ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เจ้าของสิทธิ์

๕ พ.ค. ๒๕๕๔

 

เจ้าของสิทธิ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๔๐๖. เรื่อง “ผมจะต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะเป็นวิปัสสนา ไม่ใช่เป็นวิปัสสนึกครับ”

๑. จากที่คำตอบของหลวงพ่อ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔ หลวงพ่อบอกว่า “ปุถุชนบรรลุเป็นโสดาบันได้ด้วยการละสักกายทิฏฐิ โดยการพิจารณาเห็นกายเน่าเปื่อยจนกลายเป็นดิน” ผมขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า การจะพิจารณาดูกายเน่าเปื่อยจนกลายเป็นดินนั้น จะต้องพิจารณาดูกายอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการพิจารณาแบบวิปัสสนา ไม่ใช่เป็นวิปัสสนึกครับ

๒. เวลาผมนั่งสมาธิและเดินจงกรม ผมตามรู้ลมหายใจ ตามรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย และนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วผมก็จะเห็นว่า จิตที่รู้ลมหายใจและรู้พุทโธนั้น มันมีความตั้งมั่นอยู่ในใจลึกๆ มันจะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันถ้าผมนึกในใจว่า ร่างกายของผมกำลังเน่าเปื่อยผุพังจนกลายเป็นดิน ผมก็จะเห็นภาพร่างกายตัวเองกำลังเน่าเปื่อย แล้วอารมณ์ในใจมันจะมีการเคลื่อนไหว ขยับตัวยิบๆ ยับๆ แต่จิตก็รู้ลมหายใจและรู้พุทโธ จะตั้งมั่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการที่มีอารมณ์ในใจขยับตัวยิบๆ ยับๆ นั้น มันขยับตัวของมันเอง ผมจะห้ามไม่ให้มันขยับตัวไม่ได้ครับ

ผมขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ถ้าผมนึกคิดเห็นภาพร่างกายเน่าเปื่อย แล้วปล่อยให้อารมณ์ในใจเคลื่อนไหวยิบๆ ยับๆ โดยมีจิตที่รู้พุทโธ พุทโธตั้งมั่นคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แบบนี้มันจะมีผลในการละสักกายทิฏฐิได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : คำถามนี้นะ คนถามถามมาหลายทีแต่ถามดีมาก คำว่าถามดีหมายถึงว่าเขาเจตนาสะอาดบริสุทธิ์ คือคนเรานี่อยากได้มรรคได้ผล อยากปฏิบัติถูกต้อง เวลาคำตอบอะไรนี่มันจะเหมือนกับว่าไม่มีลับลมคมใน เขาพยายามจะถาม แล้วเขาถามมาบ่อย ฉะนั้นเวลาถามไปแล้ว เวลาภาวนามันก็ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ จนภาวนาไปแล้วมันเหมือนกับไปอั้น แบบไปตันว่าอย่างนั้นเถอะ นี่เวลาปฏิบัติไปแล้วช่วงนี้มันจะไปตัน พอไปตันแล้วจะไปอย่างไร

ฉะนั้นเขาถึงบอกว่า คำถามนะ “ผมจะต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะเป็นวิปัสสนา ไม่ใช่เป็นวิปัสสนึกครับ”

นี่คำว่าวิปัสสนากับวิปัสสนึก ถ้าวิปัสสนามันจะมีผลของมัน ถ้าวิปัสสนึกมันใกล้เคียงกับวิปัสสนา ใกล้เคียงกันเพราะอะไร เพราะภาพทุกอย่างเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันมาจากฐานที่ผิด มาจากอารมณ์ที่ผิด ผลมันไม่มี ถ้าวิปัสสนามันจะมีผลของมัน แล้ววิปัสสนึกมันใกล้เคียงกัน ทำไมมันไม่มีผลล่ะ?

มันไม่มีผลที่หัวใจไง มันไม่มีผลเพราะมันมาที่ต่างกัน ต่างกันเพราะมาแบบโลก มาแบบโลกคือวิปัสสนึกใช่ไหม คำว่านึก เห็นไหม กับวิปัสสนา วิปัสสนานี่มันเป็นธรรม มันเป็นสัจธรรม ถ้ามันเป็นสัจธรรมนี่มันจะมีผลของมัน ถ้ามีผลของมัน แล้วพอเวลาเราปฏิบัติไป เราลงทุนลงแรงแล้วเหมือนกับทำการค้าเลย ปฏิบัติลงทุนลงแรงไปแล้ว แล้วมันไม่ได้ผลตอบแทนมา มันก็งงนะ เราทำทุกอย่างเลย แต่ไม่มีผลตอบสนองมา ถ้าวิปัสสนึก เวลาทำไปแล้วมันไม่มีผลตอบสนองเราก็งง พองงแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป

ฉะนั้น คำถามข้อ ๑. ที่ถามว่า

ถาม : จากคำตอบของหลวงพ่อ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔ ที่หลวงพ่อบอกว่า

“ปุถุชนบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ ด้วยการละสักกายทิฏฐิ โดยการพิจารณาเห็นกายเน่าเปื่อยจนกลายเป็นดิน”

ผมขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า การพิจารณาดูกายเน่าเปื่อยจนกลายเป็นดินนั้น จะต้องพิจารณาดูกายอย่างไร ถึงจะเรียกว่าเป็นการพิจารณาแบบวิปัสสนา ไม่ใช่วิปัสสนึกครับ

หลวงพ่อ : ตรงนี้สำคัญมากนะ สำคัญที่ว่าคนไม่เป็น มันก็เหมือนกับเราลอกเลียนแบบ อย่างไรก็อย่างนั้นแหละ ฉะนั้นถ้าลอกเลียนแบบ เวลาพูดแล้วเหมือนไหม.. เหมือน ทุกคนเลยจะบอกผ่านกายนะ พิจารณากายแล้วผ่านกายๆ นี่มันผ่านอย่างใด แล้ววิปัสสนา เห็นไหม เห็นกายเน่าเปื่อยๆ มันเน่าเปื่อยโดยสมุฏฐานของอะไร

ความเห็นที่ว่าเราเห็นนิมิตๆ บางคนบอกว่าเห็นนิมิต นิมิตมันคืออะไร นิมิตมันเป็นนิมิตเครื่องหมายบอก แต่ถ้ามันมีสติปัญญา นิมิตนะมันเป็นเครื่องเล่นของใจเลยล่ะ ถ้าใจมันสงบแล้วมันเห็นนิมิตนี่ มันจะควบคุมได้ แต่ถ้าคนไม่มีนิมิตก็คือไม่มีนิมิตนะ ฉะนั้นถ้าบอกว่าต้องมีนิมิต จิตต้องมีนิมิต จิตต้องเห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าจิตไม่เห็นสภาวะแบบนั้นมันไม่ใช่

จิตสงบโดยความสงบราบเรียบไม่มีสิ่งใดๆ เลย แต่มีสติรู้อยู่ สงบอยู่ โอ้โฮ.. นี่ชัดเจนมาก แต่ถ้าสงบแล้วมันออกรู้นิมิต ออกรู้เห็นสิ่งต่างๆ อันนั้นมันก็เป็นสัญชาตญาณของจิต ถ้าเรามีสติควบคุม เราควบคุมได้ เหมือนร่างกายเรานี่ ร่างกายเราถ้ามีสติเรานั่งเรียบร้อย เราไม่ให้อะไรขยับเลยเราก็ทำได้ เพราะเรามีสติพร้อมใช่ไหม แต่ถ้าเราง่วงนอน หรือเราหลับไป เราควบคุมร่างกายเราได้ไหม ไม่ได้หรอกเพราะเราหลับ ร่างกายจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นสภาพของมัน

