เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วัฏฏะ วัฏวน ผลของวัฏฏะ เห็นไหม เวลาเราเกิด.. การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เวียนไปในวัฏฏะ เวลาเกิดมานี่ความผูกพัน ความผูกพันทางโลกเขาบอก โซ่ทองคล้องใจ
โซ่ทองคล้องใจคล้องในสังคมนั้น คล้องในครอบครัวนั้นให้มีความร่มเย็นเป็นสุข นี่ถ้าเป็นอภิชาตบุตร บุตรที่ดี นี่อย่างนี้มันจะฝังใจมาก มันเป็นความผูกพัน มนุษย์ดีเพราะการฝึกฝน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก
คนเราไม่ได้ดีเพราะการเกิด
เวลาเกิด พูดถึงบุญกุศล เห็นไหม อริยทรัพย์.. เกิดเป็นมนุษย์นี้มีประโยชน์มาก เกิดเป็นมนุษย์นี้มีบุญมาก มีบุญมากเพราะเกิดมาแล้วมันเลือกได้ แต่เวลาเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม นั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะเขาเสวยทิพย์สมบัติตลอด เวลาเกิดในนรกอเวจีเขาก็เสวยกรรม วิบากกรรมของเขาตลอด เวลาเกิดเป็นมนุษย์มันต้องหาอาหารนะ มนุษย์อยู่ได้ด้วยอาหาร เทวดาก็อยู่ได้ด้วยอาหาร พรหมก็อยู่ได้ด้วยอาหาร
อาหาร ๔ ในวัฏฏะไง ผัสสาหาร วิญญาณาหาร กวฬิงการาหาร อาหารคำข้าว มโนสัญเจตนาหาร.. อาหาร ๔ นะ ชีวิตนี้อยู่ได้เพราะอาหาร ถ้ามีอาหารมันก็สืบต่อ ชีวิตคือการสืบต่อไง เราบอกชีวิตคือชีวิตไง ชีวิตอยู่กับกาลเวลา ถ้ากาลเวลามันมีอยู่ใช่ไหม? ถ้าชีวิตดับไปแล้ว กาลเวลาก็คือกาลเวลา ชีวิตก็คือชีวิต มันแยกกันไง เวลาเกิดเป็นเทวดา เห็นไหม ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับเขา ๑ วัน กาลเวลามันแตกต่างกัน
ชีวิตนี้มันตั้งอยู่บนกาลเวลามันถึงเป็นชีวิตไง ถ้าชีวิตนี้มันไม่ตั้งอยู่บนกาลเวลา ชีวิตมันก็สูญสิ้น นี้ชีวิตตั้งอยู่บนกาลเวลา เห็นไหม นี่ผลของวัฏฏะ การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นบุญอย่างยิ่ง เป็นบุญอย่างยิ่งเพราะอะไร? เพราะเทวดา อินทร์ พรหม เขาสุขอย่างเดียว แต่ถ้านรกอเวจีก็ทุกข์อย่างเดียว เป็นมนุษย์นี่มันทุกข์ๆ ยากๆ มันมีทั้งความสุข ความพอใจ มีทั้งความทุกข์บีบคั้น มีทั้งเราต้องแสวงหา อันนี้ เห็นไหม เพราะการแสวงหา สิ่งนี้มันบีบคั้นให้เราตื่นตัวไง
สัตว์นะ เวลามันฝึกแล้วมันเป็นสัตว์ที่ดีมาก มนุษย์ถ้าได้ฝึก มันฝึกขึ้นมาแล้วนี่ ฝึกขึ้นมาดีมาก แล้วมนุษย์ เห็นไหม ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ฝึกตัวท่านเองแล้ว
