ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปฏิบัติอย่างเดิม

๘ พ.ค. ๒๕๕๔

 

ปฏิบัติอย่างเดิม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรมวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามนี้เป็นคำถามที่ว่ามหัศจรรย์เลย ใครทำได้ขนาดนี้เห็นไหม นี่คือการปฏิบัติ

ข้อ ๔๐๙.

ถาม : ภพของปุถุชนจะเปลี่ยนไปแบบฉับพลัน หน้ามือเป็นหลังมือ หรือกลายเป็นภพที่สะอาดได้ไหมครับ?

หลวงพ่อ : นี่เวลาเขาปฏิบัตินะ เพราะความเป็นของเขา เขาเป็นจริงๆ เลยนะ เขาถึงสงสัยว่า ภพ ปุถุชน มันจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นโสดาบันหรือเปล่า? เป็น จริงๆ เปลี่ยนจริงๆ เปลี่ยนแบบว่าช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นไง ถ้ามันพลิกมันเปลี่ยนไปเลย ถ้ามันเปลี่ยน มันเปลี่ยนไปตามความเป็นจริงนะ แต่อันนี้มันจะเป็นระหว่างการเดินทาง มันถึงยังมหัศจรรย์ขนาดนี้นะ

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง (เขาถามมาเยอะไง) ครั้งล่าสุดได้ขอความเมตตาจากหลวงพ่อ ให้โปรดคลายความข้องใจของผม ในเรื่อง “มีอะไรบงการอยู่ในตัวรู้” ซึ่งหลวงพ่อได้มีความเมตตาตอบคำถามได้อย่างชัดเจน เป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ แต่ในห้วงที่ผมตั้งคำถามไปยังไม่ได้รับคำตอบ

หลวงพ่อ : มันช้ามันมารอคิวอยู่นะ แล้วเขาปฏิบัติไป แบบว่าเขาถามเรามา เขาปฏิบัติมันเกินกว่าคำถามไปแล้วไง แล้ววันนั้นมา เราคุยกับเขาเป็นส่วนตัวไปแล้ว อย่างนั้นอันนี้เป็นเพียงคำถาม เราก็ต้องทำตามหน้าที่ เคลียร์คำถามเราให้หมด

ถาม : แต่ในห้วงที่ผมตั้งคำถาม และยังไม่ได้รับคำตอบจากหลวงพ่อ ผมก็เอาสติปัญญาเท่าที่ความรู้ที่ผมมี ออกไล่หาว่า อะไรอยู่ข้างหลังตัวรู้ ซึ่งก็หาไม่เจอหรอกครับ เมื่อหาไม่เจอผมก็เปรียบเสมือนมวยวัด ที่ลุยสิ่งที่อยู่ข้างหน้าด้วยเครื่องมือที่ตัวผมมี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ กล่าวคือ เครื่องมือที่ผมใช้ ผมก็มีเครื่องมืออย่างเดียวคือ การพิจารณากาย

ผมหาตัวที่บงการตัวรู้ไม่เจอ ก็ดันไปเจอความคิด แต่ในความคิดเจอนิมิตที่มีรูปกายของตัวเอง ผมจึงใช้การพิจารณากายนั่นแหละจับมันมาตัดมาผ่า ในช่วงนั้นผมก็เปรียบเสมือนหนุ่มๆ ที่เจอศัตรู ในที่นี้คือนิมิตกายที่อยู่ในความคิด ก็ทำการต่อสู้ทันที พิจารณากายเข้าไป ผ่านั่นควักนี่ตัดนั่น มาดู ก็ไม่เห็นว่าเป็นเราตรงไหน ใจมันก็ปล่อย เดี๋ยวความคิดที่เป็นนิมิตกายมันก็มาอีก ผมก็พิจารณากายนี้ ผมก็ไม่ทราบว่าในช่วงนั้นเป็นอย่างไรเหมือนกันครับ

ผมมีความกระเหี้ยนกระหือรือ มีนิมิตกายขึ้นมาในความคิดของผมเมื่อใด ผมก็จับมาพิจารณาจนเกือบหมด เพราะสติค่อนข้างสมบูรณ์ กระนั้น กระทั่งวันที่ ๑๔ กระผมก็ทำแบบเดิมอยู่อย่างไม่ลดละ เพราะในใจคิดว่า ทำแบบนี้แล้วอาจจะเจอตัวที่คอยบงการตัวรู้สักที แต่ก็หาตัวที่คอยบงการตัวรู้ดังกล่าวไม่เจอสักที

ผมก็เกิดความเหนื่อยอ่อนทั้งกายและใจ ผมก็นอนลงหงายหลัง แต่คงลมหายใจชัดๆ ไว้ หวังเพียงแต่การพักผ่อนสักหน่อย ประเดี๋ยวถ้ามีแรงพร้อมที่จะออกลุยสิ่งที่คั่งค้างในใจต่อ พอหลังแตะพื้นมันก็มีความคิด และความคิดก็มีนิมิตกายอีกเหมือนเดิม ผมก็พิจารณาเข้าไปในชั้นแรกก็พบว่า อ้อ มันมาอีกแล้ว มันยึดสมมุติบัญญัติอีกแล้ว ยังไม่ทันจะพิจารณาผ่าตัดควักกายในนิมิต ออกไปดูให้ทั่วเลยครับ

ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดมาก กล่าวคือ ภพที่ผมใช้ทำการพิจารณากายนี้แหละ ซึ่งมันต่างจากจากภพของปุถุชนอยู่แล้วนะ เพราะผมทำความสงบเข้ามา ขณะที่พิจารณากายนั้น ปกติมันอยู่ในภพที่สงบๆ ไม่วิ่งไปวิ่งมา ไม่รุงรัง เพราะไม่มีการยึดในสมมุติบัญญัติ แล้วเป็นภพที่มั่นคงอบอุ่น

แต่ทว่า ครั้งนี้ขณะที่ผมพิจารณาเข้าไปในชั้นแรกก็พบว่า อ้อ มันเอาอีกแล้ว มันยึดสมมุติบัญญัติอีกแล้ว ภพที่ผมอยู่ขณะที่พิจารณา มันเหมือนกับผมนอนบนแคร่ไม้ไผ่ แล้วขาของแคร่ส่วนบริเวณศีรษะที่ผมนอน มันหักลงโดยฉับพลัน วูบ เร็วและสั่นคลอนในภพมากมาย แล้วขาของแคร่ไม้ไผ่บริเวณเท้าของผม มันก็หักตามติดมาแบบฉับพลัน

