เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ ก.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาโลกกับธรรมมันอยู่ด้วยกัน แต่ไม่เหมือนกัน เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม คนแก่ คนเฒ่าลุกก็โอย ปวดก็โอย คนแก่คนเฒ่าอยากนอน อยากพักผ่อน เวลาเด็กเล็กๆ มันมีแต่จะวิ่งเล่น พ่อแม่อยากให้มันนอนพักผ่อน มันก็อยากจะวิ่งเล่นของมัน เวลาผู้ใหญ่เรา เราอยากจะพักผ่อนนะมันนอนไม่หลับ คนแก่คนเฒ่ามีแต่โรคเครียดมันนอนไม่หลับ

การนอนไม่หลับมันก็ทำให้จิตใจไม่ได้พักผ่อน ร่างกายก็แย่ไปด้วย แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน เราสนใจในเรื่องศาสนานะ ถ้าเราสนใจเรื่องศาสนา เวลาจิตใจมันหลับ.. จิตใจมันหลับนี่มันไม่เหมือนคนนอนหลับนะ เวลาคนนอนหลับนี่มันนอนหลับ เวลาคนมีเสียงดังขึ้นมามันสะดุ้งตื่น แต่เวลาคนจิตใจมันหลับนะ ตาใสๆ เหมือนตาบอดตาใส พูดกันไม่รู้เรื่อง

นี่ก็เหมือนกัน ใจมันหลับแล้วมันมีเหตุผลของมัน มันยึดมั่นของมัน มันมีสิ่งใดมันบอกมันรู้แล้ว มันรู้แล้ว เห็นไหม นี่ใจมันหลับ.. ถ้าใจมันหลับนะ เวลาครูบาอาจารย์บอกว่าถ้าใจมันหลับ คนหลับเราป้อนอาหารสำลักตายเลย จิตใจที่มันหลับมันต่อต้านนะ นี่ไงอวิชชา เราถือตัวว่ารู้ แต่ความรู้ของเรานี่มันรู้จริงหรือเปล่า?

เวลาทางโลกเขาได้นอนหลับพักผ่อน เห็นไหม เวลานอนหลับพักผ่อนแล้วสดชื่นมาก ร่างกายได้พักผ่อนแล้ว ร่างกายก็แข็งแรง เวลาฟื้นตัวมานะ คนเรานี่เหนื่อยยากขนาดไหน ขอให้ได้พักผ่อนนะ ร่างกายก็กลับมาแข็งแรงอีก แต่จิตใจนะ เวลามันเศร้าหมอง เวลามันทุกข์ยากของมัน ทำอย่างไรนะมันก็เศร้าหมองอย่างนั้น จะไปพักผ่อนที่ไหน กลับมามันก็เศร้าหมองอย่างนั้น แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เป็นปัญญาอบรมสมาธิเท่านั้น ตรึกในธรรมไง

ธรรม! สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งที่เรายึดนี่เพราะเรายึด เหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว แต่เรายึดของเรานะ ถ้าเราปล่อยวางมันก็จบ เราปล่อยวางไม่ลงไง เราปล่อยวางไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้.. ปล่อยวางไม่ได้ก็ไม่ได้ฝึก เพราะเราไม่ฝึก เราจะปล่อยวางหรือไม่ปล่อยวาง สิ่งนั้นเป็นอนิจจัง มันเป็นอนิจจังเพราะมันผ่านไปแล้ว ถ้าเราศึกษาธรรมแล้วเราปล่อยได้ ถ้าเราปล่อยได้นี่จิตใจมันได้พักผ่อนของมันตามความเป็นจริง

แต่ว่าเราศึกษาธรรมมาแล้วไง ธรรมอย่างนี้เราศึกษามาแล้ว เรายึดมั่นถือมั่นของเรา เราว่าความเพียรชอบ ความวิริยะอุตสาหะ.. วิริยะอุตสาหะเพื่อความว่าง ไม่ได้วิริยะอุตสาหะมาด้วยความเป็นภาระรุงรัง ถ้าวิริยะอุตสาหะมาด้วยความเป็นภาระรุงรังนั้น มันไม่ได้เป็นการวิริยะอุตสาหะ ความวิริยะอุตสาหะนี่วิริยะอุตสาหะมาก แต่วิริยะอุตสาหะมาแล้ว มันเข้าใจแล้วมันปล่อยของมันได้ ถ้ามันปล่อยของมันได้ เห็นไหม สิ่งที่มันปล่อยตามความเป็นจริงนั้นมันเป็นอนิจจังอยู่แล้ว

