รู้ตัวหรือรู้คิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เอาปัญหาธรรมะเลย ข้อ ๕๒๕. เนาะ
ถาม : ๕๒๕. เรื่อง ถามเรื่องการปฏิบัติ
ได้ยินได้ฟังคำเทศน์ของพระอาจารย์หลายครั้งแล้วเอาไปปฏิบัติค่ะ ก่อนหน้านี้เคยถามอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติบ้างแล้ว มีความก้าวหน้าหรือถอยหลังก็ไม่รู้ค่ะ พอนั่งสมาธิอยู่ที่ผ่านขณิกสมาธิแล้ว ไปอุปจารสมาธิก็พุทโธ พุทโธตลอด บางทีก็เป็นสมาธิอย่างหยาบ
หลายเดือนมาแล้วไม่เคยเห็นกายในนิมิตเลยสักครั้ง แต่พักหลังๆ เห็นเป็นแว็บๆ บางทีเหมือนไม่ใช่หน้าคน บางทีก็เป็นหน้าที่น่าเกลียดเหมือนผี พักหลังๆ กลับเห็นเป็นหน้าตัวเองบ้าง หน้าหรืออวัยวะต่างๆ บนใบหน้าบ้าง บางทีก็เป็นหน้าใครก็ไม่รู้จัก แรกๆ ก็เร่งพุทโธจนเพ่ง หรือบางทีมันก็ เอ๊ะ.. แล้วภาพก็หายไปค่ะ
ช่วงหลังประมาณไม่กี่วันเริ่มเห็นเป็นหน้าตัวเอง แล้วก็ขยายออกจนบางทีก็เห็นเป็นรูขุมขน บางทีก็เห็นแค่ตาแล้วขยายขึ้นมา แต่ยังไม่เห็นมันสูญสลายไป แต่เห็นบ่อยขึ้น จากแรกๆ เอ๊ะ.. ตอนหลังก็ค่อย เออ.. ก็จะเออและเริ่มพุทโธแบบธรรมดาไม่เร่ง ไม่เพ่ง แต่ก็ยังมาแว็บๆ บางทีไม่ได้นั่งสมาธิ แต่นั่งหลับตาฟังเทศน์ของพระอาจารย์ แล้วมันก็แว็บมาเป็นหน้าตัวเอง แล้วซูมเข้าซูมออก แล้วก็หายไปค่ะ แต่จะมาเป็นแว็บๆ จึงอยากถามอาจารย์ว่า ทำเช่นนี้ถูกทางหรือไม่ ทำพุทโธต่อไปใช่หรือไม่คะ
หลวงพ่อ : การทำพุทโธจนจิตมันสงบ เห็นไหม เห็นว่าเป็นขณิกะ เป็นสมาธิต่างๆ แล้วมันเห็นแว็บๆ เราก็พุทโธของเราไว้ ถ้าเห็นแว็บๆ เห็นแล้วถ้าสมาธิมันดี สมาธิดีนะ หน้านั้น หรืออวัยวะชิ้นนั้นมันจะเห็นชัดเจนขึ้น มันจะไม่คลาดเคลื่อน ถ้ามันคลาดเคลื่อนเราก็กลับมาพุทโธอีก พุทโธอีก แล้วทำไมมันไม่ย่อยสลายล่ะ?
คำถามนี่เขางงว่าทำไมมันไม่สูญสลายไป ทำไมมันไม่เป็นไตรลักษณ์? เพราะเราไปรู้โจทย์ก่อนใช่ไหม? พอเรารู้โจทย์ก่อน เราอยากให้เป็นมันเลยไม่เป็นตามนั้นหรอก เราก็พุทโธของเราไว้ เราพุทโธของเราไว้ สิ่งที่เห็นนั้น มันเห็นแล้วแสดงว่ามันเหมือนมาตรวัดไง วัดว่าจิตใจเรามันมีฐานมันถึงเห็นภาพอย่างนั้นได้
แล้วภาพนั้นมันยังไหวติงอยู่ มันยังแว็บๆ แว็บๆ คือว่าฐานของเรายังไม่ดี ก็กลับมาพุทโธไว้ แล้วใช้ปัญญาบ้างก็ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาของเรานี่แหละ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อย่าใจร้อน ถ้าใจร้อนนะ เวลาเราจะหุงข้าวนะ เราซาวข้าวเสร็จเราก็ไปตั้งบนเตานะ สุกๆ สุกๆ มันไม่สุกหรอก แต่ถ้าเราเอาข้าวไปตั้งบนเตานะ แล้วเรารักษาไฟของเราใช่ไหม? พอไฟของเรามันดีขึ้นมานะ เดี๋ยวข้าวมันก็เดือด แล้วข้าวมันก็จะสุกไปข้างหน้า
นี่ก็เหมือนกัน ในการภาวนา ทำไมมันไม่เป็นไตรลักษณ์? ทำไมมันไม่สูญสลายไป? เห็นไหม เหมือนกับเราเอาหม้อข้าวไปตั้งบนเตา อยากขยับ ให้สุกๆ เร่งใหญ่เลย มันไม่ทันใจไง ใจมันสุกไปแล้ว แต่ข้าวมันยังไม่สุก ใจมันจะเอาให้ได้ แต่ข้าวมันยังไม่ได้
อันนี้ก็เหมือนกัน ทำไมมันไม่สูญสลาย? ทำไมมันไม่เป็นไตรลักษณ์? ทำไมมันไม่เป็นผล เราคาดหมายผลกันไปก่อน อันนี้มันอยู่ที่วาสนาของคน เห็นไหม บางคนกินจุนะ ต้องกินอาหารมากถึงจะอิ่ม บางทีกินไม่จุ กินเล็กน้อยก็อิ่ม จิตใจของคนก็เหมือนกัน คนทำมาก ทำน้อย ผลของมันคือมันอิ่มเต็มของมัน ฉะนั้น เวลาอิ่มมันคืออิ่ม เราไม่อิ่ม เราจะบอกว่าอิ่มหรืออย่างไรนี่มันไม่ได้หรอก
ฉะนั้น ให้ใจเย็นๆ ทำสิ่งนี้ไป ทำสิ่งนี้ไป เราพุทโธของเราไป ถ้าจิตเป็นสมาธิ ถ้าเราน้อมไปกายก็เห็นกาย ถ้าไม่เห็นกายมันจะเป็นเวทนาเกิดขึ้น หรือเป็นความสงสัยก็พิจารณาในธรรม พิจารณาของเราซ้ำไปๆ ขยันหมั่นเพียรไป
