลมนะมันปล่อยหมด แต่ความรู้สึกมันมี มันปล่อยลมหมดเลย พอปล่อยลมหมดเลยนี่มันสักแต่ว่ารู้เลย พอมันสักแต่ว่ารู้ คนกลัวตายแล้ว

เวลาใครกำหนดลมไป อู้ฮู.. พอมันวูบวาบกลัวเป็นกลัวตาย นี่มันจะกระโดดจากไม้ไง นักกีฬากระโดดน้ำมันจะกระโดดจากไม้นั้นออกไป พอจะกระโดดจากไม้ออกไปนะ กลัวมันจะตกจากที่สูง กลัวจะกระแทกกับพื้นตาย กลัวเป็นกลัวตาย กลัวไปหมดเลย ถ้าปฏิบัติไม่เป็นความจริงนะ ถ้าคนเขาเคยเป็นความจริง เวลามันจะกระโดดนะพุ่งออกไปเลย เพราะมันกระโดดออกไปแล้วมันจะอยู่บนอากาศ โอ้โฮ.. มันจะอยู่ในความว่าง โอ้โฮ.. มันจะมีความสุข โอ้โฮ.. ถ้าคนเคยกระโดดไปแล้วนะมันไม่เคยตาย อยากจะกระโดดบ่อยๆ แต่มันไม่ลงน่ะสิ

เวลาพุทโธหายๆ นี่หายจริงๆ แต่หายตามข้อเท็จจริง แต่เพราะพวกเรามันไม่เป็น แล้วมีพระ เพราะมีพระเคยมาถามปัญหานี้บ่อย บอกพุทโธต้องหาย พอเขาบอกทำไมถึงต้องหายล่ะ ก็อาจารย์ผมบอก บอกพุทโธมันจะหาย มันต้องหาย พุทโธผมหายแล้วผมได้อะไร เราฟังดูแล้วมันไม่มีสมาธิไง พุทโธหายนี่คือแกล้งหาย หรือทำให้มันหาย

ถ้าทำให้มันหายมันเหมือนหนี้นะ ถ้าเราไม่ใช้มูลหนี้นะเราไม่พ้นจากหนี้หรอก ทีนี้พอบอกว่าเราต้องใช้หนี้ใช่ไหม เราก็ไปต่อรองแล้วต่อรองอีก คือพยายามจะให้มันหมดหนี้โดยไม่ได้ใช้หนี้ ไม่มีทางพ้นหนี้หรอก ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพุทโธมันจะหาย มันเหมือนกับมูลหนี้ ใช้หนี้ตามมูลหนี้นั้น หมดมูลหนี้มันก็ปล่อยหมด

ฉะนั้นพุทโธนี่มันจะหายโดยที่มันพ้นจากหนี้ หายคือมันจะลงสู่ความสงบ มันจะหายของมัน แต่เพราะเราใจร้อน แล้วบางทีจิตละเอียดปั๊บเราคิดว่านี่หายแล้ว แต่ความจริงหายแล้วเป็นอย่างไรล่ะ “นึกพุทโธได้ไหม.. ได้ครับ” แล้วมันหายได้อย่างไรล่ะ? คือเราไม่นึกไง เราไม่บริกรรมไง แล้วว่ามันหายไง

ฉะนั้นใหม่ๆ เห็นไหม เวลาโยมมาหาส่วนมากเลย นี่ว่างๆ ทำอย่างไรต่อ สมมุติว่า เรารู้อยู่ว่าเขาไม่ยอมนึก “สมมุติว่านึกพุทโธได้ไหม.. ได้ครับ” ถ้าสมมุติว่านึกได้นี่มันก็ไม่นึกอยู่แล้ว แล้วมันหายได้อย่างไรล่ะ?

