เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราอยู่ทางโลก เรามาทำบุญกุศลด้วยเป้าหมายต้องการความสุข ด้วยเป้าหมายต้องการให้ชีวิตนี้ร่มเย็น นี่โดยเป้าหมายของชาวพุทธนะ โดยพื้นฐานทุกคนทำบุญแล้วอยากได้บุญกุศล อยากให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข

แต่ในสัจจะความจริงในเมื่อชีวิตนี้คือไออุ่น ถ้าชีวิตนี้คือไออุ่น ชีวิตนี้พลังงาน นี่มันมีพลังงานของมัน มันต้องมีความร้อนของมัน หัวใจเรามันมีชีวิต มันก็มีความรุ่มร้อนเป็นธรรมดา แต่ศีลธรรมจริยธรรมเข้าไปดับความรุ่มร้อนในหัวใจของเรา

ในหัวใจของเรามันมีความรุ่มร้อน ถ้าไม่รุ่มร้อนมันก็ไม่ใช่ชีวิต ถ้ามันเป็นชีวิตมันก็มีแรงขับของมัน ถ้ามีแรงขับของมัน มันก็มีอวิชชา พอมีอวิชชา เห็นไหม นี่การศึกษา เราทำบุญกุศลเพื่อบุญกุศล เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขนะ แต่ความร่มเย็นเป็นสุขมันเป็นเป้าหมาย เป็นความคิดของเราไง เราว่าความร่มเย็นเป็นสุข มันก็ต้องมีความร่มเย็นนะ ไปนั่งอยู่บนน้ำแข็งมันก็ไปทุกข์อยู่บนน้ำแข็ง ไปอยู่ที่ร่มเย็นที่ไหน ถ้าจิตใจมันทุกข์มันก็ไปทุกข์บนนั้นแหละ

ถ้าจิตใจร่มเย็น เห็นไหม คำว่าร่มเย็นนี่เราคาดไม่ถึงหรอก เราคาดกันเองว่าความสุขจะเป็นอย่างนั้น ความสุขคือมีเงินทองมหาศาล จะมีทุกอย่าง เราคาดกันไปเองนะ แต่ถ้าความจริงนะ

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

จิตของเรา ถ้าเรารักษาให้มันสงบร่มเย็น ข้างนอกมันจะขาดแคลน มันจะอุดมสมบูรณ์ มันเป็นวิบากของกรรม กรรมนี่คนเราบางคนทำมา เราว่าทำไมโชคเขาดีขนาดนั้น? ทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดก็มีแต่คนจุนเจือ ไอ้เราทำไมปากกัดตีนถีบ ทำไมมันทุกข์ยากไปขนาดนั้น?

ถ้ามีสตินะ เวลาทุกข์ยาก ปากกัดตีนถีบ มันก็จะทำของเราไป นี่เพราะปัจจุบันธรรม ปัจจุบันคืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ สรรพสิ่งที่เกิดขึ้น เห็นไหม พอทุกอย่างความคิดมันเกิดขึ้นมา เราก็น้อยเนื้อต่ำใจ เราก็ปากกัดตีนถีบ เราพยายามขับดันของเราไป นี่มันเป็นความทุกข์ตรงนั้น แต่ถ้ามันมีความพอใจ มันมีความร่มเย็นเป็นสุขของมัน สิ่งใดที่เกิดขึ้นนะ งานมันก็คืองาน

เราอยู่กับหลวงตานะท่านบอกเลย “เวลาทำข้อวัตรนี่พระหายหัวกันไปหมดเลย เวลาฉันน้ำร้อน หัวสุมกันเต็มไปหมดเลย” เวลากินเยอะไง เวลาทำงานหายไปหมดเลย ท่านบอกเวลาฉันน้ำร้อนนะ เห็นนั่งล้อมวงกันนี่หัวสุม! แต่เวลาเข็นน้ำนะ เวลาโยกน้ำหายกันไปหมดเลย แล้วท่านก็พูดสรุปนะ

