เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๓ เม.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนส่วนใหญ่เขามาด้วยน้ำใจ เราต้องมีน้ำใจให้กัน ถ้ามีน้ำใจให้กัน ทุกอย่างจะไม่มีการขัดแย้งเลย ถ้าเรามีน้ำใจ เห็นไหม วันนี้เป็นวันประเพณี วันนี้เป็นวันสงกรานต์ วันสงกรานต์นี้เป็นปีใหม่ของชาวสยาม ปีใหม่ดั้งเดิมไง ปีใหม่ของชาวสยาม แต่เดี๋ยวนี้เวลาปีใหม่ไปแล้วเราเป็นปีใหม่สากล

ถ้าเป็นปีใหม่สยาม นี่เวลาขึ้นปีใหม่เรากลับบ้านกลับเรือนกัน คิดถึงพ่อคิดถึงแม่กัน เขาเรียกว่า “วันครอบครัว” ถ้าวันครอบครัวนี่ ครอบครัวภายนอก ครอบครัวภายใน ครอบครัวภายนอกคือพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ครอบครัวภายในคือหัวใจของเรามันเกิดมาทุกภพทุกชาติ มันมีสายมันมีความสัมพันธ์มามหาศาลเลย

ทีนี้ถ้าครอบครัวภายในมันดี ครอบครัวภายในดูแลครอบครัวภายในดี เห็นไหม มันจะรักหมู่คณะ รักพวกรักพ้อง รักไปหมดเพราะอะไร นี่ไงมันเห็นใจเขา เพราะเราก็ทุกข์เหมือนกันใช่ไหม ฉะนั้นวันนี้วันแห่งครอบครัว เขาบอกว่าเป็นวันหยุด มันเป็นวันประเพณีอยู่แล้ว เขาให้หยุดไปหาพ่อหาแม่ แล้วเราไปหยุดหาพ่อหาแม่ เด็กๆ นะเราก็ไปเที่ยวสนุกกัน เราก็จะไปเล่นสงกรานต์กัน เราได้สรงน้ำพ่อแม่หรือยัง? เราได้กลับไปบ้านหาพ่อแม่หรือยัง? กลับไปถึงบ้านปั๊บ ออกเลยไง

นี่ไงเวลาคิดถึงประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม คนเรามีวัฒนธรรมเป็นคนดีนะ วัฒนธรรมประเพณีทำให้คนต่างจากสัตว์ เวลาสัตว์มันไม่มีหัวคิด ไม่มีสมองของมัน วัฒนธรรมประเพณี นี่วัฒนธรรมของเรา ถ้าใครมีวัฒนธรรม วัฒนธรรมนี้เป็นสินค้าได้ วัฒนธรรมของเราเราต้องรักษานะ เรารักษาของเรา เราเข้าใจเราต้องศึกษา

นี่เราสงกรานต์กันเพื่ออะไร? เราทำกันเพื่ออะไร? ทุกอย่างสุดท้ายแล้วนะ ทำเพื่อความกตัญญูกตเวที ทำเพื่อบุญกุศล ทำเพื่อคุณงามความดี คุณงามความดีมันก็มีหยาบมีละเอียดขึ้นไป ความหยาบๆ ของเรา อย่างเด็ก เห็นไหม เราก็ต้องฝึกต้องสอน เวลาฝึกสอนขึ้นมา บอกเด็กทำไมไม่เข้าใจๆ เวลาเขาย้อนกลับมาเจ็บนะ “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” เวลาพ่อแม่ไม่สั่งสอน แล้วเด็กจะเข้าใจได้อย่างไรล่ะ เด็กมันไม่เข้าใจเพราะพ่อแม่ไม่สั่งสอน ไอ้พ่อแม่ก็ว่าไม่มีเวลา

เราไม่มีเวลา เราทำมาหากินกันไม่มีเวลาอยู่แล้ว ทำมาหากินนะ ปากกัดตีนถีบก็จริงอยู่ แต่เวลาลูกของเรานะ ในครอบครัวของเรานะ ถ้ามีหัวใจที่ดี มีความประพฤติที่ดี เราจะมีความสุขนะ เราว่าเราปากกัดตีนถีบ เราก็พยายามแสวงหาของเราอยู่นั่นแหละ แต่กลับมาแล้วนะ กลับมาถึงบ้านนี่ครอบครัวแตกสลาย เราจะทุกข์มากกว่านั้นหลายเท่าเลย