ทำไมมันถึงไม่สูญสลาย? มันสูญสลายไม่ได้ มันสูญสลายต่อเมื่อกำลังมันพอ มันจะสูญสลายของมัน อย่างเช่นเราจุดเทียน เวลาไฟมันติด เทียนมันจะลามตัวมันเองไหม? มันก็เรื่องธรรมดาใช่ไหม
นี่ก็เหมือนกัน เวลาถ้าศีล สมาธิ ปัญญาเราสมดุล มันจะเผามันเอง คำว่าเผามันเอง ถ้าเผามันเอง มันก็เป็นเองสิ.. ไม่ใช่ มันเผามันเองต่อเมื่อเราพุทโธ พุทโธ จิตเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิเราก็เกิดปัญญา เราใช้ปัญญาฝึกฝนไป คำว่าเผาเองคือมันสมดุลของมัน คือว่าศีล สมาธิ ปัญญามันสมดุลของมัน แล้วมันจะเผา แต่ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาไม่สมดุล เราอยากเผา อยากให้มันเป็นไปมันก็ไม่เป็น
จุดไฟไว้ที่หนึ่ง กองขยะอยู่ที่หนึ่ง แล้วกองขยะนั้นมันจะโดนไฟเผาไปไหม? จุดไฟก็ต้องจุดในกองขยะนั้น ถ้าจุดกองขยะนั้น กองขยะนั้นโดนไฟเผาไป ขยะนั้นก็จะโดนเผาไหม้ไปหมด นี่ก็เหมือนกัน หน้าที่ของเรา เราก็จุดไฟของเรา เราก็ดูแลของเรา เราพิจารณากายของเราไป เป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป ทำของเราไป
นี่ถ้าว่าทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ? มันไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเราสงสัย ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเรายังไม่ถึงขั้นตอนอย่างนั้น แต่ถ้าเราหุงข้าว เราซาวน้ำ เราตั้งข้าวบนเตา แล้วเราก็ดูไฟของเรา แต่สมัยนี้เนาะ สมัยนี้กดปุ่มทีเดียวมันสุกเองไง กดปุ่มก็สุก ถ้าลืมกด ข้าวก็ไม่ได้กินเหมือนกัน
ฉะนั้น ทำไป ถ้าทำไปตามข้อเท็จจริงที่มันเกิดขึ้น อย่างนี้จริง มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ถ้ามันเป็นจริง มันก็เป็นจริงของมัน ถ้าเป็นจริงแล้วมันก็ได้ตามความเป็นจริงนั้น
ข้อ ๕๒๖. เนาะ
ถาม : ๕๒๖. เรื่อง อย่างไรคือจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค
หลวงพ่อ : เขามีปัญหากันขึ้นมาอีกแล้ว จิตเห็นจิตเนี่ย
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ บังเอิญมีโอกาสได้อ่านธรรมะของครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง เกิดความสงสัยประโยคนี้
ธาตุที่ปรุงแต่งไม่เรียกว่าจิต จิตที่ว่าปรุงแต่งไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต ถ้าเข้าไปถึงจิตแล้วจิตจะนิ่งอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกจะไม่เคลื่อนไหวไปตามกายที่เคลื่อนไหว แต่อยู่ในตำแหน่งรู้ และนิมิตทั้งหมดก็หายไป ในตัวของเราคือจิต ตัวผู้รู้เป็นจิตตัวจริง ไม่ใช่อาการของจิต จะให้ความยึดมั่นถือมั่นนอกจากผู้รู้ไม่มี หลวงปู่ดูลย์จึงว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรคก็เป็นในลักษณะนี้
ขอความกรุณาหลวงพ่อเมตตาขยายความสโลแกนของหลวงปู่ดูลย์ที่ว่า
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค
ผลเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธให้ได้ทราบด้วยครับ เพราะปัจจุบันมีการสอนในแนวทางดูจิตที่อ้างถึงหลวงปู่ดูลย์มาก หากการตีความผิดหรือถูกอย่างไร ส่งผลต่อการปฏิบัติโดยรวม หลวงพ่อเคยตีความเรื่องจิตส่งออกมาแล้ว
หลวงพ่อ : นี่เขาถามมาอีกแล้วนะ นี่ในประโยชน์ของเขาไงว่าจิตเห็นจิต การปรุงแต่ง เห็นไหม อุบายการภาวนาด้วยการดื่มน้ำแก้วหนึ่ง
เขาบอกว่า จิตเห็นจิตเป็นมรรค ธาตุที่ปรุงแต่งไม่เรียกว่าจิต
เขาว่า ธาตุที่ปรุงแต่งไม่เรียกว่าจิต ธาตุที่ปรุงแต่งมันมีด้วยหรือ? ธาตุที่ปรุงแต่ง การปรุงแต่งนี่เป็นความรู้สึกนึกคิด มันมีธาตุด้วยหรือ? มันมีธาตุรู้ ธาตุ ๔ ธาตุ ๔ นะ ภูตรูป มหาภูตรูป แล้วนี้ภูตรูปเป็นธาตุ แล้วสิ่งที่เป็นนาม ความปรุงแต่งมันเป็นนาม มันเป็นธาตุตรงไหน? สิ่งที่เป็นปรุงแต่งมันเป็นนาม นามกับรูป.. ในเมื่อมันเป็นนาม มันเป็นธาตุได้อย่างใด?
