เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ป่ามันจะสมบูรณ์ต้องมีสัตว์ป่า โลก.. โลกมันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะมีคนไง เวลาคนมาเกิด เห็นไหม เกิดด้วยแรงบุญแรงกรรม แรงบุญแรงกรรม ถ้าบุญพาเกิด กรรมพาเกิด ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ เพราะชีวิตออกแบบไม่ได้ ชีวิตนี้เป็นไป

กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสะระโณ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ฉะนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้เราทำคุณงามความดีกัน ทำคุณงามความดีมันคืออะไร มันคือกรรมดี.. กรรมดี กรรมชั่ว เห็นไหม เราบอก “มีกรรมๆ” พอพูดถึงคำว่ากรรม เราจะบอกว่าสิ่งนั้นเป็นกรรมชั่ว กรรมที่ไม่ดีทั้งนั้นเลย แต่เราไม่บอกว่ากรรมดีบ้างล่ะ?

จิตใจทุกดวงใจ ไม่เคยมีดวงใจดวงไหนไม่เคยทำความดีมา และไม่เคยมีใครไม่เคยทำความชั่วมา ความชั่วเพราะคนไม่อยากทำ แต่! แต่เหตุจำเป็น เหตุเพราะวิบากกรรม เหตุเพราะความไม่รู้ ฉะนั้น เวลาพุทธศาสนาแล้วเราจะต้องมีสติ มีปัญญา เห็นไหม ชีวิตลำบากไหม? ชีวิตนี้ลำบากแน่นอน แม้แต่เด็กหนุ่มวัยรุ่นไม่ลำบากหรอก ยังเข้มแข็งอยู่ คนแก่ คนเฒ่า ลุกก็โอย เดินก็โอย หายใจก็เหนื่อย

หลวงตาท่านพูดอยู่นะ ท่านพูดบ่อยมากว่า “เหนื่อยมาก เวลาหายใจนี่เหนื่อยมาก” แม้แต่หายใจก็เหนื่อย หายใจก็ทุกข์ก็ยาก ถ้าคนยิ่งหายใจไม่ออกนะ นี่เขาให้ออกซิเจน เห็นไหม ชีวิตนี้ดำรงอยู่ด้วยอะไร? ดำรงอยู่ด้วยอาหาร ถ้าไม่มีอาหารชีวิตนี้อยู่ไม่ได้ อาหาร ๔ ในวัฏฏะ แม้แต่พรหมก็มีผัสสาหาร เทวดามีวิญญาณาหาร สัตว์ถ้ามีธาตุ ๔ กวฬิงการาหาร อาหารเป็นคำข้าว สิ่งที่เป็นคำข้าว มโนสัญเจตนาหารนั้นเป็นการเชื่อมต่อวัฏฏะ

วัฏฏะมันต้องมีอาหารนะ นี้ชีวิตเกิดมาเราต้องมีหน้าที่การงาน เพราะสิ่งที่มีหน้าที่การงาน นี่เวลาอาหารมามันได้มาจากไหนล่ะ? อาหารมันได้มาจากแผ่นดิน อาหารมันได้จากท้องทุ่ง ท้องนา ได้จากไร่สวน ไร่นา.. สวน ไร่ นา เป็นที่มาของอาหาร แต่ในปัจจุบันนี้เพราะมนุษย์มีการบริหารจัดการ การถนอมอาหาร การกักตุนอาหาร การสำรองอาหาร เราพยายามทำกันเพื่อความเจริญ

เราบอกว่าโลกเจริญๆ โลกเจริญคือเจริญในการดำรงชีวิต โลกเจริญคือวิทยาศาสตร์เจริญ โลกเจริญคือความสะดวกสบายของมนุษย์ แต่! แต่ธรรมะถ้ามันเจริญ หัวใจเราเจริญ สิ่งที่มันเป็นประโยชน์กับชีวิต สิ่งที่เป็นความสะดวกสบายนี้เราก็รับรู้ได้ แต่ถ้าเราควบคุมใจเราได้นะ สิ่งนี้มันไม่ยั่งยืนหรอก สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง

“สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังนะ เห็นไหม มันแปรสภาพ มันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่พวกเราจะทำให้เป็นความมั่นคง เราจะทำให้มันมั่นคงในชีวิต เราต้องการให้ชีวิตเรามั่นคง เราปรารถนา แต่ถ้ามันมีปัญญานะ ชีวิตเราจะลุ่มๆ ดอนๆ มันมั่นคงด้วยปัญญา ปัญญาของเราจะแก้ไขดัดแปลงชีวิตเราให้รอดพ้นจากวิกฤติไป ให้รอดพ้นจากสิ่งต่างๆ ไป

นี่มันมั่นคงที่เรามีสติปัญญาดำรงชีวิตของเราใช่ไหม? แต่ถ้าเราไม่มั่นคงนะ ของมันจะมีมากขนาดไหน ดูสิในคลังสินค้า ถ้าเขาไม่รู้จักเก็บ ไม่รู้จักรักษา มันเสียหมดแหละ มันเสียหาย มันไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย แต่ถ้าคนมีปัญญา นี่คลังสินค้านั้นเขาบริหารจัดการขึ้นมา มันเป็นประโยชน์ไปหมด

นี่คืออะไร? นี่คือปัญญา นี้ปัญญาแบบโลกๆ นะ การว่าปัญญาแบบโลกๆ เราก็บริหารจัดการจนเป็นภาระหน้าที่รับผิดชอบ แต่เวลาเราจะใช้ปัญญา เราจะบริหารของเรา เรื่องชีวิตของเรา เรื่องความเป็นไปของจิตของเรานะ

จิตของเรา เห็นไหม ความคิดมันเกิดมานี่เราควบคุมมันไม่ได้เลย เรายังคำนวณได้นะว่าอาหารในโลกนี้เขาทำได้เท่าไหร่? โลกนี้มันมีภัยพิบัติไปเท่าไหร่? ปีหนึ่งผลิตอาหารได้กี่ร้อยกี่พันตัน ในโลกนี้เขาคำนวณได้ เขาจัดการได้ทั้งนั้นแหละ เห็นไหม สิ่งที่เขาบริหารจัดการได้ แต่ความคิดมันจัดการได้ไหม? เวลามันเกิดขึ้นมาในหัวใจ เราจัดการความคิดเราได้ไหม?

ความคิดเราจัดการไม่ได้เพราะอะไรล่ะ? เพราะความคิดนี่เวรกรรมของคนนะ ถ้าเวรกรรมของคนนะ โทสจริต โมหจริต โลภจริต จริตของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนๆ หนึ่งเจอสภาพแบบนี้ ควบคุมตัวเองไม่ได้เลย คนๆ หนึ่งเจอสภาพแบบนี้ ทำไมเขาควบคุมตัวของเขาได้ล่ะ? นั้นคือจริตของเขา ถ้าสิ่งใดมันไปกระตุ้นในหัวใจนะ มันจะฟูขึ้นมา มันจะแรงมาก เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนนะ สอนพวกเราว่า

“รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่กิเลส โลกนี้ไม่ใช่กิเลส สรรพสิ่งที่เป็นวัตถุไม่ใช่กิเลส แต่หัวใจของเราต่างหากเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก”

สิ่งต่างๆ ไม่ใช่กิเลสหรอก แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นกิเลสไหม? มันไม่มีชีวิตนะ แต่คนไปติดมัน คนไปแสวงหามันต่างหากล่ะเป็นกิเลส.. รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่กิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

มันกระตุ้นเรา เห็นไหม นี่รูป รส กลิ่น เสียง ต่างๆ มันกระตุ้นเรา กระตุ้นให้เกิดขึ้นแล้วไปตรงกับจริต ถ้าตรงกับจริตใครสิ่งกระตุ้นนั้นก็รุนแรง ถ้ามันไม่ตรงกับจริตใคร สิ่งกระตุ้นนั้นมันก็สักแต่ว่า แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเราจะควบคุมแล้ว