ถ้าครอบครัวมันแตกสลาย แล้วไปหามาจากข้างนอก พอเข้ามาข้างในแล้วครอบครัวแตกสลายไปแล้ว เราจะเอาอะไรไปเยียวยามัน แต่เวลาเราพูดเราก็พูดกันนั่นล่ะ ปากกัดตีนถีบเราก็ต้องหามาจากข้างนอกก่อน ข้างนอกก่อนเพื่อจะมาเยียวยาครอบครัวของเรา แล้วครอบครัวของเรา ทำไมเราไม่ดูแลหัวใจลูกเรา ทำไมเราไม่สั่งสอน คำว่าสั่งสอนนี้เราดูแลของเราเพื่อคุณงามความดีของเรานะ

นี่พูดถึงว่าเด็กมันก็ไม่เข้าใจของมันหรอก แต่มีการปลูกฝังของเรา มีความอดทนของเรา เวลาอดทน เห็นไหม ดูสิเวลามีความรัก ทางการแพทย์เขาบอกเลยว่าได้กอดลูกหรือยัง แค่กอดมัน แค่ให้ความอบอุ่นมัน การกอด การให้ความอบอุ่นมันนี่ เวลาเด็กมันไปหาเพื่อนมันนะ มันก็บอกว่าพ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่ไม่รัก.. มันก็ว่าพ่อแม่ไม่รักทั้งนั้นแหละ แล้วไอ้พ่อแม่นี่รักหรือเปล่าล่ะ พ่อแม่รักแต่พ่อแม่ก็มีความจำเป็น เห็นไหม ถ้าพ่อแม่มีความจำเป็น นี่เวลาเขาย้อนกลับมาว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอนแล้วเจ็บนะ

ฉะนั้นเราว่าเราจะสั่งสอน เราก็ทำเป็นตัวอย่างก่อน ถ้าเรามีปู่มีย่า เห็นไหม พ่อแม่ก็มีพ่อแม่เหมือนกัน พ่อแม่ก็ทำให้ลูกมันดูว่าปู่ ย่านี่เป็นพ่อแม่ของแม่ พ่อแม่ของแม่ก็ดูแลพ่อแม่ของแม่ให้อย่างดี แล้วลูกก็ต้องดูแลพ่อแม่เหมือนที่พ่อแม่ดูปู่ ย่า ตา ยายนะ เวลาเราดูปู่ ย่า ตา ยาย นี่ก็เป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่างให้มันเห็นนะ แต่นี้ไม่ทำตัวอย่างให้เห็นเลย เวลาเราไปทางถนนกัน เห็นไหม เวลาพ่อแม่เจอพระนะบอกลูกไหว้พระ ลูกไหว้พระ แต่พ่อแม่มันไม่เคยไหว้ พ่อแม่มันไม่กล้าไหว้ แต่มันบอกให้ลูกไหว้พระ ลูกไหว้พระ

นี่ก็เหมือนกัน เราก็ต้องการให้ลูกรักเรา ลูกรักเรา แล้วพ่อแม่เราล่ะ พ่อแม่เราดูแลไหม ถ้าดูแลนี่ เห็นไหม วันแห่งครอบครัว ถ้าครอบครัวมีความสัมพันธ์ มีสายสัมพันธ์กันนะ.. บุญ! คือความยิ้มแย้มแจ่มใสในครอบครัวนั้น บุญ! คือความสุข ความเข้าใจกันในครอบครัวนั้น ถ้าในครอบครัวมีความยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน มีความเข้าใจกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน อันนี้คือบุญกุศลที่หาซื้อไม่ได้ หาด้วยเงินกับทองไม่ได้

นี่ความเข้าใจอันนี้สำคัญมาก ทีนี้ประเพณีวัฒนธรรมก็เพื่อเหตุนี้ไง ประเพณีวัฒนธรรมก็เพื่อความรู้สึก ความนึกคิด ประเพณีวัฒนธรรมนี่มันมาจากความรู้สึก ถ้าความรู้สึกอันนี้มันดีขึ้นมา เห็นไหม มันจะเข้ามาข้างในหัวใจของเรา

เวลาประเพณีวัฒนธรรมเป็นความดีนะ มันเป็นโลก แต่เวลาพระปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ไม่ติดในประเพณี ไม่ติดในวัฒนธรรม.. ประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม! ธรรมะคือความสงบร่มเย็นในหัวใจ ถ้าสงบร่มเย็นในหัวใจ มันก็ต้องอาศัยประเพณีวัฒนธรรมนั้นเป็นการสื่อเข้ามา