จิต! ถ้ามีสติควบคุมอยู่ เห็นไหม นิมิตคือกิริยา อาการของใจที่ใจออกรู้ ถ้ามันควบคุมใจได้นิมิตจะมีได้อย่างไร ถ้ามีสติพร้อมนะ พอมีสติปั๊บเราจะตัดนิมิตหรือไม่ตัดนิมิต เราจัดการได้หมดเลย แต่มันต้องเป็นผู้ที่ชำนาญ ทีนี้ถ้าเราไม่ชำนาญเราก็ทำสิ่งใดไม่ได้ ฉะนั้นเราทำสิ่งใดไม่ได้เพราะอะไร เพราะเรายังควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่เรากำลังฝึกฝนอยู่ เหมือนกับเรากำลังพัฒนาให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมาอยู่ เรายังไม่สามารถทรงตัวได้ เราจะควบคุมตัวเราไม่ได้ เราก็พยายามทำของเรา

ฉะนั้น คำว่า “ปุถุชนเป็นพระโสดาบันได้ด้วยการละสักกายทิฏฐิ” นี่มันชัดเจนมาก เพราะอะไร เพราะพระโสดาบันมันก็มาจากปุถุชนไง ฉะนั้นปุถุชนนี่บรรลุเป็นพระโสดาบันได้เด็ดขาด ได้เด็ดขาด! ทุกคนมีสิทธิ์ได้หมด

ฉะนั้น “ปุถุชนบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ด้วยการละสักกายทิฏฐิ โดยการพิจารณากาย เห็นกายจนเน่าเปื่อย”

พระโสดาบันมาจากปุถุชน เห็นไหม ดอกบัวเกิดจากโคลนตม ทุกอย่างเกิดจากโคลนตม ทุกอย่างเกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านอธิบายให้เราฟัง ว่าจิตนี้มันมีอวิชชาครอบงำ พอเราดูแล้วเราก็รังเกียจ เราก็เบื่อหน่ายจิตของเรา เราจะผลักจิตเราทิ้งเลยหรือ.. มันไม่ใช่!

ทีนี้เพียงแต่ว่าผลของวัฏฏะคือดอกบัวมันจะเกิดที่ไหน? โคลนตมมันคืออะไร? นี่มันต้องเข้าใจก่อนว่าชีวิตเราคืออะไร จิตนี้มันคืออะไร จิตนี้มันมาจากไหน นี่เกิดมาอย่างไร อะไรพามาเกิด อะไรมาเกิดมานั่งอยู่นี่ แล้วมานั่งทำไม แล้วนั่งแล้วทำอะไรต่อไป

นี่พูดถึงว่าถ้าไม่มีธรรมะมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นผลของวัฏฏะ แต่เพราะธรรมะมันจะมาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไง เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ว่ามันมีอยู่ไง มันมีผลที่เกิดจากวัฏฏะ ทีนี้ผลที่มันเกิดจากวัฏฏะมันมีของมันอยู่ แต่ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านอธิบาย เห็นไหม ให้เห็นโทษของมัน โทษของมัน พอเห็นโทษของมันแล้ว นั่นคือโทษของมันในทางสัจธรรม แต่โทษของมันโดยความเป็นจริงของเราไม่มี เรายังไม่เห็นเลยนะ แต่เราฟังไง

เราฟังสิ่งนั้นมา แล้วเราคิดของเรามา ฉะนั้นพอเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจปั๊บเราก็จะสละทิ้งเลย พอสละทิ้งไป ทำลืมๆ ไปแล้วบอกว่าเป็นพระอรหันต์กัน ทำลืมมันไปเลยแล้วบอกว่ามันไม่มี แล้วบอกว่ากูรู้ธรรมๆ แล้วรู้ธรรมได้อย่างไร.. ไม่รู้ ไม่รู้

ถ้าบรรลุธรรมนะ อย่างเช่นพระโสดาบันเริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากตรงที่ว่าเรามีสติชัดเจนมาก เราควบคุมตัวเองของเราได้ เห็นไหม ปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วเราก็หัดฝึกฝน ฝึกฝนนะถ้าจิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่เขาเรียกโสดาปัตติมรรค

คำว่าโสดาปัตติมรรคนะมันไม่ได้โสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรคมันยังเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา คือยังแปรสภาพอยู่ แต่ถ้ามันสิ้นสุดขบวนการเป็นโสดาปัตติผลแล้ว อันนั้นไม่ใช่อนัตตา อันนั้นเป็นธรรมะ ธรรมคือโสดาบัน นี่เป็นโสดาบันแท้จริง อันนี้ไม่ใช่อนัตตา อันนั้นคือตายตัวฉะนั้น อันนี้มันยังไม่เป็นโสดาบัน

ทีนี้คำว่ายังไม่เป็นโสดาบันนี่มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา คำว่าอนัตตาคือมันแปรสภาพใช่ไหม.. อนัตตาคือแปรสภาพ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยข้อเท็จจริง เราบอกนี่ถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔

เขาบอกว่า “ปฏิบัติแนวทางนี้เป็นแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติแนวทางนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔”

โกหกทั้งนั้น! สติปัฏฐาน ๔ มันมาจากไหนล่ะ สติปัฏฐาน ๔ มันมาจากยี่ห้อ ตำรา หนังสือ มันมาจากไหน มันมาจากการจำ มันมาจากอะไร ก็วิปัสสนึกทั้งนั้นเลย สิ่งที่คิดกันเอาเอง คาดหมายกันเอง นั่นคือวิปัสสนึกทั้งหมด แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง จิตมันต้องสงบเข้ามา คำว่าจิตสงบเข้ามา ดูสิ ตอนนี้จะเลือกตั้ง นี่ถ้าเราไม่ไปหย่อนบัตร มีใครหย่อนให้รู้ไหม? ผี! ผีมันหย่อนให้ ฉะนั้นเราต้องไปใช้สิทธิ์ ให้สิทธิ์ว่าจะเลือกใครก็แล้วแต่ เราใช้สิทธิ์ของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีเรา ไม่มีจิตไปหย่อนบัตร ไม่มีสิทธิ สิทธิของจิต สิทธิของเราอยู่ที่ไหน ถ้าสิทธิของเรามี เห็นไหม นี่ถ้าจิตสงบเข้ามา มันเข้ามาสู่ตรงนี้ไง มันเข้ามาอยู่เจ้าของสิทธิ์ มันเข้ามาที่เจ้าของสิทธิ์ พอเจ้าของสิทธิ์นี้รับรู้ เจ้าของสิทธิ์รับรู้นี้ออกไปหย่อนบัตร ถ้าเราหย่อนบัตรด้วยสิทธิของเราใช่ไหม เป็นสิทธิของเรา เป็นตามสิทธิ์ ฉะนั้น พอตามสิทธิ์ขึ้นมามันก็มีผล คือเราได้ใช้สิทธิ์ของเรา

วิปัสสนา! วิปัสสนา นี่ถ้าบอกสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ใครใช้สิทธิ์? ใครเป็นเจ้าของสิทธิ์? แล้วใครเป็นเจ้าของสติปัฏฐาน ๔? ไม่รู้.. แต่ปฏิบัติด้วยแนวทางวิปัสสนานะ ใช้ปัญญาไปนะ ผีมันใช้สิทธิ์อยู่นะนั่น สติปัฏฐาน ๔ ของผี เพราะมันไม่มีเจ้าของ มันไม่มีตัวรู้ไง แต่ถ้ามันมีตัวรู้ เห็นไหม มันมีตัวรู้คือสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิมันเห็นจริง พอมันเห็นจริงเข้าไปนี่มันสะเทือนหัวใจนะ มันสะเทือนหัวใจถ้าเราเห็นกายโดยข้อเท็จจริง