การฝึกฝนตัวเอง ดูสิทางวิชาการเราฝึกงาน ใครฝึกงาน ใครมีความชำนาญงาน สร้างสุวรรณภูมินะ เขาต้องจ้างฝรั่งมาอ่านแผนผัง เพราะคนไทยอ่านไม่ออก ดูสิวิชาชีพ เห็นไหม สร้างสุวรรณภูมินี่เขาเขียนแปลนมาเสร็จแล้วนะ ต้องจ้างเขาอ่านด้วย ช่างเมืองไทยอ่านไม่ได้ นี่วิชาชีพของเขา เขาฝึกของเขา จนเขาทำของเขาได้
นี่ก็เหมือนกัน เราฝึกของเรา ทางวิชาชีพเขาก็ฝึกของเขา แต่ถ้าเราฝึกใจของเรานะ เราฝึกใจของเรา นี่สัตว์ที่ฝึกดีแล้วประเสริฐที่สุด ถ้าฝึกดีแล้วนะเราฝึกใจของเรา เราถึงต้องมาทุกข์ๆ ยากๆ กันนี่ไง ที่เรามาพยายามบังคับตัวเราเอง คำว่าบังคับตัวเองนะ ถ้าทางโลกนะเขาว่า ทุกข์นิยม แต่ถ้าเราเห็นผลประโยชน์ของมันนะ การบังคับตัวเองคือบังคับกิเลส ถ้าเราไม่ได้บังคับตัวเองก็ไม่ได้บังคับกิเลส
เวลาเรานั่งสมาธิภาวนากัน เวลากิเลสมันเกิดขึ้น เวลาความเวทนามันเกิดขึ้นมันเผาลนขนาดไหน ถ้าเราไม่บังคับ เราไม่ต่อสู้ เราก็จะไม่ได้เติบโตขึ้นมาเลย การเติบโต เห็นไหม อย่างเช่นประสบการณ์ของนักกีฬา นี่เวลาเขามีประสบการณ์ของเขา เขาอ่านเกมออก การแข่งขันนี่เขาอ่านเกม เขาดักทางคู่ต่อสู้ได้หมดเลย เพราะประสบการณ์ของเขา
แต่เราอ่านเกมไม่ออก เวลาเราอ่านเกมไม่ออก เห็นไหม เวลากิเลสมันเล่นเกมมา เวลาเวทนามันเกิดขึ้นมา เราล้มลุกคลุกคลานเลย ล้มลุกคลุกคลานนะ ถ้าคนอ่านเกมออก คนมีความชำนาญการเขาไปเป็นโค้ช ให้ลงไปวิ่งในสนามก็วิ่งไม่ไหวหรอก เขาหอบตาย นักกีฬาต้องมีทั้งกำลังด้วย ต้องมีทักษะด้วย
การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราต้องมีสมาธิด้วย ถ้าเรามีสมาธินะมันเป็นกำลังของใจ ใจถ้ามีสมาธินะ เวลามันใช้ทักษะ ทักษะเกิดจากกำลังที่สมดุลนะ นี่มันลงตัวพอดี ทักษะดีแต่กำลังไม่ดี ทำสิ่งใดไปนี่ล้มลุกคลุกคลาน
นี่ก็เหมือนกัน เราฝึกกำลังของเรา เราทำสมาธิของเราให้ได้ ถ้าเราทำสมาธิของเราให้ได้นะ แล้วบอกเมื่อไหร่เราจะฝึกทักษะล่ะ? การฝึกทักษะมันฝึกได้ตลอดเวลา กำลังมีน้อยก็ฝึกได้น้อย จังหวะ เห็นไหม จังหวะที่เข้า จังหวะต่างๆ มันไม่สมดุล เพราะ! เพราะกำลังเราไม่สมดุล เราก็ฝึกของเราไป ผิดบ้าง ผิดพลาดบ้าง ถูกบ้าง การฝึกปฏิบัติมันต้องมีผิด มีถูกเป็นธรรมดา แต่ถ้ามันผิดแล้วนะเราก็จะแก้ไขทำให้มันถูกต้องดีงามขึ้นไป
นี่ไง มนุษย์ที่ฝึกดีแล้วประเสริฐที่สุด เรากำลังจะฝึกตัวเราเองนะ เรามานี่เรามาฝึกเรานะ การฝึกเรา เห็นไหม เพราะเราเต็มใจเราถึงจะฝึก ถ้าเราไม่เต็มใจ นี่เวลาพระเทศน์ก็ว่าพระด่า เวลาอยู่บ้านกัน เขาดุ เขาด่าก็ว่าเทศน์ นี่ไง เวลามันพลิกแพลง มันเปลี่ยนแปลงไป