นี่พูดถึงว่าปัญญาทางโลก เขายังต้องบริหารจัดการของเขา แต่ถ้าเรามีโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา.. โลกียะนี่เรื่องของโลกๆ เกิดโดยสัญชาตญาณ เกิดโดยธรรมชาติ เกิดโดยสิ่งที่มันมีอยู่ แต่สัจธรรมนี่ถ้าเราไม่ศึกษา เราไม่ค้นคว้ามันไม่มีหรอก

เรามีเงินทองนะ เราจะจ้างวานใครทำงานก็ได้ เราจะซื้อหาสิ่งใดก็ได้ถ้าเรามีเงินมีทอง แต่ศีล สมาธิ ปัญญา ซื้อไม่ได้ สติเราก็ต้องฝึกเอง สมาธิเราก็ต้องฝึกเอง ปัญญาเราก็ฝึกเอง มันเกิดจากการฝึกฝน เกิดจากการปฏิบัติ

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ! ปริยัติ ปฏิเวธ ไม่มี.. ปริยัติคือการศึกษานะ ธรรมและวินัยนี้ เห็นไหม เราศึกษาธรรมวินัยมาจากไหน? มาจากตำรับตำรา แต่มรรค ผล มันออกมาจากตำราได้ไหมล่ะ? มันมีจากความเข้าใจของเรา พอเราเข้าใจแล้วเราว่าเราเกิดปัญญาๆ

ปัญญาอย่างนี้เขาเรียกว่าสุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการศึกษา มันก็เหมือนกับปัญญาเราศึกษาทางทฤษฎีนี่แหละ แต่ความเป็นจริง ถ้าเราไม่ได้พิสูจน์ตรวจสอบ เราไม่ได้ปฏิบัติขึ้นมา มันไม่เกิดภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันเกิดจากเรา นี่พูดถึงว่างานทางโลกกับงานทางธรรม

ชีวิตนี้เราออกแบบไม่ได้.. แต่ชีวิตนี้เราควบคุมได้ เราดูแลของเราได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “คนเราไม่ได้ดีเพราะการเกิด”

คนจะดีจะชั่ว ดีเพราะการกระทำ คนจะดีจะชั่วเพราะเราประพฤติปฏิบัตินี้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เรามีการกระทำ สิ่งที่กระทำนี้มันจะเป็นสิ่งวัดผล เห็นไหม วัดผลว่าคนดี คนชั่วอยู่ที่ผลของงาน

เวลาหลวงปู่มั่นท่านดูแลลูกศิษย์ของท่านนะ ท่านจะดูคนว่าคนๆ นี้มีปัญญาหรือไม่มีปัญญา ท่านจะให้ทำงาน งานนั้นมันจะแสดงถึงจริตนิสัย งานนั้นมันจะแสดงออกถึงการกระทำนั้น ถ้างานนั้นแสดงออกมา คนละเอียดรอบคอบ มันก็ทำได้ละเอียดรอบคอบ.. คนสะเพร่า มันก็ทำด้วยความสะเพร่า.. คนมักง่าย มันไม่ทำสิ่งใดเลย มันว่าสิ่งนั้นสำเร็จแล้ว

ทีนี้ย้อนกลับมาในการปฏิบัติ.. ความมักง่าย สิ่งที่เป็นความมักง่ายคือไม่ทำสิ่งใดเลย แต่เวลาปฏิบัติบอกว่าไม่ต้องทำสิ่งใดเลย เพราะการกระทำนั้นเป็นทุกข์ ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย เราก็เชื่อกัน นี่คนมักง่ายจะทุกข์ยาก คนมานะบากบั่นมันจะสุขสบายข้างหน้า

คนที่มีความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ แต่ความเพียรนั้นมันจะชอบหรือไม่ชอบนั่นอีกอย่างหนึ่ง เพราะความเพียรนะ ความเพียรเป็นมิจฉาก็มี เป็นสัมมาก็มี ถ้าเป็นสัมมา สัมมาตรงกับจริต ตรงกับนิสัย ตรงเข้าไปมันจะดัดแปลงใจเราเข้ามา ถ้าดัดแปลงใจเข้ามา มันจะควบคุมใจของเราได้