ทีนี้คนที่ว่าเห็นกายๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่ามันเป็นวิปัสสนึก มันเป็นการคาดหมายเอา แล้วการคาดหมายนี่ว่าผิดไหม คำว่าวิปัสสนึกนี่นะ ดูสิแม้แต่เครื่องบิน เห็นไหม ดูสิ ก่อนที่จะมีเครื่องบิน มีนักวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้ากันมาก อยากบินเหมือนนก อยากบินเหมือนนก นี่คนตายเยอะมากนะ กระโดดจากหน้าผากันมา ตอนค้นคว้ากันว่าจะสร้างเครื่องบิน จะบินกัน นักวิทยาศาสตร์ตายไปมาก สุดท้ายแล้วเขาก็พิสูจน์ของเขาได้ด้วยการดูนก

ตระกูลไรต์เขามองนกว่าบินอย่างไร มันทำปีกอย่างไร แล้วเขาก็สร้างของเขาขึ้นมาจนได้ พอสร้างขึ้นมาได้ พอคนทำได้ พอเครื่องบินบินได้ด้วยทฤษฎีทีพิสูจน์ได้เท่านั้นแหละ การบินนี่จะเร็วมากเลย เพราะเครื่องบินพัฒนาไปเร็วมาก จนเดี๋ยวนี้เร็วกว่าเสียงทุกอย่างหมดเลย

ทีนี้มันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร นี่คนใช้สิทธิ์ มันมีสิทธิ มันทำของมัน มันวิจัยของมัน มันเป็นตามความเป็นจริงของมัน แต่ของเรามันไม่ใช่ มันไม่ใช่เพราะเรามีกิเลสใช่ไหม คำว่ามีกิเลสอย่างไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องค้นคว้าของเรา แล้วต้องทำของเรา ทำอย่างนี้แหละถูกแล้ว คำว่าถูกแล้วนี่ ถูกแล้วคือว่าเริ่มต้นเราต้องปฏิบัติ ต้องทำตามความเป็นจริง แต่เวลาสติปัฏฐาน ๔ นะ ที่ว่า “แนวทางปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ คือต้องใช้ปัญญาไปเลย” อย่างนั้นมันก็เหมือนในสมัยปัจจุบันนี้ เห็นไหม เราไม่ต้องสร้างเครื่องบิน เราสั่งเครื่องบินเลย มีตังค์ขึ้นมา โบอิ้งนี่จะซื้อซักกี่ร้อยลำก็ได้ถ้าเรามีตังค์

นี่ก็เหมือนกัน สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เพราะมันมีตำราของพระพุทธเจ้าแล้วไง มันก็บอกว่า “นึกคิดอย่างนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔”

แล้วผลของมันนี่ไง ผลของมันคือว่า “ผมจะต้องปฏิบัติอย่างไรครับ” เราทำของเราจบหมดแล้วแหละ เราทำได้หมดเลย “แล้วผลมันคืออะไรครับ”

จนบางทีบอกว่า “เออ.. ไม่รู้อะไรเลย เป็นพระโสดาบัน”

“ทำไมถึงเป็นโสดาบันล่ะ”

“เพราะมันไม่รู้ไงถึงเป็นโสดาบัน”

“ถ้ารู้ล่ะ?”

“อ้าว.. รู้มันเป็นอวิชชาไง”

โอ้โฮ.. ปวดหัวเลย อย่างนั้นเขาทำกันนะ ทีนี้เราจะบอกที่เขาถามว่า “แล้วจะทำอย่างใด” หลวงพ่อบอกว่า.. เขาจะยืนยันไงว่าปุถุชนกับโสดาบันมันจะทำอย่างใด ปุถุชนของเรา เราเป็นปุถุชนเพราะเราเกิดขึ้นมา เรามีอวิชชาเราเกิดขึ้นมาเป็นปุถุชนอยู่แล้ว ทีนี้ปุถุชนมันควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ควบคุมสิ่งต่างๆ ไม่ได้ใช่ไหม เราก็พยายามพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนจิตมันละ เห็นไหม

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร.. เป็นกัลยาณปุถุชน”

คิดดูสิ รูป รส กลิ่น เสียงไม่มีอำนาจเหนือกับความรู้สึกเรา เราจะควบคุมเราได้ไหม นี่เพราะเราใช้ปัญญาของเรา เราพิสูจน์จนว่าเสียงก็คือเสียง นี่เราไปรับรู้แล้วเรามีอารมณ์ไปกับมัน รูปต่างๆ สิ่งต่างๆ นี้เราเข้าใจได้หมด ทีนี้พอเราเข้าใจได้มันเก้อๆ เขินๆ แต่เราต้องอยู่กับมันนะ เราต้องใช้มันเพราะอะไร เพราะถ้าเราไม่ใช้มันนะเราอยู่กับโลกเขาไม่ได้

เราอยู่กับโลก โลกเขามีสัญญาอย่างนี้ เขามีสมมุติจิต เรารักษาใจเรา เห็นไหม มันก็ฟรี มันว่างของมัน มันไม่เกี่ยวไปกับโลก มันฟรีของมันแต่เรามีสติของมัน นี่ผู้ที่จะใช้สิทธิ์ พอมันควบคุมได้ นี่สัมมาสมาธิแล้วมันออกรู้นะ ออกรู้ในอะไร.. รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เราละมันแล้ว เรารู้โทษของมันแล้ว แล้วเวลาออกรู้ ก็ออกรู้รูป รส กลิ่น เสียงนั่นแหละ แต่ออกรู้รูป รส กลิ่น เสียงด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจจริง

แล้วพอพิจารณาไปแล้วนะ พอถ้าจิตเป็นสมาธิเวลาพิจารณานะ โอ้โฮ.. ปัญญามันคนละเรื่องนะ ถ้าใครเข้าถึงตรงนี้แล้วมีปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาของมันนะ เวลาเขาดูจิตๆ กัน เห็นไหม เราถึงใช้คำว่า “ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต”

คนที่เขาทำเป็น ทำถูกต้องนะ ดูจิตๆ เขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตเป็นสมาธิ แล้วพอจิตมันออกรู้ ก็ออกรู้ด้วยอาการของจิตนั่นแหละ ออกรู้ในรูป รส กลิ่น เสียง แต่ออกรู้ด้วยสติปัญญานะ ออกรู้ด้วยสติปัญญาเพราะมันมีสัมมาสมาธิ ออกรู้ด้วยสติปัญญา มันพิจารณาไปมันจะปล่อย มันจะโล่ง อู้ฮู.. มันออกรู้นะ ออกรู้แล้วใช้ปัญญาเข้าไป พอมันปล่อยโล่ง นี่ไงคือผล ผลว่าอะไรเป็นวิปัสสนา อะไรเป็นวิปัสสนึก

วิปัสสนึก พิจารณาเสร็จแล้วนะ แล้วก็มานั่งทบทวน งงแล้วก็งงอีก แต่ถ้าวิปัสสนานะ พอพิจารณาไปแล้วนะ อู้ฮู.. มีความสุข อู้ฮู.. มีความรับรู้ อู้ฮู.. มันมีความว่าง มันมีผลไง

“รสของธรรม ชนะซึ่งรสทั้งปวง”

ผลของธรรม เราลงทุนขนาดนี้ จิตเราสงบแล้วเราพิจารณาของเรา เวลาผลมันตอบสนองมาแล้ว คุณค่าเงินร้อยล้านพันล้าน ไม่มีค่าเท่าอันนี้เลย อันนี้จะมีค่ามาก มีค่าเพราะอะไร มีค่าเพราะว่าเราพิจารณาปล่อยวางเป็นครั้งเป็นคราว

