ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สติปัฏฐานสี่มีผล

๑o ก.ค. ๒๕๕๔

 

สติปัฏฐานสี่มีผล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาถามนะ..

ถาม : ปฏิบัติเริ่มต้นมีคนแนะนำสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร ทำไมเริ่มต้นถึงผิดครับ

หลวงพ่อ : สติปัฏฐาน ๔ นะ สติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม เวลาพูดถึงศาสนา พูดเรื่องศาสนาพระพุทธเจ้า

“หัวใจของศาสนาคืออะไร?”

“ก็คืออริยสัจ! ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

นี่อริยสัจ ๔ มรรค ๘ ใช่ไหม อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ ถ้าสติปัฏฐาน ๔ คือสติในฐานที่ตั้ง ๔ อย่าง สติปัฏฐาน ๔ ฐานที่ตั้งของสติ ๔ อย่าง คือกาย คือเวทนา คือจิต คือธรรม นี่ฐานที่ตั้งแห่งสติ สติปัฏฐาน ๔

ถ้ามีสตินะ ฐาน เห็นไหม เขาบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ แต่ของกรรมฐานนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า

“สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็ฐานที่ตั้งแห่งการงานเหมือนกัน”

สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สติปัฏฐาน! สติปัฏฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ๔ อย่าง กาย เวทนา จิต ธรรม ฉะนั้น สติปัฏฐาน ๔ มันไพล่ไปไง เขาไพล่ไปบอกว่า ถ้าสติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นวิปัสสนา คือใช้ปัญญา แต่เวลาสมถะมันไม่ใช้ปัญญา เขาถึงบอกว่าให้เกาะสติปัฏฐาน ๔ ไว้นะ ให้เกาะสติปัฏฐาน ๔ ไว้นะ เราก็เกาะสติปัฏฐาน ๔ ไว้ เวลาพิจารณากาย เวลาดูกายๆ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่เกศา เกศา เกศา โลมา โลมา โลมา นี่เวลาบางคนที่พิจารณากระดูก

ฉะนั้น สิ่งที่สติปัฏฐาน ๔ นี่เขาบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นวิปัสสนา เราถึงบอกว่าวิปัสสนาปลอม เราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ปลอม ถ้าสติปัฏฐาน ๔ จริง เห็นไหม เพราะสติปัฏฐาน ๔ พอจิตมันสงบแล้ว พอมันรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ตามความเป็นจริง ตรงนั้นถึงจะเป็นความจริงไง ความจริงมันอยู่ตรงนั้น

แต่ถ้าพูดถึงว่าสติปัฏฐาน ๔ แล้วเป็นวิปัสสนา เป็นการใช้ปัญญา สมถะจะไม่มีปัญญา นี่เราจะบอกว่ากระบวนการ ตอนนี้เด็กเมื่อก่อนนะ สมัยเรา ๙ ขวบมั๊งถึงเข้าโรงเรียน แล้วก็มาเหลือ ๘ ขวบใช่ไหม? เดี๋ยวนี้ ๓ ขวบเข้าโรงเรียนแล้วนะ เดี๋ยวนี้มีอนุบาลแล้ว ๓ ขวบต้องเข้าโรงเรียนแล้ว

ฉะนั้น เมื่อก่อนคนเรายังไม่รู้ใช่ไหม? นี่เด็กอนุบาล ถ้าอนุบาลไม่ใช่ภาคบังคับ อนุบาลนี่ถ้าครอบครัวไหนมีฐานะ เขาก็ส่งลูกเขาเรียนตั้งแต่เล็ก แต่ถ้าการศึกษาภาคบังคับใช่ไหม ก็เข้า ป.๑ เลย แต่พอสุดท้าย เดี๋ยวนี้เขามีอนุบาลแล้ว เขามีภาคบังคับแล้วว่าต้องเรียนอนุบาล ฉะนั้น การเรียนอนุบาลคือพื้นฐานให้คนมีการศึกษา นี่พื้นฐานดี การศึกษามันก็จะไป หวังว่า! หวังว่าเด็กมันจะฉลาด

ฉะนั้น ขั้นอนุบาล ขั้นสมถะคือขั้นอนุบาล ขั้นกำหนดพุทโธ พุทโธคือขั้นอนุบาล แล้วเราไปลบล้างขั้นอนุบาลทิ้งเลย บอกว่าเวลาเด็กนี่ให้เรียน ป.๑ อนุบาลไม่ต้องเรียน ถ้าเด็กมันเรียน ป.๑ ส่วนใหญ่มันก็เรียนไหวนั่นแหละ นี่คือภาคการศึกษา

แต่ในภาคการปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าจิตไม่สงบ เราจะบอกว่าอนุบาลไง แค่จิตสงบนี่คืออนุบาล ถ้าจิตมันสงบนะ พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว จิตสงบแล้วมีหลัก พอจิตสงบแล้วมีหลัก พุทโธ พุทโธเนี่ย เขาบอกพุทโธไม่ใช้ปัญญา ใช่ มันไม่ใช้ปัญญา แต่! แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิก็ต้องใช้ปัญญานะ ฉะนั้น ถ้ามันใช้ปัญญาแล้ว พอจิตมันสงบจริง เราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ จริงมันเกิดตรงนั้น สติปัฏฐาน ๔ นะ เวลาสติปัฏฐาน ๔ จริง จิตที่มันเห็นตามความเป็นจริง

นี่ถ้าชัดเจนมากนะให้ไปฟังเรื่อง “จิตจริง-โสดาบันจริง” ถ้าจิตปลอม โสดาบันปลอม ไปฟังได้อยู่ในเทศน์บนศาลา ชื่อเรื่อง “จิตจริง-โสดาบันจริง” ถ้าจิตปลอม โสดาบันปลอมๆ มันก็เข้ากับอันนี้ ถ้าจิตไม่มีสมาธิ จิตไม่มีหลักนะ เราใช้ปัญญาไปมันก็เป็นปัญญาของเราไง

ปัญญาในการคาดหมายเป็นปัญญาของเรา เพราะปัญญาอย่างนี้มันก็เป็นปัญญาไป ผลของมันถ้าเป็นสัมมานะ ผลของมันคือปล่อยวาง ผลของมันคือปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันคือสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนาหรอก แต่ถ้าเป็นวิปัสสนานะ ขนลุกขนพองสยองเกล้า แล้วมันสะเทือนใจมาก อันนั้นถึงเป็นความจริง

ฉะนั้น ถ้าเป็นความจริง สติปัฏฐาน ๔ จริงนี่จิตสงบ พอจิตสงบแล้วนี่นะ ขณะจิตสงบนะก็เหมือนกับเรานี่ ถ้าเรามีเงิน เราใช้เงินไม่เป็น เงินนั้นก็ทำลายเรา ถ้าเรามีเงิน เราใช้เงินเป็น เงินนั้นก็จะให้ประโยชน์กับเรา.. จิตที่สงบ บางคนก็ติดในความสงบนั้น จิตที่สงบแล้ว บางคนจิตสงบแล้วเห็นนิมิต ไปเห็นต่างๆ นี่มีเงินแล้วใช้ไม่เป็น ใช้สุรุ่ยสุร่ายนะ เงินนั้นก็ทำให้เสียหาย

