เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเป็นชาวพุทธ เห็นไหม บอกว่าศาสนาพุทธเป็นนามธรรม ศาสนาคืออะไร คือการทำบุญ ทำบุญกุศล ที่ทำบุญกุศล ดูสิ เราอุตส่าห์หาปัจจัยเครื่องอาศัย หาอาหารมาถวายพระ อันนี้มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมเพื่อให้เป็นการแสดงออก

หลวงตาเวลาท่านบอก เวลาท่านไปไหนท่านไปเอาน้ำใจคน ท่านไม่ได้ไปเอาวัตถุ ไม่ได้ไปเอาสิ่งของ เอาน้ำใจคน แต่น้ำใจคนที่มันแสดงออกมา ถ้าไม่มีเครื่องแสดงออกมันจะเอาอะไรแสดงออก มันก็เอาสิ่งนี้แสดงออก แสดงออกมาให้เห็นน้ำใจว่าเราเป็นชาวพุทธ

นี่เราไปเอาใจคน เวลาหลวงตาท่านบอกท่านไปเอาหัวใจของคน แต่โลกเขาไปมองกันที่วัตถุ ฉะนั้นวัตถุนี้มันเป็นเครื่องแสดงออก ถ้าไม่มีการแสดงออก เราจะแสดงออกอย่างไรว่าเราเป็นชาวพุทธ

ฉะนั้นเวลาเราทำบุญนี่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย แต่เวลาพระได้รับแล้ว เขาเรียกว่า “เจริญศรัทธา” ถ้าเห็นแต่ศรัทธาของเขา เวลาพระนี่ต้องสนองศรัทธาของเขาตลอดไป พระเองก็พะรุงพะรังไปหมด ความพะรุงพะรัง มันพะรุงพะรังที่ไหน มันก็พะรุงพะรังเข้าไปในหัวใจ แล้วก็ห่วงหน้าพะวงหลัง พระเราก็ต้องการประพฤติปฏิบัติเพื่อจะชำระล้างให้มันสะอาดขึ้นมา แล้วถ้าไปห่วงหน้าพะวงหลัง มันก็ละล้าละลัง

ฉะนั้น เวลาเราไปทำบุญ เราไปทำบุญเราก็ตั้งใจของเรา สิ่งดีสิ่งที่เลิศ เห็นไหม นี่ทานของใครที่ประเสริฐ ทานของใครเลิศที่สุด นั้นมันเป็นที่เราแสวงหามา แต่เราสละของเราไปแล้ว พระท่านจัดการของท่าน เพื่อ! เพื่อหัวใจของท่าน

เวลาเราคิด ความคิดของเรานี่มโนกรรม เวลาคิดดีมันยังคิดได้ยากเลย แต่คิดเสร็จแล้ว เวลาทำดียากกว่าคิดดีอีก เห็นไหม เรามาประพฤติปฏิบัติกันเราก็อยากได้มรรค ผล นิพพาน ใครก็ปรารถนานะ ปรารถนาสิ้นสุดแห่งทุกข์ เวลาเราไปนั่งสมาธิภาวนาแล้ว มันยากหรือมันง่ายล่ะ? คิดดีมันก็ยังยากอยู่แล้ว ทำดียากกว่าคิดอีก เพราะทำแล้วมันไม่สมความปรารถนา ทำแล้วมันต่อต้านในหัวใจ จิตใจมันต่อต้าน จิตใจมันมีกิเลสมันขัดมันขวาง

ทีนี้เวลาพูดไปนะ เวลาปริยัติคือการศึกษาทางวิชาการ ถูกต้องไหม? ถูกต้อง นี้เวลาปฏิบัติไปให้วาง วางสิ่งนั้นให้มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง เวลาคนศึกษาจนติดนะบอกรับไม่ได้ ดูถูกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อพุทธพจน์มันถูกต้องหมด พุทธพจน์มันถูกต้องหมด เพราะเราไปยึด เราไปถือไง สิ่งที่เป็นคุณงามความดีมันเลยมาเป็นรูปแบบ

ดูสิ คนอยากดีด้วย อย่างเรานะ เราไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นความดีเลย แต่เราก็สร้างคุณงามความดีของเรา ปากกัดตีนถีบขึ้นมาจนหัวใจเราปล่อยวาง จนหัวใจเราเป็นคนดี เราเป็นคนดีโดยเนื้อหาสาระนะ แต่เราอยากเป็นคนดีใช่ไหม เราว่าเราปล่อยวางๆ ปล่อยวางแต่ภายนอก ข้างในรกรุงรังไปหมดเลย อย่างนี้เป็นความดีไหม?

