เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ พ.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตอนนี้เขาพยายามจะให้ชาวพุทธตื่นตัวในศาสนานะ เวลาตื่นตัวในศาสนา เราก็ไปศึกษากันในตำรา ศึกษาในตำรา เห็นไหม ดูเด็กเวลาเรียน มันก็ต้องเรียนตามตำรานั่นแหละ แต่มันเรียนจบมาแล้วมันต้องมาฝึกงาน มันต้องทำงานให้เป็นนะ

นี่ก็เหมือนกัน ในพุทธศาสนาสอนถึงเรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สิ่งที่เป็นปริยัตินี่ต้องศึกษาเล่าเรียน การศึกษาเล่าเรียนเป็นเครื่องหมายบอก แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาเราศึกษาขึ้นมา ดูทางการทหาร เวลาเขาศึกษากัน เวลากองทัพเขาประกาศสงครามกัน กองทัพเขายกทัพเข้าประหารกัน เขามีกลยุทธ์วิธีของเขา แต่เวลายังไม่ประกาศนี่นะมันเป็นรบแบบกองโจร

กิเลสในหัวใจของเรา มันซุ่มมันซ่อนอยู่แบบกองโจร มันตอดอยู่ตลอดเวลา แต่เวลาเราไปศึกษาธรรมะนะ เราศึกษาแบบประกาศสงคราม โอ้โฮ.. กิเลสเป็นอย่างนั้นนะ แหม.. กองทัพเป็นอย่างนั้นนะ โอ้โฮ.. สติปัญญาเป็นอย่างนั้นนะ แต่เวลาสงครามไม่ได้ประกาศนะ กิเลสในหัวใจเรา มันเหยียบย่ำเราตลอดเวลา ถ้ามันเหยียบย่ำเราตลอดเวลา เห็นไหม

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน นี่บอกว่าภิกษุเรา เวลาบิณฑบาตมาแล้ว เวลาฉันนะฉันให้เหมือนเขาหยอดล้อเกวียน ให้พอมันเป็นไป ไอ้เราก็คิดว่าทำไมมันมีความจำเป็นขนาดนั้นเชียวหรือ?

นี่มีความจำเป็น เห็นไหม เวลาภิกษุฉันนะ ฉันอาหารให้เหมือนหยอดล้อเกวียน ให้พอเป็นไปเท่านั้น อย่าฉันอาหาร อย่าอยู่ด้วยความสุขสบายจนเคยตัว ถ้าสุขสบายจนเคยตัว กินอิ่มนอนอุ่นแล้วมันภาวนาไม่ได้หรอก มันจะเป็นพระตรายาง พระพิธีกรรมไง ถึงเวลาสุดท้ายแล้วต้องประทับตราใช่ไหม ถ้าไม่ประทับตรามันก็ยังไม่จบใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน จะเป็นพระตรายาง เวลาภิกษุบิณฑบาตมาแล้ว เวลาฉันอาหารฉันให้เหมือนดังเขาหยอดล้อเกวียน อย่าฉันอาหารมากนัก อย่ากินอย่านอนจนเกินไป แต่ถ้าเป็นทางโลก การรบแบบนี้รบแบบกองโจรไง เวลากองโจร เห็นไหม เอ็งมาข้ามุด เอ็งถอยข้าตี นี่มันทำอยู่ตลอดเวลา ในการประพฤติปฏิบัติมันมีเล่ห์กลของมันทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น เวลาเราศึกษา เราศึกษาเป็นยุทธวิธี ศึกษาเป็นยุทธศาสตร์ ศึกษาทุกอย่างรู้หมดเลย แต่ธรรมะนี่นะ เวลาคุยกันปากเปียกปากแฉะเลย แล้วเถียงกันด้วย แต่เวลาปฏิบัตินะ เวลานั่งกันก็สัปหงกโงกง่วง เวลาจะบังคับใจตัวเอง ก็เอาใจตัวเองไม่อยู่ แต่เวลาเถียงเก่งนะ เวลาไปเถียงกันนี่ อู้ฮู.. เถียงกันเก่งปากเปียกปากแฉะเลย เหตุผลยกมาได้ร้อยแปดพันเก้าเลย แต่เวลาเอาใจตัวเองให้อยู่ นี่เอาไม่อยู่ เอาใจตัวเองไว้ไม่ได้ ถ้าเอาไว้ไม่ได้ เราจะเริ่มต้นกันที่ไหน?