ถ้าจิตสงบเป็นสมาธิ ถ้าเราใช้ไม่ถูกต้อง เราใช้ไม่เป็น.. นี่มันสำคัญตนไง ถ้าจิตสงบแล้วมันสำคัญตน พอสำคัญตนก็ใช้ถูกๆ ผิดๆ ไป แต่! แต่จำเป็น ประกอบธุรกิจ การดำรงชีวิต จะทำสิ่งใด เงินเป็นตัวบันดาลให้ทุกๆ อย่างนะ ถ้าจิตสงบ จิตตัวนี้มันจะบันดาลให้ไง ถ้าจิตมันไม่สงบ เห็นไหม จิตไม่สงบไปทางโลก.. ผู้เฒ่า ผู้แก่เดี๋ยวนี้นะมีเบี้ยยังชีพ ไม่ต้องทำงานเลยเขาแจกถึงบ้าน เบี้ยยังชีพเขาให้เลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่สงบใช่ไหม? นี่มันไม่ได้ทำงานด้วยตัวมันเอง มันเป็นความคิด มันเป็นเรื่องต่างๆ มันก็เหมือนกับเรารับเบี้ยยังชีพตลอดไป รับเบี้ยยังชีพด้วยสถานะของมนุษย์ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์นี่บุญเก่ามันทำให้เราเป็นมนุษย์ ในกรณีอย่างนี้นะ เขาบอกว่าคนนี้ทำแต่ความเลว ทำไมกรรมไม่เห็นให้ผลเลย ยิ่งทำเลวยิ่งร่ำรวย ยิ่งทำเลวยิ่งเป็นคนดี

กรรมเก่าของเขาในสถานะของมนุษย์ แต่ถ้าพอมันสิ้นลมหายใจ ลมหายใจขาดปั๊บ นี่ผลบุญ ผลกรรมให้ผลตามนั้นเลย แต่ขณะที่มันมีบุญอยู่ เห็นไหม ในกรณีเดียวกัน ในกรณีที่ว่าเราเป็นมนุษย์ พอเราเป็นมนุษย์เราก็มีสถานะ มีจิตรองรับ ความรองรับนี้มันก็เป็นไป แต่ถ้ามันสงบเข้ามา คำว่าสติปัฏฐาน ๔ เราบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ถ้าไม่มีความสงบของใจก่อน มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม คือเป็นวิปัสสนึกกับวิปัสสนา

ถ้าเป็นวิปัสสนานี่นะ วิปัสสนา เห็นไหม วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาเกิดปัญญา วิปัสสนาคือการชำระกิเลส.. ถ้าวิปัสสนึก เห็นไหม เรานึกเอา เราสร้างภาพเอา คำว่าจริง-ปลอมของเราอยู่ตรงนี้ ตรงที่พูดกันนั้นน่ะมันเป็นการนึกคิด มันเป็นอย่างนั้น เราถึงว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม!

เพราะว่าเราเสียดาย เสียดายขั้นของการทำความสงบ เห็นไหม การทำความสงบ ถ้าจิตทำความสงบ เหมือนกับเราเสียดายในขั้นของอนุบาล มาถึงนี่ลบล้างขั้นอนุบาลออกหมดเลยว่าไม่จำเป็น เสร็จแล้วให้เรียนเข้า ป.๑ เลย หรือ ป.๑ ถึง ป.๔ ก็ลบทิ้งอีก ให้เข้ามัธยมเลย พื้นฐานมันไม่มี มันเป็นไปอย่างไรล่ะ? นี้พูดถึงคำว่า “จริงและปลอม” นะ

ฉะนั้น คำว่าสติปัฏฐาน ๔ นี่มันก็เป็น.. ประสาเราว่าเป็นธรรมและวินัย พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ พอบัญญัติไว้มันอยู่ที่การตีความไง พอตีความแล้วอ้างกัน เห็นไหม มันก็เหมือนกฎหมาย ตอนนี้เราต้องตีความกฎหมาย พอตีความกฎหมาย มุมมองของแต่ละกลุ่มชนก็ตีความกฎหมาย สุดท้ายแล้วต้องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญมั้ง ให้ศาลชี้ความ

อันนั้นพูดถึงทางโลกนะ แต่ถ้าเป็นทางธรรมไม่หรอก ถ้าเป็นทางธรรมนี่ผู้ปฏิบัติแล้วได้ผล ครูบาอาจารย์เราปฏิบัติแล้วได้ผล แล้วการว่าได้ผลนี่สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นอย่างนั้น คือสติปัฏฐาน ๔ ต้อง...

ฉะนั้น เขาบอกว่า “ให้เกาะสติปัฏฐาน ๔ ไปเลย มันใช้ปัญญา อย่าทิ้งสติปัฏฐาน ๔ นะ อย่าทิ้งสติปัฏฐาน ๔ นะ”

อานาปานสติ เวลากระทบปลายจมูกนั่นก็คือกาย ลมที่ปลายจมูกก็คือกาย พุทโธ พุทโธ เห็นไหม มันก็สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน เพียงแต่ว่าจะอธิบายแง่มุมใดเท่านั้นเอง ทีนี้คำว่าแง่มุม สติปัฏฐาน ๔ การวิปัสสนา นี่พูดถึงกลุ่มชนนั้นที่เขาสั่งสอนกัน แต่ในกรรมฐาน หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ครูบาอาจารย์เราท่านบอกว่า

“ต้องพยายามทำความสงบของใจให้ได้ก่อน”

แล้วเวลาเราปฏิบัติกัน ใครที่ปฏิบัตินะจะผ่านการปฏิบัติ พอจิตสงบแล้วปัญญามันโปร่งมาก มันจะคิด มันจะใช้ปัญญาสิ่งใด มันจะแกล้วกล้า มันจะชำระล้าง มันจะทะลุทะลวงไปหมดเลย แต่ถ้าจิตเราไม่สงบนะ ปัญญานี่มันทื่อๆ แล้วปัญญามันไม่ไป เขาจะรู้เลย เห็นไหม

เหมือนกับเราทำธุรกิจ ถ้ายิ่งทำแล้วยิ่งขาดทุนๆๆ ใครๆ ก็ล้มเหลว ชีวิตนี้ล้มเหลวตลอด มันก็น่าท้อใจนะ แต่ถ้าเราปฏิบัติ พอปฏิบัติไปมันมีกำไรเหมือนกัน มีกำไร มีขาดทุน มีกำไรมากขึ้น กำไรมากขึ้นคือจิตมันปล่อยวางมากขึ้น จิตมันดีขึ้น เราเทียบเคียงได้ เวลาเราทำธุรกิจนะ กำไร ขาดทุนนี่เรานับกันที่ตัวเลขนะ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา ความรับรู้ของเรา ในใจของเรามันรู้จริง อันนั้นเป็นความจริง