นี่ไง พุทธพจน์ไง ห่วงมันจะผิดไปหมดเลย จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น พะรุงพะรังในหัวใจไปหมดเลย บอกว่าจะปล่อยวางนะ แต่ในหัวใจนี่มันแบกรับ มันยึดมั่นถือมั่น เหมือนคนสร้างภาพ เวลามันสร้างภาพ มันรู้ว่าสิ่งนี้เป็นความดี จะสร้างให้มันเป็นคุณงามความดี ทำให้มันเป็นความดี แต่ใจมันดีจริงหรือเปล่าล่ะ? แต่คนไม่ได้สร้างภาพ ทำไปปากกัดตีนถีบไปตามข้อเท็จจริงของมัน มันดีโดยเนื้อหาสาระ ดีโดยข้อเท็จจริง ดีโดยตัวของมันเอง ถ้าดีอย่างนี้มันดีเพราะอะไรล่ะ?

นี่ไง ปริยัติ ปฏิบัติ.. เวลาเราปฏิบัติกัน เราปฏิบัติเพื่อบังคับตัวเอง ฉะนั้นบังคับตัวเอง เวลาพระเรา เห็นไหม มักน้อยสันโดษ ได้มาแล้วนะ คำว่า “สันโดษ” แล้วแต่มันจะมีของมันตามความเป็นจริงของมัน นี่ได้มาตามสันโดษ ตามมีตามได้ แต่ยังมักน้อยอีกนะ มักน้อยว่าถ้าเราใช้ไป หลวงตาท่านบอกว่า “อยู่ที่วัดนะ ท่านไม่ให้ไฟเข้ามาในวัดเลย ท่านบอกถ้าไฟเข้ามาแล้วนะ พัดลมจะตามมา ตู้เย็นมันจะตามมา ต่อไปพระจะธุดงค์ไม่ได้หรอก”

พระธุดงค์ไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะเราเคยชินกับมัน นี่ถ้าเราเคยชินกับมันนะ วัดไหนที่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเลย หรือเข้าไปในป่าในเขาเลย เราไปไม่ได้แล้ว เราไปไม่ได้เพราะเราเคยชิน

นี่ก็เหมือนกัน มักน้อยๆ สิ่งที่ได้มาแล้ว ถ้าเราเคยชินกับมัน เราทำกับมัน เดี๋ยวเราก็จะคุ้นเคยกับมัน แต่ถ้าเราตื่นตัวตลอดเวลาใช่ไหม เราแยกแยะของเรา เห็นไหม ปฏิสังขาโย เวลาพระให้พรเสร็จแล้ว พระจะฉันอาหาร ถ้าไม่ได้ปฏิสังขาโย ไม่พิจารณาอาหารก่อนฉันเป็นอาบัติทุกกฎ เป็นอาบัติทันทีเลย

การจะฉันอาหาร ต้องพิจารณาว่าเราฉันเพื่ออะไร? ฉันทำไม? ฉันไปแล้วร่างกายมันต้องการไหม? ฉันเข้าไปแล้วมันเกินกว่าเหตุไหม? ฉันเข้าไปแล้วก็ไปนั่งสัปหงกโงกง่วง แต่เวลาโยมมานี่ อืม.. ก็อยากให้พระได้เต็มที่ แต่พระก็ต้องพิจารณาของท่าน เพราะคิดดี ทำดี เห็นไหม ทำดีหมายถึงว่า เราจะทำคุณงามความดี เราจะสร้างสติของเรา เราจะสร้างสมาธิของเรา เราจะสร้างปัญญาของเรา

