ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กิเลสเสนอ

๒๔ ก.ค. ๒๕๕๔

 

กิเลสเสนอ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหาธรรมะ นี่ธรรมะคือสิ่งที่เป็นนามธรรม ดูนะอย่างในศาสนา เห็นไหม ศาสนวัตถุคือวัตถุ วัดวาอาวาส สิ่งต่างๆ แต่พวกเราว่าสิ่งนั้นคือศาสนา เพราะเวลาเราไปวัด ถ้าวัดไหนสร้างวิจิตรพิสดาร พวกเราจะ แหม.. ตื่นเต้นมากเลย แต่เวลาเราไปวัดป่า ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ต้นไม้

แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่ปฏิบัตินะ หลวงตาท่านไปเที่ยวที่ไหนกลับมานะ ท่านจะเล่าให้ฟัง ตอนสมัยอยู่กับท่าน ท่านจะบอกไปที่นั่นมา ที่นั่นดี ไปที่นั่นมา ที่นั่นปานกลาง ไปที่นั่นมา ที่นั่นแย่มาก.. คำว่าแย่มาก เห็นไหม อย่างเช่นถ้าเราไปวัดนะ วัดที่ไหนดี ความสงบสงัดนี่นะ ความเป็นสัจธรรม สัจธรรมคือความเป็นของจริงนี่รักษายากมาก รักษายากมาก

ฉะนั้น นั่นแหละสิ่งนั้นดีที่สุด ดีที่สุดเพราะอะไร? ดีที่สุดเพราะว่าหัวหน้ามีหลัก ถ้ามีหลักใจนะสิ่งนั้นจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีหลักใจนะ ดูสิเวลามานี่ทุกคนก็สงสาร ทุกคนก็อยากจะสร้างนู่นให้ อยากสร้างนี่ให้ ถ้าเราไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่นะ เขาจะขึงไฟมาจากไหนเข้าวัดให้ได้ เขาจะขุดน้ำไปถึงวัดให้ทั้งนั้นแหละ มีแต่คนจะมาช่วยส่งเสริม ถ้าหัวหน้าไม่มีหลักนะ สิ่งที่รักษาไว้โดยความเป็นจริง โดยธรรมชาตินี่ยากมาก เพราะว่าถ้าเป็นผู้ที่มีหลัก

คำว่าปฏิเสธเขา เขามีเจตนาดี เขาหวังดี เขาทำดีทุกอย่างเลย แต่ไม่ยอมตอบสนองเขานี่พูดยากที่สุด.. นั้นพูดถึงสิ่งที่ว่าเรื่องของศาสนาใช่ไหม? ศาสนวัตถุ เราเห็นชัดเจนมากเลย วัตถุที่ไหนเจริญรุ่งเรือง วัตถุที่ไหนดีมาก โอ้โฮ.. ที่นั่นดีมากๆ แต่เราไม่เห็นข้อวัตรปฏิบัติตามความเป็นจริง

“ศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล ศาสนธรรม”

ศาสนธรรมนี่สำคัญมากเลย ศาสนธรรมคือคำสั่งสอน คือสัจธรรม สัจธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ? นี่ศาสนาเป็นนามธรรมๆ ไง นี้มันจะเข้าปัญหา เพราะปัญหามันถามมาอย่างนี้

ถาม : บรรดาสิ่งมีชีวิตเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสาร จากสัตว์เป็นมนุษย์ มนุษย์เป็นเทวดาเป็นต้น ขอเรียนถามว่าบรรดาพืชทั้งหลาย สามารถเวียนเกิดมาเป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หลวงพ่อ : เพราะมันเป็นความจริงอยู่แล้ว มันเป็นความจริงอยู่ว่า สิ่งมีชีวิต แต่มีวิญญาณครองอยู่หรือไม่มีวิญญาณครอง มันเป็นสิ่งมีชีวิตใช่ไหม? พืชมันเป็นสิ่งมีชีวิตใช่ไหม? แต่ไม่มีวิญญาณครอง แต่เวลาพวกรุกขเทวดา รุกขเทวดาเขาอาศัยบนต้นไม้ อาศัยอยู่โคนไม้ อาศัยอยู่บนยอดไม้ นั่นรุกขเทวดา

นี่สิ่งที่มีชีวิต แต่มันก็มีเทวดา มีสิ่งมีชีวิตที่เป็นนามธรรมอีกชั้นหนึ่งมาอาศัยอยู่บนนั้น นี่พูดถึงพืชนะ ฉะนั้น วิญญาณสำคัญกว่า วิญญาณครอง นี้ถ้าไม่มีวิญญาณครอง ตอนนี้นะมันก็แบบว่ามันกลายพันธุ์ พืชก็เป็นพืช มันไม่เป็นสิ่งมีชีวิต ฉะนั้น มันถึงแบบว่ามาเกิดเป็นคนไม่ได้ เกิดเป็นคนไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีวิญญาณครอง แต่เขามีชีวิตของเขาแต่ไม่มีวิญญาณครอง อันนี้จบกันไป

นี่เราถึงว่าสิ่งมีชีวิต ชีวะสำคัญ สำคัญคืออีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้น คำว่าสำคัญก็สำคัญ แต่! แต่วิญญาณครองนี่เกิดภพชาติไง ฉะนั้น สิ่งนั้น.. เพราะเวลาวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์นะ เวลาพิสูจน์ต้นไม้ เวลาเปิดเพลงให้มันฟัง มันมีความสุขของมันนะ

ต้นไม้เขาปลูกไว้นะ แล้วโทษนะ เขาปลูกไว้ ๒ ต้น ต้นหนึ่งเปิดเพลงให้ฟัง อีกต้นหนึ่งไปยืนด่าทุกวัน ต้นที่ยืนด่าทุกวันมันหงอย มันเศร้าของมันนะ ไอ้ต้นไหนที่เปิดเพลงให้มันฟังนะ โอ๋ย.. มันสดชื่น มันชุ่มชื่นของมันนะ

นักวิทยาศาสตร์เขาทดสอบทั้งนั้นแหละ เขาลองทั้งนั้นแหละ นี่มันมีความรู้สึกของมันอยู่นะ เวลาเราปลูกบ้าน เห็นไหม ดูมันหนีสิ มันแย่งอากาศกัน มันจะหนีของมัน มันต้องชูขึ้นเอาอากาศ นี่มันสิ่งมีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณครอง

ทีนี้ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาสัตว์กับมนุษย์ เห็นไหม มนุษย์นี่สามารถบรรลุธรรมได้ สัตว์นี่ทำความดีได้ บอกว่าสัตว์บรรลุธรรมไม่ใช่นะ ดูสิท้าวโฆษก นั่นสัตว์นะ นั่นเป็นสุนัข แต่ทำไมเขาไปเกิดเป็นเทวดาล่ะ? สัตว์ไปเกิดเป็นเทวดาได้ แต่สัตว์บรรลุธรรมไม่ได้ไง สัตว์บรรลุธรรมไม่ได้แต่มนุษย์ได้ นี่มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

อันนี้อันหนึ่ง เรื่อง “สิ่งมีชีวิต เป็นได้หรือไม่ได้”

ถาม : บุพกรรมแปลว่าอะไรคะ

หลวงพ่อ : บุพกรรม ถ้าพูดถึงขยายความนี่มันคลุมหมดเลยนะ เพราะอะไร? เพราะศาสนาสอนให้เชื่อเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำ พอสอนให้เชื่อเรื่องกรรมพวกเราก็มือเท้าอ่อนเลย ให้เชื่อเรื่องกรรมก็เรื่องที่เป็นผลของมันไง เป็นวิบากที่เราต้องยอมรับทั้งหมดเลย แต่คำว่าเชื่อเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำ เชื่อเรื่องการทำดี ทำชั่วของเรา นี่คือการเชื่อกรรม

ไม่ว่าพอเชื่อกรรมๆ กรรมอะไรมานี่ กรรมที่มันมาเพราะอะไรล่ะ? บุพกรรมไง บุพกรรมคือมันเป็นวิบาก คือมันเป็นผล แต่วิบากนี้แบบว่าเราฝืนได้ เราขืนได้ เราใช้คำว่าขืนเลยนะ ถ้าเราไม่ขืนนะเราก็ปล่อยไหลไปตามกรรม เห็นไหม สิ่งใดนี่พอมันบุพกรรมใช่ไหม เราเกิดมาเป็นอย่างนี้ปั๊บ เรายอมรับอย่างนี้ปั๊บ เราก็ไหลไปตามมันเลย แล้วก็มือเท้าอ่อนเลย ยอมรับความเป็นจริงนั้นตลอดไปหรือ?

นี่บุพกรรมมันมีจริง! ดูเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาเกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะปรินิพพาน บอกว่า

“อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน”

โอ้โฮ.. พระอานนท์นี่รักมากนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“เรากระหายน้ำเหลือเกิน”

พอดีเกวียนมันเพิ่งผ่านไป เห็นไหม พระอานนท์บอกว่า

“ขออาราธนาไปฉันข้างหน้าเถิด น้ำมันขุ่นมาก”

“อานนท์ เรากระหายเหลือเกิน เรากระหายเหลือเกิน”

พระอานนท์ก็จำใจ จำใจไป เพราะสมัยพุทธกาลมันไม่เจริญแบบนี้ เครื่องใช้ไม้สอยมันจะไม่มี ก็จะเอาบาตรของพระพุทธเจ้าไปตักน้ำ พอเริ่มจะตักลงไป บริเวณนั้นใสหมดเลย เห็นไหม ถ้าธรรมดา กรรมนี่ เพราะแม่น้ำทั้งสายโดนเกวียนมันทำให้ขุ่น มันต้องขุ่นทั้งสาย แต่ทีนี้พอจะตักไป บริเวณนั้น บริเวณที่จะตักนี่ใส ก็ตักน้ำมา โอ้โฮ.. พระอานนท์ทึ่งเลยนะ

คนเราถ้าไม่ไปเจอกับตัวเองไม่เชื่อหรอก ต้องประสบกับตัวเอง พอมันใสนี่ตักมาให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉัน ก็ดื่ม พอดื่มเสร็จแล้วพระอานนท์ก็ถาม

“สิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยเป็นก็เป็นแล้ว”

สิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยเป็นเพราะน้ำมันขุ่นมาก แต่เวลาจะตักทำไมมันใสล่ะ?

