ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อาจารย์เรามี

๑o เม.ย. ๒๕๕๔

 

อาจารย์เรามี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันติดพันมาตั้งแต่ตอนเช้า อย่างตอนเช้า เห็นไหม ความเข้าใจของคน เรื่องของโลกกับเรื่องของธรรม ถ้าเรื่องของโลก เราเอาโลกมาดู แล้วเรายิ่งมีการศึกษาด้วยนะ มีการศึกษายิ่งทางกฎหมายนะ พูดหลุดจากหลักตัวบทไม่ได้เลย คนแม่นกฎหมายนี่ ยิ่งอาชีพของเขา เขาต้องแม่นกฎหมายมาก หลุดตัวบทไม่ได้เลย แล้วเขาจะรู้ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรามีความรู้สึก เรามีการศึกษา เรามีปัญญาขึ้นมาแล้ว เราจะเอาปัญญาของเราเข้าไปจับ ถ้าเอาปัญญาของเราเข้าไปจับมันเป็นสุตมยปัญญา มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นเรื่องของโลก แต่ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ความจริงนะ เห็นไหม ทำไมเวลาพระพุทธเจ้า “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ”

ปริยัติคือการศึกษา การศึกษานะ แล้วดูสิที่โปฐิละใบลานเปล่าๆ ใบลานเปล่านี่เขานักวิชาการใหญ่นะ โอ้โฮ.. ลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะไปเลย ไปไหนนี่ลูกศิษย์นะ ดูสิพระสารีบุตรก็ลูกศิษย์ ๕๐๐ พระโมคคัลลานะก็ลูกศิษย์ ๕๐๐ โปฐิละก็ ๕๐๐ ไปไหนมีแต่ลูกศิษย์ลูกหา เพราะว่าเป็นนักปราชญ์ แต่เวลาพระพุทธเจ้าเห็นแววไง

“โปฐิละ ใบลานเปล่าเธอมาแล้วเหรอ? ใบลานเปล่าเธอไปแล้วเหรอ?”

ทางวิชาการเราก็วิชาการเปล่านะ ยิ่งศึกษามาก็เปล่า มันเปล่าเพราะมันไม่รู้ มันไม่รู้ใช่ไหม สิ่งที่มีอยู่นี่ทำให้มันไม่มี แต่พวกเรานี้มีอยู่นะ เรามีหัวใจใช่ไหม เรามีความเกิดมาเรามีความรู้สึกขึ้นมาใช่ไหม ทีนี้เราจะมาบ่มเพาะมัน.. เรามาทำบุญกุศลกันเพื่ออะไร เพื่อบ่มเพาะมัน สิ่งที่มีอยู่ แต่สิ่งที่มีอยู่นี้มันแสดงออกมาได้ยากมาก สิ่งที่แสดงออกมาได้ยากเพราะอะไร ออกมาได้ยากเพราะความรู้สึกนึกคิดของเรามันบังไว้หมดเลย

ความรู้สึกนึกคิด ความจินตนาการ ความต่างๆ มันเป็นเนื้อเดียวกันไปหมดเลย ทีนี้ความเป็นเนื้อเดียวกัน พอเราคิด เห็นไหม ดูสิเวลากินอาหาร ถ้าอิ่มก็อิ่มเหมือนกัน แต่ดูนะเมื่อเร็วๆ นี้ที่เขาเป็นหนี้มาก แล้วแบบว่าเขาจะไปคนเดียวเขาก็เป็นห่วง เขาเอายาพิษนะไปใส่อาหารหมดเลย เพื่อไปทั้งครอบครัวเลย กินแล้วอิ่มไหมนั่นน่ะ กินเข้าไปอิ่มนะแต่ตายหมด ตายเกลี้ยงเลย

เพราะว่าแม่บ้านเขามีหนี้มาก พอมีหนี้มากเขาคิดว่าอยากจะพ้นจากหนี้ คือเขาจะฆ่าตัวตาย ทีนี้พอฆ่าตัวตายแล้วเขาคิดถึงพ่อบ้าน คิดถึงหลาน ทำอาหารนะเขาใส่ยาเบื่อหมดเลย แล้วกินเข้านะตัวเองก็ตายคนเดียว พวกนั้นเอาไปล้างท้องทัน นี่อิ่มไหมล่ะ เขาว่ากินอิ่ม อันนั้นก็กินอิ่มนะ พอกินแล้วอิ่มก็คือเสมอกัน อิ่มก็คือเสมอกัน ตอนนี้อ้างอย่างนี้หมดเลย แล้วอิ่มจริงหรือเปล่า อิ่มพร้อมยาพิษเหรอ

แต่ของเรา เห็นไหม ของที่มีอยู่ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา เราค่อยรักษาของเรา ของที่มีอยู่ให้มันแสดงตัวออกมา ให้มันแสดงตัวตนออกมา ให้มันรู้ของมันออกมา ถ้ารู้ออกมานะ อย่างเช่นหัวใจ หัวใจนี่เราบอกเวลาผู้ปฏิบัติใหม่ๆ เวลาเราศึกษาใหม่ๆ เราอยู่กับหลวงตาเราเห็นเลยนะ พวกปฏิบัตินี่เขาจะถามว่า

“หลวงตาคะ เวทนาคืออะไร?”

หลวงตาโยนไม้ให้อันหนึ่งเลยนะ โยนไม้ให้เลยเวทนาคืออะไร หลวงตาบอก

“นี่ไงเวทนาคืออะไร” ท่านโยนไม้ให้เลย ให้ตีสิเวทนาคืออะไร

เวทนาก็คือความสุข ความทุกข์ ความเจ็บปวดนี่เวทนาคืออะไร ทำไมเราถามว่าเวทนาคืออะไร เพราะว่าเราก็ศึกษามา ขันธ์ ๕ เราก็รู้อยู่เวทนาคืออะไร นี่แค่ศัพท์เราก็ไม่เข้าใจแล้ว แล้วเวลามันเป็นความจริงเวทนาคืออะไร?

เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา คือเราเสียใจ เราช้ำใจ เราเจ็บใจ เรามีความเจ็บปวด นี่เวทนาเป็นเรา แต่ถ้าเรามีสติขึ้นมานะ เรายับยั้งเวทนาแล้ว เวทนากับจิตแยกแล้ว ความเจ็บปวด เห็นไหม มันเจ็บปวดเพราะอะไร ความเศร้ามันเศร้าเพราะอะไร เราเริ่มจับเวทนา เราจับเวทนา เราพิจารณาเวทนา เราก็จะไม่เจ็บปวดไปกับเรา เราเจ็บปวดมากนะ

สิ่งใดที่มันเจ็บช้ำน้ำใจ สิ่งใดนี่มันเป็นเรา พอมันเป็นเรานะมันก็มีอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้ามันกับเราไม่ใช่อันเดียวกันล่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นมา นี่ความเจ็บช้ำน้ำใจมันเกิดมาจากอะไร ความเจ็บช้ำน้ำใจมันเป็นผล! ผลจากความนึกคิด นึกคิดสิ่งที่กระทบนั้น เราพอใจและไม่พอใจ จากตัณหาความทะยานอยาก ถ้ามันพอใจก็เป็นความสุข ถ้าไม่พอใจก็เป็นความทุกข์

ผลเกิดจากความโง่ของใจไง ความโง่ของใจไปย้ำคิดย้ำทำกับสิ่งนั้น นี่ธรรมเก่าแก่ โลกธรรม ๘ สรรเสริญนินทา เราไปคิดกันมานี่มันก็เป็นเราๆ แต่ถ้าเรามีสติ เห็นไหม เรายับยั้ง สิ่งนั้นไม่เป็นเรา สิ่งที่กระทบนี่เรามีเหตุผลไล่เข้าไปๆ มันปล่อยหมดแหละ พอมันปล่อยของมันหมด เห็นไหม นี่ปัญญามันเกิด พอปัญญาเกิด สิ่งที่มีอยู่คือหัวใจของเราไง

ถ้าสิ่งที่มีอยู่ นี่เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐานนะ พอเป็นลูกศิษย์กรรมฐานเราถึงเข้าใจว่ากายกับใจเป็นอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร เพราะอะไร เพราะเราฝึกฝนกันมาพอสมควร เวลาเราพูดนี่เราพูดถึงพื้นฐานของชาวพุทธ ชาวพุทธที่ทะเบียนบ้าน ชาวพุทธที่ว่าเป็นชาวพุทธนี่เขารู้อะไรกับเรา พระก็เหมือนพระนะ แล้วพอพระทำผิดองค์หนึ่งก็ว่าผิดทั้งหมด พระก็เหมือนพระ เขาเหมาไปหมด พอเขาเหมาไปหมดเขาก็คิด อืม.. เหมาความรู้สึกของเรา

ถ้าเรารู้สึกอย่างนี้ เราชอบใจอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัติมันจะมีความสุขได้อย่างไร ไปวัดจะมีความสุขได้อย่างไร เรามาลงทุนลงแรงกัน เรามาสร้างบุญกุศลกันเพื่อจะส่งเสริมใจเรา มันจะมีความสุขได้อย่างไร แต่ค่าน้ำใจไง ถ้าเราทำด้วยหัวใจ เราทำบุญกุศลของเราด้วยหัวใจ ถ้าทำบุญกุศลของเราด้วยหัวใจ เห็นไหม เจตนาอันนั้นมันสะอาดบริสุทธิ์ เวลาทำขึ้นไป สิ่งนี้มันจะพัฒนาใจของเรา

“ค่าของน้ำใจ” ดูสิเวลาคบบัณฑิต อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา.. เวลาคนชั่ว คนเลวทราม มันชวนกันไปทำสิ่งที่ไม่ดี แต่เวลาไปวัดไปวา คนชวนกันทำสิ่งที่ดีนี่คบบัณฑิต นี้บัณฑิตจากข้างนอก เห็นไหม พอบัณฑิตจากข้างนอก สิ่งที่มีอยู่มันแสดงออกมาอย่างนี้ นี่ใจมันแสดงออกมาอย่างนี้

ถ้าเราคบบัณฑิต เราทำคุณงามความดีมันจะไปไหนล่ะ มันก็ไปสู่คุณงามความดี แต่ถ้าเราไม่คบบัณฑิต เห็นไหม ถ้าเราไม่ทำความดี ไม่ฝืนมัน มันต้องไหลไปตามมันแน่นอน มันจะไหลไปสู่ใจของมัน มันจะไหลไปสู่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะไหลไปสู่ความเคยใจของมัน นี่เพราะความเคยใจของมัน แรงขับของมัน เห็นไหม แรงขับของมันนี่อวิชชา ปัจจยา สังขารา เพราะความไม่รู้ ความตะครุบเงา เราถึงทำผิดทำถูกกันมาตลอด ในชีวิตนี้มันถึงให้ผลมากับในชีวิตนี้

เวลาเราอยู่ทางโลก เรามีหน้าที่การงาน เรากระทบกระทั่งกันไปตลอด เวลาบวชเป็นพระ เวลาจะบวชเป็นพระนะพ่อแม่ให้บวชไหม พ่อแม่น้อยคนมากที่จะพอใจส่งเสริมด้วย แต่เวลาเราทำคุณงามความดี ทำไมทำคุณงามความดีอย่างนั้นไม่ได้ล่ะ แต่ถ้าเราออกมาแล้ว ถ้าเราออกของเรามานี่ถือพรหมจรรย์

ชีวิตของโลกนะ ชีวิตของเรา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้าเรื่องของโลกนี่ศีล ๕ ความคู่ครองไม่ผิด ในคู่ของเราไม่มีความผิด ในคู่ของเรา เห็นไหม เพราะสิ่งนี้มันมีอยู่ ของมันมีอยู่ กามคุณ ๕ สิ่งใดมันมีความสุข ความพอใจของชาติของตระกูล รักษาวงศ์ตระกูลของเราไว้ อันนั้นเป็นเรื่องของกามคุณ ๕ แต่เวลามาถือพรหมจรรย์นะ สิ่งนั้นเป็นโทษหมดเลย

สิ่งนั้นเป็นโทษ สิ่งนั้นเป็นโทษเพราะมันทำให้เศร้าหมอง ถ้าจิตใจมันเศร้าหมอง เห็นไหม นี่ถือศีล ๘ พอถือศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มีศีล มีความปกติของใจขึ้นมา ถ้ามันพัฒนาของมันมา นี่ถ้ามันพัฒนาของมันมา มันมีวุฒิภาวะ แล้วเวลาบวชขึ้นมาแล้วเราถือพรหมจรรย์ ความเป็นพรหมจรรย์นี่เราจะรักษามันอย่างไร? เราจะรักษาพรหมจรรย์อย่างไร?

