สมาบัติจริง-ปลอม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เอาปัญหาปัจจุบันเลยล่ะ มีคำถามว่า
ถาม : บุคคลธรรมดา สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้หรือไม่อย่างไร
หลวงพ่อ : คำว่านิโรธสมาบัติ ถ้าพูดถึง เราว่าเข้าได้!
ฉะนั้น คำว่านิโรธสมาบัติมันเป็นชื่อ แล้วเอาใครไปรับประกันล่ะ? นี่เพราะว่ากรณีอย่างนี้นะมันกรณีของหลวงปู่บัว หลวงปู่บัวตอนท่านพักอยู่ที่ถ้ำจันทร์กับอาจารย์จวน แล้วหลวงปู่บัวก็บอกว่าสิ้นกิเลส.. ไปดูในประวัติหลวงปู่บัวหรือประวัติหลวงปู่จวน มันอยู่ในเล่มไหนจำไม่ได้แม่น แต่อยู่ใน ๒ เล่ม หลวงปู่จวนเป็นคนบอกเองว่าหลวงปู่บัวไปพักที่นั่น แล้วเข้านิโรธสมาบัติ
คำว่านิโรธนะ เราคิดว่านิโรธอย่างนี้ นิโรธคือสิ้นทุกข์ไง คือตอนนั้นหลวงปู่บัวยังไม่ได้เจอหลวงตามหาบัว ฉะนั้น หลวงปู่บัวท่านวิเวกอยู่ ท่านก็บอกว่าเข้านิโรธๆ ทีนี้หลวงปู่จวนท่านเป็นพระผู้น้อย แต่ท่านเป็นพระจริง ท่านเป็นพระผู้น้อย ท่านเป็นพระจริง ท่านบอกว่า
อยู่กับหลวงปู่มั่นมันไม่ใช่นิโรธอย่างนี้
นิโรธสมาบัติ เห็นไหม นิโรธสมาบัติก็คือฌานสมาบัติ แต่หลวงปู่มั่นบอก
นิโรธคือดับทุกข์ นิโรธคือสิ้นกิเลส
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. นิโรธคือกระบวนการการชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอน นี่หลวงปู่จวนท่านค้านไว้ในใจ แต่หลวงปู่บัวท่านเป็นพระผู้ใหญ่ แล้วหลวงปู่บัวบอกเข้านิโรธ แล้วบอกนี่ท่านกำหนดวันตายไง อยู่ในประวัตินะ กำหนดวันตาย รู้ว่าจะสิ้นชีวิต แล้วก็ให้หลวงปู่จวนไปสร้างโลงศพ เตรียมโลงศพไว้หมดเลย
ที่ถ้ำจันทร์หรืออย่างไรนี่แหละ หลวงปู่จวนก็ทำ ทุกอย่างก็ทำ พอกำหนดถึงวันตายนี่ไม่ตาย อย่างไรก็ไม่ตาย มันคลาดเคลื่อนหมดนะ พอคลาดเคลื่อนหมด ตั้งแต่นั้นมา ออกจากนั้นลงมา แล้วหลวงปู่บัวท่านเพิ่งมาเจอหลวงตามหาบัวที่วัดป่าแก้วชุมพล แล้วหลวงตามหาบัวท่านก็ไปแก้หลวงปู่บัวที่นั่น นี้พูดถึงหลวงปู่บัว
นี่เวลาเราพูดไป คนที่ฟังข้างนอกเขาจะบอกว่า
หลวงพ่อเอาอีกแล้ว หลวงพ่อเอาครูบาอาจารย์มาขายอีกแล้ว
มันไม่ใช่! คติธรรมอย่างนี้มันเป็นบุคลาธิษฐาน เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านสิ้นทุกข์ไปหมดแล้ว ท่านได้ประชุมเพลิงแล้วเป็นพระธาตุหมดเลย หลวงปู่บัวก็เป็นพระธาตุ หลวงตามหาบัวก็เป็นพระธาตุ หลวงปู่จวนก็เป็นพระธาตุ นี่สิ้นสุดกระบวนการว่าท่านเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสไปหมดแล้ว แต่ก่อนที่จะสิ้นกิเลสไง อุปสรรคที่ท่านปฏิบัติมามันมีอุปสรรค มันเข้าไปเจอปัญหา มันมีอะไรเข้าไป แล้วท่านผ่านอุปสรรคกันมา
เราจะบอกว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จมา ท่านมีอุปสรรคอะไรต่างๆ มา แล้วท่านบอกอุปสรรคของท่านให้เราฟัง เราเอามาเป็นคติธรรม เอามาเป็นเครื่องเตือนใจพวกเราว่าพวกเราทำอะไรไป มันจะมีอุปสรรคขัดขวางเราขนาดไหน ไม่ใช่ว่านอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์ นอนหลับตื่นขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ มันเกินไป
ฉะนั้น สิ่งที่คำว่านิโรธ นิโรธสมาบัติ นิโรธอะไร? เห็นไหม ที่เราพูดไปเรื่องอภิญญา ๖ อภิญญา ๖ ก็นี่ตอนนี้ทั่วๆ ไป ทายใจๆๆ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ไปหมดเลย เราถึงบอกว่านิโรธสมาบัติแก้กิเลสไม่ได้ ไม่ได้! ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ แต่บุคคลธรรมดาเข้านิโรธสมาบัติได้ไหม? ได้!
นิโรธสมาบัตินะ ฉะนั้น ถ้ามันจะตัดคำว่านิโรธออก เพราะคำว่านิโรธสมาบัติ เขาใช้คำว่านิโรธคือการฆ่ากิเลสไง คือว่าใครเข้านิโรธสมาบัติได้ อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี นี่เขาจะพูดเป็นเครื่องหมายกันไว้ก่อนนะ ใครเข้านิโรธสมาบัติได้ อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี เสร็จแล้วฉันก็เข้านิโรธได้นี่ฉันเป็นพระอะไร?
เออ.. เห็นไหม ถ้าใครเข้านิโรธสมาบัติได้ อย่างน้อยเป็นพระอนาคามี แล้วคนนั้นก็บอกว่า นี่แล้วฉันก็เข้านิโรธสมาบัติได้ คือเขาก็จะบอกกลายๆ กันมาตลอด เราถึงได้คัดค้านเรื่องนี้ไง บอกไม่ได้! ไม่ได้! ไม่ได้! เพราะนิโรธสมาบัตินี่ กาฬเทวิลก่อนพระพุทธเจ้า เขาไปนอนอยู่บนพรหม นี่นอนอยู่บนพรหมได้ ระลึกอดีตชาติ ๔๐ ชาติ กาฬเทวิลเนี่ย
ฤๅษีชีไพรสมัยพุทธกาลเข้านิโรธสมาบัติกันทั้งนั้นแหละ เทวทัตได้อภิญญา ขนาดแปลงกายเป็นงูได้ เป็นอะไรได้ แล้วนี่ย้อนกลับนะ ย้อนกลับเวลาเทวดาแปลงกายเป็นเทพบุตรมา เขามีอะไร? เทวดามีอะไร? แต่ทำไมเขาแปลงกายเป็นเทพบุตร พระอินทร์เวลาเป็นเทพบุตรนะ ก็เป็นมนุษย์เรานี่แหละเขาเรียกเทพบุตร ก็คือบุรุษผู้ชายไงแต่แปลงกายมาจากเทวดา
นี่เทวดาเขายังแปลงกายได้ แล้วเขาก็มาใส่บาตรพระกัสสปะ ใส่บาตรพระสารีบุตร แล้วก็มาใส่บาตรหลวงปู่ชอบ เออ.. ทำไมทำได้ล่ะ? นี่พูดถึงบุคคลธรรมดาทำได้ แหม.. คนที่เข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องอย่างน้อยเป็นพระอนาคามี แล้วฉันก็เข้านิโรธได้นี่ฉันเป็นพระอะไร?