ความสุข เห็นไหม ทรัพย์สมบัติสิ่งใดมันจะมีค่ากับความสุขของหัวใจ ทรัพย์สมบัตินะ มันเก้อๆ เขินๆ อยู่ตรงนั้นนะ ถ้าหัวใจเราดีนะมันให้ความสุขความทุกข์กับใคร นี่ทรัพย์สมบัตินั่นล่ะ แต่ถ้าหัวใจมันพอของมัน นี่ความสุขในหัวใจนี้สำคัญมาก แล้วมันเกิดมาจากไหนล่ะ?

ถ้ามันไม่มีการปฏิบัตินะ สิ่งที่เป็นความสุขทางโลกเขาเรียกว่าอามิส อามิสมันหมุนเวียนไปเป็นอนิจจัง แม้แต่เวลาเราทำนะ นี่สมมุติบัญญัติ สมมุตินี้เป็นอนิจจัง บัญญัติก็เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังนะ สมาธิก็เป็นอนิจจัง ปัญญามันก็เป็นอนิจจัง มันเกิดขึ้นดับไป มันเกิดขึ้นดับไป แต่มันเกิดขึ้นดับไปนี่ แล้วเราบริหารจัดการไหม?

“สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา.. สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตา อนัตตาเป็นอย่างไร? เราก็คิดเอาว่าอนัตตานี้เหมือนอนิจจัง เพราะมันแปรสภาพไง อนัตตานะถ้าจิตมันเห็น จิตมันใคร่ครวญของมัน พออนัตตานี่มันเหมือนยา คนป่วยพอได้ยามันจะคลายจากโลก

จิต! จิตมันยึดมั่นถือมั่นของมันโดยสัญชาตญาณของมัน เราบอกเราไม่ยึดมั่น เราปล่อยวางได้ ทุกอย่างปล่อยวางได้ ปล่อยวางได้นี้เป็นกิริยา เป็นมรรยาทเฉยๆ แต่สัญชาตญาณมันไม่ปล่อยหรอก สัญชาตญาณมันเป็นตามธรรมชาติของมัน เห็นไหม พอเราฝึกฝน พอเราใช้ปัญญาของเรามา เห็นความเป็นอนัตตาไง

นี่สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นอนิจจังนี่เรื่องโลกๆ วัตถุนี้เป็นอนิจจัง โลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะชีวิตนี้ออกแบบไม่ได้ เราควบคุมไม่ได้.. สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นทุกข์! สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา พอเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาอย่างไรล่ะ? เป็นอนัตตาอย่างไร? แต่ถ้าจิตมันเห็นว่าสิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา..

สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมก็เป็นอนัตตา แต่พอมันแก้ไข มันดัดแปลงของมันด้วยหัวใจของมันแล้ว พออนัตตา อนัตตามันก็จับต้องไม่ได้ อนัตตามันยึดไว้ไม่ได้ ความทุกข์ยึดไว้ไม่ได้ สิ่งที่ต้องการปรารถนายึดไว้ไม่ได้ มันเป็นอนัตตา อนัตตาคือความไม่มีหรือ? ถ้าไม่มีแล้วเราฝึกของเราขึ้นมาได้อย่างไร?

ดูสิว่ามันเป็นความว่างๆ ความว่างมันไม่มีเลยหรือ? ถ้าความว่างไม่มี จิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมาได้อย่างไร? เพราะมันเป็นความว่าง มันปล่อยวางไง รูป รส กลิ่น เสียง มันปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียง มันก็เป็นอิสระของมัน มันก็เป็นความว่าง เป็นอิสระ พอเป็นอิสระแล้ว อิสระก็คือภพ อิสระก็มีตัวตนของมัน เห็นไหม สัญชาตญาณของมันมี แต่เราใช้ปัญญาของเราขึ้นมา