“อานนท์ มันเป็นเช่นนี้เอง” พระพุทธเจ้าไม่มีแบบว่าหวั่นไหวอะไรเลย

“อานนท์ มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นกรรมของเรา เหตุที่น้ำขุ่นเพราะว่าเมื่ออดีตชาติชาติหนึ่งเราเป็นพ่อค้าโคต่าง ขณะที่ว่าเราเทียมเกวียนไป โคมันไปเล่มหลังใช่ไหม? น้ำมันขุ่น โคอยากกินน้ำมากเราก็คิดแบบพระอานนท์ คืออยากให้ไปกินน้ำใสๆ รักโคของตัวมากก็เลยรั้งไว้ กะจะไปดื่มข้างหน้า แล้วสุดท้ายก็แบบว่าปล่อยให้ดื่มไง”

“อานนท์นี่บุพกรรม มันเป็นกรรมของเราเอง เราเคยทำมาเมื่อชาติหนึ่ง เราเป็นพ่อค้าโคต่าง”

นี่ไง พูดถึงพระพุทธเจ้าก็ยังมีบุพกรรม มีกรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ แล้วทำไมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ? ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝืนขนาดว่าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาได้ล่ะ? สิ่งที่เป็นบุพกรรมเราก็ยอมรับ อย่างเช่นเรานี่ เราเกิดมา เห็นไหม พระเขาบอกว่าทำไมหลวงพ่อต้องเป็นเจ๊กด้วยล่ะ? หลวงพ่อทำไมไม่เป็นคนไทยล่ะ?

อ้าว.. ก็กูเป็นเจ๊กแล้วให้กูทำอย่างไรล่ะ? อ้าว.. ถ้ากูเป็นเจ๊กแล้วกูไม่ต้องทำอะไรเลย กูเป็นเจ๊ก กูยอมรับความเป็นเจ๊กแล้วกูทำอะไรไม่ได้เลยหรือ? อ้าว.. เป็นเจ๊กก็เป็นเจ๊กสิ เป็นเจ๊กก็ยังเป็นคน เป็นเจ๊กก็บวชพระได้ เป็นเจ๊กก็ภาวนาได้ทำไมล่ะ?

นี่บุพกรรม เห็นไหม บุพกรรมถ้ามันเกิดแล้วก็เท่านั้นแหละ ขืนได้ เราขืนของเรา เราขืนจะทำคุณงามความดีของเรา.. มี! มีพวกเณรนี่เราไปอยู่อีสานไง เวลาพวกเณรมันรัก มันบอกว่าทำไมครูบาต้องเป็นเจ๊กด้วยล่ะ? มันรับไม่ได้ มันอยากให้เราเป็นชนชาติเดียวกับเขาไง เราอยู่อีสานเณรมันถามเลย “ทำไมครูบาต้องเป็นเจ๊กด้วย?”

แสดงว่ามึงไม่ชอบเจ๊กเลย ถ้ามันไม่ชอบเจ๊ก เราก็ต้องตายแล้วเกิดใหม่เป็นคนไทยใช่ไหม? แล้วจะได้มาเป็นคนดีด้วยกันใช่ไหม? เออ.. เราเป็นเจ๊กก็เป็นคนดีได้

บุพกรรม! ทีนี้บุพกรรมส่วนบุพกรรม นี่พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ สอนให้เชื่อ สอนให้ยอมรับความจริง แต่ความจริงพระพุทธเจ้าบอก

“คนเราไม่ใช่ดีเพราะการเกิด ไม่ใช่ชาติตระกูล ดีเพราะการกระทำ”

คนเราไม่ใช่ดีเพราะการเกิดมาชาติสูงส่ง ชาติสูงส่งแล้วถ้าเราไม่รักษาเกียรติของเรา ชาติก็คือชาติ ก็เกิดเหมือนกัน คนเราไม่ใช่ดีเพราะการเกิด คนเราดีเพราะการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ฉะนั้น เราต้องมั่นใจของเรา

ฉะนั้น ถ้ามีกรรมมา.. กรรมก็คือกรรม ยอมรับ แต่จะฝืนทำดี จะฝืนมัน จะทำให้ได้ จะเป็นจะตายก็สู้ ถึงที่สุด ตายก็สละตาย เพราะไม่ทำมันก็ตายอยู่แล้ว ฉะนั้น มันต้องสละ สู้เต็มที่เลย แล้วสู้ให้มันถูกด้วยนะ ถ้าไม่ถูกมันจะตายฟรี ตายเปล่าๆ ตายด้วยความทุกข์

นี่พูดถึงบุพกรรม ฉะนั้น ถ้าบุพกรรมแล้วนี่ กรรมมันมีอยู่แล้ว หายใจก็เป็นกรรม ดูสิพวกเชน เห็นไหม แก้ชีเปลือยหมดเลย แล้วเขาบอกพระนี่ยังไม่ปล่อยวาง เพราะพระยังห่มจีวรอยู่ เขาปล่อยวางหมดเลย เขาแก้ผ้าชีเปลือยเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้เขามีผ้าปิดจมูกไว้ เขาบอกว่ามีชีวะ มีสิ่งมีชีวิตในอากาศ เขาหายใจเขากลัวเป็นกรรม โอ้โฮ.. ปวดหัวเลยนะ

เขาปล่อยวางหมดแล้วนะ เขาเป็นพระอรหันต์หมดนะ พวกเชน พวกชีเปลือยไง เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ในอินเดีย เดี๋ยวนี้รัฐบาลเขาบังคับแล้ว เขาให้ใส่ปลอกผ้า แล้วเมื่อก่อนเขาชีเปลือยหมดนะ แต่เขามีผ้าผืนหนึ่งปิดจมูกไว้ เขาบอกว่าในอากาศมันมีชีวิต นี่ไงบุพกรรม กรรมมันมีทั้งนั้นแหละ แม้แต่หายใจก็มีกรรม แล้วทำอย่างไรต่อ? จะไม่ให้กระทบอะไรเลยหรือ?

อย่างครูบาอาจารย์เราเป็นบางองค์นะ อย่างเช่นหลวงปู่แหวนท่านไม่ยอมไปโรงพยาบาล หลวงปู่มั่นนี่ไม่เด็ดขาด แต่หลวงปู่มั่นไปบ้างเป็นบางคราว ฉะนั้น หลวงปู่หล้าวัดภูจ้อก้อท่านเห็นไง หลวงปู่หล้าวัดภูจ้อก้อท่านเป็นไส้เลื่อน เขานิมนต์มาโรงพยาบาล แค่ทำนิดเดียวก็หายท่านไม่ยอม ท่านทนอย่างนั้นแหละ

ไปบิณฑบาตกลับมา ก่อนจะเข้าวัดนะท่านจะไปที่โคนไม้นะ แล้วก็นอนเอาเท้าขึ้นให้มันไหลกลับมาไง ไม่ไปโรงพยาบาล ท่านไม่ยอมทำ เห็นไหม เพราะท่านบอกว่าตัวเชื้อโรคมันก็มีชีวิต พระบางองค์คิดอย่างนั้นเลยนะ ไม่ยอมทำอะไรทั้งสิ้น อยู่กับความจริง อย่างนี้บุพกรรมเราจะฝืนไหม? ถ้าเราฝืนนะมันมีทั้งนั้นแหละ ถ้าบอกเชื้อโรคมันเป็นชีวะล่ะ เราฆ่ามันไหม? เราทำลายมันไหม? แล้วเอ็งจะฆ่าไหม? เอ็งจะรักษาตัวเองไหม?

นี่พูดถึงความคิดคนมันหลากหลายมากนะ แล้วความคิดนี่มันแบบว่าถ้าเราเข้มข้น มันก็คิดได้ชัดเจน ถ้าเราปานกลางหรือเราอ่อนแอ ความคิดมันแตกต่างไป ความคิดคนๆ เดียวนี่แหละ แต่กาลเวลามันจะเปลี่ยนแปลงหมดแหละ ฉะนั้น เราต้องยืนของเรา นี่พูดถึง “บุพกรรม”

ถาม : เวลาหนูนั่งสมาธิ หนูจะออกเวลาเดิมเสมอ

หลวงพ่อ : ถ้าออกเวลาเดิมเสมอนี่ไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าเราอยากให้มากกว่านี้ใช่ไหม? เรายังไม่อยากออก ถ้ายังไม่อยากออก เรากำหนดอะไรก็แล้วแต่ ก่อนเข้าสมาธิให้มันยาวขึ้น

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าเหตุปัจจัยสมควร สิ่งนั้นมันจะมากขึ้น เราลงทุนซื้อของด้วยราคา ๑ บาท เราจะได้วัตถุแค่ราคา ๑ บาท เราซื้อของด้วยราคา ๕ บาท ซื้อของด้วยราคา ๑๐ บาท ๑๐๐ บาท ของที่ซื้อมาจะได้มากกว่าราคา ๑ บาท เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตมันลงนี่เราเคย ๑ บาทลงสมาธิ ถึงเวลาแล้วมันก็ออกจากสมาธิ เราก็พยายามว่าเราพุทโธ พุทโธ ๕ บาท ไม่ลงไปใน ๑ บาท สมาธินั้นมันก็มากขึ้น ยาวขึ้น

เพราะว่าหลวงปู่เจี๊ยะสอนเราเอง บอกว่า “พุทโธไปเรื่อยๆ” เพราะว่าเมื่อก่อนเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ที่เราพุทโธก็หลวงปู่เจี๊ยะนี่แหละ บอกว่า

“หงบ.. ถ้ามึงทำสมาธิ มึงทำพุทโธไม่ได้ มึงไม่ต้องมาพูดกับกู”

โอ้โฮ.. แล้วพุทโธด้วย ถ้าพุทโธไม่ได้นะ.. ท่านไม่เชื่อ หลวงปู่เจี๊ยะไม่เชื่อเลยนะ ไม่เชื่อเรื่องนี้เลย ต้องเอาลงให้ได้ แล้วท่านก็สั่งเลย

“ถ้าเอ็งพุทโธนะชั่วโมงหนึ่ง ถ้าเอ็งทำสมาธิก็ได้ ๕ นาที ถ้าเอ็ง ๒ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมงเอ็งก็ได้ ๑๐ นาที ถ้าเอ็งพุทโธนานๆ เอ็งจะได้ ๒๐ นาที”

สมาธินี่ท่านพูดอย่างนั้นนะ เราตั้งเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไม่เอาสมาธิเป็นเดือนๆ เป็นเดือนๆ เลยไม่เอาสมาธิ ไม่เอาสมาธิ พุทโธอย่างเดียว ก็เหมือนเราตักน้ำใส่ภาชนะ ไม่ต้องการให้มันเต็ม ไม่ต้องการให้มันเต็ม ก็ใส่มันทุกวัน ไม่ต้องการให้มันเต็ม ไม่ต้องการให้มันเต็ม มันจะเต็มไหมล่ะ?

