เทศน์บนศาลา

ทำแบบสิ้นคิด

๑๕ ก.ค. ๒๕๕๔

 

ทำแบบสิ้นคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม วันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก ธรรมจักกัปปวัตนสูตรเห็นไหม ธรรมจักร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก

การแสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนอรุณรุ่ง อรุณจะเริ่มรุ่งขึ้นเห็นไหม เพราะว่าเวลาแสดงธรรมไปแล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม คำว่าดวงตาเห็นธรรมเห็นไหม เป็นพระโสดาบัน อรุณรุ่งคืออะไร มันเกิดแสงอรุณ แสงเงินแสงทอง จะรุ่งเรืองอำไพไปข้างหน้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ตั้งแต่วันวิสาขบูชา คำว่าตรัสรู้แล้วเสวยวิมุตติสุขอยู่ เสวยวิมุตติสุขเห็นไหม สิ่งนั้นคือสว่างกระจ่างแจ้ง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย

“เราก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อย่างนี้ด้วยหรือ? ”

การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ฝังในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมานี้ มันฝังหัวใจมา ถ้ามันฝังหัวใจมานะ เราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ สิ่งที่มันเป็นความกังวล สิ่งที่มันเป็นความลังเลสงสัย สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันปกคลุมในหัวใจนั้นอยู่

สิ่งที่ปกคลุมหัวใจนั้นอยู่ หัวใจดวงนั้นมันก็ละล้าละลังเห็นไหม มันไม่มีความปลอดโปร่งหรอก มันเหมือนกับเมฆหมอกปกคลุมอยู่ จิตใจนั้นมันจะไม่มีความปลอดโปร่ง แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมตั้งแต่วันวิสาขบูชา เสวยวิมุตติสุขเห็นไหม จิตใจมันสว่างกระจ่างแจ้ง มันเหมือนกลางวัน เหมือนสิ่งที่สว่างไสวตลอดเวลา มันไม่มีสิ่งใดเป็นความวิตกกังวล

คนเกิดมาจากไหน? เกิดมาแล้วเกิดมาทำไม? เกิดแล้วตาย ตายแล้วไปไหน?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ไปกับคนใช้

“นั่นคืออะไร? ”

“นั่นเด็กเกิดใหม่ นั่นแก่ นั่นเจ็บ นั่นตาย”

“คนเป็นอย่างนี้หรือ? เราก็ต้องเป็นอย่างนี้หรือ?”

นี่มันฝังใจมาเห็นไหม ละล้าละลัง.. ละล้าละลัง.. เวลาออกไปบวชเห็นไหม แสวงหาอยู่ ๖ ปี ปัญจวัคคีย์ก็ออกด้วยกัน ถ้าปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากอยู่ รอนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำทุกรกิริยา ทำต่อสู้กับกิเลสของตัว ต่อสู้ทุกวิถีทาง ปัญจวัคคีย์ก็รออยู่ๆ เห็นไหม นี่การทำมาด้วยกัน แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเห็นไหม สิ่งที่เป็นความละล้าละลังในหัวใจนั้นไม่มี ความเกิดความตายหลอกกัน คำว่าหลอกกันคนที่รู้จริงแล้ว สิ่งนั้นมันเป็นความจริงไง

เราไปห้ามพระอาทิตย์ได้ไหม เราห้ามพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกได้ไหม พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกมันเป็นธรรมชาติของมัน การเกิดการตายมันก็เป็นธรรมชาติของมัน แต่เพราะเรามีกิเลสไง เวลาเกิดขึ้นมาเห็นไหม พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็มีความสุขมีความชื่นใจ มีความพอใจมาก เวลาเราเกิดมา ของเราๆ กำมือแล้วก็ร้อง กำมือแล้วก็ร้อง เวลาคนตายเห็นไหม ดูสิ เวลาคนนอนหลับนะ ในเมื่อมีจิตอยู่มันก็อย่างนั้น เวลาคนตายมันปล่อยหมดนะ เวลาคนตายนะ กำมือไว้ไม่ได้ แบหมด ต้องยกมือสองมือ แล้วมามัดตราสังไว้ แล้วเอาดอกไม้ธูปเทียนให้ไปไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

นี่พูดถึงคนตาย เวลาคนเกิดมามันพร้อมกับกำมือ ของเราๆๆ นี่พูดถึงการเกิดและการตายในทางวัฏสงสาร แต่ในความวิตกกังวลในใจ มันวิตกกังวลขนาดไหน ความวิตกกังวลนะ มาอย่างไร ไปอย่างไร เรื่องชีวิต ใครก็อยากศึกษา ใครก็อยากรู้อยากเข้าใจ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม มรรคญาณมันทำลายอวิชชา วิชชาคือความต่อสู้กับความไม่รู้ คืออวิชชาในหัวใจ เพราะอวิชชามรรคญาณมันทำลายหมดแล้ว สิ่งนั้นมันคืออะไร

นี่ไง การเกิดและการตาย สิ่งที่เกิดตายมันก็เป็นธรรมชาติของมัน แล้วมันรู้ทันหมดแล้วมันจะมีอะไรสงสัย มันไม่มีความลังเลสงสัยเห็นไหม นี่คือวิมุตติสุข มันมีความสุขของมัน เวลาเราสงสัยนะ มันก็ละล้าละลังๆ นะ แต่เวลามันชำระกิเลสหมดเห็นไหม เสวยวิมุตติสุข ความสุข สุขอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่งในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นธรรมแท้ๆ นะ

เวลาจะมาเทศน์ปัญจวัคคีย์เห็นไหม “เราจะสอนใคร” เล็งญาณไปนะ คนที่มีจิตใจที่มีคุณภาพ จิตใจทีมีสถานภาพ สถานภาพว่าจะรองรับไง เล็งไปที่อาฬารดาบสก่อน เพราะอาฬารดาบสเขาทำสมาบัติได้ เล็งไปที่อาฬารดาบสก็ตายเสียแล้ว น่าเสียใจ เพราะตายไปแล้วเห็นไหม

เราคิดกันทางโลก ทุกคนบอกเลยนะ “ตอนนี้เรามีความศรัทธามาก เรามีความเชื่อมั่นมาก เรามีความประพฤติปฏิบัติ ตายไปแล้วเราจะไปเกิดต่อไปไม่ได้หรือครับ? ”

เวลาตายไปนะมันภพชาติใหม่ จิตดวงเก่าแต่ภพชาติใหม่ พอภพชาติใหม่มันจะเป็นอย่างนั้นไหม ถ้ามันเป็นอย่างนั้นนะ เว้นไว้แต่พระโพธิสัตว์ที่ได้พระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วเท่านั้น ต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน เวลาตายไปแล้วถึงน่าเสียดาย เสียดายเพราะเป็นพรหม ไปเกิดเป็นพรหม ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตามไปสอนบนพรหม อาฬารดาบสตอนที่เป็นมนุษย์ อาฬารดาบสเป็นนักบวช เป็นนักพรต พอตายไปก็ไปเกิดเป็นพรหมแล้ว

คำว่าพรหมคือสถานะของพรหม แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ก็ไปหาพรหม ไม่ใช่ไปหาอาฬารดาบส มันถึงน่าเสียดายว่า เพิ่งตายไปเมื่อคืนนี้ อุททกดาบสก็ตายแล้ว ย้อนกลับมาปัญจวัคคีย์ อุปัฏฐากกันมา นั่นคือทำความสงบของใจมา

เวลาจะไปเทศนาว่าการ วันนี้วันอาสาฬหบูชา เป็นการยืนยันว่าอริยสัจ สัจจะความจริง ประกาศสัจธรรม เวลาประกาศสัจธรรม แสดงธรรมจักร “ทเวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนภิกษุไม่ควรเสพ”

สิ่งที่เราทำกันมาสองส่วนเท่านั้น ไม่ถลำไปทางความสุข มันก็ถลำไปทางความทุกข์ มันถลำไปทั้งนั้นเพราะเราไม่รู้ว่าเป็นความจริงของเรา แต่เวลาประกาศขึ้นมาเห็นไหม ทางสายกลางๆ ทางสายกลางของใคร?

ทางสายกลางของเรา เราก็จะสุขสบายของเรา ทางสายกลางของเรา เราก็อยากจะนอนของเรา อยากจะทำตามใจของเรา ทางสายกลางมันต้องทางสายกลางโดยมรรค ทางสายกลางสัจจะความจริงเห็นไหม

ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นักบวช ๕ คน ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะรู้คนเดียว เพราะถ้ามันสมจริงของมันเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” ความรู้แล้วหนอ มันเป็นความซึ้งใจมาก ดูสิ เวลาเราเผยแผ่ไปแล้วมีคนรู้เป็นพยาน มันพอใจมากไง ถึงได้อุทานเลย “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” แสงเงินแสงทองขึ้นแล้วในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ

แสงเงินแสงทองนะ ทอแสงแล้ว พอทอแสงขึ้นมาเห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหม ได้ยินข่าว ส่งต่อๆ กันไป เทวดา อินท์ พรหม นั้นได้ยินองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์กับปัญจวัคคีย์ เทวดา อินทร์ พรหม เขาก็ได้ยินของเขาด้วย นั้นคือเสียงฟ้าร้องไง เวลาฝนมันจะตกนะฟ้ามันจะคำราม ฟ้ามันจะร้องของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เพราะเวลาฟังธรรมมันสะเทือนใจ มันดีใจ ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง แดดมันทอแสงไหม จิตใจมันทอแสงไหม จิตใจได้อริยภูมิไหม มันยังไม่ได้เห็นไหม มันได้แต่ในจิตใจของพระอัญญาโกณฑัญญะเท่านั้น

ที่ว่ามีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมซ้ำ จนปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันทั้งหมด แล้วอนัตตลักขณสูตรเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ปัญจวัคคีย์รวมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๖ องค์ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ยสะ เป็น ๖๑ องค์ทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เผยแผ่ธรรมะมาๆ นี้เป็นสัจจะความจริงนะ

สัจจะความจริง เวลามันทุกข์มันก็ทุกข์มาก ดูสิ ดูความทุกข์ของเรา เวลาพวกเราทุกข์เรายากกัน จะมั่งมีศรีสุข ขัดสนข้นแค้นขนาดไหน มันก็มีความทุกข์เหมือนกัน ความทุกข์นะ สิ่งที่เป็นความทุกข์เห็นไหม แล้วเวลาความทุกข์ ดูสิ ดูนักบวชเรา นักบวชเรามีสมบัติอะไรเป็นของตัวเองบ้าง ถ้าพูดถึงทางโลก ไม่มีสมบัติสิ่งใดใดเป็นของตัวเองเลย แล้วมันมีความทุกข์ไหมล่ะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาทำไมมันมีความสุขขึ้นมาในหัวใจได้ล่ะ