ภพที่ผมใช้ในการพิจารณาร่างกายนี้สั่นคลอน และเหมือนถูกทำลายหายไป อุปมาเหมือนแผ่นดินที่แคร่ไม้ไผ่ที่เรานอนอยู่นั้น มันถล่มลงสู่เหวลึก ใจมันลงวูบเลย เหตุการณ์ต่างๆ นี้เกิดขึ้นเร็วมาก เหมือนกระพริบตา แต่มีความรุนแรงมาก สั่นคลอนอย่างแรงมากถึงขั้วหัวใจที่อยู่ในร่างกายของผม

พอผมตั้งสติได้ และผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์สิ่งนี้เกิดขึ้นในชีวิตผมเลย คิดทบทวนไปมา ก็คิดว่ามันคงเป็นกิเลสแบบหนึ่ง เพราะมันสร้างเวทนาสั่นไหวในหัวใจของเรา โอกาสมันก็น่าจะเป็นกิเลสมากที่สุด

วันที่ ๑๕ ผมยังคงตามหาตัวบงการตัวรู้ต่อไป แต่คราวนี้มีเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย คือถ้ามันมีอะไรหวิวๆ ที่บริเวณหัวใจ ผมจับมาพิจารณากายบริเวณนั้นหมดเลย ผมคิดว่ากิเลสมันเข้ามาช่องทางนี้ วันที่ ๑๕ นี้ในความรู้สึก ก็ไม่มีอะไรก้าวหน้ามากมายนักในการต้อสู้กับกิเลส

วันที่ ๑๖ ผมก็ทำหน้าที่เหมือนวันที่ ๑๕ แล้วรู้สึกว่า มันไม่มีอะไรก้าวหน้าในการต่อสู้กับกิเลสเช่นเดิม แต่พอตกเย็นขณะเดินจงกรม พักการพิจารณากาย พักการพิจารณาตัวที่บงการผู้รู้ มันรู้สึกโดยจิตที่ขึ้นมาว่า อ้อ จิตเรามันเปลี่ยนไปเยอะนะ มันสะอาดๆ โปร่งๆ สว่างๆ พอรู้สึกตรงนี้ก็ลองตรวจดูภพที่อยู่ในปัจจุบัน มันก็จริงอย่างที่จิตรำพึงมาเมื่อสักครู่ว่า

เดิมภพพื้นฐานของจิตผม มันเป็นภพที่วุ่นวาย ร้อยรัดไปด้วยสมมุติบัญญัติ ทำให้หนัก เป็นภพที่หวาดหวั่นในสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ กลัวว่ามันจะหายไป สิ่งที่ได้มาแล้วก็ไม่พอใจอยากได้สิ่งใหม่เพิ่ม เป็นภพที่กระพร่องกระแพร่ง เติมเท่าไรก็ไม่เต็มสักที แต่บัดนี้ทำไมภพมันถึงมั่นคง อบอุ่น ใสสะอาด ไม่มีอะไรรุงรัง สว่าง แต่มีสิ่งที่ทำให้สกปรกวุ่นวายมาแบบน้อยๆ ไม่เหมือนภพก่อนหน้านี้ ในภพที่รกอยู่แล้ว และสิ่งที่สกปรกนั้นมาแบบที่ไม่เห็นตัว และมาแบบสารพัดร้อยแปด

และสิ่งที่จรเข้ามาในภพปัจจุบันไม่สะอาด สติปัญญาเครื่องไม้เครื่องมือก็มีเพียงพอที่จะเอามันออกมา ส่งผลให้ภพสะอาดอยู่อย่างนั้น ภพที่สะอาดมันเกิดขึ้นตอนไหนผมก็ไม่รู้ตัวเลยนะครับ ผมย้อนกลับไปวันที่ ๑๔ นั่นแหละ ตอนที่ภพที่ผมอยู่ตอนที่กำลังจะพิจารณานิมิตกายในความคิดมันถล่มพังลงมา เหมือนภพเดิมที่ถูกถล่มลงไปด้วย แล้วภพใหม่ก็เกิดขึ้นมาแทนที่ แต่เกิดที่ใจดวงเดิม

เรียนหลวงพ่อตามตรงว่า วินาทีนี้ แม้ผมเดินอยู่นี้ แทบจะเข่าอ่อน แทบจะล้มทั้งยืน น้ำตาแทบไหลออกมาเลย เพราะในตอนนั้นมีความปีติ มีความเข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นภพ จึงใคร่ขอความเมตตาถามหลวงพ่อดังนี้ นี่คือคำถามนะ

๑. ภพของปุถุชนจะเปลี่ยนไปฉับพลัน หน้ามือเป็นหลังมือให้กลายเป็นภพที่สะอาดอย่างที่ผมเล่ามาได้ไหมครับ

๒. ภพที่สะอาดตัวนี้คือกิเลสอีกหรือครับ เพราะมันรองรับการจรมาของสิ่งที่ทำให้ภพสกปรกอยู่

๓. ต้องทำอย่างไร จึงจะละภพสะอาดตัวนี้ได้ครับ ซึ่งผมด้อยปัญญาจริงๆ

หลวงพ่อ : คำถามคือ ภพที่เป็นปุถุชน จะเปลี่ยนเป็นภพที่สะอาดได้ไหม?

เปลี่ยนเป็นภพที่สะอาดก็คือว่ามรรคผลนั่นแหละ มันต้องเปลี่ยนอย่างนั้นแหละ ถ้ามันเปลี่ยน ความเร็วของจิตเห็นไหม เวลาพูด จิตเร็วกว่าแสง เร็วกว่าทุกอย่าง แล้วมันคงที่อยู่เห็นไหม

สิ่งที่เร็วที่สุดแล้วคงที่ มันจะมีกำลังของมันมาก แล้วเวลาพิจารณาแล้ว เวลาผลเห็นไหม มันจะเร็วมาก ถ้ามันไม่เร็วมากเห็นไหม อย่างในปริยัติเห็นไหม อวิชชา ปฏิสังขาราเห็นไหม เขาต้องปัจจยาการแต่ละขั้นตอนไป เขา อธิบายของเขา ไม่ใช่

นี่ขณะที่ว่าอันนี้นะ เวลาพิจารณาไปแล้วมันรวม พอพิจารณาแล้วมันถึงที่สุดเห็นไหม เวลามันเอนหลังลงนอน แล้วเราพิจารณาของเรา เราปล่อยเห็นไหม เวลามันลง เวลามันลง มันลงอย่างนั้นนะ

ลงเพราะอะไร ลงเพราะเราพิจารณากายมาต่อเนื่อง พอพิจารณากายมาต่อเนื่องมันพัฒนาการของมัน จิตมันจะสมดุลของมัน เวลาสมดุลมันก็รวมลงทีหนึ่ง การรวมลงอย่างนี้เขาเรียกว่า ตทังคปหาน การประหารกิเลสชั่วคราว