นี่ก็พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ โอ้โฮ.. เวลามันลง เวลามันลงนี่มันควงลงเลย ควงลงเหมือนกับเรากระโดดหอ แต่กระโดดหอแบบควงนะ มันวืด! วืด! วืด! วืด! วืด! แต่เราผ่านมาจากเรามีหลักแล้ว เราเลยไม่ตกใจไง เวลามันวืดๆ ด้วยสติมันพร้อมนะ มันว่า

“เชิญครับ เชิญครับเชิญ เชิญเลย”

มีสติพร้อมตลอดเลย วืด วืด วืด วืดๆๆ กึก! ถึงฐานเลย นานมาก หลายชั่วโมงแล้วคลายออก เออ.. จริงเว้ย

นั่นแหละเราถึงได้พูดไง บอกว่าถ้าพุทโธมากขึ้น เยอะขึ้น ผลจะมากขึ้น แล้วนี่พวกเรามันวัยรุ่นไงใจร้อน พุทโธ ๒ นาทีก็จะให้ลงแล้ว พุทโธ ๒ นาทีก็อยากได้สมาธิแล้ว.. พุทโธ พุทโธ สมาธิมาเลย พุทโธ พุทโธ สมาธิมาเลย แล้วมันจะมาไหมล่ะ?

เรามันใจร้อนกันเองไง แต่เราพิสูจน์กับหลวงปู่เจี๊ยะ เพราะอะไร? เพราะคนมันตกภวังค์กันมาเยอะ สมัยเรามาสร้างวัดปี ๒๗ (๒๕๒๗) กับหลวงปู่เจี๊ยะ พระมาหาหลวงปู่เจี๊ยะเยอะมาก เพราะว่าในหมู่คณะเรา ทุกคนยอมรับว่าหลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่เคารพศรัทธา เราก็นั่งอยู่ข้างหลังท่านนี่แหละ องค์ไหนมาเราจำได้หมดเลย มาถึงก็ว่า “แก้หลับครับ.. แก้หลับครับ”

นั่งหลับทั้งนั้น พระนี่นั่งหลับเกือบทั้งนั้นเลย มาถึงก็ให้ท่านแก้นั่งหลับ เราก็นั่งฟังท่าน ท่านบอก “พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ” เราก็ว่ามันจะจริงหรือวะ? ก็ฟังอยู่ทุกวัน สุดท้ายแล้วเราโดนท่านเองนั่นแหละ ท่านก็กระหนาบเองให้เอาด้วย พอเอาแล้วมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นจริงๆ

นี่พูดถึงว่า “เรานั่งสมาธิออกเวลาเดิมทุกที”

ออกเวลาเดิมทุกทีนี่ ๑. มันเป็นเพราะเหตุที่ว่าเราสร้างมาแค่นี้ ๒. เพราะว่าแผ่นเสียงตกร่องนี่นะ เวลาเราเปิดแผ่นเสียง พอมันตกร่องปั๊บมันก็จะซ้ำที่เก่า จิตของเรานี่นะมันหลอกเรา มันหลอกเรานะ ถ้าออกก่อน ออกหลังเราก็จะเอะใจสงสัย ฉะนั้น มันจะให้ออกพอดีๆ เพื่อเอ็งจะได้ไม่ฉงนใจไง เอ็งจะได้ไม่ต้องค้นหากิเลสไง

พอเข้าอย่างนี้ ออกอย่างนี้ปั๊บมันเรียบร้อยหมดใช่ไหมล่ะ? เราก็ว่า เออ.. ภาวนาดีเนาะ ภาวนาดีเนาะ ดีจนตาย แต่ถ้ามันมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง เหตุการณ์ให้เราได้ฉุกใจ นั้นคือการแก้ไขกิเลสนะ การภาวนาต้องดูแลเราตลอด ต้องค้นคว้า ต้องตรวจสอบใจเราตลอด จริงหรือไม่จริง

ฉะนั้น กิเลสนี่นะ เวลามันบังเงามันเป็นอย่างนี้แหละ มันจะทำให้เรามั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นสมาธิ สิ่งนี้เป็นปัญญา ทั้งๆ ที่กิเลสล้วนๆ แต่กิเลสเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาอ้าง อ้างกับเรา เห็นไหม เวลาเทวดาฝ่ายดีเขาเรียก “เทพ” เทวดาฝ่ายกิเลสเรียกว่า “มาร” นี่เทพกับมารก็คือเทวดานั่นแหละ

นี้การปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเราใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเราก็ใช้ในทางที่ดีนี่แหละ แต่เวลากิเลสมันใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้า มันก็ใช้ธรรมะอันเดียวกันนั่นแหละ ฉะนั้น เราบอกว่าว่างๆ กิเลสก็บอกว่าว่างๆ เราบอกสติ กิเลสก็บอกว่าสติ มันก็เข้ากันหมดนะ กิเลสกับธรรมะมันคุยกันรู้เรื่องไง แล้วเราเป็นใครล่ะ? กิเลสกับธรรมะมันคุยกันรู้เรื่อง เห็นไหม แล้วมันก็เอาธรรมะนี่มาหลอกเรา โธ่.. ภาวนาไปจะเห็นว่ากิเลสมันหลอก นี่มันหลอกขนาดไหน กิเลสมันหลอกตลอดเวลา

ฉะนั้น เวลาออกเวลาเดิมๆ ถ้ามันเป็นเรื่องที่เหตุก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่เวลาออกเวลาเดิมๆ กิเลสมันหลอกก็ได้ ถ้ากิเลสมันหลอก เห็นไหม เราก็ต้องทำของเรา พิสูจน์นั่งอย่างนั้น พิสูจน์แล้ว เวลาเรานั่งสมาธิแล้วมันเป็นจริงไหม? ถ้าออกมาแล้ว ถ้าเป็นสมาธิแล้วลองตรึกในธรรม เราตรึกนี่ ถ้าตรึกเป็นสมาธิแล้ว มันเหมือนเรานี่แหละ ถ้าเราสดชื่น เรายกของหนักได้สบายมากเลย แต่ถ้าเราอ่อนแอ ตัวเองยังประคองตัวเองไม่ได้เลย แล้วจะไปยกอะไร?

จิต! จิตถ้ามันได้เข้าสมาธิ มันได้มีกำลังของมันนะ มันทำอะไรนะโอ้โฮ.. มันจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามันไม่ใช่สมาธินะ ก็ว่า “ว่างๆ”

“แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ?”

“ก็ว่างๆ”

“แล้วอย่างไรต่อล่ะ?”

“ก็ว่างๆ”

ตัวมันเองมันยังประคองตัวเองไม่ได้เลย ตัวมันเองมันยังไม่รู้จักตัวมันเองเลย มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร? นี่เพราะเราไม่ตรวจสอบ เราต้องตรวจสอบนะ เราต้องตรวจสอบ พิสูจน์ของเราเอง นั้นคือผลประโยชน์ของเราเองนะ ผลประโยชน์กับใจดวงที่ปฏิบัตินะ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครเลย ครูบาอาจารย์ท่านเป็นผู้ที่ปฏิบัติมาท่านก็เตือน ท่านเตือนบอกกัน บอกกันบอกกล่าวกัน เพียงแต่ว่าเราสนเท่ห์ว่าเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง อันนั้นมันเป็นเรื่องของเรานะ

ฉะนั้น อันนี้เราค่อยแก้ไขไป การทำงานทุกคนต้องมีอุปสรรคทั้งนั้น เวลาเราพูดนี่เราพูดให้เป็นข้อเท็จจริง แต่เวลาสรุปนะเราจะให้กำลังใจทุกๆ คน ทุกคนทำงาน ใครทำงานมาแล้วบอกประสบความสำเร็จ เกิดมาแล้วคาบช้อนเงินช้อนทองมา ไม่ต้องทำอะไรเลย เงินทองไหลมาเทมา มันเป็นไปไม่ได้หรอก

สิ่งที่เราคาบช้อนเงินช้อนทองมาก็เงินของพ่อแม่ทั้งนั้นแหละ เอ็งเป็นทารกเอ็งจะมีเงินได้อย่างไร? คาบช้อนเงินช้อนทองมาก็ช้อนเงินช้อนทองของพ่อแม่ทั้งนั้น ฉะนั้นเอ็งโตขึ้นมา เอ็งก็ต้องทำมาหากิน เอ็งก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเอ็ง

นี่ก็เหมือนกัน จิตทุกดวงเวลาปฏิบัติไปมันมีอุปสรรคทุกๆ ดวง ขิปปาภิญญาขนาดไหนมันก็มีของมัน เพราะขิปปาภิญญา คนที่ละเอียดกว่านี้ก็มี คนที่ง่ายกว่านี้ก็มี เราก็ไม่เท่าเขาหรอก ฉะนั้น เวลามีอุปสรรคแล้วอย่าน้อยใจ มันจะเข้าบุพกรรมนั่นไง มันเป็นของใครของมันไง

