ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สังโยชน์

๓ ก.ค. ๒๕๕๔

 

สังโยชน์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาปัญหานี้ก่อนเลยนะ

ถาม : กระผมได้ฟังเทศน์ครั้งแรกเรื่อง “เวลาใจ” หลวงพ่อเอ่ยถึงปัจจุบันธรรมคือพลังงาน วันนี้ผมเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งเท่าไรก็ได้ รู้สึกว่าเบาสบายมากแต่ก็ไม่เอา บริกรรมพุทโธให้เป็นปัจจุบัน ลมหายใจชัดก็ไม่เอา เวทนา เสียงก็ไม่สนใจ บริกรรมพุทโธไม่เคยนั่งได้นานและสบายเท่านี้มาก่อน ออกจากสมาธิเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง

คำถาม! อย่างนี้เป็นปัจจุบันถูกต้องไหมครับ.. หมายเหตุ ผมศึกษาคำสอนหลวงพ่อ ๗ วัน ปฏิบัติมา ๗ วัน จึงถามผ่านเว็บไซต์วันที่ ๓๐ เช้านี้ปฏิบัติรู้สึก..

หลวงพ่อ : เรื่อง “เวลาใจ” วันนั้นเทศน์สอนพระ วันนั้นวันอุโบสถ เราพูดถึงเพราะมีคนมาถาม มีพระมาถามว่า “เขาไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ไม่เชื่อเรื่องการเกิดและการตาย” เขาบอกว่า “ตายแล้วสูญ” เพราะเขาบอกว่าถ้าเป็นแบบว่าเมื่อวาน วันนี้ เขาบอกว่าพระอาทิตย์ดวงเก่า เราบอก ใช่พระอาทิตย์ดวงเก่า แต่มันอยู่กับเวลา

อย่างเวลานี่เวลากระดิกไป เห็นไหม เพราะว่าพวกเรามันมีเวลาด้วยไง อย่างพลังงานส่วนพลังงาน พลังงานคือตัวใจ ทีนี้พระสารีบุตร เวลาพระสารีบุตรพูดกับนักบวชนอกศาสนา

“ชีวิตคืออะไร?”

“ชีวิตคือไออุ่น ไออุ่นตั้งอยู่บนกาลเวลา เพราะกาลเวลามันสืบทอดชีวิตไง”

ถ้าเราไม่นับกาลเวลามันก็ไม่มีสิ นั้นไม่นับกาลเวลา แต่พอนับเวลา เห็นไหม นับเวลาปั๊บ เวลามันขยับไปมันก็มีอดีต อนาคตแล้ว พอขยับปั๊บมันก็เป็นอดีตไปแล้ว

ทีนี้พลังงานตัวนี้.. ใช่! ชีวิตคือพลังงาน แต่พลังงานตั้งอยู่บนอะไรล่ะ? อย่างพวกเรานี่มันมีเวลา แต่พระอรหันต์ไม่มีเวลา พระอรหันต์หมดทุกอย่าง พระอรหันต์ไม่เกี่ยวกับเวลาแล้ว เพราะเวลานี่พอสิ้นกิเลสปั๊บนะมันไม่มีอดีต อนาคตแล้ว แล้วมันไม่ไป เห็นไหม

พระอรหันต์ไม่มีเวลานะ ถ้าสำเร็จโคนต้นโพธิ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำเร็จที่โคนต้นโพธิ์นั้นจบแล้ว สิ่งที่มาอีก ๔๕ ปีนี้เป็นการจดจารึกโดยสมมุติบัญญัติโดยพวกเรา แต่พระพุทธเจ้าไม่มีแล้ว พระอรหันต์ไม่มีเวลา ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่มีทั้งสิ้น เพราะมีนี้มันเป็นสมมุติไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นปัจจุบันถูกไหม? ถูก..

ถ้าพูดถึงธรรมนี่ถูกไหมที่เขาบอกว่า “เวลาจิตมันสงบแล้วสบายมาก”

เราดีใจด้วยที่บอกมันเบาแล้วมันสบาย กลัวเวลามันเสื่อมแล้วมันทุกข์ เดี๋ยวถ้ามันเสื่อมแล้วมันทุกข์แล้ว โอ๋ย.. ตายเลย ถ้ามันดีนะเราสาธุ

ฉะนั้น สิ่งใดก็แล้วแต่ อย่างต้นไม้มันก็มีอายุของมันใช่ไหม? เราก็ต้องรดน้ำพรวนดินมัน ถ้ามันขาดน้ำมันก็ตาย จิตถ้าเราดีได้เพราะเรามีสติ เพราะเรามีคำบริกรรม เพราะเรารักษามัน มันก็ดี ถ้าวันไหนเผลอ วันไหนเราไม่ดูแลมันนะเดี๋ยวมันก็เสื่อมถอย พอเสื่อมถอยแล้วเราก็จะทุกข์

ฉะนั้น อยู่กับปัจจุบันนี่รดน้ำพรวนดิน เห็นไหม เวลาธรรมของพระพุทธเจ้านะ เรารดน้ำพรวนดินที่โคน ผลไม้มันจะออกที่ปลาย ที่กิ่งของมัน แต่เวลาเรารดน้ำพรวนดินเรารดที่โคน

นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธ พุทโธ นี่เราพุทโธ แต่ผลมันออกมาที่เราสบายใจ เห็นไหม ฉะนั้น บอกว่ามันฟุ้งซ่าน มันไม่ดีทุกอย่างเลย คือจะไปเอาที่ปลาย เอาน้ำไปรดที่ปลายต้นไม้ ต้นไม้ตายหมด ต้นไม้เขารดที่โคน แล้วผลไปออกที่ปลาย

นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธนี่ถูกต้องแล้ว ปัจจุบันพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง พุทโธไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเห็นผล มันจะละเอียดกว่านี้.. ถ้าเหตุมันสมบูรณ์นะ ถ้าพุทโธไป จุดสิ้นสุดของพุทโธคืออัปปนาสมาธิ คือจิตรวมใหญ่ จิตสิ้นสุดของมัน มันจะไปลงสู่อัปปนาแล้วจะลงหมดเลย แล้วสักแต่ว่ารู้ชัดเจนมาก แล้วจะรู้เลยว่าพลังงานเป็นอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร

อันนี้มันยังมีพุทโธกับเราอยู่ไง เพราะเราต้องนึกพุทโธ มันก็ยัง เออ.. มันสบายมากเลย แต่! แต่มันก็มีเรามีเขาอยู่นะ แต่ถ้าพอเราลงถึงอัปปนานะมันดับที่ตัวมันเลย ดับสัญญาอารมณ์ทั้งหมด แต่พลังงานนี้ชัดเจนมาก! ชัดเจนมาก

นี้พูดถึงถ้ามันเป็นผลของการปฏิบัตินะ ถ้าผลของการปฏิบัติมันพูดง่าย มันพูดง่ายเพราะว่าเขาสัมผัสมาไง นี่เราสัมผัสมาด้วยกัน เรานั่งตากแดดร้อนด้วยกันก็คือร้อน เราไปนั่งอยู่ที่ไหนสบายเราก็สบายด้วยกัน คนที่มันได้สัมผัสมาด้วยกันมันพูดง่าย ถ้ามันพูดง่าย ฉะนั้นเป็นปัจจุบันไหม? ใช่ ปัจจุบันไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันมันก็มีละเอียดนะ ปัจจุบันก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด

ถ้าเป็นปัจจุบันไหม? เป็น.. ให้พุทโธไว้ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ แล้วถ้าพูดถึงจิตมันสงบแล้ว เห็นไหม อย่างเช่น ๓ ชั่วโมงจิตมันสบายแล้ว ออกมาแล้วนี่ฝึกใช้ปัญญาเลย ไม่ต้องไปรอเมื่อไหร่จะใช้ปัญญา ฝึกใช้ปัญญาเลย พอฝึกใช้ปัญญาตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้านี่แหละ ตรึกในชีวิตเรานี่แหละ ตรึกในการเกิดมานี่แหละ พอจิตมันสงบแล้ว มันสบายแล้วนะ เราออกมานี่เราใช้ปัญญาได้นะ ย้อนกลับมาชีวิตเราเลยล่ะ

ชีวิตนี้คืออะไร? จิตมันเป็นอย่างไร? นี่พิจารณาแล้วนะมันจะซาบซึ้ง พอซาบซึ้งพอไปพุทโธมันง่ายขึ้นแล้ว เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะว่าเราเอาจิตเราสุ่มไว้ เอาศีล สมาธิ ปัญญาสุ่มจิตไว้ ครอบจิตไว้ พอครอบจิตไว้นี่มันอยู่ในสุ่ม มันทำอะไรง่าย

นี่ก็เหมือนกัน มีสติปัญญากับมันนี่มันจะทำอะไรง่าย ฉะนั้น ใช้ปัญญาเลย ปัญญาใช้ได้ แต่ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาการฝึกฝน ปัญญาการฝึกหัด

หลวงตาบอกว่า “ปัญญาไม่ฝึกไม่หัด ปัญญาเกิดไม่ได้”

ปัญญาต้องฝึกต้องหัด ต้องฝึกมัน ต้องบังคับจิตให้ออกทำงาน ฉะนั้น จิตสงบแล้วนี่มันสงบแล้ว ใช่สงบ เวลามันฟุ้งซ่านเราก็ไม่อยากให้มันฟุ้งซ่าน อยากให้มันสงบ พอมันสงบแล้ว ผลของมันที่สงบแล้วลองใช้ปัญญาดูสิ พอใช้ปัญญาไปนี่ ความคิดที่มีสมาธิรองรับ กับความคิดที่ไม่มีสมาธิรองรับ ปัญญามันจะแตกต่างกันอย่างไร? ความซาบซึ้ง ธรรมสังเวช ความสะเทือนใจแตกต่างกันอย่างไร?

ความคิดเหมือนกัน คำๆ เดียวกันนี่แหละ แต่ถ้าไม่มีสมาธินะมันจืดๆ ชืดๆ มันก็คิดเหมือนเราธรรมดานี่แหละ แต่ถ้ามีสมาธินะพอคิดแล้วมันสะเทือนหัวใจมาก ความคิดเหมือนกันนี่แหละ คำว่าตายนี่แหละ นี่ว่าตายก็ตาย ใครก็ตาย เราก็ตาย ใครก็ตาย ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่พอจิตมันสงบนะ พอคิดว่าตายนี่อู้ฮู.. หัวใจมันพองนะ มันสั่นไหวไปหมดเลยนะ อู๋ย.. มันต้องตายหรือ? เพราะมันตายจริงๆ ไง

ถ้ามันเป็นสมาธินะ ถ้าเป็นสมาธิปั๊บ คำว่าตายเหมือนกันนี่แหละ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ คิดแล้วก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีสมาธิลึกนะ ยิ่งคิดนะอู้ฮู.. ตายเหรอ? ตายต้องขยัน ตายต้องรีบ อู้ฮู.. มันจะขยันหมั่นเพียร มันจะมีกำลังใจมามหาศาลเลย

นี่พูดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา.. สมาธินี้เป็นตัวฐาน ฉะนั้น ถ้ามันสงบแล้วดีมาก แล้วหัดฝึกใช้ปัญญา ปัญญาฝึกใช้ได้ พอปัญญาฝึกใช้แล้วจิตมันพัฒนาขึ้น อย่างเช่นคนทำสมาธิยากมันก็ยากใช่ไหม? พอฝึกหัดใช้ปัญญานะ ทำสมาธิมันจะง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ดีขึ้น เห็นไหม มันสะดวกขึ้น มันคล่องตัวขึ้น นี้คือการฝึกหัดใช้ปัญญา มันถึงไม่ใช่ปัญญาฆ่ากิเลส แต่มันเป็นปัญญาฝึกฝนเรานี่แหละ ปัญญาใช้ได้!

ฉะนั้น เพียงแต่เวลาเถียงกัน มันเถียงกันว่าปัญญาอย่างนี้ฆ่ากิเลสหรือยัง ที่เราบอกยังๆ เพราะมันไม่ใช่ปัญญาฆ่ากิเลส แต่มันเป็นปัญญาฝึกหัดให้จิตเข้มแข็ง จิตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น จิตมันชำนาญการขึ้น แล้วถ้ามันออกไปใช้ปัญญามากขึ้นๆ ขยันหมั่นเพียรขึ้น เดี๋ยวมันจะเห็นปัญญาแท้ๆ ปัญญาเพียวๆ เลย ปัญญาที่เกิดจากมรรคเลย แล้วพอกิเลสมันขาด โอ้โฮ.. มันจะซาบซึ้งมาก

ปัจจัตตัง ฝึกไปๆ ไม่มีสมบัติใดเลยจะมีค่าไปมากกว่านี้อีกแล้ว สมบัตินี้มีค่ามากที่สุด ตั้งใจไว้แล้วทำไป ถูก! แหม.. สบายมาก ถูก

ข้อ ๕๐๖. เนาะ

ถาม : ๕๐๖. เรื่อง “กราบเรียนถาม ๓ ข้อครับ”

๑. ผู้ที่บรรลุอรหันต์แล้วไม่บวชภายในวันนั้น ต้องตายภายในวันนั้นจริงไหมครับ

๒. ถ้าบรรลุอรหัตตผลแล้ว ไม่จำเป็นต้องบวชเป็นพระภิกษุก็ได้หรือครับ อย่างเช่นแม่ชีแก้วท่านก็บวชเป็นชีเท่านั้น

๓. ในเมื่อการภาวนาผมปฏิบัติแบบดูลมหายใจ พร้อมภาวนาพุทโธไปด้วยมาหลายปีแล้วครับ รู้สึกว่าเป็นการกำหนด ๒ อย่าง คือดูลมกับคำภาวนา บางทีก็รู้ลม บางทีก็รู้คำภาวนา แบบนี้ทำให้จิตสงบยากกว่าการกำหนดรู้แค่อย่างเดียวไหมครับ ผมควรจะเลือกเอาแค่อย่างเดียวจะดีกว่าไหมครับ ขอบพระคุณหลวงพ่อมาก

หลวงพ่อ : ข้อ ๑. “การบรรลุอรหัตตผลแล้วไม่บวชภายในวันนั้น ต้องตายภายในวันนั้นจริงหรือไม่ครับ”

ไม่จริง! ไม่จริง! อรหัตตผลมันจะทำลายชีวิตคนหรือ? สมมุติว่าเราบอกว่าใครเอาเพชรมาแขวน ใครแขวนสร้อยเพชร คนนั้นต้องตายภายในวันนั้นจริงไหม? ใครแขวนสร้อยเพชรมันก็ไม่ตาย คนไม่มีสร้อยเพชรแขวนก็ไม่ตาย คนไม่แขวนสร้อยเพชรก็ไม่มีสร้อยเพชรแขวน ก็ไม่เห็นเป็นไร ใครมีสร้อยเพชรแขวน คนนั้นก็มีศักยภาพ มีสร้อยเพชร เพราะว่าต้องมีเงินมากถึงได้ซื้อสร้อยเพชรนั้นมาได้ แล้วแขวนสร้อยเพชรนั้นเป็นศักยภาพของเขา

จิต! จิตปุถุชนไม่มีสร้อยเพชร ไม่มีสิ่งใดเลย แต่จิตนั้นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา จิตนั้นเป็นพระอรหันต์ก็คือจิตนั้นเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์จะฆ่าจิตดวงนั้นหรือ?

