ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อุบายธรรม

๑๒ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

อุบายธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาล่ะ เวลาเรามาวัดกันนะ เวลาเรามาวัดเรามีความศรัทธา เราก็ว่าจิตใจของคนนี่จะเหมือนเรา เพราะเราเป็นพระ แล้วเขานับถือว่าเป็นอาจารย์ จะมีคนมาปรึกษา มาพูดคุยด้วยมาก ฉะนั้นเวลาคนมาปรึกษา คนมาพูดคุย เวลาญาติพี่น้องไปเชื่อสิ่งที่เขาเห็น เชื่อสิ่งที่เขาทำ ไปเชื่ออย่างนั้น แต่เพราะเรารู้เราเห็นแล้ว นี่มันเชื่อได้อย่างไร?

การเชื่อของเขา เห็นไหม ดูสิการเชื่อของเขา เขาเห็นว่าการประทับทรง การอะไรต่างๆ นี่พูดถึงจิตใจของคนไม่เหมือนกัน แต่ถ้าจิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์แล้วเราจะไม่เชื่อสิ่งนั้น เราจะเห็นสิ่งนั้นเลยว่าในศาสนามันมีกระพี้ มีเปลือก มันมีแก่น.. เปลือก กระพี้ แก่น เวลาเปลือกนี่ เปลือกสิ่งนั้นมันจะรักษาไว้

ฉะนั้น สิ่งใดเวลาเขาพูดถึง เขาต้องอ้างถึงว่าเป็นพุทธศาสนา พออ้างว่าพุทธศาสนา เราไม่มีทางจะโต้แย้งเขาได้ว่า “มันเป็นพุทธศาสนาหรือไม่เป็นพุทธศาสนา” ถ้ามันเป็นพุทธศาสนานะ พุทธศาสนาสอนถึงเรื่องของเรา แต่เวลาเขาเชื่อกันอย่างนั้น เขาไปอ้อนวอน ไปขอเอา นี่มันเป็นพุทธศาสนาไหม?

พุทธศาสนาปฏิเสธหมดนะ เห็นไหม ดูสิเวลาในศาสนาอื่น เขาถือพระเจ้าองค์เดียว พระเจ้าหลายองค์.. พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมดเลย พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมด พระพุทธเจ้าถือว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” พุทธศาสนาสอนกลับมาที่นี่ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน! แล้วตนอยู่ที่ไหนล่ะ? พอตนอยู่ที่ไหน ตนล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม เพราะเราล้มลุกคลุกคลาน เราไม่มีหลักกันเอง เราถึงมีความเชื่อแตกต่างกันไป เชื่อหลากหลายกันไป แล้วพอใครมาอ้างอิงพุทธศาสนา เราเชื่อกันไปโดยที่ไม่มีเหตุผลโต้แย้งเลย แต่ถ้าเราเชื่อพุทธศาสนานะ สิ่งที่เขาแสดงออกนั้นมันไม่ใช่พุทธศาสนาเลย

มันไม่ใช่! มันไม่ใช่เพราะอะไร เพราะพุทธศาสนาไม่ได้สอนที่นั่น พุทธศาสนาสอนถึงอริยสัจ พูดถึงสัจจะความจริง พูดถึงเรื่องชีวิต เรื่องความเป็นไป พระพุทธเจ้ากับเราเหมือนกัน เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สร้างบุญญาธิการมา ได้สร้างบุญญาธิการมาจนความรู้สึก ความนึกคิดแตกต่างกับเรา

ความรู้สึก ความนึกคิดแตกต่างกับเราตรงไหน? แตกต่างตรงที่เห็นชีวิตนี่แหละ พระพุทธเจ้าเห็นยมทูตนะเป็นกษัตริย์ แล้วจะได้สถาปนาได้ปกครองขึ้นมา ไปเที่ยวสวนไง เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นี่พอเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สะเทือนใจมากเลยว่า “เราต้องเป็นอย่างนั้นหรือ?”

คำนี้สะเทือนใจเพราะท่านย้อนกลับมาถามตัวท่านไง เราก็ต้องเป็นอย่างนั้นหรือ? เราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเหมือนเขาหรือ? ถ้าเราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ชีวิตเรามีค่าอะไร เราเกิดมาเพื่อสิ่งใด? ฉะนั้นถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา มันต้องมีฝั่งตรงข้ามได้ว่า

“นี่มันมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันต้องมีไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย”

เพราะมันคิดอย่างนั้น มันมีการแสวงหาอย่างนั้น ท่านถึงหาทางออกของท่าน ขณะที่ไม่มีพุทธศาสนานะ ท่านยังหาทางออกของท่าน นี่เพราะอะไรล่ะ? เพราะเรามีจิตกันไง เวลาเราเกิดตายๆ นี่สร้างสมบุญญาธิการ สร้างสมบารมีมา อย่างเช่นเรามานี่ ความรู้สึกนึกคิดเราแตกต่างกันทั้งนั้นแหละ ความรู้สึกนึกคิดของเราแตกต่าง เห็นไหม ความแตกต่าง แล้วแตกต่างนี่มุมมองเป็นอย่างไรล่ะ?

ถ้ามุมมองพุทธศาสนา เรามุมมองด้วยสิ่งใด? เหมือนคนใส่แว่น แว่นสีใดก็แล้วแต่ มันจะมองเป็นสีนั้น จริตนิสัยของคนมองพุทธศาสนา มองอย่างไร? มองพุทธศาสนา เห็นไหม แต่ถ้าเรามองสิ่งใดก็แล้วแต่ มองด้วยแว่นของเรานี่แหละ โดยจริตนิสัยของเรานี่แหละ โดยความเคยชินของเรานี่แหละ มองไปแล้วนะ พุทธศาสนาเนี่ย..

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ถ้าผู้ใดเห็นธรรมนะ นี่เห็นธรรมเห็นที่ไหนล่ะ? สีแว่นมันจะปรับของมัน ถ้าเราใส่แว่นสีใด เรามองสิ่งใด เรามองตามจริตไง คนจริตอย่างไร คนชอบอย่างไร มันก็ต้องมองตามสีนั้น แต่ถ้าเรามีความเชื่อมั่น เรามีความเข้มแข็งของเรานะ เราทำความสงบของใจ

พุทธศาสนา เวลาพูดถึงพุทธศาสนา เวลาเราทำนี่ระดับของทาน.. ระดับของทาน เห็นไหม เราสร้างสมบุญญาธิการนะ เราสร้างสมของเรา เราเสียสละของเรา จิตใจเราเป็นสาธารณะ จิตใจเป็นสาธารณะเพราะเรามาสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะ

วัดวาอารามเป็นที่อยู่ของผู้ที่ไม่มีบ้านเรือน นี่โยมมีบ้านมีช่อง กลับเรือนกันใช่ไหม? บุคคลสาธารณะ พระ โดยกฎหมายเลยพระห้ามเข้าบ้าน พระให้อยู่บ้านไม่ได้ พระต้องอยู่ในเรือนว่าง อยู่ที่เขาไม่เอา อยู่ในป่าช้า อยู่ในต่างๆ นี่สิ่งที่เราทำเป็นสมบัติสาธารณะ ถ้าสมบัติสาธารณะ จิตใจเราเป็นสาธารณะ เห็นไหม ถ้าจิตใจเป็นสาธารณะมันเริ่มฟังกันนะ

จิตใจเราไม่เป็นสาธารณะ นี่มุมมอง จิตใจไม่เป็นสาธารณะ เราทำสิ่งใดมันมีความหวงแหน แต่ถ้าจิตใจเราเป็นสาธารณะ เราสามารถเสียสละได้ เราทำสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ได้ เราทำสิ่งต่างๆ ได้ จิตใจมันจะเปิดแล้ว มันจะเปิดให้เราเริ่มรับเหตุรับผล ถ้าจิตใจเริ่มรับเหตุรับผล เห็นไหม เวลาฟังเทศน์เป็นสิ่งที่เตือนใจ แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวนไง เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันสะเทือนหัวใจเราได้นะ

ทีนี้เวลาเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราไปงานศพเขาเวียน ๓ รอบเมรุ เห็นไหม นี่กามภพ รูปภพ อรูปภพ เอ็งจะเกิดจะตายอยู่อย่างนี้ ไอ้คนไปเดินเวียน ๓ รอบ ก็ ๓ รอบเป็นประเพณี มันไม่มีหัวคิดไง มันคิดไม่ออกไง นี่เขาเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ เขาบอกว่าเอ็งหูตาสว่างบ้างสิ เอ็งก็เกิดตายๆ อย่างนี้มาตลอดแหละ

ถ้าเรามีสติ มีปัญญา จิตใจเป็นสาธารณะมันมองแล้วมันสะเทือนใจ แต่เพราะความคุ้นชินนะ ไปงานศพแล้วงานศพเล่า พระก็บังสุกุลแล้ว บังสุกุลเล่านะ.. อนิจจา วะตะ สังขารา นี่ต้องเกิด ต้องทุกข์ ต้องตายอยู่อย่างนี้ แต่มันไม่สะเทือนใจเพราะไม่จริง จิตใจมันเป็นสาธารณะ จิตใจไม่เป็นประโยชน์ไง จิตใจเป็นโลก โลกมันปิดบังหมด

ฉะนั้น เวลาเราทำของเราขึ้นมา นี่ถ้ามุมมองของใครเราทำสิ่งใด มุมมองนี่นะเป็นจริตนิสัย คำว่าจริตนิสัยมันจะเข้ามาที่ปัญหานี้ ปัญหาเวลาคนประพฤติปฏิบัติมันแตกต่างหลากหลาย มันก็เหมือนคนใส่แว่น คนใส่แว่นแต่ละสีมันก็มุมมองแตกต่างกันไป แต่เป้าหมาย เห็นไหม ถ้ามีธรรมโอสถ ธรรมอันนี้มันจะมาแก้ไขของเรา ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติต้องพยายามทำใจให้สงบ ถ้าทำใจให้สงบมันจะปรับสีของแว่นให้เป็นสีขาว สีเลนส์แว่น ให้เห็นภาพตามความเป็นจริง ถ้าเห็นภาพตามความเป็นจริงนะ เราจะแก้ไขของเรา มันสะเทือนหัวใจของเรา

มันสะเทือนหัวใจจริงๆ นะ นี่เราลองดูชีวิตสิ เราคิดถึงชีวิต เห็นไหม ชีวิตนี้มันปฏิเสธไม่ได้นะ มันปฏิเสธชีวิตนี้ไม่ได้ ชีวิตนี้เพราะมันมีจิต มีธาตุรู้ ธาตุรู้นี้มีอวิชชา อวิชชาคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันต้องขับดันของมันไปเป็นอย่างนี้ ถ้ามันขับดันของมันไปเป็นอย่างนี้ เราไปทำนะ อย่างเช่นบอกว่าชีวิตนี้มันมีความทุกข์ ชีวิตนี้มีต่างๆ เราจะทำลายมัน.. ทำลายไม่ได้หรอก ยิ่งทำลายนะยิ่งเกิดกรรม เกิดการกระทำที่จะทำให้จิตใจนี้ได้รับทุกข์รับยากไปอีก แต่ถ้าเป็นธรรมนะ เวลาทำ เห็นไหม เราทำใจของเราให้สงบเพื่อเราจะมาแก้ไข

เราจะบอกว่า เราปฏิเสธชีวิตเราไม่ได้หรอก ในทางธรรมนะ เวลาพูดถึงสมบัติพัสถานสิ่งใด ยศถาบรรดาศักดิ์ มันมีเพราะมีใครล่ะ? มันมีเพราะมีเรานะ เรามียศถาบรรดาศักดิ์ เรามีสถานะสิ่งใด เราก็ภูมิใจ แล้วยศถาบรรดาศักดิ์อยู่กับคนอื่น ทำไมเราไม่ภูมิใจล่ะ?

เพราะมันมีชีวิต มันมีเราเป็นผู้รับสถานะนั้น เราก็ภูมิใจว่า “เรามี เราเป็น” แต่ถ้ามันไม่มีชีวิตล่ะ? ยศถาบรรดาศักดิ์ก็คือยศถาบรรดาศักดิ์ ถึงว่านี่โลกธรรม ๘ เป็นธรรมะเก่าแก่ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันเป็นธรรมะเก่าแก่ เก่าแก่คือทุกคนมีสิทธิที่จะได้สถานะนั้น นี่มันก็เวียนตายเวียนเกิดไปอย่างนั้นแหละ สถานะอย่างนั้น ความรับรู้ของชีวิตนั้น คือว่าชีวิตนี้ปฏิเสธไม่ได้ แต่เราจะบริหารมันอย่างใด? ถ้าเราบริหารอย่างใด ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมะมันจะเริ่มกลับมาตรงนี้

ถ้าคนมีธรรมนะ ชีวิตเราประสบวิกฤติอย่างไร จะมีความสุขอย่างใด มันไม่ตื่นเต้นไปกับเขามากเกินไป รับรู้ได้ รับรู้นะ ดูสิเวลาหลวงตาท่านบอก เห็นไหม เวลาท่านมาช่วยชาติ ท่านบอกว่าพวกเรานี่สายบุญสายกรรม เราทำบุญร่วมกัน เราสายบุญสายกรรม เราเชื่อกัน เราฟังกัน เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา เราเห็นคุณประโยชน์มาก คุณประโยชน์ที่ว่าท่านเปิดโอกาสให้เราได้สร้างบุญกุศลไง ให้เราได้สร้างคุณงามความดี แล้วคุณงามความดี เวลามันทำไปแล้วมันซับลงที่ใจ

แร่ธาตุ สมบัติพัสถานนี่เป็นธาตุ แร่วัตถุ ธาตุวัตถุมันเป็นกลางๆ คนเอาไปทำประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ คนเอาไปทำสิ่งที่เป็นโทษ มันก็เป็นโทษ แต่เพราะมีหลวงตา มีครูบาอาจารย์ของเรา ให้เราไปทำเป็นประโยชน์ แร่ธาตุของเรา ทรัพย์สมบัติธาตุของเรานี่เราหวงแหนไหม? เราสงวนรักษาไหม? ก็หวงแหน ก็สงวนรักษา แต่เราได้ทำไปแล้ว นี่คือโอกาสของเรานะ เราได้ทำโอกาสของเรา เราได้มีประโยชน์กับเรา เราทำประโยชน์กับเรา นี่เป็นประโยชน์กับเรามหาศาล

ฉะนั้น ชีวิตนี้เกิดมาแล้วเราพบสิ่งใด เราได้พบครูบาอาจารย์ เราได้พบพุทธศาสนา ถ้าพุทธศาสนามันเป็นอริยสัจ สัจจะความจริงนี่แหละ แต่คนเวลาไปพบพุทธศาสนานี่ เราพบในแง่มุมใดล่ะ? ในแง่มุมการทำบุญกุศล ในแง่มุมการรักษา มันก็เหมือนเรารักษาไว้ อย่างเช่นพระเราบวช เห็นไหม เวลาพระเราบวชมา พระตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานนะ พระจะมีบวชมาต่อเนื่องมา ต่อเนื่องมาไม่ขาดช่วง มันก็เหมือนคนรักษาไว้ เห็นไหม รักษาไว้ให้คนนี่มาใช้ประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าทำบุญแล้วเข้าถึงศาสนาในแง่มุมใด? พระบวชมา ๕ วัน ๗ วัน ๑๐ วัน ๑ พรรษา ๒ พรรษา นี่มาค้ำจุนศาสนาไว้ เหมือนประเพณีทางเหนือ เห็นไหม ค้ำโพธิ์ๆ นี่เราก็ค้ำศาสนาไว้ สืบเนื่องต่อเนื่องกันมา ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ แล้วปัจจุบันนี้เราจะเข้ามาศึกษาศาสนาในแง่มุมใด?