ความสุขความทุกข์มันอยู่ที่ใจ ถ้ามันอยู่ที่ใจนะ ใจเป็นอย่างไร ถึงจะมีความสุขความทุกข์ ถ้ามีความสุขความทุกข์เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้นะ คำว่าวางธรรมและวินัยไว้ ดูสิพระไตรปิฎก พุทธพจน์ที่แสดงธรรมไว้มหาศาลเลย ทีนี้เราศึกษากันเห็นไหม เราศึกษาทางวิชาการ ทางวิชาการเราศึกษามาเพื่อให้เป็นความรู้เป็นปัญญาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลก็มีอยู่แล้ว

มีอยู่แล้วหมายถึงว่า พระอานนท์เป็นผู้ที่จดจำพระสูตร พระอุบาลีเป็นผู้จดจำเรื่องวินัย ธรรมและวินัยเห็นไหม ถ้าผู้จดจำมีการศึกษามาเห็นไหม ฝ่ายจดจำศึกษา ดูพระโปฐิละสิ โปฐิละเขาก็ศึกษาธรรม เขาแสดงธรรมได้ด้วยการศึกษาด้วยการจดจำมา ท่องจำได้หมด มีลูกศิษย์ ๕๐๐ คนเห็นไหม นี่คือการศึกษา

ในสมัยพุทธกาลก็มีฝ่ายปริยัติ ฝ่ายที่จดจำจารึก จดจำธรรมคำสอนท่องจำกันมา ฝ่ายปฏิบัติเห็นไหม ธรรมกถึก ฝ่ายปฏิบัติที่ว่าบวชเมื่อชราแล้ว ขอกรรมฐานแล้วเข้าป่าไป เพื่อประพฤติปฏิบัติ

ปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ นี่พูดถึงว่าถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริง ในปัจจุบันนี้ถ้าเราจะปฏิบัติกันนะ นี่ปฏิบัติแบบคนสิ้นคิด คนสิ้นคิด คนไม่ศึกษา คนไม่ค้นคว้า ปฏิบัติไปให้เป็นรูปแบบให้เป็นตามความเป็นจริงนั้น ปฏิบัติเห็นไหม ทำแบบสิ้นคิด ถ้าคนสิ้นคิด มันทำอะไรทำตามให้ครบกระบวนการของมัน แต่มันมีปัญญาจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีปัญญาจริง

ดูสิ น้ำมาจากไหน น้ำที่เราดื่มกันอยู่นี้มาจากไหน? มาจากขวด น้ำนี้มาจากขวด ขวดนี้มาจากไหน? มาจากร้านค้า ข้าวนี้มาจากไหน? ข้าวนี้ก็มาจากร้านค้า มันเป็นความจริงไหม เป็นความจริง ถ้าเรามีเงินนะ น้ำก็มาจากขวด ข้าวก็มาอยู่ในจาน แต่ความเป็นจริงน้ำมันมาจากไหน? น้ำนะถ้ามาจากขวด ข้าวมาอยู่ในจาน แล้วเกิดถ้าร้านค้าเขาเลิกค้าล่ะ แล้วเกิดว่าถ้าคนที่มาส่งอาหารให้เขา เขาไม่ได้ส่งล่ะ

ถ้าความเป็นจริง แหล่งน้ำมันมาทางก้อนเมฆก็ได้ มันมาจากตาน้ำก็ได้ มันมาจากแม่น้ำก็ได้ น้ำมันมาตามความจริงอย่างไรล่ะ ข้าว ข้าวก็มาจากข้าว ข้าวเปลือกเราทำนามันก็มาจากข้าว ถ้าข้าวเปลือกเอามาทำนามันก็เป็นต้นข้าว ต้นข้าวถ้าเขาเก็บเกี่ยวขึ้นมา พอมาสีมันก็เป็นข้าว ตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่แบบสิ้นคิดนะ มันบอกว่าข้าวมันอยู่ในจาน ข้าวมันอยู่ที่ร้านค้า

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติแบบอะไร เราปฏิบัติเห็นไหม “ศีล สมาธิ ปัญญา” ศึกษามา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ทำแบบคนสิ้นคิด! คนสิ้นคิดมันไม่ใช้ปัญญา คนสิ้นคิดมันทำพอเป็นพิธี ทำแบบสิ้นคิด ปฏิบัติแบบสิ้นคิด แล้วผลมันจะเป็นความจริงได้อย่างไร ถ้าผลขึ้นมาเป็นตามความเป็นจริงนะ มันต้องมีปัญญาของมันนะ เราไม่ทำแบบสิ้นคิด ดูสิ ดูคนที่เขาจะทำธุรกิจของเขา เขาต้องทำวิจัยนะ

การลงทุนนะ เขาจะลงทุนอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเขามีทุนของเขา เขาไม่ลงทุนหรอก เพราะตลาดมันให้ผลตอบแทนไม่พอ ลงทุนไปแล้วนะ ถ้าลงทุน ๕ ปีคุ้มทุน ๑๐ ปี คุ้มทุน เขาไม่สิ้นคิดนะ ถ้าคนสิ้นคิดนะ ลงทุนไปมันก็หมด! ถมทะเลไม่เต็มหรอก ทำแบบสิ้นคิด ไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้สึกนึกคิด! ทำพอเป็นพิธีทำกันไป นี่การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน สติมันคืออะไร? สมาธิมันคืออะไร? ทำอะไร? ก็ว่างๆๆๆ สิ้นคิด! ทำสิ้นคิดมันไม่มีเหตุมีผลของมันไง

แต่เราเกิดมา เราเกิดมาในกึ่งพุทธกาล เราเกิดมาเรามีครูมีอาจารย์นะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านสร้างของท่านมา เมื่อในธรรมยุตนิกายของเรา เริ่มต้นจากพระจอมเกล้าฯ พระจอมเกล้าฯท่านบวชของท่านมา ท่านพยายามศึกษาค้นคว้าของท่าน ท่านก็ออกธุดงค์เหมือกันเพื่อจะให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ให้ได้ แต่ถึงที่สุดแล้วท่านวางหลักเกณฑ์ไว้ วางแนวทางการศึกษา แล้วท่านก็ออกค้นคว้าของท่าน

แต่บุญญาธิการบุญบารมีของคนมันไม่เหมือนกัน เวลาหลวงปู่เสาร์หลวงปูมั่นเห็นไหม ท่านมาจากไหน ท่านมาจากชาวชนบทนะ แล้วมาประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เพราะธรรมวินัย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครก็แล้วแต่จะมาจากศาสนาไหนก็แล้วแต่ พอบวชเข้ามาแล้ว เหมือนนกพิราบสีขาว นี่ก็เหมือนกัน เวลาบวชเป็นพระแล้ว เป็นพระเหมือนกัน จะเศรษฐีกุฎุมพีขนาดไหนบวชแล้วก็คือพระเหมือนกันทั้งนั้น! แล้วพระศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

ถ้าทำแบบสิ้นคิดเห็นไหม มันก็ทำของมัน เราก็อยู่ไปวันวันหนึ่งเห็นไหม แต่ไม่สิ้นคิด! บวชเป็นพระแล้วก็ยังรื้อค้น น้ำมันมาจากไหน? ข้าวมันมาจากไหน? สิ่งที่เป็นผลประโยชน์มันมาจากไหน? แล้วต้นกำเนิดมันมาอย่างไร? นี่ก็เหมือนกัน เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ศึกษามาแล้วเราอยากประพฤติปฏิบัติเพราะในธรรมวินัยนี้ เอหิภิกขุ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เพื่อจะถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์”

นี่ก็เหมือนกัน เราบวชมาแล้ว เราเป็นชาวพุทธนะ เราเป็นเจ้าของศาสนานะ เราปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติเพื่ออะไร ก็ปฏิบัติเพื่อความสิ้นจากทุกข์ แล้วสิ้นจากทุกข์เวลามันทำแบบสิ้นคิดเพราะอะไร เพราะความเข้าใจผิดไง เข้าใจผิดว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมวินัย ต้องทำตามนั้นๆ

ทำตามนั้น แต่ไม่ได้ทำแบบเถรส่องบาตร! ไม่ได้ทำแบบคนสิ้นคิด!

คนสิ้นคิดก็เหมือนลูกๆ หลานๆ เช้าก็แบมือ เย็นก็แบมือ เงินทองได้มาด้วยความสะดวกสบาย ทำงานก็ไม่เป็น ทำอะไรก็ไม่ได้ นี่ทำแบบสิ้นคิด แต่คำว่าสิ้นคิด ลูกหลานเรายังเป็นเด็ก พอโตขึ้นมามันก็จะเติบโตขึ้นมา มันก็จะมีปัญญาของมัน มันก็จะมีประสบการณ์ของมัน แล้วมันมีเชาว์ปัญญาของมันถ้ามันโตขึ้นมา นั่นลูกหลานของเราที่เป็นมนุษย์นะ

แต่เราเป็นเรา ธรรมะมันอ่อนแอ สติปัญญาในหัวใจของเรามันยังอ่อนด้อย เราต้องฝึกฝนของเราสิ ไม่ใช่ทำแบบสิ้นคิดไง แบบสิ้นคิดก็ศึกษามาแล้วไง ศึกษามันก็เป็นอย่างนั้นไง การศึกษามันก็เป็นวิชาการ สุดท้ายแล้วเห็นไหม เราก็จะต้องประพฤติปฏิบัติ จะต้องสร้างขึ้นมา จะต้องทำขึ้นมาตามความเป็นจริงของเรา สติมันก็ต้องเป็นสติจริงๆ ถ้าเป็นสติจริงๆ มันจะยับยั้งความฟุ้งซ่านของใจได้ ถ้ามันยับยั้งความฟุ้งซ่านของใจได้ ความคิดมันจะมีขนาดไหนถ้าสติขาดมันปล่อยหมดล่ะ

ถ้าสติมันทันขึ้นมาเห็นไหม ถ้าสติมันทัน ถ้าเรารู้จักรักษา สติมันทัน พอมีสติแล้ว สติขาดๆ เกินๆ เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี จับพลัดจับผลูอยู่อย่างนั้น จากสิ้นคิดมันก็เป็นไส้เดือน พอไส้เดือนมันขึ้นมาจากดิน มันดิ้นของมัน มันไปไหนไม่เป็น เพราะอะไร เพราะมันหมดอายุของมัน พอถึงเวลาที่ไส้เดือนขึ้นมาจากดินนะ มันก็จะตายอย่างเดียว แล้วมันจะดิ้นอยู่อย่างนั้นจนกว่ามันจะตายไป เป็นเหยื่อของสัตว์ต่างๆ เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำแบบสิ้นคิดมันก็ไม่ได้อะไรเป็นผลงานเลย เวลาจิตใจพอมีสติมีสตังขึ้นมาบ้างมันก็เป็นไส้เดือนกิ้งกือ ทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์นะ เราปฏิบัติของเรา เราตั้งสติ ดูสิ ถ้าครูบาอาจารย์ แม้แต่หลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระอรหันต์ เพราะหลวงตาท่านชมบ่อยว่า หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์