การประหารกิเลสชั่วคราวเห็นไหม เวลามันปล่อย มันปล่อยอย่างนี้เห็นไหม พอมันวูบลงเห็นไหม มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ไปเลย จนคำถามพูดเองเมื่อกี้บอกว่า แล้วมันคืออะไร มันตกใจไปหมดเลย ความที่ตกใจ ขณะที่ตกใจมันเป็นอดีตอนาคตไปแล้ว

แต่ขณะที่มันลงนั่นแหละความจริง นี่ตทังคปหาน มันประหารชั่วคราว ถ้ามันเป็นสมุจเฉทปหานนะ เวลามันรวมลง เวลามันพิจารณาเต็มที่แล้วมันขาดพั๊บ! มันเห็นเลยนะ เห็นว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ คือมันแยกออกเลยนะ

หลวงตาใช้คำว่า มันแยกเหมือนสามทวีปเลย พอสามทวีปแล้วจิตมันรวมลงอีกทีหนึ่ง พอจิตมันหลุดออกมา นั่นแหละผลของมัน แต่นี่มันวูบลงเห็นไหม พอวูบลงแล้ว เราสติสัมปชัญญะมันไม่สมบูรณ์เห็นไหม

ไม่สมบูรณ์ว่ามันไม่เห็นกระบวนการทั้งหมด เราถึงต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เพื่อให้มันถึงที่สุด มันจะเป็นของมันเอง จะบอกว่าเป็นอย่างนั้นๆ มันก็จะไปสร้างอีกว่าต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันเลยกลายเป็นแบบว่า โอกาสที่มันจะกว้างขวาง เราก็ไปอยู่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเดียว ประเด็นเดียวเห็นไหม

เราไม่อยู่ในประเด็นไหน เรา สิ่งใดเกิดขึ้นมา สิ่งนี้ถ้ากายมันเกิดขึ้นมาเราพิจารณาทันที อะไรเกิดขึ้นมาเราก็พิจารณาทันที ถ้าพิจารณาไม่ได้ เราก็กลับมาทำความสงบ ทำอยู่อย่างนั้นเห็นไหม

ภพปุถุชนจะเปลี่ยนฉับพลับจากหน้ามือเป็นหลังมือให้กลายเป็นภพที่สะอาดได้ไหมครับ?

“ได้” ถ้าเปลี่ยนได้แล้ว สิ่งที่เปลี่ยนได้เป็นหรือเปล่าครับ สิ่งที่มันรวมลง ถ้ามันเปลี่ยนฉับพลันจากหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว สิ่งนั้นเปลี่ยนหรือเปล่าครับ “ไม่ครับ”

ไม่ครับเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ว่าตทังคปหาน มันผลงานไง เหมือนเราทำงาน เราฝึกงานได้ แต่ว่างานนี้โครงการยังไม่จบ คือว่ามันยังไม่สิ้นกระบวนการของมัน ฉะนั้นพอไม่สิ้นกระบวนการของมัน ต้องซ้ำเห็นไหม คนที่ปฏิบัติเวลาถูกต้องไปถามหลวงตา

“ทำอย่างไรต่อไปครับ” เวลาถามปัญญาท่านตอบหมดแล้วนะ “ทำอย่างไรต่อไปครับ ถูกต้องไหมครับ”

“ถูก”

“แล้วทำอย่างไรครับ”

“ซ้ำ” หลวงตาตอบคำเดียวเลยซ้ำ ซ้ำคือกระบวนการที่เราทำมา มันถูกต้องแล้ว กระบวนการที่เราพิจารณาจิตมา พิจารณากายมา พิจารณาอะไรต่างๆ มา มันถูกต้องแล้ว พอมันถูกต้องแล้ว มันถึงได้ปล่อย แล้วปล่อยแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป แล้วจะไปทำอย่างอื่นได้อย่างไร มันก็ต้องทำ สิ่งที่กระบวนการสิ่งที่ถูกต้องทำมา

กระบวนการที่ถูกต้องทำมา เราทำมาอย่างไร หลวงตาเวลาท่านตอบ ท่านตอบคำเดียวว่า ให้ซ้ำลงไป ซ้ำลงไป คำว่าซ้ำ คือซ้ำ เหมือนเรานะ เราตัดไม้ พอเราตัดไม้แต่ไม้ยังไม่ขาด ทำอย่างไรต่อไป นี่ไง “ตัดไม้แล้วครับ ไม้ไม่ขาดทำอย่างไรต่อไปครับ”

ก็ฟันไปสิครับ ก็ฟันไม้ไปสิครับ นี่คือคำว่าซ้ำของหลวงตาเห็นไหม ซ้ำๆ กระบวนการนะ เราพิจารณามาแล้วเราจะตัดสังโยชน์ ทีนี้สังโยชน์มันปล่อยแต่ยังไม่ขาด ถ้าไม่ขาดต้องซ้ำ คำว่าซ้ำ ต้องซ้ำกระบวนการของมัน พิจารณากายอยู่นี้ คำถามเห็นไหม เพราะเขาบอกว่า ความตั้งใจ ความจงใจก็คิดว่า ผู้รู้แล้วมันมีกิเลสอยู่ เราบอกว่าเวลาถามปัญหากันมาเห็นไหม

อันนี้อวิชชามันอยู่อย่างไร อวิชชามันอยู่ที่ไหน อวิชชามันอยู่ที่ภพ อยู่ที่ความรู้สึก หรือว่าความรู้สึกมันผิด แล้วความรู้สึกมันอยู่ที่ไหน เบื้องหลังของผู้รู้ก็คือตัวอวิชชา เขาจะฆ่าอวิชชาเขาก็ตั้งเป้าอย่างนี้ใช่ไหม พอตั้งเป้าอย่างนี้ เขาก็พิจารณากายของเขาไป แต่ความจริงตัวนี้ ตัวที่ว่า กิเลสอวิชชามันอยู่หลังผู้รู้ ถ้าหลังผู้รู้แล้วทำอย่างไร

คำว่าหลังผู้รู้มันเป็นบุคลาธิษฐาน มันก็บอกว่า มันเหมือนกับอยู่ข้างหลังผู้รู้ แต่ความจริงอนุสัยมันนอนมากับผู้รู้ แล้วนอนมากับผู้รู้มันอาศัยอะไรล่ะ มันก็อาศัยความคิด อาศัยขันธ์ ๕ ออกหาเหยื่อใช่ไหม พอออกหาเหยื่อเราพิจารณากาย การพิจารณากายก็คือการพิจาณาผู้รู้นั่นแหละ เห็นไหม เทคนิคมันเป็นอย่างนี้

