ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผลของสมาธิ

๑๘ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

ผลของสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาถามนะ เขาถามว่ามีเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมเขาโทรมาบอกว่า

“ไม่ควรสงสัยหรือวิพากษ์วิจารณ์พระ เพราะจะมีผลทำให้การปฏิบัติถอยหลังลงคลอง”

ฉะนั้น เขาตอบเองว่า “มันอยู่กับเหตุการณ์ ถ้าเรารู้สภาพว่าท่านปฏิบัติไม่ถูก และคนที่รักญาติพี่น้องของตัวเอง เราควรจะบอก แต่ถ้าเขาเชื่อหรือไม่เชื่อแล้วแต่เขา และทำหน้าที่ของเราแล้ว ไม่ใช่ว่าเห็นคนจมน้ำแล้วปล่อยจมน้ำไปเลย”

นี่เขาถามนะ..

ถาม : แล้วทำให้เที่ยวประกาศศาสนาที่เสียหาย พูดแต่ความจำเป็น เขาตอบว่าไม่ได้

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้มันเป็นประเพณีนะ ประเพณีโดยทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วประเพณีไทย “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” โดยปกติ..

คำว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมๆ นี่เวลาท่านแก้ไข เราจะพูดว่าอย่างเช่นหลวงตา หลวงตานี่ถ้าพระปฏิบัติผิด พระที่มีปัญหาท่านจะไม่ค่อยพูด แต่! แต่ท่านจะไปหาด้วยตัวเอง คือท่านพยายามจะแก้ใต้น้ำ แก้เบื้องหลัง ไม่ให้ภาพมันกระทบ หลวงตาท่านจะรักษาแบบนั้น

ฉะนั้น เวลาสังคมไทยเรา เห็นไหม เขาบอกว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” เวลาคนพูดเขาจะบอกว่า “เอ็งศีลเท่าไร?” อย่างเรานี่ศีล ๕ พระศีล ๒๒๗ เราไม่ควรไปติเตียน ถ้าติเตียนแล้วมันจะเป็นบาปเป็นกรรม สังคมไทยเป็นอย่างนั้น แต่สังคมไทยเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะสังคมไทยรู้ไม่ได้

แต่ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติใช่ไหม อย่างเช่นเวลาพวกเรานี่ปัญญาชนทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้วปัญญาชน เวลาพูดกับปัญญาชนนะ พูดถึงเรื่องพระเขารับไม่ได้ เห็นไหม เขารับไม่ได้เพราะว่าพฤติกรรมเขาเห็นว่าพระพูดอย่างหนึ่ง พระธรรมวินัยนี่ เวลาใครศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วทึ่งมากเลย แต่ดูพฤติกรรมของพระมันไม่อยู่ในร่องในรอย พอไม่อยู่ในร่องในรอย เขาก็เหมารวมว่าพระเป็นแบบนั้น

สังเกตได้ไหมว่าพอเราไปวัดเราจะอาย เราไปวัดนี่คิดว่าพระทำตัวพฤติกรรมพระไม่ดีไง ฉะนั้น พอพฤติกรรมพระไม่ดี แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราเข้าใจได้ ถ้าเราเข้าใจได้นะเราแบ่งแยกได้ไง ถ้าเราแบ่งแยกได้ บางอย่างเราไม่ใช่ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ แต่ถ้าการพูดเพื่อประโยชน์ ถ้าพูดเพื่อประโยชน์นี่พูดด้วยเหตุผล

ทีนี้เหตุผลนี่มันมี “เหตุผลทางโลกและเหตุผลทางธรรม” เหตุผลทางโลกก็คือธรรมวินัย คือกฎหมาย เหตุผลทางโลกคือกฎหมาย แต่เหตุผลทางธรรมนะ คือเรื่องของหัวใจใช่ไหม เรื่องของการประพฤติปฏิบัติ เรื่องใจที่ว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง

ฉะนั้น ถ้าเราปัญญาชน เรารู้ได้ด้วยเหตุผลทางโลกกัน เรารู้เหตุผลทางธรรมไม่ได้หรอก เหตุผลทางโลกคือเราศึกษาธรรมวินัย พอศึกษาธรรมวินัยก็ดูพระว่าทำผิดวินัยหรือเปล่า ทำนอกกรอบหรือเปล่า ถ้านอกกรอบเราก็ตัดสินว่าถูกหรือผิดไปเลย แต่ถ้าเป็นเหตุผลทางธรรมนะ เหตุผลทางธรรมนี่ เราสังเกตได้ไหม สังคมไทยเรานี่นะพระเขาไม่ให้ขับรถกัน พอเราไปเห็นพระขับรถ พวกเราเห็นเป็นของแปลกประหลาดเลย

พระขับรถนะ เพราะในธรรมนะ แม้แต่ว่าสมัยพุทธกาลมันมีรถแล้ว แต่มันเป็นรถม้า พอเป็นรถม้า เห็นไหม มันมีระหว่างเมืองไง จิตตคหบดีที่ว่าไปถวายเงิน เห็นเขาเดินทาง แล้วเห็นคนมาบวช พระมาบวชนี่คนทุกข์คนจนก็มี กฎุมพี กษัตริย์ก็มี แล้วเขาไม่มีค่าเดินทางก็อยากจะถวายไง อยากถวายก็ไปขอพระพุทธเจ้า เพราะพระห้ามหยิบเงินและทอง

พระพุทธเจ้าบอกห้ามหยิบเงินและทอง แต่เหตุผลของจิตตคหบดีบอกว่า

“เพื่อความพออยู่ได้ของพวกที่เขาเคยสะดวกสบาย ก็อยากจะอำนวยความสะดวก”

พออยากอำนวยความสะดวกพระพุทธเจ้าบอกว่า

“อย่างนี้ให้ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง แต่ยังห้ามยินดีในตัวเงินและตัวทองอยู่อย่างเดิม”

แต่เดิมพระนี่ห้ามหยิบเงินและทอง ห้ามยินดี แต่สุดท้ายแล้วพอเขามาขออำนวยความสะดวกให้พระบ้าง พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “ให้ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้น” หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่เอาเงินไปแลกมา ถ้าเราไม่ยินดีปั๊บ สิ่งที่แลกมานี่มันก็ต้องรังเกียจไปด้วย ฉะนั้น ให้ยินดีในสิ่งที่เกิดจากเงินและทอง คือให้ซื้อตั๋วให้

ทีนี้พออาศัยรถโดยสาร การเดินทาง เห็นไหม พระก็ยังรังเกียจ พระยังรังเกียจว่ารถสมัยโบราณเขาขับเคลื่อนด้วยม้า ด้วยสัตว์ ก็เหมือนกับว่าไปรังแกสัตว์ เอาเปรียบไง พระบางองค์ก็ไม่ยอม เพราะถือว่ามันไปทรมานสัตว์ คำว่าทรมานสัตว์มันเป็นมุมมองใช่ไหม? มันเป็นเรื่องธรรมใช่ไหม? เรื่องหัวใจว่าหัวใจคนคิด