คำว่าเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์จะอยู่สุขสบาย อยู่อย่างไรก็ได้แล้ว ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน จิตใจสว่างโพลงเห็นไหม จิตใจสว่างกระจ่างแจ้ง ไม่มีความลังเลสงสัย ไม่มีสิ่งใดตกค้างในหัวใจ วิมุตติสุข สุขโดยตัวมันเอง จะอยู่บนยอดไม้ อยู่โคนต้นไม้ จะไปอยู่บนภูเขาเลากาลูกไหนมันก็มีความสุข ถ้ามีความสุขอย่างนั้น ท่านก็เสวยสุขของท่าน มันก็มีความสุขอยู่แล้ว ทำไมหลวงปู่มั่นท่านก็เป็นแบบนั้น ทำไมท่านจะต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชลูกศิษย์ของท่านล่ะ ทำไมท่านต้องใช้ชีวิตแบบอย่างของท่าน ให้พวกเรามีคติมีตัวอย่างล่ะ นี้คือคนมีบุญไง คนที่ไม่มีบุญ คนที่ไม่มีอำนาจวาสนาบารมี ทำให้ใจของตัวสะอาดบริสุทธิ์แล้วก็เท่านั้น

แต่คนที่มีอำนาจวาสนาบารมีเห็นไหม ทำใจของตัวให้สะอาดบริสุทธิ์แล้ว ยังกล่าวสั่งสอนผู้อื่นได้อีก หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น ท่านทำของท่านให้สะอาดบริสุทธิ์แล้ว ท่านยังทำข้อวัตร วางวัตรปฏิบัติไว้ให้สำหรับพวกเราได้ก้าวเดินต่อมาอีก ท่านสอนถึงวิธีการปฏิบัติไง ดูสิข้าวมาจากจาน แต่เรานะ กว่าจะหุงข้าว ข้าวมันมาจากจานก็จริง ถึงเวลาจะกินเราก็ตักใส่จานกิน แต่ข้าวมันมาจากไหนล่ะ มันมาจากข้าวสาร ข้าวสารมาจากข้าวเปลือก

ข้าวลงดินแล้ว พรวนดินทำนาขึ้นมา มันถึงจะเป็นข้าวขึ้นมา จิตใจของเราถ้ามันมี สติเห็นไหม มันไม่ใช่ไส้เดือน มันรื้อค้นของมัน มันตามดูใจของตัว ถ้าตามดูใจของตัวนะใจมันอยู่ที่ไหน ถ้ามันมีสติมีปัญญาของมัน มันใช้ปัญญานะ มันใช้ปัญญารื้อค้นในใจของตัว ไม่ใช่ทำให้มันครบองค์ประกอบเหมือนคนสิ้นคิด! เราต้องทำของเราตามความเป็นจริงเห็นไหม ถ้าตามความเป็นจริงขึ้นมามันมีเหตุมีผล

พอมีเหตุมีผล เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านละล้าละลังกับความเกิดและความตาย เห็นไหม ความลังเลสงสัย สิ่งที่กิเลสมันครอบงำในใจ ถ้าทุกข์.. ขนาดเกิดเป็นกษัตริย์นะ ทุกอย่างมันสมบูรณ์หมดแล้ว แต่เวลาใจมันทุกข์ ใจมันละล้าละลัง มันก็บีบคั้นใจนะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันยังไม่มีทางออก เวลาไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ทำทุกรกิริยา ทำความทุกข์เพื่อจะเพิกถอน แต่มันเพิกถอนที่ไหนล่ะ เพราะว่ามันส่งออกหมด แต่เวลาท่านพิสูจน์ของท่านมาแล้ว ท่านวางหมดเลย แล้วท่านมากำหนดอานาปานสติแล้วจิตมันเข้ามาข้างใน

ถ้าเข้ามา จิตเป็นจิต แต่ถ้าโดยธรรมชาติของมัน จิตมันมีอารมณ์ความรู้สึก มันมีความนึกคิด มันส่งออกไปเพื่อกลัวผิดไง กลัวตัวเองผิด ตัวเองไม่เข้าใจสิ่งใด อยากรู้อยากเห็น รู้เห็นมันก็คือมันออก แต่ถ้าเวลามันกลับเข้ามาในตัวของมันเห็นไหม เวลาท่านรื้อค้น ท่านรื้อค้นของท่านอย่างนั้น ท่านถึงวางธรรมและวินัยไว้

การวางธรรมและวินัยไว้ คนที่เข้าใจก็ต้องเอาสิ่งนั้นเพื่อให้มันย้อนกลับ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ทวนกระแสเข้ามา ทวนกระแส มันทวนกระแสเข้าไปสู่ใจ แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์มันส่งออกๆ การส่งออกนั้นเห็นไหม แล้วเราเอาความรู้ เอาความส่งออกนี้ไปศึกษาธรรมและวินัย ศึกษาธรรมวินัยด้วยกิเลสศึกษาเห็นไหม พุทธพจน์ ต้องทำตามพุทธพจน์ทั้งหมด ใช่.. ทำตามพุทธพจน์ แต่วิธีการไถนา วิธีการชักน้ำเข้านา มันก็ต้องชักน้ำเข้านา ดูแลนาของเราด้วยข้อเท็จจริง โดยภูมิประเทศตามความเป็นจริงอย่างนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน “พุทธพจน์ๆ” วิธีการล่ะ? ทำอย่างไรให้มันเป็นความจริงขึ้นมา การทำจริงขึ้นมาในการพิสูจน์ตรวจสอบนั้น อย่างนี้มันถึงจะไม่สิ้นคิดไง! เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เราเป็นคนชี้ทาง” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถมอบธรรมให้เรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถทำให้เราเป็นสิ่งใดๆ ได้เลย

แต่ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แต่การกระทำมันต้องทำขึ้นมาจากเรา ทีนี้การขึ้นมาจากเราเห็นไหม การทำไร่ไถนานี่เราต้องทำเป็น ถ้าคนทำไร่ไถนามันทำไม่เป็น แต่บอก “ข้าวมาจากจาน ข้าวมาจากร้านค้า” พูดอยู่อย่างนั้นนะ ยืนกระต่ายขาเดียวอยู่อย่างนั้น มันก็สิ้นคิดนะสิ มันเป็นไปได้ในเมื่อโลกเจริญ แล้วเราต้องมีปัจจัยมีเงินไปแลกเปลี่ยนมาด้วย มันถึงจะมีได้จริง ถึงเรามีเงินนะ เรามีเงินจะแลกเปลี่ยนมาด้วย ถึงคราวภัยพิบัติ ถึงคราวที่สินค้าเขาไม่มี มันก็คือไม่มี! มันเป็นจริงไม่ได้หรอก!

นี้มันเป็นเรื่องโลกๆ เป็นบุคคลาธิษฐาน เป็นการเปรียบเทียบ แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริง ถ้าใจของเราไม่มีสติปัญญาตามความเป็นจริงของเราขึ้นมา แล้วบอกว่าพุทธพจน์ ทำเหมือนหมดเลย ทำเหมือนเห็นไหม

สิ่งที่มีอยู่ คือ ชีวิต สิ่งที่มีอยู่ คือ ความรู้สึก แล้วความรู้สึกมาตรึกในธรรม แล้วพอตรึกในธรรมมันเป็นสิ่งที่เรารับรู้ไง พอรับรู้นะ เวลาคนทำสมาธิ เวลาคนทำความสงบของใจ เวลามันตกภวังค์นะ มันหายไปเลย หายไป ๕ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงมันก็หายไปได้ แล้วเวลาคนลงสมาธินะ เวลาจิตพุทโธแล้วเป็นสมาธิขึ้นมา สมาธิขณิกะ อุปจาระ อัปปนา เวลาเข้าแล้วนะ ถึงเวลาแล้วมันคลายตัวออก คลายตัวออกแล้วมีสติมันก็เข้าอีก

แล้วระหว่างภวังค์กับสมาธิมันแตกต่างกันอย่างไร? นี่สิ้นคิดกับไม่สิ้นคิดมันอยู่ตรงนี้!

ถ้าสิ้นคิดนะ ลงภวังค์ไปมันก็บอกว่าเป็นสมาธิ เวลาทำอะไรไปมันไม่มีผลตอบแทน ไม่มีสิ่งใดเป็นความจริงขึ้นมาเลย แต่เพราะด้วยความสิ้นคิด ความสิ้นคิดของตัวเองใช่ไหม มันก็ไม่มีสติปัญญา มันก็ตรวจสอบตัวเองไม่ได้ แล้วก็อ้างอิงน่ะสิ อ้างอิงให้เหมือนพุทธพจน์ๆ

พุทธพจน์นะ เป็นธรรมและวินัย พูดด้วยความเคารพนะ ถ้าคนไม่เข้าใจจะบอกว่า ต่อต้านองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหรอ มันไม่ใช่ต่อต้าน.. สิ่งนั้นมีประโยชน์ แต่เพราะมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราต่างหาก เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เอาสิ่งนั้นมาเป็นโทษกับเรา แต่ถ้าเราศึกษามาแล้วนะ ระหว่างวัยนะ แล้วประพฤติปฏิบัติ เหมือนคนทำ ถ้าทำแล้วทำได้จริงตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะเป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเรา เราทำได้ เราทำได้ทุกอย่าง หน้าที่การงานเราทำได้ทุกอย่างหมดเลย แล้วเราจะไปวิตกกังวลกับสิ่งใด

แต่ถ้าหน้าที่การงานเราทำอะไรไม่ได้เลย แต่เราก็ไปอ้างอิง เอาคุณสมบัติ เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของเรา คำว่าสิ้นคิด สิ้นคิดหมายถึงจิตใจดวงนั้นนะ เพราะจิตใจดวงนั้นจะเป็นโทษกับใจดวงนั้นเอง ใจดวงนั้นจะติดอยู่ตรงนั้น ใจดวงนั้นจะไม่มีคุณธรรมในหัวใจขึ้นมาเลย

สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงในใจของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะเกิดจากใจดวงนั้นไม่ได้! เพราะมันทำไม่สมกับเหตุ! “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ธรรมมันก็ต้องสมควรแก่ธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักรเห็นไหม ดูสิพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม ตะวันทอแสงแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความภูมิใจมาก “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” ตะวันมันทอแสง แต่ของเรามันมีอะไร มันมีแต่ความมืดบอด มืดบอดแล้วบอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ มันจะเป็นธรรม มันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้แค่ไหน

ฉะนั้นเวลาศึกษาธรรม ปริยัติ แล้วเราปฏิบัติ ขณะที่ปฏิบัติเห็นไหม หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เวลาไปกราบหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นบอกว่า “มหา.. มหาเรียนมาจนเป็นมหานี้ เรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจนได้เป็นถึงมหา ความรู้มีมากนะ แต่เวลามาปฏิบัตินะ ถ้าเราปฏิบัติในทางวิชาการ กับการปฏิบัติพร้อมกัน มันจะเตะมันจะถีบ” คำว่ามันเตะมันถีบ คือมันขัดแย้งกัน มันจะเป็นสัญญา เป็นการคาดหมาย เป็นการให้คะแนนตัวเอง เพราะเรามีพื้นฐานใช่ไหม

ดูสิเขาบอกว่า “จินตนาการๆ” ถ้าคนที่จินตนาการไม่มีพื้นฐานเลย มันจะจินตนาการเรื่องอะไร คนมีการศึกษาถ้ามีการศึกษามาแล้ว จิตใต้สำนึกมันรู้หมด พอมันรู้สิ่งใดมา เวลาปฏิบัติไป จิตใต้สำนึกมันกระตุ้น แล้วมันจะเป็นสภาวะแบบนั้นๆ มันจะเตะมันจะถีบ ความจริงกับความปลอมมันไปด้วยกันไง

ความจริงกับความปลอม ความจริง! ความจริงคือสัจธรรม ความปลอม! ความปลอมคือกิเลสของเรา แล้วกิเลสนี้มันมีการศึกษามันมา พอมีการศึกษามามันก็จะถือตัวถือตนว่ามันรู้ขึ้นมา มันจะให้คะแนนหรือตัดคะแนนการกระทำนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะขัดแย้งกันระหว่างความจริงกับความปลอม

ทีนี้พอเราศึกษามา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคุณสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเป็นจริง แต่ขณะที่เราศึกษามาเพราะเรามีกิเลสตัณหาในหัวใจของเราขึ้นมา เราไปศึกษามันขึ้นมา กิเลสตัณหาในหัวใจของเราขึ้นมา นี่แหละมันสร้างภาพ! พอความสร้างภาพเวลาปฏิบัติไป การสร้างภาพทำให้เราลำบากเป็นสองเท่าสามเท่า แต่ในเมื่อครูบาอาจารย์ของเรา ท่านมีประสบการณ์ของท่านเห็นไหม ท่านถึงบอกว่า

“ให้เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใส่ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วลั่นกุญแจมันไว้อย่าให้มันออกมา แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราไป”

เหมือนกับเวลาเราเรียนเห็นไหม วิธีการทำนาเราก็เรียนมา เราศึกษามาเพราะเราอยากเป็นชาวนา เราก็เรียนวิธีการทำนามา แต่ขณะที่เราลงไปทำ การศึกษามามันอยู่ในสมองใช่ไหม ตำราวางไว้ แล้วเราทำพื้นนาของเรา ปรับพื้นนาของเรา ยกคันนาของเรา ชักน้ำเข้านาของเรา แล้วเวลาเราหว่านข้าว ปักดำข้าว เราจะดูแลรักษาอย่างไร แม้แต่การให้ปุ๋ย คนไม่เป็นตายหมดนะ ข้าวไปไม่รอดหรอก คำนวณไม่ได้ด้วยว่าข้าวอายุมันกี่วัน แล้วน้ำควรมีเท่าไร ประสบการณ์อันนี้มันสำคัญ ถ้ามันทำขึ้นมาดูสิ ชาวนาแท้ๆ เขาเปิดตำราที่ไหน เขาชำนาญการของเขา เขาปฏิบัติของเขามาตลอด

ชาวนาก็คือชาวนา เขาทำนาปีละ ๓ หน ถ้าผิดพลาดขึ้นมาเขาก็ขาดทุน เขาทำของเขาจนเขามีชำนาญของเขา มันจะแก้ไขไม่ได้ก็เรื่องฤดูกาล เรื่องฟ้าเรื่องฝนเท่านั้นที่เขาแก้ของเขาไม่ได้ แต่เรื่องทางวิชาการเขาแก้ของเขาได้ นี่มันเป็นเวรเรื่องกรรม

ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรายังละล้าละลังอยู่ ถึงบอกว่า “มันจะเตะมันจะถีบกัน” เห็นไหม นี่พูดถึงเรามีครูบาอาจารย์ที่ดีนะ บอกว่าสิ่งนี้วางไว้ เวลาเราเรียนเราก็เรียน เวลาเราปฏิบัติแล้ว ออกจากการปฏิบัติมา สิ่งใดที่มันตกตะกอนในใจ มันมีความข้องใจ เราก็เปิดดูได้ เปิดดู เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม ธรรมมันเกิดขึ้นมามันจะมีปัญญาของมัน ธรรมะเป็นอย่างนั้นๆ โอ้โห มันขึ้นมาเต็มเลย

พอปัญญามันหมุนไปรอบหนึ่งมันก็ฝังในใจเรา มันเป็นจริงหรือเปล่า มันเป็นอย่างนั้นไหม เรารื้อค้นได้ จริง ไม่จริง แล้วพอมันมายืนยันกัน เราถูกหรือเราผิดล่ะ แล้วถ้าเราถูกหรือเราผิดมันก็เป็นการตรวจสอบเท่านั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ศึกษาแล้ววาง ปริยัติ ปฏิบัติ ขณะที่ปฏิบัตินะให้มันเป็นตามความเป็นจริงเห็นไหม นี่เราใช้ปัญญา แล้วถ้าปัญญามันเกิดนะ เราจะเห็นคุณค่าของมัน คนที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันเริ่มสงบ แค่ความสงบของใจ แล้วฝึกใช้ปัญญา เวลารสของธรรมมันเกิดขึ้น มันจะซาบซึ้งมาก เวลาเราศึกษาธรรมใหม่ๆ สังเกตได้ไหมว่าเราศึกษาธรรมครั้งแรกๆ เราศึกษาไปเราก็ทึ่งมากเลย

แต่ถ้าเราปฏิบัตินะ พอจิตเราเริ่มสงบบ้าง แล้วเราทำอย่างนั้นนะ มันขนลุกขนพอง มันฝังหัวใจ มันกินเข้าไปในเนื้อของใจ ยิ่งจิตสงบขนาดไหนเวลาปัญญามันเกิด มันสะเทือนใจๆ ความสะเทือนใจอันนั้นมันเกิดจากอะไร? นี่ไง หัดฝึกใช้ปัญญาไง ไม่ใช่ทำแบบคนสิ้นคิด คนสิ้นคิดก็ทำพอเป็นพิธี ทำพอให้มันเสร็จๆ ไป แล้วก็จะเอามรรคเอาผลไง แล้วมันได้มรรคได้ผลตามความเป็นจริงนั้นไหมล่ะ

ฉะนั้นถ้าทำอย่างนั้น มันก็จะซ้ำรอยอยู่อย่างนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น ดูสิการเกิดเป็นมนุษย์เรา เราเกิดแล้วเกิดเล่าๆ แล้วเราก็จะมาปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้นเหรอ การปฏิบัติมันผิดและถูกมันมีของมันมา ฉะนั้นเวลามันผิดหรือมันถูก สิ่งนั้นเราเอามาวิเคราะห์ของเราเอง เราเอามาวินิจฉัยของเราเองว่าเราควรทำอย่างไร ถ้าเราควรทำอย่างไร เราแยกแยะของเรา เวลาเรากำหนดสติเห็นไหม มีสติ ทำไมบางวันกำหนดสติแล้วดี บางวันกำหนดสติ สติมันทำไมล้มลุกคลุกคลาน บางวันกำหนดพุทโธๆ แล้วมันราบรื่น บางวันกำหนดแล้วทำไมมันไม่ราบรื่น บางวันใช้ปัญญาแล้วมันดี นี่ไง

มันก็เหมือนเรา อารมณ์เราปั่นป่วนตลอด เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายๆ คำว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะเราเคยปล่อยจนมันเคยตัว ทีนี้เราเริ่มปฏิบัติเราก็ตั้งกติกาของเราขึ้นมา แล้วเราก็ดูความสมดุลของใจ ดูกำลังของตัวว่ากำลังของตัวมีมากน้อยแค่ไหน แล้วเราตั้งสติ ประพฤติปฏิบัติของเราไป งานทางโลกเราเกิดมามันก็โดยธรรมชาติ เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม มีปากและท้อง คนเกิดมามีชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหาร ด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย เราจะปฏิเสธสิ่งนี้ไม่ได้

แต่ถ้าเราใช้สอยจนเกินกว่าเหตุ ใช้สอยจนมีความสุขมีความพอใจ ใช้ปัจจัยไว้เพื่อดำรงชีวิต แต่เรามีความสุขมีความพอใจกับปัจจัยการดำรงชีวิต แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติไป สิ่งที่จะมีคุณค่า สิ่งที่จะเป็นอริยทรัพย์จากภายใน อันนั้นมีคุณค่ามากกว่า ถ้ามีคุณค่ามากกว่านะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตเคยสงบบ้าง จิตเคยมีหลักมีเกณฑ์บ้าง มันเห็นคุณค่าแล้วนะ การอดนอนผ่อนอาหาร การเร่งความเพียรอะไรต่างๆ มันทำด้วยความพอใจ

เราเห็นเขาทำเราอยากทำบ้าง พออยากทำบ้างเห็นไหม เราอดอาหาร เราพยายามเคร่งครัดกับตัวเอง เรามีความทุกข์ ความทุกข์ก็เป็นวิธีการฝึกหัด การฝึกหัดเห็นไหม ทุกข์มันมีโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของจิตมันมีความทุกข์ของมันเห็นไหม ทุกข์มันเป็นสัจจะ ทุกข์มันเป็นความจริง

แต่อันนี้เราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราถึงจะต้องมีความเข้มแข็ง ขณะที่เราตั้งสติเราตั้งปัญญามันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง เป็นความทุกข์เพราะอะไร เพราะมีการกระทำ ใครทำงานคนนั้นก็ต้องเหนื่อยอ่อนเป็นธรรมดา จิตมันออกทำงานของมัน ธรรมชาติของมันมันส่งออกอยู่แล้วพลังงาน แต่มันส่งออกไปโดยสัญชาตญาณ แต่พอเราตั้งสติขึ้นมาเห็นไหม เราคอยตั้งสติแล้วพยายามกรองเห็นไหม กรองเพื่อให้สงบตัวเข้ามาสู่ภายใน มันยากเป็น ๒ ชั้นนะ เพราะธรรมชาติของมัน

