ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เป้าหมาย

๒ ก.ค. ๒๕๕๔

 

เป้าหมาย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้ปัญหามันเก่ามาก พอดีเลยล่ะ ข้อ ๕๐๐. เนาะ

ถาม : ๕๐๐. เรื่อง “การปฏิบัติธรรม ควรอธิษฐานหรือหวังผลอย่างไรครับ”

วันนี้ผมขออนุญาตถามสั้นๆ (เพราะธรรมดาเขาเขียนถึง ๒-๓ หน้า)

๑. การปฏิบัติธรรม ควรอธิษฐานหรือหวังผลหรือเปล่าครับ

๒. ผมเข้าใจว่าการอธิษฐานคือการพุ่งเป้าหมายให้กับตนเอง แต่นอกจากนี้มีนัยยะสำคัญอะไรอีกไหมครับ

๓. แล้วการหวังผลในสิ่งที่เราทำ ถ้าทำบ่อยๆ จะมีผลเสียอะไรหรือเปล่าครับ

๔. ถ้ามีคนปฏิบัติธรรมทุกวัน อธิษฐานถึงมรรคผลที่หวังผลในชาตินี้ ถ้าทุกวันควบคู่กันไปจะมีผลกับจิตในทางที่ดีหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : “ข้อ ๑. การปฏิบัติธรรม ควรอธิษฐานหรือหวังผลหรือเปล่าครับ”

การอธิษฐานกับการหวังผลมันแตกต่างกันนะ การอธิษฐานนี่อธิษฐานบารมี บารมีสิบทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การอธิษฐาน เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าชื่ออะไรจำไม่ได้ แล้วอธิษฐานตั้งปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นางพิมพาตอนนั้นยังนั่งอยู่ข้างๆ ไง พอพระพุทธเจ้ายืนขึ้นอธิษฐาน นางพิมพาก็อธิษฐานขอเป็นคู่ไปตลอดชีวิตไง แล้วก็เป็นคู่กันมาตลอด จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป นางพิมพาก็สำเร็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์สอนนางพิมพาจนเป็นพระอรหันต์ไปด้วยกัน

นี้คืออธิษฐานบารมี! อธิษฐานคือตั้งเป้า เวลาเรานั่งอยู่นี่ เราไม่รู้ว่าอดีตชาติ หรือความตั้งเป้าจิตใต้สำนึกเราตั้งเป้าว่าอะไรกันบ้าง ฉะนั้น เวลามาปฏิบัติขึ้นมาเราถึงลังเลสงสัยไง แต่ถ้าลังเลสงสัยนะ เช่นหลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่านนะ เวลาท่านปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ทีนี้คนปรารถนาเป็นพุทธภูมิ เราก็บอก โอ้โฮ.. คนนี้เกิดมานะจะต้องเป็นจักรพรรดิ จะต้องอู้ฮู.. สูงส่ง ใหญ่โตมหาศาลเลย

เวลาปรารถนาเป็นพุทธภูมิเป็นนกแขกเต้าก็มี เห็นไหม เป็นกวางก็มี เวลาพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นสัตว์ นี่หลวงปู่มั่นท่านเกิดมานะ ท่านอยู่อุบลฯ อยู่บ้านม่วง แล้วเกิดมาแล้วนะยังมีโรคประจำตัวอีก เป็นโรคเสียดท้องนะ เวลาบวชเป็นเณรนี่มันทุกข์ เพราะคนเราเวลากินข้าวมันก็มีความทุกข์

ฉะนั้น เวลาท่านปฏิบัติไปๆ เห็นไหม พอบวชเป็นเณรแล้วสึกไป หลวงปู่เสาร์ก็ไปเอากลับมาบวชใหม่ มาบวชเป็นพระขึ้นมานี่ท่านเริ่มปฏิบัติ เพราะหลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นท่านเริ่มส่งเสริมกัน พอส่งเสริมกัน หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัตินะพอจิตท่านสงบปั๊บท่านพิจารณากาย หรือจิตท่านสงบปั๊บ พอพิจารณาไปแล้วท่านบอกว่า

“พิจารณาไปนี่มันก็ปล่อยๆ อยู่ แต่! แต่เหมือนซอยตัน มันจะไปตันของมันอยู่อย่างนั้นแหละ”

มันก็ทำให้สงสัย สงสัยว่ามันมีอะไรกีดขวางอยู่ พิจารณากายนะ เวลาพิจารณากาย พอพิจารณากายเสร็จแล้วออกมาท่านบอกว่า

“มันเหมือนปกติ มันเหมือนกับจิตปกติ มันไม่ได้ถอดถอนกิเลสไง”

นี่มันก็ละล้าละลัง ละล้าละลัง จนท่านมั่นใจของท่าน ท่านเลยลาพุทธภูมิไง เห็นไหม พอท่านลาพุทธภูมิของท่านนะ พอท่านจิตสงบแล้วพิจารณากายเห็นกาย นี่เห็นกายตามความเป็นจริง ท่านพิจารณาของท่าน พอพิจารณาของท่านนะผลมันต่างแล้ว พอผลมันต่าง “อืม.. อย่างนี้ใช่!”

ท่านบอกเลย “อย่างนี้ใช่!” ไปดูประวัติหลวงปู่มั่นสิ หลวงตาท่านเขียนไว้นะ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราปรารถนาพุทธภูมิหรือไม่ปรารถนาพุทธภูมิ เรารู้ไหมว่าจิตเราปรารถนาอะไร? ถ้าไม่ปรารถนาขึ้นมา เราปฏิบัติไปแล้วมันมีอะไรกีดขวางเรา ถ้ามันมีอะไรกีดขวาง เห็นไหม สิ่งนั้นมันคาอยู่ นี่กรรมเก่า กรรมใหม่

ฉะนั้น คำว่าอธิษฐาน.. อธิษฐานให้สำเร็จมรรคผล มันเป็นสิ่งที่ดี อธิษฐานก็เหมือนกับเราเตือนสติ เตือนว่าเรามีเป้าหมายนะ วันนี้ยังทำไม่สำเร็จนะ วันนี้ยังล้มลุกคลุกคลานนะ เราอธิษฐานว่าเราจะทำอะไร อย่างเช่นนี่จะเข้าพรรษา พอเข้าพรรษาปั๊บนี่พระอธิษฐานพรรษา อธิษฐานพรรษาพระป่าเราเขาจะถามกัน ว่าพระเรานี้จะเอาธุดงค์กี่ข้อ?