ฉะนั้น เพราะคำว่าสติปัฏฐาน ๔ จะไปลบล้างเลยมันก็เป็นธรรมและวินัย เพียงแต่ว่าเราพูดถึงการตีความ แล้วตีความกันไป เพียงแต่เขาบอกว่า “ถ้าพุทโธแล้วมันเป็นสมถะ มันไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔” นั่นเขาว่าของเขาไป แต่ถ้าพอจิตมันสงบแล้ว พอมันเห็นจริงแล้ว เหมือนเรานี่เริ่มต้นจากพื้นฐานที่ดี แล้วเริ่มต้นมาถูกต้อง พอมันเริ่มก้าวเดินได้นะมันไปเต็มที่เลย

แต่ถ้าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ นี่ก้าวเดินไม่ได้ ก้าวเดินไม่ได้ คือเขาเดินไปไม่ได้ แต่คนทำกันเยอะมาก แล้วก็บอกว่าสบาย สบาย.. สบายๆ นี่มันก็เป็นสถานะของมนุษย์ สถานะของมนุษย์ ตรึกในธรรมแล้วมันสบายใจก็เท่านั้นแหละ เท่านั้นจริงๆ มันไม่ก้าวเดินไปหรอก

นี้เราพูดในสถานะของกรรมฐาน ของการปฏิบัติ แต่ถ้าพูดในสถานะของปริยัติที่เขาพูดกันนั้นก็เรื่องของเขา อันนี้พูดถึงเขาถามเรื่อง “สติปัฏฐาน ๔” เนาะ

ถาม : ๕๑๔. เรื่อง “อาการของขณิกสมาธิ”

หลวงพ่อ : เขาบอกว่าเขานั่งนะ ในระหว่างที่เขานั่งแล้วก็สวดมนต์อุทิศส่วนกุศล มันต้องอ่านหมดเนาะ ถ้าไม่อ่านหมดเดี๋ยวมันก็งงอีกแหละ

ถาม : กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ได้เมตตาตอบคำถามของหนูในครั้งที่แล้ว หนูเพิ่งเริ่มนั่งสมาธิได้ประมาณ ๔ เดือนค่ะ มีอยู่ครั้งหนึ่งหนูนั่งบนเก้าอี้โดยวางเท้าบนพื้นค่ะ ตอนนั้นหนูสวดมนต์เสร็จแล้วหนูก็อุทิศส่วนกุศลต่อค่ะ ในขณะที่อุทิศส่วนกุศลนั้นหนูรู้สึกเหมือนกับตั้งแต่เท้ามาจนถึงเอวมันหายไป

คือมันเหมือนวูบแต่ไม่ได้วูบแรง หนูก็อธิบายไม่ถูก แต่ที่แน่ๆ คือรู้สึกชัดเลยว่าขาหาย จะรู้สึกเหมือนแค่เรามีช่วงบนอยู่ แต่ก็ไม่ได้ชัดมากกว่าที่แขน ที่ตัว คือมันก็ไม่ได้เบาค่ะ แต่ก็รู้สึกคือว่ามีช่วงบนอยู่ คือถ้าหนูขยับแขนก็จะชัดว่าแขนยังอยู่ ผิดกับที่ขาที่รู้สึกว่าขาหาย หนูก็คิดในใจว่าขาหาย หนูก็คิดว่าทำอย่างไรดี หนูก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นก็อุทิศส่วนกุศลต่อ เพราะอาการอย่างนี้เกิดในขณะที่หนูอุทิศส่วนกุศล หนูก็พยายามคิดว่าอุทิศให้ใครดี

เพราะตอนนั้นหนูอุทิศส่วนกุศลเสร็จแล้ว ก็เลยคิดว่าอุทิศให้เทวดา แล้วก็คิดไม่ออกว่าอุทิศให้ใครต่อ หนูก็คิดว่าจะพยายามประคองให้ขามันหายต่อไปนะคะ แต่พอคิดออกไปแล้ว จะทำอย่างไรขามันก็กลับมาค่ะ.. คำถาม!

๑. หนูอยากทราบว่าอาการที่เกิดขึ้นนี้ใช่ขณิกะหรือเปล่าคะ

๒. ถ้าใช่ขณิกสมาธิ หนูสงสัยว่าในระหว่างที่เราเป็นสมาธิอยู่ หนูใช้ความคิดโดยคิดว่า อุทิศส่วนกุศลให้พ่อ แม่ พี่ น้อง ในระหว่างที่เราใช้ความคิดนั้นเกิดสมาธิได้หรือคะ หนูฟังหลวงพ่อว่า พุทโธมันก็เหมือนกับเราแค่พุทโธโดยไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้น

๓. หนูสังเกตตัวเอง หลายครั้งที่หนูอุทิศส่วนกุศล อาการแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นค่ะ แต่โดยส่วนมากหนูจะนั่งพับเพียบ เลยรู้สึกไม่ชัดเหมือนที่หนูเล่ามาว่าขาหาย แต่มันก็มีอาการคล้ายๆ กัน เหมือนกับมันก็ไม่ได้เบามาก แต่มันก็นิ่งๆ อยู่ตรงกลางๆ ค่ะ

๔. มีอยู่ครั้งหนึ่งหนูอุทิศส่วนกุศลค่ะ แล้วมันก็เริ่มนิ่งๆ ตรงกลางๆ อีกค่ะ หนูก็เลยพุทโธ หนูคิดว่าจะพยายามประคองให้นิ่งๆ ต่อไป แต่มันกลับนิ่งบ้าง เริ่มจะหลุดบ้าง จนมันหลุดไปที่สุด หนูสงสัยว่าที่หนูพยายามประคองให้นิ่งๆ แบบนี้ถูกหรือเปล่าคะ หนูคิดเอาเองว่าเราสามารถประคองให้นิ่งๆ ได้ไปนานๆ แล้วสมาธิก็จะพัฒนาไป หนูคิดผิดหรือถูกคะ

หลวงพ่อ : ขณิกสมาธินี่ ขณิกสมาธิคือสมาธิที่ผิดแปลกไปจากปุถุชน โดยธรรมดาของมนุษย์มีสมาธิอยู่แล้ว อย่างเช่นทางการแพทย์เขาว่า เด็กสมาธิสั้น สมาธิยาว ถ้าสมาธิสั้นเด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ ถ้าสมาธิยาว สมาธิปกติ เด็กหรือผู้ใหญ่จะควบคุมได้ ในการทำงาน ถ้าคนสมาธิดีการทำงานนั้นจะนิ่ง ถ้าคนสมาธิไม่มั่นคง ทำงานแล้วมีแต่ความกังวล มีแต่ความทุกข์ยาก เห็นไหม นี้สมาธิของปุถุชน

นี้เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เพื่อจะฝึกจิตของเราให้มีความสงบมากขึ้น ให้มีหลักมากขึ้น เวลาจิตมันมีคำบริกรรม จิตมันมีที่เกาะเกี่ยว เหมือนกับเราทำอาหาร หรือเหมือนกับเราหุงข้าว ถ้าอุณหภูมิของอาหารขึ้นมาน้ำมันจะเดือดไง.. จิต! จิตถ้ามันบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันต้องสมดุลของมัน พอสมดุลของมันนี่มันเป็นขณิกสมาธิ

คำว่าหายนี่นะ เราว่ามันเป็นขณิกสมาธินั่นแหละ เราว่ามันเป็นปีติ! พอมันมีอาการหาย อาการวูบวาบ มันเป็นอาการของปีติ อาการของปีติ นี่วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์.. มันจะเป็นขณิกสมาธิได้ไหม? เราว่าน่าจะเป็นได้ ถ้ามันน่าจะเป็นได้ใช่ไหม..

