ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กิเลสตัดทอน

๑๖ พ.ค. ๒๕๕๔

 

กิเลสตัดทอน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานมันตอบปัญหาล้ำหน้าไปไง วันนี้ต้องเอาของเก่ากลับมาตอบ คือว่าขั้นตอนมันหยิบคำถามผิดมา มันเลยย้อนกลับไปเป็น ข้อ ๔๒๔. เนาะ ข้อ ๔๒๔. คือลืมของเขา ต้องเอามาตอบไล่หลัง

ถาม : ๔๒๔. เรื่อง “นั่งสมาธิ แล้วเห็นนิมิตเป็นภาพโครงกระดูก”

กราบหลวงพ่อ โยมอยากถามว่า โยมนั่งสมาธิแล้วโยมเห็นนิมิตเป็นภาพโครงกระดูก เห็นยักษ์ในละครที่โยมเคยกลัวสมัยเด็กๆ ทำให้รู้สึกกลัว โยมเลยลืมตาออกจากสมาธิ โยมอยากเรียนถามว่า ถ้าเห็นอีกโยมควรทำอย่างใด ภาวนาพุทโธต่อหรือทำอย่างไรดีคะ

หลวงพ่อ : เวลาคนเขาเข้าใจอะไร หรือเข้าใจแบบว่า อย่างเช่นเรารู้ว่าเราปรารถนาสิ่งใด แล้วเราต้องการสิ่งนั้น เราอยากได้สิ่งนั้นมาก ฉะนั้น เวลาเราทำอะไรไม่เป็น นี่พอเราไปเจอสิ่งของ เห็นไหม อย่างเช่นใครทำธุรกิจสิ่งใดก็แล้วแต่ วัตถุดิบในธุรกิจของเขา หรือสิ่งที่เป็นธุรกิจของเขา เขาต้องการปรารถนาสิ่งนั้นมาก เขาต้องเอามาสำรองไว้ เพื่อธุรกิจของเขาจะได้มั่นคง

การปฏิบัติก็เหมือนกัน การปฏิบัตินะ เวลาคนภาวนาแล้วทุกคนอยากเห็น ทุกคนอยากเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยสัจธรรม แต่มันไม่เห็น แต่เวลาคนไม่ต้องการเห็น มันเลยเห็น พอเห็นขึ้นมาก็เลยตกใจ นี่เพราะเรายังไม่เข้าใจไง

เวลาอย่างนี้นะ บอกว่ามันเห็นกาย เห็นโครงกระดูกแล้วตกใจมาก แล้วรู้สึกกลัว รู้สึกกลัวเพราะอะไร เพราะพื้นฐานเรายังไม่ดี เหมือนเวลาเราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เราไปทำสิ่งใดขึ้นมา เห็นไหม พื้นฐานของเราไม่ดี หรือพื้นฐานเราไม่เป็น เราบริหารสิ่งนั้นไม่เป็น แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เวลาจิตเป็นสมาธิแล้ว แล้วโยมเห็นนิมิตเป็นภาพโครงกระดูก

ถ้านิมิตจริง ถ้าสมาธิมันดี.. เพราะคำว่าเห็น นี่มันบอกสภาพแล้วว่าจิตนี้มีกำลังพอ ถ้าจิตไม่มีกำลังพอ มองไม่เห็นหรอก ถ้าจิตมีกำลังพอ พอมองเห็นแล้วนะ นี่ถ้าจิตเรามีกำลังนะ เราจับภาพนั้นได้ คือให้โครงกระดูกนั้นตั้งอยู่ได้ แต่ถ้าจิตเรามันเป็นแบบว่าส้มหล่น

ส้มหล่นคือว่าเวลาจิตมันดีขึ้นมา มันเห็นโครงกระดูกปั๊บ แล้วก็แว็บหาย เห็นแว็บๆ แว็บๆ โครงกระดูกนั้น หรือภาพนิมิตนั้นตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะว่ากำลังเราไม่พอ เหมือนเราจะไปซื้อของ เงินเราไม่พอ เขาไม่ขายให้หรอก ซื้อไม่ได้ แต่ถ้าเงินเราพอนะ เงินเรามากกว่าสินค้านั้น ยิ่งดีเข้าไปใหญ่เลย เพราะมากกว่านี่ เราจะซื้อได้ ๒ ชิ้น ๓ ชิ้น เราจะซื้อได้มากขึ้น

ฉะนั้น เวลามันเห็นเป็นนิมิต นี่มันมีที่ว่าถ้าจิตเราไม่พอ กำลังเราไม่พอ นิมิตนี้มันจะแว็บ มันจะหาย มันจะตั้งไว้ไม่ได้นาน แต่! แต่แค่เห็นนิมิตนี่นะ ถ้าเป็นความจริงเห็นโครงกระดูกนี่มันสะเทือนหัวใจแล้ว มันสะเทือนเลยนะ มันสะเทือนความรู้สึกเราเลย เพราะว่าถ้าเป็นความจริง อย่างเช่นปัจจุบันนี้เราบอกว่าเราไม่เป็นอะไร ใครบอกว่าเราเป็นโรค เราก็เฉยๆ นะ แต่ถ้าเราเป็นโรคจริงๆ แล้วเขาบอกว่าเราเป็นโรคนั้นด้วยนะ เราตกใจ

นี่ก็เหมือนกัน โดยปกติที่บอกว่าเห็นกายๆ กัน เราไม่ได้เป็นโรคนะ แล้วหมอเขารักษาคนไข้ใช่ไหม เราก็คิดของเราเอง มันไม่มีอะไรสะเทือนใจหรอก แต่ถ้าวันไหนเราเป็นนะ แล้วหมอบอกว่าตรวจเจอว่าเราเป็นโรคนั้นนะ โอ้โฮ.. ใจเราวูบเลย

จิต! ถ้ามันไม่เป็นนิมิต จิตมันไม่เป็นสมาธิ มันไม่เห็นนิมิตตามความเป็นจริง มันก็ไม่รู้ว่ามันเป็นไข้หรือไม่เป็นไข้ คือไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหรือไม่เป็นโรค แต่เขาก็บอกว่าเห็นกายๆๆ มันก็เหมือนที่เราฟังกันทุกวันนี้ โรคร้ายสิ่งใด โรคนี้มีผลเป็นอย่างนี้ โรคนี้มีผลเป็นอย่างนี้ เราก็เข้าใจได้ทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่ได้เป็น มันไม่สะเทือนใจเรา แต่ถ้าเราเป็นนะสะเทือนใจมาก

จิต! จิตถ้ามันเป็นสมาธิ พอมันเป็นสมาธิแล้วมันเห็นโครงกระดูก เห็นต่างๆ โดยตามความเป็นจริง นี่มันสะเทือนใจ คำว่าสะเทือนใจมันเป็นผล เห็นไหม เป็นผลให้วัดว่าการภาวนานั้นถูกต้อง หรือจริงหรือไม่จริง ถ้าไม่จริงนะ ฟังโดยทั่วไปสิ เวลาเขาเห็นกายกัน

“เห็นกาย เห็นกาย”

“เห็นกายแล้วทำอย่างไรต่อ”

“เห็นกายแล้วก็กลับมาเห็นอีก เห็นกายแล้วก็ทบทวนอีก”

เห็นกายๆ เห็นกายโดยสัญญาไง เหมือนกับเราไม่ได้ป่วยไข้ แล้วเวลาเขาบอกว่าโรคนั้น ชนิดนั้น เราก็เฉยๆ ไม่มีประโยชน์หรอก มันไม่สะเทือนเรา เพราะเราไม่ได้เป็น เราไม่ได้เป็นเราก็ไม่ได้หาย แต่ถ้าเราเป็นนะเราตาย ถ้าเราเป็นแล้วรักษาหาย อู๋ย.. ยิ่งดีใจเข้าไปใหญ่ พอจิตมันสงบแล้วมันจะเห็นโครงกระดูกแบบนั้น ถ้าเห็นนะ..