ฉะนั้น สิ่งนี้สิ่งที่ว่าถ้าเรื่องของธรรม เรื่องของธรรม เห็นไหม เรื่องความละอาย หิริโอตัปปะ ความเกรงกลัว ความละอาย มันเป็นเรื่องของธรรมะแล้ว เรื่องของหัวใจที่หัวใจสูงต่ำแล้ว แต่ถ้าเรามองกันด้วยกฎหมาย ด้วยทางโลก ฉะนั้น สิ่งที่พอปัญญาชนเห็นอย่างนั้น ก็เลยว่าพระเรานี่ไม่อยู่ในร่องในรอย แต่ถ้าพูดถึงเรื่องปฏิบัติแล้ว ถ้าผิดถูกมันรู้ได้ มันเห็นได้

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันก็เป็นกรณีของเวรกรรม เวรกรรมคือว่าถ้าคนมัน อย่างที่หลวงตาบอกว่า ถ้ามีสายบุญสายกรรมเขาจะเชื่อกัน เชื่อถือศรัทธากัน แล้วโลกเขาก็สร้างกันอย่างนั้น ในปัจจุบันโยมจะพูดอยู่คำเดียว เวลาใครมาถามเรื่องปัญญา เรื่องการประพฤติปฏิบัติ เราบอกว่าไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามอะไรอย่างนี้ เขาจะบอกว่า “ทำไมคนไปเยอะล่ะ?”

พอเราเห็นว่า โอ้โฮ.. คนไปเยอะ คนไปเยอะ.. คนไปเยอะพระองค์นั้นต้องถูก อย่างนั้นประชาธิปไตยนี่เสียงข้างมากต้องถูกหมด มันก็ไม่เห็นถูก เสียงข้างมากก็ไม่เห็นถูก ถูกก็มีผิดก็มีเสียงข้างมาก

ฉะนั้น กรณีว่าคนไปเยอะหรือคนไม่ไปเยอะ เรามองเป็นเรื่องเอามาต่อรองกันไม่ได้เลย เพราะความผิดถูกนี้มันอยู่ที่คน ความผิดถูกมันก็อยู่ที่ผิดถูก แต่เราไปดูกันว่าโอ้โฮ.. คนไปเยอะ พอคนไปเยอะปั๊บพระก็เลย.. เดี๋ยวนี้นะการตลาดหมด ที่ไหนก็ทำการตลาดหมด เพราะต้องการตรงนี้ พอเริ่มมีการตลาดปั๊บมันก็ต่อกันไปไง

อันนั้นถ้าการตลาดเป็นทางโลก แต่ถ้าเวลาเป็นธรรมนะ ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ว่ากันตามนั้น ฉะนั้น สิ่งที่พูดนี่เราจะบอกว่าพูดไม่ได้เลยนะ

เวลามีปัญหาขึ้นมา เวลาพระเขาบอกว่า “พระสงบนี่ชอบยุ่งกับคนนู้น ยุ่งกับคนนี้”

เราบอก “พระพุทธเจ้าฝากกูไว้ พระพุทธเจ้าสั่งกูไว้ พระพุทธเจ้าสั่งกูเลย สั่งให้กูพูดอย่างนี้”

แล้วเขาบอกว่า พระพุทธเจ้าสั่งที่ไหนล่ะ?”

“ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาไง”

“เมื่อใดกล่าวแก้!”

เราเป็นภิกษุ พระพุทธเจ้าสั่งกูไว้นะ พระพุทธเจ้าบอกไว้ นี่พูดกับมารเลย

“เมื่อใด ภิกษุ ภิกษุณี สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง การทำลายศาสนา”

พระพุทธเจ้าให้กูพูด พระพุทธเจ้าสั่งกูไว้ ถ้าเราเห็นถูกเห็นผิด เราพูดที่พระพุทธเจ้าสั่งไว้ พระพุทธเจ้าสั่งไว้เลยนะ “ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถกล่าวแก้ สามารถดูแลศาสนา” ถ้าผิดถูกนี่ให้พูดได้

ทีนี้ถ้าดีล่ะ? เวลาถ้าพูดไปมันก็ไปขัดใจกันไง การขัดใจกัน ถ้าเป็นความดีนะความจริงมีอันเดียว ความจริงมีหนึ่งเดียว ถ้าเป็นความดีแล้ว ความดีมันจะเป็นความดีอันเดียวกัน

ฉะนั้น สิ่งที่พูดไปแล้วถ้าเป็นธรรมนะ นี่มงคล ๓๘ ประการ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง ถ้าเป็นมงคลอย่างยิ่ง การปฏิบัติผิด การปฏิบัติถูก ถ้าลองได้หันหน้าเข้าคุยกันนี่เป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่ความเป็นมงคลอย่างยิ่ง ผู้ที่ปฏิบัติ ปฏิบัติโดยที่ความลังเลสงสัย ไม่กล้าสนทนาธรรม การสนทนาธรรมนี่นะมันเป็นการเปิดกึ๋นเลย ในหัวใจมีเท่าไรเปิดหมด แล้วด้วยเหตุด้วยผล นี่ถ้าเหตุผลสู้กันไม่ได้หรอก

ฉะนั้น หลวงตาท่านจะบอกว่า “ถ้าเวลาจะไปพูดกับใครที่ไหนนะท่านไปหมดแหละ เว้นไว้แต่คนพาล” เว้นไว้แต่คนพาลนะ ดูสิตอนที่ออกมาช่วยชาติ เห็นไหม แล้วเขาบอกว่าพระป่าวิกลจริต พระป่า พระปฏิบัติวิกลจริต ท่านก็พูดของท่าน แต่ท่านไม่ไปโต้แย้งกับเขา เพราะว่าเขาพูดโดยเอาตัวรอด เขาไม่ได้พูดด้วยเหตุด้วยผล ถ้าพูดด้วยเหตุด้วยผลนะ เวลาพูดด้วยเหตุด้วยผลมันก็จบไง

ฉะนั้น เวลาคนพาลนี่เราไม่ไปยุ่งกับเขาหรอก เพราะคนพาลนะเขาไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ไง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง เวลาคนพาลเป็นแบบนั้น ถ้าคนพาลนะเขาคิดอย่างหนึ่ง เขาพูดอีกอย่างหนึ่ง เขาทำอีกอย่างหนึ่ง

เขาคิด คิดคืออะไร คิดคือสงสัย คิดแล้วไม่รู้ธรรม เราไม่รู้อะไรเลยในใจของเรา แต่เวลาพูดนี่โอ้โฮ.. ฉันรู้ ฉันแน่ ฉันเป็นพระอินทร์เลยนะ เวลาทำไปอีกเรื่องหนึ่งเลย ถ้าอย่างนี้แล้วนี่เขาไม่กล้าสนทนาธรรม เขาไม่กล้าคุยกันหรอก แต่ถ้าเราคุยกันนะมันพูดได้

