ยกสู่ทาง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ๔๔๘. เรื่อง ปฏิบัติแบบนี้เป็นการเจริญปัญญาใช่หรือไม่
(คำถามจะยาวนิดหนึ่งนะ ถ้าไม่อ่านมันก็จะไม่สรุป)
หลวงพ่อบอกว่าให้นึกพุทโธชัดๆ จนจิตสงบลงไปแล้วให้รำพึงกาย หรือรำพึงเวทนา หรือจิต หรือธรรมขึ้นมา เป็นการเจริญปัญญาต่อไป ถ้าผมไม่เข้าใจตรงไหนให้ถามเข้ามาใหม่ ผมถึงกราบเรียนหลวงพ่อว่า...
เมื่อผมนึกพุทโธชัดๆ พร้อมกับตามรู้ลมหายใจ และตามรู้การเคลื่อนไหว โดยรู้ทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน ผมจะเห็นจิตที่นึกพุทโธชัดๆ แยกตัวออกจากอารมณ์ในใจ จิตที่นึกพุทโธชัดๆ ผมจะเห็นว่ามันมีความชัดเจนเด่นดวงเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ ส่วนอารมณ์ผมจะเห็นว่ามันเคลื่อนไหวได้เหมือนก้อนเมฆ ที่มักจะลอยมาปิดบังดวงจันทร์ หรือบังจิตที่นึกพุทโธ
หมายความว่าเวลาที่ผมนึกพุทโธชัดๆ จิตที่นึกพุทโธจะชัดเจนเด่นดวงเหมือนพระจันทร์ที่โผล่จากก้อนเมฆ แต่บางช่วงถ้าผมนึกพุทโธไม่ชัด จิตที่นึกพุทโธ พุทโธ ก็จะถูกก้อนเมฆหรืออารมณ์ในใจเคลื่อนมาปิดบัง แล้วถ้าผมนึกพุทโธชัดๆ ขึ้นมาอีก จิตที่นึกพุทโธชัดๆ ก็จะชัดเจนเด่นดวงขึ้นมาเหมือนเดิม เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญที่โผล่จากก้อนเมฆ วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดมาที่ผมนั่งสมาธิและเดินจงกรม
ผมอยากถามหลวงพ่อว่า
๑. การที่ผมเห็นพุทโธแยกตัวออกจากอารมณ์ในใจ เหมือนกับที่เห็นพระจันทร์วันเพ็ญแยกตัวออกจากก้อนเมฆ แบบนี้เรียกว่าเป็นการเจริญปัญญาได้หรือไม่ครับ
๒. ผมเห็นว่าการนึกพุทโธชัดๆ เป็นการดับเหตุและปัจจัยที่จะทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน เมื่อไม่มีเหตุความคิดฟุ้งซ่านก็ดับไปเอง แล้วจิตที่นึกพุทโธชัดๆ ก็ชัดเจน และเด่นดวงขึ้นมาได้เองอย่างมีความสุขและปลอดโปร่งโล่งใจ การที่ผมเห็นความจริงได้อย่างนี้ เรียกว่าเป็นการเจริญปัญญาได้หรือไม่ครับ
๓. ถ้าผมนึกพุทโธชัดๆ พร้อมกับตามรู้ลมหายใจ และตามรู้กายที่เคลื่อนไหว โดยรู้ทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน แบบนี้ผมจึงจะสามารถเห็นจิตที่นึกพุทโธ พุทโธแยกตัวออกจากอารมณ์ในใจครับ ถ้าผมนึกพุทโธชัดๆ อย่างเดียว และตามรู้ลมหายใจอย่างเดียว หรือรู้การเคลื่อนไหวอย่างเดียว แบบนี้ผมจะไม่สามารถเห็นจิตที่เป็นพุทโธแยกออกจากอารมณ์ได้ครับ
หลวงพ่อ : นี่เวลาตอบปัญหานะ ปัญหาภาวนานี่มันเป็นขึ้นมาแล้วล่ะ เวลามันพุทโธ พุทโธไปนะ มันเห็นของมัน มันรู้ของมัน แล้วพอความรู้ความเห็นของเรา เรายึดความรู้ความเห็นของเรา แล้วเราบอกว่า เราจะทำให้มันประสบความสำเร็จไง
เวลาพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ขึ้นมา พอพุทโธชัดๆ แล้ว ตามรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ แล้วเห็นจิตมันเด่นดวงเหมือนพระจันทร์ เห็นอารมณ์มันจรมา เราก็เห็นแค่นี้ เหมือนกับเห็นนิมิตนี่แหละ เราเห็นแล้วเราทำอย่างไรต่อไป เราเห็นแล้วเราก็เห็นแล้ว แต่การทำงานของจิตนี่นะ เวลาเราพุทโธชัดๆ นี้เพื่อความสงบของใจ เพื่อจิตตั้งมั่น เพื่อที่ว่ากลับมาสู่ฐานของจิต แล้วเวลาออกใช้ปัญญา นี่เราออกใช้ปัญญา
แต่เวลาเราพุทโธ พุทโธแล้วเห็นจิตนี้เหมือนพระจันทร์ เห็นความคิดเป็นเหมือนก้อนเมฆ นี่มันเห็นเป็นแบบนิมิต คือว่าเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่ถ้าเราพุทโธชัดๆ จนจิตเราตั้งมั่นนี่เราสั่งได้ไง เราสั่งได้ว่าพอจิตมันเสวยอารมณ์ จิตมันจับต้องสิ่งใด เราจับต้องสิ่งนั้นได้ นี่มันรู้ไง
จิตเห็นอาการของจิต คือจิตนี่มันเห็นอารมณ์ความรู้สึก เราจับอารมณ์ความรู้สึกนี้มาแยกว่า อารมณ์ความรู้สึกนี้ประกอบไปด้วยสิ่งใด มันถึงเป็นอารมณ์ขึ้นมา นี่มันแยกของมันได้ มันจับของมันได้ แต่นี้บอกเราเห็น เราเห็นแต่เราทำอะไรไม่ได้
เราจะบอกว่า เวลาทำความสงบของใจนี้เป็นงานอันหนึ่ง งานทำความสงบของใจหมายถึงว่า เราจะแกง เราก็ต้องหาเครื่องแกง หามะเขือ หาทุกอย่างเอามาไว้ นี่สมถะ คือเราหาวัตถุดิบจะมาแกง.. วิปัสสนา นี่เวลาเราตั้งเตาขึ้นมา เราตั้งน้ำขึ้นมา แล้วเราจะเอาเครื่องแกงใส่เตา แล้วพอทำอาหารขึ้นมา ถ้ามันสำเร็จขึ้นมา นั้นเป็นอาหาร
หลวงตาท่านบอกว่า เวลาทำความสงบของใจขึ้นมา นี่เรามีวัตถุดิบทุกอย่างเลย แล้วก็ปล่อยให้เน่าเสียไป คือเราแกงไม่เป็นไง เราแกงไม่เป็น เราแกงไม่ได้ นี่เราทำสมถะนะ ถ้าคนไม่มีเครื่องแกงเลย แล้วบอกเราจะแกงๆ ไอ้คนนี้ฝีมือชั้นหนึ่งเลย มันจะแกงๆ แต่ไม่มีเครื่องแกง ไม่มีอะไรเลย มันก็แกงไม่ได้ เห็นไหม เรามีเครื่องแกง แต่เราแกงไม่เป็น เครื่องแกงนั้นก็เน่าเสีย
นี่พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ นี้หาเครื่องแกง ทำให้จิตมันสงบ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้ว แล้วถ้ามีเครื่องแกงแล้วนี่แกงไม่เป็น สมาธิเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ สมาธิคือสมาธิ สมาธิเป็นปัญญาไปไม่ได้ ทีนี้พอเป็นสมาธิแล้ว เห็นพระจันทร์ดวงเด่น เห็นความคิดเป็นอารมณ์ นี่เราเปรียบเทียบได้ แต่เราไม่เห็นจริงไง