มันเป็นค่าเท่ากัน เห็นไหม เวลาพระเราฉันอาหารเขาเรียกทำภัตกิจ มันก็เป็นงานอันหนึ่ง การกินนี้ก็เป็นงานอันหนึ่ง การทำมาหากิน การทำงาน ก็เป็นงานอันหนึ่ง มันเป็นงานทั้งนั้นนะ แม้แต่การหายใจนี่มันก็เป็นงานอันหนึ่ง การหายใจมันเป็นอาหารอันละเอียดนะ ถ้าออกซิเจนไม่มีเราก็ตาย ถ้าเราเห็นว่าสรรพสิ่งนี้มันเป็นหน้าที่เป็นการงาน จิตใจเรามันก็ไม่เดือดร้อนจนเกินไป

จิตใจมันเดือดร้อน ความเดือดร้อนเพราะอะไร เพราะตัณหาความทะยานอยากมันปิดหัวใจไว้ พอปิดหัวใจไว้มันก็ดีดดิ้นของมัน พอดีดดิ้นของมันมันก็เป็นความทุกข์ แต่ถ้ามันมีความพอใจ มีความสุขนะ เวลาทำสัมมาอาชีวะนะ โอ๋ย.. เงินทองไหลมาเทมา เหนื่อยสายตัวแทบขาดนะ แต่ก็มีความสุข ความสุขเพราะอะไร? เพราะเงินทองมันไหลมาเทมา

เขามีความสุขนะ เขาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่เวลาเงินทองมันไหลมาเทมา เราเหนื่อยสายตัวแทบขาดแต่มันไม่ประสบความสำเร็จ นี่งานเหมือนกัน คนหนึ่งทำไมมันสุข คนหนึ่งทำไมมันทุกข์ล่ะ? เพราะความพอใจ ถ้าใจมันทุกข์นะ นี่โดยพื้นเพ โดยพื้นฐาน เราทำบุญเราก็ต้องการบุญกัน

ที่ว่าต้องการทำบุญนะ มีคนบ่นมาก “หลวงพ่อพูดอะไรก็มรรคๆๆ มรรคทุกอย่างเลย จะเอามรรค ผล นิพพาน ทั้งนั้นแหละ แล้วถ้าพื้นฐานล่ะ?”

พื้นฐานมันเป็นผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะมันหมุนเวียนไปแบบนี้ เห็นไหม กรรมเก่า กรรมเก่าขับดันให้เรามาเกิด กรรมเก่ามันขับดันให้เรามาประสบความสำเร็จ กรรมเก่ามันขับดันมาให้เราลุ่มๆ ดอนๆ กรรมปัจจุบันนี้ เวลาเราบอกว่ากรรมปั๊บ ต้องแก้กรรมๆ จะไปแก้กรรมที่ไหนก็ไม่รู้ แต่จิตใจมันเร่าร้อน แต่ถ้ามันจะแก้กรรมที่นี่นะเรามีสติปัญญากับเรา สิ่งใดมันเกิดขึ้นมา มันเป็นผลข้างเคียงทั้งนั้นแหละ มันเป็นวิบาก

แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดคือความรู้สึก คือหัวใจของเรา สิ่งที่มีค่าที่สุดคือชีวิต หลวงตาท่านสอนว่า “ธรรมะ! สิ่งที่สัมผัสธรรมะได้คือความรู้สึกเท่านั้น สิ่งอื่นสัมผัสธรรมะไม่ได้” สิ่งที่เป็นจิตใจของเรานี้มันสัมผัสธรรมะได้ มันจะหยิบฉวยมรรค ผล นิพพานนะ

นี่เวลาเราพูดถึงมรรค ผล นิพพาน มันสุดฟ้าเขาเขียว มันจะเอื้อมจับไม่ได้เลย แต่เวลาหลวงตาท่านบอก เห็นไหม จิตใจของเรานี่มันจับได้ มันรับรู้ได้ ถ้ามันจับได้ มันรับรู้ได้ ผลที่เราทำมาหากินกันนี้มันเป็นสมบัติสาธารณะ แก้ว แหวน เงิน ทอง มันไว้ใช้แลกเปลี่ยนกัน

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสมบัติเอกชน เป็นสมบัติส่วนตน เป็นสมบัติของเรา ไม่ใช่สมบัติสาธารณะ ฉะนั้น เวลามันสุข มันทุกข์ เห็นไหม ชีวิตมีค่ามากนะ แต่เวลาคนทุกข์คนยากนี่เพราะมีชีวิต มันถึงต้องบากหน้าสู้กับสังคม ขณะที่มีชีวิตที่บากหน้าสู้กับสังคม มันสู้กับสังคมไม่ได้ มันถึงจะหลีกหนี มันถึงจะทำลายตัวมัน