“ข้อ ๑. สิ่งนี้เป็นขณิกสมาธิไหม?”

ขณิกสมาธิอยู่ตรงที่เราพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เห็นไหม พุทโธ พุทโธ เหมือนกับอุณหภูมิเวลาเราต้มน้ำ นี่ถ้าถ่านถ้าไฟมันดี อุณหภูมิมันพัดถ่านขึ้นมา มันก็เกิดให้จิตนี้เปลี่ยนแปลง มันเกิดที่ตรงนั้น แต่พอเกิดที่ตรงนั้นแล้ว อาการ! อาการที่ขาหาย อาการต่างๆ นี้เป็นอาการ ถ้าจิตมันไม่เป็นสมาธิมันไม่เกิดอาการอย่างนี้ อาการของขณิกสมาธินั้นเป็นขณิกสมาธิ แต่อาการที่ขาหาย นั้นมันเป็นอีกอาการหนึ่งที่ซ้อนทับเข้ามา

ทีนี้ทับซ้อนเข้ามา สิ่งนี้เราไม่ต้องไปกังวลมัน ทีนี้สิ่งที่ขาหาย สิ่งที่ร่างกายหายไปครึ่งตัว เหลือครึ่งตัว มันเกิดจากจิตที่มันมีคำบริกรรมพุทโธ พุทโธ มันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีพุทโธมาเลย สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นหรอก สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นไป เพราะเรากำหนดพุทโธจิตมันถึงเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิแล้วมันถึงมีอาการอย่างนี้ นี่พูดถึงข้อที่ ๑.

ถาม : ข้อที่ ๒. ถ้าใช่ขณิกสมาธิ หนูสงสัยว่า ที่เราเป็นสมาธิอยู่นี้ หนูใช้ความคิดอยู่โดยคิดว่าหนูอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้อง ในระหว่างที่เราใช้ความคิดนี้มันเกิดสมาธิได้หรือคะ เพราะหลวงพ่อบอกว่าพุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว พุทโธไม่ต้องสนใจสิ่งใดเลย

หลวงพ่อ : ถูกต้อง! พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว พุทโธนี้เป็นเหตุ พุทโธนี้เป็นเหตุ พอพุทโธนี่จิตเข้าไปเกาะ เห็นไหม ถ้าเราไม่พุทโธจิตมันแส่ส่าย จิตนี้มันคิดไปตามธรรมชาติของมัน คิดตั้งแต่แรงขับของจริตนิสัยของคน นี้เราบังคับให้มันพุทโธ พุทโธอย่างเดียว จากคิดเรื่องร้อยแปดไปคิดเรื่องหนึ่งเดียว พอคิดเรื่องหนึ่งเดียวนี่ เพราะการคิดเรื่องหนึ่งเดียวโดยจงใจ โดยตั้งใจ ความที่จิตมันสมดุลของมัน มันก็จะเกิดอาการของมัน

ฉะนั้น พอมันเกิดอาการแล้ว นี่เขาถามว่า “มันคิดได้หรือคะ? ในเมื่อเราพุทโธอยู่มันคิดได้อย่างไรคะ?”

มันคิดได้ เพราะอะไร? เพราะสมาธิระดับขณิกสมาธินี่คิดได้ มันมีความรับรู้อยู่ได้ อุปจาระก็ยังพิจารณาได้ แต่ถ้ามันเข้าลึกไปกว่านี้ อัปปนาสมาธิไม่มีสิทธิ์คิด ถ้ามันคิดอยู่มันก็ไม่ใช่สมาธิที่ลึกอย่างนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่คิดได้นี่ไม่ต้องสงสัยสิ่งใดเลย นี่ที่มันรับรู้เพราะสมาธิเราได้ระดับนี้ สิ่งที่มันจะคิด มันจะรับรู้เพราะขณะที่เราอุทิศส่วนกุศลอยู่ อุทิศส่วนกุศลอยู่นี่มันเป็นปัจจุบันใช่ไหม? แต่ผลที่ว่ามันยังหายอยู่ มันยังอะไรอยู่เนี่ย.. เวลาเราเอาหินทิ้งไปในน้ำมันเกิดคลื่นไป เห็นไหม พอหินตกน้ำปั๊บ คลื่นของน้ำมันก็ต่อเนื่องกันไป

เวลาหินตกน้ำ ตูม! นี่ถ้าเราทำสมาธิตูมมันมีกำลังของมัน อาการที่สั่นกระเพื่อมไป เห็นไหม นี่มันไม่ต้องสงสัย มันวางให้ได้ไง เพราะวางให้ได้แล้วกลับมาที่พุทโธ พุทโธมันจะดีขึ้น

ถาม : ข้อ ๓. หนูสังเกตตัวเอง หลายครั้งที่หนูอุทิศส่วนกุศล อาการแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นค่ะ แต่โดยส่วนมากหนูจะนั่งพับเพียบ เลยรู้สึกไม่ชัดเหมือนที่หนูเล่ามาว่าขาหายไป แต่มันก็มีอาการคล้ายๆ กัน แต่มันก็ลำบากอยู่ตรงกลางนะ

หลวงพ่อ : คือว่ามันเบาๆ อยู่ตรงกลางนี่อยากได้ เวลาคนมีปีตินะ เวลามันเบา กายเบา ตัวเบาทุกอย่าง คือคนอยากได้ เพราะความอยากได้มันเลยไม่ได้ เพราะเราไปอยากได้ที่ผลไง เขาเรียกวิบาก เห็นไหม เวลาเราทำคุณงามความดี เวลาอุทิศส่วนกุศลไป สิ่งที่มันได้ผลขึ้นมานั้นมันเป็นวิบาก แต่มันเกิดมาจากไหนล่ะ? เกิดมาจากเราทำคุณงามความดี

อันนี้ก็เหมือนกัน ตัวเบา กายเบามันเกิดจากพุทโธ ถ้าไปพุทโธ พุทโธมากๆ นะ ไอ้กายเบามันจะมากขึ้น แต่เรามาอยากได้กายเบา แล้วไปประคองที่กายเบา เราไปประคองไง ดูสิคนทำงานจะได้เงินมา เห็นไหม เงินนี้มันมาจากไหน? มาจากการทำงาน แต่นี้จะเอาเงินๆๆ แต่งานไม่เคยสนใจมัน งานนี่ปล่อยทิ้งเลย แล้วบอกว่าจะเอาเงินๆ

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธเราไม่ไปจงใจมัน เราจะเอาแต่กายเบาๆ ทีนี้พอกายเบาแล้วติดใจมาก จะประคองให้กายเบาตลอดไป ให้กลับไปที่พุทโธนะ แล้วพอกายเบาขึ้นมา มันเหมือนกับเรานี่เป็นคนทุกข์ทนเข็ญใจ เราได้เดือนละพัน เราว่าเงินเราเยอะนะ แต่พอเราทำงานมากขึ้น เราได้เงินเดือนละหมื่น พอเราทำมากขึ้นเราได้เดือนละแสน เห็นไหม พอเดือนละแสน เมื่อก่อนเงินพันมีค่ากับเรามากเลย พอเงินหมื่นมา เงินแสนมา เอ๊ะ.. เงินพันทำไมมันไปไหนล่ะ?