สิ่งที่เป็นกามคุณ ๕ เห็นไหม แต่บอกเป็นพรหมจรรย์ สิ่งนี้มันเร้าใจอย่างไร ถ้ามันเร้าใจอย่างไรนี่เราก็พิจารณาของเราแล้ว เราพิจารณาของเรา เพราะสิ่งนี้ถ้าถือพรหมจรรย์ เวลาเกิดเป็นพรหม ถ้าเราอยู่กับโลก เราสร้างคุณงามความดีไปเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นเทวดามันก็คือผลของวัฏฏะทั้งนั้นแหละ

ถ้าผลของวัฏฏะ เวลาพูดถึงผลของวัฏฏะนะ พระพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก

“เหมือนเราเดินอยู่กลางทะเลทรายแล้วล้มลง แต่ทางข้างหน้ายังต้องไปอีก เห็นไหม มันทุกข์ยากแค่ไหน”

นี่พูดถึงว่าเวลาเราเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เราเกิดในวัฏฏะเราคาดว่าจะมีความสุขไง แต่มันก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างที่ใจเราเป็น.. เวลาใจเราเป็น เห็นไหม เรานี่นะชีวิตนี้เราจะมีความลังเลสงสัยว่าชีวิตนี้มาจากไหน แล้วความเป็นอยู่ของเรามันคลอนแคลนขนาดไหน แล้วอนาคตเราจะเป็นอย่างไร

นี่อนาคตนะเราห่วงกันไปทั้งนั้น แต่เราไม่ได้ห่วงที่ปัจจุบัน อนาคตมันจะเป็นอย่างไรนะ ถึงเวลามันเป็นมันต้องเป็นของมันอย่างนั้นล่ะ มันต้องเป็นของมันอย่างนั้น แต่ถ้าปัจจุบันมันดีนะ อนาคตดีแน่นอน อนาคตจะดีเพราะอะไร อนาคตจะดีเพราะสิ่งที่เป็นพื้นฐานนี้ สิ่งที่เป็นปัจจุบันนี้มันจะรองรับสิ่งที่เป็นอนาคต สิ่งที่เป็นอนาคตไง เราไปห่วงแต่อนาคต แต่ปัจจุบันนี้มันเลื่อนลอย ถ้าเลื่อนลอยขึ้นไปอนาคตจะเป็นอย่างไร

สิ่งนี้ถ้าเรามีบุญของเรา เห็นไหม เรามีบุญของเรา สิ่งนี้มันจะราบรื่นของมันไป ถ้ามันมีบุญของมันนะ เราได้สะสมบุญมาพอสมควร แต่บุญนี้พอมันใช้ขึ้นมา เราคนเดียวนี่เราจะควบคุมใจเราได้ทั้งนั้นแหละ แต่เรามีครอบครัวขึ้นมาล่ะ

เราก็ใจหนึ่ง ครอบครัวของเราก็ใจหนึ่ง ครอบครัวของเราระหว่างสามี ภรรยาก็ใจหนึ่ง มีลูกมีเต้าขึ้นมาก็ใจหนึ่ง แล้วใจดวงนี้ เพราะใจเราเราก็ควบคุมของเรา ถ้าเรามีบุญกุศลเราสร้างของเรามา เรามีเป้าหมาย เรามีเจตนาของเราที่ดี แต่เจตนาของเรากับในวงศ์ตระกูลของเรามันขัดแย้งกันไหม มันถ่วงแล้ว เห็นไหม พอมันถ่วงมันมีปัญหาอะไร

นี่จะพูดถึงสังคมสภาวะแวดล้อม สภาวะแวดล้อมว่าถ้าเราเกิดมาในชีวิตเราต้องทำหน้าที่การงาน หน้าที่การงานมันจะเจอสภาวะสิ่งนี้ไป ฉะนั้นสิ่งนี้วางไว้ วางไว้นะเวลาออกไปนี่ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัตว์สังคมมันจะมีกระแสสังคมที่ดี สภาคกรรม สิ่งที่มีสังคมที่ดี สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุข เราอยู่ในสังคมนั้นเราก็มีความร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย แต่ถ้าสังคมนั้นมีการแก่งแย่ง มีการเอารัดเอาเปรียบกัน เราอยู่ในสังคมนั้นเราทุกข์นะ

เราทุกข์ เพราะมันแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ ถ้าจิตใจเราเป็นธรรม เขาก็ว่าเรานี้ไม่ฉลาดเลย ทำไมเราไม่ทันเขา เราไม่ทันในอะไร หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า “ถ้าเปรียบทางโลกเหมือนกับคนโง่ ท่านโง่ที่สุดในโลกเลย”

ท่านโง่มาก โง่ตรงไหน โง่ที่หาสิ่งใดมานี่ จุนเจือโลกทั้งหมดนะ ท่านโง่ เห็นไหม โง่เพราะท่านไม่หาประโยชน์ส่วนตนของท่าน แต่เวลาพูดถึงทางธรรมท่านฉลาดที่สุดเลย ท่านฉลาดเพราะอะไร สิ่งนี้เป็นสมบัติประจำโลก ถ้าจิตใจที่มันเสียสละของมัน เห็นไหม นี่เสียสละไว้ให้กับโลก ถ้าเสียสละไว้ให้กับโลกแต่หัวใจมันพ้นจากโลก มันพ้นจากโลกนี่คือความฉลาด

ฉะนั้นสังคมที่เขาแก่งแย่งกัน เราจะไปแก่งแย่งชิงดีกับเขาไหม ถ้าเราแก่งแย่งชิงดีมา เราได้สมบัติอันนั้นมา แต่หัวใจเราไม่สบายใจหรอก หัวใจเราไม่สบายใจเลย ทีนี้ถ้าเราฉลาด เราควบคุมของเรา แต่โลกกับธรรมมันมองแตกต่างกัน ถ้าโลกกับธรรมมองแตกต่างกันนะ แล้วทำไมจะต้องมาส่งเสริมล่ะ ทำไมเราจะต้องมาจุนเจือล่ะ

ความส่งเสริมจุนเจือคือการสร้างสมบารมี ทาน ศีล ภาวนานะ เราทำของเราไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเสียสละ เสียสละมากกว่านี้ การเสียสละมานี่มันเสียสละมา จิตใจเราเข้มแข็ง เราดูสิ เห็นไหม เวลาเรานั่งภาวนานะ เวลานั่งสัปหงกโงกง่วงหรือทำสิ่งใดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าเป็นตัวเราเองนะ เราจะคิดตั้งแต่ตื่นนอนเลย ตื่นนอนเราทำสิ่งใด นี่แล้วบิณฑบาตกระทบสิ่งใดบ้าง

เวลาแจกอาหารนี่นะเราตั้งใจแล้วว่าถ้ามันสัปหงกโงกง่วง มันไม่เป็นสิ่งใดเราจะผ่อนอาหาร เวลาผ่อนอาหารขึ้นมา เวลาแจกอาหาร สิ่งนั้นมากับเรานี่เราทนได้ไหม เพราะอะไร เพราะมันเป็นสิทธิไง เราตักได้ เราทำสิ่งใดได้ ให้ไว้ในบาตรเราได้ มันเป็นสิ่งที่ชอบธรรมทั้งนั้นแหละ แต่ว่าชอบธรรมแล้วนะ เวลาฉันไปแล้วชอบธรรมหมดเลย แต่เวลาไปภาวนาแล้วทำไมมันไม่เป็นแบบนั้นล่ะ ไม่เป็นแบบแรงปรารถนาล่ะ ฉะนั้นสิ่งนั้นมันต้องมาหักล้างกันตรงนี้ไง แต่ขณะที่กระทบนี่ทนไหวไหม

เวลาเราไปนั่งสมาธิภาวนาแล้วมันไม่ได้ผล ไม่ได้ผลมันมีความกระทบ กระทบใจมันก็เป็นความรู้สึกของใจ เห็นไหม เวทนากาย เวทนาจิต.. เวทนาจิตมันกระทบสิ่งใดแล้วมันมีความฝังใจไว้ กาย! กายมันต้องการอาหารของมัน กายมันต้องการสิ่งดำรงชีวิตของมัน แต่สิ่งดำรงชีวิตของมัน มันก็มีหัวใจ มีความชอบความไม่ชอบด้วย เราจะไปยับยั้งได้ไหม

ถ้าเรายับยั้งได้นะ เวลาเราฉันไปแล้วเราไปนั่งภาวนา สิ่งนี้มันจะไม่รบกวนเรา แต่ถ้ามันรบกวนเรา มันยังมากเกินไป พรุ่งนี้เราจะลดได้ไหม เราจะทำสิ่งนี้ได้ไหม อันนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์ว่าวันนี้เราทำสิ่งใด เห็นไหม ขนาดภายในวันเดียวนะ แล้วเราไปนั่งทำสมาธิตอนกลางคืน ตอนเย็น เรานั่งของเรา เราภาวนาของเราไป เราจะไปตรวจสอบกันตรงนั้น แล้วเช้าขึ้นมานี่มันฝึกใจๆ

นี่พูดถึงพรหมจรรย์! พรหมจรรย์ของใจ ใจมันกระทบสิ่งใด เราก็ต้องดูแลมันตลอด แต่ชีวิตของเราอยู่กับทางโลก เราต้องประกอบสัมมาอาชีวะ เราจะต้องได้อยู่ในสังคม ถ้าสังคมที่ดี เวลาทุกคนบอกเราควรจะมีหมู่คณะที่ดี หมู่คณะที่ดีคือการสร้างมาที่ดี กรรมเก่า กรรมใหม่นะ กรรมเก่าเวลามันให้ผล มันก็ให้ผลของมัน ถ้าให้ผลแล้วนะเราตั้งสติ เราอย่าไปทุกข์ร้อนกับมันมากนัก แล้วหาทางออกของเรา

ทางออกมันมีหลายทางมาก ทางออกในเมื่อสิ่งนี้มันยังมีกระทบอยู่ เราต้องอยู่สภาวะแบบนี้ไปก่อน ทำความดีนะ ความดีเพื่อให้เขาเห็นความดีเราก็ได้ แต่ความดีนะ ถ้ากรรมมันยังไม่ถึง ทำอย่างไรก็แล้วแต่เขาไม่เห็นความดีเราเลย แต่ถ้าพูดถึงกรรมของเขา คนอื่นทำไม่ดีกับเขา แต่เขาชอบของเขา ไอ้อย่างนี้มันเป็นจริตนิสัยของเขา แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราจะทำคุณงามความดีของเราไปเรื่อยๆ

ของที่มีอยู่ เพราะเราสร้างของเราขึ้นมาอย่างนี้ แล้วพอเรามาภาวนาเราจะมีมุมมองของเรานะ ว่าสิ่งนั้นสมควรกับเราหรือไม่สมควรกับเรา เช่นคำบริกรรม เห็นไหม กรรมฐาน ๔๐ ห้อง นี่เราทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ขณะที่เราทำความสงบของใจขึ้นมา คนเรานะ เหนื่อยยากมาเราจะเอาอะไรไปทำงาน คนเราได้พักผ่อนนอนหลับ พอเราได้พักฟื้นขึ้นมา เรามีแรงขึ้นมา เราถึงจะทำหน้าที่การงานของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

จิตใจของเรามันเหนื่อยล้ามากับโลก เวลาเราใช้สติปัญญา เราใช้สติทำการงานของเรา เห็นไหม ผู้บริหารต้องรับผิดชอบไปหมดเลย เวลาเราทำหน้าที่การงานของเรา เราก็เครียดมาอยู่แล้ว แล้วเรามีความเครียด เวลาเรากำหนดพุทโธ เรากำหนดอานาปานสติ เพื่อผ่อนคลายความเครียด ทีนี้พอผ่อนคลายความเครียด พูดถึงทางโลกพอบอกผ่อนคลายความเครียด นี่เราทุกข์มามากเลย เราก็มีความสุข เราก็มีความพอใจ

นี่ไงอย่างนี้ก็ถูกต้อง ความถูกต้องอย่างนี้มันเป็นถูกต้องของปุถุชน ทีนี้ความถูกต้องของปุถุชนเราก็พุทโธ อานาปานสติ.. ใช่! เราก็พักผ่อนของเรานี่แหละ แต่พอเราใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม มันจะฉุกคิดนะ มันจะมีความคิดว่าถ้าเราทำบุญ บุญของเราส่งเสริม เราจะมีความรู้สึกอย่างไร ถ้าเราทำบาปอกุศล บาปอกุศลมันจะทอนในหัวใจของเรา

มันจะทอนหัวใจของเรานะ มันจะมีความยอกเสียวในหัวใจ มันรับรู้ของมันอยู่ แล้วสิ่งนี้ควรทำไหม ถ้าสิ่งนี้ไม่ควรทำนะ ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะใคร่ครวญอย่างนี้ได้ ถ้าเราไม่มีสติปัญญา เราไม่มีจุดยืนของเรา เราจะถลำไปเรื่อยๆ นะ คนเราถ้าเราถลำไป มันจะสร้างแต่บาปอกุศลของมันไป แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เห็นไหม เราจะยับยั้ง แล้วเราจะทำคุณงามความดีของเรา ถ้ามันเครียดนัก เราก็พยายามมาพุทโธ พุทโธ หรือใช้อานาปานสติเพื่อผ่อนคลาย พอจิตใจมันมีกำลังขึ้นมา มันพัฒนาของมันขึ้นมา ชีวิตนี้ก็มีเท่านี้

เวลาเราตกทุกข์ได้ยาก เวลาเราต้องการความช่วยเหลือ เราจะมีความเครียดมาก แต่เวลาถ้าจิตมันมีความสงบของมัน มันมีหลักเกณฑ์ของมัน มันไม่ต้องมีใครช่วยเหลือเลย ของแค่นี้มันของเล็กน้อย มันทำของมันได้ เห็นไหม ถ้ามันทำของมันได้ มันพัฒนาของมันได้ มันจะเป็นของมันไป ถ้ามีคนช่วยเหลือเจือจาน อันนั้นก็เป็นบุญกุศลขึ้นมา ถ้าไม่มี ไม่มีก็คือไม่มี แต่เพราะไปผูกพัน ไปยึดมั่น มันถึงได้ทุกข์ของมัน

ฉะนั้นนี่ของมีอยู่ ของมีอยู่คือถ้าหัวใจมันมีอยู่ มันมีขันติธรรม มีขันติ เห็นไหม มีสติ มีปัญญา แล้วมันแก้ไข ถ้าไม่มีขันติธรรมนะ ไม่มีการยับยั้งให้เราได้จับได้พิจารณาของเรา มันจะทุกข์ยากไปเรื่อย

นี้พูดถึงว่าเวลาธรรมมันเกิด เวลาธรรมมันเกิดนะทำให้เราได้สติ ให้เราได้มีปัญญา นี่พอมีสติมีปัญญา เห็นไหม เรามีครูมีอาจารย์ ชีวิตของท่านมันเป็นแบบอย่างเราได้ ความที่มีแบบอย่างมีตัวอย่างทำให้เรามีเป้าหมาย แต่ถ้าเราไม่มีแบบอย่างไม่มีตัวอย่างเลยเราจะทำอย่างไร อะไรเป็นแบบอย่าง แล้วความดีอย่างหยาบๆ นี่เราไปปล้นชิงกันมา แล้วเราก็มาแบ่งกัน นี่ก็เป็นความดีอันหนึ่ง

ขนาดมีคนถามนี่มันน่าแปลกมากนะ เขาว่าโจรปล้นนี้ก็ได้บุญ ได้บุญเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ปล้นมาเอามาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เวลาเอ็งเอามาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เอ็งเอามาหักล้างความชั่วเอ็งได้เหรอวะ นี่คนคิดได้ขนาดนี้นะ มีคนถามเวลาเราปล้นมานะ แต่เราเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นี่เราก็ได้บุญ เขาหักล้างด้วยการว่าเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แต่สิ่งที่ได้มานั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