โธ่.. ทำไมจะพูดไม่ได้ แล้วบอกว่าต้องธรรมวินัยๆ เราต้องทำตามวินัยเว้นไว้แต่.. เพราะธรรมวินัยนี้เปิดไว้นะ เว้นไว้แต่เจ็บไข้ได้ป่วย เราอยู่กับหลวงตานะ หลวงตามาที่โพธารามนี่เราสะเทือนใจ เวลามาโพธารามเสร็จท่านจะต้องไปพักผ่อนเป็นส่วนตัวก่อน เวลาเราไปกับท่าน เห็นไหม ท่านพูดนี่

ทั้งๆ ที่ว่าหัวใจเราไม่เคยมีอะไรกับท่านเลย ท่านนั่งลงไม่ได้ไงเพราะหัวเข่าท่านเจ็บ ทีนี้ถ้าธรรมดานี่ภิกษุ การปัสสาวะนะ ถ้าภิกษุยืนปัสสาวะเป็นอาบัติทุกกฎ เป็นอาบัติทันทีต้องนั่งลง ภิกษุยืนฉันน้ำเป็นอาบัติทุกกฎทันที เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ เวลาพระบวชใหม่ไม่เข้าใจนะยืนฉันน้ำ ท่านบอกเลย “มึงเอามือคลำก้นซิมีหางไหม? มีหางไหม?”

ความจริงมันผิดวินัยใช่ไหม แต่พูดประสาเรา มีหางก็คือสัตว์ไง คือหมาไง กินแบบหมาไม่ใช่กินแบบพระ ถ้าฉันแบบพระ ฉันน้ำจะต้องนั่งลง ภิกษุเคลื่อนที่ เสพฉันไม่ได้ อยู่บ้านตาดนะ แม้แต่สูบบุหรี่นี่ท่านให้นั่งลง ไม่ให้ยืนสูบนะ ไม่ให้เดินสูบ ถือว่าเป็นการกิน นี่เวลาวินัยเป็นอย่างหนึ่ง แต่เจตนาอย่างหนึ่ง ความสวยงามเป็นอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาท่านมาหาเรา ท่านหันมาหาเราเวลาท่านจะปัสสาวะนะ ท่านบอกว่า “หงบ มันปวดนั่งไม่ได้” เราสะเทือนใจมากนะ ก็ไม่ได้มาดูว่านั่งหรือไม่นั่ง ก็ตามอิริยาบถ ทีนี้มันก็เหมือนแบบว่ามันผิดไง ถ้าพูดถึงกฎหมายมันผิดไหม? แบบว่าภิกษุยืนแล้วปัสสาวะมันก็ผิด แต่เวลาคนผู้เฒ่ามันจะเป็นอะไร ผู้เฒ่ามันก็ยกเว้นไง

เวลายกเว้น ถ้าเราเถรตรงจนเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผู้เฒ่า ผู้แก่นั้นไปอีกเรื่องหนึ่งนะ ทีนี้ถ้าจะให้พูดเถรตรงใช่ไหม อ้าว.. เวลาพวกเอ็งผิดเอ็งไม่เห็นว่าผิดเลย เวลาคนอื่นนี่เที่ยวจับผิดเขาไปทั่ว.. ผิดถูกมันก็อยู่ที่กาลเทศะ อยู่ที่กาลเวลาด้วย ทุกอย่างด้วย นี่ถ้าเป็นธรรมนะ แต่ถ้าไม่เป็นธรรมเนี่ย..

ฉะนั้นบอกว่า “ไปติเตียน ไปว่าเขา แล้ววิพากษ์วิจารณ์พระแล้วมันจะถอยหลังเข้าคลอง”

เราบอกว่าวิพากษ์วิจารณ์พระที่ปฏิบัติไม่ดีนะ เทวดาจะสาธุ! สาธุ! นะ เอ็งยิ่งวิพากษ์เอ็งจะได้บุญ เราช่วยกันทำให้ศาสนาสะอาด อู้ฮู.. เขาชื่นชมอีกด้วย แต่ระวังเจอคนพาลนะ (หัวเราะ) มันเล่นเอาเชียว

มันอยู่ที่สมควรหรือไม่สมควรหรอก ถ้ามันไม่สมควรเราก็ไม่ต้องไปพูด แต่สิ่งที่ว่าสมควรหรือไม่สมควร ฉะนั้น เวลาอยู่กับเราก็อย่างหนึ่งเนาะ เพราะเรานี่ ประสาเราเห็นไหม เวลาเราพูดธรรมะนี่เราบอกว่ามีอะไรให้พูดมา คือเราพูดธรรมะกัน ธัมมสากัจฉา เรามีอะไรสงสัยให้พูดมา คือให้โต้ตอบไง แต่ถ้าเป็นที่อื่นเอ็งต้องฟังข้างเดียวนะ เอ็งห้ามพูดอะไรเลย

ฉะนั้น สิ่งที่เราพูดนี่ จิตใจเราอย่างที่ว่าเราก็เห็นแก่ศาสนา เห็นแก่ความถูกต้อง ถ้าผิดเราก็บอกว่าผิด แล้วถ้าการว่าผิด ถ้าเป็นนักปราชญ์ด้วยกัน ใครชี้ความผิดของเราได้ คนนั้นชี้ขุมทรัพย์ของเรา.. สาธุนะ ที่เขาไปหาหลวงปู่มั่น ไปหาครูบาอาจารย์กัน ก็อยากจะชี้ว่าเราถูกเราผิดไง เราอยากหาครูบาอาจารย์คอยบอกนะ “ผมทำอย่างนี้ผิดหรือเปล่าครับ ถูกหรือเปล่าครับ” เราจะได้ไม่หลง ไม่ออกนอกทาง เราจะได้ก้าวหน้า

ถ้าเป็นนักปราชญ์ “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” เป็นธรรม เป็นมงคล คนบอกความบกพร่องของเรา คนบอกความผิดพลาดของเรา เป็นมงคลอย่างยิ่ง! เทวดาอนุโมทนา จบ

อันนี้มันข้อ ๔๗๖. อันนี้เขาไม่ให้พูด เขาเขียนมาเฉยๆ ข้อ ๔๗๖.

