เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราฟังธรรมก่อน ธรรมคือสัจธรรมนะ แต่เราพิสูจน์ได้หรือไม่ได้นี่ เพราะเรายังไม่รู้ว่านั่นเป็นสัจธรรมหรือไม่เป็นสัจธรรม โดยความเห็นของโลก คนจะมีการศึกษาสูงต่ำขนาดไหน มันก็มีความเห็นคล้ายๆ เรานี่แหละ เพราะเราเป็นโลกด้วยกัน พอเราเป็นโลกด้วยกัน ด้วยการศึกษาของเรา เราเข้าใจได้ เห็นไหม

เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกคนเข้าใจได้หมดว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ แต่ธรรมะเป็นธรรมชาติ แล้วถ้าเราคิดให้ลึกเข้าไปล่ะ? เราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเหมือนกัน ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มันเป็นธรรมะหรือยัง?

สิ่งที่มันจะเป็นไปได้ คนที่มันเป็นไปได้มันต้องมีการกระทำของมัน มีสัจธรรมของมัน เห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติต่อเมื่อผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ เพราะมองสรรพสิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติไปหมดเลย เพราะจิตใจมันไม่มีสิ่งใดขัดขวาง

แต่เราบอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ มันเหมือนเลย เหมือนกับเศรษฐีเนี่ย เห็นเขาเป็นเศรษฐี เราว่าเราก็เป็นเศรษฐี แต่ความเป็นเศรษฐีนะเขาเป็นด้วยการแสวงหาของเขา เขาได้ทำมาหากินของเขา หรือด้วยบุญกุศลเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง รับมรดกเป็นเศรษฐีของเขา เศรษฐีนั่นมันเป็นแก้วแหวนเงินทอง เป็นสิ่งที่เป็นทรัพย์สมบัติที่หามาได้ แต่สิทธิการมีชีวิตนี่เสมอภาค

คนมีคนจนก็มีชีวิตเหมือนกัน คนมีคนจนก็มีจิตหนึ่งเหมือนกัน แต่จิตหนึ่งอันนี้มันมีกิเลส จิตหนึ่งมันมีกิเลสใช่ไหม ไม่อย่างนั้นกิเลสมันเกิดทำไม? ถ้ามันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติอย่างไร?

คำว่าธรรมชาติ เศรษฐีกับคนจนมันไม่เหมือนกัน เศรษฐีนะเขามีสิทธิเสรีภาพ เขามีศักยภาพของเขา เราคนจน เราทุกข์จนเข็ญใจ เราก็อยู่ในศักยภาพของเรา แต่! แต่จิตหนึ่งเหมือนกัน คำว่าจิตหนึ่งเหมือนกันนะ นี่การเกิดเป็นมนุษย์นี้สำคัญมาก

การเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม มีชีวิต นี่ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ของมารดาเกิดมาเป็นเรา ถ้าเกิดมาเป็นเรา การศึกษาของเรา.. เกิดมาเป็นมนุษย์นี่สำคัญมากนะ แต่! แต่การดำรงชีวิตให้อยู่นี้สำคัญมากกว่า! สำคัญมากกว่าอย่างไร? สำคัญมากกว่าเพราะว่าทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ แต่เวลาเกิดนี่เกิดด้วยบุญกุศลนะ ศักยภาพการเกิดของมนุษย์เกิดมาด้วยบุญกุศล เห็นไหม กรรมเก่า พอเกิดขึ้นมาแล้วพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนถึงสิ่งใด นี่ไง นี่แล้วใครจะรู้ได้ล่ะ?

นี่เพราะรู้ไม่ได้ ความรู้ไม่ได้ เห็นไหม ดึงฟ้าให้ต่ำ พอดึงฟ้าให้ต่ำก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ ว่ากันไปว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม.. เป็นธรรมนะ ดูสิเวลาเราประพฤติปฏิบัติกันในปัจจุบันนี้ พอปฏิบัติแล้วทุกคนจะบอกว่าเมื่อก่อนทุกข์ยากมาก แล้วพอมาปฏิบัติเดี๋ยวนี้มันสบาย คนเรานะอาบเหงื่อต่างน้ำ พอพักมันก็สบายทั้งนั้นแหละ

คำว่าสบายนะ ไม่ใช่คัดค้านว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันเริ่มต้น เห็นไหม ทุกคนนี่ เราเกิดมาเป็นทารก ทุกคนต้องเป็นผู้ใหญ่เป็นธรรมชาติของมัน มันโตของมันทั้งนั้นแหละ เว้นไว้แต่มันตายซะก่อน