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพาหิยะฟังพระพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์ แล้วโดนควายขวิดตาย เพราะมันมีกรรมเก่า กรรมเก่าเพราะควายนั้นเคยมีกรรมมาต่อกัน แล้วถึงที่สุดแล้วควายขวิด พาหิยะฟังเทศน์พระพุทธเจ้าแล้วขอบวชแต่ไม่มีบริขาร ก็ไปหาบริขารอยู่ไง ไปหาบาตรอยู่ คิดดูสิพระอรหันต์หาบาตร หาจีวรไม่ได้

นี่เวรกรรมของคนมันแปลก เห็นไหม ควายนั้นขวิดตายเลย พอขวิดตาย พอบอกว่าถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ทันบวชจะตายๆ ถ้าใครแขวนสร้อยเพชรต้องตาย ฉะนั้น ในเมืองไทยนี่คนตายครึ่งประเทศเพราะมันแขวนสร้อยเพชร

นี่ก็เหมือนกัน คุณงามความดีมันจะทำร้ายใคร? มันไม่จริงหรอก นี่ว่าถ้าไม่บวชภายในวันนั้นต้องตาย.. นี้พูดถึงตำราเขาว่ากันอย่างนั้นนะ แต่ความเชื่อก็เป็นความเชื่อ

ฉะนั้น บอกว่าต้องตายภายในวันนั้น เราว่าไม่จริง เพียงแต่ว่า! เพียงแต่ว่าเวลาคนปฏิบัติขึ้นมาแล้วอยากจะเป็นพระโสดาบัน พอเป็นพระโสดาบันขึ้นมาคนก็อยากเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ฉะนั้น คนที่อยากจะเป็นสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ พอเป็นโสดาบันแล้วเขาก็อยากบวช เพราะการอยากบวชนี้เป็นนักรบ พอบวชแล้วมันมีโอกาสทำ ๒๔ ชั่วโมง แล้วพอมันเป็นพระขึ้นมาแล้ว ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

นี่ศีล ๒๒๗ มันมีคุณค่ามากกว่า เหมือนกับเรานี่ต้นทุนมีอยู่ ๕ บาทไปทำธุรกิจ ไอ้เราต้นทุนมี ๒๒๗ บาทไปทำธุรกิจ แตกต่างกันไหม? ฉะนั้น ศีลที่มันแตกต่างกัน เวลาศีลที่แตกต่างนี่ทุนมันแตกต่างกัน แล้วเวลาก็แตกต่างกัน ทุกอย่างมันแตกต่างกัน ใครๆ ก็อยากบวช เพราะเวลาหุ้นขึ้นเป็นหุ้นกระทิงนี่ โอ้โฮ.. ในตลาดหุ้นนะชื่นใจ สุขใจ ดีใจไปหมดเลย เวลาหุ้นมันตกนะทุกข์กันไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีนี่หุ้นมันขึ้น หุ้นมันขึ้น อู้ฮู.. มันจะได้ผลประโยชน์ของมัน มันมีแต่ความครึกครื้น มีแต่ความสนุกรื่นเริง มันอยากบวช อยากบวช.. อยากบวชนะ อยากมีโอกาส อยากมีต้นทุน หุ้นขึ้นก็อยากมีสัก ๕๐๐ ล้านไว้ซื้อหุ้น ไอ้นั่นก็อยากมีหมื่นล้านไว้ซื้อหุ้น นี่ก็ ๕ บาทกับ ๒๒๗ บาทไง

พูดถึงการบวชมันสมควรไหม? มันเป็นไปได้ไหม? สมควรมาก แล้วควรบวชมาก แต่บอกว่าไม่บวชต้องตาย คำนี้มันรับไม่ได้ คำว่าไม่บวชต้องตายมันไม่จริง แต่ความจริงมันต้องบวช แต่บอกว่าถ้าไม่บวชแล้วมันฆ่าตายนี่ไม่ใช่! ไม่ใช่! แต่ควรบวชไหม?

เป็นพระอรหันต์นี่.. เป็นแค่โสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี ถ้าไม่ใช่นักบวช เรารู้ว่าเขาเป็นพระอรหันต์เลยไหม? แล้วเราเจอหน้าเขานี่เราเหม็นหน้าไอ้สกิทาคามี อนาคามี เราตำหนิเขาไปเราเป็นโทษไหม? แต่พอเขาเป็นพระขึ้นมา เห็นไหม เขาเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี หรือไม่เป็นก็แล้วแต่ แต่เขาเป็นพระ เราจะไปตำหนิเขาไหม? เราก็ไม่ไปตำหนิเขาเพราะว่าศีลนั้นมันคุ้มครอง

คือคนที่บวชเขาเห็นแก่สังคมไง ไม่ให้สังคมนั้นมาติเตียน ไม่ให้สังคมนั้นเพ่งโทษ ไม่ให้สังคมนั้นเป็นบาปอกุศลเข้าไปไง นี่ถ้าคนที่มีคุณธรรมเขารู้ของเขา ฉะนั้น ควรบวช! ควรบวช! เพราะบวชแล้วขึ้นมา ศีลธรรมนี่นะ นี่ศากยบุตร พุทธชิโนรส โดยสังคมประเพณีเขาเคารพนับถือกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม ดูสิคฤหัสถ์ที่ว่าเป็นอริยบุคคลๆ นี่มีนะมี พระอริยบุคคลเขาจะนิ่มนวลมาก แล้วเขาจะไม่ทำสิ่งใดให้สังคมเข้าไปกระทบกระเทือนเขา แล้วเขาก็ไม่ให้คนอื่นได้รับกรรมจากเขา เพราะเวลาหุ้นมันขึ้น ทุกคนก็อยากจะช้อนซื้อหุ้นเยอะๆ เวลาคนภาวนาเป็นขึ้นมาเขาก็อยากได้อนาคามี อยากได้พระอรหันต์ไปข้างหน้า ถ้าเขาอยากได้ไปข้างหน้า เขาก็ต้องรักษาศีลเขาให้บริสุทธิ์จริงไหม?

เขาก็ต้องรักษาพื้นฐานเขาให้ดี เพราะเขาต้องการไปข้างหน้า เพราะหุ้นมันกำลังจะขึ้นเขาก็ต้องช้อนซื้อ เขาก็ต้องทำของเขาทั้งนั้นแหละ คือเขาหวังมรรค หวังผล เขาหวังคุณงามความดีของเขา เขาต้องทำ.. เราเทียบอารมณ์นะ อารมณ์เวลาคนหุ้นขึ้นแล้วซื้อนี่ได้ผลประโยชน์ตอบแทน เทียบถึงความสุข ความพอใจอันนั้น กับเทียบหัวใจของคนที่เวลาซื้อหุ้นแล้วลงเอาๆ ไปค้างหุ้นอยู่บนยอดตาลอย่างนี้ จิตใจคนมันแตกต่างกันอย่างไร?