โดยสัญชาตญาณนี่ สัญชาตญาณยึดไม่ได้ ตัวตนมันไม่มี เห็นไหม ปัญญามันลึกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แม้แต่งานทางโลก เราบริหารจัดการเราก็ต้องใช้ปัญญานะ แต่เวลาปฏิบัติเข้าไป ภาวนามยปัญญานี่ ทั้งๆ ที่ว่าทฤษฎีนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษากันแล้วนี่แหละ ว่าเรารู้ๆ นี่แหละ แต่พอเวลาไปเห็นความจริงขึ้นมามันแตกต่างมหาศาล

นกกับปลานะ นี่เวลานกมันบินบนอากาศ มันเห็นสภาวะป่าไม้ต่างๆ มันเห็นหมดเลย แต่มันไม่รู้ ไม่เข้าใจในน้ำ ปลามันอยู่ในน้ำนะ มันเข้าใจเรื่องสาหร่าย เรื่องอาหารของมันในใต้น้ำ มันรู้ของมัน..

โลกกับธรรม! ในหัวใจของเรานี่แหละ เวลาเป็นโลกก็เป็นโลกหมดนะ แต่เวลาเป็นธรรมขึ้นมามันทิ้งโลกได้นะ

นี่ปลากับนก นกมันก็รู้ของมันเป็นสภาวะแวดล้อมของมัน ปลามันก็รู้สภาวะแวดล้อมของมัน แต่พอหัวใจของเรามันมีปัญญาขึ้นมา มันมีสัจธรรมขึ้นมา มันรู้ตามความเป็นจริงขึ้นมา มันปล่อยวางของมัน เห็นไหม ทีนี้ถ้ามันไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เรานี่เป็นสัตว์ครึ่งบนครึ่งน้ำ เราเป็นเต่าไง ขึ้นบกก็ได้ ลงน้ำก็ได้ รู้ไปหมด รู้ทุกอย่างเลย แต่รู้ไม่จริง

ถ้ามันรู้จริงขึ้นมานะ พอรู้จริงขึ้นมา นี่นกก็คือนก สภาวะบนอากาศมันเข้าใจของมัน นี่ปลามันก็คือปลา มันรู้ของมัน เห็นไหม จิตมันก็คือจิต โลกก็คือโลก ธรรมก็คือธรรม เวลาศึกษาปฏิบัติเข้าไป มันจะเห็นจริงของมันเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นวรรคเป็นตอน

ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติเราต้องมีหนักมีเบา เวลามันฟุ้งซ่านนัก มันทุกข์นัก เราต้องเข้มแข็งกับมัน ดูสิเวลานักปฏิบัติใหม่ พระเรานี่ถ้ามันเอาไม่ลงต้องอดอาหาร ถ้ามันเข้มแข็งนัก มันดื้อดึงนัก ให้อดอาหาร อดนอน ทุกอย่างสู้กับมัน พอมันควบคุมได้เราก็พอประมาณ เราก็ดำรงชีวิตของเราไป มันต้องมีหนักมีเบา เราปฏิบัติขึ้นมานี่หนักก็ไม่ได้ เบาก็ไม่ได้ เอาแต่ทางวิชาการนะ

เขาบอกว่า “ปล่อยวางๆ เป็นความว่าง มันไม่มีสิ่งใด มันเป็นอนัตตา..”

นี่ไม่มีหนัก ไม่มีเบาสิ่งใดเลย มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่เราปฏิบัตินะ เวลามันดีดดิ้นในหัวใจ เราต้องเอามันให้อยู่ เอาให้อยู่เราก็ต้องเข้มแข็ง พอมันอยู่ในอำนาจของเราแล้วเราก็ใช้งาน ใช้งานคือออกใช้ปัญญา ออกพิจารณาถึงชีวิต ชีวิตที่ออกแบบไม่ได้เนี่ย สัจธรรม มรรคญาณมันจะเข้ามาทำลายถึงภวาสวะ ถึงภพ ชีวิตนี้จบสิ้นกันเลยนะ