ฉะนั้น เวลาเกิดสิ่งใดแล้วมันเป็นสมบัติของเรา เราแก้ไขของเรา ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ ให้มันดีใจว่าเรานี่.. เหมือนกับคนเห็นไหม เจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอ หมอรักษาเรานี่ดีตายห่าเลยนี่ก็เหมือนกัน เรารู้ว่าเราผิดนี่สุดยอดเลย เรารู้ว่ามีอุปสรรคนี่สุดยอดเลย ดีที่ไม่รู้นี่สิ เวลามันไม่รู้นี่กิเลสมันพาไปยิ่งแย่ใหญ่ แต่ถ้าเรารู้แล้วเราแก้ไขของเรา อันนี้ถูกต้อง มันดีอยู่แล้ว

ถาม : ๑. เวลานั่งฟุ้งมาก นั่งไม่ติด อยากจะลุกอย่างเดียว ที่ผ่านมาเคยกำหนดได้ อาการเหล่านี้จะหายไป แต่ช่วงนี้กำหนดไม่ได้ ฟุ้งมากๆ นั่งไม่ได้เลย

๒. แต่มาที่วัดรู้สึกสงบมาก ทั้งๆ ที่ไม่ต้องกำหนดอะไรเลย พอนั่งก็สงบเลย (เออ.. ก็แปลกเนาะ)

หลวงพ่อ : ข้อ ๑. เคยฟุ้งซ่านมาก เวลาฟุ้งซ่านมาก อะไรมากนี่ พอเวลาฟุ้งซ่านมาก เราตามไปเราก็ฟุ้งซ่านมาก

ในวงการปฏิบัตินะ ในครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเรามันเหมือนหมอ หมอนี่เวลารักษาคนไข้แล้วรู้เลยว่า รักษาคนไข้ไปมันมีผลข้างเคียงอย่างใด มีผลข้างเคียงแล้ว ถ้าเกิดมันแพ้ยามันจะเป็นอย่างใด แล้วเวลารักษาไปแล้ว พอหายแล้วนี่โรคนี้จะกลับมาอีกหรือไม่กลับมาอีก

ในการปฏิบัติ เวลานั่งสมาธิเกิดดีมาก แล้วเดี๋ยวนี้มันฟุ้งซ่านมาก แล้วพอมันนั่งไม่ได้เลย เพราะในการปฏิบัตินี่เขาเรียกว่า “เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ” คนเราปฏิบัติไปมันมีโอกาส เมื่อปฏิบัติไปแล้วมันจะเสื่อมของมัน อย่างเช่นเรานี่ เห็นไหม จิตใจเราเดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ไม่ดี อันนี้มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เราก็ไม่ต้องเอาตรงนี้มาเป็นประเด็นสิ เสื่อมก็เสื่อมไป

เสื่อมนี่เห็นไหม ดูหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นสิ นี่หลวงตาท่านเล่าอะไรมาเราจะเอามาเป็นคติธรรมตลอด เวลาจิตเสื่อมไปอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ น้อยเนื้อต่ำใจนะคอตกเลย หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า

“จิตนี่มันเหมือนเด็ก มันต้องกินอาหาร ฉะนั้น เวลามันกินมันต้องกินพุทโธ ทีนี้จิตเวลามันเสื่อมนี่มันไปเที่ยว ฉะนั้น ไปเที่ยว ถ้ามันหิวมันต้องกลับมาหาอาหารของมันกิน เราก็พุทโธ พุทโธไว้นะ เดี๋ยวมันหิวมันก็กลับมาเอง”

หลวงตาท่านก็เชื่อนะ ท่านก็พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันจะน้อยใจหรือไม่น้อยใจก็ช่างมัน พุทโธไว้ ท่านบอกว่ามันฟื้นหมดนะ มันกลับมาหมด เพราะอะไร? เพราะเด็กมันต้องกินอาหาร อาหารคือพุทโธ เราอยู่ที่แหล่งอาหารนั้น เรารักษาอาหารไว้ เดี๋ยวมันกลับมาหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันฟุ้งซ่าน เห็นไหม เมื่อก่อนมันนั่งดี เดี๋ยวนี้นั่งไม่ได้เลย นั่งแล้วมันจะลุก.. เวลามันเสื่อมนะ นี่ยังดีนะเพราะว่ามาวัดมาวามันยังสงบบ้าง พอมันเสื่อมอย่างนี้นะ เออ.. เลิกดีกว่า ไปเลยไปทางโลกหมดเลย นี่หลวงตาบอกว่า

“เวลากิเลสมันนอนหลับนี่นะ เราทำอะไรก็ประสบความสำเร็จหมดเลย เวลามันตื่นนอนขึ้นมานี่ล้มหมดเลย แล้วถ้ากิเลสมันลุกขึ้นมานะ ภาวนานี่ล้มลุกคลุกคลานหมดเลย”

อันนี้ เห็นไหม เราจะบอกว่าในเมื่อจิตมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เหมือนการทำอาหาร การทำอาหารถ้าเราขาดอุปกรณ์ในการทำอาหาร แต่เราต้องทำอาหาร เราจะแก้ไขอย่างใด? เราไปในป่านะ เวลาเราไม่มีภาชนะสิ่งใดไปเลย เราไปทำอาหารอย่างไร? เขาก็ตัดไม้ไผ่ เขาตัดไม้ไผ่เขาหุงข้าวได้ เขาทำอาหารได้ด้วยอุปกรณ์ในป่า ทำไมเขาแก้ไขได้ล่ะ? ทำไมเขาดำรงชีพในป่าได้ล่ะ? ไอ้เราจะเข้าป่านะ อู้ฮู.. แบกเครื่องครัวเข้าไปด้วย ไปหมดเลย ขนไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราขนเครื่องครัวไป เราใช้เครื่องครัว เรามีเครื่องครัวใช้เราก็ใช้ ถ้าเราไม่มีเราจะทำอย่างไร? นี่เวลาจิตมันเสื่อมทำอย่างไร? เวลาจิตมันเสื่อม เวลามันมีปัญหาขึ้นมา.. นี่กลับมาดู เพราะว่าข้อ ๒. มันมาบอกว่า “เวลามาวัดแล้วสุขสบาย”

เวลามาวัดมันก็อีกเรื่องหนึ่ง เวลาเราอยู่บ้าน ผลกระทบอะไรนี่ มันก็แบ่งไง พอเรามาวัดปั๊บมันทิ้งหมดเลย ทิ้งสิ่งใด มันยึดมั่นถือมั่นก็อยู่กับวัด มาวัดแล้วก็บอกว่าใจมันชอบสภาวะแบบนี้ เวลาอยู่อย่างนั้นปั๊บเราก็ต้องดูแลของเรา มันต้องแก้ไข มันต้องแก้ไขของแต่ละบุคคลๆ ไป.. นี่พูดถึง “จิตเสื่อม”

อันนี้เนาะ

ถาม : ถ้ามีคนมายิงเราโดยมีอาวุธปืน เราควรยิงเพื่อป้องกันตัว ผิดหรือบาปหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : เออ.. ถ้าเป็นทางโลกเขาก็คิดกันอย่างนั้นล่ะ ไอ้นี่มันอยู่ที่ความนึกคิด แต่ถ้าพูดถึงนะ สมัยพุทธกาล พระเจ้าอโศกมหาราชต้องการให้พระสามัคคีกัน ก็สั่งให้อำมาตย์ไปประชุมพระ บอกว่า “ให้ลงอุโบสถร่วมกัน ให้ลงอุโบสถร่วมกัน”

เพราะว่าตอนนั้นมีพระปลอมบวชเข้ามา พระที่ไม่ได้เป็นพระ ห่มผ้าเหลืองเข้ามาอยู่ เพราะพระเจ้าอโศกฯ ท่านดูแลพระดีมาก ลัทธิศาสนาอื่นก็เข้ามาปลอมบวชกันเต็มไปหมดเลย ทีนี้พอเขารู้เขาก็ไม่ยอมลงอุโบสถด้วย พอไม่ลงอุโบสถด้วย ทีนี้อำมาตย์ที่รับคำสั่งไปก็ทำเกินกว่าเหตุ ก็คิดว่าตัวเองจะเอาผลงานไง บอกว่า

“ถ้าพระองค์ไหนไม่ลงอุโบสถตัดหัว”

ตัดหัวฉับ! ตัดหัวฉับ! ฉะนั้น ก็มีหลานพระเจ้าอโศกฯ อยู่องค์หนึ่งบวชอยู่ในวัดนั้น พอเห็นเหตุการณ์อย่างนี้มันเกินกว่าเหตุแล้ว ก็ไปนั่งนะ ไปนั่งเป็นองค์ต่อไปให้ตัดหัว หลับตาเลย พออำมาตย์มายกมีดขึ้น โอ๊ะ.. จำได้ว่าหลาน ไม่กล้าตัดนะ ไม่กล้าตัดหัว

แต่เวลาพระองค์อื่นตัดหมดนะ ตัดหัว ตัดหัว ตัดหัวเลย แล้วตัดหัวนี่ตัดหัวพระดีๆ ทั้งนั้น ถ้าพระไม่ดีนะ พอบอกให้ลงอุโบสถ พอเห็นมีดนี่ ลงๆๆ ครับ ลงครับ มันรีบลงเลย แต่พระที่เขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา เขายอมเสียสละชีวิตนะ เห็นไหม เขาบอกว่า

“เสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เสียชีวิตเพื่อรักษาธรรม”

คนที่เขามีคุณธรรมในหัวใจนะ ตัดหัวนี่นั่งหลับตาเลย ตัด.. เพราะว่าเขามีคุณธรรมในหัวใจของเขา ฉะนั้น สิ่งที่พออำมาตย์จะเอามีดตัดคอพระมาเรื่อย ตัดคอพระมาเรื่อย พอมาถึงองค์ที่เป็นหลานพระเจ้าอโศกฯ ไม่กล้าตัด พอไม่กล้าตัดก็รีบกลับไปเฝ้าพระเจ้าอโศกฯ บอกว่า “ให้ไปบอกให้พระลงอุโบสถสามัคคี นี่ไปแล้ว จัดการแล้ว ตัดหัวเต็มไปหมดเลย บังเอิญมีหลานอยู่คนหนึ่งไม่กล้าตัด”

พระเจ้าอโศกฯ ได้ยินนะร้อนเป็นไฟเลย พระเจ้าอโศกฯ บอกว่าให้ไปสังคายนา ให้ภิกษุรวมกัน ให้ภิกษุรวมกัน คือเจตนาดี สั่งไปด้วยความหวังดี แต่ไอ้คนที่รับคำสั่งไป มันรับคำสั่งไปด้วยความอหังการ ไปทำตามความเห็นของตัว ตัดหัวพระเต็มเลย พระเจ้าอโศกฯ ร้อนเป็นไฟ พอร้อนเป็นไฟก็ไปเฝ้าอาจารย์ของตัว พระติสสะ เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระติสสะก็เลยบอกว่า “สิ่งนั้นมันเป็นกรรมไหม?”