นี่ยืนยัน! “จากคำตอบของหลวงพ่อเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔ ว่า.. ปุถุชนบรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยการละสักกายทิฏฐิ”

ฉะนั้น เวลาละสักกายทิฏฐิ เราจะไปละสักกายทิฏฐิที่ไหน? สักกายทิฏฐิคือชื่อ แต่การละคือละความเห็นผิดในหัวใจไง ทีนี้บอกว่าสังโยชน์ เห็นไหม สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันอยู่ที่ไหนจะไปฆ่ามัน มันอยู่ที่ไหนจะไปฆ่ามัน มันก็เหมือนอารมณ์เรานี่แหละ อารมณ์อยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่ไหนจะไปฆ่ามัน จะไปฆ่ามัน แล้วไปฆ่าที่ไหนล่ะ

อ้าว.. มันเป็นความรู้สึก เราจะไปฆ่ามันที่ไหนล่ะ เราจะไปฆ่ามันเราต้องมีเหตุมีผล ทำไมมีอารมณ์อย่างนี้? อารมณ์เกิดมาเพราะอะไร? ทำไมถึงเห็นผิดขนาดนี้? เห็นไหม เรามีเหตุไง เรามีเหตุไปชำระล้างไง ผลของมันก็ละสักกายทิฏฐิไง

แต่ถ้าจะไปละสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐินี้เป็นกิเลส เราจะละสักกายทิฏฐิ เราจะละกันที่ไหน จะไปหามันที่ไหน สักกายทิฏฐิอยู่ที่ไหนจับตัวมันให้ได้ แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ มันไม่มีใครชื่อสักกายทิฏฐิเนาะ ต้องตั้งชื่อคนๆ นั้นเป็นสักกายทิฏฐิ แล้วก็ให้ทุกคนไปจับมัน จะได้เป็นพระโสดาบันหมดเลย (หัวเราะ)

มันเป็นชื่อของนามธรรมนะ นี่พูดถึงยืนยันข้อที่ ๑

ถาม : ๒. เวลาผมนั่งสมาธิแล้วเดินจงกรม ผมตามรู้ลมหายใจ ตามรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย และนึกพุทโธ พุทโธแล้วผมก็จะเห็นว่า จิตที่รู้ลมหายใจและรู้พุทโธนั้นมันมีความตั้งมั่นอยู่ในใจลึกๆ มันจะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันนั้นถ้าผมนึกในใจว่า “ร่างกายของผมกำลังเน่าเปื่อยผุพังจนกลายเป็นดิน” ผมก็จะเห็นภาพร่างกายตัวเองกำลังเน่าเปื่อย แล้วอารมณ์ในใจมันจะมีการเคลื่อนไหว ขยับตัวยิบๆ ยับๆ แต่จิตที่รู้ลมหายใจและรู้พุทโธจะตั้งมั่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการที่อารมณ์ในใจขยับตัวยิบๆ ยับๆ นั้น มันขยับตัวของมันเอง ผมจะห้ามไม่ให้มันขยับตัวไม่ได้ครับ

ผมอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ถ้าผมนึกคิดเห็นร่างกายเน่าเปื่อย แล้วปล่อยให้อารมณ์ในการเคลื่อนไหวขยับตัวยิบๆ ยับๆ โดยมีจิตที่รู้พุทโธ พุทโธ ตั้งมั่นคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แบบนี้จะมีผลในการละสักกายทิฏฐิได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ได้! ความจริงคำตอบนี่นะ คำตอบแบบนี้ ในวงกรรมฐานเวลาเขาตอบนี่เหมือนเด็ก เราจะให้เด็กทำงาน เราบอกวิธีทำงานให้เด็ก แต่ถ้าเราไปบอกผลการทำงานที่เสร็จแล้วนะ เด็กมันจะไม่มีประสบการณ์ในการทำงานนั้นใช่ไหม

การทำงานของเด็ก เด็กต้องทำงานเสร็จ เด็กมันจะมีประสบการณ์ในการทำงานสิ่งนั้นเสร็จ แต่เราบอกว่าทำงานอย่างนี้ ผลจะตอบเป็นอย่างนี้ นี่หลวงปู่มั่น หลวงตา เวลาท่านเทศน์ท่านไม่ได้บอกถึงผลเลย.. การบอกถึงผล ทำงานอย่างนี้ ผลของมันจะเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น ระหว่างที่ทำ ประสบการณ์นั้นไม่มี ผลมันไม่เกิด ผลที่เกิดขึ้นมาเกิดจากสัญญา เกิดจากการจำ

อันนี้จะเป็นโทษกับผู้ปฏิบัติมาก ผู้ปฏิบัติถ้ารู้โจทย์ก่อน เห็นไหม เราจะบอกถ้ารู้โจทย์ก่อน รู้คำตอบก่อน คือเรารู้คำตอบอยู่แล้วไง นี่เป็นพระโสดาบันก็ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เรารู้คำตอบ.. เรารู้คำตอบแล้วเราก็จะตอบอย่างนี้ ถ้าตอบอย่างนี้ปั๊บ นี่ถ้าพูดถึงทางโลกใช่ไหมเขาก็ให้คะแนนกันเพราะว่าตอบถูกต้อง แต่ในทางธรรม นี่เป็นสันทิฏฐิโก เป็นความรู้จริง เห็นจริงในหัวใจ

ทีนี้พอเรารู้คำตอบเราก็ตอบ พอตอบไปแล้วมันเป็นผลของพระพุทธเจ้า มันเป็นผลของครูบาอาจารย์ มันไม่ใช่ผลของเรา ถ้าไม่ใช่ผลของเรา นี่มันถึงเป็นสัญญา แล้วพอทำไปแล้วทุกคนจะงงนะ นี่ที่ว่าปฏิบัติไปแล้ว “อ้าว.. ก็ทำครบทุกอย่างแล้ว ก็ทำดีทุกอย่างแล้ว ทำไมมันไม่เป็นซักทีล่ะ ทำไมไม่เป็นซักทีล่ะ”

มันเป็นได้อย่างไรล่ะ เป็นได้อย่างไรเพราะมันไม่เป็นปัจจัตตัง ไม่เป็นข้อเท็จจริงในกิเลสของเราไง มันจะเป็นจริงต่อเมื่อเราปฏิบัติแล้ว กิเลสของเรานี่ เราชำระกิเลสของเราตามความเป็นจริง พอชำระกิเลสตามความเป็นจริง เวลากิเลสมันหลุดออกจากใจเราไป งงนะ เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! อ้าว.. ก็มันหลุดจริงๆ เวลาจริงๆ ขึ้นมากลับงงนะ แต่ถ้าเวลาศึกษามานี่ อู๋ย.. รู้เลยนะ แหม.. ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อู๋ย.. คำตอบของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คำตอบของเรา

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ ถ้าทำอย่างนี้ เห็นไหม เราทำไป.. นี่เวลาทำ ผู้ถามนี่นะปฏิบัติไปด้วยความหมั่นเพียร เพราะถ้าทำมาอย่างนี้มันไม่ผิดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องขยันแล้วต่อเนื่อง การขยันแล้วต่อเนื่องนะ อย่างเช่นกีฬาเวลาแข่งขัน เวลายิ่งใกล้หมดเวลา นี่แหม.. มันอยากจะลุ้นแพ้ ลุ้นชนะกันอยู่อย่างนั้นล่ะ

