เทศน์บนศาลา

จมไปกับกิเลส

๓o มิ.ย. ๒๕๕๔

 

จมไปกับกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลาวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม โอกาสจะฟังธรรมนะ เราว่าเราฟังธรรม เรามีสติ เรามีความรู้สึก ตั้งสติไว้เห็นไหม เสียงธรรมนั้นจะมากระทบโสตของเราเอง ทำให้เรามีจิตใจอยู่ในร่างกาย ทำให้ไม่ใช่เรือนว่าง ทำให้ไม่ใช่เรือนร้าง เรามีเจ้าของ มีสติสัมปชัญญะ

ถ้ามีสติสัมปชัญญะ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเห็นไหม ถ้ามันจะสงบระงับ จิตใจนี้จะมีผู้ที่เป็นเจ้าของ แต่ถ้าเราขาดสติเห็นไหม แล้วมันว่างๆ จิตใจนี้ไม่อยู่ร่างกายนี้ ทั้งๆ ที่ปฏิสนธิจิตอยู่กับเรา แต่สติปัญญาความรับรู้มันส่งออกหมด แล้วก็บอกว่า ความรับรู้นั้นไม่ชัดเจน แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเห็นไหม เสียงนั้นจะมากระทบโสตของเราเอง แล้วเราจะจับเอาเสียงนั้นเป็นเครื่องกล่อมใจ ถ้าจิตใจนั้นมีธรรมเป็นที่เกาะ จิตใจนั้นจะร่มเย็น

จิตใจนี้มีแต่สารพิษ มีแต่สิ่งที่เร่าร้อน มีแต่สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเผาผลาญเผาลนใจมันจะมีแต่ความทุกข์ ฉะนั้นเวลาเราศึกษาธรรม คำว่าเราฟังธรรมๆ ธรรมะเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราฟังเสียงเพลง เสียงทางโลกเห็นไหม เสียงเหมือนกัน แต่เสียงเกิดจากกิเลสมันเร่าร้อน มันทำให้จิตใจไม่มีความสงบ

เสียงของธรรมเห็นไหม เสียงเหมือนกัน แต่ในหัวใจนั้นเป็นธรรม จะมีสิ่งต่างๆ กับเสียงนั้นมาให้เราเป็นที่เกาะ เป็นที่เกาะเพราะจิตใจเรามันเป็นอวิชชา

อวิชชานะ รับรู้แต่ไม่รู้จริง คำว่าอวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้ทำไมคนสื่อสารกันได้ แต่สื่อสารเรื่องของโลก สื่อสารเรื่องของธรรมชาติ สื่อสารเรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่การสื่อสารธรรมเราเข้าไม่ถึงธรรม เวลาทางโลกเขา เวลาร้องเพลงผิดคีย์ ผิดจังหวะของเขา มันเข้ากันไม่ได้ แต่ถ้ามันร้องถูกคีย์ของเขา จังหวะมันได้ มันมีความไพเราะเพราะพริ้ง ฟังแล้วมันมีความซาบซึ้งใจ

จิตใจที่มีคุณธรรมในหัวใจ มันถูกคีย์ ถูกสัจจะ ถูกความจริง ถ้าผิดเห็นไหม ความคิดเป็นอันหนึ่ง สัญญาเป็นอันหนึ่ง ความจริงเป็นอันหนึ่ง มันขัดแย้งกันตั้งแต่เสียงที่ออกมาจากผู้เทศน์ ถ้ามันขัดแย้งออกมาเห็นไหม เราฟังเพลง เพลงเวลาเขาร้องผิด ร้องไม่ถูกจังหวะ มันฟังแล้วขัดแย้งไปหมด จิตใจที่ไม่มีคุณธรรม เวลาพูดธรรมะ มันขัดแย้งโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากไปหมด มันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันจะออกมาเป็นจังหวะจะโคน มันจะเป็นความจริงของมันเห็นไหม ทำให้หัวใจเราแช่มชื่น ทำให้หัวใจเรามั่นคง ทำให้เรามีความมั่นใจ เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ จะมีใครบอกเราชี้ทางเรา เราจะเอาคนๆ นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เป็นที่พึ่งของเรา

เราศึกษาของเรามาเห็นไหม เพราะเรามีอวิชชา ความไม่รู้จริง เรามีความลังเลสงสัย มีความอาลัยอาวรณ์ มีไปหมดนะ นี่คืออวิชชา รู้อยู่ รู้เพราะอะไร เพราะเราได้เกิดเป็นมนุษย์ รู้เพราะเรามีจิตโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

ดูสิสัตว์เห็นไหม สัตว์มันสื่อความหมายของสัตว์ มันก็สื่อความหมายโดยขันธ์ของมันโดยภาษาของมันนะ มนุษย์เรามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ โดยการเกิดเป็นมนุษย์ ฉะนั้นมนุษย์เห็นไหม เกิดทางยุโรปเขาก็พูดภาษาของเขา เราเกิดทางตะวันออก เราก็พูดภาษาของเรา ในชนชาติหนึ่ง ในประเทศหนึ่ง ก็มีภาษาท้องถิ่น ภาษากลาง ภาษาต่างๆ ภาษามีหลากหลายไป

คำว่าภาษาเห็นไหม “ภาษาสมมุติ” ภาษาสมมุติมันเป็นธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ฉะนั้นเราเกิดมาเป็นมนุษย์มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นสัญชาตญาณ เป็นการสื่อสาร มันสื่อสารกันได้อยู่แล้ว

แต่สื่อสารแล้วมันรู้จริงไหมล่ะ เห็นไหมเวลาเราศึกษา เราก็เอาสิ่งนี้ไปศึกษา พอเราศึกษาธรรมมา เราว่าเราเข้าใจ การศึกษาธรรมมาเห็นไหม คนหลงทาง.. คนหลงทางนี่หลงไปในป่ารกชัฏ แล้วไม่มีทางออกจากป่าเห็นไหม อาศัยสิ่งนั้นดำรงชีวิตนะ มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุขของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมะๆ ก็ทางดำรงชีวิตไง เห็นไหมธรรมะคืออะไร ธรรมะคือสัจธรรม คืออริยสัจ สิ่งที่เป็นธรรมะเห็นไหม อมตธรรม น้ำอมฤทธิ์ อมตะในหัวใจ สิ่งที่เป็นธรรมใจหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ก็อยู่ชั่วอายุขัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เราสร้างบุญวาสนามาน้อย พระอริยศรีเมตไตรยข้างหน้า จะอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี” เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ล่วงๆ มา ที่แล้วๆ มาก็อายุยืนทั้งนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เราทำบุญวาสนามาน้อย มีอายุแค่ ๘๐ ปี ฉะนั้นท่านจึงวางธรรมและวินัยไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี

คำว่า ๕,๐๐๐ ปีเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม นี่ธรรมและวินัย พยายามเผยแผ่ให้ส่งต่อๆ กันมา เวลาพระประพฤติปฏิบัติเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระจุนทะไปถามว่า ลัทธิศาสนาอื่นๆ เวลาศาสดาท่านสิ้นชีวิตไป ลูกศิษย์ลูกหามีความโต้แย้งมีความขัดแย้งกัน จะรักษาธรรมอย่างไร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะไม่มีธรรมและวินัย ถ้ามีธรรมและวินัย พระจุนทะบอกให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรม บัญญัติวินัย บัญญัติธรรมวินัยขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าบัญญัติไม่ได้ มันไม่มีเหตุไม่มีผล ต่อเมื่อมีผู้กระทำผิด ต่อเมื่อมีการโต้แย้งกระทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงแสดงธรรมนะ ถึงได้บัญญัติธรรมและวินัยนี้เพื่อให้สงฆ์เป็นใหญ่

เวลาพระเทวทัต มีอายุเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มาบวชทีหลัง มาศึกษาในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบกรับภาระมาก ไปขอไง ขอกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลำบากลำบนมามากแล้ว ให้ขวนขวายน้อยเถิด ให้พักผ่อน ให้อยู่สุขสบาย จะขอปกครองสงฆ์แทน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เทวทัต แม้แต่พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของเรา เรายังไม่ให้ปกครองเลย เราให้ธรรมและวินัย ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์” เห็นไหม คำว่า ๕,๐๐๐ ปี ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์ เพราะถ้าสงฆ์ปกครองสงฆ์ สิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีความรับรู้มันจะส่งต่อเนื่องกันไป แล้วให้ใครมาปกครองล่ะ ถ้าให้ใครมาปกครอง ถ้าสิ่งนั้นเป็นธรรม ถ้าครูบาอาจารย์เป็นธรรม ถ้าหัวหน้าเป็นธรรม มันก็มีความสงบร่มเย็นไป

ถ้าหัวหน้าไม่เป็นธรรมล่ะ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงไม่ให้บุคคลปกครอง ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์ อย่างเช่นวันนี้วันพระ วันอุโบสถ สงฆ์ ในเมื่อครบสงฆ์ ก็ต้องลงอุโบสถ คำว่าอุโบสถ ปกครองกัน สวดปาติโมกข์ สวดธรรมและวินัย เพื่อเตือนกันกัน เพื่อให้มีความมั่นคงต่อกันเห็นไหม

นี่สืบทอดกันมาๆ เราก็ศึกษาธรรมมานะ ถ้าเราศึกษาธรรมมา เราศึกษามาแล้ว เราประพฤติปฏิบัติไหม การศึกษาธรรมของเรา ศึกษาแล้วมันจะจมไปกับกิเลสนะ ศึกษาธรรมโดยกิเลส พอศึกษาธรรมด้วยกิเลสเห็นไหม สิ่งที่ว่าเป็นธรรมจมไปกับกิเลส ไม่รู้เนื้อรู้ตัวนะ ยิ่งเราเห็นไหม ยิ่งเราไม่มีครูบาอาจารย์ ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเรา แต่พอเราศึกษาขึ้นมาแล้ว ให้มันเป็นประโยชน์กับเรา มันกลับเป็นโทษ!

