เทศน์บนศาลา

ชีวิตมีค่า

๒ พ.ค. ๒๕๕๔

 

ชีวิตมีค่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ดูฝนตกสิ อากาศร่มเย็น ที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีชีวิต น้ำเห็นไหม การดำรงชีวิตอาศัยน้ำ ที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตเป็นสัตว์เซลล์เดียวต่างๆ อยู่ในน้ำ มนุษย์เราได้สิ่งนั้นเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย

ในร่างกายของเรา น้ำ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งต่างๆ อาหารร่างกายต่างๆ นี้ต้องอาศัยน้ำ น้ำทำให้มีชีวิต แต่... แต่ดูสิ เวลาเกิดคลื่นสึนามิเห็นไหม เวลามันกวาดเข้ามา มันกวาดเอาชีวิตไปหมดเลย จนคนที่เขาเห็นนะเขาบอกเลยว่า “ชีวิตนี้เหมือนเศษฝุ่น” มนุษย์เราเห็นไหม ชีวิตนี้เหมือนเศษฝุ่น ไม่มีค่าสิ่งใดเลย ธรรมชาติมันกวาดต้อนไปหมดเลย

เวลามันเกิดขึ้นมา เรามองกันด้วยความสลดสังเวชว่าชีวิตนี้มันมีค่าขนาดนี้เอง มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ดูอย่างเศษฝุ่นมันมีค่าอะไร มันปลิวไปในอากาศ

ชีวิตเราถ้าไม่มีคุณธรรมในหัวใจนะ เหมือนไม่มีค่าสิ่งใดเลย แต่ถ้าเราทำให้มันมีค่าขึ้นมา มันจะมีค่ามาก มันมีค่าขึ้นมาเพราะอะไร เพราะมันมีคุณธรรม สิ่งที่เป็นคุณธรรมนี้มันจะทำชีวิตให้มีค่า แต่เพราะขาดคุณธรรมเห็นไหม เพราะคนไม่มีคุณธรรมในชีวิต ไม่ใช่ว่ามีชีวิตนี้เหมือนเศษฝุ่นนะ เศษฝุ่นคือว่ามันเป็นสสาร เป็นธาตุ ที่ไม่มีค่าสิ่งใดเลย เวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นมาในธรรมชาติ มันทำลายทั้งนั้น ทำลายได้หมดเลย นั่นพูดถึงโดยวัฏฏะผลของมันนะ ผลของมันคือผลของโลก ผลของทางธรรมชาติ

แต่เวลาบอกว่า “ชีวิตนี้ไม่มีค่า ชีวิตนี้ไม่มีค่า” กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรามันทำให้เป็นลบไปเลย คำว่าไม่มีค่า ก็มีค่าเท่ากับศูนย์ไง มันมีค่าเท่ากับศูนย์มันก็มีค่ากับสสารส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วมันให้ผลประโยชน์กับใครล่ะ

แต่เวลาสิ่งที่มีชีวิตนะ ถ้ามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันได้ทำกรรมทำเวรของมัน มันให้ผลกับกรรมชั่ว กรรมชั่วมันทำกับจิตนี้ให้ต้อยต่ำไปเลยนะ เวลามันเกิดในนรกอเวจีมันเกิดในแนวลบทั้งนั้น

แต่ถ้าทำคุณงามความดีล่ะ ทำคุณงามความดีก็เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม มันเกิดในแนวบวก แต่มันก็เป็นผลของวัฏฏะไง ถ้าเป็นผลของวิทยาศาสตร์ ผลของสสาร ผลของธรรมชาติ มันก็วนเวียนไปในโลกนี้ แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “วัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ” โลกนี้เราเห็นได้ พิสูจน์ได้ด้วยสายตา แต่กามภพตั้งแต่เทวดาลงมา เทวดาเราไม่เห็นแล้ว รูปภพ อรูปภพเราไม่เห็นแล้ว เป็นโลกของวิญญาณ แต่มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปได้ ถ้าเป็นสัจจะความจริงเห็นไหม

ฉะนั้น สิ่งที่มีค่า ชีวิตนี้มีค่ามากนะ มีค่าต่อเมื่อเรามีคุณธรรม มีศีลธรรม มรรคญาณมันช่วยตัดแต่งปรับปรุงให้จิตเรามีค่ามาก มีค่านะ สมัยโบราณสมณะชีพราหมณ์มีศีลมีธรรมฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล เวลาฝนฟ้าไม่ตกผู้ปกครองกษัตริย์เดือนร้อนแล้ว เพราะว่ามันเกิดภัยพิบัติ ประชาชนไม่มีอาหาร เกิดโรคระบาดขึ้นมา เขาจะตรวจสอบเลยว่า กษัตริย์นี้อยู่ในคุณธรรมหรือเปล่า

ผู้มีศีล นักบวชในที่นั้น มีคุณธรรมจริงหรือเปล่า มีศีลมีธรรมจริงไหม ถ้ามีศีลมีธรรมจริงฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทุกอย่างมันมีความอุดมสมบูรณ์ไปหมด ชีวิตนี้มีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าผู้ปกครองไม่มีคุณธรรม พร้อมกับผู้ที่ดำรงอยู่ที่นั้นไม่มีศีลธรรม มันจะทำให้เกิดภัยพิบัติไปหมดเลย

นี่พูดถึงโบราณนะ แต่ในปัจจุบันนี้ เรื่องอย่างนี้เราก็คิดว่าวิทยาศาสตร์มันเจริญใช่ไหม เราก็จะเอาชนะธรรมชาติกัน เราจะปกป้องดูแล เราจะรักษาด้วยความรู้ แต่มันก็เอาชนะไม่ได้หรอก เอาชนะไม่ได้ตรงไหน? เอาชนะไม่ได้เพราะว่ามีกรรมไง

คนเราเกิดมามีเวรมีกรรมมาทั้งนั้น กรรมดี-กรรมชั่ว แล้วเราเกิดมาเรามีความเชื่อในพุทธศาสนา พุทธศาสนาเท่านั้น! ศาสนาอื่นเป็นลัทธิ ลัทธิเป็นความเชื่อ ความเชื่อมีการกระทำมันเป็นความจริงไหม

ความเชื่อเห็นไหม ความเชื่อไม่ต้องทำสิ่งใด ขอให้เชื่อแล้วทำตามนั้น แต่พุทธศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น! พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์เราสอน ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นเลย

กาลามสูตรไม่ให้เชื่อสรรพสิ่งที่อนุมานได้ ทุกอย่างเป็นไปได้ ไม่ให้เชื่อ ให้เชื่อที่เราทำกันอยู่นี้ ให้เชื่อตั้งแต่เรากำหนดพุทโธๆ หรือกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก แล้วถ้าจิตมันเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันเป็นไปอย่างไร ให้เชื่อตรงนั้น! เพราะตรงนั้นมันเป็นความจริงเห็นไหม นี่พุทธศาสนาเท่านั้น

ทีนี้เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราจะทำชีวิตเราให้มีค่า มีค่าแบบประเพณีวัฒนธรรม เขามีศีลมีธรรมของเขา เขาเป็นคนดีของเขา โลกคิดกันอย่างนั้นนะ มีคนพูดมาก “เราก็เป็นคนดีแล้ว เราก็เป็นคนที่ทำคุณงามความดีทั้งหมด ทำไมเราต้องไปวัด? เราก็เป็นคนดีแล้ว ทำไมเราต้องไปภาวนา? ภาวนาแล้วมันจะได้อะไร?” นี่เห็นไหม ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนดี

เขาเป็นคนดีเพราะว่าเขาเกิดมาในพุทธศาสนา เกิดมามีความร่มเย็นเป็นสุข เกิดมาแล้วเขาได้ทำคุณงามความดีของเขามา เวลากิเลสมันมีในหัวใจ กิเลสมันก็คิดแค่นั้น ว่าเราก็ทำคุณงามความดีแล้ว ความดีที่พิสูจน์ได้ด้วยการจับต้องว่าเราเป็นคนดี เราเป็นผู้เสียสละ เราเป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนดีหมดเลย

ดีแบบนี้เห็นไหม ชีวิตมีค่าเท่ากับเศษฝุ่นมันก็วนหมุนไป นี่ไงชีวิตนี้มีค่าเท่ากับฝุ่น เศษฝุ่นทั้งนั้นเลย เศษฝุ่นมันทำอะไรล่ะ เศษฝุ่นมันปลิวไปในอากาศไง เราก็มีค่าเท่านั้น นี่คิดกันแบบวิทยาศาสตร์ เห็นชีวิตเขายังไม่ได้ศึกษา เขายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเขาศึกษา เขาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาจะเห็นคุณค่าของชีวิต

ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก! มีค่าที่ได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่มันเป็นมา ที่ว่าเราเป็นคนดีแล้ว ทุกอย่างดีแล้ว ดีแล้วเพราะเรามีคุณงามความดีของเรามา เรามีกรรมดีของเรามา กรรมดีของเราสร้างมาอย่างนั้น ถ้าเป็นคนดี มีมุมมองที่ดีเห็นไหม

คนดี.. ทำความดีง่าย ทำความชั่วยาก

คนชั่ว.. ทำความชั่วง่าย ทำความดียาก

คนเรามีคุณงามความดีแล้ว มันทำความดีได้ง่าย มันควรจะรีบกระทำ แต่.. ทำไมมันไม่ทำ “อ้าว.. ทำไมต้องไปลำบากลำบน” ความดีนี้เป็นวัฒนธรรม เรามีวัฒนธรรมในใจ วัฒนธรรมมันเกิดจากการตกผลึกของความรู้สึกความนึกคิด ความตกผลึกเห็นไหม มีวัฒนธรรมในหัวใจของเรา วัฒนธรรมประเพณีของเรา เราทำตามสภาวะอย่างนั้น แต่กิเลสมันอยู่ใต้นั้นที่ผ่านวัฒนธรรมเข้าไปก็จะเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน

ถ้าเข้าไปเผชิญหน้ากับมันเห็นไหม เรากำหนดอานาปานสติ เรากำหนดพุทโธๆ ถ้าจิตสงบเข้ามา เราจะไปเผชิญหน้ากับสัจจะความจริงแล้ว ถ้าจิตเราสงบขึ้นมา พอสงบแล้วเราจะเข้าไปรื้อค้นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก จะพลิกแพลงหัวใจของเรา นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ เวลาเทศน์ธรรมจักร เทวดา อินทร์พรหม ส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเลย

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เทศน์ธรรมจักรแล้ว จักรได้เคลื่อนแล้ว จะย้อนกลับอีกไม่ได้” เทวดา อินทร์ พรหม มีความดีใจมาก นี่ไงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วนะ แต่เวลาก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ ดูสิเวลาสร้างสมบุญญาธิการมาเห็นไหม

สร้างสมบุญญาธิการมามันก็เป็นเรื่องของวัฏฏะ เรื่องของโลก การกระทำ การสร้างสมบุญญาธิการ การสร้างบารมีมา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงที่สุดแห่งทุกข์เห็นไหม มันเหนือโลก นี่ไง มนุษย์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์เห็นไหม ถ้ามนุษย์คนหนึ่งได้สามารถกระทำความเป็นไปของจิตจนสิ้นสุดแห่งทุกข์ หมดสิ้นกระบวนการที่มันจะขับเคลื่อนไป นี่มีค่ามาก แล้วเรามีโอกาสเราทำได้ แต่ทำไมบอกว่า “เราเป็นคนดีแล้ว ทุกอย่างพร้อมแล้ว เรายังต้องไปทำอะไรอีก?”