ดูสิ น้ำมันไหลจากที่สูงลงที่ต่ำเห็นไหม แล้วมันมีน้ำที่ไหนดันจากที่ต่ำขึ้นที่สูงล่ะ ถ้าสติของเราทัน มันทวนกระแสกลับ ถ้ามันทวนกระแสกลับนะ พุทโธๆๆ จนเข้าไปถึงใจ พอเข้าไปถึงใจเห็นไหม ใจมันปล่อยขันธ์ ๕ มา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นไหมขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ เกิดจากอะไร เกิดจากจิต พอเกิดจากขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเกิดในอะไร มันเกิดในรูป รส กลิ่น เสียง นี่ไงเวลามันส่งออกไปมันก็ไปตามวงจรของมัน แต่เรามีสติปัญญาย้อนกลับๆ เห็นไหม เรามีมีสติมีปัญญาทำ เขาก็บอกว่า “นี้มันเป็นสมถะ นี้มันไม่ใช่วิปัสสนา”

คนที่เป็นครูบาอาจารย์นะ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยหลักโดยมรรค ๘ นะ ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีศีลคอยเป็นรั้ว ถ้าเป็นบ้านรั้วรอบขอบชิด บ้านนั้นก็ปลอดภัย ศีลมันเป็นรั้วรอบขอบชิดของใจ มันเป็นความปกติของใจ ถ้าเรามีศีล ศีลของเราสะอาดบริสุทธิ์ ศีลของเราไม่เป็นที่วิตกกังวลเห็นไหม เรานั่งสมาธิก็ง่ายขึ้น ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดปัญญาเห็นไหม พอเกิดปัญญา ปัญญาเกิดจากสมาธิ ปัญญาเกิดจากจิตสงบ มันซาบซึ้งกว่า มันสะเทือนหัวใจมากกว่า

ถ้ามันสะเทือนหัวใจมากกว่า ผู้ที่ภาวนา พอเห็นผลขึ้นมา มันจะเข้าใจเลย เข้าใจว่า สุตมยปัญญาเป็นอย่างไร จินตมยปัญญาเป็นอย่างไร ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างไร แล้วปัญญาอันไหนมันจะเป็นปัญญาที่ถอดถอนกิเลส จนถึงที่สุดเป็นปัญญาที่ฆ่ากิเลส การฆ่ากิเลส ฆ่ากิเลสในหัวใจของเรา มันมีขั้นตอนของมัน มันมีการกระทำของมัน เป็นตามความเป็นจริงของมันเห็นไหม สิ่งนี้เป็นจริงขึ้นมามันมีเนื้อหาสาระไง ถ้ามันมีเนื้อหาสาระ มีการกระทำ เราทำมาเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา การทำอย่างนี้เห็นไหม

เวลาเราเริ่มภาวนา เราก็มีสติระลึกรู้รักษา เหมือนนักกีฬา นักกีฬาที่เขามีค่าตัวมากๆ นะ เวลาเขาจะลงแข่งขัน เขาต้องอบอุ่นร่างกายเขาก่อน ถ้าเขาไม่อบอุ่นร่างกาย ลงไปแข่งขัน เขาถึงกับพิการได้เลย

เราจะภาวนาเห็นไหม ถึงเวลาเราจะภาวนาเลยเหรอ จิตเราเรามีสติควบคุมใจเราเลยเหรอ ถ้าเรามีสติควบคุมใจของเราเห็นไหม เรารักษาใจของเรา ถ้ารักษาใจของเรา เราอบอุ่นของเรา เราดูแลของเรา เวลามันออกใช้ปัญญา มันจะใช้ปัญญาของมัน

เวลามันออกใช้ปัญญา ถ้าออกใช้ปัญญา มีดนะ เครื่องทำครัว ถ้ามันคมมันเป็นประโยชน์เห็นไหม เลาเขาหั่นเนื้อหั่นปลา มันสวยงามนะ จิตใจของเราถ้ามันมีสมาธิ ถ้าจิตใจมันแหลมคม เวลามันออกวิปัสสนาด้วยปัญญานะ ปัญญามันชำรอก แล้วปัญญามันชำรอกในอะไรล่ะ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ในกาย กายมันเป็นอย่างไร ในกายมันก็แตกต่างหลากหลายไปอีกล่ะ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เวลามันเห็นกาย ถ้าคนมีอำนาจวาสนามันจะเห็นกายครบกระบวนการ ๓๒ คนที่แบบว่าบางทีเห็นกะโหลกศีรษะ เห็นต่างๆ เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน เห็นอวัยวะแต่ละสัดแต่ละส่วน แล้วเวลาเห็นแล้ว ถ้ามันมีกำลัง สมาธิมันพอเห็นไหม อุคหนิมิต การเห็นนั้นเป็นนิมิต แต่วิภาคะ การขยายส่วนแยกส่วน การขยายส่วนแยกส่วนคือไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์เพราะมันขยาย มันทำลายตัวของมัน ถ้ากระบวนการของไตรลักษณ์มันเกิดเห็นไหม ไตรลักษณญาณ ถ้าญาณมันเกิดเห็นไหม ในธรรมจักรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ มันเกิดญาณ เกิดวิชา เกิดปัญญาญาณเห็นไหม มันเกิดความสว่างขึ้นในหัวใจ มันครอบงำมันทำลาย มันเป็นชั้นเป็นตอนอย่างไร เห็นเวลาอรุณรุ่งของพระอัญญาโกณฑัญญะ มันเกิดจากอะไร เกิดจากมรรคญาณที่มันทำลายของมัน มันมีกระบวนการของมัน มันมีการกระทำของมัน มันมีการตรวจสอบของมัน

ถ้าปัญญาตรวจสอบ มีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม มันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา นี่! ถ้ามีกระบวนการอย่างนี้ มันไม่ใช่คนสิ้นคิดไง คนสิ้นคิด ปฏิบัตินะ ปฏิบัติแบบสิ้นคิด ทำแต่ลวกๆ ทำแต่พอเป็นพิธี ไม่มีเหตุไม่มีผล พอไม่มีเหตุไม่มีผล การกระทำนั้นมันจะตอบสนองใครล่ะ

ยิ่งปฏิบัตินะ กิเลสมันยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ยิ่งปฏิบัติกิเลสยิ่งตัวใหญ่ขึ้น ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาประพฤติปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส ท่านจะเก็บเนื้อเก็บตัว เก็บเนื้อเก็บตัวมาก การเก็บเนื้อเก็บตัวเพราะคนเราเห็นไหม เวลากระทบกระเทือนหัวใจมันไหวไหม เวลากระทบกระเทือน นี้พูดถึงเวลาที่กำลังต่อสู้เวลาที่กำลังประพฤติปฏิบัตินะ เขาจะเก็บเนื้อเก็บตัว เขาจะไม่พูดพล่ามๆ

เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ท่านจะไม่ให้พระคุยกัน เวลาล้างบาตรให้อมน้ำไว้คนละคำ เพราะเวลาพูดออกไปมันกระทบกระเทือนไปทั้งนั้น ถ้าคนปฏิบัตินะ จะนิ่งจะสงบมาก สงบอยู่ภายใน รักษาใจของตัว ถ้ารักษาใจนะ ใจมีกำลังแล้ว พอเราเสร็จจากข้อวัตรใช่ไหม เรากลับไปกุฏิของเรา เราจะเร่งความเพียรทันที

เวลาทำงานนะ เวลางานมันติดพันอยู่ใครก็ต้องอยากให้งานมันเสร็จไวๆ จิตถ้ามันมีงานทำนะ มันจะติดในทางจงกรม จะติดในที่นั่งสมาธิภาวนา เพราะที่นั่นมันจะเป็นการเชือดเฉือน มันจะเป็นการทำลายกันระหว่างธรรมกับกิเลส เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมีแต่ความทุกข์ เวลาธรรมมันเกิดขึ้น มันจะตามชำระกิเลส ถ้ามันตามชำระกิเลสเห็นไหม ระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันต่อสู้กัน เหมือนเก้าอี้ดนตรีบนหัวใจของเรา เวลากิเลสมันนั่งเต็มหัวใจ มีแต่ความทุกข์ความเร่าร้อน

แต่เวลาธรรมมันเกิดเห็นไหม มันมีแต่ความสงบร่มเย็น แล้วความสงบร่มเย็นมันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากการเร่งความเพียรของเรา เกิดมาจากการตั้งสติตั้งสมาธิของเรา ถ้ามันเป็นขึ้นมาเห็นไหม สิ่งนี้เท่านั้นที่มันเป็นการชำระกิเลส สิ่งที่เป็นทฤษฎีเป็นตำรามันก็เป็นตำราชี้เข้ามาในการกระทำนี่แหละ ชี้เข้ามาเห็นไหม เวลารดน้ำพรวนดินที่โคนต้น ผลมันไปออกที่ปลาย

นี่ก็เหมือนกัน เราจะเอาธรรมะๆ ธรรมะมันมาจากไหน แต่ถ้าเรามีสูตรสำเร็จเห็นไหม แบบสิ้นคิดนะ สูตรสำเร็จ มรรคผลนิพพานจะเป็นอย่างนั้นๆ ไปเอาที่ผล ผลมันมาได้อย่างไร ผลมันมาจากต้นสิ! ผลมันจะออกมามันต้องมีการกระทำสิ! การกระทำนั้นมันจะให้ผลนั้นออกมา! แต่ถ้ามันไม่มีผลนั้นออกมา มันจะกลั่นออกมาโดยที่ว่าเอาเป็นสูตรสำเร็จ นั่นมันสิ้นคิดทั้งนั้น ถ้าคนสิ้นคิดมันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้น

แต่.. เวลาพูดกับโลกนะ เขาพูดตามตำรา พูดทางวิชาการ ทางวิชาการเขาก็เชื่อกันไปเห็นไหม คนสิ้นคิดมันก็จะพากันสิ้นคิดต่อเนื่องกันไป แต่ถ้าเราไม่สิ้นคิด เราต้องตรวจสอบใจของเรา มันเป็นอย่างนั้นจริงไหม มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถ้ามันจะเป็นอย่างนั้น มันต้องมีน้ำหนักของมัน มันต้องมีกระบวนการของมัน เห็นไหมในธรรมจักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิจจญาณ สัจจญาณ มันมีกิจกรรมของมัน มีการกระทำของมัน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ปัญจวัคคีย์เห็นไหม ปัญจวัคคีย์นัดกันไว้นะ ว่าจะไม่ยอมรับๆ เพราะอุปัฏฐากมา เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฉันอาหารของนางสุชาดา ทิ้งมาเลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ “เธอได้ยินเราไหม เราเคยพูดไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ เดี๋ยวนี้รู้แล้ว” รู้แล้วเพราะอะไร รู้แล้วเพราะวงรอบ ๑๒ ของมัน กิจจญาณ สัจจญาณ มันมีวงรอบ มีข้อเท็จจริงของมัน แล้วอธิบายได้ อธิบายจนเป็นธรรมจักร อธิบายให้ปัญจวัคคีย์ฟัง