(หัวเราะ) เขาโม้กันอย่างนั้น เขาพยายามสร้างเงื่อนไข แล้วก็ว่าตัวเองทำได้ตามเงื่อนไขนั้น แล้วฉันเป็นพระอะไร? ก็เป็นพระโกหกไง! ก็เป็นพระ.. แหม.. เกินไป
ฉะนั้น นิโรธสมาบัติบุคคลธรรมดาเข้าได้! เข้าได้ เพราะนิโรธสมาบัตินะ ที่เวลาเขาสอนกัน เห็นไหม ที่เขาบอกว่าต้องเข้านิโรธสมาบัติในมโนมยิทธิ ในตำรามโนมยิทธิเราได้ดูมา เพราะครูบาอาจารย์บอก ไอ้หงบดูที เราก็ดูแล้ว เขาบอกว่า
เข้านิโรธสมาบัติได้ด้วยความชำนาญ แม้แต่ขับถ่าย แม้แต่กินอยู่เราจะเข้าได้ตลอดเวลา
ถ้าคนมีความชำนาญขนาดนั้น แค่น้อมใจนี้ไปพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากิเลส แค่เคี้ยวหมากแหลก แค่เวลาเราเคี้ยวหมากคำเดียว อย่างมากแค่เคี้ยวหมากแหลกเป็นพระอรหันต์ทันทีเลย นี่ในทฤษฎีนะ ในตำราบอกไว้อย่างนั้นจริงๆ แล้วอาจารย์ถามว่า
เอ็งว่าทำได้ไหม?
เราบอก ไม่ได้! ไม่ได้!
ไม่ได้เพราะอะไร? ไม่ได้เพราะใครไปเข้าสมาบัติดู ถ้าเป็นสมาบัติจริงนะ แต่ในปัจจุบันนี้ แม้แต่สมาธิยังเข้ากันไม่เป็น ว่างๆ ว่างๆ มันเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธินี่
หลวงพ่อว่างหมดเลย
แล้วเป็นอย่างไร?
นี่บอกไม่ถูกเลยนะ อื้อฮือ! อื้อฮือ! นั่นล่ะสมาธิจริง
สมาธิแท้ๆ นี่นะ สมาธิจริงๆ ผู้ที่สื่อออกมา จะสื่อออกมาให้เป็นตามความเป็นจริงนี่พูดแทบไม่ได้เลย แต่นี้พอมานะ ถ้าให้มันเขียนหนังสือนะก็ได้ ๕ เล่ม ว่างอย่างนั้นมันเทียบเคียงไง มันเป็นปรัชญานะ มันจะเขียนเลย ความว่างเปรียบเหมือนอวกาศ ความว่างเปรียบเหมือน.. มันเขียนหนังสือได้ ๕ เล่ม ความว่างของพวกนั้นน่ะ
แต่ถ้าความว่างของสมาธิพูดไม่ออกเลยนะ หยิบปากกาขึ้นมาก็ อืม.. เงอะๆ งะๆ เขียนไม่ได้เลย นั่นล่ะสมาธิแท้ สมาธิมันยังทำกันไม่เป็น แล้วมันจะเข้าสมาบัติได้อย่างใด?
สมาบัตินะ.. ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่เราถอยเข้าถอยออก โอ๋ย.. คือสมาธินี่ ประสาเราว่าสมาธินะรูปฌานก็ ๔ ขั้นตอน คือเป็นสมาธิหยาบ ละเอียดนี่ระดับ ๔ ระดับ แล้วยังเป็นอรูปฌานอีก ๔ ระดับ รูปฌาน อรูปฌาน
สมาธิมันต้อง ๘ ระดับ พอเป็นสมาธิ ๘ ระดับ พอจิตมันเข้าสมาธิตั้งแต่ระดับที่ ๑ ถึงระดับที่ ๔ ใช่ไหม เข้าอรูปฌานอีก ๔ ระดับ ทีนี้พอเข้าแล้วถอย ถอยแล้วเข้า เข้าแล้วถอย มันเข้าออกๆ พอเข้าออกนี่ อู้ฮู.. จิตนี้จะมีกำลังมาก พอเข้าออกแล้วกำลังมันได้ปั๊บ ผลัวะ! โอ้โฮ.. ลอยเลย จะไปไหนไปได้หมด นี่อภิญญา จะไปพรหมเพริม ไปได้ทั้งนั้น ไปได้ทั้งนั้น!
ทำได้ ทำได้หมดแหละ ทีนี้พอทำได้แล้วแก้กิเลสได้ไหม? ยิ่งเพิ่มกิเลส ไม่ใช่แก้กิเลสนะ เพิ่มกิเลส โอ้โฮ.. เก่งขนาดนี้ ในโลกนี้ใครจะเก่งเท่านี้ ในโลกนี้ใครจะมีความเก่งเท่านี้ แล้วจะมาเคี้ยวหมากแหลกที่ไหนล่ะ? จะย้อนกลับมาพิจารณาอริยสัจตรงไหนล่ะ? ในเมื่อเก่งขนาดนี้แล้ว ถ้าเก่งขนาดนี้จะไปทำอะไรอีกล่ะ?
โธ่.. มันติดหมดแหละ โธ่.. สมาบัติ ๖ กับสมาบัติ ๘ นะ พระพุทธเจ้าไปเรียนกับอุทกดาบส กับอาฬารดาบส เห็นไหม อาจารย์องค์หนึ่งได้สมาบัติ ๖ อีกองค์หนึ่งได้สมาบัติ ๘ ระหว่างสมาบัติ ๖ กับสมาบัติ ๘ เอ็งว่าใครเก่งกว่าใคร? นี่มันมีชนชั้นหรือยัง? มันมีทิฐิไหม? แล้วพอเราเข้าได้รูปฌาน สมาบัติ ๔ แล้วเราได้ ๕ ได้ ๖ ขึ้นมา พอเราได้เราก็ดูถูกคนที่ต่ำกว่า ไอ้ที่ต่ำกว่าก็อยากได้สูงกว่า ไอ้ที่สูงกว่ามันก็แข่งขันกัน
นี่พูดถึงคนนะ แต่ความจริงมันไม่ใช่หรอก ความจริงคือใจเรานั่นแหละ ใจเราพอได้ ๖ ถ้าได้ ๗ อู๋ย.. ดีกว่า ๖ แล้วได้ ๘ แล้วมันลงมาแล้วเอาเข้าได้ไหม? ถ้ามันเข้าได้นะ พอมันเข้าได้ จิตนี่มันจะฟอกของมัน โอ้โฮ.. มันจะมีกำลังมาก มันจะไปได้หมดเลยนะ เทวดาชั้นไหน วัฏฏะนี่ไปได้หมด
นี้พูดถึงคนที่ปฏิบัติ ถ้าได้สมาบัติเป็นอย่างนี้นะ แล้วพอเขาได้อย่างนี้มันเหมือนเด็ก เด็กนี่ให้เงินไปเด็กบริหารเงินไม่เป็น เด็กหาเงินไม่เป็น แล้วเด็กควบคุมเงินไม่เป็น ผู้ใหญ่จะควบคุมเงินได้ ผู้ใหญ่หมายถึงพระอริยเจ้า พระอริยเจ้านี่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นผู้ที่กิเลสมันสำรอกคายออก มันจะไม่ติดเรื่องนี้ พอไม่ติดเรื่องนี้มันจะไปมองเรื่องสมาบัติชัดเจนมากว่าสมาบัตินี้เป็นอย่างไร? แล้วอริยมรรคเป็นอย่างไร?
สมาบัติมันเป็นกำลังของสมาธิล้วนๆ ไม่มีอะไรเลย กำลังของสมาธิล้วนๆ แต่พอเป็นมรรคมันเป็นมรรค ๘ มันมีสติชอบ งานชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ ความระลึกชอบ ทีนี้ความชอบกับความไม่ชอบมันแตกต่างกันอย่างไร? มันเห็นไง พอมันเห็นแล้วมันก็ไม่ติดใช่ไหม? แต่คนถ้าไม่เห็นมันติดใช่ไหม? โธ่.. เอาเงินไปให้มันสิ แล้วไปดึงจากมือมันนี่ร้องไห้ตายห่าเลย นี้พอจิตมันไปติดเข้าไปแล้ว มันจะย้อนกลับมาพิจารณาได้อย่างไร?