ข้อ ๔๗๗. นะ นี่เห็นไหมถ้าการเป็นมงคล ฟังนะ คนที่เป็นมงคล เวลาปฏิบัติไปมันจะเป็นแบบนี้

ถาม : ๔๗๗. เรื่อง “จิตสงบถึงพบธรรม”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ผมฟังหลวงพ่อมานานแล้วจากเว็บไซต์ แต่เพิ่งเขียนมานี้ ผมขออนุญาตเล่าความเข้าใจในการปฏิบัติธรรม ที่ผมได้ปฏิบัติมาเป็นปกติดังนี้ครับ หากความเข้าใจของผมผิดพลาด คลาดเคลื่อน ขอให้หลวงพ่อเมตตาแนะนำ อบรมสั่งสอนผมด้วยครับ ผมขอน้อมรับท่านเป็นครูอาจารย์ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง

สมถะ คือฐานที่ตั้งของการค้นคว้าภายใน ถ้าไม่มีสมถะ ไหนเลยจิตจะนิ่ง จะสงบพอที่จะเห็นความจริงได้ ผมฝึกสมถะด้วยการสวดมนต์บ้าง นั่งสมาธิกำหนดลม รู้ลมหายใจบ้าง ตามแต่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย แต่ส่วนมากจะทำทั้งสองอย่าง การทำเช่นนี้ผมถือว่าเป็นการเรียกความรู้สึกตัว หรือการตั้งตัวให้ได้ในแต่ละวัน

สำหรับการนั่งสมาธิของผมนั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ได้นั่งเอาความสงบอะไรมาก แค่นั่งพักผ่อน นั่งตัดความฟุ้งซ่าน กำหนดลมหายใจเป็นงานหลัก ความคิดฟุ้งซ่าน ความสงบ ความลังเลใจ ความห่วงใยในงาน ในชีวิตประจำวัน ความคิดที่จรเข้ามาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมตัดมันทิ้งไป เพื่อให้ตัวเองอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับลมหายใจจริงๆ ความคิดเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เผลอเมื่อไหร่ รู้ตัวแล้วผมจะรีบตัดทันที

ด้วยผมไม่ได้เน้นเอาความสงบ ดังนั้นจิตจะสงบหรือไม่สงบนั้นไม่สำคัญ แต่เน้นที่การรู้จักหมั่นละนิวรณ์และสิ่งที่ครอบงำใจดวงนี้ เป็นการพักผ่อนไปในตัวด้วย วันหนึ่งผมทำประมาณ ๑๕ นาที รวมสวดมนต์บทพาหุงมหากา อิติปิโสฯเท่าอายุ บวกอีกหนึ่งกรณียเมตตสูตร ชินบัญชรเข้าไปด้วย

(นี่เข้าแล้วนะ) ในที่ซ่อนเร้น! ในที่ซ่อนเร้น ในสมถะภาวนานั้นมีความรู้ ในสมถะนั้นมีอยู่ ผู้ใดรู้ ผู้ใดเห็น ผู้ใดเข้าใจในนั้นอย่างถ่องแท้ ผู้นั้นก็มีโอกาสเห็นธรรมแท้เกิดขึ้นที่ใจตนได้ เวลาสวดมนต์จะเห็นความคิดจรที่แวะเวียนเข้ามาก่อกวนงานสวดมนต์ภายในเสมอ ผมก็หมั่นละตัวกวนพวกนี้ เอาเป็นงานภายใน

ส่วนในระหว่างวัน ขณะใช้ชีวิตประจำวัน ผมก็หมั่นควบคุมอารมณ์ใจของตนเองให้เป็นปกติอยู่เสมอ รู้จักระงับความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความกังวลบ่อยๆ ความโลภผมไม่ค่อยมี มีน้อย ทำงานก็เท่าที่ทำได้ หาได้ไม่คดไม่โกงใคร ไม่ปล่อยใจให้ดิ้นรนทะยานอยากมากไป เพราะมันเหนื่อยเปล่า จิตตก เป็นอกุศลเสียเปล่า ไม่ได้อะไรเลย ซึ่งผมคิดว่าจิตที่สงบและมีสติสัมปชัญญะพอ จึงใช้การได้ดีทั้งทางโลกและทางธรรม

ผมค้นพบว่า “ทำไมเราจึงต้องทำสมาธิ” คือเพื่อให้จิตมีกำลัง ต้านทานความเคยชินเดิมๆ ของเราที่ชอบไหลไปตามอำนาจของกิเลสเสมอๆ โลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง ฟุ้งซ่าน สงสัยรำคาญใจ ฝึกสมาธิก็เพื่อให้จิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวง่ายๆ เมื่อจิตเริ่มสงบพอจะทำให้เราเห็นความคิดชัดเจน ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิดมันไหลมา เรารู้ทัน

ใหม่ๆ เราไม่ทัน ปล่อยจิตเกิดอาการความคิดไป แรกๆ เราเอาไม่อยู่เลย ต่อๆ มาค่อยเอาอยู่ เอาทันมากขึ้น ตอนหลังเริ่มรู้ทันความคิดมากขึ้น เริ่มเห็นกระบวนการของความคิดที่มาหลอกล่อ ทำให้เกิดอารมณ์ตามไปมากขึ้น เข้าใจตนเองมากขึ้น ผมค้นพบว่า การเห็นตามความเป็นจริงนั้น ไม่ได้หมายความว่า การที่เรานั่งนึกย้อนหลังไปเพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผ่านมา แล้วก็สรุปเอาว่ามันเป็นความจริง เชี่ยวชาญเอาตามความเป็นจริง หรือไม่จริงตามที่เขาบอกอย่างไร

แท้จริงแล้วการเห็นตามความเป็นจริง เดิมทีเราไม่เคยรู้เท่าทันความคิด ซึ่งมาก่อกวนให้ใจเกิดอาการ ก่อให้เกิดอัตตาตัวตน เกิดอารมณ์เพราะสติเราไม่มี สมาธิก็ไม่ตั้งมั่น วันๆ ไหลตามกิเลสไปตลอด ครั้นพอเราฝึกสติละนิวรณ์ เรามีสติมากขึ้น สติเราไวขึ้นๆ เราไม่หวั่นไหวง่ายๆ

ความจริงทุกอย่างมันก็อยู่ที่ตรงหน้าของเราตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่เข้าถึงเขาเอง เราไม่รู้ไม่เห็นเอง เวลาความทุกข์ในใจก่อตัวขึ้น ก่อตัวอย่างไร เราก็ไม่เคยเห็น ครั้นพอจิตเราสงบมากขึ้น มีสติมากขึ้น สติของเราเร็วพอ ไวพอ เราก็จะเห็นมันตั้งแต่ตอนที่เริ่มสร้างปัญหา เห็นตอนจิตมันกำลังจะเกิด มันค่อยๆ เริ่มดันทะลุอกขึ้นมาได้ ปัญญามันก็เริ่มเกิด เกิดเพราะความเข้าใจกระบวนการของมันตรงนี้เอง

เมื่อก่อนครูบาอาจารย์บอกว่าเราหลง เราก็ไม่เชื่อ เถียงครูบาอาจารย์เสียด้วยซ้ำ วันหนึ่ง พอเห็นความจริงอย่างนี้แล้วก็อุทานเลยว่า “โอ้โฮ! นี่เราหลงมาตั้งนาน เรารอดมาได้อย่างนี้ มันเป็นความโชคดีแท้ๆ ที่รอดมาได้” หวาดเสียวสุดๆ เหมือนคนเพิ่งเดินผ่านจุดเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทั้งชีวิต และหลายร้อยหลายพันชาติแล้ว เพิ่งมารอดตายได้อย่างหวุดหวิดเดี๋ยวนี้