เห็นจริงนะจิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา พอจิตมันสงบแล้ว เห็นไหม เวลาจิตออกรู้ จิตออกเห็น ดูสิมือสองมือจับกัน มือหนึ่งจับวัตถุสิ่งหนึ่ง มือไม่ได้จับวัตถุสิ่งใดเลย มือกำอากาศอยู่ แต่บอกมือเรานี่จับของอยู่ มือเรากำอากาศอยู่ แต่มือเราสิ่งของสิ่งใด จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม นี่กาย เวทนา จิต ธรรม จิตมันออกรู้ จิตมันออกจับ ความรับรู้มันจะแตกต่างกันอย่างนั้น
ถาม : ข้อ ๑. การที่ผมเห็นจิตนึกพุทโธ แล้วแยกตัวออกจากอารมณ์ในใจเหมือนกัน เห็นเป็นพระจันทร์แยกตัวออกมาจากก้อนเมฆ แบบนี้เรียกว่าเป็นการเจริญปัญญาหรือไม่
หลวงพ่อ : ถ้าบอกว่าไม่ใช่เลยนี่มันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าตามหลักนี่ไม่ใช่ แต่! แต่การฝึกปัญญานี่เหมือนเด็กเลย เด็กนี่นะ ตั้งแต่พ่อแม่เลี้ยงเด็กมา พ่อแม่ฝึกหัดให้เด็กพูดได้ นี้เป็นการศึกษาหรือยัง แต่เวลาเราส่งลูกไปโรงเรียนอนุบาล พอเข้าประถมนี่ เออ.. ลูกเราได้เรียนหนังสือ แต่เวลาเด็กอยู่กับพ่อแม่นี่ได้เรียนหรือยัง
อ้าว.. พ่อแม่ก็สอนอ่าน สอนเขียนเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้เรียน เพราะอะไร เพราะว่าพ่อแม่เรียนแล้วไม่มีใบประกาศ ทางราชการไม่รับใช่ไหม ต้องส่งเข้าโรงเรียน ถ้าผ่านอนุบาล ผ่านประถมเข้ามา นั้นถึงได้เรียน
ฉะนั้น เวลาจิตเราสงบแล้ว เห็นไหม พ่อแม่สอนลูกคือเราเห็นเองไง เรารู้เราเห็นเอง อย่างนี้เป็นการใช้ปัญญาหรือยัง ถ้าบอกว่าไม่ใช่ มันก็ใช่เพราะเรารู้เราเห็น ถ้าบอกว่าใช่ บอกว่าใช่ มันยังไม่ได้เข้าอนุบาล ถ้าบอกว่าใช่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน ถ้าไม่เข้าโรงเรียน ไม่ผ่านภาคบังคับเราจะเรียนอะไรต่อ เราจะเอาใบประกาศอะไรไปเข้าประถม จะเอาไปเข้ามัธยมอย่างไร เราไปไม่ได้
นี่ไงถ้าบอกว่าไม่ใช่ปัญญาหรือ? มันก็ใช่ แต่ถ้าบอกว่านี่เป็นการเจริญปัญญา มันก็ไม่ใช่ ถ้ามันเจริญปัญญานี่ มันจะเห็นชัดเจนของมัน จิตมันจะรู้ของมัน จิตมันจะตามตัวของมัน.. นี่ตรงนี้มันเป็นปัญหาเลยล่ะ ปัญหาของผู้ที่ปฏิบัติ เริ่มต้นเขาเรียกว่า ภาวนาเป็นและภาวนาไม่เป็น ถ้าภาวนาเป็นนะ จิตมันสงบแล้ว จิตมันจะออกหางานเป็น จิตออกหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม คือคนทำงานเป็น
คนทำงานเป็น คนภาวนาเป็น นี่มีโอกาสก้าวเดินไปได้แล้ว แต่ถ้าคนภาวนายังไม่เป็น คือว่าจิตสงบแล้วเห็นนิมิต เห็นกาย เห็นอย่างนี้ วนอยู่อย่างนี้ นี่วนไปวนมาแล้วกลับมาที่เก่า ไปไหนไม่รอดหรอกวนอยู่อย่างนี้แหละ แต่ถ้าเรามั่นคงของเรา เราพยายามทำใจเราให้สงบให้ได้
ใจของเราสงบ นี่ถ้ามันออกใช้ปัญญาอย่างที่เขาเห็นก้อนเมฆ เห็นจิตใจเด่นดวงขึ้นมา เห็นแล้วเราก็พุทโธต่อไป แล้วพอจิตสงบแล้วนะ ถ้าคนเข้าใจว่าเรายังมีงานรออยู่ข้างหน้า มันจะขวนขวายทำงาน คนเราบอกว่าเราได้ทำงานเสร็จแล้ว มันจะไม่ขวนขวายทำงาน
จิตพอเวลามันเห็น นี่เป็นปัญญาหรือยัง? นี่เป็นวิปัสสนาหรือยัง? ถ้าเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนานะ มันก็แช่อยู่ตรงนี้ แต่ถ้ามันเข้าใจว่ามันต้องมีงานทำต่อไปนะ มันพยายามทำใจให้สงบมากขึ้น แล้วออกรู้ ออกเคลื่อนไหว พอออกเคลื่อนไหวนี่ จิตเห็นอาการของจิต คือจิตเห็นขันธ์ จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นธรรม นี่มันต้องจิตเห็นอาการของจิต ตัวจิตคือตัวทำงานไง มือจับสิ่งของ แต่มือจับอากาศอยู่ มันก็จับของมันอยู่อย่างนี้ จับอากาศอยู่
ฉะนั้นบอกว่า นี้คือระยะผ่าน
การภาวนาของผู้ที่ภาวนา เริ่มต้นเป็นอย่างนี้เกือบร้อยทั้งร้อย คือว่ามันภาวนาไปเพราะเขาเรียกเป็นหรือไม่เป็น นี่สำคัญมาก แต่ภาวนาอย่างนี้มันถูกไหม? ถูก.. ถูกเสร็จแล้วทำอย่างไรต่อไป? นี่ไปถามครูบาอาจารย์บอกว่าถูกไหม? ถูก.. พอถูกแล้วนะมันก็นอนตีแปลงเลย ถูกแล้ว! ถูกแล้ว! นอนอยู่นั่นล่ะแล้วก็รอวันเสื่อม ถูกแล้วแต่ไม่ก้าวหน้า.. มาถูกไหม? ถูก แต่ถูกแล้วยังต้องเข้มแข็ง ต้องหมั่นเพียร ต้องก้าวหน้าต่อเนื่องไป มันถึงจะเจริญก้าวหน้าไป
ฉะนั้นสิ่งที่ทำมานี้ถูก! ถูกแล้วแหละ แต่ถูกแล้วนี่ เพียงแต่ว่าต้องตั้งสติ แล้วพุทโธให้มันชัดเข้ามา ถ้ามันเห็นเป็นพระจันทร์ เห็นเป็นก้อนเมฆ เห็นอาการรับรู้ ถ้ามันรับรู้นี่มันออกไปรับรู้แล้ว จิตรู้ ถ้ามันพุทโธชัดๆ มันต้องสงบเข้ามา แล้วถ้ามันเห็นแล้วมันจับได้ไหมล่ะ? นี่จับสิ่งนั้น จับที่ว่าความรู้เป็นก้อนเมฆ
ความรู้ เห็นไหม อย่างเช่นนาย ก. ลักของไป เรารู้ว่านาย ก. ลักของไป แต่เราไม่เห็นตัวนาย ก. นี่ก็เหมือนกัน ความรู้เหมือนก้อนเมฆ แล้วเป็นความรู้จริงหรือเปล่าล่ะ ถ้าความรู้จริงนะ จับปั๊บนี่เขาเรียกว่าจับขันธ์ ถ้าจับความรู้ได้จริง จับได้ตัวจริงๆ นะ ตัวมันมีความรู้สึก ถ้าจับกันนี่เป็นก้อนเมฆไง มันก็ได้แต่ชื่อไม่ได้ตัวไง
นี่ความรู้เหมือนก้อนเมฆ.. เหมือน! ความรู้เหมือนก้อนเมฆ แต่ความรู้ล่ะ? ความรู้ล่ะ? ถ้ามันจับหมับ นี่จับให้มั่นคั้นให้ตายแล้วแยก..แยก.. นั้นจะเป็นวิปัสสนา นั้นถึงจะเป็นปัญญาจริง.. ปัญญานี่การเจริญปัญญา ปัญญาอย่างนั้น แต่นี้ก็เป็นการเจริญปัญญา ทำสมถะก็ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาการทำสมถะมันก็ละล้าละลัง สักแต่ว่าทำ ทำแล้วก็ไม่มีเหตุมีผล แต่คนทำสมถะด้วยมีปัญญา มันจะรู้เลยว่าสมถะ ถ้าเหตุอย่างนี้ผิดแล้วมันจะไม่ลงเป็นสมาธิ ถ้าเหตุอย่างนี้ถูกแล้วมันจะลงสมาธิ
