ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปลาคุยกับนก

๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

ปลาคุยกับนก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่มันไม่มีมาตั้งแต่ข้อ ๔๘๑. ถึงข้อ ๔๘๔. แล้วข้อ ๔๘๕. ก็ขอยกเลิกคำถาม

ข้อ ๔๘๕. ขอยกเลิกคำถาม เขาเขียนมาแล้วมันตอบช้า แล้วเขาก็เปิดเว็บไซต์ฟัง พอฟังเสร็จแล้วเขาเคลียร์หมดแล้ว เขาก็เลยยกเลิก ตอบคนอื่นไง เขาฟังของเราตอบคนอื่นแล้วเขาก็ยกเลิก

ถาม : ๔๘๖. เรื่อง “กราบขออนุญาตให้หลวงพ่อได้เมตตาเทศน์ให้กำลังใจคนป่วยด้วยค่ะ”

กราบนมัสการหลวงพ่อมาด้วยความเคารพอย่างสูง โยมขอโอกาสขออนุญาตหลวงพ่อเมตตาพิจารณาเทศน์สอนคนป่วยคนไข้ เป็นกัณฑ์เฉพาะสักหนึ่ง หรือหลายกัณฑ์เทศน์ก็ได้ค่ะ เป็นการให้กำลังใจและผ่อนคลายความทุกข์ยากของคนป่วยไข้ ได้ประโยชน์ทั้งคนป่วยและญาติของคนป่วย ป่วยคนหนึ่งก็เท่ากับป่วยทั้งบ้าน น่าสงสารค่ะ

โยมตั้งใจจะส่งให้โรงพยาบาล นำไปเปิดให้คนไข้ได้ฟัง บางโรงพยาบาลเขามีรายการเคเบิ้ลของทางโรงพยาบาลเอง มีวีดีโอทัศน์ธรรมะเปิดให้คนไข้ดูเป็นช่วง และยังมีเปิดไฟล์เสียงช่วงเช้าด้วยค่ะ ผู้ป่วยนอกก็มีโอกาสฟังด้วย โยมคิดว่าถ้าเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสฟังเทศน์ คงจะดีมากๆ ค่ะ เป็นวาสนาของเขา ขอหลวงพ่อเมตตาพิจารณาด้วยค่ะ แล้วแต่หลวงพ่อจะเมตตา

หลวงพ่อ : นี่มันเป็นคำถามไหม? มันไม่เป็นคำถามแล้ว มันไม่เป็นคำถามแล้วเขียนมา

เวลาเจตนาของคนมันคิดดีทั้งนั้นแหละ เวลาเห็นคนไข้คนป่วย เราก็อยากจะให้คนไข้คนป่วยมีกำลังใจ การฟังเทศน์ เห็นไหม เวลาคนป่วย หลวงตาท่านจะบอกว่า

“เวลาป่วยให้ป่วยคนเดียว อย่าป่วย ๒ คน คือใจก็ป่วยด้วย กายก็ป่วยด้วย”

ถ้าเวลากายมันป่วย ใจมันก็ต้องมีกำลังเข้มแข็งของมัน ทีนี้คนป่วยก็คือคนป่วยแหละ ถ้าคนป่วยเขาดื้อดึงของเขามันก็ไม่มีประโยชน์ แต่คนป่วยเวลามันจนตรอกขึ้นมา ทุกคนจะคิดถึงตัวเอง ถ้าเป็นคนป่วย หรือที่คนเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นธรรมดาที่จะหาที่พึ่ง ฉะนั้นจะเทศน์มันก็เทศน์อยู่แล้ว ฉะนั้นว่ามันจะเทศน์กี่กัณฑ์กี่กัณฑ์ มันก็อีกเรื่องหนึ่ง ไฟล์เสียงมันก็มีอยู่แล้วเทศน์เฉพาะคนป่วย

มันมีลูกศิษย์มาบอกเลยล่ะ “หลวงพ่อนะ หลวงพ่อต้องเทศน์ให้เป็นสเต็ปเลย ตั้งแต่เริ่มต้น แล้วขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ให้เทศน์มาเป็นในพรรษา นี่ให้เรียงมาเลย”

มีคนแนะนำอย่างนั้นก็เยอะ เพราะอะไร เพราะเวลาเขาคิดของเขาอย่างนั้นหรอก เวลาเขาคิดนะคิดเป็นทางวิชาการ คิดเป็นทางโลก เห็นไหม แต่ถ้าเวลาเราเทศน์มันอยู่ที่.. หลวงตาท่านบอกเลยนะ “เวลาเทศน์นี่ท่านจะกำหนดดูว่าผู้ฟังสมควรแค่ไหน” ถ้าผู้ฟังสมควรแค่นี้ใช่ไหม แค่รับรู้ได้ เพราะเวลาเทศน์ต้องการให้ผู้ฟังได้ประโยชน์

แต่เวลาเราบอกว่าเวลาเทศน์แล้วนี่ต้องให้เป็นสเต็ปไปเลยนะ ตั้งแต่เริ่มต้นจนขั้น ๑ ขั้น ๒ ขั้น ๓ ขั้น ๔ แล้วคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันก็เท่ากับพูดออกไป..

เราเคยอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “ถ้ามีคำถาม หรือคนถามปัญหาหรือผู้ฟังนี่ ถ้าจิตเขาดีนะเทศน์เราจะออกดีมาก แต่ถ้าวันไหนคนฟังไม่เท่าไรนะ ท่านบอกว่าท่านเทศน์ไม่ออก” ท่านพูดประจำ ท่านเทศน์ไม่ออก เทศน์ไม่ออก

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราพูดเราก็พูดกันไปนะว่าเราสงสารเขา ใครก็สงสาร คนเจ็บไข้ได้ป่วยก็สงสาร แต่ความพอดีใจของคนมีขนาดไหน? อันนี้อันหนึ่ง ฉะนั้น อันนี้ผ่าน

นี้มันข้อ ๔๘๗. เนาะ “กราบฝากเรียนคำถามถึงหลวงพ่อสงบด้วยความเคารพ”

อันนี้เมื่อวานพูดถึงว่าโสดาบันไปอย่างหนึ่งแล้วนะ นี่ก็อีกแล้ว

ถาม : ๔๘๗. เรื่อง “ฝากเรียนคำถามถึงหลวงพ่อด้วยความเคารพครับ”

๑. พระโสดาบันมีความหมายอย่างไรครับ ผู้ปฏิบัติจะสามารถทราบโดยปัจจัตตังได้หรืออย่างไรครับ

๒. ที่เชื่อกันว่า ปฏิบัติธรรมจนละกิเลสได้ บรรลุโสดาบันได้ จะปิดประตูอบายภูมิจริงเท็จอย่างใดครับ

๓. ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมนั้นต้องประกอบไปด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าเสมอกัน ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ขอเรียนถามว่า ถ้าหากปฏิบัติในแนวของสุกขวิปัสสนา ไม่ได้มุ่งไปที่อภิญญา วิชชา ๓ วิชชา ๘ แล้ว อารมณ์ขณะบรรลุโสดาบันจะเป็นเช่นไรครับ

๔. การยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ก้าวแรกควรปฏิบัติอย่างไรครับ

๕. ธรรมะที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับฟังพร้อมกับพราหมณ์ทั้ง ๕ แต่มีเพียงท่านเดียวที่บรรลุโสดาบัน อะไรคือข้อแตกต่างครับ

๖. การละสักกายทิฏฐิในแนวของวัดป่าคืออะไรครับ

หลวงพ่อ : นี่ถ้าพูดถึงประเด็นมันไม่มี ประเด็นมันไม่มีคือว่า เราเองปฏิบัติแล้วเราไม่ได้สงสัยอะไร คนเรานี่ เวลาคนป่วยไปหาหมอ มันต้องมีเจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอ หมอก็จะรักษาอาการนั้น ไอ้นี่ไม่ได้ป่วยนะไม่ได้ป่วย แต่บอกว่าถ้าป่วย ถ้าเป็นโรคอย่างนั้นจะรักษาอย่างใด? ถ้าเป็นโรคอย่างนี้จะรักษาอย่างใด?

แล้วพอถึงเวลาปั๊บ เห็นไหม ดูสิทางการแพทย์ เวลายามันมีพัฒนายามาเรื่อยๆ ยาจะพัฒนาไปเรื่อยๆ วิทยาศาสตร์จะเจริญไปเรื่อยๆ แล้วการรักษามันก็จะง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าพูดถึงคนเจ็บไข้ได้ป่วย พอไปหาหมอมันก็อยู่ที่รักษาตามอาการ อาการของใครเป็นอย่างไร รักษาเป็นอย่างนั้น นี่มันไม่มีอะไรเลย มันไม่มีอะไรแล้วจะรักษาอะไรกัน

เพียงแต่เป็นข้อสงสัยเฉยๆ ข้อสงสัยนี่แบบว่าเอาตำรามาถาม เอาอะไรมาถาม ธรรมดากรรมฐานเขาไม่ค่อยตอบกัน กรรมฐานนี่เขาแบบว่า “ใจสู่ใจ” เลยล่ะ ใจคนนั้นมีปัญหาอะไร ใจคนนั้นติดข้องอย่างไร เขาตอบตามนั้นเลย นี่เอาหนังสือมาถามมันเป็นเรื่องที่ว่า มันเหมือนกับเรื่องนามธรรมเกินไป จะบอกว่าเป็นเรื่องจินตนาการเลยล่ะ แล้วตอบไปแล้วมันจะได้อะไรล่ะ?