ทีนี้คนที่ได้สมาบัติจะอธิบายสมาบัติไม่ได้ชัดเจนอย่างนี้ แต่ถ้าคนที่เคยเข้าสมาบัติด้วย แล้วทิ้งมันมาแล้วไง จึงเห็นโทษของมันไงว่ามันติดขนาดไหน แล้วใจเห็นไหม ดูใจสิ บุคคล ๘ จำพวก ใจคนๆ เดียวนี่เป็น ๘ คนได้.. โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล นี่บุคคล ๘ จำพวก
เป็นโสดาปัตติมรรคกับโสดาปัตติผล เป็นบุคคล ๒ คน ไม่เหมือนกันนะ ใจถ้ามันเป็นโสดาปัตติมรรค มันก็อยู่ในอาการอย่างนั้น มันก็จะเถียงกับโสดาปัตติผล พอคนได้โสดาปัตติผลกับโสดาปัตติมรรคมันจะเถียงกัน แต่ถ้าคนที่ใจนั้นถ้ามันเป็นโสดาบันแล้วมันไม่เถียง เพราะเวลาเหตุทำให้เกิดผล.. ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันรู้ของมันไปนะ มันก็ผ่านได้ แต่คนที่ยังทำอะไรไม่ได้เลยนี่ติดหมดนะ
ฉะนั้น ในมโนมยิทธิเราดูอยู่ เพราะพระให้เราดู อาจารย์ให้เราดู บอกว่า ไอ้หงบลองดูนี่ซิ เราก็ดู เพราะช่วงที่เราศึกษาเราจะดูว่าแนวทางนี้มันจะเป็นอย่างไร? แนวทางนี้จะเป็นอย่างไร? แล้วไปแล้วนี่ พอแนวทางนี้เป็นอย่างไร พอเราเข้าไปศึกษามันก็.. แหม อาหารอร่อย ใครๆ กินก็ชอบ อาหารอร่อยชอบไหม? แล้วอยากกินอีกไหม? อยากทั้งนั้นแหละ นี่อาหารนะ! แล้วถ้าใจมันได้สัมผัส โอ๋ย.. มันยิ่งกว่านี้อีกนะ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าบุคคลธรรมดาเข้าได้ไหม? ได้! ล้านเปอร์เซ็นต์เลย เพราะมันก็แค่สมาธิไง สมาธิ สมาบัติ.. สมาธิ สมาบัติ ก็สมาธิเท่านั้นเอง นี่พูดถึงผลของมันนะ ฉะนั้น เพียงแต่ว่าถ้าใครทำได้ใช่ไหม อย่างเช่นหลวงปู่มั่นเวลาท่านไปแก้แม่ชีแก้ว เห็นไหม เวลาพอท่านจะจากแม่ชีแก้วมาบอกว่า อย่าภาวนานะ ถ้าไม่มีคนสอนอย่าภาวนา
ท่านรู้ของท่าน ท่านรู้ของท่าน ท่านบอกว่าอย่าภาวนานะ นี่เราบอกว่าถ้าคนได้สมาธิ สมาบัติ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดีนะ ไปได้ดีมากเลย แต่ครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่เป็นมันหายากไง ถ้ามันหายากมันไม่กล้าพูดเรื่องอย่างนี้หรอก แค่ว่างๆ พอจิตว่างๆ มา..
ตอนนี้นะ เวลาพวกนักภาวนาไปบอกครูบาอาจารย์บอกว่า จิตนี่ว่างหมดเลย
อาจารย์ก็ว่า เออ.. ใช่ ว่าง
ไม่มีอาจารย์องค์ไหนค้านเลย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเขาไม่เป็น แต่ถ้าคนเป็นนะ
ว่างอย่างไร?
อย่างพวกเรานี่นะ สมมุติอย่างเรานี่เราใช้เงินกัน เราใช้เงินในการดำรงชีวิตกัน เงินพวกเราก็ต้องเป็นเงินบริสุทธิ์ เงินพวกเราก็ต้องเป็นเงินถูกต้องตามกฎหมายใช่ไหม? แล้วเวลาเอาเงินมาก็ไม่กล้าเอามาดู แล้วก็ใช้กัน แล้วถ้าเกิดเป็นเงินปลอม แล้วถ้ามันพิมพ์เองล่ะ? มันทำคอมพิวเตอร์ มันพิมพ์แบงก์มาแล้วมันมาให้เราใช้ มันบอกว่านี่เงินใช้ถูกต้องตามกฎหมาย เอ็งกล้าเอาไปใช้ไหม? ติดคุกนะ
ความว่างๆ มันก็เหมือนกับมันทำกันเอง มันคิดกันเอง มันไม่ใช่เงินถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าเงินถูกต้องตามกฎหมายถือเป็นสากลไง ศีล สมาธิ ปัญญานี่มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง มันเหมือนกับเงินที่ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เอามาดูกันสิ! ไอ้นี่เงินก็ดูกันไม่เป็น เงินก็ดูกันไม่ออก โอ๋ย.. ปวดหัว ปวดหัว ว่างๆ ว่างๆ
ฉะนั้น ถ้าว่างๆ อย่างนี้ยังไม่รู้เลย แล้วสมาบัติเป็นอย่างไร? สมาบัติเป็นอย่างไร? แต่ถามว่าบุคคลธรรมดาเข้าได้ไหม? ได้! ได้ ได้ แล้วแก้กิเลสไม่ได้หรอก ไม่ใช่เรื่องแก้กิเลส
ฉะนั้น อย่างที่ว่านี่ หลวงปู่มั่นเวลาแม่ชีแก้ว เห็นไหม เวลาท่านจะจากกัน โอ๋ย.. คำนี้เราเอามาพูดบ่อยเพราะมันกินใจไง มันเป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นเรื่องการได้การเสีย เป็นเรื่องที่ว่าจะเป็นคนดีหรือหลุดไปเลยล่ะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด หลวงตาท่านซึ้งใจ เราก็ซึ้งใจ เราฟังแล้วมันกินใจมาก กินใจจริงๆ
อย่าภาวนานะ ถ้าเราไม่อยู่แล้วอย่าภาวนานะ กลัวเสีย นี่ดีนะเป็นผู้หญิง ถ้าเป็นผู้ชาย เราจะจับบวชเณรเอาไปกับเรา
ดูความรัก ความผูกพันสิ ดูความปรารถนาดีของหลวงปู่มั่นสิ บอกว่า นี้ดีนะเป็นผู้หญิง ถ้าเป็นผู้ชายเราจะให้บวชเณร แล้วเราจะเอาไปด้วย แต่นี้เป็นผู้หญิงเอาไปไม่ได้ ไม่ต้องภาวนานะ มันก็ดีอย่างหนึ่ง อนาคตจะมีคนมาแก้ แล้วหลวงตาก็ไปแก้
นี่ไง ถ้าเป็นผู้ชายนะท่านขอพ่อแม่เลย แล้วบวชเณรเอาไปเลย พอเอาไปเลยท่านก็ไปปลุกปั้นของท่าน ไปปลุกปั้นของท่านในป่า มันก็ไปโลดน่ะสิ แต่นี้เป็นผู้หญิง ทีนี้พอเป็นผู้หญิงท่านบอกว่า ไม่ต้องภาวนานะ
นี่ที่เราพูดเพราะมันกินใจไง มันกินใจว่าน้ำใจของท่าน น้ำใจของครูบาอาจารย์ ท่านรัก ท่านปรารถนาดีขนาดไหน แต่โดยข้อเท็จจริงมันเอาไปกันไม่ได้ไง มันผิดวินัยไง มันเป็นผู้หญิงไงเอาไปไม่ได้ ท่านเลยบอกว่า อย่าภาวนานะ แต่ดีอย่างหนึ่งอนาคตจะมีพระมาสอน แล้วหลวงตาท่านก็ไปสอน ถ้าหลวงตาท่านไม่จริงนะเอาไม่อยู่หรอก ถ้าเอาไม่อยู่มันก็ยังรู้วาระจิตอยู่นั่นแหละ ยังรู้เทวดา อินทร์ พรหม ยังไปอยู่อย่างนั้นแหละ
ถ้าสมาบัติจะเป็นอย่างนั้น อย่างที่ว่านี่จะไปพรหม จะไปชั้นไหนก็ไปได้ ในกามภพนี่ไปไหนก็ไปได้ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพไปได้หมดเลย จิตมันถึงมหัศจรรย์ขนาดนั้นนะ แล้วพอเข้าสมาบัติแล้วมันมีอีก เวลาเหาะ เวลาไปนี่ไปเทวดา อินทร์ พรหม ไปทั้งร่างกายอย่างนี้เลย ขึ้นไปอย่างนี้เลยก็มี นี่คนที่มีวาสนามาก แต่ถ้าคนวาสนาปานกลางนะ ร่างกายนั่งอยู่นี่ไปแต่จิต จิตไป
วาสนาคนมันไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน แต่ถ้าเป็นแจ๋วๆ นี่ไปอย่างนี้เลย ไปอย่างนี้เลย แต่ถ้าเป็นอำนาจวาสนาที่เบาลงก็ไปเฉพาะจิต ร่างกายนั่งอยู่นี่.. นี่พูดถึงสมาบัตินะ เพราะอย่างนี้ นี่ของจริงนะ เวลาสมาบัติจริงๆ ก็ไปอย่างหนึ่ง แต่เราฟังมาเยอะ พระส่วนใหญ่แล้วไม่จริง พอไม่จริงแล้วก็วุ่นวาย
นี่อันหนึ่งนะ ทีนี้ไปปัญหาเรื่องบุญกุศลนะ เรื่อง การสร้างบุญกุศล มีคนมาพูดอยู่เมื่อ ๒ วันนี้ พูดถึงเจดีย์หลวงตาเหมือนกัน เราบอกเขาบอกว่าให้ใจเย็นๆ เราบอกว่าเราเชื่อมั่น เราเชื่อเรื่องกรรมมาก เราบอกว่าหลวงตาท่านสร้างพิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่มั่น เจดีย์หลวงปู่มั่นนี่หลวงตาท่านเป็นเจ้าภาพ ท่านเป็นคนริเริ่ม และเป็นคนควบคุม
เจดีย์หลวงปู่ฝั้น เจดีย์หลวงปู่ขาว เจดีย์ครูบาอาจารย์หลายองค์มากเลยที่หลวงตาท่านเป็นผู้ไปกำหนด ท่านเป็นผู้ไปสร้างให้ หาทุนทรัพย์ควบคุมดูแลหมด บุญอันนี้ เราบอกว่าเจดีย์หลวงตานี่แจ๋วแน่ๆ เพราะท่านทำดีมา ท่านทำของท่านมา ฉะนั้น ไม่ต้องตกใจ ให้ใจเย็นๆ ใจเย็นๆ ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่ใครคัดใครค้าน อย่างที่ว่าเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม ไอ้เรื่องเวรเรื่องกรรมนี้มันเป็นอย่างหนึ่ง มันเป็นความว่าคัดค้าน คำว่ากรรมนี่คัดค้านด้วยจิตบริสุทธิ์หรือจิตไม่บริสุทธิ์
ฉะนั้น ความคัดค้านนี่นะ อย่างในสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้ายิ้มว่ามันมีเจดีย์อยู่เจดีย์หนึ่ง แล้วเจดีย์นี้ ธรรมดานี่ที่บอกว่า เวลาพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้มันไม่มีเครื่องหมายของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ เห็นไหม แต่สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้ายิ้มว่า
หมู่บ้านนี้เขาได้อุปัฏฐากเจดีย์ ดูแลเจดีย์ เจดีย์นี้เป็นเจดีย์ใส่พระบรมสารีริกธาตุ พวกนี้เท่ากับได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง
พระพุทธเจ้าชมมาก ทีนี้การชมอย่างนี้มันก็เหมือนกับว่าเวลาเรากราบพระ สังเกตได้เวลาเรากราบพระ หลวงตาจะถามว่า
เวลากราบพระนี่ถึงพระไหม?
