ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้เท่าไม่ถึงการณ์

๑๑ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

รู้เท่าไม่ถึงการณ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหานี้มันเป็นปัญหาข้อ ๔๕๓. เขาเขียนมาในทางที่ว่ามาชม มันไม่เป็นปัญหา เขียนยกหางกันเองไม่เอา

ข้อ ๔๕๔. ไม่มี ตรงนี้จะข้ามเยอะมาก

ข้อ ๔๕๕. เขียนมาเรื่อง “ยกเลิกการนั่งสมาธิ” ตอบเขาไปแล้ว

ข้อ ๔๕๖. ถึงข้อ ๔๕๙. คำถามซ้ำ

ข้อ ๔๖๐. นี่เขาเขียนมาระบายเฉยๆ เขาเขียนมาด่า แล้วเขาบอกว่า.. พูดด้วยอย่างนี้เลยนะ

“ด่าเพื่อลดทิฐิตัวเอง หลวงพ่ออย่าอ่านนะ”

โฮ้.. เวรกรรม ที่เขียนมานี้ไม่ให้อ่านนะ เขียนมาลดทิฐิตัวเอง คือไม่พอใจเรา เขียนมาด่าแล้วห้ามอ่านออกอินเตอร์เน็ตด้วย อ้าว.. ผ่าน

โฮ้.. ไม่พอใจก็เขียนมาด่า ทีนี้เข้าเรื่องแล้ว

ถาม : ๔๖๑. เรื่อง “ฐานของจิตอยู่ที่ไหนกันแน่”

กราบนมัสการพระอาจารย์สงบที่เคารพอย่างสูง ผมเริ่มใช้คำบริกรรมพุทโธ โดยตั้งฐานของจิตไว้ที่หน้าอกเบื้องซ้าย ประมาณปี ๔๑ เรื่อยมาถึงลิ้นปี่ จนถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน ๕๓ ไปฝึกดูจิตตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ อริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ประมาณ ๒-๓ วันก็เปลี่ยนกลับมาพุทโธ โดยตั้งฐานของจิตไว้ที่หน้าอกเบื้องซ้ายเหมือนเดิม พยายามตั้งฐานของจิตไว้ที่หน้าอกเบื้องซ้าย มันก็ไม่ยอมมา จิตมันจะไปอยู่ที่บริเวณลิ้นปี่ เป็นเวลาอย่างนี้อยู่ ๒-๓ วัน จึงสามารถตั้งฐานของจิตไว้ที่เดิมคือหน้าอกเบื้องซ้ายได้

ในช่วงประมาณงานสัปดาห์วิสาขฯ ปี ๕๔ โยมได้ปฏิบัติธรรม ช่วงเย็นได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านสอนปฏิบัติธรรม ท่านเอ่ยถึงที่ตั้งของจิต ๕ ฐาน แต่ในนั้นไม่มีหน้าอกเบื้องซ้ายเลย โยมจำได้แม่นยำคือที่ลิ้นปี่ และอีก ๔ ฐานจำไม่ค่อยได้ โยมมีปัญหาจะถามพระอาจารย์ดังนี้

๑. การที่โยมตั้งฐานของจิตไว้ที่หน้าอกเบื้องซ้าย ถูกหรือผิด

๒. ลิ้นปี่เป็นฐานที่ตั้งที่สำคัญจริงหรือเปล่า เพราะรู้สึกว่าครูบาอาจารย์หลายสำนักมักเน้นที่ฐานนี้ ถ้าโยมจะเปลี่ยนฐานของจิตมาที่บริเวณลิ้นปี่ แต่ใช้คำบริกรรมพุทโธอย่างเดียว โดยไม่กำหนดลมหายใจเข้าออกได้หรือไม่ หรือทำทั้ง ๒ แบบได้หรือไม่เจ้าคะ กราบนมัสการอย่างสูง

หลวงพ่อ : นี่เอาข้อที่ ๑. นะ ที่ว่า

“การที่โยมตั้งฐานของจิตไว้ที่หน้าอกเบื้องซ้าย ถูกหรือผิด”

เราบอกว่าปัญหานี้ถามเข้ามาเยอะมาก แล้วถ้าเป็นกรรมฐานนะ ครูบาอาจารย์บอกว่าตั้งไว้ที่ปลายจมูกล่ะ? นี่มัน ๕ ฐานแล้วนะ เดี๋ยวปลายจมูกเป็นฐานที่ ๖ เดี๋ยวกลางหน้าผากเป็นฐานที่ ๗ เดี๋ยวจะสับสนกันไปใหญ่

ฐานของจิตก็คือตัวภพ คือตัวปฏิสนธิจิต ฐีติจิตนี่ข้อเท็จจริง แต่เวลาปฏิบัติแล้วแต่ครูบาอาจารย์ท่านสอนใช่ไหม อย่างหลวงตา อย่างครูบาอาจารย์ของเรา จะสอนให้ไว้ที่ปลายจมูก คำว่าปลายจมูกนี่เหมือนเราเป็นผู้ชำนาญการ พอเป็นผู้ชำนาญการ เขาจะบอกสิ่งใดให้เราทำแล้วเราจะได้ผลง่าย หรือทำอะไรสะดวกที่สุด เพราะคำว่าที่ปลายจมูกมันมีลมหายใจเข้ากระทบ มันอุ่นๆ ไง พออุ่นๆ ตรงไหนที่มันเด่นชัดนี่ ถ้าเราตั้งสติตรงนั้น เราจะได้ประโยชน์มากที่สุด

สมมุติเราจะตั้งฐานที่จิต แต่มันเป็นนามธรรมจนเกินไป พอเป็นนามธรรมจนเกินไปทำให้เราสับสน เราทำอะไรแล้วไม่ค่อยสะดวกไง แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ฐานของจิตนี่ ถ้าจิตมันสงบเข้าไปมันเข้าฐานมันเอง ทีนี้เวลาตั้ง เห็นไหม เวลากำหนดลม อย่างเช่นอานาปานสติให้ตามลมเข้าไปนะ ตั้งแต่ปลายจมูกเข้าไปถึงกลางสะดือ

ทำไมฐานของจิตตั้งแต่ปลายจมูกมันจะไหลเข้าไปถึงกลางสะดือล่ะ แล้วพอถึงกลางสะดือแล้วมันก็ไหลออกมา ทำไมฐานของจิตมันไหลไปไหลมาได้ล่ะ?

