ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อย่าให้หาย

๒ พ.ค. ๒๕๕๔

 

อย่าให้หาย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะอธิบายเรื่องภพชาติ ภพชาติเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ชัดเจน ระหว่างตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติ อดีตชาติใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทวิชชา ๓ รู้อดีตชาติ เห็นไหม อดีตชาตินี่รู้ได้ อนาคตรู้ได้ แล้วชำระกิเลสได้

พระอรหันต์มีหลายประเภท แต่คำว่าประเภทๆ นั้นคือความชำนาญ แต่พระอรหันต์คือการฆ่ากิเลส พอกิเลสสิ้นไปแล้วก็จบ ทีนี้เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติ เห็นไหม ตั้งแต่ ๑๐ ชาติ แล้วย้อนไปไม่มีต้นไม่มีปลาย

คำว่าไม่มีต้นไม่มีปลาย นี่เวลาเป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จะไม่เกิดเล็กกว่านกแขกเต้า แต่ถ้าเราเป็นปุถุชนนะ เราจะเกิดเป็นเล็น เป็นไร เป็นไปหมดนะ เราเกิด! เราเกิด! แล้วถ้าเราเกิดเราก็ขยะแขยงใช่ไหมว่าเราไม่อยากเกิด เราอยากจะเป็นอย่างนี้ ทีนี้เวลาเราเป็นมนุษย์เราก็คิดของเราได้ไง แต่เวลาเราไปเกิดแล้ว เกิดภพใดชาติใดก็รักชีวิตภพนั้นชาตินั้น

มันมีในพระไตรปิฎก เขาเป็นเพื่อนกันใช่ไหม เขาภาวนาแล้วว่าเขาเป็นเพื่อนกัน พอเพื่อนกัน คนหนึ่งทำบุญแล้วไปเกิดเป็นเทวดา ก็ค้นหาเพื่อนใหญ่เลยว่าเพื่อนไปไหนๆ ไอ้เพื่อนมันทำกรรมไว้ มันก็ไปเกิดเป็นหนอนอยู่ในส้วม ทีนี้เทวดาเพื่อนกันเขาก็สงสารใช่ไหม เขาก็มาบอกว่า

“เฮ้ย เอ็งมาทำอย่างนี้ได้อย่างไรวะ เอ็งต้องตั้งใจดีๆ สิ เวลาสิ้นชาตินี้แล้วจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาไง”

เขาบอกว่า “เอ็งอย่ามาพูดเลย เอ็งเป็นเทวดานี่เวลาเอ็งกินอาหารอะไร ของข้านี่ข้าสบายมาก ข้าอยู่ในหลุมส้วมนี่นะ ถึงเวลาก็มีคนเอามาให้ มีคนเอามาให้ ไม่ต้องทำมาหากินเลย”

นี่เราเห็นแล้วเราก็ขยะแขยงแทนเขา แต่เขาอยู่ในภพในชาติใด อาหารของเขาคืออะไร เขาก็รักชีวิตเขา สัตว์ทุกตัวเขาก็รักชีวิตเขาทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นภพใดชาติใด เห็นไหม นี่เราไปวิตกกังวลอดีต อนาคต เราวิจารณ์ไปอนาคตเลยนะ อู๋ย.. เป็นอย่างนั้น เราจะไม่เป็นอย่างนั้น เราจะเป็นทุกข์อย่างนั้น เราไปจินตนาการด้วยความเป็นมนุษย์ไง แต่เวลาเขาไปอยู่ในภพใดชาติใด เขาก็ต้องพอใจรักชีวิตของเขา เขาก็รักภพรักชาติของเขา ใครจะเกิดสถานะสูงหรือต่ำก็รักตัวเองทั้งนั้นแหละ ใครจะรังเกียจเรา โอ๋ย.. บอกเราไม่ดี เราไม่ดี ใครก็รักตัวเองทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้นคำว่าภพชาตินะ นี่เวลาภพชาติในวัฏฏะมันเป็นอย่างนี้ เกิดภพใดชาติใด เห็นไหม ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไปไม่มีต้นไม่มีปลาย คือนับคำนวณไม่ได้ จิตของพวกเรานี่นะนับคำนวณไม่ได้ว่ามันมาจากไหน แล้วเริ่มต้นมาจากไหน คือว่ามันมานี่รู้ได้ แต่มันเริ่มต้นจุดสตาร์ทมาจากไหน เพราะมันเกิดตายๆ มาตลอด แล้วถ้าปฏิบัติยังไม่สิ้นสุดนะ นี่ชาตินี้เราก็มีความสุขกันอยู่อย่างนี้ เวลาตายไปแล้วมันก็ไปอีกชาติหนึ่งๆ มันก็จะวนไป เกิดภพใดชาติใดมันก็จะรักชีวิตไปตลอดไป

ความรักชีวิต ความผูกพัน เพราะเรื่องนี้ชีวิตใคร ใครก็รัก มันเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นคำว่าภพชาติ เวลามาพูดถึงนักปฏิบัติเรา เห็นไหม ภพชาติเวลาอธิบายไปทุกคนก็งงแล้วนะ “ความคิดหนึ่งก็เกิดภพหนึ่ง ความคิดดับไปก็ภพหนึ่งสิ้นไป” เราก็งงนะ พูดอย่างนี้ปั๊บนะมันต้องพูดกับนักปฏิบัติใช่ไหม เพราะนักปฏิบัตินี่ ความคิดหนึ่งมันเสวยอารมณ์ มันก็เกิดความรู้สึกหนึ่ง

ปฏิจจสมุปบาท! อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง.. เพราะความไม่รู้ตัวของมัน มันต้องไปตามธรรมชาติของมนุษย์ คือธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดโดยธรรมชาติ มันเกิดโดยธรรมชาตินะ ถ้าหักห้ามไม่ได้สมาธิเกิดไม่ได้นะ สมาธิคือการหยุดความคิดไง สมาธิคือจิตมันนิ่ง มันไม่คิด มันถึงเป็นสมาธิ ถ้ามันคิดอยู่เป็นสมาธิได้ไหม ไม่ได้

ฉะนั้นบอกว่าโดยธรรมชาตินี่นะมันเกิดดับ ความคิดมันเกิดดับ แต่มันหยุดได้ด้วยสติ ด้วยปัญญานะ ถ้ามันหยุดด้วยสติ ด้วยปัญญา เห็นไหม มันก็ไม่เกิดไม่ตาย อ้าว.. มันก็ไม่มีภพไม่มีชาติ อ้าว.. แล้วจิตมันอยู่ได้อย่างไรล่ะ?