ถ้าเรากราบพระถึงพระ เราระลึกถึงพุทธคุณ ปัญญาคุณ ความบริสุทธิคุณ ปัญญาคุณ เมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรากราบถึงความเมตตา กราบถึงปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เรากราบถึงพระ แต่โดยทั่วๆ ไปเวลาเด็กมันกราบพระนะ
แม่ๆ กราบพระที่ไหน?
นี่ไง พระพุทธรูปนี่ไง
มันก็กราบทองเหลืองไง มันก็กราบทองเหลืองกัน พวกนี้เขากราบทองเหลือง นี่เขาเรียกว่ากราบไม่ถึงพระ กราบถึงรูปสมมุติ นี่รูปสมมุติเรามีไว้ทำไม? มีไว้เป็นที่สักการะ ถ้าจิตใจของคน อย่างเราฝึกเด็ก เด็กมันจะรู้พุทธคุณอะไร? เด็กเนี่ย เด็ก
แม่กราบพระที่ไหน?
นี่ไง พระพุทธรูปนี่ไง นี่ลูกกราบสิ กราบพระพุทธรูป
แต่เราเป็นผู้ใหญ่นะ สิ่งนี้เป็นรูปสมมุติ เรากราบถึงปัญญา กราบถึงเมตตา กราบถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เอารูปนี้เป็นสมมุติ นึกถึง ระลึกถึง.. แล้วถ้าไม่มีรูปล่ะ? ถ้าไม่มีรูปเราก็ระลึกถึงได้ใช่ไหม?
ทีนี้ถ้าเรากราบพระถึงพระ การสร้างเจดีย์มันเป็นวัตถุ มันเป็นสิ่งที่ว่ามีบุญกุศลหรือไม่มี แต่เวลาหลวงตาท่านพูดถึงว่าสมัยพุทธกาลนะ เรื่องการก่อสร้าง เห็นไหม มันเป็นเรื่องการเกี่ยวพัน ต้องเป็นเรื่องการเกี่ยวพัน ทีนี้ถ้ามีการก่อสร้างในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระโมคคัลลานะเป็นผู้ดูแล นางวิสาขาจะสร้างวัด ให้พระโมคคัลลานะเป็นผู้บริหารจัดการ
ทีนี้พระโมคคัลลานะเป็นพระอะไร? เป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นบอกว่า ใช่! ถ้าเรื่องการก่อสร้างต่างๆ มันเป็นเรื่องอามิส เรื่องต่างๆ แต่ถ้าอย่างครูบาอาจารย์ของเรา จิตใจท่านละเอียดลึกซึ้งไปอีกชั้นหนึ่ง อีกชั้นหนึ่งคือว่าท่านไม่ให้ติดไง ท่านพยายามจะให้ใจนี้รอด เห็นไหม
ท่านจะพูดบ่อย ทีแรกก็สร้างแก้รำคาญ
รำคาญกัน ไม่ได้ทำก็สร้างแก้รำคาญ พอสร้างนี่ พอทำไปทำมานะ
ไม่สร้างก็จะรำคาญ
เพราะมันทำแล้วมันติดแล้ว มันปล่อยไม่ได้แล้ว
ทีแรกไม่มีอะไรทำใช่ไหม ก็ทำแก้รำคาญ พอทำไปทำมานะ ไม่ทำก็จะรำคาญ ว่ามันอยู่เฉยๆ มันไม่มีอะไรทำ เวลามองมันต้องมองหลายชั้น ชั้นหนึ่งคือเครื่องอยู่เครื่องอาศัย มันเป็นบุญกุศล เห็นไหม เป็นที่กราบไหว้เคารพบูชา นี้เป็นอีกอันหนึ่ง แต่ถ้าเวลาจะแก้กิเลส มันถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วนะมันเป็นอีกอันหนึ่ง
หลวงปู่มั่นท่านไปเชียงใหม่ แล้วท่านนั่งสมาธิไป มันมีพี่สาวกับสามเณรน้อย น้องชายเป็นสามเณรน้อย ตายไปไปเกิดเป็นเปรตเดินรอบเจดีย์อยู่นั่นแหละ เดินรอบเจดีย์อยู่นั่นแหละ หลวงปู่มั่นก็กำหนดไป ไปเจอสองคนพี่น้อง ทีนี้พอลงไป พอจิตมันสงบแล้ว เห็นไหม นี่สมาบัติๆ พอจิตสงบแล้ว พอเห็นเข้ามันถามโดยจิตไง จิตก็ถามสามเณรกับพี่สาวว่า
ทำไมมาเดินอยู่ที่นี่ล่ะ?
โอ้โฮ.. นี่ตั้งใจจะสร้างเจดีย์ถวายในพุทธศาสนา มีความสุขมาก พอสร้างไปๆ มันยังไม่เสร็จตายก่อน มีโรคระบาดตายทั้งพี่ทั้งน้องเลย
พอสร้างไม่เสร็จมันก็เลยติดเจดีย์ ห่วงเจดีย์นั้น ก็เลยกลายเป็นเปรตเดินรอบเจดีย์นั้น เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านเทศน์นะ เทศน์สอนเปรต
การก่อสร้างเป็นบุญกุศล การก่อสร้าง สิ่งที่เป็นถาวรวัตถุในพุทธศาสนานี้เป็นบุญกุศล เราก็ได้สร้าง ได้ทำแล้ว เราก็ได้เกิดบุญเกิดกุศลแล้ว ฉะนั้น พอถึงเวลานี่กรรมมันมาตัดทอน เราได้เสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว เห็นไหม บุญกุศลเราก็ได้แล้ว แล้วทำไมมาติดอยู่กับซากเจดีย์นี้ล่ะ?