จะเข้ามาเป็นประเพณีวัฒนธรรมก็เรื่องของเขา แต่เราก็มาจากประเพณีวัฒนธรรม ถ้าเราไม่มาจากประเพณีวัฒนธรรม เราจะเข้ามาในพุทธศาสนาได้อย่างใด? ทีนี้ประเพณีวัฒนธรรมแล้ว เราก็ศึกษา เราก็มีจิตใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้ามีจิตใจแล้ว เราจะแก้ไขของเราได้เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

นี้เป็นการปูพื้นฐานในศาสนาไง ฉะนั้นจะเข้ามาที่นี่ จะเข้ามาที่คำถามนี้เนาะ คำถามนี้ เอาคำแรกนะว่า...

ถาม : เรื่อง “การตั้งสติ”

หลวงพ่อ : ในการเล่านะ เล่าถึงการประพฤติปฏิบัติ ว่าเราประพฤติปฏิบัติมา เวลาคนที่เขาเห็นกาย เห็นไหม โยมปฏิบัติมา ๔-๕ ปี นี่เรายังถือว่า.. เวลาเราพูดนี่นะ เราพูดให้กำลังใจนะ แต่เวลาคนฟังมันฟังเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างเช่นว่า

“พระนี้เป็นนักปฏิบัติอาชีพ พวกโยมนี้เป็นนักปฏิบัติสมัครเล่น”

คำว่า “สมัครเล่น” ของเรา มันเป็นการว่าเราให้สถานะไง เพราะคำว่าสมัครเล่นหมายถึงว่า เราจะปฏิบัติต่อเนื่องแบบพระไม่ได้ เวลาพระเรานี่ปฏิบัติต่อเนื่องอย่างไรก็ได้ เราบวชเป็นพระ ทีนี้เป็นพระ ถ้าเราหวงในการประพฤติปฏิบัติของเรานะ เราจะหาที่อยู่อาศัยของเรา ที่ครูบาอาจารย์ท่านไม่พาออกนอกลู่นอกทางจนเกินไป ไปอยู่บางวัด เห็นไหม เขาบอกว่านี่สำนักปฏิบัติ แต่มันมีหน้าที่การงานล้นจนเราไม่มีเวลาจะประพฤติปฏิบัติ อันนั้นมันก็ไม่ใช่ทาง

ฉะนั้น เวลาเราบวชแล้ว.. เพราะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ผู้ที่บวชแล้วเหมือนนก มีปีกกับหาง หากินแล้วบินไป”

ชีวิตนี้เป็นอิสระไง อิสระกับทางโลก ทีนี้อิสระกับทางโลก เราบวชแล้ว เราไปอยู่ที่ไหนเราก็ต้องหาเวลาอย่างนั้นนะ เวลาหลวงตาท่านพูด ว่าท่านสงวนรักษาพระมาก สงวนรักษาพระมาก เพราะคำว่าพระนี่มันมีสมมุติสงฆ์

การบวชเป็นพระไหม? เป็น เป็นพระแล้ว นี้เป็นพระโดยสมมุติ เป็นพระโดยธรรมวินัย เป็นพระโดยสถานะของโลกสมบูรณ์แบบ แต่การประพฤติปฏิบัติจะให้เป็นพระจากภายในนี่แสนยาก ฉะนั้นคำว่าแสนยากเราต้องจริงจังของเรา ถ้าจริงจังของเราเราต้องแสวงหา

ถ้าคนมีหลักนะมันต้องแสวงหาโอกาส แสวงหาโอกาสว่าวัดไหนให้ประพฤติปฏิบัติ วัดไหนเขาพาปฏิบัติ เราจะอยู่วัดนั้น ถ้าวัดไหนเขาพาออกทำงาน วัดไหนเขาพาออกไปทางโลกๆ เราก็จะออกจากวัดนั้น หาที่อยู่ของเรา แล้วถ้าเวลาธุดงค์ เห็นไหม ออกไปที่สงัด ออกวิเวกเข้าป่าไป เราเข้าป่าเข้าเขา คือว่าเราหาที่พักของเรา ไปหาที่พักส่วนตัว

อย่างเช่นไปในป่า เข้าธุดงค์ไปนี่ไปเจอแคร่ เจอที่ต่างๆ ที่เขาทำไว้ เราก็อยู่สักเดือน ๒ เดือน อยู่เป็นปีก็ได้ บางองค์อยู่จนเป็นวัดขึ้นมาเลย เห็นไหม นี่คือว่านักปฏิบัติอาชีพ ฉะนั้นบอกว่าโยมนี้เป็นผู้ปฏิบัติสมัครเล่น คำว่าสมัครเล่นมันเป็นเรารับผิดชอบไง เราต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานของเรา เราต้องรับผิดชอบชีวิตของเรา เรามีภาระรับผิดชอบ

ฉะนั้น เราเปรียบเทียบให้เห็นว่า ผู้ปฏิบัติสมัครเล่น.. นักกีฬาสมัครเล่น บางทีเขาได้รางวัลมากกว่านักกีฬาอาชีพอีกนะ นักกีฬาสมัครเล่นเนี่ย ฉะนั้นเพียงแต่เปรียบเทียบให้เห็น ให้เรามีกำลังใจไง ว่าเรามีภาระรับผิดชอบทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกคือหน้าที่ของเรา ทางธรรมคือเราปฏิบัติของเรา

ฉะนั้น เอามาเปรียบเทียบกันในมุมมองของเรา เราพูดในทางให้เห็นเหตุเห็นผล คือไม่ให้เราเปรียบเทียบกับผู้ปฏิบัติที่ตลอดไป แล้วจะได้ผลอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นปั๊บ มันก็เหมือนการเก็บคะแนน เวลาของเรา เห็นไหม ดูสิถ้าเวลาเรียนเราไม่พอเขาไม่ให้สอบ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะไม่มีโอกาส

ฉะนั้น จะเป็นนักกีฬาสมัครเล่น หรือนักกีฬาอาชีพก็แล้วแต่ เราก็ทำจริงของเรา อย่าเอาคำแบบนี้มาตัดทอนกำลังใจของเราไง เพียงแต่เราพูดเพื่อให้กำลังใจต่างหากล่ะ ฉะนั้น เวลาบอกว่าเป็นนักกีฬาสมัครเล่นแล้ว เราก็ทำของเราไปนะ

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไป การไม่เห็นกายนี่ การไม่เห็นกายนะ เวลาทำจิตสงบแล้วการเห็นกายนี่ การเห็นกาย แม้แต่ผู้เห็นกายแล้วนะ ดูสิหลวงปู่เจี๊ยะพิจารณากายแล้ว กายชั้นที่ ๑ เป็นโสดาบัน กายชั้นที่ ๒ เป็นสกิทาคามี กายชั้นที่ ๓ เป็นอนาคามี กายถึงชั้นสุดท้ายเป็นพระอรหันต์

นี่ครูบาอาจารย์หลายองค์ ส่วนใหญ่พื้นฐานท่านเป็นแบบนี้ แต่เวลาหลวงตาท่านพิจารณาครั้งแรก เห็นไหม ท่านเป็นพระโสดาบันด้วยการพิจารณาเวทนา เวทนานี่นั่งตลอดรุ่งๆ พิจารณาเวทนา ท่านผ่านเป็นโสดาบันด้วยเวทนา เวลาท่านจะผ่านเป็นสกิทาคามีขึ้นมา ท่านพิจารณาธาตุ ๔ กลับสู่สถานะเดิมของเขา นี่แล้วพิจารณาเป็นขั้นอนาคามี ท่านพิจารณาอสุภะก็พิจารณากายนี่แหละ แล้วท่านไปพิจารณาจิต จุดและต่อม

นี่อย่างนี้มันอยู่ที่ว่า ถ้าใครทำสิ่งใดแล้วได้ประโยชน์ เขาจะทำสิ่งนั้น ฉะนั้น ถ้าเราพิจารณากาย เราจะบอกต้องเป็นกายๆ แต่เราก็พิจารณาของเราสิ ถ้าพิจารณาเป็นธรรม เห็นไหม นี่เวลาเกิดอารมณ์กระทบ ถ้าจิตสงบนะ เกิดอารมณ์กระทบนี่มันจับอารมณ์นั้นได้ เขาเรียก “ธรรมารมณ์” ธรรมะกับอารมณ์ แต่โดยปกติเวลาอารมณ์มันเกิดขึ้นมา มันไม่ใช่ธรรมารมณ์สิ มันเป็นมาร มารมันทำให้เราทุกข์ยากมาก

ฉะนั้น ถ้ามันทุกข์ยากมากเพราะจิตใจเราไม่เข้มแข็งพอ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ฉะนั้น ถ้าเขาเห็นกายก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเราเห็นกายก็เป็นเรื่องของเรา ถ้าเราเห็นกายได้ แล้วพิจารณาได้ มันปล่อยได้

ฉะนั้น การปฏิบัตินี่เป็นครั้งเป็นคราว เป็นวรรคเป็นตอน ถ้าเป็นวรรคเป็นตอน เวลาเข้มแข็งก็ต้องเข้มแข็ง เวลาเราปฏิบัติ เวลาเข้มแข็งเราทำของเรา ต้องเข้มแข็งตลอด แต่ทีนี้เวลาเรากลับไปแล้วมันก็มีหน้าที่การงานของเรา ฉะนั้น สิ่งที่ถามมานี่มันเป็นแบบว่าการให้กำลังใจเท่านั้นแหละ มันไม่มีสิ่งใด เหมือนกับประสาเราว่า คนไข้ไม่มีโรค หมอก็ไม่รู้จะรักษาโรคอะไร มันเป็นการอารัมภบทว่าร่างกายไม่แข็งแรงเฉยๆ มันไม่มีโรคประจำตัวไง มันไม่มีอะไรเป็นแง่มุมที่จะต้องตอบแก้ปัญหา มีอย่างเดียวคือการให้กำลังใจ

ฉะนั้น เวลาคนปฏิบัติไปแล้ว มันก็เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันเป็นอย่างนี้ตลอด ผู้ที่ปฏิบัติทุกคนจะผ่านเหตุการณ์อย่างนั้น ฉะนั้น เวลาที่ว่านักปฏิบัติอาชีพ จะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เวลาปฏิบัติไปมีล้มลุกคลุกคลาน นักกีฬานะ ดูสิกว่าจะเป็นแชมป์หรือได้เหรียญทองมา กว่าเขาจะแข่งขันจากฝึกฝนมา เขาต้องผ่านสนามมาพอสมควร ผ่านสนามมามากทีเดียวถึงจะมีความชำนาญ

เราก็เหมือนกัน นี้เวลาเราปฏิบัติไป กว่าเราจะมีความชำนาญ เห็นไหม เดี๋ยวจะเจริญ เดี๋ยวก็เสื่อม เสื่อมแล้วก็เจริญ เวลาอดอาหารหิวไหม? หิว เอาหิวนั้นพิจารณาสิ เวลาหิวใช่ไหม อะไรหิว? เรานี่อดอาหารมา เวลามันหิวนะจับหิวตั้งเลย

“อะไรหิว?”

“กระเพาะอาหารหิว ความรู้สึกหิว”

อะไรหิวนะ มันเป็นประโยชน์ไง ถ้าเราพิจารณาโดยรอบนะ แว็บ! หายหมดเลย ว่าง ความหิวไม่มี แต่ความจริงมันก็หิว เพราะในกระเพาะอาหารมันไม่มีอาหาร แต่! แต่มันเป็นโดยสมมุติไงเวลาจิตมันปล่อย เวลาจิตรับรู้ทำไมมันหิว เวลาอดอาหารนี่หิวมาก แต่พอเวลาจิตมันไล่ไปทั่วนะ หิวมันมาจากไหน? หิวใครให้ค่า? แล้วอะไรมันเป็นสิ่งที่หิว? ไล่ไปไล่มานะ หิวไม่มี ไม่มีใครว่าหิว พอไม่มีใครหิว จิตมันปล่อยหมดนะ

ฉะนั้น การอดอาหารนี่นะมันเป็นประโยชน์ ประโยชน์กับ หนึ่งเวลามันจะง่วงนอนนี่นะง่วงนอนขนาดไหน ถ้าอดอาหารแล้วมันไม่ง่วง หิวนี่ท้องร้องจ๊อกๆ อยู่ มันจะไปง่วงมาจากไหน การอดอาหารนี่นะ

๑. ไม่ให้ธาตุขันธ์มันทับจิต

๒. เวลามันอดอาหารขึ้นมา บางคนบอกว่าเราเห็นตรงข้าม เขาบอกว่าเห็นตรงข้ามกับโลก เพราะร่างกายมนุษย์ต้องอาศัยอาหาร แล้วเราไม่กินอาหารเข้าไป มันจะเป็นการปฏิบัติที่ไหน?

คนเรานี่จะได้มรรคได้ผล ไม่ใช่อยู่ที่การกิน ถ้าการกินนะ เห็นไหม ดูสิเขาบอกว่า “ใครกินเนื้อสัตว์เป็นบาปเป็นกรรม” วัว ควาย ช้าง ม้ามันกินหญ้า ก็ไม่เห็นมันมีมรรค ผลที่ไหน เสือมันกินแต่เนื้อสัตว์ มันก็ไม่เห็นมรรค ผลที่ไหน

การกินคือเกิดในสถานะใด อะไรเป็นอาหารของสถานะนั้น เห็นไหม มนุษย์ สัตว์เดรัจฉานกินคำข้าว เทวดากินวิญญาณาหาร พรหม ผัสสาหาร นี่เกิดในสถานะใด? ชีวิตดำรงได้อย่างไร? แต่ทีนี้พอเรากินแล้วเราก็เพลิดเพลินกับชีวิต ทีนี้พอเราเริ่มอดอาหาร พอขาดอาหารไป เห็นไหม มันกระวนกระวายไหม ชีวิตนี้มันอยู่ด้วยอาหาร

นี้เพราะเรามันโง่เกินไป เราจับสิ่งใดเป็นงานเป็นการในการค้นคว้า ในการวิปัสสนา ในการทำสติปัฏฐาน ๔ แล้วไม่ได้เรื่อง พอไม่ได้เรื่อง พออดอาหารไปมันก็มีเหตุให้มีการหิวมีอะไรต่างๆ เราก็จับตรงนั้นเป็นเหตุ เราหาเหตุ เราหาโอกาสให้จิตใจของเราได้ฝึกหัด ได้พิจารณา ให้หัวใจมันเข้มแข็ง ให้หัวใจมันได้พัฒนาของมัน ไม่อย่างนั้นเราจะทำอะไรล่ะ?

