เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมเนาะ ฟังธรรม สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำมันไง ฟังธรรม ธรรมะเป็นเครื่องชโลมหัวใจนะ ถ้าหัวใจของเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม ดูสิทางโลกเขาเวลาตื่นวัวตื่นควาย วัว ควายมันตื่นนะ โอ้โฮ.. มันเอาไม่อยู่ไง เวลาคนตื่น เวลาคนตกใจ มันจะรุนแรงมาก แต่เวลาถ้าเราตื่นตัว เราไม่ใช่ตื่นแบบวัวแบบควาย การตื่นตัวต้องมีสตินะ

คำว่ามีสติ มันถึงมีการตื่นตัว ถ้ามีการตื่นตัว เห็นไหม เราจะมองเห็นภาพ มองเห็นความถูกต้อง ความผิดพลาด ความดีงาม เราจะมองออกไง แต่ถ้าเราไม่ตื่นตัวนะเราอยู่ในอารมณ์นั้น เวลาอารมณ์นั้น คนตื่นนี่ตื่นเพราะอะไร ตื่นเพราะความเข้าใจผิด ตื่นเพราะความเห็นผิด ตื่นเพราะความหลงผิด

นี่ความหลงผิดไง สรรพสิ่งนี้เป็นเรา อารมณ์ ความรู้สึก ความกระทบนั้นเป็นเราทั้งหมด พอเป็นเรานี่เรามันไม่มี เพราะเรามันอยู่ในอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์นั้นจะฉุดกระชากลากไปหมดเลย เราจะตื่นไปกับเขา แต่ถ้าเราตื่นตัว เรามีสติของเราขึ้นมา พอเรามีสติขึ้นมานี่ โลกที่เขามีปัญหากันอยู่นี้เพราะอะไร เพราะเขาไม่มีหลักเกณฑ์ของเขา คนเราเวลาโดนฉุดกระชากลากไปด้วยเหตุด้วยผล แต่เหตุผลของใครล่ะ?

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมอยู่ที่ใจ”

ถ้าหัวใจมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว ในโลกนี้สิ่งใดจะมีคุณค่าเท่ากับหัวใจของสัตว์โลก หัวใจของมนุษย์นี้มีคุณค่ามากนะ เพราะหัวใจของมนุษย์เป็นผู้รับรู้สุขและทุกข์ สิ่งต่างๆ แร่ธาตุ ดูสิเวลาสัตว์มันตายนะ เนื้อหนังมังสามัน เขานำเอามาเป็นอาหาร เวลามนุษย์ตาย ร่างกายเอาไว้ทำไม ร่างกายใช้อะไรไม่ได้เลย มีแต่คนรังเกียจ มีแต่คนกลัวผี

แต่เวลาคนมีชีวิตอยู่ ความรับรู้สึกอันนี้มันสำคัญมาก ถ้าเราตื่นตัวขึ้นมา เห็นไหม ใครจะพูดอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่เหตุผล ถ้าเหตุผลของเรานะ

“เหตุผลรวมลงเป็นธรรม”

เหตุและผล ถ้าเหตุกับผลมันเข้ากันไม่ได้ เหตุกับผลมันเข้ากันไม่ได้เลย เหตุไปอย่างหนึ่ง ผลไปอย่างหนึ่ง แล้วบอกว่านั่นเป็นธรรมๆ ใครจะเชื่อล่ะ? ถ้าอย่างนั้นเหตุผลของใครล่ะ?

ดูสิเวลาเขาใส่นอตกัน เกลียวมันต้องเข้ากันได้ เวลามันปีนเกลียวขึ้นมานี่นอตเสียหมด อารมณ์กับความรู้สึกของเรา ความจริงของเรามันปีนกันตลอดเวลา มันลงกันไม่ได้หรอก มันลงกันไม่ได้ เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยาก มันลงกันไม่ได้หรอก ความลงกันไม่ได้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกให้ทำความสงบของใจก่อน พอใจมันสงบเข้ามา ทุกอย่างกลับไปสู่ที่ตั้ง

