ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พุทธวิสัย

๓o ก.ค. ๒๕๕๔

 

พุทธวิสัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ในขณะที่เกิดเวทนาอย่างรุนแรง จนคิดว่าตนเองจะขาดใจตาย แต่ก็ไม่ได้ทิ้ง ได้กำหนดเวทนาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จนกระทั่งระยะหนึ่ง อาการเวทนามันดับไปทีละจุดจนไม่มีร่างภาพหลงเหลืออยู่ คล้ายกับว่าเราปิดสวิตซ์ไฟ ที่เหลือคือตัวรู้ลอยอยู่ ตัวปล่อยตัวกำหนด และทิ้งตัวรู้คือไม่ผูกมัดไว้แน่นๆ เหมือนตอนเกิดตายเวทนา สักพักพอปล่อยตัวรู้และตัวกำหนด ตัวเห็นแสงสว่างและเกิดนิมิตตาม เกิดความสุข มีตัวตนเหมือนเดิม

คำถาม! ในขณะคนจะตาย ถ้าเรากำหนดและดูรู้ และไม่กลัวตายก่อนจิตจะไปจากร่าง เป็นอย่างนี้หรือไม่

หลวงพ่อ : เวลาเวทนา ไอ้อย่างนี้มันเหมือนส้มหล่น ส้มหล่นคือกำหนดเวทนาใช่ไหม แล้วเวทนามันหายไปทีละจุดๆ เวลามันปล่อยมาเนี่ย เห็นไหม แต่เราอยากได้อารมณ์อย่างนั้นอีก อยากได้อารมณ์อย่างนั้นอีก ฉะนั้น เวลาคนจะตายไม่เป็นอย่างนี้ คนจะตายนะ ถ้าคนมีสตินี่เป็นอย่างนี้

คนมีสติ คนที่รู้ทันนะ เวลากำหนด มันกำหนดปั๊บ อย่างเช่นที่บอกว่ารั้งไว้ๆ การว่ารั้งไว้หลวงตาท่านพูดอย่างนี้บ่อยนะ ท่านบอกว่า “เรามีบ้านหลังหนึ่ง แล้วบ้านนั้นเริ่มชำรุด” เห็นไหม เรามีบ้านหลังหนึ่ง แล้วเรารับผิดชอบทั้งบ้าน จิตเรานี่มันอยู่กับร่างกายเราทั้งหมดเลย แต่ร่างกายเราเริ่มชำรุด ที่ความเสียหายนี่มันจะทิ้งส่วนนั้นไป ส่วนนั้นไป หลบไปเรื่อยๆ หลบไปเรื่อยๆ จนไม่มีที่อาศัย มันก็ต้องทิ้งร่างนี้ไป ก็คือตาย

ฉะนั้น เวลาคนที่มีสติ เห็นไหม พระอรหันต์ สอุปาทิเสสนิพพาน ภาราหะเว ปัญจักขันธา ภาระ เป็นภาระรับผิดชอบ แต่พวกเราไม่ใช่ภาระรับผิดชอบ พวกเรานี่เป็นมาร ขันธมาร คือความยึดมั่นถือมั่นหมดไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่เป็นมารหมด เวทนาก็เป็นมาร ขันธ์ก็เป็นมาร สัญญาก็เป็นมาร

เป็นมาร.. มารคือความยึดมั่นถือมั่นของกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นมันทำให้เรามีสติไม่ได้ เพราะเราไปยึดมั่นอารมณ์อย่างนั้น แต่ถ้าเราเข้าใจเวทนา เห็นไหม เวลาพูดถึงเวทนา เวทนาปล่อยหมด พอปล่อยหมดมันเด่นมาก มันเด่นมากเพราะอะไรล่ะ? เพราะเรากำหนดนะ

นี่เวลามันปวดมากจนใจแทบขาด แต่ใจแทบขาดนี่เรากำหนดจนมันเริ่มละ ละเข้ามา มันปล่อยมา มันปล่อยเข้ามานี่เพราะสติปัญญามันทัน แต่อาการแบบนี้มันจะได้บ่อยๆ ไหมล่ะ? นี่มันจะปล่อยเวทนาอย่างนี้ได้บ่อยๆ ไหมล่ะ? ไม่บ่อยเพราะอะไร? เราถึงบอกว่าส้มหล่นไง แต่ถ้าเป็นนักภาวนานะมันจะปล่อยอย่างนี้แหละ ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า