นี่ละล้าละลังไปนะ วันแล้ววันเล่า ทำแล้วทำเล่า ไม่มีต้นไม่มีปลาย จับสิ่งใดจับไม่ติดเลย ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือ ภาวนาไปแล้วก็ผัดวันประกันพรุ่งไปอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันมีสติปัญญา เห็นไหม เราแลกขึ้นมา แลกขึ้นมาด้วยตั้งประเด็นเลยว่าไม่กิน อดอาหาร อดอาหารให้มันชุ่มชื่น อดอาหารให้หัวใจมันเข้มแข็งของมัน

หิวไหม? หิว นักกีฬาเวลาลงแข่งขันถามว่าเหนื่อยไหม? เหนื่อย เวลาคนเล่นกีฬาออกจากสนามมา ทุกคนเหนื่อยหอบมาทั้งนั้นแหละ แล้วเขาลงไปเล่นทำไมล่ะ? เขาเล่น เขาแข่งขันเพื่อเอาความชนะ-แพ้กัน เราลงปฏิบัติ เราไปปฏิบัตินี่เราตั้งใจไปปฏิบัติ แล้วเราจะเริ่มต้นตรงไหนล่ะ? พอเริ่มต้นตรงไหน เห็นไหม

เราจะบอกว่า ทางโลกเขาจะบอกว่าการอดอาหารนี่เห็นโทษของมัน มันเห็นขัดแย้งกับทางวิทยาศาสตร์ คนเราจะอดอาหารได้อย่างไร การอดอาหารถ้ามันเป็นประโยชน์ ในแอฟริกา ดินแดนที่เขาบกพร่องทางอาหาร อย่างนั้นเขาก็เป็นพระอรหันต์หมดน่ะสิ

เขาอดอาหารด้วยความทุกข์ความยาก พอเขาทุกข์เขายากจิตใจก็มืดมน จิตใจนี่เขาบอกว่าเขาเกิดมาทุกข์มายาก การอดอาหารของเขา เขาไม่ได้อดอาหารด้วยสติด้วยปัญญา เราอดอาหารมาเป็นอุบายวิธีการ เราไม่ใช่อดอาหารมาเพื่อจะประสบความสำเร็จ ถ้าอดอาหารประสบความสำเร็จนะ เวลาเขาไปหลงป่ากัน พวกนั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว

หลงป่ามันไม่มีอะไรกิน แต่เราไม่ใช่อย่างนั้น เราเลือกเอง อาหารเรามีเยอะแยะ ทุกอย่างเรามีเต็มตู้ไปหมดเลย แต่เราไม่กิน เราอดมันเพื่อดูความอยาก ดูตัณหา ดูความทะยานอยาก ดูเวลามันออกไป เห็นไหม แล้วเราใคร่ครวญมัน ไล่เลยเวลาหิว ถามตัวเองว่าอะไรหิว? กระเพาะอาหารหิว น้ำลายหิว อะไรหิว? นี่พอไล่ไปมันก็เป็นปัญญาใช่ไหม ถ้ามันไล่ไม่จบ ไล่ไม่จน ไล่ไม่จนคือไม่จบกระบวนการ มันก็ร้องจ๊อก จ๊อก แต่ถ้าไล่ไปทั่วนะมันปล่อยหมด

เพราะกรณีอย่างนี้เราพบบ่อย เราผ่านบ่อย เวลามันเต็มที่ขึ้นมานี่ไล่เลย จนมันหลอกนะ “เอ็งต้องตาย เอ็งต้องตาย ชีวิตเอ็งต้องตาย” พอต้องตายปั๊บมันก็ถอดใจ พอถอดใจมันก็ถามตัวเองว่า “ถ้าตายนี่อะไรจะตายก่อน จิตจะออกจากร่างอย่างไร ขอดู” ก็ไล่เข้าไปอีก มันก็ปล่อยอีก ไอ้ที่ว่าหิวแล้วหายจากหิวนี่เราพบมาเยอะ เราเผชิญมาเยอะมาก แต่! แต่การกระทำนี่นะมันต้องวัดกำลังของคนด้วย ถ้าคนมีกำลังมันก็ทำได้มาก

หลวงตาท่านบอกอย่างนี้ว่า “ท่านไม่ได้สอน ไม่ได้สั่ง ไม่ได้อัตตกิลมถานุโยค ไม่ได้ประชดประชันโลก ไม่ได้ปฏิเสธอาหาร ไม่ได้ปฏิเสธสิ่งใดเลย แต่ใช้ประเด็นเพื่อฝึกหัวใจของเรา”

ฉะนั้น ถ้าเราเข้มแข็ง ร่างกายเราเข้มแข็ง ทนได้ขนาดไหน ต้องวัดด้วยความรู้สึกเราด้วย ว่าเรานี่จะมีโอกาสได้เผชิญกับวิกฤติอย่างนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ทำไปจนไม่มีปัญญา ทำไปจนร่างกายมันเสียหายไปเลย อย่างนั้นก็ไม่ถูก คำว่าไม่ถูก เพราะพระเรามี อดอาหารแล้วจะเอาชนะคะคานอย่างเดียว อดไปๆ โดยไม่บันยะบันยังนะ ถึงช็อกก็มี

เคยมี พระนี่ถึงช็อกเลย หลวงตา พอช็อกท่านเอ็ดเอามาก ท่านบอกทำไมไม่วัดกำลังของตัว การปฏิบัตินี่ปฏิบัติเพื่อสร้างปัญญา เพื่อความฉลาด ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความโง่ แล้วทำไมทำขนาดนั้น ไม่บันยะบันยังกำลังของตัวเลยว่ากำลังของตัวมีแค่เท่าใด

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีกำลังของเรา เห็นไหม ฉะนั้นเวลามันหิว อาหารแล้วมันหิว เดินจงกรมนี่ทุกข์ไหม? ทุกข์ แต่ทุกข์เพราะเรา เราพอใจ เราหาคู่แข่งขันระหว่างกิเลสกับธรรม.. กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา เราพยายามสร้างสถานะสติ สมาธิให้เป็นสติธรรม สมาธิธรรม แล้วฝึกฝนการสร้างปัญญา

ธรรมะคู่แข่งขัน ความแข่งขันระหว่างธรรมกับกิเลสในหัวใจ มันจะแข่งขัน มันจะโต้แย้ง มันจะหาจุดสมดุลของมัน ถ้าความสมดุลของมันเกิดขึ้น เรียกว่า “มรรคสามัคคี” ความสามัคคี ความสมดุลของมัน ปล่อย! ปล่อย! ปล่อยก็ว่าง ปล่อยก็ว่าง แล้วถ้าใครเห็นสภาวะแบบนี้ เห็นไหม ดูสิเราทำอาชีพกัน นี่ผู้ชำนาญการ เวลาประสบการณ์ทำงาน เราเคยผ่านงานนั้นมา เราทำอย่างไร เราเข้าใจได้หมดแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ความสมดุลของจิต พอจิตมันสมดุล มรรคสามัคคี ความสมดุลของมันมันจะปล่อย พอปล่อยความชำนาญเกิดขึ้น ความชำนาญเกิดขึ้น ความขยันหมั่นเพียรเกิดขึ้น การปล่อยบ่อยๆ ครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า เขาเรียก “ตทังคะ” คือปล่อยวางชั่วคราว แต่ชั่วคราวมันก็เป็นธรรมแล้ว ชั่วคราวก็คือการฝึกฝนแล้ว เราฝึกฝนของเราชั่วคราว บ่อยครั้งเข้าๆ ให้ขยันหมั่นเพียร

ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต หิวก็เป็นเวทนาอันหนึ่ง การพิจารณานี่ถ้าใครบอกว่า “เวลาทำสมาธิแล้วพิจารณาไม่เป็น อะไรไม่เป็น” ลองดู ลองดู มันจะมีเหตุมีผล ถ้ามีเหตุมีผลอย่างนี้เราทำเพื่ออะไรล่ะ?

ดูสิเราบอกว่าจิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจเป็นสาธารณะเราจะทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ จิตใจที่เป็นธรรม ธรรมนี้สาธารณะมากกว่าทางโลกมากนะ เพราะเทวดาเวลาปฏิบัติก็เป็นโสดาบัน พรหมมาฟังพระพุทธเจ้าเวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ก็เป็นโสดาบัน เราปฏิบัติเราเป็นมนุษย์ ถ้าเราปฏิบัติได้เราก็เป็นโสดาบัน

เทวดา อินทร์ พรหม มนุษย์ เวลาปฏิบัติแล้วเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีเหมือนกัน! เห็นไหม นี่สามโลกธาตุ เวลาปฏิบัติแล้วธรรมะยังตอบสนองเหมือนกัน คำว่าตอบสนองเหมือนกันมันยิ่งเป็นสาธารณะตามความเป็นจริง ถ้าปฏิบัติของเราไปถึงที่สุด ปฏิบัติได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันทุกข์มันยาก ปฏิบัติแล้วมันทุกข์มันยากมันก็จริง ถ้าใครบอกปฏิบัติแล้วสะดวกสบาย ปฏิบัติแล้วมีแต่ความประสบความสำเร็จ พระพุทธเจ้าเรายังทำไม่ได้เลย.. ทุกข์ยาก เพราะว่าแก่นของกิเลสนี่หนักหนาสาหัสสากรรจ์นะ ทิฐิมานะในหัวใจ มิจฉาทิฏฐิด้วย ทิฐิที่ปิดตาว่าตัวเองดี ตัวเองประเสริฐ ตัวเองเลอเลิศ แต่เลอเลิศด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าเวลาเราเหยียบย่ำกิเลสมันลงไปนะ เราจะเป็นผ้าขี้ริ้ว

หลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขานะ เป็นเศษคน เศษผ้า เศษผ้าขี้ริ้ว นี่ถ้าทำอย่างนั้น กิเลสมันมีความยึดมั่นถือมั่นของใจ มันก็ด้อยค่าๆ แต่ถ้าเรามีแต่ทิฐิมานะมันจะกล้าแข็ง แล้วมันจะทำสิ่งใดได้ล่ะ?

แต่ถ้าความเป็นจริงของเรา เห็นไหม นี่เหมือนเศษคนนะ คนไม่มีศักดิ์ศรีไม่มีราคา อยู่ในป่าในเขาไม่มีใครดูแล ไม่มีใครรักษา เหมือนเศษคนเลยแหละ แต่เวลาเทวดามา เวลาครูบาอาจารย์บอก นั่นล่ะพวกเศษคน พวกคนที่เขาปฏิบัติ คนนั้นเขาจะเป็นยอดคน เขาจะเป็นคนที่มีคุณธรรม เขาจะเป็นคนที่มีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจของเขา เขาจะปฏิบัติเพื่อประเสริฐของเขา

ฉะนั้น ถ้ามันทุกข์ยากก็ทุกข์ยากเพราะเหตุนี้ เราทุกข์ยากของเรา เห็นไหม ทุกข์ยากของเราเพื่อความจริงของเรา เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านก็พยายามจะทำตรงนี้ให้เรามีกำลังใจขึ้นมาไง

แล้วนี่พอเวลาเราปฏิบัติไปแล้วนะ ถ้าจิตใจมันท้อถอย จิตใจไม่มีกำลัง พยายามไม่ทิ้งพุทโธ เกาะพุทโธไว้ พุทโธไว้ก็เพื่อความสงบร่มเย็นของใจ แล้วถ้าออกใช้ปัญญาได้ในแง่มุมใดก็แล้วแต่ ให้ฝึกฝน ออกใช้งาน ออกฝึกงาน ออกฝึกงานให้จิตใจมันเข้มแข็ง ให้จิตใจมีหลักมีเกณฑ์ของมัน แล้วมันก็จะเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติของเราเนาะ

ข้อต่อไป

ถาม : กระผมอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อโดยความเคารพ.. จิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมพระพุทธเจ้าถึงอุบัติขึ้นได้ โปรดสัตว์สามโลกธาตุ ไม่รู้จักจบสิ้นเลยครับ เพราะเหตุใด

หลวงพ่อ : จิต.. ถ้าสสารของโลกนี้มันเป็นวัตถุ แต่เวลาเราปฏิบัติกันแล้ว จิตนี่เห็นไหม จิตนี้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้บัญญัติธาตุรู้ เป็นธาตุเลยล่ะ ธาตุรู้ให้เราจับต้องได้ ให้เรารับรู้ได้ ไม่อย่างนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน อย่างการปฏิบัติเราจะเริ่มต้นจากตรงไหน? เราจะเริ่มต้นจากตรงไหนล่ะ?

เรานั่งสมาธิ ภาวนากัน นี่เจ็บหลัง ปวดแขน ปวดขาที่ไหนล่ะ? ก็จะหาจิตของตัวให้เจอ ถ้าจิตของตัวเจอนะ มันก็จะสู่ความสงบร่มเย็น ถ้าสงบร่มเย็น พออัปปนาสมาธินั่นล่ะจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้เข้าถึงอัปปนาสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาก็ทำสิ่งใดไม่ได้เลย

“นี่จิตเกิดขึ้นได้อย่างไร?”

จิตมันมีของมันอยู่ ถ้าจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนปั้นจิตขึ้นมา ใครเป็นสร้างขึ้นมา เห็นไหม ใครเป็นสร้างจิตขึ้นมา ถ้าใครสร้างจิตขึ้นมา มันก็ต้องมีผู้สร้าง มีผู้ต่างๆ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน” เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ปฏิเสธพระเจ้า ปฏิเสธการสร้างมาทั้งหมด เราปฏิเสธการสร้างมา แล้วจิตมาจากไหน? จิตมาจากไหน?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไป บุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่จิตดวงเดียว จิตดวงเดียว พอจิตดวงเดียวทำไมย้อนอดีตชาติไปไม่มีวันจบล่ะ? ฉะนั้นคำว่าไม่มีต้นไม่มีปลาย คำว่าไม่มีต้นมันมีของมันอยู่ เห็นไหม มันมีของมันอยู่ ฉะนั้นพอมีของมันอยู่ เราจะเริ่มต้นอย่างไร? เราเริ่มต้นว่าใครเป็นคนสร้างจิตล่ะ?

ฉะนั้น จิตมันก็คือจิต พอจิตมันคือจิต อย่างเช่นเรานี่จิตหนึ่ง เราเป็นมนุษย์ ถ้าเราตาย จิตนี้ไปเกิดเป็นอะไรต่อไป ทีนี้จิตนี้มันมีที่สิ้นสุดไหม? ไม่มีวันสิ้นสุด ฉะนั้นพอไม่มีสิ้นสุด มันเป็นผลของวัฏฏะ มันจะหมุนอย่างไร?

“จิตเกิดขึ้นได้อย่างไร?”