สิ่งได้ที่ได้มาถูกต้อง สิ่งนั้นถูกต้องชอบธรรม สิ่งนั้นจะเป็นคุณประโยชน์มา เห็นไหม กุศล อกุศล.. ถ้าเป็นอกุศลมา สิ่งที่เป็นอกุศลมา เริ่มต้นมามันก็ไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว แล้วมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นะ เขาว่าได้บุญของเขา แต่ถ้าพูดเป็นกรรมนะ มันเป็นกรรมลูกโซ่ไปหรือเปล่า เพราะสิ่งนั้นได้จากสิ่งที่ไม่ดีมา แล้วมันก็ต่อเนื่องกันไป แต่ของอย่างนี้เราจะแก้ไขสิ่งใดเราไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ที่มาที่ไป

ทีนี้เวลาพระเรา ศีลของพระนะ เนื้อ ๓ อย่าง ไม่ได้ยิน ไม่รู้ว่าเขาทำเพื่อเรา ไม่ได้เห็น ไม่รับรู้ ถือว่าบริสุทธิ์.. เพราะบริสุทธิ์ขนาดนั้นไง บริสุทธิ์ขนาดที่เราไม่รู้ไม่เห็น แต่ถ้าเรารู้เราเห็นนะ เรารู้เราเห็นเราฉันเนื้อนั้นไม่ได้เลย ยิ่งเจาะจงด้วยฉันไม่ได้เลย

นี่ไง อย่างนี้มันเป็นเรื่องของโลก แต่ถ้าเราบอกว่าเพราะพระฉัน เขาต้องทำไว้ให้พระ อันนี้มันก็คิดแบบกรรม กรรมมันคลุกเคล้าไป แต่พระพุทธเจ้าวางไว้เป็นแบบอย่าง เวลาธรรมวินัย เห็นไหม วินัยต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าวินัยเป็นอย่างนั้น มันก็อยู่ที่ทุกอย่างว่ามันจะสมดุลหรือไม่สมดุล ความพอดีของคน ใจของคน บางคนบอกอย่างนี้เป็นทุกข์มาก อย่างนี้เป็นทุกข์น้อย ความทุกข์มากทุกข์น้อยเพราะมันยึดมากยึดน้อยแตกต่างกันไป

ความเห็นของคน! ความเห็นของคน เห็นไหม คนมันหลากหลาย ฉะนั้นความเห็นของคนหลากหลายนี่ จิตใจเราก็หลากหลาย ความรู้สึก ความนึกคิดของเรานี่หลากหลาย ทีนี้ความรู้สึก ความนึกคิดของเราหลากหลาย มันกระทุ้ง มันพยายามจะทำให้เราฟูขึ้นมาตลอด ฉะนั้นความร่มเย็นเป็นสุขไง

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

นี้กว่ามันจะสงบได้ แล้วสงบให้เป็นสัมมาสมาธิ ความสงบที่เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ความสงบ ความกดไว้ ความต่างๆ มันก็มีของมัน เห็นไหม ความรู้สึก ความเห็นอย่างนั้นมันถึงทำให้จิตใจผิดพลาดไป ความผิดพลาดไปเพราะมันไปจมอยู่

ในปัจจุบันนี้เขาพูดว่า “มันเป็นการสะกดจิต” ในการสะกดจิต เขาสะกดจิตของเขาไว้มันก็ทำได้ แต่ความสะกดจิตมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ถ้าความสะกดจิต เห็นไหม ในเรื่องของเขา เขากดกันไว้เพื่อประโยชน์ นี่ถึงบอกว่าฌานนี้เป็นอจินไตย คำว่าฌานเป็นอจินไตยนี้มันมีหลากหลาย

อจินไตยนี่นะ ความว่าง ฌานสมาบัตินี่เป็นอจินไตย อจินไตยตั้งแต่เขาทำเพื่อสิ่งใด แม้แต่โลกๆ เรา เราว่าเราไม่มีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิเราจะควบคุมใจเราไม่ได้ แต่เรามีสมาธิของเราในระดับของปุถุชน ฉะนั้นเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ปุถุชนมันก็ความเห็นของจิต ความเห็นของพฤติกรรมของจิต พฤติกรรมของจิตมันมีความเห็นอย่างไรมันก็คิดอย่างนั้น การศึกษา ศึกษากันมาเป็นวิชาชีพ เห็นไหม เวลาศึกษานี่มุมมองของใคร มุมมองของใคร วิชาการอย่างไรมันก็มุมมองโดยการศึกษาของมันมา ด้วยข้อมูลของมันคือสัญญาของจิตดวงนั้น

ฉะนั้นสิ่งที่เราพัฒนานี่มันเป็นมุมมองของจิตใช่ไหม ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามานี่มันพัฒนาของมัน ฉะนั้นเวลาปฏิบัติขึ้นมา มันถึงแล้วแต่คนปฏิบัติ พิจารณากายเหมือนกันยังไม่เหมือนกันเลย แล้วพระส่วนใหญ่พิจารณาสิ่งใดแล้ว มันจะพิจารณาสิ่งนั้นต่อเนื่องกันไป เห็นไหม โสดาบัน สกิทาคา อนาคา ถึงสิ้นเป็นพระอรหันต์ พิจารณากายๆๆ จิตๆ อะไรก็แล้วแต่ แต่ครูบาอาจารย์บางองค์ก็พิจารณาแบบอย่าง พิจารณากาย แต่พิจารณาเพื่อพิจารณากายแล้วจะพิจารณาเวทนา จะพิจารณาต่างๆ เพื่อให้หัวใจนี้มันกว้างขวางมากขึ้นก็ได้

นี่พูดถึงว่าถ้าจิต ถ้าการกระทำของเรามันถูกต้องดีงามนะ มันจะเข้ามาสู่มรรคญาณ สู่อริยสัจ สู่สัจจะความจริง แต่ถ้าเป็นโลก เห็นไหม เวลามันสงบ เวลามันมีความรู้สึกนึกคิด มันมีกิเลสเราบวก ดูสิดูอย่างลัทธิในการประพฤติปฏิบัติ ในอินเดียจะมีมากนะ ในอินเดียจะมีมาก แล้วความรู้ความเห็นของเขามันแตกต่างกันไป

ถ้าเราไม่มีจุดยืนนะ ดูสิดูอย่างพราหมณ์ต่างๆ เขาก็พูดถึงการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายเหมือนกัน เขาก็พูดถึงไปอยู่กับพระเจ้าเหมือนกัน ไปอยู่อาตมันต่างๆ เขาพูดของเขา แต่เราแบ่งแยกได้ เราแบ่งแยกได้นะ เวลาเขาไปอินเดียกันมา เห็นไหม เขาบอกว่าทางอินเดียเขาก็ถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เพราะพระพุทธเจ้าเป็นอวตารหนึ่งของเขา เขาว่าของเขาอย่างนั้นนะ

แต่เวลาชาวพุทธเราไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะไม่ใช่อวตารของเขา ไม่ใช่อวตารเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมา เวลาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลส คือมันไม่ไปอยู่กับใครไง

ถ้าเป็นอวตาร เห็นไหม พระเจ้าของเขา นี่อาตมันของเขา เขาก็อยู่ของเขา เวลาอวตารภาคใดๆ ก็คือพระเจ้าองค์เดียว แต่เขาอวตารของเขา แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วมันไม่มี ถ้าเป็นอวตารของเขามันต้องสืบต่อ ถ้าอย่างนั้นอวตารได้อย่างไรล่ะ มันขัดแย้งกัน มันเป็นไปไม่ได้ แต่นี้เป็นความรู้ความเห็นของเขา

นี่ไงเราถึงบอกว่า ถ้าความรู้ความเห็นของเขาอย่างนั้น เขาบอกเขาเคารพพระพุทธเจ้าได้เพราะพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของเขาภาคหนึ่ง ถ้าภาคหนึ่งเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ายังต้องไปสืบต่อกับเขา แต่เวลาของเขา เราไม่มี ไม่มีคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่เกิดอีกแล้ว ไม่มีอวิชชา ไม่มีสิ่งใดขับ ไม่มีแรงขับเคลื่อน มันจะไปเกิดอะไรล่ะ มันก็ปรินิพพานไปแล้ว จบ พอมันจบมันถึงไม่เข้ากับเขา แต่เขาบอกเขาเคารพของเขา

นี่ไงถ้าเขาเคารพของเขา เขาเคารพพระพุทธเจ้าได้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของเขาอันหนึ่ง ฉะนั้นเราเป็นชาวพุทธ เวลาไปนี่เขาก็คุยบอกว่าเหมือนกันเลย เข้ากันได้เลย เราก็โอเค เหมือนกันเลย เข้ากันได้เลย ไม่รู้ว่าใครจะหลอกใคร ไม่รู้ว่าใครจะดึงใคร

แต่ถ้าเรามีปัญญาของเรานะ นี่ใช่! จิตถ้ายังมีอวิชชาอยู่ ยังมีกิเลสอยู่ มันเวียนตายเวียนเกิด แต่เวียนตายเวียนเกิดในจิตดวงนั้น ถ้าเป็นอวตารของเขานี่มันสืบต่อกับอาตมัน มันจะเป็นอิสรภาพได้อย่างไร มันจะชำระกิเลสให้สิ้นกิเลสไปได้หรือ มันก็ต้องสืบต่อไปอีก เห็นไหม แต่ของเรานี่ เราจิตดวงเดิม จิตดวงเก่า จิตหนึ่งเดียว แต่เวียนตายเวียนเกิดในสถานะนั้น

อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระเวสสันดร เป็นต่างๆ เป็นแต่ละภพแต่ละชาติ แต่จิตดวงนั้นเกิดแต่ละภพแต่ละชาติขึ้นมา เพราะสร้างสมบารมีมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานก็จบเลย จบเพราะจิตดวงนั้นนิพพานธรรมธาตุมีอยู่ แต่มีแบบนิพพาน มีแบบมีความสุข วิมุตติสุข ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ไม่เกี่ยวอะไรกับอวตารใด ไม่เกี่ยวกับลัทธิศาสนาใดเลย

ฉะนั้นถ้าเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราเป็นชาวพุทธนี่จิตที่เป็นอวตารแต่ละภาคๆ เป็นอาตมันอย่างนี้ แล้วบอกว่าธรรมธาตุ นิพพานมีอยู่ เขาบอกว่ามันเป็นฮินดู มันเป็นพราหมณ์.. เป็นพราหมณ์เพราะเอ็งคลาดเคลื่อนไง เป็นพราหมณ์เพราะเอ็งไม่มีจุดยืนไง เวลาเอ็งพูดไปเอ็งก็มั่วไปจนจับแยกอะไรไม่ชัดเจนไง

แต่ถ้าเราชัดเจนนะ นี่เราเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนาบอกว่า “จิตนี้เวียนตายเวียนเกิด” จิตของเรานี่เวียนตายเวียนเกิดมา ไม่มีต้นไม่มีปลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านย้อนบุพเพนิวาสานุสติญาณจิตของท่าน ไม่มีต้นไม่มีปลายเลย จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดมา แล้วถ้าไม่ชำระกิเลสมันจะจุตูปปาตญาณ จะไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ มันก็จิตดวงนั้นแหละ มันอวตารมาจากไหน มันจะมาอยู่กับใคร มันอยู่กับมันนั่นแหละ ถ้ามันอยู่กับมัน เพียงแต่มันเวียนตายเวียนเกิดของมันไป มันเป็นอิสระ จิตแต่ละจิตเป็นอิสระกันหมดเลย

สิ่งที่มีอยู่ เห็นไหม แล้วถ้าเราสร้างบุญญาธิการมา ในปัจจุบันนี้ที่เรามาทำกันอยู่นี่เพราะเราเกิดมาในร่มพุทธศาสนา เราก็จะสร้างคุณงามความดีของเรา จะสร้างจะพัฒนาจิตของเรา อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย แล้วในพระไตรปิฎกนี่ ใครจะสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ ต้อง ๑ แสนกัป ๑ แสนกัปที่เราทำกันอยู่นี้ พอ ๑ แสนกัปก็เข่าอ่อนเลย แล้วจะไปนับกันเมื่อไหร่ ๑ แสนกัป นี้มา ๙๙,๙๙๙ กัปแล้ว เหลืออีกชาตินี้แล้ว ทำไมไม่คิดอย่างนี้บ้างล่ะ?