ธาตุที่ปรุงแต่งไม่เรียกว่าจิต
อ้าว.. ธาตุที่ปรุงแต่ง ธาตุนี่ปรุงแต่งได้หรือ? หา.. ธาตุปรุงแต่งได้หรือ? มันก็แปลกนะ ธาตุปรุงแต่งไม่ได้! นามสิมันปรุงแต่งได้! แล้วธาตุมันเป็นธาตุ
เขาว่า ธาตุที่ปรุงแต่งไม่ใช่จิต จิตที่ปรุงแต่งไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต
นี่ตัวจิตมันเป็นตัวจิต ธาตุรู้เป็นธาตุรู้ แต่ธาตุรู้มันเป็นชีวะ ธาตุรู้มันพิเศษกว่าธาตุอื่นๆ ถ้าชีวะ เห็นไหม คำว่าชีวะคือชีวิต ธาตุรู้เป็นธาตุที่มหัศจรรย์มาก ธาตุรู้นี่ธาตุ ๖ ธาตุ ๔ ธาตุที่ปรุงแต่งไม่มี ธาตุที่ปรุงแต่งไม่มี
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาอธิบาย เห็นไหม อธิบายว่าเวลาดื่มน้ำแก้วหนึ่ง แล้วความเย็นลงไปนะ แล้วกำหนดที่รู้นั้น นี่เขาบอกว่า พอกำหนดรู้ๆ กำหนดเฉยๆ นั่นล่ะเป็นธาตุ แต่เพราะเดี๋ยวนี้คนมันหลง หลงเพราะอะไร? หลงเพราะว่ากำหนดลม เอาลมเป็นธาตุรู้ เขาอธิบายนะ นี่เอาลมเป็นธาตุรู้ ลมมันเป็นธาตุรู้ที่ไหน? ลมมันก็เป็นลม
ลมมันก็เป็นธาตุอันหนึ่ง ธาตุรู้ก็ส่วนธาตุรู้ แต่เขากำหนดอานาปานสติ ถ้ากำหนดอานาปานสติเขาไม่ได้กำหนดเป็นธาตุรู้ ธาตุรู้เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้เป็นลมได้อย่างไร? แต่เขาอาศัยลมเกาะเป็นคำภาวนา อานาปานสติ ฉะนั้น สิ่งที่ปรุงแต่ง ธาตุปรุงแต่งไม่ได้ แต่ธาตุอาศัยธาตุลมเพื่อแสดงตัวสิ่งที่เป็นธาตุปรุงแต่งได้
ฉะนั้น ที่เขาว่า ธาตุที่ปรุงแต่งไม่เรียกว่าจิต จิตที่ปรุงแต่งไม่ใช่จิต
อืม.. งง จิตที่ปรุงแต่งไม่ใช่จิต.. ตัวรู้นะ ธาตุรู้ส่วนธาตุรู้ ธาตุที่ปรุงแต่ง ธาตุที่ไม่ปรุงแต่ง นี่แม้แต่ว่าอาการของจิตยังไม่เข้าใจ อาการทั้งนั้น อาการ เห็นไหม ดื่มน้ำก็อาการ โฮ.. ถ้าดื่มน้ำแล้วจิตมันอยู่ที่น้ำนะ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้มันก็มีจิต เพราะขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้มีน้ำแข็งไง อ้าว.. ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้มีจิตไหมล่ะ? มันมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าธาตุนะ ธาตุรู้เป็นธาตุรู้ แต่อาการ เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต นี่เวลากำหนดรู้นะ กำหนดดูจิตๆ มันเป็นอุบายเท่านั้น
หลวงปู่ดูลย์สอนว่าดูจิตนี่ดูเป็นอุบาย
แล้วสมัยหลวงปู่ดูลย์อยู่ เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านภาวนาเป็น พอภาวนาเป็น เวลาลูกศิษย์ไปหา เวลาจะสอนใครก็แล้วแต่ สมัยหลวงปู่ดูลย์นะ ไปถึงนี่ไม่มีใครแถออกนอกทางเลย เพราะท่านบอกว่าไม่ใช่ ต้องดูเข้าไปอีก ต้องดูเข้าไปอีก ต้องดูลึกเข้าไปกว่านั้น ลึกเข้าไปจนเห็นจิต ถ้าไปเห็นจิตก็เห็นสมาธิไง พอเห็นสมาธิแล้วท่านถึงว่า ถ้าเป็นสมาธิแล้วนี่จิตเห็นอาการหรือเปล่า? เห็นอาการ เห็นความคิดเนี่ย..
ตัวรู้กับตัวคิดมันคนละตัวนะ ตัวรู้กับตัวคิดแต่มันไวมาก เห็นไหม ดูสิจิตนี้เร็วกว่าแสง เร็วกว่าแสง ทีนี้ความคิดมันเกิดขึ้น อย่างเช่นสันตตินี่แว็บๆ แว็บๆ แว็บๆ เขาเลยบอกว่าเป็นดวงไง คำว่าสันตติเขาก็แยกเป็นดวงได้ คำว่าสันตติมันก็เหมือนกับปัจจยาการ
อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง นี่ขันธ์ ๕ ที่เป็นกอง ถ้าเป็นกองนี่เป็นตัว เป็นกองมันแยกส่วนเป็นกองเลย แต่ถ้าเป็นปัจจยาการนี่มันเกี่ยวเนื่องกัน มันไม่ใช่เป็นกอง เหมือนสายที่ผูกเกี่ยวเนื่องกันไป ทีนี้สายที่เกี่ยวเนื่องกันไป แต่เพราะว่าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นสายเกี่ยวเนื่องกันไป สายเกี่ยวเนื่องกันมันก็มีสันตติ เห็นไหม เกี่ยวเนื่องกันไป
ทีนี้การเกี่ยวเนื่องกันไป สิ่งนี้มันเป็นจิตเดิมแท้ พอคำว่าจิตเดิมแท้ เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส คำว่าผ่องใส ผ่องใสไฟมันอยู่ได้อย่างไร? มันจะผ่องใสอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร? เดี๋ยวมันก็มอด เดี๋ยวมันก็ไม่ผ่องใส ผ่องใสแล้วเดี๋ยวก็ไม่ผ่องใส แต่ถ้ามันเป็นความจริงของมันนะ ถ้าดูจิตๆ ดูจิตจนเข้าไปสู่ฐีติจิต ถ้าเข้าสู่ฐีติจิตนะ พอสู่ฐีติจิต นี่กว่าจะเข้าไปได้นะมันก็ต้องแหวก ต้องผ่านกระบวนการขันธ์เข้าไป กองนี่ขันธ์ มันก็เหมือนส้มกับเปลือกส้ม
ส้มกับเปลือกส้ม ถ้าเราอยู่กับเปลือกส้มนี่ขมทั้งนั้นแหละ แต่เนื้อส้มมันหวาน ถ้าเนื้อส้ม กว่าจะเข้าถึงเนื้อส้มล่ะ? ถ้าเข้าถึงเนื้อส้ม เห็นไหม นี่แหละๆ ดูจิต ดูจิตจนผ่านกระบวนการของมันเข้าไป ถ้าผ่านกระบวนการเข้าไป นี่ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต ถ้าดูจิตก็สมาธิทั้งนั้นแหละ! ดูจิตเป็นสมถะ แต่จิตเห็นอาการของจิตแล้วให้พิจารณา
นี่ คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด ต้องใช้ความคิด คนที่เป็นเขาจะเปิดช่องไว้ไง เปิดช่องให้ปัญญามันเดินได้ ถ้าคนไม่รู้มันไม่เปิดช่องให้ปัญญามันดู แล้วมันก็พูดตามแต่อารมณ์สัญญา สัญญานะ เดี๋ยวก็พูดท่านู้น เดี๋ยวก็พูดท่านี้ เพราะคำว่าสัญญามันฟั่นเฟือน สัญญามันคลาดเคลื่อน เดี๋ยวสัญญาก็จำแม่น เดี๋ยวสัญญามันก็เลอะเลือน
พอสัญญาแม่น สัญญามันจำได้ดี มันก็พูดได้ชัดเจนเลย พอวันไหนสัญญามันเลอะเลือนนะ มันก็พูดไปอีกอย่างหนึ่งเลย มันไม่มีตัวจริงไง แต่ถ้ามันมีตัวจริงของมันนะ ตัวจริงของมัน นี่ดูจิตๆ แล้วดูอย่างไรล่ะ? ดูอย่างไร?