“ทาน ศีล ภาวนา”

ทาน! ในการสื่อของการทำทาน ทานเพราะอะไร ทานเพราะมีเจตนา มีการเสียสละออกไป วัตถุนั้นเราเป็นผู้เสียสละออกไป วัตถุนั้นถ้าเราไม่เสียสละออกไป วัตถุนั้น ดูสิข้าวของ อาหารนี่ เอาไปไว้ที่ไหน มันก็อยู่ที่นั่นแหละ คนมีเจตนา เห็นไหม เราไปซื้อขายแลกเปลี่ยนมาเพื่อเอาไปทำบุญกุศล นี่มันอยู่ที่หัวใจทั้งนั้นแหละ

ทานนี้ก็เพื่อหัวใจ ถ้าคนเราไม่คิดเสียสละทาน มันจะทำได้ไหม วัตถุมันมาได้ไหม การเสียสละทานก็เพื่อหัวใจ เพื่อมีการเสียสละ มีการฝึกฝน มาฟังธรรมๆ ก็เพื่อเตือนตัวเองไง นี่ฟังธรรม พระพูดเรื่องอะไร ก็พูดเรื่องคนฟังนั่นแหละ พูดเรื่องหัวใจนั่นแหละ หัวใจที่มันปฏิสนธิจิตมันมาจากไหน มันมาเกิดเป็นมนุษย์นี่เกิดจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เลี้ยงดูมาแล้วมันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากกรรมไง เกิดมาจากการกระทำไง

ทุกคนอยากจะเกิดจากพ่อแม่ที่มีเมตตา กรุณา อยากเกิดพ่อแม่ที่ดี แล้วมันได้สมความปรารถนาไหมล่ะ ถ้ามันทำบุญกุศลมา เวลาบาลานซ์นี่ จิตพ่อ จิตแม่ จิตลูกเวลาปฏิสนธิจิต เห็นไหม ดูสิเวลาปฏิสนธิจิต ถ้าจิตใจเราดี เวลาลูกมาเกิดนี่จะดีมากเลย ถ้าจิตใจเราเครียด จิตใจเราต่างๆ นี่บาลานซ์ด้วยสายบุญสายกรรม

ถ้าด้วยสายบุญสายกรรม นี่พ่อแม่ อภิชาตบุตร บุตรที่เกิดมาเพื่อเป็นโซ่ทองคล้องใจ ไอ้จิตที่มาเกิดมันก็มีกรรมร่วมกับพ่อกับแม่ทั้งนั้นล่ะ พอมีกรรมร่วมกับพ่อกับแม่ แล้วก็เกิดจากกรรมของตัวของเขานั่นล่ะ พอกรรมของเขา เวลาเกิดขึ้นมาแล้วนี่ เราเกิดมาจากกรรม เราเกิดจากการกระทำของเรา จิตเราทำคุณงามความดีไง เพราะจิตนี้มันเป็นธรรมชาติที่ไม่เคยตาย มันจะเวียนตายเวียนเกิดไปตามธรรมชาติของมัน เวียนตายเวียนเกิดนั่นล่ะ มีบุญกุศลมันไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมขึ้นไป

นี่พูดถึงวัฏฏะ ผลของวัฏฏะนะ.. แต่เวลาศาสนาไม่สอนอย่างนั้น ศาสนาสอนว่าเทวดา อินทร์ พรหม ก็คือผลของวัฏฏะ คือการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีวันจบวันสิ้น ถ้าไม่มีวันจบวันสิ้น เราก็ต้องทำความสงบของใจขึ้นมา นี่มรรคญาณด้วยอริยสัจ สัจจะ เห็นไหม

นี่ว่าชีวิตนี้มันทุกข์นักๆ ชีวิตนี้มันทุกข์นัก เกิดชั้นไหนก็ทุกข์ เกิดเป็นเทวดาก็มีความสุขของเขา เทวดาก็อมทุกข์ของเทวดา เทวดาก็อมทุกข์เพราะอะไร เพราะเทวดาก็ต้องเกิดต้องตายเหมือนกัน ไปเกิดเป็นพรหมก็มีความสุขๆ ความสุขมันก็ไปอมทุกข์อยู่บนพรหมนั้น

“ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นสัจจะ ทุกข์นี้เป็นความจริง”