มันกลับเป็นโทษว่าเรารู้เราเห็นเห็นไหม ฉะนั้นเวลามีครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเห็นไหม ท่านพยายามรื้อค้น พยายามค้นคว้าของท่าน

สิ่งนี้ ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แล้วเห็นไหม ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แล้วศาสดา ดูสิ เราเป็นพุทธบริษัท ๔ เห็นไหม เวลาเราไปวัดไปวา เราก็กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระประธาน พระในโบสถ์ พระอะไรต่างๆ เป็นองค์สมมุติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็กราบด้วยความชื่นใจ เรากราบเพราะเราเป็นชาวพุทธเห็นไหม มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม

แต่เวลาพุทโธๆ เห็นไหม เราพุทโธเป็นนามธรรม ไม่มีนะ เวลากรรมฐาน สมัยที่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านรื้อฟื้นขึ้นมา มันไม่มีใครส่งเสริมไม่มีใครเห็นด้วยทั้งนั้น เพราะตอนที่หลวงปู่ขาวจะออกประพฤติปฏิบัติเห็นไหม ญาติพี่น้องบอกว่า “บวชแล้ว อยู่วัดแล้วก็สุขสบายแล้ว จะออกไปทุกข์ยากทำไม อยู่วัดอยู่วา เขาก็ดูแลรักษา จะออกไปไหน” หลวงปู่ขาวท่านคิดในใจนะ เพราะว่าหลวงปู่ขาวท่านมีครอบครัวมา แล้วท่านผ่านวิกฤติมาด้วยปัญหาครอบครัวของท่าน เห็นไหม ถึงกับเอามีดจะฆ่าเขานะ แต่เพราะมีบุญกุศลเห็นไหม มันเตือนสติ

เขายอมแล้ว เขายอมแล้ว อย่าทำเขาๆ วางมีดนะ วางดาบเลย แล้วเสียสละหมด ทรัพย์สมบัติต่างๆ ยกให้เขาไปหมด ออกประพฤติปฏิบัติออกบวช สิ่งนี้มันเร้าใจเห็นไหม เร้าใจว่า ในเมื่อเรามีครอบครัว เรามีทุกอย่างพร้อม เป็นนายร้อยนะ นายร้อยคือผู้ที่เขาค้าโคต่าง มีเงินทองมหาศาล ทุกอย่างสมบูรณ์พูนสุข แต่ทำไมมันทุกข์ขนาดนั้น สิ่งที่มันเร้าใจอยากออกประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ว่าออกไปประพฤติปฏิบัติทำไม อยู่โบสถ์แล้วก็แล้วกัน อยู่วัดอยู่วามันก็สมบูรณ์แล้วเห็นไหม

แต่ใจ ใจมันเรียกร้อง แล้วเวลาออกนะ ถ้าออกไป เพราะกิตติศัพท์เกียรติคุณของ หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นขจรขจายไปทั่วประเทศ ในเมื่อมีครูมีอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราบุกเบิกมา ทุกข์ยากมา ประพฤติปฏิบัติมา รื้อค้นมาในใจนี้ ท่านจะต้องไปหาครูบาอาจารย์ จะต้องไปหาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่ขาวท่านออกดั้นด้นของท่าน ดั้นด้นหาครูหาอาจารย์นะ

ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านขึ้นมา สิ่งที่เราศึกษาเห็นไหม เราจะจมไปกับกิเลส! จมไปกับกิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปิดกั้นหมด พอมันจมไปกับกิเลสเห็นไหม ศึกษาแล้ว รับรู้แล้ว ดีแล้ว แหม.. บวชเป็นพระก็คนเคารพนบนอบ เป็นพระสมบูรณ์แล้ว แล้วเราก็นอนใจ ความนอนใจเห็นไหม มันจมไปกับประเพณีวัฒนธรรม มันจมไปกับกิเลส!

แต่ถ้าหลวงปู่ขาวท่านไม่ยอมรับฟัง ท่านตื่นตัวของท่าน ท่านออกไปของท่าน แล้วท่านตั้งไว้ในใจว่า “ตั้งแต่ก้าวเดินออกจากวัดนี้ไป ออกจากหมู่บ้านนี้ไป ถ้าไม่สิ้นกิเลส จะไม่หวนย้อนกลับมาเลย” ท่านออกไปแล้วท่านตั้งมั่นเลย ว่าท่านออกไปแล้วท่านจะต้องทำของท่านให้ได้ มันตั้งธงขึ้นมา แล้วพยายามของเรา อย่าให้มันจมไปกับกิเลส ความเคยชิน ความเคยใจ ใจมันจมอยู่กับสิ่งใด มันก็จมอยู่อย่างนั้นเห็นไหม

แต่ถ้าคนไม่จมมันจะมีหลักมีเกณฑ์ มันจะพยายามขวนขวาย พยายามตื่นตัวตลอดเวลา การตื่นตัวการตั้งสติตลอดเวลา มันจะไม่จมไปกับกิเลส ดูเวลาทางโลกเขาเห็นไหม คนที่เขาเป็นผีการพนัน เวลาที่เขาติดการพนันเห็นไหม เขาจมไปกับอบายมุข เขาจมไปกับการพนัน การต่อรอง การแข่งขันของเขา ตัวตนของเขาอยู่ไหน เขาจมไปกับผีการพนันของเขานะ

เวลาเล่นการพนันไปเห็นไหม คนเรานะ แม้แต่ไฟไหม้บ้าน เขาว่าโจรปล้นสิบหนไม่เท่ากับไฟไหม้บ้านหนหนึ่งนะ โจรปล้นมันก็เอาสิ่งที่มันเอาไปได้นะ เวลาไฟไหม้บ้านมันไหม้หมดเลย ไม่เหลืออะไรเลย คนที่ออกจากบ้านมา หนีไฟไหม้มา ถ้ามีเสื้อผ้าอยู่ชุดเดียว ก็ได้ชุดนั้นออกมาจากบ้านเท่านั้น

แต่เวลาติดเป็นผีการพนันนะ ทรัพย์สมบัติที่มันเหลืออยู่นะ จะไปขาย จะไปทำ จะเอาไปแลกเปลี่ยนมาเป็นเงินตราเพื่อจะเอาไปสู่การพนันนั้นหมดเลย เห็นไหม ดูสิเวลามันจมไปอยู่กับผีการพนัน คนๆ นั้น ใจดวงนั้น ไม่ใช่เป็นของคนๆ นั้นเลย นี้พูดถึงผีการพนันนะ

แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นนักประพฤติปฏิบัติ เราว่าเราจะประพฤติปฏิบัติ ทำไมเราทำใจของเราให้จมไปกับกิเลสล่ะ คนนะ เวลาเขาตกน้ำ เขาว่ายน้ำไม่เป็น เวลาเขากระเสือกกระสน เขาทุกข์ยากของเขา เขาจะต้องตายไปนะ คนจมน้ำเวลาเขาดิ้นรนเราก็เห็นได้ แต่เวลาสุดท้ายจมน้ำตายไปแล้ว เราจะไม่เห็นเขาเลย น้ำนั้นก็ราบเรียบ นี่จมไปกับน้ำ!

สังคมนะ สังคมคนหมู่มาก เราเข้าไปในสังคมนั้น เราหายไปในสังคมนั้นเลย ไม่มีตัวตนของเราเลย หายไปเลยเห็นไหม คนหายไปจมไปในสังคมสังคมนั้น จิตใจของเราเป็นนามธรรม มันไม่ใช่วัตถุที่จะให้มันจมไปไหน แต่เพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ มันถึงตั้งตัวของมันเองไม่ได้

เวลาเราประพฤติปฏิบัติเห็นไหม การจมไปคือมีทิฐิมานะ เวลาในประเพณีวัฒนธรรม เขาว่าเขาก็เป็นคนดีกันทั้งนั้น สิ่งที่เขาทำดีเขาเป็นคนดีเห็นไหม เขาจมไปกับทิฐิมานะของเขา ความดีอย่างหยาบ ความดีอย่างละเอียด ความดีอย่างละเอียดสุด ความดีมันมีมหาศาลเลย “ทาน ศีล ภาวนา” การทำบุญทำทานเป็นความดีไหม? เป็น เป็นความดีส่วนหนึ่ง เราเป็นคนดี เรามีความกตัญญูกตเวที พ่อแม่เราเป็นคนดีไหม? เป็น เป็นความดีเหมือนกัน แล้วความดีต่อไปมันคืออะไรล่ะ

เราจมไปกับมันนะ เราหายไปกับมัน แต่ถ้าเราดิ้นรนของเราล่ะ เราขวนขวายของเราล่ะ ถ้าเราขวนขวายของเราเห็นไหม ผู้ที่จมไปกับกิเลส เขาบอกคนๆ นั้นไม่มีความสุข คนๆ นั้นเร่าร้อน แต่ถ้าคนมีสติปัญญาล่ะ เราไม่จมหายไปกับมัน! เราไม่เอาชีวิตนี้จมหายไปกับวัฏฏะ! สิ่งที่เกิดมานี้ผลของวัฏฏะทั้งนั้น! แล้วเราก็ดำรงชีวิตๆ หนึ่งให้หมดสิ้นกันไป!

มันจมหายไปกับวัฏฏะนะ! ถ้าจมหายไป แล้วเราออกจากวิวัฏฏะ จิตใจมันจะเข้มแข็งขึ้นมา มันจะปฏิบัติขึ้นมา ทำไมปล่อยให้จิตใจมันจมหายไปกับวัฏฏะล่ะ ศึกษาธรรมะนะ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษานะ ยิ่งประเพณีวัฒนธรรม มีครูบาอาจารย์ด้วย โอ้โห มีครูมีอาจารย์รื่นเริงอาจหาญทั้งนั้น แต่ก็ปล่อยให้ชีวิตนี้มันจมไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อยู่กับความเศร้าหมอง อยู่กับการไม่มีสติปัญญา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตปฏิบัติไป ก็ให้มันตกสู่ภวังค์ไป หายไปเห็นไหม มันจมไปสู่กิเลสนะ!

มันจมไปกับกิเลส กิเลสครอบงำหมดเลย แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติเห็นไหม หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น ทำไมท่านปลีกวิเวกออกมาล่ะ ทำไมท่านจะออกจากหมู่คณะไปล่ะ ท่านเข้าป่าเข้าเขาไปทำไม เราอยู่วัดอยู่วา เราอยู่ในสังคมเราก็มีความสุขเห็นไหม เราก็ปฏิบัติได้ ใครก็ประพฤติปฏิบัติได้ แล้วปฏิบัติได้จริงหรือเปล่าล่ะ?

ถ้ามันปฏิบัติได้เห็นไหม เวลาเราปฏิบัติมาแล้วนะ อยู่ป่าก็อยู่ได้ อยู่บ้านก็อยู่ได้ อยู่สังคมก็อยู่ได้ อยู่ตรงไหนก็อยู่ได้ เพราะมันไม่จมหายไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง แต่นี่บอกว่าเวลาเราอยู่ของเรา เราก็บอกว่าเราก็เป็นคนดี นี่มันจมหายไปกับกิเลส นี่กิเลสครอบงำแล้วนะ ศึกษาธรรมะมา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ศึกษามาแล้วตัวตนก็หายไป ไม่มีสิ่งใดเป็นความจริงขึ้นมาเลย

แต่ถ้าเรามีความจริงขึ้นมาเห็นไหม เราตั้งสติ เราระลึกถึงชีวิตสิ ชีวิตนี้ได้มาอย่างไร ชีวิตนี้มาจากไหน แล้วมันจะอยู่ของมันไปกี่วัน แล้วมันจะตายไปข้างหน้า แล้วก็หายไป ความว่าหายไป หายไปโดยวัฏฏะนะ วัฏฏะหมายถึงว่า มนุษย์ตายไปแล้วไปไหน เวลาคนตายไปแล้วไปอยู่ที่ไหน จิตไปไหน เวลาเทวดา อินทร์ พรหม ตายแล้วไปไหน นี่ไง จมคือมันหายไปไง มันหายไปกับวัฏฏะ มันหายไปจากภพชาติ

ภพชาติหนึ่ง ถ้าเรามีสติปัญญา เราเป็นมนุษย์ ปัจจุบันนี้เรารู้ว่าเราเป็นมนุษย์ เรามีความสุขความทุกข์อยู่ เวลาตายไปแล้วมันไปเป็นสภานะอะไร ถ้าตายไปเป็นสัมภเวสี เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดนะมันไปอีกแล้ว นี่มันจมอยู่ในวัฏฏะ เห็นไหม เวลามันจมหายไปไง นี่พูดถึงว่าในปัจจุบันนี้ล่ะ ถ้าเราตั้งสติขึ้นมา โลกก็ว่ากันไป ถ้าเราไม่จมไปในวัฏฏะ คือว่าไม่เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ มันก็จมหายไปกับกิเลส

เราศึกษาแล้ว เวลาเราทำขึ้นมา เวลาใครจะละล้าละลัง ใครจะดึงไว้ ใครจะให้เป็นไปตามเขา เพราะเขาเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เขาเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากเพราะเขามีกิเลสอยู่ แล้วเขาพอใจแค่นั้น คนจมน้ำตายตาย แล้วเขาก็พอใจความตายอันนั้น แล้วเขาก็กวักมือไหวๆ เรียกให้เราโดดไปจมน้ำตาย เราจะไปไหม?