ปัญญาทางโลกๆ มีปัญญาขึ้นมา โลกนี่เขาบริหารจัดการทุกอย่างดีหมดเลย เว้นไว้แต่ถ้ามีการบริหารจัดการเข้าไปจัดการในองค์กรสิ่งใด จัดการให้มันถูกต้อง องค์กรนั้นจะดีไปหมดเลย ขาดการบริหารจัดการเท่านั้นเอง ฉะนั้นเราก็จะเอาบริหารจัดการนี้มาจัดการในหัวใจของเรา พอจัดการในหัวใจของเรามันก็สร้างภาพหมดเลย

นี่โลกเขาบอกขาดการบริหารจัดการ ขาดปัญญา นี่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาของกิเลสไง กิเลสมันบังเงา “เออ.. ทานก็ได้ทำแล้ว ศีลก็ได้ถือแล้ว ปัญญาก็เกิดแล้ว มันก็จะเป็นพระอรหันต์อยู่ข้างหน้า” นี่ปัญญาก็มี พระไตรปิฎกหน้าไหน ฉบับไหน เล่มไหนไม่รู้บ้าง รู้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าสอนอะไรรู้หมด! พระพุทธเจ้าสอนอะไรรู้หมดเลย แล้วกิเลสเต็มหัว กิเลสเต็มหัว นี่ปัญญาใช้แล้วไง

เวลาภาคปฏิบัติ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” เราต้องทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ก่อน ป่ารกชัฏ เราจะไปหว่านข้าว หว่านพืชลงไป มันขึ้นไม่ได้หรอก หัวใจเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วบอกว่าให้ธรรมะโผล่ขึ้นมาในหัวใจของเรา มันเป็นไปไม่ได้หรอก

มันต้องทำความสงบของใจ ทำป่ารกชัฏนั้น พยายามปรับป่ารกชัฏ คนจะทำนาเขาต้องปรับที่นาของเขา เขาต้องทำคันนาของเขา เขาต้องคราด เขาต้องไถของเขา ไถแล้วคราด คราดแล้วไถ เพื่อไม่ให้วัชพืชมันเกิดในนานั้น เวลาเขาหว่านข้าวไปแล้วหญ้ามันยังเกิดเลย เขาต้องตามเก็บตามล้างมัน เห็นไหม นี่เราต้องทำความสงบของใจ เราต้องปรับป่ารกชัฏ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ถางป่า แต่ไม่ได้ทำลายต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว”

นี่ก็เหมือนกัน เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแซงหน้าแซงหลังไปก่อน บอกมันเป็นสมาธิ บอกมันเป็นตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ปัญญาเกิดตั้งแต่อยู่ในท้อง ปัญญามันพร้อมหมดแล้ว เห็นไหม นี่ปัญญากิเลสมันพาใช้ มันบังเงา แล้วบอกว่า “ต้องเคารพ! ต้องเคารพพุทธพจน์”

เคารพ ทุกคนก็เคารพทั้งนั้นแหละ แต่เคารพแล้วถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาเป็นสมบัติของเรา เห็นไหม มรรค ผลนี่ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สาธุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระสารีบุตร ของพระโมคคัลลานะก็สาธุ ธรรมะส่วนบุคคลทั้งนั้นแหละ แต่ของเรามันยังไม่มี ของเรามันยังไม่เกิด ต้องทำความสงบของใจ ต้องปรับพื้นที่ของเรา เราต้องทำความสงบของใจ พุทโธ พุทโธ พุทโธ

เขาบอกว่า “ทำสมถะมันไม่เกิดปัญญา” นี่เห็นไหม กิเลสมันบังเงานะ บังเงาว่าเวลามันเกิดโลกียปัญญา ปัญญาของกิเลส กิเลสมันเอาปัญญาอย่างนี้มาอ้างอิงว่ามันเกิดปัญญาแล้ว เวลาปัญญาอย่างนี้เกิด เราก็ว่านี่เป็นปัญญาแล้ว ปัญญาแล้วทำไมสงสัย ปัญญาอย่างนี้เวลามันเกิดนะ นี่กิเลสมันบังเงา พอปัญญามันเกิดนะมันก็โล่ง มันก็ว่าง มันก็สบาย.. เดี๋ยวเดียว! เดี๋ยวสงสัยแล้ว!