พอฟังเข้าไปแล้วมันซึ้งใจไง พอซึ้งใจก็วาง พอวางก็หมดภพ หมดชีวิตจากเปรตนั้น ไปเกิดเป็นเทวดาทั้งพี่ทั้งน้องเลย.. นี่ไง ใจติดหน่อยเดียวมันก็ไปติดเฝ้าอยู่ตรงนั้นแล้ว แต่พอหลวงปู่มั่นไปโปรดปั๊บไปเลย
ฉะนั้น การสร้างนี่เราเห็นด้วย เราเห็นด้วยทั้งนั้นแหละ แต่เราอยากให้เป็นความสามัคคี ให้สร้างด้วยกัน ให้สร้างพร้อมกัน ให้สิ่งที่จะเอามาดูแลกัน แล้วทำให้เหมือนกัน ฉะนั้น ถึงบอกว่าคนนั้นจะค้านอย่างไร คนนี้จะค้านอย่างไร..
ไอ้การคัดค้านนี่นะ มันเป็นการคัดค้านเพราะทิฐิมานะของกลุ่มชน ในเมื่อลูกศิษย์มันมีหลายกลุ่มหลายก้อน หลายกลุ่มหลายก้อนก็พยายามจะคัดค้านว่าของใครดีกว่าของใคร แต่ถ้าจิตใจเราเป็นธรรม เห็นไหม เอาทุกกลุ่มเอามารวมกัน แล้วออกแบบมาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก่อสร้างไป แล้วก็ช่วยเหลือเจือจานกัน ใครออกมากออกน้อยมันก็จบ
ฉะนั้น ใครคัดค้านก็ไม่ได้ ใครคัดค้านไม่ได้ แล้วไม่คัดค้านแล้วทำอย่างไรล่ะ? ไม่คัดค้านก็มาต่อแถวฉันไง มาต่อแถวนี่ไม่คัดค้าน ฉันเป็นหัวหน้าไง ต้องสามัคคีกัน ต้องสามัคคีกัน สามัคคีกันต้องฉันเป็นหัวหน้านะ ต้องสามัคคีกัน ต้องดีกันนะ ต้องดีกัน ต้องให้ฉันเป็นผู้นำนะ! ผู้นำนี่นะเขาอยู่เบื้องหลัง อยู่เบื้องหลัง ถ้าผู้นำอยู่ข้างหน้านะ เดี๋ยวมันจะโดนมวลชน
เราจะบอกว่า ในพระไตรปิฎกนี่เป็นธรรมและวินัย มันอยู่ที่คนจะหยิบมาใช้ตรงไหน ถ้าคนหยิบมาใช้ เห็นไหม เวลาเทศน์พระพุทธเจ้าสอนไว้
๑. เทศน์ให้เสมอต้นเสมอปลาย อย่าลัด อย่าตัดตอน
๒. เทศน์อย่าเสียดสี
๓. เทศน์อย่าเอาธรรมะมาทิ่มแทงใคร แต่ถ้าเรามีในหัวใจนะมันทิ่มแทง แล้วว่าหลวงพ่อเทศน์ไม่ทิ่มแทงใครเลย หลวงพ่อพูดนี่น้ำเกลือราดเอา ราดเอาเลย.. อันนี้ราดกิเลสคน! ถ้าเราไม่มีกิเลส น้ำเกลือนั้นมันเป็นยาสมุนไพรนะ มันทำให้ร่างกายแข็งแรงนะ แต่ถ้ามันมีแผลน้ำเกลือมันก็แสบ มันก็ธรรมดา
นี่พูดอย่าลัด อย่าตัดตอน พูดอย่าเสียดสีใคร พูดอย่าทำลายใคร.. ไม่ได้เสียดสีใคร นี้พูดถึง ฉะนั้น ถ้าเราคิดมุมเดียวไง เราคิดมุมเดียวว่าพระไตรปิฎกว่าอย่างนั้น เขาพูดอย่างนั้นจริงไหม? ก็จริง แต่เขาหยิบตอนไหนมา แล้วหยิบมาเพื่ออะไร แล้วในหัวใจเขามีเบื้องหลัง มีอะไรซับซ้อนหรือเปล่า
ฉะนั้น หลวงตาถึงบอกไง ไม่ต้องขออนุญาตกิเลสแล้วเทศน์นะ ไม่ต้องขออนุญาตกิเลส ถ้ายังขออนุญาตกิเลสแล้วเทศน์มันก็เป็นแบบนั้นแหละ.. นี่พูดถึงการสร้างเจดีย์
ถาม : ผมบริกรรมพุทโธ จนพุทโธชัดเจนขึ้นมาอย่างเดียว อย่างอื่นไม่รับรู้ พุทโธเร็วขึ้นเรื่อยๆ เหลือแต่โธ โธ โธ โธก็บริกรรมไม่ทัน เปลี่ยนเป็นพุท พุท พุท พุท จนเวทนาเกิดขึ้นมา จึงหันมาพิจารณาเวทนา เป็นอย่างนี้วันเดียว วันอื่นๆ หัดพิจารณาสิ่งที่มาทำให้เราออกนอกพุทโธ พิจารณาดู บางครั้งดูว่าไม่สิ้นสุดสักทีก็กลับมาพุทโธ บางครั้งก็ไม่เห็นสาระให้เรายึดได้เหมือนพุทโธ ก็กลับมาพิจารณาเส้นผมจนเกือบจะอาเจียน
อาการปวดพิจารณาเห็นการเกิดดับ ที่หนักสุดคือความเบื่อหน่าย ท้อแท้ เป็นแล้วต้องออกเลย ผมยังชกแบบมวยวัด ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยกรุณาด้วย
หลวงพ่อ : สิ่งที่มันมีปัญหาที่สุดก็คือความท้อแท้นี่แหละ ถ้ามีความท้อแท้นี่นะ ความท้อแท้นี่.. มันมีในเว็บไซต์ถามมา ข้างในนี่ถามมาที่ว่าวัดป่าบ้านตาด ทำไมท่านไม่รับผู้หญิง ทำไมท่านไม่รับต่างๆ กรณีนี้กรณีคำว่าท้อแท้ อันนั้น เดี๋ยวถึงอันนั้นแล้วเราจะตอบอีกทีหนึ่ง
ที่ว่าการไม่รับผู้หญิง การไม่รับต่างๆ นี่เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะการปฏิบัติมันต้องใช้การปฏิบัติเวลายาว การปฏิบัติจะให้ผลมันต้องควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นไป แบบว่าการดำเนินไป มันต้องเริ่มต้นไปด้วยเวลาพอสมควร ทีนี้คำว่าเวลาพอสมควรนี่แหละ เวลาปฏิบัติไปมันจะลุ่มๆ ดอนๆ มีอุปสรรคต่างๆ มันจะมีการกระทบกระเทือนกัน
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ คำว่าท้อแท้นี่มันท้อแท้แน่นอน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี ๖ ปีนะ ดูสินั่งบนปลายหนาม ทำทุกรกิริยาไปย่างไฟอยู่ นี่ ๖ ปีร้อนนะ ทุกข์มากนะ แต่ด้วยจิตใจที่บุญญาธิการเต็มมา เห็นไหม ขนาดทำถึงที่สุดเลย ทำมากกว่าคนอื่น ที่เขาทำๆ กัน ทำทุกอย่างที่เหนือกว่าคนอื่นทุกอย่างเลย แล้วแก้กิเลสไม่ได้ ทีนี้พอกลับมานะ กลับมาฉันอาหารแล้วมัชฌิมาปฏิปทา
ฉะนั้น คำว่าท้อแท้.. นี่มันเป็นอย่างนี้จริงๆ นะ คำว่าท้อแท้นะ เพราะผู้ที่ปฏิบัติมันต้องประสบ มันต้องผ่านทั้งนั้นแหละ ท้อแท้ขนาดไหนก็ต้องทน ท้อแท้ขนาดไหนก็จะทำ ท้อแท้ขนาดไหน ถ้ามันเบื่อหน่ายอย่างไรนะ ทีนี้คำว่าเบื่อหน่าย เห็นไหม เวลาพุทโธ จะโธ โธ โธ โธ โธก็ได้ พุท พุท พุท พุท พุทก็ได้ อะไรก็ได้ขอให้มีสติไป
นี่มันเหมือนกับเครื่องยนต์ เครื่องยนต์เวลาเราติดเครื่องยนต์ใช่ไหม เราเหยียบเครื่องยนต์ เครื่องยนต์มันเร่งมาเต็มที่แล้ว พอเครื่องยนต์มันเต็มที่ก็ต้องส่งเสียงดัง พอส่งเสียงดังแล้วเรากลัว เห็นไหม เราก็ผ่อนคันเร่ง
นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธ โธ โธ โธ โธ ก็โธกันไป พุท พุท พุท พุท พุท ก็พุทกันไปนะ มันจะเป็นอย่างนี้ มันพุทโธ พุทโธแล้วมันไม่ได้ มันโธ โธ โธ แต่! แต่ขออย่างเดียว ขออย่าทิ้งนะ ถ้ามันจะโธ โธ โธ ก็โธ โธไปเรื่อยๆ สติไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ไปกับมันนี่แหละ พอมันถึงที่สุดแล้ว โธ โธ โธกับจิตจะเป็นอันเดียวกัน ถ้าถึงที่สุดแล้ว
