เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ เม.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลามาวัด เห็นไหม ถ้ามาวัดกับคณะทัวร์ คณะทัวร์เขามาทำงานของเขา คือเขามาพัฒนา เขามาต่างๆ อันนั้นเวลาเราตอบรับ เวลาเราต้อนรับก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเราจะให้โอกาสเขา เพราะว่าเขามาทำงานเขาเหนื่อยยาก เราจะให้ความสะดวกสบายเขา แต่ถ้าเรามาวัดมาเพื่อปฏิบัติ นี่ศีล ๘

ศีล เห็นไหม เราเป็นฆราวาส แต่เราถือศีลเท่าไหร่ก็ได้ ยิ่งถือมากยิ่งได้มาก หลวงตาท่านอ้างประจำ เมื่อก่อนเราอยู่กับท่านนะ ท่านบอกว่า “มีทองคำกองหนึ่ง ๕ บาท กองหนึ่ง ๘ บาท กองหนึ่ง ๑๐ บาท กองหนึ่ง ๒๒๗ บาท เอ็งจะเอากองไหน?”

ทุกคนวิ่งเข้าหากอง ๒๒๗ หมดเลยถ้าเป็นทองคำนะ แต่ถ้าเป็นศีล ฉันจะเอาศีล ๕ ฉันไม่เอา ๒๒๗ แต่ถ้าเป็นทองคำนะวิ่งเข้าหา ๒๒๗ บาทเลย มันไม่เอาหรอก ๕ บาทมันน้อยไป เห็นไหม เวลาเปรียบเหมือนทองคำเราอยากได้ นี้เปรียบถึงศีล เปรียบถึงข้อปฏิบัติ

“จริงๆ แล้วศีลมีหนึ่งเดียว คือเจตนาของเรา” ถ้าเจตนาของเรานะเราไม่ทำผิดพลาด ไอ้ความผิด เราพยายามไม่มีเจตนาความผิดพลาด แต่ความพลั้งเผลอ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี่มันมี ฉะนั้นคำว่ามันมี พอเรารู้แล้วทุกคนก็เสียใจ คนเราทำสิ่งใดไปแล้วผิดพลาด ทุกคนระลึกได้นะมันก็สะเทือนใจ พอสะเทือนใจแล้วก็มาปลงอาบัติไง

เขาปลงอาบัติ เห็นไหม พระยังต้องมีการปลงอาบัติ ฉะนั้นเราถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีลอะไรก็แล้วแต่ เราไม่รู้หมด เราไม่รู้ครอบคลุมไปหมดหรอก เราอยู่กับหลวงตานะ หลวงตาท่านพูดอยู่ ทุกคนก็ยกย่อง สมัยก่อนยกย่องว่าหลวงตาท่านเข้มงวดมาก ถูกต้องมาก หลวงตาท่านพูดกับพระนะ เราสะดุ้งเลยล่ะ

“มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำให้ถูกต้องไปหมด คนที่จะทำถูกต้องไปหมดมีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่ทำถูกต้องไปหมดแทบจะหาไม่ได้เลย”

แล้วท่านพูดถึงตัวท่านนะ “แต่! แต่เราจะทำให้ผิดพลาดน้อยที่สุด”

เวลาท่านพูดกับพระอย่างนั้น เห็นไหม ท่านพูดกับพระนี่ พูดแบบสุภาพบุรุษนะ พระด้วยกัน “เราจะทำให้มันผิดพลาดน้อยที่สุด แต่ว่าเราจะทำให้มันถูกต้องหมด ไม่มี” ท่านพูดเองนะว่าท่านไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามวินัยหมดหรอก ท่านทำไม่ได้หมดหรอก บางอย่างนี่เราไม่รู้ไง บางทีเราไม่รู้ เราไม่ใช่เจตนาทำผิดนะ แต่บางอย่างนี่

เวลาไปอ่านวินัยนะ โอ้โฮ.. วินัยนะ ๒๑,๐๐๐ ข้อ ลองไปดูสิ เวลาปาราชิกนะ ของนี้มีค่าเกินบาท เราไปจับต้องมันก็ยังไม่เป็นปาราชิก แต่ถ้าเราขยับเคลื่อน ฐานมันเคลื่อนไปนี่เป็นปาราชิก ถ้าเราจับเรามีเจตนาใช่ไหม เราว่าเราเจตนาลักทรัพย์แล้วเดินไปจับ แต่ยังไม่ได้ลักแล้วเรากลับ อย่างนี้ศีลไม่ขาด ไม่เป็นปาราชิก แต่ด่างพร้อยนะ เศร้าหมองมาก เศร้าหมองเพราะเรามีเจตนา เราคิดจะทำใช่ไหม แต่ทำยังไม่สำเร็จ.. นี่เวลาวินัยนะ