ไม่ใช่เทคนิคว่า กิเลสอยู่ไหน กูจะจับกิเลสมาฆ่า ทุกคนบอกเลยนะพอภาวนาขึ้นมา กิเลสมันอยู่ที่ไหน รากกิเลสมันเหมือนวัวไง เวลาเขาจะเชือดวัว เขาเอาวัวมาผูกกับเสาใช่ไหม แล้วก็เชือด นี่ก็เหมือนกัน จะไปลากกิเลสมาเชือด เวลาปฏิบัติปั๊บ กิเลสอยู่ไหนๆ จะไปลากกิเลสมาเชือด

แล้วกิเลสมันอยู่ไหนล่ะ กิเลสนี้เป็นนามธรรม แต่มันอาศัยความรู้สึกนึกคิดเราบวกมาด้วย แล้วก็ออกไปทำความแตกต่าง ความทุกข์ความยากให้เรา ฉะนั้นเวลามันบวกมาด้วย เราก็ต้องพิจารณาสิ่งที่มันบวกออกมาตั้งแต่ที่มันเป็นความรู้สึกนึกคิด ออกมาพิจารณากาย

ถ้าพิจารณากายก็พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ไอ้จิต ไอ้ที่ว่าผู้รู้มันออกมาพิจารณาของมันเห็นไหม เวลามันถึงที่สุดของมันแล้ว ตัวผู้รู้เองมันยุบลง วูบ! นี่ผลของมัน ผลของมันเห็นไหม การพิจารณาเขาพิจารณาอย่างนี้ไง

เพราะอย่างนี้เพราะกิเลสมันบวกมาอยู่ด้วย เวลาถ้ามันฆ่ากิเลส กิเลสมันตายตรงนี้ ทำไมมันขาดล่ะ มันไม่ได้ไปขาดที่ผู้รู้ ต้องจับผู้รู้มา ฉะนั้นนี่คือกระบวนการ กระบวนการคือความรู้สึก ความรู้สึกว่า เรามั่นใจของเราว่า มันต้องอยู่หลังผู้รู้แล้วจะไปหาผู้รู้

ผู้รู้คือความสงบของใจ แล้วผู้รู้คือผู้รู้ เดี๋ยวผู้รู้จะละเอียดกว่านี้อีกเยอะนะ ผู้รู้ เวลามันพิจารณาไปแล้ว เดี๋ยวถ้าสังโยชน์ขาดนะ ถ้าสังโยชน์ขาดนะเห็นไหมเราจะรู้เอง

ภพของปุถุชนมันจะเปลี่ยนไปฉับพลันเป็นหน้ามือไหมครับ?

เป็นแน่นอน นี่ขนาดนี้นะ ขณะที่มันวูบลงเห็นไหม นี่คือตทังคปหาน คือกระบวนการวงรอบของการพิจารณารอบแรก การพิจารณารอบแรก รสของธรรมความรู้สึกมันดูดดื่มขนาดนี้

แล้วถ้ารอบที่สองล่ะ ถ้ารอบที่สองมันจืด จืดแล้วมันไม่สนิทไม่อะไร เพราะอะไร เพราะว่าเราได้สัมผัสครั้งแรกใช่ไหม ครั้งสองมันไม่ดูดดื่ม ก็ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วถ้ามันขาดมันไม่เป็นอย่างนี้หรอก ถ้ามันขาดมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วถ้ามันขาดแล้วคนที่ขาดแล้วเท่านั้นจะพูดถูก แล้วพูดได้

ฉะนั้นซ้ำลงที่นี่นะ ซ้ำลงที่พิจารณากาย ไอ้หลังผู้รู้หรือความรู้สึกต่างๆ อันนั้นมันเป็นกิเลสอันที่ละเอียดเข้าไป เหมือนกับเราเปิดประตูบ้านเราต้องเปิดประตูบ้านให้ได้ แล้วเราเข้าไปในบ้านแล้ว เราจะเข้าไปห้องครัว ห้องนอน ห้องต่างๆ มันอยู่ในบ้านนะ

ฉะนั้นต้องเปิดประตูบ้านให้ได้ แล้วเข้าบ้านไป แล้วไปเปิดห้องต่อไปไง ห้องต่อไปก็เป็นสกิทา ห้องต่อไปก็เป็นอนาคา ห้องต่อไปก็จะเป็นอรหันต์ เปิดๆๆ ในห้องนั้น แต่ห้องแรกประตูบ้านเปิดเข้าไปให้ได้

การที่เปิดประตูบ้านพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ไม่ต้องไปหาผู้รู้ที่อื่นไกลมากนัก ฉะนั้นทำอย่างนี้ถูกแล้ว ที่ทำมานี้ถูกแล้ว แล้วพอถูกแล้ว แล้วทำต่อไปอย่างไร ทำต่อไปก็พิจารณาซ้ำๆๆๆ ซ้ำตรงนี้ไม่ต้องไปที่อื่นเลย ซ้ำตรงนี้

ซ้ำตรงพิจารณากาย พิจารณาจิต มีความรู้สึก มีอารมณ์ จับแล้วซ้ำๆ แล้วมันละเอียดนะ เดี๋ยวมันจะบังเงานะ พอมันจะบังเงาบอกว่าไม่มีอะไรแล้ว สะอาดบริสุทธิ์ นี่มันบังเงานะ คือกิเลสมันขอไปข้างเราไง พอเราเผลอไปนะ เดี๋ยวมันเสื่อมหมดเลย พอเสื่อมไปแล้วนะ ตอนนี้หนักหนาเลย

ฉะนั้นมันจะบังเงาไม่มีสิ่งใดเลย ถ้ามีอารมณ์ มีความรู้สึกที่ไหน มีจุดมีต่อมที่ไหน มีสิ่งมีความรับรู้พิจารณาต่อไป พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถึงที่สุดแล้วมันจะเปลี่ยนโดยฉับพลัน แล้วฉับพลันเราจะรู้

ถาม : ๒. ภพที่สะอาดตัวนี้ คือกิเลสอีกหรือครับ? เพราะมันรองรับการจรมา สิ่งที่ทำให้ภพสกปรกได้อยู่

หลวงพ่อ : ข้อ ๒. นี้มันตอบได้ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่ง ภพที่สะอาดตัวนี้มันสะอาดถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่มันยังไม่สะอาดถึงที่สุด

ถ้ามันสะอาดถึงที่สุดนะ เวลามันพิจารณากายเห็นไหม สักกายทิฏฐิมันขาดแล้วเห็นไหม ในขั้นของโสดาบันคือ ขั้นโสดาบันโดยสมบูรณ์ มันถึงไม่ใช่คือกิเลสในขั้นโสดาบัน แต่มันจะเป็นกิเลสของขั้นสกิทา อนาคา คือมันเป็นกิเลสคนละตัวกับภพชาตินี้ไง มันเป็นกิเลสคนละตัวกับภพของโสดาบัน