ดูสิทำสมาธิ เห็นไหม เมื่อวานเขามา นี่ว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น พอน่าจะนี่มันไม่ใช่แล้ว เพราะอะไร? เพราะมันไม่ชัดเจน ถ้ามันชัดเจน คนถ้าดูจิตชัดเจนมันจะรู้เลย ถ้าชัดเจนมันก็ต้องดูจิตแล้วพิจารณาแยกแยะๆๆ คือแหวก แหวกกองรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเข้าไป เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ ต้องเอาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ก่อน
ธรรมชาติของมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะเวลาไปศึกษาค้นคว้ากับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปี ๖ ปีนี่ทำสมาธิ ทำสมถะกันอยู่อย่างนั้นแหละ เวลาเข้าไปแล้วอาฬารดาบส อุทกดาบสก็เข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ ได้สมาบัติ ๘ มันก็เข้าไปสู่สมาธิ เข้าไปสู่ฌาน เข้าสู่ฌานสมาบัติก็เข้าไปสู่ความสงบ แต่ความสงบมันแก้กิเลสไม่ได้
นี่เจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษากับเขาหมดแล้ว มันก็เข้าไปด้วยความไม่รู้ไม่เห็นไง เข้าไปเพื่อความสงบ แต่เวลาเจ้าชายสิทธัตถะมากำหนดอานาปานสติ เห็นไหม เวลาเข้าไปสู่ความสงบแล้ว พอสู่ความสงบมันไม่ส่งออก พอไม่ส่งออกมันก็รู้บุพเพนิวาสานุสติญาณ
เวลามันดึงกลับมาอีก นี่ขณะบุพเพนิวาสานุสติญาณก็ส่งออก ออกรู้อะไร? ออกรู้ข้อมูลในจิต ออกรู้ข้อมูลในการเกิดตายของภพชาติ นี่มันก็ส่งออกรับรู้ข้อมูลของใจของตัวเอง แม้แต่รับรู้ข้อมูลของใจก็ส่งออกแล้ว ส่งออกก็คือย้อนกลับมา ย้อนกลับมาถึงจุตูปปาตญาณ มันก็ออกอีก ออกอีก ถ้ามันไม่จบมันก็ยังจุติๆ อยู่
ทีนี้ย้อนกลับมา ดึงกลับมา กลับมาทำลายอาสวักขยญาณ ปัจจยาการ อวิชชา ความไม่รู้ของตัวมันเอง.. นี่มันทำลายตรงนี้ ถ้ามันทำลายตรงนี้ เห็นไหม ถ้ามันทำลายตรงนี้เสร็จแล้วมันใช้ปัญญาไหม? ถ้ามันไม่ใช้ปัญญามันจะเข้ามาได้อย่างไร? ฉะนั้น สิ่งที่ว่าดูจิตๆ มันก็ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา ทีนี้ย้อนกลับเข้ามามันต้องผ่านอะไร?
นี่พูดถึงกระบวนการของมนุษย์ไง ต้องเข้าใจกระบวนการของมนุษย์ กระบวนการของความคิดก่อน ถ้ากระบวนการของความคิด พระพุทธเจ้าทำมาอย่างนี้ พอพระพุทธเจ้าทำมาอย่างนี้ปั๊บ นี่ลูกศิษย์ลูกหาจะทำก็พยายามทำ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเราก็พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้ามา พุทโธเข้ามาเพื่อให้จิตเข้ามาสู่ตัวของมัน เป็นความคิดในแนวลึก..
ในแนวปัจจุบันนี้ ความคิดของเรานี่สามัญสำนึกความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าจิตสงบเข้าไปแล้วมันลึกกว่า ลึกกว่าสามัญสำนึก พอลึกกว่าสามัญสำนึก เวลาปัญญามันเกิด มันเกิดสิ่งที่ลึกกว่าในสามัญสำนึก เห็นไหม สามัญสำนึกก็เหมือนกับทางวิชาการที่เราคิดกันอยู่ นี่สามัญสำนึก แต่เวลามันเข้ามาสู่ความสงบแล้วถ้ามันลงไป เห็นไหม
นี่คำว่าดูจิตๆ ดูจิตเพื่อลงตรงนี้ นี่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนตรงนี้ ดูจิตเพื่อให้ลงตรงนี้ ถ้าดูจิตมันก็ลึกไปกว่าสามัญสำนึก แต่ที่พูดกันอยู่นี่มันสามัญสำนึกใช่ไหม? ที่เขาสอนไง ที่เขาสอนเป็นสามัญสำนึกไง เขาบอกว่า ธาตุที่ปรุงแต่ง ธาตุที่ปรุงแต่งไม่เรียกว่าจิต
เราก็นึกเอาไง ธาตุที่ปรุงแต่งใช่ไหม ก็ความคิดเรานี่ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่รู้ใช่ไหม? แล้วธาตุที่ไม่ปรุงแต่งมันก็ขอนไม้ไง ขอนไม้กลับเป็นจิต ธาตุที่ไม่ปรุงแต่งคือหิน ก้อนหินสะสารใช่ไหม? ธาตุที่ไม่ปรุงแต่ง ธาตุที่ไม่ปรุงแต่งก็ธาตุไง ธาตุหิน ธาตุเหล็ก ธาตุที่ไม่ปรุงแต่ง มันเป็นจิตหรือ? ธาตุที่ไม่ปรุงแต่งเป็นจิตหรือ? อ้าว.. ธาตุที่ปรุงแต่งไม่ใช่จิต ธาตุที่ไม่ปรุงแต่งถึงเป็นจิต แล้วตัวจิตอยู่ไหน?