แต่นั้นทางวิชาการ.. ทางวิชาการ เวลาจิตของคน นิสัยของคนเขาจะดูกันตรงนี้ไง มันก็เหมือนกับการศึกษาของเรานี่แหละ ถ้าเราศึกษาทางวิชาการของเรามา เราจะมีความรู้ของเรา เราจะคิดสิ่งใด ทำสิ่งใดด้วยความมั่นคง แต่ถ้าเราไม่รู้ เราทำไปด้วยความด้นเดา เราทำไปด้วยความว่าอาจจะใช่ อาจจะไม่ใช่ นี่มันผิดได้เยอะมาก ฉะนั้นถ้าจิตของเราสร้างบุญญาธิการมา เวลาเราพูดถึงเรื่องศาสนา เรื่องธรรม เราจะวางได้ว่า “เขาเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้”

นี่พูดถึงศาสนาในโลกนะ แล้วชาวพุทธด้วยกันล่ะ ชาวพุทธด้วยกันที่ประพฤติปฏิบัตินี่ แต่ละแขนง แต่ละความเห็นๆ นี่อาจริยวาทนะ ในมหายาน อาจริยวาทเขาเชื่ออาจารย์เป็นใหญ่ แต่ในของเรา เห็นไหม เถรวาท เชื่อพระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ ครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์ หลวงปู่มั่นท่านเคารพพระพุทธเจ้ามาก หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์นี่เคารพพระพุทธเจ้ามาก ถ้าพระพุทธเจ้าไม่วางธรรมและวินัยนี้ ไม่มีต้นแบบ

ต้นแบบ.. แต่เพราะครูบาอาจารย์เรามีต้นแบบ แล้วเราปฏิบัติมันยังทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วนี่ขนาดว่าเราปฏิบัติไปแล้ว ถ้าใครปฏิบัตินะ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เป็นสมาธิเราก็เป็นเอง เวลาเราเกิดปัญญา เพราะธรรมดาเรามีปัญญากันอยู่แล้ว แต่เป็นโลกียปัญญา คือปัญญาทางวิชาการ ปัญญาที่เรามีอยู่แล้ว พอจิตมันสงบแล้วนะ พอมันเกิดปัญญาที่มันเริ่มถอดถอนนะ เราจะแปลกใจเลย เอ๊อะ! เอ๊อะ! พอเอ๊อะอย่างนี้ปั๊บ พระไตรปิฎกมีอยู่แล้ว พระไตรปิฎกมีอยู่แล้ว แต่เมื่อก่อนอ่านไม่เข้าใจเอง

พอพระไตรปิฎกมีอยู่แล้ว เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ปฏิบัติไปอย่างไรก็แล้วแต่ พระพุทธเจ้าพูดไว้หมดแล้วในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี้ไม่ผิดเลย แต่ที่มันผิดอยู่ในปัจจุบันนี้ เราพยายามตีความให้เข้าข้างตัวเองทุกคนไง พุทธพจน์โดยความเห็นของเราต้องเป็นความเห็นของเรา แล้วเวลาพระปฏิบัติไป ปฏิบัติแล้วพูดออกไปตามที่ผู้ประสบการณ์ มันไม่เหมือนพระไตรปิฎก มันไม่เป็นพระไตรปิฎก กลับไม่เชื่อ กลับไม่ยอมรับ แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรานะ เรารู้ของเรา มันเห็นความแตกต่างมาก

ความแตกต่างระหว่างที่ว่าเราคิดโดยนะ ถ้าเราคิดกันอยู่นี่ ความคิดเรา โดยจินตนาการของเรา นี่เราคิดนิพพานได้สบายมากเลย ว่าง นิพพานเป็นอย่างนั้น แล้วมันเป็นจริงไหมล่ะ แต่ถ้าเราคิดด้วยธรรม เราตรึกธรรมนะ ปัญญาอบรมสมาธิเราตรึกในธรรมะ เราตรึกแล้วนะเรามีความโล่ง ความโปร่งอยู่พักหนึ่ง อันนี้มันเป็นหนทาง หนทางที่ว่าดอกบัวเกิดจากโคลนตม สิ่งที่มีอยู่คือหัวใจของเรา คือความรู้สึกนึกคิด แล้วธรรมนี่ หลวงตาพูดบ่อยมาก

“สิ่งที่สัมผัสธรรมได้คือหัวใจของมนุษย์”

กระดาษในพระไตรปิฎกเขาพิมพ์หนังสือไว้เลย กระดาษมันไม่มีความรู้สึกนะ สิ่งที่สัมผัสธรรมได้คือความรู้สึกนึกคิดของเรานี้มันสัมผัส เวลามันคิดดี เห็นไหม มันประพฤติปฏิบัติจนจิตเป็นสมาธิแล้วเกิดปัญญา พอเกิดปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญา

อย่างที่เราพูดเริ่มต้น ถ้าเวทนาไม่ใช่เรา สรรพสิ่งไม่ใช่เรา เวทนาเกิดเพราะอะไร เวทนาเกิดเพราะว่าความคิดเดิมๆ แล้วเราก็ย้ำคิด เรามาแยกแยะออกไป เห็นไหม นี่พอปัญญามันเกิดมันปล่อยอะไรได้ล่ะ มันปล่อยอะไรได้บ้าง มันปล่อยความยึดมั่นถือมั่นของใจ แล้วมันจะมาคิดอีกนะ แอะๆๆ คิดอีกแล้วนะ เมื่อกี้ก็ร้องไห้ไปรอบหนึ่ง จะร้องไห้อีกรอบหนึ่งแล้วนะ

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นเตือนเรานะ แหม.. คนนั้นรักเรา คนนั้นแกล้งเรา คนนั้นคิดไม่ดีกับเรา ถ้าคนอื่นเตือนเรานะมันไม่สะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าเราเตือนเรา เห็นไหม พอปัญญามันเกิด นั่นล่ะๆๆ นี่อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เพราะมันสะอาดบริสุทธิ์ เพราะเราเตือนเรา เราต้องเชื่อเรา

นี่พอมันเตือนเราปัญญามันเกิดอย่างนี้ พัฒนาการของมันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา สิ่งที่มีอยู่ทำให้ตามความเป็นจริง มันจะเป็นความเป็นจริงขึ้นมา แต่สิ่งที่มีอยู่ เอากิเลสตัณหาไปพอกมัน จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างความรู้สึกนึกคิดของตัว นี่แล้วมันไม่เป็นหรอก แม้แต่เวลาปฏิบัติ จิตสงบแล้วเกิดใช้ปัญญาขึ้นมามันเป็นมิจฉา มันเป็นปัญญาที่ทำให้หลงผิด มันก็ยังครอบงำเราเลย

ความหลงผิดใช่ไหม พอความหลงผิดนี่ภาวนาหนหนึ่ง ใช้ปัญญาหนหนึ่ง โอ้โฮ.. ปล่อยวาง โล่งหมดเลยนะ ต่อไปจะเอาอย่างนี้อีก คิดซ้ำๆ เห็นไหม หลงผิด หลงเอาอดีตมาเป็นปัจจุบัน แล้วก็คิดตามนี้ แหม.. ตามรูปแบบเลยนะ ครั้งที่แล้วภาวนาชั่วโมงหนึ่งแล้วมันสุดยอดเลย คราวนี้ ๕ ชั่วโมงยังไม่ได้นะ ทำไมมันยังไม่เป็นไปวะ

นี่ไงหลงผิด มันไม่เป็นปัจจุบัน แต่ถ้าทิ้งหมดเลย คราวที่แล้วได้เพราะอะไร คราวที่แล้วได้เพราะเราไม่มีความหลงผิด มันเป็นปัจจุบัน เวลาทำขึ้นมาเพราะไม่มีสิ่งใดเป็นรูปแบบ พอมันทำขึ้นมาแล้วมันเป็นจริงขึ้นมา โอ้โฮ.. ชัดเจนมากเลย แต่คราวนี้มันรู้แล้ว กิเลสมันรู้กับเราด้วย มันก็สร้างขวากหนามไว้ขวางหน้าเราตลอดเลย เราก็ต้องใช้ปัญญา แล้วมีอุบายแยกไปแยกมา แยกออกมา เพราะการต่อสู้กิเลส การจะชนะกิเลสคือชนะตัวเรา

ทีนี้มันอยู่กับเราใช่ไหม พิจารณาไปถ้าถึงที่สุดมันก็ปล่อยได้อีก มันปล่อยของมัน มันเป็นของมัน มันดีของมัน มันจะประสบความสำเร็จของมัน มันจะสุดยอดมาก ถ้าสุดยอดมากนี่เราเองเราจะเทียบได้เลย อ้อ.. ปัญญาอย่างนี้ เห็นไหม ของที่มันมีอยู่ แล้วเราทำให้มันถูกต้องดีงามขึ้นมา มันจะทวนกระแสกลับเข้ามาสู่ใจเรา แล้วมันจะเป็นความจริงกับเรา

แต่ถ้าเราไปฟังข่าว หลวงตาท่านบอกว่า “ฟังข่าวคนอื่น” องค์นั้นสำเร็จพระอรหันต์ องค์นี้สำเร็จพระอรหันต์ แล้วเทียบเคียงกันไป นี่เราได้แต่ฟังข่าวคนอื่น มันเป็นผลประโยชน์ของคนอื่น แล้วเราเทียบเคียงไปมันเป็นของเราไหมล่ะ แต่ถ้ามันเป็นของเรา เห็นไหม เราจะชัดเจนของเราขึ้นมา พอชัดเจนขึ้นมานี่มันเป็นประโยชน์กับเรา

ของมีอยู่ เราทำให้ถูกต้องแล้วพยายามทำของเรา นี่มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกนะ สิ่งนี้เป็นประโยชน์ที่สุด ถ้าทำความสงบของใจได้หนหนึ่ง จะทำไม่ได้อีกเลย ความฝังใจอันนี้จะฝังใจเราตลอดไป เพราะมันเป็นการที่จิตสัมผัส จิตได้สัมผัสสิ่งนี้ ลึกซึ้งสิ่งนี้ มันจะฝังใจตลอดไป ถ้ามันยังไม่ได้มันก็ได้ของเก่า แต่เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม เราคิดถึงของเก่ามันกลับไม่ได้ นี่ได้ของเก่าคือมันรับรู้ แต่ทำต้องทำใหม่ต่อไป มันถึงต้องมีวุฒิภาวะ ถ้ามีวุฒิภาวะ เราได้สร้างบุญกุศลมา เราจะเข้มแข็ง

ลัทธิต่างๆ เวลาเขาทำของเขา เห็นไหม เราว่ามันเรียบง่าย มันเป็นไป แต่มันจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้าเราเห็นว่ามันไม่จริงนี่เราเสียเปล่าเลย แต่ถ้าเราเป็นจริงของเราขึ้นมานะ มันจะสุขมันจะทุกข์ขนาดไหน แล้วเราทำตามความเป็นจริง เหมือนเงินเลยเราต้องการแบงก์จริง เราไม่ต้องการแบงก์ปลอมที่ใครจะมายัดเยียดให้เรา หรือแลกเปลี่ยนด้วยแบงก์ปลอม เราไม่ต้องการ เราต้องการแบงก์จริง แล้วแบงก์จริงขึ้นมานี่มันใช้จ่ายในท้องตลาด เราต้องทำตามความจริงในท้องตลาดนั้น

ฉะนั้นสิ่งที่ใจเรามี ใจเราเป็น เราพัฒนาของมันขึ้นมา ด้วยความภูมิใจ ด้วยการกระทำของเรา.. เวลามันมีความจำเป็นไหม ชีวิตทุกคนมีความจำเป็นนะ ทีนี้ความจำเป็นอันนั้นมันก็เป็นความจำเป็น ทีนี้ความจำเป็น คนเราถ้ามันมีเหตุมีผลขึ้นมานี่มันแก้ไขได้ มันแก้ไขทำให้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าใจเราอ่อนแอ เราจะชนะสิ่งนั้นไม่ได้เลย แล้วความจำเป็นสิ่งนั้นมันจะช่วยเราสิ่งใดไม่ได้เลย แล้วเราจะเป็นของเราตลอดไป

ทีนี้เราจะพูดถึงปัญหาเนาะ เราจะตอบปัญหาแล้ว

ถาม : ขอให้หลวงพ่อสอนวิธีเดินจงกรมด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : การเดินจงกรมนะ ยืน เดิน นั่ง นอน.. ฉะนั้นเวลานั่งสมาธิ ท่านั่งเอาท่าที่นั่งสะดวก มันอยู่ที่คนถนัด บางคนถนัดนั่ง บางคนถนัดเดิน ถ้าใครทำตามความถนัดนั้นได้ มันก็จะทำง่าย แต่ถ้าคนไม่ถนัด เห็นไหม เราถนัดนั่งเราไปเดิน มันก็จะไม่ถนัด ถ้าคนถนัดนั่งจะนั่งได้หลายๆ ชั่วโมง ถ้าคนถนัดเดินจะเดินได้ทั้งวันเลย แต่คนถึงจะถนัดเดินหรือถนัดนั่ง มันจะอยู่ท่านั้นตลอดไปไม่ได้ มันต้องมีท่าอื่นสำรองไว้เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ

ฉะนั้นจะถนัดเดินจงกรมขนาดไหนก็ต้องมีนั่งบ้าง ถ้าจะถนัดนั่งขนาดไหน มันก็ต้องมีเดินบ้าง ฉะนั้นมันอยู่ที่ความถนัด พอความถนัดปั๊บเราจะทำได้นาน เราจะทำได้ดี ฉะนั้นการเดินจงกรม เห็นไหม วิธีการเดินจงกรมเราก็เดินปกติ แต่เริ่มต้นทุกคนมันจะมีแบบว่ามันไม่เป็นธรรมชาติ ทุกคนเวลาเดินจงกรม พอเดินถึงเข้าทางจงกรมจะเลี้ยวกลับอย่างไร พอจะเลี้ยวกลับแล้วต้องมีนะ เวลาเลี้ยวกลับแล้วจะต้องตั้งสติ อู้ฮู.. เราไปคิดกันเอง แต่เวลาคนที่ชำนาญนะไม่เลย เหมือนขับรถ

คนขับรถนี่ไม่ต้องสอน ฟ๊าบ.. ไปได้หมดเลย เดินจงกรมนี่พอถึงปลายทางนะ ไม่ต้องคิดว่าจะเลี้ยวกลับด้วย มันเป็นอัตโนมัติเลย ขณะที่หลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นนักเดินจงกรมนะ เวลาเดินจงกรมนี่จิตไม่ออกจากร่างกายเลย การเคลื่อนไหวไปโดยแบบว่าสัญชาตญาณ แต่จิตมันหดเข้ามาอยู่ข้างในได้เลย จิตมันหดเข้ามา แต่ถ้าใหม่ๆ มันก็เดินไปโดยธรรมชาติ เดินไปปกตินี่แหละแล้วเลี้ยวกลับ

ฉะนั้นเวลาพูดอย่างนี้ปั๊บ แล้วจะเริ่มต้นกันตรงไหนล่ะ? แล้วจะทำอย่างไรล่ะ? แต่ถ้าพอไปทางวิชาการ เวลาเดินนะยกเท้าขึ้นก็ต้องรู้ว่ายกขึ้นนะ พอเหยียดไปก็ต้องรู้ว่าเหยียดนะ เวลาวางก็ต้องรู้ว่าวางนะ มันก็เลยไปสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง โดยปกติเราอยู่กับสมมุติบัญญัติ จิตใจเรา ความรู้สึกนึกคิดเรามันเป็นสมมุติอันหนึ่ง ทีนี้พอเราไปศึกษามันก็เป็นสมมุติทั้งนั้นเลย

ทีนี้เวลาสมมุติบัญญัติ พอสมมุติบัญญัติเวลาปฏิบัติขึ้นไปนี่สมาธิ เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง เป็นสมมุติตามความเป็นจริง ฉะนั้นเวลาถ้าจิตมันเข้าไปสู่ความสงบนี่ มันสงบไปสู่ที่จิต ฉะนั้นพอสงบที่จิตใช่ไหม เพราะอย่างที่เราว่าพุทโธ พุทโธนี่มันเข้าไปสงบที่จิต แต่นี่เราบอกว่ารู้สึกตลอดเวลา มันก็เป็นสร้างอารมณ์ความรู้สึก เราถึงบอกว่า เวลาเราดูละครนี่ เราเอาอารมณ์ร่วมไปกับละครหรือเปล่า ถ้าเขาเล่นดีเราก็ดีกับเขา ละครมันทุกข์โศกเราก็ทุกข์โศกไปกับเขา