นี่พูดถึงอานาปานสตินะ ฉะนั้นเราไม่ต้องกังวลไง ถ้าเรื่องนี้กังวลนะ มันจะเป็นเราตั้งปัญหาขึ้นมากังวลกันเอง มันเหมือนกับคนทำนา ทำนาบนที่ดอน เห็นไหม ถ้าทำนาบนที่ดอน ถ้าน้ำฝนตกพอประมาณของเขาก็ได้ แต่ถ้าคนทำนาที่ลุ่ม แม้แต่นาดอนกับนาลุ่มมันก็แตกต่างกันแล้ว ที่ว่าเขาต้องกักน้ำนี่ก็แตกต่างกัน

ฉะนั้นเวลาจิตของเรา จิตของคน เห็นไหม ความถนัดมันแตกต่างหลากหลายนัก ฉะนั้นที่ว่าฐานของใคร เบื้องต้นนี่จะทำนาที่ไหนมันก็ต้องมีเมล็ดพันธุ์ใช่ไหม ไร่ข้าวเขาก็ต้องใช้ไม้เจาะเป็นรูแล้วก็หยอดข้าว ๓ เมล็ด ๔ เมล็ด นี่เราทำนาหว่านเขาก็ใช้หว่านเอา นาดำเขาก็เอาต้นกล้าก่อน.. เราจะบอกว่าพันธุ์ข้าวสำคัญที่สุด

ฉะนั้นฐานของจิต ตัวจิตสำคัญที่สุด ถ้าตัวจิตสำคัญที่สุดมันก็เข้าสู่จิตนั่นล่ะ ฉะนั้นถ้าเข้าสู่จิต อ้าว.. เขาทำไร่ข้าว เราทำนาดำ แล้วก็บอกว่าของใครทำถูก โอ๋ย.. เป็นปัญหานะ เรื่องนี้เรื่องใหญ่เลย เถียงกันไม่จบ แต่สุดท้ายขึ้นมาเราต้องการข้าวกันใช่ไหม ไร่ข้าวเขาก็ปลูกข้าวเพื่อดำรงชีวิต เราทำนาดำ นาหว่าน นาลุ่ม นาดอนต่างๆ เราก็ทำเพื่อข้าวของเรา

ฉะนั้น ฐานของจิต! ถ้าเข้าสู่ฐานก็คือเข้าสู่ความสงบ.. เข้าสู่ความสงบ เราตอบไว้อันหนึ่ง เห็นไหม

“จิตอยู่ที่ไหน”

“จิตอยู่ที่ผู้รู้.. รู้ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น”

ถ้าเราระลึกรู้ นี่จิตอยู่พร้อมแล้ว ถ้าพอระลึกรู้หายไป จิตหายไปแล้ว จิตเร่ร่อนแล้ว

ฉะนั้นเราจะบอกว่า ถ้าเราทำตรงไหนแล้วมันได้ประโยชน์นะ ถ้ามันแบบว่าอยู่หน้าอกเบื้องซ้ายก็ได้ ถ้าอยู่ที่กลางลิ้นปี่ มันเป็นแบบว่า.. เห็นไหม กลางลิ้นปี่ ปลายจมูกนี่มันตรงกับคำสอน แต่หน้าอกเบื้องซ้ายของเรา เราก็คิดของเราถ้ามันทำได้

ทีนี้สมมุติว่า.. ไม่ใช่สมมุติ เรื่องจริงเลย จิตมันอยู่ที่หน้าอกเบื้องซ้ายใช่ไหม พอมันจะสงบ มันขยับหน่อยหนึ่ง เราก็พยายามจะดึงจิตมาไว้ที่เก่า คือไม่ให้มันสงบลง ด้วยความเข้าใจผิดว่ามันต้องสงบลงตรงจุดนี้ แต่เวลาสงบขึ้นมามันก็คือสงบ พอสงบขึ้นมา ถ้ามันสงบก็ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าความสงบนี้มันอยู่ผิดจุดที่เราตั้งไว้ เราก็ไม่ยอม เราก็จะดึงมาที่เราตั้งไว้ มันก็ดึงออกมา มันก็ไม่เข้าสู่ความสงบ

ฉะนั้น “ฐานของจิตอยู่ที่ไหนกันแน่”

อยู่ที่จิตสงบ แล้วจิตของคนสงบใช่ไหม จิตของคนสงบ จิตของคนคึกคะนอง พอสงบปั๊บมันจะเห็นนิมิต เห็นต่างๆ แล้วจิตของคนราบเรียบนะ เวลาสงบนี่สงบเฉยๆ สงบเข้าไปแล้วก็แน่วแน่ เอ๊ะ.. แล้วใครถูกใครผิดล่ะ?

ถ้าเราเอาตรงนี้เป็นประเด็นนะ นี่เวลาพวกที่ปฏิบัติใหม่ก็จะเอาตรงนี้เป็นประเด็น เป็นความกังวลไง บอกว่าทำไมเราไม่เหมือนเขา เขาไม่เหมือนเรา เราไม่เหมือนคนนู้น คนนี้ไม่เหมือนคนนี้ อ้าว.. ใครทำความดีก็คือความดี เขาทำดีก็ผลประโยชน์ของเขาก็สาธุ เราทำความดีของเราก็เป็นความดีของเรา ถ้าสงบก็คือสงบ ถ้าจิตสงบก็คือใช้ได้

ฉะนั้นบอกว่า “ฐานของจิตอยู่ที่ไหนแน่”

โอ้โฮ.. ใครถูกใครผิดนะ มันเป็นประเด็นขึ้นมา มันต้องเป็นประเด็นขึ้นมา จิตสงบขึ้นมามันก็เป็นระยะผ่าน เช่น โทษนะ เราหาเงินหาทองกันนี่ เงินกินได้ไหม เห็นใครเคยกินกระดาษบ้าง ไม่เคยเห็นใครกินกระดาษเลย เขาเอาเงินไปแลกเป็นอาหาร

จิตสงบขึ้นมาก็เพื่อวิปัสสนาไง เราอย่าไปตั้งเป้าว่าจิตสงบแล้ว อู้ฮู.. มันจะเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ว่าทำอะไรไม่ได้เลย จิตสงบขึ้นมาก็เหมือนเราหาเงินกัน เราทำมาหากินขึ้นมาก็เพื่อหาเงิน เงินก็เอาไปแลกเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย เป็นการเดินทาง เป็นค่าอาหาร เป็นค่าที่อยู่อาศัย

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตสงบแล้วเราออกวิปัสสนาไง จิตสงบแล้วเรายังมีงานทำอีกเยอะนะ พอจิตสงบแล้วเราก็จะใช้ปัญญาแล้ว เราจะไปอยู่สติปัฏฐาน ๔ จะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อรื้อเพื่อถอดถอนกิเลสไง ฉะนั้นอย่าไปยึดมั่นว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น พอต้องเป็นอย่างนั้นปั๊บคือจบ คือทำอย่างอื่นต่อไปไม่ได้ ความจริงแล้วมันเป็นขั้นตอนไง ขั้นตอนว่า “สติ สมาธิ ปัญญา”

มีสติก็เกิดสมาธิ เกิดการกระทำที่ดี ถ้ามันเกิดความสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา ฉะนั้นพอสงบเข้ามาแล้วมันจะเหมือนใครไม่เหมือนใครนี่นะ ดูว่าจิตสงบแล้วมีความร่มเย็นเป็นสุขไหม ถ้าความร่มเย็นเป็นสุข สัมมาสมาธิ มีสตินี่มันตรวจสอบได้ เรานี่รู้ก่อน เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เรารู้เองเห็นเองนะ

ถ้าจิตเร่าร้อน เราก็รู้ว่าเร่าร้อน จิตเราสงบร่มเย็น เราก็รู้ว่าจิตสงบร่มเย็น จิตสงบร่มเย็นแล้วมีสติสัมปชัญญะพร้อมไหม จิตสงบร่มเย็นแต่เผอเรอไม่มีสติเลย อืม.. มิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิแต่เป็นมิจฉา ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ มีความสงบร่มเย็น มีสติพร้อม เหมือนรถนี่ รถขับมา ๑๒๐ หรือ ๑๕๐ ก็แล้วแต่ ถ้าเครื่องยนต์ดี เบรกดี คนขับดี วิ่งฉิว นี่พร้อมหมด สติพร้อม มันจะไปส่งสินค้าที่ไหนก็ได้ จะไปที่ไหนก็ได้