ปฏิบัตินะ.. มีคนมาถามบ่อยเนาะ นั่งทั้งคืนเลย โอ้โฮ.. ไม่ได้เรื่องเลย พอตี ๔ ตี ๕ มันชักดีขึ้นแล้ว เพราะอะไรรู้ไหม เพราะต้องลุกไปหุงข้าวไง พอจะลุกไปหุงข้าวนะ แหม.. ใจมันดี๊ดี ยังไม่อยากจะลุกเลยนะ แต่นั่งมาทั้งคืนมันไม่ได้เรื่องนะ พอตี ๔ ตี ๕ จะหุงข้าว ใส่บาตร อู้ฮู.. ใจดี๊ดีนะ แล้วก็มาถาม

“หลวงพ่อ ระหว่างภาวนากับหุงข้าว อันไหนจะดีกว่ากัน”

เราบอกว่า “หุงข้าวๆ หุงข้าวดีกว่า”

เพราะอะไร เพราะถึงเวลาจะหุงข้าวนี่กิเลสมันบอก.. กิเลสนี่นะมันจะทอนความดีเราทุกอย่าง เพราะถึงเวลาจะไปหุงข้าวเพื่อใส่บาตร มันได้บุญชัดๆ อยู่แล้ว เห็นๆ เลย เป็นหน้าที่ แต่พอจะไปทำหน้าที่นี่นะ “แหม.. จิตกำลังดีเลย โอ้โฮ.. ไม่อยากลุกเลยนะ” กำลังดีนี่มันดีแค่ไหน อ้าว.. ถ้ามันดีมันก็เป็นสมาธิมาแล้ว

แต่นี่บอกเอาความดี แบบว่าเอาข้อโต้แย้งจากที่เราทำคุณงามความดี เราเคยลุกหุงข้าวใส่บาตรอยู่เป็นประจำ พอถึงเวลาบอกว่า ภาวนาต้องจำเป็นกว่า.. ใช่ ภาวนาจำเป็นกว่า แต่เราก็ตั้งเวลาของเรามาได้ ถึงเวลาเราจะลุกไปเพื่อหุงข้าวใส่บาตร ใส่บาตรเสร็จแล้วมาภาวนาต่อก็ได้ นี่เวลาอย่างนั้นปั๊บเราลังเลแล้ว เราหาทางออกไม่ได้แล้ว

ฉะนั้น การภาวนาสืบต่อ เห็นไหม นี่การภาวนาสืบต่อ เราสืบต่อไป แต่ถึงเวลา มีหน้าที่เราแบ่งเวลาไว้ อย่างเช่น เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านนั่งตลอดรุ่ง ท่านมีข้อแม้ไว้อันเดียว คือหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เจ็บไข้ได้ป่วย หรือพระเจ็บไข้ได้ป่วยท่านจะลุก นอกนั้นไม่มี

นี่ก็เหมือนกัน เวลาอย่างนั้นมันมีความจำเป็นเพราะเราอยู่ในสังคมใช่ไหม แล้วมันเป็นการแสดงออกของน้ำใจใช่ไหม อันนี้ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติของเราไป ไม่ต้องไปห่วงว่าจะเป็นโสดาบันหรือไม่เป็นโสดาบัน ถ้าเป็นโสดาบันนะมันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะกังวานขึ้นมากลางหัวใจผู้เป็น ถ้าเป็นโสดาบันนะ มันจะกังวานขึ้นมากลางหัวใจเลย ปิ๊ง นี่โสดาบันเป็นอย่างนี้! ไม่ต้องห่วง

แต่ถ้ามันยังสงสัย มันยังลังเลอยู่นี่มันไม่เป็น.. มันไม่เป็นก็ต้องขยันทำ ทำมาถูกแล้วแหละ ทีนี้เพียงแต่ว่าโดยปัญญาชน ปัญญาชนพวกเราจะคิดกันอย่างนี้ไง คิดกันว่า “บอกมา ว่ามรรคสามัคคี สิ่งที่มรรคญาณที่มันจะสรุปเป็นโสดาบันนี่ มันมีสติปัญญาระดับไหน มันมีงานชอบ เพียรชอบ สมาธิขนาดไหน”

ทุกคนชอบถามตรงนี้มากนะ เราบอก “เออ.. เอ็งไปเอาตาชั่งมาสิ จะชั่งซิว่าสมาธิมันหนักเท่าไหร่ แล้วปัญญามันหนักเท่าไหร่ แล้วสติมันหนักเท่าไหร่ แล้วเอามารวมกัน”

มันไม่ได้หรอก! มันไม่ได้เพราะอะไร มันไม่ได้เพราะกิเลสของคนมันไม่เหมือนกัน แกงส้ม แกงเผ็ด แกงจืด เห็นไหม นี่ส่วนผสมมันแตกต่างกัน วัตถุดิบที่เอามาทำมันแตกต่างกัน แล้วมันออกมามันก็ไม่เหมือนกัน แกงส้ม แกงเผ็ด แกงจืดมันไม่เหมือนกัน

อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสของคน นี่บางคนแกงจืด เขารสจืดเขาก็จืด แต่เขาก็กินของเขา อาหารของเขา สมบูรณ์ของเขา เขาชอบของเขา บางคนกินแกงส้ม แกงส้มเขาก็กินของเขา บางคนกินแกงเผ็ด นี่ไง จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ทีนี้เราจะบอกว่าสติเท่าไหร่ ปัญญาเท่าไหร่ เราจะมาวัดค่ากัน แล้วเอ็งเป็นแกงส้มหรือแกงจืดล่ะ? แล้วเอ็งจะกินแกงอะไรล่ะ? แล้วพอกินๆ ไปแล้วมันก็เบื่อ พอเบื่อแล้วมันก็เปลี่ยนกินแกงอื่น

นี่ไง กิเลสมันหลบตลอด ฉะนั้น เราจะไม่มีการวัดค่า ถ้ากิเลสมันหยาบ เราก็เต็มที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์อัดมันเข้าไปเลย ถ้ากิเลสมันเริ่มกระเทือนซัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็ละเอียดอ่อนขึ้นไป นี่ถ้ายิ่งกิเลสมันหาที่หลบไม่ได้แล้ว มันจะแบบว่าบังเงาแล้ว คือมันจะเป็นเราแล้ว “อู๋ย.. เป็นโสดาบันแล้ว อู้ฮู.. เป็นพระอรหันต์น่ะ อู้ฮู.. ไม่ต้องปฏิบัติมันก็เป็นพระอรหันต์”

นี่มันบังเงา คือมันเข้ามาเป็นพวกเดียวกับเรา เข้ามาเป็นพวกเดียวกันความเพียรของเรา บอกว่าเราเป็นหมดแล้ว.. เวลากิเลสหลอก มันหลอกอย่างนี้

ฉะนั้น เวลากิเลสหลอกมันมีนะ ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนนะท่านจะไม่บอก เพราะถ้าบอกแล้ว ดูสิอย่างเช่นเราศึกษานี่มรรคของพระพุทธเจ้า มรรคของครูบาอาจารย์ แล้วเราก็พยายามจะทำให้เหมือน ฉะนั้น มันต้องเป็นมรรคของเรา ถ้ามรรคของเรา เห็นไหม พอเวลาเราพุทโธไปนี่จิตมันยิ่งขยับยิบๆ ยับๆ นั่นล่ะ นั่นล่ะถูก! ถูกเพราะอะไร เพราะเราภาวนาไปแล้วมันมีอาการสะเทือน

หลวงตาบอกว่า “มันสะเทือนกิเลส” หลวงตาพูดบ่อยนะ ว่าเราปฏิบัติกันทั้งปีทั้งชาติเลยนะ กิเลสมันไม่ถลอกปอกเปิกเลย กิเลสมันไม่บุบสลายอะไรเลย ภาวนาไป กิเลสยิ่งตัวโตเข้าไปใหญ่เลย อู้ฮู.. คนนั้นก็เป็นโสดาบัน โสดาบันของกิเลสไง คนนั้นก็เป็นพระอรหันต์ ยิ่งภาวนาไปกิเลสมันยิ่งตัวใหญ่ แต่ถ้ามันภาวนาไป เห็นไหม มันขยับ จิตยิบๆ ยับๆ นั่นล่ะมันสะเทือนใจ