จิตมันเกิดขึ้นเพราะมันมีของมันอยู่.. จิตมันเกิดขึ้นเพราะมันมีของมันอยู่ เห็นไหม พอมีของมันอยู่ อย่างเช่นวัตถุนี่มันต้องมีขึ้นต้นสิ ถิ่นกำเนิดมันต้องมี ต้นไม้เกิดจากสิ่งใด? ต้นไม้เกิดจากเมล็ดพันธุ์ใด? แล้วจิตมันเกิดมาจากไหนล่ะ? (หัวเราะ) มันจะเป็นปัญหาโลกแตกเลยล่ะ แต่ถ้ามันภาวนาเข้ามานี่จบนะ

กรณีอย่างนี้ มันเป็นกรณีที่ว่า ถ้าเป็นทางโลก เห็นไหม มันไม่มีวันที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีวันสิ้นสุด จิตมันเกิดมาจากไหน? เวลาจิตมันเกิดจากไหน พอจิตเกิดจากไหนแล้วนี่ เวลาทางการแพทย์ ทางการแพทย์เขาจะรักษาแต่ร่างกายใช่ไหม ร่างกายมาจากไหน.. เว้นไว้แต่จิตแพทย์ จิตแพทย์ว่าเกิดจากวิตกกังวล

นี่เวลาจิตมันมีจิตเภท จิตต่างๆ เขาก็ว่าของเขาไป แล้วกลับมาถึงความสงบ กลับมาเป็นปกติของจิต ก็คือการแก้การรักษาทางจิต แล้วรักษาทางกายล่ะ เขาก็ว่าของเขาไป แต่ทุกคนก็ไม่ฟันธงว่ามีชาตินี้ชาติหน้า ทางการแพทย์ไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้ เห็นไหม แต่ในทางปฏิบัติ ในทางปฏิบัติของเรา..

ถาม : จิตนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไมพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา เกิดขึ้นมาโปรดสัตว์

หลวงพ่อ : พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา เพราะว่าเวลาจิตเรานี่ เวลาคนจิตใจเป็นสาธารณะแล้ว จิตใจเราทุกคนนะ เวลาเห็นเริ่มต้นอย่างนี้อยู่ในพุทธประวัติก่อน พุทธประวัติเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ พอออกจากดาวดึงส์ ลงมาจากดาวดึงส์ ในนครราชคฤห์นะ ในตำราบอกว่า “มีคนปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ามหาศาล”

การปรารถนา เขาเรียก “ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์” เป็นพระพุทธเจ้าต้องปรารถนา เพราะปรารถนาจะสร้างภพสร้างชาติ

“ทำไมพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นได้อย่างไร?”

นี่คนปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเยอะมาก แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว หลวงตาท่านบอกว่า “เป็นล้านๆ เนี่ย จะได้เหลือสัก ๑ สัก ๒ ไหม?” เพราะเวลามันไปยาวไกลมากไง

นี่จะย้อนกลับมาที่ว่าจิตนี้เกิดมาจากไหน? พอมันยาวไกลมาก จิตมันก็เกิดตายๆ พอเกิดตายนี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย มันวนอยู่อย่างนั้นแหละ ทีนี้พอวนอยู่อย่างนั้น ถึงพอสร้างโอกาสมาจนเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบารมีเต็มนะ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วนี่กลับไม่ได้ แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์ นี่จิตเยอะมากที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า

อย่างเช่นหลวงปู่มั่นเรา หลวงปู่เสาร์ก็ปรารถนา หลวงปู่มั่นก็ปรารถนา แล้วกลับมาไง ปรารถนานี่ก็สร้างคุณงามความดีไป คนเราเกิดมาทุกคนเป็นคนดี ทุกคนจิตใจเป็นสาธารณะ เพราะถ้าจิตใจเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนใหญ่จะคิดอย่างนั้น ส่วนใหญ่จะคิดอย่างนั้น แต่เวลาถึงที่สุดแล้วนะก็เปลี่ยนกลับมา

ถาม : พระพุทธเจ้าเกิดได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : เพราะว่าพระพุทธเจ้า.. คนเราปรารถนาพุทธภูมิ ปรารถนานี่ ในตำราบอกว่าองค์ต่อไปเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย แล้วมีอนาคตวงศ์ คิดดูสิว่าองค์หนึ่งใช้เวลาเท่าไร? แล้วองค์ต่อๆ ไปยังอีกเยอะมาก ฉะนั้นคนปรารถนานี่เยอะมาก

ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติ.. เรื่องนี้เรายอมรับ แล้วเราเข้าใจได้ว่าเป็นอย่างใด ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็เกิดขึ้นมาอย่างนี้ เกิดขึ้นมาเพราะเรามีสติ มีปัญญา เกิดขึ้นมาเพราะเรามีครูบาอาจารย์คอยเทียบเคียง คอยเทียบเคียงให้ คอยเทียบเคียงคอยชี้นำไง คอยชี้นำให้เราอยู่ในหลักในเกณฑ์ เราอย่าออกนอกลู่นอกทาง ถ้าเราออกนอกลู่นอกทางมันก็ขึ้น

อย่างในตำราบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เคยตกนรกอเวจี เคยอยู่บนสวรรค์ เคยต่างๆ เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์ มันยังทำความผิดพลาดได้ ถ้าทำความผิดพลาดได้ก็ยังหมุนเวียนในวัฏฏะ ฉะนั้น จิตไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วจิตมันไม่เคยตาย พอจิตไม่เคยตาย เวลาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ล่ะ? อย่างนั้นก็จบ

สำเร็จเป็นพระอรหันต์คือจิตก็ยัง.. นี่ว่าจิตมีจิตก็เป็นภพ เพียงแต่ว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนี่เป็นธรรมล้วนๆ ไง เป็นธรรมล้วนๆ ฉะนั้นมันจะไม่เวียนตายเวียนเกิด.. พอเป็นพระอรหันต์แล้วจิตนี้ไปไหน? จิตเกิดได้อย่างไร? จิตมันมีอยู่แล้ว พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจิตนี้ไปไหน? มันก็เป็นวิมุตติ เข้าสู่แดนวิมุตติ แล้วจะไม่กลับมาเกิดมาตาย

มาเกิดมาตายนี่ เวลาเกิดทีหนึ่งในครอบครัวก็มีความชื่นใจ เวลาตายทีก็มีแต่ความโศกเศร้า มีแต่ความเสียใจ แล้วก็จะเกิดจะตาย จะล้มลุกคลุกคลานกันอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าธรรมะชำระให้สะอาด แต่อาศัยธรรมะ อาศัยธรรม อาศัยครูบาอาจารย์ อาศัยต่างๆ แล้วสร้างเนื้อสร้างตัว พอเราสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ไอ้ที่ถามว่า “จิตนี้มาจากไหน? พระพุทธเจ้าเกิดอย่างไร?” นี่จะไม่ถามเลย ไม่ถามเพราะอะไร? ไม่ถามเพราะมันรู้หมดไง

เอาจิตเรานี่มาตีแผ่ ถ้าคนเราไม่เอาจิตเรามาตีแผ่ ตีแผ่ออกให้มันเป็นธรรมธาตุ ให้มันรู้ซึ้งทุกอย่าง แล้ววางไว้ตามความเป็นจริง วางไว้ตามความเป็นจริง รู้แล้วไม่ได้แบกไปไหน ครูบาอาจารย์ท่านมีชีวิตอยู่ท่านก็สั่งสอนเรานะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสิ้นชีวิตไป แล้วเราจะไปเหลืออะไรล่ะ?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็วางธรรมวินัยไว้ หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบอกว่า สมัยนั้นไม่มีเทป พวกเราก็พยายามจดจารึกกันมา เห็นไหม ก็ได้มุตโตทัย ได้สิ่งที่ท่านจดจารึกไว้ แต่นี้สมัยครูบาอาจารย์ สมัยหลวงตาเราเทคโนโลยีมันมี ทีนี้เราจะได้สิ่งนี้ไว้เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์แล้วเราก็พยายามศึกษา เราก็ฟังของเราเอง เพื่อประโยชน์กับเราไง

นี่ท่านก็ไปแล้ว เหลือแต่มรดกสิ่งที่ท่านได้ฝึกหัด วิธีการ การประพฤติปฏิบัติ การเผชิญกับกิเลสของท่าน แล้วท่านเอามาเป็นแนวทางให้เราได้ก้าวเดิน เราศึกษาแล้วเราทำของเรา ถ้าทำของเราขึ้นมา เราไม่ต้องไปเทียบต้องให้มันเป็นแบบนั้น เวลาเป็นนะไม่เป็นแบบนั้นหรอก มันเป็นวาสนาของคน

ขณะของคนไม่เหมือนกัน ขณะจิตของคนไม่เหมือนกัน เพียงแต่เอาแนวทางไง เอาแนวทางว่าท่านมุมานะ ท่านมีการกระทำอย่างใด แล้วเราเอาแนวทางมาแล้วปฏิบัติของเรา ก็แนวทางของเรา แต่พอจบแล้วเหมือนกัน มันปล่อยเหมือนกัน มันฆ่าเหมือนกัน อันนั้นเป็นแนวทางของเรา

ฉะนั้น เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา จิตเรานี่ เราว่าจิตเราเวลามันเกิดมาแล้ว ถ้าอธิบายนะ เวลามันเข้าถึงสมาธิ ขณิกสมาธิมันก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ อุปจารสมาธินี่มันออกรู้ พอเข้าอัปปนา เอ๊อะ! เพราะมันจิตล้วนๆ เลย นั่นแหละจิตเรา แล้วถ้ามันรู้อะไร มันเห็นอะไร มันจะเข้าใจของมัน แล้วออกฝึกใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม

นี่มันยึดมั่นถืออะไร? มันเกี่ยวข้องกับสิ่งใด? ทิฐิความเห็นผิดในกายอย่างไร? ความอุปาทานในธาตุขันธ์เป็นอย่างไร? แล้วเกิดปฏิฆะ กามราคะ.. ปฏิฆะคือข้อมูล ถ้าสิ่งใดถูกใจ พอใจ จะเกิดกามราคะ สิ่งใดไม่ถูกใจ ไม่พอใจ มันผลัก มันผลัก เห็นไหม แล้วถ้ามันแก้ไขจนจบสิ้น แล้วตอนนี้เข้าไปถึงตัวจิตเดิมแท้แล้ว

“จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ทำลายสิ้นกระบวนการหมดเลย จบเรื่องจิตเลย หมด กลายเป็นธรรมธาตุ

ถาม : จะทำอย่างไรให้ความโกรธหายไปได้เร็วที่สุดเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นคนโทสจริต เห็นไหม สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ มันก็โกรธ แล้วพอโกรธแล้วเราก็ตามความโกรธไปเรื่อย เราอยู่กับมันไปเรื่อย มันก็จะฟักตัวเข้มแข็ง เพราะมันโกรธนะ เวลาเราสอนเขาว่าอย่าโกรธ แต่เวลาเราเทศน์นี่อย่างกับไฟเลยล่ะ ห้ามโกรธนะห้ามโกรธ ไอ้นี่มันเข้าใจได้

ฉะนั้นเวลาโกรธ ถ้าเราอยู่กับเขา อยู่จนเคยชินไง มันยิ่งโกรธง่าย แต่ถ้าเราจะแก้ไข เราต้องมีสติไว้ตั้งแต่เริ่มต้น.. ต้องมีสติไว้ตั้งแต่เริ่มต้นนะ เราแก้ของเราอย่างนี้ ใหม่ๆ นี่เราแก้ว่า ถ้าเรามีเมตตา เมตตา เห็นไหม สรรพสัตว์ในโลกนี้เขาไม่ได้ตั้งใจ เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น แล้วเราคิดของเราไปเอง

นี่เราแผ่เมตตาไว้ก่อน ทีนี้พอเจอความโกรธ พอความโกรธมันปะทะขึ้นมามันก็เบาลงหน่อย แต่ถ้าเราเปิดทางให้มันอยู่แล้ว เวลามันมานะมันจะรุนแรงมาก แล้วหลวงตาท่านจะสอนว่า “อย่าไปเสียดายมัน” เวลามันโกรธขึ้นมา เวลาเราบอกว่าไม่โกรธ ไม่โกรธได้อย่างไรก็เขาทำเรา ไม่ให้โกรธได้อย่างไรล่ะ? นี่ไง นี่มันใส่ฟืน พอมันใส่ฟืนใส่ไฟเข้าไปนะมันก็ลุกโชติช่วงเลย

เขาจะใส่ฟืนใส่ไฟ ถ้าเป็นธรรมนะ ถ้าเอาธรรมเข้าแก้ เขาจะใส่ฟืนใส่ไฟมันก็เป็นเวรกรรมของเขา แต่เวลาเราเอาไฟนั้นเผาเรา เห็นไหม มันก็เป็นความเร่าร้อนในใจ หลวงตาท่านพูดคำนี้นะ ท่านบอกว่า

“ถ้าพูดถึงทางโลก เราโง่ที่สุด”

โง่เพราะอะไร โง่เพราะว่าไม่แสวงหาสิ่งใด

“แต่ถ้าเป็นทางธรรม เราฉลาดที่สุด”

เราฉลาดเพราะอะไร เพราะเราไม่ยึดสิ่งใดเป็นของเราเลย เราเสียสละเป็นสาธารณะไปหมด

ย้อนกลับมาเรื่องความโกรธไง ถ้าความโกรธนะ ถ้าบอกว่าเขาว่าเรา ทุกอย่างว่าเรา เห็นไหม เราเผาเรา นี่เราโง่ที่สุด แต่ถ้าเราฉลาดที่สุด นี่ถ้าทางโลก ทางโลกว่าเราโง่ที่สุด แต่ถ้าทางโลกเขาบอกว่าเรามีศักดิ์ศรี ใครว่าเราไม่ได้ ใครติเตียนเราไม่ได้ เราเป็นคนมีอำนาจวาสนา ใครจะแตะต้องเราไม่ได้ เห็นไหม ถ้าเป็นทางโลกว่า เออ.. ไอ้คนนี้มีศักดิ์ศรี นี่ว่าเป็นคนฉลาด แต่มันก็กลับกลายเป็นคนโง่ คนโง่ก็นี่ไง

“จะทำอย่างไรให้ความโกรธหายไปด้วยความเร็วเจ้าคะ”

เพราะเรารู้ว่ามันไม่ดี แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ? เป็นธรรมเราก็คิด ใช้ปัญญาอย่างที่ว่านี่ สิ่งต่างๆ เห็นไหม สิ่งนี้เราเอาไฟมาเผาเราทำไม ถ้าเขาจะติเตียน เขาจะว่าอย่างไร มันก็ตกแค่นั้นแหละถ้าเราไม่รับ สำรับอาหารเขาเอามาให้เรา เราไม่กินเขาต้องยกกลับไป เขาจะยุแหย่ เขาจะตะแคงรั่วอย่างไรมันเรื่องของเขา ถ้าเรารักษาใจเราได้นะ

แต่คนเรามันมีระดับของมัน หลุดบ่อย ใหม่ๆ ก็ตั้งใจว่าจะไม่โกรธ เขาแหย่ไปแหย่มา เดี๋ยวก็หลุด ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่การฝึก เราก็ฝึกของเราสิ เพราะเราถือว่าเขามาทดสอบ เหมือนกับระดับน้ำ เห็นไหม น้ำเวลามันมากขึ้น ระดับมันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จิตใจของเราถ้าเราฝึกฝนเราบ่อยๆ นะ มันจะปรับตัวเราเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่การฝึกนะ

คนมีทุกคนแหละ มีมากมีน้อย บางคนนี่ดูไม่โกรธเลยนะ แต่เขาเก็บกดในใจ โอ้โฮ.. เขาไปทุกข์นะ บางคนกิริยานิ่มนวลมาก แต่ในใจนี่โอ้โฮ.. ยิ่งกว่าไฟ ไอ้ของเราเวลาแสดงออก โอ้โฮ.. อย่างกับไฟเลยนะ แต่เขาเรียกโกรธง่ายหายเร็วไง ไอ้ไม่ค่อยโกรธ เวลาโกรธทีหนึ่งเกือบตาย กว่าจะดับได้ โอ้โฮ..