ตัวเองกลัวเป็นกรรมมาก เพราะตัวเองปรารถนาดี แต่อำมาตย์ดันสั่งไปตัดหัวพระ ก็บอกว่ากรรมที่มันเป็นเหตุ เป็นเหตุก็เลยทำสังคายนา แล้วก็ที่ส่งมา ๘ สายนี่ไง นี่เหตุเกิดตรงนี้

ฉะนั้น บอกว่าถ้าคนจะมายิงเรา เราจะให้เขายิงหรือเราจะยิงตอบเขาล่ะ? มันก็อยู่ที่เรานี่แหละ จิตใจเราแค่ไหนไง ถ้าจิตใจเราแค่ไหนนะเขาไม่ยิงเราหรอก เราจะแบกปืนไปยิงเขาก่อน เราจะแบกปืนไปยิงเขาก่อนเลย กลัวเขาจะมายิงเราไง เรายิงก่อน

ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ว่าเราจะศึกษาในแง่มุมของอันใด ถ้าในแง่มุมของโลก ในแง่มุมของการรักษาความมั่นคง ทหารเขาก็สอนไปอีกอย่างหนึ่งนะ ทหารเขามีราชการลับของเขา เขามีสิ่งต่างๆ ของเขาเพื่อความมั่นคง จะต้องเสียสละอย่างใด แล้วทางโลก เห็นไหม ทางโลกที่เขาอยู่ในสังคมก็อย่างใด

แต่ถ้าเราเป็นพระ ถ้ามีคนจะมายิงเรา เขาจะมายิงเราเรื่องอะไรล่ะ? แล้วเราก็มีปัญญา เราก็หลบหลีกเอาสิ เราก็แจ้งความสิ เราก็แจ้งตำรวจสิ ขอคนคุ้มกันสิ คุ้มครองพยานเขาก็มีแล้วนะ มันต้องแก้ไขไปอย่างนั้น ไม่ใช่เอาปัญหาอย่างนี้บอกว่า “เขาจะยิงเรา เราก็จะไปยิงเขา” เห็นเขาพกปืนตุงๆ มาก็จะไปยิงเขา นึกว่าเขาจะมายิงเรา ไม่ใช่ เขาเป็นหน่วยความมั่นคง เขาก็ต้อง..

มันต้องมีปัญญาไง ตอบตรงๆ ไม่ได้ ฉะนั้น จะบอกว่า “ถ้าเราป้องกันตัวล่ะ?”

นี่มันอยู่ที่เหตุผลของใคร แล้วเหตุผลมันมากน้อยแค่ไหน

ถาม : เวลาที่จิตย้ำไปที่สมาธิ จะมีปัญหาเรื่องอาการลมขึ้นจนเกิดอาการเรอ น่ารำคาญมากแก่ตน แก่บุคคลรอบข้าง เรียนถามว่าเกิดเพราะเหตุใด เวลาที่จิตเป็นสมาธิจะเหมือนร้อนขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับตัวเองกำลังนั่งอยู่บนเตาไฟ สาเหตุเกิดจากอะไร

หลวงพ่อ : นี่ถ้ามันเกิดเป็นลมนะ เกิดเป็นลมที่เรอขึ้น อะไรขึ้น ประสาเรานะ ถ้าทำความสงบของใจ ใจจะสงบ ถ้าเป็นสงบจริงใจจะสงบ แต่ถ้ามันยังเริ่มจะสงบ แต่ยังไม่สงบดี เริ่มจะสงบคืออาการการเข้าสมาธิ

การเข้าสมาธินะเหมือนกับเราเข้าบ้าน จิตนี้คือบ้าน แล้วมันส่งออกไปเที่ยวข้างนอก แล้วเราพยายามพุทโธ พุทโธ เราจะกลับสู่บ้านของเรา ทีนี้เวลาเราจะกลับสู่บ้านของเรา เราเข้าไปนี่บ้านของคน ประตูบ้าน หรือระยะห่างจากรั้วเข้าไปบ้านมันแตกต่างกัน ทีนี้มันแตกต่างกัน เห็นไหม เวลาเราจะเข้าบ้าน คนถ้าเข้าบ้านระยะมันไกล ก็ต้องเดินไกลหน่อย ถ้าบ้านเราอยู่ติดถนนใช่ไหม เราเปิดประตูเราก็เข้าบ้านของเรา

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเริ่มเป็นสมาธิ เห็นไหม เราว่ามันเป็นสมาธิ แล้วมันมีอาการเรอ มีอาการต่างๆ อาการที่เรากำลังจะเข้าเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วมันจะไม่มีอาการแบบนี้ เพราะจิตมันเข้าไปเป็นตัวสมาธิแล้ว อาการเรอ อาการต่างๆ นี่อาการของจิตไม่ใช่จิต ถ้าจิตมันเข้าสู่จิตแล้ว อาการนั้นต้องหายไปโดยสัจธรรม แต่ในเมื่อเราจะเข้าสู่จิตมันต้องผ่านอาการอย่างนั้นเข้าไปแต่ละบุคคล

ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ.. การเข้าสู่สมาธิ สมาธิหยาบ ละเอียดมันแตกต่างกันไป จิตมันจะเข้าไปมันจะมีอาการกระทบแบบนี้ ถ้ามีอาการกระทบแบบนี้นะเราก็ตั้งสติ ถ้ามันจะเข้าโดยวิธีใด เราต้องจับวิธีนั้น

คำว่าบริกรรมพุทโธ หรืออานาปานสติ กำหนดต่างๆ นั้นคือจิตเกาะสิ่งนั้นเข้าไป ฉะนั้น ถ้าเราจะเข้าสมาธิ เราอาศัยสิ่งใดเข้าสู่สมาธิ เราจะไม่ทิ้งที่เกาะนั้นไป ถ้าเราไม่ทิ้งที่เกาะนั้นไป เราเกาะสิ่งนั้นเข้าไปเรื่อยๆ มันจะเข้าไปสู่จิตไง ถ้าเข้าไปสู่จิตแล้ว การเกาะเข้าไปสู่จิตเราไม่ต้องทิ้ง เห็นไหม เวลาเด็กมันเดิน เวลาเดินจะเข้าบ้านเราต้องถอดรองเท้าใช่ไหม? ไปถึงต้องถอดรองเท้าแล้วเข้าบ้าน นี่ไปถึงประตูต้องถอดพุทโธแล้วเข้าบ้าน

ไม่ใช่! นี่มันเป็นบุคลาธิษฐาน เป็นสิ่งที่เอามาเป็นตัวอย่าง แต่พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธจนมันเข้าสู่จิตไปเลย ถ้ามันเข้าสู่จิตไปแล้วมันพุทโธไม่ได้ เพราะมันเข้าไป พอพุทโธมันเข้าสู่จิตแล้ว มันพุทโธไม่ได้ เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! นั่นล่ะของจริง อาการต่างๆ นี้เกิดไม่ได้ เพราะจิตหนึ่ง จิตเข้าสู่สมาธิแล้วมันคือสมาธิ ทีนี้พอจิตเข้าสู่สมาธิแล้วมันเกิดอาการ เออๆ เออๆ นี้มันคืออะไร? นี้มันคืออะไร? เห็นไหม

เราบอกมันจะเข้าสู่สมาธิ แต่มันยังไม่เป็นสมาธิชัดเจนไง ทีนี้มันไม่เป็นสมาธิชัดเจนปั๊บเราก็ติดอยู่ตรงนี้ ฉะนั้น ผู้ถามจะใช้วิธีใดก็แล้วแต่ วิธีนั้นอย่าทิ้ง เอาวิธีนั้นชัดๆ ชัดๆ เพราะอะไร? เพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะจิตมันเริ่มสงบขึ้นมามันมีอาการต่างๆ ที่มันตอบสนองมา อาการอย่างนี้มันก็ย้อนเข้าไปบุพกรรมอีกแหละ

กรรมของคนไม่เหมือนกัน คนเข้าสมาธิแตกต่างกัน มันวูบหรือมีอาการกระทบกระเทือนอย่างไร มันแล้วแต่มันจะเป็น แล้วเป็นหนเดียวนะ พอรู้ว่าอาการนี้วูบ พอเข้าใจปั๊บ คราวหน้ามันเปลี่ยนใหม่แล้ว คราวหน้ามันเปลี่ยนใหม่แล้ว มันเปลี่ยนไปเรื่อย มันไม่อยู่อันเดิมหรอก

นี่เวลาปัญหาของเรา.. ปัญญาคือต้นเหตุอันเดิม คือกิเลส แต่เวลามันหลอกลวงเรา มันหลอกลวงเราด้วยวิธีหลากหลายมาก หลากหลายพลิกไปพลิกมา พลิกมาพลิกไป เราไม่ต้องไปสนใจมัน อู้ฮู.. คราวนี้ โทษนะเปรียบเหมือนอาหาร โอ๋ย.. คราวนี้เค็มไป อ้าว.. เติมให้ดี อ้าว.. คราวนี้เปรี้ยวไป พอเปรี้ยว อ้าว.. คราวนี้เผ็ดไป พอเผ็ด คราวนี้ขมไป มันพลิกไปเรื่อยแหละ

นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปตามมันจะเป็นอย่างนี้แหละ เราไม่ต้องไปตาม พุทโธไว้ ถ้าอานาปานสติ ให้อานาปานสติไว้ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ให้ปัญญาอบรมสมาธิไว้ จับสิ่งนั้นไว้ จับสิ่งนั้นไว้แล้วชัดๆ ชัดๆ ชัดๆ ไปเรื่อยๆ