ภพของโสดาบันมันเป็นกิเลสร้อยเปอร์เซ็นต์ในขั้นของภพโสดาบัน แต่พิจารณาจนถึงที่สุดแล้วเป็นอกุปธรรมแล้ว พอมันสิ้นสุดกระบวนการ กิเลสของโสดาบันไม่มี กิเลสของโสดาบันมันต้องขาดหมด พอขาดหมดแล้วทีนี้ต่อไปมันก็จะเป็นกิเลสของขั้นสกิทา อนาคา ขึ้นไป

ฉะนั้น ภพที่สะอาดตัวนี้คือกิเลสอีกหรือครับ มันยังมีกิเลสซ้อนมาอยู่ ยังมีกิเลสบางส่วนเหลืออยู่ ยังมีกิเลสบางส่วนเหลืออยู่ เราต้องทำให้มันมั่นคงขึ้น พยายามมากขึ้นไง ถ้าพยายามมากขึ้นมันก็จะทำให้สิ่งที่เหลืออยู่จนสูญสิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์เห็นไหม

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม เวลามรรครวมตัวมันต้องล้านเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทางโลกร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มี ๙๙.๙๙ เขาไม่กล้าพูดว่าร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าทางปฏิบัติร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ามันร้อยเปอร์เซ็นต์ของโสดาบัน ร้อยเปอร์เซ็นต์ของการพิจารณาแล้ว พอมันขาดแล้ว นั่นมันก็ยังเป็นโสดาบันร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นถ้าเป็นโสดาบันร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว กิเลสถึงไม่มีในภพชาตินี้ไง ในภพของโสดาบัน

แต่ถ้าต่อไปล่ะ ถ้ามันไม่มีกิเลสต่อไป แล้วทำอย่างไรต่อไป ต้องคุ้ยหากิเลสของขั้นสกิทา คุ้ยหากิเลสของขั้นอนาคา คุ้ยหากิเลสของขั้นอรหันต์ แล้วพิจารณาซ้ำๆ ไปเห็นไหม มันถึงจะพัฒนาของมันขึ้นไป

นี่พูดถึงว่าภพที่สะอาดตัวนี้ คือกิเลสอีกหรือครับ เพราะตอนนี้ปัญญาเราได้แค่นี้ไง เราถึงว่าเป็นภพที่สะอาด มันสะอาดตอนที่เราพิจารณาใหม่ๆ แล้วสติปัญญามันดี ก็สะอาด พอเดี๋ยวถ้าปล่อยนะ เราปล่อยเนื้อปล่อยตัว เราไม่มีสตินะ ไอ้ภพที่สะอาดๆ เดี๋ยวมันจะดีดกลับ แล้วเราก็จะนั่งคอตกนะ แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาเราไม่ให้มันดีดกลับ เราพยายามรักษาไว้ ฉะนั้นขยันหมั่นเพียรต่อไป

ถาม : ๓. ต้องทำอย่างไรจึงจะละภพสะอาดตัวนี้ได้ครับ ซึ่งผมก็ด้อยปัญญาเหลือเกิน

หลวงพ่อ : ทำซ้ำ คำว่าทำซ้ำจะทำอย่างไรต่อไป ทำอย่างไรต่อไปเราปฏิบัติมาขนาดนี้ เราปฏิบัติมาแล้วได้ผลอย่างนี้นะถ้าเราได้ผลของเรา

แต่นี้เพียงแต่ว่า เรามีหน้าที่การงานนะ พอเรามีหน้าที่การงานเราต้องทำมาหากินใช่ไหม ถึงเวลาทำงานเราก็ละไปทำงาน แล้วเราก็ปลีกเวลาของเรา ถ้าคนที่ฉลาดขนาดนี้นะ เวลาไปทำงาน เราก็รู้สึกว่างานนี้เป็นหน้าที่

ทีนี้เรามีงานอีกชิ้นหนึ่ง งานอีกอย่างหนึ่งคืองานการภาวนาของเรานี้ เราก็ต้องคอยตามเนื้องาน เราก็ทำของเราเต็มที่ สุดท้ายรักษาใจเราไว้ แล้วกลับมาขยันหมั่นเพียรต่อไป ต้องขยันหมั่นเพียรต่อไป

ถ้าเป็นพระหรือผู้ที่ปฏิบัตินะ เขาก็พยายามจะละเห็นไหม ปลีกวิเวกหลบหลีก หาที่สงบสงัดพยายามจะไม่คลุกคลีกับใคร การคลุกคลีตรงนี้มันจะออก อีกสองผู้ปฏิบัติแล้วพอมันมีอาหารของใจ คือต่างๆ มันมีประสบการณ์ อยากจะเมตตาสอนคนอื่น อยากจะบอก อยากจะคุย มันทำให้เป็นภาระของใจอันหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะพยายามบอกว่า “อย่าคุยกันๆ มีอะไรให้ปรึกษาครูบาอาจารย์เท่านั้น” แล้วพยายามรักษาใจตัวเองให้ได้ นี่จะทำอย่างไรต่อไป ทำอย่างไร คือตั้งสติแล้วพยายามรักษา

เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ หรือเราดูแลของเราขึ้นมา ถ้าต้นไม้เราเห็นไหม ดูเขียวขจีมันมีความสดชื่น เราพยายามดูแลต้น เรารดน้ำดูแลให้ปุ๋ยมันเห็นไหม รักษา รักษาจนถึงที่สุด

แต่ถ้าต้นไม้เราเฉา ต้นไม้เราใบร่วงเห็นไหม เรารู้แล้วว่าจิตเราสั่นไหวแล้ว จิตเรามีปัญหาแล้ว ถ้าจิตเรามีปัญหาเราจะแก้ไขอย่างไรไม่ให้ต้นไม้นี้ตาย ไม่ให้ต้นไม้นี้ตายเห็นไหม มันเป็นโรคอะไร มันมีแมลงอะไรเข้ามากัดกินมัน มันมีสิ่งใดเห็นไหม

ต้องทำอย่างไร ก็รักษาจิตไง รักษาจิตของเราแล้วภาวนาต่อไป ถ้าภาวนาต่อไป พื้นฐานอย่างนี้มา มันมีพื้นฐานแล้ว เราจะทำขยันหมั่นเพียรต่อไป ถ้ามันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันขาดนะ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นที่จิตดวงนั้นรู้

แล้วจะทำอย่างไรต่อไป จะให้ภพที่สะอาดตัวนี้ได้มีปัญญาต่อไป?