จิตของผู้ปฏิบัติเวลามันรุ่งเรือง เห็นไหม เรื่องเลวร้าย เรื่องต่างๆ ไม่เข้าไปในใจดวงนั้นเลย เพราะใจดวงนั้นมันมีแต่คุณธรรม ใจดวงนั้นมันมีแต่ความสุข ใจดวงนั้นมีแต่คุณงามความดี ใจดวงนั้นจะประเสริฐมาก

ฉะนั้น “ผู้ที่บรรลุอรหัตตผลแล้วไม่บวชภายในวันนั้น ต้องตายภายในวันนั้นจริงหรือไม่ครับ” ไม่จริง แต่พูดถึงควรบวชไหม? ควร.. เราจะบอกว่าเขารู้ของเขาเองว่าควรหรือไม่ควร ฉะนั้น ข้อ ๒.

ถาม : ข้อ ๒. การบรรลุอรหัตตผลแล้ว ไม่จำเป็นต้องบวชเป็นพระภิกษุก็ได้หรือครับ อย่างเช่นแม่ชีแก้วท่านก็บวชเป็นชีเท่านั้น

หลวงพ่อ : ท่านก็บวชแล้ว บวชเป็นแม่ชีมันก็คือนักบวช บวชเป็นแม่ชีก็เป็นนักบวช เห็นไหม แม่ชีแก้วบวชเป็นชี

ฉะนั้น อย่างที่ว่านี่ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล พระอรหันต์ในฆราวาสก็มีพระเจ้าสุทโธทนะ แต่ในปัจจุบันโลกนี้ที่ว่าคฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์ เรายังไม่ลงใจเชื่อทั้งหมดนะ แต่อริยบุคคลชั้นต้นๆ นี่เราเชื่อ เราเชื่อหลายคน แต่ถ้าบอกว่าถึงที่สุดนี่ ในความรู้สึกเราเรายังไม่เห็น แต่พระเจ้าสุทโธทนะนี่แน่นอน นั้นพูดถึงเป็นพระอรหันต์ในเพศของฆราวาส

ฉะนั้น เวลาแม่ชีแก้วท่านบวช นี่บวชชีก็คือการบวชแล้ว การบวชแล้วเพราะถือว่าเป็นนักบวช.. นักพรต นักบวช ฉะนั้น ไม่ต้องบวชภิกษุ เห็นไหม นี่เขาบอกว่าถ้าไม่บวชพระต้องตายภายในวันนั้น แล้วแม่ชีแก้วเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ได้บวชพระ อย่างนั้นแม่ชีแก้วต้องบวชภิกษุณี (หัวเราะ)

ฉะนั้น ทำไมแม่ชีแก้วไม่บวชภิกษุณีล่ะ? เพราะห่วงชีวิตของแม่ชีแก้ว.. สาธุ เดี๋ยวจะว่าเอาแม่ชีแก้วมาพูด เพียงแต่เราพูดเป็นประเด็นเฉยๆ เราจะพูดประเด็น คือเราอยากให้เห็นประเด็นว่าแม่ชีแก้วท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านไม่มีทิฐิมานะเลย ถ้าท่านมีทิฐิมานะ ท่านต้องบวชพระ ท่านต้องบวชภิกษุณี เห็นไหม นี่นางภิกษุณีไม่มีทิฐิมานะ บวชชีก็จบ ท่านเป็นพระอรหันต์ด้วยแล้วบวชชี

ทีนี้โลกเขาเถียงกันเรื่องภิกษุณี เรื่องไม่ภิกษุณีอยู่นี่ไง นั่นเป็นเรื่องของเปลือก แต่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น แม่ชีแก้วไม่ต้องบวชภิกษุก็ได้ใช่ไหมครับ นี่บวชชี อันนี้ใช่

ถาม : ข้อ ๓. เรื่องการภาวนา ผมปฏิบัติแบบดูลมหายใจพร้อมพุทโธไปด้วยมาหลายปีแล้ว รู้สึกว่ากำหนด ๒ อย่าง ทั้งดูลมและภาวนา บางทีก็รู้ลม บางทีก็ภาวนา บางทีทำให้จิตสงบยากกว่า ควรกำหนดอย่างเดียวไหมครับ

หลวงพ่อ : เราภาวนามาหลายปีแล้วเราก็ภาวนาของเรา เราก็สังเกตสิ สังเกตถึงว่าความสะดวกเวลาภาวนา กับความที่ว่าภาวนาแล้วมันมีสิ่งใดขัดแย้งไง มีสิ่งใดขัดแย้ง ถ้ามันภาวนาดีนะ นี่เหตุใดถึงภาวนาดี ถ้าเหตุใดถึงภาวนาดี เราพยายามรักษาอย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาเราภาวนาไปแล้ว เราภาวนาแล้วมันไม่ดีๆ เราต้องแก้ไข เราต้องมีอุบาย เปลี่ยนแปลงพลิกแพลง อย่างเช่นเราทั้งดูลมหายใจด้วย ทั้งพุทโธด้วยไปพร้อมกัน เห็นไหม นี่เราลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ ทำอยู่อย่างนี้ ถ้าทำแล้วจิตมันดีขึ้น มันละเอียดขึ้น มันนึกพร้อมกัน เห็นไหม มันนึกพร้อมกันมันหยาบ เราเอาอันใดอันหนึ่ง ลมก็ได้ พุทโธก็ได้ ชัดๆ ไว้ ชัดๆ ไว้ ให้มันชัดๆ ไว้อย่าปล่อย

ถ้าปล่อยนะ นี่เขาว่า “ผมปฏิบัติมาหลายปีแล้ว”

คำว่าปฏิบัติมาหลายปีแล้วนี่.. คนเรานี่นะ ถ้าปฏิบัติใหม่ๆ เขาเรียกว่า “เขยใหม่” แต่ถ้าปฏิบัติมาหลายปีมันคุ้นเคย พอคุ้นเคยมันจะหาทาง คนคุ้นเคยไม่ค่อยเกรงใจกันนะ เราเป็นเพื่อนกันใหม่ๆ อู๋ย.. ไม่กล้ายืมของนะ พอเก่าๆ เดี๋ยวมันยืมหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราไปคุ้นเคยหลายปีแล้ว ถ้าภาษาหลวงตานะท่านบอกว่า “หน้าด้าน” ถ้าหน้าด้านแล้วมันทำอะไรก็ได้ เราต้องหน้าบางนะอย่าหน้าด้าน ฉะนั้น เราคุ้นเคยกับมัน มันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่หนังหนาหน้าด้าน

นี้พูดถึงใจนะ พูดถึงกิเลสนะไม่ได้ว่าใคร เพียงแต่เราพูดนี่มันชอบพูดให้ถึงใจ ไม่ถึงใจมันพูดแล้วมันไม่เต็มที่ไง ฉะนั้น เวลาเราดูลมหายใจพร้อมพุทโธไปก่อน เริ่มต้นต้องลมหายใจพร้อมพุทโธไปก่อน แต่พอมัน.. เขาเรียกออกตัวไง รถออกตัวด้วยเกียร์ ๑ พอความเร็วมันมีแล้วเราใส่เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ เกียร์ ๕