มันเป็นอนิจจังอยู่แล้ว แต่ยางเหนียวของจิต ยางเหนียวของจิตคือตัณหาความทะยานอยาก ความยึดของมันไง ความยึดของมันอยู่ที่จริตของคน คนที่มีจริตตรงกับจริต สิ่งใดกระทบแล้วจะมีอารมณ์รุนแรงมาก ถ้าไม่ตรงกับจริตของเราก็ไปตรงกับจริตคนอื่น คนนั่งอยู่ด้วยกัน มีเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง เวลากระทบเข้าไปแล้วนี่มุมมองแตกต่างกัน มุมมองความรู้สึกแตกต่างกัน เพราะจริตนิสัยของคนแตกต่างกันมา เห็นไหม

นี่เวลามันหลับใหลนะ เวลาไปป้อนอาหารมัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ เราซึ้งมากนะเวลาหลวงตาท่านเทศน์ที่บนศาลา เวลาท่านเทศน์จบแล้วนะท่านกลัวแรงต่อต้าน เห็นไหม ท่านบอกว่า “ไม่ได้ว่าใครบนศาลานี้เลยนะ พูดให้ริมฝั่งโขงนู้น พูดไอ้พวกริมฝั่งโขง ข้ามฝั่งโขงไปนู่นไง”

เพื่ออะไร? ก็เพื่อไม่ให้หัวใจที่มันหลับใหลนี้มันต่อต้าน เวลามันต่อต้านนะ นั่นก็ไม่ใช่ นั่นก็ไม่จริง เราจริงของเราอยู่คนเดียว จริงของเราอยู่คนเดียวทำไมมันสงสัยล่ะ? ถ้าจริงอยู่ทำไมมันสงสัย จริงอยู่นี่มันพอกพูนไปด้วยอะไร? ทำไมเราวางก่อนไม่ได้ คนเรา เห็นไหม แบกหามภาระไว้รุงรังเลย แล้วจะแบกหามต่อไปมากกว่านี้ไม่ไหวแล้ว ถ้าเราแบกหามของภาระไว้รุงรังเลย วางของนั้นได้ก่อนไหม? ถ้าวางของนั้นได้ก่อนนะ เราสามารถแบกหามสิ่งใดเพิ่มขึ้นมาก็ได้

จิตใจของเรามันแบกรับภาระ มันติดของมันอยู่ตลอดเวลา มันวางของมันไม่ได้เลย แล้วก็บอกว่ามันหลับใหลของมันด้วยความพอใจในการแบกหามอันนี้ พอพอใจด้วยความแบกหามอันนี้ก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง สิ่งนั้นเป็นความจริง แล้วก็บอกว่าศึกษาธรรมแล้วไม่เห็นได้ประโยชน์เลย ศึกษาธรรมไม่เห็นได้ประโยชน์เลย

ธรรมะนะ สัจธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นความจริง เวลาเราปฏิบัติ เราปฏิบัติความจริงของเราไง ความจริงเทียมไง ความจริงคิดไง ความจริงเปรียบเทียบไง มันไม่ใช่ความจริงเป็นความจริงไง แต่ถ้าเป็นความจริงแท้.. ความจริงแท้มันก็คือความจริง!

อุณหภูมิความอบอุ่นมันร้อนขึ้นมา มันก็เป็นความร้อนของมัน ถ้าเป็นความจริงแท้มันเปรียบเทียบกันได้ มันเป็นจริง มันวางได้ ถ้ามันวางได้นะ นี่สิ่งที่เป็นจริง เวลาคนภาวนาเป็นสมาธินะบอกว่า “หลวงพ่อ ทำไมมันเป็นอย่างนี้” พูดไม่ถูก พูดไม่ถูก.. ไอ้ความจริงเทียมนะ โอ้โฮ.. มันว่างอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นนะ โม้ไป ๕ วัน นี่ความจริงเทียม

ถ้าความจริงแท้นะ เพราะความจริงแท้นี่ “โลกกับธรรม”

ความรู้สึกของเราตั้งแต่เกิดมา ประสบชีวิตมาขนาดนี้ เราจะจดจารึกทั้งหมดไว้ได้ไหม? เราเขียนออกมาหมดไม่ได้หรอก ความรู้สึกเราเนี่ย ความจริงแท้เป็นแบบนั้น ความจริงแท้คือความสัมผัสของใจ ใจมันสัมผัส มันรับรู้สิ่งใด ความรับรู้นั้นมันฝังใจของมัน แล้วจะจดจารึกออกมาให้เป็นแบบความรู้สึกอันนั้น จดไม่ได้เลย แต่เป็นพุทธวิสัย เป็นเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม

พระปัจเจกพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าแตกต่างกันอย่างใด? พระปัจเจกพุทธเจ้าก็บอกว่า สอนไม่ได้ๆ สอนไม่ได้เพราะจดจารึกไง เพราะเวลาจดจารึก เห็นไหม ดูสิเราจะเปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึกเราให้เป็นภาษาพูดอย่างไร?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “สมมุติบัญญัติ”