เพราะมันเริ่มมีกระบวนการของมัน ถ้ามันถึงที่สุดแล้วนะ มันสงบเข้ามาเรารู้เอง ปัจจัตตัง ทีนี้ถ้ามันยังไม่สงบ.. ทีนี้เพียงแต่ว่าพอรถนี่เราเร่งเครื่องขึ้นมาปั๊บ เรากลัวเครื่องมันจะพัง กลัวเครื่องมันจะหลุด เราไปหยุดมันเองไง แต่ถ้าเราเร่งเครื่องมันแล้วนะ เครื่องมันจะให้ผลอย่างไร เราต้องเช็คในระดับ พอเครื่องยนต์มันดีแล้วมันต้องดี
ฉะนั้น จะโธ โธ โธ ก็โธ โธ โธไป จะพุท พุท พุท ก็พุท พุท พุทไป ไปถึงที่สุด ไปถึงที่สุดกับมัน มีสติไป พุทโธนี่มีสติไปกับมัน พุท พุท พุท โธ โธ โธ ไปกับมันเรื่อยๆ มันจะเร็วขนาดไหนนะ.. พอคนขับรถเป็น เห็นไหม เวลาใครมีรถนะ คนขับรถเป็นมายืมเรานี่เขาให้ยืม แต่คนขับไม่เป็นมายืม เขาไม่ค่อยอยากให้ยืมเพราะมันพังหมด ถ้าขับรถไม่เป็นมายืมรถเราไปนะ เดี๋ยวกลับมานะเครื่องเละมาเลย
พุท พุท พุท โธ โธ โธนี่ถ้าเป็นนะมันจะคอยประคองไป เหมือนรถมันจะเร็วขนาดไหน เราจะควบคุมรถได้ รถจะวิ่ง ๒๐๐ ไมล์ ๓๐๐ ไมล์ก็ได้ ถ้าเราควบคุมได้นะ มันก็อยู่ในทางนั่นล่ะ แต่ถ้าเราควบคุมไม่เป็นนะ ขึ้นมา ๕๐-๖๐ นะมันก็ลงข้างทาง มันพลิกคว่ำไปแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจะโธ โธ โธ โธ โธ จะพุท พุท พุท พุท พุทขนาดไหนนะ ถ้าเราเป็นมันจะไม่รวน แล้วเดี๋ยวพอเราขับรถเราจะรู้เองว่าทางมันอันตรายไหม เราจะเบาอย่างไร ถ้าสติมันทันหมดนะ ทันพุท พุท พุท พุท พุท ทันกับความรู้สึก เดี๋ยวมันจะผ่อนของมันเอง แล้วมันจะลงเองไง นี้เพียงแต่ว่ากิเลสมันเข้ามาเสียบ พอพุท พุท พุท พุท พุท โธ โธ โธ โธ โธนี่เราก็ตกใจไง ตกใจก็เสร็จกิเลสไง กิเลสมันก็มาขวางสำเร็จไง
นี่กิเลสมันเป็นแบบนี้ ฉะนั้น เวลาเราทำไป หนึ่งเวลามันจะพุท มันจะโธ เราดูแลของเราไป แล้วเวลาจิตมันสงบแล้วทุกคนจะเบื่อหน่ายว่า โอ้โฮ.. หลวงพ่อต้องจิตสงบก่อน ไอ้กรณีอย่างนี้มันพิสูจน์ได้ จิตใครสงบนะ พอใช้ปัญญาไปแล้ว โอ้โฮ.. มันจะสะเทือนใจมาก มันจะสังเวชมาก มันจะสะเทือนหัวใจมาก นั้นเพราะมีสมาธิ.. แต่กรณีความคิดนะ คิดเหมือนกันเลย คิดแล้วคิดเล่านะมันไม่สะเทือนใจอะไรเลยนะ นั้นคิดโดยสามัญสำนึก
ฉะนั้น คำว่าสมาธิมันทำให้จิตพวกเราลึกซึ้ง ลึกซึ้ง พอลึกซึ้งไปแล้ว เพราะความลึกซึ้งอย่างนี้ไงมันถึงจะไปถอดถอนกิเลสได้ไง ฉะนั้น ถ้าจิตใครสงบ แล้วพอหัดใช้ปัญญานะน้ำตาไหล น้ำตาไหล แต่ถ้าจิตไม่สงบนะ มันคิดไปแล้วมันไม่ใช่น้ำตาไหลหรอก มันเบื่อหน่าย มันอยากจะเก็บข้าวของกลับบ้าน มันอยากจะไปเดินช้อปปิ้งถ้ามันไม่สงบนะ ถ้ามันสงบนะน้ำตาไหล น้ำตาไหลเลย
ฉะนั้น เราจะบอกว่าถ้าจิตมันสงบแล้วออกฝึกใช้ปัญญา คนนี่จะเบื่อหน่ายมาก อู๋ย.. เมื่อไหร่จะใช้ปัญญา เมื่อไหร่มันจะต้องใช้ปัญญา แล้วเมื่อไหร่มันจะสงบ? พอจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ พอมันสงบแล้วใช้ปัญญาได้เลย ฝึกหัดไป ฝึกหัดไป.. เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนที่โต้แย้งกัน บอกว่าถ้ามันจิตไม่สงบแล้วใช้ปัญญา มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
นี่พูดถึงคำถามนะ มันจะเบื่อหน่าย มันจะท้อแท้ มันจะอะไร อันนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส แล้วความเบื่อหน่าย ความท้อแท้มันก็มีเป็นเฉพาะบุคคล บางบุคคลความเบื่อหน่าย ท้อแท้ไม่ค่อยเกิด บางบุคคลพอเบื่อหน่าย ท้อแท้ไปแล้ว กิเลสมันจะสวมกำลังสองบวกเข้าไปจนขยับไม่ได้เลย อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ
ให้มีความเข้มแข็ง มันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของคน ไอ้อย่างนี้มันจะแบบว่าเอามาแทนกันไม่ได้
ข้อ ๕๑๑. ตอบแต่คำถามสดๆ เดี๋ยวอันนี้มันจะไม่เข้า มันจะกองอยู่ไง
ถาม : ๕๑๑. เรื่อง ถามเรื่องสามพุทโธครับ (เราพูดถึงสามพุทโธไปไง)
ผมยังเป็นเด็กน้อยที่เพิ่งหัดเดินครับ ผมได้อ่านที่หลวงพ่อเทศน์เรื่อง สามพุทโธ แล้วเห็นว่าเหมือนกับประสบการณ์ของผมมาก คือเมื่อผมพยายามทำความสงบ โดยบริกรรมพุทโธควบคู่ไปกับการหายใจเข้าออกนั้น ในขณะที่บริกรรมอยู่ ผมยังรับรู้สิ่งภายนอก เช่นเสียง รับรู้ความคิดที่แว็บเข้ามา รับรู้ต่อความรู้สึกตามส่วนต่างๆ ในร่างกาย คล้ายกับว่าความรู้สึกของผมมันคุมไปหมดทั้งลมหายใจ ทั้งความรับรู้ต่อภายนอก ความรับรู้ต่อภายใน ทั้งๆ ที่คำบริกรรมยังอยู่กับลมหายใจไม่ขาดสาย
ผมขอเรียนถามหลวงพ่อว่า
๑. ความรู้สึกที่ว่ารับรู้ไปพร้อมๆ กันนั้น จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหรือว่ามันสลับกันแว็บไปทางนู้นนิด ทางนี้หน่อย แต่ผมไม่มีจิตที่ละเอียดพอ คิดว่ารู้สึกไปพร้อมๆ กันทั้งหมด
๒. ผมขอความเมตตาจากหลวงพ่อ กรุณาแนะนำการฝึกสติด้วยครับ ผมเป็นฆราวาสที่ตื่นเช้าก็ขับรถส่งลูกไปทำงาน กลับบ้านค่ำ เช้าออกอีก วนเป็นอย่างนี้เหมือนเดิมทุกวัน เวลาที่ผมฝึกหัดคือต้องอยู่คนเดียว หรือตื่นมาตอนดึกๆ วันละไม่น่าจะเกินครึ่งชั่วโมง
หลวงพ่อ : เขาสงสัยไง เขาสงสัยว่าจิตนี่ เขาบอกว่าจิตหนึ่ง! จิตหนึ่งนี่ จิตเหมือนรับรู้อารมณ์เดียวใช่ไหม? แล้วทำไมเขากำหนดพุทโธ พุทโธไปแล้ว ทั้งๆ ที่เขาอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ ทำไมเขาคิดได้อย่างไร? นี่เขาสงสัยไง
กรณีนี้นะมันเป็นบ่วงผูกคอ ผูกคอพระเทศน์ พระเทศน์เดี๋ยวจะมี นี่เทศน์อย่างนี้ บอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ไง.. ธรรมดานี่จิตรับรู้อย่างเดียว เหมือนมือ มือจับภาชนะสิ่งใดแล้ว มันจะไปทำอย่างอื่นอีกไม่ได้ ถ้าจิตคิดเรื่องอย่างนี้แล้วมันคิดเรื่องอย่างอื่นไม่ได้
แต่ทำไมผมพุทโธ พุทโธอยู่พร้อมลมหายใจ ทำไมมันคิดได้ล่ะ?