ทุกคนจะถามตรงนี้มาก เมื่อก่อนนี้กายเบามากนะ เมื่อก่อนนะ อู้ฮู.. พองดี ปีติดีหมด เดี๋ยวนี้หายไปไหนหมดเลย เงินพันนะมันซ้อนอยู่ในเงินหมื่น เงินแสนนั้น ปีตินี้มันก็ซ้อนอยู่ในความรู้สึกของเรา เห็นไหม มันมีอยู่ แต่เมื่อก่อนเราไม่เคยมีเงินมีทองเลย มีพันหนึ่งก็อู้ฮู.. ดีใจนะ พันหนึ่งนี้มีความสุขมาก พอมีเงินหมื่นขึ้นมา เงินพันก็อยู่ในหมื่นนั้นแหละ เงินพันก็อยู่ในแสนนั้นแหละ

เวลาจิตมันประสบสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี่มันจะดีขึ้นเรื่อยๆ อนาคต คำว่ากายเบานี่มีเงินพัน แล้วพอทำงานมากขึ้นเขาจะให้เงินเดือนเดือนละหมื่นบอกไม่เอาจะเอาพันเดียว เขาจะให้แสนบอกไม่เอาจะเอาพันเดียว นี่ไงกายเบาๆ ก็จะเอาเบาอยู่อย่างนี้ กายเบานี่พอเราไปสัมผัสเงินพันหนึ่ง เดี๋ยวจะมีเงินหมื่น จะมีเงินแสน แล้วถ้าไม่ไปเอาเงินหมื่นเงินแสนนะ จะติดเงินพันอยู่นี่มันจะไม่ได้เงินหมื่น ไม่ได้เงินแสนไง

ฉะนั้น พุทโธไป เงินพันหนึ่งก็เก็บไว้ เงินหมื่นมาก็สะสมไว้ เงินแสนมาก็สะสมไว้ สะสมไว้เป็นทุน สะสมไว้แล้วออกพิจารณา เดี๋ยวจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นล่ะสติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนั้น

ถาม : ข้อ ๔. มีอยู่ครั้งหนึ่งหนูอุทิศส่วนกุศลค่ะ แต่มันก็เริ่มนิ่งๆ และกลางๆ อีกค่ะ หนูก็เลยพุทโธ หนูคิดว่าจะพยายามประคองให้นิ่งๆ ต่อไป มันก็เหมือนกับนิ่งๆ บ้าง เริ่มจะหลุดบ้าง จนหลุดไปในที่สุด หนูสงสัยว่าหนูควรจะประคองอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : อยู่กับพุทโธนะ ถ้าเราพุทโธมาได้ ทุกอย่างมันเกิดจากเรานะ คำว่าพุทโธนี่มันเป็นพื้นฐาน แม้แต่เวลาพุทโธกับการใช้ปัญญา พุทโธคือทำสมถะกับการใช้ปัญญา มนุษย์มีสองเท้า ถ้าสองเท้านี่จะเดินไปด้วยกัน ถ้ามนุษย์มีเท้าเดียว เขาต้องใช้ขาเทียม ไม่อย่างนั้นเขาก็ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันไป คนมีเท้าเดียว เห็นไหม ต้องเดินไปโดยสัจจะของมนุษย์ โดยการประพฤติปฏิบัติ สมถะกับวิปัสสนาต้องไปคู่กัน

สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้เลย แต่เริ่มต้นต้องเป็นสมถกรรมฐานก่อน อย่างเช่นเด็กนี่ เด็กคลอดออกมาทุกคนนอนอยู่นะ ต้องหัดนั่ง หัดคลาน แล้วถึงจะเดินได้ โดยธรรมชาติของเด็ก ทุกคนเกิดมาต้องเดินได้หมด ทีนี้กว่าจะเดินได้มันต้องฝึกเดิน หัดเดิน

จิต! จิต เห็นไหม เราเกิดมานี่จิตเป็นปุถุชน เกิดมาก็ตายหมด มันยังเดินไม่เป็น มันยังทำอะไรไม่ได้ มันยังภาวนาไม่เป็น แต่ถ้ามันหัดภาวนาเป็น นี่เด็กมันต้องฝึกนั่ง หัดคลาน หัดเดิน มันถึงจะเดินได้.. จิต! จิตถ้ามันไม่ทำความสงบของใจ มันไม่แข็งแรงมันจะเดินได้อย่างไร? คนเราไม่แข็งแรง เด็กขาลีบ เด็กพิการ เด็กที่ไม่มีขามันจะเดินได้อย่างไร?

จิต! จิตถ้าไม่ทำสมถะขึ้นมา เพราะการทำสมถะ การทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว เห็นไหม ถ้าใจมันสงบนี่ความรับรู้ของใจ เพราะถ้าใจมันสงบ เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเกิดปัญญาจากจิต มันเกิดปัญญามันจะเห็นกาย เห็นกายแล้วมันก็สั่นไหวไปในหัวใจ

ฉะนั้น โดยอาชีพทางการแพทย์เขาผ่าตัดทุกวัน เขาเห็นกายหรือเปล่า? นี่เขาไม่เห็นกายของเขา อย่างถ้าเป็นหมอที่ดีนะ เวลาเขาผ่าตัดเขาใช้ปัญญาของเขา เขาก็สลดสังเวชทั้งนั้นแหละ เขาสลดสังเวช เขาสงสาร นี่เขาก็ได้แต่สัญญาอารมณ์ แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เวลามันเห็นกายขึ้นมามันสะเทือนใจ เห็นไหม มันสะเทือนมาก นี่หวั่นไหวไปหมดเลย มันสะเทือนหัวใจมาก อันนั้นล่ะปัญญาที่มันละเอียดอยู่ นี่สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงนั้น!

ฉะนั้น สิ่งที่มันจะเป็นสมถะหรือจะเป็นวิปัสสนา นี่มันไปคู่กัน เพราะมนุษย์มีสองเท้า ถ้ามันถึงที่สุดแล้วนะ เพราะคำว่าพุทโธ พุทโธแม้แต่ขั้นไหน คำว่าทำงานนะ ถ้าใจมันทำงานมันใช้พลังงานไปไหม? มันอ่อนเพลียไหม? คนเกิดมาต้องหลับต้องนอนไหม? ต้องพักผ่อนไหม? ใครเกิดมาแล้วบอกทำงานทั้งปีทั้งชาติ แล้วไม่เคยพักผ่อนเลยมันเป็นไปไม่ได้หรอก แม้แต่ทำงานยังพักร้อน ยังไปเที่ยวพักผ่อน

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันทำงานแล้วมันต้องพัก คำว่าต้องพัก ถ้าไม่มีพุทโธ ไม่มีสมถะเลยนี่ไปไม่รอดหรอก เครื่องยนต์นะเวลาใช้เขาต้องซ่อมต้องแซม ต้องพักร้อนเลย เขาต้องพักผ่อนมันเลย เครื่องยนต์เขายังใช้ตลอดไปไม่ได้เลย แล้วหัวใจ โดยธรรมชาติคนเกิดมามันก็ไม่เคยพักนั่นแหละ เพราะธาตุรู้มันเป็นอย่างนั้น แต่เวลาเราใช้ปัญญาขึ้นมานี่..