การเทศน์คือการบอกกล่าว การบอกกล่าวนะ หลวงปู่มั่นท่านไปเทศน์ที่วัดเจดีย์หลวง เจ้าคุณอุบาลีท่านบอก เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เรื่องใกล้ๆ ตัวเรานี่แหละ เรื่องการดำรงชีวิตเรานี่แหละ เรื่องกิน เรื่องนอนเรานี่แหละ เราทำอยู่ทุกวันเรามองข้ามไง
หลวงปู่มั่นท่านก็บอกเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องความเป็นอยู่ของเรานี่แหละ พูดเรื่องเรานี่แหละ พูดเรื่องใกล้ตัวเรานี่แหละ แต่เราไม่เห็นเรื่องของในตัวเรา เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกตรงนี้ บอกเรื่องในตัวของเรานี่แหละ แต่ถ้าเรารู้เราเห็นของเรา มันเป็นปัจจัตตัง มันดีขึ้นมาอีกมากเลย
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเห็นว่าผิดพลาด เห็นไหม นี่โปรแกรมมันเปลี่ยนนะ คนเรานี่นะมันเป็นไปตามร่องสมอง หยักของสมองมันคิดอย่างไรมันก็ทำอย่างนั้น แต่ถ้ามันได้ข้อมูลใหม่ มันเปลี่ยนแปลงของมัน มันแก้ไขของมัน
นี่ก็เหมือนกัน ทักษะที่เราฝึกขึ้นมา นี่บอกว่ามันทุกข์มันยาก มันทุกข์มันยาก แต่ทำไมคนพอใจล่ะ? พระโสณะนะ เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรวจวัด นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์เราจะตรวจวัด จะดูแลความสงบในวัด จะดูความเรียบร้อยในวัด ไปเจอทางเดินจงกรมของพระโสณะนะ
นี่เป็นที่เชือดโคของใคร?
ฟังสิ คำว่าเชือดโคของใคร เลือดมันต้องแดงฉานในทางจงกรมนั้น นี่ทำไมท่านมีความเพียรล่ะ? ทำไมท่านพอใจของท่านล่ะ? คนพอใจ เห็นไหม อย่างเราเจ็บปวดหน่อยเราก็ถอยแล้ว นี่ท่านพอใจของท่าน เพราะท่านมีเป้าหมายของท่านหนึ่ง
แล้วเวลาคนภาวนา การเข้าด้ายเข้าเข็ม มันทำให้มองอย่างอื่นเป็นของเล็กน้อยหมดเลย คนเรานะถ้าเข้าด้ายเข้าเข็ม ของที่จะได้ๆ มันจะคว้าเอา แต่เรานี่นะเข็มก็ไม่มี ด้ายก็ไม่มี เข้าอย่างไร เข้าด้ายเข้าเข็มมันเข้าอย่างไร? เข็มก็ไม่รู้จัก ด้ายก็ไม่รู้จัก เดินจงกรมไปนะมันจะล้มลุกคลุกคลาน
นี่การภาวนาเป็น การภาวนาไม่เป็น เวลามันดูดดื่มไง มันดูดดื่ม มันดึงให้เราเข้าไปภาวนา นี้เราฝึกเรานะ การที่เราจะฝึกเรา เราจะต้องเข้มแข็ง งานของโลก เห็นไหม คำว่าเข้มแข็ง คนเรานะอ่อนแอทั้งจิตใจและร่างกาย เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ จิตใจเข้มแข็งนะ ร่างกายอ่อนแอขนาดไหนมันก็บริหารจัดการได้ แต่ถ้าคนจิตใจอ่อนแอ ร่างกายแข็งแรง เห็นไหม ร่างกายบึกบึนขนาดไหน แต่จิตใจอ่อนแอก็ล้มลุกคลุกคลานนะ