ชีวิตนี้ออกแบบไม่ได้ เพราะมีผลบุญ ผลกรรม ผลของวัฏฏะ เราต้องเวียนตายเวียนเกิดตามแรงขับของกรรม ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ทำดีมันเกิดดี ไปถึงสถานะที่ดี เกิดมาแล้วมีคนค้ำจุนดูแล คนนู้นช่วยเหลือเจือจาน นี้บุญพาเกิด เวลาเกิดโดยกรรม เห็นไหม เกิดในนรก อเวจี ได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ทุกข์ๆ ยากๆ นี้คือกรรมของเรา

กรรมคือการกระทำ ชีวิตเรานี่เราทำมาทั้งหมด ชีวิตที่เราทำดีมา มันต้องให้ผลดีกับเรา ชีวิตนี้เราทำลุ่มๆ ดอนๆ มามันก็ให้ผลกับเรา นี้เป็นผลของกรรม ฉะนั้น สิ่งนี้เป็นอดีตไม่ต้องไปเสียใจ ทุกข์ใจกับมัน ต้องอยู่กับปัจจุบัน พุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธพระเจ้า ปฏิเสธเทวดา อินทร์ พรหมทั้งหมด แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหม ยังต้องมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธทุกๆ อย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยสัจธรรม ด้วยความจริง ด้วยปัจจุบันธรรม สิ่งนี้ ปัจจุบันนี้ ถ้าเราปฏิบัติแล้วไม่ถึงที่สุด ให้ทำคุณงามความดีของเรา

นี่ปัญญามันจะเกิดต่อเมื่อเรานั่งสมาธิ ปัญญามันจะเกิดต่อเมื่อเราฝึกหัดใช้ในหัวใจของเรา ถ้าภาวนามยปัยญามันเกิด สิ่งนี้มันจะมาชำระล้าง ถ้ามันชำระล้างมันเกิดที่นี่ แล้วเราจะเห็นว่าสิ่งที่ว่าทุกข์ว่ายากจากข้างนอกนี่เป็นเรื่องเด็กๆ เป็นเรื่องของผลของวัฏฏะ เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นเรื่องหัวใจที่เป็นผลของวัฏฏะที่มันหมุนไป มันจะเห็นโทษของมันมากกว่านั้น แล้วมันคลายตัวออก คลายตัวออกด้วยภาวนามยปัญญา

นี่ที่ว่าชีวิตนี้ออกแบบไม่ได้ เราจะออกแบบด้วยสติด้วยปัญญาของเราเอง ด้วยการกระทำของเราเอง ด้วยการคลายทิฏฐิมานะ คลายความยึดมั่นถือมั่นของใจออกนะ แล้วสิ่งที่ว่าชีวิตนี้ทุกข์ๆๆ นะ มันเป็นเรื่องธรรมดา ชีวิตก็เป็นแบบนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีสิ่งใดเป็นภาระสิ่งใดเลย

แต่ตอนนี้เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มีเป้าหมายอยากให้มันสงบร่มเย็น แล้วมันไม่ได้ดั่งใจ มันเลยดิ้นรนในใจ มันเลยทุกข์ไปใหญ่เลย แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันปล่อยหมดนะ เป็นอย่างนี้เอง มันไม่มีสิ่งใดเดือดร้อนไปมากกว่านี้หรอก มันเป็นไปตามอายุขัยของมัน

ชีวิตนี้เกิดจากการกระทำ เกิดจากสติปัญญาของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ นี้คือ “งานทางโลกและงานทางธรรม” โยมจะบอกว่าโยมนี่ทุกข์ยากมาก ต้องหาอยู่หากิน พระนี่สบ๊ายสบาย เดี๋ยวดูพระฉันเสร็จสิ ถ้าเอาใจเราไว้ในอำนาจของเราไม่ได้นะ มันเผาในหัวใจ ทุกข์ร้อนน่าดู

งานของโลกโยมต้องบากบั่นมาเพื่อความดำรงชีวิต งานของพระ ศีลธรรมเป็นสมบัติของพระ พระต้องขยันหมั่นเพียร ต้องมีสติปัญญา เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา เอวัง