แล้วไอ้พุทโธชัดๆ เนี่ย ชัดๆ ขนาดไหนก็แล้วแต่ เวลามันเป็นสมาธินะมันชัดๆ ไม่ได้หรอก มันปล่อยหมดเพราะมันเป็นหนึ่งเดียว มันเป็นหนึ่งเดียวคือมันเข้าสู่จิต แต่เวลาชัดๆ มันเป็นสองใช่ไหม เพราะตัวพลังงานคือตัวจิต แล้วชัดๆ นั้นคืออะไร ชัดๆ ก็เหมือนกับพุทโธ พุทโธกับพลังงาน พลังงานคือความรู้สึก เห็นไหม เราบอกที่ตัวรู้ ตัวคิด

นี่ตัวรู้คือตัวจิต ตัวคิดคือตัวอาการ ทีนี้ถ้าไม่คิดมันจะรู้ได้อย่างไร? มันไปอยู่ที่ตัวคิด แล้วตัวคิดนี่ พุทโธก็ตัวคิด ถ้าธรรมชาติมันคิดไปประสามัน เราก็อยู่กับพุทโธไว้ คิดพุทโธอย่างเดียว พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันคิดสิ่งใดไม่ได้ พอคิดสิ่งใดไม่ได้ พอมันเข้ามา เห็นไหม มันเข้ามาเป็นหนึ่ง บอกพุทโธจนมันพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ก็เป็นมัน เป็นมันก็เป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งก็เป็นพลังงาน พลังงานก็สมาธิ ตัวรู้

ฉะนั้น อาการแบบนี้ นี่พูดถึงอาการไง อธิบายให้เห็น อธิบายให้ฟัง มันจะได้ไม่ต้องไปน้อยใจกับมัน ที่มันจะเกิดอาการเรอ อาการต่างๆ แต่ถ้าเวลามันรำคาญใช่ไหม? เวลาเกิดลมต่างๆ ฉะนั้น ถ้าเวลานั่งเป็นสมาธิแล้วเกิดอาการร้อน เวลาไม่เข้ามันก็เรอ เวลาจะเข้ามันก็ร้อน พอนั่งไปเหมือนร้อน.. ร้อนหรือไม่ร้อนมันเป็นอาการทั้งหมดนะ อาการของใจ ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร เราอยู่กับมัน อยู่กับพุทโธนี่แหละ มันร้อนไม่ได้หรอก มันต้องหยุด มันต้องเย็นของมัน

สมาธิคือสมาธิ ผลของสมาธินะจิตร่มเย็น..

“ความสุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

แค่ทำสมาธิคือจิตสงบ จิตสงบแล้วยังไม่ได้วิปัสสนา วิปัสสนานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้เวลาเราพูดกันถึงเรื่องจิตสงบเท่านั้น ฉะนั้น จิตนี่เวลาเข้ามามันจะเรออย่างนี้ พอมันเข้ามาจะเรอ เราพิจารณาได้แล้ว พิจารณาเรอก็ได้ พิจารณาอะไรก็ได้

การฝึกใช้ปัญญานี่ฝึกได้ตลอดเวลา ฝึกไปมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ การฝึกในขั้นของปัญญามันเป็นสมถะ แต่ก็ใช้ปัญญา แล้วการทำสมถะมันจะง่ายขึ้น แต่พอจิตเป็นสมถะจนมีหลักมีเกณฑ์ของมัน เวลามันใช้ปัญญาเข้าไปนี่ มันใช้ปัญญาเข้าไป ถ้ามันจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้ตามความเป็นจริง วิปัสสนาเกิดตรงนั้น ปัญญาเกิดตรงนั้น นี่มรรคเกิดตรงนั้น

วิปัสสนาเกิดมรรคญาณ มรรคญาณเกิดธรรมจักร จักรของปัญญามันจะเคลื่อน แล้วมันจะหมุน แล้วมันจะเข้ามาทำลายกิเลส ทำลายอวิชชาได้ นี้ปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ

ถาม : วิธีการดูจิต หากกำหนดดูรู้อยู่เฉยๆ แล้วอารมณ์ต่างๆ หยุดนิ่ง ต่อเมื่อจะพิจารณาสิ่งใดแล้ว ค่อยตั้งใจยกสิ่งนั้นขึ้นพิจารณา พิจารณาจนพอใจแล้วจึงกลับมากำหนดดูจิตใหม่ อย่างนี้ผิดหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : อันนี้เราว่ามันจะเป็นหนังนะ จะสร้างหนังกันแล้วนี่ เพราะจิตมันเร็วกว่านี้ จิตมันเร็วกว่านี้ พอจิตมันเร็วกว่านี้ปั๊บเราก็เอาจิตมา.. นี่ไงปริยัติไง ถ้าปริยัติปั๊บเราจะสร้างของเราเลยว่าจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แล้วเราจะทำจิตของเราให้สมกับเป็นอย่างนั้น ให้สมกับเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นว่าวิธีการดูจิต ถ้าดูจิตนะ เราดูจิตแล้วสิ่งใดต่อไป?

จุดเทียน พอเทียนมันติดขึ้นมานี่สันตติ ไฟที่จุดเทียนอยู่ พลังงานจะไหม้ตัวมันตลอดเวลา แล้วไฟที่มันลุกติดขึ้นมา ไฟที่มันติดขึ้นมา กับไฟที่ความร้อนนั้นมันผ่านไปแล้ว อันไหนเป็นอันแรก อันไหนเป็นอันที่สอง อันไหนเป็นอันที่สาม แม้แต่ไฟยังมองไม่ทันเลยนะเวลาจุดเทียน

ฉะนั้น การดูจิต นี่เวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูจิตนี่นะ ท่านบอกให้ดูจิต

“ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต”

คำว่าอาการของจิตกับตัวจิต อาการของจิตนะ ดูจิตจนจิตมันเห็นอาการของมัน ถ้าเห็นอาการของมัน ถ้ามันดูของมันนะ มันเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมันนะ ความจริงมันคืออะไร? ความจริงนะ เรานั่งอยู่นี่ เรานั่งอยู่กลางแดดร้อนไหม? ร้อน.. เรานั่งอยู่ในที่ร่มนี่เย็นไหม? เย็น

จิต! จิตถ้ามันเห็นของมัน มันเห็นอาการของมันนะ มันมีพลังงานของมัน แต่อย่างนี้ นี่เขาบอกว่า “ดูจิต ดูอยู่เฉยๆ จนอารมณ์ต่างๆ หยุดนิ่ง”

ถ้าดูจิตนี่ ถ้าเราตั้งโจทย์อย่างนี้ปั๊บนะ ได้! เราก็จะดู เพ่ง.. อย่างเรานี่นะเราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นนักปฏิบัตินะ เราก็จะบอกกับโยมเลย “นี่เมื่อก่อนเป็นคนที่โมโหมาก เมื่อก่อนนี้เป็นคนที่โหดร้ายมาก เดี๋ยวนี้เป็นคนดี๊ดี ไม่เชื่อลองสิ”

ให้คนด่าทั้งศาลาเลยฉันก็ไม่โมโห เพราะอะไร? เพราะมันตรวจสอบกันไง แต่ถ้าไม่มีคนด่าเลยนะ ถ้าเราคิดเองนะ โมโหน่าดูเลย โมโหน่าดูเลย แต่ถ้ามีคนมาตรวจสอบนะ นี่คนนู่นมาแหย่ คนนี้มาแหย่นะ โอ้โฮ.. นั่งเย็นเป็นน้ำแข็งเลยล่ะ เย็นเป็นน้ำแข็ง.. นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราดูจิต เห็นไหม เราตั้ง เรารู้ ว่าดูจิตไปแล้วจิตมันนิ่ง นิ่งอย่างไรล่ะ? อะไรนิ่งล่ะ? อะไร? แล้วทำไมมันนิ่งล่ะ?

นี่สมัยหลวงปู่ดูลย์ สังเกตได้ไหมหลวงปู่ดูลย์อยู่นะ คนปฏิบัติเยอะมาก แล้วไปรายงานหลวงปู่ดูลย์นะ หลวงปู่ดูลย์ตอบอยู่คำเดียวเลย “ไม่ใช่! ไม่ใช่! ไม่ใช่!” ฉะนั้น คนที่ไปปฏิบัติกับหลวงปู่ดูลย์ มันถึงไม่มีการออกนอกลู่นอกทางไง เพราะถ้าไม่ใช่ๆ ก็ต้องกลับไปทำใหม่ นี่พอเราดูนะเราก็ว่าหยุดแล้ว เราก็ว่าเห็นจิตแล้ว ไปหาหลวงปู่ดูลย์บอก

“ไม่ใช่ นี้อาการของจิตไม่ใช่จิต.. ไม่ใช่ นี้อาการของจิตไม่ใช่จิต”

เราเห็นแค่อาการไง เพราะจิตเราไม่ละเอียดพอ ถ้าจิตเราละเอียดพอนะมันจะรู้เลย ฉะนั้น นี่ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ นี้เราพูดเป็นข้อเท็จจริงเลยใช่ไหม? เพราะเราดูจิตจนจิตหยุดนิ่ง.. นี้มันเป็นคำพูดนะ ถ้าเราดูจิต พอดูจิตจนจิตมันหยุด หยุดแป๊บคิดอีกแล้ว หยุดแป๊บคิดอีกแล้ว หยุดแป๊บคิดอีกแล้ว แล้วมันหยุดอย่างไร?

แต่ถ้าหลวงตาท่านสอนนะ ท่านสอนปัญญาอบรมสมาธิ.. ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันจะใคร่ครวญเลย ทำไมถึงคิด? คิดทำไม? คิดอย่างไร? พอมีปัญญาขึ้นมา ปัญญานี่มันรั้งกัน พอมันรั้งกัน พอมีเหตุมีผล พอจิตมันปล่อย คำว่าปล่อย ปล่อยนั่นน่ะคือมันปล่อยแล้ว ปล่อยคือมันหยุด แต่เดี๋ยวเดียว แว็บ! แว็บ! แว็บ! เร็วมาก แล้วมันหยุดนิ่งอย่างไร?