สะเทือนนั้นคือสะเทือนกิเลส กิเลสมันอยู่ที่นั่น ถ้ามันยิบๆ ยับๆ ยิบยับนี่บางคนบอกไม่ได้ เพราะมันเป็นการส่งออก มันเป็นอะไร เออ! ได้หรือไม่ได้ เดี๋ยวเอ็งรู้ ขอให้พิจารณากายไปเรื่อยๆ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาตามข้อเท็จจริง หมายถึงว่าจิตสงบแล้วพิจารณา

ถ้าจิตไม่สงบแล้วให้กลับมาทำความสงบก่อน ถ้าจิตไม่สงบ พิจารณาไปนะเสียพลังงานเปล่า พิจารณาไปแล้วนะกิเลสมันนอนกระดิกเท้าอยู่นะ พิจารณาไปเลย มันลูบหัวเล่นด้วย ฉะนั้น ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันไม่สะเทือนใจ มันไม่ปล่อย.. ไม่ปล่อยคือว่ามันไม่ปล่อยวาง ให้กลับมาทำความสงบของใจก่อน

ความสงบของใจนี้สำคัญมาก ความสงบของใจมันเข้าไปสู่เจ้าของสิทธิ์ ถ้าเจ้าของสิทธิ์ใช้สิทธิ์ตามสิทธิของเจ้าของ มันจะได้สิทธิ์ตามสิทธิของมัน แต่ตอนนี้เราให้กิเลส ให้ผีมันใช้สิทธิ์ ให้ความคิดมันใช้สิทธิ์ ให้ความรู้สึกนึกคิดใช้สิทธิ์ พอมันใช้สิทธิ์มันก็พิจารณาไปตามสิทธิ์ของผี เราไม่ได้สิทธิ์ เห็นไหม นี่สมาธิสำคัญตรงนี้

ฉะนั้น ถ้ามันพิจารณาไปแล้ว ดีแล้ว เราพิจารณาไปเรื่อยๆ แล้วถ้ามันไปไม่ได้ หรือว่ามันมีอะไรขัดแย้ง ให้กลับมาทำความสงบของใจ ทำอย่างนี้ถูกแล้ว

“หลวงพ่อจะต้องบอกว่า ปฏิบัติอย่างไรถึงเป็นวิปัสสนา ไม่ใช่เป็นวิปัสสนึก”

วิปัสสนึกนี่มันปฏิเสธไม่ได้ เวลาทำไปมันมีของมัน วิปัสสนึกหมายถึงว่า มันเป็นโลกๆ คือมันเป็นการจำ เป็นสิ่งที่เป็นสัญชาตญาณของความรู้สึกมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามีสติ มีสมาธิแล้ว ถ้าวิปัสสนามันเป็นสัจธรรม คือว่ามันไม่มีตัวเรา วิปัสสนึกคือมีตัวตนของเรา มีความรู้สึกของเราแอบแฝงกับการกระทำนั้นไป แต่เพราะมีเราแอบแฝงไปมันถึงเป็นวิปัสสนึกเพราะมีเรา ความแอบแฝงนั้นเป็นวิปัสสนึก เพราะมีเราเป็นส่วนร่วม

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นวิปัสสนา มันพิจารณาไปแล้วมันไม่มีเราเป็นส่วนร่วม มันเป็นส่วนของสัจธรรม มันเป็นสัจจะความจริง แล้วมันจะปล่อย มันจะมีความสุข ที่ยิบๆ ยับๆ นี่อาการมันบอกแล้วแหละ อาการมันบอกว่าถ้ามีจิตยิบๆ ยับๆ นี่มันสะเทือนแล้ว มันสะเทือนใจสะเทือนกิเลส

ที่หลวงตาบอก เห็นไหม “ภาวนาจนเกือบเป็นเกือบตาย กิเลสไม่ถลอกปอกเปิกเลย กิเลสมันไม่มีความรู้สึกอะไรเลย” กิเลสมันรู้สึก ยิบๆ ยับๆ นี่กิเลสมันโดนเตือนแล้วนะ “กูจะฆ่ามึง กูจะฆ่ามึง” เตือนกิเลสแล้ว กิเลสมันรู้ตัว มันถึงแสดงออกยิบๆ ยับๆ

ไม่มีปัญหา ทำไปเลย ทำถูกต้องได้ ให้ขยันหมั่นเพียรไป

ขออีกข้อหนึ่งเนาะ..

ถาม : ๔๐๗. เรื่อง “ผลของการปฏิบัติ หรือเป็นแค่สัญญาความคิดครับ”

กระผมไปปฏิบัติธรรมที่วัดหลวงพ่อ (นั่นแน่ะ เขามาปฏิบัติที่นี่แหละ ๕ วัน ใครก็ไม่รู้) วันแรกๆ จิตมันดิ้นรนมากครับ อยากกลับมากเลย ทั้งทุกข์ ทั้งฟุ้งซ่านมากครับ แต่ก็พยายามตั้งใจ นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อที่สอนว่า

“เรามาปฏิบัติเพื่อฝึกใจเราให้เข้มแข็ง ที่เราฟุ้งซ่านเพราะว่าใจเราไม่เข้มแข็ง แพ้กิเลสที่อยู่ในใจของเรา”

วันต่อก็เริ่มรู้สึกดีขึ้นครับ โดยพยายามเดินจงกรมมากๆ และนั่งสมาธิแล้วมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ตลอด พอวันที่ ๓ ช่วงบ่ายๆ หลังจากเดินจงกรมก็นั่งสมาธิต่อ อาการปวดหลัง ปวดไหล่ก็เกิดขึ้นจนทนแทบไม่ได้อยากจะเลิกนั่ง แต่ก็คิดถึงคำสอนหลวงพ่อว่า

“เวลาเวทนาเกิดก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน ใช้ปัญญาไล่มันว่าหลัง ไหล่ มันปวดอย่างไร จริงๆ แล้วหลัง ไหล่ มันไม่ได้ปวด แต่เพราะมีตัวรู้คือจิตที่เข้าไปรับรู้อาการปวด จิตนี้เข้าไปรับรู้อารมณ์ของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่ใช่เรา”

ผลปรากฏว่าอาการปวดนั้นหายไป จิตอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ รู้สึกสบาย มีความรู้สึกตลอดว่า จิตอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ สักพักหนึ่งก็ออกจากการนั่งสมาธิ รู้สึกสบาย สงบ โล่ง มีความสุข จนเกิดความรู้สึกอยากเดินจงกรม จึงลงเดินจงกรมทันที พอเดินจงกรมไปมีความคิดขึ้นมาว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย เป็นแบบนี้นี่เอง”

ทั้งหมดเป็นเพราะว่าจิตหรือผู้รู้เข้าไปรับรู้นี่เอง จิตมันมาอาศัยกายนี้เป็นแค่สิ่งชั่วคราว พอมันมาอาศัยกายอยู่ มันก็ใช้กายนี้ แต่แท้จริงแล้วจิตกับกายมันเป็นคนละส่วนกัน เวลาเกิดรับรู้ทางรูป เช่นความปวดหลัง มันก็เกิดจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณตามมา แล้วจิตเข้าไปรับรู้มันแล้วเราก็ทนไม่ได้นั่นเอง พอจิตเข้าใจอย่างนี้ก็เกิดอาการปล่อย