เพราะงานมันมี “งานโลกกับงานธรรม” ถ้าจิตไม่สงบมันก็เป็นงานโลกๆ จิตไม่สงบมันก็เป็นสัญญา ถ้าจิตสงบมันก็เป็นปัญญา ถ้าจิตสงบ แล้วคำว่าสงบ เห็นไหม โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ มันก็ต้องพิจารณาตลอดไป ไม่ใช่พิจารณาแล้วทีเดียวมันจะจบที่ไหนล่ะ? พอไม่จบปั๊บมันก็ต้องใช้กำลัง พุทโธนี่มันถึงต้องใช้ตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จนพระอรหันต์ก็ต้องใช้พุทโธ!

พุทโธหยุดไม่ได้หรอก การทำความสงบของใจไม่มีทางที่จะหยุดตรงไหนได้ มันต้องใช้ตลอดไป นี้คำว่าใช้ตลอดไป เพียงแต่ว่ามันขั้นไหนมันใช้มากน้อยแค่ไหน ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นสมถะ มันไม่ใช่ปัญญา เพราะคนไม่เคยเห็นนะ คนไม่เคยภาวนามันก็แปลกอยู่ มันก็ยืนกระต่ายขาเดียวพูดอยู่อย่างนั้นแหละ คนตาบอดก็พูดอย่างนั้นตลอดไป แต่ถ้าวันไหนเขาตาดีเขาไม่กล้าพูดอย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาเราฟังใครพูดถึงธรรมะ ถ้าเขาพูดอย่างนั้นนะ ใจเรานี่คัดค้านมากว่าพวกนี้ภาวนาไม่เป็น ถ้าคนภาวนาเป็นจะพูดอย่างนั้นไม่ได้ คนภาวนาเป็นจะไม่พูดคัดค้านกับความจริง ถ้าเขาพูดอย่างนั้นแสดงว่าเขาพูดคัดค้านกับความเป็นจริง ถ้าเขาคัดค้านกับความเป็นจริง นี่ใจเขาจะจริงได้อย่างใด? ถ้าใจเขาจริงนะ เขาจะคัดค้านกับความเป็นจริงไม่ได้

ฉะนั้น สิ่งที่พูดว่า “นี่มีอยู่ครั้งหนึ่งอุทิศส่วนกุศลแล้วคิดว่ามันจะเริ่มนิ่งๆ กลางๆ หนูก็เลยพุทโธแล้วพยายามประคองให้นิ่งๆ”

กลับไปที่พุทโธให้หมดเลย สิ่งใดที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจากพุทโธนะ แล้วที่ว่าเราจะประคองนิ่งๆ แล้วอยากได้ตัวเบาๆ เพราะเวลากายเบาๆ มันเกิดปีติ มันก็เกิดความสุขนั่นแหละ เกิดปีติ คนเรานี่นะเวลามันทุกข์ยาก เวลามันปล่อยวางอะไรมันก็มีความสุข แต่ความสุขอย่างนี้เป็นความสุขพื้นฐาน ความสุขเริ่มต้น เราอย่าเพิ่งไปติดมัน อย่าเพิ่งไปอยากได้ แล้วพออยากได้ก็จะไปตรงว่างๆ กลางๆ เหมือนกับเราไม่ทำงานแล้วใช้แต่เงิน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราอยากได้เงินมากๆ เราก็ทำงานให้มากขึ้น เราทำงานให้มากขึ้น เราดูแลงานของเรา เงินจะไหลมาเทมา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราอยากได้นิ่งๆ กลางๆ เราพุทโธให้ชัดๆ แล้วพุทโธชัดๆ มันไม่นิ่ง มันไม่สบายเลย ต้องตั้งสติ ต้องกำหนด ต้องระลึก มันลำบากไปหมดเลย ก็เพราะว่ามันลำบากไงมันถึงได้ผลว่าเบาๆ ไง เพราะมันลำบากไง มันถึงได้มีกายเบาๆ กายหายไปเพราะเกิดจากมันไง ถ้าไม่มีเหตุอะไรจะเกิดขึ้นมาล่ะ? ถ้าไม่มีเหตุมีมามันก็รับของโจรไง ปล้นมา จี้มา ลักของเขามา แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธนี่เราทำมา เรารักษามา เราดูแลมา มันของๆ เราไง

ต้องกลับไปที่พุทโธ พุทโธอย่างเดียว แล้วอย่างที่ว่านี่ “หลวงพ่อบอกว่าพุทโธอย่างเดียว ไม่ต้องไปสนใจอะไรเลย แล้วเวลามันว่างมันคิดได้อย่างไร?”

นี่ไง เวลามันเกิดจริงมันเป็นอย่างนั้นล่ะ เวลามันจริงมันเป็นอย่างนั้น เวลามันจริงขึ้นมานี่งงไปหมดเลย แต่ถ้าพอเวลาจำมานะ อู้ฮู.. มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น อู้ฮู.. พูดใหญ่เลย แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ พูดไม่ถูก นู่นก็พูดไม่ถูก นี่ก็พูดไม่ถูก นั่นล่ะเป็นความจริง แต่พอชำนาญขึ้นมาแล้วนะ เดี๋ยวเทศน์สอนได้สบายมากเลย เวลามันชำนาญแล้วนะมันอธิบายได้หมดเลย แต่ถ้ายังไม่ชำนาญก็ว่านั่นอะไร? นั่นอะไร? พุทโธไว้เดี๋ยวจะรู้

ข้อ ๕๑๗. เขายกเลิกคำถาม ใช้ไปแล้ว

ข้อ ๕๑๘. ไม่มี

ทีนี้ข้อ ๕๑๙. เขาถามมาเยอะแล้วเขายกเลิกมาเยอะนะ แต่คราวนี้ได้ตอบปัญหาซะที ไม่ได้ตอบปัญหาเขาหลายทีแล้ว เพราะเขายกเลิกมาเรื่อยเลย

ถาม : ๕๑๙. เรื่อง “ตรงนี้คือความแตกต่างระหว่างวิปัสสนา กับวิปัสสนึกใช่ไหมครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ เวลานั่งสมาธิผมนึกพุทโธ พุทโธ และตามรู้ลมหายใจ แล้วผมก็จะเห็นจิตที่นึกพุทโธ พุทโธตั้งมั่นปรากฏชัดขึ้นมา สักพักหนึ่งก็จะมีภาพนิมิตเกิดขึ้น มาปิดบังจิตที่นึกพุทโธ พุทโธ เมื่อผมนึกพุทโธชัดๆ และตั้งใจรู้ลมหายใจชัดๆ ภาพนิมิตก็จะดับไป แล้วจิตก็จะนึกพุทโธ พุทโธก็จะปรากฏขึ้นมาอีก แต่จะมีความตั้งมั่นและชัดเจนมากกว่าเดิม แล้วอีกสักพักหนึ่งก็จะมีภาพนิมิตที่เหมือนความจริงมากกว่าครั้งแรก เกิดขึ้นมาปิดบังจิตที่นึกพุทโธอีก