นี่เปรียบเทียบก่อน เปรียบเทียบก่อนว่าการเห็นนี่นะ พอเห็นแล้ว ถ้าพูดถึงครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ เวลาลูกศิษย์เห็น ต้องฟังก่อนว่าเห็นอย่างใด เห็นในลักษณะไหน เห็นนะ ถ้าจิตมันสงบแล้วเห็น นี้เป็นอันหนึ่ง ถ้าจิตไม่สงบนะ เราใช้สัญญาอารมณ์ไปก่อน นั่นอีกประเภทหนึ่ง แล้วถ้าเห็นนะ เห็นโดยที่ว่ากำลังมันไม่พอ มันคลอนแคลนอย่างใด เห็นแล้วมันเคลื่อนไหวอย่างใด

ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ ก็ต้องตั้งให้ลูกศิษย์ทำความสงบให้มากขึ้นๆ แล้วมันก็จะมาใช้ปัญญาได้มากขึ้นๆ พอมากขึ้นปั๊บนะ พอเราเห็นกายใช่ไหม เห็นโครงกระดูกใช่ไหม เราให้โครงกระดูกนี้แปรสภาพ แปรสภาพเลย

อุคคหนิมิต ปฏิภาค.. อุคคหนิมิตคือนิมิตที่เป็นภาพ แล้วนิมิตนี่เราขยายมัน วิภาคคือทำให้เป็นไตรลักษณ์ เราขยายมัน พอเราขยายๆ พอขยายปั๊บ แค่เห็นภาพใช่ไหม พอจิตเราดีขึ้นมา พอเห็นโครงกระดูกนี่กลัว กลัวมากเลย

ที่พูดนี่นะเพราะว่าคำถามเขาบอกว่า “เขากลัว กลัวแล้วจนไม่กล้าทำ” มันเสียดายไง ฉะนั้น พอกลัวแล้วไม่กล้าทำ นี่เขาก็บอกว่าเขาก็ลืมตา นั่งลืมตา คือกลัวเห็นโครงกระดูกอีก แหม.. มันก็เหมือนกับว่าเงินล้านหนึ่ง กลัวเงินล้านที่สอง กลัวเงินล้านที่สาม เอ๊ะ.. ก็ไปกลัวเงินได้อย่างไร เอ๊ะ.. เงินล้านที่ ๒ ที่ ๓ มันก็ดีเนาะ ยิ่งได้หลายล้านมันยิ่งดี เอ๊ะ.. นี่ไปกลัวเงิน เออ.. ก็แปลก

เพราะเขาไม่เข้าใจว่านี่เป็นเงิน เขาไม่เข้าใจว่านี่เป็นความดี แต่เพราะเขาไม่เข้าใจว่าเป็นความดี เห็นไหม เราบอก คนเรานี่นะ ถ้ามีอำนาจวาสนา ทำสิ่งใดดีก็จะดีมาก แต่ถ้าเราไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นความดี แล้วเขาชวนไปทำความดีเรายังไม่พอใจเลย นี่เขาเรียก “กิเลสมันตัดทอนไง”

กิเลสมันตัดทอนนะ ในการปฏิบัติหลวงตาพูดบ่อย “อย่าเข้าใจนะว่าพอปฏิบัติแล้วกิเลสมันจะยุนะ กิเลสมันจะเปิดทางให้ กิเลสมันจะส่งเสริมเรา ไม่ใช่หรอก กิเลสมันรอจังหวะทำให้ล้ม ทำให้คลอนแคลน ถ้าดีแล้วทำให้เสื่อม”

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะกิเลสมันอยู่ในใจเรา กิเลสมันอาศัยใจเรา กิเลสนะมันมีที่อาศัย เราต้องสร้างบ้านสร้างเรือนนะ ใครต้องสร้างบ้านสร้างเรือนเป็นที่อาศัย กิเลสมันอาศัยอยู่บนใจของสัตว์โลก แล้วมันไม่ยอมให้หลุดไปหมด เพราะบ้านเรานี่ ใครไม่หวงบ้านบ้าง บ้านของเรา เราก็ต้องรักษาเป็นธรรมดา นี่กิเลสมันอยู่บนใจของคน มันอยู่บนใจของสัตว์โลก แล้วนี่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราจะออกจากกิเลส กิเลสมันต้องหาหนทาง หาช่องทาง นี่เราไม่เข้าใจไง

ดูสิเวลาบอกว่า “สมาธิเป็นเรา ปัญญาเป็นเรา” นี่เป็นเราไม่ได้ กิเลสเป็นเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้ เห็นไหม มันไม่เป็นเรา แต่ไม่เป็นเรานี่เราต้องสร้างมันขึ้นมา เราทำขึ้นมาก่อน ฉะนั้น บอกว่าการสร้างนี่ไม่เป็นมรรคสามัคคี แต่มรรคสามัคคี เดี๋ยวมันจะเป็นไปเพราะการชำนาญการของเรา

ฉะนั้น พอจิตดีนะ พอจิตดี นี่สมาธิดีๆ สมาธิดีนะมันเหมือนกับเรานี่ คนมีเงิน แต่ใช้เงินไม่เป็น เงินนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์เลย คนเรามีเงินแต่ตระหนี่ถี่เหนียว เงินนั้นจะให้โทษกับตัวเองนะ เรานะ เมื่อก่อนหาเช้ากินค่ำ เราก็ดำรงชีวิตเราด้วยความสุขสบาย พอมีเงินขึ้นมา ชีวิตนี้ลำบากขึ้นไปอีก เพราะมันตระหนี่ไง กลัวเอาเงินนี้ไปใช้จ่ายแล้วมันจะเสียหาย เห็นไหม เรายิ่งตระหนี่เข้าไปใหญ่ ทั้งๆ ที่ชีวิตเรามันก็ลำเค็ญอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าเรามีเงิน เรารักษาเงินเป็น เราใช้เงินเป็น เราใช้เงินลงทุนขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา

เราทำจิตให้สงบ พอจิตสงบแล้ว พอมันพิจารณาแล้วมันเห็นของมัน ทำให้สงบอีกแล้วเห็น ตั้งไว้แล้วรำพึง รำพึงให้แปรสภาพ ถ้ามันแปรสภาพได้นะมันจะสั่นไหวมากกว่านี้ มันจะสะเทือนใจมากกว่านี้ ความที่เห็นแล้วนี่ธรรมสังเวช เวลาธรรมะมันทิ่มเข้ามาในหัวใจเรานะ มันทิ่มธรรมนะมันสลดสังเวช พอสลดสังเวชแล้วมันปล่อยๆ ต้องขยันหมั่นเพียร ถ้ามันเป็นความจริง!