ข้อ ๑ แน่ๆ เลยล่ะเราได้อยู่แล้ว เห็นไหม ฉันข้าวมื้อเดียว นี่เอกาได้แล้วข้อหนึ่ง ถือผ้า ๓ ผืนข้อที่ ๒ บิณฑบาตเป็นวัตรข้อที่ ๓ ถ้าใครจะเอาเนสัชชิกไม่นอนเลยเป็นข้อที่ ๔ นี่จะเอากี่ข้อ ๑๓ ข้อนี้ใครจะเอากี่ข้อ?

เพื่ออะไรรู้ไหม? ถ้าอธิษฐานพรรษานี่พระจะบอกกัน จะบอกกันพอเวลาเขาเข้มงวดของเขา พระที่อยู่ด้วยกันจะรู้ว่า อ๋อ.. พระองค์นี้เขาอธิษฐานไว้อย่างนี้ ถ้าเราไม่รู้นะ อย่างเช่นพระองค์นี้เขาอธิษฐานไม่พูด พอเวลาเขาไม่พูดกับเรานี่หาว่า จองหอง แต่นี่เขาอธิษฐานของเขาไว้ ถ้าอธิษฐานของเขาไว้นะเขาจะเขียนหนังสือ

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้.. แต่ธุดงควัตรไม่มีข้ออธิษฐานไม่พูดนะ ข้ออธิษฐานไม่พูดนี่พวกเราคิดกันขึ้นมาเอง เพราะเวลาพระปฏิบัติกันขึ้นมา อธิษฐานขึ้นมานี่ปากไม่พูดแต่ใจมันพูดมากกว่าปากพูด ถ้าใจมันพูดมากกว่ามันยิ่งละล้าละลังมากกว่า พระกรรมฐาน ครูบาอาจารย์เราเวลาท่านอธิษฐานพรรษาท่านจะบอกว่า

“ใครอธิษฐานอะไร กรณีมากกว่าในวัตรที่มีการกำหนดไว้แล้วให้บอกกัน”

ให้บอกกัน ให้กล่าวกัน เราจะได้รู้ว่าคนไหนอธิษฐานเรื่องอะไรไว้บ้าง เราจะเปิดช่องทางให้เขาปฏิบัติได้คล่องตัว ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะเข้าใจผิดไง ความเข้าใจผิดว่า เอ๊ะ.. ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น.. นี้คืออธิษฐาน!

ทีนี้ “หรือหวังผลหรือเปล่า?”

หวังผลมันเป็นตัณหา อธิษฐานนี่มันก็เหมือนกับเราตั้งเป้า เราตั้งเป้าแล้วเราต้องพยายามของเรา ถ้าผลมันเกิดนะ นี่ถ้ามันเป็นปัจจุบัน ผลมันเกิดก็คือผลมันเกิด คำว่าหวังผลนี้คือกิเลสนะ นี่ตัณหาความทะยานอยาก การหวังผล แต่อธิษฐานนี้หวังผลหรือเปล่า? อธิษฐานเราตั้งเป้าใช่ไหม? แล้วมันจะได้หรือไม่ได้นี่มันอยู่ที่ความสามารถของเราใช่ไหม?

ฉะนั้น อธิษฐานกับหวังผลมันคนละเรื่องนะ ทีนี้พอเราอธิษฐานแล้วเราหวังผลไง ถ้าอธิษฐานแล้วหวังผล มันก็เหมือนตะกอนน้ำไง จะปล่อยให้ตะกอน เห็นไหม ตะกอนเวลาตั้งไว้มันก็นอนอยู่ก้นแก้ว นี้โดยธรรมชาติของมันใช่ไหม? พอเราอธิษฐานแล้วนะ อธิษฐานแล้วเราก็นั่งรอไง นั่งรอให้ตะกอนมันตกก้นแก้ว.. ไม่มีสิทธิ์หรอก!

ตะกอนมันเป็นมวลสารที่มันมีของมัน มันต้องเป็นของมัน ตามธรรมชาติของมัน แต่กิเลสมันเหมือนสิ่งที่มีชีวิต มันเกิดตายของมัน มันไม่ตกผลึกขนาดนั้นหรอก ฉะนั้น เราต้องปฏิบัติอย่างเดียว

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าไม่มีเหตุสมควรแล้วนี่ผลเกิดลงสู่อวิชชา.. ถ้าโดยธรรมชาติของจิต จิตมีอวิชชาอยู่แล้ว จิตขับไสให้เราเกิดอยู่แล้ว อย่างไรๆ มันก็มีอวิชชาของมันอยู่ ทำอย่างไรอยู่ มันว่างอย่างไรนี่.. เพราะอวิชชา เพราะมารมันอยู่กับใจ พอมารมันอยู่กับใจ เวลาทำอะไรนี่มันทำให้เหมือนเลย ทำให้เหมือนเลย

กิเลส อุปกิเลส! เวลาเราปฏิบัติกันนี่เราต้องการความว่าง ต้องการความว่าง อุปกิเลสคืออะไร? ความว่าง แสงโอภาส นี่กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียด แล้วพอกิเลสอย่างละเอียด พอไปอยู่อุปกิเลส เราไม่เข้าใจว่านี่เป็นอุปกิเลส อ๋อ.. เข้าใจว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นธรรม

ฉะนั้น หวังผลไม่ได้ ผลมันจะเกิดจากเหตุที่มีการกระทำตามความเป็นจริง ฉะนั้น หวังผลไม่ได้! อธิษฐานได้แต่หวังผลไม่ได้ มันก็เหมือนกับความอยากนี่แหละ เห็นไหม โดยธรรมชาติเขาบอกว่า ทำด้วยความอยากไม่ได้ ผิดหมดๆ แต่โดยธรรมชาติของจิต เหมือนกับถ้าเราอยากกินอาหาร เราอยากนะ แต่ถ้าเรากินอาหารเพื่อดำรงชีวิตเราอยากหรือเปล่า? กินอาหารเพื่อดำรงชีวิตอย่างหนึ่งนะ กับอยากกินอาหาร

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าอยาก.. นี่หวังผลคืออยาก แต่ถ้าทำความดีเป็นความอยากไหม? เป็นความดีคือการเคลื่อนไหว มนุษย์เรานะนั่งท่าเดียวไม่ขยับเลย ให้นอนเฉยๆ ไม่ให้ลุกเลยก็ตาย อยู่ไม่ได้หรอก สภาวะมันต้องเปลี่ยนแปลงของมัน มันอยู่ของมันไม่ได้ ฉะนั้น พอมันอยู่ของมันไม่ได้ นี่เราทำแล้วแบบว่าไม่ให้มีความอยากเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