กิเลสมันบังเงาอย่างนี้ มันหลอกอยู่ตลอดไป มันหลอกเราแล้วหลอกเราเล่า เราก็ให้มันหลอกอยู่ทุกวันเลย โอ๋ย.. ปัญญาเกิดแล้ว ปัญญาเกิดแล้ว นี่เกิดแล้วไง โล่ง..ว่าง..สบาย.. เดี๋ยวเดียว เพราะมันเป็นปัญญาของกิเลส กิเลสมันบังเงา เห็นไหม มันเอาปัญญาอย่างนี้มาอ้าง แล้วมันก็ซุกอยู่ในใจเรา มันก็เหยียบย่ำใจของเรา เราก็ยังหลงกับมันอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะอะไร เพราะบอกว่านี่มันปัญญาเกิดแล้วไง พอบอกว่าทำความสงบของใจสิ

“โอ๋ย.. ทำทำไม มันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา โอ๋ย.. พุทโธนี่ไร้สาระ เกิดนิมิต โอ๋ย.. ติดไปหมดแหละ”

ถ้าคนเราไม่มีที่นา ไม่มีผืนนา คนๆ นั้นจะหว่านข้าวทำนาได้อย่างไร? คนไม่มีผืนนา ไม่มีที่นา นาดอน นาหว่าน ข้าวไร่ นาไร่ ก็ต้องมีที่ทำไร่ทำนา หัวใจของเรายังไม่รู้จักหัวใจของเราเลย ว่างๆ ว่างๆ นี่เป็นมิจฉาสมาธินะ มิจฉาเพราะอะไร เพราะที่นาไม่มี ว่างบนอากาศไง นี่จะทำนาบนก้อนเมฆไง เวลาถ้ามันจะว่าง ว่างตรงไหนล่ะ? ที่นาเราว่างจริงหรือ? ถ้าที่นาเราว่าง มันต้องดูสิว่าที่นาเราไม่มีวัชพืช

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจะว่างคือมีสติไง ถ้าใครเป็นสมาธินะมันจะรู้ตัวมันเอง เด่นชัดเลย อืม.. มีความสุข นี่สมาธิเป็นอย่างนี้ สมาธิเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันเป็นแบบนี้ นี่เขาไปดูถูกสมถะกันก่อนไง พยายามจะล้างสมองกันว่าสมถะไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดปัญญา..

ถ้าไม่มีสมถะ ไม่มีที่นา มันจะทำนากันที่ไหน? ถ้าไม่มีสมถะ ไม่มีฐีติจิต ไม่มีพื้นที่ของจิต ธรรมะมันเกิดที่ไหน? ธรรมะที่จำมา ธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้นนะ ธรรมะของเรามันจะเกิดขึ้นมา เกิดจากใจของเรานะ ไอ้ที่เกิดๆ นั้นมันยืมมา

สัญญา ความจำ การศึกษา นี่ไงลิขสิทธิ์ๆ ไง นี่ลิขสิทธิ์ตอนนี้เขาจับหมดแหละ แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่เคยเรียกร้องลิขสิทธิ์ ไม่เคยเรียกร้องสิทธิของใครเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมเพื่อต้องการให้ทุกคนรู้หมด ต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์ เอาธรรมะนี้รื้อสัตว์ขนสัตว์ ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์

“ไม่มีกำมือในเรา” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีกำมือในเรา ไม่มีลับลมคมใน พระไตรปิฎกไม่มีลับลมคมใน มีลับลมคมในเพราะใจของผู้อ่าน ใจของผู้ศึกษา ใจของเขามีลับลมคมใน เขาถึงได้ตีความผิด เขาถึงได้มีความเห็นผิด เขาถึงสร้างภาพของเขา พระไตรปิฎกไม่มีลับลมคมใน เราถึงต้องทำความสงบของใจ ถ้าไม่มีลับลมคมใน เราต้องไม่มีลับลมคมในกับตัวเราก่อน