แต่นี้ในวงกรรมฐาน ในวงครูบาอาจารย์ของเรา ท่านเอามาอธิบายให้เห็นกระบวนการทำงานของจิต ถ้าเราไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของจิต เราจะรู้ได้ไหมว่าจิตมันคืออะไร ถ้าเรารู้กระบวนการทำงานของจิตใช่ไหม เรามีสติปัญญาแล้วเรารู้ใช่ไหม เรารู้กระบวนการทำงานของจิต เราเห็นกระบวนการทำงานของจิต แล้วเราหยุดกระบวนการทำงานของจิต โอ้โฮ.. มันทึ่งมากนะ แล้วจิตมันนิ่งอยู่อย่างนี้ โอ้โฮ.. สมาธิเป็นอย่างนี้เหรอ

ไอ้นี่สมาธิว่างๆ ว่างๆ ไม่รู้ว่าสมาธิอะไร งง แต่สมาธิมันมีเหตุมีผลของมันนะ มันต้องหยุดหมด นิ่งอยู่แล้วมี หยุดนิ่งแล้วมี มีก็มีตัวจิตไง ตัวภพไง เพราะตัวภพนี่แหละตัวเวียนตายเวียนเกิด นี่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ แต่ความรู้สึกนึกคิดมันเป็นวิญญาณขันธ์ ๕ วิญญาณขันธ์ ๕ ก็คือสถานะของมนุษย์ไง แต่สถานะของเทวดาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง สถานะของพรหมก็เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ สถานะของนรกอเวจีก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

จิตดวงนี้แหละ! จิตเรานี่แหละแต่เราไปเกิดในสถานะนั้น เหมือนกับหนอนในส้วมนั่นล่ะ มันเกิดเป็นหนอนมันก็รักชีวิตมันนะ เราไปเกิดเป็นเทวดาเราก็รักชีวิตเรานะ เราไปเกิดเป็นพรหม เห็นไหม พรหมมีขันธ์เดียว ผัสสาหาร ความสัมผัสของเขาเป็นอาหารของจิต

วิญญาณาหาร อาหารของเรานี่อาหารคือคำข้าว.. อาหารของวัฏฏะ อะไรคือชีวิต อะไรคืออาหารของชีวิตนั้น ดำรงชีวิตนั้นสืบต่อ ชีวิตคือการสืบต่อ พระสารีบุตรพูดกับนักพรตในศาสนา

“ชีวิตคืออะไร ชีวิตนี้คืออะไร?”

“ชีวิตนี้คือพลังงาน พลังงานตั้งอยู่บนเวลา ตั้งอยู่บนไออุ่น ไออุ่นนี้ตั้งอยู่บนเวลา”

นี่เวลาพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญามาก เวลาการสืบต่อ ถ้าเราไม่มีการสืบต่อ ชีวิตเราจะอยู่ได้อย่างไรล่ะ จากวินาทีหนึ่งไปอีกวินาทีหนึ่ง ชีวิตเราสืบต่อมาอย่างไร นี่ไงชีวิตนี้มันถึงต้องมีอาหารใช่ไหม อาหาร ๔ ในวัฏฏะ

นั่นพูดถึงภพชาติ ทีนี้ภพชาตินะ ฉะนั้นคำว่าภพชาติ เวลาจิตมันจะเกิดโบราณเราจะสอนว่า เวลาเราจะตายให้นึกถึงพระ ให้นึกถึงพระ เพราะเวลามันขับเคลื่อนไป ถ้านึกถึงความดี เห็นไหม ดูสิเวลาเรามีความอารมณ์ความดี เราทำอะไรมีแต่ความสุขหมดแหละ แต่ถ้าเรามีแต่ความทุกข์ใจ ทำอะไรมีแต่ความทุกข์ไปหมดแหละ

จิตเวลามันเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ มันไปพร้อมกับคุณงามความดี มันจะเกิดในสิ่งที่ดีๆ ไง แล้วก็เอาความดีต่อความดีจนสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปได้.. ความจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ต้องอาศัยความดี แต่เวลาจะสิ้นแล้วต้องละดีและชั่ว เพราะดีก็ติดไง ดีนี่มันจะทำให้เราติดอยู่ในวัฏฏะ แต่ก็ต้องอาศัยความดีนี้แหละแก้ไขไป นี่มรรคหยาบ มรรคละเอียดมันจะต่อเนื่องกันไป นี้พูดถึงภพชาติ!

เอาคำถามเนาะ

ถาม : ๑. ขณะเดินจงกรม สายตาเหลือบไปเห็นเงาตะคุ่มๆ ของต้นไม้คล้ายรูปร่างของคน มันมีอาการย้อนกลับมาที่จิต แว็บขึ้นมา แล้วต่อด้วยคำบรรยายว่า “สัญญา สังขาร วิญญาณ” ทำให้ผมเข้าใจว่า ขันธ์ ๕ นั้นสืบเนื่องต่อกันเป็นสายใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ขันธ์ ๕ ถ้าพูดถึงนะ ปัญญาอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด มันหลายขั้น คำว่าขันธ์ ๕ เวลาเราไม่เข้าใจเราจะถามว่า “ขันธ์ ๕ คืออะไร?” ทุกคนจะถาม

ขันธ์ ๕ คือศัพท์! พอศัพท์แล้ว ศัพท์มันมีความรู้สึกนึกคิด เวลาอธิบายคำว่าขันธ์ ๕ สืบต่อกัน มันอธิบายแบบทางวิชาการ อย่างปฏิจจสมุปบาท เห็นไหม อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง เหตุนี้มันถึงมีเหตุนี้กระทบกันไป แต่ความจริงไม่ใช่ ความจริงคืออารมณ์เดียวนั่นแหละ มันสมบูรณ์

ขันธ์ ๕ ก็เหมือนกัน.. รูป เราคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ มันพร้อมด้วยขันธ์ ๕ หมดเลย เพราะอะไร เพราะรูปคือความรู้สึกใช่ไหม สัญญาคือข้อมูลว่าดีหรือชั่ว ถ้าไม่มีสังขารปรุงมันจะมีความรู้สึกได้ไหม ฉะนั้นถ้าเอากันชัดๆ ขันธ์ ๕ มันสมบูรณ์โดยตัวมันเอง ขันธ์ ๕ คืออารมณ์หนึ่ง อธิบายได้เป็น ๕ อย่างที่รวมกันเป็นอารมณ์หนึ่ง แต่ถ้ามันบอกว่าขันธ์ ๕ มันสืบต่อ สืบต่อคือว่าอารมณ์แต่ละอารมณ์ ขันธ์ ๕ แต่ละขันธ์ ๕ สืบต่อ เออ.. อย่างนี้ถูก

ขันธ์ ๕ แต่ละขันธ์ ๕ ไง คือความคิดหนึ่งกับความคิดหนึ่ง มันก็ต่อไปเรื่อยๆ เห็นไหม เพราะความคิดเราไม่จบใช่ไหม นี้ขันธ์ ๕ มันถึงได้เร็วไง ฉะนั้นกระบวนการจิตนี้เร็วกว่าแสง ความคิดของคนนี้เร็วกว่าแสง นี่พลังงานมันไปได้เร็วกว่าแสง ทีนี้พอมันคิด นี่ไงว่าสันตติ จิตดวงหนึ่งก็ไปอีกดวงหนึ่ง.. มันลิเก

ความเป็นจริงของมัน มันไวของมันเอง มันไวมาก ความคิดของเราธรรมชาตินี้มันจะไวมาก พอไวมากปั๊บ ก็ขันธ์ ๕ นั้นคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็ซ้อนขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไป แต่ถ้าบอกว่าขันธ์ ๕ มันสืบต่อ.. นี่ผู้ปฏิบัติใหม่ก็เป็นอย่างนี้ สืบต่อ ใช่! สืบต่อเราก็จับใช่ไหม จับความคิดหนึ่ง แล้วเราก็แยกแยะใช่ไหม ความคิดนี้คืออะไร ความคิดนี้ประกอบด้วยขันธ์ ๕ ถ้าความคิดคืออะไร ใครรู้ความคิดล่ะ?