พอทุกข์นี้เป็นความจริง พอพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจจะ.. ทุกข์มันเกิดมาจากไหน? ทุกข์มันเกิดบนหัวใจของคน ทุกข์มันไม่ไปเกิดบนต้นไม้ ทุกข์มันไม่ไปเกิดในวัตถุธาตุ ทุกข์มันเกิดบนภวาสวะ บนความรู้สึกของคน ความรู้สึกของจิตต่างๆ ทุกข์มันเกิดที่ไหน แล้วถ้าจิตสงบเข้ามา มันเห็นจิตของเรา เห็นไหม

ดูครอบครัวที่มันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะสิ นี่ครอบครัวใหญ่ จิตนี้มันเป็นครอบครัวใหญ่ เพราะมันสร้างภพสร้างชาติมามาก พอสร้างภพสร้างชาติมามาก มันมีสติมีปัญญาของมันขึ้นมา นี่ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาฟังธรรมๆ ฟังธรรมก็เพื่อเตือนหัวใจทุกดวงใจ เตือนหัวใจทุกดวงใจว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดคือที่นี่นะ

เราเกิดมาหาแก้วแหวนเงินทองมหาศาลเลย เกียรติศัพท์ เกียรติคุณทั้งหลายก็ต้องวางไว้ที่นี่นะ แล้วจิตนี้มันจะเคลื่อนไปนะ แล้วจิตนี้มันอยู่กับเรานะ นี่สิ่งที่มีคุณค่าที่สุด สมบัติพัสถานมันจะกองอยู่ที่นี่ มันจะไม่ไปกับเรา ถ้าจิตนี้มันจะไปอีก แล้วบุญกุศลนี่มันไปกับเรา ถ้าบุญกุศลไปกับเรา นี่เราฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเตือนสติ พอเตือนสติขึ้นมา ถ้ามันเห็นคุณค่าขึ้นมา แต่ถ้าจิตมันหยาบนะ จะเป็นจะตายก็ช่างหัวมันเถอะ ขอให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้ไปก่อน มันก็คิดของมันไป

นี้พูดถึงเวลาจิตมันหยาบ แต่ถ้าจิตมันละเอียดล่ะ.. ถ้าจิตละเอียด พอมันสงบเข้ามามันจะย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา เห็นไหม เรามองกันนะ เหรียญมี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเรามองทางโลก ว่างๆ ว่างๆ สบายๆ ดีๆ ไปหมด นี้เรามองในซีกของโลก ซีกของโลกคือโลกียปัญญา โลกียธรรม ธรรมของโลก ธรรมของวิชาชีพ ธรรมของกิเลส ธรรมของเกิดจากภพ

อีกด้านหนึ่ง! อีกด้านหนึ่งพอมันสงบเข้ามา เห็นไหม พอสงบเข้ามานี่มันมองด้วยปัญญา ด้วยภาวนามยปัญญา ปัญญาที่จะชำระกิเลส ปัญญาที่จะถอดถอนกิเลส ปัญญาอย่างนี้มีเฉพาะในพุทธศาสนา มีเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ในลัทธิศาสนาอื่นไม่มี ในลัทธิศาสนาอื่นๆ มองจากโลกียปัญญา มองจากโลก เพราะจิตเป็นโลก จิตเป็นเรา จิตเป็นความรู้สึก จิตมองจากโลก แต่ทำความสงบของใจเข้ามาให้จิตมันเป็นสัมมาสมาธิ

มองจากธรรม! มองจากธรรม เห็นไหม ทุกข์อันเดียวกัน มองจากโลก เวลาทุกข์ขึ้นมาแล้วตีโพยตีพาย ทุกข์ขึ้นมาแล้วเดือดเนื้อร้อนใจ ทำบุญกุศลขนาดนี้ นี่มีคนพูดมาก ว่าเกิดในพุทธศาสนา บอกทำบุญแล้วได้บุญมาก ก็ทำบุญมาตลอดชีวิตเลย ทำไมไม่เห็นได้บุญเลย นี่เวลาทำบุญกุศลจะได้บุญมหาศาล แล้วทำไมไม่ได้บุญซักที ทำไมมีความทุกข์ทุกที นี่มองแบบโลกไง มองแบบโลก

ถ้ามองแบบธรรมล่ะ มองแบบธรรม เห็นไหม ถ้าจิตมันเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว แม้แต่ชีวิตที่เกิดมานี้ก็มีค่ามากแล้ว มนุษย์สมบัติเป็นอริยทรัพย์ของมนุษย์ แต่เวลาเกิดมามนุษย์สมบัติ สัจธรรมคือความทุกข์ สัจธรรมคือความทุกข์ แต่เราไม่เคยเห็นความทุกข์ เราปรารถนาแต่ความสุข เราปฏิเสธความทุกข์โดยไม่เผชิญความจริงกับความทุกข์อันนี้