ถ้าเราไม่ไปจมน้ำตายกับเขา เห็นไหม เราไม่ยอมจมไปกับกิเลสของเรา เราไม่ยอมจมไปกับความมักง่าย ความพอใจที่ว่าสิ่งนี้เป็นคุณงามความดี แต่พอเราจะเริ่มจริงจังของเรา เขาก็หาว่าเราเป็นเดนคนเศษคน

เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่านี่เหมือนเศษคน คนเขาอยู่ในบ้านในเมือง เขามีแต่ความสุขความสบายทั้งนั้น ไอ้เราไปอยู่ป่าอยู่เขาทำไม ดูสิในปัจจุบันนี้เห็นไหม สัตว์ป่ามันน้อยลง เขาก็พยายามจับสัตว์ป่ามาอยู่สวนสัตว์ เอาสัตว์มันมาขังไว้ แล้วให้เราไปดู แต่เวลาเราจะดูสัตว์ป่าในธรรมชาตินะ เราจะต้องไปซุ่ม ต้องไปนั่งโป่งเพื่อจะแอบดู ความเป็นสัจจะ ความเป็นไหวพริบของมันเห็นไหม

แต่ด้วยความฉลาดของคน เขาเอาสัตว์ป่ามาขังไว้ แล้วก็ให้เราไปดู นี่ก็เหมือนกัน เราจะออกประพฤติปฏิบัติ เราจะออกไปทำไม จะไปทุกข์ยากทำไม ความทุกข์ยากอันนั้นมันเป็นประสบการณ์ของจิต ให้มันตื่นตัวขึ้นมา ถ้าเรากำหนดพุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม ให้จิตมันมั่นคงขึ้นมา ถ้าจิตมันมั่นคงขึ้นมาเห็นไหม เวลาพุทโธๆๆ จนจิตมันสงบขึ้นมา มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ตัวตนของมันจะเด่นชัดมาก

เวลาบอกว่า กิเลสเวลาฟุ้งซ่าน เพราะมันมีทิฐิมานะ เพราะมันมีตัวตน มันถึงทำสมาธิไม่ได้ เรากำหนดพุทโธๆ นะ จนตัวตนนั้นหายไป พอตัวตนนั้นหายไปเห็นไหม ตัวตนมันมีทิฐิ มันมีทิฐิในความคิด เราพยายามจะปล่อยวางนะ เวลาเราทำความสงบกัน เราพยายามจะปล่อยวาง ปล่อยวางความฟุ้งซ่าน ปล่อยวางความนึกคิด แต่ให้มันมีสติอยู่

แล้วมันปล่อยวางไหมล่ะ เพราะมันระวัง มันคอยระวัง การระวังนั้นมันเลยทำให้เราพะว้าพะวงเห็นไหม ไม่ได้สิ่งใดเลย แต่ถ้าเวลาเรากำหนดพุทโธๆ แล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันปล่อยตัวตน ปล่อยทุกอย่างเลย แล้วมันจะเด่นชัด

คำว่าเด่นชัด เด่นชัดในสติ เด่นชัดเป็นสัมมาสมาธิ นี่ไงความเด่นชัดของใจมันมั่นคงขึ้นมา พอความเด่นชัดของในมันมั่นคงขึ้นมาเห็นไหม มันไม่จมไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเราไง ในปัจจุบันนี้เราจมไปกับอารมณ์ จมไปกับสัญญาอารมณ์ จมไปกับความฟุ้งซ่าน จมไปกับความรู้สึกนึกคิดของใจ

ใจที่มันมีอารมณ์ความรู้สึกเห็นไหม ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มันเกิดดับๆ แล้วเรารู้ไปกับมัน จมไปกับมัน แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เราตั้งสติปัญญาของเราเห็นไหม ตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เวลามันเด่นชัดขึ้นมา มันตั้งธงขึ้นมา ตั้งเราขึ้นมาให้มันเด่นชัดขึ้นมา ความเด่นชัดขึ้นมา มันมีกำลังของมันเห็นไหม

ถ้าจิตมันเป็นเป็นสัมมาสมาธิ จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน สมถกรรมฐาน ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติเห็นไหม สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ชัยภูมิของการรบ ที่เราจะรบทัพจับศึกเห็นไหม เราจะรบทัพที่ไหน เราว่างๆ ว่างๆ นั่นมันจมไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากนะ ความว่างๆ นี้สติปัญญามันอยู่ไหน ความรู้สึกนิดคิดมันอยู่ไหน นี่ไง ความรู้สึกนึกคิดคือความฟุ้งซ่านไง ก็ปล่อยความฟุ้งซ่านมา มันก็ว่างๆ ไง นี่ไงมันจมไปกับภวังค์

คำว่าภวังค์เห็นไหม ภวังคุบาท เวลาลงสู่ภวังค์มันไปไหน จิตมันไปไหน นี่ไงถ้าเราไม่มีสติมันก็จมอยู่กับกิเลส จมอยู่กับความรู้สึกนึกคิด แล้วความรู้สึกนึกคิดนี้ ก็ตรึกในธรรมๆ ความรู้สึกนึกคิดนี้ก็นึกในธรรมเห็นไหม พอนึกในธรรมเราก็เข้าใจ นี่ไงเราเข้าใจเราต่างๆ มันเป็นสุตมยปัญญา

การศึกษานะ เวลาใครศึกษาธรรมะ มันจะมีความซาบซึ้ง เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมไม่ใช่โลก เรื่องของโลกเห็นไหม เรื่องของโลกคือเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เรื่องการเอารัดเอาเปรียบ เรื่องการเอาชนะคะคานกัน แต่พอศึกษาเรื่องธรรมเห็นไหม เป็นเรื่องการเสียสละ เป็นเรื่องการให้อภัย เป็นเรื่องการปล่อยวาง ให้จิตเราให้มันสะดวกสบาย อย่าให้มีสิ่งที่เป็นความเศร้าหมองตกค้างในใจ

ศึกษาไปนะ มันจะเห็นคุณค่าไง เห็นคุณค่าของอริยทรัพย์ ที่ทรัพย์สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ที่ได้เป็นอริยสัจ สัจจะความจริงที่เกิดขึ้น ที่หัวใจมันมีความสัมผัสมีความรับรู้ขึ้นมาเห็นไหม เราศึกษา เรายังไม่ได้เราก็ศึกษา พอศึกษาไปมันมีความรับรู้สิ่งต่างๆ มันก็มีธรรมสังเวชนะ

มันสังเวชนะ มันสังเวชว่า ความจริง คุณงามความดี ความดีงามมันก็มี แล้วทำไมหัวใจเรา มันไปปรารถนาสิ่งที่เป็นเรื่องของโลก เรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากล่ะ มันก็คิดของมันไปนะ เพราะอะไร เพราะอวิชชาไง มันคิดได้ คิดได้เพราะอะไร คิดได้เพราะมันมีอวิชชา มันมีการสืบต่อ มันมีเวรมีกรรมไง มันมีเวรมีกรรมมันก็คิดสืบต่อของมันไป แล้วเราจะหักด้ามพร้าด้วยเข่า เราจะหักทิฐิมานะของเรา เราทำได้ยากนะ เราทำได้ยาก

แต่ถ้าเรามีหมู่มีคณะ มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง ชีวิตแบบอย่างไง ชีวิตแบบอย่างคือชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านจะพักผ่อนของท่าน ท่านจะนอนสีหไสยาสน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยนอนเหมือนพวกเราเลย เห็นไหมชีวิตแบบอย่าง ความเป็นอยู่การดำรงชีวิตต่างๆ ชีวิตนี้เป็นชีวิตแบบอย่าง ถ้าเราไม่มีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง ไม่มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เราก็จะเร่ร่อนไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

เวลามันเร่ร่อนไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก นี่ไง จิตใจเราจมหายไปเลยนะ หายไปกับความเร่ร่อนนั้น เมื่อใดเกิดความกระทบที่รุนแรง เมื่อใดจิตได้สัมผัสสิ่งใดมันก็สะเทือนใจสักหนหนึ่ง พอสะเทือนใจสักหนหนึ่งเห็นไหม เราก็หวังว่าเราอยากจะประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะพ้นทุกข์เพราะเราได้เผชิญกับวิกฤติของชีวิต เพราะเผชิญวิกฤติของชีวิตมันเป็นอะไรล่ะ เผชิญวิกฤติของชีวิตมันกระทบ กระทบแล้วมันสะเทือนใจไง ถ้าคนมีสตินะ

แค่ถ้าคนไม่มีสติ เวลากระทบกับการดำรงชีวิตนะ มันสะเทือนใจแล้ว มันมีในเรื่องของกิเลสเพิ่มขึ้น เวลาจิตใจถ้ามันจมไปกับกิเลสนะ กิเลสมันจะซับซ้อน กิเลสมันจะให้ค่านะพอกระทบขึ้นมา เพราะสิ่งนั้นๆ มันจะหาเหตุผลอ้างไปเรื่อยล่ะ พออ้างไปแล้ว พยายามจะแก้สิ่งใดก็แล้วแต่ มันก็จะเจ็บซ้ำเจ็บซ้อน เพราะสิ่งนั้นเป็นสมมุติ

เรื่องของโลก เรื่องของความเป็นไปของโลกมันเป็นสมมุติเห็นไหม “สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์” มันเป็นสิ่งอนิจจัง ดูสิดูวันเวลา ดูสภาวะแวดล้อมของโลก ดูสิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงไปทั้งนั้น วันเวลามันจะเปลี่ยนไป ไม่มีอะไรคงที่เลย วันนี้ พรุ่งนี้ เดือนหน้า เดือนต่อๆ ไป มันจะเปลี่ยนแปลงของมันไป สิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง มันแปลสภาพของมันอยู่อย่างนั้น แล้วพอจิตใจเราไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นเห็นไหม มันกระทบสิ่งใด มันก็ย้อนกลับมา ถ้าย้อนกลับมาถ้ามีสติปัญญานะ