ความคิดมันคือวิญญาณ คืออารมณ์ไง อย่างเช่นเผ็ดนี่ใครเป็นคนบอกว่าเผ็ด เห็นไหม ลิ้นสัมผัสใช่ไหม แล้วใครรับรู้ว่าเผ็ด นี่ถ้ามันคิดเรื่องอะไร สัญญามันรับรู้เรื่องอะไร แล้วสังขารปรุงล่ะ รับรู้เฉยๆ สัญญานี่เป็นข้อมูล ข้อมูลปั๊บสังขารปรุงเลย พอสังขารปรุงแล้ว วิญญาณดีชั่วมันรับไป แต่มันไวมาก ไวมาก แล้วถ้ามันไวขนาดไหนนะ มันจะไวไปกว่าสติปัญญาไม่ได้ สติปัญญานี่เราจะทันหมด แล้วพอทันหมด เราค่อยแยกแยะตอนนั้น

นี่พูดถึงนะ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราจับอารมณ์แล้วพิจารณาไป เหมือนเด็กเลย เด็กจะทำอะไร ถ้าไม่ถึงกับเสียหาย พ่อแม่ก็ต้องปล่อย เพราะเด็กมันต้องยังมีการพัฒนาการของมัน มันยังไม่มีวุฒิภาวะที่จะรับรู้สิ่งนี้ได้

เรานักภาวนาใหม่ก็เหมือนกัน จะบอกว่าไม่ใช่ขันธ์ ๕ เหรอ.. ก็ใช่! แล้วขันธ์ ๕ มันเป็นการสืบต่อใช่ไหม.. ก็ใช่! แล้วขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ ใช่ไหม. ก็ใช่! มันใช่ทุกอย่างเพราะเหมือนเด็ก เราจะบอกให้เด็กมันรู้กับเรา มันเป็นไปไม่ได้หรอก

แต่นี้เพียงแต่ถามว่า ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้นไหม เป็นอย่างนั้นไหม เราถึงบอกขันธ์ ๕ อย่างหยาบๆ ก็เป็นอย่างนั้นได้ ถ้าขันธ์ ๕ ทางวิชาการนี่ไม่มีตัวขันธ์ ๕ เลยนะ ตัวขันธ์ ๕ คือข้อเท็จจริงไม่มีเลย แต่ศึกษาทฤษฏีแล้วมาเถียงกัน ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้นนะ รูปเป็นอย่างนั้นนะ สัญญาเป็นอย่างนั้นนะ มันพูดแต่ชื่อ มันไม่มีข้อเท็จจริงเลย

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติปั๊บมันจะมีข้อเท็จจริงของมัน ข้อเท็จจริงของมันคือเริ่มเห็น เริ่มจับได้ ถ้าเริ่มเห็น เริ่มจับได้มันก็เหมือนกับเด็กๆ เด็กๆ ก็เริ่มว่านี้คืออะไร นี้คืออะไร พ่อแม่ก็ตบมือให้ โอ้โฮ.. เด็กดีใจใหญ่เลย โอ้โฮ.. พ่อแม่ก็ตบมือ เก่ง เก่ง เด็กก็คึกคักๆ พอทำไปๆ แล้ว เดี๋ยวมันจะเห็นของมันนะ ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป พอละเอียดเข้าไปแล้วมันจะรู้ว่าขันธ์ ๕ ซ้อนขันธ์ ๕ เลย

นี้ถ้าเอาข้อเท็จจริงนะ ขันธ์ ๕ ซ้อนๆๆๆ กันมาเลย แต่ซ้อนๆ มาแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร เราก็ต้องจับให้มันหยุด เห็นไหม เหมือนวงจรเหมือนล้อ ถ้ามันขาดวิ่นไป ล้อมันจะหมุนไปไม่ได้ แต่ถ้าล้อมันหมุนไปได้เพราะมันครบวงจรของมัน ขันธ์ ๕ นี่อารมณ์ที่เกิดขึ้นมาคือพร้อมสมบูรณ์ ถ้าพูดถึงสติมันย้ำ จี้เข้าไปทางไหนนะ แล้วมันหยุดอยู่ตรงนั้นให้มันหยุดนะ ไอ้ ๔ กระบวนการนั้นเกิดไม่ได้ คืออารมณ์มันจะเกิดไม่ได้

ถ้าขนาดว่าจิตเราไม่ดีนะแต่มีสติยับยั้งไว้ มันเหมือนกับเก้อๆ เขินๆ แล้วยึกยักๆ ไปไม่ได้หรอก ความคิดเกิดไม่ได้ แต่รู้สึกอยู่ รู้สึกคือตัวพลังงาน แต่ความคิดเกิดไม่ได้..

นี่พูดถึงกระบวนการของมันนะ แต่นี้คือกระบวนการของมันเฉยๆ แต่มันมีกิเลสซ่อนไว้อีกนะ ขันธ์ ๕ เห็นไหม ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ มนุษย์ก็มีขันธ์ ๕ แต่เป็นภาระ ขันธ์ ๕ ที่สะอาดบริสุทธิ์.. พระอรหันต์นี่นะ ขันธ์ ๕ สะอาดบริสุทธิ์เพราะไม่มีกิเลส แต่พวกเรานี่นะเขาเรียกว่าขันธมาร ขันธ์นี้เป็นมารหมดเลย เพราะกิเลสมันเอาขันธ์เป็นเครื่องมือ

อย่างรถนี่นะ เราจะมากันได้ เราอาศัยรถนี้เป็นพาหนะมา โจรมันจะปล้นนะ มันก็อาศัยรถไปปล้นเขา เพราะมันวางแผนใช่ไหม มันเอารถ ถ่ายรถ ๒ ชั้น ๓ ชั้น มันดีกว่าเราอีก เราขับรถคันเดียวนะ โจรมันขับรถ ๓ คัน ๔ คัน เพราะมันต้องถ่ายรถไง

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเวลากิเลสมันมี มันก็เหมือนโจร มันอาศัยขันธ์ออกไปสร้างบาปสร้างกรรมของมัน แต่นี้กิเลสมันเป็นเราใช่ไหม กิเลสก็เป็นเรา ขันธ์ก็เป็นเรา ทุกอย่างก็เป็นเรา พอไปปล้นเขาก็ดีไง พอปล้นแล้วได้ เพราะเราไปเข้ากับกิเลสหมดเลย เพราะเราไม่รู้ แต่พอมีสติปั๊บเราแยกแยะอันนี้กรรมใช่ไหม พันธุกรรมมึงจะเสียนะ จิตเอ็งเคยได้กระทำมันจะเสียไป นี่เรายับยั้งๆๆ เห็นไหม มันก็เริ่มหยุดมา พอหยุดมา..