การกระทำอีก มันเป็นการต่อต้าน มันเป็นการต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันขุดหลุมพรางไว้แล้ว ไม่ต้องขยับหรอก มันให้นอนอยู่อย่างนั้น มันไม่ให้ขยับหรอก ที่มันไม่ยอมให้ขยับ เรามีแรงกระตุ้นสิ่งใดให้เราฝักใฝ่ ให้เราขวนขวาย

การขวนขวายนะ ดูสิ เมื่อสมัยโบราณ อาหารการกินถ้าเราจะเดินทางไกล เราจะต้องมีเสบียงไปพร้อม เพราะมันไม่มีร้านอาหารให้อุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ เดี๋ยวนี้นะเราไปไหนมีร้านอาหารทุกอย่างพร้อม เขาบริการได้เต็มที่หมด เพราะอะไร เพราะโลกมันเจริญ ความที่โลกมันเจริญเห็นไหม นี่พูดถึงอาหารนะ เราต้องเตรียมของเราไปสมัยโบราณ สมัยปัจจุบันนี้ไปที่ไหนเราก็ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะทำความสงบของใจเราขึ้นมา เราจะทำใจให้มันพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราจะทำใจของเราให้พัฒนาขึ้นมา เราต้องตั้งสติของเรา เราจะพัฒนาให้ใจของเรามันมีคุณธรรมขึ้นมา ถ้ามีคุณธรรมขึ้นมา มันทำให้คนคนหนึ่ง ทำให้จิตดวงหนึ่ง ดูสิ หลวงปู่มั่นเรา เวลาสิ้นกิเลสแล้วอยู่ในป่าในเขา เทวดา อินทร์ พรหม ต้องมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นตลอด

เทวดา อินทร์ พรหม เราว่าเทวดาอินทร์พรหมเป็นภพที่สูง ใช่.. เป็นภพที่สูงในวัฏฏะ แต่ภพที่สูงหรือภพที่ต่ำหรือภพขนาดไหนมันก็คือจิตหนึ่ง จิตหนึ่งได้สถานะไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดเป็นใครก็แล้วแต่ก็ชีวิตหนึ่งของเขาเห็นไหม

เขาชีวิตหนึ่งของเขา เขาก็มีค่าเท่ากับชีวิตของเขา แต่สัจธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเกิดจากจิตนะ มันเกิดจากการกระทำ มันเกิดจากประสบการณ์ของจิต ถ้าประสบการณ์ของจิตมันไม่ได้แก้ไขขึ้นมา ความลังเลสงสัยต่างๆ มันเต็มหัวใจทั้งนั้น

แต่ถ้ามันได้แก้ไขของมันขึ้นมา แล้วแก้ไขอย่างไร แก้ไขเราก็ต้องมีความพร้อมไง เรามีความพร้อม เรามีความตรงใจ เรามีความตั้งใจ เรามีความปรารถนาดี เราขวนขวายของเรา การขวนขวายเห็นไหม มันจะมีการกระทำ แล้วเราก็มีทุกอย่างพร้อม เราปฏิบัติแล้วแต่ปฏิบัติแล้วทำไมมันลุ่มๆ ดอนๆ ล้มลุกคลุกคลาน

ความล้มลุกคลุกคลานมันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน แล้วเรามีอำนาจวาสนาแค่ไหน ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนานะ ดูสิ ในสังคมโลกเขาบอกว่า “เขาเป็นคนดีแล้ว ทุกอย่างเขาก็พร้อมแล้ว ทำไมเขาต้องไปทุกข์ทรมาน” นี่คืออำนาจวาสนาของเขา เขาเกิดมาพบพุทธศาสนา เขาก็ได้ทำบุญของเขา ทำบุญกุศลของเขา เขาก็พอใจของเขาแค่นั้น

แต่เรามีความเชื่อ มีความศรัทธา มีความมั่นคง มีความมุ่งมั่นที่เราจะประพฤติปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์ เห็นไหม เรามีโอกาสมากกว่าเขาหรือยัง? นี่ไงเรามีวาสนาหรือยัง? เรามีวาสนานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ที่เทศนาว่าการให้คนที่เขาไม่ศรัทธาให้เขาศรัทธา คนที่ศรัทธาแล้วให้ศรัทธามั่นคงขึ้น คนที่ศรัทธามั่นคงให้ประพฤติปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ นี่คือการเทศนาว่าการ การชักนำบริษัท ๔ ให้เข้ามาสู่ศาสนา

ฉะนั้นเวลาเราเชื่อมั่นของเรา เรามีโอกาสของเรา เรามีโอกาสมากกว่าเขาอยู่แล้ว อำนาจวาสนามันก็มาแล้ว ทีนี้อำนาจวาสนาอย่างนี้มันเป็นพื้นฐานที่เราจะเข้าไปเผชิญกับกิเลสของเรา เผชิญกับความจริงในหัวใจของเรา เพื่อจะประพฤติปฏิบัติของเราในหัวใจของเรา ให้ชีวิตของเรามันมีค่ามากขึ้นๆ

ฉะนั้นพอมันมีค่ามากขึ้น เวลาเข้าไปประพฤติปฏิบัติแล้ว มันก็อยู่ที่ว่าจริตนิสัย อยู่ที่ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ทำไม่ได้เราก็พยายามทำของเรา เพราะการทำของเรา ดูสิพาหิยะ เวลาฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย แต่เบื้องหลังของเขาตั้งแต่ชาติที่แล้ว มีคนสงสัยมากไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ทำไมพาหิยะฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย? ”

เขาเตรียมความพร้อมของเขามา เมื่ออดีตชาติเขาเป็นพระเหมือนกัน แล้วตกลงกันว่าจะขึ้นไปภาวนาบนหน้าผาตัด ทำพะองขึ้นไปเสร็จแล้วก็ทำลายทิ้ง บอกว่าต้องภาวนาให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าใครไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ให้ตายบนภูเขาตัดนั้น มี ๒ องค์ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วเหาะไป มีอีกองค์หนึ่งเป็นพระอนาคาแล้วเหาะไป แต่สุดท้ายแล้วที่เหลือตายบนนั้น นี่พาหิยะ

อำนาจวาสนาของเขา เขาทุ่มเทของเขา เขาสละชีวิตภาวนาถึงตายมาแล้ว พอมาเกิดเป็นพาหิยะ เวลาเรือแตกมาก็เข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ เพราะมีคนยกย่องสรรเสริญมาก หมู่คณะที่เคยภาวนามาด้วยกันบนหน้าผาตัดมาเตือน “เธอไม่ใช่พระอรหันต์”

เพราะบุญกุศลได้สร้างมา ถ้าไม่มีหมู่คณะมาเตือนนะ ตัวเองก็จะหลงในลาภสักการะนั้น ทุกคนยกย่องบูชาว่าเป็นพระอรหันต์ๆ พระอรหันต์จอมปลอม ตัวเองก็ไม่ได้เป็น แต่เขายกย่องบูชาก็ชอบใจ ก็พอใจในลาภสักการะที่เขายกย่องสรรเสริญนั้น

แต่เพราะได้ทำบุญกุศล ดูสิคำว่าบุญกุศลเห็นไหม ได้สร้างมากับหมู่คณะ ได้มาเตือนเห็นไหม “เธอไม่ใช่ๆ บัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเผยแผ่ธรรมอยู่ ให้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เขาถึงไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วขอฟังเทศน์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ทีเดียวเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย นี่ไงสิ่งที่เขาทำมา

ฉะนั้น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติมาเพื่อสร้างสมบุญญาธิการ ภพชาติมันสั้นเข้า ถ้าเราปฏิบัติของเรา แต่มันทำได้ มันทำได้เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ไง

ในเมื่อเราต้มน้ำ เราตั้งน้ำบนไฟบนถ่าน บนสิ่งที่มีพลังงาน ถ้ามีอุณหภูมิความร้อนมันถึง น้ำมันจะไม่เดือดเป็นไปได้ไหม มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้! ฉะนั้นถ้าเราตั้งใจของเรา เราทำของเรา แต่ทีนี้ว่าเราตั้งน้ำ เราพยายามจะทำให้น้ำเราเดือด แต่เราดูแลของเราหรือเปล่าล่ะ ตั้งน้ำไว้ที่หนึ่ง เตาอยู่อีกที่หนึ่ง แล้วมันจะเดือดได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน สติมันอยู่อีกที่หนึ่ง คำบริกรรมมันก็อยู่อีกที่หนึ่ง จิตนี้มันก็อยู่อีกทวีปหนึ่ง แล้วก็พยายามทำของเรา ทำแล้วก็คิดโน่นคิดนี่ มันร้อยแปดพันเก้า มันไม่เป็นข้อเท็จจริงไง มันถึงไม่เป็นผลไง ถ้าไม่เป็นผล เราตั้งสติสิ ตั้งสติของเราขึ้นมา พุทโธชัดๆ ทุกอย่างชัดๆ แล้วเราทำของเราขึ้นมา เราทำของเราว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงเห็นไหม

ดูสิในเมื่อเราเอาน้ำตั้งอยู่บนความร้อน ความร้อนถ้าเตาอุณหภูมิมันถึงมันต้องเดือดเด็ดขาด นี่ก็เหมือนกัน เรามีสติของเรา เรากำหนดคำบริกรรมของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา เราทำของเรา ตั้งใจทำ มันต้องมีผลเด็ดขาด คำว่ามีผลแล้ว เราจะมีสติปัญญาแค่ไหน เราจะประคอง เราจะดูแลหัวใจของเรา

ชีวิตนี้มีค่ามาก มีค่าตรงนี้ มีค่าเวลาเราภาวนาแล้วเราเปลี่ยนแปลงแก้ไขของเรา มันจะพัฒนาของมัน แล้วพัฒนาขึ้นมามันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ใจนั้นรู้ แต่เวลากิเลสอยู่ในหัวใจ เวลามันเปลี่ยนแปลงขึ้นมาก็ตกอกตกใจ มันมีสิ่งใดขึ้นมา เราก็ประหวั่นพรั่นพรึงไปกับมัน “อย่างนู้นจะเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้” แล้วกิเลสมันเข้ากับกิเลสได้ดีมาก

โลกเขาบอกว่า “ภาวนาไปแล้วจะเสียสตินะ ภาวนาไปแล้วจะเห็นอะไรความ ลึกลับมหัศจรรย์” มันจะมหัศจรรย์ขนาดไหน ถ้าจิตนี้เป็นผู้รู้ จิตนี้มีค่ากว่าความมหัศจรรย์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะความมหัศจรรย์นี้จิตนี้เป็นผู้รู้ใช่ไหม จิตมีค่า มีความมหัศจรรย์กับสิ่งที่มีความมหัศจรรย์ เพราะมันจะมหัศจรรย์ขนาดไหน จิตเราเป็นคนรู้

ถ้าจิตเราเป็นคนรู้ แล้วมีสติปัญญาขึ้นมา มันจะมหัศจรรย์ขนาดไหน เราก็รู้ด้วยสติพร้อม จิตนี้เหนือกว่าตลอด เราประคองจิตของเรา ถ้าเรากำหนดด้วยสติ กำหนดด้วยคำบริกรรม ด้วยปัญญาอบรมสมาธิ ด้วยความรับรู้สึก มันจะมีสิ่งใดมา ตกใจไหม? ตกใจ.. สิ่งนี้ไม่เคยเห็น สิ่งที่มหัศจรรย์มันต้องมีการสะเทือนแน่นอน

สิ่งที่เหนือการคาดหมาย เราคาดหมายว่าจิตสงบแล้วจะมีความสุขอย่างนั้น จะมีคุณงามความดีอย่างนี้ นี้มันเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา ที่สังคมโลกสัญชาตญาณของจิตรับรู้ได้ เพราะมันมีมาประจำของจิต แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นมา มันเหนือ.. มันเหนือสิ่งที่คาดหมาย มันจะมีความมหัศจรรย์ มันจะลงขนาดไหน มันจะกระเพื่อมขนาดไหน

“วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์” เวลามันเกิดปีติ มันเกิดสุข มันเกิดความตั้งมั่น จิตเวลามันปล่อยขึ้นมามันเป็นเอกเทศของมัน เราก็แปลกใจมันก็กระเพื่อม เราก็แปลกใจเราก็มีความประหวั่นพรั่นพรึง มันหวั่นไหวไปหมดเลย มันหวั่นไหวไปหมดเพราะเหตุใด มันหวั่นไหวเพราะจิตเราไม่เคยสัมผัส จิตเรารู้ไม่ได้ จิตเรามันรู้แต่สุขเวทนา ทุกขเวทนา จิตเรารู้ได้แต่เรื่องขันธ์ ๕ จิตเรารู้ได้ด้วยสัญญา จิตเรารู้ได้ด้วยจริตนิสัย จิตเรารู้ได้ด้วยการตกผลึกในใจ ตกผลึกเป็นประเพณีวัฒนธรรม มันรู้ได้แค่นั้น

แต่พอมันไปเจอความจริง ความจริงที่เหนือโลก ความจริงที่มันจะพาให้จิตนี้ออกจากกิเลส มันจะทำความจริงให้เรารู้จักกิเลส เรากลับไปประหวั่นพรั่นพรึง แล้วบอกมันเป็นมหัศจรรย์.. จะมหัศจรรย์ขนาดไหน ถ้าเรามีสติปัญญาเราควบคุมได้หมด ถ้าเราควบคุมได้หมดแล้วเราตั้งมั่น ถ้าจิตมันตั้งมั่นแล้วเราออกหาออกกระทำ ออกกระทำให้มันเป็นพุทธศาสนา ชีวิตมีค่าเพราะมีการกระทำ จิตมีค่าเพราะมีการกระทำ มีการค้นคว้าในตัวของจิตเอง เพราะจิตเวลาสงบแล้ว จิตมันออกรู้สิ่งใด ออกรู้เห็นไหม ออกรู้ในธรรมารมณ์

“ธรรมารมณ์” เป็นธรรมะ เป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ออกรู้ในความเศร้าหมองความผ่องใส ออกรู้ในเวทนา ในความสุขความทุกข์ ออกรู้ในกายที่เห็นด้วยนิมิตกับในกายที่เห็นด้วยปัญญา มันพิจารณาของมัน ถ้าจิตมันออกรู้มันพัฒนาของมัน มันจะมีค่าขึ้นมา แล้วมันจะเกิดความมหัศจรรย์ยิ่งกว่าที่เราคุยกัน ยิ่งกว่าที่มันคาดหมาย ยิ่งกว่าที่มันนึกคิด

ถ้ามันไม่ยิ่งกว่านะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติบอกจิตสงบๆ แล้วนะ พิจารณากายเป็นอย่างไร มันเป็นภาพ มันเป็นวิปัสสนึก มันเป็นสิ่งที่จิตทำได้ ทำได้เพราะเหตุใด ทำได้เพราะจิตใต้สำนึกมันมีกิเลสของมันใช่ไหม เวลากิเลสของมัน มันสร้างภาพของมัน เวลามันทำสิ่งใดของมันขึ้นมา ถ้าอย่างนั้นไม่ตกใจ ไม่ตกใจเพราะอะไร ไม่ตกใจเพราะกิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสมันสร้างให้เรา วิปัสสนึกมันก็เหมือนการตกผลึกของใจ

มันเป็นวัฒนธรรม มันสร้างเอง จิตสร้างขึ้นมามันก็ไม่ตกใจ แต่ถ้าเป็นธรรม เวลาจิตมันสงบขึ้นมามันเป็นธรรม พอจิตสงบมันเป็นธรรมแล้ว มันออกรู้ตามความเป็นจริงของมัน มันตกใจ มันตกใจเพราะอะไร เพราะมันไม่เคยรู้ เพราะมันไม่เคยเห็น เพราะมันรับรู้สิ่งนี้ไม่ได้

แต่เวลามันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันเคยรับรู้ มันเคยเห็น มันเคยเสวยภพชาตินั้น รับรู้สิ่งนั้น มันก็เป็นสัญญาเห็นไหม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เป็นปัจยาการ เป็นจิตปฏิสนธิจิต จิตใต้สำนึกที่มันฝังอยู่ในใจ สิ่งใดมันมีข้อมูลของมัน

สิ่งที่จิตมันมีข้อมูลของมัน มันเคยพบเคยเห็นมา มันเจอสิ่งใดมันก็ไม่ตกใจ มันก็ไม่ประหวั่นพรั่นพรึง แต่สิ่งใดที่เหนือกว่านั้นมันจะประหวั่นพรั่นพรึง มันประหวั่นพรั่นพรึงเพราะเหตุใด มันประหวั่นพรั่นพรึงเพราะมันจะเข้ามาทำลายตัวมัน เพราะมันจะเข้ามาชำระกิเลสของมัน

ถ้ามันชำระกิเลสของมันเห็นไหม เวลาจิตสงบแล้ว เวลาออกรู้มันสะเทือนหัวใจมาก! ความสะเทือนหัวใจเห็นไหม เพราะระหว่างโลกกับธรรมมันแตกต่างกัน ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ ไม่ประหวั่น ไม่พรั่นพรึง มันจะรู้ไว้เพื่อจะออกมาคุยกัน จะรู้ไว้เพื่อออกมาวิตกวิจาร เพื่อเอามาเทียบเคียงกัน แต่ถ้าเวลามันเป็นความจริงนะ เวลาจิตสงบแล้วมันรู้เห็นตามความเป็นจริง มันรู้เห็นแล้วมันถอดมันถอนในหัวใจ ถ้ามันถอดมันถอนในหัวใจ เราจะไปคุยกับใคร

เราจะคุยได้ เปรียบเทียบได้กับครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าครูบาอาจารย์ของเราไม่เคยรู้เคยเห็นตามข้อเท็จจริงนี้ จะเป็นครูบาอาจารย์ของเราไม่ได้ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา จิตของครูบาอาจารย์เราต้องเหนือกว่าเรา เพราะชีวิตของครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติแล้ว ชีวิตของท่านมีค่าในตัวของท่าน

ในชีวิตของเรา มันจะมีค่ากับเรา ถ้ามันมีค่ากับเรานะเวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันประสบความจริงขึ้นมา เราปรึกษาสิ เรามีครูบาอาจารย์ไว้ทำไม พ่อแม่ครูจารย์เห็นไหม ท่านเลี้ยงเรามา พ่อแม่ครูจารย์มาจากไหน พ่อแม่ครูจารย์ อาจารย์เอกของโลกคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศนาว่าการได้ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ก่อน แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ยสะ ได้อีก ๕๔ องค์ จึงเป็น ๖๑ องค์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมครั้งแรก “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน เพราะโลกนี้เร่าร้อนนัก ต้องการธรรมะ เธออย่าไปซ้อนทางกัน”

“เราก็จะไปนครราชคฤห์” นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เวลาออกเผยแผ่ธรรมขึ้นมา ท่านออกมาด้วยความที่ไม่ติดสิ่งที่เป็นโลกและสิ่งที่เป็นทิพย์ “เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์”

พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ที่ตรงไหนล่ะ พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ก็ในหัวใจนี้ ถ้าผู้พ้นแล้วมันถึงเทศนาว่าการเผยแผ่มาด้วยความถูกต้องดีงาม ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนมา การประพฤติปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนมามันมีการกระทำจริงไง ถ้าไม่มีการกระทำจริง รู้จริงไม่ได้

นี่ไงภาคปฏิบัติของเรา ครูบาอาจารย์สำคัญมากนะ สำคัญที่จะคอยชี้นำ

๑.ไม่ให้เราเสียเวลา

๒.ไม่ให้เราหลงผิดไป

๓.ไม่ให้เวลาเราปฏิบัติแล้วเราเลิกไปเลย

เราทำอะไรแล้วเหมือนกับเอาหัวชนภูเขา ไม่มีใครคอยบอกคอยชี้นำ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านชี้นำได้ เพราะจิตใจของท่านก็ต้องผ่านกระบวนการของท่านมา กระบวนการอย่างนี้โลกไม่มี กระบวนการอย่างนี้เกิดขึ้นจากจิตที่มันเป็นสัจธรรม จากที่มันเป็นความจริง เวลามันเห็นของมันตามความเป็นจริง มันถึงสะเทือนกิเลส พอมันสะเทือนกิเลส เราแยกแยะของมัน มันจะมีค่าของมันขึ้นมาเรื่อยๆ นะ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ

อย่ามักง่าย ปฏิบัติกันอยู่นี้ สิ่งที่เป็นขึ้นมา มักง่ายสุกเอาเผากิน ถ้าสุกเอาเผากิน โดนกิเลสมันหลอกก็อีกเรื่องหนึ่ง เวลาสุกเอาเผากินโดยเรานะ การวิปัสสนาการทำนี่นะดูสิ ดูเวลาผู้บริหารจัดการ เป็นผู้รับผิดชอบประเทศจะเครียดไปหมดเลย ผู้ที่รับผิดชอบมันต้องมีความรับผิดชอบ มันเป็นนิสัยของคน แต่คนที่ไม่รับผิดชอบสุกเอาเผากิน สักแต่ว่าคิดเอา แล้วยิ่งมีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทียบเคียงเอา แล้วว่ามันจะเป็นอย่างนั้น

เวลาเราปฏิบัติกันเราก็ปฏิบัติแสนทุกข์แสนยากนะ สิ่งใดที่เป็นทรัพย์สมบัติเราหามาได้มา เราต้องเก็บหอมรอมริบ เราต้องรักษาของเรา ถ้าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทรัพย์นั้นก็จะเสียหายไป นี่ก็เหมือนกันในการประพฤติปฏิบัติ เราอย่ามักง่าย อย่าสุกเอาเผากิน เราต้องตั้งใจทำของเรา แม้แต่เงินทองเวลาเราเก็บ เราต้องเก็บด้วยความเรียบร้อย เก็บด้วยความกลัวจะหล่นหาย

แต่เวลาเป็นสติ เวลาเป็นสมาธิมันเป็นนามธรรม แล้วจะเก็บงำอย่างไร เราจะดูแลรักษาของเราอย่างไรเพื่อไม่ให้เสื่อมค่า ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าทรัพย์สมบัติของเรามีคุณค่า เราจะไปแลกเปลี่ยนสิ่งใดมามันก็จะเป็นสมบัติของเรา นี่ก็เหมือน กันถ้าเรามีสติ เรามีสมาธิ เรามีปัญญา เราใคร่ครวญของเรา สิ่งที่ได้มา “ตทังคปหาน” แล้วพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเห็นไหม พิจารณากายเหมือนกัน พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่ละครั้งๆ มันไม่เหมือนกัน

พิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผลที่ตอบมาไม่เหมือนกัน แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะอะไร เพราะมันเป็นปัจจุบัน การพิจารณาเห็นกายในสภาวะการแบบนี้ พิจารณาไปให้เห็นเป็นความเศร้าหมอง พิจารณาไปให้เห็นความเป็นปฏิกูลโสโครกต่างๆ พิจารณาซ้ำแล้ว ความเป็นปฏิกูล ปฏิกูลในเชิงใด ในลักษณะใด