แต่ถ้ามันอยากโดยลึกๆ ลึกๆ นี่มันอยากใช่ไหม? ฉะนั้น ถ้าอยากมันก็เหมือนกับการหวังผลนี่แหละ แต่มันอยากอยู่ลึกๆ ใช่ไหม? แต่เราอยากแล้วเราทำคุณงามความดี อยากแล้วนั่งสมาธิ อยากแล้วภาวนา ให้มันได้ผลไง

เพราะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะบอกว่าใครทำด้วยความอยากเป็นกิเลสหมด แล้วคนเกิดมานี่มันมีกิเลสอยู่แล้ว บอกไม่มีความอยากเลยมันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่พอเราทำความสงบของใจ พุทโธ พุทโธนี่จิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม ความอยากมันได้รับผลตอบแทนแล้ว ได้รับผลตอบแทนคือจิตมันสงบ พอจิตสงบมันมีความสุขของมันแล้ว แล้วมันจะออกพิจารณาของมันอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น ข้อที่ ๑. “การปฏิบัติธรรมควรอธิษฐานไหม”

ควรอย่างยิ่ง! อธิษฐานก็เหมือนเรามีเป้าหมาย ถ้าไม่อธิษฐานเลยเหมือนคนตาบอด แล้วเราได้อะไรหรือไม่ได้อะไรก็ไม่รู้

“หรือหวังผล”

หวังผลไม่ได้ ถ้าหวังผลนะ.. ทีนี้เพียงแต่กรณีนี้มันเป็นเหมือนกรณีของหลวงตา หลวงตาเวลาท่านออกปฏิบัติใหม่ๆ เห็นไหม ท่านก็อธิษฐานของท่าน ก่อนท่านจะออกจากวัดนะ ออกจากวัด ออกจากสำนึกศึกษาจะไปปฏิบัติ ท่านบอกว่า

“มรรค ผล นิพพานมันมีจริงหรือเปล่า? เราออกปฏิบัติแล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่า?”

นี่แล้วก็นั่งสมาธินะ

“ให้บอกมา แบบว่าให้ธรรมตอบออกมา ให้ธรรมนี่ตอบออกมา”

เวลาปฏิบัติ นี่เพราะคำว่าธรรมเกิดๆ ธรรมตอบออกมา เหมือนกับเราปฏิบัติไปแล้วมันจะมีความรู้ความเห็นต่างๆ เห็นไหม ท่านบอกว่า

“ให้รู้ด้วยทางสมาธิก็ได้ หรือให้นอนฝันก็ได้”

แล้วท่านก็นอนหลับไป ท่านภาวนาจนเมื่อยล้า แล้วท่านก็หยุด ธรรมไม่ตอบท่านก็นอน ก็ฝัน เห็นไหม พอฝันนี่ฝันว่าตัวเองลอยขึ้นไป ลอยขึ้นไปบนเมืองหลวงเมืองใหญ่ ๓ รอบ นี่ท่านฝันอย่างนั้น ท่านก็ภาวนาแล้วท่านบอกว่า

“อืม.. มันก็มีอธิษฐานแล้ว”

เห็นไหม อธิษฐานแล้วมีผลตอบสนอง เราก็มีความหวัง นี่เรามีความหวังนะ หวังผลได้หรือเปล่า? หวังผลได้หรือเปล่า?

มีความหวัง เพราะปฏิบัติใหม่ใครก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกหรอก แล้วพอไปปฏิบัติ พอจิตท่านสงบ เห็นไหม ท่านเห็นปะขาวเดินมาบอกในนิมิต นับข้อศอก ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ แล้วก็พยักหน้า รู้กันไงว่า ๙ ปีจะสำเร็จ ทีนี้พอปฏิบัติไป พอความเห็นว่า ๙ ปีมันยังไม่สุด เพราะตัวเองก็รู้อยู่ว่ายังไม่สิ้น แล้วก็ไปที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ไปปรึกษากันนะท่านบอกว่า

“๙ ปีมันต้องพ้นสิ้นปีสิ ไม่ใช่พ้นพรรษา”

ฉะนั้น พอออกพรรษาแล้วท่านยังไม่นั่น แต่พอก่อนสิ้นปีท่านเสร็จกิจของท่าน เห็นไหม เพราะพอบอกว่า ๙ ปีมันก็คาใจ พอ ๙ ปีแล้วมันก็ไม่จบ กรณีอย่างนี้นะ มันเป็นเรื่องแบบว่าจิตใต้สำนึกมันลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะควบคุมได้.. ทีนี้เวลาถามเราก็ตอบอย่างนี้ พอตอบอย่างนี้ปั๊บ อันนู้นครึ่งหนึ่งถูกครึ่งหนึ่งผิด ครึ่งหนึ่งอธิษฐานนี่ถูกต้อง แต่หวังผล ถ้าหวังผลมันทำให้การปฏิบัติละล้าละลัง ฉะนั้น เราทำของเราไป

ฉะนั้น ควรอธิษฐาน ทุกคนปฏิบัติต้องตั้งเป้านะ อย่างเราตั้งเป้าว่าชาตินี้ต้องให้สิ้นกิเลสให้ได้ ถ้าสิ้นกิเลสให้ได้มันก็ดี ถ้าสิ้นกิเลสไม่ได้เราก็สุดความสามารถแล้ว มันไม่ได้ก็คือไม่ได้ เราก็สร้างฐานของเรา สร้างอำนาจวาสนาของเราไป

ถาม : ข้อ ๒. ผมเข้าใจว่าการอธิษฐานคือการมุ่งเป้าหมายให้กับตนเอง แต่นอกจากนี้มีนัยยะสำคัญอะไรอีกไหมครับ

หลวงพ่อ : ตั้งเป้าให้กับเราเองหนึ่ง ให้กำลังใจกับเราเองหนึ่ง.. เราต้องการสิ่งใด เราตั้งเป้าแล้วเราก็จะขวนขวาย จะหาสิ่งนั้น ถ้าเราอธิษฐานของเรา เราตั้งเป้าของเรา มันทำให้เรามีงานอยู่ในใจ ถ้าเราไม่ตั้งเป้านะ อย่างเช่นเราตั้งเป้าเราอยากให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ แต่เราทำไปๆ มันไม่ถึง เห็นไหม พอไม่ถึงเราก็จะเคลื่อนจากเป้านั้นไป