ทีนี้กราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์มากๆ แม้จะค้นพบความจริงแล้วแต่จิตก็ยังเกิดไม่ได้ มีโกรธบ้าง มีอะไรต่ออะไรบ้าง แต่มันก็ไม่ยึดติด มันปล่อยวางง่ายไม่ติดมาก แต่มีเพียงพอใจว่าจิตจะยอมปล่อยวางคลายตัวตนที่แท้จริงออกไป เสียเวลานานพอสมควร

ผมสรุปได้ว่า เมื่อจิตเราต้องการเสพในสิ่งใดๆ ควรเสพให้เต็มอิ่ม เต็มกำลังของเขาก่อน จนมีความเข้าใจ แน่ใจในความสงบตั้งมั่น เสพความเป็นปกติจนเชี่ยวชาญ รู้ทางหนีทีไล่ดีแล้ว รู้ความเป็นกลาง ความพอดิบพอดีแล้ว จึงกล้าที่จะคลายตัวออกมาสู่วิถีแห่งโลกที่แท้จริง กลับมาสู่ความเป็นปกติโดยสมบูรณ์ เรียนรู้จากความเป็นจริงในโลกนี้

สมมุติกับวิมุตติต้องเดินคู่กันไป สมมุตินั่นแหละช่วยให้วิมุตติมีความคล่องแคล่ว ถ้าสมมุติเศร้าหมอง ยังสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับผู้อื่น แม้กับตัวเองวิมุตติก็มิอาจก้าวหน้าไปได้ ก็ยังเป็นการปฏิบัติแบบลูบๆ คลำๆ เท่านั้น

เมื่อยอมรับการเรียนรู้แบบทางตรง สัมผัสแบบตรงๆ การปฏิบัติก็คือปฏิบัติให้ตลอดเวลาไม่มีวันหยุดพัก เรียนรู้และละกิเลสแบบตรงๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งการพิจารณาต่างๆ ก็เริ่มเดินเครื่องเต็มกำลังต่อไป และพร้อมเอาทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหละเป็นครูสอนเราในวันข้างหน้า

สรุป.. สุดท้ายขอสรุปว่า หากจิตไม่สงบก็ไม่อาจพบธรรมได้ครับ สาธุ! (เขาพูดนะ)

หลวงพ่อ : ฉะนั้น เหมือนกับไม่ได้ถามปัญหาอะไรเลย แต่การปฏิบัตินี่เขาดูในเว็บไซต์มานาน แล้วเขาปฏิบัติมานาน พอปฏิบัติมานานผลที่ได้นะ “ในซ่อนเร้น” เพราะถ้าจิตไม่สงบ เขาจะไม่รู้สิ่งใดเลย ในที่เขาเขียนมานี้ว่า “สมถะมีความสำคัญ” คือสมาธิมีความสำคัญไง

นี่ถ้าในซ่อนเร้น เพราะถ้าจิตมันไม่มีหลัก เห็นไหม ในซ่อนเร้นเราไม่รู้ไม่เห็น ถ้าจิตเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา เรามองแบบวิทยาศาสตร์ มองแบบสายตา แต่ถ้าพอจิตเราสงบแล้ว จิตมันมีฐานของมันนี่เรามองเห็นด้วยสายตา แต่มันมีปัญญาแยกแยะในเหตุผลนั้นไง ในสายตามองเห็นภาพๆ หนึ่ง แต่คนที่มองเห็นเขาแยกแยะได้ว่าภาพนั้นมันมาจากใด จากใด นี่คือในซ่อนเร้นไง นี้พูดถึงว่าจิตสงบนะ นี่คือประสบการณ์ของเขา

“ผมค้นพบว่าทำไมถึงต้องทำสมาธิ”

นี่เขาว่าเองว่า “ผมค้นพบ” นี้ด้วยความคิดของเราว่า ตอนที่ปฏิบัติเขาก็คิดว่าเขาปฏิบัติใช้ปัญญาไปเลย แต่พอ “ผมค้นพบการทำสมาธิ” เห็นไหม นี่เขียนมาตั้งเกือบ ๓-๔ ใบ เขียนมายาวเหยียดเลย เขียนระบายออกมาไง

“นี่ผมค้นพบว่าทำไมต้องทำสมาธิ เพราะทำสมาธิแล้ว ความเห็นที่มันเป็นสมาธิกับความเห็นที่มันเป็นสามัญสำนึกแตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นสมาธิแล้วไม่รู้จักหัดใช้ปัญญา เป็นสมาธิแล้วเมื่อไหร่ปัญญามันจะเกิด เพราะการใช้ไม่เป็น มันก็ว่าเป็นสมาธิก็คือเป็นสมาธิ เมื่อจิตพอสงบแล้วมันแยกแยะได้”

นี้เขาคิดของเขา เขาเห็นของเขา อันนี้มันเป็นการยืนยันจากการปฏิบัติ เห็นไหม นี่พอจิตมันสงบมากขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น มันปฏิบัติมานี่จิตใจมันดีขึ้น ก็เลยกลายเป็นปัจจัตตัง กลายเป็นความเห็นของตัว พอกลายเป็นความเห็นของตัว เพราะความเห็นจริงรู้จริงมันองอาจกล้าหาญ กับความเห็นจำนี่ ความเห็นที่การศึกษามา การเห็นจากการให้คนรับประกันมา การเห็นจากการที่ทุกคนยกย่อง มันก็ภูมิใจนะ แต่ใจกูมันก็งง

คนอื่นยกย่อง คนอื่นค้ำประกันนะจิตใจเราก็เหลวไหล แต่ถ้าจิตใจเราเป็นจริงนี่มันเป็นอย่างนี้ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันรู้จริงของมัน เห็นไหม ฉะนั้นมันรู้จริงของมัน แล้วสังคมเขาบอกว่า “สมถะไม่ต้องทำ สมถะไม่ต้องทำ นี่ใช้ปัญญาไปเลยๆ” ทำไมเราคิดอย่างนี้ล่ะ?