หลวงตาบอกว่า “สมาธิแก้กิเลสไม่ได้” แต่ถ้าไม่มีสมาธินะมันเป็นโลกียะ คือปัญญาของโจรหมดเลย ปัญญาที่ไม่มีสมาธิคือปัญญาของโจร แต่พอมีสมาธิ พอปัญญามันจะเกิดโลกุตตรปัญญา นี่ปัญญาของธรรม

ปัญญาของธรรมเกิดจากสมาธิ มันเป็นตัวมาแบ่งแยกว่าอะไรดีอะไรชั่ว พออะไรดีอะไรชั่วแล้วมันจะเกิดโลกุตตรปัญญา ฉะนั้นโลกุตตรปัญญามันเกิดจากสัมมาสมาธิ นี้คือการพัฒนาการของมันใช่ไหม นี่พูดถึงว่าขันธ์ ๕

เพราะเราอธิบายไป ถ้าเป็นอธิบายส่วนตัว ตัวต่อตัวก็พูดอีกอย่างหนึ่ง แต่นี้พออธิบายเป็นส่วนรวมใช่ไหม เพราะคนมันมีความรู้สึกนึกคิด แล้วคนนี่มีสูงมีต่ำ ฉะนั้นเวลาพูดนี่ พูดถึงถ้าคนที่เริ่มต้นภาวนา อู๋ย.. ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้น ใช่ๆๆ หมดเลย ทีนี้คนที่ภาวนาเป็นนะ เขาจะรู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร สูงส่งอย่างไร ต่ำต้อยอย่างไร

เวลาต่ำต้อย ต่ำต้อยเพราะอะไร ต่ำต้อยเพราะกิเลสมันขี่เอา มันสูงส่ง สูงส่งเพราะว่าเรามีสติปัญญารับรู้ แล้วเราเอาขันธ์ ๕ เราพ้นจากการครอบงำของกิเลส นี่เป็นชั้นเป็นตอนไป แล้วเราพ้นไปๆ ถึงที่สุดแล้วนะมันต้องขาด กิเลสขาดคือการสรุปฆ่ากิเลส กิเลสต้องตาย ถ้ากิเลสไม่ตายนะ มันสลบนะ เดี๋ยวมันก็ฟื้น

เวลาเราภาวนากันนะ อู้ฮู.. ว่างหมด ดีหมดนะ เออ.. กูรอเอ็งเสื่อม เดี๋ยวเอ็งจะร้องไห้เลยล่ะ เดี๋ยวเอ็งจะร้องไห้มาเลยถ้าเอ็งเสื่อมวันไหนนะ เพราะอะไร เพราะมันยังไม่ตาย ฉะนั้นต้องบุก ต้องรุก ต้องกระทำตลอดไปให้ต่อเนื่องๆๆ ถ้าวันไหนมันตายนะ ใครบอก.. วันที่กิเลสตายนะ จิตนี่บอก จิตคนปฏิบัตินี้มันบอก! เพราะอะไร เพราะกิเลสมันขี่หัวอยู่ทุกวัน แล้วมันตายไปจากใจเรา เราไม่รู้เลยหรือว่ากิเลสมันตายไปจากใจ

นี่ไงปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังกับจิตดวงนั้น ใครทำคนนั้นเป็นคนรู้ ถ้ากิเลสมันจะตาย ไอ้ใจดวงที่มันตายจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นรู้ก่อน พอรู้เสร็จแล้วก็ไปบอกครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็รับฟังเฉยๆ เออ.. ใช่ หรือไม่ใช่

ครูบาอาจารย์นะไม่สามารถมาทำลายในหัวใจเราได้หรอก มันเป็นสมบัติของเรา เพียงแต่ท่านรับฟังเราว่า เออ.. ใช่กับไม่ใช่เท่านั้นแหละ ถ้าเออคือใช่ ถ้าไม่เออ ก็เอ็งต้องไปทำต่อ เพราะถ้าเอ็งไม่ทำต่อนะ เดี๋ยวเอ็งจะเสียใจเอง ครูบาอาจารย์ไม่เสียใจกับเรานะ

ไอ้คนที่ทำไม่ได้ ทำไม่ถึง แล้วเวลามันเสื่อมนะ เวลากิเลสมันกลับมาขี่คอใหม่นะ หลวงตาท่านบอกว่า “เวลาจิตเสื่อมนี่นะ มันเหมือนกับเศรษฐี มหาเศรษฐีล้มละลาย” แต่ถ้าเราเริ่มปฏิบัติใหม่ เหมือนกับเราไม่เคยมีมาก่อน เราก็ทำอะไรได้ เห็นไหม การปฏิบัติมันยังสะดวกกว่านะ เวลาจิตเสื่อมนี่ แต่! แต่กรณีอย่างนี้มีอยู่ทุกๆ คน

การประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครเจริญงอกงามแล้วไม่ล้มลุกคลุกคลาน ไม่มี มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญทุกดวงใจ พระพุทธเจ้า ๖ ปี การปฏิบัติของเรามันต้องมีล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จไปหมด ไม่มี ฉะนั้นเรื่องจิตเสื่อมนี่โดยธรรมชาติเลย มันมีของมันแน่นอนอยู่แล้ว

ถาม : ๒. การที่เห็นคำสั่งให้พูดและให้คิดออกมาจากจิต อย่างเวลาสวดมนต์จะมีคำสวดเกิดขึ้นที่จิตก่อนสวดออกมาจากปาก แล้วบางครั้งจะเห็นจิตมันสั่งให้คิด อาการนี้เรียกว่าอะไรครับ และจะทำอย่างไรต่อไปโปรดแนะนำด้วยครับ

หลวงพ่อ : เวลามีคำสั่ง มีสิ่งต่างๆ ถ้าสติเราดีเราจะเห็นอย่างนี้ได้ ถ้าสติเราไม่ดี คิดจนจบแล้วนะ บางทีมันค่อยคิดได้ “อ๋อ.. คิดแล้ว” ถ้าสติไม่ดีนะ มันคิดแล้ว มันทุกข์แล้ว ทุกข์จนพอแรงแล้ว “เออ.. เอ็งคิดแล้วนะ” มันก็ค่อยดับ แต่ถ้าสติเราดีเราจะเห็นได้ แม้แต่สวดมนต์ก็เห็นความคิด ถ้าสติดี สมาธิดี เราจะรู้เราจะเห็นของเรา

การรู้ การเห็น เห็นไหม คนไข้เวลาไปหาหมอ หมอต้องถามหาสมุฏฐานของโรค แล้วหมอต้องแก้ตามนั้น ใจของเรา เราจะแก้ไข เราต้องเห็นสภาวะแบบนี้ นี่คือสภาวะแบบนี้ เวลาเราภาวนาดีนะ เราจะรู้ เราจะเห็นของเราเข้าไป แล้วจะไปพูดกับคนอื่นนะเขาว่าบ้า ต้องไปพูดกับครูบาอาจารย์ หรือไปพูดกับคนที่ปฏิบัติด้วยกันเขาจะรู้

เวลาเราปฏิบัติไปแล้ว ไปพูดกับคน.. เพราะโดยโลกนี่เขาศึกษาตามทฤษฏี เขาก็เชื่อตามทฤษฏีของเขา แต่เขาไม่เคยเห็นตามความเป็นจริง พอเราเห็นตามความเป็นจริง เราไปพูดปั๊บเขาบอกว่า “ไม่ใช่ ทฤษฏีเป็นอย่างนั้น” เพราะทฤษฏีนี้คือการคาดของเขา เขาไม่รู้จริง แต่ถ้าไปเห็นจริงขึ้นมา พอเห็นจริง แม้แต่เห็นว่ามันจะคิด มันจะพูด นั่นล่ะเพราะสติมันดี พอสติมันดี มันมีของมันอยู่แล้ว