พิจารณาต่อไปรักษาต่อไปนะ รักษาให้ดี ทำมาอย่างนี้คือผลของการปฏิบัติ แต่ต้องทำต่อไปเพราะผลของการปฏิบัติ มันมีถึงที่สุดนะ เราต้องทำให้ได้

ข้อ ๔๑๐.

ถาม : เหตุใดจิตจึงเศร้าหมอง โยมห่างหายจากการเขียนปัญหามาถามหลวงพ่อนานพอสมควร แต่ก็ติดตามฟังทุกเรื่อง ทุกกัณฑ์เทศน์ การปฏิบัติของโยมก็ไม่มีอะไรคืบหน้า จนไม่เห็นอัศจรรย์ใจอย่างที่ผ่านมา และจะว่าไปแล้วกลับรู้สึกว่าลำบากขึ้นด้วยซ้ำ ครั้งนี้ที่เขียนมา เพราะคิดว่าคำถามนี้อาจเป็นประโยชน์กับผู้อื่นบ้าง

เวลาที่เราเริ่มรู้สึกตัวตื่นนอน ตอนเช้ายังไม่มีสิ่งใดมากระทบ แต่ทำไมบางครั้งจึงสัมผัสได้ถึงความเศร้าหมองของจิต โยมพยายามพิจารณาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? อะไรเป็นเหตุ เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย แต่เพราะกำลังสมาธิไม่พอ จึงพิจารณาได้ไม่ขาด โยมก็เลยต้องปล่อยให้ตะกอนที่ฟุ้งขึ้นมานั้น กลับลงไปนอนก้นอยู่เหมือนเดิม

กระชอนที่โยมมีอยู่ตักทิ้งได้แต่ขยะชิ้นใหญ่ ที่ลอยไปลอยมาให้เห็นจะๆ แต่จะตักตะกอนที่มันละเอียดทิ้งไม่ได้ จะต้องทำกระชอนให้ตาถี่ขึ้น และอาจต้องใช้วิธีตักที่แยบคายกว่านี้ หลวงพ่อช่วยเมตตาด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : เวลาพิจารณามาประเด็นถัดไปนะ ปัญหานี้มันเทียบเคียงกับปัญหาที่ผ่านมา ปัญหาที่ผ่านมาเห็นไหม เวลาเราพิจารณาไป เวลามันวูบลง จิตมันลง พิจารณาแล้วมันปล่อย จนความรู้สึกเหมือนกับเตียงที่เรานอนอยู่หักลงเลย แล้วจิตมันรวมลงนะ

ปัญหาที่ ๒ นี้ เมื่อก่อนเขาภาวนามา เขาก็ถามปัญหาเพราะว่าจิตมันดี เขาว่ามันอัศจรรย์ของเขามาก แต่ตอนนี้ทำไมมันกลับเฉยๆ ล่ะ ตอนนี้พอกลับเฉยๆ เขาก็พิจารณาใจเขา ที่บอกว่า ไอ้ตัวผู้รู้เราจะพิจารณาอย่างไร ตัวผู้รู้ตัวจิตจะพิจารณาอย่างไร พอเขาปล่อยเห็นไหม พอเขาปล่อยเขาสรุปมาเอง ว่าถ้ากิเลสชิ้นใหญ่ เขาสามารถตักออกได้ ตักออกได้ แต่กิเลสชิ้นน้อย กระชอนนี้ตาต้องให้มันถี่ขึ้น มันถึงจะตักกิเลสชิ้นนั้นได้

นี่คือการเปรียบเทียบ แต่ความจริงความรู้สึกนึกคิดโดยความโทสะ โอ้โฮ กิเลสชิ้นใหญ่ แต่ความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองในใจกิเลสชิ้นเล็กเหรอ มันก็คืออวิชชาชิ้นเดียวกัน เพียงแต่เรามีสติขึ้นมาเห็นไหม

ถ้ามันฆ่าจริงมันตักออกได้จริง แต่นี่มันไม่ได้ตักออกไง มันไม่ตักออกเพราะอะไร มันไม่ได้ตักออกเพราะสมาธิเราไม่มั่นคง ปัญญาเราจับเราพิจารณามันไม่รอบคอบ พอไม่รอบคอบมันก็ปล่อยวางบางสิ่งบางอย่างได้ นี่มันเป็นสิ่งที่กิเลสตัวใหญ่ตัวเล็กเราคิดว่าเราตักออกแล้ว มันจะไม่มี เรานึกว่ามันเป็นขยะใช่ไหม ขยะพอตักออกแล้วมันต้องสะอาดเป็นธรรมดา เพราะขยะมันไม่มี

แต่นี่มันเป็นความรู้สึก ขยะชิ้นนี้ตักออกไปแล้ว สิ่งที่มันเกิดขึ้นมามันก็ขยะชิ้นเก่า มันก็เกิดดับๆ อยู่อย่างนี้ มันไม่ใช่เหมือนวัตถุ วัตถุที่ตักไปแล้วก็คือแล้วกัน แต่ความรู้สึกมันตักออกไปแล้วมันหมดไหมล่ะ พอมันตักออกไปแล้ว มันเหมือนสิ่งมีชีวิตมันเติบโตได้ไง กิเลสมันละเอียด เดี๋ยวมันก็โตขึ้นมาเดี๋ยวมันก็หยาบขึ้นมา

นี่ไงเราถึงบอกว่า ถ้าเราคิดว่าเราตักไปแล้วมันเป็นวัตถุ แล้วมันจะไม่มีอะไรอีกเลย แต่พอเราตักไป อย่างเมื่อกี้ ขั้นของโสดาบัน ถ้ามันขาดหมดแล้ว มันไม่มีกิเลสในขั้นนี้ แต่มันยังมีเชื้ออยู่เห็นไหม มันมีเชื้ออยู่เวลาตื่นเช้าขึ้นมามันเศร้าหมอง มันเศร้าหมองเพราะมันมีกิเลสไง มันเศร้าหมองเพราะเชื้อในหัวใจมันมีไง

ฉะนั้นในการปฏิบัติ ในเทคนิคของฝ่ายปฏิบัติเขามีตรงนี้ ในฝ่ายปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติแล้วมันจะละเอียดเข้าไป แล้วกระบวนการของมันเข้าไป อริยสัจมันมีอันเดียว อันเดียวคือหนึ่งเดียวเหมือนกันหมด