ถ้ามีสติ มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง เราจะเห็นโทษ พอเราเห็นโทษเห็นไหม พระเราที่ประพฤติปฏิบัติกันเพราะเห็นโทษในวัฏฏะ โทษของวัฏฏะนะ โทษของวัฏฏะเห็นไหมมันบีบคั้นเรา มันเสื่อมสภาพ ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง พอเกิดแล้วแล้วมันก็มีชราคร่ำคร่า มันก็มีต้องมีการสิ้นไป ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถึงที่สุดแล้วมันก็สิ้นไป

แต่ถ้าไม่เข้มแข็ง เราจะดำรงชีวิตอย่างนี้ได้ยาก แต่ถ้าเราเข้มแข็งเห็นไหม เราตั้งชีวิตของเรา แล้วเรากำหนดพุทโธๆ เห็นไหม คำว่าพุทโธ “พุทธานุสติ” เราพยายามพึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่ว่าจิตใจมันตั้งขึ้นมาไม่ได้ เราก็พยายามบริกรรม พยายามใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันบริกรรมแล้วมันเครียดเห็นไหม การทำงาน คนทำงานวันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง แล้วทำเป็นเดือนเป็นปีเห็นไหม พระเราทำเป็นปี ๑๐ ปี ๒๐ ปีจะต้องประพฤติปฏิบัติตลอด

คำว่าประพฤติปฏิบัติเห็นไหม งานของใจ งานบริหารจัดการทางโลก เขาใช้การบริหารจัดการ เขาต้องใช้ปัญญาของเขา ปัญญาของเขาก็ปัญญาขากสมอง แต่งานของเราก่อนที่จะเกิดปัญญา เราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบนะ เวลาเกิดปัญญา เราบริหารจัดการหัวใจของเราเอง มันจะชัดขึ้น แจ่มชัดขึ้น มันจะเด่นชัดขึ้น

คำว่าเด่นชัดนะ จิตถ้ามันลงสู่ความสงบ ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ มันมีกำลังของมัน พอจิตมันเริ่มมีกำลัง เราประพฤติปฏิบัติเราไม่เคยชนะสักหนหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อวันใด เราทำถึงจิตสงบได้ มันชนะหนหนึ่ง สิ่งนั้นเห็นไหม เราเคยชนะหนหนึ่งเราทำได้ แล้วเราขยันหมั่นเพียร ชำนาญในวสี การเข้าการออกสมาธิ เราชำนาญในวสี ถ้ามันไม่ชำนาญของมันเห็นไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิอะไรต่างๆ การว่าปัญญามันคอยหาเหตุหาผล

ทำไมเราปฏิบัติแล้วทำได้ ปฏิบัติแล้วทำไม่ได้ สิ่งนี้พอเราชำนาญขึ้นเห็นไหม เราทำได้บ่อยครั้งขึ้น ชำนาญในวสีมากขึ้น การนึกพุทโธมันง่ายขึ้น การนึกพุทโธเห็นไหม พอเรานึกพุทโธนี่เราตึงเครียดมาก เราทำแล้วทุกข์มาก แล้วจะต้องทุกข์อย่างนี้ไปตลอดชีวิตเชียวหรือ

ถ้ามันทุกข์เห็นไหม ดูสิเราจุดไฟไม่ติด เวลาเราจุดไฟไม่ติด จุดอย่างไรก็ไม่ติด เรารำคาญไหม แต่ถ้าเราจุดไฟติดขึ้นมานะ ไฟมันจะเผาเชื้อเพลิง เผาเชื้อเพลิงไหม้ เอาไฟนั้นมาทำอาหาร มาต้มหุงกิน เพื่อทำสิ่งใด เพื่อแสงสว่างได้ทุกๆ อย่างเลย

จิต จิตถ้ากำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบลงซักหนหนึ่งเห็นไหม เราจุดไฟติดเห็นไหม เราจุดไฟครั้งหนึ่งเราจุดได้ จะลำบากจะยากขนาดไหน แต่เราก็จุดไฟจนไฟเราติดได้ ครั้งที่ ๒ เพราะเราเคยจุดได้ ครั้งที่ ๒ ต้องจุดได้! ครั้งที่ ๓ ต้องจุดได้! ครั้งที่ ๔ ต้องจุดได้! พอมีความชำนาญมากขึ้น ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออก คนถ้ามีความชำนาญแล้ว พุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ เราจะมีอุบาย มีการหาทางออก มันทำได้ง่ายขึ้นไง

ฉะนั้นเราอย่าไปวิตกกังวลว่า เราจะต้องทุกข์ยากอย่างนี้ตลอดไป เราทุกข์ยากอย่างนี้เพราะกิเลสมันหนา เพราะกิเลสในหัวใจเรามันครอบงำเราอยู่ เราจะต้องพยายามต่อสู้ พยายามทำเพื่อประโยชน์ของเราขึ้นมา พอมันสงบซักหนสองหน พอมันมีความชำนาญขึ้น เราใช้ปัญญาของเรามากขึ้น มันเด่นชัด พอจิตเด่นชัดขึ้นมา มันไม่จมไปสู่ รูป รส กลิ่น เสียง มันเด่นของมันขึ้นมาเห็นไหม

ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส มันจมไปกับรูปรสกลิ่นเสียง รูปรสกลิ่นเสียงมันปิดบังครอบงำหัวใจนี้ไว้ หัวใจนี้ก็เป็นขี้ข้าของมัน แล้วเราก็ศึกษาธรรมะกัน เราศึกษาเราประพฤติปฏิบัติเห็นไหม มันจมไปในประเพณีวัฒนธรรมไง มันจมไปในการศึกษานั้นไง แล้วขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เห็นไหมคือความรู้สึกนึกคิด แล้วความรู้สึกนึกคิดมันเกิดมาจากอะไร มันเกิดมาจากภวาสวะ เกิดจากจิต แล้วจิตมันมีอะไรล่ะ จิตมันมีอวิชชา จิตมันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ มันมีพญามารไง มันมีปู่มันครอบงำอยู่

แล้วในปู่มันก็มีพ่อเห็นไหม พ่อมันก็มีลูก ลูกมันก็มีหลาน เพราะเราเริ่มต่อสู้ หลานมันยังไม่เห็นหน้า ถ้าเราไม่รู้จักกิเลส เราไม่เห็นกิเลส เราจะไปแก้กิเลสได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้กิเลส เราไม่เห็นกิเลส เราก็จมอยู่กับมัน ไปนอนจมอยู่กับกิเลสนะ แล้วยังภูมิใจ แหม.. ได้ต่อสู้กับกิเลสนะ ได้คิด ได้จินตนาการ โอ้โห ต่อสู้กับกิเลส กิเลสเป็นอย่างนั้น โอ้ย ว่าง สบาย ศึกษา.. มันมีแต่รูปแบบนะ

เวลาเราปฏิบัติกันเห็นไหม ครูบาอาจารย์บอกว่า ปฏิบัติพอเป็นพิธี โลกเขาเป็นอย่างนั้น พอเขาปฏิบัติพอเป็นพิธีเห็นไหม ในปัจจุบันนี้ในการประพฤติปฏิบัติมันเป็นสิ่งที่ชาวพุทธเรากำลังเห่อเหิมกัน กำลังประพฤติปฏิบัติกันด้วยกระแสสังคม แล้วก็ประพฤติปฏิบัติกันนะ แล้วก็มีความสุขความสบาย นี่มันจมไปแล้วนะ จิตใจมันจมไปแล้ว มันจมไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เอาสังคม เอาการเกื้อกูลของสังคมเอามาเกื้อหนุนให้ใจมันนอนจมไง ประพฤติปฏิบัติแล้วได้ผลนะ โอ้โห มีความสุข

เวลานักปฏิบัติคุยกัน เขาจะบอกว่า เขาประพฤติปฏิบัติที่นั่นมาแล้วมันจะสบาย ประพฤติปฏิบัติที่นี่แล้วมันก็สบาย เราก็ฟังนะ สังคมเรานักปฏิบัติเราก็ฟังใช่ไหม เราก็อยากจะปฏิบัติให้มันสบายจริงๆ แล้วพอปฏิบัติแล้วมันสบายจริงไหมล่ะ

มันเหมือนกับเด็ก เด็ก.. ไม่เคยพบสิ่งใดเลย พอมันเจอสิ่งใดที่มันเป็นประโยชน์ขึ้นมาเล็กน้อย มันก็ว่าสิ่งนั้นมีคุณค่ามาก สิ่งนั้นมีคุณค่ามาก แต่ครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น ท่านประกอบกิจการของท่าน ท่านทำตัวของท่าน ท่านฆ่ากิเลสของท่านเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา หลวงปู่มั่นเวลาท่านออกประพฤติปฏิบัติ เพราะหลวงปู่มั่นเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ไปเอาหลวงปู่มั่นออกมาบวช แล้วหลวงปู่เสาร์ก็สอนหลวงปู่มั่นประพฤติปฏิบัติ

หลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นออกธุดงค์ด้วยกัน เวลาหลวงปู่มั่นท่านภาวนาของท่านไป มีปัญหาติดขัด ท่านจะมาปรึกษามาถามอาจารย์ของท่าน คือถามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ท่านก็ตอบปัญหาของหลวงปู่มั่น แก้ไขปัญหาของหลวงปู่มั่น พอแก้ไขไป แก้ไขจนสุดความรู้ของของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์เวลาหลวงปู่มั่นท่านมาถามอีก ท่านบอกว่า “เราแก้ไม่ได้ ท่านต้องแก้ของท่านเอง” เห็นไหม นี่คืออำนาจวาสนาของบุคคลไม่เหมือนกัน

เวลาหลวงปู่มั่นท่านก็พยายามของท่าน ท่านก็แก้ไขของท่าน สุดท้ายแล้วท่านมาจำพรรษาที่วัดบรมฯ(วัดบรมนิวาส) ท่านมาปรึกษาเจ้าคุณอุบาลี ท่านออกประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านแก้ไขของท่านมาเป็นชั้นเป็นตอน ท่านศึกษา ท่านค้นคว้า ท่านพยายามของท่าน จนหลวงปู่มั่นท่านก็มาแก้หลวงปู่เสาร์เห็นไหม

เวลาประพฤติปฏิบัติไป กิเลสมันเป็นชั้นเป็นตอนนะ มันมีพญามาร ปู่พญามาร ปู่มันคือพญามาร มันมีแม่ทัพ มีพ่อมัน พ่อมันนี้เป็นแม่ทัพ เป็นนางตัณหา นางอรดีเห็นไหม เป็นความโลภความโกรธความหลง แม่ทัพมันเป็นพ่อแม่มันก็มีลูกเห็นไหม มีลูกมันก็เป็นขุนพล สิ่งนั้นก็เป็นเรา สิ่งนี้ก็เป็นเรา นี่ยึดมั่นถือมั่นเห็นไหม สรรพสิ่งนี้เป็นเรา