นี่ไง แต่ถ้าเป็นหลวงปู่ดูลย์นะ ถ้ามันไม่เข้าถึงจิต มันก็ไม่เข้าถึงจิต ถ้าไม่เข้าถึงจิตท่านบอกไม่ใช่ ต้องกำหนดดูเข้าไปอีก ให้เข้าถึงจิต ให้เข้าถึงจิต พอเข้าถึงจิตแล้วนะมันต้องให้วิปัสสนา ให้วิปัสสนา ฉะนั้น ถ้าวิปัสสนามันก็ไปอยู่
นี้เขาบอกว่า กรุณาหลวงพ่อเมตตาให้ว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งที่เป็นมรรค
เป็นมรรคนะ อย่างเช่นคำว่าสติปัฏฐาน ๔ เราบอกว่า เขาบอกว่าสิ่งที่ภาวนากันอยู่นี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ มันก็เหมือนเมื่อกี้นี้ มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นสามัญสำนึกใช่ไหม เพราะเราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา แล้วเราก็รู้
สติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่สติปัฎฐาน ๔ เราก็เข้าใจกันได้ ในเมื่อมีทฤษฎี แล้วเราก็จินตนาการ มันก็เป็นอย่างนั้น เราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ปลอมไง ปลอมเพราะอะไร? เพราะจิตมันไม่สงบ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม ตัวจิตมันรู้ มันเห็น มันมีเจ้าของเป็นผู้บอกได้
มันเป็นส่วนบุคคล เป็นความรู้ของจิต ถ้าเป็นความรู้ของจิต มันก็ถอดถอนกิเลสของจิตดวงนั้น ถ้าไม่มีจิตดวงนั้นไปดู ไปรู้ มันก็เป็นสามัญสำนึก เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า เราก็ไปจำตำรับตำรามา เหมือนกับไปฉ้อโกงโครงการที่ว่าสิ่งที่เป็นลิขสิทธิ์ที่เขาคิดมา แล้วเราก็ไปลอกลิขสิทธิ์เขามา แล้วเราก็จะมาสร้างของเราขึ้นมา มันจะเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ?
แต่ถ้าเราทำของเราขึ้นมา เห็นไหม มันเป็นเราพิสูจน์ขึ้นมา เราวิจัยขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมาเอง ถ้าเราทำของเราขึ้นมาเองเป็นสมบัติของเรา ถ้าจิตมันสงบนะ พอไปเห็นกายมันก็สะเทือนขั้วหัวใจ มันไปเจอเวทนานะ เวทนามันลึกซึ้งกว่าที่เราปวดๆ ไอ้ปวดๆ อยู่นี่มันเป็นปวดสามัญสำนึก ปวดที่เราปวดกันอยู่ นี่ขนาดเครียดจนปวดก็มี หลงตัวเองว่าปวดก็มี แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เวลามันแยกแล้ว ปวดมันคืออะไร? ปวดเป็นนามธรรม
ธาตุรู้ๆ เห็นไหม นี่ที่ว่าสิ่งที่ปรุงแต่งไม่ใช่จิต ธาตุปวดๆ ธาตุปวดมันมีหรือ? ธาตุปวดมันไม่มี แต่ธาตุรู้มันไปยึดมั่นถือมั่นของมัน ถ้าธาตุรู้มันพิจารณาของมันไป มันปล่อยอาการปวด มันก็ปล่อยของมันได้
นี่สติปัฏฐาน ๔ จริงมันต้องมีตัวจิต สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดจากบนหัวใจของสัตว์โลก เพราะสัตว์โลกมันพิจารณามันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ทีนี้สติปัฏฐาน ๔ ที่อ่านกันมามันเป็นชื่อ สติปัฏฐาน ๔ โดยชื่อ แล้วก็เชื่อว่าอย่างนั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วพอทำอะไรขึ้นมาก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันก็พยายามจะให้ค่ามัน
นี่พูดถึงว่าถ้ามันเป็นมรรคไง ถ้าเป็นมรรค จิตมันต้องสงบเข้ามานะ จิตมันสงบเข้ามา ถ้าพูดเป็นองค์ธรรม สติธรรม สมาธิธรรม.. สมาธิก็เป็นธรรมอันหนึ่ง เป็นมรรคองค์หนึ่ง เห็นไหม นี่สติก็เป็นมรรคองค์หนึ่ง สมาธิก็เป็นมรรคองค์หนึ่ง มรรค ๘ องค์ นี่ครบองค์ประกอบของมัน นี่พอครบองค์ประกอบของมัน เราใช้คำว่าหน่วยกิต หน่วยกิตนะถ้าเราส่งครบใช่ไหม? หน่วยกิตมันผ่านหมด ทุกอย่างนี่กระบวนการของมรรคมันก็เกิด
นี่มันมีมรรค ๘ มันมี ๘ หน่วยกิต แล้วก็บอกว่า เรามีอยู่แล้ว เราครบอยู่แล้ว มันไม่ใช่หน้าที่ของเรานะจะมีครบหรือไม่มีครบ มันหน้าที่ของธรรมะ หน้าที่ของอริยสัจ หน้าที่ของข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงเราทำของเรา ข้อเท็จจริงมันเป็นกระบวนการของมัน มันถึงจะเป็นมรรค แล้วก็มีมรรคอย่างกลาง มรรคอย่างละเอียด เห็นไหม
ดูสิฆราวาส นี่มรรคของฆราวาส สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ ไม่ทำความผิดนี่ก็มรรคของฆราวาส มรรคหาเลี้ยงปาก แล้วมรรคหาเลี้ยงใจล่ะ? มันก็ลึกซึ้งเข้าไปไง
ฉะนั้น จะบอกว่ามันมีตัวรู้.. นี่รู้ตัวหรือรู้คิดไง? มันเป็นธาตุรู้ ธาตุคือชีวะ ชีวะนี่ธาตุรู้ พระพุทธเจ้าบอกเลย พระสารีบุตรนะเวลาไปเถียงกับนักบวชนอกศาสนาไง
หนึ่งไม่มีสองคืออะไร?