นี่ก็เหมือนกัน พอมันขยับตัวนะ เริ่มต้นพุทโธกับลมหายใจไปก่อน ถ้าพูดถึงเราใช้อย่างเดียว อย่างใดอย่างหนึ่ง รถออกก็ใส่เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ เลยนะ มันกระชากดับหมดแหละ ฉะนั้น เราใส่เกียร์ ๑ ไปก่อน พุทโธกับลมหายใจไปก่อน พุทโธกับลมหายใจไปก่อน แล้วพอรถมันออกทรงตัวได้ มันตั้งลำได้แล้วนะทิ้งอันใดอันหนึ่งไง พุทโธก็ได้ ลมหายใจก็ได้อันเดียว

รถถ้ายังควบคุมพวงมาลัยอยู่ เรายังควบคุมรถได้อยู่ รถนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราควบคุมรถนั้นไม่ได้ รถนั้นจะพาเราลงข้างถนน ถ้าเรายังควบคุมจิตได้ เรายังมีสติควบคุมคำบริกรรม ควบคุมจิตนั้นไปอยู่ จิตนั้นมันจะดีขึ้นได้ ถ้าเราไม่สามารถ เราทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมันแว็บหายไป นั่นล่ะลงข้างทางแล้ว

แว็บหายเลย แหม.. สงบมาก มันนอนตีลังกาอยู่นั่น มันว่ามันสงบนะ ประเดี๋ยวบรรเทาสาธารณะภัยมายกขึ้นนะ พึ่งฟื้น พึ่งฟื้น.. เวลามันแว็บหายไป นั่นเพราะเราควบคุมรถเราไม่ได้ ถ้าเราควบคุมรถเราได้นะมันจะไปสู่เป้าหมาย ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เรารู้ชัดเจน ชัดเจนมาก

ตอนนี้มีคนปฏิบัติอยู่หลายคน พอจิตเขาสงบแล้วนี่ เขาไปรู้ไปเห็นขึ้นมา เขาพูดเลยว่าสมาธิสำคัญมาก ในเว็บไซต์เขียนมาหลายคนมากเลย บอกเมื่อก่อนก็แบบว่าไม่มั่นใจไม่มั่นคง แต่พอมาอ่านในเว็บไซต์นี้บ่อยๆ ครั้งแล้วว่าเอาชัดๆ ชัดๆ พอจิตสงบแล้วไปรู้ไปเห็นเข้าเขาบอกจริง เพราะอะไร? เพราะสิ่งที่รู้ที่เห็น เขาก็เคยรู้เคยเห็นมาแล้ว เขาเห็นทุกวัน จำเจทุกวัน มันก็ปกติ พอจิตมันสงบ พั้บ!

ของเห็นทุกวัน มันขนพองสยองเกล้า มันสะเทือนหัวใจไปหมดเลย เขาถึงเห็นผลของสมาธิไง พอสมาธิมันลงปั๊บนะ ของเห็นๆ นี่แหละ เห็นๆ ทุกวันนี่แหละ แต่มันสะเทือนใจ แต่ถ้าจิตไม่สงบนะกางพระไตรปิฎกเลย อ่านแล้วอ่านอีก ไม่เห็นสะเทือนใจสักที นี่ไม่สะเทือนใจ แต่ถ้าจิตมันลงนี่ไง ฉะนั้น ถ้าจิตมันเป็นสมาธินะมันมีความจำเป็น มีความจำเป็นเพราะเราจะเข้าสู่อริยมรรค

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่ “ผมภาวนามาหลายปีแล้ว ทำทั้ง ๒ อย่าง ทั้งดูลมหายใจแล้วก็ภาวนาพุทโธไปพร้อมกัน มันสงบแสนยาก”

นี่เริ่มต้นออกตัวอย่างที่ว่านี้ก่อน แล้ววางอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ผิด! ไม่ผิด! คำว่าไม่ผิดคือว่าเรายังมีสติอยู่ ยังมีคำบริกรรมอยู่ ยังรู้ลมอยู่ ลมกับคำบริกรรมนี่แทนกัน คือจิตเราต้องมีที่เกาะ จิตต้องมีเครื่องแสดงตัว เราจะปล่อยให้จิตเป็นอิสรภาพไม่ได้

จิตเป็นนามธรรม ปล่อยก็แว็บหายเลย ต้องมีสิ่งใดเกาะไว้ เกาะไว้ เกาะจนตัวมันสร้างตัวมันเองได้ พอมันอิ่มเต็มขึ้นมา สมบูรณ์ของมันนะสักแต่ว่า สักแต่ว่ารู้มันไม่กำหนด ไม่รับพุทโธ ไม่รับอะไรเลย อย่างนั้นล่ะรูป รส กลิ่น เสียงจะดับหมด แต่ถ้ามันเป็นอุปจาระมันสงบได้ แต่ยังรับรู้เสียงอยู่ รับรู้สิ่งต่างๆ อยู่ อันนั้นก็เป็นอีกอันหนึ่ง.. ฉะนั้น วางได้ วางได้

นี่พูดถึงเรื่อง “กราบเรียนถาม ๓ ข้อ” ๓ ข้อตอบแล้วเนาะ

ข้อ ๕๐๗. อันนี้เขาขอยกเลิก ขอยกเลิกนะ

ข้อ ๕๐๘. เขาเขียนมา เออ.. อย่างนี้มันก็เป็นลูกผู้ชาย ลูกผู้ชายเขาทำกันอย่างนี้

ถาม : ๕๐๘. เรื่อง “กราบเรียนหลวงพ่อสงบครับ”

ผมกราบขอขมาโทษหลวงพ่อด้วยครับ คือผมได้ส่งเสียงธรรมหลวงพ่อลงเฟสบุ๊คก่อนได้รับอนุญาตครับ จึงกราบขอขมาโทษหลวงพ่อด้วยครับ สาธุ

หลวงพ่อ : นี่สาธุ จบ! คือว่าอย่างที่พูดเขาจะเอาไปทำอะไรสิ่งใดกัน มันเอาออกไปกระจายมากเกินไปโดยที่ไม่มีขอบเขต ฉะนั้น อย่างถ้าเขามีขอบเขตใช่ไหม? อย่างของสิ่งใดมีขอบเขต.. ขอบเขต อย่างโลกกับธรรมมันก็ไม่เหมือนกัน ทุกอย่างก็ไม่เหมือนกัน ออกไปแล้วมันก็เป็นประสาโลก ในสังคมโลกมันก็มีเรื่องแสง สี เสียงของเขา แล้วเราเอาเข้าไปอย่างนี้มันก็ไปเหมือนกัน

ฉะนั้น ถ้าเขาจะศึกษาธรรมะ เขาก็เข้ามาในเว็บไซต์ เข้ามาในอะไร มันก็เป็นกิจลักษณะ เราคิดของเราอย่างนั้นไง ให้มันเป็นกิจลักษณะ เรื่องของโลกก็คือเรื่องของโลก อย่างทางโลกเขาว่ากัน เดี๋ยวนี้ร้านขายเหล้าไปเปิดอยู่หน้าโรงเรียน ไปเปิดอยู่หน้าวัด ร้านขายเหล้า โรงการพนัน ไปเปิดอยู่หน้าวัด หน้าโรงเรียนเต็มไปหมดเลย