แล้วมันก็ยังมีเหลนอีกนะ ยังมีหลานต่างๆ มันแตกแยกย่อยไปมหาศาลเลย ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านทำตามความเป็นจริงของท่านขึ้นมา ฉะนั้นเวลาท่านมาเห็นพวกเราปฏิบัติพอเป็นพิธี เพราะว่าเราปฏิบัติพอเป็นพิธีเห็นไหม แล้วเราก็จะเอามรรคเอาผล เหมือนหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น

เวลาเห็นหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น เห็นครูบาอาจารย์ของเราท่านออกธุดงค์ ท่านออกปฏิบัติ “เราทำไม่ได้ เราทำไม่ได้” พอทำไม่ได้ แต่เราก็อยากปฏิบัติ พอเราปฏิบัตินะ เราก็สร้างพิธีกรรมขึ้นมา ปฏิบัติพอเป็นพิธีขึ้นมา นี่ไงจิตใจมันจมไปกับกิเลส กิเลสพาจม กิเลสหมักหมมจมไปในกิเลส ปฏิบัติขึ้นมาพอเป็นพิธี ปฏิบัติขึ้นมาเพื่อเอาไว้คุยกัน ปฏิบัติขึ้นมาเพื่อว่าเป็นความว่างๆ เห็นไหม มันไม่มีเหตุมีผล มันไม่มีสิ่งใดเป็นความจริงเลย

เราเห็นโลกอย่างนี้แล้ว แล้วเราก็เอามาเตือนเรา เขาเป็นอย่างนั้นด้วยจริตนิสัยอำนาจวาสนาของเขา แล้วเราจะเป็นอย่างนั้น แล้วให้ชีวิตเราจมหายไปกับวัฏฏะนี้ ชาตินี้ชาติหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดติดไม้ติดมือไปเลยเหรอ แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราทำให้เราแช่มชื่น แจ่มใส แล้วเราจะเอาคุณงามความดีของเราขึ้นมา

เราเกิดมาชาตินี้เห็นไหม เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ เราก็ทุกข์ยาก พ่อแม่เลี้ยงดูเรามา แล้วเราจะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่จะเลี้ยงดูตัวเอง แล้วเรามีครอบครัวเราก็จะไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานของเราไป เราจะเอาความจริง เราต้องทำความจริงของเราขึ้นมา เขาปฏิบัติขึ้นมาพอเป็นพิธีเอาไว้เพื่อคุยกัน เพื่อเอาไว้ให้เป็นศักยภาพทางสังคมของเขา นั่นมันเรื่องของเขา เรื่องของเรา เวลาเราเกิดมาเราทุกข์ยากมาขนาดไหน แล้วเราเกิดมาทุกข์ยากมันเกิดอริยทรัพย์ เพราะทรัพย์ความเป็นมนุษย์นี้ กว่าจะได้มาเห็นไหม มันจะต้องมีมนุษยสมบัติ เราได้ทรัพย์ที่ความเป็นมนุษย์นี่มาแล้ว แล้วเรามีอำนาจวาสนา

มีอำนาจวาสนาเพราะเราเห็น เห็นไหมดูสิในสังคมเขาบอกว่า พระปฏิบัตินั่งหลับหูหลับตามันจะรู้อะไร ไปอยู่ในป่าในเขา ไปเรียนกับสัตว์ เสือสางช้างม้า สัตว์มันจะมีความรู้อะไรสอน เราสิ เราประพฤติปฏิบัติอยู่กับนักปราชญ์เห็นไหม มันมีตำรับตำรา ครูบาอาจารย์ท่านสอนนักปราชญ์ อย่างนี้สิ มันถึงเป็นผู้ปฏิบัติ มันต้องมีการศึกษา!

เวลาเขามีความสัมพันธ์กัน เราก็ได้ยินทั้งสองข้างสามข้าง แล้วเราเลือกอะไร เราเลือกการศึกษา ศึกษาแล้วก็ศึกษาให้กิเลสมันจมไป ให้จิตใจนี้จมไปกับกิเลส เราก็เห็นของเรา เราก็มีสติปัญญาของเราเห็นไหม

เราเลือกแล้วว่าเราจะเผชิญกับความจริง เราจะเผชิญกับความจริงในหัวใจของเรา ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ท่านจะไปเรียนกับเสือ เรียงกับสาง เรียนอยู่ในป่าขนาดไหน เรียนอย่างนั้นเพื่อจะให้สิ่งนั้นให้เป็นชัยภูมิ ให้สิ่งนั้นให้ช่วยดูแลรักษา กลัวผีก็กำหนดพุทโธๆ ไม่ให้จิตไปนึกถึงผี กลัวเสือ กลัวช้าง กลัวม้าจะมาทำลายเรา เราก็ต้องตั้งสติ เราตั้งสติเราต้องควบคุมใจของเรา ให้จิตใจของเราไม่นึกถึงภาพนั้น ไม่นึกถึงสัตว์เสือนั้น นึกถึงความกลัวนั้น เพราะถ้าเราอยู่ของเรา จิตใจมันไม่มีสิ่งใด มันก็จมไปสู่กิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันพองขน มันพยายามครอบงำทั้งนั้น

แต่พอเราเข้าป่าไปเห็นไหม เราไปเจอเสือสางช้างม้า แล้วน่ากลัวไหม มันเป็นสัตว์ป่า มันทำลายอะไรของมัน มันทำโดยสัญชาตญาณของมัน เราไม่สามารถจะไปควบคุมสิ่งใดมันได้หรอก แต่ถ้าเรามีศีล เรามีความมั่นใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราเห็นไหม เราพุทโธๆ ของเรา เราก็อยู่ของเรา หลับตาเลย ถ้ามีเวรมีกรรมต่อกันให้เอาไปเลย ถาไม่มีเวรมีกรรมต่อกันเขาจะทำอะไรเราไม่ได้หรอก

นี่ไง ถ้าจิตใจมันมั่นคงของมันขึ้นมา มันมีสติปัญญาของมันขึ้นมาเห็นไหม แล้วเวลามันมีสติ เพราะเอาเสือสางช้างม้านั่นแหละเป็นครูเป็นอาจารย์ ให้จิตใจนี้ไม่ฟุ้งซ่าน ให้จิตใจนี้ไม่จมไปสู่อารมณ์ตัณหาความทะยานอยาก ให้จิตใจนี้มันกลัวภัยของมัน กลัวอะไรต่างๆ มันก็พุทโธชัดเจนของมันขึ้นมา ถ้าพุทโธชัดเจนขึ้นมาเห็นไหม สิ่งที่ว่าเป็นสติ สิ่งที่ว่าเป็นสมาธิ มันต้องเอาตำราที่ไหนมายืนยัน มันเอาปัจจัตตัง เอาสันทิฐิโก เอาความรู้จริง มันเด่นชัดขึ้นมาเห็นไหม มันไม่จมไปอยู่กับสัญญาอารมณ์ มันเป็นความจริงขึ้นมาเห็นไหม

เราเลือกแล้ว เราเลือกว่าเราต้องการความจริง เราก็ประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความจริงขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมาเห็นไหม สงบบ่อยครั้งเข้า ใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้า เราเห็นประโยชน์กับมันไหม

หลวงปู่มั่นเวลาท่านอยู่หนองผือนะ พระองค์ไหนถ้าประพฤติปฏิบัติมีแววว่าปฏิบัติแล้วจะได้ผลเห็นไหม ท่านจะให้ไปอยู่ที่ถ้ำนั้น ที่เสือขึ้นลง ท่านจะให้ไปอยู่ที่ป่าช้านั้น ที่ว่ามีผีมีสางต่างๆ ที่จะมาคอยให้ส่งเสริมให้กำลังใจ

พระถ้าปฏิบัติเห็นไหม ท่านส่งไปๆ ส่งไปเพื่อให้พิสูจน์ ส่งไปเพื่อให้สติปัญญา ส่งไปให้มันเจอวิกฤต แล้วจิตใจนี้มันจะพลิกแพลงขึ้นมา ให้มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ไม่ให้มันนอนจม ไม่ใช่ครูบาอาจารย์เห็นไหม

เราห่วงลูกศิษย์ของเรานะ เรากลัวลูกศิษย์ของเราจะลำบากนะ จะให้ส่งไปอยู่ที่สปา ที่นั่น แล้วจะให้สั่งคนให้คอยดูแล กลัวลูกศิษย์จะลำบาก อย่างนั้นมันจมไปกันหมดไง จมเพราะเหตุใด จมเพราะครูบาอาจารย์ไม่มีวุฒิภาวะ

ถ้าครูบาอาจารย์ที่มีวุฒิภาวะ ท่านเคยผ่านประสบการณ์ของท่านมา สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เราเป็นพ่อแม่คนนะ ลูกของเราทำถูกทำผิด พ่อแม่ได้ผ่านชีวิตนั้นมา พ่อแม่เห็นชีวิตนั้นมา แล้วพ่อแม่ ความรักของพ่อ ความรักของแม่ เป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่หวังผลสิ่งใด ไม่หวังผลประโยชน์จากลูกเลย

ฉะนั้นการสอนของพ่อแม่กับลูก มันถึงสะอาดบริสุทธิ์ การสั่งสอนของครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์เห็นไหม เพราะถ้าลูกศิษย์สร้างศาสนทายาทขึ้นมาได้องค์หนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เป็นครูเป็นอาจารย์ของเทวดา ของสัตว์โลก เป็นของวัฏฏะเลย

ครูบาอาจารย์ของเราบางองค์เห็นไหม เวลาสำเร็จขึ้นมา เวลามีคุณธรรมขึ้นมา จะเป็นประโยชน์กับสังคมมาก ฉะนั้นครูบาอาจารย์ของเรานะ รักลูกศิษย์ลูกหามากกว่าพ่อแม่อีก เพราะพ่อแม่นะ มันก็เป็นเรื่องของชาติของตระกูล ของของเรา

แต่ถ้าเป็นเรื่องของศาสนา เป็นเรื่องของสังคมเห็นไหม เราสร้างศาสนทายาทขึ้นมาองค์หนึ่ง มันเป็นประโยชน์มหาศาล ฉะนั้นครูบาอาจารย์เราให้ไปอยู่กับเสือกับสางกับถ้ำโน้นถ้ำนี้ เพื่อจะให้ผ่านประสบการณ์ เหมือนกับที่หลวงปู่มั่นท่านได้ผ่านของท่านมา

ถ้ามันได้ผ่านมาเห็นไหม มันไม่จมไปสู่กิเลสนะ เราต่างหากที่เทียวถนอมกล่อมเกลี้ย พยายามดูแลกัน นั่นล่ะเราจะทำให้อ่อนแอ ทำให้จิตใจตกไปสู่กิเลสไง ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา มันจะรู้ของมัน มันจะเห็นของมัน ถ้ามันทำของมันขึ้นมา มันจะเข้มแข็งของมันขึ้นมา