หนึ่งไม่มีสอง เขาก็คิดไม่ถูก พอพระพุทธเจ้าบอกว่า นี่อยากรู้ไหม? อยากรู้ให้มาบวช
พอบวชแล้วสอนพุทโธ พุทโธนี่แหละ พอเข้าไปถึงที่สุดแล้วไม่ถามเลย
ธาตุรู้ หนึ่งไม่มีสอง! แต่ถ้ามนุษย์เรามันเป็นของคู่ มันมีสองหมด ไม่ใช่หนึ่งไม่มีสอง แล้วธาตุรู้มันอยู่บนอะไร? อยู่บนกาลเวลา กาลเวลานี่ชีวิตมันก็มี ถ้าไม่อยู่บนกาลเวลามันก็ดับ
นี่พูดถึงว่าจิตเห็นจิตที่เป็นมรรค ฉะนั้น สิ่งที่จิตเห็นจิตเป็นมรรคมันเป็นอาการภายใน แต่ที่เขาพูดกันอยู่นี้มันเป็นจินตนาการ พอมันเป็นจินตนาการมันก็สร้างภาพ เหมือนกับทำหนังสารคดี เราจะทำหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง แล้วเราก็ฉายให้พวกโยมดู โยมไปนั่งดูก็ อืม.. แหม ใครสร้างหนังเรื่องนี้นะ โอ๋ย.. มันสมจริงสมจัง แหม.. มันให้ข้อเท็จจริงได้หมดเลย
ธรรมะของพระพุทธเจ้า มันก็เหมือนหนังสารคดี พระพุทธเจ้าสร้างไว้ชัดเจนแล้ว แล้วเราก็ไปดูกัน แล้วเราก็มาสร้างกัน สร้างเป็นหนังสารคดี แล้วเราก็ว่านี่กระบวนการของดูจิตต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แล้วก็ว่ากันไป ถ้ามันเป็นจริง หนังสารคดีนะเอ็งสร้างเรื่องอะไร? จะสร้างหนังผี หรือจะสร้างหนังธรรมะ แล้วเอ็งจะทำอะไรกัน
ทีนี้พอทำไปแล้ว คนดูนี่ถ้าเราทำให้สมจริงสมจังใช่ไหม? แล้วเด็กมันดูนะ เด็กมันก็เชื่ออย่างนั้นไป เด็กมันดูมันก็เชื่ออย่างนั้นไปว่าความจริงเป็นแบบนั้น แต่ความจริงไม่ใช่ นี้มันเป็นพ็อตเรื่องที่เขาสร้างขึ้น ไม่ใช่เป็นความจริง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นความจริง ในการปฏิบัติครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง ทุกคนต้องเป็นผู้ที่สร้างหนังสารคดีของตัวเอง จะไม่มีแนวทางไหนทำแล้วเหมือนกัน
ไม่มีอาหารชนิดใดในโลกนี้ ทุกคนจะอร่อยไปหมด จิตเหมือนกัน การภาวนาเหมือนกัน จะให้เป็นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ นี่อย่างเช่นว่าดูจิตๆ คนทำได้ก็มี คนไม่ถนัดก็มี แต่ในปัจจุบันนี้ทำได้กันหมดเพราะอะไร? ทำได้กันหมดเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนพอใจไง สิ่งที่คนต้องการความสะดวก ต้องการความสบาย
ทีนี้ความสะดวกสบาย คำว่าคนดีไง คำว่าเป็นคนดีๆ ทุกคนว่าเป็นคนดี นักภาวนาใช่ไหม? พอนักภาวนาทำแล้ว ในสังคมก็ว่าดีไปหมดเลย.. มันเป็นการเอาขยะซ่อนไว้ใต้พรม เอากิเลส เอาทิฐิมานะ เอาความเห็นของตัว หมกไว้ในใจของตัว แล้วก็ว่าสบาย สบาย แต่จริงๆ เอาอะไรหมกไว้ในใจหรือเปล่า?
นี่เอาสิ่งใดไปซ่อนไว้ในหัวใจ แล้วก็บอกว่าธาตุที่ปรุงแต่งไม่เรียกว่าจิต สิ่งที่ปรุงแต่ง ธาตุที่ปรุงแต่งไม่ได้เรียกว่าจิต ธาตุที่ปรุงแต่งได้ แต่ธาตุที่ปรุงแต่งไม่ได้เป็นอาการของจิต ธาตุที่ปรุงแต่งไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต แต่ธาตุ...