เราคิดถึงว่า ถ้าพูดถึงว่า “จะดับความโกรธอย่างใดให้มันหายไป” เวลามันเกิดแล้ว เวลาไฟป่ามันติดนี่ดับยาก แต่ถ้าเรารักษาไม่ให้มันติดได้จะดีที่สุด แต่ถ้ามันติดขึ้นมาแล้วเราต้องแก้ไข ก็ต้องฝึกหัด นี่เราฝึกของเรา เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เพราะธรรมะแก้ที่นี่ไง ธรรมโอสถ

หลวงตาบอกว่า “ธรรมะนี้เหมือนห้างสรรพสินค้า ใครเข้าไปจะเอาสิ่งใดก็ได้”

นี่ก็เหมือนกัน คนที่ทำบุญกุศลก็ได้บุญกุศลไป คนที่รักษาศีลก็ได้ศีลไป คนที่ฝึกหัดใช้ปัญญา นี้เราเข้มข้นขึ้น เห็นไหม เราเริ่มต้นตั้งแต่จะเอาธรรมโอสถรักษาโรคภัยไข้เจ็บในหัวใจเราเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลง โทสัคคินา โมหัคคินา ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ สิ่งที่เป็นไฟเผาใจอยู่ตลอดเวลา เราจะเอาสิ่งใดไปแก้ไข

เนี่ยมีพวกปุถุชน พวกคนทั่วไป เห็นไหม เวลาเขาจะโม้กันเรื่องธรรมะไง “โอ้โฮ.. เมื่อก่อนนะติดเหล้าเมายา โอ้โฮ.. ขี้โกรธนะ เดี๋ยวนี้ไม่โกรธเลย” โอ้โฮ.. คนก็ชื่นชมเนาะ ใครก็ชื่นชมว่าคนนี้เป็นคนดี ลองแหย่เข้าไปสิ พอไปโดนใจดำเข้าล่ะ ไอ้ที่ไม่โกรธเลยๆ อู้ฮู.. มันอย่างกับไฟ.. เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง โทสัคคินา โมหัคคินา คนจะละขาดได้ อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี พระอนาคามีมีถึงจะละตรงนี้ได้เด็ดขาด แล้วเราเป็นใคร? เราเป็นใครล่ะ?

ฉะนั้น เหมือนกับเรานี่เป็นโรค แล้วเรารักษาโรคเราไม่หาย เราจะบอกว่าเราหายนี่มันเป็นไปได้อย่างไร? ถ้าเราเป็นโรคใช่ไหม เรายังไม่หายเราก็รักษาของเราไป รักษาของเราไป ถ้าวันไหนมันหายก็สาธุ.. ฉะนั้นความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามีนะ พระอนาคามี ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่ดับหมด แต่หลงในตัวเอง เห็นไหม

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

มันเป็นอุปกิเลสไง ความเศร้าหมอง ความผ่องใส ความเผาลนในใจ ไฟสุมขอนนั่นล่ะทุกข์ของพระอนาคามี ถ้าพระอนาคามีนี่มันไฟสุมขอนอยู่ มันไฟไหม้แกลบอยู่ในใจ ฉะนั้นถ้าเราจะดับหมด โทสัคคินา โมหัคคินา ไฟเป็นราคะ ไฟเป็นโทสะ ไฟเป็นโมหะ มันต้องพยายามขยันหมั่นเพียรขนาดนั้น

อันนี้พูดเพื่อให้เห็นว่าถ้ามันจะดับได้จริง ระดับนั้นถึงจะดับได้ แต่ระดับที่ยังดับไม่ได้จริง สิ่งที่เราดูแลรักษากันนี้ก็คือมรรยาท คือมรรยาทสังคม คือการดูแลรักษา ดูแลรักษาใจของเราไปเพื่อประโยชน์กับเรานะ.. นี่พูดถึงความโกรธ

เอาอันนี้ก่อน

ถาม : ๑. ถ้าเรามีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย แล้วเราได้รับทุกขเวทนา เราจะสามารถใช้วิธีภาวนาเพื่อลดแรงกรรมตรงนี้ได้ไหมคะ และจะช่วยได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : ได้ ฉะนั้นคำว่าได้นี่นะ เวลาครูบาอาจารย์เรา อย่างครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในป่าในเขา เมื่อก่อนธุดงค์ไป ยาเม็ดหนึ่งก็ไม่มี เวลาไปทุกขเวทนา เวลาไปเจ็บไข้ได้ป่วยในป่าในเขา เห็นไหม

“ป่วยนี้มันมาจากไหน?”

“ถ้าป่วยมันมาจากร่างกายเรา มันก็ต้องหายจากร่างกายเรานี้”

ท่านก็จะใช้ภาวนาแก้ไขจบได้ ป่วยขนาดไหนนี่รักษาได้ ถ้าธรรมโอสถ

ย้อนกลับมาที่ว่าความเข้มแข็งของใจ ถ้าใจเข้มแข็งนะ หลวงตาท่านไปเป็นโรคเสียดอกที่อำเภอบ้านผือ เห็นไหม ตายวันละ ๗ ศพ ๘ ศพ นี่ท่านบอกว่ามันเป็นโรคเสียดอก แล้วเวลาท่านนั่งมันไม่มียา “ตายนี่อะไรตาย ขอดูตายก่อนอะไรตาย” ใช้ธรรมโอสถนะ

พอมีสตินี่ “อะไรตายๆ” อะไรตายคือสติ ถ้าสติมันอยู่กับเรานี่อะไรมันจะตาย แต่เวลาคนจะตายนะ โอ๋ย.. เจ็บ โอ๋ย.. เจ็บ ดับไปเลย เพราะมันออกไปไง แต่ถ้ามีสติอยู่นี่อะไรตาย แต่เวลาอะไรตายนี่มันเจ็บมาก มันปวดมาก มันจะดูแลรักษา

นี่เขาถามว่า “ภาวนาช่วยได้ไหม?”

ได้! แต่.. แต่ต้องเข้มแข็ง ต้องมีหลักเกณฑ์ ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ โดยธรรมชาตินะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ถ้าโรคที่รักษาหายนี่เราควรรักษาด้วย เพราะว่าโรคที่รักษาไม่หาย เขาก็รักษาตามอาการได้ ถ้ารักษาตามอาการคือให้หมอช่วยบรรเทา แล้วเราก็ภาวนาด้วย ถ้าเราภาวนาด้วยแล้วรักษาด้วย รักษาไม่หาย หมอก็ต้องรักษา ด้วยจรรยาบรรณของเขา เขาต้องดูแลรักษาเรา ถ้ารักษาเรานะมันก็ทำให้เราไม่ทุกข์ พอเราไม่ทุกข์เราก็ภาวนาได้ พอเราภาวนาได้ด้วย การภาวนานั้นก็มาทำให้โรคภัยไข้เจ็บนี้เบาลง

การภาวนาก็คือการรักษาอันหนึ่ง การรักษาทางโรคก็รักษาอันหนึ่ง ช่วยกันรักษา ช่วยกันดูแล ไม่ใช่ว่าอย่างเช่นเวลาหุงข้าวนี่ปล่อยให้ไฟไหม้หมดเลยเหรอ เราก็ต้องดูแลของเรา ถ้าดูแลของเรา เราปฏิบัตินะ.. นี่เราจะให้กำลังใจ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ มันก็เหมือนกับว่า ถึงแบบว่าถึงจนตรอก จนตรอกต้องให้เราต่อสู้ ถ้าจนตรอกให้เราต่อสู้ หลวงตาจะบอกว่า

“ปัญญาจะเกิดต่อเมื่อเราจนตรอก”

ถ้าเราไม่จนตรอกนะ พรุ่งนี้ก็ได้ มะรืนก็ได้ มันผัดวันประกันพรุ่งตลอดแหละ แต่ถ้ามันจนตรอกนะมันต้องสู้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นโรคเราก็ต้องสู้ สู้! เพราะมันเป็นเครื่องให้เราได้รักษา เป็นเครื่องให้เราได้พิจารณา เราต้องพิจารณา ถ้ามันพิจารณาไปนี่หายได้ด้วย หายได้ ถ้าเกิดมันหายขึ้นมานะจะทึ่งเลยล่ะ

จิตใจเรานี่แก้ไขเราได้ โรคที่รักษาไม่หายมันเป็นที่ไหน? มันเป็นที่ร่างกาย แล้วถ้าหัวใจของเราเข้มแข็งจนมันฟอกขึ้นมาได้ล่ะ พระอรหันต์ ทำไมเผาแล้วกระดูกเป็นพระธาตุล่ะ? ทำไมปุถุชนเผาแล้วมันไม่เป็นล่ะ? จิตใจมันฟอก เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจมันภาวนามันก็แก้ไขของมัน ธรรมโอสถ

ธรรมโอสถมี ๒ อย่าง ธรรมโอสถรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ธรรมโอสถรักษาโรคกิเลส.. นี่มีลูกศิษย์มาถามบ่อย ป่วยแล้วก็พิจารณาจนมันหายหมดเลย เขาว่าเป็นธรรมโอสถใช่ไหม? เขาบอกไม่ใช่ มาหาเราเราบอกใช่!

ธรรมโอสถนี่ ถ้าธรรมโอสถนะ เจ็บไข้ได้ป่วยนี่หายเลย แล้วถ้าเป็นธรรมาวุธ อาวุธโดยธรรมเข้าไปชำระกิเลส นั้นละเอียดกว่านี้อีก เพราะกิเลสมันก็เป็นโรคโรคหนึ่ง ถ้าพูดถึงเราจะชำระโรคกิเลส แล้วเราจะเอาอาวุธอะไรไปสู้กับมัน แล้วเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน

โอ๋ย.. ครูบาอาจารย์ของเรานี่ภาวนาหายมาเยอะแล้ว แต่! แต่ถึงที่สุดเวลาหมดอายุขัยมันก็ถึงเวลา แต่ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีอายุขัยนี้อยู่ มันก็เป็นวิหารธรรม เป็นการบรรเทา เห็นไหม เวลาเราทุกข์ขึ้นมา ขันธมาร ทุกข์นี้เป็นมาร ทุกข์นี้เป็นความทุกข์ แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา จิตใจที่เป็นวิหารธรรม นี่สิ่งนี้เป็นภาระ ทุกข์นี้ต้องบริหารมัน เราบริหารทุกข์ เราดูแลมันให้มันบรรเทา ไม่ต้องโอดโอยจนเกินไปนัก

นี่มันก็ผ่านพ้นไปได้ เพราะพระอรหันต์กับเราปุถุชนก็มีร่างกาย มีจิตใจเหมือนกัน แต่จิตใจของเรามีโรคกิเลสด้วย แต่จิตใจของพระอรหันต์ โรคกิเลสท่านไม่มี แต่ก็เป็นภาระ มีความรับรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งเหมือนกัน หนาวก็รู้ว่าหนาว ร้อนก็รู้ว่าร้อน พระอรหันต์หนาวบอกว่าไม่หนาว โอ้โฮ.. พระอรหันต์ไม่หนาวเลย ใส่หมวก ๒ ชั้น ๓ ชั้น พระอรหันต์ไม่หนาว.. หนาวก็รู้ว่าหนาว ร้อนก็รู้ว่าร้อน เห็นไหม นี่เราทำของเรา

ถาม : ๒. ขอให้หลวงพ่อเมตตาให้อุบายในการตัดใจ รักษาใจจากความรัก เพราะเอาชนะใจตัวไม่ได้ ก็เลยทุกข์มากค่ะ

หลวงพ่อ : อ้าว.. รักษาใจ ตัดได้ “ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” มีทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะรักษาใจเรานี่มีทุกข์ มีความเมตตาสงสารดีกว่า

ความรักที่สะอาดบริสุทธิ์เป็นความรักของพ่อแม่ พ่อแม่มีความสะอาดบริสุทธิ์ รักลูกด้วยไม่หวังผลตอบแทนสิ่งใดๆ เลย พ่อแม่ต้องการให้ลูกมีที่ยืนในสังคม พ่อแม่ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จทางชีวิต พ่อแม่ไม่ต้องการสิ่งใดตอบสนองเลย เห็นไหม นั่นเป็นพ่อแม่

แต่เวลาเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ “พ่อแม่ครูจารย์” เป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแม่ เป็นทั้งครูบาอาจารย์ด้วย เป็นพ่อเป็นแม่ก็ดูแลรักษา เลี้ยงให้เติบโตมา ครูบาอาจารย์รักษาค่าของน้ำใจ

ความเมตตา ความกตัญญูกตเวที.. ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี เราเมตตา เราเคารพบูชาด้วยความกตัญญูกตเวที เราไม่ใช่รักยึดว่าเป็นของเรา เพราะครูบาอาจารย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสมบัติของสาธารณะ ครูบาอาจารย์ของเรา ลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง เราจะไปยึดว่าเป็นของเราได้อย่างไร?