แต่นี้พอบอกว่า เราเอาทางโลกไง โลกียปัญญาเข้ามาคลุกเคล้ากับโลกุตตรปัญญา ก็เราก็เทียบเคียง สร้างขึ้นมา ถ้าบอกอย่างนี้บอกเป็นวิปัสสนึกได้ไหม มันก็เหมือนวิปัสสนึกใช่ไหม อารมณ์อันนี้มันผูกกับอะไร เราก็ตักอันนี้ทิ้ง ตักอันนี้ทิ้ง สิ่งใดก็แล้วแต่ก็ตักทิ้ง แล้วคิดว่ามันหมดไป มันหมดไหมล่ะ มันก็ยังมีอยู่ เพราะมันจะตักทิ้งมันก็ยังมีเชื้อ กิเลสนี้มันเป็นเชื้อไง อวิชชามันเป็นเชื้อของมัน มันมีอยู่ในตัวของมัน

ถ้ามีอยู่ในตัวของมันเห็นไหม ฉะนั้นสิ่งที่ตักทำให้ละเอียดขึ้นไปนี่ มันต้องกลับไปภาวนา ถ้ากรณีอย่างนี้ ในฝ่ายปฏิบัติเขาเรียกว่า จิตเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ถ้ามันเสื่อมมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้ามันเจริญขึ้นมามันก็เหมือนเห็นไหม พอเจริญขึ้นมามันก็เหมือนไม่มีอะไรเลย โล่ง มหัศจรรย์หมดเลย จิตมันเจริญ

เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ไม่เหมือนทางตัวเลข ทางตัวเลขเป็นตัวเลขใช่ไหม เขียนตัวเลขแล้ว บวกลบคูณหารแล้วมันก็จบ มันก็เหลือตัวเลขตายตัว เราจะหารได้เท่าไร บวกได้เท่าไร เหลือ ๕๐ ก็ ๕๐ ตายตัว

แต่นี่มันไม่ใช่ การปฏิบัติมันเป็นความรู้สึก มันจะอยู่คงที่อย่างนั้นได้อย่างไร เวลามันเสื่อม มันก็เสื่อมหมดเลย เวลาเจริญมันก็เจริญ จาก ๕๐ เป็น ๕ ล้าน จาก ๕ ล้านเป็น ๕๐ ล้าน นี่เวลามันเจริญมันก็เจริญ เวลามันลดลงนะ เหลือศูนย์

ไอ้นี่ความรู้สึกความนึกคิดนะ นี่เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพียงแต่เขาไม่ได้ถามปัญหามา เขาบอกว่าปัญหานี้เกิดกับเขา ที่เขียนมาเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ก็ต้องเป็นประโยชน์กับคนถามด้วย คนถามก็มีความเศร้าหมองมีความผ่องใสเห็นไหม เราต้องแก้ไขตรงนี้ ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญนะ

ข้อ ๔๑๑.

เขาถามมาไม่ให้ตอบ แต่เราจะพูดให้รู้กันว่าเรารับรู้ไง

ถาม : ที่ว่าเป็นชาวพุทธหรือเปล่า เป็นคนพุทธหรือเปล่า

หลวงพ่อ : เป็น แต่ว่าเป็นในแง่มุมของใคร เป็นในแง่มุมของผู้ปฏิบัติ เป็นในแง่มุมของใครเท่านั้นนะ อันนี้ถ้ามีปัญหาแล้วเราค่อยคุยกันส่วนตัว

ถาม : ตอนเด็กๆ ได้ยินมาว่า หากพระวัตถุมงคลแตกหัก ให้นำไปไว้วัด ถ้าเก็บไว้ที่บ้าน จะไฟไหม้บ้าน หลวงพ่อทราบที่มาที่ไปไหมครับ

หลวงพ่อ : อันนี้นะ ถ้ากรณีอย่างนี้มันเหมือนเด็ก เวลาเด็กเราอธิบายให้เด็กทราบไม่ได้ อย่างถ้าเด็กมันเล็กเกินไปใช่ไหม เขาบอก ห้ามกลืนเม็ดผลไม้นะ พอกลืนแล้วมันจะงอกบนหัวเห็นไหม คือว่าอุบายของคนสอน เขาไม่ต้องการให้เด็กกลืนเม็ดผลไม้ เพราะมันไปอุดหลอดลม เด็กคนนั้นถึงเสียชีวิตได้

ฉะนั้นเด็กมันเล็กเกินไปจะบอกว่า กินไม่ได้นะ กลืนไม่ได้นะ มันจะไปอุดหลอดลม เด็กมันจะรับรู้กับเราไม่ได้หรอก ฉะนั้นพ่อแม่ถึงบอกว่า ผลไม้นี้กลืนไม่ได้นะ เม็ดน่ะ พอกลืนไปแล้วเดี๋ยวมันจะไปงอกบนหัว ไอ้เด็กก็กลัวนะ กลัวมาก กลัวๆ กลัวมันจะงอกบนหัว เวลากินผลไม้ก็พยายามรักษาไว้ แล้วก็คายทิ้ง เพื่อไม่ให้มันงอกบนหัวไง นี่มันเป็นเทคนิคการสอนเด็กให้ปลอดภัย

ฉะนั้นตอนเด็กได้ยินมาว่า ถ้าหากวัตถุมงคลแตกหัก ให้นำไปไว้ที่วัด เก็บไว้ที่บ้านแล้วไฟจะไหม้บ้าน?

มันเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าอย่างนั้นเพียงแต่ว่า วัตถุมงคลแตกหักเราเอาไปไว้ที่วัด เพราะเวลาเป็นที่วัดเห็นไหม เวลาขุดเห็นไหม เจอของเก่าของแก่ เขาจะเก็บกันไว้ที่วัด ถ้าเก็บไว้ที่วัดเพราะอะไร เพราะวัดเป็นที่สาธารณะ เป็นสมบัติของสาธารณะเป็นสมบัติของส่วนรวม

ฉะนั้นเวลาของแตกหักอะไรเอาไปเก็บไว้ที่วัด เพราะวัดที่สาธารณะที่ส่วนรวม มันแบบว่ามันพ้นจากที่ส่วนบุคคล ถ้าเราเก็บไว้ในที่ของเรา มันเป็นที่ส่วนบุคคล เราก็คิดว่า ถ้าเป็นของส่วนบุคคล อยู่กับเรามันจะมีความเสียหายเห็นไหม เราถึงผ่อนความเสียหายนี้ไปเป็นสาธารณะ เราก็สบายใจ

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะของอย่างนี้นะ ไอ้คำพูด เวลาพูดมันไม่มีเหตุผล เราจะไปเชื่อเขาโดยคำพูดนั้นมันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังไง เพราะว่าคติธรรมต่างๆ เขาสอนเด็กสอนผู้ใหญ่มาเขามีนะ มันมีเหตุมีผลของมัน แต่เหตุผลสอนเรื่องอะไร