ถ้ามันเป็นความจริง นี่พอเห็นโครงกระดูกแล้วโยมกลัวมาก แล้วพอจิตสงบไปก็เห็นยักษ์ในละคร ในละครคือภาพฝังใจตั้งแต่เด็ก นี้ตั้งแต่เด็กนะ แล้วชาติที่แล้วล่ะ? แล้วชาติก่อนๆ ล่ะ? ความฝังใจตั้งแต่เด็ก มันเป็นปมในหัวใจ เป็นความฝังใจในชาตินี้ แต่บุญกรรมของคนมันสะสมมา เห็นไหม พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไปไม่มีต้นไม่มีปลาย ความสะสมมามันถึงเป็นจริตนิสัย

ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราเห็นโครงกระดูกแล้ว เราจะต้องทำแต่เฉพาะโครงกระดูกไปไง พอเราเห็นโครงกระดูก เห็นต่างๆ เห็นเป็นภาพ เห็นเป็นจิต เห็นเป็นธรรม เห็นเป็นความรู้สึกนึกคิด นี่สิ่งใดเกิดขึ้น ให้เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จับสิ่งนั้น ฉะนั้นถ้าเราบอกว่า เราเคยเห็นมันเป็นโครงกระดูก แล้วมันจะต้องเป็นโครงกระดูกตลอดไปๆ มันไม่ใช่ เห็นเป็นโครงกระดูกนั่นคือเห็นกายใช่ไหม เวลารู้สึกความสั่นไหวของใจ เห็นไหม เวทนากาย เวทนาจิต

เวทนากายก็คือความเจ็บปวด เป็นความเจ็บปวด เป็นความรับรู้สภาพร่างกาย เวทนาจิต เศร้าหมอง ผ่องใส คิดดี ความดีความชั่ว นี่เวทนาจิต ฉะนั้นเวทนาจิต เห็นไหม แล้วจิตล่ะ จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส นี่แล้วเกิดเป็นตรึกในธรรม เกิดต่างๆ ธรรมารมณ์ล่ะ ถ้าจิตมันจับสิ่งใดได้ มันต้องจับสภาวะแบบนั้น แล้วถ้าจับสภาวะแบบนั้นได้นะ จับสภาวะแบบนั้น แล้วพิจารณาของมันไป มันจะก้าวเดินของมันไป

คือจะบอกว่า เปิดให้กว้างไง คือสิทธิของเรา ความรู้สึกของเรา เรามีโอกาสได้มาก เราอย่าไปปิดให้ช่องทางเราแค่ทางใดทางหนึ่ง แต่ช่องทางที่ถนัดนั้นล่ะ สิ่งนั้นจะเป็นหลัก ถ้าช่องทางไหนที่ถนัด เหมือนกับสิ่งใดที่เราถนัด เราจับแล้วทำงานจะคล่องตัวมาก แต่ความคล่องตัวอย่างไรก็แล้วแต่ เวลากิเลสมันตัดทอนนะ มันเศร้า มันเศร้านะ เวลาดีก็ดี๊ดี เวลามันไม่ดีขึ้นมามันสะเทือนหัวใจ มันทำของเราไปไม่ได้ นี่เราก็ต้องมาปลุกปลอบหัวใจ

มาปลุกปลอบนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านทุกข์ทรมานมาขนาดไหน ทุกข์จริงๆ นะ แต่มันเป็นความทุกข์ที่เราพอใจไง มันเป็นความทุกข์ที่จะแก้ทุกข์ไง มันไม่ใช่ความทุกข์แบบโลก เศร้าโศก เสียใจ แล้วพอมันเจือจางไป ก็จะมาเศร้าโศกเสียใจ แล้วก็ไปชาติหน้าก็จะไปเศร้าโศกเสียใจนะ

ของเรานี่เวลามันทุกข์ เห็นไหม หนามยอกเอาหนามบ่ง ทุกข์นี้เพราะด้วยความเพียรชอบ ความวิริยะอุตสาหะ มันจะกลับมาตัดทอนไง ตัดทอนให้ภพชาติสั้นเข้า ตัดทอนให้แบบว่าเรามั่นคงในความเป็นจริงเลย

ฉะนั้น เวลามันเห็นยักษ์ หรือเห็นอะไรก็แล้วแต่ที่มันสะเทือนใจ เวลาที่เราปฏิบัตินะ เราก็มองไปในแง่เดียว ประเด็นเดียว คือเราจะปฏิบัติของเรา ก้าวหน้าของเราไปตลอด เราไม่ได้คิดหรอกว่าอุปสรรค หรือว่าสิ่งใดที่มันกีดขวางเรา แต่พอครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมามากๆ ท่านจะเห็นอุปสรรคนะ อุปสรรคในระดับนั้น อุปสรรคในระดับนั้น

ฉะนั้น เวลาพระที่ยังทำอะไรไม่ก้าวหน้า หลวงปู่มั่นถึงให้ไปเที่ยวป่าช้า หลวงปู่มั่นถึงให้ไปอยู่กับเสือ หลวงปู่มั่นจะให้ไปอยู่ในที่สงัด ในที่วิเวก พอในที่สงัดที่วิเวกนะ นี่ไง พอเคยเห็นยักษ์ในละครตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดยจิตนี่นะ ถ้าไม่มีในที่สงบสงัด ไม่มีเรื่องผี ไม่มีเรื่องสัตว์ร้ายต่างๆ มาคอยดูแลใจ มันจะฟุ้งซ่านของมันไป มันจะคิดไปโดยอิสรภาพของมัน แต่พอเราไปอยู่ในที่กลัวๆ ไปอยู่ในป่าช้ามันกลัวผี

ความกลัว เห็นไหม ความกลัวสมัยเด็กๆ ความกลัวนะ ความที่ว่าเราไม่กล้าให้มันอิสรภาพ สิ่งนี้ถ้าเรามีสตินะ มีสติ มีครูบาอาจารย์ ท่านเอาสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติได้ อ้าว.. เราอยู่บ้านอยู่เรือน ทำไมเราต้องไปอยู่ที่ป่าช้า เราก็อยู่ของเราสุขสบายแล้ว ทำไมเราต้องไปอยู่กับสัตว์ เราไปทำไมล่ะ?

เราไปเพราะเห็นว่านี่คืออุบาย คือสิ่งที่จะทำให้หัวใจของเรานี้มันไม่คิดฟุ้งซ่านไปตามประสาของมัน.. เพราะความกลัว พอความกลัวขึ้นมามันต้องหาที่พึ่ง พอหาที่พึ่งก็กลับมาที่พุทโธ นี่พูดถึงว่า เวลากลัวเรากลัวโดยไม่มีเหตุไม่มีผลใช่ไหม ตั้งแต่สมัยเด็กมันฝังใจ พอฝังใจเราต้องใช้ปัญญาของเราสิ ปัญญาคลี่คลายออกว่าสมัยนั้นมันเป็นเด็กอยู่ ยังไม่เข้าใจ มันก็เข้าใจว่ายักษ์เป็นสิ่งที่น่ากลัว แล้วเวลาหลวงตาท่านบอก

“ยักษ์หูสั้น ยักษ์หูสั้นมันกินไม่เลือกเลย”

มนุษย์นี่กินทุกอย่าง แล้วไอ้ยักษ์ตัวนี้ ยักษ์ก็คือตัวเราเป็นยักษ์ไง เราก็เป็นยักษ์อยู่ เรากินทุกอย่างเลย กินทุกอย่างที่ขวางหน้าที่มันเป็นอาหาร เป็นยักษ์ไหม แล้วตัวเราเป็นยักษ์ทำไมเรากลัวยักษ์ แล้วมาอยู่กับเรา เราก็เป็นยักษ์ อ้าว.. ยักษ์ก็อยู่กับยักษ์ แล้วมันไปกลัวอะไรล่ะ ถ้าคิดอย่างนี้ได้ สิ่งที่มันกลัวในหัวใจนะ อย่างเช่นเรากลัวผี เราไม่กล้าทำอะไรหรอก มันห่วงแต่กลัวผีๆๆ แล้วมันจะไม่ก้าวหน้า