เรายึดเป็นของเราไม่ได้หรอก แต่เราเคารพบูชาของเราได้ การเคารพบูชาในหัวใจ ความรู้สึกมันกว้างขวาง มันไม่ใช่เป็นวัตถุที่จะไปกระทบกระเทือนกับใคร เราก็มองได้ เราก็อุ่นใจเราได้ เราก็พอใจของเราได้ คนอื่นก็พอใจได้ คนอื่นก็ดูแลได้ มันจะเป็นอะไรไป เห็นไหม เพราะมีความเมตตา มีความกรุณา มันก็ไม่มีสิ่งใดจะมากระเทือนใจเราได้ แต่ถ้าอย่างนั้นมันกระเทือนใจนะ

ฉะนั้น ให้เป็นความเมตตา ความกรุณา เราอย่าไปยึดของเรา นี่รักษาใจ รักษาใจไป ไม่มีอะไรคงที่หรอก ไม่มีอะไรคงที่ คำว่าคงที่หมายถึงว่าพอมันมีอัตตาไง ยึดมั่น แล้วก็คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริงล่ะ? ไม่เป็นความจริงอย่างที่เราคาดหมายล่ะ? ถ้าไม่เป็นความจริง เห็นไหม พอรู้ว่ามันไม่จริง ไม่จริงก็เป็นอนัตตา

อัตตาคือความยึด อนัตตาคือความแปรสภาพ แล้วมันเป็นจริงไหมล่ะ? มันก็ไม่จริง มันไม่จริงหรอก รักขนาดไหนนะ รักแล้วจะไม่ให้มันแปรสภาพ ให้มันอยู่กับเรา ไม่ได้หรอก! โธ่.. พ่อแม่กับลูกรักกันทั้งนั้นแหละ สุดท้ายแล้วพอถึงเวลาพ่อแม่ไปก่อน แล้วเราก็ตามไป มันมีอะไรคงที่ล่ะ? มันไม่มีหรอก

แต่เราเกิดมาแล้ว ถ้าเราใช้ชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราใช้ธรรมะ เห็นไหม เราใช้ธรรมะเพื่อรักษาใจเรา ธรรมโอสถรักษาใจเราให้ได้ เกิดมาพบพุทธศาสนามันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ถาม : ขอโอกาสพ่อแม่ครูจารย์ กราบเรียนถามปัญหาดังนี้

๑. ศีลแปลว่าความปกติของใจ แต่ถ้าใจเรามีความเร่าร้อนจากความทุกข์ต่างๆ จะถือว่าใจเราไม่ปกติหรือไม่ ทั้งๆ ที่ศีลเราก็บริสุทธิ์

หลวงพ่อ : ใช่ ไม่ปกติ ไม่ปกติ.. ทั้งๆ ที่บริสุทธิ์ก็ไม่ปกติ

เพราะศีลเราบริสุทธิ์นี่ ศีลคือกฎหมายไง ศีลบริสุทธิ์คือเราไม่ทำอะไรเลย นี่โต๊ะเราบริสุทธิ์ที่สุดเลย โต๊ะเราไม่ทำอะไรใครเลย นี่ศีล ๕ มันบริสุทธิ์ที่สุดเลย ไอ้พวกนี้ไม่ได้เบียดเบียนใครเลย มันบริสุทธิ์ไหม?

ฉะนั้น เราบอกว่าจิตใจ เห็นไหม คือว่าจิตเราปกติ ทั้งๆ ที่ศีลเราบริสุทธิ์..

คำว่าศีลบริสุทธิ์นี่มันเป็นศีลอาราธนาศีลขอเอา แต่ศีลที่บริสุทธิ์นะ ความปกติของใจคือตัวศีล ฉะนั้นถ้าจิตไม่ปกติมันเกิดมโนกรรมแล้ว กรรม มโนกรรม นี่ความรู้สึก ความนึกคิดนะ ความรู้สึก ความนึกคิดแล้วมันร้ายมาก ความคิดของคนนี่ร้ายมาก พอร้ายมาก พอมันคิดออกไปโดยความไม่ปกติ เห็นไหม ถ้าคิดในสิ่งที่ดี กุศล แล้วก็ขวนขวายมัน แต่ถ้าคิดในสิ่งที่ไม่ดี ย้ำคิดย้ำทำแล้วจะเป็นจริตนิสัย

นี่ถ้าเราคิดไม่ดีเราก็ปัด แต่นี้มันปัดไม่ได้ มันปัดไม่ได้.. มันปัดไม่ได้นะ มันปัดไม่ได้เพราะว่าเวลาคนนี่มันเกิดขึ้นมาโดยแรงบันดาลใจ แรงบันดาลใจนะ เอ๊ะ.. เราก็ดีๆ ทำไมเจอคนนี้แล้วมันเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว เอ๊ะ.. มันรับไม่ได้เลยนะ มันเกิดอย่างไรล่ะ? ทำไมเกิดอารมณ์อย่างนี้ ทำไมเจอคนนี้แล้วมันดี นี่แรงบันดาลใจ ถ้าแรงบันดาลใจนี่เวรกรรมมันมีของมัน ถ้ามีของมัน เห็นไหม มันไม่บริสุทธิ์แล้ว

มันไม่บริสุทธิ์เพราะมันเกิดการกระเพื่อม ถ้าเกิดการกระเพื่อม นี้ถ้าเราจะรักษามันล่ะ? เพราะคำว่าศีลนี่มันมีอธิศีล อธิศีล ศีลโดยธรรมชาติเลย เห็นไหม ดูสิสีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาส นี่เราสีลัพพตปรามาสกัน ทีนี้คำว่าบริสุทธิ์ของเรา บริสุทธิ์คือว่าถูกต้องตามกฎหมายไง

ศีล ๕ ไม่ผิดเลยก็ขอนไม้ไง อ้าว.. ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ โอ๋ย.. ศีล ๒๒๗ นะ โต๊ะมันก็ตั้งอยู่นี่ โอ๋ย.. มันไม่มีอาบัติเลย ไม่มีความผิดเลย แล้วมันเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ไหม? มันมีจิตไหม?

ศีล สมาธิ ปัญญานี่ก็เพื่อเป็นทางให้จิตใจเราสะอาดบริสุทธิ์ เป็นทางเพื่อคุณงามความดีของเรา แล้วเราก็บอกว่าเราทำถูกต้องตามกฎหมายหมดเลย เราทำถูกต้องหมดเลย ทำถูกต้องตามกฎหมาย เอ็งก็เกิดตายฟรีไง เอ็งก็ต้องเกิดต้องตายเป็นธรรมชาติอยู่อีกไง

นี้พูดถึงความบริสุทธิ์ไง อ้าว.. ก็ทั้งๆ ที่ศีลเราบริสุทธิ์ นี้มันบริสุทธิ์มันก็นี่ความลึกขนาดไหน? จิตใจเรามีขนาดไหน? เราจะรู้ได้มากน้อยขนาดไหน? ถ้าเรารู้ได้มากมันจะเห็นเอง ถ้ารู้ได้มากหมายถึงว่าเราภาวนาเป็น ถ้าเราภาวนาเป็นนะ กุศล อกุศลมันเกิด มันเป็นไปไม่ได้เลยล่ะ ถ้าอกุศลมันเกิดขึ้นมานี่เราจะอยู่ได้อย่างไร? ดูสินั่งอยู่อย่างนี้ นี่ถ้าใครมาด่า ลุกขึ้นจะไปหาเรื่องเขาเลย แล้วบอกว่าปกติ โธ่.. ถ้าคนมาชม โอ๋ย.. ลอยเลยนะ

จิต! เวลาเราเริ่มภาวนาของเรา เวลามันเกิดความเร่าร้อน เห็นไหม มันเดือดร้อนใจ โอ๋ย.. นั่งอยู่นี่โครมครามๆ อยู่ในหัวใจ แล้วถ้าโครมครามๆ อยู่ในหัวใจมันจะเป็นสมาธิได้ไหม? มันจะเกิดปัญญาไหม? มันไม่เกิดหรอก แต่ถ้ามันไปพัฒนา.. นี่เราจะพูดให้เห็นอธิศีลไง อธิศีล ใจเป็นศีลเลย ใจเป็นศีล ใจมันปกติ ใจมันคุมได้ตลอดเลย พอมันไหวก็รู้ว่าไหวนะ

อ้าว.. เวลาอารมณ์มันเกิดเรารู้ไหม? ถ้าอารมณ์มันเกิดเราไม่รู้ แล้วจิตใจเป็นสมาธิได้อย่างไร? ถ้าจิตใจเป็นสมาธินี่คือมันสงบของมัน เวลามันเสวยอารมณ์ล่ะ? เวลามันกระเพื่อมล่ะ? มันกระเพื่อมเราก็รู้ว่ากระเพื่อม พอรู้ว่ากระเพื่อมนะ ถ้าเราทำจิตเราสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าจนมีกำลังขึ้นมา แล้วมันออกใช้ปัญญาล่ะ? ออกใช้ปัญญามันเป็นการไปรุกรานเขาหรือเปล่า? มันเป็นการรุกรานเขาหรือ?

ไม่ใช่! มันเป็นสภาวธรรม มันเป็นมรรคญาณ มันเป็นธรรมะที่ออกทำงานแล้ว ธรรมจะก้าวเดินแล้ว พอธรรมจะก้าวเดินไปมันพิจารณาอะไรล่ะ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันมีการกระทำของมันนะ โดยธรรมชาตินี่มันกระเพื่อม มันหวั่นไหวตลอดแหละ แต่หวั่นไหวก็แก้ไม่ได้ ไม่หวั่นไหวก็ไม่รู้ ไม่ทำอะไรเลย.. ไม่ทำอะไรเลยแล้วมึงจะเป็นอะไรล่ะ? ก็เป็นปุถุชนไง

แต่พอปฏิบัติขึ้นมานี่ เป็นปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนเพราะอะไร? กัลยาณปุถุชนเพราะเราควบคุมใจเราได้ รูป รส กลิ่น เสียง เสียงที่พูดอยู่นี้ นี่เสียงๆ เสียงที่พูดนี้

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

นี่ถ้าเรารู้ทันหมดนะ เสียงก็คือเสียง เสียงมีค่าอะไร? เสียงเรียกร้อง เสียงคุยกัน นี่มันก็มีค่าตามเสียงนั้น ถ้ามันมีค่าตามเสียงนั้น นี่เรารู้หมด เราเท่าทันหมดแหละ แล้วมันจะกระเพื่อมไปไหนล่ะ? มันจะเต้นไปไหนล่ะ? มันเต้นไปไหน เห็นไหม นี่กัลยาณปุถุชน แล้วเวลามันออกทำของมันล่ะ? นี่ศีล อธิศีลนะ

ฉะนั้น สิ่งที่มันไม่มีมรรค ไม่มีมรรคญาณ ไม่มีการดำเนินการ ไม่มีวิถีแห่งจิต จิตไม่มีวิวัฒนาการ ไม่มีการพัฒนาของมัน มึงจะไปไหน? พอมันจิตสงบแล้วมันมีวิวัฒนาการของมัน เราบอกพัฒนาการของจิต เห็นไหม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล พอเป็นอรหัตตผล ตูม!

นี่อธิศีลเลย ศีลอันนี้บริสุทธิ์สะอาด แล้วอธิศีลเลย ไม่มีการเสวย จิตนี้เป็นธรรมธาตุ จิตนี้ไม่มีภพ ไม่มีชาติ นี่อธิศีล ศีลโดยตัวของมันเองอัติโนมัติเลย ตายตัวเลย ถ้ามันจะมีความรู้สึกมันก็เสวยอารมณ์ เสวยคือกิน เสวยคือรับรู้ พอรับรู้มันก็มีอารมณ์ความรู้สึก ถ้ามันไม่รับรู้ อารมณ์ความรู้สึกมันก็ไม่มี มันเป็นธรรมธาตุอยู่ของมันอย่างนั้น นี่คืออธิศีล!

แล้วมันเสวยล่ะ? นี่มันเสวย นี่ไงมันถึงบอกว่าถ้าบริสุทธิ์อย่างนั้น ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์อย่างนั้นมันก็จบใช่ไหม? แต่นี้พอมันไม่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่สะอาดบริสุทธิ์มันก็มีภพ อย่างพระอนาคามีก็มีภพ ภพคือความผ่องใส คือความเศร้าหมอง นี่มันมีภพของมัน มันก็มีความรู้สึกของมัน นี้มันก็ไม่บริสุทธิ์แล้ว

นี่อธิศีล ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด แต่ถ้ายังไม่สะอาดบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ไม่ได้ ทีนี้พอบริสุทธิ์ไม่ได้.. ทั้งๆ ที่ศีลเราบริสุทธิ์ บริสุทธิ์อย่างเราคิดนี่ บริสุทธิ์แบบนักกฎหมายไง ในปัจจุบันนี้ผู้ที่นั่งอยู่นี่บริสุทธิ์หมด เพราะไม่ทำอะไรผิดกฎหมายเลย ไม่มีใครทำผิดสักคนหนึ่ง นี่เป็นผู้บริสุทธิ์หมด ตำรวจไม่จับ ลองทำผิดสิตำรวจจับหมดเลย ผิดข้อหาไหน? คนนี้ผิดข้อหาอะไรบ้าง? นี่บริสุทธิ์อย่างนี้ไง ถ้าบริสุทธิ์อย่างนี้ก็จบ

ทีนี้ถ้าบริสุทธิ์อย่างนี้มันก็แบบโลก เห็นไหม โลกกับธรรมไม่เหมือนกัน ธรรมมันสะอาดจริงๆ ไง แล้วสะอาดอย่างนี้ อย่างที่เขาถาม เขามีมาถามไง เขาบอกว่า

“หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขา ทำไมเทวดารู้ว่าหลวงปู่มั่นอยู่ที่ไหน แล้วไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่น”

เราก็เปรียบให้เขาฟัง บอกว่า “ในป่าในเขามันมืดสนิทไปหมดเลย แล้วมันมีดวงไฟดวงหนึ่งสว่างกลางป่านั้น มันมีคนรู้ได้ไหมว่าสิ่งนั้นคืออะไร?”

จิตใจของพวกเรานี่มืดบอดไปด้วยอวิชชา โดนครอบงำไว้ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก จิตใจของหลวงปู่มั่นท่านสะอาดบริสุทธิ์ของท่าน อยู่กลางป่ากลางเขาแต่มันสว่างไสว ทำไมเทวดาเขาจะรู้ไม่ได้ เทวดาเขารู้ได้ เทวดาเขาเห็นของเขา เขารู้ของเขา เห็นไหม

เทวดา อินทร์ พรหมบอกมนุษย์ขี้เหม็น มนุษย์นี่เหม็นไปด้วยกลิ่นของกาม ดูสิร่างกายของคนจะมีกลิ่นคาว เทวดาไม่เข้าใกล้ เหม็นกลิ่นคาว เหม็นกลิ่นตัว เหม็นมาก! แต่ความสะอาดบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ เห็นไหม เทวดาชื่นชม เทวดาชื่นชม.. นี้คือความสะอาดบริสุทธิ์ ความสะอาดบริสุทธิ์ของใจ ถ้าใจสะอาดบริสุทธิ์แล้วนี่สิ่งใดๆ ก็หมดสิ้น

ฉะนั้นจะบอกว่า “อะไรคือความสะอาดบริสุทธิ์?”

ความสะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้มันเป็นความรู้สึกนึกคิดไง

“ทั้งๆ ที่ศีลบริสุทธิ์”

ศีลบริสุทธิ์นี้มันเป็นศีลจากข้างนอก ศีลจากกฎเกณฑ์ ไม่ใช่ความรู้สึก ไม่ใช่ศีลอธิศีลคือใจปกติ ใจไม่ปกติ ใจมีการคิด มีการเสวย มีการกระทำ มันถึงไม่สะอาดบริสุทธิ์ ฉะนั้น ถ้าสะอาดบริสุทธิ์แล้วมันต้องแก้กิเลสหมด มีกิเลสอยู่ สะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้ มีแรงขับ มีตัณหาแรงกระเพื่อมอยู่ในใจ ไม่มีสะอาดบริสุทธิ์ มันสะอาดบริสุทธิ์ต่อเมื่อมันทำลายแรงกระเพื่อมทั้งหมด แรงกระเพื่อมในใจไม่มี แรงกระเพื่อมไม่มีเลย แล้วมันสะอาดบริสุทธิ์ของมัน นี้คือความสะอาดบริสุทธิ์จริง

จบหรือยัง คำถามชุดนี้หมดแล้ว เอาคำถามนี้ไหม? คำถามนี้แรงเนาะ ตอนเช้านี่เราพลิกไป คือว่าเราข้ามไปไง เราข้ามไปตกไปไง ตอนเช้าเปิดแล้วตกไป ตอนเช้ามันตกไป นี้ขอเอามาตอบใหม่เนาะ

ข้อ ๔๖๘. อันนี้เป็นคำถาม แล้วเราอยู่ด้วยกันเองนี่มันตอบได้ ถ้าตอบตอนเช้ามันก็แปลกๆ อยู่เหมือนกัน ข้อ ๔๖๘. เจอไหม? ฟังนะ

ถาม : ๔๖๘. กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูได้อ่านเรื่องพระปาราชิกทำให้หนูกลัวมาก เพราะว่าในวัยสาวหนูมีอุบัติเหตุกับพระองค์หนึ่ง ปัจจุบันหนูมีครอบครัวแล้ว หนูได้อ่านเรื่องพระปาราชิก ทำให้หนูกลัวมากเรื่องตาลยอดด้วน หนูจะได้รับผลกรรมเช่นเดียวกับพระรูปนั้นหรือไม่คะ ขอความเมตตาหลวงพ่อตอบให้หนูด้วยค่ะ

ถ้าหนูต้องได้รับผลเช่นเดียวกับพระรูปนั้น หนูคงเสียใจมาก ปัจจุบันหนูเพียรปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ภาวนา ถ้าผลในอดีตทำให้หนูไม่สามารถข้ามพ้นวัฏฏะได้ มันคงทำให้หนูเสียใจมาก หลังแต่งงาน สามีและลูกชายบวชให้ บุญนี้จะช่วยได้ไหมคะ

ท้ายนี้ขอความเมตตาหลวงพ่อตอบด้วยนะคะ หนูจะรอค่ะ

หลวงพ่อ : ไม่ เพราะว่ากฎหมายเขาบังคับตามสถานะ พระกับภิกษุณีเท่านั้นถึงมีปาราชิก แล้วถ้าเป็นพระปาราชิกตาลยอดด้วน คือปิดกั้นมรรค ผล แต่ในเมื่อเรามีอุบัติเหตุกับพระองค์หนึ่ง แล้วปัจจุบันนี้เรามีครอบครัว เราไม่เกี่ยว ถ้าเรามีอุบัติเหตุโดยที่เราไม่มีส่วนที่เราจะปฏิเสธได้ อันนั้นแทบจะไม่มีสิ่งใดเลย แต่ถ้าเราไปมีอุบัติเหตุกับพระองค์หนึ่ง แล้วเรามีส่วนร่วม ส่วนพอใจ อันนั้นก็มีกรรมอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอุบัติเหตุอย่างนี้ มันมีความฝังใจนี่มีเรื่องกรรม กรรมคือความรับรู้ กรรมนี่เห็นไหม ดูสิกรรมดี กรรมชั่ว “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” การกระทำมันเป็นกรรมทั้งหมด ถ้าการกระทำเป็นกรรมนี่มันมีผลตอบสนองทั้งนั้น ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่วเราก็บ่นกัน ทำคุณงามความดีทำไมไม่ได้ผลดีสักที?

ทำความดีนี่ความดีต้องให้ผลเรา แต่! แต่เรามีกรรมเก่าไง อย่างเช่นคนมีกำลังมาก กำลังน้อย สิ่งที่ตอบสนองมามันจะสนองได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคนมีกำลังมากกำลังน้อยหมายถึงสถานะไง ถ้าสถานะมันตอบสนองมาโดยอย่างนั้น คนนั้นจะมีผลกรรมที่ดีโดยการขับเคลื่อนที่เร็วมาก แต่ถ้าผลกรรมที่มานี่เรามีกรรมเก่า กรรมใหม่ต่างๆ มันมาตัดรอน ผลกรรมจะให้ผล

กรรมที่ให้ผลอยู่ กรรมที่เป็นบาปอกุศลให้ผลอยู่ มันก็ให้ผลอยู่ แต่เรามีสติ มีปัญญา เพราะเราพบพุทธศาสนา เราทำคุณงามความดีของเรา มันก็ต้องเป็นความดีสิ แต่กรรมที่มันให้ผลอยู่ เห็นไหม มันยังขวางอยู่ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นอุบัติเหตุนี่มันมีกรรมไหม? มี! แต่กรรมอย่างนี้มันไม่ใช่ถึงกับว่าตาลยอดด้วน ตาลยอดด้วนมีพระกับภิกษุณีเท่านั้น ถ้าพระกับภิกษุณีทำแล้วเป็นตาลยอดด้วน เพราะว่าสถานะของพระ เห็นไหม ดูสิเวลาพระเรานี่ เวลาโจรเขาปล้นเขาต้องไปปล้น แต่พระเรานี่เวลาเป็นมหาโจร เขาเอามาให้ถึงวัด เขาเอามาให้ เขาเอามาปรนเปรอถึงวัด อย่างนั้นมหาโจร มหาโจรเพราะว่าเราวางตนให้เขาเชื่อถืออย่างนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี้มันมีผลกับพระกับภิกษุณีเท่านั้น เราไม่มี ฉะนั้นมันจะไม่มีผลถึงว่าเราเป็นตาลยอดด้วน.. เขาบอกว่าเขาเคยมีอุบัติเหตุ แล้วตอนนี้เขามาประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วอยากจะพ้นจากทุกข์ เป็นห่วงมาก อยากข้ามพ้นจากวัฏฏะ เสียใจมาก นี่แล้วแต่งงานแล้ว มีสามีแล้ว แล้วถ้าลูกชายบวชให้ ลูกชายบวชให้ได้ ๑๖ กัป พ่อแม่ได้ ๑๖ กัป

ฉะนั้น สิ่งที่ลูกชายบวชให้ หรือใครทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดีให้ สิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์กับเรานะ เพราะว่าเราเป็นชาวพุทธ เราศึกษาพุทธศาสนา พุทธศาสนาคือศาสนธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยสัจ สัจจะความจริง ถ้าสัจจะความจริง เราพยายามขวนขวายให้ได้คุณประโยชน์ได้มากที่สุด เพราะชีวิตนี้สั้นนัก

ฉะนั้น ถ้าสามี ถ้าลูกบวชให้อะไรให้ นั้นก็เป็นผลบุญของเรา เราต้องตักตวงเต็มที่ของเราทั้งนั้นแหละ แต่สิ่งที่เป็นการกระทำนั้นมาแล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวใจ เราตั้งใจปฏิบัติของเรา ทำความดีของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เท่านี้ก็จบ! สร้างคุณงามความดีไป

ถ้าเป็นพระ เป็นภิกษุณี ตาลยอดด้วนมันเป็นการปิดกั้น แต่ของเรานี่เราไม่ใช่พระ เราไม่ใช่ภิกษุณี กฎหมายไม่บังคับให้เรามีโทษมากขนาดนั้น อย่างเช่นคนทำความผิด เห็นไหม คนทำความผิดคนนี้ต้องได้รับผลตามนั้น ผู้สนับสนุน ผู้รับรู้ ผลทางกฎหมายมันก็น้อยลงตามไปๆ ไม่มี! ไม่มี!

อันนี้มันเข้าตามหลักเขา ข้อ ๔๗๑. ไม่มี

ข้อ ๔๗๒. เนาะ เรื่อง “ขอบคุณหลวงพ่อ” อันนี้เขาขอบคุณมา

ข้อ ๔๗๓. อันนี้

ถาม : ๔๗๓. เรื่อง “กราบเรียนถามเรื่องอริยบุคคล อริยสงฆ์”

เพราะได้ยินคนพูดกันมาก พูดกันบ่อยๆ เราจะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นอริยะตามที่พูดกัน จะพิจารณาจากอะไร ตัวตนเจ้าของร่างกาย เจ้าของจิตใจ จะทราบได้ไหมว่าตนนั้นได้ละสังโยชน์แล้ว เพราะทราบว่าการปฏิบัตินั้นบางอย่างก็เอามาแสดงไม่ได้ เป็นปัจจัตตัง ผู้อื่นจะเข้าใจไหมครับ

เช่นพระป่าผู้สงบสำรวมอินทรีย์ นั่งสมาธิแบบข้ามวันข้ามคืน เดินธุดงค์ลุยป่าลุยเขา อยู่ใกล้ๆ แล้วสัมผัสถึงความเมตตาได้ บุคคลทั่วไปจะบอกได้ไหมว่าท่านเป็นอริยบุคคล หรือเจอพระสงฆ์พูดจาโผงผาง กิริยาวาจาตรงกันข้ามกันพระสงฆ์ข้างตน จึงมี ๒ คำถามว่า

๑. ผู้ปฏิบัติธรรมจะทราบด้วยตนเองไหมว่าเป็นอริยบุคคลแล้ว หากทราบจะพิจารณาจากอะไรบ้างครับ

๒. บุคคลทั่วไปสามารถพิจารณาตามได้ไหมว่า พระสงฆ์ท่านใดคืออริยบุคคลแล้วครับ

๓. พระสงบอยู่ขั้นไหนครับ

หลวงพ่อ : ข้อ ๔. เอา ๒ ข้อนี้ก่อน เขาถาม ๒ ข้อ ๒ ข้อหลังนี้มันอีกเรื่องหนึ่ง

ถาม : ข้อ ๑. ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจะทราบด้วยตนเองไหมว่าเป็นอริยบุคคลแล้ว หากทราบจะพิจารณาจากอะไรได้บ้าง

หลวงพ่อ : เป็นพระโสดาบัน ต้องเป็นโสดาบัน เพราะคำถาม เห็นไหม ๑๓๗. “เรื่องโสดาบัน” เราเกิดมานี่เราเป็นผู้ชาย เราก็รู้ว่าเป็นผู้ชาย เราเกิดมาเป็นผู้หญิง เราก็รู้ว่าเป็นผู้หญิง เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชายต้องมีใครบอก ใครบอกเราว่าเราเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย เราเป็นเพราะสถานะเราเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายใช่ไหม

เวลาคนปฏิบัติไปจะเป็นพระโสดาบัน เราเป็นปุถุชนคนหนานี่ ทุกคนรู้ว่าเราเป็นปุถุชนและคนหนา แล้วเวลาเราปฏิบัติไป คนหนานี่จะทำใจให้มันสงบได้อย่างไร? แล้วคนหนาจะบรรลุธรรมได้อย่างไร? คนหนานี่พยายามจะจำธรรมะให้เยอะๆ พยายามจะอ้างอิง แล้วจะเป็นคนหน้าด้าน

ถ้าคนหน้าด้านอ้างตัวว่าเป็นโสดาบัน อ้างตัวว่าเป็น พยายามบังคับว่าตัวเองเป็น จะสวมสิทธิ์เขาว่าเป็นพระโสดาบัน ไอ้คนหน้าด้านมันอ้างว่าเป็นโสดาบันมันก็อ้างของมัน แล้วมันก็ตีหน้าด้าน สร้างสถานะว่าเป็นพระโสดาบัน แล้วเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ? แต่ถ้าเป็นจริงนะ คนที่เป็นจริงนี่

“ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจะทราบตนเองไหมว่าเป็นอริยบุคคลแล้ว”

ทราบ! ถ้าไม่ทราบจะเป็นอริยบุคคลได้อย่างไร? ไอ้คนที่ไม่ทราบนั่นล่ะไม่เป็นทั้งหมด เรากินข้าวเรายังรู้เลยว่ารสชาติข้าวเป็นอย่างไร จิตเป็นสมาธิ มันก็รู้ว่าเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ เวลาเป็นสมาธิ เขาบอกว่านี่เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ด้วย ว่างๆ ว่างๆ นี่เป็นพระอรหันต์ด้วย.. มันไม่ใช่!

“จะเป็นพระโสดาบันเป็นได้อย่างไร? นี่รู้ได้อย่างไรว่าเป็นอริยบุคคล?”

รู้ได้ แล้วถ้าเวลาคนหลงนะ เวลาคนปฏิบัติไปนี่มันจะหลง มันจะหลงเลยว่ามันเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ด้วย แต่หลงว่าเป็นพระอรหันต์นี่นะมันเป็นชั่วคราว พอสักพักมันจะรู้ตัวของมัน มันจะมีอะไร โอ้โฮ.. พระโสดาบันทำไมไม่รู้อะไรเลย พระโสดาบัน นี่โง่ยิ่งกว่าหมาเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร?

พระโสดาบันต้องฉลาด ฉลาดกว่ามนุษย์ ฉลาดกว่าปุถุชนด้วย นี่ถ้าเป็นพระโสดาบันนะมันพิจารณาของมันไป พอพิจารณากายไป พอมันปล่อย ปล่อยตทังคปหานนี่เป็นพระโสดาบันไม่ได้หรอก มันปล่อยอย่างไรก็แล้วแต่ มันปล่อยๆ แล้วเวลาปล่อยนี่มันปล่อยผิดปล่อยถูกล่ะ?

เวลาคนทั่วๆ ไปเขาปล่อย ปล่อยอย่างไร? แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน เวลาพิจารณากายนะ เวลาพิจารณาเวลามันขาด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ ละได้เด็ดขาด พอละสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิละไปนี่สีลัพพตปรามาส ความไม่ลังเลสงสัย ความไม่ลังเลสงสัยมันเกิดขึ้นเลย

ถ้าละสักกายทิฏฐิปั๊บ นี่สักกายทิฏฐิ ๒๐ ขาดผลัวะ! ความลังเลสงสัยมันไม่มี สีลัพพตปรามาสไม่มีแล้ว เห็นไหม สังโยชน์ ๓ ไง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส.. วิจิกิจฉาสงสัยได้อย่างไร? ถ้ามันขาดแล้วมันสงสัยได้อย่างไร?