ในความรู้สึกตอนนั้น กายไม่ใช่เรา กายนี้ยอมสละ ยอมตายได้เลย เพราะมันสักแต่ว่ากาย มันไม่ใช่เรา แล้วคิดถึงคำสอนของหลวงตาว่า “อ๋อ! ที่ว่ากาย เวทนา มันสักแต่ว่า มันเป็นเช่นนี้เอง” เกิดอาการเดินแบบตัวเกร็งและเย็นไปหมด เดินไปได้สักพักหนึ่งก็หยุดเดินแล้วรีบนั่งสมาธิต่อ ผลปรากฏว่า อาการปวดมาแป๊บเดียวแล้วก็หายไป มีความรู้สึกว่าจิตอยู่กับพุทโธ พยายามบังคับให้จิตนี้รับรู้คำบริกรรมพุทโธ นั่งไปได้สักพักหนึ่งก็เลิกนั่ง รู้สึกสบาย โล่ง มีความสุขครับ

กระผมอยากถามหลวงพ่อว่า (พูดตั้งนานแน่ะ)

๑.นี่เป็นผลของการปฏิบัติ หรือเป็นแค่สัญญาความคิดครับ เพราะว่าวันต่อมาก็ทำไม่ได้แล้วครับ

๒.ถ้าเป็นผลของการปฏิบัติ กราบหลวงพ่อช่วยสอนชี้แนะด้วยครับว่าควรปฏิบัติอย่างไรให้ก้าวหน้าขึ้นครับ เพราะความรู้สึกนี้มีความสุขมากๆ เลยครับ

หลวงพ่อ : มันเป็นผลจากการปฏิบัติ ผลจากการปฏิบัตินี่มันจะฝังใจมาก ผลของการปฏิบัติเพราะมันเป็นปรากฏการณ์ของใจ เพราะใจมีปรากฏการณ์ มีความลังเลสงสัย มีการศึกษาแล้วนี่เราไม่เข้าใจสิ่งใดเลย มันเป็นปริยัติคือการศึกษาทางวิชาการ.. มีวิชาการขนาดไหน ตอนนี้เห็นไหม ในการปฏิบัติที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เวลาเขาทุกข์เขายากกัน เขาไปปฏิบัติกัน แล้วไปศึกษาธรรมะนี่มันจะโปร่ง มันจะโล่ง ทุกคนบอก อู๋ย.. ดีมาก ดีมากจริงๆ

นี่ไงที่บอกว่าธรรมะประจำชีวิตที่เขาว่ากันนั่นน่ะ มันก็เป็นอย่างนั้นล่ะ มันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เป็นอย่างนั้นเพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้ามันสุดยอดมาก พอเราไปศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าเราก็เข้าใจ เหมือนกับทฤษฎี เห็นไหม เรามีความหลงผิดไปในทางชีวิตโลก เราก็อยู่กับโลกมา เราก็มีกระทบกระเทือนมา โลกธรรม ๘ เราก็เจ็บช้ำน้ำใจนัก

พอเรามาศึกษาธรรมะ เราก็บอกนี่มันเป็นโลกธรรม มันเป็นธรรมะเก่าแก่ พอเราศึกษาธรรมะเราก็ เออ.. จริง มันก็โล่ง มันก็สบาย นี่มันเป็นได้แค่นี้แหละไปต่ออีกไม่ได้ แค่นี้เอง แค่นี้เองเพราะอะไร เพราะจิตมันไม่มีสมาธิไง จิตมันไม่มีลงลึกไง ในภาคปฏิบัติ การปฏิบัติอย่างนี้เขาเรียกโลกียปัญญา คือปัญญาเกิดจากการศึกษา ปัญญาเกิดจากความรู้ขึ้นมาในธรรมะของพระพุทธเจ้า มันก็รู้ได้ นี่ปฏิบัติอย่างนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติอย่างอื่นไม่ใช่

ไอ้ที่ไม่ใช่นี่เขาทำสมถะก่อน คือสมถะนั้นมันจะลงสู่เจ้าของสิทธิ์ ถ้าเจ้าของสิทธิ์พิจารณาแล้ว เจ้าของสิทธิ์มันจะได้ใช้สิทธิ์เป็นประโยชน์กับมัน ไอ้นี่ไม่ได้ใช้สิทธิ์อะไรเลยนะ ไปอ้างสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า ไปอ้างสิทธิ์ ไปอ้างธรรมพระพุทธเจ้ามาบอกว่า “กูรู้ แหม.. มันสะดวก มันดีไปมากๆ เลย” ดีเพราะยังมีสติอยู่ มีสติแล้วเราศึกษาธรรมะมันก็รู้ พอเดี๋ยวมันเผลอนะ ไอ้ดีๆ นี่เก็บใส่กระเป๋าไว้ มันจะไปทำตามกิเลสของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “นี้เป็นผลของการปฏิบัติหรือเปล่า”

มันก็เป็นอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นอยู่แล้วมันเกิดจากอะไรล่ะ มันเกิดจากทางจงกรม เดินจากการปวดหลัง มันเกิดจากปวดหลัง ถ้าไม่เกิดจากปวดหลังแล้วมันจะเกิดจากอะไร เราปวดหลังมันเป็นความจริงหรือเปล่าล่ะ มันก็เป็นความจริง

นี่สิ่งนี้เกิดจากการปฏิบัติ แต่! แต่เป็นการปฏิบัติแบบพื้นฐาน เราเริ่มต้นไง ฝึกหัดไง เราเริ่มฝึกหัด พอฝึกหัดเข้าไปนี่มันจะมั่นใจ ถ้าฝึกหัดนะ เราเข้าไปสัมผัสปั๊บมันจะมั่นใจ

หลวงตาบอกว่า “ใครทำจิตสงบแล้วนะ แล้วทำอย่างอื่นไม่ได้อีก” เวลาจิตมันสงบ เวลาปฏิบัติไปมันจะคิดถึงตรงนี้ อันนี้จะฝังใจ สิ่งที่ฝังใจนะเพราะมันเกิดจากใจ ปฏิกิริยาของจิต จิตมันมีปฏิกิริยาของมัน มันได้สัมผัสของมัน มันจะอยู่กับจิตตลอดไป นี่ผลบุญผลกรรมไง มันสัมผัสมันจะอยู่ของมันตลอดไป

ฉะนั้น “อาการปวดหลัง มันเกิดจากการปวดหลัง เป็นภาคปฏิบัติหรือเปล่า”

เป็น! ผลเกิดจากการปฏิบัติ แล้วผลอย่างนี้นะ นี่เวลาเรารู้ขึ้นมาแล้วอ๋อเลย หลวงตาว่าอย่างนี้ หลวงพ่อว่าอย่างนี้ อ๋อ! อ๋อ! อ๋อ! เลย นี่มันต้องมีใครบอกล่ะ มันรู้เอง เห็นไหม ถ้ามันรู้อย่างนี้ มันรู้แล้วไม่ต้องมีใครบอกเลย แล้วใครพูดถึงที่เรารู้นี่เข้าใจได้ทันทีเลย แต่ถ้าเมื่อก่อนนะเขาพูดเกือบตาย

กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ก็เถียงอยู่นั่นแหละ อู๋ย.. พระองค์นี้คงสติไม่ดีแล้วแหละ ไม่ใช่เราอะไร เห็นยังไปหาหมออยู่ “ไม่ใช่เราๆ” เจ็บทีไรก็เห็นไปหาหมอทุกทีเลย แล้วบอกว่า “ไม่ใช่เรา” นี่มันจะค้านของมัน