ฉะนั้น คำว่าเข้มแข็ง เวลาจิตใจมันมีกำลังของมัน มันเข้มแข็งอย่างไร? เช่นเรื่องสมาธินี่ มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะ หรือว่า นั่นล่ะ คำว่าน่าจะ หรือว่านี่เราไม่แน่ใจ สิ่งที่ไม่แน่ใจมันไม่เป็นปัจจัตตัง ถ้าเป็นปัจจัตตังนะมันฟันธงทุกเรื่อง มันพูดได้ขาวสะอาด
การพูดได้ขาวสะอาดนั้นคือประสบการณ์ถูกต้อง ประสบการณ์แท้ แต่ประสบการณ์โดยสัญญา เพราะเราศึกษาทางวิชาการมา แล้วเราพยายามทำให้เหมือน ตอนนี้นะพยายามทำให้เหมือน สมาธิก็ว่าว่างๆ ว่างๆ ทำให้เหมือน ทักษะก็ดูเขาไง ดูนักกีฬาเล่นนี่รู้หมด แต่ลงไปทำไม่ได้ซักอย่างหนึ่ง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติมันวิปัสสนึกไง มันจินตมยปัญญา มันนึกได้หมดแหละ สินค้าเทียมนะ ถ้ามีสินค้าที่เขาออกมาตีตลาดนะ เขาจะทำเลียนแบบมาสวยกว่า ดีกว่า แต่ของเทียม คุณภาพด้อยกว่าเยอะเลย แต่ดูภายนอกดีกว่าของแท้ด้วย
นี่ก็เหมือนกัน วิปัสสนึกนี่อู้ฮู.. สวยงามไปหมดเลย ของจริงกลายเป็นขี้ทูดกุดถัง ครูบาอาจารย์ของเราทำโดยความเป็นจริงก็ว่าทุกข์นิยม แต่เวลาลูบๆ คลำๆ อันนั้นว่าเป็นอริยสัจ มันเป็นของมันอย่างนั้นนะ นี่สติปัญญาของคน ถ้าจิตใจเราอ่อนแอมันเชื่อไปก่อน ถ้าจิตใจของเราเข้มแข็งนะมันจะตรวจสอบ นี่พิสูจน์ตรวจสอบ
การศึกษาของเรา การศึกษาที่มันด้อยไปๆ เพราะการวัดผลไง การวัดผลอ่อนลงเรื่อยๆ เด็กของเราก็คุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ การวัดผล เห็นไหม นี่เราปฏิบัติของเรา เราวัดผลใจของเรา ตรวจสอบๆ ถ้าเป็นปัจจัตตัง รื้อค้นขนาดไหนมันก็ไม่มี ถ้ากิเลสมันมี มันซุกที่ไหนนี่มันมีแต่เราหาไม่เจอ แล้วก็พยายามลืมๆ ด้วย บอกไม่มีๆๆ ทั้งๆ ที่มันมี เพราะการตรวจสอบไง ผลของการตรวจสอบมันอ่อนแอ ถ้าผลการตรวจสอบมันเข้มแข็งนะ ตรวจสอบที่ดี ทำอะไรที่ดีนะ มันจะเป็นความดีของมันขึ้นมา
นี้พูดถึงในการปฏิบัติ ในการฝึกฝนนะ ถ้าเรามั่นใจ เราเห็นว่าการฝึกฝนนั้นมันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา เราจะทำนะ เราทำเพื่อเรานั่นแหละ ทำเพื่อบุคคลคนนั้น ทำเพื่อหัวใจดวงนั้น ถ้าหัวใจดวงนั้นได้พัฒนา ได้ประสบการณ์ ได้ปฏิบัติแล้ว หัวใจดวงนั้นจะเข้มแข็งขึ้น หัวใจดวงนั้นจะดีขึ้น ถ้าหัวใจดวงนั้นดีขึ้นมันจะเป็นประโยชน์กับหัวใจนั้น
นี่คือบุคคลที่กำลังจะฝึก กับบุคคลที่ฝึกแล้ว เราก็จะฝึกตัวเราเอง ฝึกให้เป็นประโยชน์กับเรา เอวัง