นี่ก็เหมือนกัน จิตนี่เวลาถ้ามันได้พัก มันจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ มันได้พักผ่อนของมัน ทีนี้พอจิตมันทุกข์ มันยาก มันเครียด เห็นไหม ดูสิพอเกิดเป็นมนุษย์นี่เราแบกหามภาระกัน แล้วพุทธศาสนานี่ธรรมโอสถ ธรรมโอสถมันแก้ไขตั้งแต่พื้นๆ แก้ไขโรคภัยไข้เจ็บ แก้ไขโรคที่มันยังฝังใจอยู่ สิ้นสุดแล้วมันแก้จนจิตนี้ไม่มีสิ่งที่เป็นอวิชชาเวียนตายเวียนเกิด

มันมีหยาบ มีละเอียด มีขั้นตอนของมันตลอดไป แต่เราจะพูดกันว่า แล้วทุกคนฟังนะ โลกเขาฟังว่า “เมื่อก่อนเป็นคนทุกข์คนยากมาก เดี๋ยวนี้พอประพฤติปฏิบัติแล้วมันสบายขึ้นมา” ถ้ามันสบายขึ้นมามันก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง วัตถุที่มันมีค่าเท่ากับธรรมชาติ แต่จิตใจมันมีคุณค่าเหนือกว่านั้น เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันมีอวิชชา พอมันเป็นวิชาล่ะ? พอวิชาก็คือความรับรู้ ความจะถอดถอนมัน แล้วถอดถอนจบไหม? ถอดถอนได้ไหมล่ะ?

ถ้ามันถอดถอนได้ต่างหากล่ะ ถ้ามันถอดถอนได้ เห็นไหม นี่อวิชชา วิชา.. พอถึงวิชาวิชชาคือขบวนการของมรรค แล้วมรรคมันถอดถอนแล้วมันเหลืออะไรล่ะ? แล้วมันเป็นไปอย่างไรล่ะ? แล้วมันอยู่บนธรรมชาติอย่างไร? นี่ไง ถ้ามันเวียนตายเวียนเกิดมันก็เป็นผลของวัฏฏะใช่ไหม ถ้าเป็นธรรมะมันพ้นจากวัฏฏะไป.. วัฏฏะ-วิวัฏฏะ แล้ววิวัฏฏะนี่ วิวัฏฏะพอมันไม่ถึงตรงนั้น มันก็พูดสิ่งนั้นไม่ได้ ถ้าพูดสิ่งนั้นไม่ได้เราก็บอกว่ามันเป็นธรรมชาติ มันเป็นอะไร

มันก็ใช่อยู่ มันก็ถูกอยู่ การเกิดมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความเป็นไปก็ธรรมชาติอันหนึ่ง ความทุกข์มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความสุขก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันมีของมัน มันเกิดดับของมันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เห็นไหม พยับแดดมันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน ถ้าอุณหภูมิมันถึง

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจเวลามันทุกข์มันเร่าร้อน ถ้ามันเร่าร้อนนะ เวลามันได้พักของมัน เห็นไหม ฉะนั้นบอกว่าเวลามันทุกข์ พอมาปฏิบัติแล้วมันสบาย มันผิดตรงไหนล่ะ? มันไม่ผิด มันไม่ผิดหรอก แต่มรรคหยาบๆ มันละเอียดไปไม่ได้ ความสุข ความทุกข์ในทางโลก ความสุข ความทุกข์ในทางธรรม แล้วพูดถึงว่ามันข้ามพ้นจากสุขและทุกข์โดยสิ้นเชิง มันจะข้ามพ้นจากสุขและทุกข์ไปนะ ข้ามไปหมดเลย แล้วมันข้ามอย่างไรล่ะ?

นี่สิ่งนี้มันประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เราไม่ต้องไปพูดหรอก เวลาเขาเชือดไก่เขาใช้มีดเล็ก ใช้มีดแค่บางๆ ก็ได้ แต่เวลาเขาเชือดโคมันก็ต้องเป็นมีดอีกอย่างหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน เวลามรรค สิ่งนี้โลกเขาจะรู้ได้อย่างใด? ถ้าโลกรู้ไม่ได้นะ เราก็พูดกันด้วยธรรมะด้วยความชุ่มเย็น ฝนตกขึ้นมาชุ่มฉ่ำไปหมด เห็นไหม สัจธรรมในหัวใจ เวลาเราแสดงธรรมไป ให้เขามีความชุ่มฉ่ำในหัวใจ ให้จิตใจร่มเย็นเป็นสุข เขาก็รับผลได้แค่นั้น