ปัญจวัคคีย์ได้เป็นโสดาบันกันขึ้นมา เพราะมันมีข้อเท็จจริงแล้วไง ถ้ามันไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีวงรอบของมัน ไม่มีการกระทำของมัน มันจะเป็นอะไรล่ะ แต่ถ้าสิ้นคิดนะ มันก็เหมือนลูกข่าง มันหมุนของมัน ลูกข่างมันหมุน แล้วมันบอกว่า “วงรอบของมัน วงรอบของมัน” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “วงรอบคือธรรมจักร”

สติปัญญาที่มันหมุนของมันเป็นธรรมจักร แต่ถ้าเป็นลูกข่างนะ มันเป็นกงจักร! กงจักรเห็นไหมเพราะมันหมุนเหมือนกัน แต่มันหมุนไปคนละทาง พอมันหมุนไปคนละทางมันก็ลับมาทำลายในหัวใจของเราไง มีแต่ความทุกข์ความร้อนในใจทั้งนั้น ยิ่งปฏิบัติกิเลสมันยิ่งมาก ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีแต่ความทุกข์ร้อน

แต่ถ้าเรามีสัจจะความจริงของเราเห็นไหม เรายิ่งปฏิบัติ มีเหตุมีผล มันจะยับยั้งของมันนะ พอจิตสงบแล้วออกใช้ปัญญา พอออกใช้ปัญญามันจะเกิดความสงบมากขึ้น พอมีความสงบมากขึ้น เหมือนเราลับมีดของเรา มีดเราจะคมกล้าขึ้น พอคมกล้าขึ้น ถ้าเรารื้อค้น ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนะ เราฟันด้วยมีดที่คมกล้ามากขึ้น ฟันแล้วฟันเล่าๆ ถ้าฟันลงไปเห็นไหม ถ้าพิจารณาไปมันเป็นวงรอบหนึ่ง มันจะเป็นตทังคปหานมันจะปล่อยของมันขนาดไหน เราก็ซ้ำ เราก็ซ้ำ

ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์จะพาให้เราซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ กิเลสมันเหมือนไส้เดือนไง เวลาปฏิบัติแล้วมันดิ้นของมัน แล้วมันว่าความดิ้นนี้เป็นความสวยงามไง เป็นสิ่งที่ดีงามกับใจไง แล้วเราไม่รู้จักรักษานะ เดี๋ยวมันก็เสื่อม

การปฏิบัตินะ เวลาจิตมันเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก็มี จิตเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ในการประพฤติปฏิบัติโดยครูบาอาจารย์ของเรา เราเป็นนักปฏิบัติ ปฏิบัติทั้งชีวิตนะ มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เราทำงานแล้วไม่เหนื่อยมีไหม เวลาเหนื่อยเราพักผ่อน แล้วเรากลับมาทำงาน เราก็ทำงานได้อีก ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน “จิต” จิตที่มันทำงานแล้ว มันได้ผลงานขึ้นมาเห็นไหม มันก็งกของมันนะ มันจะเอามรรคเอาผล มันก็ขวนขวายของมัน พอขวนขวายของมันเวลาเราใช้พลังงานไปมากขึ้น พอสมาธิมันอ่อนด้อยลง ปัญญานั้นจะเป็นสัญญา สัญญาเพราะมันมีกิเลส กิเลสคืออวิชชา คือภพ เวลาสมาธิมันอ่อนลง กิเลสมันก็สวมรอย มันก็บังเงา

“สิ่งนั้นเป็นธรรมๆ พิจารณาไปแล้วอย่างนี้คือการปล่อยวาง การปล่อยวางนี้คือการชำระกิเลส” มันพาเราสมบุกสมบัน ล้มลุกคลุกคลานไปนะ ถึงที่สุดแล้วนะ มันเสื่อมจนไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เวลาใช้ปัญญาไปแล้ว มันไม่ก้าวเดินนะ วาง วางกลับมาพุทโธๆๆ กลับมาปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมีกำลังขึ้นมา กิเลสอวิชชาที่อยู่กับจิต มันต้องสงบตัวลง มันสงบลงเพราะใจเป็นสมาธิ จิตได้พัก

จิตได้พัก เหมือนมีด พอใช้งานแล้วมันทื่อ เราเอามาลับ เราเอามาทำความสะอาดมัน พอมันคมกล้า เราก็กลับไปฟัน กลับไปใช้ประโยชน์อีก ปัญญามันออกไปมันพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า มันจะปล่อยวางขนาดไหน เราต้องทำของเราไปบ่อยครั้งเข้าบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดนะ วงรอบของสัจจญาณ วงรอบของกิจจญาณ วงรอบของมัน ถ้ามันพิจารณาซ้ำๆ ครบวงรอบของมันนะ เวลามันขาด

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

ความเป็นธรรมดาของมัน เพราะมันเป็นความจริงของมัน แล้วจิตมันไม่ไปยึดเกี่ยวเห็นไหม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา” มันเป็นธรรมดา แต่ใจเราไม่ธรรมดา ใจเราก็ไปละล้าละลัง อยากให้เป็นธรรมดา ธรรมดาแล้วก็อยากจะให้มันรู้ในธรรมดา พอธรรมดาแล้วก็อยากจะวางในธรรมดา เพราะจิตเรามันไม่ธรรมดาไง จิตเรามันมีกิเลสไง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา” แต่หัวใจเรามันไม่ธรรมดา หัวใจเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็เลยไม่เป็นธรรมดา

แต่ถ้าเราพิจารณาของเราเห็นไหม การพิจารณา จิตมันมีกำลังของมัน มันก็พิจารณาของมัน พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ พอพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ มันมีกำลังของมัน เวลามันพิจารณามันปล่อยๆ เวลามันขาดนะ “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

ความสมดุลระหว่างความเป็นสัจธรรมของมัน ความสมดุลเป็นสัจธรรมที่เป็นสัจจะความจริงของมัน แล้วจิตใจมันก็เป็นความจริง เพราะมันได้ฝึกฝนมา มันได้มีการกระทำมาตั้งแต่ทำความสงบของใจ แล้วใจออกรื้อค้น จับต้องสติปัฏฐาน ๔ จับต้องกายได้ตามความเป็นจริง เพราะจิตมันสงบ จิตมีกำลังของมัน

เวลามันจับต้องเวทนาเห็นไหม ถ้าจิตมีกำลัง พิจารณาเวทนาเห็นไหม อะไรเป็นเวทนา เอ็นเป็นเวทนา เนื้อเป็นเวทนา ขนเป็นเวทนา หนังเป็นเวทนา อะไรเป็นเวทนา? ถ้าสมาธิพอมันไล่ได้ มันไม่มีอะไรเป็นเวทนา สิ่งที่เป็นเวทนาเพราะจิตมันโง่ โง่เห็นไหม ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา

เวทนาเป็นนามธรรม! แต่เพราะจิตมันโง่ จิตมันไม่ธรรมดาเห็นไหม มันก็เลยยึดของมัน มันก็เลยมีความรู้สึกของมัน แบ่งรับแบ่งสู้อยู่อย่างนั้น จะรับก็ไม่รับ จะทิ้งก็ทิ้งไม่เป็น มันถึงไม่ธรรมดา แต่ถ้ามันมีสติมีปัญญาของมันเห็นไหม พอพิจารณาไป จิตมีกำลังของมัน พอพิจารณาตามมันทัน มันไม่มีอะไรเป็นเวทนา มันไม่มีอะไร มันเป็นนามธรรม มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นนามธรรมเห็นไหม

แต่พอสติมันทัน ปัญญามันทันปั๊บ เวทนาไม่มีนะ เวทนาหายหมดเลย เพราะอะไร เพราะมันไปฆ่าตัณหา ตัณหา-วิภวะตัณหามันไปดับที่นั่น พอมันดับที่นั่น เวทนามันก็ไม่มี พอเวทนามันไม่มี เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! หลายครั้งเข้าๆ เห็นไหม

ถ้ามันพิจารณา พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส พิจารณาธรรม พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ การพิจารณามันเป็นการกระทำ มันเป็นความจริง มันไม่ได้ทำแบบคนสิ้นคิด! มันทำแบบนักปราชญ์ มันทำแบบศากยบุตรพุทธชิโนรส มันทำตามแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันเราเป็นกรรมฐาน เราทำแบบหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เราทำตามแบบครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันเป็นความจริงนะ เวลามันขาด ขาดเพราะอะไร ขาดเพราะใจมันจริง ขาดเพราะคนจริง

ขาดเพราะใจที่มันมีสัมมาสมาธิ มันมีกำลังของมัน มันเป็นความจริง ดูสิ เวลาทุกข์ ทุกข์จริงไหม? เกิดจริงหรือเปล่า? เวลาตาย ตายจริงหรือเปล่า? เวลาคนเห็นไหมสลบมันไม่ตาย พอถึงเวลามันฟื้นนะ นี่ก็เหมือนกัน มันจริงหรือเปล่า ถ้าใจมันจริงเห็นไหม ใจมันจริงเพราะอะไร เพราะมันเป็นสัมมาสมาธิจริงๆ มันไม่ใช่เป็นภวังค์ มันไม่ใช่เป็นความรู้สึกนึกคิด มันไม่ใช่คนสิ้นคิด คนสิ้นคิดมันทำอะไรโดยไม่มีเหตุมีผล มันทำอะไรโดยความพอใจของมัน

แต่พอมันมีสติปัญญาขึ้นมา มันเป็นตามความเป็นจริงขึ้นมาเห็นไหม มันเป็นใจจริงๆ ใจจริงๆ สมาธิจริงๆ สัมมาสมาธิ! พอสัมมาสมาธิขึ้นมันพิจารณาของมัน มันภาวนาของมันเห็นไหม พอมันเกิดปัญญาขึ้นมาเห็นไหม งานชอบ มรรคญาณหมุนแล้ว ธรรมจักรหมุนแล้ว ปัญญาหมุนแล้ว เวลาปัญญามันหมุน คนที่ปัญญามันหมุน คนที่เห็นภาวนามยปัญญา “อ๋อ ภาวนามยปัญญามันเป็นอย่างนี้” ถ้าปัญญามันอย่างนี้ สัมมาสมาธิจิตมันมีกำลังอย่างนี้ มันทำลายกิเลสอย่างนี้ ปล่อยวางๆๆ ธรรมจักรมันหมุนไป เวลามันถึงที่สุด เวลามันขาดเห็นไหม เพราะจิตมันจริง