ฉะนั้น สิ่งที่มีค่านี่เราไปทำลายมัน เพราะการบากหน้าสู้กับเขาไม่ได้เท่านั้นเอง เวลาเราถือศีลกันนะ เห็นไหม อทินนาทานา การหยิบของโดยที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ถ้าเราบอกเขาเขาก็ให้ นี่มันก็ไม่ผิดศีล เพราะศักดิ์ศรี เพราะความถือตน เราถึงบากหน้าสู้กับสังคมไม่ได้ ถ้าเราไม่มีศักดิ์ศรี คนก็คือคน คนนะมีความเมตตาต่อกันทั้งนั้นแหละ

ถ้าโดยสามัญสำนึก โดยน้ำใจนะ ทุกคนอยากทำบุญกุศล ทุกคนอยากทำโดยข้อเท็จจริง แต่คนไม่กล้าทำบุญ ไม่กล้าทำบุญเพราะกลัวโดนหลอก เห็นไหม บอกว่าทำบุญแล้วจะได้บุญไหม? ไอ้คนที่มานี่.. ทุกคนนะ ถ้าเขาทำด้วยจิตใจเป็นสาธารณะ เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ ทุกคนอยากช่วยเหลือเจือจานกันทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เขาไม่กล้าทำกันอยู่นี้เพราะอะไร? เพราะทำไปแล้วไม่รู้ว่าเบื้องหลังเป็นแบบใด

นี่ไง ถ้าพูดความจริงนะ ถ้าเอาความจริงมาพูดกัน เราอยู่กันด้วยความสุขสบายมาก แต่ที่เราไม่กล้าพูด เราระแวงกันไปหมดเพราะอะไร? เพราะมุสาไง เพราะพูดไม่จริงไง เพราะความไม่จริง เห็นไหม

นี่การศึกษา เราศึกษามาเป็นปัญญา ไม่ต้องแบกหามนะ ถ้าศึกษามาแล้ว.. นี่เราดูในลังกา ดูในพม่าสิ คนของเรานะ เรามองเขาว่าประเทศของเขาไม่ทันเรา ประเทศเขาล้าหลัง แต่ดูสิคนของเขานะ เขานั่งที่ไหนเขาก็สวดมนต์ เขาก็นับลูกประคำ เขาเข้าไปวัดเขาแต่งชุดขาวเข้าไปนะ เขาก็ไปนับลูกประคำกัน เห็นไหม เขารักษาหัวใจของเขา ถ้าเขารักษาหัวใจของเขา ที่เราทุกข์กันอยู่นี้เพราะเราไปตื่นทุนนิยม เราไปตื่นแต่โลกธรรม เราไปตื่นแต่ภายนอก

ศาสนาสอนกลับมาที่นี่ ฉะนั้นศึกษามาเป็นปัญญา ศึกษามาเป็นความรู้แล้ว ต่อไปนี้นะมันขาดอย่างเดียว ขาดในการฝึกฝน ขาดในภาคปฏิบัติ

ปริยัติ ปฏิบัติ! ถ้าเราปฏิบัติ เห็นไหม เขาปฏิบัติกันนะ เขานับลูกประคำ เขาอยู่ของเขา เขาทำของเขา เขาจะทุกข์เขาจะจน แต่เขาก็พอใจชีวิตเขานะ เขาพอใจชีวิตเขา ไอ้เรานี่วิ่งเต้นกันจะหาให้มันสมสถานะ แต่หัวใจมันเร่าร้อน

นี่ความสุขความทุกข์ในโลกนี้มันมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือเราอัตคัดขาดแคลน ถ้าอัตคัดขาดแคลนเราก็ว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์ สิ่งนี้เป็นความทุกข์ แต่ถ้าหัวใจมันเป็นความทุกข์ เห็นไหม ความทุกข์นี้มันเป็นความทุกข์จากภายใน ถ้าเป็นความทุกข์จากภายใน เวลามันแก้ทุกข์ มันแก้ทุกข์จากภายใน ถ้ามันแก้ทุกข์จากภายในมันถึงต้องมีภาคปฏิบัติ

ถ้าเราศึกษาแล้วเราต้องปฏิบัติ พอเราปฏิบัติขึ้นมา เราฝึกฝนของเราขึ้นมา เวลาเราไม่ปฏิบัติเหมือนเด็กๆ เลย เด็กๆ เราปล่อยให้มันเล่นตามสบาย มันอยู่ของมันสุขสบายมากเลย ลองตั้งกติกากับเด็กๆ สิ เด็กๆ นี้มันขัดแย้งไปหมดเลย