หลวงตาใช้คำว่า “แกงหม้อใหญ่ แกงหม้อเล็ก แกงหม้อจิ๋ว”

ถ้าแกงหม้อใหญ่ ใครๆ เขาก็กินได้ เด็กก็กินได้ ผู้ใหญ่ก็กินได้ ทุกอย่างก็กินได้ นี่ธรรมะทั่วไป เห็นไหม แต่เวลาเราพูดถึงธรรม พอมันเป็นแกงหม้อใหญ่แล้วใครจะกินแกงหม้อเล็กไม่ได้ กินแกงหม้อจิ๋วไม่ได้ คนนี้มีแต่สร้างแต่ความทุกข์ เพราะรสชาติมันเข้มข้น อ้าว! มันเป็นอย่างนั้นไป แต่แกงหม้อใหญ่เขากินกันพื้นๆ กินกันโดยทั่วไป แต่ถ้าเรามีความทุกข์ตรมในหัวใจ มันก็ต้องใช้ความเข้มข้นเข้าไป

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็ต้องมียาแก้ยารักษา แล้วถ้าถึงที่สุดไปแล้วมันแกงหม้อจิ๋ว เห็นไหม ฐีติจิตเข้าไปจุดศูนย์กลาง โลกนี้มีเพราะมีเรา เพราะมีจิต เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เวลาสิ้นกิเลสไปแล้วนะ จิตใจนี่ครอบสามโลกธาตุ เหมือนกับพญามังกรมันอยู่บนอากาศ มันไปได้ไม่มีขอบเขตของมัน จิตใจมันไม่มีขอบเขตของมัน แต่เรามีขอบเขต เห็นไหม ขอบเขต ๒๔ ชั่วโมง ๑ วัน ขอบเขตของเทวดานี่ ๑๐๐ วันของเขา ขอบเขตของพรหม พรหมนี่ความรู้สึกรับรู้ของเขา ขอบเขตเขากว้างออกไป

นี่ไงมันมีขอบเขตไปหมด มันไม่มีอะไรเป็นอิสระไปได้เลย แต่พอจิตมันชำระกิเลสไปหมด เห็นไหม พอจิตใจเป็นอิสระ จิตใจนี้มันครอบไปสามโลกธาตุ มันครอบไปทุกๆ ภพ ทุกๆ ชาติ มันคลุมไปหมดเลย ทำไมมันกว้างขวางได้ขนาดนั้น ทั้งๆ ที่กว้างขวางได้ขนาดนั้น แต่เวลาจะแก้ไข แก้ไขที่ไหนล่ะ?

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

จิตเดิมแท้ ปฏิสนธิจิต จิตเริ่มต้น จิตมีการกระทำ มันกลับมาที่ตรงนั้นไง แกงของโลก แกงของใจ ฐีติจิต นี่ถ้ามันเข้ามาที่นี่ ถ้าเข้ามาที่นี่ แล้วเข้าอย่างไรล่ะ?

การปฏิบัตินะ พอเวลาจริงจังขึ้นมา คนที่อ่อนด้อยก็บอกว่าทุกข์จนเข็ญใจ ทำไม่ได้ๆ ทำให้มันสบายๆ ก็พอ แล้วพอมันสบายๆ ก็พอนี่จะไปคัดค้านอะไรเขา ถ้าบอกว่าปฏิบัติ เห็นไหม เวลาบริหารร่างกายก็เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ถ้าเราปฏิบัติเพื่อดำรงชีวิต นี่ชีวิตประจำวัน ธรรมะในชีวิตประจำวัน โอ้โฮ.. ชีวิตนี้มีค่ากว่าธรรมะเนาะ แต่ธรรมะในชีวิตประจำวันก็ไม่ว่ากัน ธรรมะเป็นชีวิตประจำวันก็ทำเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้นเอง

แต่ธรรมะในชีวิตประจำวัน ประจำวัน ประจำชีวิต ประจำภพ ประจำชาติ มึงก็เกิดตายต่อไปเถอะ! แต่ถ้าธรรมะมันเหนือโลกล่ะ? มันเป็นชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันมันมีค่าขนาดที่ว่าต้องเหยียบย่ำธรรมะเชียวหรือ? ชีวิตประจำวันก็ชีวิตประจำวันสิ ธรรมะมันมีคุณค่ามากกว่านั้น