คำว่าปล่อยแล้วปล่อยเล่านะ หลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่ง เห็นไหม ท่านบอกว่าเวทนาครั้งแรก เวทนา ๒-๓ ชั่วโมง หลานเวทนามันมาก่อน หลานคือเวทนาเด็กๆ ไง แล้วพอนั่งไปสัก ๖-๗ ชั่วโมงนะ ลูกเวทนามันมาแล้ว พอสักพักไปสัก ๑๐ ชั่วโมงนะ พ่อเวทนามันมาแล้ว พอไปนานๆ นะ ปู่เวทนามันจะมาแล้ว คือเวทนามันจะเข้มขึ้น แรงขึ้น

ฉะนั้น พอเราปล่อยเวทนาไปแล้ว เรานึกว่าเวทนาจบไง ทีนี้คนนั่งตลอดรุ่ง เห็นไหม เราบอกคนที่นั่งตลอดรุ่ง เวลาพิจารณาไปแล้ว มันปล่อยเวทนาแล้วมันจะหายไปเลยหรือ? มันหายไปขณะที่จิตมันทัน พอจิตมันปล่อย จิตเป็นอิสระมันปล่อย แต่จิตนี้มันเป็นธาตุรู้มันต้องรับรู้ตลอด พอรับรู้มันก็รับรู้ซ้ำอีก พอรับรู้ซ้ำอีกมันก็ไปรับรู้เวทนานั่นล่ะ ถ้าอย่างนั้นเวทนานี่มันก็จะลึกขึ้น ใหญ่ขึ้น ถึงบอกว่าพ่อมัน ปู่มันจะมาทีหลัง

ฉะนั้น คำว่ามันปล่อยแล้วๆ นี่ต้องซ้ำอีก ซ้ำไปเรื่อยๆ ไง นี่พูดถึงวิธีการภาวนานะ แต่บอกว่า “ถ้าเวลาจะตายมันจะเป็นอย่างนี้ไหม?”

หลวงตาพูดอย่างนี้ หลวงตาบอกว่า “เวลามันพิจารณาเวทนาจนถึงที่สุดนะ” ท่านพูดกับตัวท่านเองไง คนเรานี่นะ เวลาภาวนาไปแล้วจะพูดกับตัวเอง ตัวเองหมายถึงว่าเพราะเราหลงเองใช่ไหม? เราหลงเราก็หลงเอง เวลาเรารู้เราก็รู้เอง พอเรารู้เองมันสัญญากับตัวเอง แบบว่าปัญญามันเป็นปัจจัตตัง หลวงตาบอกว่า

“เวทนานี่เราได้พิจารณาจนมันปล่อยวางหมดแล้ว แล้วต่อไปนี้มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ”

เห็นไหม มันจะเอาเวทนาหน้าไหน เพราะเวทนามากูก็สู้มึงได้ทั้งนั้นแหละ กูปล่อยมึงได้หมดแหละ แต่อันนี้มันปล่อยได้ขาดหรือยังล่ะ? เพราะอะไร? เพราะว่าคำถามนี่มันฟ้องมาหมด มันฟ้องบอกว่า “นี่กำหนดเวทนาจนใจจะขาด แล้วพอพิจารณาไป พิจารณาไปมันปล่อยเป็นจุดๆ เข้ามา”

นี่มันปล่อย เขาเรียก “ตทังคปหาน” การปล่อยแบบนี้ เป็นการปล่อยแบบปัญญามันสมดุลนี่มันปล่อย แต่มันไม่สมุจเฉทไง พอจิตสงบแล้วต้องพิจารณาซ้ำเข้าไป พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า.. มันจะปล่อย ปล่อยเพราะปัญญาตอนนั้นมันสมดุล คนภาวนานี่เวลาภาวนาดีมากเลย พอปล่อยแล้ว อื้อฮือ.. สุดยอดเลย แต่เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวพอมันออกมาแล้วมันก็เป็นปกติไง ฉะนั้นซ้ำเข้าไป

อันนี้พูดถึงการพิจารณาเวทนานะ แต่ถ้าเวลาคนจะตายเป็นอย่างนี้ไหม? คนเวลาจะตายนะ นี่เวลาจิตมันดีมันรู้มันเห็นหมด โสดาบัน เขาบอกโสดาบันที่ปิดอบายภูมิเพราะเหตุนี้ อย่างเช่นเด็กนี่มันเล่นของมัน มันเพลินของมันไปประสามัน ผู้ใหญ่เวลาเล่นก็เพลินเหมือนกันนะ แต่เวลาใครเตือนนี่รู้สึกตัวทันที เพราะเป็นผู้ใหญ่