จิตใจปล่อยมันอยู่ของมันตามธรรมชาติของมัน มันวิ่งเต้นเผ่นกระโดดของมัน มันอยู่ด้วยความคึกคะนองของมัน มีความสุขมาก มีความสุขทางโลกนะ แต่มันทุกข์ พอมันทุกข์ก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ พออยากประพฤติปฏิบัตินี่ตั้งสติ พอตั้งสติ เห็นไหม พอบังคับมันด้วยสติ ด้วยคำบริกรรมนี่มันดิ้น พอปฏิบัติไปทุกคนจะบ่นว่า “ปฏิบัติแล้วทุกข์..ปฏิบัติแล้วทุกข์” แต่ความจริงกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามันจะโดนควบคุมดูแล เหมือนพ่อแม่ดูแลลูก

สติ สมาธิมันจะควบคุมหัวใจของเรา พอจะไปควบคุมหัวใจมันก็ดิ้น เห็นไหม เด็กถ้าไปตั้งกติกากับมัน มันก็ไม่พอใจ จิตไปตั้งสติปัญญากับมัน มันก็ไม่พอใจ แต่เวลาไม่พอใจขึ้นมา ความพอใจ จิตใต้สำนึกต้องการความดี จิตใต้สำนึกต้องการมรรค ผล นิพพาน แต่เวลากระบวนการการกระทำของมันนี่เราไปขัดแย้ง ไม่ยอมรับกระบวนการของมัน

กระบวนการที่จะทำนี่ทุกข์ไปหมด ไม่พอใจไปหมด แล้วถ้าไม่ต้องทำสิ่งใดเลย ..ไม่ต้องทำสิ่งใดเลยมันก็ไม่ได้อะไรเลย ไม่ทำสิ่งใดเลย มันก็ไม่ได้อะไรเลย.. นี่มันเป็นผลของวัฏฏะนะ ผลของวัฏฏะที่เรานั่งกันอยู่นี้เพราะกรรมเก่า กรรมเก่าเราทำบุญมาดีนะ ถ้าเราไม่ทำบุญมาดี เราไม่มานั่งกันอยู่นี้หรอก แล้วเราทำบุญมาดี เราถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ นี่เป็นกรรมเก่า แล้วกรรมใหม่ไม่ต่อเติม ไม่เสริมเลย เห็นไหม

นี่เราว่าเราอยากได้บุญกัน ทุกคนทำบุญก็อยากได้บุญกุศล บุญกุศลนะ บุญ! บุญคือการกระทำ สิ่งที่เกิดเป็นบุญเป็นอะไร กุศลคือเกิดปัญญา การที่เรารักษาของเรา เห็นไหม เรารักษา เราเสียสละของเรา เราทำเพื่อหัวใจของเรา ความลับไม่มีในโลก เพราะเราเป็นคนยื่นออกไปจากมือไง เราคิดแล้วเรายื่นออกไปจากมือ อันนี้มันมีเจตนายื่นออกไป นี่มันเป็นความจริงกับใจ พอเป็นความจริงกับใจนะนึกถึงบุญสิ นึกถึงที่เราเคยทำบุญเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วสิ มันก็ยังสดๆ ร้อนๆ เห็นไหม

นี่เขาว่าของที่เป็นทิพย์ๆ มันไม่บูด ไม่เน่า ไม่เสีย ไม่หาย บุญกุศลไม่มีใครแย่งชิงได้ สิ่งที่เป็นคุณงามความดีในหัวใจ ไม่มีใครแย่งชิงได้ ถึงว่ามันเป็นอริยทรัพย์ ถ้าเราฝึกฝน เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราฝึกฝน เรามีการกระทำขึ้นมามันจะควบคุมแล้วดูแลได้ พอดูแลหัวใจของเราได้นะ นี่ศีล สมาธิ ปัญญามันเกิด เพราะศีล สมาธิ ปัญญามันเป็นเหตุ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