“พุทธศาสนาสอนลงที่หัวใจ”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมที่โคนต้นโพธิ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวนะ แต่เวลาตรัสรู้ขึ้นมา นี่มรรคญาณในหัวใจ ผู้บริหารจัดการจะรู้ว่า เวลานโยบายที่เรารับผิดชอบ เราจะต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้ไปให้ได้ มันเป็นภาระอย่างยิ่งนะ เพราะเราต้องใช้คนนั้น เราต้องใช้คนนี้ เขาจะทำตามเราหรือไม่ทำตามเรายังปวดหัวนะ

เวลาหัวใจมีสติปัญญาขึ้นมา เวลางานมันเกิดขึ้นมาในหัวใจ มันเหมือนกับผู้กำหนดนโยบายแล้วต้องทำงานนั้นให้ขับเคลื่อนไปให้ได้ จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ จิตถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน เห็นไหม มันมีสติขึ้นมา มันรู้ตัวของมัน ถ้าไม่มีสติของมัน เผลอๆ นะมันก็ว่าว่างๆ ว่างๆ อู้ฮู.. มีมรรค มีผล มันเป็นวิปัสสนึก เห็นไหม

นี่สุตมยปัญญาคือการศึกษา จินตมยปัญญาคือการคาดเดา จินตมยปัญญามันก็เหมือนเป้าหมายที่เราจะต้องการ จินตมยปัญญา เห็นไหม ดูสิเวลามันเกิดขึ้นมา นี่จินตนาการมันมหาศาลเลย ถ้าจินตนาการมหาศาลมันแก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ถ้าไม่มีจินตนาการ ไม่มีการตั้งเป้านะเราจะไปได้อย่างไร

อธิษฐานบารมีนะ บารมี ๑๐ ทัศ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิษฐานว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องขยันหมั่นเพียร ต้องสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างแล้วสร้างเล่า สร้างแล้วสร้างเล่า เพื่อให้พันธุกรรมทางจิตให้จิตมันเข้มแข็ง ให้จิตมันรับภาระของมันไหว

อันนี้จิตของเราอ่อนแอ เห็นไหม แต่เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็อยากได้มรรคได้ผลกัน ถ้าเราไม่อยากได้มรรคได้ผล เราก็เวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้ เวลาเราทำคุณงามความดีขึ้นมา ความดีพาเกิด ได้เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันก็เป็นวัฏฏะ มันก็มีผล มันเป็นอนิจจัง มันก็เวียนกลับมา

นี่สิ่งที่เรามีสติปัญญาเราก็ทำความดีของเรา แต่เวลาเราขาดสติล่ะ? เวลากรรมมันให้ผลล่ะ? เวลาคนมีสตินะ แต่กรรมมันให้ผล มันต้องเป็นแบบนั้น พอกรรมให้ผลนี่เราจะหลบหลีกอย่างไรล่ะเวลากรรมมันให้ผล แต่กรรมมันให้ผล แล้วเรารับสภาพนั้น แต่ไม่ได้รับสภาพด้วยความยอมจำนนนะ เรารับสภาพไว้เพื่อจะแก้ไข

สิ่งที่มันมาถึงเราแล้วเราต้องยอมรับ แล้วเราแก้ไขของเรา คือสติปัญญาของเราต้องพร้อม ทุกข์ก็ปฏิบัติ สุขก็ปฏิบัติ ไม่ได้ก็ปฏิบัติ มันเป็นอย่างไรก็จะปฏิบัติ ถ้ามันปฏิบัติขึ้นไป มันก็เหมือนกับเราพยายามของเรา ให้จิตใจของเรามันก้าวเดินต่อไป แต่ถ้าเวลาทุกข์ขึ้นมาเราก็อ่อนแอ นี่เอาไว้ก่อน พักไว้ก่อนแล้ว เวลาทุกข์เอาไว้ก่อน

เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม เวลามันจะได้จะเสียกัน เวลาจิตมันลงจะไม่ลง สติมันจะดีจะไม่ดี นี่มันจะต่อรองเราตลอดเวลา มันจะมีเหตุต่อรอง มีเหตุทดสอบเราตลอดเวลา การทดสอบตรวจสอบนี่คือการทำให้ปฏิบัติไม่ผิดพลาดไป การทดสอบตรวจสอบ เราต้องตรวจสอบตลอดเวลา ถ้าเราตรวจสอบหัวใจเราด้วยสติปัญญาของเรา นี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกเรานะ ก็ว่าลำเอียง เวลากับคนอื่นก็พูดดี เวลากับเราก็ทิ่มตำ

เวลาในทางวิทยาศาสตร์ เขาบอกใครชี้ความผิดพลาดของเรา จะชี้ขุมทรัพย์ของเรา เวลาครูบาอาจารย์เขาบอกเรา เราก็ยังไม่เชื่อหรอก ไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะความรู้ความเห็นของเรา เราก็รู้ก็เห็นของเรา แต่รู้โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราประพฤติปฏิบัติธรรมก็จริงอยู่ แต่ในเมื่อใจของเรายังมีกิเลสอยู่ มันมีความบังตาอยู่ มันตีค่าที่เรารู้ ให้ค่าเกินไป ให้ค่าต่ำไปโดยไม่เป็นตามความเป็นจริง พอไม่เป็นตามความเป็นจริง การประพฤติปฏิบัติของเรามันถึงไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันถึงเอนเอียง

อัตตกิลมถานุโยค คือการเคร่งครัด กามสุขัลลิกานุโยค คือความพอใจ ความสุขของเรา เห็นไหม มันต้องฉุดกระชากไป ไม่มัชฌิมา ไม่สมดุลของมัน เราก็ต้องขยันของเรา คราวนี้เอียงไปทางไหน คราวหน้าเราก็ทำใหม่ คราวนี้เอียงไปทางไหน คราวหน้าก็ทำใหม่ เราพิสูจน์ของเรา

พุทธศาสนาสอนลงที่ใจ ใจเท่านั้นเป็นผู้ที่สัมผัสศาสนา ความสุข ความทุกข์นี้เป็นผลของหัวใจ เวลาเราทำสิ่งใดประสบความสำเร็จขึ้นมา มันก็มีความสุขขึ้นมาในหัวใจ เพราะหัวใจเรามีความสุข มันเป็นอามิส มันต้องมีเครื่องเสพมันถึงเป็นไป

เวลาจิตมันสงบเข้ามา มันสงบโดยตัวมันเอง มันมีความสุขในตัวของมันเอง แล้วมันมหัศจรรย์ของตัวมันเอง เวลาเกิดปัญญาขึ้นมานี่ ปัญญามันใคร่ครวญขึ้นมา มันจะรู้ได้เลยว่า สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา มันแตกต่างกันอย่างไร โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา มันแตกต่างกันอย่างไร

แต่ก่อนเรามีโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากจิตของเรา ปัญญาเกิดจากความรู้ความเห็นของเรา เราก็ว่าเราเข้าใจ เรารู้ของเราแล้ว เราก็ซาบซึ้ง เราก็รู้สึกมีความสุขของเราพอสมควรอยู่แล้ว แต่ด้วยความมุมานะ ด้วยความบากบั่น ด้วยความมีสติปัญญา ด้วยความไม่ทิ้งไม่ขว้าง ด้วยความ ทะนุถนอมรักษาสติปัญญาของเรา แล้วก้าวเดินต่อเนื่องขึ้นไป..ต่อเนื่องขึ้นไป.. จนมันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป

พอมันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป เราจะเห็นความแตกต่างว่ามันเป็นสุตมยปัญญาเพราะอะไร มันเป็นโลกียปัญญาเพราะอะไร มันเป็นโลกียปัญญาเพราะความรู้ความเห็นของเรา มันไม่ได้ไปชำระกิเลส ไม่ได้ไปทำให้กิเลสถลอกเลย ไม่ได้ทำให้กิเลสมันรู้สึกตัวเลย กิเลสมันศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วใช้ปัญญาของมัน มันก็ถือตัวถือตนของมันว่ามันเป็นผู้รู้ธรรมะ พอรู้ธรรมะเข้าไปแล้ว เวลาคุยธรรมะกัน มันก็ไปเถียงเขาปากเปียกปากแฉะ มันคิดว่ามันรู้ของมัน