“สมมุติว่านึกพุทโธได้ไหม”

“ได้ครับ”

“แล้วทำไมไม่นึกล่ะ”

“อ้าว.. นึกแล้วมันหยาบไง”

นี่ไงถ้ามันหายอย่างนี้ หายแบบเข้าใจผิด ตัวเองเข้าใจผิดว่ามันหายแต่มันไม่หาย ด่วนว่าจะหายไง นี่ไงคำว่าพุทโธหาย ถ้าเราตีความกันผิดๆ พอภาวนาไปมันจะมีโทษกับเราเอง เหมือนกับเราตั้งโจทย์ผิด เราเข้าใจโจทย์ผิด พอเราทำไปแล้วเราจะได้ผลตอบสนองที่ผิด แต่ถ้าเราตั้งโจทย์ถูก เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ จะหายหรือไม่หายไม่ใช่เรื่องของเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ยิ่งตะโกนยิ่งดีใหญ่ ตะโกนในใจนะชัดๆ เลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันจะหายนะมันรั้งให้หายเลย เราตะโกนพุทโธอย่างไรก็ได้ มึงพุทโธไปเถอะจิตมันจะหาย วูบ...ไป โอ้โฮ ลงลึกมาก

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ เราบอกพุทโธหาย หายจริงๆ! แต่หายตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่พุทโธหายด้วยความรู้สึก ความนึกคิด ความรู้โจทย์ก่อนไง รู้ว่าพุทโธมันจะหาย ก็แกล้งให้มันหายซะ ถ้าแกล้งขึ้นมาแล้วมันดีอย่างนี้ อู้ฮู.. จิตมันดี

จิตมหัศจรรย์มากนะ จิตมีความรู้ความเห็นแปลกประหลาดลึกลับมาก แต่ที่มันไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าเรามีกรอบของสังขาร กรอบของความรู้สึกนึกคิดเรานี่ควบคุมไว้ ฉะนั้นจิตของเราไม่เคยแสดงออกโดยอิสรภาพเลย จิตของพวกเราโดนครอบงำไว้ด้วยข้อมูลทางวิชาการที่เราศึกษามา ข้อมูลวิชาการที่เรารู้สิ่งใดมา สิ่งนี้มันครอบงำจิตเรา

เหมือนผู้ใหญ่เลย เราเข้าสู่สังคมนี่เราเสียมารยาท เราต้องทำให้เรามีมารยาท เราต้องอยู่ในสังคม สิ่งที่เป็นมารยาทนี่ มันควบคุมความรู้สึกของเราทั้งหมดไม่ให้แสดงออกใช่ไหม การศึกษา ประสบการณ์ชีวิต ความเป็นไปของเรา มันครอบงำจิตของเราไว้ ฉะนั้นจิตของเรามันไม่ได้แสดงออกตามข้อเท็จจริงของมันเลย ฉะนั้นเราพุทโธ พุทโธนี่เราจะลอกออกหมด ให้มันถึงที่สุดแล้ว ให้มันแสดงตัวตามข้อเท็จจริงของมัน ถ้าตามข้อเท็จจริงของมัน นี่คือสัมมาสมาธิไง

การปฏิบัติทั้งหมด ถ้าผลของมันทำถูกต้อง มันจะเป็นสมถะทั้งหมด มันจะเข้าสู่ความสงบทั้งหมด แล้วบอกว่านี้เป็นนิพพานๆ นิพพานเพราะอะไร นิพพานเพราะคนไม่รู้จักนิพพาน พอคนไม่รู้จักนิพพานปั๊บ พอมันสงบเข้ามามันก็นึกว่านิพพาน แล้วนิพพานมึงทำไมเสื่อมได้ล่ะ อ้าว.. เสื่อมได้เพราะมันยังไม่ขาด นิพพานมันยังไม่ขาดเอาที่สุด ไปถอนเอาที่สุด มันก็ว่ากันไปนะ เวลามันผิดข้อที่ ๑ มันจะตั้งปัญหามาแก้ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ มันจะแก้ตัวมันไปตลอด แก้จนมันถึงที่สุดมันก็แก้ไม่ได้