ฉะนั้น เวลาพูดว่าธรรมะมันทำได้ยาก เราก็อ่อนแอกัน จิตใจก็ท้อแท้ แต่ถ้าธรรมะเป็นชีวิตประจำวันนะ เล่นไพ่ก็ปฏิบัติธรรมได้ จะปล้นเขาก็ปฏิบัติธรรมได้ โอ๋ย.. ธรรมะเป็นชีวิตประจำวัน ธรรมะประจำวัน ก็พอใจกัน..! มีความพอใจมีอะไร นี้กิเลสมันนำหน้าไง

หลวงตาท่านพูดนะ “เวลาจะเทศน์ต้องขออนุญาตกิเลสก่อนนะ” ขออนุญาตครับ กระผมจะขอเทศน์ ถ้าเทศน์ไปกระทบกิเลสไม่ได้ไง เห็นไหม แต่พอกิเลสนำหน้าทุกอย่าง ธรรมะก็เลยเป็นที่รองรับเขา เวลาครูบาอาจารย์ของเราทำจริงๆ นะ ถ้าทำจริงๆ มันจะได้ผลจริงๆ ถ้าโลกเขาเริ่มปฏิบัติไป มันก็เหมือนกับสิ่งที่เป็นสาธารณะ มันก็เป็นสาธารณะไป

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิ์หมด มีสิทธิเสรีภาพ เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน นี่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔

“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราไม่ยอมนิพพาน”

มารดลใจขนาดไหนท่านก็ไม่ยอมนิพพาน ท่านพยายามเผยแผ่ของท่านจนมั่นคงนะ พอวันมาฆบูชา มารนิมนต์แล้วนิมนต์อีกถึง ๑๖ หน

“มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน”

นี่ไง พระพุทธเจ้าฝากไว้กับเรา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา เรามีสิทธิ แต่สิทธิในใจ สิทธินะเพราะหัวใจนี้เป็นผู้สัมผัสธรรม นี่แม้แต่การจดจารึกไว้มันก็สึกกร่อนไปทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันได้สถิตในใจของใครนะ โสดาบันมันจะอยู่ของมันคงที่ อกุปปธรรม อฐานะที่มีการแปรสภาพเป็นสิ่งคงที่ อกุปปธรรม! โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่คงที่ เห็นไหม หัวใจเป็นที่สัมผัสธรรม สิทธิ! สิทธิคือใจของเราไง

หลวงตาสอน “เรื่องของเขา เขาจะมุดฟ้าดำดิน เขาจะดำดินบินบน นั่นมันเรื่องของเขา แต่เรื่องของเราคือใจของเราไง”

สิทธิที่เกิดที่ตายไง สิทธิปฏิสนธิจิตที่มันจะเกิด มันจะตาย มันจะทุกข์ มันจะยาก นี่สิทธิของเรา เสมอภาคที่ใจของเรา เสมอภาคที่ในหัวใจของเรา เราทำให้หัวใจเราเป็นสัมมาสมาธิ เราทำใจของเราให้เกิดมรรคญาณ เราทำใจของเรา! เราทำใจของเรา! ธรรมะส่วนบุคคล เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะปรินิพพานไป เป็นสมบัติของบุคคลนั้นไป ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นสาธารณะ เป็นธรรมและวินัย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สติ สมาธิ ปัญญา มันจะเป็นของเรา มันจะเกิดกับเรา

เวลาปอกผลไม้นี่เราเป็นคนปอกเอง เราจะรู้ของเรา เวลาเราปอกใจของเรา เราแก้ไขใจของเรา เราจะรู้ไปของเรา แต่เราเห็นเขาปอก แล้วเรานึกว่าปอก จะปอกเหมือนเขามันไม่ได้ผลหรอก มันก็นึกเอา แต่การฟังครูบาอาจารย์นี่เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง เป็นคติธรรม เราฟังเพื่อเป็นคติธรรม

จิตที่สูงกว่าแสดงไว้ แล้วจิตที่ต่ำกว่าพยายามประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วถ้ามันถึงจุดนั้นมันจะไม่เหมือนกันได้อย่างไร ถ้าไม่เหมือนกันต้องมีบุคคลคนหนึ่งผิด นี่ถ้ามันผิดนะ ถ้ามันผิดแล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไร? การแก้ไขหัวใจทำเพื่อประโยชน์กับเรานะ