อย่างทำสมถะ เราทำสมถะกัน ทำไมเราผ่อนอาหารล่ะ ทำไมเราอดนอนล่ะ นี่เราอดนอนผ่อนอาหาร เห็นไหม เป็นเหตุ เป็นเหตุ.. นี่ปัญญามันรู้เลยว่า ทำเหตุอย่างนี้ผลจะตอบอย่างนั้น ทำเหตุอย่างนี้ผลจะตอบอย่างนั้น ฉะนั้นมันเลยรักษาเหตุมา แล้วถ้าจิตมันลงได้ มันก็จะลงมา
ฉะนั้น ทำสมถะก็ต้องมีปัญญา! ปัญญามันต้องใช้ทุกที่ หลวงตาท่านพูดประจำนะ
สติต้องใช้เจริญทุกสถาน ปัญญาก็ต้องมีทุกที่ไป
แต่ปัญญาในการทำความสงบของใจ ปัญญาในการวิปัสสนา.. นี่ทำมาอย่างนี้ถูก แต่! แต่มันยังมีสิ่งที่เรายังต้องเดินก้าวหน้าไปอีกมาก ฉะนั้นเราค่อยๆ ทำไป คนจะทำงานนี่นะ ต้องมีทุน มีทุกอย่างพร้อม มันถึงจะทำงานได้
นี่ก็เหมือนกัน เรามีสติ มีสมาธิพร้อม มันจะเกิดปัญญาได้ เราต้องสร้างพื้นฐานมา โดยทั่วไปนี่ปัญญาๆ ปัญญาขี้โกงไง ปัญญาโกงเขามา ไม่รู้ปัญญาของใคร อ้าว.. ปัญญาๆ ปัญญามาจากไหน? แต่ถ้าปัญญาเกิดจากจิตของเรา มันจะชำระกิเลสในจิตของเรา ถ้าปัญญาเกิดที่นี่ มันจะย้อนกลับมาหาเรา
นี่ถึงบอกว่า ถ้าอย่างนี้เป็นการเจริญปัญญาใช่ไหม
ถ้าบอกว่าใช่ มันก็ไม่ใช่.. ถ้าบอกว่าไม่ใช่ มันก็ใช่ ตอบเหมือนไม่ได้ตอบ แต่ให้ขยันทำไป มาถูกต้องแล้ว
ถาม : ข้อ ๒. ผมเห็นว่า การนึกพุทโธชัดๆ เป็นการดับเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน เมื่อไม่มีเหตุความคิดฟุ้งซ่านก็ดับไปเอง แล้วจิตที่นึกพุทโธก็จะชัดเจนขึ้นมาและเด่นดวงขึ้นมาเองได้อย่างมีความสุขและปลอดโปร่ง ถ้าผมเห็นความจริงได้อย่างนี้ เรียกว่าการเจริญปัญญาหรือไม่
หลวงพ่อ : เห็นความจริงแบบนี้ เห็นไหม ใช่ เวลาเราฟุ้งซ่าน เราพุทโธชัดๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อดับความฟุ้งซ่านให้จิตมันตั้งมั่น ถ้าจิตมันตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิขึ้นมา มันก็เป็นอย่างที่พูดนี่แหละ เป็นอย่างที่พูดนี้แล้ว มันก็เหมือนกลับไปจิตที่เป็นสากล
ในลัทธิทุกลัทธิ ในศาสนาต่างๆ เขาก็สอนให้ทำความสงบทั้งนั้น นี่พอสอนให้ทำความสงบ ฤๅษีชีไพรก็ทำความสงบ ทำสมาธิ ทุกลัทธิทำสมาธิ แต่ปัญญาที่เกิดจากต่อเนื่องไป ศาสนาอื่น ทุกๆ ศาสนาไม่มีเลย มีแต่พุทธศาสนานี้เท่านั้นเอง พุทธศาสนานี้เท่านั้นนะ พอทำจิตสงบแล้วให้ทำโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดจากอริยมรรคที่จะไปชำระกิเลส อริยสัจ ๔ มรรคญาณ มีเฉพาะพุทธศาสนานี้เท่านั้น!
ฉะนั้นพอจิตมันสงบแล้ว พอที่มันโล่ง มันโปร่ง นี่การกำหนดพุทโธเป็นการดับเหตุดับปัจจัยใช่ไหม? ก็ใช่ทั้งนั้นแหละ แล้วภาวนามยปัญญาต่อไปทำอย่างไร? ฉะนั้นจิตสงบแล้ว สงบให้สงบเต็มที่เลยนะ เวลาสงบแล้วนี่อย่าไปดึงออก อย่าไปกวนมัน ถ้าจิตมันจะสงบ ให้มันสงบเต็มที่เลย พอสงบแล้วนะ พอมันได้พักผ่อนเต็มที่แล้วนะ พอออกมานี่มันจะสดชื่น แล้วมันทำอะไรได้เต็มไม้เต็มมือไง
พอเวลาจิตจะสงบ ก็ห่วงจะไม่ได้ใช้ปัญญา เวลาจิตสงบก็ห่วงว่ามันจะติดสมาธิ ก็ไปลากมันออกมา คนเรานี่มันจะนอนพักก็ยังนอนสะลึมสะลือเลย แล้วก็ว่าจะออกมาใช้ปัญญา มันก็ปัญญาหัวทิ่มบ่อไง ถ้ามันจะลงสมาธิให้ลงให้เต็มที่ ถ้ามันจะพักให้มันพักเต็มที่เลย แล้วพอมันคลายตัวออกมาให้ค้นคว้าเลย ถ้าค้นคว้าไม่ได้กลับไปพักอีก พอออกมาให้ค้นคว้า ค้นคว้าคือจับนี่แหละ
ไอ้ที่ว่าเป็นเมฆ เป็นหมอก เป็นดวงจันทร์ ขอให้มันจับได้ตัวจริง ถ้าจับได้ตัวจริงนะมันสะเทือนหัวใจมาก แล้วจะรู้ได้เลยว่าปัญญาหรือไม่ปัญญา แล้วพอไปถึงปัญญาจริงปั๊บมันจะเทียบกับปัญญาปลอมได้ ถ้ามันเกิดปัญญาจริงขึ้นมานะ ปัญญาจริง ปัญญาที่ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต มันจะเทียบได้กับปัญญาที่เกิดจากสมอง
ไอ้ที่มันคิดอยู่นี้ปัญญาสมองทั้งนั้น ปัญญาที่มันมีข้อมูลจำไว้ ปัญญาที่เราศึกษามา มันมีข้อมูลมาใช่ไหม มันมีข้อมูลของมัน เวลาคิดมันก็คิดตามวิทยาศาสตร์ ตามทฤษฎี ทฤษฎีว่าไว้อย่างนั้น พอขึ้นสูตรแล้วถูกหมด สูตรนี้ว่าอย่างนี้ สูตรนี้ว่าอย่างนี้ นี่คือปัญญาจำ ปัญญาสมอง เวลามันเกิดปัญญาจากจิตนะ โอ้โฮ.. มันถอดมันถอน แล้วพอถ้าสิ่งนี้เกิดปั๊บ ไอ้สิ่งที่สงสัยนี่จบเลย
อ๋อ.. สุตมยปัญญาเป็นอย่างนั้น จินตมยปัญญาเป็นอย่างนั้น ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนั้น มันเข้าใจหมดนะ แต่ตอนนี้เราคิดว่าปัญญาคือปัญญาไง เวลาแยกชื่อก็เอาป้ายไปแขวนไว้ ไม่ใช่ความจริง แต่ถ้าวันไหนเป็นความจริงนะ เพราะความจริงมันให้ผลไง
เราดื่มน้ำเย็น เราก็ได้ความร่มเย็น เราดื่มน้ำร้อน เราก็ได้รับความร้อน เราดื่มยาพิษนะตาย จิตมันได้รับรู้ จิตมันสัมผัส มันรู้ พอมันรู้ขึ้นมา นี่ปัจจัตตัง นี่สันทิฏฐิโก นี่เป็นความจริง
ถาม : ข้อ ๓. ถ้าผมนึกพุทโธ พุทโธ พร้อมตามรู้ลมหายใจ และตามรู้การเคลื่อนไหว และรู้ทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน แบบนี้จึงจะสามารถเห็นจิตที่นึกพุทโธ (แยกตัวออกเห็นไหม) แยกตัวออกจากอารมณ์ใช่ไหมครับ ถ้านึกพุทโธชัดๆ อย่างเดียว ตามรู้การเคลื่อนไหวอย่างเดียว...