ถาม : พระโสดาบันมีความหมายว่าอย่างไร ผู้ปฏิบัติจะสามารถทราบโดยปัจจัตตังได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : นี่แล้วคำว่าปัจจัตตังก็รู้อยู่แล้ว ถ้าพูดถึงวัดป่าๆ คำว่าวัดป่า วัดป่านี่พระกรรมฐานเขาจะรู้กัน ถ้าเป็นโสดาบันมันจะรู้กัน แต่มันมีการงุบงิบ มีการงุบงิบกันว่าสำนักนี้อาจารย์รับรองคนนั้นเป็นโสดาบัน รับรองคนนี้เป็นโสดาบัน แล้วงุบงิบๆ งุบงิบกันอยู่อย่างนั้นแหละ พองุบงิบก็ไม่กล้าออกสังคมใช่ไหม แต่ถ้าเป็นพระป่า เป็นกรรมฐานนะ หลวงตานี่ ใครได้ ใครไม่ได้จะรู้กันไม่กี่คน เพราะมันเป็นภาระ

จะบอกว่านาย ก. เป็นผู้ปฏิบัติได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี นาย ก.นี่อยู่ไม่สุขแล้ว ใครๆ ก็จะไปหานาย ก. โสดาบันมึงเป็นอย่างไร? โสดาบันมึงเป็นอย่างไร? ว่าเอาโสดาบันมาโชว์หน่อย นาย ก. นี่ยุ่งเลย ถ้านาย ก. ได้โสดาบันนะ ถ้านาย ก. ได้โสดาบัน ทุกคนก็จะวิ่งพุ่งเข้าหานาย ก. เลย เพราะให้นาย ก. สอน ให้นาย ก. บอก ให้นาย ก. อธิบายโสดาบันให้ฟัง แล้วนาย ก. จะปฏิบัติต่อเนื่องขึ้นไปได้ลำบากขึ้นไหม?

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์นี่ ใครได้ ไม่ได้นะท่านจะปิดไว้ก่อน ท่านจะปิดไว้นะ อาจารย์ที่ดีนะท่านจะปิดไว้เลย รู้กันเฉพาะคนนั้นกับอาจารย์ แล้วอาจารย์จะพูดแต่เฉพาะวงใน เฉพาะวงในนะ อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะนะตอนเผาศพหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะ บอกว่า “ท่านเจี๊ยะ หลวงปู่บัวท่านกำลังทำกายวิพากษ์อย่างเข้มข้นนะ” เห็นไหม กระซิบกัน ๒ คน

เพราะอะไร เพราะหลวงปู่บัวไปถามปัญหาหลวงตา หลวงตานี่ชำนาญตรงนี้มาก แล้วทีนี้หลวงตาก็เป็น หลวงปู่เจี๊ยะก็เป็น วงการที่เขาเป็นเขากระซิบกันแค่นี้แหละ เขาบอก “นี่หลวงพ่อบัวท่านกำลังพิจารณาอสุภะ พิจารณากายอย่างเข้มข้น” รับรู้กันแค่นี้ เพราะคนมันรู้แล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นโสดาบันหรือไม่เป็นโสดาบัน ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเก็บกันภายใน เพราะว่าต้องการให้ผู้ที่ได้โสดาบันแล้วปฏิบัติต่อเนื่องขึ้นไป เห็นไหม เราได้สมบัติชั้น ๑ เราก็อยากได้สมบัติชั้นที่ ๒ อยากได้สมบัติชั้นที่ ๓ ถ้ามันเข้มข้น เข้มงวดขึ้นไป มันก็จะพัฒนาเป็นชั้นๆ ขึ้นไป

เพราะกิเลสของโสดาบัน มันก็ทำให้ปุถุชนนี่ติดขัดอยู่อย่างนั้นแหละ กิเลสของพระสกิทาคามี พระโสดาบันนี่ไม่รู้เรื่อง ก็จะติดขัดอยู่อย่างนั้นแหละ กิเลสของพระอนาคามี พระสกิทาคามีไม่รู้เรื่องเลย แล้วกิเลสของขั้นอรหัตมรรคนะ พระอนาคามีก็ไม่เข้าใจกิเลสของขั้นอรหัตมรรค ต่างฝ่ายต่างต้องดิ้นรน ต่างฝ่ายต้องพยายาม ต่างฝ่ายต้องขวนขวายขึ้นไป เพื่อพัฒนาการของเขาขึ้นไป

ฉะนั้น โดยกรรมฐาน โดยพระป่านี่.. ไม่ใช่ว่าซ่อนเร้นนะ คำว่าซ่อนเร้นก็ไม่ใช่ แต่ครูบาอาจารย์ท่านจะกันไว้เลย ท่านจะปกป้อง ท่านจะกัน ท่านจะปกป้องให้บุคคลคนนั้นมีโอกาส มีเวลาในการปฏิบัติ แต่ครูบาอาจารย์ท่านจะเข้มงวดกับพระองค์นั้นมาก ทำอะไรผิดนิดผิดหน่อยท่านจะเข้มงวดมาก เข้มงวดเพราะอะไร เข้มงวดเพราะต้องการให้จิตใจมันละเอียดขึ้นไป ให้มันพัฒนาขึ้นไป แล้วจะกันไว้เลยนะ ใครอย่าไปยุ่งกันนะ อย่าไปยุ่ง จะกันไว้ให้เลย แต่บางสำนักงุบงิบๆ ให้ค่ากันเองว่าโสดาบันๆ ก็เลยไม่รู้ว่าโสดาบันเป็นอย่างไรเลย

ฉะนั้น “พระโสดาบันมีความหมายว่าอย่างไร”

พระโสดาบันก็มีความหมายว่าเป็นพระโสดาบัน

“แล้วผู้ปฏิบัติจะสามารถรู้โดยปัจจัตตังได้ไหม”

ผู้ปฏิบัติจะรู้ก่อน อาจารย์จะรู้ทีหลัง

สามเณรของพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เห็นไหม ตามพระสารีบุตรไปนะ ตามพระสารีบุตรไปบิณฑบาต แล้วพอไปถึงกลางทางเห็นนางช่างเขากำลังดัดคันศร นี่เขาดัดคันศรให้ตรง เณรนั้นพิจารณาไปนะ เณรเห็นปั๊บก็กระทบกลับมาที่ใจ พอกระทบมาที่ใจ นี่จิตใจปัญญามันก้าวเดินแล้ว เพราะคนมีสมาธิอยู่

พอจิตใจมันพัฒนาการ บอกพระสารีบุตร ขอให้พระสารีบุตรไปบิณฑบาตเอง ถวายบาตรคืนพระสารีบุตรไป ให้พระสารีบุตรไปบิณฑบาต ตัวเองขอกลับกุฏิ รีบกลับมากุฏิเลยเพราะจิตมันเริ่มดีขึ้น พอกลับมากุฏิปั๊บ เห็นไหม พระสารีบุตรก็ไปบิณฑบาต เณรก็เริ่มพิจารณาของเณรไป

พอเริ่มพิจารณาของเณรไปนะ นี่มันเข้าด้ายเข้าเข็ม พอมันเข้าด้ายเข้าเข็ม พระสารีบุตรบิณฑบาตกลับมา คิดถึงเณรมาก เพราะพระสารีบุตรรัก เป็นสัทธิวิหาริก รักลูกศิษย์มาก ก็เป็นห่วงว่าเณรนี้จะไม่ได้กินข้าว ก็จะพยายามเอาข้าวไปให้เณรได้ฉันข้าว พระพุทธเจ้ามาดักไว้ข้างหน้าเลย พระพุทธเจ้ามาดักไว้เลยนะ

“สารีบุตรเธอจะไปไหน สารีบุตรนี่ธรรมะข้อนี้แปลว่าอะไร สารีบุตร..”

ดึงพระสารีบุตรไว้ ดึงพระสารีบุตรไว้นะ แล้วให้เณรพิจารณาไป นี่ตะวันมันจะใกล้เที่ยงนะก็รั้งตะวันไว้ พอถึงเวลา พอเณรพิจารณาจนสำเร็จบรรลุเป็นพระอรหันต์ เห็นไหม พอเป็นพระอรหันต์ปั๊บ “อ้าว.. สารีบุตรเธอไปได้แล้ว” นี่พอไปได้แล้วเอาอาหารไปถวายเณร พอเณรฉันเสร็จนะตะวันไปแล้ว

กรณีอย่างนี้ กรณีที่ว่าเราปัจจัตตังต้องรู้ก่อนไหม? รู้ ผู้ที่ปฏิบัตินี่รู้ แต่เพราะเณรมีอำนาจวาสนา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธวิสัย นี่พุทธกิจ ๕ เวลาเล็งญาณรู้ อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมบูรณ์รอบคอบมาก

ฉะนั้น เวลาเณรจะเข้าด้ายเข้าเข็ม เณรนี่เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เณรนี่เป็นผู้ที่จะบรรลุธรรม แต่โอกาส! โอกาสถ้าว่าพระสารีบุตร เห็นไหม ขนาดปัญญาของพระสารีบุตร ด้วยความเป็นห่วงเณรนะ ต้องการให้เณรได้ฉันอาหาร เอาอาหารเข้าไปให้เณรฉันนะ เณรก็ต้องหยุดมาฉันอาหาร พระอรหันต์ยังไม่ได้เป็นนะ โอกาสจะเป็นพระอรหันต์ยังไม่ได้นะ ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันพระสารีบุตรไว้ก่อน ให้เณรทำงานจนจบก่อน พอเณรทำจนจบก่อนแล้ว พอสำเร็จแล้วนะ อย่างอื่นไม่มีค่าแล้ว