ฉะนั้น นี่พอเขาเชี่ยวชาญแล้ว ทุกอย่างให้เป็นกลางๆ นี่ไม่ใช่! จับได้แล้วต้องแยกแยะอีก มันต้องแยกแยะต้องพิจารณาไป เพราะว่าปัญญามันจะละเอียดไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แต่ที่ทำมาได้นี้ ที่ผ่านมามันก็ดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่งคือว่าเป็นการยืนยัน เป็นสันทิฏฐิโก เป็นจิตที่เวลาบอกว่า “ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำสมถะ ต้องทำความสงบของใจ”

ทุกคนจะบอกว่า “ทำไปทำไม? ทำไปทำไม? ใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาไปเลย”

ปัญญาไปเลยนี่มันเรือไม่มีหางเสือ ปัญญาเรือมันจะวนอยู่กลางทะเลอย่างนั้นแหละ มันไปไหนไม่รอดหรอก แต่ถ้ามีสติคือหางเสือ พอมีสมาธินี่มันมีใบ มีกำลัง เรือนั้นจะเข้าสู่ฝั่งได้ ถ้าเรือเข้าสู่ฝั่งมันก็จบ ถ้าเรือไม่เข้าสู่ฝั่งมันก็วนอยู่นั่นล่ะ

นี่พูดถึงเขาเขียนมาให้เห็นว่า เขาปฏิบัติแล้วเป็นอย่างใด เขียนมายืนยันในเจตนาไงว่าเจตนาเป็นอย่างใด นี่พูดถึงว่าถ้าปฏิบัติไปแล้วมันจะมีเหตุมีผล จากความเห็นอย่างหนึ่ง มันเปลี่ยนความเห็นเป็นอย่างหนึ่ง เปลี่ยนความเห็นไปเลย ความเห็นจากหยาบไปละเอียดเลย ความเห็นจากโลกเป็นธรรมไปเลย แล้วมันแยกมันแยะ มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมั่นคราดหมั่นไถ เห็นไหม

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ทำนาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย จนอนาคตเขาก็ต้องทำนาบนดินนี่แหละ”

เราทำนาบนภพ บนหัวใจของเรานี่แหละ ไถแล้วไถเล่า ไถแล้วไถเล่า ทำไปนี่มันจะละเอียดกว่านี้ มันจะรู้กว่านี้ แล้วจะซาบซึ้งกว่านี้ ถ้าไม่ซาบซึ้งกว่านี้ ดูสิเวลาหลวงตาท่านอยู่ดอยธรรมเจดีย์ เห็นไหม นี่กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า ลุกแล้วกราบ กราบแล้วลุก ลุกแล้วกราบ นั่นมันเกิดจากอะไรล่ะ?

มันเกิดจากความซาบซึ้ง มันเกิดจากความกตัญญู มันเกิดจากความเคารพรัก มันเกิดจากผู้นำ อู๋ย.. มันเกิดจากทุกๆ อย่างในหัวใจเลย นี่ก็เหมือนกัน ลองปฏิบัติๆ ไป เห็นไหม นี่เขียนมานี้เพราะอะไร เพราะใจมันสัมผัสไง นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันเกิดกับใจ เกิดจากความเป็นจริง มันไม่ใช่เกิดจากการฟัง เกิดจากการฟังเขามา

ฉะนั้น อันนี้เขาไม่ได้ถามปัญหา เป็นการยืนยันกันว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีสมถะก่อน ต้องมีสมาธิก่อน ต้องทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ถ้าใจสงบแล้วปัญญามันจะเกิด แตกต่างกับปัญญาที่เป็นสามัญสำนึก” อันนี้ถูกต้อง!

ข้อ ๔๗๘. ไม่มี

ข้อ ๔๗๙. ขอยกเลิก ข้อ ๔๗๙. เนาะ

ข้อ ๔๘๐. วันนั้นตอบโสดาบันหน้าด้านนะ วันที่เขาบอกว่าโสดาบันเป็นอย่างไร? เราบอกว่าถ้าโสดาบันจริงต้องรู้ตัว ถ้าโสดาบันไม่รู้ตัวเขาเรียกว่า “โสดาบันหน้าด้าน” เพราะเป็นโสดาบันยังไม่รู้ตัวว่าเป็นโสดาบัน ต้องให้คนรับประกันนี่เป็นโสดาบันหน้าด้าน แต่ถ้าโสดาบันจริงๆ เป็นโสดาบันรู้ตัว

ถาม : ๔๘๐. เรื่อง “ข้องใจในพระโสดาบัน”

หลวงพ่อ : ข้องใจในพระโสดาบันแล้วทำไมล่ะ? ทำไมล่ะ? คือว่าประสาเรานะอย่างที่พูดนี่ พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฝากศาสนาไว้ ทุกคนมีสิทธิในศาสนา ถ้าข้องใจก็ศึกษา ข้องใจก็ค้นคว้าสิ.. เปล่า ถ้าถามมามันเป็นธรรมเราก็นี่ ยังมีอีก เดี๋ยวโสดาบันข้างหน้ายังมีอีก เดี๋ยวจะตอบ เดี๋ยวมีโสดาบันถามเข้ามาเยอะมากเลย เพิ่งตอบไปเมื่อวันอาทิตย์นี้ โสดาบันหน้าด้าน

อันนี้โสดาบันข้องใจอย่างนี้เพราะอะไร เพราะคำถามนี้มันไม่ใช่คำถาม ดูคำถามแล้วมันไร้สาระ พระอริยบุคคลขั้นโสดาบัน เขาถาม..

ถาม : ๑. พระอริยบุคคลขั้นโสดาบัน ยังมีจิตกำหนัดอยู่ในกามราคะถูกใช่ไหมครับ ถ้าเป็นเช่นนั้น การที่พระบาลีว่าพระโสดาบันยังสามารถละสักกายทิฏฐิได้แล้ว การละสักกายทิฏฐิมีความหมายถึงการที่จิตรู้ตามความเป็นจริงว่ากายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ถูกต้องไหม แล้วเหตุใดจิตที่เห็นชัดว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายแล้ว จิตจึงยังมีกามราคะอยู่ จึงอยากทราบว่า..

(นี่ข้อที่ ๑. ข้อที่ ๒. เขาว่าไปเลย)

๓. พระโสดาบันมีความกำหนัดอยู่

๔. สงสัยในพระโสดาบัน สงสัยในการพิจารณากายโดยอสุภะ

หลวงพ่อ : พระโสดาบันพิจารณากายละสักกายทิฏฐิ กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย จิตกับกายนี้แยกออกจากกัน แต่กามราคะนี่มันอยู่ที่กายหรือ? มันอยู่ที่จิต กามราคะมันอยู่ที่จิต กามราคะไม่ได้อยู่ที่กาย

ถ้ากามราคะอยู่ที่จิต ฉะนั้น เขาบอกว่ากามราคะนี่มันยังมีกามราคะอยู่หรือ? ในเมื่อมีกามราคะอยู่ที่จิต แต่พระโสดาบันก็เป็น.. ดูสิเราเป็นผู้ที่มีมารยาท เห็นไหม มรรยาทสังคม มรรยาทผู้ดี ทำอะไรดีไม่ดีเขาก็รู้ คนมีมรรยาทเขาไม่ก้าวล่วงสิทธิ์คนอื่นหรอก ฉะนั้นพระโสดาบันต้องมีมรรยาทดีกว่าเราอีก