ถ้าเราพิจารณาในเชิงปฏิกูลสถานะนี้ พิจารณาในเชิงปฏิกูลในปัจจุบันนี้ แล้วมันเห็นโทษของมัน มันปล่อยวางของมัน เราจะพิจารณาในเชิงปฏิกูลซ้ำแล้วซ้ำเล่าในกระบวนการเก่า มันก็เป็นสัญญา กิเลสมันรู้ทัน พอกิเลสมันรู้ทันมันก็เป็นอย่างนั้นๆ เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง จะทำให้เราลำบาก จะทำให้เรามีการต่อต้าน จะทำให้เราล้มลุกคุกคลาน จะล้มลุกคุกคลานขนาดไหนจะต้องตั้งสติเห็นไหม

นี่คือการไม่สุกเอาเผากิน ถ้าเราสุกเอาเผากิน เราพิจารณาครั้งนี้เราได้ผล เราจำสัญญาว่านี้เคยได้ผลอย่างนี้ ทำอย่างนั้นครบกระบวนการแล้วมันจะปล่อย มันจะปล่อยเป็นตทังคปหาน ทำไปแล้วมันไม่เป็นหรอก มันเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง

คำว่าเป็นบ้างหมายถึงว่ากิเลสมันหลอกเรา “เป็นนะ เห็นเป็นอย่างนั้นนะ” กิเลสมันบังเงาเราก็เชื่อไป แต่ถ้ากิเลสมันไม่บังเงาไม่ร่วมมือกับเรา ไม่เป็นหรอก มันไม่เป็นอย่างที่เป็นเพราะสิ่งที่เป็นนั้นมันเป็นปัจจุบันธรรมนะ

คำว่าธรรม มรรค ๘ มีดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ งานชอบคือสติปัญญา มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยความเป็นจริง ถ้างานไม่ชอบ มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ด้วยความสร้างภาพ งานชอบและงานไม่ชอบ คือปัจจุบันนั้นทำสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ สติชอบ สมาธิชอบ ความเพียรชอบ ความชอบธรรม เวลามันเกิดขึ้นมาแต่ละครั้ง ถ้าความชอบธรรมนั้นมันสมบูรณ์ มรรคญาณ มรรคมันหมุนเห็นไหม

ธรรมจักรมันหมุน จักรของธรรมที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเกิดจักร เกิดมรรคญาณ เกิดปัญญาที่มีศีล สมาธิเห็นไหม มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แล้วปัญญานี้มันจะหมุนของมัน ความสมดุลของมัน ความสมดุลของปัญญา

ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา มีความสมดุล มันก็ปล่อย นี่ไงมันเป็นตทังคปหาน คือปล่อยชั่วคราวๆ ถ้าเราไม่สุกเอาเผากิน เรามีสติปัญญาของเราใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า คุณค่าของชีวิตมันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะมันเข้าใจไปเรื่อยๆ แล้วพอพิจารณาไปแล้ว พอมันปล่อย โอ้โห มันมีความสุขนะ

เวลาปล่อยมันเหมือนกับพระอรหันต์เลย ออกมาแล้วมันมีความเบากาย เบาใจ จิตใจมันอยู่ในความควบคุม เดินไปไหนนะแบบพระอรหันต์เลย พูดได้ จะโม้ธรรมะโม้ได้ทันทีเลย

ถ้าโม้ธรรมะนะ เดี๋ยวจิตจะเสื่อม... เพราอะไร เพราะพลังงานที่มันใช้ออกไป มันเกิดความวิตกกังวล เกิดความสงสัย

ฉะนั้นเวลาภาวนาไป เราทุกข์ยากมาก แต่เวลาเราภาวนาของเราไป พอจิตมันเคลื่อนที่ มันภาวนาเป็น มันจะมีความสุข ความสุขเวลาเราก้าวเดินอยู่ เหมือนกับไม่ได้เดิน เหมือนกับลอยไป มันมีความสุขเหมือนลอยไป เบาไปหมดเลย

นั่นแหละ แต่อย่าเผลอสติ นี่ไง ความสุกเอาเผากิน ถ้าความสุกเอาเผากิน จิตนี้เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วกว่าจะเจริญ ทุกข์มาก.. แต่เจริญแล้วเสื่อมนี้ง่ายมาก แต่เสื่อมแล้วเจริญต้องพยายามด้วยความมุมานะบากบั่น ความมุมานะบากบั่นเห็นไหม

ทรัพย์สมบัติทางโลกเขาหากันมา เขาหามาด้วยสัมมาอาชีวะ เขาต้องมีปัญญามีความรอบคอบ เขาถึงหาเงินหาทองมาเพื่อเป็นสมบัติของเขา นี้เราหาธรรม! เราหาธรรมเพื่อมาพัฒนาจิตของเรา มันจะหาอย่างง่ายดายอย่างที่เราคิดหรือ?

สิ่งที่เราได้มาเพราะเราลงทุนลงแรงของเรามา เราตั้งสติปัญญาของเรามา แล้วเราทำด้วยความล้มลุกคลุกคลานมา มันมีประสบการณ์มาให้เข็ดขยาดกับการมักง่าย กับการสุกเอาเผากิน เพราะเราล้มลุกคลุกคลานมา มีสติปัญญาของเรา เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนานี้เป็นแค่กิริยาของกาย แต่เวลาจิตมันหดตัวเข้ามา มันเป็นสมาธิมันอยู่กลางหัวอก ในทางจงกรมในการนั่งสมาธินั้น แล้วเวลามันเกิดปัญญาขึ้นมา มันเกิดขึ้นในจิตของเรา มันหมุนของมัน มันพัฒนาการของมันในหัวใจของเรา ใครจะรู้กับเราได้!

แต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นแล้วรู้กับเรา! รู้แล้วไม่ใช่รู้ธรรมดานะ รู้แล้วส่งเสริม ส่งเสริมด้วยการไม่ให้ใครเข้ามาคลุกคลี การไม่ให้ใครมาทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นเสียเวลา แล้วพยายามส่งเสริมให้ออกวิเวก ให้พยายามวิเวกปลีกตนออกมาเพื่อให้จิตนี้มีโอกาส ให้จิตนี้มีการกระทำของมันขึ้นมาเห็นไหม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างนี้คือการไม่สุกเอาเผากิน!

คนที่ทำสุกเอาเผากิน เวลาจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันพิจารณาแล้วมันปล่อยวางขึ้นมาด้วยการสุกเอาเผากิน เตลิดเปิดเปิงไปเลยนะว่าตัวเองมีคุณธรรม มันจะมีประสบการณ์ของจิต แต่มันยังไม่ถึงสิทธิ์ที่มันเป็นคุณธรรมแท้ ถ้าคุณธรรมแท้มันจะเป็นอกุปปธรรม

กว่าที่มันจะเป็นอกุปปธรรมได้มันต้องมีประสบการณ์ ดูสิ เวลาเราไปทำงานทางโลก เวลาเขาไปสมัครงาน เขาต้องการผู้ชำนาญการ คนผ่านประสบการณ์กี่ปีๆ เขาไม่ต้องไปเสียเวลาฝึกของเขาไง จิตที่พัฒนาของมัน มันปฏิบัติของมัน มันมีประสบการณ์แค่ไหน มันมีประสบการณ์แล้วมันประสบความสำเร็จแค่ไหน มันมีประสบการณ์แต่มันยังทำโครงการนั้นทั้งโครงการไม่จบ มันจะผ่านไปได้อย่างไร ต้องทำซ้ำทำซากๆ จนจิตนี้มีความชำนาญ

ถ้าจิตมีความชำนาญ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า มันจะปล่อยขนาดไหน กี่หน ร้อยหน พันหน แสนหนช่างหัวมัน! เพราะอะไร เพราะกระบวนการมันยังไม่จบ ถ้ากระบวนการมันจบ เวลามันขาดพิจารณากายมันก็ขาด พิจารณาเวทนามันก็ขาด พิจารณาจิตก็ขาด พิจารณาธรรมก็ขาด คำว่าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ถ้าพิจารณากายขาด “กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

พิจารณาเวทนาขาด “เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา” เพราะเวทนาเป็นขันธ์ ๕ อยู่แล้ว “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕”

พิจารณาจิต “จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่จิต”

พิจารณาธรรม “ธรรมไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ธรรม”

ถ้าพิจารณาขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันจะรู้หมดเลย ไม่ใช่ว่าไล่เข้ามา แต่ขณะที่ปฏิบัติ ถ้าพิจารณาเวทนา พิจารณาเวทนาแล้ว พิจารณาเวทนาเล่า แล้วพอมันจืดมันชืด เราจะใช้อุบายพิจารณาจิต พิจารณาธรรม มันเป็นอุบายที่ว่าเราจะให้การงานนี้มันสด ถ้าการงานนี้มันคุ้นชิน จิตใจมันไม่สดชื่น

ความสด ความสดในการประพฤติปฏิบัติ ความสดมันจะพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะเกิดการกระทำ เกิดความมุมานะ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นอุบาย แต่เวลามันขาด สิ่งใดสิ่งหนึ่งขาด ขาดหมด! เวลามันขาดออกไป สังโยชน์มันขาดออกไป จิตนี้รู้เต็มหัวอกเลย นี่คืออกุปปธรรม

สิ่งที่เป็นอกุปปธรรมจิตนี้รู้ จะไม่เสื่อมสภาวะจากนี้ จะเจริญก้าวหน้าไปอย่างเดียว ถ้าเรามีความมุมานะเราจะเจริญก้าวหน้าไป แต่ถ้าไม่มีความมุมานะ อย่างนางวิสาขา นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แล้วปรารถนาเท่านั้น แต่พระอานนท์เห็นไหม เป็นพระโสดาบัน ขณะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ นี้เป็นพระโสดาบันนะ เวลาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่หน้าที่การงานล้นมือ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เราตถาคตนิพพานไปแล้ว อีก ๓ เดือนข้างหน้าเขาจะมีการสังคายนา เธอจะเป็นพระอรหันต์วันนั้น” พระอานนท์ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ในการที่สุดแห่งทุกข์เห็นไหม พอเป็นพระโสดาบันแล้วเรารู้เอง

คำว่ามรรคผลนี่นะ ถ้าคนไม่เชื่อมันถือว่าสิ่งนี้มันสุดวิสัย มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคนที่ประพฤติปฏิบัติ มันเป็นไปได้.. ในเมื่อจิตเวลาเวียนตายเวียนเกิด จิตเวลาเกิดทางวิทยาศาสตร์เขาก็ว่าเกิดจากครรภ์ แต่ในทางธรรมนะ จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้เวียนตายเวียนเกิด เกิดในภพชาติใดก็แล้วแต่ จิตจะเวียนตายเวียนเกิด จิตเรานี่แหละ เราสร้างบุญกุศลมา สร้างบาปอกุศลมาในหัวใจเรานี่แหละ กรรมของเรานี่แหละมันให้ผลกับเรามาตลอด

แต่ในปัจจุบันนี้เรามีสติสัมปชัญญะพอสมควร แล้วเราพยายามฝึกหัดปฏิบัติของเรา แล้วเวลากระบวนการมันเกิดขึ้น มีสติ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แล้วศีล สมาธิ ปัญญา ที่กระบวนการนี้การฝึกในการใช้ปัญญา

การฝึกใช้ปัญญาเห็นไหม มรรคสามัคคี มรรค ๘ เวลารวมลงเป็นหนึ่ง รวมลงเป็นมรรคญาณ แล้วทำลายอวิชชา ทำลายความเห็นผิดในหัวใจ สักกายทิฏฐิเวลามันขาด อะไรคือขาดออกไป คือสังโยชน์ขาด ชีวิตมีค่าอย่างนี้ไง

ชีวิตมีค่า ถ้าเป็นปุถุชน เป็นคนธรรมดา มันจะเวียนตายเวียนเกิด แล้วเวลาทุกข์โศกเศร้าขึ้นมามันเหยียบย่ำหัวใจโดยที่ไม่มีสติปัญญา แต่ถ้าเราพิจารณาของเราจนกิเลสมันขาดนะ เป็นพระโสดาบัน

นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน แล้วทำบุญกุศลมากให้หลานทำหน้าที่แทน ให้หลานเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นิมนต์พระไปฉันทุกวัน แล้วให้หลานเป็นคนอุปัฏฐากพระ มีวันหนึ่งหลานนั้นสิ้นชีวิตลง นางวิสาขาเสียใจมาก ร้องไห้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามนางวิสาขา “วิสาขาเธอเป็นอะไร?” ร้องไห้เสียใจมาก “เธอร้องไห้ทำไม?”