ฉะนั้นเราจะยืนยันกับผู้ถาม เขาบอกว่าพุทโธหาย ในคำถามนี้มันถามเหมือนกับว่าพุทโธนี้หายไม่ได้ หายไม่ได้เพราะอะไร เพราะเขาทำแล้วมันไม่เคยหาย เขาบอกมันจะละเอียดขนาดไหนนะ ขนาดจนที่ไม่มีอะไรเลย จนจิตเขาเคยเป็นผลึกแก้วใส เขาก็เห็นเป็นความใสอันนั้น.. อันนี้ถูก ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะพอจิตมันละเอียดเข้าไปแล้วมันจะเห็นนิมิตของมัน มันจะรับรู้อะไรของมัน รับรู้ไปเรื่อยๆ ถ้ามันยังพุทโธได้ ยังพุทโธต่อไปนะ

ความรับรู้นั้นก็เหมือนกับพุทโธนั่นแหละ ผลึกแก้วใสนั้นก็คือคำบริกรรมนั่นแหละ นี่ใสก็คือคำบริกรรมนั่นแหละ เพราะมันเห็นไง.. ผู้รู้กับสิ่งให้ถูกรู้ ถ้าไม่มีความรับรู้ว่าใส ใครรู้ว่าใส ถ้าไม่มีใครรับรู้ว่าเป็นผลึกแก้ว ใครรู้ว่าเป็นผลึกแก้ว ผลึกแก้วกับผู้รับรู้มันก็คนละอันอยู่แล้ว ถ้าพูดถึงคำบริกรรมพุทโธ พุทโธ ทีนี้พอผลึกแก้วเราก็สงสัย ผลึกแก้วมันสวย แต่ถ้าเป็นพุทโธนี่ พุทโธคือพุทธานุสติ มันไม่ทำให้จิตนี้ไขว้เขวไง ไม่เห็นว่านี่ดี นี่ไม่ดี

พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ คำบริกรรมไปเรื่อยๆ จิตมันมีกำลังขนาดไหนก็พุทโธของมันไปเรื่อยๆ มันเป็นพุทธานุสติ มันเป็นกลาง เป็นธรรมะ มันเป็นธรรมคือว่าเป็นพุทธานุสติ มันก็เกาะนี้เข้าไป เกาะนี้เข้าไป พอเกาะนี้เข้าไปจนถึงที่สุด มันถึงว่าเป็นอัปปนาสมาธิ คือสักแต่ว่ามันปล่อยหมด ดับเลย.. ดับทีหนึ่ง ๒ ชั่วโมงก็ได้ ๓ ชั่วโมงก็ได้ หรือ ๔ ชั่วโมงก็ได้ แล้วแต่ว่าคำบริกรรมมากน้อยขนาดไหน จิตเข้มแข็งมากขนาดไหน มันเข้าสู่ที่นั่น

ฉะนั้นพอเข้าสู่ที่นั่นแล้วบอกว่า แล้วจะออกมาพิจารณาอย่างไร.. นี่ที่ว่าจิตมันถอน ใครจะไปถอนมัน! ใครจะไปถอนมัน! ถ้าเราพยายามจะถอนนี่นะมันกระเพื่อมออกมานั่นล่ะ ครูบาอาจารย์ที่มีความชำนาญท่านบอกว่า

“ถ้าจิตสงบแล้วเราอย่าไปกวนจนกว่ามันจะคลายตัวออกมา”

จิตถอนนี่นะมันเหมือนกับตะกอน ตะกอนในน้ำเวลาเราตั้งไว้ ตะกอนมันลงก้นแก้วน้ำจะใส พอเราเขย่าแก้ว แก้วขยับตะกอนมันจะเริ่มขุ่นขึ้นมา