ห่วงโซ่ เห็นไหม เราตัดห่วงโซ่มันก็ขาดจากกัน แต่ห่วงโซ่มันต่อกัน พลังงานกับความคิดมันต่อกันอยู่ นี่เวลามันคิดโดยอัตโนมัติ คิดโดยธรรมชาติ อู๋ย.. คิดทุกที แต่เวลาสติมันทันนี่มันเห็น นี่ห่วงโซ่ของมัน ห่วงโซ่ของมันขาดได้ มันปล่อยได้ไง พอมันปล่อยปั๊บทีนี้มันเป็นนามธรรมนะ ปล่อยแล้วเดี๋ยวก็คิดอีก คิดแล้วเดี๋ยวก็ปล่อยอีก

ถ้าห่วงโซ่ตัด ถ้าขาดก็คือขาดเลย โซ่ถ้าตัดก็คือขาดเลยต่อกันไม่ได้ ถ้าต่อก็ต้องเอาโซ่ใหม่มาต่อ แต่ถ้าเป็นความคิดมันจะต่อของมัน แต่ถ้ามีปัญญาทัน เห็นไหม มีปัญญาทันนี่เราเห็นแล้ว พอเราเห็นขึ้นมา สติดีมันก็เห็น พอสติไม่ดีนะ คิดเข้าไปจนทุกข์พอแรงแล้ว มันค่อยมารู้ตัวทีหลัง อันนี้คืออาการของมัน เห็นไหม

จิต อาการของจิต แล้วนี่เวลาเราคุยกัน ความคิดคืออาการของมัน ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่าความคิดคือเงา ความทุกข์คือเงา เงาของใจไม่ใช่ใจนะ เงาของมันทั้งหมดเลย เพราะเกิดจากมัน เกิดจากใจนั่นแหละ พอเกิดจากใจขึ้นมาแล้วเป็นอาการของจิต เป็นเงาของจิต แล้วเราก็ไปตรึกกันที่เงาของจิต ไปแก้กันที่เงาของจิต...แก้จนตาย รถมันเสียนะไปซ่อมที่เงารถ แล้วรถก็จอดอยู่นั่นล่ะ จะไปขุดเงามันมาเลย

นี่ก็เหมือนกัน อาการของจิต แต่! แต่เราก็ต้องรู้ พระโสดาบันจะไม่สงสัยในขั้นของโสดาบันทั้งหมด พระสกิทาคามีจะไม่สงสัยในขั้นของสกิทาคามีทั้งหมด พระอนาคามีจะไม่สงสัยของขั้นพระอนาคามีทั้งหมด พระอรหันต์ไม่สงสัยในวัฏฏะหมดเลย ไม่สงสัยในจิต ไม่สงสัยในภพหมดเลย

ฉะนั้นเวลาที่เห็น.. เห็นคืออะไร เห็นก็คือเห็น แต่สงสัย การสงสัยมันเป็นเรื่องของกิเลส แต่ถ้าเราใช้ปัญญาเข้าไปมันจะไปแก้ความสงสัย เพราะปัญญามันจะไปรื้อ ไปรื้อค้นความลังเลสงสัย ไปแยกแยะให้เกิดปัญญาในหัวใจ มันจะไปแยก ไปแยะ ไปตรวจ ไปสอบ ไปตรวจสอบความคิด ไปตรวจสอบที่มันเกิด ไปตรวจสอบที่มันทำไมถึงคิด ทำไมมันถึงมีคำสั่ง ทำไมมันสั่งให้จิตคิด โอ๋ย.. มันจะไปหาหมดเลย หาไปหามามันก็จะเห็นว่า อ๋อ.. เพราะมันโง่ เพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ แต่วิชาคือความรู้ เข้าไปแก้ไปไข ไปดัดไปแปลง เห็นไหม ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

นี่เวลาขั้นของปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามีครูบาอาจารย์ก็จะคอยประคองกันไป คอยบอก คอยชี้ คอยแนะ อาจารย์ของเราต้องเคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา ถึงเป็นอาจารย์ของเราได้ ถ้าไม่เคยผ่านประสบการณ์มานะ พอคนนู่นพูด คนนี้ก็งง เอ็งยิ่งพูด กูก็ยิ่งงง พองงไปงงมา เดี๋ยวก็พากันงง ก่งก๊งเลย

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ อาการอย่างนี้จะเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้เป็นอย่างนี้ มันจะพัฒนาเป็นชั้นๆ ชั้นๆ เข้าไปจนถึงที่สุด แล้วมันพัฒนาเข้าไปเยอะมาก เพราะว่าระยะทางที่เราจะต้องเดินอีกนะ เห็นไหม เวลาพัฒนาการนี่ทวนกระแสเข้าไปสู่จิต ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือทวนกระแสเข้าไปสู่ตัวภพตัวชาติ ตัวเกิดตัวตายนี่แหละ ใจเรานี่เกิดตายมาเยอะนะ แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์

เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราภูมิใจนะ จริงๆ นะ เวลาพูดอย่างนี้เราจะพูดตลอด ว่าเราภูมิใจมาก เราได้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วเกิดมาพบครูบาอาจารย์ ถ้าเราไม่พบครูบาอาจารย์นะ กูยังเละอยู่ก็แล้วกัน เราเชื่อมั่นว่าเราเอาตัวเองเรารอดไม่ได้ เราเชื่อมั่นว่าเรานี่จะเอาตัวเราเองรอดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์บอกเรามา เราเชื่อมั่นขนาดนั้นจริงๆ นะ เพราะมันหลงมาเยอะ เถียงมาจนปากเปียกปากแฉะ สู้ทุกรูปแบบ มันรู้มันเห็นของมัน แล้วพอภาวนามา มาเจอหลวงปู่ดูลย์พูด เห็นไหม

“เห็นจริงไหม”

“จริง เห็นจริงๆ นี่แหละ เห็นจริงๆ ชัดๆ นี่แหละ! แต่ความเห็นนั้นไม่จริง”

คำพูดนี้จริง รู้เห็นจริงๆ นี่แหละ จับต้องได้หมดเลยนี่แหละ แต่ไม่จริงซักอย่าง แล้วเราจะยอมรับไหม เราจะยอมรับหรือเปล่าล่ะ?

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่แน่กว่า รู้จริงกว่าเรานะ ท่านจะใช้อุบายให้ทดสอบเราไง “เอ็งลองทำอย่างนี้สิ เอ็งทำอย่างนี้สิ” พอเราทำไปแล้ว เออ.. จริง เออ.. จริง พอเออจริงปั๊บ มันเป็นความเห็นภายในไง พอเออจริงแล้วมันมีข้อให้คิดไง ทำไมท่านรู้ ทำไมท่านบอกเราได้ ของๆ เรานี่แหละ อย่างเช่นที่ว่าหลวงปู่ขาวไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม

“เอ๊ะ.. มานี่หลวงปู่มั่นจะรู้หัวใจเราไหม จะรู้ของเราหรือเปล่า”

นี่เราคิดของเราเองนะ พอไปเจอหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นซัดเลย

“ใจของตัวล่ะไม่ดู อยากจะให้คนอื่นดูให้ ไอ้ตัวเองยังไม่รู้ใจตัวเองเลย”