ฉะนั้นพระโสดาบันมีมรรยาทดีกว่าเรา กามราคะก็ส่วนกามราคะสิ แต่ที่ว่าข้อ ๒. พระโสดาบันจะทำอย่างนั้นไหม จะทำอย่างนี้ไหม ทำไมไม่ถามว่าพระโสดาบันต้องหายใจหรือเปล่าล่ะ ไม่ถามว่าพระโสดาบันต้องหายใจไหม? พระโสดาบันต้องกินข้าวไหม? พระโสดาบันต้องดื่มน้ำไหม? ไม่เห็นถาม มันสงสัยไปหมดนะ พระโสดาบันต้องถ่ายอุจจาระไหม? พระโสดาบันนี่ต้องถ่ายอุจจาระไหม? อ้าว.. เอ็งไม่ถามกูบ้างล่ะ? มาถามทำไมกามราคะ

คือประสาเรานะ ถ้าเป็นการปฏิบัติไปแล้วสงสัย เราก็ว่ามันมีเหตุผลที่ควรจะพูดกัน ไอ้นี่มันพูดนี่เหตุผลมันไม่มี เหตุผลมันไม่มี มันเป็นความสงสัยเฉยๆ ไง นี้จริงๆ นะ เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอก “หงบเอ้ย เอ็งพูดนะเอ็งต้องพูดนอก..” ท่านพูดจริงๆ นะ “เอ็งต้องพูดนอกบาลีนะ นอกพระไตรปิฎก เพราะถ้าเอ็งพูดในพระไตรปิฎกนะ เถียงกันไม่จบหรอกเพราะมันเป็นทางวิชาการ”

พูดนอกพระไตรปิฎกอย่างนี้ แสดงว่าเราพูดเรื่องเหลวไหลหรือ?

ไม่ใช่ คำว่านอกพระไตรปิฎกคือประสบการณ์จริง สิ่งที่รู้จริงเห็นจริง พูดออกมา พูดแต่สิ่งที่รู้จริงเห็นจริง แต่อ้างอิงพระไตรปิฎกเราก็อ้าง แต่ถ้าเราพูดตามพระไตรปิฎกมันก็เอาพระไตรปิฎกเป็นตัวตั้ง เหมือนพูดตามกฎหมาย เอากฎหมายเป็นตัวตั้ง แล้วเถียงกันที่กฎหมาย ไม่ได้เถียงกันที่ข้อเท็จจริง คนนี้ผิดหรือถูกไม่ได้เถียงนะ เถียงว่าผิดกฎหมายข้อไหน แต่ผิดถูกนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันผิดถูกก็พูดถึงเรื่องผิดถูก

ข้อ ๑. ท่านบอกเลย “พูดนอกพระไตรปิฎก ถ้าพูดในพระไตรปิฎกไม่จบ” นี้หลวงปู่เจี๊ยะสอนเรา

ข้อ ๒. “เวลาเอ็งจะพูดกับใครนะมันมีดเชือดไก่ มีดเชือดโค มีดเชือดช้าง”

เพราะเวลาพูดกับใคร ถ้าเขาไม่มีความจำเป็นไง อย่างเช่นโสดาบัน ใครเป็นโสดาบันล่ะ? แล้วโสดาบันอย่างไร? ถ้าเป็นโสดาบันนะ ถ้าเริ่มเป็นกัลยาณปุถุชนนะ เขาก็มีมรรยาท เขาก็มีนั่นแล้ว ไอ้นี่มันแปลกๆ อยู่

ฉะนั้น..

ถาม : ข้อ ๔. การเจริญปัญญาในการพิจารณาอุสภะ พิจารณากายกับพิจารณาอสุภะต่างกันอย่างใด

หลวงพ่อ : นี่กายนอก กายใน กายในกาย กายมันมีตั้งหลายชั้นหลายตอน การพิจารณาไป การพิจารณาอสุภะส่วนใหญ่อสุภะ การพิจารณากายเราก็เปรียบให้เป็นอสุภะได้ เราก็เปรียบให้เป็นอสุภะเพราะมันแปรสภาพ มันเป็นอสุภะ แต่มันก็คือการพิจารณากายนั่นล่ะ เพราะอะไร เพราะว่าถ้าพิจารณากายนี่มันละสักกายทิฏฐิ

พิจารณากายซ้ำ เห็นไหม สถานะกายนี้มันสู่สถานะเดิมของมัน พิจารณาอสุภะ อสุภะกับกามราคะ พิจารณาอสุภะ.. หลวงตานะท่านพิจารณาอสุภะๆ จนปล่อยวางหมดเลย พอปล่อยวางเสร็จแล้ว ทีนี้ท่านมีประสบการณ์มากนะ เวลาปฏิบัติไปแล้วกิเลสมันจะหลอกใช่ไหม

“พอปล่อยวางหมดเลยก็เป็นพระอรหันต์สิ มันไม่มีอะไรแล้ว”

แต่หลวงตาท่านมีสติปัญญา ท่านบอกว่า

“พอมันปล่อยวางหมดนี่มันปล่อยวางหายไปเฉยๆ มันไม่มีเหตุมีผล อย่างนี้ไม่เอา”

ท่านฉลาดมากนะ ท่านก็ทำจิตท่านให้สงบแล้วพิจารณาสุภะ.. อสุภะคือความเป็นของน่ารังเกียจ พึงรังเกียจ สุภะคือเป็นของรักใคร่ ของพอใจ สุภะคือสิ่งที่สวยงาม ท่านเอาสุภะ เอาสิ่งที่พอใจมาแนบไว้ที่ใจเลย เอาสิ่งที่พอใจมากแนบไว้กับจิต ท่านบอกวันแรกมันก็ยังไม่มีปัญหาเท่าไร พอวันที่ ๒ มันก็ยังเริ่มมีปฏิกิริยานะ แต่วันที่ ๓ นี่จิตขยับ คำว่าขยับคือมันพอใจไง

อย่างเช่นเราคิดรักสิ เราคิดรัก คิดชอบ คิดพอใจ หัวใจเบิกบาน หัวใจมันไปเอา พอมันไปเอามันขยับ

“อ้าว.. ไหนว่าไม่มีไง ไหนว่าพิจารณาอสุภะจนมันไม่มีอสุภะแล้วไง”

พิจารณาอสุภะส่วนพิจารณาอสุภะนะ เพราะจิตมันพิจารณาอสุภะ อสุภะอยู่ภายนอกใช่ไหม? แต่พิจารณาอสุภะจนอสุภะมันชำนาญมาก มันละเอียดมาก ท่านบอกเลยพอตั้งเป็นอสุภะปั๊บมันหายแว็บ! แว็บ! มันชำนาญไง มันลบหมดเลย ทีนี้มันลบหมดเลยมันก็ไม่เข้า.. เหมือนกับเราฉีดยา ฉีดยาแล้วมันดื้อยา มันไม่รับยา เราก็ต้องเปลี่ยนยาใช่ไหม เพราะยานี้มันดื้อยาแล้วเราก็ต้องเปลี่ยนยา