ถ้าเราสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง เราสร้างอารมณ์ๆ หนึ่ง แล้วมันจะไปไหนล่ะ มันอยู่แค่นั้น อยู่แค่นั้นเพราะอะไรรู้ไหม เขามีสติตลอด เขาจะย่าง เขาจะรู้ตลอดเวลา รู้แค่นั้นแหละ รู้เพราะอะไร รู้เพราะว่าเขาต้องการให้รู้ เขาไม่เข้าไปสู่รู้ที่ลึกกว่า รู้ที่เป็นตัวจิตไง.. นี่พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้เลย มันจะอยู่ของมัน อานาปานสติกำหนดลมๆๆ จนลมมันขาดไปเลย มันปล่อยลมหมด มันเป็นตัวมันเอง เห็นไหม แต่ถ้าหนอ หนอนี่ มึงจะปล่อยตอนไหนล่ะ มึงจะปล่อยตอนไหน? มึงไม่ปล่อยมันก็อยู่กับลมนั้นแหละ

นี่เราบอกวิธีเดินจงกรมไง ถ้าบอกว่าวิธีเดินจงกรมนะ เดินจงกรมนี่เดินไปโดยปกติ เท้าย่างไปเหมือนกับเราเดินนี่แหละ แล้วกำหนดที่ปลายจมูก กำหนดลมที่ปลายจมูก เหมือนถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธที่ไหนเราก็ต้องพุทโธไป แล้วเราเดินของเราไป พอเดินของเราไปนะ บางทีเราก็เดินเร็วได้ บางทีเราก็เดินช้าได้ ถ้าเราเดินจงกรมนานๆ นะ เราอาจจะเดินเร็วขึ้น หรือเดินช้าลง มันอยู่ที่อารมณ์ อยู่ที่แบบว่าจิตมันจะลงหรือไม่ลง จิตมันจะสงบหรือไม่สงบ เห็นไหม นี่การเดินจงกรม

ฉะนั้นพอเดินจงกรมไปแล้ว ถ้าจิตมันดีขึ้น เราเดินจงกรมบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะมีความชำนาญ พอมีความชำนาญมานี่ เดินไปโดยการก้าวไปจิตมันไม่ออกนะ การเคลื่อนไหวอยู่แต่สงบ จิตเคลื่อนไหวอยู่แต่ใจสงบได้ ฉะนั้นสมาธิเกิดจากทางจงกรม เป็นสมาธิที่แนบแน่น มั่นคงกว่าสมาธินั่งมากเลย นี่นั่งสมาธิเรายังทำแทบไม่ได้เลย แล้วเดินจงกรมเป็นสมาธิได้มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์นะ แต่ทำได้

ฉะนั้นวิธีการเดินจงกรมของพระกรรมฐาน เดินปกตินี่แหละ เดินปกติธรรมดาเรานี่แหละ แต่มีสตินะมีสติควบคุมเราตลอด เรามีสติควบคุมเราตลอด เรามีสติ เราควบคุมเรา แล้วนี่ถ้าพุทโธก็อยู่กับพุทโธ เดินไปมันเป็นอิริยาบถ แต่ว่าถ้าสติมันอยู่กับความรู้สึก พลังงานนี่มันควบคุมพลังงานได้ พอควบคุมพลังงานได้ พลังงานมันจะละเอียดขึ้น แล้วถ้ามันไม่ละเอียดขึ้นมันจะฟุ้งซ่าน มันจะต่อสู้อย่างไร เราก็เดินไวๆ

ถ้ามันแบบว่าวันนี้ อู้ฮู.. ไม่อยู่เลย คิดแรงมากนะ เดินแบบเขาวิ่งแข่งเลย เดินนี่เพราะเราได้ประสบการณ์ของเรามา เวลาวันไหนมันมีกระทบกันในหมู่คณะ พอเช็ดบาตรเสร็จปั๊บ วางปั๊บแล้วเข้าทางจงกรมนะ ใส่วันนั้นทั้งวันเลย เดินนี่อย่างกับวิ่งเลย อยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าจิตเรายังคุมมันไม่ได้ พอมันเริ่มหอบ เริ่มเหนื่อยนะ เริ่มล้านะ เดี๋ยวเถอะมันไม่คิดแล้ว ไอ้กระทบนี่ กระทบส่วนกระทบสิ กูจะตายอยู่แล้ว มันจะหดเข้ามาเป็นตัวของมัน

นี่เร็วขึ้นๆ แล้วเราผ่อนลงได้ ผ่อนลงได้ วิธีเดินจงกรมนะ เราใช้ประโยชน์จากตรงนี้ เวลาใครถามวิธีเดินจงกรมแล้วแบบว่าให้เดินมาตรฐาน เราบอกไม่ใช่ รถมี ๕ เกียร์ เห็นไหม ๑ ๒ ๓ ๔ เวลาเดินจงกรมโดยทั่วไปเขาล็อกเกียร์ ๑ ปั๊บ แล้วบอกรถเขามีเกียร์เดียว จะไปกรุงเทพฯ ก็ใส่เกียร์ ๑ ลากไปอย่างนั้นแหละจนถึงกรุงเทพฯ รถพัง ก็เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยไงมีท่าเดียว

แต่ของเรานี่มีหลายท่านะ เร็วก็ได้ ช้าก็ได้ ปานกลางก็ได้ รถกูมีหลายเกียร์ แล้วกูเร่งได้ เพราะเร่งได้นี้เป็นประโยชน์มาก ประโยชน์ว่าเวลาภาวนาไป คนไม่เคยภาวนาบอกนึกว่าภาวนาไปแล้วโอ้โฮ.. มันจะดีไปหมดเลยนะ เวลาจิตดีมันจะดีมาก เวลาจิตเสื่อม พอจิตเสื่อมแล้วอยากจะเอาจิตขึ้นมานี่ โอ้โฮ.. มันทุกข์มาก พอมันทุกข์มากมันก็มีเหตุปัจจัยมาก พอมีเหตุปัจจัยมาก เดินจงกรมต้อง ๒ เท่า ๓ เท่า

ดูอย่างหลวงตาท่านพูดถึง.. เพราะหลวงตาท่านเป็นนักเดินจงกรม ท่านพูดถึงพระโสณะบ่อย พระโสณะเดินจนฝ่าเท้าแตกหมด เพราะในพระไตรปิฎกบอกว่าพระพุทธเจ้ามาตรวจกุฏิไง

“ที่นี่ที่เชือดโคใคร เลือดแดงไปหมด”

ขนาดนั้นเลยที่เชือดโคใคร นี่เดินจงกรมขนาดนั้น แล้วหลวงตาบอกว่ามันเป็นไปได้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตมันไม่ออก แต่พวกเรานี่ถ้าพูดถึง โอ้โฮ.. เนื้อแดงๆ นี่นะ แล้วเดินไปเลือดทั้งนั้น เราจะเดินไหวไหม ใครจะเดินไหว ถ้าจิตมันออกรับรู้มันก็ปวดตายน่ะสิ แต่นี่ขนาดพระพุทธเจ้าอุทานนะ

“ที่นี่ที่เชือดโคใคร เลือดแดงไปหมดเลย”

ทีนี้พระก็บอกว่าเป็นที่เดินจงกรมของพระโสณะ พระพุทธเจ้าเลยบัญญัติไง

“เราอนุญาตให้พระโสณะใส่รองเท้าได้” ให้ใส่รองเท้าเดินจงกรม พระโสณะต่อรองพระพุทธเจ้านะ

“ถ้าพระพุทธเจ้าให้ข้าพเจ้าใส่รองเท้า หมู่คณะจะบอกว่าพระโสณะเป็นคนอ่อนแอ ถ้าพระพุทธเจ้าจะให้พระโสณะใส่รองเท้า พระพุทธเจ้าต้องอนุญาตพระทั้งหมด”

ก็เลยได้ใส่รองเท้ากันมาจนปัจจุบันนี้ไง ที่ได้ใส่รองเท้าอยู่นี่ อานิสงส์จากพระโสณะ ไม่อย่างนั้นอด ต้องเดินเท้าเปล่าอยู่

นี่มันมีที่มาที่ไปหมดใช่ไหม ฉะนั้นวิธีเดินจงกรมเราเดินปกติ แต่ตั้งสติไว้ ทีนี้พอเราเดินจงกรม เราก็จะบอกวิธีเดินจงกรมให้มันถูกต้อง แล้วถูกต้องของใครล่ะ ถูกต้องของใคร? คนกิเลสหนามันบอกว่ากูคลานเอานี่กูถูกต้อง ไอ้คนกิเลสน้อยนะก็บอกว่า เดินตัวตรงๆ นี่ถึงจะถูกต้อง แต่ความถูกต้องคือเราเดินเพื่อจิตสงบ

ยืน เดิน นั่ง นอน ภาวนาเพื่อความสงบของใจ การประพฤติปฏิบัติเรานี้เพื่อเอาใจ กิริยา ยืน เดิน นั่ง นอนเป็นกิริยา เป็นการผ่อนคลาย เป็นการผ่อนคลายให้เราปฏิบัติได้ทั้งวัน ๒๔ ชั่วโมง พระปฏิบัตินี่ปฏิบัติตลอดชีวิตนะ ฉะนั้นมันต้องมีผ่อนคลาย เปลี่ยนท่าเปลี่ยนทางไปตลอด สู้กันตลอด จนกว่าจะพ้นจากกิเลส ถ้าพ้นจากกิเลสแล้ว ต่อไปก็เป็นวิหารธรรม เดินจงกรมเพื่อความผ่อนคลาย

อย่างรถยนต์ เช้าขึ้นมาก็ติดเครื่อง อุ่นเครื่องให้รถมันเข้มแข็ง ร่างกายนี้มันได้บริหาร เห็นไหม วิหารธรรมมันไม่เจ็บปวดเจ็บโอย นี่ขี้เกียจภาวนามันก็เลยเจ็บอยู่นี่ไง คนไม่เอาไหน เห็นไหม ปวด เพราะไม่ได้บริหารมัน อันนี้พูดถึงการเดินจงกรมนะ

ถาม : ทำไมมะขามป้อมแช่อิ่มถึงจัดเป็นน้ำปานะ

หลวงพ่อ : มะขามป้อมไม่ได้จัดเป็นน้ำปานะ มะขามป้อมแช่อิ่มเขาเรียกว่าเป็นยาปรมัตถ์ มะขามป้อมโดยตัวของมันเองเป็นยาระบาย ฉะนั้นตัวมะขามป้อม สมอ มะขามป้อมนี่เป็นยาระบาย

ทีนี้ยาระบายตัวมะขามป้อม ถ้ามะขามป้อมเป็นน้ำปานะ ต้องเอามะขามป้อมทั้งหมดมาแล้วคั้น คั้นน้ำมะขามป้อม แล้วเอาน้ำมะขามป้อมนั้นผสมน้ำตาล นั่นเป็นน้ำปานะ แต่เนื้อมะขามป้อมมันเป็นยา เนื้อมะขามป้อมนี่ ฉะนั้นพระฉันได้

มะขามป้อม สมอ มันมาในพระไตรปิฎกเลย มีมะขามป้อม สมอ เห็นไหม สมอพิเภก สมอไทย สมอมันมีหลายสมอ ฉะนั้นสมอ มะขามป้อม ถ้าถือว่าเป็นยานี่เนื้อก็ฉันได้ ถือว่าเป็นยาปรมัตถ์ เขาถือว่าเป็นยาระบาย ในตัวมันนะ แต่ถ้าเป็นน้ำปานะ..

น้ำปานะ ฟังนะ! น้ำปานะไม่ใช่ยา อย่างเช่นมะม่วง ชมพู่ คือผลไม้ที่เป็นอาหาร ผลไม้ที่เป็นอาหารนี่เราเอามาคั้นน้ำแล้วกรอง กรองไม่ให้มีเนื้อ แล้วน้ำนั้นเราผสมน้ำตาล ผสมอะไร ผสมแล้วให้ฉันภายในวันนั้น เพราะว่าถ้าเก็บไว้ล่วงราตรีหนึ่งมันจะเป็นเมรัย มันจะหมัก ฉะนั้นถ้าน้ำปานะให้ฉันในเวลานั้น ห้ามข้ามคืน

ถ้ายาปรมัตถ์ ถ้าเป็นยา นี่ยาปรมัตถ์ถ้าผสมน้ำตาล น้ำผึ้ง ได้ ๗ วัน ฉะนั้นยาที่ผสมถ้ามีน้ำตาลนี่ได้ ๗ วัน แต่ถ้าเป็นยาที่ไม่มีผสมได้ตลอดชีวิต อย่างเช่นกาแฟ กาแฟผสมเสร็จมาแต่ไม่มีนมนะ ผสมเสร็จมานี่มันผสมน้ำตาล ๗ วัน ถ้ากาแฟขวด เนื้อกาแฟนี่ตลอดชีวิต เพราะเนื้อกาแฟนั่นคือยา ถ้ายาคือ ยาวะชีวิตตลอดชีวิต

อย่างเช่นเกลือ เกลือนี่นะ ถ้าพูดถึงเกลือเราตักมาต่างหากเลย แล้วเกลือนี่เราจะเอามาเป็นยา เกลือนี้เป็นยา.. เกลือ! เกลือถ้าผสมอาหารมาเป็นอามิส เกลือนี้เป็นอาหาร เกลือยังเปลี่ยนเป็นอาหารก็ได้ เป็นยาก็ได้ เพราะคุณสมบัติมันเป็นยา คุณสมบัติของเกลือนี้เป็นยานะ แต่ถ้าผสมอาหารมา หรือเปื้อนอามิสมา เกลือนั้นมาฉันตอนบ่ายไม่ได้ ถือว่าฉันอาหาร แล้วพอฉันอย่างนี้บอกว่า เราฉันแล้วไม่เห็นเป็นอะไรกันเลย

