เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๙ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาคนเกิด เห็นไหม พอเกิดมาเป็นมนุษย์ แต่เกิดมาในสังคมวัฒนธรรมอย่างใด ถ้าเกิดในวัฒนธรรมศาสนาใดก็นับถือศาสนานั้น แต่ศาสนาสอนให้คนแตกต่างกันอย่างใด สอนคนให้แตกต่างกว่าสัตว์นะ สัตว์มันไม่มีศาสนา มันอยู่ตามธรรมชาติของมัน

มนุษย์เรานี่ เราว่าเราเป็นคนดี เราอยู่โดยธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์ไง แต่ศาสนาสอนให้คนมีศีลธรรม จริยธรรม.. ศีลธรรม จริยธรรมเพราะเรานับถือศาสนาพุทธ ฉะนั้นนับถือศาสนาพุทธ เราอยู่ในศีลธรรม จริยธรรม การสั่งสอนให้เข้าใจว่าสิ่งใดเป็นสิ่งใด

เวลาเรารับประทานอาหาร เห็นไหม อาหารถ้าเราไม่ตักมันเข้าปากเราไม่ได้หรอก อาหารเราต้องตักเข้าปากของเรา ถ้าไม่เคี้ยว อมไว้แล้วคายทิ้ง มันก็ยังไม่ได้เข้าถึงกระเพาะของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เวลาเราเข้าไปประสบสิ่งใด เราเข้าไปสัมผัสสิ่งใด

สติ! สติมันมีแต่ชื่อของมันว่าสติ ระลึกรู้คำว่าสติ สติมหัศจรรย์ มันยับยั้งความคิดเราได้หมดเลย ความคิดที่มันโหมกระหน่ำหัวใจ ทำให้เราทุกข์ยากอยู่นี่ ถ้ามีสตินะ มันทำให้ความคิดที่โหมกระหน่ำในหัวใจนี้หยุดได้ แต่เราบอกว่าเรามีสติ เอาสติไปฝากไว้ที่ตัวหนังสือว่าสติๆ ปากพร่ำบ่นว่าสติ แต่พายุอารมณ์มันโหมกระหน่ำพัดหัวใจล้มแทบตาย ก็ยังว่า “สติ! สติ!” แต่มันไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีเนื้อหาสาระ

แต่ถ้ามันมีสติขึ้นมา คำว่าสติมันยับยั้งความคิด ความคิดที่มันโหมกระหน่ำอยู่นี้ ถ้ามีสตินะมันหยุดได้เลย มันหยุดของมัน เราหยุดของเรา เราเห็นความมหัศจรรย์ของมันแล้ว ความมหัศจรรย์ของสติ มันมีสติ เขาเรียก “มีสติมีสตัง” เห็นไหม

นี่ความรู้สึกนึกคิดมันมีพร้อมอยู่ในปัจจุบัน คือมีสติมันก็อยู่กับความรู้สึก พออยู่กับความรู้สึก ความคิดก็เกิดไม่ได้ แต่พอสติมันเผลอ สติมันมี มันมีส่วนหนึ่ง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะมีสติ ถ้าไม่มีสติความคิดเกิดไม่ได้ เพราะเราไม่มีสติ เราไม่มีความรับรู้ ถ้าไม่มีความรับรู้ ความคิด อารมณ์จะเกิดได้อย่างไร? แต่มันเกิดโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ไง

แต่ถ้าเรามีสติยับยั้ง มีสติระลึกรู้ ระลึกๆๆ ฝึกขึ้นมา อันนั้นเราได้สัมผัสสติ สมาธิ เราได้สัมผัสสมาธิ พอมีสมาธิขึ้นมามันมีความสงบ พอมีสติขึ้นมาสติกับสมาธิเกี่ยวเนื่องกัน พอเกี่ยวเนื่องกัน พอมีสติมันหยุด นั่นก็คือสมาธิ สมาธินี่มันชั่วครั้งชั่วคราว สมาธิมันจะมีหนักมีเบาของมัน ถ้าจิตของเราประสบสิ่งใด..