โอ้โฮ.. เสร็จเรียบร้อยเลย เงียบกริบเลย

นี่อาจารย์สอนศิษย์ ถ้าอาจารย์ไม่มี ไม่รู้ หมดสิทธิ์ แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นไหม จะทุกข์จะยากขนาดไหนก็แล้วแต่ เราเกิดมานี่เกิดมาร่วมสมัยกับหลวงปู่มั่น หลวงตาจะชมมากว่า “ในสมัยปัจจุบันนี้หลวงปู่มั่นเป็นผู้รื้อค้นมา” หลวงปู่มั่น แล้วมีครูบาอาจารย์ของเรามา อันนี้สำคัญมากนะ

ฉะนั้น สิ่งที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเรามีตรงนี้มีคุณค่ามากเลย ไอ้เรื่องสังคม เรื่องโลกมันก็ต้องสู้กันไปอย่างนี้แหละ เพราะเราเป็นมนุษย์ แต่ทรัพย์สมบัติที่มันสุขจริงๆ ที่เราหากันอยู่นี้ กับความสุขจริงๆ ในใจมันอยู่ที่ไหน ไม่อย่างนั้นเราจะมาทุกข์กันทำไม จะมาตากแดดตากฝนกันทำไม เราก็ไปสร้างสิ่งที่มันมีความสุขสิ นี่มาตากแดดตากฝน สิ่งที่มีความสุขที่เราสร้างขึ้นมานั้นมันเป็นเรื่องวัตถุ ใครๆ ก็ทำได้ แต่หัวใจที่เป็นนามธรรมนี่ใครจะควบคุม ใครจะดูแล ถามใจตัวเองซิว่าใครจะดูแลใจเรา ถามใจตัวเอง

ข้อ ๔๐๕. เนาะ

ถาม : ๔๐๕. เรื่อง “พุทโธ ลมหายใจ”

กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพ กระผมได้มีโอกาสกราบเรียนถาม ๒ ครั้ง และมีโอกาสกราบนมัสการ ๒ ครั้ง ซึ่งในครั้งแรกนั้นได้ถามเรื่อง “พุทโธหาย” (อันนี้สำคัญนะ) พระอาจารย์ก็ตอบว่า “อย่าให้หาย” ผมจึงใช้หลักนั้นในการภาวนามาตลอด สู้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ตามแต่สภาพของจิตใจในแต่ละวัน บางวันแทบจะไม่ต้องทำอะไร ภาวนาไปไม่ถึงนาที จิตใจก็สงบดีแล้ว ครั้งที่ ๒ มีโอกาสนมัสการที่งานศพ

วันนี้มีโอกาสเรียนถามปัญหาและเล่าประสบการณ์สั้นๆ ให้อาจารย์ทราบ

๑. บางวันผมภาวนาด้วยพุทโธไม่ได้ แต่ใช้ลมแล้วดีกว่า ก็เลยใช้ลมแทน ลมนี้เหมือนจะใช้ได้ตลอดไป ลงได้ง่ายกว่าพุทโธ บางวันรู้สึกกลัว (เขาวงเล็บเลยนะว่า “กลัวผี”) ภาวนาพุทโธแล้วอุ่นใจกว่าการภาวนาตามปกติในบางครั้ง ภาวนาแบบนี้ผิดไหมครับ

๒. (นี่พูดถึงฟังธรรมหลวงตากับฟังธรรมเรา)

๓. หลังจากได้มีโอกาสพบกับอาจารย์ในครั้งแรก กลับมาภาวนาพุทโธ มีอยู่วันหนึ่งพุทโธไปสักพัก คำว่าพุทโธมันเด่นชัดขึ้นมา ชัดมากจนตกใจ วันนั้นเป็น ๒ ครั้ง แต่ก็ตกใจทั้ง ๒ ครั้ง เพราะเรื่องนี้จึงทำให้เข้าใจเรื่องเปลือกส้มของอาจารย์ แต่ก็เป็นวันเดียวและครั้งเดียวเท่านั้นครับ

หลวงพ่อ : ฉะนั้นประเด็นตรงนี้นะ ใครมาก็บอกว่าอยากให้พุทโธหาย เวลาเราฟังธรรม เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า

“พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้ พุทโธหายไปนี่มันเข้าอัปปนาสมาธิ”

พวกเราก็อยากได้ผลกัน พออยากได้ผล ใครก็บอกว่าจะพุทโธหาย มันก็เลยทำให้แกล้งหายไง พุทโธ พุทโธ แล้วก็หลับไป พุทโธ พุทโธ แล้วก็อ่อนไปเพราะมันขาดสติ แต่ตามข้อเท็จจริง พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วตะโกนพุทโธ พุทโธชัดๆ จนพุทโธไม่ได้ต่างหาก คือพุทโธมันจะหายตามข้อเท็จจริงของมัน

จริงๆ คือพุทโธหาย แต่ในวงปฏิบัติ ในการอบรมของเรา เราเห็นว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ทุกคนแกล้งให้พุทโธหาย เพราะเรามีจินตนาการแล้วใช่ไหม แล้วครูบาอาจารย์ก็รับประกันเอาไว้แล้วใช่ไหมว่าพุทโธมันต้องหาย ถ้าพุทโธหายนั่นคือเป็นความดี เราก็พยายามแกล้งให้พุทโธหายกัน คือพยายามจะให้มันหายให้ได้ แต่ความจริงมันไม่ใช่หายโดยข้อเท็จจริง คือมันแกล้งให้หาย

ฉะนั้นเราถึงใช้อุบายอย่างหนึ่งว่า “ห้ามหาย! ห้ามหาย!” เราห้ามเอาไว้เลยนะ พุทโธนี้ห้ามหาย ต้องพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ แต่ถ้าไปถึงจริงๆ แล้ว มันจะหายในตัวของมันเอง ถ้ามันหายในตัวของมันเองนะ คนๆ นั้นจะประหลาดใจมาก อู้ฮู! อู้ฮู! เพราะมันได้ลิ้มรส มันได้สัมผัส แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีใครได้ลิ้มรส ไม่มีใครได้สัมผัส แล้วมันแกล้งให้พุทโธหาย แล้วก็ว่า “พุทโธหาย ก็ว่างๆ” “แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ?”

เราเคยขนาดที่บอก แบบว่าใช้อุบายนะ

“สมมุติว่า! สมมุติว่าพุทโธนี่จะพุทโธได้ไหม”

ทุกคนตอบพร้อมกันเลย “ได้ครับ”

แสดงว่ามันไม่หาย เห็นไหม มันไม่หาย! แต่ในเมื่อมีครูบาอาจารย์บอกว่า “พุทโธจนพุทโธหาย” เราก็จะไปสร้างอารมณ์ จะไปวิปัสสนึกไง สร้างภาพให้เป็นอย่างนั้นด้วยการสุกเอาเผากิน เพราะการปฏิบัติแบบสุกเอาเผากิน เลยไม่มีใครได้ผลตอบสนองที่เป็นความจริงเลย

แต่ถ้าเรามีความวิริยะ มีความอุตสาหะ มีความตั้งใจ มีการทำจริง มันจะได้ตามข้อเท็จจริงนั้น แล้วยากไหม.. สุดแสนจะยาก เพราะมันเป็นสมบัติที่มีค่ามาก ถ้าสมบัติอย่างนี้มันไม่มีค่านะ ใครๆ ก็แทนกัน ซื้อกัน หากัน ช่วยเหลือเจือจานกันได้ ของชนิดนี้เจือจานกันไม่ได้ ชี้นำกันได้

ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจือจานได้นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เหมือนพ่อแม่เรา อยากจะขนเราไปหมดเลย แต่บอกอย่างไรมันก็ไม่เชื่อ จะไปอย่างไรล่ะ บอกให้ขึ้นรถ มันก็จะลงเรือ บอกให้ลงเรือนะ มันก็จะไปแพ อ้าว.. แล้วมึงจะไปอย่างไรกันล่ะ? นี่มันไม่เชื่อไม่ฟังกันหรอก เพราะมันไม่เข้าใจ

ฉะนั้นอย่าให้หายของเรา เพราะเราเห็นโทษของการที่ว่าทุกคนตั้งใจจะแกล้งหายกันไปหมดเลย แล้วมาถึงทุกคนก็บอกว่าว่างๆ ว่างๆ นี้เต็มศาลาเลย แล้วว่างๆ อย่างไรไม่รู้.. เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะถ้าเป็นสมาธินะ สมาธิเป็นอย่างนี้ มันมหัศจรรย์อย่างนี้ โอ้โฮ.. มันจะตื่นเต้น มันจะลึกลับของมัน แม้แต่สมาธินี่จะพูดออกมาให้เป็นภาษา ให้เป็นสิ่งที่เราสื่อกัน ยังจะสื่อกันแทบไม่ได้เลย แค่สมาธิเนี่ย แล้วยิ่งถ้าเป็นปัญญาออกรู้จริงด้วยนะ ไม่มีสิทธิ์เลยที่จะสื่อออกมา ถ้าสื่อออกมานะ อาจารย์ที่รู้เท่านั้นฟังออก

ฉะนั้น หลวงตาท่านบอก เห็นไหม ถ้าฟังเทศน์ใครก็แล้วแต่ ท่านจะรู้เลยว่าคนเทศน์นั้นมีกึ๋นเท่าไหร่ กึ๋นในใจมึงนี่มีเท่าไหร่ เพราะพูดออกมา มันพูดออกมาจากความจำ พูดออกมาจากตำรานะฟังออกหมด เพราะมันไม่มีความจริงออกมาเลย แต่ถ้าพูดตามความเป็นจริงนะ ตำราไม่เกี่ยวเลย สาธุ ตำราก็รู้ตามตำรานั่นแหละ แต่ถ้าพูดตามตำรานะมันยิ่งงงนะ เพราะเรามีความรู้สึกอย่างนี้ใช่ไหม แล้วพยายามจะให้ตรงกับตำรา

สังเกตได้ไหมถ้าเราพูดบาลีเมื่อไหร่ วันไหนตายเมื่อนั้น พูดบาลีไม่ได้เลยนะเนี่ย ถ้าพูดบาลีนะเป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อย แต่ถ้าพูดตามความรู้สึกนี่สบายมาก มันพูดได้เลย แต่ถ้าเข้าบาลีเมื่อไหร่ วันไหนก็ตายเมื่อนั้นแหละ พอขึ้นบาลีก็เรือสมอขาด ไปไม่รอด นี่ไงถ้าพูดตามตำราก็ไปอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น คำว่าอย่าให้หายเพราะเราเห็นโทษ เห็นโทษของผู้ปฏิบัติว่าอยากได้ผลกัน จนพยายามจะทำให้พุทโธมันหายไป หายโดยที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าเราจริงจังนะ ตั้งสติพุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดลมก็ได้ ลมกับพุทโธแทนกัน กำหนดลมชัดๆ ก็เหมือนกับพุทโธนั่นแหละ เพราะจิตมันเกาะที่ลม จิตมันเกาะที่พุทโธ แล้วถ้ามันพุทโธ พุทโธจนละเอียดนะ แล้วพอมันจะหายนะมันเกิดอาการวูบ พอเกิดอาการ ตกใจ

จิตปกติ มันจะเปลี่ยนแปลงเป็นสัมมาสมาธิ พอจิตมันไหวทุกคนตื่นเต้นหมดเลย แต่พวกเรานี้มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงไง จิตดิบๆ ก็คือจิตดิบๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หายก็หายอยู่อย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าเป็นสมาธินะ พอมันจะเปลี่ยนแปลง ดูสิพลิกฝ่ามือ การพลิกฝ่ามือ เห็นไหม ของที่อยู่บนหลังมือมันก็หลุดหมดล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันจะพลิกเป็นสมาธิ มันจะเกิดอาการวูบวาบ ตัวพอง ทุกคนจะตกใจหมดเลย แล้วถ้ามันจะวูบลงนะยิ่งตื่นเต้นใหญ่ แต่ถ้ามันไม่มีอาการพลิกเลย มันจะเป็นความสงบลงไปโดยนิ่มๆ มันก็มี แต่ความมีอย่างนี้เขาก็ต้องรู้ถึงสมาธิได้ แล้วพอรู้ถึงสมาธิได้นะ สมาธิมันจะมีค่า อย่างเช่นเราทำเหมืองกันนี่เราขุดหาแร่ ถ้าเราเจอแร่เราก็ดีใจใช่ไหม เราขุดทำเหมืองกัน ถ้าเราหาแร่ไม่เจอซักทีเราจะเป็นอย่างไร

การเจอและไม่เจอ เห็นไหม สมาธิกับไม่สมาธิไง ถ้าการเจอคือเป็นสมาธิ คือมันตื่นเต้น เพราะเราได้ผลตามความเป็นจริง แต่ถ้าเราขุดเหมืองเหมือนกัน แต่เราไม่ได้แร่เลย ขุดได้แต่เหงื่อ อ้าว.. เหงื่อมา ได้อะไร ได้แร่น้ำๆ เหงื่อมันเป็นหยดๆ เลย คือมันไม่เห็นไง นี่จิตมันไม่ได้พลิก

เพราะเรามีคนมาถามปัญหามาก ไอ้อันนี้เห็นโทษมาก ใครมาเราถึงบอกว่า “ห้ามหาย อย่าให้หาย” แล้วทำไปนะ พอเขาทำไปโดยพุทโธ พุทโธ เห็นไหม นี่เวลาถ้าเป็นความจริง..

“ข้อ ๓. หลังจากได้รับโอกาสกราบอาจารย์ในครั้งแรก กลับมาภาวนาพุทโธ มีอยู่วันหนึ่งพุทโธไปสักพัก คำว่าพุทโธมันเด่นชัด”

นี่แค่เด่นชัด คำว่าเด่นชัดนะ พุทโธกับจิตมันจะเป็นอันเดียวกัน พอเด่นชัด เห็นไหม จิตธรรมดานี่มันธรรมชาติของมัน พอมันชัดขึ้นมามันเหมือนกับจิตเราใหญ่ขึ้น เรามีความมั่นคงขึ้น

“คำว่าพุทโธมันเด่นชัดขึ้นมา ชัดมากจนตกใจ”

นี่เวลาจะเป็นสมาธิก็ตกใจ เวลาไม่มีสมาธิก็อยากได้สมาธิ เวลาสมาธิจะมาเยือนนะ ทำให้หลุดมือไปอีกนะ นี่คนภาวนาเป็นอย่างนี้ เหมือนที่ครูบาอาจารย์บอกว่า “อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ” ถ้าเราจะจับเสือ เราต้องเข้าถ้ำเสือ แล้วไปจับลูกเสือออกมาเราจะได้เสือ