“ร้องไห้เพราะหลานตาย”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามนางวิสาขาว่า “ในโลกนี้ไม่มีคนเกิดและคนตายหรือ?”

“มีคนตายทุกวัน”

พอมีคนตายเห็นไหม หยุดเลย นี่เป็นพระโสดาบัน เวลามีคนเตือน ทันทันที พอทันแล้วความโศกความเศร้านั้นหายไป แต่ถ้าเป็นปุถุชนไม่มีโอกาส เป็นปุถุชนพูดเท่าไหร่นะมันก็หาเหตุผลโต้แย้ง แล้วก็เถียงไปอย่างนั้น เถียงไปเพื่ออะไร เถียงไปเพื่อทุกข์ไง เถียงไปให้หัวใจมันโดนกิเลสมันเหยียบย่ำทำลาย

แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันนะ ถ้าไม่มีใครเตือน จิตมันเห็นภาพเห็นสิ่งต่างๆ เตือนหัวใจตัวเองมันก็หยุดได้ ความเศร้าความโศกมันหยุดออกไปจากใจ แล้วมีคุณค่าปฏิบัติต่อไป ก็พิจารณาทำความสงบของใจให้ลึกซึ้งมากขึ้น

สมาธิของโสดาปัตติมรรค สมาธิของสกิทาคามิมรรค สมาธิของอนาคามิมรรค สมาธิของอรหัตตมรรค มันมีน้ำหนักแตกต่างกัน มันมีความลึกซึ้งแตกต่างกัน เพราะกิเลสมันหยาบละเอียดแตกต่างกัน

พระโสดาบัน สักกายทิฏฐิความเห็นผิดในจิตนี้เป็นเรื่องหนึ่ง ความหลงอุปาทานในจิตก็อีกเรื่องหนึ่ง อุปาทานในอะไร ก็อุปาทานในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าจิตสงบเข้าไปแล้วจับต้องได้เลย จับต้องได้เพราะเริ่มกระบวนการ กระบวนการฐานบังคับบัญชา กระบวนการเริ่มต้น ขันธ์นอก ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ความเห็นกายมันเห็นได้มาตลอดเลย ถ้าพิจารณากายจนมันปล่อยกาย พิจารณากายเป็นปฏิกูลมันปล่อยกายหมดแล้ว ความปล่อยกาย พิจารณากายซ้ำ

ถ้าพิจารณาซ้ำนะ พิจารณากาย พอจิตสงบแล้วจับกาย พอจับกายได้ก็เป็นกายอีก แต่พอพิจารณาไปแล้วมันจะคืนสู่สถานะของเขา ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ พิจารณาสักกายทิฏฐิความเห็นผิดมันเป็นปฏิกูลโสโครก มันไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนา ถ้าพิจารณาซ้ำเข้าไป มันจะคืนสู่สถานะของเขา สถานะของเขาเพราะอะไร ชีวิตมีค่า จิตมีค่า ความรู้สึกมีค่า พลังงานมีค่า

เพราะพิจารณาด้วยพลังงาน พิจารณาขึ้นมาจากใจ ถ้าใจเป็นสัมมาสมาธิแล้วมันจับกายได้มันพิจารณาด้วยพลังงานในหัวใจ ถ้าพิจารณาในหัวใจมันแก้ไข พอพิจารณาไปแล้วมันคืนสู่สถานะเดิมของเขา สถานะเดิมเพราะอะไร เพราะมันมีตบะธรรม มีพลังงานแล้วมีปัญญาขึ้นมาแยกแยะสิ่งต่างๆ คืนสู่สถานะเดิม มันก็ปล่อย ปล่อยซ้ำปล่อยซาก ต้องขยันหมั่นเพียร! พอถึงที่สุดมันขาดนะ “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” มันขาด ว่างหมดเลย พอว่างไปเห็นไหม กามราคะ ปฏิฆะมันอ่อนลง อ่อนลงมันรู้ตัวเห็นไหม

ดูสิ จากโสดาบันขึ้นเป็นสกิทาคา ถ้าสกิทาคามี กามราคะปฏิฆะมันอ่อนลง มันมีความสุขของมัน ความสุขนะ นี่ชีวิตมีค่า มีค่าแบบนี้ มีค่าเห็นไหม มีค่าจนถึงที่สุดนะ มีค่ามาก มีค่าจน ดูสิ เวลาเราปฏิบัติไปถึงที่สุดนะ เราจะรู้กระบวนการของเราไปหมด

กระบวนการอย่างนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันลึกซึ้ง “จะสอนใครได้หนอๆ” เพราะการสอนทางโลกเป็นสัญญา การสอนทางโลกเป็นวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์เวลาพิสูจน์ตรวจสอบแล้วก็พิสูจน์ตรวจสอบเพราะอะไร เพราะมันเป็นสสาร ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ได้ทั้งนั้น

แต่เวลาเป็นจิตล่ะ เราพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใช่ไหม เราก็มีหลอดแก้ว เรามีห้องทดลอง เราก็ทดลองของเราได้ อุปกรณ์ใดเราก็สร้างขึ้นมาได้ แต่สติปัญญาเราสร้างมาจากไหน? สมาธิเอามาจากไหน? สมาธิก็คือสมาธิของเรา แล้วเวลาคนประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ดูสิ ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ถ้าเจโตวิมุตติก็ต้องการสมาธิมากขึ้น พอสมาธิมากขึ้นมา สมาธิเป็นฐานเป็นกำลัง มันจับขึ้นมา แล้วเวลามันพิจารณาไป ให้มันเป็นปฏิกูลให้มันเป็นอสุภะ ให้มันเป็นอะไรต่างๆ

พอมันเป็นขึ้นมา จิตมันรู้มันเห็น มันผงะหมดนะ ถ้าจิตมันผงะของมัน มันก็เริ่มปล่อยของมัน แล้วเวลาจิตมันพิจารณาของมันไป มันก้าวเดินของมัน มันพัฒนาของมันไป แล้วเวลากิเลสมันหลอกนะ มันหลอกไปเรื่อยๆ “เอ็งจะได้ขั้นนั้น เอ็งจะได้ขั้นนี้” ขั้นบ้าขั้นบอมันจะหลอกไปตลอด มันบังเงามาตลอดนะ ฉะนั้นเวลาการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติขึ้นมาแล้วทุกคนจะสาธุการกับเรา

ดูสิเวลาเราปฏิบัติอยู่ในป่า เทวดาอินทร์พรหมสาธุการ เทวดาอินทร์พรหมฝ่ายที่เป็นสัมมาทิฏฐินะจะสาธุการกับเรา แต่สาธุการกับเราเพราะอะไร เพราะเขารู้ไง เขารู้ว่าคนคนนี้ ผู้ที่ปฏิบัตินี้ เขาปฏิบัติเพื่อสิ่งใด ปฏิบัติเพื่อทำคุณงามความดีในหัวใจ คุณงามความดีในหัวใจนั้นมันเป็นนามธรรม แล้วใครรู้เห็นด้วยล่ะ แต่เวลาเทวดาอินทร์พรหมเขาสาธุการ เขาอนุโมทนากับผู้ปฏิบัตินั้น แล้วผู้ปฏิบัตินั้นทำได้จริงหรือเปล่าล่ะ ถ้าทำได้จริงขึ้นมา กระบวนการของมันมันมีขึ้นมา มันพิจารณา เวลามันพิจารณาจนถึงที่สุดเห็นไหม “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” มันจะมีความสุข ความสุขนะ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ถ้าจิตอยู่ในอารมณ์ที่มีสติควบคุมเป็นสมาธิ โลกนี้ราบหมด

โลกนี้ราบหมายถึงว่าไม่มีสิ่งใดสะดุดใจ ใจนี้มันไม่มีสิ่งใดที่เข้าไปข้องแวะเลย มันว่างหมดเลย มันจะมีความสุขขนาดไหน ความสุขอย่างนี้ ความสุขที่ว่าไม่มีสิ่งใดมาข้องแวะใจได้ ถ้ามีสติ แต่ทีนี้ถ้าไม่มีสติมันก็ออกรับรู้ เพราะมันมีกิเลสตัวละเอียดใช่ไหม แต่ถ้าเรามีสติควบคุมอยู่ โลกนี้จะไม่มีสิ่งใดมาข้องแวะใจนี้ โลกนี้ราบหมด ไม่มีสิ่งใดจะเข้ามาข้องแวะใจนี้ได้เลย ถ้าผู้ที่ไม่มีสติปัญญาก็ว่านี้คือสิ้นกิเลส ถ้านี้คือสิ้นกิเลสนะ จะต้องเกิดต้องตาย แล้วต้องตายในกามภพ เพราะว่ากามราคะยังไม่ได้เจอ ยังไม่ได้ชำระล้าง

ความรู้ความเห็นมันอยู่ที่วุฒิภาวะ ถ้าคนที่มีวุฒิภาวะ มีอำนาจวาสนา ถ้าสืบค้นกับธรรมและวินัย ธรรมวินัย มรรค ๔ ผล ๔ การกระทำอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ถ้ากิเลสมันบังตามันก็บอกว่า “สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม” แล้วสิ่งนี้เห็นไหม โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ไม่มีสิ่งใดที่จะมากระทบกระเทือนหัวใจได้เลย เพราะมีสติควบคุมไว้

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจไปมากกว่านี้ ขั้นตอนตรงนี้จะพยายามเข้าไปสู่กิเลสเพื่อจะค้นคว้าหากิเลส มันถึงทำได้ยาก นี่ถึงต้องมีครูบาอาจารย์คอยบอกคอยเคาะคอยชี้แนะ แต่ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์เราจะทำของเราเอง เรามีอำนาจวาสนาเราก็จะออกรื้อค้นออกค้นหา แต่ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนาเราก็จะหลงติดอย่างนี้ เราก็จะได้ผลแค่นี้

ถ้าได้ผลแค่นี้เห็นไหม นี่เรียกว่าติด คำว่าติดหมายถึงว่า ไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ถึงที่สุดคือว่า จิตดวงนี้ไม่เคยตาย แล้วไม่เคยตายอย่างไร ไม่รู้เห็น.. ไม่รู้ไม่เห็น รู้เห็นไม่ได้ เพราะยังไม่เข้าไปสู่จิตเดิมแท้ ไม่เข้าไปสู่ข้อมูลเดิม

ถ้ามันเข้าไปสู่จิตเดิมแท้ จิตปฏิสนธิจิต จิตเริ่มต้น จิตที่กระบวนการของมันที่จะไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม นี่เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเราพิจารณาของเรา ชีวิตมีค่าขึ้นมา ๒ ขั้นตอน ๒ ขั้นตอนมีค่ามาก แต่สิ้นสุดแห่งทุกข์มันมีค่ามากกว่านี้ แต่เพราะบุญญาธิการของเรามีแค่นี้ เพราะกิเลสต่างๆ มันหลอกลวง แล้ววุฒิภาวะของเรามันไม่มีสิ่งใดรองรับ วุฒิภาวะของเราไม่มีสิ่งใดที่มันจะคิดแตกต่าง