รถวิ่งมา ๑๒๐ แต่คนขับหลับใน รถหมุนอยู่นั่นไม่รู้ว่ารถไปไหน ว่าง ขาดสติ เห็นไหม นี่มิจฉามันเป็นอย่างนี้ไง ถ้าเป็นสัมมาสมาธิเราจะรู้ของเรา ฉะนั้นขอให้สงบร่มเย็นแล้วมีสติพร้อมนะ สติพร้อมแล้ว พอออกรู้นี่ ไม่ต้องรู้เรื่องอะไร รู้เรื่องชีวิตประจำวันเรานี่แหละ พอออกรู้มันจะซาบซึ้ง คนมีสติ มีสมาธินะ พอคิดถึงเรื่องชีวิตนี่น้ำตาไหลนะ

คนเกิดมาทำไม? ทำไมเกิดมาแล้วมันกระเทือนใจ.. ถ้ามีสมาธินะมันจะย้อนกลับมาเป็นเรื่องธรรมะ ถ้าขาดสมาธิ ขาดสติ พอมันคิดขึ้นมานะ อืม.. จะไปทำงาน จะไปหาตังค์ มันคิดไปเรื่องโลก อู้ฮู.. มันคิดว่าทำแล้วประสบความสำเร็จ อู๋ย.. มันไปเลยนะ

อันนั้นมันเป็นสมบัติสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิหา แต่สมบัติส่วนตัวคือจิตของเรา จิตของเรามีสุข มีทุกข์ มีอำนาจวาสนาบารมี มีการตัดรอน ถ้ามันเข้ามาที่นี่ เห็นไหม พอมันคิดเรื่องชีวิตประจำวัน คิดเรื่องชีวิต เรื่องเกิดมา เรื่องความเป็นอยู่ มันสะเทือนใจนะ มันสะเทือนใจมาก มันเห็นคุณค่ามากเลยว่า โอ้โฮ.. เรามีบุญมาก เราเกิดมาเป็นคน เกิดมาพบพุทธศาสนา เกิดมาพบธรรมะ อู๋ย.. ใจมันจะซาบซึ้งมาก หน้าที่การงานเราก็ทำเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้นแหละ นี่ถ้ามีสติ มีสมาธิ ปัญญามันเกิด มันจะเกิดอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นปัญญาโลกๆ นะ อืม.. เกิดมาพ่อแม่ก็เลี้ยงมาจนป่านนี้แล้ว อู้ฮู.. กำลังเข้มแข็ง มันจะไปข้างนอกเลย มันจะไปนู่นเลยนะ แต่ถ้ามีสตินะมันจะเข้ามาที่นี่เลย

เราก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เราก็ดูแลพ่อแม่เรา เราก็เตือนสติพ่อแม่เรา ถ้าพ่อแม่เราพยายามตั้งสติด้วย เขาเรียกเปิดตานะ เราเลี้ยงดูพ่อแม่ในชาตินี้ เราเลี้ยงดูด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเราเปิดตาพ่อแม่นะ เวลาพ่อแม่ดับขันธ์ไป พ่อแม่ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เราเลี้ยงพ่อแม่ข้ามภพข้ามชาตินะ เราส่งพ่อแม่เราไปที่ดีนะ เราดูแลพ่อแม่เราตั้งแต่ชาติต่อไปนู่นยังได้เลยถ้าเราทำดีของเรา

แต่ถ้าในทางโลก เห็นไหม อู๋ย.. เราไม่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เราก็เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวกันอยู่นี่ เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวก็เช็ด แต่ถ้าเราเปิดตาพ่อแม่ได้นะ ให้พ่อแม่บริกรรมพุทโธ ให้พ่อแม่รู้จักจิตของตัวเองนะ แล้วจิตตัวเองนี่แก้ไขที่ดี โอ๋ย.. มันสะเทือนใจนะ

นี่พูดถึงว่าปัญญา ถ้าเป็นปัญญา ถ้าจิตสงบแล้วมันไปนั่น

ถาม : ข้อ ๒. ลิ้นปี่เป็นฐานที่ตั้งที่สำคัญของจิตหรือเปล่า เพราะรู้สึกว่าครูบาอาจารย์หลายสำนักมักเน้นที่ฐานนี้ ถ้าโยมจะเปลี่ยนฐานของจิตมาที่บริเวณลิ้นปี่ แต่ใช้คำบริกรรมพุทโธอย่างเดียว โดยไม่กำหนดลมหายใจเข้าออกได้หรือไม่ หรือทำทั้ง ๒ แบบได้หรือไม่

หลวงพ่อ : ได้ เปลี่ยนมาที่ลิ้นปี่ก็ได้ หรือถ้าไม่ต้องเปลี่ยน เราอยู่เฉยๆ เวลาจิตมันสงบนี่มันมาเอง หลวงตาบอกว่า “จิตสงบจริงๆ อยู่กลางหัวอก” เห็นไหม มันจะหดเข้ามาที่กลางหัวอก

ทีนี้เพียงแต่เราคิดกันว่าจิตก็คือใจ ใจก็คืออยู่ที่หัวใจด้านซ้าย มันก็ต้องอยู่ที่หัวใจ แล้วเวลาเขาเปลี่ยนหัวใจนะ เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนหัวใจ ถ้าเปลี่ยนหัวใจ ทีนี้เอาหัวใจที่ไหนก็ไม่รู้ เปลี่ยนจิตออกหรือเปล่าก็ไม่รู้

ได้! ใช้คำบริกรรมพุทโธอย่างเดียวก็ได้ บริกรรมพร้อมลมหายใจมันใช้เป็นครั้งคราวไง เวลารถนี่ รถหนักเราออกตัวอย่างหนึ่ง รถเบาออกตัวอย่างหนึ่ง จิตถ้าดีๆ นะ กำหนดพุทโธก็ได้ กำหนดลมหายใจก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง มันจะลงได้ง่าย แต่จิตของเราถ้ามันกระทบรุนแรง อารมณ์มันรุนแรง พร้อมสูดลมหายใจแรงๆ แล้วพุทโธแรงๆ เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของมัน หยุดอารมณ์ให้ได้ ถ้าหยุดอารมณ์ให้ได้ มันอยู่กับคำบริกรรม มันก็ปล่อยวางอันนั้นมา

นี่เวลาสติเราดีนะ เราปล่อยทุกอย่างมาเป็นตัวของตัวเอง เวลาเราเผลอนะ อารมณ์เป็นเรา ทุกข์เป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา อารมณ์ความรู้สึกกับเราเป็นอันเดียวกัน ทุกข์น่าดูเลย! แต่พอตั้งสติปั๊บนะ พอมันทิ้งหมดนะ มันอยู่กับคำบริกรรมเฉยๆ เห็นไหม ตอนนั้นเราใช้ทั้งบริกรรม ทั้งลมหายใจ แต่ถ้าจิตเราดี วันนี้จิตเราดีมากเลยไม่ต้องกำหนดรุนแรง รถเบาๆ ออกเกียร์ ๒ ก็ได้ ไม่ต้องออกเกียร์ ๑ ก็ได้