และเมื่อผมนึกพุทโธชัดๆ และตั้งใจรู้ลมให้ชัดๆ ขึ้นอีก ภาพนิมิตก็จะดับไป แล้วจิตที่นึกพุทโธ พุทโธก็จะปรากฎขึ้นมาอีก แต่คราวนี้จิตที่นึกพุทโธ พุทโธก็จะคมชัด และตั้งมั่นชัดเจนมากกว่าเดิมยิ่งๆ ขึ้นไปอีก แล้วอีกสักพักหนึ่งก็จะมีภาพนิมิตที่ชัดเจน เหมือนความจริงมากกว่าครั้งแรก เกิดขึ้นมาบังจิตที่นึกพุทโธ พุทโธนั้นอีก คราวนี้ผมนึกในใจว่า

“ถ้าเราตายแล้ว ร่างกายของเราจะเป็นอย่างไร?”

ผมก็เห็นภาพกระดูกท่อนหนึ่งค่อยๆ แตกกระจายออกจนกลายเป็นดิน ซึ่งภาพนิมิตที่ผมเห็นในตอนนี้ มีความชัดเจนเหมือนกับผมเห็นด้วยตาตนเองจริงๆ แล้วในใจของผมมันมีความเคลื่อนไหว เหมือนเราเคลื่อนย้ายวัตถุสิ่งของ คือมันเคลื่อนไหวฉุกคิดขึ้นมาว่า

“อ๋อ! ทุกทีเราเป็นสุขเป็นทุกข์กับเรื่องต่างๆ เพราะเราไม่รู้ว่าร่างกายของเรามันเป็นดิน”

การเคลื่อนไหวฉุกคิดของใจแบบนี้ทำให้ผมมีความสุขมาก แต่สักพักเดียว ความรู้สึกในใจก็ไหลกลับมาเชื่อว่าร่างกายของเราเป็นดินอย่างเดิม

ผมขอถามว่า..

๑. การภาวนาที่ผมเล่ามานี้ คือวิปัสสนาใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่!

ถาม : ๒. วิปัสสนาแตกต่างจากวิปัสสนึกคือ ถ้าเป็นวิปัสสนา ภาพนิมิตที่เกิดขึ้นสามารถเป็นครูสอนธรรมะให้แก่เราได้ เพราะว่าเมื่อเราเห็นภาพนิมิตชนิดนี้แล้ว ในใจของเรามีความเปลี่ยนแปลงเหมือนมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของบางอย่างภายในใจ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนึก ภาพนิมิตมันเกิดขึ้นมาจากความคิดของผู้ภาวนา ซึ่งภาพนิมิตชนิดนี้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นครูสอนธรรมะให้แก่ผู้ปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อผู้ปฏิบัติเห็นภาพนิมิตชนิดนี้แล้ว ในใจไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น วิปัสสนาแตกต่างจากวิปัสสนึกตามที่ผมอธิบายนี้ใช่หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ใช่ แต่! แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา เห็นไหม นี่เวลาเราบอกว่าพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ มันก็เกิดนิมิต พอเกิดนิมิตนี่เพราะอะไร? เพราะพุทโธเรายังไม่เข้มแข็ง แล้วพอมันเกิดนิมิตใช่ไหม แล้วเราก็พยายามนึกพุทโธอีกภาพนั้นก็หายไป พอพุทโธ พุทโธไป จิตมันดีขึ้น ภาพนิมิตก็ชัดเจนขึ้น ทีนี้ภาพชัดเจนที่เห็นขึ้นมันเกิดปัญญา

ปัญญาเกิดตอนไหน? ปัญญาเกิดตอนบอกว่า “ร่างกายเราเป็นดินไม่ใช่หรือ”

เห็นไหม วิภาคะนะ.. อุคหนิมิต วิภาคะนิมิต เวลาบอกร่างกายนี้เป็นดินไม่ใช่หรือ มันก็เกิดเป็นท่อนกระดูกมา แล้วท่อนกระดูกก็กระจายออก นี้คือปัญญา ปัญญาคือการรำพึงในสมาธิไง เวลาจิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้าเห็นภาพนิมิตนี่เรารำพึง เวลาเราบอกว่ากายนี้เป็นดินไม่ใช่หรือ? ทำไมมันเกิดเป็นภาพข้อกระดูกขึ้นมาล่ะ? แล้วข้อกระดูกก็แตกกระจายออกไปได้อย่างไรล่ะ? พอมันแตกกระจายออกไปนี่เพราะกำลังของสมาธิไง

นี่พอบอกว่าอย่างนี้ใช่ปั๊บเดี๋ยวก็นึกภาพอีก ภาพนั้นก็เลยกลายเป็นวิปัสสนึก วิปัสสนึกเพราะอะไร? วิปัสสนึกเพราะจิตไม่มีกำลัง ถ้าจิตไม่มีกำลังให้กลับมาที่พุทโธ ให้พุทโธชัดๆ ไว้ พุทโธชัดๆ ไว้ พอชัดๆ ปั๊บ เวลาจิตรำพึง เห็นไหม กายนี้เป็นดินไม่ใช่หรือ? กายนี้เป็นเราไม่ใช่หรือ?

พอเป็นเราปั๊บนี่ผลก็ตอบสนอง เพราะอะไร? เพราะปัญญา ความรำพึงมันออกไป พอออกไปแล้วภาพนิมิตเกิดมาเป็นกระดูก แล้วมันก็แตกกระจายออกไป แตกคือวิภาคะ พอวิภาคะมันก็ปล่อย มันก็มีความสุขมาก ความสุขมากอย่างนี้เป็นวิปัสสนาหรือยัง? นี่เริ่มต้น!

คำว่าเริ่มต้นนะมันเหมือนหญ้าปากคอก หญ้าปากคอกเรายังไม่มั่นใจว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด หญ้าปากคอกเราพยายามเลือก แล้วพยายามทำให้มันชัดเจน เดี๋ยวพอมันจากหญ้าปากคอกใช่ไหม เราเคยกิน เคยใช้ กินหญ้า กินผักต่างๆ มันดีขึ้นมา สิ่งไหนเป็นประโยชน์เราก็จะกินอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน พอพิจารณาไป พอมันเป็นอย่างนี้ขึ้นมา ความสุขนี่มันมีอยู่แล้ว ถ้าเป็นวิปัสสนาจิตใจมันสงบ แล้วพอมันเห็นของมัน มันพิจารณาของมัน เห็นไหม ผลตอบรับนี่มีความสุขมาก มันชัดเจนมาก แต่ความสุขนี้เป็นตทังคปหาน มันเป็นความสุขชั่วคราวจากกำลังของปัญญา ถ้าปัญญามันมีกำลังขึ้นมามันก็มีความสุขของมัน แล้วความสุขนี้มันก็เป็นอดีตไปแล้ว