เวลาพิจารณา พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ จริงๆ เพราะมันเป็นความจริง ความจริงเห็นไหม ความจริงที่เป็นนามธรรมด้วย ความจริงที่นั่งหลับตาอยู่ไม่มีใครรู้ด้วย แต่จิตดวงนั้นมันรู้ จิตดวงนั้นรู้! จิตดวงนั้นเห็น! จิตดวงนั้นต้องมีการกระทำ เวลามันปล่อยๆๆ เวลามันขาด! สังโยชน์ขาดออกไป แยกออกเต็มที่เลย

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

ธรรมดาเพราะจิตใจมันปล่อยวางหมด แล้วจิตใจดวงนี้รวมลง มีความสุข สังโยชน์ขาดออกไป อรุณรุ่งกับจิตดวงนี้นะ จิตดวงนี้มีโอกาสเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์ เพราะจิตดวงนี้ทำงานเป็น คนที่ภาวนาเป็น เป็นเพราะอะไร คนภาวนาเป็น กระบวนการของมันถึงที่สุดได้

ถ้าคนภาวนาไม่เป็นนะ มันละล้าละลัง เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติ มันก็เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญมาตลอด แต่เพราะด้วยความขยันหมั่นเพียร แต่เพราะด้วยสัจจะ ด้วยความจริง จิตใจมีความจริง จิตใจมีความวิริยะอุตสาหะ มันถึงมีความมุมานะขยันก้าวเดิน มีความมุมานะ เวลาทุกข์ใครก็ทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์เป็นความจริง เรานะ ถ้ามันมีความขัดแย้งในหัวใจ จะทำสิ่งใดก็ทุกข์ นั่งเฉยๆ ก็ทุกข์

แต่เวลามันมีสติมีปัญญาขึ้นมาเห็นไหม มันปล่อยวางได้ มันปล่อยวางของมันขึ้นมา แล้วมันรื้อค้นตามความเป็นจริงของมันขึ้นมา ฉะนั้นเวลามันทุกข์ มันพอใจนะ เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน เหนื่อยไหม เหนื่อย.. เหนื่อยมากๆ แล้วยิ่งอดนอนผ่อนอาหาร ร่างกายมันไม่สมบูรณ์ตามความเป็นจริงของมัน ถ้าร่างกายสมบูรณ์ตามความเป็นจริงนะ กิเลสมันก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นเครื่องมือ

ฉะนั้นเราจะตัดรอนกิเลส เราก็ต้องอดต้องผ่อน ผ่อนเพื่อให้จิตใจมันสะดวก ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่ทับใจ ให้ใจมันแหลมคม ให้ใจมันมีความจริงขึ้นมา มันจะแยกแยะ มันจะทำตามความเป็นจริง ถ้าใจมันทำตามความเป็นจริงเห็นไหม ผลมันก็ได้ผลจริงๆ เห็นไหม ฉะนั้นถึงบอกว่า ถ้าเป็นความทุกข์นะ ถ้าวัดค่าความทุกข์ทางโลกนะ ทุกข์มาก แต่วัดค่าทางธรรม มีความสุขมาก ความสุขที่ว่า เราเกิดมาไม่เสียชาติเกิด เราเกิดมาแล้วเราทำตามความเป็นจริงได้ เราเกิดมาเราจะเอาอริยทรัพย์

ทรัพย์ที่ใครค้นหาเอาจากโลกไม่ได้ ทรัพย์นี้จะค้นหาได้จากกลางหัวอก จากหัวใจ เห็นไหมดูสิ เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาเขาจะตาย เขาไม่อยากตายไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เพราะสิ่งนั้นมันไปเสวยสุขอยู่เห็นไหม อยากเกิดเป็นมนุษย์ อยากประพฤติปฏิบัติ เพราะเรามีโอกาสเหมือนนักกีฬา นักกีฬานะ ถ้ายังไม่หมดเวลาแข่งขัน เขายังมีโอกาสอยู่นะ ถ้าเขายังเป็นผู้แพ้อยู่ เขาก็พยายามทำให้เสมอหรือชนะ คนที่เขาชนะอยู่แล้ว เขาก็ทำให้เขาชนะมากขึ้น

ถ้าในเวลาแข่งขัน ชีวิตเราชีวิตมนุษย์ ในเวลาแข่งขันระหว่างธรรมกับกิเลส ถ้ากิเลสมันมีอำนาจมีค่ามากกว่า มันก็ทำให้เรานอนจมอยู่กับมันนะ แต่ถ้าคุณธรรมมันมีมากกว่า มันจะปลุกให้เราขึ้นมานั่งสมาธิ ให้เราเดินจงกรม เพราะศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น “มรรคโค ทางอันเอก” สิ่งนี้เวลามรรคญาณ ในธรรมจักรเห็นไหม ญาณหยั่งรู้ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ เห็นไหม ยถาภูตํ ฆ่ากิเลสแล้ว ยังรู้เองว่าเราได้ฆ่าแล้วเห็นไหม ยถาภูตํ เวลาความรู้สึก เวลาทุกข์ อะไรทุกข์ล่ะ ก็ความรู้สึก เวลาสุขอะไรสุขล่ะ ก็ความรู้สึก แล้วความรู้สึกนี้มันตั้งอยู่บนอะไร

แล้วสิ่งใดที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น ให้ความรู้สึกนี้เกิดดับๆ ทุกข์แล้วทุกข์เล่าๆ ไม่มีวันจบซักที เห็นไหม สิ่งนี้มันคืออะไร แต่ถ้ามันเกิดปัญญาญาณขึ้นเห็นไหม มันถอดมันถอน มันแก้ไขของมัน พอถึงที่สุดมันสะอาดเป็นชั้นเป็นตอนของมันนะ อย่างเช่น เวลาสังโยชน์มันขาด ขาดเพราะอะไร ขาดเพราะจิตมันจริง สรรพสิ่งตามความเป็นจริงทั้งหมด เวลามันขาด สังโยชน์ขาดออกไป

มันรู้ของมันนะ ดั่งแขนขาด คนเรานะ ตัดแขนขาด แล้วถ้าไม่รู้ว่าแขนขาด คนๆ นั้นคงขาดสติ เวลาตัดกิเลสขาดจากใจดั่งแขนขาด สมุจเฉทปหาน สังโยชน์จะเกิดอีกไม่ได้เลย เป็นอกุปปธรรม สิ่งที่คงที่ของมันเห็นไหม แต่นี่เราเป็นกุปปธรรม กุปปธรรมคือสภาวธรรม สภาวธรรมเห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันเป็นสภาวะ เป็นธรรมชาติมันก็หมุนเวียนอยู่อย่างนั้น มันเป็นสภาวธรรม

กุปปธรรม คือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อกุปปธรรม พ้นจากความเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เพราะมันเกิดจากอนัตตา ความเป็นอนัตตา การกระทำของมัน แต่เวลามันพ้นไปแล้ว จบสิ้นของมันไป พอจบสิ้นของมันไป กระบวนการอันนั้นมันเป็นความจริงเห็นไหม

สิ่งที่เป็นความจริงอย่างนี้ ใจดวงไหนเป็นผู้ได้สัมผัส ใจดวงนั้นพอมันสัมผัสขึ้นมานะ มันยืนยันขึ้นมา พอยืนยันขึ้นมานะ ภาวนาเป็นแล้วมันจะก้าวเดินของมันขึ้นไป การก้าวเดินของมัน มันก็ตั้งสติ กำหนดให้ความสงบมากขึ้น เพราะกิเลสอย่างหยาบ สิ่งที่เป็นสติปัฏฐาน ๔ มันมีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างละเอียดสุด

การพิจารณากายเห็นไหม กายนอก กายใน กายในกาย กายของจิตแต่ละชั้นแต่ละตอน เวลาผลมันออกมาเห็นไหม พิจารณากายขั้นต้น กายอย่างหยาบๆ ให้เห็นเป็นปฏิกูล สิ่งที่เป็นปฏิกูล เป็นไตรลักษณ์เป็นอะไรต่างๆ เห็นไหม เวลาชำระล้างไปแล้ว พิจารณากายซ้ำ มันจะไปสู่เป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟ

ถ้าพิจารณาซ้ำเข้าไป ถ้ากายอย่างละเอียดมันจะเป็นอสุภะ แล้วกายของจิตล่ะ มันเป็นกายใส กายอยู่ข้างใน มันชำระของมันอย่างไร มันเป็นความจริงของมันอย่างไร ถ้ามันชำระมันเป็นความจริงของมันเห็นไหม ถ้ากิเลสอย่างหยาบ มันก็หลอกหยาบๆ ขนาดที่มันหลอกหยาบๆ นี่เราก็หัวปั่นนะ ล้มลุกคลุกคลานกันเต็มที่เลย

แล้วเพราะเรามีกิเลส กิเลสมันหลอกมา แล้วเวลาทำเห็นไหม กิเลสมันบอกว่าให้เป็นสูตรสำเร็จ เลยทำแบบคนสิ้นคิดไง สิ้นคิดไม่มีเหตุไม่มีผล แต่ถ้าเราไม่ทำแบบคนสิ้นคิด เรามีความใส่ใจ เรามีความค้นคว้า เรามีความตั้งใจ เราทำตามความเป็นจริง แล้วสังคมก็บอกว่า ทุกข์นิยม

“ทำไมต้องทำให้มันทุกข์ยากขนาดนั้น ทำให้มันสะดวกสบายก็ได้”

ถ้าทำให้มันสะดวกสบายกิเลสมันก็ยิ้มเยาะหัวเราะเยาะอยู่นั่นไง ถ้าทำให้มันทุกข์เห็นไหม มันทุกข์ขนาดไหน ถ้าผลมันตอบสนองมันเกินคุ้มค่าอีก มันเป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะสายตาของกิเลสมองไง แต่ถ้ามันเป็นสายตาของธรรมมองนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขาเห็นไหม ท่านบอกเหมือนเศษคน เศษคนไง เพราะคนเขาอยู่บ้านอยู่เมือง เขามีแต่ความสนุกครึกครื้น อยู่ป่าอยู่เขาเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง

แต่สัตว์ที่มันอยู่ป่าอยู่เขา มันอยู่เพราะสัญชาตญาณของมัน มันเป็นสัตว์ป่า แต่นี่เป็นมนุษย์ มนุษย์ที่มีปัญญาด้วย ถ้าจะเสวยสุขแบบโลกเขา ทำไมจะทำไม่ได้ จะเสวยสุขแบบใดก็ได้ ที่โลกเขาว่าเป็นความสุข ความสุขนั้น แต่นี่เพราะมีปัญญา ถึงเข้าป่าเข้าเขาไป โลกเขามองว่า มีความทุกข์เหมือนเศษคน คนที่เป็นเศษคนอยู่ในป่าในเขา ประพฤติปฏิบัติของท่านจนถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ

เวลาท่านเล่าให้หลวงตาฟังเห็นไหม ๔ ทุ่มเทวดามาแล้ว ตั้งแต่ ๔ ทุ่มไปบางคืนไม่ได้นอนเลย เศษคนอย่างนั้น! ทำไมเทวดาอินทร์พรหมต้องมาฟังเทศน์! แต่พวกเราว่าอยู่ในป่าในเขามันมีแต่ความทุกข์ความยาก ความทุกข์ความยากเพราะมันเป็นชัยภูมิ มันเป็นชัยภูมิในการประพฤติปฏิบัติ เราคลุกคลีกันอยู่อย่างนี้ มันมีแต่ความอบอุ่น มีแต่ความอุ่นใจไง มันก็นอนจมนอนตายอยู่อย่างนั้นไง

เวลาเราออกวิเวกเห็นไหม ไปแบบนอแรด เวลาไปอยู่คนเดียวเห็นไหม กลัวผีกลัวสาง กลัวความอัตคัดขาดแคลน กลัวความยากลำบาก กลัวไปหมดเลย ถ้ากลัวเห็นไหม สิ่งที่เรากลัวขึ้นมามันก็มีความคิด ตอบสนองมาในใจทั้งนั้น ถ้ามีสติปัญญา นั่นล่ะมันเป็นเหตุเป็นผล ถ้าเราอยู่ในหมู่คณะเห็นไหม ไม่กลัวอะไรเลย ทุกคนถือวิสาสะหยิบใช้สอยได้สะดวกสบายเห็นไหม กิเลสมันพอใจมันก็นอนอบอุ่นอยู่ในจิตของเรา

แต่เวลาเราเข้าป่าเข้าเขาเป็นชัยภูมิที่จะต่อสู้กับมันเห็นไหม มันวิตกกังวลไปหมดเลย มันแสดงตัวทุกอย่างออกมา กิเลสมันเปิดหน้าออกมาให้เราเห็นได้หมดเลย เรามีสติปัญญาสู้มันไหมล่ะ ถ้ามีสติปัญญาสู้มันเห็นไหม นั่นล่ะคือประโยชน์กับเรา ฉะนั้นท่านไม่ใช่คนสิ้นคิด ท่านไปอยู่ป่าอยู่เขาแบบใช้เป็นชัยภูมิ เพื่อจะชำระกิเลสในหัวใจแล้วพอท่านชำระกิเลสในหัวใจเห็นไหม ท่านถึงเป็นแบบอย่างของเรา เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดในป่า ตรัสรู้ในป่า ตายในป่า

หลวงปู่มั่นของเรา ส่วนใหญ่จะอยู่ในป่า แต่ก็อยู่ในเมืองบ้าง ขณะที่อยู่ในเมืองบ้าง มาจำพรรษาในกรุงเทพฯก็มา เพราะเวลาปฏิบัติไปแล้วมันต้องตรวจสอบไง ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เวลาเราประพฤติปฏิบัติแล้วเราจะมาตรวจสอบตามความเป็นจริง

๑.ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา

๒.เจ้าคุณอุบาลีเห็นไหม เป็นหมู่เป็นคณะกัน ตรวจสอบๆๆ

ตรวจสอบความประพฤติปฏิบัติเห็นไหม ไม่ใช่ทำแบบคนสิ้นคิด ตรวจสอบก็ไม่ตรวจสอบ โมเมเอา เล่ห์กลเอา ใช้เล่ห์ ใช้กล กิเลสมันจะหลอกลวงอย่างไรก็เชื่อมัน แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เห็นไหม

ทำแบบคนสิ้นคิด ผลก็ผลแบบหลอกลวง เจ้าเล่ห์แสนงอน แต่ถ้าเป็นความจริงนะ เห็นไหม ความจริงมันอยู่ในที่สว่างไง ตรวจสอบปัจจัยของเราแล้ว ๑ ตรวจสอบธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๒ ตรวจสอบกับเจ้าคุณอุบาลี ๓ ตรวจสอบกับหลวงปู่เสาร์ ๔ ตรวจสอบๆ ตลอดเห็นไหม ต้องมีเหตุมีผล ทำเพื่อคุณงามความดีของเรา ทำเพื่อหัวใจของเรา

ถ้าเพื่อหัวใจของเราเห็นไหม มันทำให้เป็นคุณงามความดี คุณงามความดีในใจของเราที่เป็นอริยทรัพย์ โลกรู้ด้วยกับเราไม่ได้ ไม่มีใครรู้ด้วยกับเราได้ แต่ผู้รู้กับผู้รู้เขาจะรู้กันได้ ฉะนั้นวันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา วันนี้เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร เทศนาว่าการครั้งแรก พอเทศนาว่าการครั้งแรก เกิดขึ้นมาเห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะ มีดวงตาเห็นธรรม แสงอรุณรุ่ง อรุณแห่งธรรม อรุณแห่งคุณงามความดีเกิดขึ้น แล้วเวลาเทศน์ปัญจวัคคีย์จนถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ ไปเทศน์สอนยสะ จนสิ้นสุดแห่งทุกข์หมด

เวลาคนที่มีคุณธรรม คนที่เป็นความจริงเห็นไหม เทศน์สอนแต่ก็เทศน์สอนคนที่เขามีวุฒิภาวะที่จะรับได้ ถ้าเขาไม่มีวุฒิภาวะเทศน์สอนไป เขาก็รับรู้กับเราไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่ว่ารู้กับเราได้หรือไม่ได้ คืออำนาจวาสนาของเขา ที่สร้างสมบุญญาธิการมา

ของชิ้นเดียวกัน มองต่างมุม มองคนละเหตุผล สิ่งนั้นมันก็ด้วยเหตุผลแตกต่างกัน แต่ถ้าจริตนิสัยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มีหนึ่งเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์ที่ ๔ พระศรีอริยเมตไตรยเป็นองค์ที่ ๕ ภัทรกัปนี้จะเป็นอริยสัจเหมือนกัน จะอนาคตวงศ์ขนาดไหนก็เป็นอริยสัจเหมือนกัน สมัยพุทธกาลทุกข์ก็เป็นอย่างนี้ แต่สภาวะสังคมแตกต่างกัน ในปัจจุบันก็ทุกข์อย่างนี้ ในอนาคตนะจะทุกข์มากกว่านี้ เพราะในอนาคตนะ เทคโนโลยีมันจะเจริญกว่านี้ แล้วเจริญกว่านี้ จิตใจมันจะสับสนกว่านี้ ถ้าจิตใจสับสนกว่านี้ ต่อไปคนจะกราบเทคโนโลยีกัน จะไม่กราบธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เทคโนโลยีใช้เงินซื้อได้ มีคนช่วยเหลือเจือจานได้ แต่ธรรม! แต่ธรรม! สมาธิจะเกิดจากจิตของเราเอง ปัญญาจะเกิดจากจิตของเราเอง ถ้าจิตของเรามันมีอวิชชา มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ ของคนอื่นจะเข้าไปแก้กิเลสของเราไม่ได้! ความทุกข์ของเรามันจะต้องเป็นมรรคญาณ มรรคสัจของเรา แก้ไขของเราเอง ไม่มีใครทำให้ใครได้! เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม ปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ มันก็เหมือนพ่อแม่เรากับเรา

ถ้าพ่อแม่เรารักเรา พ่อแม่ก็จะจุนเจือเราแล้วจะพาเราไป ถ้าพ่อแม่ไม่สั่งสอนเรามันจะมาได้อย่างไร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์เห็นไหม เล็งญาณ เล็งญาณว่าใครมีอำนาจวาสนา แล้วชีวิตเขาอายุสั้น เขาจะมีอันตราย เอาคนนั้นก่อน เอาคนนั้นก่อนเห็นไหม นี่รื้อสัตว์ขนสัตว์แบบนี้! รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยมรรคญาณ รื้อสัตว์ขนสัตว์ไปจี้ ไปปลุกปลอบให้หัวใจของเขามีอำนาจวาสนา ให้เกิดการกระทำขึ้นมา ให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดมรรคญาณ ให้เกิดสัจธรรมขึ้นมาในหัวใจของเขา

ถ้าเกิดในหัวใจของเขา ถ้าเขารู้จริงของเขาเห็นไหม เขาจะซาบซึ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาชฎิล ๓ พี่น้องเห็นไหม ชฎิล ๓ พี่น้องเป็นอาจารย์ของพระเจ้าพิมพิสาร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาชฎิล ๓ พี่น้องเสร็จแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจะมากราบอาจารย์ของตัว เห็นชฎิล ๓ พี่น้องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ด้วยกัน พระเจ้าพิมพิสารมีความแปลกใจว่า “ระหว่างชฎิล ๓ พี่น้องอาจารย์ของตัว กับพระเด็กๆ พระหนุ่มน้อย ใครมีความรู้มากกว่ากัน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ถึงความคิดนั้น บอกกับชฎิลคนพี่นะ “เป็นหน้าที่ของเธอ เป็นหน้าที่ของเธอ” เหาะขึ้นไปบนอากาศลงมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา” เหาะขึ้นไปบนอากาศลงมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของเรา” เหาะขึ้นไปนะ ประกาศๆ จนพระเจ้าพิมพิสารลงใจไง เพราะว่าอาจารย์ของตัวอายุมากกว่า แล้วตัวเองก็เคารพศรัทธามาแต่ดั้งเดิม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทรมานไง บูชาไฟๆ น่ะสุดท้ายแล้วเทศน์อาทิตตฯ ชฎิล ๓ พี่น้องเป็นพระอรหันต์หมดเลย เวลาเป็นพระอรหันต์เห็นไหม เหาะขึ้นไปลงมาแล้วกราบ.. เหาะขึ้นไปลงมาแล้วกราบ.. มันซาบซึ้งใจ..

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์เห็นไหม รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยมรรคญาณ รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยภายใน ไม่ใช่รื้อสัตว์ขนสัตว์อย่างที่เราเข้าใจกัน

ฉะนั้นเราศึกษา เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมานะ เราต้องมีเหตุมีผล เราอย่าทำแบบคนสิ้นคิด เอวัง