หลวงพ่อ : การแยกนี่นะ ถ้าคนเป็นนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธชัดๆ หรือว่าอานาปานสติชัดๆ นะ แล้วมันจะเกาะเข้าไปเรื่อยๆ จนละเอียดเข้าไป จนเป็นอัปปนาสมาธิ นี่มันแยกเลย สมาธินี่สามารถแยกกายกับจิตออกจากกันได้
ถ้าจิตมันเป็นอัปปนาสมาธิ มันสักแต่ว่ารู้ จิตนี่มันทิ้งกายเลย มันไม่รับรู้เรื่องกาย เพราะอัปปนาสมาธิมันจะไม่รับรู้ทางผิวหนัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันไม่รับรู้สิ่งใด สักแต่ว่ารู้ รู้แต่เฉพาะจิต มันไม่รับรู้ เหมือนลมพัดมานี่ไม่มีความรู้สึกเลย ความรู้สึกทางผิวหนังไม่มี ความรู้สึกทางตา ทางหูไม่มี ดับหมด นี้พูดถึงเวลาว่ามันแยกไง
นี่ต้องการผล คือขันธ์กับจิตมันแยกออกจากกัน มันขาดออกจากกัน ทีนี้ขาดออกจากกัน มันจะขาดด้วยการกำหนดพุทโธ ขาดด้วยการเพ่งอยู่นี้ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันจะแยกได้ต่อเมื่อเราจับได้ เราจะปอกผลไม้ เราไม่รู้ว่าผลไม้ชนิดนี้มีเปลือกหรือไม่มีเปลือก เราจะปอกได้ไหม? เราจะปอกผลไม้ เราต้องเข้าใจว่าผลไม้นี้เป็นผลไม้ชนิดอะไร ผลไม้นี้ต้องปอกเปลือกหรือไม่ปอกเปลือก
จิต! จิตนี้มันมีขันธ์ของมัน ถ้ามันมีขันธ์ของมัน เราจะแยกขันธ์กับจิตนี่เราใช้อะไร? เพราะสักกายทิฏฐิใช่ไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ อันนี้มันเป็นอาการของจิต มันเป็นเปลือกที่หุ้มจิตไว้ แล้วเวลามันแยกออก ถ้ามันแยกออกมันแยกอย่างไร? ถ้ามันแยกตามความเป็นจริงนะ ต้องจิตสงบแล้วจับให้ได้
สิ่งที่ถามมานี่นะ สิ่งที่ว่าทำสมถะ ทำความสงบของใจถูกต้องไหม? ถูก แต่ยังเริ่มต้นจับสติปัฏฐาน ๔ ไง เห็นไหม เราพูดบ่อยว่าสติปัฏฐาน ๔ ที่โลกเขาทำกันอยู่นี้ เป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม แต่ถ้าจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง ต้องมีจิตสงบ แล้วจิตจับ จิตออกรับรู้ ถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา เป็นสติปัฏฐาน ๔ ในอริยสัจ ต้องมีจิตสงบ จิตเป็นผู้เสียหาย จิตนี้เป็นผู้รับรู้ แล้วจิตนี้เป็นผู้แก้ แก้ความผิดพลาดของเรา นั่นล่ะถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง
แล้วนี่ว่าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นโดยสามัญสำนึก เห็นโดยความรู้สึกนึกคิด มันก็เห็นกันทั้งปีทั้งชาติแหละ มันเห็นโดยสัญญาไง เห็นโดยข้อมูลที่เรารับรู้.. ฉะนั้นอันนี้เป็นอันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ นี่ทำความสงบของใจอย่างนี้ เห็นไหม ที่บอกว่าต้องจิตสงบก่อน จิตสงบก่อนเพราะเหตุนี้ไง
นี่จิตเริ่มสงบ ผู้ถามมีความรู้สึกว่ามีจิตสงบ มีพื้นฐาน แล้วเห็นแบบเปรียบเทียบ เห็นอารมณ์ความรู้สึกเป็นก้อนเมฆ เห็นจิตนี้เด่นดวง นี่มันยังเป็นความรู้สึกเปรียบเทียบ แต่ถ้ามันจับตัวจริงได้มันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจับตัวจริงได้ มันถึงจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ตามความเป็นจริง พอได้ตามความเป็นจริง พอฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันจะเกิดทันทีเลย นี้มันจะเป็นข้อเท็จจริงนะ
นี่พูดถึงว่าให้ทำตามนี้ ให้ฝึกหัดไป ให้ทำไป นี่กรรมฐานเขาสอนกันอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ลูกศิษย์เป็นผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนทำได้จริง ถ้าทำได้จริง คนทำได้จริงแล้ว คนทำได้ไม่ถามใคร ถ้ายังถามอยู่ มันยังเป็นอย่างนั้นอยู่
ฉะนั้นเราถึงบอกว่า ให้ขยันหมั่นเพียร เริ่มต้นเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น เริ่มต้น เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า การภาวนามียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น เพราะหญ้าปากคอกเดินไม่เป็น อีกคราวหนึ่งคือคราวที่ว่าจะฆ่าตัวภพ คือฆ่าตัวจิต
การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น เริ่มต้นนี่จับพลัดจับผลู จะหาทางเดินให้ถูกต้อง นี่คราวนี้สำคัญมาก เหมือนคนเริ่มต้นออกรถขึ้นสู่ถนน แล้วจะไปสายไฮเวย์นี้ไปถึงปลายทางได้ ถ้าเรายังขึ้นถนนไม่ได้ รถเราอยู่ในทุ่งนา รถเราอยู่ในโรงรถ มันยังขึ้นทางไม่ได้ มันไปไม่รอด แต่ถ้ารถเราได้ขึ้นสู่หนทางนะ นี่มรรคโค แล้วมันจะไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นเริ่มต้นนี่ลำบาก เริ่มต้นนี่ครูบาอาจารย์ต้องพยายามประคอง แล้วทำให้รถของเราขึ้นสู่มัคคา ขึ้นสู่รถ ขึ้นสู่ถนน แล้วมันจะเดินของมันไป
เพราะว่าคำถามนี้มันมีเหตุมีผลไง นี่ถ้าคนภาวนาเป็นอย่างนี้ มันจะมีเหตุมีผลของมัน ไม่ใช่ถามลอยๆ ถ้าถามตามหนังสืออ่านมานี่ถามลอยๆ แต่ถ้าคนมีเหตุมีผลถาม มันมีเนื้อหาสาระ
ถาม : ๔๔๙. เรื่อง สงสัยเรื่องสีลัพพตปรามาสครับ
กราบเรียนหลวงพ่อครับ ผมมีข้อสงสัยเรื่องว่า การที่เราไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เจ้าที่เจ้าทาง เทวดา หรือเทพเจ้าต่างๆ เช่นเจ้าแม่กวนอิน พระพรหม พระพิฆเนศวร เป็นต้นนี้ จัดว่าเป็นสีลัพพตปรามาสหรือไม่ครับ หากใช่ควรละใช่ไหมครับ
เนื่องจากผมอ่านเจอว่า เป็นสังโยชน์ที่ต้องละ ไม่เช่นนั้นแล้วจะถึงโสดาบันไม่ได้ การละควรทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง เพราะถ้าหากละสีลัพพตปรามาสแล้วจะกลายเป็นว่าเราไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ด้วยหรือไม่ครับ
หลวงพ่อ : การละสีลัพพตปรามาส มันไปละการพิจารณากาย ถ้าการพิจารณากายจนเห็นตามความเป็นจริง เพราะพระโสดาบันละสักกายทิฏฐิ พอละสักกายทิฏฐินี่มันเป็นความเห็นจริง สีลัพพตปรามาสมันจะขาดไปเลย
อย่างเช่นในปัจจุบันนี้เราสงสัยสิ่งใดอยู่ สิ่งที่เราสงสัยคือสีลัพพตปรามาส แต่ถ้าสิ่งที่เราสงสัยอยู่ เราได้พิจารณาจนแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว เราจะมีความสงสัยไหม? ถ้าเราไม่มีความสงสัย สีลัพพตปรามาสมันขาดไปพร้อมกับความสงสัยอันนั้นไง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นสีลัพพตปรามาสไหม การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์.. อันนี้เขาเรียกว่าถือมงคลตื่นข่าว พุทธมามกะ เห็นไหม เราจะเป็นชาวพุทธ เราต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะไม่กราบ ไม่ไหว้ ไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราเคารพสิ่งต่างๆ รูปเคารพที่นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันทำให้เราขาดจากพุทธมามกะ ขาดจากการเป็นชาวพุทธไง เป็นชาวพุทธไม่แท้ ว่าอย่างนั้นเลย
ถ้าชาวพุทธจริง ชาวพุทธจริงมันเกิดจากไหนล่ะ?