กฎหมายก็บังคับไว้ โรงเรียน วัด เรื่องอบายมุขต้องอย่างน้อย ๑ กิโล ๑ กิโลเมตรเชียวนะ ห้ามเข้ามาเปิด เดี๋ยวนี้หน้าวัดนะออกตรงข้ามกันเลย ออกวัดก็เข้าร้านเหล้าเลย โลกเป็นอย่างนั้น คือกฎหมายเขาก็เขียนไว้แล้ว ทุกอย่างก็มีแล้ว แต่ก็ไม่ทำกัน ปล่อยกันอีเหละเขะขะ

ฉะนั้น นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะก็อยู่ส่วนธรรมะ โลกก็อยู่ส่วนโลก เราคิดของเราอย่างนั้นไง ฉะนั้น ถ้าเขาจะศึกษาธรรมะก็ต้องเข้าวัด ถึงหน้าวัดจะมีโรงเหล้าก็ต้องเข้าวัด ห้ามเข้าโรงเหล้า ถ้าเข้าวัดแล้วค่อยมาศึกษากัน

นี่ก็เหมือนกัน มันต้องเข้ามาสู่ทางนี้ นี่พูดถึงไม่มีปัญหาหรอก เพียงแต่ว่าเราเห็นตรงนี้เองไง ฉะนั้น เขาขอโทษมานี่.. เพราะว่าในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว

“ถ้าใครทำผิดแล้วสำนึก นั้นคืออริยวินัย”

สำคัญมากนะ คนทำผิดแล้วรู้ว่าผิด แล้วยอมรับผิด เดี๋ยวนี้ไม่มี ถ้าผิดแล้วก็จะหลบแล้ว ผิดแล้วก็จะเกลื่อน ถ้าผิดแล้วยอมรับผิดนี่ดีมาก

ข้อ ๕๐๙. ไม่มี

ข้อ ๕๑๐. สิ คำถามสั้นๆ แต่มันจะเป็นเรื่องใหญ่

ถาม : ๕๑๐. เรื่อง “การละสีลัพพตปรามาสต้องละที่กายอย่างเดียว หรือเวทนาไม่ได้หรือครับ”

หลวงพ่อ : ได้! นี่เขาบอกว่าการละสีลัพพตปรามาสต้องละที่กายอย่างเดียวใช่ไหม? หรือเวทนาไม่ได้หรือ? ต้องกายอย่างเดียวเลย.. นี่คำถามแค่นี้เอง แต่มันจะอธิบายไง เพราะมันเป็นความเข้าใจผิด เพราะความเข้าใจผิด เวลาพูดถึงธรรมะ เห็นไหม ครูบาอาจารย์เราจะบอกเลย “ละสักกายทิฏฐิ” แล้วบางทีครูบาอาจารย์บอก “ต้องผ่านกาย” คนบอกว่าผ่านกาย พิจารณากายแล้วผ่านกาย อย่างนี้เดินผ่านวัดก็เป็นพระโสดาบัน

การผ่านอย่างนั้นมันไม่ใช่ การละสักกายทิฏฐินี้เป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง เพราะพระโสดาบันต้องละสังโยชน์ ๓ ตัว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ฉะนั้น เวลาละสักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดในเรื่องของร่างกาย ในความเห็นผิดของร่างกายมันเป็นชื่อของสังโยชน์ มันเป็นชื่อของสังโยชน์ ๓ ตัว

ละสักกายทิฏฐิ เพราะว่าทิฐิมานะ กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันคิดว่ากายเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา อะไรเป็นเรานี่มันไปยึดที่กาย พอไปยึดที่กาย เราพิจารณากาย เห็นไหม ถ้าจิตสงบแล้วพิจารณากาย พอพิจารณากายจนสังโยชน์ขาด ละสักกายทิฏฐิ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าละสักกายทิฏฐินี่มันตรงตัว มันตรงตัวเพราะว่าสติปัฏฐาน ๔ มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม ฉะนั้น เวลาพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมก็ได้.. ไม่ใช่ก็ได้ ได้เลยด้วย นี่สติปัฏฐาน ๔ สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้

นี่เราไปตลาดใช่ไหม มีร้านขายข้าวแกง มีร้านขายก๋วยเตี๋ยว อ้าว.. มีร้านอาหารต่างๆ แล้วบอกว่าต้องกินร้านเดียวๆ มันเป็นไปได้ไหม? แล้วเวลากินอาหารแล้วนี่อิ่มไหม? อิ่มไหม? อิ่มนั่นแหละคือผล กินอาหารอะไรก็ได้ถ้าเอ็งอิ่ม

ฉะนั้น กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาได้หมด ฉะนั้น การพิจารณาเวทนา เห็นไหม ที่ว่าหลวงตาพิจารณาครั้งแรก พิจารณาผ่านเวทนาด้วย ท่านบอกท่านนั่งตลอดรุ่งๆ เวทนานี่เวลานั่งไป ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกยันพระอาทิตย์ขึ้น เวลาพิจารณาไปท่านบอกเวทนามา เวทนามันมา เห็นไหม ตั้งแต่หลานเวทนามา ลูกเวทนา พ่อเวทนามา ปู่เวทนามา ท่านก็สู้กับเวทนา จนเวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา

ทีนี้พอท่านพิจารณาจนมันขาด พอมันขาดนี่คืออะไรขาด สักกายทิฏฐิขาด เพราะอะไร? เพราะเวทนามันเกิดที่ไหนล่ะ? เวทนามันเกิดที่กาย อ้าว.. เวทนามันเกิดที่กาย เกิดที่ร่างกาย เพราะร่างกายนั่งอยู่นี่เกิดเวทนา แล้วมันก็สู้กับเวทนาอยู่นี่ พอมันปล่อยเวทนา เห็นไหม มันก็ปล่อยกาย ปล่อยไปทุกอย่างหมดเลย แล้วเวลาขาดคืออะไรขาด ก็คือสักกายทิฏฐิขาด พอสักกายทิฏฐิขาดขึ้นไป ท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม ขึ้นไปอธิบายให้หลวงปู่มั่นฟัง หลวงปู่มั่นว่า

“เออ! นี่ไง จิตมันไม่ตาย ๕ อัตภาพเว้ย นี่ได้หลักแล้ว ได้หลักแล้ว”

นี่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วหลวงตาท่านปฏิบัติใหม่ๆ เวลาท่านพูดกัน ท่านไม่ต้องยกคำพูดไปเลอเลิศนะ พูดเรื่องธรรมดาๆ นี่แหละ “เออ.. มันได้หลักแล้ว ได้หลักแล้ว” ได้หลักนี่ได้โสดาบันแล้ว แต่พวกเราได้โสดาบันนะต้องสักหน้าผากเลย เราได้โสดาบันแล้วอวดกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง

นี่ไม่มี! เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันเป็นคุณสมบัติของจิต ถ้าจิตมันได้แล้วมันเป็นคุณสมบัติของมัน ฉะนั้น พอได้คุณสมบัติของมันนี่ พิจารณาเวทนาท่านก็ละสักกายทิฏฐิได้ พิจารณาจิตก็ละสักกายทิฏฐิ พิจารณาธรรมารมณ์ก็ละสักกายทิฏฐิ เพราะ! เพราะชื่อของสังโยชน์ ชื่อของการติดมันเป็นชื่อสักกายทิฏฐิ!