มันอยู่ที่ปัจจุบันไง มันไม่มีสูตรตายตัวนะ อารมณ์วันนี้ดี วันนี้ไม่ดี อารมณ์วันนี้เป็นอย่างไร ถ้าอารมณ์รุนแรงเราก็ใช้คำบริกรรม ใช้ลมหายใจชัดๆ แต่ถ้าอารมณ์ดี เห็นไหม กำหนดเบาๆ กำหนดอย่าแรง แรงแล้วมันกระเทือนด้วย มันอยู่ที่เหตุการณ์ไง เหตุการณ์เฉพาะหน้าเขาเรียกว่า “ปัจจุบันธรรม” ปัจจุบันดีเราก็ทำสิ่งที่ดี ปัจจุบันที่มันกระทบรุนแรง เราก็ต้องต่อสู้กันแรงนิดหนึ่ง มันไม่มีอะไรตายตัวนะ มันอยู่ที่ปัจจุบัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ฐานของจิตอยู่ที่ไหน”

ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปกังวล ประสาเราว่า เรายังไม่มีข้าวเลย เราจะบอกชามข้าวเรานี่จะรูปแบบสิ่งใด แต่ถ้าเป็นของเราเป็นกะลาก็ได้ กะลามะพร้าวก็ใส่ข้าวได้ ชามทองคำก็ใส่ข้าวได้ ทุกอย่างก็ใส่ข้าวได้ แต่เขาใส่ข้าวนะ.. ข้าวกับภาชนะ ทีนี้เราไปห่วงแต่ภาชนะ ภาชนะจะเอารูปแบบใด จะใส่อย่างไร? เราไม่ห่วง เราห่วงข้าว ข้าวได้กิน ข้าวกินแล้วมีความสุข ภาชนะเอาไว้โชว์กัน เอาไว้ประดับกัน เอาไว้ใส่ตู้โชว์

อย่าไปห่วง ทำให้เป็นความจริงขึ้นมา ไม่ต้องกังวลนะ ไม่มีอะไรผิด ผิดก็แก้ไขได้ ผิดก็เขียนเข้ามาใหม่ เดี๋ยวเราตอบให้ อย่ากังวล ตัวกังวลนี่แหละคือตัวสำคัญ กังวลคือนิวรณ์ไง วิตกกังวลนี่ทำอะไรแล้วมันก็คลาดเคลื่อนหมด เราปล่อยเราสบายใจ อย่าให้มีความกังวล แล้วทำของเราจริงจัง ผิดถูกแก้ไขกันไป เดี๋ยวเราจะมีประสบการณ์ของเราดีขึ้นๆ ไม่ต้องกังวล

 

ถาม : ๔๖๒. เรื่อง “จะปฏิบัติตนอย่างไรดีครับ”

กราบเรียนพระอาจารย์ ผมฟังเทศน์ของพระอาจารย์ผ่านเว็บไซต์มาพักใหญ่ แต่ตอนนี้มีปัญหา กระผมเองมีความทุกข์ จึงอยากถามเพื่อขอคำปรึกษาจากพระอาจารย์ครับ

เรื่องมีอยู่ว่า พ่อผมป่วยเป็นไตวายแล้วผมถ่ายไตให้ แล้วพ่อไม่รักษาตัวเองก็เลยเสียใจมาก คือเปลี่ยนแล้ว แล้วพ่อไม่ค่อยดูแลตัวเอง ก็เลยติดเชื้ออีก ผมจึงอยากถามอาจารย์ว่า การกระทำของผมมันเป็นบุญหรือเป็นบาปครับ ถ้าเป็นบาปควรจะจัดการอย่างใด มีเพื่อนบอกว่าให้ปล่อยวาง ผมก็สงสัยว่าจะวางได้อย่างใด ผมเป็นคนธรรมดา

หลวงพ่อ : นี่ทุกข์มาก เราทำความดีนะ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่ให้ชีวิตเรามา แล้วเราก็ทำคุณงามความดีให้พ่อ คือเขาว่าเขาตัดไตข้างหนึ่งให้พ่อนะ แล้วพ่อนี่ไม่ค่อยดูแลตัวเอง แบบว่าไม่ค่อยดูแลตัวเอง เขาเลยเสียใจก็เลยตำหนิพ่อบ้าง ก็เลยถามมาว่ามันบาปหรือเปล่า

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำดีแล้วก็คือทำดี เราสาธุด้วยนะเรายอมเสียสละ เพราะเราได้ชีวิตมาจากท่านเหมือนกัน แล้วเราเสียสละให้ท่านแล้ว แล้วถ้าเราเตือนท่านแล้วให้ดูแลรักษา.. พ่อก็คือพ่อ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ

“ถึงพ่อแม่เราจะผิดก็ไม่ควรโต้เถียง ไม่ควรโต้เถียง เพราะผิดมันจะตกกับเราเอง”

ฉะนั้น นี่เราทำดีกับท่านเต็มที่แล้ว เราเสียสละเต็มที่ให้กับท่านแล้วล่ะ แล้วพูดถึงนะถ้าเกิดได้ไตจากคนอื่นโดยไม่ใช่กรรมพันธุ์ ร่างกายมันต่อต้านด้วย นี่พ่อกับลูกมันใกล้ชิดกันไง แล้วผ่าตัดเสร็จแล้วนะ นี้เพียงแต่ว่าเขาคาดหวังไง

นี้มันเป็นเวรเป็นกรรมนะ คำว่าเป็นเวรเป็นกรรมหมายถึงว่า เวลาเขาทำอะไรผิดพลาด เพราะว่าการเปลี่ยนอวัยวะนี่ หมอพูดให้ฟังอยู่เหมือนกันนะ การเปลี่ยนอวัยวะแล้วมันไม่เป็นคนปกติแล้ว แม้แต่การไอ การจามยังต้องระวังตัวเลย

มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งเขามาเล่าให้ฟัง ข้างบ้านเขา ญาติผู้ใหญ่เขาไปเปลี่ยนไตมาจากเมืองจีน แล้วเห็นเด็กๆ มันกินชมพู่ ขอกินชมพู่ชิ้นหนึ่ง ชมพู่ชิ้นเดียว พอกินเสร็จปั๊บนี่ไตมันขับไม่ไหว เข้าโรงพยาบาลหมดไป ๒ แสน กินชมพู่ชิ้นเดียวนะ ชมพู่ชิ้นเดียวนี่แหละ

นี้เราจะบอกว่าเรื่องเวรเรื่องกรรม คำว่าเรื่องเวรเรื่องกรรม ชีวิตประจำวันเราเคยทำไง ทีนี้พอมันเปลี่ยนไตไปแล้ว หรือเราเปลี่ยนอวัยวะแล้วเราจะต้องระวังตัวมาก ความเป็นอยู่มันจะไม่เหมือนปกติเลยล่ะ มันต้องดูแลตัวเองเต็มที่ไง จะทำอะไรต้องระวังตัวเต็มที่นะ แม้แต่การลุก การนั่ง เพราะมันไม่ใช่ของจริง เราไปเปลี่ยนแปลงแล้ว ขนาดหมอเคยคุยกับเรา หมอเขาบอกว่า“หลวงพ่อ แม้แต่การไอนี่นะมันทำให้หลุดได้เลย” การไอ การจามเราก็ต้องระวังแล้ว

นี่ไง “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”

ฉะนั้น พอเรามีโรคนะ แล้วเราจะแก้ไข เราช่วยเจือจานแล้ว.. เราจะบอกว่า เราเห็นว่าท่านทำตัวผิด ไปติดเชื้ออะไรมา ความจริงบางทีมันเผลอ หรือถ้าทำตัวอย่างนี้อีกกรณีหนึ่ง แต่นี่เขาบอกว่าพ่อไม่ระวัง เป็นเพราะว่าเขารักษาพ่อเขาอยู่ อันนี้เราทำดีที่สุดแล้ว