แต่ถ้ามันมีเป้าอยู่นั้น เราเกาะอยู่ตรงนั้นปั๊บ มันทำให้เรายังมีที่ยึดที่มั่น และให้จิตเราไม่ออกไปเอาสิ่งที่มีคุณค่าต่ำกว่า ต่ำกว่าคือออกไปทางโลก ออกไปต่างๆ โลกคืออาศัยอยู่ แต่เราต้องมีหลักของเรา มันจะหมุนของมันไป

นี่มันก็เหมือนกับพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์นะ ถ้าตั้งเป้าแล้วใช่ไหม แล้วทำให้ถึงสำเร็จจนเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือเป้าหมายนั้นถึงเป้า แต่พระโพธิสัตว์เยอะมาก ที่เวลาถึงสร้างบุญญาธิการมาแล้วลาซะ ลาคือว่าอยากให้พ้นจากทุกข์ไป นี่มันก็สิ้นสุดแห่งทุกข์เหมือนกันแต่ไม่ถึงเป้า แต่มันก็เกาะเป้านั้นมา แต่ถึงที่สุดแล้วท่านก็พ้นของท่านไปได้

ฉะนั้น นัยยะสำคัญอย่างอื่น นัยยะสำคัญก็เหมือนกับคน คนเรานี่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีสิ่งใดเลย โลเลไหม? นัยยะอย่างอื่นมันทำให้เรามั่นคง อย่างธุดงควัตร ทำไมต้องอธิษฐาน ทำไมต้องถือธุดงค์ด้วย ธุดงควัตรคือการขัดเกลา เป็นเครื่องขัดเกลา คือไม่ตามใจตัว ตัวของเรานี่เราคิดถูกหมดแหละ ดีหมดแหละ อ้าว.. วันนี้เอาเข้มแข็งนะ พรุ่งนี้เอาไว้ก่อน พอต่อไปนะพักไว้ครึ่งหนึ่ง นี่มันเป็นของมันไป

นัยยะก็คือให้จิตมันมีความเข้มแข็ง มันมีประโยชน์ไง มันมีประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ทีนี้ประโยชน์ของเรา เราใช้ประโยชน์ โดยนัยยะนี่เราตีความผิด เรายึดผิด เราทำอะไรผิด แต่กรณีอย่างนี้มันมีทุกคนแหละ มันมีทุกคน ถ้ามันไม่มีทุกคน ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี ท่านพยายามของท่าน แต่มันก็ยังผิดพลาดมาตลอด แต่ถึงที่สุดมันก็เป็นไปได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเวลาคนดำน้ำ เห็นไหม พอโผล่ขึ้นมาจากน้ำมันจะเห็นภาพหมดเลย เวลาดำน้ำไป เราโผล่ขึ้นไปเราจะพบอะไรล่ะ? เราโผล่จากน้ำขึ้นมาเราจะเห็นอะไรบ้าง?

จิต! จิตถ้ามันมีกิเลสครอบงำอยู่เราจะรู้อะไร? แต่เวลาเราโผล่จากน้ำขึ้นมา ดำน้ำแล้วโผล่จากน้ำขึ้นมา เราจะเห็นภาพหมดเลย เราอยู่ตรงไหน? เราเป็นอย่างไร? นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไป เห็นไหม มันจะรู้ของมัน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพอถ้ามันโผล่ขึ้นมา เราเห็นเอง เรารู้เอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันก็หายความสงสัย

นี่ก็เหมือนกัน มีนัยยะต่างๆ มันเกาะให้เราอยู่กับหลักเกณฑ์ตลอดไป

ถาม : ข้อ ๓. แล้วการหวังผลในสิ่งที่เราทำ ถ้าทำบ่อยๆ จะมีผลเสียอย่างไรหรือครับ

หลวงพ่อ : เราหวังผลไง นี่เวลาเขาบอกว่า “ปฏิบัติด้วยความอยาก” ความอยาก เห็นไหม เราก็โต้แย้ง บอกว่าความอยากเนี่ยมัน..

คนเราจะหมดความอยากคือพระอรหันต์เท่านั้น แล้วเราปฏิบัติอยู่ พระอนาคามียังอยากเป็นพระอรหันต์เลย แล้วพระอนาคามีพออยากเป็นพระอรหันต์ปั๊บ ก็คิดว่าความว่างนั้นเป็นพระอรหันต์ อยากเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่รู้จักพระอรหันต์ก็ยังติดอยู่นั่นแหละ เห็นไหม

เวลาปฏิบัติไปมันติดไปทุกขั้นตอนนะ เวลาปฏิบัติไป กิเลสอย่างละเอียดๆ มันจะทำให้เราหลงทางตลอด มันทำให้เราบิดเบือน ไม่อย่างนั้นมันจะเรียกว่ากิเลสหรือ? พอมันบิดเบือนปั๊บ พระอนาคามีก็อยากเป็นพระอรหันต์ แล้วพระอนาคามีก็เข้าใจว่าความเป็นอนาคามี หรือความพิจารณาเศษส่วนของมันแล้ว ความว่างอันนั้นเป็นพระอรหันต์ แต่ความจริงมันก็ไม่ได้เป็น

แต่พอถ้ามันรู้มันเห็นหรือมีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ แล้วถ้าจับประเด็นนั้นได้ จับจิตเดิมแท้.. นี่จิตเดิมแท้นั้นผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ทำลายกิเลสแล้วก็ข้ามพ้นไป พอมันโผล่จากน้ำผลัวะ มันก็จบ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความคาด ความหวัง เราก็หวังได้แล้ววางไว้

ถาม : แล้วถ้าสิ่งบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ล่ะ?

หลวงพ่อ : ทำบ่อยๆ อธิษฐานบ่อยๆ อธิษฐานทีเดียวก็พอ เขาเรียกว่าคนจริงนะพูดหนเดียว แต่ถ้าเราไม่จริงเราก็พูดซ้ำพูดซาก เดี๋ยวก็ว่าเอาจริง เดี๋ยวก็ว่าเอาจริง เอาจริงบ่อยเหลือเกิน เอาจริงทีไรหงายท้องทุกที แต่ถ้าคนเขาจริงนะ ตั้งทีเดียวเท่านั้นแหละรู้แล้ว อืม.. มันฝังใจ แล้วมันทำของเขาไป เอาอย่างนั้น

ถาม : ข้อ ๔. ถ้ามีคนปฏิบัติธรรมทุกวัน อธิษฐานถึงมรรค ผลที่หวังผลในชาตินี้ ถ้าทุกวันควบคู่กันไปจะมีผลกับจิตไหม