นอตเราจะขันมันเราต้องมีตัวผู้ ตัวเมีย มันต้องจับสิ่งใดแล้วขันเข้าไป นี่สิ่งที่จิตมันสงบเข้ามา แล้วมันรู้ มันกลับไปสู่ที่ตั้งของมัน ถ้ากลับไปสู่ที่ตั้งของมัน สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา มันจะเห็นความถูกความผิดว่ามันเข้ากันได้ และเข้ากันไม่ได้ มันเข้ากันไม่ได้หรอก นอตคนละเกลียวเข้ากันไม่ได้หรอก ยิ่งนอตเกลียวซ้ายเกลียวขวาเข้ากันไม่ได้เลย

โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา วิมุตติสุข มันแตกต่างกัน เราอยู่กันนี่โลกียปัญญา.. โลกียปัญญา ปัญญาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ปัญญาที่เป็นโลกไง มันต้องมีเหตุมีผลๆ มีเหตุมีผลนี่ โดยเหตุโดยผล สรุปแล้วมันเหลืออะไร?

เขาว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ” นี่ดูสิ เวลาเกิดพายุมันเป็นธรรมชาติไหม พายุก็เกิดจากธรรมชาติอันหนึ่ง ฝนตก แดดออก มนุษย์เกิดก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เวลาความรู้สึกเกิดดับก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง นี่ไงถ้ามันเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็สมบูรณ์แล้ว

ถ้ามันเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติแล้ว เราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินะ มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม รู้ทฤษฎี รู้กฎของธรรมชาติทั้งหมด เรารู้แล้วเราวางได้ไหม?

นี่เรารู้แล้ววางไม่ได้ เพราะเรารู้ๆ แต่ถ้ามันเป็นโลกียปัญญานะ นี่มันยึดมั่นถือมั่นของมัน แต่ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญาล่ะ โลกุตตรปัญญาเพราะอะไร? โลกุตตรปัญญา เพราะว่าจิตนี้เป็นสากล ทุกลัทธิ ทุกศาสนา สอนทำความสงบของใจ แต่ทำความสงบของใจแล้วก็สงบเฉยๆ นั่นล่ะ แต่พุทธศาสนาสอนให้ทำความสงบของใจ กลับสู่ที่ตั้งแล้วรื้อค้นที่ตั้งนั้น

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าไม่มีเหตุมันมีผลมาไม่ได้ ถ้าไม่มีการกระทำ เห็นไหม นี่เราศึกษากันแล้ว เราว่าเราเข้าใจหมดเลย นี้เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ที่เราศึกษาว่าธรรมชาติๆ นี่วิทยาศาสตร์เป็นธรรมชาติ แต่วิทยาศาสตร์นะ เขาเอามาเป็นวิชาชีพของเขา เขาเอามารองรับความรู้สึกนึกคิด เวลาเอามารองรับทางวิชาชีพของตัว มันต้องเป็นวิทยาศาสตร์ไง วิศวะต่างๆ เขาต้องมีโครงสร้างของเขา มันต้องมีแรงโน้มถ่วงต่างๆ มันต้องพร้อมของมันหมด เพื่อเป็นทางวิชาชีพของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามาศึกษาเป็นวิชาชีพใช่ไหม พระอาชีพไง นี่ศึกษามาแล้วก็ได้ความรู้มาไง แต่มันเข้าใจตามความเป็นจริงไหมล่ะ? แต่ถ้าเข้าใจตามความเป็นจริงนะ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา อย่างนี้เขาเรียกว่าตื่นตัว เวลาถ้ามีสตินะ สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่โหมกระหน่ำหัวใจนี่ มันหยุดหมดนะ เวลาพายุมามันพัดบ้านเรือนพังหมด ทำให้คนถึงเสียชีวิตได้

เวลาคนเข้าใจสิ่งใดผิด เวลาความเห็นผิด มันทำให้ชีวิตเราทั้งชีวิตหลงผิดไปเลย แล้วเรามีสติปัญญายับยั้งมันได้อย่างไร? แต่ถ้าเรามีสติเรายับยั้งสิ่งนี้ได้ สิ่งที่เป็นความคิดต่างๆ นี่มันจริงหรือเปล่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า? ถ้ามันเป็นจริงทำไมเราสงสัย ถ้ามันเป็นจริงนะ มันต้องรื้อถอนความลังเลสงสัยในหัวใจของเรา