นี่ก็เหมือนกัน พอมันจะเข้าถ้ำเสือนะมันขาสั่น ไม่กล้าเข้า เข้าไม่ได้ พุทโธชัดๆ เพราะจิต เห็นไหม เราต้องการจิต เราต้องการสมาธิ สมาธิคืออะไร ก็คือจิตสงบ แล้วเวลาจิตมันจะสงบขึ้นมาก็ตกใจ แต่ถ้ามันมีอาการ มันต้องมี นี่คือข้อเท็จจริง นี่คือการกระทำตามข้อเท็จจริงที่มันมีจริง มันเป็นผลตามความเป็นจริง แต่เราบอกว่างๆ สบายๆ ให้ใครตังค์เรา เราก็สบาย ใครให้ตังค์เราซัก ๑ ล้าน โอ้โฮ.. สบาย มันมาจากไหน มันได้จากตังค์ไง มันได้จากอามิสไง มันได้จากอารมณ์จากภายนอกไง มันไม่ได้จากตัวมันไง

นี่ก็เหมือนกัน ว่างๆ ว่างๆ แล้วได้อะไร แต่ถ้าเรามีจิตสงบนะ ไม่เกี่ยว ตังค์ก็ไม่เกี่ยว สิ่งใดก็ไม่เกี่ยว ไม่มีอะไรเกี่ยวเลย สิ่งนี้เป็นสมบัติสาธารณะ สิ่งนี้เป็นสมบัติของโลก ใจของเรา เราสงบเข้ามามันเป็นสมบัติของเรา มันเป็นสมบัติตามความเป็นจริง ฉะนั้นสิ่งที่เป็นความจริงนี้ต่างหาก

นี่ถ้ามันเป็นความจริงนะ สิ่งที่ว่าสบายๆ นี้มันคิดกันไป แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิปั๊บมันจะเข้าสู่อริยมรรค คือถ้ามีสมาธิ เวลาปัญญามันเกิดมันก็เข้าสู่อริยมรรค มันเข้าสู่ความจริง เห็นไหม แต่ถ้ามันเป็นความรู้สึกของเรานี่มันเป็นโลกไง มันเป็นโลก เป็นโลกียะ เป็นปัญญาของโลก เป็นปัญญาของกิเลส แล้วถ้าเป็นสมาธินะ เราจะไม่บอกว่ามันเป็นถึงมิจฉาสมาธิ

มันมีมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ คือสมาธิผิดกับสมาธิถูก ทีนี้คำว่าว่างๆ เป็นสมาธิๆ นี่สมาธิของใคร เราจะบอกว่า มีครูบาอาจารย์ที่ท่านจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์คอยกรอง คอยชี้นำตรงนี้ บางทีส่วนใหญ่แล้วเวลาปฏิบัติมันน่าเห็นใจ มันน่าเห็นใจเหมือนเด็กๆ นี่เวลามาวัดมาวา เห็นไหม พ่อแม่พามาก็อยากจะให้สนิทคุ้นเคยกับศาสนา เวลาเราปฏิบัติมันล้มลุกคลุกคลาน คำว่าล้มลุกคลุกคลานเราก็ต้องเออออไปก่อนไง

คือต้องให้กำลังใจ ต้องปลุกเร้า ต้องพยายามส่งเสริมไง ทีนี้การส่งเสริมมันมากน้อยแค่ไหนล่ะ? ถ้าส่งเสริมนะ อู๋ยๆ เกือบได้โสดาบันแล้ว อู๋ยๆ จะได้โสดาบันแล้ว มันก็เกินไป แต่ถ้าเราปลุกเร้าว่านี่ความผิดพลาดมันเป็นเรื่องธรรมดา การกระทำเป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้ายัง ๖ ปีอยู่แล้ว เราต้องส่งเสริมกัน ปลุกเร้ากัน ครูบาอาจารย์นะ หน้าที่ครูบาอาจารย์เป็นอย่างนี้

เราอยู่กับหลวงตานะ เวลามันท้อแท้ เราพูดกับพระประจำ พระทุกคนมีการท้อแท้ตลอด เราบอกเวลาเราท้อแท้ เราหมดสิ้นหวังนี่นะเหมือนนักมวย คือเราก็พิงเชือกไง พิงเชือกก็คือไปหาท่านนะ ท่านก็จี้ซักทีหนึ่งนะ พอพิงเชือกก็เด้งขึ้นมาซักทีหนึ่ง เราพิงเชือกคือเรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เวลาเราท้อแท้ เราสู้ไม่ไหวเราก็พิงเชือก แล้วเวลาครูบาอาจารย์กระตุ้นเรา ให้กำลังใจเรา ออกมาค่อยมาสู้อีก ฉะนั้นการภาวนานี่ ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านจะมีตรงนี้ไง

เวลาปฏิบัติไปทุกข์ทั้งนั้นแหละ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา นั่งนี่ดูสิเหมือนกับฤๅษีดัดตน นั่งเป็นครึ่งวันค่อนวัน มันไม่เจ็บไม่ปวด เอาที่ไหนมา มันก็เจ็บปวดทั้งนั้นแหละ การนั่งสมาธิ การภาวนา มันจะไม่ทุกข์ที่ไหน ทุกข์ทั้งนั้นแหละ ทุกข์แล้วเอาอะไรเป็นประกันล่ะ?

อ้าว.. ทุกข์ขึ้นมาแล้ว นี่เป็นความเพียรชอบ เป็นความเพียร เป็นความวิริยะ เป็นความอุตสาหะ เป็นการต่อสู้ เราก็ต้องปลุกเร้ากัน ครูบาอาจารย์นี่ปลุกเร้าให้กำลังใจ ฉะนั้นเวลาภาวนาไป จะบอกว่านู่นก็ไม่ใช่อะไรเลย นั่นก็ไม่ใช่นะ มันก็หมดกำลังใจไปหมด ฉะนั้นสิ่งที่เวลาจะให้กำลังใจ เห็นไหม ให้กำลังใจแล้วทำไป แล้วพอมันรู้จริงขึ้นมานะ อาจารย์ไม่ต้องบอก อาจารย์ไม่ต้องบอก ไม่ต้อง

เวลามันรู้จริงขึ้นมามันจะบอกเลย “ไม่ต้องบอก! ไม่ต้องบอก!” มันรู้ของมันแล้วนะ ถ้ามันไม่รู้สิ โอ้โฮ.. วิ่งหาเลยล่ะ แต่ถ้ามันรู้ของมันแล้วนะ อาจารย์ไม่เกี่ยว เพราะอะไร เพราะมันเป็นสมบัติส่วนตน ที่เราศึกษานี้ศึกษาสมบัติสาธารณะ

ธรรมของพระพุทธเจ้า นี่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ถ้าเป็นธรรมชาติ ที่นั่งอยู่นี่เป็นพระอรหันต์หมดแล้วเพราะมันเกิดมาจากธรรมชาติ การเกิดและการตายก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมชาติคือผลของวัฏฏะ แต่เราจะศึกษาสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ให้จิตนี้หลุดพ้นออกไปจากวัฏฏะเป็นวิวัฏฏะ ถ้าเป็นวิวัฏฏะแล้วนะ หลุดพ้นไปแล้วนะ ความรู้ของเราจะครอบสามแดนโลกธาตุ มันจะรู้จริงเห็นจริงของมัน ตามความเป็นจริง เอวัง