บัญญัติคือขันธ์ ๕.. ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ สัจจะความจริงนี่เป็นบัญญัติ บัญญัติก็คือสมมุติของวิมุตติ สมมุติของความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้ว ท่านบัญญัติมา ฉะนั้น สมมุติบัญญัติก็คือสมมุตินั่นแหละ แต่เป็นสมมุติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะท่านพุทธวิสัย นี่ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะบัญญัติศัพท์มา แล้วเราก็มาท่องมาจำกันมา เป็นปูนหมายป้ายทาง คือชื่อของมัน เราได้ชื่อได้เสียงของธรรมะ เราได้ชื่อได้เสียงของกิเลสมาทุกตัวเลย แต่ไม่เคยเห็นหน้ามัน ไม่เคยเห็นหน้า เพียงแต่เปรียบเทียบเทียบเคียงไง

ความจริงเปรียบเทียบ ความจริงเทียบเคียงมา แล้วก็ความจริงอันนี้อยู่ที่ปรัชญา อยู่ที่ความลึกซึ้งของใจของใครอธิบายได้ลึกซึ้งกว่ากัน.. ปากเปียกปากแฉะ น้ำลายแตกฟองเลย เถียงกันอยู่นั่นไม่จบ แต่ถ้าเป็นอันเดียวกันนะมองตาจบ จบแล้ว ถ้าจบ ความจริงอันนั้น เห็นไหม นี่สิ่งที่ใจสัมผัส

ถ้าใจมันหลับใหลนะ ใจของเราจะหลับใหลไปด้วยอวิชชา ใจของเราจะหลับใหลไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความอยากในการจะพ้นจากทุกข์ ความอยากในการสร้างบุญกุศล ความอยากนี้เป็นมรรค เป็นมรรคคืออยากทำคุณงามความดี แต่ถ้าคุณงามความดีนะ คุณงามความดีนี่ความดีของเรา เป็นถนนหนทาง เป็นพาหะ

เวลามรรค ๘ เห็นไหม ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ.. ความชอบธรรม ความดีของเรานี่ พยายามฝึกฝนความดีแล้วเปรียบเทียบด้วยปัญญา ปัญญามันจะเทียบเคียงเองว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ถ้าสิ่งนั้นถูกต้องนะ ถ้าถูกต้องด้วยความหลับใหล ถูกต้องแล้วสงสัย ถูกต้องแล้วยังไม่จบ แต่ถ้าเป็นความจริงของแท้นะ เวลามันถูกต้องเราคาดหมายไม่ได้

เวลาหลวงปู่บัวนะ ท่านฟังหลวงตามหาบัวท่านแก้ไขแล้ว ท่านก็นั่งพิจารณาของท่านไป เวลาจิตมันลงท่านบอกว่ามันหักนะ คือกุฏิขางคาน ขางของกุฏิมันหักยวบลง จิตนี้พิจารณาแล้วมันยุบยวบลงไป จนท่านก็ยังแปลกใจของท่าน ท่านเป็นคนรู้เองนะ ท่านพิจารณาของท่านเอง ท่านรู้ของท่านเอง เวลาท่านมาสนทนาธรรมกับหลวงตา ท่านบอกว่า

“นี่ขางคานมันขาด ขางคานมันขาด”

เห็นไหม พยายามจะเปรียบเทียบให้มันเหมือนที่สุด

ผู้ที่สัมผัสมา ผู้ที่รู้มา จะเปรียบเทียบให้เป็นความจริง ให้เป็นภาษาพูดให้ใกล้เคียงที่สุด ว่านี่ขางคาน เพราะท่านนั่งอยู่ของท่าน ท่านพิจารณาของท่าน ความจริงสมดุลของท่านมันยุบยวบลงเลย ยุบลงไป จิตมันปล่อยหมด จิตไม่มีจิต ทำลายตัวจิต ทำลายจนไม่มีสิ่งใดเลย

เวลาท่านอธิบายให้หลวงตาฟัง หลวงตาท่านบอกว่า “มันไม่ใช่ขางคานหรอก มันไม่ใช่ขางคานกุฏิหรอก ที่กุฏิมันยุบลงน่ะมันเป็นคานของกิเลสต่างหาก”

มันเป็นขางคานของกิเลสอวิชชา ที่ความหลับใหลที่มันขวางอยู่ในหัวใจ มันได้พิจารณาแล้วมันทำลายจนยุบ ทำลายจนหมดสิ้น นี่เราจะเทียบเคียง เห็นไหม เพราะ! เพราะว่าหลวงตาท่านได้ผ่านสิ่งนี้มาก่อน ท่านผ่านแล้วเราจะทบทวน