พระโสดาบันคือพระโสดาบัน ต้องรู้ด้วย พระโสดาบันจะเป็นพระโสดาบัน ตัวพระโสดาบันจะรู้เอง พระพุทธเจ้ารู้ทีหลัง ครูบาอาจารย์รู้ทีหลัง ผู้นั้นรู้ก่อน พระโสดาบันเป็นพระโสดาบันรู้ก่อน แต่มันโสดาบันหน้าด้านไง มันจะมาให้คนอื่นรับรอง ไอ้พวกหน้าด้านมันต้องให้คนรับประกัน แต่พระโสดาบันไม่มีใครรับประกัน พระโสดาบันนี่เป็นพระโสดาบัน แล้วไปรายงานครูบาอาจารย์

อย่างเช่นหลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม นั่งตลอดรุ่ง พิจารณาเวทนา โอ้โฮ.. เวทนาขนาดไหนมันเวทนา เวทนามันสุมเข้ามาเลย ท่านบอกว่ากระดูกทุกข้อ ไฟเผาลน เหมือนกับสุมไฟทั้งตัวเลย พิจารณาสู้กับมัน เวลาเวทนามันขาด เวทนาคืออะไร เวทนาคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ไง

เวลามันขาด เห็นไหม ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น โดยปกติโอ๋ย.. กลัวมาก กลัวเพราะว่าอะไร กลัวเพราะว่าท่านล้วงตับล้วงปอดหมด เวลาขึ้นไปหานี่ตับ ปอดหลวงตาไม่เหลือ โอ๋ย.. หลวงปู่มั่นเอาตีแผ่หมดเลย พอวันมันขาด โอ๋ย.. มันมีความองอาจกล้าหาญ ขึ้นไปแล้วอู้ฮู.. รายงานเลย

“นี่พิจารณาอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น มันขาดอย่างนั้น”

หลวงปู่มั่นนั่งฟังอยู่นะ ฟังจบ รายงานจนจบเลย พอจบแล้วนะก้มเลยฟังซิท่านจะว่าอย่างไร

“เออ! จิตมันไม่เกิดไม่ตาย ๕ อัตภาพเว้ย ได้ทางแล้ว ได้หลักแล้ว เร่งเข้าไปเลย เร่งเข้าไปเลย”

เวลาคนไม่ขึ้นไปรายงาน นี่ผู้เป็น เป็นก่อน ท่านปฏิบัติมา เพราะอะไรท่านถึงปฏิบัติตลอดรุ่งล่ะ? ท่านได้ของท่านก่อนแล้ว แล้วท่านก็มั่นใจของท่าน แล้วท่านก็ภูมิใจของท่าน แล้วท่านจะเอาผลงานของท่านไปรายงานให้อาจารย์ได้รื่นเริง อาจารย์คือหลวงปู่มั่นได้ฝึกลูกศิษย์ลูกหามา ได้สร้างลูกศิษย์ลูกหามา พอลูกศิษย์ลูกหาประสบความสำเร็จ อาจารย์ก็รื่นเริง ลูกศิษย์ก็รื่นเริง นี่คนเป็นต้องเป็นก่อน รู้ได้ โสดาบันต้องเป็นโสดาบัน

ถามว่า “โสดาบันรู้ได้อย่างไร?”

ก็รู้ได้ด้วยปัจจัตตังไง รู้ด้วยสันทิฏฐิโกไง ไม่ใช่โสดาบันหน้าด้าน โสดาบันหน้าด้านมันต้องให้คนอื่นคอยยกตูด.. ไอ้คนเขียนมันเขียนมาหลอก

ถาม : ข้อ ๒. บุคคลทั่วไปสามารถพิจารณาตามได้ไหมว่า พระสงฆ์ท่านใดคืออริยบุคคลแล้วครับ

หลวงพ่อ : ถ้าหลวงตาท่านไปรายงานหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นท่านไม่รู้ ท่านจะพูดได้อย่างไร? หลวงตาท่านไปรายงานหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นว่า

“เออ! จิตไม่เกิดไม่ตาย ๕ อัตภาพเว้ย ได้หลักแล้ว”

รู้ได้! รู้ได้ด้วยผู้รู้ด้วยกัน ผู้ไม่รู้ ให้ตายก็ไม่รู้ ผู้รู้ด้วยกัน กิริยาการแสดงออกมันบอก พระโสดาบันนะเวลาพูดเรื่องธรรมะมันจะมีออกมา อย่างเรานี่ โยมพื้นเพมาจากไหน? พอพื้นเพมาจากไหน ก็ชอบกินอาหารแบบนั้น พอเห็นอาหารก็รู้ได้ว่าคนนี้คนใต้ อ๋อ.. อันนี้อีสาน ส้มตำนี่อีสานทั้งนั้นแหละ อ้าว.. ไอ้นี่คนเหนือกินแคบหมู โอ๋ย.. คนเหนือ นี่มันรู้ได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดออกมาแล้วรู้ได้หมดแหละ โสดาบันมันแสดงออก แค่แสดงออกก็รู้แล้วนี่โสดาบันหรือไม่โสดาบัน โอ๋ย.. คนใต้มานี่มีแต่น้ำบูดู โอ๋ย.. นี่คนใต้ อ๋อ.. อันนี้อีสาน ส้มตำนี่อีสาน มันรู้ได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่จะพูดหรือไม่พูด.. รู้ได้!

ข้อ ๓. เราไม่เกี่ยว

ถาม : ข้อ ๔. ปุถุชนทั่วไป หากปรารถนาขั้นต้น ปฏิบัติธรรมจนละกิเลส และบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน มีคำกล่าวว่าปิดอบายภูมินั้น ควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะละกิเลสและสังโยชน์ได้

หลวงพ่อ : ปิดอบายภูมิแน่นอน คำว่าปิดอบายภูมิๆ โดยหลักนะ ถ้าเราถือศีล ๕ ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์นี่ปิดอบายภูมิ เพราะ! เพราะไม่มีปาณาติปาตา ไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ทำจาบจ้วงใคร ปาณาติปาตา แม้แต่กล่าวล่วงใครก็ไม่มี อทินนาทาน เราไม่ได้ลักขโมยของใคร กาเมสุมิจฉาจาร เราไม่ได้ผิดลูก ผิดสมบัติของใคร สุราเมระยะ นี่เราก็ไม่ได้ทำให้สติเราขาดเคลื่อนไป

มันมีอะไรอีกข้อหนึ่ง ศีล ๕ พูดไม่จบ มุสา ไม่มีการโกหก เห็นไหม มีมุสา ปิดอบายพ่ายนะ ถือศีล ๕ บริสุทธิ์นี่อบายภูมิไม่ไปหรอก เพียงแต่ว่าเราถือศีล ๕ กันบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะกิเลสมันเร้าไง มันต้องมีความจำเป็นผิดนู่นผิดนี่ไง

ศีล ๕ นี่ปิดอบายภูมิเลย แต่พอเป็นพระโสดาบันนี่นะปิดอบายภูมิแน่นอนเพราะอะไร? ปิดอบายภูมิเพราะจิตนี่นะ ถ้าเป็นโสดาบันแล้ว จิตที่เป็นโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส ไม่มีความลังเลสงสัย จิตนี้มีสติปัญญาพอสมควร จะทำความผิดในศีล ๕ ที่ผิดศีล ๕ ไม่มีเด็ดขาด

พระโสดาบันจะไม่ทำผิดศีล ๕ เลยนะ เพราะอะไร ดูสิดูนางวิสาขา นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน แม้แต่เวลาหลานตายร้องไห้นะ ถ้ามีอะไรกระทบ มีอะไรที่รักมาก แล้วมันพลัดพรากนี่เสียใจไหม? เสียใจ พระโสดาบันเสียใจ ยังดีใจ เสียใจอยู่ แล้วเสียใจมากเพราะมือขวา หลานนี่เป็นมือขวา เป็นผู้ที่ทำบุญแทนตลอด แล้วตายไป ร้องไห้ๆ ร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าถาม “วิสาขาเธอเป็นอะไร?”

“หลานที่ทำงานแทน ที่เป็นผู้ที่อุปัฏฐากพระแทนนี่ตาย”

“แล้วในราชคฤห์มีคนเกิด คนตายไหม?”

“มี”

“แล้วถ้ามีคนเกิด คนตายทุกวัน แล้วเธอจะไม่ต้องร้องไห้ทุกวันหรือ?”

ปึ๊บ! ได้สติเลย นี่พูดถึงว่าความรักที่มันผูกพันนะ แต่เวลาเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม ที่มันจะปิดอบายภูมิ เวลาพระโสดาบันจะตาย จิตมันพร้อมมันรู้ จิตมันพร้อมมันรู้ มันไม่ได้ตายด้วยความหลงไง มันไม่ได้ตายด้วยความไม่รู้ไง เราปุถุชน เวลาตายนี่ช็อกผลัวะ! ตายเลย ไปถึงอีกทีไม่รู้อยู่ที่ไหน

จิตคนที่ปกติที่มันไม่ปิดอบายภูมิ เวลามันตาย เห็นไหม อย่างพวกเรานี่เวลาตายมีสติไหม? ตายไปแล้วยังไม่รู้ว่าตัวเองตายเลย แล้วมันจะไม่ปิดอบายภูมิได้อย่างไร? แต่พระโสดาบันไม่มีสิทธิ์นะ ถ้ามีอะไรวิกฤติมามันจะวิ่งเข้าจิตเลย เพราะจิตมันมีหลักของมัน พระโสดาบันนี่จิตมีหลักอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้ามีอะไรปั๊บ จิตจะตื่นตัวตลอดเวลา คนตื่นตัว คนมีสติจะทำผิดไหม?

นี่ถ้าเป็นพระโสดาบันปิดอบายล้านเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าการปิดอบาย แม้แต่ศีล ๕ ก็ปิดอบายได้แล้ว แต่เพียงแต่ว่ามันไม่ล้านเปอร์เซ็นต์เพราะมันผิดพลาดได้ แต่ถ้าปิดอบายภูมินี่ล้านเปอร์เซ็นต์! ไม่มีอีก

“แล้วจะปฏิบัติอย่างไรถึงละสังโยชน์ได้”

ก็พิจารณากายสิ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากายนะ

ถาม : ข้อ ๕. ขอคำแนะนำในการปฏิบัติธรรมที่หลวงพ่อฝึกมาทั้งชีวิต

หลวงพ่อ : โอ้โฮ..

ข้อ ๔๗๔. ไม่มีเนาะ

ถาม : ๔๗๕. เรื่อง “พระเครื่องและวัตถุมงคล”

กราบนมัสการพระอาจารย์สงบที่เคารพอย่างสูง สอบถามอาชีพการค้าขายวัตถุมงคล เช่นพระเครื่องและต่างๆ โดยความสุจริต กำไรที่ได้มาเราก็นำไปทำบุญและใช้จ่ายในชีวิต เป็นอาชีพควรทำหรือไม่ครับ กราบขอบคุณอย่างสูง

หลวงพ่อ : สัมมาอาชีวะ การสัมมาอาชีวะนี่นะ ถ้าเราทำด้วยความสะอาดบริสุทธิ์เป็นสัมมาอาชีวะ แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม ในเมื่อวัตถุมงคล วัตถุมงคลเราทำ เราว่าเศร้าหมองนะ เราว่าเศร้าหมอง แต่ถ้าเป็นอาชีพที่ว่าทำ นั่นก็เป็นเรื่องของเขา

แต่ว่าเศร้าหมอง ทำไมคนที่เขาทำธุรกิจนี้ทำไมเขารุ่งเรืองมากล่ะ? เขามีเงินมหาศาลเลย พอมีเงินมหาศาลมันก็เกิดความโลภ มันก็อยากได้ มันก็อยากกระทำ แต่ถ้าเรามีสตินะ อะไรที่เป็นสัมมาอาชีวะ แม้แต่พระเรา เห็นไหม เวลาพระเราสัมมาอาชีวะก็เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง บิณฑบาตเลี้ยงชีพโดยชอบ แต่เวลาเขาดูหมอ เขาทำประโยชน์

เวลาโลกเขายังสัมมาอาชีวะ แล้วพระล่ะ? พระเวลาสอนธรรม เห็นไหม เวลาพระแสดงธรรม ถ้าแสดงธรรมด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ มันต้องแสดงธรรมเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่สัจจะความจริง แต่ถ้าแสดงธรรมล่ะ? แสดงธรรมว่านี่เป็นธุรกิจการค้า เป็นอะไร.. ภิกษุนะเวลาแสดงธรรม ภิกษุแสดงธรรมไม่ตัดให้ลัดสั้น ไม่พูดเพื่อชักประโยชน์กับเรา ไม่พูดเพื่อเปรียบเทียบคนอื่น นี่มันเป็นสัมมาอาชีวะหรือไม่สัมมาอาชีวะ แม้แต่พระก็มีสัมมาอาชีวะเหมือนกัน

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ มันอยู่ที่ว่าจิตใจของคน วุฒิภาวะของคนสูงต่ำ ถ้าคนเขาสูงนะ เราจะทุกข์ทนเข็ญใจ แต่เรามีความสุขของเรา อันนี้คือความสะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าเรามีความโลภ ความอยากมั่งอยากมี เราอยากกระทำ เราก็ต้องรับผล อย่างเช่นบอกว่า “บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน” โอ้โฮ.. พระกินทุกวันเลย พระมีแต่บาป.. ไม่!

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เนื้อ ๓ ส่วน ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่รู้ ไม่เห็น”

มันเรื่องของโลก เพราะเขาเลือกอาชีพอย่างนั้น แล้วชาวโลกเขาหาสิ่งนั้นมาเพื่อบุญกุศลของเขา แล้วเขามาใส่บาตร พระนี้เป็นเป้าหมายสุดท้ายเลย แล้วเขาก็ใส่มาแล้ว อ้าว.. ก็เป็นน้ำพักน้ำแรงของเขา เขาหามาด้วยสัมมาอาชีวะ แล้วเขาก็ถวายพระ แล้วบาปอยู่ที่คนกิน

เวลาโวหาร เวลาพูดนี่พูดโดยไม่มีเหตุมีผล แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปรู้ทั้งหมด เห็นไหม ดูสิถ้าเขานิมนต์โดยออกชื่อ เจาะจงว่าจะทำแกงไก่ จะทำอย่างนั้น ไก่ตัวนั้นตายเพราะพระ ฉันแล้วเป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำเลย แต่ถ้าไม่ได้รู้ไม่ได้เห็น ไม่รับรู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้เพื่อ นี่คือความสะอาดบริสุทธิ์

แล้วเนื้อสะอาดบริสุทธิ์ได้อย่างไร? เนื้อก็คือเนื้อ เนื้อมันสะอาดบริสุทธิ์ได้อย่างไร? สะอาดบริสุทธิ์ด้วยเจตนา สะอาดบริสุทธิ์ด้วยความรับรู้ สะอาดบริสุทธิ์ด้วยหัวใจ มันไม่ได้สะอาดบริสุทธิ์เพราะมันเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ เพราะการอยู่และการกินมันเป็นเรื่องของธาตุขันธ์ มันไม่ใช่เรื่องของร่างกาย

การประพฤติปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญามันเป็นเรื่องของจิต มันเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของการกระทำ.. อันนั้นพูดถึงสัมมาอาชีวะไง นี่พูดถึงสัมมาอาชีวะของพระ

เขาถามว่าอาชีพของเขา ดันไปพูดเรื่องอาชีพของพระ เพราะให้เห็นว่าพระก็มาจากคน พระก็มาจากคน แล้วคนที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว หัวใจของปุถุชนมันมีหลักมีเกณฑ์ได้ แล้วเราก็เป็นคน เห็นไหม เราจะเลือกสัมมาอาชีวะว่ามันทำได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่วุฒิภาวะว่าเราเห็นสมควร และไม่เห็นสมควร เอวัง