ถ้าหยุดนิ่งนะ มันก็เหมือนเรานี่แหละจับเรากดน้ำไป หยุดนิ่ง หยุดนิ่ง นิ่งอะไรกูจะตาย ถ้าจับกูกดน้ำ กูก็ตาย กูก็หายใจไม่ได้ กูจะหยุดนิ่งอย่างไร? แต่ถ้ากูอยู่บนน้ำกูหยุดนิ่งได้ อยู่บนน้ำแล้วกูพิจารณาของกู

นี่พูดถึงการหยุดนิ่งนะ คำว่าหยุดนิ่งมันต้องพิสูจน์กัน ถ้าหยุดนิ่งเป็นสมาธิ เรายอมรับนะเป็นไปได้ แต่ถ้าหยุดนิ่งเป็นสมาธินะ มันไม่เป็นสูตรสำเร็จ ไม่มีสูตรสำเร็จ ฉะนั้นถึงว่าหยุดนิ่ง แล้วทีนี้เขาบอกว่า “พอหยุดนิ่ง ต่อเมื่อจะพิจารณาสิ่งใดค่อยตั้งสิ่งนั้นขึ้นมา”

ไม่ใช่ ตั้งไม่ได้ ตั้งไม่ได้ “ต่อเมื่อจะพิจารณาสิ่งใด” จิตถ้ามันสงบแล้วนี่รำพึง รำพึงไง เราเป็นโจรนะ เราเป็นโจร แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่า “ต่อเมื่อใดเราจะจับโจร” เราก็จะเดินไปให้ตำรวจจับ อย่างนี้เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่มีทาง เราเป็นโจรใช่ไหม? โอ้โฮ.. จับไปก็ประหารน่ะสิ เรื่องอะไรให้จับ กูก็หนีสิ

ฉะนั้น ต่อเมื่อจะพิจารณา ไม่มีทาง! โอ๋ย.. เวลาเจ้าหน้าที่เรียก โจรๆ มอบตัวๆ โจรจะเดินเข้ามาเลย แหม.. เจ้าหน้าที่จับเข้าคุก โอ้โฮ.. พิจารณาเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าจิตมันสงบแล้วนะ พอจิตสงบ เวลาสงบขนาดไหน เราจะใช้คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ เพราะว่าการดูจิตนี่มันต้องคนมีวาสนานะ คนมีวาสนามาก

เพราะสังเกตได้ไหมว่าลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเยอะมาก แล้วมีหลวงปู่ดูลย์องค์เดียวที่ดูจิต ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเยอะนะ แล้วที่ถนัดดูจิตคือหลวงปู่ดูลย์ เราไม่ปฏิเสธหลวงปู่ดูลย์นะ แต่ว่าวิธีนี้มันต้องคนมีวาสนาบารมีพอสมควร แล้วเวลาทำแล้วต้องทำจริง

ย้อนกลับไป เพราะอย่างนี้ นี่สิ่งใดเขาพยายามจะเทียบมหายาน มหายานนี่นะไปอ่านในเซนสิ อ่านในเว่ยหลางสิ เขานั่งทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืน เขาทำกันนะ เวลาเขาถามว่าเวทนาคืออะไร? เขาเอาไม้เท้าตีเลย เพราะตีแล้วมันของจริงไง นี่ความจริง เขาทำความจริงกันนะ เขาทุ่มจริงๆ นะ ไอ้ของเรานี่นึกกันเอาเอง หลับหูหลับตาแล้วก็เนี่ย

โทษนะ ที่เขียนมานี่มันบอกหมดนะ มันบอกว่า “ต่อเมื่อจะพิจารณาสิ่งใดค่อยยกสิ่งนั้นขึ้นมา” อันนี้มันเป็นตำรา “พิจารณาจนพอใจแล้วจึงกลับมาพิจารณาดูจิตใหม่”

โดยทฤษฎีมันเป็นอย่างนี้แหละ ถูกต้อง ทฤษฎี เห็นไหม ทำความสงบของใจแล้วออกพิจารณา พอพิจารณาแล้วมันใช้กำลังมากแล้ว เราต้องกลับมาทำความสงบอีก.. ในกรรมฐานเราบอกว่า

“สมถะกับวิปัสสนานี่เหมือนมนุษย์ คนเรามีสองเท้า คนมีเท้าเดียวเดินไปไม่ได้ คนต้องมีสองเท้าซ้ายและขวา จะก้าวเดินไปพร้อมกันซ้ายและขวา”

สมถะกับวิปัสสนาจะต้องไปคู่กันตลอด เพราะตัวสมถะคือตัวกำลัง จะมาเสริมให้วิปัสสนานี่ เวลาออกไปแล้วมันเป็นปัญญาตามความเป็นจริง แล้วพอปัญญามันใช้แล้ว มันถดถอยแล้วมันก็จะเป็นสัญญา มันก็จะเป็นประสาโลก มันก็ต้องกลับมาที่สมถะ พอใช้สมถะแล้ว สมถะนั้นมีกำลังแล้ว ก็ใช้กำลังสู่ไปวิปัสสนา

มันก็เหมือนกับแรงงานประถม เครื่องยนต์นี่แรงงานประถม เข้าไปสู่เครื่องจักรสิ่งใดมันก็จะก้าวเดินไปพร้อมกัน โดยหลักมันเป็นธรรมอย่างนั้นแหละ แต่! แต่ธรรมอย่างนั้นแล้ว มันต้องทำความเป็นจริงถึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าทำอย่างนี้ปั๊บ นี่บอกว่าถ้าดูจิตจนจิตมันรู้เฉย รู้เฉย รู้เฉยก็ขอนไม้สิ รู้ไม่เฉย รู้ชัดเจน รู้ชัดเจนมาก รู้จนขนพองสยองเกล้า รู้จนอกสั่นขวัญแขวน รู้จนตื่นตัวตลอด

รู้เฉย.. รู้เฉยก็ขอนไม้ไง รู้เฉยอย่างไร? อุเบกขาก็ไม่เฉยนะ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันมีคนพูดอย่างนี้หลายคน คนสอนนี่บอกว่ารู้เฉย รู้เฉย เราก็ฟังแล้วรู้เฉย รู้เฉยก็ก้อนหินไง มันไม่รู้เรื่องหรอก ฉะนั้น ถ้ารู้แล้วมันรู้ที่ชัดเจนมาก พอรู้ชัดเจนแล้ว เวลาออกไปก็ต้องรำพึง

การรำพึงนี่นะ มันเหมือนกับตอนนี้เรามีเงินคนละหลายๆ ล้านเลย แต่เราไม่รู้จะทำอะไรกันนะ เราปรึกษากันว่า เฮ้ย.. เราจะทำธุรกิจอะไรกันนะ ก็ปรึกษากันไม่ได้สักที ลงตัวกันไม่ได้นะ เราจะหุ้นกันทำอะไรก็ทำไม่เป็น ทำไม่ได้เพราะตลาดเต็มไปหมดแล้ว

ถ้าเราทำสมาธินะ เรามีสมาธิแล้วมันก็เหมือนเรามีเงินกันนี่ล่ะ นี่คนละล้าน คนละล้าน แล้วก็ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ได้ แล้วจะทำอะไรล่ะ? จะทำอะไรกันต่อไป แต่พอเรามีเงินล้านหนึ่งใช่ไหม เราจะทำธุรกิจสิ่งใด เราจะเอาเงินล้านนั้นเพื่อหาผลประโยชน์อะไร? พอเรามีสมาธิแล้วเราออกใช้ปัญญาอย่างใด?

บางคนมีสมาธิแล้วใช้ไม่เป็นนะ บางคนมีสมาธิแล้วหัดใช้ไม่ได้นะ แต่เวลาคนไม่มีสมาธิ.. อย่างเรานี่ เห็นไหม อย่างเรานี่เป็น ๑๘ มงกุฎ ไม่มีสตางค์เลยนะ แต่มีไอเดียในหัวเยอะมาก แชร์ลูกโซ่ไง เอาเงินพวกเอ็งมาหมุน นี่ไม่มีสมาธิเลย ไม่มีเงินเลย แต่มีไอเดียนะมีไอเดีย กูจะหลอกเอาสตางค์ โอ๋ย.. ลงทุนนะ นี่ลงทุน จะรถเช่าก็ได้ จะโรงสีก็ได้ มาเอาเงินๆ นี่หมุนไปใหญ่เลย

มันก็ไม่ใช่ เพราะ! เพราะเรามีแต่ไอเดีย เราไม่มีทุน เพราะถ้าเป็นไอเดีย เป็นความคิดของเรา ทุนคือตัวจิตนะ เพราะทำไปแล้วมันสูญเปล่า ผลมันลงที่ใคร แต่เวลาเรานี่นะเรามีภวาสวะ เรามีภพ ปฏิสนธิจิต เราเกิดจากปฏิสนธิวิญญาณ ไม่ใช่วิญญาณรับรู้นะ วิญญาณรับรู้นี่วิญญาณในขันธ์ ๕ ปฏิสนธิวิญญาณเกิดในไข่ ในน้ำคร่ำ ในครรภ์ โอปปาติกะ จิตกำเนิด!