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีปมในหัวใจแล้วเรากลัวสิ่งใด ฉะนั้นถ้ากลัวสิ่งใดแล้วต้องแก้เลย เข้าไปเจอสภาพแบบใดแล้วแก้สิ่งนั้นให้มันคลายออกไปจากใจ พอมันคลายออกไปจากใจแล้ว มันก็เป็นอิสระ พอเป็นอิสระแล้ว พอทำสมาธิมันก็เป็นสมาธิแล้ว เป็นปัญญาก็เป็นปัญญาแล้ว แล้วพอมันหายกลัวนะ ตอนนี้มันอยากได้ภาพโครงกระดูกแล้วล่ะ ตอนนี้มันอยากได้กายแล้ว ตอนนี้เวลามันมา กลัวมันมากเลย แต่พอรู้ว่าเป็นประโยชน์นี่อยากได้ หาไม่เจอ

คนเรามันก็แปลกตรงนี้ เวลาไม่อยากได้มันก็มานะ มาให้ตกใจ เวลารู้ว่ามันเป็นประโยชน์ อยากได้ขึ้นมานะมันก็ไม่มาแล้ว นี่กิเลสมันตัดทอน เวลากิเลสมันตัดทอนมันจะทำให้เราคลาดเคลื่อนตลอด สิ่งที่เราคลาดเคลื่อนไป

ฉะนั้น สิ่งที่เวลามันเกิดขึ้นมา อย่างเช่นที่ว่าพอจิตมันสงบแล้ว มันรับรู้สิ่งใด เหมือนกับสิ่งใดที่มันสะเทือนใจ นั่นคืออาการของมัน อาการของมัน เห็นไหม ที่เราพูดบ่อย ที่เขาบอกว่าเป็นสมาธิ เป็นสมาธิ มันต้องมีเหตุมีผล มีเหตุมีผลคือจิตเราเป็นไง

เวลาที่ว่าพอจิตเราลง.. วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ องค์ของสมาธิ พุทโธ พุทโธ นึกเอานี่วิตก วิจารคือพุทโธ พุทโธ นี่วิตก วิจาร วิตก วิจารจนมันสมดุลของมันนะ มันจะเกิดปีติ พอเกิดปีติ ตัวพองเชียว อู๋ย.. ว่างหมดเลย เห็นไหม มันจะเกิดปีติแล้ว

การเกิดปีติ พอตัวพองนะ คนไม่เข้าใจก็เอาแค่ตัวพอง นั่งสมาธิแล้วก็ขอให้ตัวพอง นั่งสมาธิก็ขอให้ตัวพอง แล้วต่อไปล่ะ ปีติ สุข.. สุขแล้วนะ สุขกับเอกัคคตารมณ์แตกต่างกันอย่างไร ถ้าสุขก็ต้องพอแล้วสิ สุขก็พอแล้ว เอกัคคตารมณ์นี่มันเลยสุขไปอีก อ้าว.. เลยสุขไป แล้วมันผ่านสุขไปอย่างไรล่ะ มันผ่านสุขไปอย่างไร

ฉะนั้น พอถึงสุขนี่นะ นี่ฌาน ๔ พอถึงสุข เห็นไหม จิตตั้งมั่น นี่มันเป็นรูปฌาน อรูปฌาน เพราะนี่เรากำหนดของเราไง วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ฉะนั้นพอเราพุทโธ พุทโธ หรือเราอานาปานสติ อะไรก็แล้วแต่ นี่ขณะที่เหตุ เหตุระหว่างที่ทำให้จิตให้ลง พอจิตจะเริ่มลงนะ มันเกิดอาการที่เป็นนั่นล่ะ อาการที่มันกระตุกขึ้นมาบ้าง อาการที่ว่ามันดึงอะไรนี่

พอเราดึงปั๊บเพราะอะไร เพราะเราปัญญาชนไง พอดึงเราก็คิดถึงอาการของวิทยาศาสตร์ อาการของโลก เราก็เอาวิทยาศาสตร์เอาโลกนี่มาเทียบ แต่ความจริงไม่ใช่ ความจริงมันเป็นความรู้สึก ความรู้สึกนี้เป็นนามธรรม ถ้าความรู้สึกนี้เป็นนามธรรม เราก็ตั้งสติของเราเข้าไปอีก ตั้งสติของเราเข้าไปอีก ตั้งสติของเราดีกำหนดใหม่ สิ่งนี้มันก็เหมือนกับคำว่ากรรมตัดรอนนี่แหละ เดี๋ยวก็เป็นแง่นั้น เดี๋ยวก็เป็นแง่นี้ โอ้โฮ.. จิตมันกว่าจะสงบหรือกว่ามันจะลง มันมีอุปสรรคอย่างนี้ อุปสรรคอย่างนี้นะมันก็อยู่ที่มากหรือน้อย ถ้ามันมากนะ มันมากนี่เจอจน โอ้โฮ.. มันเป็นอุปสรรคไปหมดเลย

นี่อันนี้มันคืออะไรล่ะ อันนี้คืออำนาจวาสนา บุญของคน ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ถ้ามันเป็นอย่างนี้ปั๊บนะ ไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ต้องไปถามใครเลย เอ็งทำมา เอ็งทำมา เอ็งทำของเอ็งมา เอ็งทำของเอ็งมา แต่ไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านก็แก้ให้ๆ แต่แก้ให้อย่างไร เราต้องแก้ตัวเอง เพราะครูบาอาจารย์แก้ให้นั้นเป็นทฤษฎี ครูบาอาจารย์แก้ให้ ท่านบอกถึงวิธีการให้เราแก้

วิธีการที่เราแก้ แล้วใครเป็นคนแก้ล่ะ ก็ต้องจิตเราเป็นคนแก้ เพราะอะไร เพราะจิตของเรามันรู้สึก จิตของเรานี้มันติด จิตของเรามีอาการอย่างนี้ ให้เราเป็นความวิตกกังวล ถ้าเป็นความวิตกกังวล เราก็ต้องพุทโธ หรืออานาปานสติ หรือปัญญาอบรมสมาธิทำเข้ามา พอเจออาการอย่างนี้ ครั้งที่ ๒ แล้วนะ ครั้งที่ ๓ แล้วนะ แล้วครั้งที่ ๔ เราจะมีปัญญา เราจะมีวิธีการอย่างไร ให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาให้เกิดในแง่บวก แง่บวกหมายถึงว่า เกิดขึ้นแล้วลงสู่สมาธิ ไม่ใช่ว่าพอเกิดขึ้นมาแล้วนะ ไปติดมันไง

เราจะบอกว่า อาการที่เกิดมันเกิดเพราะจิตมันเปลี่ยนแปลง คำว่าสมาธิ จิตจะเป็นสมาธิ จากปุถุชน จากจิตที่เป็นปกติมันจะละเอียดเข้ามา มันต้องมีพัฒนาการของมันใช่ไหม พัฒนาการอันนี้ มันจะพัฒนาการเข้ามาสู่สมาธิไง ทีนี้พอพัฒนาเข้ามาสู่สมาธิ เราไปตื่นเต้นกับพัฒนา แล้วไปอยู่ที่พัฒนาการอันนั้นไง เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! เข้าสมาธิไม่ได้หรอก มึงไม่ได้เข้า อยู่นั่นแหละ แล้วค่อยๆ แก้ไป

อย่าวิตกกังวลนะ ถ้าเราไม่ได้ทำ เราก็จะไม่รู้อะไรเลย ถ้าเราได้ทำ แล้วมีอุปสรรค นี้คือเนื้อแท้ นี้คือข้อเท็จจริงกับจิตของเรา จิตของใครก็ต้องแก้จิตดวงนั้นเข้าไปสู่ความสงบระงับ เพื่อให้เป็นการพักเอากำลัง แล้วออกมาใช้ปัญญา