ถ้ามันคิดแตกต่างได้ ถ้ามันคิดแตกต่างมันพิจารณาของมัน มันจะออกได้ คิดแตกต่างเพราะเรามีครูมีอาจารย์ คิดแตกต่างเพราะมีการศึกษา คิดแตกต่างเพราะเรามีการเปรียบเทียบ พอเปรียบเทียบเข้าไปแล้ว พอจิตมันสงบมากกว่านี้แล้วออกรู้ ออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่คือขันธ์ ๕ อย่างหยาบ ขันธ์ ๕ อย่างกลาง ขันธ์ ๕ อย่างละเอียด

พอมันจับขันธ์ ๕ อย่างละเอียดได้ พิจารณากายเห็นไหม พิจารณากายเป็นปฏิกูล พิจารณากายไปสู่ธรรมชาติเดิมของเขา พิจารณากายเป็นอสุภะ

ถ้าจิตมันสงบเข้าไป เป็นมหาสติ มหาปัญญา ถ้ามันจับได้ มันสะเทือนเลื่อนลั่นนะ เวลาประพฤติปฏิบัติ เราก็คิดว่าเราจะฆ่ากิเลส เราก็คิดว่ากิเลสนั้นเป็นศัตรู เหมือนสงครามระหว่างประเทศ ถ้าประกาศสงครามแล้วเราต่อสู้ เราจะเอากองทัพเราบุกเข้าไปในอีกประเทศหนึ่ง ทำลายให้ราบเลย เราจะฆ่ากิเลสหมดเลย อย่างนี้เป็นเรื่องโลก

แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราจะฆ่ากิเลสเห็นไหม สงครามธาตุสงครามขันธ์ กว่าเราจะทำความสงบของใจ ให้จิตสงบเข้ามา ผ่านขันธ์เข้าไปสู่จิตมันถึงจะเป็นความสงบ ขณะที่เราจะผ่านขันธ์เรายังไม่รู้ขันธ์เป็นอย่างไรเลย

แล้วจิตมันสงบแล้ว จิตมันออกรู้ขันธ์ นี่คือเกิดสงคราม ถ้าจิตออกรู้ขันธ์ ออกเห็นรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นขันธ์ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั้นคือสงครามธาตุสงครามขันธ์ สงครามเกิดขึ้น สงครามมีการกระทำ ถึงที่สุดกระบวนการของมัน มันจะเกิดสันติภาพ เวลาพิจารณาซ้ำเข้าไป เกิดสงครามที่ละเอียดขึ้นมา เวลาถึงที่สุดขึ้นมา วิปัสสนาถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดสันติภาพ

ฉะนั้นเวลาเกิดสันติภาพ แล้วเราจะทำต่อไป เราจะไปค้นหาที่ไหนล่ะ ขันธ์อย่างละเอียดกว่าเราจะจับต้องได้ กว่าเราจะค้นหาได้ นี้คือการขุดคุ้ยหากิเลส การประพฤติปฏิบัติเราคิดว่าเราจะฆ่ากิเลส กิเลสเป็นกองทัพระหว่างประเทศ เราจะทำสงครามขึ้นไป เราจะบุกเข้าไปโจมตีทำได้ นี่คือจินตนาการ.. แต่ถ้าภาคปฏิบัติขึ้นไปนะ โลกราบเป็นหน้ากลอง ไม่มีสิ่งใดกระทบกระเทือนเลย เราก็คิดว่านี่คือสิ้นสุดแห่งทุกข์ แต่ความจริงมันก็ไม่ใช่! แต่เวลาจิตเราสงบเข้าไปเป็นมหาสติมหาปัญญา แล้วมันจะไปพิจารณาตรงไหนล่ะ

ถ้าใครจับต้องได้ ใครขุดคุ้ยหากิเลสได้ เหมือนเราจะทำสงคราม กองทัพฝ่ายข้าศึกเขาซ่อนซุ่มไม่ให้เห็น ถ้าเรารู้ว่ากองทัพข้าศึกมันซุ่มซ่อนอยู่ที่ไหน เป็นกลศึกของเขา แล้วเรารู้เราวางแผนตีโต้กลับ เราไปเห็นกองทัพทั้งกองทัพเลย

นี่ก็เหมือนกัน การขุดคุ้ยหากิเลส ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม คำว่าเห็น พูดง่ายๆ นะ แต่ถ้าเป็นกระบวนการทางความจริงนั้นแสนยาก แล้วพอมันเห็นกระบวนการของมันตามความเป็นจริง กระบวนการที่เราจะจับต้องได้ มันสะเทือนเลื่อนลั่น หัวใจนี้สั่นไหวหมดเลย แล้วพอพิจารณา ถ้าจับกายได้ จับเวทนาได้ จับจิตได้ พิจารณาด้วยมหาสติมหาปัญญา มันจะเป็นอสุภะ

อสุภะ พิจารณากายเป็นปฏิกูล พิจารณากายสู่สถานะเดิมของเขา พิจารณากายเป็นอสุภะ เป็นอสุภะเพราะอะไร อสุภะเพราะจิตใต้สำนึก กามราคะ ปฏิฆะ คำว่าปฏิฆะมันเป็นข้อมูลในกามฉันทะในหัวใจ กามฉันทะของคนไม่เหมือนกัน ดูสิ เวลาเราพิจารณาขึ้นมา คนโทสจริต โมหจริต ราคจริต

โทสจริต เขาจะเกิดจากความโทสะของเขา โลภจริต เขาจะเกิดจากความลุ่มหลงของเขา กามราคะเห็นไหม สิ่งนี้มันแตกต่างกัน ฉะนั้นพอคำว่าแตกต่างกัน เวลามาสู่ข้อมูลเดิมอย่างนี้เวลาพิจารณามันถึงแตกต่างกัน ที่ว่ากามฉันทะอยู่ใต้หัวใจ เวลาพิจารณากามราคะ พิจารณากายมันเป็นอสุภะ พอเป็นอสุภะมันเยิ้ม อสุภะมันสิ่งที่เป็นปฏิกูลโสโครก มันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

น่ารังเกียจอย่างไร น่ารังเกียจเราก็คิดว่าน่ารังเกียจใช่ไหม เราจินตนาการได้ว่าน่ารังเกียจ น่ารังเกียจเราก็รู้อยู่แล้ว ทุกคนโดยสัญญา โดยสมอง โดยความคิดรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างนั้น เพราะครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา ท่านก็เทศนาว่าการไว้ มันก็เป็นทางวิชาการเราก็เข้าใจเองทั้งนั้น!

วิชาการนี้เราศึกษาแล้วเราจะละกามราคะได้ไหมล่ะ มันก็ไม่ได้… เพราะอะไร เพราะจิตใต้สำนึกมันเป็นนามธรรมที่ไม่มีใครจะไปชำระล้างมันได้!

แต่จิตของเรามันเป็นนามธรรมเหมือนกัน จิตมันเป็นมหาสติมหาปัญญาเหมือนกัน เวลามันจับต้องมันอสุภะได้ มันพิจารณาของมัน “เกลือจิ้มเกลือ” ระหว่างกามราคะต้องเป็นอสุภะเข้าไปต่อต้านกัน พอเข้าไปต่อต้าน มันพิจารณาแล้วมันก็ไปรื้อค้น จากหลุมลึกถมจนตื้นเขินขึ้นมา จากสิ่งที่ฝังลึกในหัวใจ สิ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก เวลาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันเหมือนแผล แผลลึกเห็นไหม เวลาเราพิจารณาแล้ว มันจะเกิดเนื้อขึ้นมา เกิดอะไรขึ้นมาจนตื้นขึ้นมา จิตที่มันลึกๆ เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนมีความชำนาญของเราขึ้นมา ความชำนาญ พิจารณาแต่ละครั้ง จนสติหรือสมาธิมันอ่อนลงไป สิ่งนี้พิจารณาแล้วมันจะไม่สมความปรารถนา พิจารณาไปแล้วมันติดขัดไปหมด มันทำอะไรสิ่งใดไม่ได้เลย จับต้องอะไรผิดไปหมดเลย

ถ้ากำลังไม่พอ จับต้องสิ่งใดมันจะผิดพลาด ตกๆ หล่นๆ ทั้งนั้น แต่ถ้าสติหรือสมาธิมันมีกำลังพอ พิจารณาไปมันเห็น รู้คุณค่าของมัน พอมันปล่อยมีความสุข สุขจากการปล่อยวาง มันไม่ได้สุขตามความเป็นจริง สุขตามความจริงกระบวนการต้องเป็นอกุปปธรรม กระบวนการต้องสิ้นสุดของมันถึงจะเป็นความสุขที่แท้จริง

ความสุขอย่างนี้ สุขจากการปฏิบัติไง เวลาทุกข์ ล้มลุกคลุกคลาน ทุกข์เพราะการประพฤติปฏิบัติ ทุกข์เพราะความมุมานะของเรา ทุกข์แสนทุกข์ ทุกข์ขนาดไหนก็จะสู้! เราเคยได้ประสบการณ์ของธรรมมา มันทุกข์แค่ไหนมันก็จะสู้ สู้เพื่ออะไร สู้เพื่อสิ้นสุดแห่งทุกข์

ถ้าเราไม่ถอดถอนขึ้นมา ทุกข์อย่างนี้มันจะปักคาเสียบคาใจอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้าสิ่งนี้มันปักคาเสียบคาใจเห็นไหม ชีวิตมีค่าๆ มันจะมีค่าแค่ไหนล่ะ มันมีค่าขึ้นมาเพราะเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว แต่มันไม่ถึงที่สุด ความมีค่านี้มันครึ่งๆ กลางๆ ความมีค่านี้มันต้องมีค่าจนเหลือล้น มีค่าจนพ้นออกไป จนเป็นมนุษย์ยอดมนุษย์เลย ยอดความรู้สึกของเรา ฉะนั้นมันต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ

ในเมื่อกิเลสมันละเอียด ชั้นเชิงหรือการหลอกลวงของกิเลสชนิดนี้ มันจะสร้างภาพให้เราล้มลุกคลุกคลานมาก ฉะนั้นจะต้องมีความละเอียดลึกซึ้ง ยิ่งกว่าคำว่าสุกเอาเผากินอีก คำว่าสุกเอาเผากินมันเป็นเรื่องของโลกๆ แต่อันนี้มันเป็นมหาสติมหาปัญญา คำว่ามหาสติมหาปัญญามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ เราเป็นคนมีชีวิต เวลาทางโลกนะ ประพฤติปฏิบัติเขายังไม่ใส่ใจเลย เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา มันละเอียดลึกซึ้งขนาดนี้มันมาจากไหน มันเป็นความมหัศจรรย์นะ ผู้ทำเองมันก็มหัศจรรย์ในตัวมันเอง

มหัศจรรย์ขนาดไหนก็ต้องสู้ มหัศจรรย์อย่างไรก็ต้องทำ มหัศจรรย์นี้มันเป็นสภาวะของจิตที่มันพัฒนา ระหว่างที่มรรคมันก้าวเดินออกไป เวลาพิจารณาอสุภะ เขาบอกว่าเหมือนน้ำป่า รุนแรงมาก มันรุนแรงเพราะมันสะเทือนเลื่อนลั่นถึงกามภพ