หลวงปู่ฝั้นท่านธุดงค์มาที่เขาใหญ่ แล้วมาที่เขาใหญ่มีเณรมีปะขาวมาด้วย แล้วพอตอนเช้าบิณฑบาตได้มันมีเกลือไง พอมีเกลือมาด้วย มีเกลือเพราะอีสานนะมีเกลือมีพริกเขาก็ฉันข้าวมา แล้วปะข้าวนี่ห่อเกลือมาด้วย แล้วพอมากลางทางป่ามันก็ไปเจอมะขามป้อมไง มะขามป้อมนี่เก็บมะขามป้อมมา แล้วมาจิ้มเกลือฉัน พอฉันแล้วคืนนั้นอยู่ในป่ากัน กลางคืนดึกๆ ปะข้าวนั้นดิ้นใหญ่เลย พอดิ้นปั๊บนะหลวงปู่ฝั้นก็มา พอมาก็มานั่งเฝ้า นั่งเฝ้าก็กำหนดถาม

“ทำอะไรผิด! ทำอะไรผิด!” เพราะอยู่ในป่าถ้าผิดศีลจะเป็นอย่างนั้น

“ไม่มี! ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ธุดงค์มามันจะมีอะไร ก็อยู่ในป่ากันนั่นล่ะ”

“ต้องมีสิ” หลวงปู่ฝั้นให้คิดอยู่นี่ คิดไปคิดมา

“อ๋อ! ได้เก็บเกลือตอนเช้าไว้ แล้วเอามากินกับมะขามป้อมตอนบ่าย”

นี่ผิดศีลแค่นี้ ถ้าเราผิดศีลนะ อยู่ในป่าในเขานะ อยู่กับโลกของจิตวิญญาณนะ เพราะว่าศาสนาเรา เห็นไหม พระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของเทวดา อินทร์ พรหมทั้งหมดเลย เราทำผิดถ้าอยู่ในป่าในเขา.. เดี๋ยวนี้พระอยู่ในเมือง ตัดคอพระ ลักขนาดไหนก็ไม่เห็นมีความผิดเลยเนาะ

นี่พูดถึงว่าเราไม่เอาจริงเอาจังกับเรา เราก็จะไม่ได้ของอย่างนี้นะ ถ้าเราเอาจริงเอาจังกับเรา ความผิดเล็กน้อย ความผิดอย่างไรเราก็ไม่ควรทำ ยิ่งเรานักปฏิบัติด้วย อย่างเรานี่นะถ้าทำอะไรแล้วกำหนดพุทโธ พุทโธ.. พุทโธอะไร เมื่อกี้มึงยังทำผิดอยู่เลย โกหกตัวเองนี่ไม่ลงหรอก เราจะภาวนากัน ถ้าพระองค์ไหนนะเป็นอาบัติต้องรีบปลง ถ้าไม่ปลงคืนนั้นมึงนั่งไปเถอะ

เพราะเราทำเอง.. เราทำเองแล้วมาพุทโธ พุทโธ ศีลไม่บริสุทธิ์ หลอกตัวเอง เห็นไหม ถ้าผิดปั๊บพระจะปลงอาบัติเลย ถ้าผิดไปแล้วก็ขาดสติ ก็ทำไปโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่พอจะมาทำสมาธิก็กลัว ก็ขอปลงอาบัติก่อน ปลงอาบัติแล้วจะได้ภาวนาดีๆ

เอาทีละเรื่อง เอาเรื่องที่มันต่อเนื่องก่อนเนาะ

ถาม : เมื่อนั่งสมาธิโดยดูลมหายใจเข้าออก โดยภาวนาพุทโธหลังจากนั้นแล้วต้องทำอย่างไรต่อคะ เพราะลมหายใจเข้าออกนานๆ จะเกิดความเบื่อหน่าย จะแก้ปัญหานี้อย่างใด

หลวงพ่อ : พอความเบื่อหน่าย ลมหายใจเข้าออกมันเป็นความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายเพราะมันคุ้นชินไง เบื่อหน่ายเพราะทีแรกปฏิบัตินะ แหม.. ปฏิบัติแล้วเดี๋ยวจะเป็นสมาธิ จะมีความสุขมาก แหม.. ชื่นใจมากนั่งอย่างดีเลย พอนั่งไปๆ มันไม่ได้ชักเบื่อ มันเบื่อหน่ายเข้าแทรก

พอเบื่อหน่าย.. เบื่อหน่ายเราก็รู้ว่าเบื่อหน่าย มันเบื่อหน่ายขนาดไหนเราก็ทำ การภาวนาพุทโธนี่นะ การเบื่อหน่ายนะมันก็เหมือนกับเราทำอาหาร เราทำอาหารนะ ถ้าไฟไม่ดีอาหารมันก็สุกไม่ได้ ถ้าเราบริกรรมพุทโธหรือเราอานาปานสติ มันไม่สมควร จิตมันไม่ลงสมาธิหรอก แต่ถ้าจิตไม่ลงสมาธินะ เช่นเราทำอาหาร เห็นไหม นี่เราทำอาหารแล้วไฟมันอ่อน พอไฟอ่อนแล้วเมื่อไหร่มันจะสุกสักที เมื่อไหร่จะสุกสักที เราก็เร่งไฟ พอเร่งไฟขึ้นมาอาหารมันก็จะสำเร็จมาได้

พุทโธก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ ทีนี้อาหารมันเป็นอาหาร มันเป็นรูปธรรมที่มันจะสำเร็จมาเป็นอาหารได้ มันเห็นภาพชัดมันเป็นวัตถุไง แต่ใจนี่ถ้ามันสงบได้มันก็จบ มันก็มีความสุข แต่ถ้ามันไม่มีความสุข นี่กิเลสมันก็มาแหย่ ก็เหมือนกับไฟ เหมือนกับอาหารมันมีความขัดแย้ง

ฉะนั้นพุทโธไปแล้วเบื่อหน่าย.. เบื่อ! ไม่ใช่โยมเบื่อนะ เราก็เบื่อ! เราภาวนาไปทำไมกูจะไม่เบื่อ กูล่ะโคตรเบื่อเลยล่ะ แต่พอเบื่อแล้วทำอย่างไรล่ะ ทำไมไม่ลง ทำไมถึงไม่ลง อ้าว.. ไม่ลงนะพรุ่งนี้ต้องผ่อนอาหาร โทษนะนี่เรื่องจริง เราจะไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเองเท่าไหร่ เพราะเราเห็นพระองค์ไหนก็แล้วแต่พูดปด พูดยกย่องตัวเองนี่เราเกลียดมาก เราถือว่ามันเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ฉะนั้นเวลาพูดอะไรเราจะไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเองมาก

ทีนี้พอมันมีกระทบอย่างนี้เราพูดเรื่องของตัวเองนะ เวลามันมีปัญหาขึ้นมานี่ผ่อนอาหาร ผ่อนเรื่อยๆ ผ่อนลงไปกินวันละคำ เราอยู่พรรษาหนึ่งนี่นะ ๓ เดือน กินข้าววันละคำๆ อยู่พรรษาหนึ่ง กินข้าววันละคำ ทีแรกใหม่ๆ เอาไม่ลงนะ อยู่ในป่า โอ้โฮ.. แล้วไม่กินเดี๋ยวหิวนะ เดี๋ยวไม่ไหวนะ มันก็ต้องเอา จะกินวันละคำ มันเผลอหยิบเบ้อเริ่มเลย แล้วไหนว่าคำหนึ่ง พอไปทางจงกรม วันนี้เอ็งเสียสัจจะแล้ว ไหนว่าคำหนึ่ง ล่อซะกำปั้นเลยข้าวเหนียว เอ็งผิดใช้ไม่ได้ อ้าว.. รุ่งขึ้นเอาใหม่ กูตั้งสติใหม่

สิ่งที่เราสอนโยมเราทำมาแล้วทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่บอกว่าเราทำ พอวันที่ ๒ นะ เมื่อวานเอ็งผิด วันนี้ต้องให้ได้นะ พอมันมานี่ต้องตั้งสติให้ดีเลยนะ เพราะมันเผลอ มันไม่ใช่เผลอว่าเราไม่มีสติ เผลอว่าเวลาเราจะหยิบนี่หยิบซะเยอะเลย ทำอย่างนี้เป็นหลายวัน จนกว่าจะได้นะ พอมันจะได้ สติมันพร้อมนะมันหยิบก้อนหนึ่ง ข้าวเหนียวก้อนเดียวพอคำแล้ววางไว้ก้นบาตร แล้วสิ่งใดมาก็ผ่านไป

เพราะอยู่ในป่าไม่มีอะไรหรอก มีแกงโฮ๊ะ ได้อะไรมาก็แกงรวมกัน พอแกงโฮ๊ะนี่เอาน้ำแกงหยอดบนข้าวเหนียวแล้วก็ผ่านไป เท่านั้นแหละ แล้วพอพระเขาจะฉันเราก็หยิบข้าวเหนียวก้อนนี้ใส่ปากก็จบ วันหนึ่งกินคำเดียวๆ คำเดียวเพราะอะไร เพราะมึงไม่ลง มึงไม่ลง มึงไม่เป็นไปนะ แล้วภาวนาดีมากนะ แต่มันโหยมาก ขนาดเราไปบิณฑบาตนี่เดินบิณฑบาตแทบไม่ไหว ปลายๆ นี่ เพราะมันวันละคำ

กินข้าววันละคำ เราทำกับตัวเราขนาดนี้นะ แล้วพอทำอย่างนี้ได้แล้วนะทีนี้สบายมาก สบายมากหมายถึงว่า เราจะผ่อนอาหารกันอย่างไร เราจะคุมได้หมดเลย พอเราคุมได้นี่ ตอนนั้นเราเข้าบ้านตาด พอเข้าบ้านตาด อาหารที่บ้านตาดเยอะขนาดไหน เห็นไหม เราก็ตักใส่ของเราพอดีๆ พอหลวงตาท่านให้พรเสร็จ ท่านเทศน์เสร็จท่านจะฉันเป็นองค์แรก แล้วพวกอาจารย์ปัญญา อาจารย์เชอร์รี่ก็จะฉันตามๆ มา

เราก็แค่นั้นแหละ เราก็ใส่ปากเสร็จเราก็จบแล้ว แต่เราก็ยังไม่ลุก เพราะลุกขึ้นไปนี่มันแบบว่าเราอยู่ในหมู่คณะนะ พระด้วยกัน ถ้าเราทำอะไรโดดเด่นเกินไปมันเป็นภัยทั้งนั้นแหละ เราฉันเสร็จแล้วเราก็ไม่ลุก ทีนี้พระที่นั่งด้วยกัน

“เฮ้ย! ฉันเสร็จแล้วก็ลุกสิ”

เราบอก “ไม่”

พอไม่ลุกเขาก็เลื่อนมา “ถ่าย ถ่ายบาตรซะ”

เราบอก “ถ่ายอะไรไม่มี”

“หา!” เขาไม่เชื่อนะ เขาจับบาตรมาดูเลย ไม่มีจริงๆ เราฉันนี่ไม่มีเลย ตอนที่เราเป็นพระปฏิบัตินะจะต้องฉันหมดทุกเม็ดทุกคำ จะไม่มีอะไรติดก้นบาตรเลย เอาพอดีๆ ตลอด แต่ความพอดีๆ นี้ยากมาก มันหดไปจนมันไม่มี เพราะฉันอย่างนั้นมาตลอดนะ แล้วมันคุมตัวเองได้ไง

นี่พูดถึงว่าเวลามันเบื่อ มันเบื่อต้องหาเหตุผล ถ้าหาเหตุผลแล้วต้องสู้กัน! ต้องสู้กัน ต้องจัดการ ต้องเอาลงให้ได้ มันต้องได้ แล้วพอมันได้ขึ้นมานี่เราจะคุมของเราเองได้ พอเราคุมของเราได้แล้ว พอเราทำได้ปั๊บมันอย่างที่พูด เวลาเราเทศน์เห็นไหม เราจะบอกเลยตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเอ็งทำอะไร เอ็งกระทบอะไร โทษนะ วันนี้โดนเณรแกล้งเรื่องอะไรบ้าง วันนี้พระมาเสียดสีเรื่องอะไร ในวงพระนะไม่อยากพูดออกมา

บางทีพระเขาเห็นเรา... นี่เด่นแล้วมันจะเป็นภัยไง ทำอะไรเราก็ทำได้ เราต้องทำได้นี่พระเขาไม่ทำหรอก เขายุเณร เขาฝึกเณร ให้เณรมาคอยจะทำอะไรไม่ให้ทำ ไม่ให้สะดวก กันท่าว่าอย่างนั้นเถอะ ฮู้.. ใครมันจะไม่ฉุน เพราะอะไร เพราะเณรมันต่ำต้อยกว่าเรา เราศีล ๒๒๗ นะเว้ย เณรมันศีล ๑๐ แล้วทำไมเณรมันใหญ่กว่าพระ โอ้โฮ.. บางทีปรอทมันพุ่งปรี๊ดเลยนะ.. นี่พูดถึงที่หลวงตาบอกว่าไม่นินทาพระ ฉะนั้นวงการมันมีอย่างนี้ ถ้ามีอย่างนี้ปั๊บเราก็ต้องแก้ไข ต้องดัดแปลงของเรามาตลอด เราก็ทำของเรามาตลอด

นี้พูดถึงเวลามันไม่เข้ามันเบื่อหน่ายๆ ทำไมจะไม่เบื่อ เราก็เบื่อ โคตรเบื่อเลยด้วย ถ้าไม่ลงนี่ทุกข์ฉิบหาย แต่ก็ต้องสู้ไม่ทิ้งไง คำว่าไม่ทิ้งหลวงตาท่านก็พูดอย่างนี้ ท่านบอกเลยนะ “เดชะ” ท่านพูดคำนี้เลยนะ ท่านบอก “เดชะ” มันจะผิดพลาดขนาดไหนนะ มันก็ดันมาตลอด ท่านดันมาตลอดนะ ท่านจะบอกเลยเวลาท่านผิดพลาดอย่างไร ท่านหลงอย่างไร ท่านเป็นอย่างไรนี่ “เดชะที่ไม่ทิ้ง”

ถ้าทิ้งนะมันก็กลับไปสู่ที่เดิมไง ถือว่ามันจะผิดจะพลาดอย่างไรก็แก้ไขมาเรื่อย ดันมาเรื่อย อันนี้นะมันเป็นบารมีนะ ท่านก็ผิดมาเยอะ ถ้าไม่ผิดมาเยอะนะท่านจะไม่เทศน์น้ำไหลไฟดับอย่างนี้ คนที่เทศน์น้ำไหลไฟดับแสดงว่าประสบการณ์เยอะ ประสบการณ์เยอะนี่เทศน์น้ำไหลไฟดับ เพราะอะไร เพราะประสบการณ์มันผิดพลาดมาเยอะ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นไม่มีครูบาอาจารย์ ไอ้ที่เทศน์น้ำไหลไฟดับนี่นะประสบการณ์ ถ้าไม่มีประสบการณ์มันเทศน์ไม่ได้ ไม่ได้หรอก

ฉะนั้นหลวงตานี่ผิดมาเยอะ ฉะนั้นเวลาพูดถึงความผิดๆ ไง นี่ผิดมันผิดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นบอกว่าถ้ามันเบื่อหน่าย.. สาธุเราก็เบื่อ ใครก็เบื่อ เพราะมันเป็นเรื่องของกิเลส แต่มันเบื่อขนาดไหน เบื่อแล้วจะจมอยู่กับมัน หรือเบื่อแล้วจะพลิกแพลง จะหาทางออก เบื่อก็คือเบื่อ แต่ถ้าเวลามันปลุกอารมณ์นะ มันหาเหตุผลขึ้นมานะ เดี๋ยวมันก็ฮึดฮัดขึ้นมา พอฮึดฮัดขึ้นมา.. เพราะเราใช้คำนี้ เราใช้ถึงพระพุทธเจ้า เวลาทุกข์นะ เวลาทุกข์ยากมาก

“พระพุทธเจ้าทุกข์กว่ามึง หลวงปู่มั่นทุกข์กว่ามึง ทุกข์ของมึงนี่ขี้เล็บ!”