ฉะนั้นว่า “สีลัพพตปรามาสต้องละกายอย่างเดียวหรือ”

ไม่.. สติปัฏฐาน ๔ ละได้หมด สติปัฏฐาน ๔ ก็คือละกายได้หมด การละกายก็คือละสังโยชน์ พอการละสังโยชน์นะ สักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาส มันก็ไม่ลูบคลำแล้วเพราะมันรู้จริง นี่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา มันก็ไม่สงสัยแล้ว นี่ของมันจริงไง

ฉะนั้น เวลาละสักกายทิฏฐิมันไม่ใช่อสุภะนะ ละสักกายทิฐิ เห็นไหม พิจารณาไปกายมันสู่สถานะเดิมของมัน แล้วลึกเข้าไปนี่กามราคะ ถ้ากามราคะ.. นี่ปฏิฆะ กามราคะ อันนั้นมันจะเป็นอสุภะ ฉะนั้น การพิจารณากายไป เห็นไหม พิจารณากายเป็นปฏิกูล สิ่งที่เป็นปฏิกูลน่าพึงรังเกียจ

“ทุกข์ สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์.. ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์”

ทุกข์เกิด เกิดที่ไหนล่ะ? อ้าว.. เกิดบนร่างกายนี่แหละ เกิดบนจิตใจเรานี่แหละ จิตใจที่หยาบๆ ก็อยู่บนร่างกายนี้ นี่ทุกข์เกิดที่นี่.. ทุกข์ดับ! วิธีการดับทุกข์ ถ้าทุกข์เกิด เหตุที่เกิดทุกข์ นี่เวลาทุกข์ดับดับที่ไหน? ก็ดับที่เหตุ ถ้าดับที่เหตุมันก็เข้ามาตรงนี้ มันจะเข้ามาที่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

ฉะนั้น การละสีลัพพตปรามาสมันไม่ใช่ละที่กายอย่างเดียว คำถามนี่มันบอกว่าถ้าละที่กายอย่างเดียว เพราะคำถามมันมีมาบ่อยไง มีมาบ่อยว่า “ถ้าเป็นการชำระกิเลสก็ต้องเป็นพระป่าอย่างเดียวใช่ไหม? ถ้าการปฏิบัติก็ต้องละสักกายทิฏฐิ”

มันเหมือนกับว่า มีกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไปยึดเอาธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเอกสิทธิ์ มันไม่ใช่! ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะเป็นธรรมชาติ นั่นแหละผิด.. ธรรมะเป็นสาธารณะ ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะเป็นสาธารณะ ธรรมะผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นก็ต้องเห็นตามความเป็นจริง แต่มันต้องเห็นตามความเป็นจริงสิ ถ้าเห็นตามความเป็นจริง ใครก็ปฏิบัติตามความเป็นจริงหมดแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าพระป่าบอกว่าต้องพิจารณากาย เพราะเราโดนแซวเรื่องนี้บ่อย บอกว่าจะต้องพระป่าเท่านั้นใช่ไหมถึงจะละกิเลสได้ ต้องเป็นการละกายอย่างเดียวใช่ไหมถึงจะละกิเลสได้

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาเรื่องกายนี่.. ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่มีใคร ไม่มีชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปยึดครองศาสนา ยึดครองมรรคผล ไม่มี! ไม่มีหรอก! มันเป็นสมบัติสาธารณะ ใครทำก็ได้ แต่ที่เวลามีปัญหาโต้แย้งกัน มันโต้แย้งเพราะว่ามันไม่เข้าสู่ธรรมจริงน่ะสิ

ถ้ามันเข้าสู่ธรรมจริง เห็นไหม ชนกลุ่มใด ตลาดหุ้นมันมีเศรษฐี มียาจกเข้าไปในตลาดหุ้น ใครมีเงินก็ซื้อได้หมดแหละ ลองเข้าไปตลาดหุ้นสิ มีเงินก็สั่งซื้อสิ อ้าว.. ไม่ให้ยาจกซื้อ ให้แต่เศรษฐีซื้อ.. ไม่ใช่ ยาจกก็ซื้อได้ เศรษฐีก็ซื้อได้ มีสตางค์หรือเปล่าล่ะ? มีสตางค์หรือเปล่า?

นี่ก็เหมือนกัน ภาวนาจริงหรือเปล่า? ถ้าภาวนาได้ ละสักกายทิฏฐิมันจะไปถามอะไร? ละสักกายทิฏฐิ ทิฐิความเห็นผิดในกาย นี่จิตใต้สำนึกเราเห็นผิด ความเห็นผิด เห็นไหม ดูสิคนหลงผิดมันก็ใช้ชีวิตผิด ดูสิไอ้พวกติดในรูป รส กลิ่น เสียง ติดในเรื่องแสง สี เสียง ดูสิเขาก็เที่ยวของเขา เจริญของเขา แล้วเขาหันมามองพวกเรานะพวกไปวัด บอกว่าโอ้โฮ.. พวกนี้เกิดมาไม่หาความสุขเหมือนเรา โอ๋ย.. พวกนี้เกิดมามีทุกข์มาก ถือศีล โอ๋ย.. ถือศีล พวกนี้ทำไมเกิดมาแล้ว เขาเกิดมาเขามีแต่ความสุข

เขาหลงระเริงในชีวิตของเขา เขายังมองกลับมาเห็นคนอื่นเห็นผิดนะ นี่ถ้าความเห็นของเขาอย่างนั้น มันก็เรื่องของเขา แต่ถ้ามันเป็นความจริง เห็นไหม เป็นความจริงนี่มีสติปัญญาพอ ถ้าคนมีสติปัญญาพอ มันทำสิ่งใดมันจะเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ขึ้นมา.. มันอยู่ที่การทำจริงหรือทำไม่จริง

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า “ต้องละกายอย่างเดียวใช่ไหม? ต้องเป็นพระป่าอย่างเดียวใช่ไหม? คนอื่นจะละสักกายทิฏฐิไม่ได้เลยใช่ไหม?” มันมีคำถามอย่างนี้มาบ่อย นี้มาบอกว่า “ต้องละสักกายทิฏฐิอย่างเดียว แล้วเวทนาไม่ได้หรือ?”

ได้.. สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าผู้ที่เป็นปุถุชน เวลาทำความสงบของใจเข้ามาแล้วเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วถ้าผู้ใดเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมด้วยตามความเป็นจริง วิปัสสนาไปจนตทังคปหาน คือการฝึกซ้อมระหว่างการกระทำ ระหว่างการกระทำมันพิจารณาไปแล้วนี่..

กำลัง เห็นไหม เวลาเราซื้อหุ้น ขายหุ้น เราจะได้ผลกำไรมาตลอดเลย เราซื้อหุ้น ขายหุ้น ซื้อหุ้น ขายหุ้น เราจะมีผลกำไรมาตกสู่กระเป๋าเราตลอดเลย ส่วนต่างเราจะได้มาตลอด ส่วนต่างได้ตลอด นี่ตทังคปหานพิจารณาไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วันไหนเราจะถอนตัว เราขายทิ้งหมดเลย เราได้หุ้นหมดเลย เราได้เงินถอนกลับมาหมดเลย พร้อมกับกำไรมหาศาลเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณาซ้ำแล้ว พิจารณาซ้ำเล่า วันไหนสมุจเฉทปหานขาดผลัวะ! นี่สติปัฏฐาน ๔ จริงมันเป็นแบบนี้ แต่ที่พูดกันอยู่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม การพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ถ้าใครทำความสงบ ใครกำหนดพุทโธแล้วมันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา มันพิจารณาอะไรไม่ได้

นี่มรรค ๗ ไม่มี มรรคมันต้องมีมรรค ๘ เขาอ้าง อ้างบอกว่าพิจารณาไปเดี๋ยวสมาธิมันมาเอง สมาธิมันมาพร้อมเอง ก็ซื้อหุ้นไปก่อน เดี๋ยวเขามาเก็บสตางค์ทีหลังเอง สั่งซื้อหุ้นไปก่อน แล้วเดี๋ยวไปเก็บสตางค์ที่ธนาคาร เราสั่งจ่ายเอง

นี่จะบอกว่า ถ้าปฏิบัติไม่จริง มันก็มีช่องหลบหลีก ผู้ที่เขาซื้อหุ้น ขายหุ้น เขาลงทุนโดยความสุจริต เขาเสียภาษี เขาทำอะไรโดยความชอบธรรม เขาให้ใครตรวจสอบได้ตลอดเวลา เขาไม่ปิดบังหรอก นี่มันตรวจสอบได้ ถ้าใครปฏิบัติเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี จะไปปิดบังทำไม? ทำไมไม่ตรวจสอบ?