บริกรรมพุทโธ พุทโธ ก็เป็นเหตุ ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นเหตุ ถ้าจิตสงบนั้นเป็นผล เห็นไหม เราใช้ศีล สมาธิ ปัญญา.. ปัญญามันเกิด ใช้ภาวนามยปัญญามันเกิด ถ้ามันมีเหตุ ผลมันก็จะเกิด นี้มันไม่มีเหตุ เขาบอก “ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย พอทำสิ่งใด พอเราจะตั้งสติปัญญาขึ้นมา จะไปบังคับจิตใจก็ขัดแย้งกัน ขัดแย้งกัน นี้เป็นทุกข์ๆ”

ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง เราเข้าไปเผชิญกับมัน แล้วแก้ไขมันด้วยเหตุ เหตุผลในการกระทำนี่แก้ไขด้วยเหตุ พอแก้ไขเสร็จ เห็นไหม มันก็เป็นผล

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ! ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ!”

เราต้องสร้างของเรา นี่เราทำบุญก็เป็นบุญอันหนึ่ง บุญมันได้อยู่แล้ว เพราะที่นั่งอยู่นี้ก็มาจากบุญ นี่มีบุญด้วย มีบาป.. ทำดี ทำชั่วมาด้วย มันก็ลุ่มๆ ดอนๆ เห็นไหม ถ้าเรามีสติ เราทำคุณงามความดี มันก็เป็นบุญ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ว่าวัฏฏะและวิวัฏฏะ วิวัฏฏะคือผลที่มันหักออกไปจากกงกรรมกงเกวียน หักออกไปจากการหมุนเวียน หักออกจากไปจากอนิจจังที่มันเกิดตายๆ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หมุนเวียนกันไปนี้ เราก็ต้องฝึกหัดปฏิบัติของเรา เพื่อจะหักกงกรรมกงเกวียนอันนี้ออกไป ถ้าออกไป หักที่ไหนล่ะ? เขาบอกว่า “แก้กรรมๆ” แก้กรรมคือนั่งสมาธิ แก้กรรมคือนั่งพุทโธ เพราะพุทโธมันทำให้เกิดปัญญา ปัญญามันหาทางออก แล้วนี่แก้กรรม มันจะแก้ถึงชีวิตของมันพ้นไปได้

นี้คือสัจธรรม นี้คืออริยสัจ ผลของบุญกุศล คนทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผลของวัฏฏะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ บังคับหนักแน่นยิ่งกว่านั้น ทุกข์ยิ่งกว่านั้น เราอาบเหงื่อต่างน้ำมานี่สมบัติของเรา เราเสียสละทำไมล่ะ? เพราะเราเห็นคุณค่า เราเห็นการเสียสละแล้วได้บุญกุศลไง

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่บังคับตนเองทำไมล่ะ? นั่งสมาธิ เดินจงกรมทำไม? ก็ทำเพื่อฝึกหัวใจให้มันฉลาดขึ้นมาไงล่ะ เพราะมันโง่อยู่นี่ไง มันถึงเกิดตายอยู่นี่ไง เพราะมันโง่อยู่นี่ไง มันถึงเวียนอยู่นี่ไง ให้มันฉลาดขึ้นมา เห็นไหม

นี่เราศึกษาแล้ว เราทำบุญกุศลแล้ว เราต้องประพฤติปฏิบัติ ต้องฝึกฝนด้วย ฝึกฝนหัวใจให้เราเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เราจะรู้ขึ้นมาในท่ามกลางหัวใจของเรา เราจะรู้ขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง เรารู้ขึ้นมาแล้วนี่คนอื่นไม่ต้องพูดให้ฟังเลย มันรู้ของมันขึ้นมา

เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด เห็นไหม “แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งต่อหน้าก็ไม่ถาม” ถามท่านก็ตอบอย่างนี้ไง ถ้าถามเราก็ไม่แน่ใจสิ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงของเรา นี่มันมั่นคงขนาดนั้น มันมั่นคง มันไม่หวั่นไหวสิ่งใดเลย มันมั่นคงของมัน มันจริงของมันในหัวใจของมัน จากหัวใจที่จอมปลอม จอมปลอมคือตัณหาความทะยานอยากครอบคลุมอยู่ เห็นไหม เพิกถอนมันออก ทำใจเราให้ดี

นี้คือพุทธศาสนา ศาสนาธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาแล้ว! ศึกษาแล้ว! ศึกษาแล้วประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วให้เกิดผล!ให้เกิดผล! เกิดแล้วจะไม่ตายเปล่า เอวัง