ฉะนั้น การปฏิบัติ จิตของใครก็เป็นจิตของคนนั้น เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นเฉพาะ ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะเป็นของเรา ฉะนั้นเราต้องตั้งสติ มันจะเกิดสิ่งใดขึ้นมา เราก็แก้ไขของเราไป ต้องแก้ไขไป พอแก้ไขไปแล้วมันเป็นความจริง

เราพูดบ่อย ภาชนะนั้นไม่มีอาหารเป็นภาชนะเปล่าๆ นี่ถ้วยจาน มันไม่มีอาหารอยู่ในถ้วยจาน ก็คือถ้วยจานนั่นแหละ ความเป็นอยู่ของเรา ชีวิตของเรานี่เหมือนถ้วยจาน เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา อาหารคือสิ่งที่เป็นประสบการณ์ เห็นไหม นี่ธรรม ธรรมคือจิตเป็นสมาธิธรรม เป็นจิตธรรม เป็นปัญญาธรรม ในภาชนะของเรามันมีอาหาร มันมีธรรมรส มันมีรสของธรรมที่จะเข้ามาสู่ใจของเรา

ฉะนั้นพอมีธรรมรสขึ้นมา แล้วธรรมรสทำไมทำให้ตกใจล่ะ ธรรมรสทำไมทำให้เราเคลื่อนไหวล่ะ อ้าว.. ก็ยังทำไม่เป็นนี่ พอทำเป็นขึ้นมานะ สิ่งนี้เราใช้เป็นประโยชน์ นี่สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เราสร้างขึ้นมา ภาชนะมีอาหารก็แปลกเนาะ จานไม่มีไข่ มันก็เป็นจานเปล่าๆ พอจานมีไข่ ไข่กินได้นะ จานกินไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน มีสมาธิ มีสติ โอ้.. กินได้นะ กินได้นะ ฉะนั้น มันจะมีปัญหา มันจะตื่นเต้นบ้าง เราก็ค่อยๆ แก้ไป ไม่มีปัญหาหรอก กรณีนี้ ประสาเรานะมันเป็นกรณีพื้นฐาน พื้นฐานมาก แต่! แต่เวลาเราทำ ขนาดพื้นฐานเราก็ยังกังวลกันขนาดนี้ แล้วถ้าพอมันไปเจอนะ พอไปเจอการปฏิบัติ ไปเจอสิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมา มันจะรู้มันจะเห็นของมัน มันยิ่งมหัศจรรย์กว่านี้เข้าไปอีก

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นมันก็ไม่มีข้อเท็จจริงสิ เห็นไหม เวลาที่เขาปฏิบัติกันให้มันหายไปเฉยๆ ที่เขาทำกันมันแบบว่า เราเปรียบเทียบเหมือนว่าว คนเล่นว่าวนี่นะเขาต้องมีลม มีว่าว มีเชือก มีผู้ควบคุมมัน ว่าวนี้จะขึ้นได้เลย เห็นเขาเล่นว่าว เอาว่าวขึ้นมาบ้าง โยนขึ้นบนอากาศ ไม่มีเชือก ไม่มีอะไรเลย แล้วว่าวมันจะไปไหนล่ะ มันก็ว่าวเชือกขาด มันร่อนขึ้นแล้วมันก็ตก

จิตของเรา ถ้าจิตของเรา เราปฏิบัติของเรา นี่ร่างกายเราเป็นว่าว เรามีเชือก เรามีสติ แล้วคำบริกรรมล่ะ? (ดูเด็กให้หน่อย) แล้วคำบริกรรมล่ะ ถ้าเรามีสติเห็นไหม เรามีคำบริกรรม เรามีต่างๆ มันบังคับได้ ถ้าบังคับได้ขึ้นมามันถึงเป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้ามันหายไปโดยที่เขาว่า พอมันหายไปอย่างนั้นปั๊บเขาก็ดีใจกันนะ คือมันสะดวก มันง่ายดายของมัน แต่มันเป็นจริงไหมล่ะ มันไม่เป็นจริงหรอก

ฉะนั้น อันนี้พูดถึงว่า “นั่งสมาธิแล้วเห็นโครงกระดูกเนาะ”

เห็นโครงกระดูกแล้วนี่กลับมาที่พุทโธใช่ไหม

“แล้วให้โยมทำอย่างไรต่อไปคะ”

แล้วโยมภาวนาต่อไปล่ะ หลับตาลงนะ หลับตาลงแล้วกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ กำหนดอานาปานสติไปเรื่อยๆ เข้าไปเผชิญกับสิ่งนั้น เข้าไปเผชิญกับสิ่งนั้น ถ้ามันจะเห็นโครงกระดูกใช่ไหม โดยธรรมชาตินะ เวลาคนบอกว่าไม่อยากเห็นกายเพราะเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่ากายนี้คือผี ทุกคนกลัวผีไง แต่ไม่ใช่กายนะ ผีคือวิญญาณ ผีนี่มันมีชีวิตใช่ไหม วิญญาณ เวลาผีหลอกผีมันเคลื่อนไหวใช่ไหม โครงกระดูกก็เหมือนกับซากศพที่นอนอยู่นั่น มันไม่ใช่ผี

ฉะนั้น เวลาเราเห็นโครงกระดูกนี่นะ เราเห็นธาตุไง เราเห็นวัตถุ เราไม่ใช่เห็นผี เพราะโครงกระดูกไม่มีวิญญาณ โครงกระดูกไม่มีวิญญาณ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม มันเป็นกายานุปัสสนา มันไม่ใช่ผี แต่จิตใต้สำนึกพวกเรากลัว กลัวว่าเห็นร่างกาย เห็นโครงกระดูกแล้วกลัวจะเห็นผี

ฉะนั้น เราเข้าใจผิด เห็นโครงกระดูกไม่ใช่ผี แล้วเวลาโครงกระดูกมันสยดสยองล่ะ อันนั้นเวลามันเป็นไตรลักษณ์ เวลาวิภาคมันเปลี่ยนแปลงเพราะมันเป็นยาไง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มันเป็นยา จะเข้ามาชำระล้าง เข้ามาสำรอกสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดของกาย มันจะเข้ามาสำรอกกาย ฉะนั้นมันไม่ใช่ผี

ฉะนั้น เวลาบอกว่าให้ตั้งพุทโธไว้ ถ้าเราไม่ต้องการเห็นนะ พุทโธชัดๆ ภาพนั้นจะหายไป แต่พอเวลาพุทโธ พุทโธ พอจิตมันดีขึ้นมา พอจิตดี จิตเป็นผู้เห็น นี่โครงกระดูกที่เห็นเพราะว่าสมาธิมันดี ฉะนั้นวิธีแก้ ถ้าไม่ต้องการให้เห็นก็กลับมาที่พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ภาพนั้นจะหายไป เพราะอะไร เพราะจิตมันรู้ความชัดเจนที่พุทโธนี้ พอจิตมันรู้พุทโธนั้น สิ่งที่พุทโธ ออกไปรับรู้มันจะปล่อยวางของมัน มันจะจางของมันไป

ฉะนั้น ถ้าวิธีแก้นะ พุทโธชัดๆ แล้วที่เราอธิบายมาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นวิธีแก้ด้วยปัญญา คือแก้แล้วจบเลยไง แก้ด้วยปัญญาหมายถึงว่า พอมันเข้าใจหมดแล้วนะมันไม่กลัว แล้วอยากได้ด้วย อยากได้ อยากดี อยากภาวนาเป็น นี่เพราะการเห็นกายมันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการที่เราจะต้องผ่าน จะต้องเผชิญแน่นอน เห็นกาย เห็นจิต เห็นธรรม มันต้องผ่าน ถ้าไม่ผ่าน วิปัสสนาไม่เกิด