ถ้าจิตเห็นไหม ไปอยู่อย่างนั้นแล้วรักษาจิตของเรา ไม่มีสิ่งใดจะวิกฤตหรอก ถ้าจิตมันสงบได้ ถ้าจิตมันสงบมันร่มเย็นของมันนะ เสือสาง ช้าง ม้า ขนาดไหน จะทำกับจิตดวงนั้นไม่ได้ ผีสางต่างๆ ชะนีต่างๆ จะเข้ามาถึงจิตดวงนั้นไม่ได้

จิตดวงนั้นจะสว่างโพลง จะมีอำนาจวาสนา จะมีบารมี ใครจะทำร้ายจิตอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำร้ายจิตอย่างนั้นไม่ได้เห็นไหม เวลาคลายออกมาแล้ว เราจะใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญของเรา ถ้ามีพิจารณาใคร่ครวญของเราเห็นไหม นี่มรรคเกิด

ผู้ใดไม่เคยเห็นกิเลส จะฆ่ากิเลสที่ไหน ผู้ใดจิตสงบแล้ว เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะกิเลสนี้เป็นนามธรรม กิเลสนี้ไม่มีตัวตน กิเลสนี้อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรม ออกหาผลประโยชน์

ดูสิ เวลาจิตเราหยาบๆ เห็นไหม อยากอยู่สบาย อยากนั่งสบาย อยากนอนสบายเห็นไหม อาศัยร่างกายนี้ต่อรอง เพื่อเอาความสะดวกสบาย เวทนา มีความสุขความทุกข์ ความเฉยๆ เห็นไหม

กิเลสเอาแต่ความพอใจ ให้ต่อรอง กิเลสอาศัยกาย อาศัยเวทนา อาศัยจิตที่เศร้าหมอง ที่ผ่องใสออกหาผลประโยชน์ของมัน “ธรรมารมณ์” ธรรมารมณ์เห็นไหม จิตอาศัยความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ต่างๆ หาประโยชน์ หาความคิดตัณหาความทะยานอยาก มันเกิดจากอะไร เกิดจากความรู้สึกนึกคิดเอาเปรียบเขา เกิดจากความต้องการเอารัดเอาเปรียบ เกิดจากความต้องการแสวงหาผลประโยชน์ มันคืออะไร มันคืออารมณ์ความรู้สึก

กิเลสอาศัยอย่างนี้ ออกหากิน ออกหาเหยื่อเห็นไหม ถ้ากิเลสนี้เป็นนามธรรม กิเลสนี้ไม่ใช่รูปธรรม กิเลสนี้ไม่ใช่วัตถุ ฉะนั้นกิเลสนี้เป็นนามธรรม อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรม ออกหากิน

ฉะนั้นพอมันออกหากินเราพิจารณา จิตสงบนะ พอจิตสงบ จิตมีหลักมีเกณฑ์เห็นไหม ก็พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาเพื่ออะไร ก็พิจารณาเพื่อที่จะให้รู้ทันกิเลส ถ้ารู้ทันกิเลส มันก็ตทังคปหานมันก็จะปล่อย มันก็ปล่อยๆ ถ้าพิจารณาซ้ำพิจารณาซากเห็นไหม พิจารณาจนถึงที่สุด เวลามันฆ่ากิเลส ฆ่ากิเลสไปฆ่ากันที่ไหน ฆ่ากิเลสจะเอาหัวใจไปตีแผ่

นักประพันธ์ เขาเขียนนวนิยายนะ เขาประพันธ์ได้วิจิตรพิสดาร ความรู้สึกนึกคิดมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดนะ แต่ถ้าจิตมันสงบนะ ถ้าจิตมันสงบ คำว่าจิตมันสงบมันไม่คิด จิตสงบคือความนิ่งอยู่ จิตที่สงบนี้นิ่งอยู่ ความคิดเกิดไม่ได้

ถ้าความคิดมันเกิดไม่ได้เห็นไหม พอจิตมันคลายออกมาเห็นไหม คลายออกมาจากอัปปนาสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิเห็นไหม นี่มันออกรับรู้แล้ว ออกรับรู้ถ้ามันมีกำลังของมันเห็นไหม

เรามีกำลัง เราพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม การพิจารณาเห็นไหม การพิจารณาเพื่อแยกแยะ นี่ไง เพราะกิเลสอาศัยสิ่งนี้ ถ้าเราพิจารณาไปเห็นไหม บ่อยครั้งเข้าๆ

พอพิจารณาบ่อยครั้งมันไม่เป็นเหมือนกับจิตใต้สำนึกที่รับรู้ไว้เลย จิตใต้สำนึก หลานของกิเลสนะ ยังไม่ไปเจอพ่อ เจอแม่ เจอปู่มันนะ ถ้าเจอปู่มันนะ ถ้าเราไม่พิจารณาอย่างนี้เห็นไหม

เวลาที่ว่าคนจมน้ำเห็นไหม มันจมหายไป คนจม กับอารมณ์ความรู้สึกมันก็จมหายไป แต่เวลาจิตมันดีขึ้นมาเห็นไหม มันไม่จมไปกับมัน พอมันไม่จมไปกับมัน มันก็เห็นตัวมัน พอมันเห็นตัวมัน มันพิจารณาตัวมัน พอมันปล่อย ก็เห็นการปล่อยของมัน

ถ้ามันเห็นการปล่อยของมันเห็นไหม จิตมันเห็นการปล่อย พอจิตมันเห็นการปล่อย นี่ไง พอจิตมันเห็นการปล่อย มันขยันหมั่นเพียร มันขยันหมั่นเพียรเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ มีความสุขอันหนึ่ง

พอจิตมันพิจารณาเข้าไป มันมีงานนะ เวลาเราจิตสงบมันมีความร่มเย็นเป็นสุขเห็นไหม เหมือนคนพักผ่อน เวลาออกทำงาน โห มันหาบเหงื่อต่างน้ำ เวลาจิตมันออกวิปัสสนานะ ออกทำงานนะ มันใช้ปัญญามันแยกแยะ แยกแยะๆๆๆ ตลอด

มันเหนื่อยมาก พอมันเหนื่อยขึ้นมา แต่เวลาผลงานของมันเห็นไหม ถ้าเรามีสินค้า เราได้เอาสินค้านั้นออกไป ออกไปจำหน่าย แล้วได้ผลตอบแทนมา มีความสุขไหม เวลาจิตสงบขึ้นมาเห็นไหม มันมีความสุขเพราะเราสร้าง เรามีหลักมีเกณฑ์ของเราเห็นไหม

พอเราพิจารณาของมัน พิจารณาบ่อยครั้งเข้า มันปล่อยบ่อยครั้งเข้า พอมันปล่อย ผลตอบแทนไง ผลตอบแทนจากการพิจารณาแล้วมันปล่อยวาง มีความว่าง มีความโล่ง มีความสุขของมันเห็นไหม

ความสุขมันจมไปไหมล่ะ เวลาจมหายไปนั่นเรื่องหนึ่งนะ เวลามันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันเห็นตรงข้าม มันเห็นการพิจารณาไปแล้ว สิ่งที่มันสลัดทิ้งๆ ที่มันปล่อยวางไป ใครเป็นคนรู้ ใครเป็นเห็น เห็นไหม เวลาเป็นสติ ใครเป็นเจ้าของสติ เป็นสมาธิขึ้นมาเด่นชัดขึ้นมาเห็นไหม ไม่จมไปสู่อารมณ์ตัณหาทะยานอยาก ใครเด่นชัดขึ้นมา เวลาวิปัสสนา มันพิจารณาได้ใช้ปัญญา มันทำลายกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันปล่อยวางขึ้นไป

นี่ไง เวลาพิจารณาของมัน มันเห็นของมันนะ ถ้าไม่รู้ไมม่เห็น ไม่รู้จักกิเลส จะฆ่ากิเลสได้ยังไง แล้วเวลาพิจารณาไป เวลาสมุจเฉท เวลาตทังคปหานมันบ่อยครั้งเข้า มันเริ่มต่อรอง เริ่มมีการกระทำ เริ่มชำระล้าง กิเลสมันโดนบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้ง

เวลากิเลสมันโดนพิจารณา พิจารณาจนปล่อย กิเลสมันไม่ใช่คนโง่นะ มันสวมรอย พอปล่อยแล้ว อืม นี่โสดาบัน อืม อันนี้เป็นประโยชน์แล้ว อันนี้สุดยอดคน อันนี้เป็นอัศวินแล้ว อันนี้สุดยอดแล้ว ถ้าเชื่อ....

นี่ไง ขณะที่เราต่อสู้ เวลาคนเขาภาวนากัน เขาจมไปหายไปกับมัน แต่นี้มีการต่อสู้แล้ว มีการพิจารณาการปล่อยวางแล้ว กิเลสนี้ก็พยายามจะฟื้นตัวขึ้นมา กิเลสนี้ก็พยายามจะเอาจิตนี้ไว้ในอำนาจของมัน นี่แค่หลานนะ ความเข้าใจผิด สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดของใจเท่านั้นล่ะ

ถ้าพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเห็นไหม มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันจะสวมรอยมันจะบังเงา มันจะอ้างอิง อ้าง พอพิจารณา พอปล่อย อันนี้เป็นพระอรหันต์ อันนี้สุดยอด ถ้าเรามีสติจะสุดยอด จะดีหรือเลวขนาดไหน อันนั้นมันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง

เราหน้าที่ของเรา ต้องประพฤติปฏิบัติ เพราะคนที่ประพฤติปฏิบัติ จริตนิสัยของคน เรื่องอำนาจวาสนา เรื่องบารมี เรื่องกรรมหนัก กรรมเบา มันแตกต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ เรื่องของคนอื่น เราฟังไว้เป็นคติ แต่เรื่องของเราต้องเผชิญหน้า ต้องเผชิญหน้าพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ไม่ให้สิ่งนั้นจมหายไปกับการประพฤติปฏิบัติ

แม้แต่การศึกษาเราก็จมไปกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ เราก็จมหายไป ตัวตนเราไม่มี เราทำความสงบของใจขึ้นมาจนมีหลักมีเกณฑ์ จนเราพิจารณาเห็นกิเลส

ถ้าเราไม่เห็นกิเลส ไม่รู้จักกิเลส เราจะไปชำระกิเลสกันอย่างไร เราไม่รู้ถึงความสกปรกของร่างกายเราจุดไหน เราจะไปทำร่างกายของเราให้สะอาดได้อย่างไร จิต ในเมื่อมันสงบแล้ว มันจับต้อง ถ้าพิจารณากายนะ ขนลุกขนพอง