พอเรากลับมา อยากได้อีกเดินกลับมาใหม่ จับแล้วขยับ เขาเรียกว่า “ฐานเคลื่อนที่” ทรัพย์นั้นได้เคลื่อนจากที่เป็นปาราชิก ฉะนั้นพอปาราชิกปั๊บนะ ทีนี้พระสมัยพุทธกาลก็บอกว่า มันไม่มีฐานเคลื่อนที่ เราไปอ่านอยู่ในอรรถกถา แบบว่าลักของที่อยู่บนพื้นก็ดี ลักของที่อยู่บนอากาศก็ดี เราก็งงนะลักของอยู่ที่อากาศมันเป็นอย่างไร คือของที่แขวนไว้ไง เขาบอกว่าขันธ์มันไม่เคลื่อนที่ มันไม่มีฐานเพราะมันแขวนอยู่ หยิบไปไม่เป็นอาบัติ

ดูสิวินัยบังคับขนาดนั้น นี้เราจะมายกให้เห็นว่า ถ้าศึกษานะวินัยมันจะแตกไป แบบว่ามันมีบัญญัติ อนุบัญญัติไง เพราะสมัยพุทธกาลใช่ไหม พอพระพุทธเจ้าบัญญัติปั๊บ พระก็ทำตามนั้น แต่ไอ้พวกแถมันมีไง มันก็เบี่ยงเบนไป พระพุทธเจ้าต้องอนุบัญญัติซ้ำๆๆ อนุบัญญัติเป็นอนุบัญญัติ อนุบัญญัติไว้อย่างนี้ก็ผิด อย่างนี้ก็ผิด ลักของจากพื้นก็ผิด ลักของบนอากาศก็ผิด ลักของที่แขวนไว้ก็ผิด ลักใครก็ผิด ผิดทุกอย่าง นี้ถ้าพระมันซื่อสัตย์ ลักก็คือลัก แต่นี้พอเวลาลักแล้วมันก็เปลี่ยนไป

นี่พูดถึงวินัย เห็นไหม จะบอกว่าเราไม่ได้มีเจตนา เราไม่มีการลัก ทีนี้พอไม่มีเจตนา พระเรานี่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งว่า ถ้าเป็นพระคุ้นเคยกัน เขาเรียก “วิสาสะ” ไม่ได้ลักไม่ได้ขโมย วิสาสะถือว่าคุ้นเคยกัน คุ้นเคยกันก็ใช้โดยวิสาสะมันก็ไม่เป็น แต่อีกคนบอกวิสาสะฉันไม่ให้ อย่างนี้มันก็เป็นปัญหาขึ้นมา

จะบอกว่า เราจะมั่นใจว่าเราทำถูกต้องทั้งหมด สิ่งนี้หลวงตาท่านพูดอยู่ ท่านเคยพูดเอง เราฟังจากท่านมาแล้วจำ คำไหนที่ท่านพูดมาแล้วสะกิดใจนี่จำมากเลย ท่านบอกว่า “เราไม่สามารถทำให้มันถูกต้องได้หมดหรอก แต่เราจะทำให้ผิดพลาดน้อยที่สุด”

คำว่า “เราจะทำให้ผิดพลาดน้อยที่สุด” โอ้โฮ.. เราซึ้งมากนะ

คำว่า “เราไม่สามารถทำให้ถูกต้องได้หมดหรอก” เราก็คิดอีกอย่างหนึ่ง

“แต่เราจะพยายามทำไม่ให้ผิดพลาด หรือให้ผิดพลาดน้อยที่สุด” คือว่าเจตนาดีไง เรามีเจตนาที่ดี เราจะทำสิ่งที่ดี แต่เราไม่สามารถเข้าใจได้.. นี้พูดถึงศีล!