จิตที่เข้าสมาธิมันจะเหมือนน้ำใส เวลามันคลายตัวออกมา นี่มันคลายตัวออกมา พอมันคลายตัวออกมา เห็นไหม มันมีความรับรู้ เพราะน้ำใสมันก็มีคุณภาพอันหนึ่ง พอน้ำขุ่นมันก็มีคุณภาพอันหนึ่ง พอจิตมันคลายตัวออกมาปั๊บ พอคลายตัวออกมานี่เรามีสติใช่ไหม เราก็ให้พิจารณากายเลย ให้พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ามันเข้าสู่กาย เวทนา จิต ธรรมนี่เพราะอะไร เพราะจิตมันใส เพราะจิตมันมีกำลังของมันขึ้นมา มันก็เลยจะเป็นวิปัสสนา นี่สติปัฏฐาน ๔

ถ้ามีจิตสงบ เห็นไหม สติปัฏฐาน ๔ มันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าเราคิด พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี้มันโดยสมมุติ โดยนึกเอา ฉะนั้นเราถึงบอกว่า ถ้าเขาภาวนาโดยรูปแบบนะ ภาวนาโดยพิธี นี่ต้องพิจารณากายเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไอ้พุทโธมันไม่มีปัญญา

ไอ้พุทโธไม่มีปัญญาหรอก แต่ถ้าพอมีสัมมาสมาธิแล้วคลายออกมา เวลาคลายตัวออกมาแล้วพิจารณา อันนี้จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะ! เพราะมันมีจิต มันมีสมาธิ มันมีสติ มีปัญญาเข้าไปใคร่ครวญ แต่ถ้าเรานึกเอานี่จิตมันไม่มี จิตมันไม่มีแล้วคิดได้อย่างไร จิตมันไม่มีมันคิดที่ความคิด เพราะในสามัญสำนึกของเรา เรามีความคิดอยู่แล้ว ทีนี้เราเอาความคิดคิด เราเอาความคิดของเราพิจารณากาย มันไม่ถึงจิตไง

จิตมันมีอยู่ในระดับหนึ่ง แต่เราเอาความรู้สึกสามัญสำนึกคิดใช่ไหม เราเอาสังขารคิดไง ว่าอย่างนั้นเลย เราเอาสังขารคิด พอเอาสังขารคิดมันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไหม เพราะมันสมมุติมาตั้งแต่ต้น สมมุติมาตั้งแต่เราเริ่มคิดเรื่องกายแล้ว พอเริ่มคิดเรื่องกายนี่มันเป็นโลกียะ เพราะมันคิดเรื่องกาย พอคิดเรื่องกาย มันคิดออกมากายแต่มันไม่ถึงจิต พอไม่ถึงจิตเราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ไม่มี

เขาบอกนี่พุทธพจน์ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่ไอ้พุทโธ พุทโธมันไม่มีสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสมถะ.. มันเป็นสมถะ แต่ถ้าจิตมันสงบเข้าไปแล้ว มันออกมานี่ มันพิจารณา นั่นล่ะจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยข้อเท็จจริง จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยการชำระกิเลส จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยถอดถอนกิเลส นี้หลวงตาถึงบอกว่า “มันไม่ได้ภาวนาพอเป็นพิธีเฉยๆ ไง มันพิจารณาเพื่อถอดถอนกิเลสไง”

เราใช้ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อถอดถอนกิเลสตามความเป็นจริง ตามข้อเท็จจริงนั้นอันหนึ่ง พอทำเป็นพิธีใช่ไหม พอทำเป็นพิธีรูปแบบมันก็สวยงามใช่ไหม ทำเป็นพิธีแล้วมันก็เข้าใจใช่ไหม ทีนี้พอเห็นผู้ที่ทำจริงทำจังขึ้นมา ไอ้พวกนั้นเลยกลายเป็นอัตตกิลมถานุโยคไป ทำอะไรที่มันเกินกว่าเหตุไป

พอเกินกว่าเหตุแล้วมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร มันเป็นไปไม่ได้เพราะบอกว่ามันภาวนาไม่ได้ ถอดถอนกิเลสไม่ได้ เราทำเป็นพิธีนี่เราสู่พุทธพจน์ เราจะไปนิพพานเอาชาติหน้า ชาตินู้น อีกแสนชาติ เขาไม่บอกว่ามรรคผลนิพพานจะมีในปัจจุบัน เพราะเขาไม่มีใครสรุปได้ แต่ของเรามีหลวงปู่มั่น เรามีครูบาอาจารย์ของเราสรุปเข้ามาแล้ว เราทำความเป็นจริงของเราแล้ว