การเกิดเป็นมนุษย์นี่แสนยาก แต่การดำรงชีวิตเป็นมนุษย์ยิ่งยากกว่า เราทำของเราให้ได้ ทำของเราให้ประสบความสำเร็จ เกิดเป็นมนุษย์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ้นกิเลสไป ครูบาอาจารย์เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว พยายามสร้าง พยายามแก้ไขดัดแปลงหัวใจจนสิ้นกิเลสไป

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็มีบุญกุศลเป็นที่พึ่งอาศัยถ้ามันไม่ถึงที่สุด แต่ถ้าถึงที่สุดเราก็พยายามของเรา นี้คือโอกาสของเรานะ ตายแล้วไปเกิดภพชาติไหน เรายังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นแบบใด แต่ถ้าเราทำคุณงามความดี เราก็อธิษฐานของเราก็เพื่อประโยชน์กับเรา

เราบอกว่าเราตายแล้ว เราอยากให้เกิดพบพระศรีอารย์ การเกิดมาพบพระศรีอารย์นี่ เราทำเหตุอย่างใดถึงจะไปเกิดพบพระศรีอารย์ เวลาเราเกิดมาพบพระศรีอารย์ เพราะในธรรมวินัยบอกว่า สมัยพระศรีอารย์จะประพฤติปฏิบัติง่าย เพราะพระศรีอารย์ได้สร้างบุญญาธิการมามาก เห็นไหม ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย

ฉะนั้นง่ายหรือยากมันก็ผลคืออันนี้ คืออริยสัจอันเดียวกัน ในปัจจุบันนี้เราพบแล้ว เราอยู่แล้ว เราพบพุทธศาสนาแล้ว ศาสนายังมั่นคง ยังมีมรรคมีผลต่อเมื่อเหตุผลสมควร

“ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม”

มันสมควรแล้วมันเป็นของมันโดยสัจธรรม ถ้าไม่สมควรนะ เราปลีกแยกไป มันจะเป็นสมควรแก่ธรรมได้อย่างไร? ถ้าไม่สมควรแก่ธรรม มันก็สมควรแก่กิเลสใช่ไหม? เวลากิเลสออกหน้า กิเลสนำหน้า ปฏิบัติลัดสั้น ปฏิบัติจะสุขสบายไปทั้งหมด นั้นเป็นความเห็นของกิเลส

คำว่ากิเลส เราปฏิบัติเหมือนกัน แต่มันทำให้เราไปถึงที่สุดแล้วว่างเปล่า ไม่มีสิ่งใดติดไม้ติดมือไป เราปฏิบัติเหมือนกัน ทุกข์ยาก! ลำบากลำบน! แต่ที่สุดแล้วมีของติดไม้ติดมือไป เห็นไหม มันได้ประสบการณ์ มันได้ความเพียรชอบ งานชอบ มีการกระทำ เราจะทำสิ่งใดเพื่อเป็นของที่ติดในหัวใจนี้ไป

เขาถามกันอยู่ประจำ “ทำบุญแล้วได้บุญไหม? บุญนี้เป็นอย่างไร?” เห็นไหม เขาไม่มีอะไรติดหัวใจเขาไป แต่ถ้าคนที่ทำบุญแล้วนะ มีความสุข มีความร่มเย็น เขามีบุญติดหัวใจของเขาไป เรารับรู้ได้ของเขา บุญคือความสุขใจ บุญคือความโล่ง ความโปร่งใส มันปล่อยวางของมัน นั้นคือบุญ!

บุญคือผลของใจ เห็นไหม บุญกุศล กุศลคือปัญญาที่เข้าใจ บุญกุศล.. แล้วปฏิบัตินี่มีสิ่งใดติดไม้ติดมือเราไป ติดหัวใจเราไป ให้หัวใจนี้เกิดมีที่พึ่งอาศัย ถ้ามันถึงที่สุดแล้วให้พ้นจากสิ้นสุดแห่งทุกข์ ให้พ้นจากกิเลสไป จะไม่ต้องเกิด

ไม่ต้องเกิดก็รู้ เป็นพระโสดาบันนี่รู้ทันทีเลย สกิทาคามีก็รู้ อนาคามีก็รู้ ยิ่งเป็นพระอรหันต์รู้เลย ทำไมมันเกิด ทำไมมันไม่เกิด? ไม่เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะอะไร? มันรู้ของมันหมด ถ้าไม่รู้มันมีความสงสัยเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ พระอรหันต์จะสิ้นสุดแห่งทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ มันก็เป็นบุญกุศลของเรา เกิดมาไม่เสียชาติเกิด ถ้ามันปฏิบัติไม่ได้ก็ให้บุญกุศลนี้เป็นที่พึ่งอาศัย เอวัง