ไม่มีกำมือในเรา แบหมด เผยแผ่หมด แต่พวกเรามีลับลมคมในในใจเราเอง แซงหน้าแซงหลัง กิเลสแซงหน้าไปก่อน ปัญญาเกิดแล้ว รู้หมด รู้พระไตรปิฎก รู้ธรรมะหมด รู้ทุกอย่างหมด.. ว่างแป๊บเดียว เดี๋ยวก็สงสัย เดี๋ยวก็สงสัย แล้วไม่ใช่สุภาพบุรุษ ไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง ไม่ยอมรับความผิด ไม่ยอมรับความจริง คนเกิดความลังเลสงสัยแล้วนั่นเป็นนิวรณธรรมแล้ว ถ้าเกิดความลังเลอยู่เป็นธรรมะได้อย่างใด ทุกคนทำไปนี่ต้องเกิดความลังเลทั้งนั้น ทุกคน!

ฉะนั้นถึงบอกว่า จิตใจนี่มันมีอวิชชาของมันอยู่ ต้องทำความสงบของใจเข้ามา แล้วพอทำความสงบของใจเข้ามาแล้ว เห็นไหม เงินทองของเรา ได้มาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เราจะใช้จ่ายอย่างไร ก็มีความองอาจกล้าหาญ เงินทองของเราได้มาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เราจะใช้จ่ายที่ไหน เราก็ใช้จ่ายด้วยความสะอาดบริสุทธิ์

ถ้าใจมันเป็นสัมมาสมาธิ แล้วเกิดปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดมาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ปัญญาที่เกิดจากภวาสวะ เกิดจากจิต เกิดจากฐีติจิต เกิดจากที่นาของเรา มันจะเป็นปัญญาของเรา มันจะสะอาดบริสุทธิ์ จะใช้จ่ายที่ไหน มันใช้จ่ายด้วยความองอาจกล้าหาญ

ปัญญากู้ยืมมา ทำธุรกิจนี่กู้มาหมดเลย เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าหมดเลย เวลาพูดธรรมะนี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เทศน์เอาไว้แล้ว นี่ไปยืมมา ไปยืมเขามา แต่อย่าถามนะ พูดครั้งที่ ๑ กับพูดครั้งที่ ๒ มันจะไม่เหมือนกันไง แต่ถ้าเป็นปัญญาของเรา เงินทองของเรานะ ขณะจิตที่มันเกิดแล้วนี่มันจะองอาจกล้าหาญ ถามมาร้อยครั้งก็ได้ ถามมาล้านครั้งก็ได้ ไม่มีคลาดเคลื่อน

สังเกตไหมเวลาหลวงตาท่านพูด ท่านบอกว่า

“ไอ้หมู ๒ ตัวนั้น ก็หมู ๒ ตัวนั้นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ”

ไอ้หมู ๒ ตัวนั้น สมัยหลวงปู่มั่น นี่มันจะพูดอันนั้นอยู่ตลอดเวลาไม่มีคลาดเคลื่อนเลย เห็นไหม คนพูดไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่ถ้าคนจำมาพูดนะ ไอ้หมู ๒ ตัวนั้น พูดไปพูดมานะจะกลายเป็น ๔ ตัว เดี๋ยวหมูกลายเป็น ๖ ตัว นี่มันเติมเข้าไป มันแต่งเข้าไป เพราะมันไม่รู้จริงไง แต่หลวงตาเวลาพูดถึงไอ้หมู ๒ ตัวนั้น ไอ้หมู ๒ ตัวนั้น เห็นไหม พูดตั้งแต่ต้นจนจบ

นี่สุภาพบุรุษ พูดไม่มีคลาดเคลื่อน พูดอย่างใดก็พูดอย่างนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ต้นจนปลาย ถ้าเป็นปัญญาที่สะอาดบริสุทธิ์ ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญา เราจะรู้ของเราได้ แล้วจะเป็นปัญญาส่วนตน ปัญญาของเราไง ถ้าปัญญาอย่างนี้มันเกิด นี่พุทธศาสนาสอนที่นี่ไง เห็นไหม เรามองกันว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องการทำบุญทำทาน.. ทำบุญทำทานนี่มันเป็นการปรับความตระหนี่ถี่เหนียว เป็นการปรับหัวใจของเราให้เปิดกว้าง หลวงตาบอกว่า

“บ้านของใคร ประตูเปิดกว้าง หน้าต่างเปิดกว้าง อากาศจะถ่ายเทดีมาก”