คิดได้ มันแฉลบไง มันแฉลบออก แม้แต่อุปจารสมาธิ เห็นไหม เวลาจิตสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วนี่อุปจาระคือออกรับรู้ แต่ถ้ามันสงบมากขึ้นไป ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
คำว่าสมาธิ สมาบัติแตกต่างกันอย่างไร?
สมาธิ เห็นไหม นี่สัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิเข้ามรรค ๘ มรรค ๘ ต้องมีสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธินะ หน่วยกิตใช่ไหม? ถ้าเราเรียนหนังสือ ถ้าส่งหน่วยกิตครบก็ผ่าน ถ้าหน่วยกิตเขาส่งไม่ครบมันจะผ่านไหม? ถ้าไม่มีสมาธิก็ส่งหน่วยกิตมรรค ๗ เดี๋ยวเหลือมรรค ๖ ด้วย อีกหน่อยจะเหลือมรรค ๔ หน่วยกิตไม่ครบไม่มีสิทธิ์ผ่านหรอก
ฉะนั้น สมาธินี่สัมมาสมาธิ แล้วสมาบัติทำไมไม่เป็นสมาธิล่ะ? สมาบัตินี่การเพ่ง สมาบัติคือการเพ่ง การเพ่งกสิณขาว กสิณ สมาธิ สมาบัติ สมาบัติเพ่ง.. สมาบัติเพ่ง พอเพ่งนี่ใครเพ่ง? จิตเพ่ง เวลาความคิดมันคิดไปใช่ไหม? อ้าว.. มองมาจุดใดจุดหนึ่ง มองจุดใดจุดหนึ่งแล้วเพ่งจุดนั้น เห็นไหม มันส่งออก.. พอมันส่งออก พอจิตมันสงบแล้วมันมีกำลังของมัน มันก็ส่งออก พอมันส่งออกมันเป็นของมันไป ฉะนั้น มันถึงควบคุมได้ยาก
ฉะนั้น ที่ว่าจิตส่งออก จิตส่งออกเนี่ย แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม มันเกาะ มันเกาะ พุทโธมันเกาะ พอมันเกาะนี่มันเกาะอะไรไว้ มันเกาะคำบริกรรมไว้ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ อานาปานสติ สติเกาะสิ่งนั้นอยู่ สิ่งนั้นเป็นวัตถุ ลมเป็นวัตถุ ทุกอย่างเป็นวัตถุ แต่ผู้รู้เกาะไว้
พุทโธ พุทโธเกาะไว้ พอเกาะไว้นี่ พอมันสงบเข้ามาแล้วมันเป็นตัวมัน กับเพ่งออก เห็นไหม นี่ฌานสมาบัติคือการเพ่งออก มันมีกำลังของมัน สงบไหม? สงบ แต่สงบเพื่อจะเคลื่อนไหวไง สงบเพื่อจะไปไง แต่ถ้าสมาธินี่มันสงบเข้ามา เขาเรียก สัมมาสมาธิ
ทีนี้มันเป็นขณิกสมาธิคือสงบเล็กน้อย อุปจารสมาธิ คือสมาธิสงบแล้ว เขาเปรียบเหมือนบ้าน บ้านมีระเบียงรอบ เราอยู่ในบ้านใช่ไหม ระเบียงนั้นรับแขกได้ไง ถ้าเราจิตสงบแล้ว ระเบียงนี่ระเบียงรับรู้ เสียงกระทบรับรู้ นี่ตรงนี้! ตรงนี้เป็นวิปัสสนา แต่ถ้าอัปปนาสมาธิเราเข้าห้องเลย ปิดหมดไม่รับรู้ใครเลย นั่นคืออัปปนาสมาธิ ปัญญาเกิดไม่ได้
ฉะนั้น สัมมาสมาธิ.. พอจิตมันขณิกสมาธินี่เป็นสมาธิไหม? เป็น.. นี่นิ่งอยู่แต่รับรู้เสียงได้ เห็นไหม อุปจาระก็ยังได้ยินอยู่ ทีนี้คำว่าได้ยิน ถ้าจิตเป็นสมาธิได้ยินได้อย่างไร? จิตเป็นสมาธิได้ยินได้อย่างไร? จิตเป็นหนึ่งแล้วทำไมมันได้ยินล่ะ?
อ้าว.. จิตเป็นสมาธิ จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง แต่จิตไม่มีสมาธิ เห็นไหม จิตไม่มีสมาธินี่จิตมันออกไปกับความคิด พอจิตออกไปกับความคิด ความคิดคืออะไร? ความคิดเกิดดับ ความคิดเกิดดับ ความคิดไม่ใช่จิต แต่ความคิดมันมีใช่ไหม? ความคิดไม่ใช่จิต แล้วพอเราเอาความคิดให้มันชัดเจนมันก็คิดไป คิดเรื่องเดียว คิดเรื่องเดียว นี่พลังงานมันไปกับความคิด
ทีนี้พอมันสงบเข้ามา นี่ความคิดมันดับ มันถึงสงบเข้ามา ทีนี้พอความคิดสงบเข้ามา แล้วเสียงที่มากระทบ เสียงที่แว่วๆ แว่วๆ ทำไมมันได้ยินล่ะ? เพราะสมาธิมันยังไม่ลึกซึ้งถึงระดับที่ว่ามันตัดหมดไง ถ้าสมาธิลึกซึ้งถึงที่มันตัดหมด อัปปนาสมาธินี่พอเข้าไปแล้วมันจะดับหมด
อันนี้พูดถึงหลักการของสมาธิก่อน เพราะเขาถามว่า ความรู้สึกที่รู้ไปพร้อมๆ กัน จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หรือว่ามันสลับกันไป แว็บไปทางนู้นนิด ทางนี้หน่อย แต่ผมไม่มีจิตละเอียดพอที่จะคิดได้
จิตละเอียดนะ พอจิตมันเป็นมันจะรู้หมด ถ้าจิตมันเป็นมันรู้เพราะอะไร? เพราะเขาเรียกว่าปัจจัตตัง ถ้าเราเป็นเองเราต้องรู้เอง ถ้าเรารู้เอง เห็นไหม มันถึงว่าพอเรารู้เองนี่ มันจะไม่มีใครหลอกเราได้เลย แต่ตอนนี้เราไม่เป็นเอง เราไม่รู้เอง แต่เราฟังคนอื่น
แล้วถ้าคนอื่นนะ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นสุภาพชน เป็นครูบาอาจารย์เพื่อศาสนทายาท เพื่อศาสนา ท่านจะสอนเรื่องศาสนา สอนเรื่องให้เราเป็นคนดี แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นจานกระเบื้อง เห็นไหม เขาก็สอนนอกลู่นอกทางกันไป ฉะนั้น สิ่งที่ฟัง เห็นไหม กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น!