นี่ไง เพราะจิตเราเป็นสมมุติ จิตเราเป็นสมมุติ สมมุติตรงไหน? ภวาสวะ ภพนี่เห็นไหม ดูสิเรามีทิฐิเรื่องอะไร เรายึดมั่นเรื่องอะไร เรื่องนั้นจะมีค่ามากกว่าชีวิตเรา เรามีทิฐิคิดเรื่องสิ่งใด สิ่งนั้นจะมีน้ำหนักมากกว่าจิตของเรา เห็นไหม นี่สิ่งที่ว่าเป็นสมมุติๆ ไง สมมุติมันเกิดดับไง

ภวาสวะ ภพนี่ไม่มีใครเคยรู้เคยเห็นมัน เพราะธรรมชาติของจิตมันส่งออก ความส่งออก เห็นไหม มันเสวยอารมณ์ ความส่งออก ส่งออกไปไหน? ดูสิ พระอาทิตย์มันส่องแสงมา เราได้รับแสงขึ้นมา แสง เห็นไหม ดูสิ เขาเอาไปใช้โซล่าเซลล์ เขาเอาไปใช้ต่างๆ เขาใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์นั้นเพื่อธุรกิจ เพื่อพลังงาน เพื่อต่างๆ ของเขา

ความคิดเวลามันส่งออกๆ มันส่งออกไปจากจิต พอส่งออกไปจากจิตมันเป็นพลังงาน พลังงานเฉยๆ แต่พอมันเสวยอารมณ์ล่ะ เสวยสิ่งใด? เสวยทิฐิไง ทิฐิใครทิฐิมัน จริตใครจริตมัน นิสัยใครนิสัยมัน ย้ำคิดย้ำทำตามจริตนิสัยของตัว แล้วก็เอาทิฐิความเห็นของตัวมาฟาดฟันกัน มาคัดแย้งกัน มาคัดง้างกัน แต่ถ้ามีสติปัญญามันจะไปรื้อสิ่งนี้ จะไปยับยั้งสิ่งนี้

นี่บอกว่าเรานับถือพุทธศาสนา เรานับถือพุทธศาสนากันแต่ปากนะ ดูสิ ภาชนะมันใส่อาหาร มันไม่รู้รสของมันเลย แต่เราเอาอาหารนั้นใส่ในบาตร เอาอาหารใส่ในถ้วยจานของเรา เราได้กินอาหารนั้น เราจะรู้รสชาติของอาหารนั้น

สติ สมาธิ ปัญญา ถ้าเราปฏิบัติของเราเกิดขึ้นมาตามความเป็นจริงของเรา เราจะได้รับรู้รสชาติอันนั้น ทีนี้การรับรู้รสชาติอันนั้น เห็นไหม หญ้าปากคอก ในการประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ มันก็ต้องมีการกระทบ มีการรับรู้ ทีนี้การรับรู้นี่นะ ดูสิเด็กนี่นะ เราสอนเด็ก เด็กมันจะเถียงของมันตลอดเวลา มันว่ามันถูกทั้งนั้น เด็กนี่ แต่พอเด็กมันโตขึ้นมา มันมีครอบครัวนะ เวลามีลูกมีหลาน มันก็ไปสอนลูกสอนหลานเหมือนเราสอนมันนั่นล่ะ

จิต! จิตมีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามีประสบการณ์ขึ้นมา มันสัมผัสของมันนี่เหมือนเด็กๆ เด็กๆ มันสัมผัสสิ่งใดมันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง..สิ่งนั้นเป็นความจริง เวลามันเล่นกันนะ มันมีความสนุกสนานของมัน แต่ผู้ใหญ่ว่านั่นเป็นของเล่น แต่ของจริงล่ะ?

ของจริง เวลาเราทำหน้าที่การงานของเรานะก็เป็นของจริง แต่ถ้าเป็นในธรรมะล่ะ? นั่นก็ยังเป็นสมมุติอยู่ สมมุติก็คือของไม่จริง มันจริงตามสมมุติ เห็นไหม ดูสิ เวลาธุรกิจเขาให้ค่ากัน นี่เวลาตลาดมันเจริญรุ่งเรือง ขาขึ้นนี่ทุกอย่างดีไปหมดเลย ถ้าตลาดมันเป็นขาลงนะ สินค้านั้นไม่มีใครสนใจเลย

ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นสมมุติใช่ไหม ถ้าเราทำตามความเป็นจริงขึ้นมา เราทำความจริงของหัวใจของเรา ถ้าใจของเรามันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมานะ ความสัมผัส ความรับรู้นี่ มันรู้โดยจริตนิสัย รู้โดยเป็นเรื่องของทิฐิความเห็นของเรา เรารับรู้ไว้ จับไว้ เห็นไหม อาหารตักใส่ปากมีรสเผ็ด เราจะแก้ไขอย่างไร? อาหารตักใส่ปาก รสชาติจืดสนิท ไม่มีรสชาติเลย เราจะทำอย่างไร? เรารับรู้แล้ว อาหารเวลาเข้าปากเรานี่รสชาติเป็นอย่างไร? คราวต่อไปทำอาหารเราต้องเพิ่มเครื่องปรุงให้มันมีรสกลมกล่อมขึ้นมา