ศรัทธา อจลศรัทธา
ถ้าเรามีความศรัทธา เห็นไหม พอเรามีศรัทธาในพุทธศาสนา แต่เขาบอกว่าลัทธิศาสนาอื่น เขาให้ผลประโยชน์มากกว่า เขาให้สิ่งที่ดีกว่า เราก็คลอนแคลนแล้ว เราก็จะไปแล้ว กูจะไปที่ดีกว่า นี่ไง นี่คือศรัทธาที่ยังไม่ใช่อจลศรัทธา ถ้าเป็นอจลศรัทธานะ พอเราพิจารณาของเราเต็มที่แล้ว อจลศรัทธา ศรัทธาเด็ดขาด! ใครจะมาชักชวน ใครจะมาอะไรนี่ เขาเรียกว่า ไม่ทิ้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เด็ดขาด
ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ หรือเราเป็นชาวพุทธจริงนะ สิ่งนี้เราจะไม่กราบไหว้ เป็นรูปเคารพของผู้ที่เขามีความเชื่อมีศรัทธา นั้นมันเรื่องของเขา แต่เราจะไม่ทำแบบนั้น แล้วเราเข้าไปแล้ว ถ้าพูดอย่างนี้นะย้อนกลับมาพระพุทธรูปของเรา
นี่เรามากราบพระพุทธรูปเรา พระพุทธรูปของชาวพุทธเรานี้สร้างขึ้นมาด้วยอะไร ด้วยอิฐ ด้วยหิน ด้วยทราย ด้วยปูนเหมือนกัน แล้วรูปเคารพที่เขาสร้างขึ้นมา มันก็สร้างขึ้นมาด้วยอิฐ ด้วยหิน ด้วยทราย ด้วยปูนเหมือนกัน ทำไมเวลาอิฐ หิน ปูน ทราย อันหนึ่งเคารพได้ อีกอันหนึ่งเคารพไม่ได้
อิฐ หิน ดิน ทราย ปูนของเราในพระพุทธรูปนี้ เราไม่ได้ไหว้ที่อิฐ หิน ดิน ทราย ปูน เราไหว้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เป็นตัวแทนต่างหาก เราไหว้ถึงพุทธคุณ เห็นไหม เวลาไปหาหลวงตา หลวงตาบอกว่า
กราบพระ! กราบพระ! กราบพระโดนพระหรือเปล่า
ถ้ากราบพระโดนพระ กราบพระถึงพระ เรากราบถึงบุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากราบถึงคุณธรรม ธรรมะ เรากราบถึงอริยสงฆ์ แต่เรากราบเป็นตัวแทนไง
รูปนี้เป็นวัตถุ แต่จิตใจเรามุ่งหมายไปกราบที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ในเมื่อเรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พวกเราจิตใจโลเล มันไม่มีอะไรที่ไปยึดเหนี่ยว เห็นไหม วัดๆ หนึ่งก็ควรมีพระพุทธรูปไว้องค์หนึ่ง ไว้แบบว่าคนที่มั่นคง เขากราบที่ไหนเขาก็กราบได้ ไม่มีเขาก็กราบได้เพราะหัวใจเขาถึงธรรมอยู่แล้ว แต่ถ้าหัวใจคนที่ไม่ถึงธรรม มันต้องมีรูปเคารพไว้ เพื่อให้คนที่ยังคลอนแคลนอยู่เอารูปเคารพนั้นเป็นเป้าหมาย กราบเพื่อเหตุนั้น
นี้เรากราบพระพุทธรูป เรากราบถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วนี่พระพรหม พระพิฆเนศ พระอะไรนี่ เรากราบอะไร? สิ่งนี้ถ้าเป็นชาวพุทธที่เข้มแข็งเขาก็จะไม่ทำ อย่างเช่นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้นนะ เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านเน้นตรงนี้มาก เน้นตรงที่ว่าอ้างเล่ห์ไง ที่ไหนร้อนนักก็ไม่ทำงาน ที่ไหนหนาวนักก็ไม่ทำงาน อ้างร้อน อ้างหนาว อ้างเย็นนั่นล่ะ
ที่ไหนมีการละเล่นฟ้อนรำก็ไปที่นั่น พอเรามีหลักมีเกณฑ์นี่นะ ที่ไหนมีการละเล่นฟ้อนรำเราก็ไม่ไป เราไม่ไปเราก็ไม่เสียทรัพย์ เราก็ไม่เสียพลังงาน เราไม่เสียทุกอย่าง นี่ถ้าเป็นชาวพุทธที่เข้มแข็งนะ เขาจะพัฒนาของเขาขึ้นมา ที่ไหนมีการละเล่น ที่ไหนมีการฟ้อนรำนะ เขาไม่ไปหรอก เขารู้ว่าไปแล้วเขามีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์
อันนี้ก็เหมือนกัน สีลัพพตปรามาสมันเป็นเรื่องของสังโยชน์ แต่ขณะที่เราไปกราบไปไหว้มันเป็นเรื่องของพุทธมามกะ มันเป็นเรื่องของความเชื่อในรูปเคารพ ฉะนั้นสีลัพพตปรามาสก็จะย้อนกลับมาจากภายใน
เราก็ไม่เห็นด้วยนะ การกราบรูปเคารพอื่นเราก็ไม่เห็นด้วย แต่บอกว่าเป็นสีลัพพตปรามาส นี่อืม.. เพียงแต่ว่ามันขาดจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันขาดตรงนั้น สามเณรนะ เวลาบวชเณรต้องถึงรัตนตรัยก่อน แล้วถึงต้องมาบวชพระอีกทีหนึ่ง
ฉะนั้น ถ้าหากใช่ ควรละอย่างใด
ถ้าเราใช่ เราก็เข้าใจของเรา ไอ้นี่มันเป็นการพูดกันจากข้างนอก
ฉะนั้น ถ้าหากใช่ ควรละอย่างใด
การละสังโยชน์.. สังโยชน์นี่มันเป็นเครื่องร้อยรัดใจ ฉะนั้นพอเราคิดว่าเอาสังโยชน์มันก็เหมือนกับประกาศจับไง บุรุษคนนี้เป็นคนทำผิด ตั้งค่าหัว นี้ก็เอาสังโยชน์มาประกาศจับ ใครๆ ก็จะจับสังโยชน์ ว่าสังโยชน์อยู่ที่ไหนจะละสังโยชน์กัน มันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?