พิจารณาเวทนานะ มันเห็นว่าเวทนา ถ้าไม่มีสติ เวทนามันจะเป็นสองเท่าสามเท่า เหยียบย่ำหัวใจของเรา พิจารณาจิตมันผ่องใส มันเศร้าหมองขนาดไหน เราจะรู้ทันมัน พิจารณาธรรมอารมณ์ อารมณ์ที่กระทบนี้ พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก ถ้าพิจารณาแล้วมันปล่อยๆ เห็นไหม นี้คือการชำระล้าง นี้คือการเดินธรรมจักร จักรที่ว่าเป็นภาวนปัญญา ปัญญาญาณมันเกิด ถ้าปัญญามันเกิดเห็นไหม มันตื่นเต้น มันเห็นความมหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์ของหัวใจเรานี้เห็นไหม ความมหัศจรรย์ที่ว่า เราเกิดมาในโลกนี้ เราเกิดมาในชาติปัจจุบันนี้ เรามีแรงปรารถนา เรามีความทุกข์ยาก อย่างไร อันนั้นเป็นชีวิตประจำวันนะ

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม ถ้าจิตมันวนเข้ามา จิตมันไม่จมไปกับกิเลส จิตมันไม่จมไปกับคำเยินยอของใคร จิตมันมีหน้าที่ทำงานของมัน มันมีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติของมัน แล้วเราทำโดยสติปัญญาของเรานะ มันจะเกิดสัจธรรมอย่างนี้ มันจะเกิดอริยสัจ มันจะเกิดมรรคญาณ มันจะเกิดธรรมจักร มันจะเกิดภาวนามยปัญญา

การที่เกิดนี้ ใครทำให้มันเกิดล่ะ ก็การฝึกฝนของเรา การที่ไม่ปล่อยจิตใจให้จมไปกับสิ่งที่เขาเยินยอ สิ่งที่กิเลสมันสร้างภาพ สิ่งที่ต่างๆ เราไม่เชื่อใครทั้งสิ้น!

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในกาลามสูตรเห็นไหม ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อผลของการประพฤติปฏิบัติ ให้เชื่อสัจจะความจริงที่ประสบต่อหน้านี้ ฉะนั้นมันพิจารณาซ้ำแล้ว พิจารณาซ้ำเล่าๆ เห็นไหม

เวลามันสมุทเฉทปหานนะ เวลามันขาด! นี่ไง พอมันขาดไปแล้ว “กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์” จิตนี้รวมลง จิตนี้รวมลงปล่อยวางหมด สิ่งที่มันปล่อยมา ดูสิ กายกับจิตนี้แยกออกเป็นทวีปไปเลย แล้วจิตมันเด่นขึ้นมาเห็นไหม

ถ้ามันจมหายไปกับกิเลส มันจะไม่มีสิ่งใดเลย เวลามันฆ่ากิเลสแล้วมันกลับเด่นชัดเห็นไหม พอเวลามันเด่นชัดขึ้นมา นี่จิตใจเด่นชัดมาก เพราะอะไร เพราะมันอกุปปธรรม มันเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดครอบงำมันได้ อกุปปธรรม อฐานะ พ้นจากความเป็นอนิจจัง

“สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

นี่มันพ้นจากการเป็นอนิจจังเพราะมันเป็นอกุปปธรรม มันคงที่ของมันในระดับนี้ ในระดับของหลานนะ แล้วระดับของหลานเราจะต้องขยันหมั่นเพียรเห็นไหม ขึ้นไปเอา ระดับลูก ระดับพ่อ ระดับปู่ ปู่คือพญามารนะ

นี้พูดถึงการประพฤติปฏิบัติ มันมีขั้นมีตอนของมัน ถ้ามันมีขั้นมีตอนเห็นไหม ตั้งแต่เหลน ตั้งแต่หลาน แต่พ่อ แต่ปู่ ถ้าตั้งแต่พ่อ ความละเอียดอ่อนของกิเลส คำว่าเหลนนะ หลานแล้วก็เหลน คำว่าเหลนมันเหมือนทารก เด็กน้อย.. เด็กน้อยนี่นะ มันไร้เดียงสาที่มันจะเอาสิ่งใดมาหลอกลวงเรา ในภาพของความเป็นอยู่ของมนุษย์

แต่เวลาในการประพฤติปฏิบัติ กิเลสระดับเหลน มันเป็นเรื่องแค่ความเห็นผิด สักกายทิฏฐิเท่านั้น แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เราจะเอาชนะคะคาน เราจะเอาสิ่งที่จิตนี้ มันผ่านการประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มันยังทุกข์ยากขนาดนี้เพราะอะไร เพราะกิเลสเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ชีวิตนี้ของเรา สมมุตินี้สมมุติของเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเราขึ้นมา แล้วเราจะแยกจากความเป็นเรา แยกออกมาจากกิเลส แล้วเอาสิ่งที่ว่าเป็นสัจธรรม เข้าไปชำระล้าง มันจะทำอย่างไร

ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์คอยแนะนำ ถ้าทำแบบโลก โลกก็สรรเสริญเยินยอกัน เป็นการสร้างภาพ สร้างสติขึ้นมา สร้างสมาธิขึ้นมา การสร้างคือการสมมุติไง โลกนี้ก็สมมุติอยู่แล้ว แล้วก็เอาสมมุติซ้อนเข้าไป แล้วจิตนี้ก็จมหายไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

แต่เพราะเรามีหลวงปู่เสาร์ เพราะเรามีหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านพิสูจน์ตรวจสอบมา ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมมา วางธรรมและวินัยไว้

หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น ในยุคปัจจุบันนี้ไง แล้วเรามีครูมีอาจารย์สืบทอดสิ่งนี้มา ถ้าสืบทอดสิ่งนี้มา ครูบาอาจารย์ถ้าท่านเป็นธรรม ทางความรู้สึกท่านรักลูกศิษย์มาก แต่ในภาคปฏิบัติ ท่านจะสับโขกมาก ท่านจะสับโขกท่านจะคอยบอก ท่านจะคอยฝึกสติ สับโขกก็เพราะต้องการปั้นต้องการให้เป็นคนดี ต้องการให้มันเป็นขึ้นมา ต้องการให้เขาได้ประสบจริงๆ

ถ้าจิตใจเขาประสบ จิตใจเขาได้สัมผัส จิตใจเขาได้แก้ไข มันก็จะไปจมไปสู่ตัณหาทะยานอยากในใจของเขาเอง ถ้าจิตใจไม่มีครูบาอาจารย์คอยสับโขก มันก็จะจมไป จมไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจนั้น

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ที่เป็นกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านมีคุณธรรม ท่านพยายามกระตุ้นขึ้นมาๆ ให้กำลังใจเห็นไหม ทั้งปลุก ทั้งปลอบ ทั้งยุ ทั้งให้เราเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมา มันเป็นขึ้นมา มันเป็นอริยทรัพย์นะ มันเป็นทรัพย์สมบัติภายใน

ถ้าทรัพย์สมบัติภายในนี้เกิดขึ้นมาเห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็มีความภูมิใจนะ ศาสนทายาท ดูสิ เวลาเทวทัตไปขอปกครองสงฆ์กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ให้เลย ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์

แล้วถ้าสงฆ์ปกครองสงฆ์ สงฆ์มีความวุฒิภาวะ สงฆ์มีความเข้มแข็ง สงฆ์มีความเป็นจริงในหัวใจ สงฆ์อย่างนี้จะทำให้สงฆ์มั่นคง ถ้าสงฆ์มั่นคงเห็นไหม มันเป็นประโยชน์ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความรับรู้สึก ความเมตตานั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาแสดงธรรมสับโขกนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเพราะต้องการให้เป็นดี ฉะนั้น พอจิตใจเรามันเป็นความจริงขึ้นมา มันเห็นของมัน มันพิจารณาของมัน มันซาบซึ้ง ซาบซึ้งตามความเป็นจริงนะ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไป แล้วซาบซึ้ง ทำไมมันทุกข์ล่ะ?

ซาบซึ้งมันก็ต้องเป็นความดีอย่างนี้ตลอดไปสิ ความดีมันเกิดจากปัญญา สร้างคุณงามความดี แต่เวลาปัญญามันหมุนรอบวงรอบของมันไปแล้ว กิเลสถึงคราวกิเลสมันสวมรอยมา มันก็ทำให้เราทุกข์ยาก

ผ่านมาแล้ว สิ่งที่เราพิจารณาจนความเห็นผิดแยกออก สังโยชน์ขาด พอขาดขึ้นมา เราต้องทำความสงบของใจเข้าไป มุมานะบากบั่น บากบั่นเพื่อต้องการคุณงามความดีที่ยิ่งไปกว่านี้ ถ้าคุณงามความดีที่ยิ่งไปกว่านี้ กิเลสมันก็ละเอียดเพราะมันยิ่งกว่า เห็นไหม

ความดีที่ยิ่งกว่านี้ กิเลสมันก็ละเอียดยิ่งกว่านี้ พอกิเลสยิ่งไปกว่านี้นะ มันก็พลิกแพลงหลอกลวง ถ้าไม่มีสติ อย่างนางวิสาขาก็พอใจกับความเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าเป็นพระอานนท์ เป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านต่อสู้ขึ้นไปนะ ท่านก็พยายามต่อสู้ ต่อสู้กับกิเลสไง

ดูสิ เวลาคนที่เขามีอำนาจเห็นไหม คนที่มีอำนาจเขาผ่านประสบการณ์ของเขามา เขามีประสบการณ์ของเขา เขารู้เล่ห์ รู้ทันเหลี่ยม เขาวางตัวของเขาเฉยๆ แต่ถ้าคนที่ไม่มีประสบการณ์ เห็นสิ่งใดก็กระเทือนไปกับเขา

นี่ก็เหมือนกัน พอกิเลสมันอย่างละเอียด มันนิ่งอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราจะต้องทำความสงบของใจ ถ้าไม่เห็นกิเลสจะไปฆ่ากิเลสได้อย่างไร ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจับกายได้ จับเวทนาได้ จับจิตได้ จับธรรมได้ มันถึงจะจับตัวกิเลสได้

ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ หันรีหันขวางจะไปหาใคร จะไปต่อสู้กับใคร จะทำงานอย่างไร แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ท่านบอกว่า ถ้าจิตสงบแล้ว ให้คุ้ย ให้คุ้ยเขี่ย ให้ขุดค้น ให้ขุดค้นหากิเลส แล้วกิเลสที่เป็นนามธรรมมันก็อาศัยสิ่งนี้เห็นไหม อาศัยจิต ความคิดที่ละเอียดขึ้น แต่ความคิดนี้ก็เป็นธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕

เวลามันละเอียดขึ้น มันก็ใช้ความพลิกแพลงที่ละเอียดขึ้น พอมีสติปัญญาขึ้นมาเราจับได้ จับได้ก่อน ถ้าจับได้แล้วนะ การจับจำเลยได้แล้วสอบสวน มีมูลความผิดจริง ฟ้องศาล ศาลจะพิพากษาไต่สวน นี่ก็เหมือนกัน พอเราจับกิเลสได้ เราเห็นกิเลสได้ เราจับกายอย่างหยาบเห็นไหม ถ้ากายอย่างหยาบเราจับไม่ได้ เราไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้าก็ไปดูกายนอกกายคนอื่น แต่ถ้าจิตเราสงบเข้ามาเห็นไหม เห็นกายจากจิตมันจะเห็นกายของเรา เราชำระล้างกายจากจิตขั้นต้น จนกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายเห็นไหม