ถ้าพูดถึงศีลนะเราถือศีลของเรา เราปฏิบัติของเรา สิ่งใดนี่ศีลมีหนึ่งเดียว คือเจตนา คือรักษาใจของเรา พระในสมัยพุทธกาล เห็นไหม นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด เพราะว่าพระเขาจะดูแลกัน ศีลเสมอกัน ทิฐิเสมอกัน อยู่ด้วยกันมันจะมีความสุข ถ้าไม่เสมอกัน เห็นไหม คนนั้นทำระดับนี้ อีกคนหนึ่งทำอีกอย่างหนึ่ง นี่มันขัดแย้งกัน มันจะอยู่ไม่เป็นสุขใช่ไหม ทีนี้พอพระบวชใหม่มา พระก็คอยบอกๆ ไปลาพระพุทธเจ้าเลยบอก

“จะสึก”

“ทำไมล่ะ”

“โอ้โฮ.. นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด ยุ่งไปหมดเลย”

พระพุทธเจ้าบอก “ถ้าศีลมีข้อเดียวอยู่ได้ไหม”

“ได้”

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “ให้รักษาใจ” พอรักษาใจแล้วเขาอยู่ได้ พออยู่ได้แล้วปฏิบัติไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ด้วย

นี่ถ้าเราไปมองว่าศีลเป็นข้อบังคับ ถ้าเราบอกนู่นก็ผิด นี่ก็ยุ่งไปหมดเลย เราทำตามเขา เราอยู่ในกติกาของเขา เราไม่แฝง เราไม่แถออกนอกทางเขา เพราะอะไร เพราะทิฐิเสมอกัน ปฏิบัติเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน เรามีความเห็นเสมอกัน เรามีการคุยกันรู้เรื่อง เราอยู่เป็นสุขนะ ถ้าเรามีความขัดแย้งกัน เราพูดโต้แย้งกัน นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด แล้วมาโต้แย้งกัน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะศีลนี่เอาไว้บังคับตัวเรานะ ศีลเราเอาไว้ดูแลตัวเราเองก่อน

ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถ้าเราจะพูดให้ใครฟังนะ “๑ ตัวอย่างดีกว่า ๑๐๐ คำสั่ง” เราทำดีทำชอบนี่นะ เราพูดอะไรไปมันก็มีน้ำหนักนะ เราทำอย่างหนึ่ง แล้วไปสอนเขาอย่างหนึ่ง เห็นไหม

“๑ ตัวอย่างดีกว่า ๑๐๐ คำสั่ง”

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นอย่างนี้ หลวงปู่มั่นท่านถึงเป็นแบบอย่าง เวลาหลวงปู่มั่นท่านเป็นแบบอย่าง คนถึงเคารพศรัทธา คนถึงมีความเชื่อถือ พระไปนี่เชื่อถือเพราะอะไร เพราะท่านทำเป็นหัวหน้า ท่านไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น เว้นไว้แต่นะ เว้นไว้แต่เวลาเฒ่าเวลาแก่ เห็นไหม

พระเราต่างหาก นี่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง พระเรานี่ร่วมกันเป็นคณะสงฆ์เลย ไปอาราธนาท่าน ขอท่าน ขอว่า “ท่านชราภาพแล้ว ไม่ต้องบิณฑบาตได้ไหม”

ท่านบอก “ไม่ได้!”

“ถ้าไม่ได้ก็ขอครึ่งทาง”

พอสุดท้ายท่านชราภาพจนเต็มที่แล้วนะ บอกว่า “ไม่ต้องบิณฑบาตได้ไหม เพราะลูกศิษย์ลูกหาบิณฑบาตมาให้ท่าน มาเลี้ยงท่านได้”

“ไม่ได้!”

ถึงหน้าปากประตู หน้าประตูวัดนะ นัดให้เขามาใส่บาตรหน้าปากประตูวัด ถึงที่สุดเดินไม่ไหว ก็บิณฑบาตบนศาลา.. นี่ท่านทำเป็นตัวอย่างไง เพราะท่านทำเป็นตัวอย่างเราถึงเคารพท่านไง เราเคารพท่าน เพราะท่านพูดได้ทำได้ ถ้าพูดได้ทำได้นี่จะเป็นประโยชน์มาก

ฉะนั้นถ้าพูดถึงเวลาเขามาพัฒนา เราก็ต้อนรับไปอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม ให้กินกลางวัน ให้กินเย็น ทำอาหารให้กิน ทุกอย่างพร้อมเลย แต่เวลามาปฏิบัตินะ ห้าม! ห้าม! ห้าม! เอ๊ะ.. ทำไมคราวที่แล้วมาดี อ้าว.. นั่นมันมาพัฒนานะ แต่คราวนี้มาปฏิบัติ

ถ้าเราปฏิบัติ ภาชนะ เห็นไหม เวลาหลวงปู่สุวัจน์ท่านเทศน์ เราอยากได้มรรคผลนิพพาน อยากได้มรรคผลนิพพาน แล้วถ้วยชามของเรา.. ท่านบอกพระนะ พระอยากได้มรรคผลนิพพาน คว้าดูในย่ามสิ ถ้าในย่ามยังมีเงินมีทอง มีทุกอย่างพร้อมไปหมด มันจะเอามรรคผลนิพพานมาจากไหนล่ะ?