สังโยชน์นี่เป็นนามธรรม มันเป็นเรื่องนามธรรม แต่เราพิจารณากาย พิจารณาจิต พิจารณาเวทนา พิจารณาธรรม เวลาสังโยชน์ขาด สังโยชน์เป็นเครื่องร้อยรัดมันขาด ไม่ใช่ไปละสังโยชน์.. คำว่าละสังโยชน์ๆ มีคนมากเลยว่าจะละสังโยชน์ ก็เหมือนเราติดคุก เราจะละคุก แล้วคุกมันอยู่นู่น ติดเพราะอะไร ติดเพราะคำสั่งศาล
นี่ก็เหมือนกัน ละสังโยชน์ละกันที่ไหน? ทีนี้ก็เลยตั้งสังโยชน์ขึ้นมาเลย สังโยชน์เป็นยักษ์ โอ๋ย.. เราจะฆ่ายักษ์ แล้วมึงจะไปฆ่าที่ไหน มึงจะไปหายักษ์ที่ไหน มึงจะไปหาสังโยชน์ที่ไหน?
อันนี้เวลาคำถาม เขาถามมาด้วยความสงสัย แล้วตอบไปนี่คนถามยิ่งสงสัยใหญ่เลย เขาถามว่าละสีลัพพตปรามาส สงสัยเรื่องสีลัพพตปรามาส เรื่องสังโยชน์ ไปตอบเรื่องอะไรก็ไม่รู้
เราจะบอกว่าตอนนี้เราสับสนกันไปหมด ชาวพุทธสับสน แล้วพอถามมาว่าอันนี้เป็นสังโยชน์ไหม? ถ้าบอกว่าเป็นสังโยชน์นะ เจ้าแม่กวนอิม พระพรหม พระพิฆเนศวร นี่เป็นสังโยชน์หรือ?
มันเป็นความเชื่อ มันเป็นรูปเคารพ สังโยชน์เป็นเครื่องร้อยรัดใจ แล้วสังโยชน์มันจะละได้อย่างไร? สังโยชน์มันละได้ด้วยอริยมรรค เรื่องจากภายใน เรื่องจากการภาวนา ไม่ใช่จากการถือเคารพ.. จากการภาวนา! มันขาดจากมรรคญาณ มรรคญาณเข้ามาชำระล้าง มันขาดที่นี่ นั้นเวลาละสังโยชน์เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นบอกว่า ถ้าเราไม่กราบไม่ไหว้ ก็จะกลายเป็นว่าเราไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลวงตาท่านบอกเลยว่า ให้มันศักดิ์สิทธิ์ในหัวใจของเรา เวลาเขาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งรูปเคารพนะ ท่านบอกเลยว่า
ให้เคารพหัวใจ
ถ้าเกิดความศักดิ์สิทธิ์ เห็นไหม เราขังทุกข์ ทุกข์นี่เราขังมันได้ แล้วเราทำของเราได้ อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา
สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากภายนอก สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากภายใน ถ้าศักดิ์สิทธิ์จากภายใน ถ้าใจมันศักดิ์สิทธิ์แล้ว เห็นไหม ที่เราไม่ศักดิ์สิทธิ์เพราะเราสงสัย เราลังเล แต่ถ้าเรารู้จริง เห็นจริง เราจะเข้มแข็งของเรามาก
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา อินทร์ พรหม ยังต้องมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เทวดา อินทร์ พรหม ยังต้องมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะศักดิ์สิทธิ์มาจากไหน เราต้องเข้มแข็งของเรา ถ้าใจเราศักดิ์สิทธิ์แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งข้างนอก.. อันนี้มันเป็นเรื่องข้างนอกนะ
ถาม : ๔๕๐. เรื่อง ถามเรื่องวิธีการปฏิบัติแบบฆราวาส
กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ ดิฉันมีเรื่องความสงสัยว่า
๑. ในกรณีเราเป็นฆราวาส ตั้งใจรักษาศีล ๕ แต่บางทีสติกำกับไม่ทัน ศีลขาด หรือบางทีก็ด่างพร้อย ถ้าเป็นพระก็สามารถปลงอาบัติได้ ถ้าเป็นฆราวาสเราจะต้องทำอย่างไรคะ
๒. กรณีเช่นเราไปเห็นหอยทากกำลังโดนมดกัด เราไปช่วย เราทำบุญกับหอยทาก แต่เราไปทำร้ายมดหรือเปล่า กรุณาให้แนวทางด้วยค่ะ
หลวงพ่อ : เวลาพระเป็นอาบัตินะ ทำผิดเป็นอาบัติให้ปลงอาบัติ เวลาเราเป็นฆราวาส ถ้าศีลขาดก็ต่อศีลไง เวลาศีลขาดก็คือขาดนะ นี่เรามีศีล ๕ พอเวลาศีล ๕ ขาด เราก็ไปต่อศีลกับพระ นี้พูดถึงต่อศีลนะ แต่ถ้าเป็นกรรมฐานเวลาศีลขาดแล้วเราก็เริ่มต้นใหม่ เพราะศีลนี่มันมีมาจาก ๓ ทาง
ทางที่ ๑. คืออาราธนาศีล เพราะเราไม่แน่ใจเราต้องไปหาพระ แล้วบอกว่าเราอาราธนาศีลจากพระ ให้พระเป็นพยาน
ทางที่ ๒. คือวิรัติเอา วิรัติคือตั้งใจ นี่ศีลเราตั้งใจเอา แล้วกรรมฐานเรา เห็นไหม เวลาคนมาถือศีล ก็บอกว่าเวลาใครมาถือศีลต้องมาขอศีล ๘ เราบอกไม่ต้อง ศีลมันมีอยู่แล้ว วิรัติคือตั้งใจเดี๋ยวนี้เลย ตั้งใจว่าถือศีลเท่าไหร่ ถือศีลกี่วัน นี่วิรัติขึ้นแล้ว
ทางที่ ๓. ศีลเกิดโดยอธิศีล คือเป็นศีลโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป สกิทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์ ศีลนี่เป็นอัตโนมัติ คือจิตมันเป็นศีลโดยธรรมชาติ นี่อธิศีล
แต่ศีลมันมาได้ ๓ ทาง ฉะนั้นเพราะถ้าศีลมันขาดใช่ไหม เราก็ตั้งใจวิรัติเอา ตั้งใจเลย อ้าว.. ปั๊บศีลขาดแล้ว เพราะเราผิด ให้ตั้งใจ เหมือนพระปลงอาบัติ
ถาม : ฉะนั้น ข้อ ๒. กรณีเช่นเราไปเห็นหอยทากกำลังโดนมดกัด เราเข้าไปช่วยเท่ากับเราทำบุญกับหอยทาก แต่เราไปทำร้ายมดไหม
หลวงพ่อ : อันนี้ถ้าเราเจอหอยทากโดนมดกัด นี่เราช่วยแล้วเราเอาไปปล่อยที่อื่น จบ แล้วมดก็ไปหากินเอาใหม่ เพราะกรณีอย่างนี้นะมันเหมือนกับเขาได้ลาภ อย่างเช่นงูเวลามันจับคางคก จับอะไร นี่ลาภของมันนะ ถ้าเราเจอเราจะช่วยไหม เราก็ช่วย แต่ถ้ามันรัดแล้ว คางคกนี่กระดูกมันหักหมดแล้วนะ ช่วยออกมาแล้วมันไปไหนไม่รอดหรอก เดี๋ยวงูก็มากินมัน
เพราะเราอยู่ในป่า เราเจออย่างนี้บ่อย งูเห่ามันมารัดคางคก พอมันร้องปั๊บเราก็ไปช่วยมัน ช่วยมันแล้วเราเอาแยกไปไว้ไกลนะ เกือบ ๑๐๐ เมตรแน่ะ แล้วเดินจงกรมอยู่นั่นน่ะ กลับไปกลับมา งูไปกินมันอย่างเก่า คือมันไปไม่ได้
กรณีอย่างนี้นะเขาเรียกว่าลาภของงู คืออาหารของเขา แต่ถ้าเราช่วยได้เราก็ช่วย แต่มันมีกรรมของสัตว์นะ อย่างเช่นเวลาเราขับรถมา เวลาหมามันวิ่งมาชนรถเรา เราก็เสียใจนะว่าเราขับรถชนหมา ขับรถชนหมา แต่! แต่มันเป็นเหตุสุดวิสัย บางทีเราหลบเต็มที่แล้ว เราตั้งใจเต็มที่เลยไม่ให้เป็นแบบนั้น แต่มันเป็น มันเป็นเพราะอะไร มันเป็นเพราะว่ามันเป็นกรรมของสัตว์นั้น เราก็มีกรรม เขาก็มีกรรม แต่กรรมของใครไม่รู้
มันมีลูกศิษย์หลวงตาคนหนึ่งนะเขาพูดอยู่ รถเขาจอดไว้ แล้วเช้าขึ้นมาก็ไปทำงานทุกวันเลย วันนั้นพอเช้าขึ้นมาก็ติดเครื่องรถ ใบพัดนี่มันไปฟันโดนแมว แมวไปนอนอยู่ในเครื่อง โอ้โฮ.. เสียใจ เสียใจว่าตัวเองทำศีลขาด ตัวเองฆ่าสัตว์ โอ้โฮ.. เสียใจมาก จดหมายไปหาหลวงตา เราอยู่กับหลวงตานะ จดหมายเขียนไปหาหลวงตาเลย บอก มีความทุกข์ใจมากค่ะ ดิฉันได้ติดเครื่องยนต์ แล้วใบพัดมันไปฟันโดนแมวตาย มันมีความทุกข์มากค่ะ
ท่านตอบจดหมายนะ เราก็อ่าน แล้วแมวทำไมไปนอนที่นั่นล่ะ? ทำไมแมวมันไปนอนในเครื่องล่ะ? แล้วมันเป็นวิสัยที่เราจะรู้ได้ไหม? เรารู้ไม่ได้ไง ถึงบอกว่ามันก็เป็นเวรกรรมของเขา เขามาชดใช้ของเขา เราไม่มีเจตนา เราไม่รู้อะไรเลย มาถึงก็ติดเครื่องรถ ฟันผลัวะ!