ฉะนั้นเราก็ต้องทำปัจจุบันตลอด ปัจจุบันคือทำความสงบของใจ พุทโธอีก แล้วพอเกิดภาพ เกิดภาพจะเกิดกายก็ได้นะ แล้วถ้าจิตสงบแล้วถ้าเกิดเวทนา ความเจ็บปวด ความรับรู้ของมัน.. คือกาย คือเวทนา คือจิต คือธรรม วิปัสสนาได้ทุกเรื่อง แต่เฉพาะปัจจุบันนั้น อันใดอันหนึ่ง อันเดียวอันใดอันหนึ่ง ตรงนั้นอย่างเดียว แล้วพิจารณาซ้ำไป พิจารณาแยกแยะไป แยกแยะไป

นี่ถ้ามันกำลังพอ เห็นไหม พอบอกว่า “ร่างกายนี้ไม่ใช่เป็นดินหรือ?” นี่เพราะกำลังมันพอ พอกำลังพอมันก็เกิดภาพกระดูก เพราะกำลังมันพอมันถึงทำลายภาพกระดูกนี้กระจายออกไป พอมันกระจายออกไปมันก็ไม่มีสิ่งใดเหลือตกค้างไว้ในหัวใจใช่ไหม ใจก็ว่าง ใจก็ว่าง ว่างเพราะอะไร? ว่างเพราะนี่สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด พอความเห็นถูกมันก็ปล่อย แต่ปล่อยแล้วมันไม่ถอนรากถอนโคนไง พอไม่ถอนรากถอนโคนเราก็ซ้ำไปๆ

ฉะนั้น..

ถาม : ข้อ ๑. ที่ผมเล่านี้ใช่วิปัสสนาไหม

หลวงพ่อ : ใช่ คำว่าสมถะกับวิปัสสนา วิปัสสนามันเป็นชื่อหมวดของงานในการใช้วิปัสสนา ทีนี้หมวดของงานนี่มันเป็นหมวดหมู่ สมถะเป็นหมวดหนึ่ง วิปัสสนาเป็นหมวดหนึ่ง แต่เวลาทำงานนี่เราทำงานด้วยกัน เป็นวิปัสสนาไหม? ใช่ แต่หมวดของงาน ทำงานไปเรื่อยๆ ขยันหมั่นเพียรเข้าไปเรื่อยๆ นี่การกระทำมันเป็นแบบนี้

ถาม : ข้อ ๒. วิปัสสนาแตกต่างจากวิปัสสนึกคือ ถ้าเป็นวิปัสสนา ภาพนิมิตที่เกิดขึ้นสามารถเป็นครูสอนธรรมะให้เรา

หลวงพ่อ : ธรรมะนี่ใช่ เป็นธรรมะสอนให้เรา เราสอนตัวเราเอง เราสอนเราเอง เราพิจารณาของเราเองให้แก่เรา

ถาม : เพราะว่าเมื่อเราเห็นภาพนิมิตนั้นแล้ว ในใจของเราจะมีความเปลี่ยนแปลง เหมือนมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของ

หลวงพ่อ : คำว่า “เหมือนมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของ” เห็นไหม มันมีการกระทำ มันมีการถ่ายเท มีอะไรนี่มันถึงเป็นความจริงไง แต่ถ้าเป็นทางวิชาการใช่ไหม มันก็ปากเปียกปากแฉะ มันไม่มีอะไรถ่ายเทใช่ไหม? ไม่มีอะไรรับรู้ใช่ไหม?

ถ้าเป็นสมาธิ จิตก็ต้องรับรู้ว่าเป็นสมาธิ ถ้าเป็นปัญญา จิตก็ต้องรับรู้ว่าเป็นปัญญา จิตหลงก็รู้ว่าจิตหลง จิตพอมันแก้ไข จิตมันก็รู้ว่าแก้ไข พอจิตมันถอดถอน มันก็รู้ว่ามันถอดถอน นี่ไงปัจจัตตัง! ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกมันจะเกิดกับเรา แต่มันมากน้อยแค่ไหน?

ฉะนั้น เวลาบอกว่า..

ถาม : เหมือนมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของบางอย่างภายในใจ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนึก ภาพนิมิตมันเกิดขึ้นมาจากความคิดของผู้ภาวนา ซึ่งภาพนิมิตชนิดนี้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นครูสอนธรรมะให้แก่ผู้ปฏิบัติได้

หลวงพ่อ : มันไม่ได้สอนผู้ปฏิบัติน่ะสิ ถ้าพูดถึงมันมีกิเลสอยู่ใช่ไหม พอเห็นภาพนั้นมันก็ว่ากันไป แต่ถ้าเป็นสุภาพบุรุษ ถ้าเราเป็นผู้ที่ปฏิบัติ เราจะเอาตัวเราพ้นจากทุกข์นี่เราจะรู้จริง

ถาม : ฉะนั้น มันไม่สามารถสอนผู้ปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อผู้ปฏิบัติเห็นภาพนิมิตชนิดนี้แล้ว ในใจไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย วิปัสสนาแตกต่างจากวิปัสสนึกตามที่ผมอธิบายนี้ถูกต้องไหม

หลวงพ่อ : ใช่ นี่มีความแตกต่าง แล้วมีความเข้าใจ ทีนี้ความแตกต่างนี่นะ ถ้าพูดถึงในหมู่ชนของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัตินี่ปฏิบัติอยู่คนเดียว แล้วถ้าเกิดมีหมู่ชน คือมีพรรคพวกสัก ๑๐ คนแล้วคุยกัน เราคนเดียวไปเถียงกับอีก ๙ คนนะ เราแพ้เขานะ คนปฏิบัติจริงๆ เวลาไปเถียงเขา เพราะว่าพอเขาไล่มาๆ ทุกคนไล่มาเราเองเราจะแพ้เขา แต่! แต่ในหัวใจมันองอาจกล้าหาญมาก เพียงแต่เราอธิบายให้เขาเข้าใจไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ไม่เห็นเหมือนเรา

ฉะนั้น เวลาผู้ที่ปฏิบัติ เวลาเขาถามธรรมะกันเขาดูตรงนี้ไง ถ้าไม่รู้ ไม่เห็น พูดไม่ได้ ถ้าเรารู้ เราเห็น เราพูดได้ ก็ต้องพูดให้ผู้รู้ ผู้เห็นนี่เขาเข้าใจ แต่ถ้าเขาไม่รู้ ไม่เห็น ไปพูดให้เขาฟังนะ เขาว่าเรานี่แปลกแยกนะ ใช่ไหม?

นี่สังคม เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้วท่านถึงเก็บไว้ในใจไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหน ท่านต้องเล็งญาณนะ ใคร! ใครมีอำนาจวาสนา ใครมีบารมี พูดแล้วเข้าใจกัน ถ้าเขาไม่เข้าใจกับเรา ไปพูดนะเรานี่แปลกแยก ฉะนั้น เราปฏิบัติของเรา มันเป็นความจริงของเรา อันนี้ถูกต้อง ถูกต้อง

ข้อ ๕๒๐. เรื่อง “กราบขอขมา”

เขาขอขมามาว่า เขาเขียนคำถามมาด้วยความไม่สุภาพ โอเค จบ.. จบเนาะ เอวัง