ถ้าเราเสียสละ.. ชาตรูปรชตํ อุคฺคณฺเหยฺย วา อุคฺคหาเปยฺย ภิกษุห้ามหยิบเงินและทอง ถ้าใครหยิบเงินและทองโดยเข้าใจและไม่เข้าใจก็ดี ต้องเสียสละ ต้องโยนทิ้งก่อน ถึงปลงอาบัติตก เห็นไหม ถ้าภาชนะของเรามันสะอาด อาหารที่ใส่ลงมามันก็สะอาด ถ้าภาชนะเราสกปรก อาหารอะไรที่ใส่มามันก็สกปรก

ศีลมันเป็นการชำระล้างใจเราให้สะอาดบริสุทธิ์ แล้วเราจะไปนั่งสมาธิ สมาธิมันก็เป็นสัมมาสมาธิ ภาชนะเราที่ดี ภาชนะเราสะอาดบริสุทธิ์ มันไม่มีสารพิษ ไม่มีสิ่งที่เป็นพิษ อาหารที่มาใส่มันก็กินได้ใช่ไหม ภาชนะเรามีแต่ยาพิษ เวลาอาหารตกมาในภาชนะเรามันเป็นอะไร มันก็เป็นสิ่งที่เป็นพิษไปด้วย

ฉะนั้นบอกว่า “ถือศีลไม่มีประโยชน์อะไร ถือศีลไม่มีประโยชน์อะไร” ศีลทำให้สะอาดบริสุทธิ์ ทำให้ใจเรา ทำให้ภาชนะเราสะอาด แล้วถ้าเรากำหนดพุทโธ เราทำสัมมาสมาธิ สมาธิเกิดมานี่ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าสมาธิมันเกิดในภาชนะที่ดี อาหารนั้นมันสะอาดบริสุทธิ์ อาหารนั้นเป็นประโยชน์กับร่างกาย อาหารนั้นเป็นประโยชน์ที่สุด เห็นไหม ธรรมที่เกิดขึ้นมา

ทีนี้บอกศีลอะไรก็ได้ อะไรก็ได้ ทำสมาธิได้ไหม.. ได้ พอได้ขึ้นมาเพราะอะไร ในลัทธิอื่นๆ ไม่ใช่พุทธศาสนาเขาก็ทำสมาธิกัน เขาก็ทำของเขา แต่มันเป็นสัมมาหรือเป็นมิจฉาล่ะ มันเป็นสัมมาเพราะอะไร เพราะภาชนะของเขาเป็นอย่างนั้น ภาชนะของเขามันมีสิ่งเจือปนอยู่ใช่ไหม พอทำสมาธิขึ้นมามันก็ทำตามทิฐิของเขา ทำตามความเห็นของเขา เขาทำสมาธิได้ สมาธิของเขาก็เป็นมนต์ดำ เราทำสมาธิขาวเพราะอะไร สมาธิขาวเพราะเรามีศีล พอมีศีลแล้วทำสมาธิขึ้นมา สมาธิมันก็ตั้งมั่น ศีลมันมีกรอบของมันอยู่แล้ว แล้วถ้าเกิดปัญญา ปัญญามันก็เข้าสู่โลกุตตรธรรม

นี่ไง เขาบอกว่าไม่ต้องทำ ไม่จำเป็นๆ มันจำเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีลขึ้นมา พอทำสมาธิขึ้นมา สมาธิมันก็ร่มเย็นนะ แต่ถ้ามันเป็นมิจฉาขึ้นมา สมาธิมันก็เร่าร้อนนะ เป็นสมาธิใช่ไหม จะลองของ จะทำนู่นทำนี่ เห็นไหม มันออกนอกทางไง ออกนอกทางเพราะอะไร เพราะภาชนะของมันมีสารพิษ แล้วถ้าศีลทำให้เราบริสุทธิ์ขึ้นมาก็จะเกิดสมาธิ สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ ก็เกิดความร่มเย็นเป็นสุข พอเกิดปัญญาก็เกิดโลกุตตรปัญญา ปัญญาก็เข้ามาชำระกิเลส