พระอรหันต์! เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาจารย์ของเราท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ท่านไม่มีกิเลสท่านนั่งทำไม? ท่านไม่มีกิเลสท่านนั่งทำไม? ไอ้เรานี่กิเลสเต็มหัว เวลานั่งสมาธิก็โอดก็โอย เดินจงกรมก็ไม่มีกำลังใจ

นี่พระอรหันต์ท่านเดินจงกรม ท่านนั่งสมาธิภาวนา ท่านทบทวนธรรมะไง เป็นวิหารธรรมไง ท่านทบทวนสิ่งที่จิตนี้สัมผัส จิตนี้ได้มาอย่างไร? ธรรมะนี้มันผ่านวิกฤติอย่างไรมา? มันทบทวนของมัน มันดูแลของมัน มันใช้ปัญญา เห็นไหม ทบทวนนี่วิหารธรรม จิตมันอยู่กับธรรม จิตมันหมุนอยู่กับธรรม มันได้บริหารจัดการของมัน นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านทบทวน

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่บัวท่านไปคุยกับหลวงตามหาบัว เห็นไหม นี่ขางคานมันขาด เพราะท่านยังสดๆ ร้อนๆ เพิ่งทำมาเมื่อคืนนี้ แต่ครูบาอาจารย์ หลวงตาของเราท่านได้ทบทวน ท่านได้พิจารณาของท่าน ท่านรู้ชัดเจนกว่า ท่านอธิบายว่า

“มันไม่ใช่ขางคานหรอก มันเป็นคานของกิเลส กิเลสที่มันขวางอยู่ในหัวใจนี้มันทำลายลง”

ความชัดเจนเพราะท่านได้ทบทวนดูแล เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่าน ท่านพิจารณาของท่าน มันจะตื่นโพลงของมัน นี่ธรรมธาตุมันจะสื่อเป็นสมมุติ ภาษาสมมุติ มันเสวยอารมณ์ มันสะเทือนออกมา นี่จิตมันพร้อม ทุกอย่างมันพร้อม

ความพร้อม ความเป็นไป เพราะเวลายังมีชีวิตอยู่ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นะ ยังพูดคุย ยังสื่อสารกับผู้ที่ต้องการธรรมะได้ เวลาพระอรหันต์ท่านสิ้นชีวิตไปแล้วนะ อนุปาทิเสสนิพพาน จบสิ้น ไม่มีปูนหมายป้ายทาง ไม่มีสิ่งใดๆ สื่อ

สอุปาทิเสสนิพพานสื่อได้เพราะอะไร? สื่อได้เพราะเศษชีวิตที่เหลือ นี่มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เราสื่อด้วยสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สิ่งนี้มันเป็นภารา หะเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระ เป็นหน้าที่ที่สื่อความหมาย ผู้ที่เราเป็นปุถุชน ขันธ์ ๕ เป็นมาร ขันธมาร กิเลสมาร ทุกอย่างเป็นมาร มารเพราะว่าความหลับใหลของอวิชชามันปกคลุมหัวใจนี้อยู่

การสื่อมันยังสื่อออกมาด้วยความไม่รู้ สื่อให้ใกล้เคียงที่สุด สื่อให้เหมือนที่สุด แต่ไม่รู้ พอไม่รู้ก็สื่อออกมาด้วยความลังเลสงสัย สื่อด้วยน่าจะ น่าจะเป็น จะเป็น แต่ครูบาอาจารย์ท่านฟันธงเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น

นี้พูดถึงว่าเวลาโลก เห็นไหม เราได้พักได้ผ่อนขึ้นมา จิตใจก็ได้พักผ่อน ร่างกายก็สดชื่นขึ้นมา แต่เวลาในหัวใจนะ เวลาจิตมันสงบแล้วเราใช้ปัญญาของเรา ถึงที่สุดแล้วนะมันจะเป็นผลของธรรมคืออกุปปธรรม ไม่ใช่กุปปธรรม

สัพเพ ธัมมา อนัตตา คือกุปปธรรม ความแปรปรวนของมัน ความแปรปรวนไปเพื่อสู่ที่ดี ความแปรปรวนนะ แปรปรวนให้ดีขึ้น พัฒนาการ วิวัฒนาการของจิตพัฒนาให้ดีขึ้น กับแปรปรวนให้ตกต่ำลง กดถ่วงมัน ทำหัวใจให้ตกต่ำไปเรื่อยๆ เห็นไหม

เรามีสติปัญญาเพื่อรักษาใจของเรา เพื่อผลประโยชน์ของเรา ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เอาใจนี้ให้รอด พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เอวัง