ฉะนั้นถ้าเขาทำเข้าสู่ความจริงไม่ได้ มันก็เข้าสู่ความจริงไม่ได้ แล้วพอทำนี่ก็บอกว่ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไง เพราะคำถามเขาบอกว่า “สงบแล้วคำบริกรรมพุทโธจะหายไปหรือครับ”

หายสิครับ! แต่ถ้ามันสงบเป็นขณิกะ เป็นอุปจาระไม่หาย.. ความสงบมันมีหลายระดับ หลายชั้นนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธินี่พอแล้ว อุปจารสมาธิพิจารณาได้แล้ว ฉะนั้นถ้าเป็นอุปจารสมาธิ พุทโธไม่หายหรอก

ทีนี้พุทโธจะหายนี่หายที่อัปปนา นี้พอเข้าไปอัปปนา มันสักแต่ว่ารู้ มันถอดถอนหมด มันปล่อยหมด ปล่อยจนจิตสักแต่ว่าจิต จิตเป็นตัวของมันเอง คือจิตไม่กระทบอะไรเลย จิตทำอะไรไม่ได้เลย จิตรับรู้อะไรไม่ได้เลย ถ้ารับรู้อะไรไม่ได้ หลวงตาท่านพูดคำนี้นะ

“ถ้ามันรวมลงสู่ความสงบแล้ว รับประกันได้ว่าเสือสาง เขาจะทำร้ายไม่ได้”

จิตอย่างนี้ เทวดา อินทร์ พรหมไม่สามารถทำให้กระเทือนได้เลย ถ้าจิตลงขนาดนี้นะ ฉะนั้นถ้าจิตลงขนาดนี้ อยู่ในป่าในเขา เสือสางนี่ไม่กลัวสิ่งใดเลยถ้าจิตลงได้ขนาดนี้ แต่จะลงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าจิตมันไม่ลงได้มากขนาดนั้น น้อยคนมากที่จะลงได้ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่า

“ถ้าใครไม่เคยเข้าสู่อัปปนาสมาธิ อย่ามาโม้! เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจิตของใครเคยเข้าสู่อัปปนาสมาธิ พุทโธหายเด็ดขาด! พุทโธหายแน่นอน! หายจริงๆ”

แต่เพราะคนมันเข้าได้น้อย แล้วเข้าไม่ได้ เพราะคำว่าหาย ก็เลยกลายเป็นหายแบบจินตนาการ หายแบบทางวิชาการ เราเอาคำว่าพุทโธหายมาวิเคราะห์ วิจัยกัน ให้เป็นแค่ความรู้ แล้วมาเถียงกัน ความจริงพุทโธมันหายจริงๆ ตามข้อเท็จจริง แต่เราเอาคำว่าพุทโธหายนี่ออกมาเป็นทางวิชาการ แล้วมาวิจัยกัน มาวิเคราะห์กันว่าพุทโธมันจะหายได้อย่างไร

พอวิเคราะห์ทางวิชาการแล้วมันหายไม่ได้ เพราะทางวิชาการก็คือความคิด ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ความคิดของปฏิสัมพันธ์ที่ไม่มีสิ้นสุด มันจะสิ้นสุดได้อย่างใด ทีนี้พอมันไม่มีที่สิ้นสุดปั๊บก็ต้องว่าพุทโธหายไม่ได้ เพราะกูยังพูดได้อยู่นี่ เพราะกูยังวิจัยอยู่นี่ เพราะกูยังจินตนาการอยู่นี่ แล้วพุทโธมันจะหายได้อย่างไร