จิต! จิตไปรู้ไปเห็นสิ่งใดแล้วมันให้ค่ากับอะไร มันสะเทือนหัวใจไหม หัวใจสั่นไหวไหม นี่ถ้าหัวใจสั่นไหวในแง่ของสิ่งใด นี่คือรสของมัน

“รสของธรรม ชนะซึ่งรสทั้งปวง”

แต่รสนี้มันบวกไปด้วยรสเผ็ด รสจืด รสต่างๆ รสของธรรมมันยังไม่มัชฌิมาปฏิปทา ยังไม่ตามความเป็นจริง มันอยู่ที่การฝึกหัดของเรานะ เราจะต้องฝึกหัด ต้องขยันหมั่นเพียร

“คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร”

ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของเรา เห็นไหม โลกเขาบอกว่าเขาหมั่นเพียรกันไป เขาทำหน้าที่การงาน เขาประสบความสำเร็จทางโลก ความขยันหมั่นเพียรของเรา นี่เวลาไปปฏิบัติมาได้อะไร? ได้แต่ความว่างเปล่า.. ความไม่ได้นั่นล่ะคือได้ เราได้นิมิต เห็นนู่น เห็นนี่ พอเห็นแล้วมันยึดติดของมันนะ มันรู้มันเห็นนี่ต้องวาง การวางนั้น “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

เด็กๆ นี่ความรู้อย่างเขานี่มรรคเด็กๆ มรรคหยาบๆ เขายึดทิฐิมานะ ยิ่งวัยรุ่นนี่พูดไม่ได้เลย วัยรุ่นกำลังไฟแรง ไปพูดสิ่งใดนะเขาโต้เถียง เขามีทิฐิของเขา เห็นไหม มรรคหยาบ เขาก็ยึดสิ่งนั้นไป แต่พอเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ประสบการณ์ทั้งชีวิตของเขา เขาจะรู้ประสบการณ์ที่ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร โลกเขาต้องการสิ่งใด โลกเขาควรสิ่งใด

กาลเทศะ! ความถูกต้องดีงามนี่ถูก แต่กาลเทศะมันสมควรหรือยังไม่สมควร นี่เราไม่เข้าใจสิ่งนี้ แต่ถ้ามันมีกาลเทศะ เห็นไหม นี่คนกำลังแรง เราจะประคองอย่างใด แล้วเรามาแก้ไขของเรา.. กาลเทศะ มันยังไม่ใช่กาล ไม่ใช่เวลา แต่เวลามันกาลสมควร กาลเวลาที่สมควรแล้ว ช่วงนั้นแหละ

คนเราเกิดทิฐินะ เวลามันทุกข์ขึ้นมานี่มันบวกกับความทิฐิมานะของตัว เวลาผ่านทิฐิไปแล้ว เวลาใครมาเตือน ก็ว่า “ทำไมครั้งก่อนไม่เตือนล่ะ?” ขณะที่ทิฐิแรงเตือนขนาดไหน พูดขนาดไหน คำพูดจะดีงามขนาดไหน เขาตีความเป็นลบหมดเลย แต่เวลาหัวใจมันเปิดนะ เราพูดขนาดว่าปานกลาง เขายังซาบซึ้งได้ ยิ่งเราพูดธรรมะลึกซึ้งนะ เขายิ่งซาบซึ้งมากกว่านั้น เห็นไหม

กาลเทศะ! กาลอันควรและไม่ควร หัวใจของคนมีสูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ มันมีกระบวนการของมัน กระบวนการของมันนี้ พันธุกรรมของจิตนี้ มันได้สะสมมาตั้งแต่การเสวยภพเสวยชาติมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย เห็นไหม แสดงว่าการเกิดนี้เกิดซับซ้อนมามากมายมหาศาล จิตของเรานี่ การเกิดโดยความซับซ้อนมหาศาลมันเป็นจริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยอย่างนั้น เวลาเราจะแก้ไข ครูบาอาจารย์ท่านถึงว่าแก้ไขตามกาล ตามเวลา ควรและไม่ควร นี่แก้ไขจิตมันต้องแก้อย่างนี้

ถ้าแก้ไขแบบทางการรักษาทางแพทย์ เขาแก้ไขกันทางวิทยาศาสตร์ เป็นสูตรสำเร็จนะ เป็นโรคนี้ให้ฉีดยาอย่างนั้น ฉีดเท่าไหร่ก็ไม่หายหรอก เพราะอุปาทานมันยึด นี่โรคมันหายไปแล้ว จิตมันบอกมันไม่หาย มันยังปวดอยู่นั่นแหละ นี่มันมีขั้นตอนของมันนะ