อ่านเต็มๆ ดีกว่า อุบายภาวนาของเขานะ เขาเขียนมาให้ดู
ถาม : อุบายการภาวนาให้หาน้ำเย็นมาหนึ่งแก้วดื่มลงไป นั่งนิ่งๆ มีสติและรู้ตัวตามน้ำเย็นไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สังเกตไปเรื่อยๆ น้ำเย็นจะค่อยๆ แผ่วตรงสุดท้ายที่ความเย็นหยุดนิ่ง ให้เอาเป็นฐานระลึกรู้ของการภาวนา จะภาวนาอย่างใดก็ได้ แต่จริงๆ ตรงนั้นคือตัวผู้รู้ (นี่กินน้ำเข้าไปแล้วเป็นตัวผู้รู้นะ)
จะลืมตาหรือไม่ลืมตาก็ระลึกรู้อยู่ตรงนี้ได้ ให้รู้สึกอยู่ตรงน้ำ การกำหนดตรงนี้แตกต่างจากการกำหนดลมที่มีลมเข้า ลมออก เพราะตรงนี้น้ำเป็นตัวนำทางความรู้สึกเข้าไป และระลึกรู้อยู่ตรงนี้ ตรงความเย็น ตรงน้ำหยุดอยู่ ดูผู้รู้สึกรู้ตรงนี้เป็นฐานการระลึกรู้ การภาวนา หลับตาก็รู้ ความรู้ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับลม ลมคือธาตุลม ธาตุรู้ก็คือธาตุรู้ ส่วนนักปฏิบัติเอาลมเป็นธาตุรู้ (เขาว่าของเขานะ) แต่ที่อาตมาปฏิบัติมามันไม่เกี่ยว ธาตุรู้ก็คือธาตุรู้
หลวงพ่อ : แม้แต่ธาตุยังสับสนเลย ถ้าธาตุยังสับสน มันก็สับสนไปใหญ่
นี่เขาว่า ความเย็นหายไป แล้วความเย็นอยู่กับการภาวนา ตรงนี้คือการทำความฟุ้งซ่าน การปรุงแต่งจิตจะแล่นไปกับกาย เขาว่าไปเรื่อย จนมาถึงตรงนี้ไง
ถาม : จิตที่ว่าปรุงแต่งไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต ถ้าไปถึงจิตแล้วจิตจะนิ่งอยู่ตลอดเวลา เวลารู้สึกจะเคลื่อนไหวไปตามกายที่เคลื่อนไหว อยู่ในตำแหน่งรู้ และนิมิตก็จะหมดหายไปเอง ในตัวของเราคือจิต ตัวผู้รู้เป็นตัวจิต ไม่ใช่อาการของจิต แต่จะให้ความยึดมั่นถือมั่นนอกจากผู้รู้ไม่มี
หลวงพ่อ : อืม.. งง ยิ่งอ่านก็ยิ่งงงนะ
จิตที่ปรุงแต่งไม่ใช่จิต แต่เป็นอาการของจิต ถ้าไปถึงจิตแล้ว จิตจะนิ่งอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกจะเคลื่อนไหวไปตามกายที่เคลื่อนไหว จิตจะนิ่งอยู่ตลอดเวลา
อืม.. ขังมันไว้สิ เอาจิตขังไว้มันเลยนิ่ง
แต่อยู่ในตำแหน่งรู้
ไม่ได้หรอก! ไม่ได้! จิตจะนิ่ง จิตจะเป็นสมาธิมาแต่เหตุ ถ้ามีเหตุ มีการกำหนดพุทโธเข้าไป จิตมันถึงเข้าไปนิ่งได้ ถ้าดูจิต.. ดูจิตคือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันจะแยกแยะเข้าไปจนสู่มันจะเป็นสมาธิ แล้วมันคลายตัวออก พอจิตเข้าขณิกสมาธิแล้ว เข้าสมาธิแล้วมันคลายออกมันไม่อยู่ของมันหรอก ถ้าจิตมันนิ่งอยู่ เคลื่อนไหวนิ่งๆ อยู่ จิตเป็นอย่างนั้นไม่มี
นี่เพราะจิต เห็นไหม เขาว่าธาตุที่ไม่ปรุงแต่งเป็นจิตอะไรเนี่ย อื้อฮือ.. ก็คิดว่ามันตายตัวไง แต่ความจริง ความรู้สึกเราตายตัวได้ไหม? ความรู้สึกเราไม่มีตายตัวนะ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย แต่มันจะดีได้เพราะมีสติ มันจะมีสติของมัน
ฉะนั้น นี่พูดถึงว่าเขาถามเนาะ เขาถามว่า จิตเห็นจิตแจ่มแจ้งเป็นอย่างใด
ถ้าจิตเห็นจิตแจ่มแจ้งนะ จิตมันเห็น พอมันปล่อย เวลาเรากำหนดนะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่เราใช้ปัญญาเรา ตามความคิดเรานี่แหละ ความคิดเรา ความคิดที่มันทุกข์ยาก เรามีสติตามมันไป ตามความคิดมันตลอดไป พอตามความคิดไป พอสติมันทันมันหยุด พอสติมันทันมันหยุดนะ พอสติมันทันความคิดมันจะหยุด
นี่เราเอาสติตามความคิดไป พอตามความคิดมันจะหยุด จะหยุด พอหยุดก็คิดอีก เอาสติตามความคิดไป ตามความคิดไป ตามความคิดไปเดี๋ยวก็หยุดอีก แล้วเดี๋ยวก็ตามความคิดไป นี้คือปัญญาอบรมสมาธิไง ปัญญาอบรมสมาธิ หลวงตาสอนว่า
ถ้าพุทโธ พุทโธ เหมือนเราโค่นต้นไม้ เราโค่นที่โคนต้น พอเราโค่นที่โคนต้น ต้นไม้มันล้มลง มันจะล้มลงเสียงดังมาก แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิเหมือนกับเราขึ้นต้นไม้นะ เราลัดทอนกิ่งมันทีละกิ่ง
เหมือนเราขึ้นต้นไม้เราตัดกิ่งต้นไม้ลงมาทีละกิ่งๆ เห็นไหม กิ่งมันเล็กๆ มันก็ลงมาทีละกิ่ง ละกิ่ง แล้วก็ตัดมาเรื่อยๆ จนเหลือสุดท้ายนะเราตัดลงมาจนถึงโคนต้น แต่ถ้าเป็นพุทโธ พุทโธ ถ้าสมาธิอบรมปัญญานะ ดูสิต้นไม้ใหญ่ๆ เราเลื่อยที่โคนต้น เวลามันล้มดัง ตูม! เลยใช่ไหม?