ฉะนั้นอย่างกรณีที่ว่า “จะเป็นบาปไหม”

ถ้าเป็นการเตือนการบอกกันในทางที่ดีก็อันหนึ่งนะ ฉะนั้นอันนี้มันอยู่ที่ว่าเราทำใจได้มากน้อยแค่ไหน พอมาอันที่ ๓

ถาม : มีเพื่อนบอกว่าให้ผมวาง ผมก็สงสัยว่าผมจะวางได้อย่างไรเพราะผมเป็นคนธรรมดา

หลวงพ่อ : นี่ไง เวลากิเลสมันบังเงา มันบังเงาอย่างนี้ มันจะบอกว่าทำไม่ได้ อย่างไรก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าเราพยายามของเรา มันจะช่วยให้ใจเราดีขึ้นไง คือเราก็พยายามหาเหตุหาผลสิ หาเหตุหาผลให้วาง ถ้าหาเหตุหาผลให้วาง เห็นไหม เราทำคุณงามความดีแล้วก็คือทำคุณงามความดีแล้ว เราทำให้พ่อเราได้เต็มที่แล้ว เราก็ได้ทำให้พ่อเราแล้ว ถ้าพ่อเราไม่มีกรรมตัดรอน พ่อเราก็ได้อวัยวะไปแล้วพ่อเราก็จะดีขึ้น แต่ถ้าพ่อเราไม่ระวังตัว พ่อเราทำให้เกิดติดเชื้อ เกิดอะไรต่างๆ มันก็เป็นเรื่องสุดวิสัย

เรื่องสุดวิสัย เห็นไหม เราบอกว่าเรื่องสุดวิสัย เรื่องอุบัติเหตุมันก็คือเรื่องกรรม มันเป็นเหตุสุดวิสัยนะ ถ้ากรรมมันตัดรอนทำดีขนาดไหนมันก็มีเหตุมีผลของมัน จะต้องให้เป็นแบบนั้นไง ทีนี้ถ้าเราทำดีแล้ว.. คนเราเวลาทุกข์นะ เวลาพ่อมีความทุกข์ท่านก็จะทุกข์มาก เวลาได้เปลี่ยนไปแล้วท่านควรจะคิดถึงตรงนั้น แล้วท่านต้องรักษาตัวท่านเอง แต่ความเผลอของคนมันมี

เราจะบอกว่า การหาเหตุหาผลเพื่อให้วางได้ มันเป็นงานที่ควรทำ แต่ถ้าเราไม่หาเหตุหาผล แล้วเราเข้าข้างเราเอง เข้าข้างว่าเราเป็นคนธรรมดา เราเป็นปุถุชน เราวางไม่ได้ พอวางไม่ได้ เห็นไหม มันเป็นช่องทางให้ยึดมั่นถือมั่นมากขึ้น ให้เราเอาไฟเผาใจเรามากขึ้น เราก็หาเหตุหาผลทางวิทยาศาสตร์ ว่าการเปลี่ยนแล้วพ่อเราควรทำตัวอย่างนั้นๆ เหตุผลทางวิทยาศาสตร์มันเข้ามาเผาใจเราว่าพ่อเราไม่ทำแบบนี้ๆ มันก็เลยกลายเป็นเอาไฟนี่เผาใจของตัวเอง เพราะเราเป็นคนธรรมดา

เราไปอ้างว่าเราเป็นคนธรรมดาปั๊บ มันก็ทำให้กิเลสมันยิ้มเลยนะ กิเลสมันขี่หัวแล้วมันก็ควบเลยทีนี้ เราก็หาเหตุหาผลมาเผาใจเรา แต่ถ้าเราหาเหตุหาผลเป็นทางธรรม ทางสุดวิสัย ทางสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วเราก็ช่วยของเราเต็มที่ เราช่วยของเราเต็มที่ พ่อก็คือพ่อ พ่อแม่ก็คือพ่อแม่นะ เวลาใครปากจัด ปากเก่งขนาดไหน มันก็เก่งแค่ปาก แต่ใจมันก็ต้องผูกพันเป็นธรรมดา

ฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้น “จะปฏิบัติตนอย่างไรดีครับ”

ปฏิบัติตนเราก็ปฏิบัติทำความดีกับท่าน เหมือนคนเราทำความดีมาเกือบถึงที่สุด แล้วเราจะไปท้อแท้ทำไม เราทำความดีมาตั้งเยอะแล้ว ถึงที่สุดแล้วเราจะทำอย่างไร เราก็ทำให้ถึงที่สุด เราทำดีกับท่านตลอดไป ถ้าท่านหายกลับมาเป็นปกติมันก็เป็นบุญกุศลของเรา แต่ถ้าท่านมีปัญหาขึ้นมา เราก็ต้องช่วยแก้ไขจนถึงที่สุดแหละ เพราะว่าเราจะต้องไปด้วยกัน

นี่ไงผลของวัฏฏะ เราเกิดมานะ เราเกิดมาเราก็มีพ่อมีแม่ ต่อไปเรามีครอบครัวเราก็มีลูกมีหลาน มันเป็นผลของวัฏฏะไง ผลัดกันเป็นพ่อเป็นแม่ ผลัดกันนะ ผลัดกันเป็นพ่อเป็นแม่ เราไม่รู้ว่าจิตดวงไหนเกิดมาเกิดซ้ำเกิดซาก ฉะนั้นกรณีอย่างนี้มันมีอะไรที่ขัดแย้งกันมา มันก็มีอะไรผูกพันกันมา ฉะนั้นเราไม่รู้นี่ว่าอดีตชาติเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ในปัจจุบันนี้เรารู้ได้ ในปัจจุบันนี้เรามีธรรมะ ในปัจจุบันนี้เรามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัยของเรา เรายึดตรงนี้ให้เป็นหลักไว้

ฉะนั้นเราแก้ไขของเราอย่างนี้ เราหาเหตุหาผล เราเป็นคนธรรมดาสิ เราจะเป็นคนมาจากไหนล่ะ เราจะเป็นคนวิเศษมาจากไหน เราก็เป็นคนธรรมดา เราก็คิดเรื่องธรรมดาๆ นี่แหละ เราก็คิดเรื่องบุญกุศลของพ่อของแม่ นี่เราเสียสละได้แล้ว เห็นไหม เราอุตส่าห์เปลี่ยนไตให้ท่านแล้ว คนธรรมดาได้ขนาดนี้ก็ใช้ได้แล้ว

ฉะนั้นเหตุผลที่มันเป็นไป บางอย่างมันเป็นเหตุสุดวิสัย ดูสิเวลาคนไปโรงพยาบาล ไปรักษาในโรงพยาบาล เข้าไปแล้วติดเชื้อเยอะแยะไปหมดเลย ก็ไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาทำไมมันได้ของแถมมาด้วยล่ะ ตอนนี้เขาบอกเลย เข้าโรงพยาบาลระวังนะจะมีของแถม ติดเชื้อมาแล้วแก้ไขยากด้วย นี่เราตั้งใจอย่างหนึ่ง ผลมันตอบมาอีกอย่างหนึ่งนะ

ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นผลของวัฏฏะนะ เราจะให้กำลังใจไง เราอยากพูดให้กำลังใจ ให้มีสติ ผลของวัฏฏะ ก็พ่อแม่เราเป็นแบบนี้ เราเกิดมาจากท่าน เราก็ดูแลให้ถึงที่สุด ก็พ่อแม่เป็นแบบนี้ ดูสิ เวลาทองคำมันก็คือทองคำ เงินก็คือเงิน หินก็คือหิน มันคือธาตุ

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาร่วมธาตุไง กรรมพันธุ์นี้เป็นเรื่องของธาตุ ๔ นะ นิสัยใจคอนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นมันเป็นอย่างนี้เราก็ต้องแก้ไขไป อภิชาตบุตร บุตรที่ดีกับพ่อกับแม่ บุตรที่มาล้างมาผลาญ พ่อแม่จะเสียใจมาก ฉะนั้นเราแก้ไขไป.. ผลบุญผลกรรมมันเป็นแบบนี้ ตั้งสตินะแล้วแก้ไขไป แก้ไขไป

ให้กำลังใจ โยมอย่าคิดว่าโยมเจอสภาพนี้คนเดียว โลกนี้เขาเจอสภาพนี้เยอะนะ บางคนเจอสภาพมากกว่านี้ พ่อแม่เอาแต่ได้ แบบว่าทำลายเยอะมากกว่านี้ ลูกก็ต้องทนเอา ฉะนั้นเราให้กำลังใจ เราอยากให้กำลังใจ อยากให้ต่อสู้ ให้มีสติแล้วหาเหตุหาผลให้สิ่งที่มันคิดโต้แย้งให้เบาลง แล้วดำเนินชีวิตไป

 

ถาม : ๔๖๓. เรื่อง “ทำผิดขณะบวชพระ (โง่ เพราะไม่รู้จริงๆ)”

หลวงพ่อ : เพราะปาราชิกเรานี่ ตอบไปแล้วมันเป็นอย่างนี้กลับมา ไม่ใช่ปาราชิกเรานะ เขาถามเรื่องปาราชิกเข้ามาแล้วเราตอบไป

ถาม : นมัสการหลวงพ่อที่เคารพ กระผมยอมรับว่ากลุ้มใจหลังจากฟังการตอบปัญหาของหลวงพ่อที่มีคนเขียนมาถาม ในข้อการตอบเรื่องอาบัติปาราชิกที่หลวงพ่อเปรียบเหมือนตาลยอดด้วน ผมเลยได้ฉุกคิดในอดีตที่บวชให้พ่อแม่ตามธรรมเนียม ก็ตั้งใจทำดี แต่ในใจมันคิดมาก

หลวงพ่อ : โฮ้.. ขอข้ามๆ หน่อยหนึ่ง เขาโทรศัพท์ไปคุยกับแฟน เท่านั้นแหละ เขาคุยกันไง

ถาม : คุยในเรื่องอดีตก่อนบวช แต่ทีนี้ไอ้เรื่องเนื้อความที่คุยกันมันเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้คุยเกี้ยวนะครับ มันจะเข้าข่ายชู้สาวไหม พอมาเปิดอินเตอร์เน็ตดูเขาว่าทำแบบนี้ต้องด้วยข้อสังฆาทิเสส แล้วจะเป็นอาบัติหนักอย่างหนึ่ง ต้องอยู่กรรมจึงจะหาย แต่ผมไม่รู้เพราะบวชแค่ ๙ วัน แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่เดี๋ยวนี้หันมาปฏิบัติธรรม รักษาศีล นั่งสมาธิ ภาวนาทุกวัน มันก็ลุ่มๆ ดอนๆ เจริญบ้าง เสื่อมบ้าง นั่งได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ไม่ละความพยายาม

แต่พอฟังว่าผิดวินัยของสงฆ์เรื่องปาราชิกของหลวงพ่อ จึงมาทวนตัวเองว่าตัวเองผิดอย่างที่กล่าวไหม เลยมาเจอข้อที่ว่า เขาว่าเป็นสังฆาทิเสส ไม่ได้อยู่กรรมเสียก่อน แบบนี้ชาตินี้ผมไม่มีทางบรรลุธรรมขั้นใดได้เลยหรือครับหลวงพ่อ หรือต้องไปบวชใหม่แล้วแจ้งแก่สงฆ์ใหม่ หรือได้แต่แค่ทำบุญเฉยๆ ใช่ไหมครับ รบกวนหลวงพ่อตอบด้วย

แล้วอีกข้อหนึ่ง อันว่าวินัยสงฆ์ขั้นรุนแรงนั้นคือปาราชิก หรือข้ออาบัติต่างๆ ใช้กับสงฆ์อย่างเดียวใช่ไหมครับ ถ้าบุคคลทำกรรมแบบเดียวกัน แต่ไม่เป็นพระหรือยังไม่ได้บวช จะปฏิบัติไม่บรรลุธรรมเหมือนกันหรือไม่ครับ หรือให้นับเอาเมื่อเป็นสงฆ์เท่านั้น

ข้อหลังนี้ ขอถามเพราะผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีเรื่องแบบนี้ แต่กลับใจได้มาปฏิบัติธรรมเขาเหล่านั้นจะต้องผิดด้วยไหมครับ ไม่ใช่พระ แต่อาจผิดก่อนหรือหลังนั้น ขอความเมตตาช่วยตอบด้วยครับ

หลวงพ่อ : ไอ้นี่เวลาความผิด เวลาจะบวชพระ เห็นไหม เวลาเป็นปะขาวต่างๆ เขาจะฝึกจะสอนให้ก่อน แต่ถ้าเราไม่รู้ เวลาบวชทุกคนก็ต้องการความสะดวก ทุกคนก็ต้องการว่าให้มันสะดวก แล้วทำอะไรคิดแต่ว่าอยากได้บุญๆ ไง อยากได้บุญมันก็เป็นบุญอยู่ แต่เวลาทำไปแล้วมันเสียใจภายหลัง

กรณีนี้ถ้าเราพูดแบบว่ายกตัวอย่างที่ชัดๆ หลายเรื่องมาก เพราะในวงการสงฆ์ วงการพระที่เป็นอาบัติสังฆาทิเสสแล้วสึกไป เขามีปัญหาขึ้นมา บางคนกลับมาบวชใหม่ บวชใหม่เพื่อมาปลงอาบัติ มาอยู่กรรมแล้วปลงอาบัติซะ หลายคนพอออกไปแล้ว โทษนะ ทำมาหากินแล้วมันลุ่มๆ ดอนๆ มันติดขัดไปหมด แต่เวลาก่อนหน้านั้นด้วยศักดิ์ศรีไง ส่วนใหญ่พวกเรานี่ด้วยศักดิ์ศรีไม่กล้าพูด

อย่างเช่นถือศีลอทินนาทาน ของลักนี่ ของลักคือของมีเจ้าของอยู่แล้วเราหยิบฉวยเอา แค่เราขอหรือเราบอกเขานี่นะมันไม่ผิดศีลไง อทินนาทาน เห็นไหม ของลักนี่ ถ้าเราบอกเขานะ ขอใครเขาก็ให้นะ ส่วนใหญ่การบอกกันเขาจะช่วยเหลือเจือจานกัน แต่พวกเราส่วนใหญ่แล้วมันเสีย เดี๋ยวหยิบเอานี่ไม่เป็นไร แต่มันไปผิด เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่ากัน นี้เขาบอกว่าเขาโทรศัพท์คุยกัน นี่ถึงบอกว่าโทรศัพท์คุยกัน มันอนิยต ๒ ไง ลับหูลับตา ถ้าลับหูลับตา เห็นไหม โดยธรรมชาติพระเราอยู่กับผู้หญิงไม่ได้ จะต้องมีบุคคลที่สาม เพราะเป็นพยานเรื่องการพูดการคุย ทีนี้การพูดการคุย เวลาเราคุยโทรศัพท์มันเรื่องส่วนตัว พอพูดไปแล้ว เขาบอกว่ามันก็เป็นเรื่องก่อนที่เขาบวช แล้วถามมาว่ามันเป็นปาราชิกไหม? ไม่เป็นหรอก เพราะมันเป็นเรื่องการคุยผ่านโทรศัพท์ไง