หลวงพ่อ : มันมีผลอันหนึ่งนะ มีผลคือเตือนสติตัวไง ถ้าเราทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เราอธิษฐานของเรามันก็มีผล มีผลเพื่อเตือนสติ กรณีอย่างนี้นะ เวลาพูดกับโยมเพราะว่าโยมเพิ่งปฏิบัติใหม่ หรือขณะคฤหัสถ์เข้ามามันยังแบบว่าจับต้นชนปลายสิ่งใดไม่ถูก หลวงตาบอกว่า

“การปฏิบัติยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น เหมือนหญ้าปากคอก จะกินอะไร จะทำอะไร ทำผิดๆ ถูกๆ ไปตลอดเลย กับขั้นสุดท้าย”

ฉะนั้น ขั้นต้นนี่ขั้นที่ว่ายากที่สุด คือว่าหญ้าปากคอก เหมือนกับเราถามทาง ถ้าเรายังเข้าปากทางไม่ถูก ยังจับทางไม่ได้ เราจะไปถึงที่สุดได้อย่างไร? แต่ถ้าเราพอบอกว่าถนนสายนี้นะ พอขึ้นถนนสายนี้แล้วไปถึงที่สุดถนนเลยมันจะเลี้ยวนั้น นี่เราไปได้แล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราอธิษฐานทุกวัน เราทำทุกวัน เห็นไหม นี่สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เรามั่นคง นี่พูดถึงว่าหญ้าปากคอกที่เรายังไม่ได้ปฏิบัติเลย หรือเราปฏิบัติแต่ยังไม่เข้าทาง แต่พอเข้าทางมาแล้วนะ หลวงปู่มั่นท่านไปแก้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ ประเพณีของชาวอุบลฯ นะ เวลาจะภาวนา ทางจงกรมนี่จะเอาไม้ไปปักทางจงกรมใช่ไหม แล้วเอาสายสิญจน์ขึง

“ขอให้ธรรมมาสถิตที่ตา ขอให้ธรรมมาสถิตที่ใจ ขอให้ธรรมมาสถิตที่อายตนะ”

ขออยู่นั่นแหละ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง สวดมนต์ก่อนภาวนา หลวงปู่มั่นบอกว่า

“ถ้าเดินจงกรม ๓ ชั่วโมงมันได้ประโยชน์มากกว่านี้”

“แต่ก็ประเพณี ทำกันมาตลอด”

“การสวดมนต์ การอธิษฐานดีไหม?”

“ดี”

“แล้วการภาวนามันดีกว่าการสวดมนต์ไหม?”

“ดี”

“อ้าว.. แล้วดีอันไหนล่ะ? ดีอันไหน?”

การภาวนานี่ ถ้ามันสงบมันก็สงบไปแล้ว แต่นี้สวดมนต์อยู่ต้องสวดให้จบนะ ทีนี้ถ้าจิตมันจะลงก็ต้องดึงไว้ เห็นไหม นี่ความดีขึ้นไปกว่านี้ ความดีที่ละเอียดไปกว่านี้มันมีอยู่ แต่ให้ดีจริงๆ นะ ถ้าความดีมีกว่านี้นะ เราก็ปล่อยหมดเลย เราจะเอาดีละเอียดไง มันเลยกลายเป็นขึ้นไปอวกาศ ดีจนจับต้องไม่ถูกเลย อันนั้นก็ผิด.. ความดีมันต้องมีสติ ความดีมันจะรู้ตัวของมัน ความดีมันจะชัดเจนของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ถ้าอธิษฐานทุกวันล่ะ? ทำทุกวันไปล่ะ?”

การสวดมนต์ ประเพณี วัฒนธรรม.. ประเพณีนี่ทำให้พวกเรามาทำบุญกุศล ทำให้พวกเรามาจากที่แตกต่างกัน แล้วทำอันเดียวกัน ทำเหมือนกัน ประเพณีมีประโยชน์ตรงนี้ แต่ถ้าประเพณีมันก็เป็นประเพณีใช่ไหม?

ประเพณีไม่ใช่ธรรม.. ประเพณี วัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม! ประเพณีเหมือนกฎหมาย เห็นไหม เขาบอกว่า เดี๋ยวนี้ประเพณีที่เขาเข้มงวดนะมันเข้มแข็งกว่ากฎหมายอีก กฎหมายนี่ทุกคนยังหลบยังหลีกนะ ประเพณีทุกคนไม่หลบหลีกมันนะ ประเพณีเรารู้ว่ามันผิดไง เรากลัวบาปกลัวกรรม เราก็ทำให้มันถูกต้อง ประเพณีเหมือนกฎหมาย แล้วถ้าคนทำดีกว่ากฎหมายล่ะ? กฎหมายจะให้โทษกับคนดีไหม?

นี่เขาพูดถึงที่ว่า “การอธิษฐานทุกวัน การทำทุกวัน”

อธิษฐานสำหรับโยมดีไหม? ดี.. แต่ถ้าปฏิบัติล่ะ? ปฏิบัติเขาไม่เอาแล้ว เขาจะเอาจริงเอาจังแล้ว ถ้าเอาจริงเอาจังมันขึ้นไปนะ

แต่วันนี้ชอบใจผู้ถามนี้มาก เพราะเขาบอกว่าถามสั้นๆ แหม.. ได้เนื้อความ ไม่อย่างนั้นอ่านทีหนึ่ง ๓ หน้า ๔ หน้า ไม่ไหว เออ.. ถามสั้นๆ แล้วได้เนื้อความเลย

ข้อ ๕๐๑. ไม่มี

ข้อ ๕๐๒. ไม่มี

ข้อ ๕๐๓. เขาบอกว่า “การสวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ ๒๒๗ ข้อต่างกันอย่างไร”

เขาบอกว่าเขาห่วงศาสนามาก รักศาสนามาก.. ถ้าห่วงศาสนามากก็ต้องไปที่เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ แล้วก็ไปจัดการเลยล่ะ เราไม่ใช่พระปกครอง ไม่เกี่ยว

ข้อ ๕๐๔. อันนี้เขาก็เขียนมานะ บางคนเขียนมาแล้วเขาก็เขียนมาถาม แล้วก็เขียนมายกเลิก แล้วก็เขียนมาถาม

เราจะบอกว่า.. เราไม่ได้พูดถึงใครนะ เราจะบอกว่าสังคมเรา จิตใจของมนุษย์มันแตกต่างหลากหลาย พอจิตใจของมนุษย์แตกต่างหลากหลาย เวลาตัวเองรู้ตัวเองเห็นสิ่งใด ก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง แล้วถ้าในวงปฏิบัติ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ยิ่งท่านรู้เท่าไรท่านยิ่งเฉย ยิ่งรู้เท่าไรยิ่งเฉย เพราะ! เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วบอกว่า