แต่เวลามันพิจารณาของมัน ปัญญามันสะอาดเข้ามา มันจะละเอียดเข้ามา..ละเอียดเข้ามา.. จนเป็นโลกุตตรปัญญา มันเป็นโลกุตตรปัญญาเพราะอะไร โลกุตตรปัญญาเพราะว่าเราเคยมีโลกียปัญญาอย่างนี้ เราซาบซึ้งของเราอย่างนี้ เวลามันมีโลกุตตรปัญญาขึ้นมานี่ มันเห็นความแตกต่างนะ ความแตกต่างเพราะอะไร ความแตกต่างเพราะมันลึกซึ้งกว่ากัน มันละเอียดลึกซึ้งกว่ากัน แล้วมันถอดถอนแตกต่างกัน

เวลาจิตของคนลงสมาธิ มันจะมีความสุขของมันในขั้นของสมถะ ในขั้นของสัมมาสมาธิ ในความสุขสงบของใจ เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมาพร้อมกับสัมมาสมาธิ ปัญญามันถอดมันถอนขึ้นมา เห็นไหม มันถอดมันถอน มันสำรอกออกต่างๆ มันจะมีความสุข ความว่างด้วย แล้วมีความสำรอกออกด้วย มีความสุขสบาย มีความเบาของใจด้วย ใจที่มันหนักหน่วงขึ้นมา มันชำระล้างของมัน มันพิจารณาของมัน มันทำลายของมันขึ้นไป

นี่คนปฏิบัติมันจะรู้อย่างนี้ไง ถ้าคนปฏิบัติไม่รู้อย่างนี้ มันจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโลกียปัญญา มันจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโลกุตตรปัญญา แล้วโลกียปัญญานี่โลกียปัญญาอย่างไร แต่ถ้าคนไม่รู้นะ เวลาพิจารณาด้วยความซาบซึ้ง ด้วยความสุขสงบ โอ๋ย.. ว่างๆ เออ.. ถูกต้องๆ

ใช่ มันถูกต้อง ถูกต้องเพราะดอกบัวเกิดจากโคลนตม เพราะจิตใจของเรามีอวิชชา จิตใจของเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำมันอยู่ มันถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์อยู่นี่ไง พอมันมาเกิดเป็นมนุษย์เพราะอะไร เพราะมันมีกิเลสอยู่ มันชำระอยู่ แล้วมันปฏิเสธได้ไหมล่ะ มันปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ได้ไหม มันปฏิเสธความรู้สึกนึกคิดเราได้ไหม

ความรู้สึกนึกคิดเราปฏิเสธไม่ได้หรอก มันมีของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่เพราะเราได้สร้างคุณงามความดีของเราขึ้นมา เราได้เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา แล้วมันก็จะเวียนตายเวียนเกิดด้วยคุณงามความดีนี่แหละ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะล่วงพ้นทั้งดีและชั่ว

ฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไป จากความดีๆ ความดีที่ไปศึกษาธรรม ไปตรึกในธรรมนี่มันเป็นความดี ความดีอย่างนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิเพราะอะไร สมาธิเพราะมันปล่อยวาง แต่ปล่อยวางขึ้นมานี่ด้วยมรรคญาณที่ยังไม่สมบูรณ์ ด้วยมรรคญาณ ด้วยมรรค ๘ ด้วยงานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความเพียรชอบ

เขาบอก “ปล่อยวางๆ ทำอะไรก็เป็นทุกข์เป็นยากไปหมดเลย”

แล้วความเพียร ความวิริยะอุตสาหะมันอยู่ที่ไหน? ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะของโลกเขา เขาอาบเหงื่อต่างน้ำมาด้วยผลงานของเขา ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะของเราด้วยความนิ่งอยู่ ด้วยความสงบสงัดอยู่

ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะโดยไม่ขยับแต่นิ่งอยู่ เห็นไหม นี่ความเพียรอย่างนี้มันเป็นความเพียรชอบ ถ้าเพียรชอบ ความเพียรแบบโลกเขา เขาก็อาบเหงื่อต่างน้ำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของเขา ความเพียรของเรา เราบังคับใจของเราให้นิ่ง สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด หัวใจที่มันไปเร็วที่สุด ให้มันนิ่งของมันที่สุด ให้มันมีพลังงานของมันที่สุด แล้วให้มันกลับมาทำประโยชน์กับตัวมันเอง

กลับมาทำประโยชน์กับตัวมันเองนะ เพราะตัวของใจนี่เป็นตัวรับมรรคผลนะ สุข ทุกข์ ใจก็เป็นผู้รับรู้ เวลามันผ่อนคลาย เวลามันชำระล้างขึ้นมา ใจก็เป็นผู้รับรู้ แล้วใจที่รู้นี่มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ใจรับรู้ ถ้าใจมันเป็นไปแล้วใครจะคัดค้าน.. ใครคัดค้านให้มันคัดค้านมา ถ้าใครมันจะคัดค้านหัวใจที่เป็นความจริงนั้น

แต่ถ้าใจมันไม่จริงสิ เขาไม่ต้องคัดค้านหรอก เราสงสัย “เอ๊ะ.. ทำไมเป็นอย่างนั้น เอ๊ะ.. ทำไมเป็นอย่างนี้ เอ๊ะ.. มันเป็นพระอรหันต์แล้วทำไมมันเสื่อมมา มันเป็นพระอรหันต์แล้วทำไมมันยังคิดชั่วอีกล่ะ มันเป็นพระอรหันต์แล้วทำไมมันคิดตอดเขาล่ะ เป็นพระอรหันต์แล้วทำไมมันไม่เห็นมีคุณงามความดีในตัวมันเองเลย” เห็นไหม

นี่ตัวมันเองก็สงสัย มันต้องสงสัยอยู่แล้วเพราะอะไร เพราะมันมีกิเลส มันมีอวิชชา มันมีความไม่รู้ ถ้ามันไม่สงสัยนี่เป็นไปไม่ได้หรอก คนเรานี่นะ ลองมีตะกอนในใจ ตะกอนนั้นมันต้องกระเพื่อมแน่นอน ช้าหรือเร็ว! ช้าหรือเร็ว

ถ้ามีตะกอนในใจ ถ้ามีอวิชชาในหัวใจ ถ้ามีสิ่งหมักหมมในใจมันต้องแสดงออกแน่นอน! แน่นอน! ช้าหรือเร็ว ไม่ต้องให้ใครมาตรวจสอบหรอก ตัวเองก็ เอ๊ะ! เอ๊ะ! เด็ดขาด มันต้องเอ๊ะของมัน มันต้องฉงนใจ ฉงนสนเท่ห์ แต่! แต่กิเลสนะมันว่า

“ก็พระอรหันต์ก็เป็นอย่างนี้ไง เอ๊ะ.. อย่างนี้ก็เหมือนพระอรหันต์เปรี๊ยะเลยไง อ้อ.. พระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้แหละ ครูบาอาจารย์ก็เป็นอย่างนี้แหละ”

เวลามันเอ๊ะแล้ว อวิชชานี่มันล็อกเลย ล็อกเลยนะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะครูบาอาจารย์ท่านประสบแล้ว ท่านเห็นของท่านแล้ว ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาในหัวใจ ใครจะคัดค้านนะให้มันคัดค้านมาทั้งสามโลกธาตุ อย่าเอาแต่ว่าโลกมนุษย์ สามโลกธาตุนี่ให้มันคัดค้านมา

เวลาหลวงตาท่านพูด “ตั้งแต่พรหมลงมา ท่านสอนได้หมด” ให้สามโลกธาตุมันคัดค้านมา ตั้งแต่พรหมเลยให้มันคัดค้านมา เพราะมันไม่รู้มันจะเอาอะไรมาคัดค้าน ตั้งแต่พรหมมามันก็ไม่รู้ ไม่รู้สิ่งนี้ มันจะเอาอะไรมาคัดค้าน ถ้าหัวใจมันเป็นจริงนะ ถ้าหัวใจมันไม่เป็นจริง ไม่ต้องให้มีใครคัดค้าน ความเศร้าหมองในหัวใจมันคัดค้าน