วิปัสสนาเกิดเพราะสติปัฏฐาน ๔ ในการพิจารณาอย่างนั้นไป แต่ตอนนี้ยังไม่เข้าใจ ก็อยากไม่ให้มีอะไรเลย แล้วก็จะมีสติปัฏฐาน ๔ ด้วย แล้วจะชำระกิเลสด้วย อืม.. อันนี้มันต้องไป.. ไม่พูดดีกว่า

จบ! ขึ้นข้อใหม่ อันนี้สิ อันนี้มันเห็นผลนะ วันนี้ปัญหามันดีมาก

 

ถาม : ๔๒๖. เรื่อง “ขอบคุณพระสงบมากๆ ” (เขาเขียนมากน่าดู)

แก้ปัญหาที่ผมเป็นมาหลายปีแล้ว ผมได้เรียนถามปัญหาธรรมะอาจารย์ครั้งหนึ่งแล้ว เรื่องของการพิจารณากายคู่กับบริกรรม ตอนนี้ทำไปแล้วรู้สึกดีขึ้น ไม่ติดกังวลเหมือนแต่ก่อน สงบดี และผมก็ได้ติดตามการตอบปัญหาของอาจารย์ มีอยู่ปัญหาหนึ่งที่ผมก็เป็นเหมือนเขา ปัญหาที่ ๓๖๙. เรื่อง “การเอาชนะการลบหลู่ครูบาอาจารย์”

ผมทดสอบทำโดยการขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขออโหสิกรรมเจ้ากรรมนายเวร และผมอโหสิกรรมเจ้ากรรมนายเวรนั้น และถ้าเคยอาฆาต หรือมีกรรมต่อครูบาอาจารย์กันมา ผมก็ขออโหสิกรรมต่อท่าน และผมขออโหสิกรรมในสิ่งที่ผมล่วงเลยมา

หลังทำแล้ว (นี่ผลนะ) หลังทำแล้ว อาการนั้นเงียบหายไป ไม่มารบกวนผมเลย ดีใจมากๆ ที่เป็นอยู่นี้ ๔ ปีแล้วครับ คิดว่าภาวนาสู้แล้วจะหาย ยิ่งทำยิ่งชัด ๓ ปีที่ผ่านมา ผมภาวนาพิจารณากาย เห็นรูปกายปรากฏบ้าง ปรากฏเป็นบางครั้ง หลังเลิกทำแล้ว ความคิดอันร้ายๆ อันนี้มาหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ได้ทำตามคำแนะนำของอาจารย์ต่อท่านนั้นแล้วดีขึ้น

หลวงพ่อ : เห็นไหม นี่คนมีปัญญา แนะนำคนอื่นแต่เขาเอาไปทำด้วย แล้วเขาก็หายจากความทุกข์ในใจเขา

ความทุกข์ในใจหมายถึงว่า “กรรมนิมิต” เวลาคนใกล้ตาย เวลาคนนี่มันจะมีสิ่งต่างๆ เขาเรียกเกิดกรรมนิมิต คนใดมีกรรมสิ่งใด มันจะเกิดนิมิตสิ่งนั้น มันจะบอกถึงว่าเรานี่จะไปดีหรือไปไม่ดี นี่บางคนนะทำกรรมไว้เยอะ เวลาใกล้จะสิ้นชีวิต มันจะมีกรรมนิมิตมาเลย แต่ในทางคติธรรมของชาวพุทธเรานะ เขาบอกคนแก่ๆ คนใกล้จะตาย ให้นึกพระพุทธอยู่ตลอดเวลา ให้นึกถึงพระตลอดเวลา

เพราะถ้าเรานึกถึงพระ เรานึกถึงความดี ถ้านึกถึงความดีขึ้นมา เห็นไหม นึกถึงความดีๆ เพื่อไปสู่ความดี นี่เรานึกถึงไง แต่เขาลืมไปหน่อยหนึ่ง เวลาครูบาอาจารย์เราสอนตั้งแต่บัดนี้ไง ว่าให้เราคิดตั้งแต่ตอนนี้ ให้เราฝึกหัดตั้งแต่ตอนนี้ ถ้าเราไม่ได้ฝึกไม่ได้หัดเลย เราจะไปคิดตอนนั้น จะคิดออกได้อย่างใด

เพราะเวลาไปคิดถึงตอนนั้นนะ ความคิดนี่เราคิดได้ใช่ไหม ความคิดเราคิดได้เพราะอะไร เพราะเราผ่อนคลาย เราไม่ตึงเครียดใช่ไหม แต่เวลาคนใกล้จะตาย มันถึงวิกฤติของเขา เขาคิดอะไรไม่ออกนะ พอเขาคิดอะไรไม่ออก สิ่งใดที่เขาสร้างสมมาในใจ เหมือนกับความเคยชิน ความเคยชินคือกรรมเวรที่มันสร้างมา พอสิ่งที่กรรมเวรมันสร้างมา มันก็จะแสดงออกมาเป็นกรรมนิมิต

บางคนพอเวลาจะสิ้นชีวิตนี่ โอ๋ย.. กลัวนู่น กลัวนี่ นั่นล่ะเขาสร้างกรรมไม่ดีของเขามา แต่บางคนเขาจะสิ้นชีวิตนะ “ลูก แม่จะไปแล้วนะ บ๊าย บาย” เขาจะไปสวรรค์ เขาจะไปเหมือนคนไปเที่ยวนะ เหมือนคนไปปิกนิกเลย

นี่กรรมนิมิตมันมีนะ “ปู่จะไปแล้ว พ่อจะไปแล้ว แม่จะไปแล้วนะ บ๊าย บาย” เขาไปด้วยความสุขไง เขาไปด้วยความชื่นใจ เพราะกรรมนิมิตมันบอกเลยนะ กรรมนิมิตมันจะเห็นเลยว่าไปดี จิตนี้ไปดีมาก แต่ถ้ากรรมนิมิตในทางนั้นนะ โอ้โฮ.. เขาจะแบบว่ากระวนกระวายมาก กระวนกระวายมากทุกอย่าง กรรมนิมิตมันมี กรรมนิมิตนี้มันเป็นเรื่องของเวรของกรรม

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ว่าจิต เวลาเราลบหลู่ครูบาอาจารย์ต่างๆ ครูบาอาจารย์กับเราต้องมีกรรมกันมา ไม่ใช่ครูบาอาจารย์นะ แม้แต่พระนี่ พระมาหาเราหลายองค์มากเลย พูดถึงพระพุทธเจ้าเลยนะ เวลาจิตนี้มันเห็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเลย แล้วก็ติ แล้วก็เตียน แล้วก็ว่า มันก็ต้องมีเวรมีกรรมกันมา

ทีนี้คำว่ามีเวรมีกรรม ในปัจจุบันนี้เราเป็นคนที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดีเห็นงาม เพราะเราอยากปฏิบัติ เราอยากจะพ้นทุกข์ แล้วเวลาเราภาวนาไป พอจิตมันลงไป ไปเห็นภาพมา แล้วก็ไปติไปเตียน มันก็ขัดแย้งกับความรู้สึกเรา มันขัดแย้งเพราะเราต้องการความดี แต่ทำไมจิตเราเป็นอย่างนั้นล่ะ.. นี่ไง ถึงบอกว่ามันเป็นกรรมนิมิต หรือสิ่งที่มันเกิดขึ้นจากเวรจากกรรม เราไม่มีกำลังพอที่จะไปแก้ไขอะไรได้เลย