“มันจะสอนใครได้หนอ สอนใครได้หนอ”

คือความรู้ความเห็นมันลึกซึ้งแตกต่างกัน มันคนละระดับกัน ระดับของโลกมันเป็นระดับของเรื่องทางวิชาการที่เราศึกษาได้ เราเทียบเคียงได้ แต่ทางวิชาการมันก็เป็นสุตมยปัญญา ปัญญาที่เป็นการศึกษา การค้นคว้า แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไปมันเป็นผลจากการ.. มันเหมือนกับเราทดสอบทางวิทยาศาสตร์ พอทดสอบวิทยาศาสตร์ ผลที่เกิดขึ้นกับการทดสอบนั้น

จิตใจเวลามันทดสอบมรรคญาณขึ้นมาแล้วมันลึกซึ้งกว่านั้น พอลึกซึ้งกว่านั้น พอพูดไปนี่ลึกซึ้งกว่านั้นใช่ไหม เขาบอกมันผิด มันผิดเพราะอะไร? ผิดเพราะว่ามันต้องมีเหตุผลทางทฤษฎีที่เขาทำกัน นั่นมันก็เป็นสุตมยปัญญาไง แต่ถ้าผลที่ต่อขึ้นมา เพราะผลที่ต่อขึ้นมามันมาจากไหนล่ะ? มันต้องมาจากเหตุ มันต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องมีมรรคของมัน พอมีมรรคของมัน มีการกระทำของมันขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นจริงๆ ขึ้นมาแล้วเขาเรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” แล้วภาวนามยปัญญามันไม่มีขอบเขตเลยหรือ? จับต้องอะไรกันไม่ได้เลยหรือ? ได้! ผู้รู้กับผู้รู้เขาจะพูดกัน

อย่างเช่นอันนี้ ข้อ ๕๐๕. หัวข้อนะ

ถาม : ๕๐๕. เรื่อง“จับโจร ทำอย่างไรจึงดี”

(เขาก็บอกว่า.. นี่เขาภาวนามานะ เขียนมาเยอะมาก)

หนูเริ่มต้นที่การภาวนา ในช่วงแรกในการภาวนา เขาจะบอกว่าภาวนามาแล้วเขาหนาวมาก พอเขาหนาวของเขาแล้ว เขาพิจารณาของเขาไป จนเขาปล่อยความหนาวได้ อันนั้นเขาบอกว่ามันเป็นความหนาวจากภายนอก จนถึงคืนที่หนาว แล้วความสงบวางเวทนาจากภายในในจิต และความหนาวจากใจก็ทำให้ยากจะทนได้ เฝ้าดูความเป็นไปจนถึงที่สุดก็ปล่อยเสียเอง เพราะเกิดความสว่างครอบจึงรู้ว่าปล่อยวางภายใน ทั้งปล่อยภายนอกเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดถึงประสบการณ์ของการปฏิบัติ แล้วเขาก็พูดถึงเวลาปฏิบัติกับพระ พระมีความเห็นแตกต่างกันไป เอ่ยชื่อพระมาหมดนะแต่ไม่เอา แล้วสุดท้ายก็มาถึงบอกว่า

ถาม : พูดถึงในทางปฏิบัติ ก็อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยเหลือญาติธรรมที่โดดเดี่ยวจากการสูญเสียหลักที่พึ่งทางใจ ไปหาสิ่งที่พึ่งไม่ได้มาเป็นที่พึ่ง เพราะหลังการสูญเสีย

หลวงพ่อ : เขาพูดถึงว่าครูบาอาจารย์ที่สูญเสียไปนั่นแหละ แล้วพระก็แอบอ้างเอาพระธงพระธาตุอะไรกันมา เขาว่าอย่างนั้นนะ

เฮ้อ!! นี่เวลาเขาถามนี่นะเหมือนไม่มีเหตุผล คือไม่มีประเด็นไง เหมือนกับเขาถามว่าเขาปฏิบัติไปแล้วเป็นประสบการณ์ของเขา กับเขาไปปฏิบัติที่วัด ครูบาอาจารย์สอนให้ยึดมั่นถือมั่นหรือสอนให้ยึดติด หรือความเห็นของเขามันขัดแย้งกัน

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันอยู่ที่เขา ทีนี้เขาก็อ้างอีกว่า..

ถาม : มีพระที่พากันไป แต่กลับมีผู้ทิ้งดอกบัว แล้วเห็นเป็นกงจักรบ้างตามที่ได้กล่าวไว้ ก็เนื่องจากสหายธรรมเชื่อในพระสงบ จึงอยากหวังว่าพระอาจารย์สงบจะเมตตาสงสาร ให้เราหาเหตุผลให้คนที่หลงผิดหรือผิดพลาดไป ให้มีความหวัง

หลวงพ่อ : เราเคยพูดนะ เราพูดกับพวกเราเองบ่อย ว่าเราพูดนี่เราพูดด้วยประสบการณ์ ฉะนั้นพูดด้วยประสบการณ์ เวลาปฏิบัติไป ถ้ามันต่างจากนี้ไปเราก็เริ่มเอะใจ

ฉะนั้น เวลาพูดด้วยประสบการณ์ คนที่มีประสบการณ์ของจิต จิตที่มีประสบการณ์บ้าง เวลาพูดสิ่งใดจะเข้าใจได้ ฉะนั้น คนที่ไม่มีประสบการณ์ เวลาพูดไปมันเข้าใจไม่ได้ อย่างเช่นเราทำสิ่งใดที่เราเคยอาบเหงื่อต่างน้ำมา เวลาใครพูดอย่างนี้เราจะเข้าใจได้ แต่คนส่วนใหญ่แล้วเขาไม่เคยอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาอยู่กันด้วยความสุขสบาย

ฉะนั้น พอเวลาเราพูดบอกว่า การอาบเหงื่อต่างน้ำ การต้องลงทุนลงแรง การต้องทำจริงทำจัง ไอ้พวกที่ไม่เคยทำ โอ๋ย.. มันเอามือก่ายหน้าผากนะ มันเอามือก่ายหน้าผากเลย เฮ้อ.. ไม่เอา ลำบากอย่างนี้ไม่เอา เอาสบายๆ ดีกว่า

ฉะนั้น สิ่งที่พูดนี่เห็นไหม บอกว่า “เขากลับทิ้งดอกบัว เห็นกงจักรดีกว่าดอกบัวต่างๆ”