โรค เห็นไหม เวลาความเสื่อมสภาพไปของร่างกายอันหนึ่ง โรคเวรโรคกรรมอันหนึ่ง โรคอุปาทานอันหนึ่ง โรคนี่มันมีซับซ้อนมาก.. จิต! จิตถ้ามันคนลุ่มลึก เราต้องค่อยแก้ไขกันไป

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมานี่ เกิดขึ้นมากับเราแล้วนะ เราได้สัมผัสแล้วเราแก้ไขของเรา จิตมันสัมผัสสิ่งใด การสัมผัสนั้นถูกต้องทั้งนั้นแหละ ความถูกต้องของใคร นี่มรรคหยาบ ความถูกต้องของเด็ก ความถูกต้องของประสบการณ์ เห็นไหม หญ้าปากคอก การปฏิบัติเริ่มต้นนี่มันยาก ยากตรงนี้ เหมือนการหาน้ำมัน เวลาเขาหาน้ำมันนะเขาใช้คลื่นแม่เหล็ก เขาใช้ดาวเทียมแสวงหา แต่พอเขารู้ตำแหน่ง รู้สถานที่แล้วนะ เขาขุดเจาะขึ้นมานี่เขาได้ประโยชน์

จิตของเรา เห็นไหม เวลาจะหาทางเข้าหัวใจของเราเอง พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิเข้าสู่ฐีติจิต เข้าสู่ฐานเดิม กิเลสมันเกิดขึ้นที่นั่น กิเลสมันฟักตัวอยู่ที่นั่น เวลามันส่งออกมาเป็นอาการ เป็นปลายสายแล้ว มันปลายเหตุ พอปลายเหตุขึ้นมานี่ โอ๋ย.. ทุกข์ โอ๋ย.. ยาก โอ๋ย.. เจ็บ โอ๋ย.. ปวด

เจ็บปวดมันเกิดจากไหนล่ะ? เจ็บปวด เห็นไหม ดูสิ เวลาเขาติฉินนินทา ถ้าเราเข้าใจผิดว่าเขาชม อู๋ย.. ใจพองเลยนะ ทั้งๆ ที่เขาติฉินนินทาอยู่นะ นี่ความเข้าใจของเราไง แต่ถ้าเราเข้าใจถูกต้อง เขาติฉินนินทาจริงหรือเปล่า? เป็นอย่างที่เขาว่าหรือเปล่า?

นี่ถ้าเป็นอย่างที่เขาว่า เราต้องแก้ไข ถ้าไม่เป็นอย่างที่เขาว่า นี่โลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ ของอย่างนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม ของอย่างนี้มันมีอยู่ประจำโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา แก้ไขอย่างนี้มา นี่เวลาแก้ไขๆ ที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาใครจะเป็นพยานล่ะ?

เวลาไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะนี่เป็นพยานขึ้นมา แล้วเวลาเทศนาว่าการไปเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเป็นหมู่คณะขึ้นมา นั่นล่ะเป็นพยานต่อกัน.. พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ นี่พระอรหันต์กับพระอรหันต์ด้วยกันนะ ฟังด้วยกันนี่รู้ทั้งนั้นแหละ พระอรหันต์ต้องรู้เหมือนกัน ตรวจสอบได้เหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งนี้มันทันกันได้

ฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ใจของเรานี่เรารักษาของเรา รักษาหัวใจ รักษาการกระทำ ความเพียรชอบนะ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เราทุ่มความเพียรเข้าไปแล้วมันคว้าน้ำเหลว มันไม่ได้สิ่งใดตอบแทนมา เราก็น้อยเนื้อต่ำใจ เราก็ท้อถอย เห็นไหม จิตใจมันเป็นแบบนั้น เวลางานอย่างหยาบๆ งานอาบเหงื่อต่างน้ำ ใครก็ทำได้ ถ้างานบริหารจัดการต้องผู้มีประสบการณ์นะ

งานอันละเอียด งานเป็นอริยทรัพย์ พอเวลาจิตสงบแล้วก็ไม่รู้ว่าสงบเป็นอย่างใด ทั้งๆ ที่มันสงบนะ เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา ถ้าปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา เราไม่เข้าใจ ปัญญานี่เหลอเลยนะ เอ๊อะๆ เลยนะ แต่ถ้าเป็นปัญญาสมมุติ อู้ฮู.. เก่ง อู้ฮู.. รู้ อู้ฮู.. ซาบซึ้ง