ถาม : ข้อ ๑. นี้เป็นผลของการปฏิบัติหรือไม่ เป็นแค่สัญญาความคิดหรือเปล่า

หลวงพ่อ : เป็นจากการปฏิบัติ สัญญาส่วนสัญญาสิ ถ้าเกิดสัญญานี่มันเกิดอารมณ์ไม่ลึกซึ้ง ถ้าสัญญาก็บอกสิว่าชีวิตประจำวันไง ธรรมะประจำวัน.. นี่เราศึกษาแล้วคือสัญญา เราใช้สัญญาพิจารณาแล้วมันปล่อย ปล่อยจากสัญญามา แต่มันไม่รู้อะไร เพราะพอปล่อยมาแล้วไม่มีสติใช่ไหม มันไม่เข้าไปสู่เจ้าของสิทธิ์ แต่ถ้าเราเป็นการปฏิบัติ เจ้าของสิทธิ์รู้เอง เจ้าของสิทธิ์ได้หย่อนบัตร มันเป็นสิทธิของจิตดวงนั้น แล้วก็ฝังอยู่กับจิตดวงนั้นตลอดไป

ใครเคยไปหย่อนบัตรนะคนนั้นจะมีสิทธิ์ แล้วคนๆ นั้นจะรู้ว่าไปหย่อนบัตรที่ไหน อย่างเรานี่เขาเรียกว่านักบวช นักบวชไม่มีสิทธิหย่อนบัตร เราไม่เคยหย่อนบัตรเลยนะ ไม่รู้ไปหย่อนที่ไหนด้วย แล้วคนไม่เคยหย่อนบัตรนี่มันพูดไปก็เอาแต่คำว่าโม้ แต่ไอ้คนหย่อนบัตร มันจะรู้เลยว่าหย่อนบัตรที่ไหน นักบวชไม่มีสิทธิ์ เราไม่เคยหย่อนบัตรเลย ฉะนั้น เวลาเราไปหย่อนบัตร เราไปใช้สิทธิ์ของเรา เราจะรู้ว่าเราใช้สิทธิ์ที่ไหน

นี่ก็เหมือนกัน จิตเราปฏิบัติ จิตเรารับรู้ นี่มันปล่อยอย่างไร มันสงบอย่างไร เห็นไหม

ถาม : ข้อ ๒. ถ้าเป็นผลของการปฏิบัติ กราบหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วยครับว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรให้ก้าวหน้าขึ้นไป

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่า สิ่งที่ผ่านมามันเป็นอดีต สิ่งที่ผ่านไปแล้ว แม้แต่ช่วงเมื่อวานนี้กับวันนี้ มันก็เป็นอดีตแล้ว พอสิ่งนี้เป็นอดีตปั๊บเราจะฝังใจมาก แล้วพอปฏิบัติก็จะเอาแบบเมื่อวาน เอาแบบเมื่อวาน ไอ้เมื่อวานกับวันนี้มันคนละวัน

ไอ้เมื่อวานนะจิตดวงเดียวนี่แหละ จิตดวงนี้แต่ก่อนมันยังโง่อยู่ มันยังไม่มีเหตุมีผล เวลาปฏิบัติไปโดยที่มันยังไม่มีเหตุมีผลดักหน้าดักหลัง มันจะเป็นตามข้อเท็จจริง แต่พอจิตดวงนี้มันไปรู้แล้วว่าอะไรดี อะไรไม่ดี มันจะอยากได้แต่สิ่งที่ดีๆ ดีๆ ไอ้สิ่งที่ดีๆ นั้นมันก็เป็นดาบสองคมกลับมาเชือดอีก

ฉะนั้น “ควรจะปฏิบัติอย่างไร”

เราก็ปฏิบัติของเรานี่แหละ พุทโธของเรา สติปัญญาอบรมสมาธิของเรา ทำของเราตามข้อเท็จจริงไป ขยันหมั่นเพียรไง นี่ไงการปฏิบัติที่มันยาก มันยากอย่างนี้ไง สิ่งที่ได้มาแล้วนะ อย่างเช่นเงินใช่ไหม เราได้เงิน ๑ บาท เราเก็บเงิน ๑ บาทไว้ ปีนี้ก็ ๑ บาท ปีหน้าก็ ๑ บาท ปีต่อไปก็ ๑ บาท นี่มันใช้หนี้ได้ตามกฎหมายในค่า ๑ บาทนั้น

การปฏิบัตินะ พอปฏิบัติไปแล้วนี่ ๑ บาท ๑ บาทนี้มันเป็นนามธรรม จะไปใช้อะไรล่ะ จะไปใช้อะไร แล้วใช้ที่ไหน.. ทีนี้พอจะปฏิบัติใหม่มันต้องหาเงินเดี๋ยวนั้นไง นี่เงินสดๆ เดี๋ยวนั้นถึงใช้ได้เดี๋ยวนั้น นี่เป็นสมาธิเดี๋ยวนั้น เป็นสติเดี๋ยวนั้น เป็นปัญญาเดี๋ยวนั้น

ฉะนั้น จะมีความชำนาญขนาดไหนนะ แต่เวลาปฏิบัติ.. นี่ครูบาอาจารย์ที่ชำนาญมากเลย แต่ถ้าวันไหนกระทบแรงๆ เห็นไหม ท่านก็ต้องตั้งสติของท่าน เพื่อให้จิตของท่านเข้ามาอยู่ในหลักของท่าน แล้วใช้วิปัสสนาย้อนกลับเข้ามา ทีนี้ทางโลกว่าเงิน ๑ บาทมันเป็นกระดาษใช่ไหม ไปเก็บไว้ที่ไหน จะอย่างไรมันก็ไม่หาย นี่แล้วใช้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเป็นความรู้สึก มันสะกิดทีเดียวหายวูบเลย ฉะนั้น พอหายวูบเราต้องสร้างเป็นปัจจุบันไง คำว่าปัจจุบัน..

ฉะนั้น ถามว่า “จะปฏิบัติอย่างไรต่อไป”

ก็ปฏิบัติอย่างเดิม แต่! แต่ให้มันเป็นปัจจุบัน สิ่งที่ล่วงมาแล้ว เป็นความดีเราก็ล่วงมาแล้ว คำว่าล่วงมาแล้ว ๑.มันเป็นความดี ๒.เป็นการตอกย้ำว่า “ธรรมะมีจริง” เราได้สัมผัส เราได้รับรู้ เห็นไหม ให้เห็นว่าเป็นความจริง ให้มันได้เชื่อมั่น

การปฏิบัติธรรม..

๑.การฟังธรรมนี้เป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง

๒.สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ

๓.มันแก้ความลังเลสงสัย

๔.ทำให้จิตผ่องแผ้ว

นี่ไง สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เห็นไหม ได้ยินได้ฟังมาแล้ว มันแก้ความสงสัย นี่ปฏิบัติแก้ความสงสัย มันรู้ของมัน ถึงที่สุดแล้วถ้าจิตมันผ่องแผ้ว จิตผ่องใส นี่ไง นี่มันทำของมันได้ ฉะนั้น เราทำของเราไปเรื่อยๆ ขยันหมั่นเพียรของเรา

มันไม่ใช่การศึกษา ที่เรียนจบแล้วได้กระดาษแผ่นหนึ่งก็ไปแขวนไว้ที่บ้าน กูเรียนจบแล้ว กูเรียนจบแล้ว นี่กูมีใบประกาศเลยนะมึง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติแล้วหนหนึ่งก็ว่ากูมีใบประกาศนะมึง กูเคยปวดหลัง หายปวดหลังนะมึง เดี๋ยวจะปวดหลังอีก เดี๋ยวก็ปวด ปัดโธ่!

มันมาเรื่อยๆ มันไม่ใช่ใบประกาศนียบัตรนะเว้ย มันเป็นนามธรรม มันเป็นปัจจัตตัง ทีนี้ให้เราขยันหมั่นเพียรเข้าไป แล้วเราจะได้ประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง