เทศน์บนศาลา

แม่ปู

๑๖ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

แม่ปู
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้กว่าจะได้มาไม่ใช่ของง่าย “เอกนามกิง” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดแต่พระองค์ แต่เราเป็นชาวพุทธไง เวลาสวดมนต์เห็นไหม เวลาบอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นล้านๆ องค์ ล้านๆ องค์เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “พุทธวิสัย” ท่านรู้ท่านเห็นของท่าน

ทีนี้เวลาเราสวดมนต์ เราว่าเป็นล้านๆ พระองค์ มันเหมือนกับถ้าเราคุ้นชิน เราจะนอนใจไงว่าสิ่งนี้เราหามาได้ง่าย เพราะของเราเกิดมามันมีอยู่แล้ว เราก็คิดว่าของมันใกล้ชิดกับเราจนไม่มีค่า แต่ความจริงมันมีค่ามาก มีค่ามากๆ เลย มีค่ามากๆ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ขึ้นมา “พุทธวิสัย” เห็นไหม เวลาพระโพธิสัตว์สร้างสมบุญญาธิการมาขนาดไหน สร้างสมบุญญาธิการมา กว่าจะรื้อค้นกว่าจะได้ธรรมะนี้มา ถ้าได้ธรรมะนี้มาเหตุใดถึงได้ธรรมะนี้มาล่ะ

การได้ธรรมะนี้มา จิตใจของคน จิตใจของเราเห็นไหม มันเฉมันไฉตลอด สิ่งที่มันเฉมันไฉตลอด มันมีข้ออ้างอิงไปทั้งนั้น ทำสิ่งใดมันก็จะอ้างอิงของมันไป แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งใดที่มันไม่เป็นความจริง ภิกษุตรวจสอบแล้ววางๆ

อาฬารดาบสค้ำประกันเลย “มีความรู้เหมือนเรา มีความเห็นเหมือนเรา ให้สอนได้ ให้เป็นศาสดาได้” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอาๆ เห็นไหม คำว่าไม่เอานี่พูดถึงว่าจิตใจเป็นสุภาพบุรุษ จิตใจมุ่งสู่ความจริง ถ้ามุ่งสู่ความจริงนะ สิ่งใดที่มันไม่จริงจะปฏิเสธ

แต่ถ้าจิตใจมันเฉไฉอย่างพวกเรา มันเฉไฉ มันจะเอาของมันนะ พอเอาของมันเห็นไหม ดูสิเวลาคนเดินทาง ถ้าปลีกอยู่ข้างทางมันจะไปถึงปลายทางนั้นได้ไหม นี่ก็เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์เป็นศาสดาของเรา ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถึงที่สุดแห่งความจริง มันแก้ไขกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง ถ้าแก้ไขกิเลสตัณหาความทะยานอยากเห็นไหม มันไม่เฉไฉ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง

การออกนอกลู่นอกทาง มันออกไปตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปราบกิเลสในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมันไม่ออกนอกลู่นอกทาง มันอยู่ในเส้นทางนั้น เส้นทางเผยแผ่ธรรมมาเห็นไหม มันเจริญรุ่งเรืองมาก เจริญรุ่งเรืองเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เผยแผ่เห็นไหม

เวลาไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ไปเทศน์ยสะ “เธอกับเรา ๖๑ องค์ พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธอจงอย่าไปซ้อนทางกัน” นี่เริ่มต้นของการเผยแผ่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พระอรหันต์ ๖๑ องค์ ทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่เผยแผ่นั้นเป็นความจริง ไม่มีจิตใจที่เฉไฉเลย จิตใจที่มีคุณธรรม แล้วเป็นผู้วิมุติสุข มีแต่ความจริงแท้ๆ ถ้าความจริงที่เผยแผ่มา มันก็เป็นความจริงแท้ๆ มาเห็นไหม แล้วศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก เจริญรุ่งเรืองจนเข้มแข็งไง จนลัทธิอื่นๆ ส่งคนเข้ามาก่อกวนนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม เขาจ้างคนให้มากล่าวตู่ จ้างคนให้มาทำร้าย จ้างคนมาทั้งนั้น นี่เรื่องของโลกเห็นไหม

เรื่องของโลก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ แล้วลูกศิษย์ลูกหา พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ มีฤทธิ์เดชทั้งนั้น มีมหาศาลเลย แต่ทำไมเรื่องของโลกเป็นอย่างนั้นล่ะ อย่างพวกเราเชื่อถือศรัทธา เราคิดจาบจ้วงเรายังไม่กล้าคิดเลย เราคิดว่าจะทำสิ่งไม่ดี เราก็ไม่กล้าคิด แล้วทำไมคนที่เขาอยู่ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขากล้าจ้างคนมากล่าวตู่ จ้างคนมากล่าวร้ายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่เราพูดเรื่องของโลกเห็นไหม เวลาคนเห็นผิด คนมองในมุมมองผิด เขาก็มีความเห็นผิดไปทั้งนั้น ความเห็นผิดของเขา จิตใจมันเฉไฉออกไปเห็นไหม เขาเห็นแต่ว่าคนศรัทธามีคนมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ลาภสักการะของเขาเสื่อมถอยไป พอเสื่อมถอยไป ถึงบางคราวนะ เขาถึงละทิ้งขึ้นมา ปลอมตัวบวชเข้ามาในพุทธศาสนาเพื่อเข้ามาทำลายนะ ถ้าเหตุนั้นเห็นไหมมันเฉไฉออกไป ถ้าเฉไฉออกไป มันก็ไม่ใช่ความจริง แต่ถ้าเวลาเป็นความจริงขึ้นมาล่ะ

ในจิตใจของเรานะ จิตใจของเรามันก็มีตัณหาใช่ไหม มีความมุ่งมั่นมีความมุมานะ เราอยากจะพ้นจากทุกข์นะ เราเกิดมาเรามีวาสนา พอมีวาสนาเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดมาในพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเป็นศาสดาของเรา เป็นครูเอกของโลก เป็นผู้สั่งสอนเทวดา อินทร์ พรหม ทั้งนั้นนะ สั่งสอนได้หมดเพราะเข้าใจ รู้ถึงว่าจิตไปเกิดในภพใดชาติใด มันมีสถานะของมันนะ วุฒิภาวะของจิตมันมีความรู้มีขอบเขตของมัน แต่เรื่องอริยะสัจไม่มีใครรู้ ถึงจะเกิดเป็นพรหม เกิดเป็นเทวดา เกิดแล้วก็เกิดแล้ว

เทวดา อินทร์ พรหม ก็เหมือนเรานี่แหละ เหมือนเราตรงไหน เหมือนเราตรงเสวยชาติแล้วก็คือเสวยชาติหนึ่ง มันก็รับรู้ในชาตินั้น พรหมก็รับรู้แต่เรื่องของพรหมนะ เทวดาก็รับรู้แต่เรื่องเทวดาของเขา เห็นไหม มนุษย์เราก็รับรู้เรื่องของมนุษย์ ดูสัตว์เดรัจฉาน ดูนรกอเวจี เขาก็รับรู้ของเขา ถ้าภพชาติใดแล้วเห็นไหม มันถึงระลึกอดีตชาติ ความรู้ ความเห็นต่างๆ มันเป็นคุณวิเศษ

เขาเสวยภพชาติของเขา แต่ถ้าเขามีสติปัญญาของเขา เขาศึกษาของเขา เขาอยากพ้นทุกข์ของเขา เขามาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขามาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ของเราเพื่อจะแก้ไขกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเขา ก็เหมือนเรานี่แหละ เราเป็นมนุษย์ เราเกิดมาในพระพุทธศาสนา เราก็อยากจะพ้นจากทุกข์ เราอยากพ้นจากทุกข์เพราะว่าศาสนาของเราบอกว่า “นิพพานคือความสุขอย่างยิ่ง นิพพานคือความสุขอย่างยิ่ง”

เราท่องบ่นกันมาประจำ เราท่องบ่นกันมาจนเรามีศรัทธา มีความเชื่อ เราพยายามขวนขวายของเรา เราเกิดมาพบพุทธศาสนานะ บุญกุศลชั้นหนึ่ง อีกชั้นหนึ่งคือในกึ่งพุทธกาล ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านพยายามของท่านนะ ท่านพยายามของท่าน คนมีกิเลสใช่ไหม ผู้ปฏิบัติใหม่ใครไม่มีกิเลส คนเกิดมามีกิเลสทั้งนั้น

แต่เวลาคนมีกิเลสขึ้นมา แล้วพยายามจะรื้อค้น พยายามจะแสวงหาความจริงในหัวใจ จะแสวงหาความจริงนะ เราเสียสละมาเห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราเสียสละมาจากฆราวาส เสียสละมาจากการเป็นมนุษย์ เสียสละมาบวชในพุทธศาสนา ด้วยการญัตติจตุตถกรรมขึ้นมาเป็นพระ เป็นพระขึ้นมา ก็คนนะ มนุษย์ขึ้นมาเป็นพระ เห็นไหมเป็นพระนะ “สมมุติสงฆ์” ถ้าสมมุติสงฆ์เราจะเอาความจริงจัง เอามุมานะของเรามากน้อยแค่ไหน แล้วหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านไปศึกษากับใคร

นี่ไงเรามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านปราบกิเลสของท่าน จนท่านเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต มีแต่ความเมตตาเราสั่งสอนเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านปราบกิเลสของท่าน กว่าจะปราบกิเลสเห็นไหม แต่เพราะเรามีกิเลสอยู่ มีความทุกข์มากน้อยแค่ไหน ท่านพยายามแสวงหาของท่าน ท่านทำของท่านด้วยบุญญาธิการนะ พอบุญญาธิการท่านแสวงหาใช่ไหม

เราเกิดมาในพุทธศาสนา พุทธศาสนาคือธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นกติกา เราเกิดมาไม่พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราเกิดมาในปัจจุบันนี้ เห็นไหม เรามีครูมีอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ประพฤติปฏิบัติด้วยการแก้ไขในหัวใจ ต้องมีการแก้ไขมีการกระทำ จนจิตใจเข้าสู่สัจจะความจริง อย่างเช่นจิตมันสงบ ก็ให้มันสงบด้วยความเป็นจริง กว่ามันจะสงบขึ้นมาได้นะ ถ้ามันสงบขึ้นมาแล้วออกรู้อย่างไร ถ้าคนไม่เคยออกรู้มันจะแก้ไขสิ่งใดได้

ถ้ามันแก้สิ่งใดไม่ได้เห็นไหม ถ้ามันแก้ไขสิ่งใดได้ เราก็มีกิเลสอยู่แล้ว พอเรามีกิเลสอยู่แล้ว เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามีคนที่มีสังคมเชื่อถือศรัทธามายอมรับ และมีความเห็นกับเรา เราลำบาก ๒ ชั้นนะ ลำบาก ๒ ชั้นเพราะกิเลสของเรามันก็มีอยู่แล้ว แล้วมีคนมาเกื้อกูลเห็นไหม นี่สิ่งที่เขาเฉออกนอกทางเขาก็ยังไม่รู้ แต่ครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในทางนะ

ดูสิ ดูแม่ปูเวลามันเดิน มันเดินของมันนะ แล้วมันสอนคนอื่นให้เดินตรงๆ “เดินเหมือนแม่นะ แม่จะพาเดินตรงๆ” เดี๋ยวปูตัวหนึ่งก็พาเดินไปข้างหนึ่ง เดี๋ยวปูอีกตัวหนึ่งก็พาเฉไฉไปอีกข้างหนึ่ง แล้วมันก็จะมีแม่ปูมาอย่างนี้มาตลอด ถ้ามีแม่ปูมาอย่างนี้ตลอด แม่ปูมันเดินตรงไม่ได้ มันเดินตรงไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่รู้ความจริงของมัน โดยธรรมชาติของปู มันเดินของมัน มันเดินตรงไม่ได้หรอก มันเดินตามประสาของมันเห็นไหม แล้วถ้ามันไม่มีสติปัญญาของมันนะ มันจะเป็นเหยื่อของนักล่า

ชีวิตทั้งชีวิตเกิดมานะ มันควรจะทำคุณงามความดี มันควรจะแก้ไขของมัน แต่ถ้ามันเป็นแม่ปู แล้วมันประมาทเลินเล่อ ชีวิตมันอันตรายนะ พอชีวิตอันตราย แต่ด้วยความเข้าใจผิดไง ด้วยการเกื้อกูลกันมา ด้วยการอยู่ในสังคมกันมา สิ่งนั้นเอามาอ้างไง สิ่งที่เอามาอ้างอิง เห็นไหม แล้วเราเกิดมาในพุทธศาสนา ถ้าเราซื่อตรงซื่อสัตย์กับพุทธศาสนา ดูสิเวลาเราศึกษามาเป็นปริยัติ เราศึกษามาแล้วเป็นปริยัติ เราเข้าใจในพุทธศาสนาไหม เราก็เข้าใจ ทางวิชาการเราเข้าใจหมด

แต่ความเป็นจริงมันมีไหมล่ะ มันมีไม่ได้เพราะมันเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญาก็คือจินตนาการของเขามา แล้วเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา ครูบาอาจารย์ของเราท่านได้แก้ไขของท่าน ท่านเป็นความจริงของท่าน เวลาเป็นความจริงของท่าน ดูสิเราทำธุรกิจการค้าหรือทำงานต่างๆ ประสบความสำเร็จ การทำมาจนประสบความสำเร็จ เราต้องอาบเหงื่อต่างน้ำขนาดไหน แล้วเราจะเอาสิ่งที่เราประสบความสำเร็จนี้ไปสอนผู้ที่ฝึกหัดใหม่ มันเป็นความลำบากพอสมควรไหม

ครูบาอาจารย์ของเราท่านผ่านการกระทำของท่านมาด้วยความเป็นจริง พอด้วยความเป็นจริงเห็นไหม แม่ปูที่ดัดแปลงมาเป็นสัตว์อาชาไนย สัตย์อาชาไนยมันเลือกอาหารนะ สัตว์อาชาไนยจะไม่กินอาหารสุ่มสี่สุ่มห้า ดูสิม้าอาชาไนยมันจะกินแต่หญ้าอ่อน มันกินน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์เท่านั้น นี่สัตว์อาชาไนยเขามีศักดิ์ศรีของเขา หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์ของเราเป็นสัตว์อาชาไนย! เป็นผู้มีเกียรติ! เป็นผู้มีศักดิ์ศรี! เป็นผู้ที่เคารพธรรมวินัยตามความเป็นจริง ถ้าตามเป็นจริงเห็นไหม เพราะประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันถึงได้ทำตามความเป็นจริงอันนั้นขึ้นมา แล้วทำตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะแก้ไขอย่างไร

“สนิมเกิดจากเหล็ก” ถ้าไม่มีเหล็ก สนิมมันจะเกิดจากไหน ถ้าไม่มีเหล็กมันก็ไม่มีสนิมสิ ดูสิถ้ามันเป็นไม้ มันเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ มันไม่มีสนิม! แต่ถ้ามันเป็นเหล็ก มันมีสนิมกัดกร่อนมันเห็นไหม ในหัวใจของเราถ้ามีจิตอยู่ที่ไหน มีอวิชชาอยู่ที่ไหน มันมีความกัดกร่อนในหัวใจ เห็นไหมสิ่งที่มันกัดกร่อนในหัวใจ สนิมเกิดจากเหล็ก!

แล้วเรามีจิต เรามีอวิชชามันจะกัดกร่อนเราไหม ถ้ามันกัดกร่อนเรามานะ แล้วเราไม่มีวุฒิภาวะ เหล็กมันไม่รู้ตัวมันว่าเป็นเหล็ก เวลาสนิมขึ้น สนิมเกิดขึ้นมาเกรอะกรังเลย มันบอกว่าสิ่งนั้นคือความสะอาดบริสุทธิ์ของมัน

นี่ไงดูแม่ปู แม่ปูถ้าไม่รู้ความเป็นจริงของมัน มันไม่รู้จักสนิม มันไม่รู้จักเหล็ก ไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย แต่มันอ้างตัว มันอ้างตัวว่าเป็นครูบาอาจารย์ไง ถ้ามันอ้างตัวเป็นครูบาอาจารย์ เดี๋ยวก็มีแม่ปูตัวหนึ่ง เดี๋ยวก็มีแม่ปูอีกตัวหนึ่ง ตัวหนึ่งก็เดินไปทางหนึ่ง ตัวหนึ่งก็เดินไปอีกทางหนึ่ง แล้วเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราเป็นผู้ที่หาสัจจะความจริง แล้วเป็นผู้ที่อ่อนด้อยในวุฒิภาวะเห็นไหม แม่ปูมันจะชักนำไปไหน มันก็จะตามแม่ปูนั้นไป แล้วถ้าแม่ปูมันพาไปเห็นไหม มันจะไปเจอนักล่านะ นักล่ามันโฉบมามันเอาปูไปเป็นอาหารนะ อยู่ในทะเลนะ ปลาเต่ามันก็เอาไปกินเป็นอาหารของมันทั้งนั้น

ชีวิตของเรานะ ดูสิเวลากิเลส คำว่า เราลำบาก ๒ ชั้น ลำบาก ๒ ชั้นขึ้นมา การต่อสู้ของเรา ชนะกิเลสของเรา เราก็เป็นความยากลำบากอันหนึ่ง แล้วความอ่อนด้อยของวุฒิภาวะ ให้แม่ปูมันเดินออกนอกลู่นอกทางเฉไฉออกจากธรรมวินัยนี้ไป แล้วเราก็ยังจะเดินตามมันไป.. เดินตามมันไป.. เอาอย่างนั้นเหรอ? ถ้าเดินตามมันไปนะ กิเลสไง

สนิมเกิดจากเหล็ก! ถ้าสนิมเกิดจากเหล็กเห็นไหม จิตใจที่มันเกรอะกรังไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เพราะความไม่รู้ ถ้าเป็นความไม่รู้นะ มันก็เป็นอันหนึ่ง แต่มันรู้! สิ่งที่รู้ขึ้นมาแล้วไม่รู้จริง ไม่รู้สัจจะความจริงขึ้นมา มันยอมรับความจริงขึ้นมาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าขี่หลังเสือไง เพราะยกย่องสร้างภาพ พยายามให้จะสร้างภาพขึ้นมาให้เป็นผู้นำให้ได้ ถ้าสร้างขึ้นมาเป็นผู้นำโดยไม่มีความจริงในหัวใจ มันน่าสงสารนะ เวลาสอนเขาบอกให้เดินตรงๆ นะ แล้วตัวเองเดินอยู่อย่างนั้น

ถ้ามันเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะเอาความจริงกัน เราจะเชื่อใคร เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ สัตว์อาชาไนยนะ เวลาดำรงชีวิตความเป็นอยู่เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราท่านสอนเรามา “เก็บเล็กผสมน้อย” หลวงตาท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงตาท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ท่านบอกเลย “เก็บเล็กผสมน้อย” เพราะเป็นพระอรหันต์ เขาเรียกสติวินัย สติวินัยมันไม่มีอาบัติหรอก แต่ด้วยความที่ท่านจะเอาเป็นตัวอย่างนะ

อาบัติก็คืออาบัติ อาบัตินะ เวลาพวกเราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี้ อาบัติ ๑๐๐ เปอร์เซ็น ๑๐๐ เปอร์เซ็น เพราะอะไร เพราะเราเป็นปุถุชน “ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา” เราจะก้าวล่วงไม่ได้ ถ้าก้าวล่วงเห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า เหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป แล้วยังแสดงธรรม เหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก้าวล่วงไง ก้าวล่วงธรรมวินัย เหยียบย่ำไปๆ แล้วแสดงธรรมๆ มันจะเป็นประโยชน์อะไร

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ดูสิเวลาหลวงตาท่านบอกว่า “หลวงปู่มั่น ท่านเก็บเล็กผสมน้อย ท่านพยายามของท่าน” อย่างเช่นหลวงตาก็เหมือนกัน หลวงตาท่านอายุ ๙๐ กว่า ท่านฉันในบาตรมาตลอด ท่านไม่เคยฉันที่กุฏิเลย ท่านจะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรท่านก็ไม่เคย

พระเราบางองค์นะ บอกว่า “ไม่บิณฑบาตเป็นวัตร ไม่อะไร..” คนอายุระดับนั้น เดินเองไม่ได้ เวลาออกมาฉันต้องนั่งรถออกมาเห็นไหม ต้องประคองนั่งประคองลุกอยู่อย่างนั้น แต่ท่านก็ยังฉันในบาตรให้เราเป็นตัวอย่าง นี่ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ท่านเป็นแบบอย่างของเรา นี่สัตว์อาชาไนย มีศักดิ์ศรีมีเกียรติ แล้วมีความรู้จริง ถ้ามีความรู้จริง เราจะเอาอะไรเป็นตัวอย่าง เราจะเอาแม่ปูเป็นตัวอย่างใช่ไหม “เดินตรงๆ เดินตรงๆ” เดินตรงๆ อย่างนั้นเหรอ

มันสะดวกสบายนะ แม่ปูเห็นไหม ดูสิมันวิ่งเล่นของมัน มันถึงเวลาผสมพันธุ์ของมัน อวดก้ามกัน ก้ามใครใหญ่กว่า เวลามันชูก้าม มันจะผสมพันธุ์ เวลาผสมพันธุ์แล้วมันออกมา มันก็เป็นเผ่าพันธุ์ของมัน แล้วเราจะเอาอย่างนั้นเหรอ ถ้าเราจะเอาอย่างนั้นเห็นไหม เพราะเรามีกิเลสอยู่แล้ว กิเลสในใจมันต้องการความมักง่ายอยู่แล้ว เรื่องของกิเลสคือความมักมากอยากใหญ่ มักได้อยากใหญ่ ตัณหาความทะยานอยาก เรื่องกิเลสอยู่แล้ว!

แล้วสังคมชูก้าม พอมันชูก้ามกัน เราก็ว่าชูก้ามมันมีความสุข เพราะมันไม่ได้แก้กิเลส ชูก้ามมันไม่ต้องตั้งสติ ชูก้ามมันไม่ต้องทำสมาธิ ชูก้ามมันไม่ต้องใช้ปัญญา ชูก้ามไม่ต้องทำสิ่งใดๆ เลย มันก็จะไปชูก้ามกันเห็นไหม พอไปชูก้ามกัน.. มันเป็นอะไรล่ะ

เพราะกิเลสเรามีนะ เราต้องเลือกแล้ว เราต้องเลือกว่า เราจะยึดมั่นในครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นอาชาไนย ท่านทำเป็นตัวอย่างของท่านไว้นะ แม้แต่ล่วงวัยชราขนาดนั้น ท่านก็ยังฉันในบาตรเป็นตัวอย่างให้เราเห็น ท่านทำทุกอย่างอยู่ในกรอบไว้ให้เราเห็น แม้แต่ออกมาช่วยโลก ท่านก็ยังพยายามดูแลพวกเรากันอยู่

นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นสัจจะความจริง แต่ไอ้พวกแม่ปูน่ะอย่าไปยุ่งกับมัน! เพราะกิเลสนะ เรามาเพื่อชำระกิเลส เราต้องการความจริง เราต้องการทำความมั่นคงของหัวใจของเรา ฉะนั้นเราต้องมีปัญญา ถ้าคนมีปัญญาเห็นไหม มีศรัทธามีความเชื่อในศาสนาอยู่แล้ว พอมีปัญญาขึ้นมาเราแยกแยะ

น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ น้ำที่มีออกซิเจน น้ำที่ปลามันอยู่ของมันได้ เราจะรู้ของเรา น้ำเสีย น้ำมีสารพิษ ปลามันอยู่ไม่ได้ เห็นไหม เราเข้าไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ มีแหล่งน้ำมีอะไร แต่มันเงียบสนิทผิดปกติ มันต้องให้เราสังเกตได้แล้ว ถ้าเราเข้าไปในป่าในเขา ในแหล่งน้ำ มันต้องปลามีสัตว์น้ำ อยู่ในป่ามันต้องมันนก มันต้องมีแมลงต่างๆ ถ้ามันไม่มีเลย มันน่าสงสัยนะ

จิตใจของเรา เราจะทำความสงบของเรา นี่กาลามสูตร ถ้าเราพยายามทำความสงบของเราขึ้นมา มันมีความอึดอัดขัดข้อง มันมีการต่อต้าน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราจะเชื่อแม่ปูนะ แม่ปูบอกว่า ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย ชูก้ามอย่างเดียว พอชูก้ามอย่างเดียวมันชูก้ามทำไมกัน มันชูก้ามอวดเพศตรงข้าม! มันชูก้ามเพื่อจะผสมพันธุ์! มันไม่ใช่ชูก้ามเพื่อจะฆ่ากิเลส!

แล้วกิเลสในหัวใจเรามันมีใช่ไหม เราไปเจอสภาวะแบบนั้น มันเป็นเรื่องการส่งเสริมกิเลส มันเป็นเรื่องตัณหาความทะยานอยาก แต่พยายามปิดบังกันไว้ ปิดบังมันไว้ แล้วสังคมเป็นอย่างนั้น นี่สังคมแม่ปู ถ้าเราเป็นสังคมแม่ปู เราเจอครูบาอาจารย์ที่เป็นแม่ปูอย่างนี้ แล้วเราจะชำระกิเลสได้ไหม เราถึงบอกว่า “เราทุกข์ ๒ ชั้นไง”

ชั้นหนึ่งคือกิเลสของเรามันต่อต้านอยู่แล้ว พลังงานนี้มันกดดันในหัวใจเราอยู่แล้ว แล้วเราไปเจอสังคมอย่างนั้น แล้วเราเชื่ออย่างนั้น ฉะนั้นเราต้องเอาสติปัญญาของเราตรวจสอบพิสูจน์ มันเป็นจริงไหม ป่าเขาลำธารไม่มีสิ่งมีชีวิตเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันผิดปกติแล้ว ฉะนั้นจะให้มันถูกต้องเห็นไหม การกระทำของเรา ดูสิ ความรู้สึกคนมี คนเป็นไม่ใช่คนตาย! หลวงตาท่านพูดนะ “โง่อย่างกับหมาตาย!”

โง่อย่างกับหมาตาย ก็หมามันตายมันไม่ความรู้สึก โง่อย่างกับหมาตาย เขาทำอะไรก็เชื่อ เชื่อได้อย่างไร โง่อย่างกับหมาตาย! ถึงมันจะเป็นหมาก็หมามีชีวิต มันยังหิวอาหารของมัน หิวน้ำขึ้นมา มันต้องวิ่งหาอาหารมันกิน ไม่ใช่หมาตาย หมาตายมันนอนเชื่อหมดเลย เราต้องไม่เชื่อ! เราต้องไม่เชื่อสิ่งใดๆ เลย กาลามสูตรไม่ให้เชื่อสิ่งใดทั้งสิ้นเห็นไหม ถ้าเราไม่เชื่ออย่างนั้นปั๊บ เราไม่ใช่หมาตาย ถึงเป็นหมาก็หมามีชีวิต หมามีชีวิตมันยังรู้จักหิวโหยของมัน มันยังรู้จักหลบแดดหลบฝนเข้าหาที่ร่ม เห็นไหมมันยังเลือกของมันเป็น

แล้วเราล่ะ เราเป็นมนุษย์ประเสริฐนะ แล้วเราบวชเป็นพระด้วย เป็นพระผู้ประเสริฐ พระแปลว่าผู้ประเสริฐ แล้วจิตใจมันประเสริฐจริงไหมล่ะ ถ้ามันประเสริฐจริงมันจะไม่ชูก้าม มันไม่ใช่ปู เขาเป็นแม่ปู เราจะเป็นลูกปู ถ้าเราไม่เป็นลูกปูเห็นไหม เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อวัตรปฏิบัติเห็นไหม ธุดงควัตร ๑๓ บวชมาในญัตติจตุตถกรรมเห็นไหม ให้รุกขมูลเสนาสนัง บวชมาแล้วยินดีอยู่ป่าอยู่เขาตลอดชีวิตเถิด เรายินดีของเรา เราแก้ไขของเรา ใครจะยกหูชูหางจะชูก้ามอย่างไร สังคมแม่ปู ถ้าจะเลือกอย่างนั้นเห็นไหม เราทรยศกับชีวิตของเรา เราไม่จริงจังกับชีวิตของเรา ถ้าเราจริงจังกับชีวิตของเราเห็นไหม เราต้องยอมรับความจริง เราจะไม่ทรยศกับชีวิตของเรา ถ้าไม่ทรยศกับชีวิตของเรา เราต้องเชื่อธรรมเชื่อวินัย

ถ้าเชื่อธรรมเชื่อวินัยเห็นไหม ย้อนกลับมาดูครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นอาชาไนย ถ้าครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นอาชาไนย ท่านแนะนำท่านเป็นผู้นำของเราเห็นไหม ท่านแนะนำเราดูสิ หลวงปู่เสาร์ท่านพาทำอย่างไร ท่านพาทำสิ่งใดสิ่งนั้นประเสริฐ เพราะว่าท่านทำของท่านมาด้วยข้อเท็จจริงในหัวใจของท่าน ท่านทำของท่านขึ้นมาเห็นไหม แล้วเราทำตาม มีแต่ความลำบากลำบนไปหมดเลย ลำบากสิ ลำบากเพราะว่ามันจะพ้นจากทุกข์

การแก้ไขกิเลสเป็นเรื่องที่ลำบากสาหัสสากรรจ์นัก งานของโลกเขา เขายังหาบเหงื่อต่างน้ำกันขนาดนั้น ยังต้องอาศัยตลาด อาศัยความสมดุล อาศัยอำนาจวาสนา เขาถึงประสบความสำเร็จ เขาถึงเอาตัวรอดของเขาได้ เราจะพ้นจากกิเลสจะพ้นจากทุกข์ มันมีคุณค่ามากกว่ากันเยอะมาก เยอะตรงไหน เวลาเกิดตายๆ เด็กบางคนเกิดมาไม่ร้อง ผดุงครรภ์เขาต้องตบนะ ตบก้นให้ร้อง ร้องขึ้นมาถึงจะรู้สึกว่าชีวิตนี้มาแล้ว

เห็นไหม เวลาการเกิดและการตาย มาแต่ละรอบแต่ละคราว พอเกิดมาแล้วชีวิตนี้ก็ชีวิตหนึ่ง แล้วก็ยังต้องให้กิเลสมันกัดกร่อนในหัวใจ เวลามันโศก เวลามันเศร้า เวลามันเบียดเบียนหัวใจเห็นไหม หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสรื่นเริง แต่ในหัวใจมันเศร้าหมอง ทุกข์ยากของมัน ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น

โลกเกิดมาเป็นมนุษย์เห็นไหม ตาหนึ่ง ถ้าเราอยู่กับโลกเราก็อยู่กับเขา แต่อีกตาหนึ่งเห็นไหม เราต้องหาทางออกของเรา เราหาทางออกของเราเห็นไหม หลวงปู่ฝั้นท่านพูดไว้ “ไม่ใช่หายใจทิ้งเปล่าๆ การหายใจเพื่อดำรงชีวิต” อาหารอันละเอียดคือออกซิเจน เราต้องหายใจมาเพื่อดำรงชีวิตของเราเห็นไหม การหายใจเพื่อดำรงชีวิต เราก็มีจิต มีความรับรู้สึกเห็นไหม พร้อมกับลมหายใจ พร้อมกับกำหนดพุทโธให้สติปัญญามันเกิดขึ้น ถ้าสติปัญญามันเกิดขึ้น มันสลดสังเวชกับชีวิต มันสลดสังเวชนะ มันมีแต่เรื่องของสังคม เรื่องของสาธารณะ เรื่องของเราไม่มีเลย มีแต่ข่าวคนอื่น มีแต่ความกระทบกระทั่งจากสังคมบีบคั้นมาทั้งนั้นเลย

ความเป็นจริงของเรา เราก็เป็นสังคมๆ หนึ่ง แต่ถ้าเราอยู่ในสังคมนั้น เราเลือกมีความระลึกในสังคมนั้น เราก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้น มันก็หมุนอยู่อย่างนั้น แต่พอเรากำหนดลมหายใจ พอเรากำหนดพุทโธ พอมีสติปัญญาขึ้นมาเห็นไหม มันสลด มันสะท้อนใจกับชีวิต ถ้ามันสะท้อนใจกับชีวิตเห็นไหม มันมีสติปัญญาขึ้นมา พอมันคิดถึงเรื่องชีวิตนะ มันเศร้า.. มรณานุสติ คิดถึงความตาย มันเศร้ามันสลดนะ

เกิดมาทำไม แล้วเกิดมานี่เกิดมาซ้ำซาก ซ้ำซากจริงๆ เพราะจิตมันเคยเกิดเคยตายมาทั้งนั้น ถ้าจิตไม่เคยเกิดเคยตาย จริตนิสัยของเราจะไม่แตกต่างกัน เราเกิดมาด้วยกัน เกิดมาจากพ่อแม่เดียวกัน เราเกิดมาต่างๆ มันต้องเหมือนกันสิ ทำไมเกิดจากพ่อแม่เดียวกัน เกิดจากตระกูลเดียวกัน ทำไมจริตนิสัยมันไม่เหมือนกัน เห็นไหม การเกิดและการตาย พันธุกรรมของจิตมันแต่งมาแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกัน พอมาเกิด เกิดซ้ำเกิดซาก ชีวิตนี้มันคืออะไร เกิดมาทำไม

ถ้ามีสติมีปัญญาเห็นไหม มันสลดใจนะ พอมันสลดใจ งาน มันก็ทำด้วยความเป็นหน้าที่การงานเพื่อดำรงชีวิต แล้วมันมาคิดถึงชีวิต มันคิดได้เพราะเหตุใด “สนิมเกิดจากเหล็ก” ถ้ามันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สนิมมันจะพอกพูนเหล็ก จนเป็นสนิมเกรอะกรังไปจนไม่รู้สิ่งใดเลย นี้คืออารมณ์ทางโลก นี้คือความรู้สึกนึกคิด นี้คือความเป็นไปของโลก คือสัญชาตญาณที่มันรู้สึกนึกคิดของมัน

แต่พอเรากำหนดลมหายใจพุทโธๆ พร้อมสติปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม มันจะเริ่มขัดเกลา สนิมนั้นมันเป็นสิ่งที่เกิดจากเหล็ก แต่มันไม่มีประโยชน์อะไร มันกัดกร่อนทำให้เหล็กนี้เสียหายไป สัญญาอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ในหัวใจของโลกมันหลอกลวง มันทำให้ชีวิตนี้เพลิดเพลิน มันทำให้เรารื่นเริงกับชีวิต มีความสุข เกิดมามีความสุข โอ้โห มีอนาคตยาวไกล นี่ส่งออกแล้วนะ นี่มันตื่นเต้นกับสถานะที่เป็นสาธารณะ โลกเขาบอกว่า “หัวโขน” คนเราสวมหัวโขนกัน ใส่หน้ากากเข้าหากัน นี่ก็คือหัวโขน นี่ก็คือหน้ากาก นี่ก็คือสถานะทางสังคมไง เราก็คิดกันไป นี่ไง สนิมเกิดจากเหล็ก!

แต่พอเรามีสติปัญญาของเราขึ้นมา กำหนดลมหายใจ มีปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา มันจะขัดเกลาๆๆ ถ้าเหล็กมันไม่มีสนิม มันขัดเกลาจนเหล็กนั้นเป็นประโยชน์นะ ดูสิ เขาก่อสร้างบ้านเรือนเขาใช้เหล็กทั้งนั้น เขาจะทำโครงสร้างต่างๆ เขาก็ใช้เหล็กก็เพื่อประโยชน์ของเขา

ชีวิตของเรา ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา มันสลดนะ มันสลดมันสังเวช พอมันสลดมันสังเวชขึ้นมา ปัญญามันเกิดมันลึกซึ้ง แล้วถ้าเกิดปัญญาอย่างนี้ขึ้นมา ใครจะต้องสอนล่ะ เห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก พุทธศาสนาสอนให้เอาชนะตนเอง แล้วตนเองสามารถชนะได้ สามารถทำให้เข้มแข็งขึ้นมาได้ ถ้าเราสามารถเข้มแข็งได้ ถ้าเราทำได้ด้วยเหตุด้วยผลอย่างนี้นะ ด้วยเหตุด้วยผลที่ทำอย่างนี้ เราจะรู้ได้เลยว่า อันไหนเป็นแม่ปู อันไหนเป็นสัตว์อาชาไนย

ถ้าเป็นแม่ปู มันไม่เดินอยู่บนธรรมวินัยแน่นอน แม่ปูมันคร่อมธรรมและวินัยนี้ไป มันเอาแต่ความสะดวกสบายของมัน มันเอาแต่ความหน้าด้าน เอาแต่ความพอใจของมันเท่านั้นนะ นั้นพวกแม่ปู แต่ถ้ามันเป็นสัตว์อาชาไนยตามครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านทำเป็นแบบอย่างของท่านมาให้เราดู เราก็มองไปด้วยความลำบากใช่ไหม

ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม อายุเกือบร้อย ยังต้องมาฉันในบาตรอยู่เนี่ย ยังมาจัดบาตรดูบาตรอยู่เนี่ย เราว่าสิ่งนี้มันเป็นความไม่สบายเลย มันเป็นความไม่พอใจทั้งนั้น การไม่พอใจเห็นไหม ไม่พอใจคือกิเลสมันไม่พอใจ ถ้ากิเลสไม่พอใจนะ แต่ท่านมีความสุขของท่าน เพราะอะไร เพราะท่านไม่ใช่แม่ปูที่คร่อมธรรมและวินัยนี้ไป เหยียบย่ำไปเห็นไหม ท่านเคารพบูชาของท่าน

แต่เพราะท่านชราภาพ เห็นไหมมันเป็นเรื่องสุดวิสัย จะทำให้เหมือนกับตอนที่ท่านยังหนุ่มน้อยอยู่มันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็มีลวดลายของสัตว์อาชาไนย มันก็มีประโยชน์กับเราเห็นไหม พอจิตของเราสงบขึ้นมา มันรู้มันเห็นของมัน แต่ถ้าจิตของเราไม่มีความสงบร่มเย็นขึ้นมาเลย เพราะความสงบเห็นไหม โดยธรรมชาติของกิเลส มันขับดันในหัวใจอยู่แล้ว แต่พอจิตมันสงบขึ้นมา มันรู้ไง มันรู้มันเห็นเพราะอะไร เพราะมีสติปัญญา มีคำบริกรรม มีอานาปานสติ มีมรณานุสติ อนุสติ ๑๐ มันมีพร้อมของมัน

นี่คืออะไร? นี่คือกรรมฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ ดูสิโลกเขา ระดับของทาน ทาน ศีล ภาวนา ระดับของทาน เขาทำทานเขาก็มีความสุข เขามีความร่มเย็นของเขา เขาพอใจของเขา เขาพอใจในบุญกุศลเกิดในวัฏฏะของเขา นั้นคือจิตใจที่เขาพอใจของเขา เวลาคนที่มีอำนาจวาสนาขึ้นมาเห็นไหม คนที่แก่เฒ่าขึ้นมา ต้องหาที่พึ่งขึ้นมา เขาก็ระดับของศีล ไปจำศีลอยู่วัดอยู่วาเห็นไหม ระดับของเรา ระดับของผู้ที่ภาวนา เวลามันภาวนาของมัน มันมีการกระทำของมันขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาในหัวใจ

ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาในหัวใจขึ้นมา มันมีของมันขึ้นมา มันเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าเข้มแข็งขึ้นมา การกระทำมันเกิดขึ้น ถ้าการกระทำมันเกิดขึ้นเห็นไหม นี่เอาชนะตนเอง การเอาชนะตนเองมันต้องมีวุฒิภาวะ เวลาเราใช้ปัญญาของเราแยกแยะของเรา เราเห็นถูกเห็นผิดนะ พอเห็นถูกเห็นผิด

ถ้าไม่มีปัญญา มันสวมแว่น ใส่หน้ากาก แล้วก็ออกไปตามแต่โลกเขา แล้วกิเลสมันเป็นแบบนั้น เวลาเราบอกว่าเราทุกข์ ๒ ชั้น ทุกข์หนึ่งคือทุกข์ในกิเลสของเรา มันต้องการแสวงหาสิ่งที่สะดวกสบายแบบนั้นอยู่แล้ว แล้วมันมีสังคมชูก้าม แม่ปูมันชูก้ามกัน เดี๋ยวก็เบี่ยงซ้าย เดี๋ยวก็เบี่ยงขวา เพราะแม่ปูมันมีเยอะไง เดี๋ยวแม่ปูตัวนั้นก็มาซักทีหนึ่ง เดี๋ยวแม่ปูตัวใหม่ก็มาอีกแล้ว เพราะสังคมเราเป็นสังคมอย่างนี้ สังคมเรานะ พุทธศาสนา ๒,๐๐๐ กว่าปี แล้วมันยังมีวัฒนธรรมของสังคมเรา

สังคมเห็นไหม ในธรรมวินัยนะ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมวินัยไว้เห็นไหม ให้ภิกษุออกบิณฑบาตเป็นวัตร ให้คฤหัสถ์ได้ทำบุญกุศล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริษัท ๔ วางหลักเกณฑ์ไว้ ให้เราเป็นเครื่องดำเนินไง เราเป็นพุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา

ถ้าเจ้าของศาสนาเห็นไหม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้เป็นเจ้าของศาสนา แล้วพุทธบริษัท ๔ ไม่มีสิ่งใดติดไม้คิดมือมาเลย มันสมกับเราเป็นเจ้าของศาสนาไหมล่ะ

แล้วเวลาเจ้าของศาสนาเห็นไหม ในทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนชั่วปนกันไป แล้วถ้าเกิดมีแม่ปูเข้ามา แล้วเกิดอ้างอิงในพุทธศาสนา เราก็จะตามไป เพราะเราไม่มีหลักมีเกณฑ์เราตามไป เราตามไปเพราะอะไร เพราะเราไปเชื่อถือสถานะทางสังคมของเขา สถานะทางสังคมมันมาจากไหน มันก็มาจากการกล่าวปากต่อปากส่งเสริมกันขึ้นมา มันเป็นความจริงไหมล่ะ มันเป็นความจริงไหม

มันไม่เป็นความจริงเห็นไหม ดูสิ ในโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรเสริญนินทามันมีของมัน แต่ความจริงล่ะ ความจริงอยู่ที่การกระทำ แล้วถ้าเรามีสติปัญญาของเรา มีสติขึ้นมาแล้วเราเปรียบเทียบของเรา ปฏิบัติของเราขึ้นมา มันเริ่มแยกแยะ แล้วเราจะเข้าสู่สังคมไหน เราจะเอาจริง หรือจะเอาปลอม เราจะเอาสัตว์อาชาไนย หรือเราจะเอาแม่ปู

ถ้าเราเลือกของเรานะ คำว่าเลือกของเรามันอยู่ที่วาสนา บางคนนะ บางคนหรือว่าบางจิตดวงจิต รู้ว่าผิด แต่ทนสิ่งเร้าในใจไม่ได้ พอทนสิ่งเร้าในใจไม่ได้ ผิดก็ยอมรับว่าผิด แล้วก็ผิดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย” สิ่งนั้นไม่ดีเลย แต่ทำไมเราทนไม่ไหวล่ะ เพราะขาดการฝึกฝน จิตใจมันไม่เข้มแข็งเห็นไหม

ฉะนั้นถ้าเราจะฝึกฝนของเรา เราจะบอกว่า ที่นั่นเขาเป็นแม่ปู เขาชูก้ามกัน แต่ทำไมคนมันเยอะล่ะ สังคมไทยพูดกันอย่างนั้นนะ “คนไปเยอะ คนเชื่อถือศรัทธากันมาก” แล้วคนไปเยอะนี่หลวงท่านสอนไว้ว่า “คนโง่หรือคนฉลาดมากกว่า” ถ้าคนโง่เป็นล้านๆ หลายๆ ล้าน เขาชมเชยก็ไม่ควรฟัง แต่ถ้าคนฉลาด แม้แต่คนเดียวเขาพูดมีเหตุมีผล สิ่งนั้นเราต้องฟัง แล้วเราจะไปอ้างว่าคนเยอะๆ คนโง่หรือคนฉลาดมันเยอะล่ะ

นี่ไง ถ้าเราคิดได้นะ มันจะเยอะมันจะน้อยไม่สำคัญ สำคัญว่ามันมีเหตุมีผลจริงหรือเปล่า แล้วเวลาเราทำขึ้นมาเห็นไหม ดูสิ แม้แต่จิตใจนะ ถ้าเริ่มมีหลักมีเกณฑ์นะ มีความรู้แล้ว มีความรู้เพราะสิ่งเร้า กิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจทุกคนมันมีอยู่ แล้วเราทำทานก็เพื่อให้จิตใจมันเปิดกว้าง แล้วพอมันมีศีลขึ้นมา จิตใจเริ่มกลับมาเป็นปกติใช่ไหม แล้วเวลาเรากำหนดบริกรรม ลมหายใจเข้าออก พุทโธ มรณานุสติ อนุสติ ๑๐ ต่างๆ นี้ จิตใจมันเริ่มได้พัฒนาของมัน มันรู้มันเห็นแล้ว

รู้เห็นที่ไหน เวลาจิตมันเริ่มมีหลักมีเกณฑ์มันเริ่มสงบ พอปัญญามันเกิดนะ ปัญญามันเกิดมันแตกต่าง ถ้าภาวนามยปัญญามันเกิดมันแตกต่าง แตกต่างเห็นไหม ความแตกต่าง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโกมันสอนใจเรา พอมันสอนใจเรา เราจะรู้เลยว่าถูก-ผิด ถูก-ผิดเพราะเราทำมาตั้งนาน เราชูก้ามกับเขามาตลอด แล้วมันเป็นจริงไหม มันไม่เคยจริงเลย แต่พอเรามาทำมันเป็นความทุกข์

ความทุกข์ความลำบากความกังวลต่างเพราะอะไร เพราะเราเดินป่านะ เดินป่าดูสิ ในแหล่งน้ำ มันมีตะเข้ มีสัตว์ร้าย ถ้าเราผิดพลาดนะ ชีวิตเราเห็นไหม นักล่ามันเอาไปกินเลย แล้วเราเข้าป่าเข้าเขาไป ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเราจะหลงป่า ถ้าเราหลงป่าเราจะไปไหนได้

แต่นี่เราจะชำระป่าในหัวใจของเราเห็นไหม เรามีสติของเรา เราดูแลของเรา ตัดป่าทำลายป่า แต่ต้นไม้ไม่ได้ตัดเลย ตัดป่า ป่าคือความรกชัฏ ป่าคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่มันอ้างอิง สิ่งที่มันโน้มน้าวนะ ตั้งสติไว้ พิจารณาๆ ไป

เราเองจะเป็นบุคคลที่มีคุณค่า เราจะมีคุณค่าขึ้นมา เราจะมีคุณค่าที่ไหน คุณค่าที่มันรื่นเริง มันอาจหาญ มันกระหยิ่มยิ้มย่องในใจ เพราะอะไร เพราะ “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” พอจิตมันเริ่มสงบ จิตใจที่มันมีหลักมีเกณฑ์นะ ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ท่านอยู่ของท่านองค์เดียว ใครจะมีเป็นหมื่นเป็นล้านเป็นแสน ท่านไม่สนใจเลย ไม่สนใจเพราะอะไร เพราะท่านบอกว่า จิตใจของท่านเป็นธรรม จิตใจพวกนั้นเป็นขี้! ท่านบอกเป็นขี้เราอย่าไปเขี่ยมัน เราอย่าไปยุ่งกับมัน เพราะยิ่งเขี่ยยิ่งเหม็น ยิ่งเขี่ยยิ่งยุ่งเห็นไหม

ฉะนั้นถ้าเรารักษาของเรา เรารักษาของเราเพราะอะไร เพราะเราก็เคยเป็นขี้มาก่อน ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ในใจเรามีมาอยู่แล้ว แล้วขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันเชื่อคนง่าย มันโดนเขาจูงง่าย มันไปกับเขาง่าย ถ้ามันไปกับเขาง่ายมันก็โดนเขาชักนำมา แต่เพราะด้วยสติปัญญาของเรา ด้วยความที่มีมุมานะของเรา ด้วยการกำหนดลมหายใจ ด้วยการภาวนาของเรา จิตใจมันเริ่มมีหลักมีเกณฑ์เห็นไหม พอมันมีหลักมีเกณฑ์มันจะเป็นธรรม มันไม่เป็นขี้! ขี้ยิ่งไปเขี่ยมันก็ยิ่งมีกลิ่น มันก็ยิ่งส่งกลิ่นรุนแรงไป เพราะสังคมอย่างนั้น

แต่แมลงวันมันชอบ กลิ่นอย่างนั้น โอ้โห หึ่งๆ โอ้โห คนมากๆ ก็มันตอมกันเต็มไปหมด! แต่เวลาเป็นธรรมขึ้นมา แมลงวันไม่ชอบ แมลงวันไม่ชอบ แต่ธรรมะชอบ เพราะธรรมะของเรา การกระทำของเรามันเป็นความถูกต้องดีงาม เรารื่นเริงอาจหาญของเรา อยู่องค์เดียวอยู่คนเดียว เราไม่ไปกับเขา เพราะการไปกับเขาเห็นไหม เราถึงบอกว่า ความทุกข์ ๒ ชั้น ทุกข์หนึ่งคือกิเลสของเรา กิเลสเรามีอยู่แล้ว แล้วเรายังเชื่อถือศรัทธา เรายังมองแต่สภาพภายนอก เพราะเราไม่มีจุดยืน แต่ถ้าเริ่มภาวนามีหลัก

ไม่มีจุดยืนนะ พอมีจุดยืนของเรานะ เราจะหาที่วิเวก สัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ ถ้าหมู่คณะเป็นสัปปายะนะ เราจะเกื้อกูลกัน เห็นไหม ครูบาอาจารย์นะ ท่านเป็นห่วงเป็นใยว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ช่วงท้ายๆ ของหลวงตานะ พระองค์ไหนอดอาหาร ท่านจะตักอาหารใส่ถ้วยเล็กๆ แล้วให้พระเอาไปให้ ให้พอเป็นกำลังใจ เพราะอะไร เพราะท่านเคยประพฤติปฏิบัติมา มันทุกข์มันยาก

เวลาอดอาหารนะ เวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา มันเหนื่อย มันล้า มันทุกข์มันยากไปหมด แต่ท่านเป็นสัตว์อาชาไนย ท่านก็ทำของท่านมา เวลาท่านอดอาหารอยู่ในป่านะ ท่านบอกว่า “อย่าว่าแต่มีเลย เอาน้ำตาลเอาน้ำอ้อยมาถ่ายรูปมันยังไม่มีให้ถ่ายเลย” อดก็คืออด! เวลาทำแล้วมันไม่มีสิ่งใดเลย เผชิญกับความจริงทั้งหมด เพราะท่านเผชิญกับความจริงมา ท่านถึงได้ความจริงของท่านมา

แล้วคนที่เผชิญความจริงมา ดูอย่างเรา ประกอบสัมมาอาชีวะมา มันทุกข์ยากไหม มันทุกข์ยากมาก แล้วลูกหลานเราต้องประกอบสัมมาอาชีวะ เราสงสารไหม เราอยากจะอำนวยความสะดวกกับเขาทั้งนั้น แต่ถ้าเขาไม่มีประสบการณ์ของเขา เขาไม่มีหน้าที่การงานของเขา เขาจะเข้มแข็งขึ้นมาไม่ได้! แต่ก็เป็นห่วง

นี่ครูบาอาจารย์เราเห็นไหม ท่านตักใส่ถ้วยเล็กถ้วยน้อยนะ เอาไปให้คนนั้น เอาไปให้คนโน้น ให้เป็นกำลังใจเห็นไหม เพราะอะไร เพราะท่านทุกข์ยากของท่านมา ท่านรู้! พอทุกข์ยากของท่านมา เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา พอเราทุกข์ยากมา เราก็น้อยเนื้อต่ำใจ แต่มันจะน้อยเนื้อต่ำใจขนาดไหน เราก็ต้องเข้มแข็งของเรา เราก็ต้องทำของขึ้นมา ถ้าเราทำขึ้นมาได้ มันเป็นศาสนทายาทเห็นไหม

พอจิตมันสงบขึ้นมา จิตสงบจิตร่มเย็นขึ้นมา มันรู้ดีรู้ชั่ว ถ้ารู้ดีรู้ชั่วขึ้นมา แล้วถ้าจิตมันออกใช้ปัญญานะ ออกพิจารณานะ มันยิ่งเห็น ขณะที่จิตเวลามันสงบนะ เวลาเกิดปัญญาขึ้นมาเขาเรียก เกิดธรรม ธรรมเกิด

ธรรมเกิดหมายถึงว่า มันมีความรู้ความเห็นที่สะเทือนใจ เวลามันสงบขึ้นมาแล้ว มันคิดสิ่งใดแล้ว มันก็จะน้ำตาไหล พอพูดสิ่งใดแล้วมันก็สะเทือนหัวใจ นี่การปฏิบัติเขาเรียกว่า “ธรรมสังเวช” เกิดสภาวธรรม แล้วเกิดความสังเวช มันเกิดธรรมสังเวช สังเวชในชีวิต สังเวชในความเป็นไป มันสะเทือนใจมากเลยนะ

แต่ถ้าจิตใจมันเสื่อม ไอ้สังเวชๆ นี้หายหมด มันจะไปชูก้ามกับเขา ฉะนั้น เราถึงต้องมีสติปัญญาของเรา พอมันสังเวชขึ้นมา เราพยายามทำให้มันละเอียดขึ้น ทำให้มันมีความชำนาญมากขึ้น พอมันมีความชำนาญมากขึ้น จากที่มีธรรมสังเวชเห็นไหม เพราะมันสังเวชในชีวิต สังเวชในความเป็นอยู่ สังเวชในเรื่องโลก

ทำไมคนนั้นไม่ปฏิบัติ ทำไมคนนั้นไม่ภาวนาเหมือนเรา เวลามันสังเวชนะ แหม มันคิดเมตตาการุณไปทั่วโลกเลย เวลาจิตมันเสื่อมนะ มันเอาหัวชนฝาเลย ทุกข์มากๆ เห็นไหม การปฏิบัติมันมีเจริญแล้วเสื่อม

แหล่งน้ำในป่ามีแมลง มีสัตว์ร้าย มีนักล่า มีอะไรต่างๆ ในหัวใจของเรามันก็เป็น ในหัวใจเห็นไหม เขาบอก อารมณ์หนึ่งก็ชาติหนึ่ง ความรู้สึกหนึ่งก็ชาติหนึ่ง เวลาความเกิดดับชาติหนึ่ง ความคิดร้อยแปดพันเก้ามันเกิดดับๆ ในหัวใจ นี่มันเป็นการพิสูจน์ไง เราถึงต้องมีสติปัญญา ต้องสู่ความจริง ความจริงหมายถึงว่า สิ่งที่เป็นป่าเป็นเขาเป็นแหล่งน้ำ เราต้องปราบให้มันราบเรียบให้ได้ ให้เป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลกับเรา

จิตใจของเรา ถ้าเวลามันดีขึ้นมาเห็นไหม อยู่ป่าอยู่เขามันก็มีอาหารเหมือนกัน มันก็ทำได้ทั้งนั้น แต่มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นเรื่องโลก มันเป็นเรื่องสิ่งที่เราจะพ้นไปจากวัฏฏะนี้ไม่ได้ สิ่งที่เป็นวัฏฏะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เป็นศาสดาของเรา เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นสัตว์อาชาไนย เป็นครูบาอาจารย์ เป็นศาสดาเอกของโลก

ผ่านพ้นนี้ไป เราจะต้องมีสติปัญญาของเรา สิ่งที่อยู่ในป่าในเขา มันก็เก็บกิน มันก็ดำรงชีวิตได้ทั้งนั้น การดำรงชีวิตนี้ ดำรงชีวิตในวัฏฏะ แต่เราจะต้องทำความสงบของใจให้มากขึ้น เพราะพอจิตสงบมันเห็นสิ่งใด มันเกิดปัญญานะ มันเกิดความเศร้าใจ เกิดความสังเวชต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นการยืนยันว่า ความคิดของโลก โลกียปัญญาเป็นอย่างหนึ่ง ความคิดของธรรม ถ้าธรรมมีความสงบร่มเย็น มันมีอารมณ์ความรู้สึกไปอย่างหนึ่ง มันถึงมีโลกกุตตรปัญญากับโลกียปัญญา

ฉะนั้นพอมันเกิดโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เป็นการเปิดทางให้หัวใจมันก้าวเดินออกจากโลก ออกจากโลก ออกจากวัฏฏะ ถ้าออกจากโลกออกจากวัฏฏะ เราทำความสงบของใจบ่อยครั้งเข้า แม้แต่สังเวชเพื่อจะให้เรามีกำลัง สังเวชเพื่อจะให้เรามีสติปัญญา สังเวชเพื่อจะให้ดำรงเผ่าพันธุ์ ดำรงศากยบุตรพุทธชิโนรสในหัวใจของเรา

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เวลาสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรมเกิดขึ้นมา เราพยายามฝึกฝนของเราขึ้นมาเห็นไหม จนจิตใจมันเกิดสภาวธรรมสังเวช เห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจิตมันสงบแล้ว สงบแล้วพยายามของเรา เจริญแล้วก็เสื่อม เสื่อมแล้วก็เจริญ เป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติ

เรื่องปกตินะ ดูสิ ร่างกายของเรา เดี๋ยวก็เจ็บไข้ได้ป่วย รักษาหายแล้วก็หาย มันก็มีป่วยมีไข้เป็นธรรมดาของธาตุขันธ์ จิตใจของเรามันก็มีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ บอกว่าทำสมาธิแล้วมันจะไม่เสื่อมเลย พอทำสมาธิแล้วมันจะเป็นเหมือนเพชรนิลจินดา มันจะไม่มีการบุบสลายเลย นั่นมันเป็นความปรารถนาให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ข้อเท็จจริงมันไม่เป็นหรอก

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” สมาธิจะเกิดขึ้นมาเพราะมีสติ มีคำบริกรรม มีสิ่งที่ว่าเราฝึกฝนขึ้นมา พอมันเป็นความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิมันก็มีขั้นตอนของมัน ลึกซึ้ง หยาบ ละเอียด แตกต่างกัน แล้วเราทำความสงบของเราบ่อยครั้งเข้า มีสติปัญญารักษาของเราเห็นไหม มีสติปัญญารักษาของเรา ทุกข์ไหม? ทุกข์ ลำบากไหม? ลำบาก แต่พอใจจะทำ เพราะมันมีเหตุมีผลเห็นไหม

งานอันนี้เป็นงานอริยทรัพย์ งานอันนี้เป็นทรัพย์ภายใน งานนี้เป็นสิ่งที่จิตใจนี้มันจะรุ่งเรือง รุ่งเรืองจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของเทวดา อินทร์ พรหม จิตใจเห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหม เขามาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศน์ตรงนี้ เทศน์อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

แล้วเวลาฝึกฝนอย่างนี้เราทำอะไรอยู่ เราธรรมะอยู่เห็นไหม เราฝึกงานอยู่ เราทำงานของเราขึ้นมาอยู่ แล้วทำงานนี้ขึ้นมา ที่เขาถามๆ เขาก็ถามตรงนี้! ถามที่มันเป็นอยู่นี้ แล้วถ้ามันไม่เป็นเห็นไหม มันก็เป็นแม่ปู แม่ปูมันก็คร่อมธรรมวินัยไป เหยียบย่ำไปทั่ว! แล้วถ้าใครเดินตามไป.. เสียโอกาส เสียความเกิดชาติหนึ่ง

แต่ถ้าเราเชื่อครูบาอาจารย์เราที่เป็นอาชาไนย ทุกข์น่าดูเลยล่ะ แต่ทุกข์ก็เต็มใจนะ ถ้าเราเต็มใจของเรา เราทำของเรา เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เราพยายามของเรา มันเป็นที่อำนาจวาสนาของคนหนึ่ง เป็นที่เชาว์ปัญญา เป็นที่ปฏิภาณ ถ้าปฏิภาณของเราใช่ไหม ทำไมมันถอยกรูดๆ ขนาดนี้ จิตที่มันถอยกรูดๆ ขนาดนี้มันกระทบสิ่งใดมา มันถอยกรูดๆ ขนาดนี้

แต่เมื่อก่อนจิตที่มันมั่นคง มันดีงามขึ้นมา มันเพราะมีเหตุใดส่งเสริมมันขึ้นมา ถ้าเหตุที่ส่งเสริมเราขึ้นมาเห็นไหม เราพยายามทำเหตุนั้น “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” สมาธิเกิดจากการกระทำ ปัญญาเกิดจากการฝึกฝน ถ้าไม่มีการฝึก ไม่มีการกระทำ ดูสิ สัตว์อาชาไนยเห็นไหม ฝึกมา ทำมา จนเป็นสัตว์อาชาไนย เราก็เหมือนกัน เราเป็นขี้ทูดกุดถัง เราเป็นคนไม่มีอำนาจวาสนา แต่เราก็ขยันหมั่นเพียร เก็บหอมรอมริบ ต่อสู้ด้วยความขยันของเรา คนเขาเก็บเงินเก็บทอง เงินทองเขายังฝากธนาคารยังพอกพูนขึ้นมานะ

เราฝึกสติฝึกปัญญา เราฝึกของเรา เวลาเราทำธุรกิจแข่งขันกับเขา เขาต้องมีการตลาด เขาต้องมีการซื้อการขาย การแลกการเปลี่ยนมันถึงจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา ไอ้ภาวนาของเรา อยู่โคนไม้อยู่คนเดียว สติกับจิตมันมีแนบของมันอยู่อย่างนี้ คนขยันก็ขยันคนเดียว ลำบากคนเดียว ทุกข์คนเดียว สุขคนเดียว อยู่อย่างนี้ สู้บากบั่นของมันไป บากบั่นในหัวใจของเรา ส่งเสริมให้จิตใจเรามั่นคงขึ้นมา ทำขึ้นไป พอจิตสงบ ดีขึ้น “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเหตุมันสมควรแก่เหตุนะ

ถ้าเหตุมันไม่สมควรเพราะเราต้องการ มีแรงปรารถนาขึ้นมามันก็จับพลัดจับพลู มันก็อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยคเห็นไหม ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง มันก็มีการตกมีการผิดพลาดเป็นธรรมดา แล้วมัชฌิมาปฏิปทาลงปร๊าด ลงสงบเลย นี่มัชฌิมาเห็นไหม ลงสู่สัจธรรมๆ

มันเป็นเพราะเหตุใด เราต้องหมั่นสังเกต ครูบาอาจารย์ท่านสอนประจำนะ การปฏิบัติเราต้องฉลาด ต้องสังเกต ต้องดูแลของเรา เราสังเกตเราดูแลของเรา เราปฏิบัติของเราขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเรา พอมันเป็นประโยชน์ขึ้นมาเห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ ประโยชน์กับใคร ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา การเอาชนะตนเอง ถ้าเอาชนะตนเองเห็นไหม จิตใจของเรามันมีกิเลสอยู่ มันต้องการความสะดวก มันต้องการความสบาย มันต้องการให้คนยอมรับไง

การเป็นแม่ปู แม่ปูต้องมีการยอมรับ แล้วก็ต้องการชักนำไปให้สังคมนั้นยอมรับกัน แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ธรรมะยอมรับ ความเป็นจริงมันเป็นสัจธรรม ความเป็นจริงในหัวใจ สิ่งนี้สัจธรรม มันเกิดขึ้นมา มันถึงเป็นปัจจัตตังเป็นสันทิฏฐิโกอันนี้รับ

ถ้าธรรมะรับนะ เวลาเราพิจารณาพอจิตสงบแล้ว ออกฝึกเห็นไหม ทำความสงบของใจ ใจมันสงบขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ออกพิจารณา ออกฝึกหัดใช้ปัญญา สมาธิก็เกิดจากการฝึกฝน ปัญญาก็เกิดจากการฝึกฝน ไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการกระทำ มันจะมีปัญญามาจากไหน ถ้าให้มันเกิดมันก็เป็นสัญญา สัญญาเห็นไหม ดูสิ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำได้หมด

จำได้หมด รู้หมดทุกข้อทุกกระทง สอนอย่างไร แต่ชำระกิเลสไม่ได้ สงสัย รื้อค้นแล้วรื้อค้นอีก ท่องจำจนชินปากชินหูชินอะไรต่างๆ แก้ไขอะไรไม่ได้ แต่พอจิตมันสงบเข้าไปเห็นไหม พอจิตมันสงบเข้าไป แม้แต่ชีวิตมันก็เริ่มสังเวช เกิดธรรมสังเวชสะเทือนใจ น้ำหูน้ำตาไหลพราก แต่พอพิจารณาไปเห็นไหม พอสติปัญญามันละเอียดขึ้น พอมันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมขึ้นมา แล้วพิจารณาของมัน พอพิจารณาของมันด้วยปัญญา ด้วยการแยกแยะ ด้วยการค้นคว้า ค้นคว้าเห็นไหม

เวลาความสุขจากสงบของใจเกิดจากธรรมสังเวช กับเวลาใช้ปัญญาใคร่ครวญเห็นไหม เราใช้คำบริกรรมกับสติเห็นไหม คำบริกรรมสติแล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ มันเป็นผลสมถะ คือมันปล่อยวางให้จิตเข้ามาเป็นอิสรภาพ “สนิมเกิดจากเหล็ก” ขัดเหล็กให้สะอาด ขัดเหล็กให้แวววาว ขัดเหล็กนี้ไว้พร้อมจะประกอบให้เป็นสัมมาอาชีวะ ทำสิ่งใดก็ได้ แต่ยังทำไม่เป็น ..

แต่พอใช้ปัญญาขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมา แล้วมันจับกาย เวทนา จิต ธรรม มันเริ่มประกอบเห็นไหม เหล็กที่แวววาว เหล็กที่สัมมาสมาธิ เหล็กที่มั่นคง กับเราคำนวณแล้วเราแก้ไข แล้วเราประกอบเป็นโครงสร้างขึ้นมา กับเหล็กที่แวววาวกับโครงสร้างต่างกันไหม มันก็ต่างกัน สมาธิมันก็คือสมาธิ สมาธิคือความสงบร่มเย็น มันก็มีความสุขอันหนึ่ง มันเกิดจากคำบริกรรม แต่พอมันใช้ปัญญาขึ้นไปมันเป็นมรรค พอมันเป็นมรรคขึ้นมา งานชอบ เพียรชอบ แล้วงานชอบไหม งานชอบชอบเรื่องอะไร พิจารณาเรื่องอะไร พิจารณาให้กิเลสมันเติบโตขึ้นมา หรือพิจารณาฆ่ากิเลส พิจารณาเพื่ออะไร ถ้าจิตมันไม่มีสมาธิเห็นไหม ยิ่งพิจารณาขึ้นมากิเลสมันก็ยิ่งฟู

ยิ่งพิจารณาขึ้นมาเท่าไหร่ มันก็ยิ่งพิจารณาว่า “ฉันเป็นพระอรหันต์ ๕๐๐ หนแล้ว ฉันจะเป็นแม่ปูตัวใหญ่ ฉันจะเป็นปลากระเบน” นั่นมันไปเรื่อยเฉื่อย! เพราะอะไร เพราะขาดสติยับยั้ง ขาดความเป็นจริงเห็นไหม เรามีสติปัญญา ถ้ามันออกนอกลู่นอกทาง เราก็ปล่อยทิ้ง วาง กลับมาทำทำความสงบของใจ ถ้าใจมันมีความสงบร่มเย็นใช่ไหม พอใจมันสงบเวลาความรู้สึกนึกคิด มันก็ธรรมสังเวช

พอใจมันสงบ ถ้าใช้เป็น ถ้าออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สติปัฏฐาน๔ เห็นไหม เราบอกว่า สติปัฏฐาน ๔ ที่ทำๆ กับอยู่นั้น สติปัฏฐาน ๔ ความคิดมันปลอมทั้งนั้น

“สติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติแบบสติปัฏฐาน ๔” แต่การปฏิบัติแบบพระป่าเห็นไหม ต้องทำความสงบของใจ พอใจมันสงบเห็นไหม ตัวใจตัวนี้มันเป็นผู้ออกประพฤติปฏิบัติ ตัวใจตัวนี้เห็นไหม สติปัฏฐาน ๔ เกิดเพราะอะไร เพราะปฏิสนธิจิต เพราะอะไร เพราะชีวิตคือใจ ชีวิตคือปฏิสนธิจิต ชีวิตคือไออุ่น ชีวิตคือตัวพลังงาน แล้วเกิดความคิดความรู้สึกอะไรต่างๆ

ขันธ์ ๕ เห็นไหม “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕” เอาขันธ์ ๕ ไปคิดไปพิจารณามันก็เป็นเรื่องโลกทั้งนั้น พอสงบขึ้นมาก็สงบขึ้นมาก็สงบเข้ามาสู่จิต เวลามีสติปัญญาขึ้นมาเราใช้อะไร ก็ใช้ขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ นี่เป็นสถานะของมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

“ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์” ถ้าขันธ์ ๕ เป็นเรา ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์อยู่นี่ไง เพราะขันธ์ ๕ เป็นเรา ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์อยู่ ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด พอความคิดเป็นเรา พอเราคิดออกไปมันก็ฉุดกระชากลากใจออกไป พอเราพิจารณาของเรา เราปล่อยขึ้นมา “รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” ขันธ์ ๕ มันก็ปล่อยเข้ามา พอปล่อยเข้ามาก็สู่จิต พอสู่จิต จิตก็มีกำลังของมันขึ้นมา เวลาออกใช้พิจารณา พิจารณาเพราะพอมีกำลัง มีสัมมาสมาธิคือมีตัวจิต เห็นไหม ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้คือพลังงานคือตัวจิต

แล้วเวลาพิจารณาขึ้นมา ก็พิจารณาเพื่อมาทำความสะอาดจิตนี่ไง เพื่อจิตใต้สำนึก สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด เห็นผิดในเรื่องสรรพสิ่งว่าเป็นเรา สรรพสิ่งก็เป็นเราไปหมด ความคิดนี้เป็นเรา ยิ่งมีปัญญา ปัญญาเป็นเราใหญ่เลย เพราะปัญญาที่ไปฆ่ากิเลส เพราะเป็นเรา มีเราเห็นไหม ดูสิ เราพูดถึงสังคม

ถ้าสังคม เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม มันก็เป็นปัญหาของสังคมอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเราแยกตัวออกมา เราจะเห็นว่าสังคมเกิดปัญหาอะไร แล้วเราเห็นปัญหานั้น เราจะแก้ไขอย่างไร จิต ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งเห็นไหม ขันธ์ ๕ เป็นเรา เราก็เป็นขันธ์ ๕ ทุกอย่างเป็นเราหมดเลย ความคิดเป็นเรา อะไรก็เป็นเราเห็นไหม เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันวนอยู่อย่างนั้นล่ะ วนอยู่อย่างนั้น นี่โลกียปัญญา มันเกิดด้วยกิเลส ปัญญาของกิเลส มันวนอยู่อย่างนั้น

แต่พอทำความสงบของใจเห็นไหม มันแยกตัวออกจากสังคม มันแยกตัวออกมาจิตกับขันธ์แยกออกจากกัน ถ้าจิตกับขันธ์แยกออกจากกันนะ มันรู้มันเห็น แม้แต่พอจิตสงบแล้ว มันก็สังเวชแล้ว มันสังเวชของมัน สังเวชจริงๆ นะ สังเวชเพราะอะไร เพราะจิตมันเป็นอิสรภาพชั่วครั้งชั่วคราว

แต่เดิมจิตกับความคิด ทุกอย่างเป็นเรามันหมุนไปหมดเลย มันเหมือนกับเราอยู่ในน้ำ น้ำวนก็วนไปอย่างนั้น แต่เราขึ้นจากน้ำขึ้นมา น้ำก็วนอยู่ แต่เราไม่วนไปกับน้ำ นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบขึ้นมาเห็นไหม มันเห็นความแตกต่าง มันถึงเกิดความสลดสังเวชไง แต่พอเราแยกออกมาแล้ว เราใช้พิจารณาของเราเห็นไหม ฝึกปัญญาๆ ปัญญาถ้ามีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต ความเห็นผิด ความรู้ผิดมันเกิดจากจิตทั้งนั้น พอจิตมันมีกำลังของมันขึ้นมา มันออกพิจารณาของมันเห็นไหม พิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ นี่ สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงนี้! เกิดตรงที่จิตมันพิจารณาของมันไง

สติปัฏฐาน ๔ ในตำรา ในธรรมวินัยเห็นไหม สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่คืออยู่ในตำราเลย มันเป็นตัวหนังสือเลย แต่พอเราใช้ความรู้สึกนึกคิดเห็นไหม เราก็บอกเราใช้สติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา ใช้ปัญญาใช้หมดเลย แต่เราเป็นปัญหาอันหนึ่ง มันเป็นโลกไง เราจะบอกว่ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม! แต่พอจิตมันสงบเข้ามา พอจิตมันออกฝึกหัดใช้ปัญญา ไปเห็นกาย เห็นจริงๆ

เห็นจริงๆ กับเห็นโดยสัญญาอารมณ์ ที่บอกว่า “เป็นสติปัฏฐาน ๔” ปฏิบัติโดยสติปัฏฐาน ๔ ปลอมๆ นั้นน่ะ คิดเอา เห็นเอา รู้เอา โอ้โห คุยกันปากเปียกปากแฉะเลย แต่พอจิตมันสงบขึ้นมา พอไปรู้เห็นของมันขึ้นมา มันสะเทือนใจมากนะ นี่คือผลต่าง

ความผลต่างเห็นไหม ผลต่างเพราะอะไร เพราะจิตมันจะเป็นจิตอาชาไนย จิตมันจะตามร่องตามรอยครูบาอาจารย์ของเราไป เพราะครูบาอาจารย์ของเราลำบากทุกข์ยากมา ครูบาอาจารย์ของเรากว่าจะกำหลาบกิเลสในหัวใจของท่าน ท่านทำของท่านมา ฉะนั้นพอท่านทำของท่านมา ท่านถึงถนอมลูกศิษย์ลูกหาไง

ดูสิ หลวงปู่มั่นท่านรักนะ ท่านห่วง ให้องค์นี้ไปอยู่ในป่านั้น ให้องค์นี้ไปอยู่กับเสือ พยายามจะฝึกขึ้นมา ท่านถนอมท่านรักษาต้องให้เหมือนพ่อแม่ให้ลูกเราทำงานเป็น ให้ลูกเราประสบความสำเร็จ แล้วประสบความสำเร็จมาแล้ว เขาจะยืนอยู่ในสังคมได้

หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์นะ ท่านรักพวกเรา ท่านดูแลพวกเรา ท่านถนอมรักษาพวกเรา แต่พวกเราบ่นกลัวว่าทุกข์ แต่เวลาพวกแม่ปูมันชูก้ามนะ มันบอกไม่ต้องทำอะไรเลยล่ะ ชูก้ามอย่างเดียว เพราะเราเป็นกรรมฐาน ชูก้ามเพราะมันอยู่ในสังคมกรรมฐาน กรรมฐานเขารับประกันเราแล้ว

ถ้ามันเป็นสังคมชูก้าม เราจะเสียเวลาของเราเอง เรานี่แหละจะเป็นผู้เสียประโยชน์ ผู้เชื่อและผู้ตามไปจะเป็นคนที่เสียประโยชน์เอง แล้วเวลาแก่เฒ่าชราภาพไปแล้ว ถ้าสำนึกได้มันก็ดีไป ถ้าสำนึกไม่ได้ มันก็จะอยู่ในสังคมแบบนั้น สังคมแบบนั้นมันค้ำคออยู่ พอค้ำคออยู่ เราไม่กล้าคิดต่างเลยล่ะ แต่ในกาลามสูตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คิดต่างตลอดนะ ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ เลย เพราะอะไร เพราะคำว่าเชื่อมันเหมือนกับความคิด เราเป็นปัญหาๆ หนึ่ง เราเป็นส่วนของปัญหาด้วยกัน เราก็เชื่อของเราอยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าเราคิดเห็นไหม เราไม่เชื่อ กาลามสูตร เราไม่ใช่ปัญหานั้นๆ นะ มันเป็นอย่างไร เราจะแก้ไขของเราอย่างไร มันแก้ไขของมัน นี้ถ้าเรามีสติปัญญานะ ของอย่างนี้มันเป็นเรื่องของเชาว์ปัญญา มันเป็นเรื่องของอำนาจวาสนานะ อำนาจวาสนา ดูสิเวลาคนที่มืดบอดเห็นไหม เราไปพูดขนาดไหน เขาไม่เคยฟังเราหรอก แต่ถ้าวันไหนนะ จิตใจเขาเปิดกว้างนะ เราไม่ต้องพูด เขาคิดได้เองเลยล่ะ พอเขาคิดได้เองเขาจะเสียใจมากสิ่งที่เขาทำผิดพลาดมา

เขาจะเสียใจในความผิดพลาดของเขา แต่นั่นเขาเสียใจก็เขาได้คิดของเขา นี่ไง เพราะเชาว์ปัญญา ถึงว่าเวลาปัญญามันเกิด อำนาจวาสนามันเกิดมันจะเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเวลารื้อสัตว์ขนสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่การรื้อสัตว์ขนสัตว์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “พุทธกิจ ๕”

เช้าบิณฑบาต แล้วดูแลสั่งสอนฆราวาส พอหัวค่ำสั่งสอนพระ เวลา ๔ ทุ่มขึ้นไปสั่งสอนเทวดา เล็งญาณ เล็งญาณเสร็จก็ไปบิณฑบาตโปรดสัตว์ นี่พุทธกิจ ๕ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ ต้องเล็งญาณนะ เล็งญาณว่าจิตใจดวงใดพร้อมและไม่พร้อม ไม่ใช่ว่าจะรู้ได้ไปหมด ก็เหมือนกับจิตใจเขาไม่เปิด

ภาชนะที่คว่ำไว้ ฝนตกแดดออกขนาดไหนน้ำมันก็ไม่เข้าภาชนะนั้นหรอก แต่ถ้าภาชนะนั้นหงายขึ้นมา แล้วกว่าจะเทศน์ให้ภาชนะนั้นหงายขึ้นมาเห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยอะแยะไปหมดเลย เวลาใครเปิดใจขึ้นมาแล้ว จะชมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากว่า “เทศนาว่าการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนหงายของที่คว่ำอยู่ หงายหัวใจที่มันปิดอยู่ให้มันหงายขึ้นมา” พอหงายขึ้นมาเห็นไหม มันก็ได้รับน้ำอมตธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ไงเวลารื้อสัตว์ขนสัตว์เล็งญาณแล้วนะ แก้จิตมันแก้ยากอย่างนี้ แล้วพอเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาความจริงกัน มันจะทุกข์ยากไหมล่ะ ฉะนั้นเวลามันทุกข์ยากขึ้นมา เราจะต้องเข้มแข็ง ทุกข์ยากขึ้นมาก็อย่าท้อถอย สัตว์อาชาไนยจะได้อาหารก็ต้องเป็นอาหารพิเศษ จะกินหญ้าก็ต้องกินหญ้าอ่อน จะกินน้ำก็ต้องกินยอดน้ำโน่น ไม่กินน้ำข้างล่างนี่

ฉะนั้นถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ เราทำแล้วเราจะเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์กับการกระทำ ไม่ใช่ทำให้มันสูญเปล่าไปนะ ทำแล้วมันไม่ได้สิ่งใดติดไม้ติดมือมาเลย แต่เวลาทำติดไม้ติดมือมา หลวงตาท่านพูดประจำ “ศาสนานี้เหมือนห้างสรรพสินค้า ใครเข้าไปแล้วจะหยิบฉวยสิ่งใดมาก็ได้สิ่งนั้น”

ฉะนั้นเวลาหยิบฉวยขึ้นมา ของหนักของมีค่า ราคามันก็สูง ฉะนั้นเราต้องตาถึง ถ้าเราตาไม่ถึง เราจะหยิบฉวย เราพอใจของเรา สิ่งนั้นไม่มีค่าอะไรเลย แต่ถ้าเราตาถึงนะ เราหยิบฉวยนะ สิ่งนั้นมันจะเป็นของมีค่าทั้งนั้นเลย

ชีวิตเราก็เหมือนกัน เราหยิบฉวยอะไรล่ะ ถ้าเราหยิบฉวยสิ่งที่เรารู้สึกนึกคิด เราหยิบฉวยสิ่งที่เราสัมผัสได้ แล้วธรรมที่ละเอียดเรารู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้เราก็ไม่หยิบฉวยเราก็ต่อต้านด้วย เห็นไหม ฉะนั้นถึงบอกว่าเราพอใจกับความสะดวกสบายของเราไง เราถึงพอใจกับสังคมที่เขาชูก้ามยกหัวชูหางกัน สิ่งที่ยกหัวชูหางมันมีข้อเท็จจริงหรือ? มันมีความจริงหรือ?

แต่ถ้ามีความจริงขึ้นมานะ ความจริงอันนั้นมันไม่ยกหูชูหางนะ เพราะการยกหัวชูหางมันเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากชัดๆ เลย แต่ถ้าเป็นเรื่องธรรมนะ คำว่าเป็นธรรมเห็นไหม สงบนิ่ง รับไว้อยู่ในหัวใจ เวลาพระอริยเจ้าเห็นไหม เห็นสิ่งใด ถ้าพูดสิ่งใดไปแล้วกระทบกระเทือน ท่านนิ่งของท่านอยู่ ไอ้เราก็ว่าท่านไม่รู้ๆ นะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอยู่ในธรรมะเยอะมาก “อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้านะ” เพราะพูดออกไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่เป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่เราก็ตีปีกกันใหญ่เลยว่าเรามีปัญญา เรารู้ๆ ไอ้ตีปีก ไอ้ที่รู้ๆ นี่มันรู้อะไร มันไม่รู้ตามความเป็นจริงซักอย่างหนึ่ง

ฉะนั้นเราจะต้องเตือนสติ เพราะเราอยู่ในสังคม ถ้าสังคมนั้นมันทุกข์มันยาก สังคมโบราณของเรานะ เราต้องทำกันมาด้วยน้ำพักน้ำแรง เพราะมันไม่มีเทคโนโลยีจะช่วยผ่อนภาระของเรา

ในปัจจุบันนี้จะทำสิ่งใดนะ มีแต่เทคโนโลยีทุกอย่างเข้ามารองรับ ฉะนั้นในสังคมกรรมฐานของเราก็เหมือนกัน เมื่อก่อนครูบาอาจารย์ของเราทุกข์ยากขนาดไหน มีใครมาเหลียวแลเห็นไหม เป็นผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้วอยู่ในป่า เป็นเศษคน คำว่าเศษคนนะ ยิ่งเศษคนยิ่งดี ยิ่งใครไม่มายุ่งยิ่งดี เพราะเราต้องเอาตัวรอด

แต่ในปัจจุบันนี้เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติ จะต้องให้มีคนมาคอยอุปัฏฐากอุปถัมภ์อยู่ตลอด มันอุปัฏฐากกันเรื่องอะไร ถ้ามันอุปัฏฐากมันก็คลุกคลี ถ้ามันอุปัฏฐากน่ะมันก็คลุกคลีกันแล้ว แล้วเวลาคลุกคลีเรานั่งภาวนาเราก็รู้ใช่ไหม เวลาเรานั่งสมาธิ เราต้องการให้คนมานั่งข้างๆ เราไหม เรานั่งสมาธิของเรา เราใช้ปัญญาของเรา คนเข้ามามันจะเสียเวลาเราไหม

หลวงตาท่านบอกว่า “เหมือนการเขียนหนังสือ ถ้ามีคนเข้ามาเราต้องหยุดเขียนทันที” เวลาเขียนหนังสือ เขาต้องเขียนด้วยคนคนเดียว เราต้องเขียนให้ตลอดรอดฝั่ง ในการประพฤติปฏิบัติขงเรา เราต้องการความสงบสงัด เราต้องการการกระทำของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมาอุปัฏฐากหรอก ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมา ไม่ต้องการให้ใครมาอุปัฏฐาก ไม่ต้องการให้ใครมาทุกข์มาร้อน ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งเลย

แต่มันก็เป็นเรื่องของน้ำใจเขา ถ้าเขามีน้ำใจของเขา มันเป็นเรื่องบุญกุศลของเขา มันก็ต้องเป็นกาล เป็นเวลา ครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าเป็นธรรม เขามีกาลเขามีเวลาของเขา เพราะบริษัท ๔ ไง ในเมื่อพวกเราเป็นเจ้าของศาสนา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นอุบาสก อุบาสิกาใช่ไหม เราก็หวังบุญกุศลของเราก็หวังประพฤติปฏิบัติของเรา มันก็มีกาลมีเวลา

ฉะนั้นถ้ามีกาลมีเวลา เราต้องรู้ เราต้องศึกษา ไปไหนเราต้องศึกษาว่าควรและไม่ควร เวลากรรมฐานของเรา เขาเรียกว่า เคารพในสถานที่ แม้แต่เข้าไปในสถานที่เขาเคารพก่อนแล้วนะ พอเคารพสถานที่เขาจะสงบกิริยาของเขา เสียงก็ให้มันเบาที่สุด การเคลื่อนไหวก็ให้กระทบน้อยที่สุด นั้นคือเขาเคารพในสถานที่ เพราะจิตใจของเขาเป็นสัตว์อาชาไนย เขาไม่ใช่พรานชน ถ้าพรานชนไปไหนเห็นไหม เขาต้องมีชื่อเสียง เขากร่างไปหมด

เขาทำให้สิ่งที่ควรจะเป็น ในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งนั้นเสียหายไปเลย ดูคน ธาตุของคน ถ้าธาตุเขาเป็นอย่างนี้นะ เขาอ่อนน้อมถ่อมตนของเขา เขาไปไหน เขาจะเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เขาอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพสถานที่ เพราะที่สงบสงัดเป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล

ผู้ทรงศีลคือทำอะไร ผู้ทรงศีลเขานั่งสมาธิภาวนาของเขา ผู้ทรงศีลเขาอยู่ในวิหารธรรมของเขา ผู้ทรงศีลเขาไม่ต้องการการคลุกคลี! ผู้ทรงศีลเขาไม่ต้องการเสียงกระทบกระเทือน เสียงก็เป็นเสียง แต่ถ้าไปกระทบกระเทือนเห็นไหม กระทบกระเทือนแล้วมันเป็นประโยชน์สิ่งใด พูดถึงถ้าเรามีสติมีปัญญา เรามองพฤติกรรม เรารู้ได้เลยว่าใคร! เป็นแม่ปู ใคร! เป็นสัตว์อาชาไนย

ถ้าเป็นแม่ปู มันเหยียบมันคร่อม มันทำสิ่งใดไม่ได้เลย แต่คร่อมธรรมและวินัยไป แล้วจะทำสิ่งใดไม่มีความเป็นเนื้อเป็นน้ำ เป็นประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเลย แล้วเราทำอย่างนั้นมันจะเสียหายเสียโอกาสกับชีวิตของเรา

แต่ถ้าเราทำตามจริงเห็นไหม ตามจริง ตามครูบาอาจารย์ ตามสัตว์อาชาไนย ทุกข์! ทุกข์ทั้งนั้น.. ทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์.. ถ้าไม่ทุกข์ไม่ลำบาก ไม่ทุกข์ไม่ตามความเป็นจริง มันจะไม่ได้ของจริงมาให้พวกเราได้เชยชม ถ้าเราไม่ทำความจริงขึ้นมา เราจะไม่ได้ความจริงเลย ถ้าเราจะทำความจริง เราได้ความจริงมาเพื่อประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้นสิ่งที่แสดงธรรมนี้แสดงธรรมให้เราเปิดกว้าง ให้หูตาสว่าง ให้คิดแยกแยะ ดูสิเวลาโลกเขาโกงกัน เขาฉ้อฉลกันเห็นไหม เราจะรู้ตามทันเขาไม่ได้เลย เพราะเรามีปัญญาอ่อนด้อย เราถึงเป็นเหยื่อของเขา

แต่ในการประพฤติปฏิบัติเรา ในการปฏิบัติของเราเห็นไหม เราจะต้องมีสติ แล้วถ้าเราไม่เป็นเหยื่อของเรา คือเราไม่เชื่อคนง่าย เราไม่หวังสุกเอาเผากิน ถ้าเราหวังสุกเอาเผากิน อยากได้มรรคได้ผล ด้วยความสะดวกด้วยความสบาย อยากได้มรรคได้ผลด้วยการรับรองด้วยการค้ำประกัน ด้วยการให้คนเชิดชู เราอยากได้มรรคได้ผลด้วยการเชิดชู เราไม่ได้อยากได้มรรคได้ผลด้วยเนื้อหาสาระ ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ด้วยข้อเท็จจริงที่เราเป็นคนหาบเหงื่อต่างน้ำ แลกมาด้วยมรรคญาณของเรา

เราจะเกิดมรรคญาณ เกิดจากสติ เกิดจากปัญญา เกิดจากการกระทำ เกิดจากการอาบเหงื่อต่างน้ำ ด้วยการขยันหมั่นเพียร ด้วยการนั่งสมาธิภาวนา เกิดจากสัจจะความเป็นจริง เราปรารถนาสิ่งนี้ต่างหากไม่ใช่หรือ? เราต้องการความจริงเพื่อเป็นสมบัติของเราจริงๆ ตายแล้วมันจะได้มีอริยทรัพย์ไปกับจิตของเรา ไม่ใช่เราจะได้มรรคได้ผลด้วยการเชิดชู ด้วยการรับรอง ด้วยความเห็นของคนอื่น แล้วเราจะตายเปล่า! ตายฟรี! ตายโดยที่ไม่มีสิ่งใดติดมือไปเลย เอวัง