พุทโธ พุทโธ พุทโธเหมือนโค่นต้นไม้ทั้งต้น แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ เหมือนเราขึ้นไปบนต้นมันแล้วละกิ่งมัน ทอนกิ่งลงมาทีละกิ่ง ละกิ่ง ละกิ่ง พอทอนกิ่งลงมามันก็สั้นลงๆ จนถึงที่สุดเราตัดโคนต้นมันก็ล้มเหมือนกัน นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ
ฉะนั้น เราใช้สติไล่ความคิดไป ไล่ความคิดไป ตามความคิดไป ตามความคิดก็เหมือนกับมันทอนทีละกิ่งไง ทอนทีละกิ่ง เห็นไหม นี่คิดเรื่องนี้มันก็ตัดทิ้ง คิดเรื่องนี้มันก็ตัดทิ้ง คิดเรื่องนี้ก็ตัดทิ้ง คิดเรื่องนี้ก็ตัดทิ้ง ตัดไปเรื่อยๆ ตัดไปเรื่อยๆ พอตัดแล้วมันก็หยุด พอหยุดแล้ว พอเราตัดกิ่งนี้ปั๊บมันก็งอกอีก ตัดกิ่งนี้มันก็งอกอีก เพราะมันหยุดเดี๋ยวมันก็คิดอีก เราก็ตัดกิ่งไปเรื่อยๆ ตัดกิ่งไปเรื่อยๆ ตัดกิ่งไปเรื่อยๆ
นี้คือปัญญาอบรมสมาธิ พอมันตัดแล้วมันหยุด มันหยุด มันหยุด นั่นล่ะ จิตพอมันหยุดเข้าไปมันรู้ตัวชัด พอมันตัดบ่อยครั้งเข้า พอกิ่งมันลงไปทีละกิ่ง ละกิ่ง เราจะเห็นจิตเรามั่นคงเลย เห็นจิตเรามั่นคง เห็นจิตมั่นคงไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นมันก็รู้สิ ว่าถ้ามันจะคิด มันจะฟุ้งซ่านนี่มันเพราะอะไร? แล้วถ้าเรามีสติเราตามความคิดเราอยู่ เห็นไหม นี่จิตมันจะเห็นตัวมันเอง จิตมันจะมั่นคงของมัน ถ้ามั่นคงของมัน นี่ปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป พอพิจารณาเห็นเป็นสมาธิแล้ว พอเวลามันออกรู้ เห็นไหม พอมันออกรู้นี่มันไปเห็นอาการ เห็นอาการของจิตไง
จิตเห็นจิตโดยแจ่มแจ้ง
จิตเห็นจิตโดยแจ่มแจ้งนี้เป็นมรรค ถ้าคำว่าเป็นมรรค จิตมันสงบแล้วมันพิจารณาของมัน มันถึงจะเป็นมรรค พอเป็นมรรคแล้วมันพิจารณาของมันไป เพราะสุดท้ายแล้วมันก็เข้ามาอันเดียวกับอะไรนะ เข้ามาอันเดียวกับมรรคไง เข้ามาอันเดียวกับสมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ เข้ามาสู่อริยสัจ เข้ามาสู่อันเดียวกันกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ฉะนั้น มันถึงเป็นมรรคจริง
โฮ้... เพราะมันเป็นอยู่ในที่เขามีปัญหากัน แล้วเขาก็ถามมาทางนี้
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค
แต่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค แต่ถ้าจิตเห็นจิตอย่างนี้ มันเป็นความคิด ความคาดหมาย ความที่เขาคิดกันไปเองเนาะ ฉะนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้ว เขาถามมา เขาอยากให้พูด เขาบอกว่าอยากให้พูดมาก เพราะพูดแล้วมันจะได้เป็นบรรทัดฐาน ถ้าไม่พูดมันก็เป็นอย่างนี้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าธาตุนี่ธาตุอะไร? ธาตุที่เป็นธาตุ กับธาตุที่เป็นรูปและเป็นนาม ถ้าเป็นนามคือความคิด ถ้าเป็นธาตุก็เป็นรูป ถ้าเป็นรูปแล้วนี่ รูปมีชีวิตไหม? นี้เพียงแต่ว่าเวลาภาวนาไปแล้ว เห็นไหม อย่างที่เราพูดบ่อยว่าความรู้สึกนึกคิดก็เป็นรูปเหมือนกัน เป็นรูปเหมือนกันคือถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันจะละเอียด พอละเอียดก็อย่างที่ว่าหลานของพระสารีบุตร เห็นไหม ที่พระพุทธเจ้าเทศน์หลานพระสารีบุตร
ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใด เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึก เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เปรียบเหมือนวัตถุอันหนึ่ง
มันเป็นวัตถุอันหนึ่งเลย เห็นไหม ถ้าวัตถุอันหนึ่งท่านให้เปรียบชัดๆ แต่เราก็ว่าเป็นวัตถุธาตุเพื่อให้มันเห็นภาพชัด มันเป็นเหมือนวัตถุธาตุเลย ท่านใช้คำว่า
อารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง เธอต้องรังเกียจอันนั้นด้วย แล้วก็วางอันนั้นให้ได้
พระสารีบุตรฟังอยู่นะก็วางเลย แต่มันก็เป็นนามนี่แหละ เป็นนามแต่ว่าจิตมันดี สติมันดี สมาธิมันดี มันรู้ มันเห็น แล้วมันจับต้องได้ แล้วมันแยกแยะได้ มันเลยภาวนาได้ แล้วมันปล่อยได้ไง มันเลยกลายเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม.. นี่จิต ธรรม มันเป็นนามธรรม แต่ว่าสติปัญญามันทัน ทีนี้เวลามันภาวนาสูงขึ้นไปแล้วมันมีปัญญาของมัน มันแยกแยะของมัน มันทำของมันได้ แล้วจะพิสูจน์ของมันได้
ฉะนั้น อันนั้นเป็นความจริงอันหนึ่ง แต่อย่างนี้มันก็เป็นความรู้สึกนึกคิด แล้วมันก็ว่ากันไปเนาะ ฉะนั้น คำว่า จิตเห็นจิตแจ่มแจ้งเป็นมรรค เราก็อธิบายแล้ว แต่มันต้องมีตุ๊กตา ถ้ามีตุ๊กตา มีตัวอย่างนะ เพราะอธิบายนี่อธิบายโดยเป็นหลัก แต่ถ้ามันแบบว่าเหมือนกับกาลเวลา เวลาตอนช่วงเช้าก็อุณหภูมิอย่างหนึ่ง ตอนกลางวันก็อย่างหนึ่ง เย็นก็อย่างหนึ่ง
นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์ของคน คนที่ปฏิบัติเวลาผลกระทบมันแรง มันหนัก มันเบา มันก็มีเหตุผล คือว่าเขาเรียกว่าอะไรนะ เหตุไง เหตุมันต่าง ปัจจัยมันก็ต่าง เห็นไหม เหตุมันต่าง ปัจจัยก็ต่าง ทีนี้เวลาเหตุมันแตกต่างกัน มันจะเอาธรรมะตายตัวไปสรุปไม่ได้
เหตุปัจจัยมันแตกต่าง ความเกิดขึ้นกับความกระทบก็แตกต่าง ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมันก็มีตรงนั้นเข้ามาส่งเสริมด้วย ถ้ามันจริงมันก็จริง ถ้าไม่จริงมันก็จบเนาะ เอวัง