ความทุกข์อันนี้มันเป็นสัจธรรม มันเป็นพลังงาน พลังงานมันมีความร้อน พลังงานมันมีอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่เราไม่คิดถึงตัวพลังงานนั้น เราต้องการพลังงานนั้นไปขับเคลื่อนอย่างอื่นต่อไป เราต้องการพลังงานนั้นไปขับเคลื่อนรถ ไปขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ไปขับเคลื่อนต่างๆ เราไม่รู้พลังงานนั้นเพื่อประโยชน์กับพลังงานนั้น

ถ้าพลังงานจะมีคุณค่ามาก พลังงานนั้นคือสัมมาสมาธิ พลังงานนั้นคือจิต พลังงานนั้นคือจิตคือกลับมาฟอกตัวของมันเอง ถ้าฟอกตัวของมันเอง นี่ไง ดูสิครอบครัวใหญ่ ครอบครัวในพุทธศาสนา อริยสัจ สัจจะความจริงมันจะเกิดกับเรา ถ้าเกิดกับเรา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาขนาดนี้มันจะย้อนกลับมา

จากประเพณีวัฒนธรรมนะ ไม่ใช่เสียหายหรอก ประเพณีวัฒนธรรมนี่ เราต้องเข้าใจประเพณีวัฒนธรรม แล้วเราเข้าใจว่าประเพณีวัฒนธรรมนี้ เอาไว้เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข เอาไว้เพื่อความสมานสามัคคี แม้แต่ทางยุโรปนะ เขามาเห็นแล้วเขายังรักกว่าพวกเราอีก แต่เราจะทำลายกันไหม เอาแต่ความมันเข้าว่า

ลองศึกษาก่อนสิว่าประเพณีวัฒนธรรมเขาทำเพื่ออะไร เขามีไว้ทำไม เขามีไว้ให้มีการนอบน้อม ให้มีการอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เด็กๆ เคารพผู้ใหญ่ ให้ผู้ใหญ่สั่งสอนเด็ก ให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข ให้มีความเข้าใจกัน ให้ปรึกษากัน ให้คุยกัน เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์กับสังคมนั้น ถ้าสังคมมีความสุข เราก็มีความสุข

นี่พูดถึงประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม แล้วเวลาปักเจกชนล่ะ ปัจเจกบุคคลล่ะ.. ปัจเจกบุคคลก็คือเราไง ถ้าใจของเรา เราแก้ไขใจของเราได้ “จากใจดวงหนึ่ง สู่ใจดวงหนึ่ง” ถ้าเราไม่มีความรู้ไม่มีความเข้าใจ จะเอาอะไรไปบอกเขา เวลาที่เขาถามปัญหาขึ้นมานี่จนตรอกนะ

จากใจดวงหนึ่ง ในหัวใจของเรานี่มันหมักหมมขนาดไหน ใจของเราไม่มีทางออกขนาดไหน แล้วใจของครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนนี่มีทางชี้นำอย่างใด? จะจูงกันอย่างไรให้ออกไปจากความมืดบอดนี้ จะพากันออกไปจากความมืดบอดนี้อย่างไร? แล้วมันจะสว่าง มันจะสงบ มันจะสะอาดอย่างไร? แล้วมันพ้นจากภพ จากภวาสวะ จากความรู้สึกของตัว

มันเป็นไปได้นะ นี่พุทธศาสนาของเรา มันมีคุณค่าตรงนี้ไง ตรงที่เป็นนามธรรม เป็นธรรมแท้ๆ แต่ธรรมแท้ๆ นี่เอาอะไรไปสัมผัสมันล่ะ มันก็ต้องมีประเพณี มีการเปรียบเทียบ เทียบเคียง บุคลาธิษฐาน ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เรารู้ แต่พอเรารู้เองนะจบหมดเลย ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน

ในทุกๆ หัวใจของเรานี้ เราจะรู้ได้จากประเพณีวัฒนธรรม นี่เป็นคุณงามความดี แต่ถ้าไปติดมันก็ได้แค่หยาบๆ อย่างนั้นใช่ไหม เราต้องเอาละเอียดกว่านั้น เอาคุณค่าที่ดีกว่านั้น เอาสุดยอดของสัจธรรม เอวัง