ฉะนั้นถ้าเป็นปาราชิกมันมีปาราชิก ๔ แล้วอย่างคำว่าปาราชิกมันก็มีเฉพาะที่ว่าเป็นพระเท่านั้น พระกับภิกษุณี นอกนั้นไม่มี ฉะนั้นคนที่ไม่ได้บวชแล้วทำก่อน.. เพราะเขาบอก ที่เขาถามมา เห็นไหม

“เป็นนาคเป็นปาราชิกไหม?”

เป็นนาคไง พอมาเป็นนาค มาเป็นปะขาว แล้วทำอะไรเป็นปาราชิกไหม? ไม่มี ไม่เป็น แต่เศร้าหมองไหม? มันเศร้าหมองทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเพียงแต่ว่า..

ถาม : แบบนี้ชาตินี้ผมไม่มีทางบรรลุธรรมขั้นไหนเลยใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ กรณีไม่ใช่นี่เอาพระฉันนะ พระฉันนะนี่นะมีองค์เดียว รู้สึกว่ามีองค์เดียว องค์นี้สุดยอดมาก พระฉันนะเป็นผู้เอาพระพุทธเจ้าออกบวช แล้วพอพระพุทธเจ้าออกบวชเสร็จแล้วก็เที่ยวมายึดว่าพระพุทธเจ้าเป็นของตัว ไปนั่งเฝ้ากุฏิเลยนะ ใครไปไหนก็ต้องผ่านฉันๆ แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่พูดอะไร แต่พอเวลาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะนิพพาน พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้

“อานนท์ ถ้าเรานิพพานไปแล้ว ให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ”

การลงพรหมทัณฑ์ เห็นไหม ลงพรหมทัณฑ์ต้องอยู่กรรม.. นี่เหมือนกัน การลงพรหมทัณฑ์ ถ้าลงพรหมทัณฑ์ต้องอยู่กรรม อยู่กรรมแล้วขอยกเข้าสู่สงฆ์ใหม่ ลงพรหมทัณฑ์ปั๊บต้องให้ทำตามกติกาของสงฆ์ ถ้าไม่ทำตามกติกาของสงฆ์ไม่ให้เข้าหมู่ พระฉันนะเสียใจมาก เสียใจมากแล้วเข้าป่าไปเลย เข้าป่าไปภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์

นี่ไง บอกว่าสังฆาทิเสสแล้วไม่ได้ พอบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วกลับมาขออยู่กรรม เวลาถ้าตัวเองยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์นะ ทิฐิมันไม่ยอม แต่พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนะยอม จะกลับมาขอพระอานนท์ว่าจะมาขออยู่กรรม พระอานนท์บอกอยู่อะไร เป็นพระอรหันต์ไปแล้วมาอยู่อะไร? สำเร็จไปแล้ว แต่สำหรับพวกเราล่ะ?

เพราะอะไร เพราะตั้งแต่สังฆาทิเสส ปาราชิก ปาราชิกนี่ตาลยอดด้วน ไม่ได้เด็ดขาด แต่สังฆาทิเสสมันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ไง มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ เราถึงพยายามต้องอยู่กรรมกัน แล้วมันมีผล

ฉะนั้น “ในชาตินี้ผมบรรลุธรรมซักขั้นหนึ่งไม่ได้เลยใช่ไหมครับ”

ไอ้อย่างนี้ ถ้าประสาเราว่าเรามีอุปสรรคอยู่ขวางหน้า นี่เราพูดแบบสุภาพบุรุษเลยเนาะ ถ้าพวกเรามีอุปสรรคอยู่ขวางหน้า เราจะจัดการอุปสรรคนั้นก่อนไหม หรืออุปสรรคนั้นเราไม่จัดการ เราพยายามจะชน เราพยายามจะดันอุปสรรคนั้นให้ผ่านไป

มันมีอยู่ ๒ ประเด็นไง ประเด็นหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าเรามีอาบัติหนักบังหน้าเราอยู่ เราจะปฏิบัติธรรมด้วยความรุนแรงเพื่อจะให้ทะลุผ่านไป กับเรามากำจัดอุปสรรคนั้นก่อน เอาอุปสรรคนั้นออกไปซะ แล้วเราปฏิบัติ ได้หรือไม่ได้นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่เอาอุปสรรคนั้นออกไปก่อนไง การว่าเอาอุปสรรคนั้นออกไปก่อน คือที่เขาถามนี่แหละว่า

“ต้องกลับไปบวชใหม่แล้วไปอยู่กรรมหรือเปล่า”

ถ้าเราบวชเข้าไปซะ แล้วไปเอาอุปสรรคนั้นออกก่อน อุปสรรคที่ว่ามันขวางหน้าเรานี่เอาออกก่อน แล้วเรากลับมาปฏิบัติใหม่ เราว่าเวลาแค่นี้มันไม่มากนะ ถ้าใครคิดว่าทำอย่างนั้นแล้วนะ แล้วกลับมาอยู่กรรม

ถ้าอยู่กรรมนี่ โอ้โฮ.. ผมเคยบวชมาตั้งแต่ ๑๐ ปีที่แล้ว มันก็ต้องนับทวน ๑๐ ปีที่แล้วเลย ผมต้องอยู่กรรม ๑๐ ปีเลยหรือ? อันนี้มันเป็นเวลาที่ปิดไว้ เวลาที่ปิดไว้กี่ปีนะ แต่กี่ปีก็แล้วแต่ ในพระไตรปิฎกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ถ้าลืมนับไม่ได้ ให้สงฆ์นั้นเป็นผู้สังฆาทิเสส คือสงฆ์เป็นใหญ่”

สังฆาทิเสส อาบัติกับสงฆ์ สงฆ์เป็นผู้วินิจฉัย ถ้าสงฆ์เป็นผู้วินิจฉัย ถ้าสงฆ์เป็นธรรมนะ เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า

“ถ้าเขาสำนึกตน ให้สงฆ์เห็นสมควรว่าสิ่งนั้นทำแล้วมันเป็นประโยชน์”

เพราะว่าการแก้อาบัติ การทำคุณงามความดี มันเป็นการทำเพื่อส่งเสริมคุณงามความดี ทำเพื่อเปิดโอกาสให้คนทำดี ทำความดีให้มันเจริญ ไม่ใช่ว่าเอาอาบัตินี้มาฆ่าคน ไม่ใช่เอาอาบัตินี้มาทำลายโอกาสของคน ไม่ใช่เอาอาบัตินี้มาทำให้คนเสียหาย

วินัยนี่เพื่อส่งเสริมให้คนดี ส่งเสริมให้คนมีสำนึก ส่งเสริมให้คนทำดี ถ้าเขามีความดี เขาสำนึกผิด แล้วถ้าสงฆ์เป็นธรรม นี่มันอยู่ที่การวินิจฉัยของสงฆ์ ถ้าสงฆ์วินิจฉัยว่าให้อยู่แค่ที่เขาสำนึกแล้ว ให้เขารู้สำนึก ให้อยู่มนัสเลยก็ได้ ให้อยู่มนัสแล้วแก้ไขไป.. ถ้าแก้ไขอุปสรรคแล้ว กลับมาปฏิบัติ พอคราวนี้ปฏิบัติแล้ว พอมาแก้ไขอุปสรรคแล้ว โอ้โฮ.. ปฏิบัติจะวิ่งฉิวเป็นพระอรหันต์เลย มันก็ไม่ใช่ มันก็อยู่ที่วาสนา

ฉะนั้นอันนี้ นี่เพราะคนเป็นอย่างนี้เยอะ เพราะพวกเราสุกเอาเผากินไง เวลาก่อนหน้าที่เราจะปฏิบัติกัน เราก็คิดว่าปฏิบัติๆ แต่พอเรามาปฏิบัติจริงจัง เพราะคนที่ปฏิบัติมันต้องศึกษาทฤษฎี ศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพื่อเราจะเข้าสู่ทาง พอศึกษาเข้าไปแล้วนี่ช็อกเลยนะ โอ้โฮ.. อย่างนี้ก็ทำผิดมาแล้ว อย่างนี้ก็ทำผิดมาแล้ว อย่างนี้ก็ทำผิดมาแล้ว แต่ก่อนที่เรายังไม่เห็นคุณงามความดี เราก็ไม่ศึกษาเลย พอเรามาศึกษานะ สิ่งนี้เราก็ทำมาแล้ว สิ่งนี้เราก็ทำมาแล้ว แล้วเราจะแก้ไขอย่างใด เราต้องแก้ไข

นี่พูดถึงถ้าต้องการความจริงนะ เราจะแก้ไขของเรา

ถาม : ต้องเข้าไปแก้ไขใช่ไหม หรือต้องบวชใหม่เพื่อให้สงฆ์แก้ไข หรือได้แต่ทำบุญไปเฉยๆ ใช่ไหมครับ หลวงพ่อช่วยตอบด้วย

หลวงพ่อ : อันนี้ให้พิจารณาของเราว่าควรแก้ไขอย่างใด

ถาม : อีกข้อหนึ่ง อันว่าวินัยสงฆ์ขั้นรุนแรงนั้นคือปาราชิก หรือข้ออาบัติต่างๆ ใช้กับสงฆ์อย่างเดียวใช่ไหมครับ ถ้าบุคคลทำกรรมแบบเดียวกัน แต่ยังไม่เป็นพระหรือยังไม่ได้บวช จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : บรรลุได้ ทีนี้คำว่าบรรลุธรรมๆ แต่ถ้าเราทำอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นสิ่งที่กรรมหนักมันปิดไว้ มันก็เอาเรื่องอยู่นะ

ถาม : ข้อหลังนี้ขอถามเพื่อคนหลายๆ คน คงมีเรื่องแบบนี้ แต่ได้กลับใจมาปฏิบัติธรรม เขาเหล่านั้นจะต้องผิดด้วยไหมครับ

หลวงพ่อ : อันนี้เวลากังวล มันกังวลไปหมดนะ

ถาม : ป.ล. ผมไม่รู้จริงๆ ว่า การพูดของผมตรงกับความผิดสังฆาทิเสสไหม

หลวงพ่อ : การพูดมันพูดไปแล้ว การพูดมันมีผลตรงไหม ถ้าพูดอย่างนี้แล้วมันเป็นเหมือนกับเขาเรียกว่า “องค์ประกอบของกฎหมาย”

กฎหมาย เห็นไหม ทำความผิดแต่ขาดเจตนา นี่ทางผู้พิพากษาเขาจะยกให้ว่า “มีความผิดแต่ขาดเจตนา” มีความผิดและมีเจตนาจะทำ นี่ก็อีกอันหนึ่ง.. มีการวางแผน ฆ่าคนตายด้วยเจตนา มีการวางแผนมา นี่มันก็เป็นอาบัติอีกอันหนึ่ง

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าขาดเจตนา องค์ประกอบของกฎหมาย องค์ประกอบของการทำความผิด อย่างนี้มันก็อยู่ที่... ในสมัยพุทธกาล เวลามีปัญหาขึ้นมาพระพุทธเจ้าจะตั้งพระอุบาลีเป็นประธานแล้วให้สอบ เพราะเราเองเราก็อาจจะไม่รู้จริงไง

ถาม : ป.ล. ผมไม่รู้จริงๆ ว่าการพูดของผมตรงกับความผิดข้อสังฆาทิเสสไหม

หลวงพ่อ : ฉะนั้น สิ่งที่พูดไปแล้ว ทำไปแล้ว ถ้ามันมั่นใจ ทำใจ นี่สิ่งที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราคิดว่าสิ่งที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำความผิดไปแล้ว ความผิดมันก็คือความผิด แต่ถ้าเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความผิดนั้นมันก็ไม่รุนแรงเหมือนกับมีเจตนาในการกระทำนั้น แล้วเรามั่นใจของเรา เรารักษาของเรา แล้วเราพยายามปฏิบัติของเรา อย่างเช่นหลวงตาว่า เห็นไหม

“ถ้าเรากำหนดพุทโธ กำหนดอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันสะดวก มันโล่งโถง มันเป็นไปได้ นั่นคือทางของเรานั่นล่ะ”

วาสนาเราต้องมี ถ้าวาสนาเราไม่มี เราไม่มีเจตนา เราไม่ตั้งใจมาปฏิบัติกันหรอก เราต้องตั้งใจปฏิบัติ แต่สิ่งนั้น เห็นไหม ในธรรมของพระพุทธเจ้าบอกว่า

“สิ่งใดทำความผิดไว้แล้วรู้ทีหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

สิ่งใดเสียใจภายหลังนี่ ฉะนั้นถ้ามันไม่เสียใจภายหลังให้เราตั้งสติไว้

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง ถ้าพูดอย่างนี้นะมันเหมือนกับเวรกรรมไง เหตุการณ์มันเป็นอย่างนั้น ช่วงที่จะบวชส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น แล้ววัยรุ่นเวลาคิดอะไรมันคิดแบบคึกคะนอง มันทำอะไรไปโดยที่ความบ้าบิ่น แล้วพอเรามีอายุขัยขึ้นมา มานั่งทบทวนทีไรก็มาว่านั่นผิด นั่นผิด นั่นผิดไง นี่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ชีวิตของคนมันเป็นแบบนี้

นี่พูดถึงปัญหาเนาะ เรื่อง “ทำผิดขณะที่บวชเป็นพระ”

แล้วถ้าตอบอย่างนี้เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ไม่รู้ ยิ่งตอบยิ่งไม่เข้าใจนะ เราจะตอบว่า ถ้ามันเป็นความผิด ถ้ามันไม่เด็ดขาดเราก็อยู่ของเราไปก่อน แต่ถ้าคำว่าเด็ดขาด สิ่งที่ว่าเป็นอุปสรรค เรามั่นใจ เราก็เสียสละเวลานิดหนึ่ง เพื่อแก้ไขสิ่งนี้ให้มันถูกต้อง เอาอุปสรรคนั้นออกก่อนซะ แล้วมันจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเนาะ เอวัง