จิตนี้ผ่องใส จิตนี้ก็เศร้าหมอง.. จิตนี้สว่างไสว จิตนี้ก็ต้องมืดดำ.. จิตนี้มีความว่าง จิตนี้ก็จะมีสิ่งที่ขัดขวางในความว่างนั้น.. จิตนี้มันรู้ของมัน เห็นไหม ความลับไม่มีในโลกหรอก จิตนั้นน่ะรู้ ผู้ที่ปฏิบัตินั้นน่ะรู้ เพียงแต่ว่าเราไม่มีวุฒิภาวะด้วยความเข้มแข็ง เอาความเอาสัมมาทิฏฐิ ด้วยเอาความถูกต้องดีงาม ถ้าเราจะเอาสัมมาทิฏฐิ เอาความถูกต้อง เอาความดีงาม เราจะซื่อสัตย์สุจริตกับจิตของเราเอง เพราะสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา

จิตของเราถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ ความถูกต้องดีงาม เป็นศีล สมาธิ ปัญญา มันจะส่งเสริมหัวใจของเรานี้ให้มีคุณธรรม เห็นไหม มนุสสติรัจฉาโน มนุษย์สัตว์.. มนุสสเทโว มนุษย์เทวดา นี่จิตใจนี้ ถ้าเราได้ทำคุณงามความดีของมัน เราจะส่งเสริมหัวใจของเรา ดูสิเป็นมนุษย์แท้ๆ นี่แหละ มันเป็นเทวดาในร่างของมนุษย์นี้ก็ได้ มันเป็นเทวดา เป็นพรหมในร่างของมนุษย์นี้ก็ได้ ถ้าเราส่งเสริมของเรา

แล้วเทวดา อินทร์ พรหม มันเป็นในร่างของมนุษย์ เป็นในหัวใจเรานี้ เราจะต้องให้ใครมารับผิดชอบกับเรา ให้ใครมารับรู้กับเราใช่ไหม เรารู้ของเรา เราเป็นของเรา เราพอใจของเรา ถ้าเรารับรู้ของเรา เป็นความพอใจของเรา มันก็สอนหัวใจของเราไง มันนิ่งอยู่ในหัวใจ

“อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า”

พระอริยเจ้านิ่งนะ แล้วรู้อยู่ แล้วเข้าใจอยู่ในหัวใจของพระอริยเจ้า แต่หัวใจของเรานี่เราเป็นอะไร เห็นไหม ธรรมะสอนที่นี่ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนหัวใจของสัตว์โลก หัวใจของสัตว์โลก เราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งนะ เราเป็นสัตว์โลก สัตว์มนุษย์ สัตว์ประเสริฐ สัตตะ สัตว์ผู้ข้อง ข้องในกิเลส

สัตตะคือผู้ข้อง ข้องในหัวใจของตัว ถ้าหัวใจมันยังเกี่ยวข้องอยู่ หัวใจมันยังไม่ปลอดโปร่งอยู่ เราจะต้องแก้ไขเรานะ ตอนนี้เพราะเรายังมีลมหายใจ เรามีโอกาส เรามีชีวิตอยู่ เราพยายามทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เห็นไหม เขาส่งเสริมพุทธศาสนา เราจะส่งเสริมหัวใจให้เราเป็นพุทธะ ให้หัวใจเราเข้าถึงธรรม เข้าถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

หัวใจของเราเอง มนุษย์คนๆ นี้แหละ มนุษย์ที่นั่งอยู่นี้แหละ เราพยายามทำใจเราให้ประเสริฐขึ้นมา เพื่อให้พิสูจน์ศาสนาว่า ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนี้จริงหรือเปล่า ทำขึ้นมาในหัวใจของเรา นี่เวลาหลวงตาท่านบอกนะ

“ให้ประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าผิดพลาด ท่านจะพาไปร้องเรียนพระพุทธเจ้า”

ท่านพูดเลยว่าพระพุทธเจ้าพูดไว้ถูกต้องดีงาม แต่พวกเราทำไม่ถึง ทำไม่ถูก แล้วเราก็ตีโพยตีพายกันเองว่า “ศาสนาเสื่อม ศาสนาเสื่อม” แต่ความจริงคือหัวใจเราเสื่อม! เอวัง