ถ้าพิจารณาไปละเอียดขึ้น มันก็จะเป็นกายในกาย ถ้าเป็นกายในกายเห็นไหม จิตมันต้องละเอียดเป็นอีระดับหนึ่ง เราไปเห็นซากศพจากป่าช้านี่เรามองด้วยตาเนื้อนะ แต่ถ้าจิตมันสงบนะ หลับตามันเห็นภาพ ภาพปฏิกูลโสโครกของกายอยู่ในจิต มันเห็นแตกต่างกัน ถ้ามันเห็นแตกต่างกัน พอจิตมันละเอียดขึ้น พอไปเห็นกาย กายก็ละเอียดขึ้น ถ้ากายละเอียดขึ้น พิจารณากายแล้ว พิจารณากายการเห็นกาย การจับกายได้ คือจับกิเลสได้ คือจับจำเลยได้ จับผู้ต้องสงสัยได้ ถ้าจับผู้ต้องสงสัยได้ มันก็มีการสอบสวน

ถ้ามีการสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนเซ่อ มันก็จมไปกับกิเลสไง พนักงานสอบสวนทุจริต พนักงานสอบสวนหวังผลประโยชน์ ถ้ามันเจือไปด้วยกิเลสก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจของเราสงบเข้ามา จะเป็นพนักงานสอบสวนที่ซื่อสัตย์ จะเป็นพนักงานสอบสวนที่ไม่หวังผลประโยชน์ จะเป็นพนักงานสอบสวนที่เป็นสัจธรรม

สัจธรรมเพราะมันเป็นของจริงอยู่แล้ว สัจธรรมมันมีอยู่แล้ว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้แล้ว แต่เพราะใจของเรามันจมไปกับกิเลสเห็นไหม มันถึงเป็นพนักงานสอบสวนที่หวังผลประโยชน์ มันเป็นพนักงานสอบสวนที่หลอกลวงตัวเอง

ทำความสงบของใจ ฉะนั้นใจมันต้องสงบก่อนเพื่อเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อเป็นสิ่งที่เป็นสุภาพบุรุษ แล้วถ้าเห็นกิเลส พิจารณาไต่สวนสอบสวน ถ้าพิจารณากายเห็นไหม มันเป็นสูตร “ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ” สู่สถานะของเขาด้วยกำลัง ด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิ

ถ้าพิจารณาจิต พิจารณาขันธ์ มันก็พิจารณาด้วยสติปัญญา แยกแยะ เห็นไหม ถึงที่สุดนะ “กายเป็นกาย จิตเป็นจิต” แยกออกจากกันโดยสัจธรรมเลย โลกนี้ราบหมดเลย ความเป็นจริงเห็นไหม โลกนี้ราบ.. จิตรวมลง กามราคะ ปฏิฆะ อ่อนลง ถ้าเราเข้มแข็ง เราไม่ให้จิตเราจมไปกับกิเลสนะ มันทุกข์ยากไหม? ทุกข์..

โลกนี้นะ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แต่ความทุกข์ของเรา ทุกข์ด้วยความพอใจ ทุกข์ของเรา ทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์มันต้องเข้มแข็ง โลกเขาทำงานกัน คนที่ประสบความสำเร็จนะ เขาต้องสร้างสมของเขา เขามีคนเกื้อกูลของเขา เราจะประพฤติปฏิบัติ ใจเราต้องเกื้อกูลใจเรา เราต้องมีสติปัญญา เราต้องมีความเข้มแข็ง ถ้ามีจริตนิสัยมันจะองอาจกล้าหาญ แล้วเผชิญกับมัน ถ้าเผชิญกับมันก็เผชิญความจริง ถ้าเราไม่เผชิญกับมันนะ เราจะเผชิญกับประเพณีวัฒนธรรม เพราะอยู่ในสังคมพุทธไง

สังคมที่เป็นประเพณีวัฒนธรรม สังคมที่เขาเยินยอกัน เขาทำพอเป็นพิธีมันก็มีอยู่ แต่ชีวิตของเรามันมีคุณค่ามากกว่านั้น เราจะยอมรับอย่างนั้นหรือ ถ้าเราไม่ยอมรับอย่างนั้น เราก็ต้องเข้มแข็ง เราเข้มแข็งของเรา มันจะมีมากมีน้อยไม่สำคัญนะ ทุกคนห่วงว่ามันมีจำนวนน้อย จำนวนเขามากกว่า จำนวนเขามากกว่าแต่คุณภาพเขาไม่มีมันก็เป็นแค่จำนวน

แต่ถ้าจำนวนน้อยนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่องค์เดียวที่โคนต้นโพธิ์ เวลาหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นเห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “ท่านนั่งอยู่โคนไม้องค์เดียวเหมือนกัน” นี่ไงจำนวนมากจำนวนน้อยอยู่ที่คุณภาพ ฉะนั้นเราไม่มองไปที่จำนวน เราจะมองว่าเราทำได้จริงหรือเปล่า ถ้าเราทำได้จริงเราพอใจ จำนวนมากไม่สำคัญ สำคัญว่าจำนวนน้อยแต่มีคุณภาพ

ทีนี้ถ้าคุณภาพจะเกิดขึ้นมา เราจะต้องมีตะแกรงร่อนที่ถี่ ความถี่เห็นไหม สติก็ต้องมั่นคง ทุกอย่างก็ต้องมั่นคง ทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ไม่ให้จิตใจมันไหลไปนะ แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นไปเห็นไหม ถ้ามันเข้าไปกว่าจะจับจิตได้ มันต้องทำความสงบของใจมันให้ลึกซึ้งกว่านี้นะ ถ้าใจของเราลึกซึ้งกว่านี้ มันจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา จากที่ประพฤติปฏิบัติมา มันเป็นสติและเป็นปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้ง ที่เราทำจริงของเรา มันจะเป็นความจริงเพราะเราไม่ให้มันจมไปกับความเคยชินเคยใจ มันเด่นชัดขึ้นมา แล้ววิปัสสนาปัญญามันชัดเจนขึ้นมา

แต่มันชัดเจนของมันด้วยการกระทบที่จิตมันกระทบ แต่ต่อไปมันละเอียดขึ้น กายนอก กายใน กายในกาย ถ้าจิตมันละเอียดลึกซึ้งขึ้น เราจะต้องทำความสงบมากกว่านั้น ถ้าจิตที่มันสงบ มันไปจมไปสู่กิเลสที่มันละเอียดเห็นไหม มันจะเข้าไปสู่พ่อ สู่แม่ทัพ สู่ความเป็นจริงเห็นไหม มันละเอียดลึกซึ้ง เราจะต้องให้ละเอียดมากกว่านั้น พอจิตเราละเอียดมากกว่านั้นมันจะเป็นมหาสติมหาปัญญา แล้วถ้ามันจับได้ ไม่เห็นกิเลส ฆ่ากิเลสไม่ได้ จับกิเลสไม่ได้ จับผู้ต้องสงสัยไม่ได้ จะสอบสวนไม่ได้ พนักงานสอบสวนจะต้องละเอียดกว่านั้น

ดูสิเวลาทางโลกเห็นไหม คดีอาชญากรรมกับพนักงานสอบสวนด้วยมีความชำนาญคดีอาชญากรรม คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พนักงานสอบสวนคดีฆาตกรรมไปสอบสวนคดีทางเศรษฐกิจ หลงทางเลย จิตเวลามันละเอียดขึ้นไป กิเลสมันละเอียดมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นการเข้าไปสอบสวนจับกิเลสได้นั้นเรื่องหนึ่งนะ

การสอบสวนละเอียดลึกซึ้งนัก ละเอียดลึกซึ้งเพราะอะไร เพราะมันเป็นกามราคะแล้ว ถ้ามันพิจารณาแล้วมันสอบสวนถึงการเผยหัวใจ เผยสิ่งที่เป็นข้อมูลภายในหัวใจออกมา เห็นไหม มันลึกซึ้ง มันเป็นปฏิฆะ-กามราคะ ปฏิฆะ ความฝังใจ แล้วมันสอบสวนจนคายออกมา ถ้าคายออกมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ละเอียดเข้าไปถึงใจ แล้วไปทำลายกันที่ใจเห็นไหม ถ้ามันทำลายที่ใจ นี่มันละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีก! ถ้ามันขึ้นต่อไป ก็จะไปถึงพญามารแล้ว

พญามารนะ ถ้าพูดถึงพระอนาคา สิ่งต่างๆ ไปจมอยู่กับความว่าง หลวงตาบอกว่า โลกนี้ว่างหมดเลย แต่ตัวเองไม่ว่าง ว่างแต่ข้างนอกข้างในไม่ว่าง ว่างหมดทุกอย่างว่างหมด ว่างไม่มีอะไรเลย แต่นี่ไง ใจก็ไปจมอยู่กับมัน จมอยู่กับความว่าง! ถ้าใจมันจมกับไปกับกิเลส นี่ก็ไปจมกับความว่าง จมกับกิเลสอันละเอียด แล้วมันจะพิจารณาลึกซึ้งขนาดไหน มันถึงจะมีสติที่เป็นอัตโนมัติ ที่เป็นมรรคญาณที่จะเข้าไปชำระ พอชำระสิ่งนี้จบสิ้นนะ ถ้ามันชำระจบสิ้น มันจะไม่มีสิ่งใดให้เป็นสิ่งที่เป็นสมมุติพูดกล่าวถึงได้เลย

ใครจมอยู่กับใคร ใครฟื้นอยู่กับใคร ไม่มี.. พอมันถึงที่สุดแล้วนะ ผู้ถึงที่สุดเขารู้ของเขา เขาเห็นของเขา แต่เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ไง เกิดมาเป็นมนุษย์มีหัวใจ มีอวิชชา มีภวาสวะ มันไม่ตั้งสติ ไม่ทำตามความเป็นจริง มันก็จมไปสู่กิเลสเห็นไหม เวลาการแก้ไข มีการกระทำ ด้วยอำนาจวาสนา ด้วยความจริงจังของเรา เราจะฟื้นใจของเรา แล้วแก้ไขใจของเรา ถึงที่สุดแล้วนะ ว่างจากภายนอก แล้วเราจะทำลายภวาสวะ ทำลายภพ แล้วมันจะว่างจากภายใน

ภายในว่างจนไม่มีสิ่งใด พญามารที่ว่าลึกซึ้งนัก จะไม่มีที่อยู่ พญามารจะหาชีวิตนี้ ชีวะนี้ จะว่าจิตเดี๋ยวจะหาว่าหยาบไป หาชีวะนี้ไม่เจอ พญามารก็เก้อๆ เขินๆ พญามารจะไม่มีที่อาศัย ได้ทำลายพญามารสิ้นจากหัวใจ เอวัง