ฉะนั้น วิธีการของเรา ให้ขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะประสาเรา กิเลสมันอยู่ลึกใช่ไหม กิเลสมันอยู่ลึก แต่ไอ้สิ่งที่มันสร้างเวรสร้างกรรมกันมา มันอยู่ลึกกว่านั้นอีก มันอยู่ลึกกว่านั้นอีก แล้วเวลามันเกิดมา เราจะเอาความผิวเผินของเรา เอาความรู้สึกผิวเผินนี้บอกว่า “ไม่คิด ให้คิดดีๆ ไม่ให้เกิด” มันไม่มีหรอก มันเป็นไปไม่ได้ พอมันเป็นไปไม่ได้ เราถึงบอกว่าให้ขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เลย

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่เราปรารถนาดีต่างๆ แล้วเรื่องนิมิต เรื่องกรรมนิมิต เรื่องต่างๆ เรื่องสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ มันเป็นการมีเวรมีกรรมมาต่อกัน ฉะนั้นถ้าเรามีสติมีปัญญา เห็นไหม ถ้าเรามีสติยับยั้งได้

“เวร ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

เราจะไม่จองกรรมจองเวรใคร แล้วสิ่งใดที่มันเป็นมา เราขออโหสิกรรมตลอด ขออโหสิกรรมตลอด เรื่องที่เราจะไปแก้ไข อย่างที่เขาบอกว่าเขาเข้าใจผิด เขาบอกว่า ถ้าเขาใช้ปัญญาแล้วมันจะหาย เขาใช้ปัญญาเข้าไปแก้ไข เขาบอกว่ายิ่งใช้ปัญญายิ่งชัด ยิ่งใช้ปัญญานะ กรรมนิมิตนั้นยิ่งชัดเข้าไปใหญ่เลย ยิ่งทำให้ตัวเองเดือดร้อน

บังเอิญมันได้ฟังปัญหาที่ ๓๙๖. เราตอบปัญหาไว้ข้อ ๓๙๖. เขาก็เลยลองทำตามนั้น แล้วส่งข้อความมาว่า “สุดยอด หายหมด ดีหมด ทุกข์มา ๓-๔ ปี โล่งเลย” นี่โดยหลักใช่ไหม เวลาเราพูดเราพูดโดยหลัก หลักเป็นอย่างนี้ โดยหลักเราต้องทำตามความเป็นจริงโดยหลัก ฉะนั้น โดยกรรม! โดยกรรมแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน

โดยหลัก เห็นไหม ดูสิเวลากฎหมาย เขาบอกตัดสินทางกฎหมายอย่างนี้ แต่คนทำผิด เวลาคนทำผิดตามกฎหมาย มันมีสภาวะแวดล้อมการกระทำแตกต่างกัน แต่เวลาผิดกฎหมายก็ผิดกฎหมายเหมือนกัน แต่การกระทำของเขามันแตกต่างกันมา แล้วแต่สภาวะแวดล้อม แล้วแต่คดี แล้วแต่สิ่งที่เขาทำมา

กรรมก็เหมือนกันไง โดยหลักทำอย่างนี้ แต่โดยกรรม โดยกรรมนี่ถ้าคนทำอย่างนี้แล้ว บางคนเริ่มดีขึ้น เริ่มเบาลง อย่างเช่นการตกภวังค์ การนั่งแล้วตกภวังค์ เราก็อยากจะแก้แล้วให้หายเลย นี่มันจะค่อยๆ ดีขึ้น

ยิ่งถ้าใครแผ่นเสียงตกร่องนะ เวลาคนนั่งภาวนาไป พออะไรมันฝังใจ อย่างเช่นแค่กลืนน้ำลาย ปกติไม่ค่อยกลืนน้ำลายนะ พอนั่งสมาธิไปนี่กลืนน้ำลายแล้วจิตมันรับรู้ชัดๆ อึก! ติดเลยนะ ต่อไปเดี๋ยวก็ อึก! อึก! อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วกว่าจะแก้ได้ กว่าจะแก้ได้นะ ก็ต้องค่อยๆ ตั้งสติ ต้องค่อยๆ ตั้งสติ แล้วพอมันจะอึกก็ตั้งสติไว้ มันจะค่อยๆ เจือจางไป เจือจางไป คือมันจะเบาไปๆ

เวลาติดนี่มันง่าย เวลาแก้นี่มันยาก เวลามันจะตกร่องนี่มันซ้ำนะ มันวนไป ๒ ทีเท่านั้นแหละ แผ่นเสียงเป็นร่องแล้ว แล้วจะแก้ให้หายจากแผ่นเสียงตกร่องนี่ยากมาก จิตมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเวลาจะเป็นอย่างใดก็แล้วแต่ เราต้องค่อยๆ แก้ ค่อยๆ แก้ของเราไป ถ้ามันตกร่องนะ ค่อยๆ ค่อยๆ ค่อยๆ แล้วมันจะหายไป พอหายไปก็ เฮ้อ! เดี๋ยวมีปัญหาใหม่ เดี๋ยวมีปัญหาใหม่ ปัญหาใหม่จะตามมา.. นี้คือการแก้จิต!

ฉะนั้น สิ่งที่ทำ เราค่อยๆ ทำของเราไป เพราะว่าหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า

“การภาวนามียากอยู่ ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนหนึ่งคือขั้นตอนเริ่มต้น”

ขั้นตอนเริ่มต้นนี่หญ้าปากคอก จับพลัดจับผลู จับพลัดจับผลูไปหมดเลย ไม่รู้จะเอาตรงไหน จับไม่ติด จับพลัดจับผลู จับพลัดจับผลู แต่พอมันจับติดนะ หมายถึงว่าเราหาช่องทางของเราได้ แล้วถ้าเราก้าวเข้าสู่ช่องทางนี้ได้ ไปได้แล้ว

เพราะอะไร เพราะถ้าพอพิจารณาไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม ละสักกายทิฏฐิ ทีนี้ละสักกายทิฏฐิ มันก็เหมือนกับสายบังคับบัญชา เหมือนเชือกว่าว พอเชือกมันมี จับเชือกนี่มันจะไปสู่ปลายเชือก มันสาวไป จากขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด แต่พอทำลายขันธ์หมดแล้ว หลวงตาท่านบอกว่า

“การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนหนึ่งคือขั้นตอนเริ่มต้น หญ้าปากคอกนี่ กว่าจะหาช่องทางเข้าได้ กับอีกขั้นตอนหนึ่งคือขั้นตอนสุดท้าย” ขั้นตอนสุดท้ายเพราะพอมันทำลายทุกอย่างหมดแล้ว ทำลายทุกอย่างหมดเลย.. ทำลายทุกอย่างหมดเลย แล้วเหลืออะไรล่ะ เหลืออะไร เหลือที่ไหน มันหาไม่เจอไง

พอมันทำลายหมดแล้วทุกคนก็บอกว่าว่างๆ ว่างๆ ..ว่างๆ ใครรู้ว่าว่าง ว่างๆ แล้วมันอยู่ที่ไหน นี่ขั้นตอนอย่างนั้น เหมือนกับขั้นตอนแรกนี่เลย คือต้องไปหากันอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าระหว่างที่มันต่อเนื่องกันไป มันต่อเนื่องกันไป มันมีการส่งต่อกันไป มันจับต่อกันไปได้