นี่พูดถึงว่าปัจจัตตัง ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้เอง พอปฏิบัติเข้าใจแล้วเราถึงไปหาครูบาอาจารย์ ถึงไปเล่าสู่ให้ครูบาอาจารย์ฟังว่าถูกหรือผิดไง บางทีเราเข้าใจผิด บางคนปฏิบัติ ๒-๓ ทีว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ไปหาครูบาอาจารย์ พูดขนาดไหนก็จะเถียง ก็จะนั่นล่ะ

นี่เราสำคัญผิดไปเอง แล้วพอเราสำคัญผิดไปเองจะให้คนอื่นรับรอง เราสำคัญผิดแล้วใช่ไหม? มันจะถูกได้อย่างไร? เราสำคัญผิดแล้วจะให้คนอื่นว่าถูก มีพระอรหันต์สมัยพุทธกาล เห็นไหม นี่เข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์เต็มเลย แล้วจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะไปรายงานพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าให้พระไปดักไว้ข้างหน้า

“ไม่ต้องเข้ามา ให้เข้าป่าช้าไปเลย ให้เข้าป่าช้าไปเลย”

จะมารายงานพระพุทธเจ้าว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ พอพระพุทธเจ้าให้พระไปดักหน้าไว้บอกว่าไม่ต้องไปหาพระพุทธเจ้านะ ให้เข้าไปป่าช้าก่อน พอเข้าไปป่าช้าไปเห็นซากศพเท่านั้นแหละ พระอรหันต์ใจวูบวาบหมดเลย ตัวเองรู้ว่าไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ มันไม่เป็นตั้งแต่ตัวนั่นแหละ มันไม่เป็นตั้งแต่เป็นพระอรหันต์ ความสำคัญตนไง แต่ความจริงมันไม่เป็น

ถ้าความจริงมันเป็นแล้วนี่ ความจริงมันเป็นที่ใจดวงนั้น นี่ไงปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ปัจจัตตังเป็นจริงๆ คนๆ นั้นต้องเป็นก่อน อาจารย์รับรู้ทีหลัง ยกเว้นแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ ดูสิดูพระสารีบุตร เห็นไหม จะเอาข้าวเข้าไปให้เณร ถ้าเข้าไป เณรนั้นไม่ได้เป็นพระอรหันต์นะ กินข้าวมื้อนั้นแล้วก็ยังจะทุกข์ต่อไป ยังต้องสมบุกสมบันต่อไป พระพุทธเจ้าไปกันเอาไว้เลย กันไม่ให้พระสารีบุตรเข้าไปก่อน ให้เณรทำงานให้เสร็จก่อน พอเสร็จแล้วค่อยปล่อยเข้าไป

นี่มันเป็นจากผู้นั้น เป็นจากใจดวงนั้น ฉะนั้นว่าพระโสดาบันจะเป็นอย่างไร?

“ก็เป็นแบบพระโสดาบันนั่นล่ะ”

“แล้วเป็นอย่างไรล่ะ?”

“ก็เป็นที่รู้จริงนั่นล่ะ”

คำถามมันสองแง่สามง่ามไง จะให้เราไปอย่างไรก็ไม่รู้

ถาม : ข้อ ๒. ที่เชื่อกันว่าปฏิบัติธรรมจนละกิเลสแล้วบรรลุโสดาบันได้จะปิดอบายภูมิ

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นพระโสดาบันเขารู้หมดแหละ ถ้าปิดไม่ปิดนี่ จะปิดหรือไม่ปิดแล้วใครจะมาบอกล่ะ? ปิดไม่ปิดใครเป็นคนปิดล่ะ? เพราะว่าวัฏฏะ นี่มันเป็นผลของวัฏฏะ ตามเวรตามกรรม ใครจะปิดล่ะ? แต่ถ้าอริยภูมิมันสติพร้อม ถ้าสติพร้อมมันจะไปไหนมันรู้หมดแหละ มันไม่ไปหรอก

ฉะนั้นมาที่ข้อ ๓.

ถาม : ข้อ ๓. การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมนั้น ต้องประกอบไปด้วยโพธิปักขิยธรรม

หลวงพ่อ : อินทรีย์ นี่พูดถึงข้างบนมันเป็นอินทรีย์ มันเป็นเขาว่ากันไปหมดแหละ ฉะนั้น พูดถึงเนี่ย..

ถาม : ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ขอเรียนถามว่า การปฏิบัติแนวทางของสุกขวิปัสสนา ไม่ใช่มุ่งอภิญญา วิชชา ๓ วิชชา ๘ แล้วนั้น อารมณ์บรรลุโสดาบันจะเป็นเช่นไรครับ

หลวงพ่อ : โสดาบันมันก็เป็นโสดาบัน! จะวิชชา ๓ จะอภิญญาหรือไม่อภิญญานี่มันเป็นที่มา ถ้าอย่างสุกขวิปัสสโก เห็นไหม ใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาเข้าไปนี่มันสรุปเหมือนกันหมดแหละ พอมันสรุปไปแล้วนี่ สมุจเฉทปหานมันก็เป็นโสดาบัน

เจโตวิมุตติ ทำสมาธิมาได้อภิญญา ได้วิชชา ๓ ได้วิชชา ๘ ก็แล้วแต่ วิชชา ๓ วิชชา ๘ มันก็ไม่ใช่วิชาแก้กิเลสทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าพอมีสัมมาสมาธิขึ้นมา พอมันลงเข้าไปแล้วมันก็ลงอันเดียวกันนั่นล่ะ ลงอันเดียวกันหมายถึงว่ามรรคสามัคคี

มรรคญาณ มรรคสามัคคี มรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบนี่มันรวมตัวอย่างไร? ถ้ามันรวมตัว นั่นล่ะคือโสดาบัน ถ้ามันไม่รวมตัว ไม่ชำระกิเลส โสดาบันมาจากไหน? โสดาบันมันมาจากปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญารวมตัวลง จะโดยสุกขวิปัสสนา จะเตวิชโช จะอะไรก็แล้วแต่ พอมันลง ถ้ามันลงพูดทีเดียวเขาก็รู้

โสดาบันก็คือโสดาบัน แต่ที่มาไง ที่มาว่าถ้าเป็นโสดาบันแล้ว เห็นไหม เอกพีชี เป็นโสดาบันแล้วบรรลุเลย โสดาบัน ๗ ชาตินั่นอีกเรื่องหนึ่ง.. อันนั้นโสดาบันก็คือโสดาบัน แต่ตอนกิเลสขาดอันเดียวกัน

ถาม : อารมณ์มันเป็นแบบใด อารมณ์ของบรรลุธรรมนี่โสดาบันเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) โอ้โฮ.. อันนี้อีกเรื่องหนึ่งเนาะ พูดไปนี่มันหลายเรื่องนะ ทีนี้ที่ว่าข้อ ๔.

ถาม : ข้อ ๔. ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ก้าวแรกควรปฏิบัติอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : โดยสามัญสำนึก โดยใช้ปัญญากันนี่เขาเรียก “โลกียปัญญา” ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ปัญญาขนาดไหนแล้ว มันจะละเอียดเข้ามามันก็เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิ ปัญญาที่ทำให้เป็นสมาธิเนี่ย..

สมาธิคือจิต จิตทำความสงบบ่อยๆ จนเป็นสมาธิ ทำจิตสงบบ่อยๆ จนจิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น เพราะจิตตั้งมั่นด้วยปัญญานั่นแหละ แล้วถ้าปัญญามันพิจารณาของมันใช่ไหม พอเวลามันตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว เวลาพิจารณาอีก พิจารณาอีก.. การพิจารณาอีกนั่นแหละ จะทำให้มีสมาธิมากขึ้น นี่วิปัสสนามันจะรู้ของมัน รู้ทันทีเลย แล้วพอมันมีปัญญาขึ้น ละเอียดขึ้น ทุกอย่างขึ้น มันก็เป็นไป

นี้เพียงแต่ถ้าพอมันสงบขึ้นมา ความหลงผิด.. นี่ความดำริชอบ ถ้าดำริชอบนะ ถ้ามันถูกต้องใช่ไหม พอมันพิจารณาไปแล้วมันจะละเอียดเข้าไป ความดำริชอบมันชอบขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ทีนี้มันมีความหลงผิดไง ความหลงผิดว่าพอใช้ปัญญาไปแล้ว พอมันว่างๆ ขึ้นมา ทุกอย่างพอใช้ปัญญาแล้ว พอมันปล่อยแล้ว ทุกคนว่านั่นคือวิปัสสนา

นี่มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นวิปัสสนา มันเป็นปัญญา แต่ถ้าจิตสงบนั้นเป็นสมถะ มันจะไม่มีปัญญา.. เพราะมันไม่มีสมาธิ มันไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะว่ามรรค ๘ มันไม่สมบูรณ์ มรรค ๘ เห็นไหม มรรค ๘ มรรคสามัคคี สมาธิชอบ สติชอบ ถ้าไม่มีสมาธิชอบ มรรคมันจะสามัคคีได้อย่างไร?