นี่เราพูดบ่อย เวลาเรามาปฏิบัตินะ แล้วเรามาอยู่กับหลวงตา อยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านเล่าว่าหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่พรหมเข้ามาก็ได้คุยกัน หลวงปู่ขาวเข้ามาก็ได้คุยกัน หลวงปู่ลีวัดอโศการามมาก็ได้คุยกัน นี่คือการตรวจสอบไง

เราภูมิใจ เราภูมิใจกรรมฐานเรา ว่าครูบาอาจารย์ท่านจะตรวจสอบ คำว่าตรวจสอบก็คือเราคุยธรรมะกัน เราคุยเรื่องการปฏิบัติกัน เราคุยกัน เรามีสิ่งใดเราเปิดอกคุยกัน นี่มันตรวจสอบไง ถ้าผิดคนหนึ่งมันจะผิดทั้งหมดนะ แต่นี้มันตรวจสอบกันมาตลอด เห็นไหม นี่เขาถามบ่อย ว่าทำไมเรามั่นใจว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านมีคุณธรรมจริง เราบอกเรามั่นใจ เพราะว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านทำให้เห็น ท่านตรวจสอบกันตลอดเวลา แล้วท่านพูดอะไรมันถูกต้องดีงามไปหมด

นี้พูดถึงว่าทำไมต้องเป็นพระป่าเท่านั้นหรือ? ถึงจะละสักกายทิฏฐิได้ แล้วมันต้องละสักกายทิฏฐิอย่างเดียวหรือ? ไม่หรอก ถ้าเป็นสุภาพบุรุษ เราอยากจะพ้นจากทุกข์ด้วยกัน เราปฏิบัติความจริงด้วยกัน ถ้ามันเป็นความจริงด้วยกัน มันไม่มีใครหรอกที่มันจะแถออกไปจากข้อเท็จจริงได้ ถ้าเป็นความจริง ตรวจสอบอย่างไรมันก็เป็นความจริง มันไม่แถออกไปข้างนอกหรอก

ฉะนั้น ที่ว่า “การละสีลัพพตปรามาสต้องกายอย่างเดียว เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยหรือครับ”

อันนี้ ที่พูดนี้เพราะมันมี.. ไอ้ถามด้วยความสะอาด ด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ไม่ว่ากันนะ แต่เพราะมันมีคำถามเก่าๆ มาไง บอกว่าต้องเป็นพระป่าอย่างเดียวหรือ? ต้องเป็นละกายอย่างเดียวหรือ? เพราะว่าเวลาเขาสอนว่าการทำอย่างอื่นมันก็ละสักกายทิฏฐิได้ เราก็ไม่ได้ค้านว่ามันไม่ได้ แต่เราอยากรู้ข้อเท็จจริง วิธีการทำอย่างไร?

ถ้าเขานะ อ้าว.. เอ็งซื้อหุ้นซื้ออย่างไร? เอ็งซื้อตัวไหน? เอ็งบอกกูมาสิ เอ็งซื้อแล้วเอ็งได้กำไรอย่างไร? เอ็งซื้อหุ้นราคาเท่าไร? แล้วเอ็งขายเท่าไร? แล้วเอ็งมีกำไรเท่าไรเอ็งก็บอกมาสิ แต่นี่ไม่นะ ซื้อหุ้นมาแล้วได้กำไร ซื้อหุ้นมาแล้วได้กำไร.. ไอ้นี่มันฟอกเงิน มันฟอกเงินแล้ว เอ็งไม่ได้ซื้อ

นี่ไงถึงบอกว่าทำไมต้องละกายอย่างเดียว ไม่ใช่ละกายอย่างเดียว แต่! แต่สังโยชน์ชื่อว่า

“ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส”

ฉะนั้น เวลาพูดถึงพระโสดาบัน ส่วนใหญ่ถึงบอกว่าละสักกายทิฏฐิ คือทิฐิความเห็นผิดในร่างกายของเรา จิตใจอาศัยร่างกายนี่แหละ แล้วมันเห็นผิดของมัน แต่พอเวลาพิจารณาไปถึงที่สุดแล้วมันขาดปั๊บ มันปล่อยปั๊บ ร่างกายกับจิตมันก็อยู่ต่างคนต่างอยู่ หลวงตาบอกพิจารณาซ้ำ พิจารณาจนขาด เหมือนแยกเป็น ๓ ทวีปเลย

กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จิตรวมลง แล้วมันจะกลับมาประสานกันอีกไม่ได้เลย มันจะอยู่อย่างนั้นตลอดไป แล้วถ้าเป็นพระโสดาบันจะเกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น เห็นไหม นี่เขาซื้อหุ้น เขาขายหุ้น เขาให้ กลต. ตรวจสอบ เขาจ่ายภาษีถูกต้อง ฉะนั้น เวลาจะพูดกัน มันก็ต้องมาถูกต้องชัดเจน มันก็จบไง

นี่พูดถึงอยากจะเคลียร์นิดหนึ่ง เพราะเดี๋ยวเขาจะบอกว่า “ต้องเป็นพระป่าอย่างเดียวหรือ? ต้องละกายอย่างเดียวหรือ?”

ไม่ใช่! ไม่ใช่! เพียงแต่ว่าต้องถูกต้องชอบธรรม ถ้าสิ่งที่มันเป็นความถูกต้องชอบธรรม มันก็เป็นความชอบธรรมในพุทธศาสนาด้วยกัน ไม่มีกลุ่มชนกลุ่มใดยึดครองศาสนา ไม่มีกลุ่มชนกลุ่มใดเป็นเจ้าของศาสนา

ศาสนานี้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสาธารณะ แล้วมันไม่มีธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะจริงในหัวใจของสัตว์โลก ถึงไม่มีความจริงกัน.. แต่มันมีตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านมีความจริงของท่าน แล้วท่าน เห็นไหม หลวงตาบอกว่า

“หลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมมา เป่ากระหม่อมมา”

จนเป็นความจริงต่อเนื่องกันมา ต่อเนื่องกันมา ฉะนั้น พอต่อเนื่องกันมา ละสักกายทิฏฐิมันก็เป็นชื่อของสังโยชน์ ไม่ได้ผูกขาด ไม่ได้ยึดครอง ต้องการให้มันเป็นความจริง มันเป็นสาธารณะอยู่แล้ว ใครปฏิบัติตามความเป็นจริง แล้วจะได้รู้จริง เอวัง