ฉะนั้น ของแตกหักให้เอาไปไว้วัด ของอะไรก็เอาไปไว้วัด โบราณนะในสมัยโบราณ พระทั้งหมดเขาไม่ให้เอาเข้าบ้าน เขาไว้วัดหมด แล้วพอสังคมไทยเรา เขาเรียกว่า เป็นของที่ระลึก ของชำร่วย เวลาเราไปวัดไปช่วยงานวัด พระที่ไหนเขาดี เขาพิจารณาแล้ว เขาให้ของชำร่วย แล้วของชำร่วยนั้นมันเกิดใช้ได้ผลขึ้นมาไง มีฤทธิ์มีเดชขึ้นมาก็เลยกลายเป็นประเพณีพวกเราถึงเคารพบูชาพระเครื่องกัน

แต่พระเครื่องในเถรวาทในมหายานเขาถือไหม ในมหายานในเถรวาทเขาไม่มี อย่างเช่นในเมืองไทยเราจะมีแผงพระ จะมีพระเครื่องกัน แต่ดูเถรวาทที่อื่นเขาไม่ค่อยมี แต่ตอนนี้ด้วยระบบทุนนิยม ระบบทุนนิยม เดี๋ยวนี้สิงคโปร์ก็มี ฮ่องกงก็มี มีแผงพระแล้ว เดี๋ยวจะเข้าไปเมืองจีน เดี๋ยวเมืองจีนจะมีแผงพระ มันก็เลยกลายเป็นธุรกิจค้าความเชื่อ อันนี้เป็นเรื่องของเขานะ พูดไม่ได้ เดี๋ยวจะเป็นปัญหากับสังคม

สังคมเป็นสังคม สังคมเป็นวัฒนธรรม เป็นความตกผลึกของคนที่เขาเชื่อกัน ฉะนั้นเราจะทวนกระแสกันไง พวกเราปฏิบัตินะ ปฏิบัติทวนกระแส ทวนกระแสของสังคมเข้าไปสู่เรา อย่างเช่น โลกธรรม ๘ ติฉินนินทาเป็นกระแสสังคม แล้วเราจะสั่นไหวไปกับเขาไหมล่ะ ถ้าเรามีสติปัญญา เราก็มีหลักมีจุดยืนของเราเห็นไหม

แล้วความเชื่อนี้ก็เหมือนกัน ทีนี้พระเรา พระเราต้องมีหลักมากกว่านั้น อย่างเช่น ธรรม ธรรมะเป็นนามธรรม แต่มีตัวตนในหัวใจของผู้ปฏิบัตินั้น แล้วเราจะเอาออกมาอวดกันได้อย่างไร จะมาพิสูจน์กับใครให้ใครเขารู้เขาเห็นกับเราได้ล่ะ มันจะรู้จะเห็นกันได้ตอนถามธรรมะกันนี่แหละ เวลาคุยธรรมะกัน ถ้าตอบไม่ได้ ถ้ารู้ไม่ได้ อย่างพวกโยมไม่รู้เห็นไหม เราจะโม้อย่างไรก็ได้ เราจะพูดอย่างไรก็ได้

พูดอย่างไรโยมก็เชื่อ เพราะอะไร เพราะเราเป็นพระ โยมเป็นโยมเราเป็นพระ พระพูดโยมต้องเชื่อ เราจะพูดอะไรโยมเชื่อหมด แต่ถ้าโยมปฏิบัติเป็นขึ้นมานะ โยมปฏิบัติได้สมาธิได้ปัญญาขึ้นมานะ เวลาเราพูดผิดพูดถูกโยมรู้หมด “เอ พระพูดโกหกก็ได้ด้วยเหรอ พระพูดไม่จริงก็ได้ด้วยเหรอ” โยมจะคิดในใจทันทีเลย

นี่ไงถ้ามันรู้ทันกันแล้วมันจะรู้ทันกันหมด ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ไม่ต้องไปคิดตกใจขนาดนั้นหรอก ฉะนั้นถ้าไม่สบายใจจะไว้วัดก็ได้ ถ้าไม่สบายใจนะ โอ้โฮ พระนะ มีคนมาบริจาคมีคนมาให้ พระเป็นผู้รับอย่างเดียว แต่เรานะ เราไม่รับไว้ เราไม่รับไว้หรือไม่อะไรไว้ เพราะเราต้องการให้เป็นสมบัติของส่วนตนส่วนบุคคลใช่ไหม ถ้ามันชำรุดเสียหายทางโลกเขามีการซ่อมแซมไง

เดี๋ยวนี้เขามีร้านซ่อมพวกนี้นะ ซ่อมเสร็จแล้วก็สมบูรณ์ขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์กับคนนั้น ที่เราพูดนี้เราพูดเพื่อให้บุคคลคนนั้นหรือทุกๆ คนนั้นได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ต้องให้ประโยชน์สาธารณะ เพราะสาธารณะไม่ต้องการประโยชน์ ให้มา โธ่ เก็บได้ทั้งนั้นนะ

ฉะนั้นเพียงแต่ว่า เราอยากให้คนคนนั้นได้ประโยชน์ ของใครใครเป็นเจ้าของ ก็ได้ประโยชน์กับคนนั้น ถึงพูดให้ฟัง ฉะนั้นถ้าบอกว่า ถ้าเก็บไว้แล้วไฟจะไหม้บ้าน กรณีอย่างนี้นะ เวลาพูดถึงเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องฤทธิ์เรื่องเดชนะ เราเชื่อ แต่กรณีที่ว่าไม่มีเหตุมีผลเราไม่เชื่อ อย่างเช่น วัดเราเห็นไหม

วัดเราไม่มีสิ่งเคารพอย่างอื่น เว้นไว้แต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเรายังอยู่เราจะไม่ให้เข้า เราไม่เชื่ออะไรเลย เราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วมีคนเยอะมากเขาอยากให้เรามีที่เคารพบูชา อย่างมีพระภูมิเจ้าที่มีอะไร เพื่อให้วัดนี้เจริญวัดนี้อะไร เราไม่เอา ถ้าเจริญอย่างนั้นไม่เอาไม่มี เราไม่ให้มีเลยนะ ถ้ามีอย่างนั้นแล้ว โทษนะ เราไม่สมควรเป็นพระแล้วล่ะ เราสมควรเป็นพวกโยมนี่แหละ คือเราไม่มีหลักในใจ ไม่สมควรเป็นพระ

ถ้าเราจะเป็นพระ เราต้องเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วอย่างอื่นจะเข้ามายุ่งไม่ได้ ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เว้นไว้แต่ถ้าเราล่วงไปแล้ว มันจะเป็นอย่างไรนั้นแล้วแต่โอกาสนะ จบ เอวัง