ฉะนั้น หลวงตาท่านพูดอยู่ พอท่านพูดแล้วเราก็ อืม.. ใช่! ท่านบอกว่า “ในการปฏิบัติมันมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับอีกคราวหนึ่งคือคราวกำลังจะเสร็จสิ้น” ๒ คราวนี้ยากมาก แต่ระหว่างที่มันมานี่มันเป็นไปได้

ฉะนั้น พวกเรามันอยู่ระหว่างที่ว่าเริ่มต้นไง พวกเราอยู่ตรงยากเริ่มต้น การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับอีกคราวหนึ่งคือคราวจะจบ แล้วตอนนี้เราอยู่ในคราวอะไร เราอยู่ในคราวเริ่มต้น ฉะนั้นมันจะยาก มันยากเพราะเหมือนกับเด็กๆ เด็กๆ มันทำอะไรไม่ได้มันก็ทำประสามัน เล่นเพลินไปวันๆ หนึ่ง แต่จะให้ทำการทำงาน ก็เด็กมันไม่เคยทำงานอะไรเลย แล้วจะมาทำมันก็ต้องดิ้นรนของมัน มันก็ต้องพยายามของมัน

ฉะนั้น เราเหมือนเด็กๆ คราวที่ยากคราวหนึ่ง เราก็ตั้งสติไว้ เราต้องให้กำลังใจเราว่า ในร้อยคนพันคน จะมีคนกล้าอยู่ ๑ คน ในพันคนหมื่นคน จะมีคนจริงอยู่ ๑ คน ในหมื่นคนแสนคน จะมีผู้รู้จริงแค่กี่คน ในล้านๆๆ คน จะมีผู้ปฏิบัติได้ซัก ๑ คน แล้วเรานี่เราเป็นคนๆ หนึ่ง เราเป็นคนๆ หนึ่งที่มีความเห็น ที่อยากประพฤติปฏิบัติ

ในร้อยคนพันคน ในพันคนหมื่นคน ในหมื่นคนแสนคน แล้วเราเป็นใครล่ะ? เราก็เป็นคนๆ หนึ่ง เป็นคนๆ หนึ่งในจำนวนที่ว่าเห็นดีเห็นงาม เป็นคนๆ หนึ่งที่เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราเป็นคนๆ หนึ่ง ถ้าเราให้กำลังใจเราแบบนี้ เราเป็นคนๆ หนึ่งในคนที่จำนวนหายาก เราไม่ใช่คนๆ หนึ่งที่อยู่ในจำนวนที่เขาไม่เอา

อ้าว.. จำนวนที่เขาไม่เอามันก็เรื่องของเขา แต่เราเป็นคนๆ หนึ่งในจำนวนที่เห็นตามความเป็นจริง เห็นรัตนตรัย เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถ้าเราเป็นคนๆ หนึ่ง แสดงว่าเราก็มีศักยภาพแล้ว ถ้ามีศักยภาพแล้วเราก็ตั้งใจทำของเรา เรามีความขยันหมั่นเพียรของเรา

สิ่งใดที่มันเกิดขึ้นนั้น นั่นล่ะคือประสบการณ์ทั้งหมด คือสิ่งที่มันเป็นไปทั้งหมด ถ้ามันไม่มีสิ่งที่เป็นไป มันจะเป็นปัจจัตตังได้อย่างไรล่ะ มันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะเป็นสันทิฏฐิโกได้อย่างไร เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว พระพุทธเจ้าอยู่ข้างหน้าก็ไม่ถาม เพราะมันเป็นปัจจัตตัง ถ้าไปถามพระพุทธเจ้า เราก็ต้องสงสัยแล้วล่ะเราถึงถามพระพุทธเจ้า ถ้าของเราเป็นปัจจัตตัง เราชัดเจนของเราแล้ว ต่อหน้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ถาม ถ้าต่อหน้าพระพุทธเจ้าไม่ถามนี่ มันเป็นประโยชน์ขนาดไหน

ฉะนั้น บอกว่ามันยากอยู่ ๒ คราว คราวเริ่มต้นเป็นคราวยาก พอคราวยากขึ้นมา.. นี่เราพูดแบบนี้นี่นะ เราพูดให้เห็นว่า ถ้ามันเป็นงานที่สุดประเสริฐ ฉะนั้นเวลาเราทำเข้าไปมันก็อุปสรรคเป็นธรรมดา ฉะนั้นมีอุปสรรคเป็นธรรมดา พอมันเป็นอุปสรรคปั๊บเราก็บอกว่า เอ๊ะ.. ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันเป็นอย่างนั้น

เพราะหลวงตาท่านพูดไง คราวที่ยากคือคราวเริ่มต้น เพราะเราเข้าช่องทางไม่ได้ ทีนี้พอจะเข้าช่องทาง มันก็มีเวลาใจเราจะสงบ ขั้นของปีตินะมันกว้าง ขนาดปีติธรรมดา ปีติว่างๆ ก็มี ปีตินี่รู้วาระจิตยังได้เลย มันอยู่ที่จิตของคน จิตของคนถ้ามันเข้มข้นนะ ปีติของเขานี่โอ้โฮ.. เหาะเหินเดินฟ้าได้เลย แต่ถ้าปีติของเรานะแค่สบายๆ สบายๆ นี้ก็เป็นปีติอันหนึ่ง พอมันสบายๆ แล้วก็พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ มันจะเป็นอะไรก็พุทโธไปเรื่อยๆ มันจะผ่านอันนี้ไป พอผ่านอันนี้ไปนะ โอ้โฮ.. เมื่อก่อนขนลุกขนพองเลย เดี๋ยวนี้ทำไมไม่มี

มี! แต่มันเคยชิน มันเคยสัมผัสแล้ว มันจะเอาสิ่งที่ดีกว่านั้น บางคนพอมันขนพองขนลุกนะ เวลาภาวนานี่ต้องขนพอง ถ้าไม่ขนพองภาวนาไม่ดี อ้าว.. แล้วจะเอาขนพองๆ มันก็ซ้ำที่เก่า แต่ถ้าบอกคราวนี้บอกขนพองสยองเกล้า ครั้งต่อไปนะมันเข้าไปสู่สุข มันเข้าไปสู่เอกัคคตารมณ์แล้ว แล้วพอมันคลายตัวออกมาเราก็ใช้ปัญญา เราต้องหัดใช้ปัญญาพิจารณาไปบ่อยๆ

งานอย่างนี้ ไม่มีอาจารย์เป็นคนบอก ไม่มีอาจารย์เป็นคนการันตี ไม่มีอาจารย์เป็นคนรับรอง มันเป็นงานที่เรารู้จริงเห็นจริง นี่ปัจจัตตัง กิเลสเขาฆ่ากันอย่างนี้ เขาฆ่าจากศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แล้วแก้ไขในใจของเรา ฆ่ากิเลสของเรา ครูบาอาจารย์ก็บอกทาง พระพุทธเจ้าก็บอกแค่ชี้ทาง พระพุทธเจ้าบอกว่าเราทำให้ใครไม่ได้เลย

ฉะนั้นเรานั่งกันอยู่นี่เราถึงสุดยอด สุดยอดเพราะเราจะเอาใจเรา เอาความเห็นของเรา มาแก้ไขเรา เราถึงจะเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา มันก็จะเป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม อันนี้พูดถึงว่า เขาทำแล้วเขาได้ผลเนาะ

ข้อ ๔๒๗. ยกเลิกเนาะ เรายกเลิก แล้วอันนั้นก็ไปเข้ากับอันนั้นต่อไปเนาะ ไปเข้ากับอันต่อไปเนาะ เอวัง