เพราะเอาข้อเท็จจริงนี้ออกมาเป็นทางวิชาการ ออกมาวิเคราะห์ วิจัยกัน มันถึงสรุปกันไม่ได้ แต่ถ้าผู้ที่เป็นความจริง เขาพุทโธของเขา เขาทำของเขาตามความเป็นจริง เข้าสู่อัปปนาสมาธิ พุทโธหายเด็ดขาด! หายเด็ดขาด! พอหายแล้วนะ อัปปนาสมาธิมันก็ไม่ใช่ที่จะใช้ปัญญาเพื่อเกิดวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่.. เข้าไปพัก เข้าไปมีกำลัง มันอยู่ที่จริตของคนที่เข้าไปได้ พอเข้าไปพักมีกำลังแล้วคลายตัวออกมา พอคลายตัวออกมาก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ไป

ฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไม่ได้ ทุกคนก็คิดว่าแล้วเมื่อไหร่จะได้เข้าสู่อัปปนาสมาธิ เมื่อไหร่จิตมันจะสักแต่ว่า มันจะปล่อย.. มันไม่ใช่ต้องทำขนาดนั้น ก็คำว่าเข้าไปพัก แต่ถ้าเราเข้าถึงขณิกะใช่ไหม เราก็ใช้ปัญญาของเราเพื่อให้มันชำนาญการ จะเข้าสู่อุปจาระด้วย ใช้ปัญญาไปด้วย คือเราใช้ปัญญาฝึกปัญญาไปตลอดเลย จะเป็นขณิกะ เป็นอุปจาระ พิจารณาได้ทั้งนั้น แล้วขั้นที่มันจะไปชำระกิเลสกัน มันอยู่ที่อุปจารสมาธินี้เท่านั้น

อัปปนาสมาธิไม่ใช่พื้นฐานที่จะชำระกิเลส อย่างเช่นเรามีเงินทองมหาศาล เราเก็บเงินของเราไว้ แต่เวลาเราจะใช้เพื่อทำธุรกิจต่างๆ เราก็ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นล่ะ เราไม่ใช่เอาเงินของเราทั้งหมดเลยนะเอามาใช้ กินก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งต้องเอาเงินร้อยล้านไปวางไว้ตรงนั้นด้วยเหรอ กินก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งก็ ๒๐ บาทวางไว้ก็จบแล้ว ไอ้เงินร้อยล้านก็เก็บไว้บ้าน

นี่เวลาเข้าสู่สมาธิก็คือฐานของความรู้สึก ก็เอาไว้นั่นแหละ แต่จะใช้เท่าไรล่ะ จะกินก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งก็ ๒๐ บาท อ้าว.. จะกินอาหารที่เป็นโต๊ะจีน อ้าว.. จะกี่พันก็เท่านั้นแหละ เราจะกินอาหารอะไรก็แล้วแต่ ราคามันก็เท่านั้นแหละ ก็ใช้เท่านั้นเอง ฉะนั้นเวลาจิตมันออกวิปัสสนาก็เท่านั้นแหละ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ แต่อัปปนาสมาธินี่เข้าไปยืนยันกันว่าให้เรารู้จักไง

เวลาพระนะถ้าไม่เคยเข้าสู่ที่นี่ แล้วพระเข้าไม่เป็นก็เข้าไม่เป็น ถ้าเข้าเป็นแล้วจะรู้ว่าแค่ไหนมันเป็นประโยชน์ คนเรามีเงินมากน้อยขนาดไหน จะจับจ่ายใช้สอยก็เท่าที่เรามีความจำเป็น ไอ้เงินที่เขาเก็บไว้ส่วนหนึ่ง พอจำเป็นก็ใช้ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่จะไปไหนก็เอาเงินทั้งหมดผูกเอวไปด้วยว่าฉันมีเงินขนาดนี้ จะใช้สอยขนาดนี้

นี่เข้าอัปปนาสมาธิแล้วก็วางไว้ ออกมาก็เป็นอุปจาระ ขณิกะ ก็ใช้เท่านั้นเอง! ใช้เท่านั้นเอง แต่ทีนี้เราใช้ไม่ได้ เราพิจารณาไม่ได้ เพราะเราฝึกไม่เป็น เราใช้ไม่ได้ เราก็เข้าไปพักเพื่อมีฐานให้มากขึ้น อย่างเช่นเราจะใช้เงินนี่เราไม่มีเงินมาก เงินน้อยเราก็ไม่กล้าใช้ ถ้าเรามีสักร้อยล้าน ล้าน ๒ ล้าน เราก็กล้าใช้ เราก็เข้าไปพัก ก็เท่านั้นเอง!