เงิน ๑ บาทประกอบไปด้วย ๑๐๐ สตางค์ นี่ ๑๐๐ สตางค์นะ ๑๐๐ สตางค์เป็น ๑ บาท แล้วถ้ามันไม่ครบ ๑๐๐ สตางค์มันจะเป็น ๑ บาทได้อย่างไรล่ะ? มันได้กี่สตางค์ล่ะ? มันไม่ครบ ๑๐๐ สตางค์ มันก็ไม่ใช่ ๑ บาท มันไม่ครบมรรค ๘ มันก็ไม่มรรคสามัคคีไม่ได้ แล้วบอกว่านู่นไม่จำเป็น นี่ไม่จำเป็น นี่ไม่สำคัญ เดี๋ยวมันจะเกิดเอง มันเกิดเอง.. มันเป็นไปไม่ได้หรอก

นี้การยกจิตสู่วิปัสสนา.. การยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เวลาสอนกัน เห็นไหม ต้องทำความสงบของใจก่อน ทำความสงบของใจก่อน ใจสงบมันก็ฝึกปัญญามาเรื่อยๆ แต่ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนา เพราะจิตบางประเภท พอจิตสงบแล้วมันก็สงบเลย สงบเฉยๆ จิตบางประเภทพอมันสงบแล้วมันออกรู้ มันก็ง่ายขึ้น

จิตบางประเภทไง เพราะจิตมันไม่เหมือนกัน ประเภทของจิต จิตมันแตกต่างหลากหลายกัน อำนาจวาสนาของคน การฝึกฝนมา การสะสมมาของบุญแต่ละคนมันไม่เท่ากัน พอไม่เท่ากันมันอยู่ที่ครูบาอาจารย์จะสอนว่าจิตดวงนี้

จิตบางดวง พอจิตสงบมันจะเห็นนิมิตใช่ไหม บางดวงสงบเฉยๆ บางดวงพยายามทำแล้วทำอีกมันก็ไม่สงบสักที นี่มันทำอย่างใด? แต่เราก็พยายามทำกันเพื่อให้จิตสงบ เพราะเราต้องการอริยทรัพย์ ทรัพย์ทางโลกนี้เราก็ทำของเราอยู่ เราทำของเราอยู่แล้ว แต่อริยทรัพย์เราก็พยายามขวนขวายของเรา

มันก็อยู่ตรงนี้ไง ตรงที่ว่าอย่างพระโพธิสัตว์ เห็นไหม พระพุทธเจ้าต้อง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เขาบอกว่าพระอรหันต์ต้องแสนกัป นี่ไง ทีนี้พอแสนกัปมันก็เหมือนกับผลไม้ เราเลี้ยงบำรุงจนผลไม้นี้แก่ พอเด็ดมาหรือเอามาบ่มมันก็สุกใช่ไหม ถ้าผลไม้มันอ่อน แสนกัปนี่ไง แสนกัปคือจิตนี้มันบ่มเพาะมา พอบ่มเพาะมามันยังไม่แก่ พอไม่แก่นี่ทำอะไรไม่ได้

ทำอะไรไม่ได้หมายความว่าอะไร? หมายความว่ามันขี้เกียจ หมายความว่ามันไม่อยากทำ หมายความว่ามันบอกว่ามรรค ผล ไม่มี เห็นไหม เพราะมันไม่เชื่อ มันไม่เข้มแข็ง มันไม่มีกำลังของมัน แต่ถ้ามันบ่มเพาะ เราเกิดตายๆ เราทำคุณงามความดีมานะ

นี่ในพระไตรปิฎก ในอภิธรรมบอกว่า “พระอรหันต์ต้องสร้างบุญญาธิการมาแสนกัป” แสนกัป ต้องสร้างมาแสนกัป พอแสนกัปขึ้นมา พอบ่มเพาะมันจนผลไม้มันแก่ เห็นไหม พอผลไม้มันแก่ มันหลุดจากขั้วมันก็จะสุกอยู่แล้ว ยิ่งเอาไปบ่ม อู๋ย.. สุกทันทีเลย บางทีมันสุกคาต้นเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามีอำนาจวาสนา นี่ไงว่าจิตมันไม่เหมือนกัน พอจิตไม่เหมือนกัน จิตใจที่เข้มแข็ง จิตใจที่ได้บ่มเพาะมาดี พอจิตมันสงบนี่มันออก มันรู้ เห็นไหม คือถ้าจิตใจคนดี จิตใจคนสร้างบุญกุศลมา มันเหมือนมีสะพานเลย มีแต่คนชักนำไป มีแต่คนดึงไปที่ดีทั้งนั้นแหละ

คนคืออะไร? คนคือปัญญาไง คนคือสติปัญญา มันจะดึงจิตไปในที่ดีทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคนมันอ่อนแอ จิตใจมันไม่มีความเข้มแข็ง จิตใจมันสร้างบุญมาน้อยนะ มันมีแต่กิเลสจะดึงไปไง บอกว่า “นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ได้ พระขี้โม้ พระโกหกกันทั้งวัน คนสอนก็ทำให้มันลำบากเปล่า ปฏิบัติแล้วก็ไม่เห็นได้อะไรเลย”

เพราะต้นทุนเป็นแบบนี้ ต้นทุนมันบกพร่องอยู่แล้ว แล้วพอต้นทุนมันบกพร่องมันจะทำให้เต็มได้ไหม? มันยากนะ แต่ต้นทุนของผู้ที่บุญกุศลมันล้นเหลือ มันเหมือนกับน้ำเต็มแก้ว เติมเท่าไรมันก็จะล้นออกไป มันมีแต่สิ่งดีๆ ทั้งนั้นแหละ มันคิดแต่แง่ดี ทำแต่แง่ดี นี่คืออำนาจวาสนา

นี่ไง เราจะพูดเรื่องอำนาจวาสนา ย้อนกลับมาที่ “ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาไง” ถ้าจิตมันมีอำนาจวาสนามาก มันทำได้ง่าย มันทำได้ง่ายคือว่าโอกาสมันมี สิ่งแวดล้อมนี่มันจะชักนำไปทั้งหมดเลย แต่ถ้าโอกาสมันไม่มี เราตั้งใจ นี่เราตั้งใจ เราอยากปฏิบัติ เราอยากจะวิปัสสนา แต่จับพลัดจับผลู จับผิดจับถูก ล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ นั้นมันเป็นเพราะอะไรล่ะ?

มันจะเป็นเพราะอะไรก็แล้วแต่นะ ในครูบาอาจารย์ของเราบอกว่าให้เข้มแข็ง สิ่งใดที่มันผ่านมาแล้วมันเป็นอดีต ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้เราต้องเข้มแข็ง เราต้องพยายามของเรา ถ้าเราเข้มแข็ง เราพยายามของเรา ทีนี้เพียงแต่ถ้าจิตใจมันอ่อนแอ พอฟังใครว่าอย่างนั้นมันก็ไหลไปตามเขาหมดแหละ

ฉะนั้น “จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาอย่างไร”

มันก็อยู่เฉพาะ.. เขาเรียกว่าอะไรนะ “ต้องตัวต่อตัว” ครูบาอาจารย์จะชี้นำเดี๋ยวนั้น เดี๋ยวนั้น มันไม่มีสูตรสำเร็จ สูตรสำเร็จมันไม่มี

ถาม : ข้อ ๕. ธรรมะที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับฟังพร้อมกับพราหมณ์ทั้ง ๕ แต่มีเพียงท่านเดียวที่บรรลุโสดาบัน อะไรคือข้อแตกต่างครับ

หลวงพ่อ : มีข้อแตกต่างก็ตรงนี้ไง ถ้าข้อแตกต่างก็อย่างที่พูดนี่แหละ ข้อแตกต่าง เพราะถ้าบรรลุธรรมทีเดียวทั้ง ๕ องค์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เห็นไหม มีพระพุทธกับพระธรรม เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะพอฟังเทศน์ธรรมจักรนี่เป็นพระโสดาบัน เห็นไหม สงฆ์องค์แรกของโลก

ฉะนั้น ทั้ง ๕ องค์นี่นะ ถ้าบรรลุธรรมในที่นั่งในอาสนะเดียว แต่ก็ต่างเวลากัน อย่างเช่นเวลาพระเราบวช เห็นไหม พระเราบวช ๒ องค์ เวลาบวชพร้อมกัน เวลาสวดญัตติฯ องค์ไหนเป็นพี่ องค์ไหนเป็นน้อง องค์ด้านขวาถ้าบวชก่อน บวชพร้อมกัน แต่สวดเสร็จก่อน องค์นี้เสร็จนั่งลง เวลาเขาเขียนในใบสุทธินะ เหมือนกับคลอดเลย ตกฟากเมื่อไหร่?

นี่ก็เหมือนกัน สำเร็จเมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกา ๕ นาที อีกองค์หนึ่ง สำเร็จเมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกา ๕๐ นาที องค์หนึ่งเป็นพี่ องค์หนึ่งเป็นน้อง อาวุโส ภันเตมันต่างกัน ถ้า ๕ องค์สำเร็จนะ มันจะพร้อมกันมันไม่มี ฉะนั้น เพียงแต่ว่าเวลาพระอัญญาโกณฑัญญะฟังแล้ว เห็นไหม เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก! เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก!