จิตกำเนิดนี่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตอยู่กลางหัวอกทุกๆ คน ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิตไม่มีชีวะ ไม่มีชีวิต ไม่มีเรา ทีนี้พอมีเราขึ้นมา เราทำความสงบของเรา สงบเข้ามาสู่ชีวะ สงบเข้ามาสู่ภวาสวะ สู่ต้นขั้ว อวิชชาสงบตัวลงสมาธิถึงเกิดได้ ถ้าสมาธิเกิดได้ เห็นไหม พอเอาสมาธินี่เงินล้าน เอาสมาธินี้ออกวิปัสสนา ถ้าเอาสมาธิออกวิปัสสนา นี่มันมีต้นขั้ว มันมีที่มา

ปัญญานี่ ปัญญาพร้อมสมาธิมันจะเข้ามาชำระกิเลสที่นี่ไง มันเข้ามาชำระกิเลสของบุคคลทุกๆ คนไง ถ้ามันเข้ามาชำระกิเลสของทุกคน อันนั้นมันคือการชำระกิเลสไง นี่ความจริงมันอยู่ตรงนี้ไง ฉะนั้น วิธีการทำตามสเต็ปอย่างนี้ ถูก

“ทำใจให้สงบ พอจิตสงบแล้วใช่ไหม จิตนิ่งแล้วก็วิปัสสนา วิปัสสนาเสร็จแล้วก็กลับมาทำความสงบใหม่” ถูก.. แต่! แต่เป็นกับไม่เป็นตรงนี้แหละ ถ้าไม่เป็นแล้วมันเป็นอย่างนี้แหละ ไม่เป็นอย่างนี้มันทำได้ไง มันทำได้เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะว่าเวลาครูบาอาจารย์ของเรานะบอกว่า

“กิเลสนี้ร้ายนัก”

กิเลสนี่ร้ายนัก เป็นแก่นของกิเลส มันอยู่กับเรา แล้วมันหลอกเราทุกๆ ทางแม้แต่ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติมันก็เอาธรรมะของพระพุทธเจ้านี่แหละมาเสนอเราเอง เหมือนเราเสนอโครงการเลย เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ กิเลสมันเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสนอเราเลย นี่ไงสงบแล้ววิปัสสนา วิปัสสนาแล้วมีอาการแบบนี้ มีอาการแบบนี้.. มันมีโครงการของธรรมะ เพราะกิเลสมันเอามาใช้ มาเสนอเราเลย แล้วเราก็ ครับ ครับ ครับ เชื่อหมดเลย

กิเลสนี้ร้ายนัก! เพราะว่าอะไรรู้ไหม? เพราะว่าเราไปทำวัตรกับหลวงปู่บุญมี หลวงปู่บุญมีนะท่านอยู่กาฬสินธุ์ เห็นว่าท่านเผาแล้วเป็นพระธาตุ เราไปกราบท่าน ไปทำวัตรกับท่าน หลวงปู่มหาบุญมี เพราะบุญมีนี่มีหลายองค์มาก หลวงปู่มหาบุญมีเวลาเราไปทำวัตรนะ.. จำแม่นเพราะมันซึ้งใจ ท่านสงสารพวกเราเป็นพระเด็กๆ คือว่าเป็นศาสนทายาทไง ท่านบอกว่า

“พิจารณาให้ดีๆ นะ ปฏิบัตินี่ปฏิบัติให้ดีนะ อย่าปฏิบัติเหมือนอาจารย์บัวไขๆ”

ท่านพูดให้ฟัง นี้ท่านเล่าเป็นคติธรรมนะ นี่เป็นเรื่องจริงอยู่ที่ภาคอีสาน ท่านบอกว่าหลวงปู่บัวไขกับหลวงปู่มั่นท่านเป็นหมู่คณะกัน เป็นเพื่อนกัน แล้วมีชื่อเสียงในภาคอีสานเหมือนกัน แล้วพอพิจารณาไป ท่านบอกว่าท่านพิจารณาอสุภะ ท่านบอกพิจารณาอสุภะทีไรมันอาเจียน มันอ๊วกแตกอ๊วกแตน ฉะนั้น พออ๊วกแตกอ๊วกแตน ในทางธรรมเขาบอกว่านี่มันเป็นโรคละ

สังเกตได้ถ้าเราไปดูอุบัติเหตุ เห็นไหม เราไปเห็นซากศพต่างๆ เราจะกินเนื้อไม่ได้หลายวันเลย มันขย้อน ทีนี้พอเขาพิจารณาอย่างนั้นปั๊บมันขย้อน มันอ๊วกแตกอ๊วกแตนเลยนะ เขาบอกว่านี่พิจารณาอสุภะ ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นบอกว่า “นี่มันออกเป็นเรื่องโลกแล้ว” ออกเรื่องโลกเพราะว่าการขย้อนต่างๆ มันเป็นผลของร่างกาย มันไม่เป็นผลของจิต ถ้าเป็นผลของจิตมันจะสะเทือนหัวใจ แล้วมันจะเกิดความสังเวช แต่ถ้ามันกระเทือนแต่กระเพาะอาหาร กระเทือนนี่เพราะมันสลดสังเวช

หลวงปู่มหาบุญมี ท่านบอกว่าเวลาท่านไปทำวัตรกับหลวงปู่บัวไข ท่านบอกว่าท่านไปนะ นี่ท่านบอกว่าพอพิจารณาไปแล้วมันเป็นอย่างนี้ มันออกไปเรื่องโลกหมดไง เรื่องขย้อน เรื่องต่างๆ เวลาออกพิจารณาอสุภะนะ สุดท้ายสึก สุดท้ายหลวงปู่บัวไขสึกไป นี้ท่านพูดเป็นคติกับพวกเราเองนะ บอกเวลาสึกไปท่านพูดคำนี้นะ ท่านบอกว่า

“หลวงปู่บัวไขสึกนี่นะ แผ่นดินอีสานแทบล่ม เพราะคนศรัทธาเยอะมาก”

ท่านพูดคำนี้จริงๆ เราฟังแล้วมันสะเทือนใจมาก ท่านบอกว่าแผ่นดินอีสานนี่เหมือนกับล่ม เหมือนกับสั่นไหวไปหมดเลยจากหลวงปู่บัวไข ท่านบอกว่าหลวงปู่บัวไขกับหลวงปู่มั่นท่านเป็นสหธรรมิกมาด้วยกัน มีชื่อเสียงระดับหลวงปู่มั่น หลวงปู่บัวไขสึก แล้วท่านพูดด้วยเวลาสึก แล้วท่านยังพูดมากกว่านี้อีก นี่เวลามันเป็นไป

นี้เราจะบอกว่าในหมู่กรรมฐาน ในครูบาอาจารย์ของเราท่านมีประสบการณ์อย่างนี้มา ว่าใครภาวนาถูก ภาวนาผิด แล้วผลมันตอบมานี่มันเยอะมากไง มันหลายชั่วอายุคนแล้วนะ อย่างเรานี่รุ่นที่ ๓ รุ่นที่ ๓ นะ ชั่วอายุรุ่นที่ ๓ แล้ว แล้วที่มันผ่านมาล่ะ? ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ เวลาถ้ามันเป็นปั๊บ มันจะรู้เลยว่ามันมาอย่างนี้มันจะผิดอย่างไร? แล้วถ้าผิดแล้วมันจะต่อเนื่องไปอย่างไร? แล้วมันมีสิ่งใดจะไปขวางอยู่ข้างหน้า ที่จะไปเผชิญอยู่ข้างหน้า

ฉะนั้น โดยสเต็ปของมันนี่ใช่ ทำความสงบของใจ พอใจสงบแล้ววิปัสสนา แต่! แต่จริงกับจริงนี่ฟังทีเดียวรู้เลย ถ้าไม่จริงปั๊บมันเหมือนกับที่ว่านั่นล่ะ กิเลสมันเสนอโครงการมาเลย แล้วถ้าพูดประสาเรานะ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ท่านจะเอาความจริงนี่ เห็นไหม เขาเรียกปัจจัตตัง เอาความจริงเข้าพูดกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องของกิเลส เป็นโครงการของกิเลสนะบอกว่า “พุทธพจน์ครับ พุทธพจน์ พุทธพจน์ห้ามเถียง ห้ามเถียง พระพุทธเจ้านะ เถียงหรือ? เถียงพระพุทธเจ้าหรือ?”

“เออ.. ยอมแพ้พระพุทธเจ้า ไม่เถียง ไม่เถียง”

แต่ถ้าเป็นความจริงแล้ว สาธุ.. พระพุทธเจ้าก็สาธุ.. สาธุ.. โดยสเต็ปมันเป็นแบบนั้น แต่ในการทำงาน ในการลงไปในพื้นที่หน้างาน โอ้โฮ.. มันวิกฤติไปหมด! หน้างานปฏิบัติวิกฤติทั้งนั้น แต่เวลาฟังกิเลสมันเสนอมา โครงการนี่โอ้โฮ.. สุดยอดเลย แต่คนปฏิบัติจริงๆ

นี้จะบอกว่าในวงกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราท่านผ่านวิกฤติมา เหมือนกับเราเป็นพ่อแม่ เราผ่านวิกฤติมาขนาดไหน แล้วลูกเรา เราจะรักลูกเราไหม? เราอยากให้ลูกเราเจอวิกฤติอย่างนั้นไหม? แต่จริงๆ แล้วมันก็ต้องเจอ ถ้าไม่เจอมันไม่เข้มแข็ง มันก็ไม่รู้จริง แต่ขณะที่มันจะเจออย่างไร พ่อแม่ก็ต้องพยายามอุดหนุน พ่อแม่พยายาม.. แต่วิกฤติต้องเจอ ถ้าไม่เจอมันก็ไม่ใช่ปัจจัตตัง ถ้าไม่เจอเราก็ไม่ใช่ฆ่ากิเลสเรานะ

อย่างไรๆ เราก็ต้องเจอวิกฤติอย่างนั้นแหละ เจอวิกฤติอย่างนั้นแหละ แต่เรามีครูบาอาจารย์เป็นแบ็ค เรามีครูบาอาจารย์คอยประคอง เรามีครูบาอาจารย์คอยบอก แต่วิกฤตินั้นต้องเจอ! ถ้ามึงไม่เจอมึงไม่ผ่านวิกฤตินั้นมา ถ้ามึงจะเอาหมวกแดงนะ มึงจะเอาแรงเยอร์นะมึงต้องฝึก

แหม.. จะติดแรงเยอร์นะ แต่เขาให้ติดไปเฉยๆ ไม่ต้องฝึก ไม่มี ไม่มี! ไอ้นั่นหลอกลวง ถ้ามึงจะติดแรงเยอร์มึงต้องเข้าฝึก แล้วมึงจะผ่านสิ่งนั้นออกมา มึงถึงจะติด เสือคาบดาบได้ ไม่ฝึกแต่จะติดเสือคาบดาบ ไม่มีหรอก ไม่มี

นี้พูดถึงการดูจิตเนาะ ฉะนั้น เราพูดนี่ เราพูดด้วยแบบว่ามันแยกแยะให้เห็นว่าผิดถูกอย่างไร แล้วถ้าสิ่งใดมันขัดข้องหมองใจ ทิ้งไว้ที่นี่เนาะ อะไรเป็นประโยชน์เราเอาธรรมะกันเนาะ เอวัง