อู้ฮู! คึกคักเลยนะ.. คำนี้เอามาใช้ประจำ คำนี้ เวลาภาวนาเราคิดอย่างนี้ตลอด เวลาถ้ามึงทุกข์ขึ้นมานะ พระพุทธเจ้าทุกข์กว่ามึง หลวงปู่มั่นทุกข์กว่ามึงหลายร้อยเท่า เพราะหลวงปู่มั่นไม่มีครูบาอาจารย์ มึงนี่หนังสือก็มี ครูบาอาจารย์เต็มไปหมดเลย มึงยังไม่สู้หรือ

คำๆ นี้เราเอามาใช้กับตัวเองตลอด เวลาท้อถอยเราจะเอาคำนี้มาพูดกับตัวเองตลอด แล้วพยายามดันมาๆ ผิดถูกกูขอดันไปก่อน ผิดเดี๋ยวไปแก้เอาข้างหน้า ไม่ทิ้ง ไม่ปล่อย อัดอยู่อย่างนั้นแหละ เราอัดก็เหมือนกับเราแบบว่าพลังมันมีอยู่ใช่ไหม ถ้ามันไม่เข้า มันไม่เป็นไป แต่ยังมีอยู่ใช่ไหม ไม่ใช่ปล่อยให้เหมือนพลังงานมันหมดแล้วนี่ มึงจะไปไหนกัน มาเกิดอีกชาติหนึ่งไง

ถาม : เดินจงกรมเกียร์ ๔ มีประโยชน์มาก ควรรักษาไว้นานๆ ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : เออ.. ก็ใช่น่ะสิ! เพราะเกียร์ ๔ หมายถึงว่ามันใช้พลังงานมาก เดินเร็วๆ นี่นะมันจะหอบเลย เดินเร็วๆ นี่เหนื่อยมาก ความเหนื่อย ความล้านี่นะมันไปผ่อนให้ความคิดแรงๆ มันเบาลงได้ แต่ถ้าพูดถึงเวลาเรากระทบนี่ความคิดมันจะรุนแรง แล้วร่างกายเรามันมีพลังงานอยู่แล้ว พลังงานนี้มันก็หนุนความคิด มันก็คิดใหญ่เลย มันก็ทุกข์อยู่คนเดียว แต่พอเราเดินจงกรม พอให้พลังงานมันล้าลงๆๆ มันจะคิดเรื่องอะไรวะ กูก็เหนื่อยเต็มทีแล้ว มันก็เบาลง พอเบาลงปั๊บเราก็เดินจงกรมลดเกียร์ลงมาได้ ลดเหลือเกียร์ ๓ ลดเหลือเกียร์ ๒ ถ้าวันไหนภาวนาดีใช่ไหม แล้วออกไปก็สิ่งแวดล้อมดีหมดเลย วันนั้นฉันข้าวเสร็จ..

เราอ่านประวัติหลวงปู่มั่น แล้วหลวงตาบอกว่า

“ปฏิปทาธุดงค์กรรมฐาน ฉันข้าวเสร็จแล้ว เช็ดบาตรเสร็จแล้ว เวลาเอาบาตรไปเก็บอย่าขึ้นกุฏิ เดี๋ยวมันจะอ้างหาที่นอน ฉะนั้นต้องเอาบาตรนี้ผลักเข้าไป ผึ่งให้ดี แล้วผ้านี่ผึ่งแดดไว้ตามข้อวัตรของเรา แล้วเข้าทางจงกรมทันที”

เราทำอย่างนั้นมาตลอด นิสัยเรานะ ตอนตั้งแต่เราปฏิบัตินะเราจะเอาบาตรวางแล้วผึ่งผ้า ผึ่งผ้าเสร็จแล้วเข้าทางจงกรมทันที กี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ ถ้าบางวันไม่พัก ไม่พัก ๒๔ ชั่วโมง เนสัชชิกด้วย ไม่นอน แต่บางทีบางวันพัก พักหมายถึงว่าให้นอนประมาณสักครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง ก่อนบ่ายโมงลงฉันน้ำร้อน เราทำอย่างนั้นมาตลอด

คือว่าเรามีเป้าหมาย เรามีเป้าหมายในการปฏิบัติ เราไม่ใช่มาปฏิบัติสักแต่ว่า ฉะนั้นเราจะผ่อนของเราไง อย่างเกียร์ ๓ เกียร์ ๔ ถ้าจิตมันดีก็เกียร์ ๑ วันนี้เดินเกียร์ ๑ ค่อยยังชั่วหน่อยไม่ค่อยเหนื่อย แต่ถ้าวันไหนกระทบแรงนะกูอัดเกียร์ ๕ เลย แล้วก็ค่อยผ่อนลงมา ถ้าเกียร์ ๑ มันก็สงบได้ มันก็ลงได้ ทำไมต้องไปเกียร์ ๔ เกียร์ ๕ ให้มันทุกข์ล่ะ

แต่ถ้ามันไม่ได้กูใส่เลย แต่ถ้าได้ใส่เกียร์ ๑ ไม่ต้องไปใส่แรง เพราะว่าเราภาวนาเพื่อใจไง เราภาวนาเพื่อจิตสงบ เราไม่ได้ภาวนาเพื่อเอาร่างกายให้มันบอบช้ำ แต่ถ้ามันไม่ได้ต้องใส่ จะบอบช้ำหรือไม่บอบช้ำต้องใส่กัน

ถาม : อาจจะไม่ได้ภาวนา ถูกความตายตัดรอนก่อน มีความกลัวจะทำอย่างไร ไปทางไหนดีคะ

หลวงพ่อ : ถูกความตายมาตัดรอน.. ไอ้ความตายนี่นะ ถ้าความตายมาตัดรอนเขาเรียกว่า “อายุขัย” คนอายุขัยนี่นะ คนอายุสั้น คนอายุยืน นี่ศีล ๕ เพราะว่าประเพณีของชาวพุทธเรา เพราะมันมีสามเณรใช่ไหม สามเณรของพระสารีบุตรหรือของใครที่ว่าอีก ๗ วันจะตาย เพราะคนที่เขามีฌาน มีบารมีเขารู้นะอายุขัยคนจะหมด ก็เลยบอกให้ไปลาพ่อลาแม่ เณรก็ไปลาพ่อลาแม่แต่ประสาเด็ก ไปถึงเห็นปลามันอยู่ในหนองน้ำที่น้ำมันแห้ง ก็วิดน้ำแล้วเอาปลาไปปล่อยด้วยนิสัยเด็ก ก็ทำด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ไม่เข้าใจไง แล้วก็ไปลาพ่อลาแม่

อุบายของอาจารย์คือให้ไปลาพ่อลาแม่ คือจะตาย แล้วเด็กมันก็ไม่ตาย มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ เพราะมันข้ามไปไง หรือว่าทายผิดก็ไปถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมไม่ตาย อายุขัยหมดแล้วแหละ แต่ที่ไม่ตายเพราะว่าเขาได้ต่ออายุ ไปปล่อยสัตว์ต่ออายุขัยนี่ไง แล้วอายุขัยนี่นะ แม้แต่เณรมันยังได้ใช่ไหม ทีนี้อายุขัยของเรา เราจะย้อนกลับมาที่ว่าอายุสั้น อายุยืน อยู่ที่ว่าเรารักษาศีลของเราดีไหม ถ้าเราเป็นคนยิงนก ตกปลา ได้ฆ่าอะไรนี่อายุสั้น แต่ถ้าเราได้ปล่อยสัตว์ เราได้ดูแลสัตว์ เราได้มีความเมตตา

ความเมตตานี่มันทำให้อายุยืน ฉะนั้นคนเราถึงอายุไม่เท่ากัน ฉะนั้นอายุขัยนี่มันตัดรอนได้ ถ้ามันตัดรอนก็เพราะว่าเราทำมา แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าอายุเราตัดรอน เรามีสติสิ เราทำคุณงามความดีของเรา นี่พอมันตัดรอน มันเป็นเรื่องของกรรมนะ ไม่มีใครรอดพ้นจากกรรมไปได้ กรรมดี กรรมชั่วเราทำมาทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นพอเราเห็นว่ามันเป็นโทษ เราก็สร้างคุณงามความดีของเรา เพื่อคุณงามความดีของเรา เพื่อให้อายุยืน! อายุยืน ถ้าอายุยืนแล้วปฏิบัติ มันจะได้ปฏิบัติเก่งๆ ใช่ไหม ถ้าอายุสั้นมันตายก่อนอายุขัยนี่กรรมมันมาตัด ถ้าอายุยืนจะได้เป็นพระอรหันต์

ให้มันสิ้นสุดก่อน ไม่ต้องไปกลัวไง พูดถึง เห็นไหม เวลาเราพูดถึงว่าให้มรณานุสติคิดถึงความตายๆ คิดถึงความตายนะมันพยายามยับยั้งให้เราคิดนอกเรื่อง เวลาเราคิดแบบว่าไปเกินเหตุ พอคิดถึงความตายมันไม่คิดนอกเรื่อง ทีนี้บางคนก็ไม่เป็นอย่างนั้น “หลวงพ่อ พอคิดถึงความตายนี่หงอยทันทีเลย ขยับตัวไม่ได้เลย” เห็นไหม มันก็ไม่ตรงกับจริต

จริงๆ นะหลายคนมากเลย ถ้าเราคิดถึงความตายนี่นะ สิ่งที่เห่อเหิมนี่นะเบาเลย บางทีเราเห่อเหิมมากนะ มึงจะเหิมไปไหนวะเดี๋ยวก็ตาย ตายๆๆๆ นี่นะ มันทำให้คนเราไม่สร้างปัญหานะ เรื่องว่าเราต้องตาย เราต้องตาย มันทำให้เรามีสติของเราขึ้นมาได้.. ฉะนั้นอันนี้เป็นมรณานุสติ แล้วถ้ามันคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นนี่อีกเรื่องหนึ่ง

ถาม : ขอกราบเรียนถามว่า มีพระอรหันต์อนุโมทนากับพระพุทธเจ้าบ้างไหม

หลวงพ่อ : อันนี้งงนะ งงคำถามนี้ มีพระพุทธเจ้ามาอนุโมทนากับพระอรหันต์ แต่พระอรหันต์จะไปอนุโมทนากับพระพุทธเจ้านี่.. ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เราที่ท่านเป็นของจริงนี่นะ ส่วนใหญ่แล้วเราจะกราบ เราจะกราบไหว้เคารพบูชา

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

หลวงปู่มั่นกับหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านพูดว่า “แม้แต่พระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงหน้าก็ไม่ถาม” ไม่ถามเพราะอะไร เพราะมีคุณสมบัติรู้เท่ากันไง รู้เท่า รู้เห็นแล้ว แต่ไปอนุโมทนาพระพุทธเจ้านี่ โดยหัวใจของพระอรหันต์ไม่สงสัย ไม่สงสัย ไม่มีความจำเป็นเขาไม่ทำ แต่นี้เป็นความเห็นของเราใช่ไหม ความเห็นของเราว่าพระอรหันต์ต้องไปอนุโมทนากับพระพุทธเจ้าหรือเปล่า

อันนี้ข้อเท็จจริงนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการตลาด ถ้าเรื่องการตลาดว่าพระอรหันต์ไปอนุโมทนาพระพุทธเจ้าอะไรอย่างนี้ อันนี้คือตลาด กลัวเขาไม่รู้ว่าเป็นพระอรหันต์ ต้องบอกว่าเป็นพระอรหันต์ ไปอนุโมทนาให้เขารู้ว่าเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม พระอรหันต์เท่านั้นถึงไปอนุโมทนากับพระพุทธเจ้าได้ใช่ไหม อันนี้มันเป็นเลศนัยว่าจะประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ อันนี้มันก็เป็นอกุศลแล้ว

จิตของคนที่มีอกุศล จะทำคุณงามความดี จะทำความสงบของใจ มันก็ไม่ราบรื่นแล้ว จิตที่มีอกุศล แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เพราะเห็นธรรมแล้ว เสมอตถาคตแล้ว ก็เห็นพระพุทธเจ้าแล้วจะอนุโมทนาอะไรอีกล่ะ แต่เพราะเอ็งไม่เห็นเอ็งต้องไปอนุโมทนาพระพุทธเจ้าหรือ แต่ถ้าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต..