คำว่ากามภพ จิตนี้ไม่เคยตาย เวียนตายเวียนเกิด แต่ถ้าพิจารณาสิ่งนี้แล้ว กามภพจะต้องหลุดออกไปจากจิตนี้ จิตนี้จะไม่อยู่ในอำนาจของกามภพ มันจะครอบงำกามภพ แต่มันจะไปติดรูปภพ-อรูปภพข้างหน้า แต่ถ้าเราพิจารณาขึ้นมาตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคา มันยังเกิดในกามภพ เพราะอะไร เพราะเทวดา อินทร์ พรหม เป็นพระสกิทาคามากมายมหาศาล เป็นพรหมโดยปุถุชน เป็นพรหมโดยอริยบุคคล

มันยังเวียนตายเวียนเกิดเพราะจิตนี้ไม่เคยตาย แต่ไม่ตายในสถานะไหน สถานะที่มันมีคุณธรรมของมัน มันก็เวียนตายเวียนเกิดของเขาเหมือนกัน แต่เขามีคุณธรรมของเขา แต่จิตที่เป็นปุถุชน จิตที่ทำคุณงามความดี มันก็เวียนเกิดเวียนตายเหมือนกัน แต่เวียนเกิดเวียนตายโดยอนิจจัง เวียนเกิดเวียนตายโดยความไม่มั่นคง

แต่ถ้าจิตที่เป็นอริยบุคคล ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขาเวียนตายเวียนเกิดโดยความมั่นคง มั่นคงเพราะโสดาบัน ๗ ชาติ ๓ ชาติขึ้นมา มันจะสั้นของมันขึ้นมาจนถึงที่สุดมันจะไปของมัน นี่คือความมั่นคงนะ ขณะที่จิตที่มันมั่นคง แต่เวลาปฏิบัติทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ

มันมั่นคงเพราะข้อเท็จจริงของจิต แต่การชำระกิเลสมันเป็นเรื่องอีกส่วนหนึ่ง การชำระกิเลสอันละเอียดมันเป็นการกระทำ มันเป็นเรื่องของกิเลส เราจะฆ่ากิเลส ฉะนั้นการฆ่ากิเลส การต่อสู้กับกิเลส กิเลสที่มันละเอียดขึ้นมาขนาดไหน เราจะต้องใช้มหาสติ มหาปัญญา ใคร่ครวญแล้วแยกแยะ มันจะล้มลุกคลุกคลาน มันจะหลอก มันมีเล่ห์เหลี่ยมของมัน มันจะหลอกลวง ทำเป้าเทียม เป้าแท้ เป้าหลอก ให้เราพิจารณาผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา

เวลาพิจารณาขึ้นมา มันก็สร้างภาพขึ้นมาให้เป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเราตั้งมหาสติ แล้วใคร่ครวญให้ดี ใคร่ครวญให้ดี พอมันพิจารณาพอมันปล่อยขนาดไหน พอมันปล่อยมันละเอียดลึกซึ้ง ซ้ำ! พอซ้ำเข้าไป ความชำนาญเกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้า ความชำนาญเกิดขึ้นเพราะการกระทำ ความชำนาญเกิดขึ้นจากจิตที่ละเอียด จิตที่ละเอียดมันพิจารณาเข้าไป เพราะสิ่งนี้มันอยู่ที่จิตใต้สำนึก มันเป็นสิ่งที่คาอยู่ในหัวใจ

พิจารณาซ้ำๆๆ ถึงที่สุดนะ มันละเอียดเข้ามา มันจะกลืนตัวเข้ามาจนถึงตัวมันเอง แล้วทำลายกัน ทำลายที่จิต จิตใต้สำนึกทำลายที่จิต! พอทำลายที่จิตขึ้นมาแล้ว มันเหลือสิ่งใดล่ะ ทำให้จิตครืน… ว่างหมด โลกนี้ปล่อยหมดนะ สิ่งที่ว่าเราพิจารณาแล้ว สมาธิเป็นความว่าง พิจารณาแล้วเป็นความว่าง ว่างอย่างนี้มันว่างแบบมีตัวตนไง

แต่เวลาพิจารณาของมัน มันว่างที่ใจ ทำลายที่หัวใจ หัวใจมันทำลายแล้ว มันเวิ้งว้างไปหมด ว่างไปหมด สิ่งที่ว่างเราก็พิจารณาซ้ำ การพิจารณาซ้ำนะ เวลาพูดถึงสังโยชน์ กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง เวลาพิจารณาจนขาด กามราคะ ปฏิฆะ มันขาด สิ่งนี้มันขาดแล้วมันเหลือสิ่งใดล่ะ สิ่งที่เป็นนามธรรมนะ

ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราศึกษามา เราพยายามตีเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นรูปธรรม แต่เวลาปฏิบัติไปมันเป็นนามธรรม แต่เป็นนามธรรมที่จับต้องได้ เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม เพราะมีมหาสติ มหาปัญญา เราเอาสิ่งที่เป็นพลังงานที่ละเอียดเข้าไปจับต้อง แล้วแยกแยะออกมามันจะเป็นรูปธรรม รูปธรรมคือการกระทำของจิตไง รูปธรรมหมายถึงว่ามรรคญาณที่มันเดินที่มันทำลายกันไง มันทำลาย มันมีชัยภูมิไง มันมีภพ มันมีภวาสวะที่จิตนี้ที่กระบวนการนี้มันทำงาน

เพราะจิตมันทำงาน ทำงานเพื่อชำระล้างตัวมัน มันพิจารณาซ้ำ ซ้ำเข้าไปอีก อนาคา ๕ ชั้น มัน ๕ ชั้นอย่างไร พิจารณาแล้วมันปล่อยวางๆ ยิ่งปล่อยยิ่งละเอียด ยิ่งปล่อยยิ่งละเอียด จนถึงที่สุดไม่มีสิ่งใดเลย จะมีสิ่งใดได้ ถ้ามีสิ่งใดมันจะปล่อยได้อย่างไรเพราะมันพิจารณาจนถึงที่สุดเลย

ดูสิ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลองไม่มีสิ่งใดมากระทบกระเทือนหัวใจนี้เลยถ้ามีสติ แล้วก็คิดว่าสิ่งนี้คือสิ้นสุดแห่งทุกข์ แต่พอพิจารณาไป พอจิตละเอียดเข้าไปเป็นมหาสติ มหาปัญญา พิจารณากามราคะ มันยิ่งละเอียดเข้าไปใหญ่ ไหนว่าโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ไม่มีสิ่งใดกระทบกระเทือนหัวใจเลย เวลาพิจารณาไปแล้วมันเป็นกามราคะ ปฏิฆะ จนถอดจนถอนจนพิจารณาซ้ำแล้วเห็นไหม เป็นอนาคา ๕ ชั้นจนถึงที่สุด มันก็จบสิ ถึงที่สุดแล้ว

เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เป็นนามธรรม คำว่านามธรรม เพราะมันทำลายตัวมันเองหมดแล้ว แต่นามธรรมอันละเอียดเห็นไหม “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ความผ่องใส ความเศร้าหมองของจิต จิตมันเศร้าหมองของมัน ความผ่องใส พลังงานอะไรก็แล้วแต่ พลังงานที่มันสะอาดแล้ว พลังงานก็คือพลังงาน พลังงานพอมันเผาผลาญตัวมันเอง พลังงานต้องระเหิดไปเป็นธรรมดาใช่ไหม

นี่ไง มันเศร้าหมอง มันผ่องใส อย่างนี้ถ้าตายก็ไปเกิดเป็นพรหม ถ้าเกิดเป็นพรหมนะ พรหม ๕ ชั้นที่จะไม่เกิดในวัฏฏะ มันจะไปข้างหน้า แต่เวลายาวไกลมาก แล้วถ้าพูดถึงมีครูบาอาจารย์นะ ที่เขาว่า “ศาสนาเสื่อมๆ” ศาสนาไม่เคยเสื่อม.. แต่ครูบาอาจารย์ของเราที่รู้จริงอย่างหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเป็นหลักชัยของเรา

ธงนำ พอธงนำขึ้นมาผู้ปฏิบัติขึ้นไป มันมีเป้าหมายถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ต่อไปอนาคต สิ่งที่จะละเอียดลึกซึ้ง คนเราต่อไปจะหยาบไปเรื่อยๆ คำว่าหยาบไปเรื่อยๆ จะเข้ามาถึงจุดนี้ได้ยาก พอเข้ามาถึงจุดนี้ได้ยากก็เข้าใจว่า ทำถึงได้กระบวนการมากแค่ไหน ก็ว่าสิ่งนี้คือสิ้นสุดแห่งทุกข์ๆ เห็นไหม มันเสื่อมไปอย่างนั้น

แต่ในปัจจุบันนี้ เราเกิดมากึ่งพุทธกาล กึ่งพุทธศาสนาที่ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง มีครูมีอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ท่านวางรากฐานไว้ มรรค ๔ ผล ๔ การกระทำมันมีเหตุมีผลตามความเป็นจริง เราจะต้องเทียบเคียง แล้วพยายามตรวจสอบตัวเองด้วยข้อเท็จจริง

การตรวจสอบตัวเองเห็นไหม ชีวิตมีค่า คนที่ไม่ตรวจสอบตัวเอง คนที่สุกเอาเผากิน ชีวิตนี้ไร้ค่า! ชีวิตไร้ค่าเพราะอะไร เพราะเขาได้แค่นั้น แต่ถ้าชีวิตเรามีค่าขึ้นมา เราตรวจสอบเพื่อจะไม่ให้เราผิดพลาด เพื่อเวลาที่เราดับขันธ์ เราตายไป ให้มันเป็นตามความเป็นจริง ถ้ามันไม่เป็นตามความเป็นจริง เวลาตายไปมันก็ตายแบบโลกๆ เวลาตายไปตายแล้วก็เกิดอีก เพราะเวลาตายคือข้อเท็จจริงแล้ว เวลาตายไปแล้วถ้าจิตมันมี กิเลสมันมีมันไปตามนั้นนะ

ทีนี้ถ้าเราตรวจสอบของเรา ถ้ามันจับต้องมันมีสิ่งใด ถ้ามีสิ่งใดเห็นไหม นี่อรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นอรหัตมรรค มันจะย้อนเข้าไปสู่ภวาสวะ “อาสวะ ๓” ตัวภวาสวะ มันเป็นกิเลสได้อย่างไร “กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ” ภวาสวะตัวภพ ตัวภพเห็นไหม พรหมก็มีขันธ์หนึ่ง พรหมก็มีสถานที่ มีจุดหมายเหมือนกัน

ฉะนั้นอนาคา ๕ ชั้นก็มีสถานที่ มีภวาสวะ มีภพเหมือนกัน การที่เข้าไปจับภวาสวะ เอาอะไรเข้าไปจับ เพราะสิ่งที่เราพิจารณาเข้ามาตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคา อนาคาขึ้นมา ขันธ์กับจิต มันมีความกระทบ มือทั้งสองข้างตบเข้าหากันมันจะมีเสียงขึ้นมา เวลาถึงที่สุดแล้วมันตบไม่ได้ เพราะอะไร เพราะขันธ์อย่างละเอียดโดนทำลายแล้ว

ขันธ์กับจิตกระทบกัน แล้วขันธ์ไม่มี ขันธ์ไม่มีเอาอะไรไปกระทบ ถ้าขันธ์ไม่มีแล้วเอาอะไรไปจับ ภวาสวะถ้ามีสติสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ อรหัตตมรรคย้อนกลับมา มันจับต้องสิ่งนี้ได้ ผู้มีอิทธิพล คนที่จะมีอิทธิพลได้ ต้องสร้างสถานะขึ้นมาจนคนยอมรับว่าเป็นผู้มีอิทธิพล ผู้มีอิทธิพลนี้คนรอบข้างจะเกรงใจเพราะเขามีอิทธิพลจริง อิทธิพลทางชั่วและอิทธิพลทางดี

อิทธิพลทางชั่วเขาสร้างสถานะมา ทำลายมาเพื่อการครอบงำคนอื่น แต่อิทธิพลที่ดี เขาสร้างคุณงามความดีขึ้นมาจนเป็นอิทธิพลโดยคุณงามความดีของเขา ฉะนั้นผู้ที่มีอิทธิพลจะมีคนเกรงใจ อำนาจวาสนาของคนมันสร้างมา

ฉะนั้นจิตที่มันทำลายกิเลสมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จิตมันทำลายตั้งแต่กายที่เป็นปฏิกูลโสโครกสักกายทิฏฐิ จิตที่พิจารณากายจนมันปล่อยวางขึ้นมาสู่สถานะเดิมของเขา จนโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง โลกนี้ไม่มีสิ่งใดกระทบจิตเลย แล้วเขาพิจารณาขันธ์อันละเอียดของเขา

นี่ไง ผู้ที่มีอิทธิพล ผู้มีอิทธิพลมันได้กำราบปราบปรามสิ่งที่เป็นขันธ์ สิ่งที่กระทบของจิตจนมันไม่มี จนตัวของจิตนี้เป็นผู้ทรงอิทธิพลของเขา แล้วผู้ที่ทรงอิทธิพลจะทำลายอิทธิพลของตัวเอง ที่ไหนมี?