ทีนี้พอพิจารณาปั๊บหายแว็บ! หายแว็บ! เลย ท่านถึงตั้งไว้เลยนะ พิจารณาอสุภะด้วย พิจารณาสุภะด้วย ผลัดกันไปผลัดกันมาไง เดี๋ยวพิจารณาอสุภะให้มันเห็นความน่าพึงรังเกียจ แล้วพอมันรังเกียจแล้วนะพิจารณาสุภะด้วย สิ่งที่น่ารัก น่าชอบใจ

นี่ท่านพิจารณาสองด้านเลยนะ สุดท้ายท่านพิจารณาสองด้าน พิจารณาให้มันเห็นโทษ เห็นคุณของมัน แล้วมันก็มีปัญญา มันก็สะเทือนเข้ามาถึงจิตไวขึ้นๆ ถึงเข้ามาถึงจิต เห็นไหม มันไปสำรอก มันไปคลายกัน มันทำลายกันที่จิต

นี่ถ้าจิต กามราคะมันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันอยู่ที่จิต ฉะนั้นพออยู่ที่จิต พอทำลายเสร็จแล้วนะ พอทำลายหมดนะทีนี้จิตผ่องใส.. ผ่องใสคือภพ ผ่องใสคือจิต พระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้ามีจิตเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ นี่ท่านพิจารณาของท่านไป ถึงที่สุดมันชำระล้างได้หมด

ฉะนั้น โสดาบันต้องพิจารณาให้ได้ แล้วทำให้ได้ แล้วเราคุยกัน เพราะครูบาอาจารย์ท่านจะบอกแนวทาง บอกการพิจารณาปฏิบัติ ไอ้เรื่องโสดาบัน เรื่องอริยภูมิ ที่ก่อนหน้านี้เราพูด เพราะโดยสังคมเขาให้เป็นโสดาบันกันโดยแจก โดยแถม โดยการยัดเยียด โดยการจับพลัดจับผลูกันให้ แล้วคนก็หลงระเริงกัน เราถึงได้พูดออกมาว่ามันเป็นอย่างไร เลยกลายเป็นว่า “โสดาบันก็ต้องถามพระสงบนะ อานาปานสติก็ต้องถามพระสงบนะ”

ความจริงไม่ใช่ อานาปานสตินี่เขาบอกว่า “กำหนดจิต ดูจิต จนจิตลงสู่อานาปานสติแล้วมันจะเกิดปัญญาขึ้นเอง” ข้อเท็จจริงมันขัดแย้งกันโดยตรงข้ามเลย มันจะใช้ปัญญาได้ตรงที่เฉพาะอุปจารสมาธิเท่านั้น อัปปนาสมาธิมันเข้าไปลึกขนาดนั้นใช้ปัญญาไม่ได้หรอก คือว่าข้อเท็จจริงมันขัดแย้งเต็มๆ เลย มันเป็นไปไม่ได้เลย

เราเห็นอย่างนั้น เพราะว่ามันเหมือนกับมาบอกว่าเราเป็นคนตาบอด แต่เราเห็นภาพใส อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น พอเราพูดอย่างนั้นไปนี่ เพราะมีปัญหาถามเข้ามา “แล้วอัปปนาสมาธิจะเป็นอย่างไร? ทำไมต้องเป็นอัปปนาสมาธิ?”

ไม่ใช่! ไม่ใช่! เริ่มขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ นี่ขณิกะก็ฝึกใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ การฝึกใช้ปัญญา การฝึก การหัดมันทำให้สมาธิพอมันมีหลัก พอมันมีสมาธิเป็นพื้นฐาน พอเราใช้ปัญญานะมันจะสำรอก มันจะสะเทือนใจ นั่นล่ะฝึกใช้ปัญญาถูกแล้ว แต่ปัญญาอย่างนี้มันก็ฝึกหัดเพื่อให้ชำนาญ ให้มันคล่องตัวชำนาญการ

คนทำงานต้องมีความชำนาญไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าต้องไปลงอัปปนาสมาธิแล้วค่อยออกใช้ปัญญา ไม่ใช่! ไม่ใช่! อัปปนาสมาธิเป็นที่พักจิตเท่านั้น จิตลงสู่อัปปนาสมาธิทำอะไรไม่ได้หรอก ไปสู่พักจิตเท่านั้นเอง แล้วถ้าจะใช้ปัญญา ต้องคลายตัวออกมาสู่อุปจารสมาธิ เพราะคลายตัวออกมามันอุปจาระ มันออกรับรู้ได้ แต่เข้าไปอัปปนาแล้วจบ!

ฉะนั้น อัปปนาสมาธิหนึ่ง โสดาบันหนึ่ง กลายเป็นว่ามาผูกคอพระสงบหมดเลย เพียงแต่เขาเอาตรงนี้เป็นจุดขาย คนที่ปฏิบัติใครๆ ก็อยากได้โสดาบัน เขาก็เอาโสดาบันนี่มาขายกัน แล้วเราเป็นคนมาบอกว่ามันเป็นสินค้าจอมปลอม อัปปนาสมาธิก็เหมือนกัน เขาบอกว่า “ได้อัปปนาสมาธิแล้วมันจะได้สินค้าชิ้นนั้นๆ”

เราบอกว่า “ไม่ได้! จะได้สินค้านั้นต้องมีเงินทองไปแลกมา จะได้ปัญญามันต้องมีสมาธิ มีศีล สมาธิ มีสติไปแลกมา นี่สินค้าจะได้ต่อเมื่อเรามีเงินไปแลกมา”

เราออกมาพูดเพราะเหตุนี้ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิกับโสดาบันนี่กลายเป็นโจทย์ กลายเป็นเอกลักษณ์ของพระสงบเลย นี้มันไม่ใช่ เราไม่ได้พูดเรื่องอย่างนี้เลย เราไม่รับรู้อะไรเลย เขาพูดกัน เขาเอามาเป็นสินค้ากัน เขาเอามาแจกมาแถมกัน เอามาแล้วเราก็มาบอกว่ามันไม่ใช่ เรายังบอกเลย เห็นไหม ต้องไปฟ้อง สคบ. นั่นน่ะ ผู้คุ้มครองผู้บริโภคนั่นน่ะ เพราะสินค้าพวกนี้จอมปลอมทั้งนั้นเลย

ฉะนั้น พออย่างนั้นแล้วมันก็จบที่นั่นไง มันไม่ใช่ภาระของพระสงบหรอก พระสงบไม่ควรจะยุ่ง ฉะนั้นอะไรก็จะมา แหม.. โสดาบัน โสดาบันกินข้าวหรือเปล่าล่ะ? โสดาบันหายใจไหม? ถ้าหายใจก็จบเนาะ เอวัง