ฉะนั้นมันก็นี่แหละ อยู่ที่วาสนาที่สร้างมาแตกต่างกัน แต่ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ปัญจวัคคีย์สร้างบุญญาธิการมามาก มามากเพราะว่าอะไร เพราะว่าสหชาติ เกิดร่วมกับพระพุทธเจ้า แล้วได้ฟังธรรม แล้วได้ปฏิบัติ นี่คือสหชาตินะ พวกเรานี้ได้แต่ธรรมวินัย คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ แล้ววางไว้

ถาม : ข้อ ๖. การละสักกายทิฏฐิ ตามแนวทางของวัดป่าคืออะไรครับ

หลวงพ่อ : การละสักกายทิฏฐิมันเป็นสากล ไม่มีวัดป่า วัดบ้าน ไม่มีอะไรทั้งสิ้น การละสักกายทิฏฐิก็คือการละสักกายทิฏฐิ พระป่าไปครอบงำอริยสัจไม่ได้หรอก อริยสัจก็คืออริยสัจ วัดป่า วัดบ้าน วัดอะไร มันจะไปครอบงำอริยสัจไม่ได้หรอก

“อริยสัจคือความจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

ดูสิดูนางวิสาขา ดูโยมที่เขาปฏิบัติ เขาเป็นพระโสดาบัน เขาเป็นแนววัดป่าหรือวัดบ้านล่ะ? เขาก็เป็นพระโสดาบันของเขา เขาเป็นด้วยอริยสัจ เขาเป็นด้วยมรรค ฉะนั้น เพียงแต่ว่าคำว่าวัดป่าๆ เพราะครูบาอาจารย์ท่านวางข้อวัตรไว้แล้วเราปฏิบัติ นี่วัดป่า

วัดป่ามันก็เหมือนกับวิปัสสนาธุระ ว่าอย่างนั้นเถอะ วัดบ้านก็คือคันถธุระ คือการศึกษาธรรมและวินัย คือการศึกษาฝ่ายการปกครองใช่ไหม แต่วัดป่าเราไม่ได้ศึกษาธรรมวินัย ศึกษาบาลีจนแบบว่าศึกษาพระไตรปิฎกทั้งเล่มทั้งตู้ แต่ปฏิบัติเลย วัดป่าคือวิปัสสนาธุระ คือปฏิบัตินำ แล้วพอปฏิบัติถ้ารู้แล้วจะเข้าใจไปพร้อมกันๆ

ฉะนั้น การละสักกายทิฏฐิมันก็คือการละโดยมรรคญาณ ละโดยสัจจะความจริง มันจะบอกว่าวัดป่าต้องละอย่างนั้น วัดบ้านต้องละอย่างนี้ คนนู้นต้องละอย่างนี้ มันไม่ใช่หรอก ใครก็แล้วแต่มันต้องละด้วยอริยสัจ ด้วยข้อเท็จจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นหรอก จะเป็นแนวทางไหน จะอยู่ที่ไหน จะวัดบ้าน วัดป่า วัดไหนก็แล้วแต่ ถ้าปฏิบัติละสักกายทิฏฐิก็คือละสักกายทิฏฐิ ละสักกายทิฏฐิแล้วละอย่างไรล่ะ? ละอย่างไร?

มันเป็นเรื่องนามธรรมนะ แต่ผู้รู้จริงมี หลวงตาท่านพูดบ่อย “ผู้รู้จริงเขามีนะ” ผู้รู้จริงเขารู้หมดแหละ อ้าปากก็รู้แล้ว พออ้าก็เห็นลิ้นไก่แล้ว ลิ้นไก่มันปิดหมดแหละ แต่ถ้าความจริงมันมี ทีเดียวเลย ละสักกายทิฏฐิก็คือการละสักกายทิฏฐิ ละด้วยมรรคญาณ มรรคมันเป็นอย่างไรล่ะ? มรรคมันเป็นของมัน

การถามนี้มันถามหลายๆ อย่างแปลกอยู่ เพียงแต่ว่าถ้าจะไม่ตอบเลย มันก็เหมือนกับว่าเที่ยวติเขา เวลามีปัญหาขึ้นมาไม่เคลียร์ ไม่ตอบ นี่ตอบให้ แต่ตอบให้ด้วยพอสมควร จะลงรายละเอียดไปมันไม่ใช่เรื่องหรอก ฉะนั้น กรณีที่ว่าอัปปนาสมาธิกับโสดาบัน จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย เพียงแต่สังคมเขาเอาไปตื่นเต้นกัน แล้วก็งุบงิบๆ กันไง เราก็เพียงแต่มาพูดว่าจริงหรือไม่จริงเท่านั้นแหละ ฉะนั้น กรณีนี้จบ

ทีนี้อันนี้ยาวเนาะ

ถาม : ๔๘๙. เรื่อง “ก้าวหน้าไหมครับแบบนี้ หรือผิดถูก กราบเรียนให้ตอบแรงๆ ด้วย”

หลวงพ่อ : เขาเขียนยาวมาก เขาบอกว่าเขาฟังธรรม เขาฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วจากความเข้าใจผิดพุทโธ เขาบอกพอปฏิบัติไปแล้วเขาจะรู้อะไรของเขา พอกระทบสิ่งต่างๆ มันมีความรู้สึกตัว มีอะไรต่างๆ

ถาม : ถ้ายังมีพุทโธก็ยังไม่ใช่ ยังไม่ถึง ทำต่อ ทีนี้พอเกิดอย่างหนึ่งขึ้นครับ คือเกิดความรู้สึกมันเหมือนอยู่ข้างหน้า แกว่งเบาๆ คืออารมณ์ความรู้สึกของเขานี่

หลวงพ่อ : คำถามของเขาคือเขาเคยมาถาม เขาบอกว่าเขากำหนดพุทโธชัดๆ ตามที่หลวงพ่อบอกนี่ดีมากๆ เลย ดีมากๆ เสร็จแล้วมันมีความสุขมาก เพราะจิตมันเกิดปีติ แล้วพอปฏิบัติครั้งต่อๆ ไป แบบว่ามันไม่มีความสุขเหมือนเดิม แล้วเขาก็มาถามว่า “ทำไมมันไม่เหมือนเดิม ทำไมมันไม่เหมือนเดิมไง”

เราบอกเหมือนเดิม.. เหมือนเดิม เพียงแต่คนเรานี่เคยสัมผัสแล้ว มันก็เริ่มให้ความสำคัญน้อยลงๆ เขาไม่ค่อยเชื่อ แต่นี่เขาพยายามจะบอกว่าเชื่อแล้วๆ เพราะเขาบอกว่า..

“มันยังมีอยู่ แต่ทั้งหมดยอมรับครับว่าผมจะไม่ถามเรื่องปีติอีกแล้ว มันเต็มๆ แล้วว่ามันอยู่ที่ไหน มันมีและมันดับไป พอมันดับมันก็อย่างนั้นอีก”

ถาม : หลวงพ่อครับ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับผมนี้ จริงๆ ถูกหรือผิดครับ ไม่ทราบจริงๆ ว่าดำเนินมาดี แต่พยายามนึกคำบริกรรมให้มีลมชัดๆ พอชี้แจงได้ว่าที่ทำมาถูกหรือผิดครับ

หลวงพ่อ : มันเป็นปัญหาที่ใช้ได้ ถ้ามันถูกแล้วมันถูกของมันแหละ มันถูกของมันอยู่แล้ว ถ้ามันถูกมันปฏิบัติของมันไป มันปฏิบัติของมันไปนะ ปีติก็คือปีติ

ข้อ ๔๙๐. เนาะ เรื่อง “การปฏิบัติ” อีกแหละ

ถาม : ๑. สมถะต่างจากวิปัสสนาอย่างไรครับ

๒. เคยได้ยินคำว่าเจโตวิมุตติ กับปัญญาวิมุตติ แตกต่างกันอย่างไรครับ

๓. การที่ผู้ปฏิบัติอัฐิกลายเป็นพระธาตุ เป็นเครื่องยืนยัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรือไม่ครับ ท่านเหล่านั้นบรรลุธรรมระดับอรหันต์แล้ว มีวิธีพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นหรือไม่อย่างไรครับ

๔. เคยได้ยินหลวงปู่เทสก์สอนเรื่องเอกัคคตารมณ์ จิตรวมใหญ่ สมาธิขั้นนี้ถึงขั้นรูปฌาน ๔ หรือยังครับ

๕. ปฏิบัติสมาธิขั้นสมถะ เมื่อจิตสงบ จิตรวมแล้ว จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาต้องทำอย่างไรครับ

๖. อสุภะหรือกายคตาสติ เป็นขั้นสมถะหรือขั้นวิปัสสนาครับ

๗. อาการของปีติที่เคยเกิดคือน้ำตาจะไหลบ้าง ตัวสั่นโคลงไปทั้งตัวบ้าง ตัวใหญ่ กายใหญ่บ้าง หรือบางทีสวดมนต์แล้วเห็นยักษ์ในนิมิตบ้าง แบบนี้เป็นนิมิตที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติ หรือบางทีเห็นแสงสว่างในกายของผู้อื่นไม่เท่ากันบ้าง บางคนสว่างมากจะเห็นชัด คนที่เข้าวัดบ่อยๆ บางคนสว่างน้อย คนที่ไม่เคยนั่งสมาธิเลย หรือบางครั้งเห็นตัวเองเป็นเพียงโครงกระดูกเดินไประหว่างเดินจงกรม จิตมันปล่อยวางกาย เห็นว่ามันเกิดขึ้นชั่วคราว แล้วมันก็ดับไป ผลของสมาธิแบบนี้จะน้อมไปสู่วิปัสสนาญาณได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : “ข้อ ๑. สมถะกับวิปัสสนา แตกต่างอย่างไรครับ”

พูดถึงชื่อของมัน หรือคุณสมบัติของมัน สมถะคือสมถะ วิปัสสนาคือวิปัสสนา แต่! แต่ขณะคนที่ปฏิบัติ ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ

ในสมถะมีวิปัสสนา สมถะคือความสงบของใจ แต่มีปัญญาคือวิปัสสนา ในวิปัสสนาคือต้องการใช้ปัญญา แต่มีสมาธิคือมีสมถะ ๒ อย่างนี้มันจะส่งต่อกัน การส่งต่อกัน ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ

ถ้าคนเริ่มปฏิบัติก้าวเดินไป เพราะเวลาวิปัสสนาไปแล้ว พอจิตมันพิจารณาไปแล้วมันเสื่อม มันเสื่อมคือกำลังมันไม่พอ เราก็ต้องกลับมาทำสมถะ กลับมาทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ พอมันมีความสงบของใจแล้วเราก็ยกขึ้นวิปัสสนา คือใช้ปัญญาไป นี่ถ้าเป็นสมถะอย่างเดียว ก็มีแต่กำลังอย่างเดียว ถ้าใช้ปัญญาอย่างเดียว ก็มีปัญญาอย่างเดียวไม่มีกำลัง

ฉะนั้น เวลาก้าวเดินไปแล้ว ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ แต่! แต่คำว่าสมถะกับวิปัสสนา สมถะคือสมถะ สมถะคือความสงบของใจ วิปัสสนาคือการใช้ปัญญา มันแตกต่างกัน แต่มันใช้เกี่ยวเนื่องกันไป ทีนี้มันเกี่ยวเนื่องกันไป เวลาคนพัฒนาไปแล้วมันจะเกี่ยวเนื่องของมันไป

ถ้าเกี่ยวเนื่องไป นี่ตรงนี้ถึงบอกว่าทำงานเป็นแล้ว เรื่องนี้จบ แต่ถ้าทำงานไม่เป็น เราก็จะเอาวิปัสสนามาไว้ตรงนี้.. น้ำร้อนกับน้ำเย็น น้ำร้อนก็มาจากน้ำเย็นนั่นแหละ น้ำเย็นเวลาต้มแล้วมันก็ร้อน เวลาตั้งไว้น้ำร้อนมันก็กลับมาเป็นน้ำเย็น นี่มันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันอยู่ที่ไฟไง อยู่ที่กำลังไฟ อยู่ที่อุณหภูมิ

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันพัฒนาไปแล้วมันจะรู้ของมัน แล้วสมถะคืออะไร? แล้วสมถะวิปัสสนาคืออะไรล่ะ? นี่โดยชื่อ โดยสถานะ สมถะคือสมถะ วิปัสสนาคือวิปัสสนา แต่เวลาก้าวเดิน เวลาใช้ไปแล้วมันเกี่ยวเนื่องกันไป

โฮ้.. จะให้อธิบายให้มันเป็นแร่ธาตุเลยนะ แบ่งกันเลยว่าหินเป็นหิน น้ำเป็นน้ำ แหม.. ไอ้นี่มันเป็นความรู้สึกคนนะ

ถาม : ข้อ ๒. เคยได้ยินคำว่าเจโตวิมุตติ กับปัญญาวิมุตติ แตกต่างกันอย่างไร

หลวงพ่อ : เจโตวิมุตติ ส่วนใหญ่แล้วเจโตวิมุตติคือบรรลุธรรมทางสมาธิ สมาธินำ คำว่าจิตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติ บรรลุโดยใช้ปัญญานำ นี่ปัญญามีวิมุตติมีปัญญานำ ถ้าจิตวิมุตติ โฮ้..

ถาม : ข้อ ๓. การที่ผู้ปฏิบัติอัฐิกลายเป็นพระธาตุ เป็นเครื่องยืนยัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรือไม่ครับ ท่านเหล่านั้นบรรลุธรรมระดับอรหันต์แล้ว มีวิธีพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นได้หรือไม่อย่างไรครับ

หลวงพ่อ : พิสูจน์วิธีอื่นนี่สำคัญกว่า พิสูจน์วิธีอื่นหมายถึงว่า.. หลวงตาท่านพูดบ่อย ว่าในวงกรรมฐาน ท่านจะรู้กันก่อนว่าใครจะเป็นพระธาตุหรือไม่เป็นพระธาตุ ถ้าใครเป็นพระธาตุหมายความว่า เวลาท่านคุยธรรมกันแล้วมันสิ้นสุดกระบวนการทั้งหมด พอมันสิ้นสุดกระบวนการทั้งหมดนี่น้ำสะอาด

น้ำสะอาด ถ้าน้ำสะอาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ น้ำนั้นคือน้ำสะอาด.. น้ำสะอาดบางส่วน บางส่วนนี่ไปใช้ ดูสิทางอุตสาหกรรม เห็นไหม บางทีเขาต้องใช้น้ำสะอาดมาก บางอุตสาหกรรมน้ำพอสมควรเขาก็ใช้ได้

จิต! จิตถ้าไม่ได้สะอาดเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันใช้ทำอุตสาหกรรมทางละเอียดไม่ได้ จิต! ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ ถ้ามันฟอกแล้ว ถ้ามันฟอกกาย นั่นล่ะมันเป็นพระธาตุแน่นอน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าในครอบครัวกรรมฐาน เขารู้กันอยู่แล้วว่าเป็นพระธาตุหรือไม่เป็นพระธาตุ เห็นไหม ไม่ใช่ว่าอัฐิธาตุถึงจะเป็นพระอรหันต์ อัฐิธาตุเป็นพระอรหันต์นี่คือเครื่องยืนยันทางวัตถุ

เศษ! เศษคือสสาร เศษคือร่างกาย นี่ภาราหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ธาตุขันธ์นี้เป็นเศษเหลือทิ้งของพระอรหันต์ เศษเหลือทิ้งแสดงตัวให้เราเห็น เพราะมันเป็นวัตถุที่เราจับต้องได้ แต่หัวใจสิ หัวใจเป็นสิ่งที่ว่าพิสูจน์วิธีอื่น ในวงกรรมฐานเขาพิสูจน์วิธีอื่น เขาไม่พิสูจน์ที่พระธาตุหรอก เพราะพระธาตุนี่นะ ในสังคมพระธาตุเยอะแยะ เวลามีพระธาตุนี่พระธาตุใคร? ใครตายก็เป็นพระธาตุ ตายก็เผาไปสิ พระธาตุ เราก็ไปเอาพระธาตุมาสิ อ้าว.. พระธาตุก็คือพระธาตุ แล้วพระธาตุใครล่ะ?

เราจะบอกว่า ถ้าเราจะยืนยันว่าเป็นพระธาตุ ทางโลกนี่เขามีเล่ห์กลที่จะหลอกเราได้ไง ถ้าเราจะยืนยันแต่ว่าเรื่องพระธาตุนะ เขาจะมีเล่ห์กล เพราะพระธาตุของครูบาอาจารย์เราก็มีใช่ไหม อย่างที่วัดป่าสุทธาวาส ไปดูพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นสิ นี่พระธาตุหลวงปู่มั่นเต็มไปหมดเลย แล้วพระธาตุของครูบาอาจารย์มีทั้งนั้นแหละ แล้วพอเราตายปั๊บเราก็เอาพระธาตุมาวางกัน

นี่พูดถึงพระธาตุจริงนะ แล้วที่ทางวิทยาศาสตร์ที่เขาทำกันอีกล่ะ? เพียงแต่ว่า นี่อย่างเช่นหลวงตา เห็นไหม ท่านถวายเพลิงไปแล้ว แล้วเราไปเก็บกันซึ่งๆ หน้าเลย เราเห็นๆ กันชัดๆ แล้วเราเก็บมา ถ้าเป็นต่อหน้าเรา นี่พระธาตุของหลวงตา นี่อัฐิธาตุของหลวงตากลายเป็นพระธาตุต่อหน้า นี่อย่างนี้ชัวร์

เพราะเราจะบอกว่า แหม.. ถ้าเป็นพระธาตุ เพราะในท้องตลาดเขาทำกัน เรื่องการตลาดเขาทำกันเยอะ ฉะนั้น เราบอกว่าอย่ายืนยันว่าเป็น.. พระธาตุก็คือพระธาตุ พระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ๒,๐๐๐ กว่าปี เราไม่เคยเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมเรากราบกันด้วยความเคารพนบนอบล่ะ? เรากราบกันด้วยความซึ้งใจล่ะ?

ถ้าพระธาตุก็คือพระธาตุ เราก็กราบได้ด้วยหัวใจ ก็จบไง แต่ถ้าบอกว่ามันเอามาเป็นการตลาด เอามาว่าเป็นของนั่น เป็นของนี่ มันก็ว่ากันไปนะ แต่ของครูบาอาจารย์เราท่านเป็นจริง พอเป็นจริงนี่ อย่างเช่นหลวงปู่ขาวไปดูสิ สวยงามมาก หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่คำดี หลวงตานี่หลวงตาก็เป็น เป็นมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่แล้ว

นี่เพราะเป็นพระธาตุ มันเป็นเครื่องยืนยันว่าอันนั้นจริง แต่คำว่าจริงนะ ดูสิเวลาหลวงตาท่านไปแก้หลวงปู่คำดี หลวงตาท่านไปแก้หลวงปู่บัว หลวงปู่ฝั้น นี่มันพิสูจน์กันด้วยหัวใจอยู่แล้ว นี่เขาพิสูจน์กันที่นี่ เขาพิสูจน์กันด้วยอริยสัจ เขาพิสูจน์ด้วยมรรควิถี ด้วยจิตมันก้าวเดินนู่นน่ะ ถ้าอันนั้นพูดถึงแล้วมันอันเดียวกัน เหมือนกันนี่ โอ๋ย.. ชัวร์ นี้ครอบครัวกรรมฐานเขาพิสูจน์กันที่นั่น

ฉะนั้น ไอ้เรื่องพระธาตุนี่มันเป็นเครื่องยืนยันกับพวกเรา ไอ้พวกตาบอดไง พวกเราเป็นพวกปุถุชนใช่ไหม นี่บอกว่าเป็นพระอรหันต์ต้องมีพระธาตุใช่ไหม พอเห็นพระธาตุแล้วเราจะไปเชื่อเอาตอนนั้น เชื่อตอนมาพิสูจน์กัน เราต้องไปเผาท่านหรือ? แต่เวลาท่านมีชีวิตอยู่ฟังท่านออกหรือเปล่า? ฟังท่านสอนเป็นหรือเปล่า?