นี่ไงเราถึงปล่อย มรรคหยาบนี่เราปล่อยอันนั้นมาไม่ได้ เราใช้สติปัญญา ใช้สติแล้วควบคุม พอมันพัฒนาขึ้นไปนี่เรารับรู้ ครูบาอาจารย์มีให้ถาม พอถามแล้วเราแก้ไขของเราไป ถ้าไม่ถามนะ สิ่งใดที่มันสัมผัส มันจะไปนั่งคิดวิตก วิจารเป็นเดือน เป็นปีนะ กว่าจะแก้ปมอันนี้ได้ แต่ถ้าครูบาอาจารย์บอกนะเราก็ยังไม่เชื่อ “ไม่จริงหรอก นี่ไม่รู้ไม่เห็นเหมือนเรา เรารู้เราเห็น”

ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา เป็นครูบาอาจารย์เราไม่ได้หรอก แล้วจิตของคนนี่ ตั้งแต่มันปล่อยวางเข้ามาจนกว่ามันจะสงบ ถ้าสงบแล้วเวลาเกิดภาวนามยปัญญา เกิดโลกุตตรธรรม โลกุตตรปัญญา ไม่ใช่ปัญญาอย่างที่เราพูดกันนี้หรอก

ปัญญาอย่างเรานี่ปัญญาจากสมอง ปัญญาจากสถิติ ปัญญาจากสัญญา ปัญญาจากอุปาทาน ปัญญาจากจินตมยปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันต้องเป็นระยะผ่าน ถ้าเราไม่มีปัญญาอย่างนี้ ไม่มีร่องรอยของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะเถียงธรรมะกันปากเปียกปากแฉะ แต่เพราะมีร่องมีรอย มีอริยสัจ มีสัจจะความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราศึกษามาเราก็ตีความกัน เราก็เถียงกัน

แต่ถ้าไปเป็นความจริงแล้ว ความจริงเป็นหนึ่งเดียว! ไม่ต้องเถียง เถียงไม่ได้ คนไม่รู้ไม่เห็นพูดไม่ได้ คนไม่รู้ไม่เห็น พูดไปมันก็ไปไหนมาสามวาสองศอก นี่จำมาขนาดไหน อย่างไร ของไม่เคยเห็นมันพูดไม่ได้หรอก แต่ถ้าของเคยเห็น คนเคยเห็นกับคนเคยเห็นนะ ไม่ต้องพูดหรอก สบตาก็รู้แล้ว

ฉะนั้นสิ่งนี้ที่ว่าเป็นธรรมนี่ พุทธศาสนา เราเป็นชาวพุทธ เราถือพุทธศาสนาด้วยเป็นประเพณีวัฒนธรรม แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัตินะ เราจะได้ความร่มเย็นเป็นสุข สิ่งที่เงินตราซื้อไม่ได้ มีเงินกี่หมื่น กี่แสนล้าน ก็ซื้อมรรค ซื้อผลไม่ได้ ซื้อศีล สมาธิไม่ได้ เวลาพ่อแม่เขาฝึกลูก เห็นไหม ลูกมีสติ มีปัญญา พ่อแม่ดีใจมาก เพราะสติปัญญานี่มันจะแสวงหาทรัพย์ได้มากมายมหาศาล ให้เงินให้ทองมันขนาดไหน มันรักษาไม่เป็น มันก็หายหมด

นี่ก็เหมือนกัน แค่สติปัญญา พ่อแม่ยังอยากให้ลูกฉลาด มีเชาว์ปัญญาที่ดี แล้วเกิดสติปัญญาในการฆ่าชำระกิเลส มันเป็นปัญญาอริยทรัพย์ที่ว่าทุกคนแสวงหา เพราะมันเป็นความสุขส่วนตน มันเป็นมรรค ผล ในใจของบุคคลคนนั้น ทุกคนต้องขวนขวาย ต้องมีการกระทำ เราถึงมาขวนขวาย มากระทำ เพื่อให้เกิดสัมผัส เพื่อให้ธรรมรส ให้สติปัญญามันเกิดขึ้นมา

“รสของธรรม ชนะซึ่งรสทั้งปวง”

รสกิเลส รสตัณหา รสความทะยานอยากที่ในหัวใจนี่ทุกคนมีอยู่ เห็นไหม ให้รสของธรรมที่ชนะนี้ปล่อยวางมัน ทิ้งวางมัน แล้วเป็นทรัพย์ของเรา เอวัง