ไอ้อย่างนี้เราเห็นแล้วเราเข้าใจอย่างนี้ แต่เขากลับมองกลับนะ ว่าเขาเป็นดอกบัว พวกเราเป็นกงจักร ฉะนั้น สิ่งที่เราบอกว่าเราพูดออกไป คนจะเข้าใจได้นี่.. เราบอกว่าธรรมะที่พูดออกไป คนเข้าใจได้ไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๘๐ เปอร์เซ็นต์เข้าใจไม่ได้ เข้าใจไม่ได้เพราะเขาอยู่สุขอยู่สบาย แล้วเข้าใจว่าคำว่าสบาย ความว่างนั้นเป็นผล

เขาว่าไอ้สบายๆ นี่คือธรรมะๆ ถ้าธรรมะคือสบายนะ ห้องเย็นสบายกว่าเยอะเลย ห้องเย็นมันเก็บความเย็นนะ โอ๋ย.. ทุกอย่างแช่ไว้ไม่เสียหาย ไอ้ที่ห้องเย็นต่างๆ ที่เขาเก็บ อันนั้นมันอุณหภูมิ เห็นไหม โอ้โฮ.. นั่นเขาใช้ไฟเยอะนะ

แต่จิตใจของเรา นี่โดยธรรมชาติของมันใช่ไหม ธรรมชาติของจิต จะทุกข์ยากขนาดไหนนะ เวลามันปล่อยวางแล้ว มันสิ้นสุดของมัน นี่สิ้นสุดแห่งทุกข์ มันก็มีความสุขพอสมควร แล้วก็ไปอีก จิตเรานะ จิตบางดวงนะตกนรกอเวจี เห็นไหม นี่พอพ้นจากนรกอเวจีขึ้นมามันก็ขึ้นมา มันหมดกรรมหมดเวร มันก็ขึ้นสูงมาๆ มันเป็นธรรมชาติของมัน

ทีนี้ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น แล้วเราปฏิบัติธรรม พอมันพ้นวาระมา จิตมันเคยทุกข์ยาก จิตมันเคยตึงเครียดมาก พอมาเจอสภาวะมันปล่อยวาง ก็ว่า โอ๋ย.. นี่คือธรรม นี่คือธรรม แล้วพอไอ้พวกที่อาบเหงื่อต่างน้ำ ไอ้ที่ลงทุนลงแรง ทำความจริงจัง อันนั้นกลับเป็นเรื่องความทุกข์ความยาก

อันนี้พูดถึงถ้าคนไม่มีประสบการณ์นะ แต่ถ้าคนมีประสบการณ์นะ เคยทุกข์เคยยาก เคยทำมาแล้วมันเป็นผลนะ เวลาครูบาอาจารย์พูดถึงนี่ อืม! อืม! ฉะนั้น เราจะบอกว่าคนที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาเขามี.. เขาเรียกว่าปัจจัตตัง เขาเรียกว่าสันทิฏฐิโก คือจิตมันได้สัมผัส จิตมันได้ทำความจริง

มันจะมีมากมีน้อยแค่ไหน แต่จิตที่มันวนอยู่ในวัฏฏะ วนอยู่ในอารมณ์ความรู้สึก วนอยู่ในสัญชาตญาณของมัน ในสัญชาตญาณของมันก็เกิดดับอยู่แล้ว ในสัญชาตญาณของจิตมันเกิดดับนะ ความคิดก็เกิดดับ ทุกอย่างก็เกิดดับ ความสุข ความทุกข์ก็เกิดดับ แล้วเวลามันปล่อยมันวางนะ เออ! เออ! ทำอย่างนี้มันก็ได้ผล แล้วทำไมต้องไปทุกข์ไปยากล่ะ?

นี้เพราะเขาบอกว่า “อยากให้พระสงบมีความเมตตา ช่วยชักนำ”

โอ้โฮ.. ออกไปชักนำขนาดนี้มันก็พอสมควรอยู่แล้วแหละ เพราะของอย่างนี้นะมันก็เหมือน เขาเรียกว่าอะไรนะ “ลางเนื้อชอบลางยา” มันเป็นจริตนิสัย ถ้าอย่างนี้ย้อนกลับไปข้อแรกเลย ข้อแรกที่ว่าอธิษฐานบารมี กับความคาดหวังต่างๆ ถ้าประสบการณ์ใครทำมา ใครต่างๆ มา มีประสบการณ์มานะ พอมันไปเจอความจริงเข้ามันยอมรับ มันยอมรับความจริงนะ แต่ถ้าเราอ่อนแอ เห็นไหม เราอ่อนแอ..

มันเหมือนตอนนี้ ตอนนี้ทางโลกทุนนิยมเข้ามา วัฒนธรรม ประเพณีทุกอย่างหมดเลยนะ ชุมชนต่างๆ ทุนนิยมเข้าไปไม่มีเหลือเลย วัฒนธรรมในการกินอาหาร มันเป็นวัฒนธรรมที่แบบว่าสังคมเขาตกผลึกมาขนาดไหน เดี๋ยวนี้อาหารออกมานี่กินอย่างเดียวทั่วโลก วัฒนธรรมการกินโดนทำลายไปหมดเลย

ย้อนกลับมาในการปฏิบัติ ตอนนี้นะการตลาดเข้ามาทำลายหมดเลย แล้วการตลาดเท่านั้นเอง เรื่องของการปฏิบัติมันเป็นเรื่องของการตลาดไปหมดเลย แล้วความจริงมันอยู่ไหน? ถ้าความจริงนี่เราไม่ต้องเลยนะ เราอาบเหงื่อต่างน้ำ เราปลูกกระชาย ปลูกตะไคร้ เราปลูกในครัวเรา เราเก็บกินได้หมดเลย เรามีทั้งนั้น เราไม่ต้องไปหวังพึ่งใครเลย ทุนนิยมไม่เกี่ยว

จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญาของเรา เราทำของเราได้ตลอดเลย ฉะนั้น เรื่องจากข้างนอกมา เห็นไหม ตอนนี้พอเอาเป็นทุนนิยมมา เรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเลยกลายเป็นตลาดหมด กรณีนี้นะ เมื่อก่อนเราก็ยังเห็นเป็นเรื่องปกติเนาะ พอตอนหลวงตาท่านโต้แย้งเรื่องนี้มาก ท่านบอกเลยว่า

“ธรรมะทำไมให้กันไม่ได้ ทำไมต้องมีการค้าการขาย”