สิ่งที่ปฏิบัติไปนะ เขาบอกว่า ผมรู้พร้อมกัน ก็รู้พร้อมกัน.. ความรู้นะ คนภาวนานี่จะมีอยู่ชนิดหนึ่งที่นักภาวนาแล้วจะน้อยใจมาก เมื่อก่อนไม่ภาวนามันก็ยังพออยู่ได้นะ พอภาวนาขึ้นมานี่มันทุกข์มากเลยนะ แล้วอะไรกระทบนี่อู้ฮู.. มันจะแรงมากเลย
เวลาคนภาวนามันเหมือนน้ำนี่แหละ น้ำถ้าเราไม่รู้ว่าน้ำเสีย น้ำนี่เราพอใช้ได้เราก็ใช้ตลอดนะ พอวันไหนทางการแพทย์เขาบอกน้ำนี้มีเชื้อโรค น้ำนี้ใช้ไม่ได้นะเราทุกข์ตายเลย.. จิต! จิตโดยปกติมันก็เหมือนผ้าขี้ริ้ว จะเช็ดเท้า จะทำอะไร อย่างไร ภาพมันก็ไม่ค่อยชัดเจน แต่พอเราซักแล้วเป็นผ้าขาวนะ พอฝุ่นมันตกเข้าไป พอเลอะหน่อยเดียวมันไม่พอใจนะ
จิต! จิตถ้าไม่ได้ฝึกปฏิบัติเลย มันก็อยู่ของมันโดยปกตินี่แหละ แต่พอปฏิบัติเข้าไปแล้วนี่ โอ๋ย.. ทุกข์เลย นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ โอ๋ย.. ทุกข์มาก คนปฏิบัติใหม่ๆ โอ๋ย.. ทำอะไรไม่ได้เลย ผิดไปหมดเลย แล้วก็มาบ่นแล้ว ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น?
ระยะผ่านไง ระยะผ่านว่าความสกปรก เราอยู่กับความสกปรกจนเคยชิน พอเราทำความสะอาดปั๊บนี่เราเห็นความสกปรก เรารังเกียจความสกปรก พอเรารังเกียจความสกปรก แต่เราสลัดทิ้งความสกปรกไม่ได้ เรายังสลัดทิ้งความสกปรกไม่เป็น มันก็ละล้าละลังอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าพอเราเข้าใจ เห็นไหม อย่างเป็นผู้ใหญ่นี่เขาไม่ตื่นเต้นนะ เพราะว่าสิ่งสกปรกซักก็หาย
จิตถ้ามันสกปรก จิตสกปรก จิตมันไม่ถูกต้อง เรามีสติยับยั้งมันก็จบหมด มันรู้ได้ มันเข้าใจได้ ถ้ารู้ได้ เข้าใจได้มันก็จบ.. นี้พูดถึงจิต
หลวงพ่อตอบสักทีสิ หลวงพ่อไม่ตอบ วนอยู่นั่นล่ะ ถามตั้งนานไม่ตอบสักที.. นี่คือตอบ เพราะจิตของคนมันหลากหลาย จริตของคนมันแตกต่าง สันตติ เกิดดับๆๆ มันเกิดอย่างไร? มันดับอย่างไร? จิต สันตติมันเป็นอันเดียว แต่มันเร็วมาก เพราะว่าความจริงจิตนี่เร็วกว่าแสง แสงมันเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าไร? ตอนนี้คิดรอบโลกสิ โอ้โฮ.. ๓ รอบ ยังนั่งอยู่นี่ไปมาแล้ว ๓ รอบ
มันเร็วขนาดนั้นนะ จิตนี่นะเร็วกว่าแสง แล้วสิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด แล้วเราหยุดนิ่งมัน มันจะมีพลังงานขนาดไหน? นี้สิ่งที่มันเคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดมันก็รับรู้ไง มันรับรู้ มันเร็ว เร็วขนาดที่เราไม่รู้แล้วกันแหละ.. เร็วมาก จิตนี้เร็วมาก เพราะมันเคลื่อนที่เร็ว
คิดดูสิเครื่องบินไปอเมริกา ๔-๕ ชั่วโมงนะ ๘ ชั่วโมง ๑๒ เหรอ? ทีนี้ลองคิดสิ นี่ไปกลับมา ๒ รอบแล้ว เครื่องบินไปกลับมันไปอย่างไร? แล้วเราไปอย่างไร? อันนี้อันหนึ่ง นี่พูดถึงความเร็ว ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ไม่ต้องไปตกใจไง พุทโธไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าถ้าจิตเราดีขึ้น เราพัฒนาขึ้น เราจะรู้ของเราว่าอะไรผิด อะไรถูก
นี่สามพุทโธ วันนั้นเราพูดถึงสามพุทโธ วันนั้นอธิบายถึง ๓ รูปแบบ ก็เลยบอกว่าสามพุทโธ.. พุทโธเดียวนี่แหละ แต่คำว่าสามพุทโธคือว่าพุทโธสามอย่าง คือกรณีตัวอย่าง ๓ กรณี สามพุทโธ นี่ก็เหมือนกัน นี่เป็นกรณีที่ ๔ นะ นี่พุทโธที่ ๔ สามพุทโธ.. นี่สี่พุทโธแล้ว
ถาม : ข้อ ๒. ขอความเมตตาหลวงพ่อ กรุณาแนะนำให้ฝึกสติ
หลวงพ่อ : ฝึกสติคือการระลึกรู้ การฝึกสตินะไม่ต้องไปตกใจ การฝึกสติเราก็เริ่มต้นตั้งนั่งร้านเลยนะ จะต้องปีนนั่งร้านขึ้นไปฝึกสติ.. ไม่ใช่ การฝึกสติคือฝึกสติที่เรานี่แหละ ระลึกก็สติมาแล้ว สติเป็นนามธรรม ทุกอย่างเป็นนามธรรม ระลึกรู้ การตั้งสติ แล้วพอมันตั้งสติปั๊บ ทำอะไรก็มีสติ มีสติอ่านหนังสือก็ดี ทำการบ้านก็ดี ทุกอย่างดีหมดเลย ถ้าขาดสติปั๊บมันแตกหมดไง ถ้ามีสติปั๊บมันเป็นเอกภาพ แล้วพอมันแถปั๊บเราก็ระลึกใหม่ ฝึกบ่อยๆ
เพราะเราปฏิบัตินะ บวชใหม่ๆ เรากำหนดพุทโธทั้งวันทั้งคืน ฝึกสติตลอด เคลื่อนไหวนี่ฝึกสติตลอด เอาให้ได้ก่อน พอมันได้ขึ้นมาแล้วนะมันพอได้ แต่เริ่มต้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก มันเป็นเรื่องนามธรรม มันเป็นความรู้สึกของเรา อย่างเช่นกรณีกลัวผี คนกลัวผีจะไม่ให้กลัวผีนี่แก้ง่ายไหม? คนกลัวผีนี่โคตรกลัวผีเลย
ฉะนั้น ความกลัวคืออะไร? ความกลัวเป็นนามธรรม การฝึกสติ สติคืออะไร? กลัวผีนี่ จะบอกว่าผีไม่มี ไม่ต้องไปกลัวมัน ก็ไม่มีแต่กลัวน่าดูเลย ไม่มีแต่กลัว ความกลัวมันมาจากไหนไม่รู้ ฝึกสติ เห็นไหม สร้างขึ้นมา มันก็เหมือนความกลัวนี่แหละ ไม่มีทำไมมันกลัว
นี่ก็เหมือนกัน สติก็เป็นนามธรรม จับไม่ได้หรอก จับไม่ได้ แต่มันมี มันจับได้ ฉะนั้น ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ตั้ง นี้ว่าการฝึกสตินะ ขอคำแนะนำในการฝึกสติ ฝึกสตินี่ ขับรถไปส่งลูกก็ฝึกสติได้ ตั้งสติได้ อยู่กับลูกก็ตั้งสติได้ ทุกอย่างตั้งสติได้หมดนะ ทำงานก็อยู่กับสติ
ฉะนั้น ทำงานนี่เขาบอกพุทโธ พุทโธทั้งวัน พุทโธได้งานหยาบๆ ถ้างานละเอียดเราก็อยู่กับงานซะ อยู่กับงาน ตั้งสติไว้ เพราะสติอยู่กับงาน เอางานนั้นได้ ฉะนั้น ให้ฝึกไป แค่โยมปฏิบัตินะ แล้วโยมมีปัญหาถามเรามานี่เราพอใจแล้ว แค่นี้แหละ เพราะเรารู้ว่าถ้าโยมปฏิบัตินะเจอปัญหาแน่นอน ช้าหรือเร็ว เพราะมันต้องชนกับปัญหาอยู่แล้ว
ฉะนั้น ขอให้ปฏิบัตินะ แล้วมีปัญหาถามมานะเราว่าโยมเป็นคนดีแล้วล่ะ คนดีคือใฝ่รู้ คือขยันหมั่นเพียร มีการกระทำ อันนั้นคือการเริ่มต้น แล้วสิ่งนั้นโยมจะรู้ของโยมเอง แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับโยมเอง
ข้อ ๕๑๓. ไม่มีเนาะ ข้อ ๕๑๓. ไม่มี
ข้อ ๕๑๔. เอาไว้เป็นพรุ่งนี้ เอวัง