ดูสิ เราทำบุญกุศลกัน เราทำคุณงามความดีกัน ทุกคนบอกว่าทำคุณงามเพื่อความดี อยากได้คุณงามความดี อยากได้ทุกอย่างเลย ฉะนั้นผู้ที่มีอิทธิพล เขาทำของเขามา เขาชำระกิเลสมา เขาทำลายกิเลสมาเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมาจนเป็นผู้ที่มีอิทธิพล เป็นผู้ที่มีอำนาจ เป็นผู้ที่ครอบงำเขาจะทำลายตัวเขาได้ไหม

เราสร้างทุกๆ อย่างมาแล้ว เราบอกให้เป็นของสาธารณะ ไม่เป็นของเราใครจะยอมรับ ทุกอย่างทำสิ่งใดมา กรรมก็คือกรรมดีของเรา ทุกอย่างก็เป็นของเรา ทรัพย์สมบัติทุกอย่างเป็นของเราทั้งนั้น เราก็คิดว่าเป็นของเรา นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ฆ่ากิเลสมาจนเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาจนถึงตัวของตัวเอง ตัวเองทำทุกอย่างมา ตัวเองก็ต้องสิ้นกิเลส ถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์สิ แต่ในทางธรรมไม่ใช่

ในทางธรรมถ้ายังมีอยู่ ที่ไหนยังมีความรู้สึก ที่ไหนยังมีความจับต้องได้อยู่ ที่นั่นคือภวาสวะ ที่นั่นคือภพ ที่นั่นคือมีอวิชชา คือความไม่รู้จักตัวเอง ความไม่รู้จักภพ ผู้มีอิทธิพลไม่ทราบไม่รู้ถึงการดำรงชีวิตของตนว่า การเป็นผู้ที่มีอิทธิพลนั้น ยังจะต้องก้าวเดินไปยังสถานะข้างหน้า ยังจะต้องไปเกิดเป็นพรหม ยังจะต้องไป ถ้ายังมีผู้อิทธิพลยังจะต้องเกิด แม้แต่สมมุติอย่างหยาบๆ ไม่มี สมมุติอันละเอียดยังจะทำให้ผู้มีอิทธิพลยังจะต้องเคลื่อนไป

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา มันจะย้อนกลับขึ้นมาเพื่อหาผู้มีอิทธิพลนั้น ผู้มีอิทธิพลนั้นถ้ามีอรหัตตมรรคจะยอมรับความเป็นจริงว่าผู้มีอิทธิพลมีตัวตน ถ้ามีตัวตนเห็นไหม “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

ความผ่องใส ความเศร้าหมอง จะเอาปัญญาอย่างหยาบๆ เอาปัญญาอย่างขันธ์ ๕ เอาปัญญาที่มีความกระทบมาพิสูจน์ตรวจสอบ.. ไม่เห็น

ดูสิ ตาข่าย.. ตาข่ายที่ใหญ่ นกเล็กๆ สัตว์ต่างๆ มันลอดได้หมด ฉะนั้นตาข่ายที่มันละเอียดขึ้นมามันจะกรองได้ทั้งหมด ฉะนั้นสิ่งที่เป็นปัญญาซึมซับเข้าไปสู่ผู้ที่มีอิทธิพล มันไม่ใช่ปัญญาอย่างขันธ์ ไม่ใช่ปัญญาหยาบๆ ฉะนั้นปัญญาซึมซับ ปัญญาอย่างซาบซึ้งเข้าไปทำลายผู้มีอิทธิพลนั้น ผู้มีอิทธิพลคือตัวภวาสวะ คือตัวภพ คือตัวสิ่งที่ว่าไม่มีสิ่งใดเข้ามาแอบแฝง แล้วสิ่งใดที่จะเข้าไปกลืนและทำลายผู้ที่มีอิทธิพลนี้

นี่ไง สิ่งที่ทำเห็นไหม คุณค่าของชีวิตนะ ชีวิตที่เราเกิดมาเป็นปุถุชน ชีวิตนี้มีค่า เพราะเราเกิดมาแล้วเรามีโอกาสในการประพฤติปฏิบัติ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาในแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นมา จนถึงที่สุดมันพลิกฟ้าคว่ำดิน

ชีวิตนี้หมดสิ้น! เวลาผู้มีอิทธิพลทำลายผู้มีอิทธิพลจบสิ้นไปแล้ว ความตายไม่มี! ความเกิดไม่มี! ความสืบเนื่องต่อเนื่องไปไม่มี! ความไม่มีเห็นไหม สิ่งที่ว่าเรามี เรายึดมั่นถือมั่น ชีวิตนี้ไร้ค่า

แล้วถ้ามีกิเลสอวิชชาขึ้นมามันจะพาชีวิตนี้ทำลายตัวมันเอง แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยคุณงามความดี ด้วยการประพฤติปฏิบัติเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป จนถึงที่สุดทำลายผู้มีอิทธิพลนั้น อิทธิพลในทางดีนะ อิทธิพลมันเป็นกลาง แต่ถ้าอิทธิพลในทางชั่ว คืออิทธิพลแบบนักเลงหัวไม้ อิทธิพลในอำนาจวาสนาบารมี ทำคุณงามความดีสร้างสมคุณงามความดี คนนับหน้าถือตาเชื่อถือ นั้นก็เป็นอิทธิพลอันหนึ่ง นั่นก็เป็นอำนาจวาสนาบารมีอันหนึ่ง อิทธิพลที่ดีทำลายหมด ภวาสวะไม่มี ต้องทำลายภวาสวะ ทำลายสถานที่ ทำลายทุกอย่าง จนกระบวนการของมันจบสิ้นขึ้นไป นี่ไง มันถึงมีค่ามหาศาลไง

มันมีค่า ชีวิตนี้มีค่ามาก มีค่าจากที่ว่าเรามุมานะบากบั่นไม่สุกเอาเผากิน ไม่ทำเอาสักแต่ว่าทำ แล้วจะเอามรรคเอาผล แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เราจะทำคุณงามความดีของเรา จะมากจะน้อยเราก็สร้างสมบุญญาธิการของเราไป ดูสิ น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน นี่ก็เหมือนกัน เราหมั่นขยันหมั่นเพียรของเรา เราทำของเรา

เรามีครูมีอาจารย์คอยเป็นที่ปรึกษานะ จะผิดจะพลาดมันเป็นเรื่องธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ผิดพลาดมาตลอด คนประพฤติปฏิบัติที่ว่าทำอะไรไม่ผิดเลยทำอะไรก็ถูกต้องไปหมดเลย มันไม่มีหรอก

ขิปปาภิญญาก็ต้องฟัง สาวก สาวกะ ได้ยินได้ฟัง มีหลักฐานธรรมวินัยให้เราก้าวเดินตาม มีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ฉะนั้นเราตรัสเองรู้เองโดยชอบไม่ได้

เราก็มีครูบาอาจารย์ให้ปฏิบัติโดยชอบ ถ้าปฏิบัติโดยชอบทำความจริงโดยชอบ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้นชีวิตนี้มีค่ามากนะ มันจะทุกข์จะยากถ้าเราไม่มีสติปัญญา เราก็จะมองความทุกข์ความยากเรา แล้วเราก็จะฝังจมไปกับมัน

แต่ถ้าเราบอกความทุกข์ความยาก ทุกข์ยากเพราะเราไม่เข้าใจชีวิต ถ้าเราเข้าใจชีวิตใช่ไหม เราก็ต้องมีหน้าที่การงานเป็นธรรมดา ถ้าผู้บวชพระเห็นไหม เราสละทางโลกมาแล้ว เราเป็นพระ เราก็ดำรงชีวิตด้วยข้อวัตรปฏิบัติของเรา เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เรามุมานะบากบั่นของเรา เพราะมันอยู่ในศีลในธรรม ถ้าอยู่ในศีลในธรรมเวลาประพฤติปฏิบัติมันก็ไม่เศร้าหมอง มันไม่มีสิ่งใดมาหลอกลวงในหัวใจของเรา

ฉะนั้นชีวิตนี้มันเกิดมาแล้วมันมีค่า แต่เพราะคนเกิดมาแล้วมีอวิชชา มีความไม่เข้าใจ เห็นว่าชีวิตนี้ก็สักแต่ว่า ถึงบอกว่ามนุษย์เหมือนเศษฝุ่น แม้แต่ธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติจะทำลาย ทำลายได้หมด ทำลายได้จริงๆ นะ แต่ถ้าหัวใจของเรามีคุณค่ามากกว่านั้น หัวใจของเราประพฤติปฏิบัติแล้วเป็นตามความเป็นจริง มันมีค่ามากกว่าทุกอย่าง เพราะสิ่งนี้มันเป็นเรื่องของเวรของกรรม

ถ้าจิตมันสิ้นจากเวรจากกรรมไปแล้ว สิ่งใดจะตามไปอีกล่ะ ไม่มีใครทำลายสิ่งนี้ได้ สิ่งนี้จะมีคุณค่ามากจากการประพฤติปฏิบัติของเรา ฉะนั้นให้ตั้งใจ จะทุกข์ยากลำบากก็มีความพอใจ เพราะถ้าเราไม่มีความพอใจ เราจะไม่มีความมุมานะ เราจะไม่มีกำลังใจ แต่ถ้ามันจะทุกข์จะยาก ก็ทุกข์ยากอย่างนี้ เพื่อจะพ้นจากทุกข์

ถ้าเราไม่ทุกข์ เราไม่มีสิ่งใดกระทำมาเป็นประสบการณ์ แล้วการปฏิบัติมันจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าการปฏิบัติมันจะเป็นไปได้ มันพอใจธรรมนะ มันพอใจ ดูสิเวลาเราองอาจกล้าหาญ เราทำได้หมดเลย แต่เวลาเราท้อถอยนี่เราทำอะไรไม่ได้เลย เวลากิเลสมันมีกำลัง แต่ถ้าธรรมมีกำลังนะ มีสติปัญญามีกำลัง สิ่งนั้นต้องอ่อนลง.. สิ่งนั้นต้องอ่อนลง

เราทำสิ่งใดมา เราก็ทำมาทุกอย่างแล้ว เวลาเราประพฤติปฏิบัติเพื่อตัวเราเองทำไมเราจะทำไม่ได้ เราต้องทำได้ เอวัง