ถ้าเกิดเป็นมนต์ดำ เกิดเป็นศีลไม่บริสุทธิ์ พอเกิดสมาธิขึ้นมาก็อยากจะรู้วาระจิตเขา อยากจะรู้ว่าใครเกิดมาชาติไหนๆ ตัวเองยังไม่รู้ ไปอยากรู้ของคนอื่น พอรู้ไปรู้มานะ ทำให้ตัวเองหัวทิ่มดินเลย พอสมาธิมันเสื่อมเอาไม่ขึ้นนะ นู่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ เราก็ไม่มีวาสนา กลับบ้านเถอะ

นี่แล้วก็กลับไปอยู่บ้านใหม่ แล้วเดี๋ยวก็เริ่มต้นใหม่นะ พอกลับไปบ้านมันทุกข์นะ เออ.. ทุกข์ยากมาก แล้วพุทธศาสนาสอนถึงมรรคผลนิพพาน ก็จะมาอีก มารอบ ๒ เดี๋ยวพอทำไม่ได้ก็กลับบ้านอีก มารอบ ๓ มารอบ ๔ เพราะอะไรล่ะ เพราะเราไม่มั่นคง เห็นไหม

นี่พูดถึงว่าถ้าเราจะเห็นประโยชน์กับมัน เราทำเพื่อตัวเราเอง ถ้าภาชนะเราสะอาด เรารับอาหารสิ่งใดมามันยิ่งสุดยอดใหญ่เลย ถ้าภาชนะเราเศร้าหมอง ภาชนะเราต่างๆ นี่สิ่งใดก็เศร้าหมอง แต่! แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ต้นไม้จะใหญ่โตขนาดไหน ก็ปลูกจากกล้าไม้ทั้งนั้นแหละ

หัวใจของเรา เราจะพัฒนา ก็พัฒนาจากความล้มลุกคลุกคลานเรานี่แหละ ถ้ามันจะล้มลุกคลุกคลานก็ไม่เสียใจ มันจะล้มลุกก็ตั้งต้นใหม่ ตั้งต้นใหม่.. ต้นไม้เราก็พยายามพรวนดิน รดน้ำ ให้ปุ๋ยมัน มันก็จะโตขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ครูบาอาจารย์ของเราก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดนะ แล้วเรามานี่เราจะทำแล้วได้เลย มันไม่ใช่ต้นไม้พลาสติกไปสวนจตุจักรแล้วก็ซื้อมาเลย เอามาตั้งไว้ที่บ้าน ไม่ต้องรดน้ำหรอกไม่เคยตาย ไม่ตายด้วย แล้วก็ไม่โตด้วย แต่ถ้าต้นไม้ของเรานี่ ความรู้สึกของเรา เราต้องรดน้ำพรวนดิน เราดูแลมันเพื่อประโยชน์กับเรา

เราจะบอกว่าโยมทำอะไรก็แล้วแต่ เป็นสมบัติของโยมหมดเลย ใครทำคนนั้นได้ ใครปฏิบัติอย่างไรก็เป็นสมบัติของคนนั้น ไม่มีปฏิบัติให้คนอื่น แล้วคนอื่นปฏิบัติเพื่อเรา ไม่มีหมด ฉะนั้นเหตุการณ์ที่จะเกิดอุปสรรคหรือเกิดอะไรกับเรา เราต้องต่อสู้ เราต้องทำเพื่อเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ.. นี่พูดถึงมาวัดไง

ฉะนั้นเวลามาในการพัฒนามันก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้ามาในการปฏิบัติมันก็เป็นอย่างหนึ่ง เป็นอย่างหนึ่งเพราะอะไร เพราะว่าการปฏิบัติมันต้องการอริยทรัพย์ มันต้องการทรัพย์อันละเอียด มันต้องการภาชนะที่ใส่ทรัพย์ที่เป็นสมบัติอันละเอียดนี้ เพื่อเป็นสมบัติกับเรา แต่เรามาพัฒนา เราทำบุญกุศลนี่เป็นอามิส.. เราทำบุญกุศลเป็นอามิส เสียสละเป็นบุญกุศล แต่เวลาภาวนาขึ้นมามันชำระกิเลสนะ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก ใจร่มเย็น ใจเป็นสุข มันจะรู้ของมัน ตอนนี้ไม่ต้องบอกเลยว่าร่มเย็นเป็นสุขนั้นเป็นอย่างไร

แต่เวลามันฟุ้งซ่านมันคิด ตอนนี้รู้หมดเลย เวลามันเดือดร้อน ทุกคนรู้หมดเดือดร้อนเป็นอย่างนี้ แต่ร่มเย็นสิเป็นอย่างไร.. นี่มันเปรียบเทียบได้ มันมีข้อเท็จจริง มันตรวจสอบได้ในหัวใจของเรา เอวัง