ฉะนั้น เรื่องพระธาตุจบ

ถาม : ข้อ ๔. เคยได้ยินหลวงปู่เทสก์สอนเรื่องเอกัคคตารมณ์ จิตรวมใหญ่ สมาธิขั้นนี้ถึงขั้นรูปฌาน ๔ หรือยังครับ

หลวงพ่อ : อันนี้ไม่พูด เพราะมันมีชื่อครูบาอาจารย์ พูดแล้วมันไอ้นั่นกัน

ถาม : ข้อ ๕. สมาธิขั้นสมถะ เมื่อจิตสงบ จิตรวมแล้ว จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาต้องทำอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : ก็ฝึก นี่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ถ้าจิตสงบ.. คำว่าสงบนี่ เราว่าสงบ แต่ถ้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์นี่นะ ท่านถามว่าจิตเป็นอย่างไร? ถ้าตอบผิดท่านไม่เชื่อหรอกว่าสงบหรือไม่สงบ เราบอกว่าเราทำขั้นสมถะจิตเราสงบ เราเข้าข้างตัวเองหมดแหละ เวลาทำการบ้านนะ ถ้าไม่ให้อาจารย์ตรวจ เราตรวจเองนะเราผ่านทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าทำการบ้านแล้วส่งอาจารย์ อาจารย์ไม่ให้ผ่านนะ

นี่ก็เหมือนกัน จิตสงบๆ ถ้ามีครูบาอาจารย์ คุยกับครูบาอาจารย์ก่อนว่าสงบจริงหรือสงบปลอม ถ้าสงบปลอมเราก็สงบของเราเองไง เรานั่งสบายๆ แล้วก็สงบ อ้าว.. สงบแล้วทำอย่างไรต่อ ก็เหมือนเราจะเข้าห้างฯ เข้าไปซื้อของ ไม่มีสตางค์เลยบอกจะซื้อของ อ้าว.. แล้วใครจะขายให้เอ็งล่ะ? แต่ถ้าคนมีสตางค์เข้าไปนะ เขาบริการลูกค้านะ ลูกค้านี่เป็นหัวใจเลยล่ะ ถ้ามีสตางค์เข้าไปนี่โอ้โฮ.. เขาบริการเราเต็มที่เลย เราเข้าไปไม่มีสตางค์เลยนี่นะ เขาไม่บริการหรอก เขาให้ออกเลย

จิตสงบเหมือนมีเงิน จิตสงบเหมือนมีทุน จิตสงบเนี่ย แล้วเงินนี่นะควักออกมาก็รู้ ใครควักออกมาก็เห็นว่าเงินใครมีเท่าไร ถ้าไม่ควักออกมา เอ็งบอกมีเงินๆ แต่ไม่ยอมควัก ไม่ยอมมาอวดเลยว่ามีเงินเท่าไร นั่นเรื่องของเขา ฉะนั้น การปฏิบัติ ถ้ามีครูบาอาจารย์เขาจะตรวจสอบกัน คำว่าตรวจสอบ ตรวจสอบให้ถูกต้องไง ตรวจสอบให้ดีงาม

ฉะนั้น “ปฏิบัติสมาธิขั้นสมถะ เมื่อจิตสงบแล้ว จิตรวมแล้ว จะยกขึ้นวิปัสสนา”

นี่โดยทฤษฎีเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ไปสร้างภาพกัน ก็จินตนาการกันว่าจิตเรายกวิปัสสนาอย่างนั้น กิเลสมันตายอย่างนั้น มันเป็นอุปกิเลสไง มันเป็นกิเลสอย่างละเอียดไง กิเลสอย่างหยาบ เห็นไหม ฟุ้งซ่าน ทุกข์ยากนี่กิเลสหยาบๆ พอเราควบคุมได้มันละเอียดขึ้นมา เราก็สร้างภาพกันไป พอสร้างภาพกันไปมันก็เป็นกิเลสอย่างละเอียด กิเลสมันก็หลอกอีกชั้นหนึ่งไง กิเลสข้างนอกก็หลอก กิเลสข้างในก็หลอก

หลวงตาบอกว่า “ข้างนอกว่างหมดเลย แต่ข้างในไม่ว่าง” แต่ข้างนอกมันว่างหมดเลย พอเราปล่อยข้างนอกเสร็จแล้วนะ มันต้องมาปล่อยข้างในด้วยนะ พอปล่อยข้างใน ข้างในมันว่างด้วย ข้างนอกก็ว่าง ข้างในก็ว่าง

นี่กิเลสข้างนอก กิเลสหยาบๆ กิเลสข้างใน อุปกิเลส เห็นไหม กิเลสข้างนอกมันปล่อยได้ กิเลสข้างในมันไม่ปล่อยนะ กิเลสข้างนอกมันปล่อย กิเลสข้างในนี่โอ้โฮ.. มันเผาลนอยู่นั่นล่ะ แล้วบอกว่า อู๋ย.. ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ แล้วมันก็ฉุนนะ กลัวเขาบอกไม่ว่างไง พอบอกว่างๆ ว่างๆ มันจะไปล่อเขานะ ใครบอกไม่ว่างนี่มึงเอ๋ยเถียงฉิบหายเลย กิเลสข้างนอกมันว่าง กิเลสข้างในมันกำลังเผาตัวมันอยู่

นี่ถ้ามันสงบจริงมันน้อมไปได้ ความจริงนี่นะ ไฟนี่เราเข้าไปใกล้มัน เราจะรู้อุณหภูมิว่ามันร้อน จิตถ้ามันสงบมันมีกำลังของมัน ถ้ามีอำนาจวาสนา เห็นไหม มันเห็นกายเลย เพราะพอมีกำลังนี่ ดูสิดูน้ำมัน น้ำมันเบนซินเก็บไว้ให้ดี ระวังเปลวไฟมันจะติด

จิตถ้ามันสงบแล้วมันมีกำลังของมัน มันน้อมมันไปได้ ธรรมดาสมาธิมันเป็นแบบนี้ สมาธิมันมีกำลัง มันมีพลังงานของมัน แต่เราบอก “จิตสงบ จิตสงบ” จิตสงบมันมีแต่แกลอนเปล่าๆ ไง ว่างๆ ว่างๆ ไม่มีน้ำมันเลย น้ำมันไม่มี รถไม่มีน้ำมันวิ่งไปได้อย่างไร? เข้าใจว่าน้ำมันเต็มถัง แล้วไม่มีน้ำมันไปได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันสงบจริงนะ ถ้ามันสงบจริงมันมีกำลังของมัน แล้วกำลังอันนี้มันมีกำลังอยู่แล้วใช่ไหม แล้วมีสติน้อมไป น้อมไปที่กาย เวทนา ถ้าน้อมไปที่กาย วิปัสสนากายก็เป็นวิปัสสนา น้อมไปที่เวทนา พิจารณาเวทนาก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ ย้อนไปจิต ย้อนไปธรรม น้อมไปๆ นี่ครูบาอาจารย์ท่านจะชักนำไป อันนี้พูดถึง

ถาม : ข้อ ๖. อสุภะหรือกายคตาสติ เป็นขั้นสมถะหรือขั้นวิปัสสนาครับ

หลวงพ่อ : เอ๊ะ.. พูดกับคน จะบอกว่าพูดกับคนไม่รู้นี่มันยุ่งเว้ย

อสุภะ กายคตาสติ.. เป็นสมถะมันก็เป็นแค่สมาธิ ไอ้นี่มันก็วิปัสสนา พูดกับคนไม่รู้นะ คนรู้กับคนไม่รู้พูดกัน ไม่พูด จบ

ถาม : ข้อ ๗. อาการปีติเนาะ

หลวงพ่อ : นั่งสมาธินี่ ถ้าอาการปีตินั่งสมาธิแล้วน้ำตาไหล ตัวใหญ่ ตัวโยก ตัวคลอน นี่คือปีติ แล้วถ้ามันสวดมนต์แล้วเห็นยักษ์ เห็นอะไรนี่นิมิต ถ้าสวดมนต์แล้วเห็นเราก็กำหนดให้ชัดๆ ต้องกำหนดให้ชัดๆ กำหนดไว้

เห็นสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้าเห็นเป็นกายเราพิจารณา ถ้าไม่เห็นเป็นกายนะให้พุทโธหรือตั้งสติไว้ ให้กลับมาที่สงบดีกว่า เห็นนิมิตคือเราลืมตาก็เห็นภาพ หลับตาภาพก็หาย จิตออกรู้ก็เห็นนิมิต ถ้านิมิตนั้น หรือจิตเรารู้ว่าจิตส่งออกแล้ว เราตั้งสติเราก็ดึงจิตกลับได้ สตินี่พอระลึกปั๊บจิตกลับหมดเลย จิตมันอยู่ที่ตัวเราเลย พออยู่ที่ตัวเราแล้วเราก็กำหนดไปเรื่อยๆ ให้มันลงลึกไปกว่านี้ คือให้มันตั้งมั่น