เราเกิดมานี่ เราเกิดมาจากไหน ทุกคนว่าเราเกิดมาจากไหน นี่ภพชาติมีหรือเปล่า มรรค ผลมีหรือเปล่า ทุกคนสงสัยทั้งนั้นแหละ แต่เพราะความสงสัย เห็นไหม ความสงสัยมันเป็นนิวรณธรรม สิ่งที่เป็นนิวรณธรรมทำให้เราคลอนแคลน นี่ไงเราไม่ตื่นตัวแล้ว ถ้าเราตื่นตัวของเราขึ้นมา เราไม่ใช่ตื่นแบบสัตว์ ตื่นแบบโลกเขาตื่นกัน

เราตื่นตัวขึ้นมาด้วยสติด้วยปัญญาของเรา นี่สว่างโพลงในกลางหัวใจ แล้วถ้ามันสว่างโพลงในกลางหัวใจ เราค่อยแยกแยะของเรา นี่มันมาจากไหน? ถ้ามันเป็นความว่างมันคู่กับความไม่ว่าง มืดก็คู่กับสว่าง ความสว่างโพลงนี้มันก็คู่กับความอับเฉาแน่นอน มันสว่างเพราะเรามีสติปัญญา เราก็รักษาใจของเราได้ แล้วมันจะอยู่กับเรากี่วินาที

มันจะอยู่กับเรากี่นาที เราจะทำอย่างไรให้มันอยู่กับเรา เราจะต้องมีสติปัญญา ทรัพย์สมบัติทางโลก มันเป็นทรัพย์ของทางโลก เป็นทรัพย์สาธารณะ ทรัพย์สมบัติของเรา เห็นไหม เวลาทำความสงบของใจได้แค่วินาทีหนึ่ง สองวินาที มันแว็บเดียว แว็บเดียว

มีคนถามบ่อยมาก “แล้วจะทำอย่างไรต่อไป?” ทำอย่างไรต่อไป นี่ก็ตื่นตัวไง ความตื่นตัวของเรา เวลาสอยเข็ม เห็นไหม คนเฒ่า คนชรานี่ตาฝ้า ตามัว สอยเข็มผิดพลาดตลอดเวลา คนที่สายตาดี คนที่มีความนิ่ง จะสอยเข็มได้ดีมาก

จิตใจของเรา ถ้าเรามีสติปัญญา เรากำหนดพุทโธตั้งสติไว้ ไอ้ที่ว่าวินาที สองวินาที นี่มันจะยืนยาวมากขึ้น ยืนยาวมากขึ้น ให้จิตใจของเรามีหลัก ทำความสงบของใจบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าจนจิตเป็นสมาธิ

จิตเป็นสมาธิคือจิตมีหลักมีเกณฑ์ คนเรามีหลักมีเกณฑ์ สิ่งใดที่มันผ่านมา เราก็เลือก เราก็แยกแยะว่าสิ่งใดควรและไม่ควร สิ่งใดถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันพยายามทรงตัวของมัน สิ่งใดมามันคว้าหมด จิตใจที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ อารมณ์ ความรู้สึกมานี่เป็นเราๆ มันคิดตามไปหมด แต่จิตใจที่มีหลักมีเกณฑ์ อารมณ์ที่มันผ่านมา อืม.. อันนี้อะไร? ดีหรือชั่ว? จริงหรือไม่จริง? อารมณ์ผ่านมามันไม่เสวย มันผ่านไปๆ เห็นไหม

สิ่งนั้นเป็นธรรมชาติๆ มันมีของมันอยู่ แต่เราไม่ไปร่วมกับมัน เราไม่เป็นส่วนหนึ่งของมัน เราก็ไม่ตื่นไปกับมัน เรามีสติ เราตื่นตัวของเรา เราแยกแยะของเรา ถ้าแยกแยะแล้วมันเห็นผลนะ มันเห็นผลว่าเมื่อก่อนทำไมเราไปกับอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมด เดี๋ยวนี้ทำไมเรามีหลักมีเกณฑ์ แล้วเดี๋ยวนี้ทำไมหัวใจเรามีหลักขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น นี่การกระทำอย่างนี้เขาเรียกว่า “ปัจจัตตัง”

ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันรู้เองโดยชอบ มันรู้เองโดยหัวใจของเรา ถ้าหัวใจเรารู้ขึ้นมาอย่างนี้ ใครมันจะมาหลอกเรา ถ้าเขาปฏิบัติมา แล้วถ้าเหมือนเรา อย่างนี้แสดงว่าเราปฏิบัติมาในทางเดียวกัน แต่ถ้าไปไหนมาสามวาสองศอก นั่นมันเรื่องของเขา แต่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกของเรา มันยืนยันกลางหัวใจของเรา แล้วเราทำให้มันละเอียดมากขึ้น ทำความสงบให้มากขึ้น ใช้ปัญญาให้มากขึ้น มันจะแยกแยะออกไปบ่อยครั้งเข้า ละเอียดบ่อยครั้งเข้า

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไปแล้ว นี่เราบอกว่าปัญญาทางโลกนะ ปัญญาที่เขาคิดกัน มันละเอียดลึกซึ้งๆ แต่เวลาถ้าเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมา ขณะคนที่เกิดเอง ขณะที่ทำอยู่ เราทำงานอยู่นี่เราทำได้ แต่เรายังไม่เข้าใจได้ครบวงจรของมัน เราก็งงนะ แต่เราต้องทำของเราบ่อยครั้งเข้าๆ จนถึงที่สุดมันสรุป ถ้าสรุปว่างานเสร็จ พองานเสร็จนี่เขาเรียก “สมุจเฉทปหาน”มันขณะจิตที่มันพลิกแล้ว เห็นไหม

เราเป็นปุถุชนนี่แหละ เราเป็นคนหนานี่แหละ ทำไมเป็นโสดาบันได้ ทำไมเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ได้ มันเป็นที่ไหนล่ะ? มันเป็นที่เนื้อหนังมังสาหรือ?

ดูสิครูบาอาจารย์ของเราก็เป็นมนุษย์นี่แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มนุษย์นี่แหละ มันเป็นที่ไหนล่ะ? มันเป็นที่หัวใจอันนั้น ถ้าหัวใจมันเป็นแล้วขึ้นมา แล้วนี่มันเป็นกับใครล่ะ? เวลามันเป็นนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีเป็นพยานใช่ไหม ครูบาอาจารย์เป็นพยานใช่ไหม คนที่เป็นกับคนที่เป็นหลอกกันได้ไหม คนที่มีพยานหลักฐานในใจกับคนที่ไม่มี ไปคุยกันนี่รู้เรื่องไหม?

นี่ก็เหมือนกัน มันมีจริงไง! จะบอกว่ามันมีจริง เราจะมาเต้าเอา เราจะมาสร้างภาพเอา.. เพราะมันมีตัวอย่าง ถ้าเรามีวัตถุสิ่งใดอยู่ คนจะทำเลียนแบบมันก็มีวัตถุนั้นเป็นตัวอย่าง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ กว่าปี นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้พวกเราศึกษาเป็นทฤษฎี แล้วให้พวกเราปฏิบัติขึ้นมาให้ได้ข้อเท็จจริง แต่เราศึกษาเป็นทฤษฎีขึ้นมาแล้ว เราก็โลภว่าเป็นของเรา ว่าเรารู้ของเราด้วยการสร้างภาพ

แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมานะ สาธุ! เป็นทรัพย์สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็สาธุ นี่เป็นศาสดาของเรา เป็นผู้ชี้นำทางของเรา แต่เราก็อยากได้สมบัติของเราเองนะ ใครๆ ก็อยากได้สมบัติของตัวเอง ใครๆ ก็อยากได้มรรค ผลของตัวเอง ใครๆ ไม่อยากได้มรรค ผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก

มรรค ผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นสมบัติของท่าน ท่านรื้อค้นของท่าน ท่านสร้างบารมีของท่าน ท่านเป็นศาสดาของเรา ถ้าท่านไม่รื้อค้น เราจะเดินตามกันมาได้อย่างไร แต่เราก็ไม่ไปตู่เอาว่าเป็นของเรา เห็นไหม เหมือนทางโลกที่เวลาวัตถุนี่ ถ้ามีของจริงขึ้นมา ของปลอม ของมันเลียนแบบ มันก็ทำตามๆ กันมา

เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเราเห็นคุณค่าของเรา เห็นหัวใจของเรา เห็นคุณงามความดีของเรา เราอยากได้ของจริงของเรา เราต้องพิสูจน์ ต้องตรวจสอบ ต้องหมั่นค้นคว้า หมั่นแยกแยะในใจของเราให้มันเป็นจริงขึ้นมา อย่าให้มันเป็นความจอมปลอมหลอกเรา เราต้องตื่นตัว อย่าตื่นตามโลกเขา โลกเขาตื่นวัว ตื่นควาย ตื่นคน เขาตื่นไปประสาเขา เราจะต้องตื่นตัวของเราขึ้นมา

หัวใจของเรา ความรู้สึกของเรา ความลับไม่มีในโลกไง เรารู้ของเรา ความลับไม่มีหรอก ความลับนี่เราเป็นคนทำเราก็รู้ แล้วพอทำไปแล้วมันซับลงที่หัวใจ บาปบุญอันนี้มันไป.. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ล้านเปอร์เซ็นต์! ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันเรื่องของเขา แต่ความลับในหัวใจเรามันไม่มี ทำนี่เราเป็นคนทำเอง เราจะทำที่ลับที่แจ้งเรารู้ เรารู้ ความลับไม่มีหรอก ไม่มีเพราะอะไร เพราะใจมันรู้ไง เพราะเรานี่แหละรู้ แล้วถ้ามันชะมันล้างขึ้นมานี่มันรู้จริงไง แต่ถ้าไม่จริงขึ้นมา มันก็พูดตามสูตร พูดตามธรรม

นั่นล่ะเราไปตื่นตามเขา เพราะมันพูดแล้วมันเข้าใจได้ สิ่งใดถ้าเป็นสมมุติ สิ่งใดถ้าเป็นวิชาการ มันพูดแล้วมันเข้าใจได้ มันเป็นตรรกะ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ ยิ่งพูดคนฟังยิ่งงงนะ อ้าปากหวอเลยล่ะ เข้าใจไม่ได้หรอก แต่ถ้าปฏิบัติเข้าไปเผชิญความจริงนะ อันเดียวกัน อันเดียวกัน.. รู้..รู้เด็ดขาด! แต่ถ้ายังไม่รู้นะ พูดอย่างไรก็อ้าปาก ไม่มีทางรู้ได้

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านถึงตรวจสอบกันได้ไง การตรวจสอบกันนี้เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ในศาสนา การตรวจสอบกันนี้ เห็นไหม ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง เป็นมงคลของชีวิตเราด้วย เพราะไม่ให้เราเสียหายไป เป็นมงคลของศาสนาด้วย เป็นมงคลของสังคมด้วย เป็นมงคลทุกๆ อย่าง ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ มันเป็นความดีงาม

แต่ถ้ามันเป็นความไม่จริง มันเริ่มปิดกั้นตั้งแต่หัวใจของเรา ไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอก พยายามจะมีลับลมคมใน มีความลับ ความสำคัญของเรา แล้วก็หมักหมมไว้ในใจ เพราะมันไม่เป็นมงคล ถ้าเป็นมงคลมันพูดที่ไหนก็ได้ พูดในที่เปิดเผยก็ได้ พูดในที่ลับก็ได้ เพราะธรรมะนี่ไปพูดในที่เปิดเผย หลวงตาท่านบอกว่า

“ธรรมของท่านเหมือนกับน้ำพริกถ้วยหนึ่ง จะไปละลายแม่น้ำ มหาสมุทร มันไม่คุ้มกันหรอก”

ความจริงในหัวใจ เราไปเปิดเผยข้างนอกที่เขาไม่พอใจ ที่เขาไม่สนใจ ไร้ประโยชน์ ฉะนั้น น้ำพริกถ้วยนี้ก็ให้อยู่ในใจของเรา น้ำพริกของเรา เราก็รักษาน้ำพริกของเรา เราอยู่กับน้ำพริกของเรา ด้วยความสุขของเรา ก็พอใจ เอวัง