เพราะหลวงปู่มั่นพูด หลวงปู่มั่นกับหลวงตาท่านพูดบ่อย

“แม้แต่พระพุทธเจ้านั่งตรงหน้าก็ไม่ถาม”

ไม่ถามเรื่องนี้กับพระพุทธเจ้าเลย ฉะนั้นกรณีนี้มันเป็นกรณีของผู้สร้างประโยชน์ และผู้ไม่สร้างประโยชน์ด้วย ผู้สร้างประโยชน์นะ ผู้สร้างประโยชน์หมายถึงว่าคนที่มีบารมี อย่างเช่นหลวงตาเรานี่แหละ หลวงตานะ หลวงตายังไม่ไปหาหลวงปู่มั่นเลย หลวงปู่มั่นพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะไว้ “เหมือนท่านเจี๊ยะ มีพระองค์หนึ่งเหมือนท่านเจี๊ยะ นี่จะเป็นผู้สร้างประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม”

ทีนี้พอหลวงตาไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านปั้นน่าดูเลย ปั้นใหญ่เลย ปั้นใหญ่เลย เพราะท่านรู้ของท่าน ฉะนั้นพอบอกว่าผู้ที่มีบารมี เห็นไหม อย่างเช่นหลวงตานี่เป็นผู้ที่มีบารมีมาก สร้างสมมามาก พอสร้างสมมามากเวลาทำสิ่งใด.. นี่ผู้ที่มีบารมี ผู้ที่สร้างสม อย่างเช่นหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าเวลาท่านได้ขั้นตอน ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง แล้วหลวงตามาขยายต่อในประวัติหลวงปู่มั่น ว่าพระพุทธเจ้ามาอนุโมทนา

พระพุทธเจ้ามาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่นเลย เพราะอะไร เพราะว่าเป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ไง ถ้าไม่มีหลวงปู่มั่นนะพวกเราจะปฏิบัติอะไรกัน แล้วพอหลวงปู่มั่นปั๊บนี่หลวงตาก็เล่าอีก เราชอบเรื่องนี้มาก เราชอบเรื่องนี้เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นคติธรรม เราไม่ได้ชอบด้วยมารยาสาไถย ด้วยเล่ห์กลว่าจะเอามาขายกินนะ เราชอบเพราะมันเป็นคติ เราชอบเพราะมันเป็นคติธรรม

เพราะว่าเวลาหลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟังไง ว่าถ้าวันไหนท่านทำอะไรไม่ถูกนะ วางบริขารไม่ถูกนะ คืนนั้นนั่งภาวนานะโดนทันทีเลย หลวงปู่มั่นมาเฉ่งเลย ท่านทำอย่างนี้ไม่ถูก ท่านทำอย่างนี้ไม่ดี ท่านทำอย่างนั้นไม่ได้.. หลวงปู่ขาวนี่หลวงปู่มั่นจะมาเช็คตลอดเลย เวลาจิตสงบ เวลาเข้าสมาธิ ภาวนาปั๊บหลวงปู่มั่นมาแล้ว แล้วอันนี้หลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตาเคารพหลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาวเคารพหลวงปู่มั่น ฉะนั้น เห็นไหม ว่าหลวงตาจะไปถ้ำกลองเพลประจำ จะไปกราบหลวงปู่ขาวประจำเลย

บัณฑิตคบบัณฑิต คนดีคบคนดี นี่ผู้ที่มีอำนาจวาสนา พระพุทธเจ้ามาอนุโมทนาเพราะอะไร เพราะบุคคลคนนี้จะมาสร้างประโยชน์กับโลก แล้วเราก็ย้อนกลับนะ โดยวุฒิภาวะของเรา เราย้อนกลับไปในพระไตรปิฎกไง ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า

“กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง”

ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เห็นไหม แล้วศาสนาจะเจริญ เจริญที่ไหนล่ะ จะไปเจริญที่สิ่งก่อสร้างหรือ สิ่งก่อสร้างเดี๋ยวต้องหางบประมาณไว้คอยซ่อมมันนะ แต่พอหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ปั๊บ ท่านสร้างประโยชน์อะไรกับสังคมไทย

เมื่อก่อนมรรคผลนิพพานใครจะเชื่อ! มีแต่คนหัวเราะเยาะ ใครพูดถึงมรรคผลนิพพานเขาบอกไอ้นั่นบ้า แต่เพราะท่านทำของท่าน ท่านยืนของท่านจนสังคมเชื่อถือ จนเดี๋ยวนี้สำนักปฏิบัติเต็มไปหมดเลย เดินตามๆ เห็นเขาทำอะไรทำตามเขาบ้างล่ะ แต่ก่อนนี่ขวางน่าดูเลย แต่ก่อนจะทำล่ะแหม.. ขวางเต็มที่เลย แต่พอครูบาอาจารย์ทำสำเร็จแล้วเอาบ้าง

อย่างนี้มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าพระอรหันต์ไปอนุโมทนา.. อนุโมทนานี่มันต้องอยู่ที่บุคคล อยู่ที่สร้างบุญญาธิการมาแล้วเป็นประโยชน์ จะเป็นประโยชน์กับสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วเป็นประโยชน์แล้วต้องมีการสอนกัน หลวงตาบอกท่านก็โดน แต่หลวงตาไปโดนที่เมืองจันท์ไง ท่านบอกเลยไปบิณฑบาตใกล้ๆ แล้วให้พระไปไกล

เมืองจันท์มันมีสวน แล้วมันไม้อันเดียวทอดข้ามคลอง แล้วพระบิณฑบาตกลับมาแล้วไม่เคยไง ไม่ใช่คนพื้นที่ หล่นลงไปเปียกหมดเลย หล่นไปโครมตกน้ำ พอกลับมาคืนนั้นหลวงตาบอกว่าหลวงปู่มั่นมาเลย หลวงปู่มั่นมาอบรมหลวงตาเลย “เป็นหัวหน้า เอาเปรียบเขา ให้แต่ลูกน้องไปไกลๆ ตัวเองเดินบิณฑบาตหน้าวัด” อู้ฮู.. หลวงตาบอกว่าเจ็บ ตั้งแต่วันนั้นมานะ สลับทุกคนต้องไปทุกสาย หมุนเวียนหมดเลย

นี่ผู้ที่เป็นประโยชน์ ผู้ที่ทำประโยชน์ ครูบาอาจารย์ท่านจะมาส่งเสริม ท่านจะมาคอยแนะนำ คอยบอก คอยทำให้ดีๆ ฉะนั้นถึงบอกว่าที่อนุโมทนานั่นน่ะ เขาอนุโมทนาเพื่อเป็นคติธรรม เป็นคุณงามความดี เพื่อการส่งเสริมกัน ไม่ใช่เอามาโม้ แหม.. ดีอย่างนั้น ดีอย่างนั้น หลวงตาบอกว่า “หมามันยกหาง” จองหองพองขนนะ หางชี้เลย แล้วมันจะได้อะไรล่ะ?

ปัญหาที่ ๒ ตอบไปแล้ว ปัญหาที่ ๑ ถึงมา

ถาม : ธรรมะสอนให้ปล่อยวาง แต่ประเทศไทยถูกเขมรรุกรานแผ่นดิน หลวงตาสอนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ต่อสู้ ถ้าเราเป็นธรรมไม่ได้ไปกับเขา ลูกศิษย์เป็นพันธมิตรเยอะ ไปร่วมชุมนุมอาจตายเสียชีวิต

หลวงพ่อ : อันนี้เราก็คิดของเราไป กรณีอย่างนี้นะมันต้องอยู่ที่เป็นกรณีๆ ไป คำว่ากรณีๆ ไป มีอยู่คราวหนึ่ง จำได้ไหมสมัยที่ว่าคริสต์บอกว่าพระพุทธเจ้านี่มาปรับพื้นที่ไว้ก่อน ปรับพื้นที่ให้พระคริสต์มาเป็นพระศรีอริยเมตไตรย อู๋ย.. ฮือฮากันมากแล้วเขาคัดค้านกันไป ตอนนั้นเราอยู่บ้านตาด แล้วมันก็มีโยมเขียนจดหมายไปอย่างนี้ “บอกนี่เขาจะให้ไปเดินขบวนๆ เวลาภาวนาก็ภาวนาไม่เห็นได้เลย แล้วออกไปเดินขบวนนี่มันก็ไม่เสื่อมหมดเลยเหรอ”

หลวงตาท่านตอบเลยนะ “เขารังแกพ่อเรา เขาทำร้ายพ่อเรา เอ็งมัวแต่ภาวนาอยู่เหรอ เอ็งไม่ดูแลพ่อเอ็งเลยเหรอ” เห็นไหม หลวงตาตอบ ไอ้นั่นก็เขียนมาถามหลวงตาไง บอกว่านี่เขาให้ไปเดินขบวนๆ แล้วภาวนาก็แสนยาก แล้วจะต้องไปเดินขบวนอีก ท่านเขียนตอบไปนะ “ถ้าเขามารังแกพ่อเรา เราก็ต้องไปปกป้องพ่อเราก่อนแล้วค่อยกลับมาภาวนา เป็นกาลเทศะ”

ฉะนั้นสังเกตได้ไหม นี่เวลาพูดคำนี้มามันต้องมีมาแก้ไง มาแก้ที่บอกว่าเวลาสติ๊กเกอร์ เห็นไหม สู้ สู้ สู้ หลวงตาบอกสู้ สู้ สู้นี้มันเป็นการอาฆาตมาดร้ายนะ ได้ยินไหม ไอ้สู้ๆ นี่เรารับไม่ได้เลย ไอ้สู้ๆ มันเป็นอาการอาฆาตมาดร้ายนะ มันไม่เป็นธรรม มันต้องแก้ เห็นไหม เวลาพูดแล้วมันต้องทั้ง ๒ ข้าง ไม่ใช่พูดข้างเดียว แล้วให้เราไปเอาข้างเดียว

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเกิดขึ้นนี่มันมีเลศมีนัยซับซ้อนมาเยอะมาก ฉะนั้นการซับซ้อนมาเราก็ต้องดูเหตุดูผล ถ้าดูเหตุดูผล ถ้ามันเป็นธรรมเราก็เข้าข้างที่เป็นธรรม เห็นไหม ธรรมะย่อมชนะอธรรม ถึงเวลาธรรมะย่อมชนะอธรรม แต่กว่าธรรมะย่อมชนะนี่แหลกทุกทีเลย ทีนี้กรณีอย่างนี้ที่มันเกิดขึ้นมา สิ่งที่เขาเป็นไป เห็นไหม ถูกเขมรรุกราน นี่ประวัติศาสตร์มันก็ส่วนประวัติศาสตร์ ศึกษาไว้ ประวัติศาสตร์นี่เป็นความสำคัญเลยนะ

ดูอย่างทางตะวันตก สิ่งที่เขาเจริญรุ่งเรืองมานี่เขารู้ประวัติศาสตร์ เขารู้สิ่งต่างๆ เขารู้ที่มาที่ไป ไอ้ของเรานี่ประวัติศาสตร์ตัวเองแทบไม่รู้เลยนะ ยิ่งคนไทยด้วยนี่แย่มาก ประวัติศาสตร์ตัวเองมันไม่รู้ ไปรู้แต่ประวัติศาสตร์คนอื่น ประวัติศาสตร์นี่เรารับรู้ไว้ แต่ปัจจุบันมันเป็นปัจจุบัน ถ้าประวัติศาสตร์รับรู้แล้ว แล้วเราจะเอาประวัติศาสตร์อย่างนั้นมันก็จะบาดหมางกันไปตลอด

ฉะนั้นมันเป็นไป เราต้องดูนะ ความรักชาติต้องรักชาติ ถ้าคนไม่รักชาติมันก็ไม่มีศักดิ์ศรี แต่ความรักชาตินี่เราช่วยได้หลายวิธี ทีนี้เราจะร่วมมือกับเขาก็ได้ เราจะส่งเสริมทางไหนก็ได้ เราทำได้หลายๆ ทาง ฉะนั้นถ้าทำนี่เราช่วยๆ กันเพื่อประโยชน์ เห็นไหม เพราะว่าดูสิอย่างกรณีที่ว่าเขาออกมาโครงการช่วยชาติ เขาถามว่า “โครงการช่วยชาติเกี่ยวอะไรกับศาสนา”

มีคนเขาต่อต้านมากใหม่ๆ นะ เราก็ถามว่า “แล้วศาสนานี่มึงอยู่บนอะไรล่ะ” ในวัตถุนี่เขาว่าการสร้างโบสถ์นี้ได้บุญมาก เราบอกว่า “แล้วโบสถ์มึงสร้างอยู่บนแผ่นดินหรือเปล่า” เรากู้ชาติมาเพื่อแผ่นดินใช่ไหม แล้วมึงสร้างสิ่งที่ว่าเป็นประโยชน์ไว้บนแผ่นดินนี้ หลวงตาถึงบอกว่ามันเป็นมหากุศลไงการกู้ชาติ

ทีนี้การกู้ชาติ.. เวลาที่ว่าการฆ่าสัตว์ การทำลายกันนี่เป็นบาป สังเกตได้ไหม เวลาทหารออกรบนี่ ดูพระพรมน้ำมนต์ใหญ่เลย พรมน้ำมนต์ (หัวเราะ) โทษนะๆ จะอวยพรให้เขาไปฆ่าเหรอ จะอวยพรให้เขาไปยิงคนหรือเปล่าเนี่ย แล้วศาสนาก็ห้ามทำๆ อยู่นี่ พอเขาฆ่าเสร็จ กลับมายังพรมน้ำมนต์อีกนะ

อันนี้เรามองว่ามันเป็นการกู้ชาติ มันเป็นการที่ว่าถ้าชาติอยู่ได้ ศาสนาก็อยู่ได้ ถ้าชาติอยู่ไม่ได้ ศาสนาก็อยู่ไม่ได้ ในวินัยห้ามนะ ในวินัยห้ามพระไปดูเขาซ้อมรบ พระห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด ในวินัยนี่ ถ้าเห็นที่ไหนมีการฝึก การซ้อมรบ พระไปดูเป็นอาบัติปาจิตตีย์

พระนี่จะกั้นพระไม่ให้เข้าไปยุ่งกับพวกนี้เลย เพราะว่าต้องการให้พระเป็นกลาง อยู่เป็นบริสุทธิ์ เพราะว่าสังคมๆ ไหนเกิดขึ้นมา เหมือนการรบฆ่าฟันกัน พระต้องอยู่ได้ไง แต่มันก็ เห็นไหม พอเดี๋ยวนี้เขาไว้ใจกันไม่ได้ไง ไว้ใจไม่ได้ว่าพระนี่มันเป็นแนวที่ ๕ หรือเปล่า พระนี่พระจริง พระปลอม พระเข้ามาสืบข่าวหรือเปล่า ดูการเมืองมันเข้ามายุ่งกับพระขนาดนี้

ตรงนี้เราเอวังก่อนเนาะ