แล้วถ้าบอกว่า “เห็นในแสงสว่างของคน” ไอ้อย่างนี้ไม่มีประโยชน์สิ่งใดเลย ไม่ควร ไม่ควรส่งออก นี้ส่งออกหมด

ฉะนั้น ถ้าเห็นเป็นโครงกระดูก เห็นไหม “เวลาบางครั้งเห็นตัวเองเป็นเพียงโครงกระดูกในทางเดินจงกรม”

ถ้าเห็นเป็นเพียงโครงกระดูก แล้วเห็นจริงๆ ถ้าจิตสงบแล้วจะเห็นโครงกระดูกอยู่ข้างหน้า ถ้าพิจารณาได้ให้พิจารณาเลย พิจารณาโครงกระดูกนั่นแหละให้มันแปรสภาพ ถ้ามันเป็นไปได้.. ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ คือให้มันแปรสภาพแล้วมันไม่แปร นั้นแสดงว่าส่งออก คือจิตกำลังไม่พอ สมถะไม่พอ ถ้าสมถะไม่พอกลับมา ไม่ต้องเห็นโครงกระดูก

การเห็นโครงกระดูก คนเรานี่มีเงิน ๑๐๐ บาท เที่ยวแจกเขาหมดเลย เงินนั้นจะมีประโยชน์ไหม คนเรามีเงิน ๑๐๐ บาท เก็บอีก ๑ บาทก็เป็น ๑๐๑ เก็บอีก ๑ บาทก็เป็น ๑๐๒ เก็บต่อๆ มันก็จะเป็นพัน จากพันมันก็เป็นหมื่น จากหมื่นมันก็เป็นแสน

จิต! พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ให้จิตมีกำลังไว้ จากร้อยก็จะเป็นพัน ร้อยหนึ่งซื้อไม่ได้ พันหนึ่งก็ซื้อได้ พันหนึ่งซื้อไม่ได้ หมื่นหนึ่งก็ต้องซื้อได้ หมื่นหนึ่งซื้อไม่ได้ แสนหนึ่งก็ต้องซื้อได้

จิต! ถ้ามันสงบแล้วมันพิจารณาโครงกระดูก ถ้ามันแปรสภาพคือซื้อได้ ถ้ามันแปรสภาพไม่ได้คือกำลังไม่พอ เงินไม่พอ หมื่นไม่ขายก็แสน แสนไม่ขายก็ล้าน พอจิตมันมีฐานนี่พิจารณาไปให้มันเป็นไตรลักษณ์ ให้มันแปรสภาพไป ถ้าไม่ได้ให้กลับมาพุทโธ ถ้าไม่ได้ให้กลับมาสงบ ถ้าไม่ได้ให้กลับมาสงบ

นี่สมถะวิปัสสนาที่มันเกี่ยวเนื่องกัน มันเกี่ยวเนื่องกันไปอย่างนี้ไง ฉะนั้นบอกว่าถ้าเห็นเป็นโครงกระดูก การเห็นเป็นโครงกระดูกนี่นะมันเป็น ๒ สถานะนะ ฟังให้ดี!

การเห็นโครงกระดูกด้วยอำนาจวาสนา คือคนเรานี่มีบุญ พอมีบุญ พอจิตมันสงบมันเห็นโดยอัตโนมัติไง คำว่ามีบุญ มีอำนาจวาสนา มันเห็นมาโดยที่ว่าเราไม่ได้ควบคุม เราไม่ได้บริหาร แต่ถ้าเห็นโดยอริยสัจ เห็นโดยจิตเราสงบ แล้วเราบริหารจัดการ

ทีนี้การเห็นนี่มันเห็นได้ ๒ วิธี วิธีหนึ่งคือคนมีบุญ มีบุญ จิตมันมีนิสัย เห็นอย่างนี้มันเห็นโดยธรรม แต่เราไม่ได้บริหาร เราไม่ได้ควบคุม ฉะนั้น ถ้าไม่ได้ควบคุม เห็นอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเราทำอะไรไม่ได้นี่ให้เรากลับมา

จะบอกว่า “อู๋ย.. ถ้าเห็นเป็นโครงกระดูกนะ โอ้โฮ.. มันเป็นอสุภะนะ อู้ฮู.. มันขั้นนั้น ขั้นนั้นนะ” ขั้นบ้า! จะขั้นอะไรก็แล้วแต่มันต้องบริหารได้ ถ้ามันบริหารได้เขาเรียก “อริยสัจไง” ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจเราเป็นคนบริหารจัดการ สติเราก็บริหาร เราตั้งสติ เรามีปัญญา มันเป็นนามธรรมนี่แหละ แต่มันเหมือนรูปธรรมเลย จัดการได้หมดเลย

นี้พูดถึงว่า “เห็นโครงกระดูก” ฉะนั้นเขาเห็นโครงกระดูก พอเราบอกว่าจริง คนก็จะบอกว่า อู้ฮู.. เด็กๆ ไม่เคยทำ มันจะเห็นได้อย่างไรล่ะ?

การเห็นด้วยอำนาจวาสนา อันนี้อันหนึ่ง จะเด็ก จะผู้ใหญ่ก็ไม่สำคัญ สำคัญว่าจิตเขามีบุญ จิตเขาได้สร้างของเขามา ใครสร้างมาอย่างใดได้อย่างนั้น แต่พอมันได้มาโดยบุญ มันก็จะหมดไปโดยบุญ แต่ถ้ามันได้มาด้วยการภาวนา ได้มาด้วยการบริหารจัดการ มันก็จะได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ได้มาด้วยสติ ได้มาด้วยสมาธิ ได้มาด้วยปัญญา เราจะบริหารจัดการเราเอง นี้คืออริยมรรค นี้คือการก้าวดำเนิน นี้คือทางจะพ้นจากทุกข์

แล้วถ้ามันได้มาจากการบริหารใช่ไหม พอจิตมันเห็นโครงกระดูกใช่ไหม ตั้งไว้แล้วให้แปรสภาพ เห็นไหม นี่ให้แปรสภาพให้เป็นสิ่งที่ปฏิกูล โสโครก เป็นการพึงรังเกียจ นี่คือละสักกายทิฏฐิ ถ้าอสุภะ ถ้ามันไปเห็นเป็นอสุภะมันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ฉะนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้นให้ลองอย่างนี้

พูดถึงเวลามันเห็นเป็นโครงกระดูกเดินจงกรมอยู่ด้วย จิตมันก็ปล่อยวางกาย เห็นว่าเกิดเป็นชั่วคราวแล้วมันก็ดับไป เกิดดับๆ เราไม่ได้บริหาร เราไม่ได้จัดการ ผลของสมาธิอย่างนี้น้อมมาสู่วิปัสสนาไหม? น้อมไปหรือไม่น้อมไปก็อธิบายให้ฟังอยู่เนี่ย.. อธิบายแล้ว อธิบายแล้วว่าถ้ามีปัญหาให้กลับมาที่ความสงบนี้ แล้วถ้าสุดท้ายก็ออกไป

นี่คำว่าพระกรรมฐาน พระป่า เขาแสวงหาครูบาอาจารย์กัน เขาก็แสวงหาอย่างนี้ไง เวลาเราทำสิ่งใดเข้าไป ขาดตกบกพร่อง ทำผิดทำถูก ครูบาอาจารย์จะคอยควบคุม คอยดูแล คอยชักนำ คอยบริหารให้เรา นี่ไงที่เราไปหาครูบาอาจารย์ ที่ว่าลงใจครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ท่านมีคุณธรรมในหัวใจ พ่อแม่ครูจารย์ พ่อแม่เลี้ยงด้วยร่างกาย ครูบาอาจารย์เลี้ยงด้วยศีลธรรม

ฉะนั้น ที่เราติดครูบาอาจารย์กัน เราเคารพครูบาอาจารย์กัน เพราะครูบาอาจารย์ของเรานี่มันซึ้งนะ มันซึ้งหัวใจมาก พ่อแม่รักลูกนี่รักลูกแน่นอน แต่ครูบาอาจารย์รักลูกศิษย์ โอ้โฮ.. รักมากกว่านั้นอีก กลัวลูกศิษย์จะผิด จะเสีย อู๋ย.. คุมดูแลกัน แล้วเวลาสอนนะ เวลาลงไม้เรียวยิ่งกว่าพ่อแม่นะ เผลอสตินี่ โอ๋ย.. ท่านช็อตทีเดียวสะดุ้งเลย แล้วท่านไม่ได้เป็นอะไรกับเรา ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา

พูดถึงนี่ คำว่าวัดป่าๆ วัดป่าเพราะว่าเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นของจริง แล้วเราไปอยู่กับท่าน เราถึงได้ซึ้งบุญคุณของท่าน ฉะนั้น เขาเรียกว่าพระกรรมฐานจะติดครูบาอาจารย์ คือเคารพจริงๆ คือเคารพด้วยหัวใจ ท่านปลิ้นหัวใจเราออกมาชำระล้างให้เราเลย แล้วทำไมเราจะไม่เคารพรัก

ความเคารพรักอย่างนี้ นี่คำว่าวัดป่าๆ วัดป่าเพราะเหตุผลนี้ วัดป่าเพราะครูบาอาจารย์ของเราเป็นความจริง แล้วดูแลกันมาจนทำให้วงกรรมฐานมั่นคง เอวัง