หลวงตาท่านพูดเรื่องนี้มาเป็นหลายสิบปีเลย ท่านบอกธรรมะทำไมให้กันไม่ได้ ธรรมะทำไมช่วยเหลือเจือจานกันไม่ได้ ธรรมะทำไมต้องเป็นธุรกิจ ธรรมะทำไมต้องมีการซื้อขาย เพียงแต่ตอนหลังนี่ออกมาโครงการช่วยชาติ เพราะโครงการช่วยชาติมันก็ต้องใช้เงินทองเพื่อช่วยชาติใช่ไหม? มันก็เลยไม่เข้มข้นเหมือนก่อนหน้านั้น ก่อนหน้านั้นเรื่องนี้ ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ ไม่ได้เลย แต่นี้มันเป็นเรื่องโลกไปหมด

ฉะนั้น ที่ว่าจะให้ไปช่วยเหลือเจือจานใคร เราจะไปช่วยเหลือใครล่ะ? เราเพียงแต่ว่ายืนยันไง เวลาพวกปฏิบัติ พวกเอาจริง เราก็ยืนยันกับเขาว่ามันต้องทำอย่างนี้มันถึงเป็นความจริง แต่ถ้าเขายังต้องการความสะดวกความสบายของเขา มันก็เรื่องของเขา

ตัวเองนี่ พูดถึงนะถ้าตัวเองยังเอาตัวไม่รอด ไปช่วยคนอื่นมันก็เป็นเรื่องภาระ แต่ถ้าตัวเองเอาตัวเองรอดได้ แต่ไปเห็นว่าคนอื่นนี่ อยากไปช่วยเหลือเขา แต่ไปช่วยเหลือทีไรก็โดนอีโต้ทุกทีเลย ฟันหัวกลับมา มันก็คงไม่อยากช่วยเหมือนกันแหละ ช่วยทีไรกลับมาก็เลือดอาบ ช่วยทีไรกลับมาก็เลือดอาบ

มันไม่ใช่คนตาบอดเนาะ อยากจะไปช่วยเขานี่โอ้โฮ.. เลือดโชกไปทั้งตัวเลยก็ยังจะช่วยเขาอยู่ ถ้าเขาฟันกลับมาก็เออ.. กรรมใครกรรมมันเถอะ แต่ถ้าเอาจริงเอาจังเราพิสูจน์ได้นะ ถ้าคนมีวาสนามันพิสูจน์ได้ไง อย่างในสมัยพุทธกาล เห็นไหม ในสมัยพุทธกาล เวลากษัตริย์เขาไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ จนพระไปเทศน์สอนจนยอมเชื่อ

เขาไม่เชื่อนะ เขาจับนักโทษประหารแล้วเขาเอาแก้วครอบ แล้วบอกว่าเขาจะสังเกตว่าวิญญาณจะออกตรงไหน ว่าคนมีวิญญาณหรือไม่มีวิญญาณไง เวลานักโทษประหาร เขาก็จับเลยนะบอกว่าเขาประหาร แล้วเขาก็สั่งไว้ บอกว่า “ถ้าเอ็งไปนรกนะเอ็งกลับมาบอกกูด้วย ถ้าเอ็งไปสรรค์นะเอ็งก็ต้องกลับมาบอกกูด้วย”

เขาสั่งอย่างนี้เยอะแยะไปหมดเลยนะ แล้วไม่มีใครกลับมาบอกเขาเลย เขาไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์นะ เขาไม่เชื่อ จนมีพระองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาลไปอธิบายให้เขาฟัง บอกว่าถ้าคนไปสวรรค์แล้วมันก็เหมือนพ้นจากหลุมมูตร หลุมคูถ ท่านจะไม่ลงมาหรอก คนไปตกนรกแล้ว ตกนรกมันก็โดนครอบงำไว้ อธิบายจนกษัตริย์นี้เชื่อ พออธิบายจนกษัตริย์นี้เชื่อแล้วบอกว่า

“เพื่อประโยชน์ของศาสนา ให้กษัตริย์พูดถึงทิฐิว่าได้เปลี่ยนแปลงแล้ว”

ไม่ยอม! ไม่ยอม อย่างไรก็ไม่ยอม นี่พระก็พูดทำนองนี้ ทำนองว่าเหมือนกับเราเห็นผิดอยู่ใช่ไหม ก็เหมือนกับเราแบกมูตร แบกคูถอยู่ พอเราไปเจอเงิน เราก็ทิ้งมูตร ทิ้งคูถเอาเงิน พอเราไปเจอทอง เราก็ทิ้งเงินไปเอาทอง คือว่าในเมื่อความคิดเห็นเราเปลี่ยนแปลงแล้ว เราควรจะพูดเป็นประโยชน์ ไม่ยอม อย่างไรก็ไม่ยอม.. อยู่ในพระไตรปิฎก

นั้นเป็นความเห็นของเขา เป็นความเห็นผิด นี่ถ้าความเห็นของเขานะ ถ้าเขาเห็นผิดของเขา เขาไปประสบการณ์ของเขานะเขาทิ้งของเขา แล้วเขาละเอียดเข้ามานี่เขาจะรู้ของเขา เขาจะเป็นของเขา แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ มันไม่เป็นมรรค ๔ ผล ๔ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นี่มีภูมิรู้ระดับหนึ่งนะ วุฒิภาวะภูมิรู้

ในมุตโตทัย เห็นไหม ทองคำที่สะอาดบริสุทธิ์ กับทองคำในเหมือง หลวงปู่มั่นบอกไว้เลย ถ้าพูดถึงโสดาบันนี่ทองคำบริสุทธิ์ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าเป็นสกิทาคามีล่ะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อนาคามี ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ สะอาดบริสุทธิ์หมดเลย

ฉะนั้น เวลามันสกปรก เวลาพระโสดาบันก็รู้จริง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ อีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์มันยังไม่จริง พูดอะไรมันยังคลาดเคลื่อนอยู่เยอะนะ แต่ถ้าเป็นสกิทาคามี ๕๐-๕๐ คือว่าถูก ๕๐ แต่ยังสงสัยอยู่อีก ๕๐ ถ้าเป็นอนาคามีพูดได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ใสสะอาดเลย แต่อีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็ยังไม่รู้นะ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์จบเลย

ทีนี้มันก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่นี่ว่าจะให้ช่วยเหลือ ถ้าใจเขาพัฒนาขึ้นมาเขาจะรู้ของเขา เขาจะเป็นประโยชน์ของเขา แล้วถ้าเขาทำได้มันก็อันเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกัน พุทธศาสนาสอนเรื่องการสิ้นสุดแห่งทุกข์ เอวัง