ฉะนั้นเวลาใช้ปัญญาแล้ว มันจะใช้ปัญญาอย่างนั้นเพื่อประโยชน์กับตัวเองนะ ฉะนั้นเราถึงบอกว่า “สงบแล้วคำบริกรรมหายเหรอครับ”

หายครับ! หาย แต่หายแล้วเวลาเราจะใช้วิปัสสนามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่ว่าพอมันหายปั๊บแล้วมันจะเป็นพื้นฐานให้เราเจริญเติบโตไปเลย ก็ไม่ใช่

การออกใช้ปัญญานะ มีสมาธิมากน้อยขนาดไหน ถ้าใช้ปัญญาไม่เป็น ใช้ปัญญาไม่ถูก มรรคก็เกิดไม่ได้หรอก มรรคจะเกิดได้ต่อเมื่อสมาธิเป็นสัมมาสมาธิ แล้วออกใช้ปัญญาได้ถูกต้อง เหมือนเรานี่ ทุกคนถ้ามีเงินแล้วลงทุนถูกต้อง ทำถูกต้อง กิจการเราจะมั่นคง เราจะมีเงินมากน้อยขนาดไหน เราใช้จ่ายไม่เป็น มันก็หมดตัวทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้นจะอัปปนาสมาธิกี่ร้อยหนก็แล้วแต่ ถ้าใช้ปัญญาไม่เป็น อัปปนาสมาธิก็คืออัปปนาสมาธิไง มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมาได้ มันก็ใช้พื้นฐานนั้นเอามาเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้นสิ่งที่พูดนี้พูดให้เห็น เพราะว่ามีคนถามเรื่องนี้เยอะ แล้วก็เอาพุทโธหายไปเป็นทางวิจัย แล้วเอาพุทโธหายไปทางวิชาการ แล้วพอเวลาปฏิบัติ พวกปฏิบัติก็สร้างให้มันหายอีก คือว่ามันหลงทั้งทางวิชาการ มันหลงทั้งในการปฏิบัติ มันหลงแล้วมันทำไม่ถูกต้อง ถ้ามันถูกต้องนะสบายมาก

หายจริงๆ แล้วคำว่าหายของครูบาอาจารย์เรานี่นะ อย่างหลวงตาท่านพูดว่าของท่านหาย พอของท่านหายปั๊บ เห็นไหม เวลาฟังหลวงปู่มั่นนี่จิตดับไป ๓ วันเลย แล้วพอเวลาหายนี่หายแล้วทำอย่างไรต่อไป หายก็อยู่กับผู้รู้นั้น แล้วเดี๋ยวมันออกมาอีกก็พุทโธอีก นี่คนหายจริงเขารักษาของเขาได้ เขาทำของเขาได้ แล้วมันเป็นประโยชน์ของเขาได้

ไอ้คนที่ไม่เคยหายสิ ไม่เคยหายแล้วก็อยากให้หาย ก็ทำให้ตัวเองหลงทางไป ไอ้ที่ทางวิชาการเขาบอกหายไม่ได้อีก มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นสิ่งที่ว่า.. นี่มันก็เหมือนกับที่เขาพูด ว่าถ้าเราขาดครูบาอาจารย์ที่รู้จริง มันจะเคลียร์ตรงนี้ไม่ได้ แล้วเราก็จะหมุนของเราอยู่อย่างนั้นล่ะ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่จริงมันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้นยืนยันว่า “ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิ จิตสงบสู่ความจริงแล้ว พุทโธหายจริงๆ” เอวัง