นี่ก็เหมือนกัน บางอย่างนี่.. พูดอย่างนี้ ไม่ใช่พูดเข้าข้างพวกเรานะ ว่าทำอะไรแล้วสบายใจ แต่บางอย่างมันสุดวิสัยที่เราจะระวัง เราระวังของเรา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรมที่จะต้องมาให้ผล มันก็จะต้องออกค่าอย่างนั้นแหละ เราหลบขนาดไหนมันก็ออกค่าอย่างนั้นแหละ
ฉะนั้นเขาบอกว่า มันเป็นอุบัติเหตุหรือมันเป็นกรรม
เราจะบอกว่า อุบัติเหตุนั่นแหละคือกรรม ทำไมอุบัติเหตุนั้นมาเกิดกับเรา อุบัติเหตุนั้นล่ะมันคือกรรม แต่มันเป็นอุบัติเหตุไหม? ใช่ มันเป็นอุบัติเหตุ แต่มันก็เป็นกรรม เพราะถ้าไม่มีกรรม มันจะเกิดอุบัติเหตุได้อย่างไร ทำไมคนอื่นเขาหลบพ้น ทำไมเราหลบไม่พ้น
กรณีอย่างนี้ เวลาเราจะไปช่วยสัตว์นี่ เราช่วยสุดความสามารถแล้วก็แล้วกัน จบ.. นี่เราไปช่วยหอยทากก็ไปห่วงมด จะไปช่วยมดก็ไปห่วงหอยทาก มันช่วยสิ่งใดได้มันก็ช่วยเป็นอย่างๆ ไปนะ
มาถึงข้อนี่แล้ว ข้อ ๔๕๑. ไม่มี
ข้อ ๔๕๒. เรื่องปาราชิกอีกแล้ว ปาราชิกนี่มันมาเยอะมากเลย ตอบไปหน่อยเดียว
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ เรื่องปาราชิกมีในเฉพาะพระ หรือเณร หรือนาคอย่างเดียว หรือเปล่า หรือรวมทั้งผู้ถือศีล ๘ หรือศีลข้อพรหมจรรย์ เพราะถ้ารวมผู้ถือศีลพรหมจรรย์ ผู้ถือศีล ๘ ถ้าถือแล้วทำไม่ได้จะถือว่าเป็นปาราชิกไหม เป็นตาลยอดด้วน เพราะมีผู้รับศีลไปแล้วทำไม่ได้ ผมว่าน่าจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง เพราะปิดโลกุตตรธรรม
ในกรณีที่มีครอบครัว ควรคือศีล ๕ อย่างเดียวดีกว่า ปลอดภัยกว่าไหม ไม่ล่วงศีลข้อพรหมจรรย์ ถ้าล่วงไปแล้วแก้ตัวไม่ได้เลย ผมขอถามเป็นข้อๆ ดังนี้
๑. เณรที่ล่วงศีลข้อพรหมจรรย์ เป็นปาราชิกไหม
๒. นาคที่ล่วงศีลข้อพรหมจรรย์ เป็นปาราชิกไหม
๓. ผู้ที่ถือศีล ๘ ที่ล่วงศีลข้อพรหมจรรย์ เป็นปาราชิกไหม
หลวงพ่อ : ไม่เป็นหมดเลย มันไม่เป็น มันเป็นความกังวลไปเองไง เพราะเรานี่ เห็นไหม ที่ว่าชาวพุทธสับสน สับสนตรงนี้ไง สับสนที่ว่าเป็นปาราชิก ปาราชิกมีเฉพาะพระกับภิกษุณีเท่านั้น เพราะพระนี่พระพุทธเจ้าบัญญัติปาราชิก ๔ ภิกษุณีพระพุทธเจ้าบัญญัติปาราชิก ๘
มันมีเฉพาะพระกับภิกษุณีเท่านั้น คนอื่นไม่มีปาราชิก แม้แต่เณรก็ไม่มีปาราชิก ถ้าเณรผิดพรหมจรรย์ เณรก็ขาดจากเณร ศีลขาด ศีลขาดก็ไปต่อศีลเอา เพราะว่ามันไม่มีกฎหมายบังคับ ทีนี้กฎหมายบังคับนี่มีเฉพาะพระกับภิกษุณีที่ผิดศีลข้อร้ายแรง ปาราชิกแล้วถึงว่าเป็นตาลยอดด้วน ปิดกั้นโลกุตตรธรรม แต่คนอื่นไม่มี
เณรก็ไม่มีปาราชิก นาคก็ไม่มีปาราชิก ผู้ถือศีล ๘ ก็ไม่มีปาราชิก แล้วผู้ถือศีล ๘ ศีล ๘ นี่นะเขาถือเป็น ๑ ราตรี หรือถือตลอดไป ถ้า ๑ ราตรีก็บังคับเฉพาะใน ๒๔ ชั่วโมงนั้น พ้นจาก ๒๔ ชั่วโมงไปแล้วก็ไม่มีข้อบังคับ
ฉะนั้นถ้าเณรถือศีล ๑๐ ใช่ไหม ถ้าผิดศีลใน ๑๐ ข้อนั้นคือขาดจากเณร ถ้าไม่ผิดจากข้อในศีล ๑๐ ไม่มี มันเหมือนกฎหมายไง กฎหมายบังคับใคร ยิ่งนาคนี่ไม่มีเลย
ถาม : ข้อ ๒. นาคที่ล่วงศีลข้อพรหมจรรย์ เป็นปาราชิกไหม
หลวงพ่อ : คำว่าปาราชิกตัดทิ้งไปเลย ปาราชิกมีเฉพาะภิกษุกับภิกษุณี อย่างเช่นเขาบอกว่าทำสงฆ์ให้แตกแยก ทำสงฆ์ให้แตกแยก.. ทำสงฆ์ให้แตกแยกก็เพราะสงฆ์นั่นแหละ ในสงฆ์นั้นทำให้สงฆ์แตกแยก คนอื่นไม่เกี่ยว คนอื่นจะทำให้สงฆ์แตกแยกได้อย่างไร เขาเป็นคนนอก เขาจะทำสงฆ์ให้แตกแยกได้อย่างไร เขาทำให้สงฆ์แตกแยกไม่ได้ คนที่ทำให้สงฆ์นั้นแตกแยกได้ก็คือสงฆ์นี่แหละ
นี่ก็เหมือนกัน ปาราชิกก็มีเฉพาะพระนี่แหละ มีเฉพาะพระกับภิกษุณี เณรไม่มี นาคไม่มี ผู้ถือศีล ๘ ไม่มี ผู้ถือศีล ๘ ถ้าล่วงข้อพรหมจรรย์ก็ขาดจากศีล ก็ต่อศีล มันก็แค่นั้น
ภิกษุ ภิกษุณี เห็นไหม พอเวลาบวชแล้ว.. นี่กฎหมายมียกเว้นตั้งมากมาย จะบอกว่าภิกษุกับภิกษุณีเหมือนเจ้าหน้าที่ เหมือนตำรวจ ตำรวจถ้าทำความผิด ตำรวจต้องได้รับโทษมากกว่าชาวบ้าน ภิกษุ ในเมื่อมีการบวชมาโดยอุปัชฌายะ อุปัชฌายะได้ยกเข้าเป็นพระ ยกเข้าหมู่ พอเข้าหมู่ สังคม ประเพณีวัฒนธรรมเขาก็ยกเว้นให้ ศักดิ์และสิทธิ์มันเต็มที่ไง ทีนี้เวลาทำผิด มันก็ผิดเต็มที่ไง