การเสียสละ การแสดงน้ำใจ นี่ให้มันเปิดการถ่ายเทในความรู้สึกของหัวใจ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความยึดมั่นถือมั่นให้มันถ่ายเท ให้มันมีการแลกเปลี่ยนไง ไม่ใช่ว่านี่ปัญญาเราๆ ของๆ เราแล้วยึดมั่นถือมั่นไง เห็นไหม ทำบุญกุศล เราทำบุญกุศลเพื่อเหตุนี้ พอทำบุญกุศลแล้วได้ฟังธรรม ฟังธรรมนี่ ธรรมะที่เป็นความจริงมันแทงหัวใจนะ ธรรมะถ้าเป็นความจริงสะดุ้งทุกทีแหละ

แต่ถ้าธรรมะทางโลกๆ นะ โอ้โลมปฏิโลม โอ๋กันไปก็โอ๋กันมา คนนู้นก็วิเศษ คนนั้นก็เทวดา คนนั้นก็พระพรหม มีแต่คนดีๆ ทั้งนั้น แต่ในหัวใจมันหมักหมมแต่สิ่งใดไว้ล่ะ? แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ มันจะทิ่มเข้าไปในหัวใจของเรา นี่ความลับในโลกนี้ไม่มี ความรู้สึก ความนึกคิดของเรา เราพยายามจะสลัดมันทิ้ง เราพยายามจะแก้ไขมัน แต่ทำไมเราทำไม่ได้ล่ะ?

นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม “ทาน ศีล ภาวนา” เราจะภาวนาแก้ไขหัวใจของเรา คิดดี ทำดี คิดดีแต่ทำดีไม่ได้ หัวใจมันดิ้น.. คิดดี ทำดี รักษาหัวใจของเรา รักษาใจนี้ทำยาก เห็นไหม คนที่เขาไม่เข้าใจเขาจะบอก พระนี่ ดูสิเช้าขึ้นมาก็บิณฑบาตแล้วก็ฉัน ไม่มีงานอะไรเลย

งานที่รักษาหัวใจ งานรั้งใจไว้ในอำนาจของเราเป็นงานที่หนักมาก เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาอยู่มันก็ดิ้น ไปอยู่ที่ไหนมันก็ดิ้น แล้วเราจะรักษามันอย่างใด? นี่งานของนักบวช งานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ งานเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา แล้วบริหารจัดการด้วยมรรคญาณ ด้วยมรรค ด้วยผล เวลามันพิจารณาของมันไปนะมันจะมีเหตุมีผล มันจะเป็นประโยชน์กับหัวใจ หัวใจจะเป็นประโยชน์มาก

นี่พูดถึงเรามีสติ มีปัญญา มันจะเหนื่อย มันจะล้านะ เวลามันทำงานไป งานทุกอย่างทำแล้วเหนื่อยล้ามาก ยิ่งอยู่กับครูบาอาจารย์ สังเกตได้ไหมเราฝึกงานทางช่าง ถ้าเราไปเจออาจารย์ของเรา เป็นช่างที่เก่งมาก เขาจะคอยจ้ำจี้จ้ำไชเราเต็มที่เลย เราไปเจอช่างที่มันไม่เป็นนะ เขาบอกว่านี่เอาเท้าเขี่ยๆๆ ก็เสร็จ

นี่ก็เหมือนกัน เราไปเจอครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะ หู ตาของท่าน ท่านรู้ถึงการดีดดิ้นในหัวใจ แล้วท่านคอยบอกเรา คอยชี้เรานะ เราก็อึดอัดขัดข้อง บอกว่า “แหม.. มันยุ่งจริงๆ มันยุ่งจริงๆ” ยุ่งจริงๆ นั่นแหละมันจะได้ดี ไม่ยุ่งเลย สะดวกสบายไปหมดเลย นั่นล่ะมักง่าย แล้วมันจะทุกข์ยากของมัน

ยุ่งจริงๆ เพราะหัวใจมันยุ่ง ยุ่งจริงๆ เพราะกิเลสมันยุ่ง แล้วเราคิดดี เราจะทำดี เพื่อหัวใจของเรา เอวัง