แต่เณร ดูสิเวลาใส่บาตร เห็นไหม จะใส่บาตรพระไม่ใส่บาตรเณร จะใส่บาตรพระไม่ใส่บาตรเณร บอกว่าเณรศีล ๑๐ เณรได้บุญน้อย จะใส่บาตรพระ ไปเจอเณรอรหันต์เข้าล่ะงงเลย ไปเจอเณรอรหันต์ ใส่บาตรพระ ๑๐๐ องค์ ยังไม่เท่ากับเณรองค์หนึ่งเลย เณรเป็นพระอรหันต์ จะว่าใส่บาตรแต่พระ เณรไม่ใส่
นี่ก็เหมือนกัน เณรไม่มีนะ แต่เณรเป็นพระอรหันต์ได้ นาคก็เป็นพระอรหันต์ได้ ผู้ถือศีล ๘ ก็เป็นพระอรหันต์ได้ แม่ชีแก้ว เห็นไหม แม่ชีแก้วเป็นพระอรหันต์นะ ความเป็นพระอรหันต์มันเป็นที่ใจ แต่พูดถึงคำว่าปาราชิก พูดถึงคนที่มีคุณธรรมแล้วมันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้หรอกถ้ามีคุณธรรม
เพราะว่าสิ่งใดที่จะทำนี่มันเกิดจากความคิดก่อน มันจะเกิดจากความคิด เกิดจากแรงปรารถนา มันถึงได้ทำสิ่งนั้นไป แต่ถ้าหัวใจที่มันเป็นธรรมแล้ว พอสิ่งนี้มันไหวในใจเขาเรียกอารมณ์มันเกิด อารมณ์มันเกิด นี่มันทันแล้ว จิตมันทัน มันไม่มีหรอก ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเป็นความจริงก็คือความจริง แต่ถ้าความไม่จริง มันปรากฏสิ่งนี้ได้
ฉะนั้นเขาบอกว่า ถ้าพูดถึงการกระทำอย่างนี้ อย่างนั้น มันจะเป็นตาลยอดด้วน
ตาลยอดด้วนมีเฉพาะภิกษุกับภิกษุณี เณรไม่เกี่ยว เพราะว่าธรรมวินัยนี่ วินัยของพระพุทธเจ้ามันไม่บังคับไง บังคับไม่ถึง เพราะว่าท่านบัญญัติเลย ปาราชิก ๔ ของภิกษุ ปาราชิก ๘ นะของภิกษุณี เณรไม่มี ฆราวาสไม่มี ทุกอย่างไม่มี ฉะนั้นกฎหมายบังคับเฉพาะพระ เราไม่ใช่พระ แต่ถ้าเราบวชพระแล้วเราทำนะ บังคับเรา นี่ตาลยอดด้วน ถ้าเป็นแล้วเราตาลยอดด้วน
ตาลยอดด้วนหมายถึงว่า เราทำไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้ ยอดมันด้วน มันไปไม่ได้ แต่เราทำความดีได้ เพราะพอคนผิดพลาดอย่างนั้นแล้ว ตั้งใจทำดีก็อยู่กับโลกนี่แหละ ทำความดีไป มันก็ไปสวรรค์ ไปนรกอเวจีตามนั้น แต่พูดถึงถ้าไม่มีตรงนี้ปิดกั้น เราทำความดีถึงที่สุดมันพ้นจากทุกข์เลย มันจบได้
นี่เขาเรียกตาลยอดด้วน มีเฉพาะพระกับภิกษุณีเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี ไม่ต้องตกใจ เขาบอกว่า มันเป็นเหตุที่รุนแรง ร้ายแรงมาก ผมว่ามันเป็นอันตรายร้ายแรง ปิดโลกุตตรธรรม
อ้าว.. ก็ไปเอากฎหมายที่เขาบังคับคนอื่นมาบังคับเรา เราไม่เป็นขนาดนั้น เพราะสถานะไง สถานะเราไม่สมกับธรรมวินัยอันนั้น แต่ถ้าสถานะของภิกษุ ภิกษุณี นี่มันเป็นสถานะอันนั้น แล้วถ้าทำมันถึงเป็นอย่างนี้ ปิดโลกุตตรธรรม เป็นตาลยอดด้วน เป็นตามจริงเลย เป็นโดยอัตโนมัติ เป็นไปโดยข้อเท็จจริง พระพุทธเจ้าบัญญัติหรือไม่บัญญัติ มันเป็นไปตามข้อเท็จจริงอันนั้นเลย ไม่ต้องมีใครมาบัญญัติ แต่ถ้าเป็นกฎหมายนี่เขายังต้องตามจับกันนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องศีล เรื่องธรรม มันเป็นไปในตัวของมันเอง
ฉะนั้น
ถาม : ข้อ ๑. เณรที่ล่วงข้อพรหมจรรย์ เป็นปาราชิกไหม
หลวงพ่อ : ไม่เป็น ถ้าล่วงแล้ว เณรไปต่อศีลใหม่ ว่าอย่างนั้นไปเลย
ถาม : ข้อ ๒. นาคที่ล่วงศีลข้อพรหมจรรย์ เป็นปาราชิกไหม
หลวงพ่อ : นาคยังไม่ได้บวชพระ ยังไม่เป็น นาคยังไม่เป็น เป็นเฉพาะพระ
ถาม : ข้อ ๓. ผู้ที่ถือศีล ๘ ที่ล่วงศีลข้อพรหมจรรย์ เป็นปาราชิกไหม
หลวงพ่อ : ผู้ถือศีล ๘ ถ้าล่วงศีลข้อพรหมจรรย์ เขาก็ต้องไปขอศีลใหม่ แต่ถ้าเขาถือพรหมจรรย์ของเขา เขาอยู่เฉพาะวัน นี่เวลาเขาขอศีลอุโบสถ เห็นไหม อยู่ ๑ ราตรี ๗ วัน ๑๐ วัน ถ้าอย่างนั้นนี่ขาด ขาดศีล ศีลขาด แต่มันไม่เป็นปาราชิก ศีลขาดก็คือศีลขาด ปาราชิกนี่มันจบไปเลย มันตาลยอดด้วน มันไม่มีโอกาสแก้ไข
ฉะนั้น เวลาบวชพระแล้ว เห็นไหม อุปัชฌาย์จะบอกเลย นิสัย ๔ อกรณียะ ๔ สิ่งที่ทำไม่ได้ ๔ อย่างเด็ดขาด ถ้าทำแล้วตาย ขาดเลย นี่ปาราชิก ๔ พอบวชเสร็จแล้ว อุปัชฌาย์ต้องบอกเลย นิสัย ๔ อกรณียะ ๔ สิ่งที่เธอทำไม่ได้ ๔ อย่าง ดำรงชีวิต ๔ อย่าง อุปัชฌาย์จะบอกทันที เพราะถ้าบวชเสร็จ ทำอย่างนี้เสร็จ ขาดจากพระโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องให้ใครไปทำ
ครูบาอาจารย์บอกว่า เหมือนกับผ้าเหลืองห่มตอ ผ้าเหลืองมันก็คลุมตอไว้เฉยๆ มันไม่เป็นพระ ผ้าเหลืองห่มขอนไม้ไว้
นี่พูดถึงพระกับภิกษุณีเนาะ ฉะนั้นเณร นาค ผู้ถือศีล ๘ ไม่เกี่ยวกับปาราชิก เอวัง