จิตเป็นโสดาบันนี่นะ สติปัญญามันก็ได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะสกิทาคามี ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อนาคามี ๗๕ เปอร์เซ็นต์ พระอรหันต์สติปัญญา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น โสดาบัน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เวลาปกติมันก็ยังเร่ร่อน ยังเที่ยวตามใจตัวเองอยู่ แต่พอมันจะตาย เวลาเขาวิกฤติปั๊บนี่เพราะมันมี ๒๕ เปอร์เซ็นต์ มันจะวิ่งเข้ามาตรงนี้ทันทีเลย

ฉะนั้น ถึงบอกว่า พระโสดาบันมันปิดอบายภูมิ นี่มันปิดตรงนี้ไง เพราะว่าคนที่จะไปอบายภูมิ เพราะเวลาจะตายไม่มีสติ มันไปตามแต่แรงขับของกรรม แต่ถ้าเป็นโสดาบันนะเวลาจะตายสติมันมาไง คนเรานี่นะเวลามันจนตรอก มันจะเข้าไปหาสิ่งที่ดีที่สุดของตัวเอง พอเข้าไปหาสิ่งที่ดีที่สุดของตัวเองนะ แต่ถ้าเป็นปุถุชน เราเคยทำบุญไว้มหาศาลเลย แต่บังเอิญเราไปทำกรรมไว้

เหมือนพระในสมัยพุทธกาล เห็นไหม ไปทางเรือ แล้วเอามือราน้ำไป มือมันไปทำสาหร่ายขาด พอสาหร่ายขาดมันเป็นปาจิตตีย์ไง พรากของเขียว แล้วก็วิตกกังวลอยู่อย่างนั้นแหละ เห็นว่าตายตอนนั้นหรือเรือคว่ำนี่แหละ เป็นจระเข้ไปอยู่นั่นเลย เพราะวิตกกังวลไง

เราทำความดีไว้มหาศาล เป็นพระนี่ทำความดีไว้มหาศาลเลย แต่นั่งเรือไปใช่ไหม นั่งเรือแล้วเอามือ.. เหมือนกับพระขี้เล่นเนาะ เอามือจุ่มไปในน้ำไง แล้วเรือมันพายไป นิ้วมันไปเกี่ยวเอาสาหร่ายขาด พอเกี่ยวสาหร่ายขาดมันวิตกกังวลไง สาหร่ายขาดเพราะเราทำผิดไง เราทำปาจิตตีย์ไงมันก็ฝังใจ เวลาตายจะไปดีนะ มันไปนั่นเลย

มันเหมือนพระติสสะที่ว่าได้ผ้าจีวรมา เห็นไหม แล้วคืนนั้นท้องร่วง ตายแล้วไปเกิดเป็นเล็นนั่นน่ะ เพราะผูกพันไง ถ้าเป็นปุถุชน ทำดีทำมากขนาดไหน ถ้าเราไม่ได้ฝึกไว้ ถึงเวลาแล้วมันตั้งสติไม่ได้ เพราะสติมันเป็นสติใช่ไหม? แต่ความเร้า สิ่งเร้าในใจมันไปนึกภาพตรงนั้น ไปเกาะตรงนั้น ตรงนั้นเสวยก่อน แต่ถ้าเป็นโสดาบันปั๊บ ถ้าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม มันขาดตามความเป็นจริง อย่างไรก็แล้วแต่สติมันจะพร้อม ฉะนั้น ถึงอบายภูมิไง

เพราะจระเข้คืออะไร? เดรัจฉานนี่เป็นอบายภูมินะ อบายภูมิ ๔ ตั้งแต่เดรัจฉานลงไป ตั้งแต่เดรัจฉาน ผี เปรต นรกอเวจี นี่คืออบายภูมิ แต่พอขึ้นมามนุษย์นี่ไม่ใช่เดรัจฉาน เดรัจฉานคืออบายภูมิที่เราเห็นได้ ฉะนั้น เวลาถ้าเป็นโสดาบันแล้วตรงนี้ปิด ฉะนั้น เวลาเป็นโสดาบันคิดพิจารณาไป

นี่ให้ซ้ำเรื่องเวทนา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่ขาดไปแล้ว สิ่งที่มันปล่อยวางไปแล้ว นั้นคือประสบการณ์ของเรา แต่สิ่งใหม่ๆ เวลามันมีความรู้สึก เวทนากาย เวทนาจิต.. เวทนากายคือความเจ็บปวดของร่างกาย เวทนาจิตคือความเศร้าหมอง ความผ่องใส ความเสียใจทุกข์ใจ เวทนามันมีเวทนากาย เวทนาจิต มันพิจารณาได้ตลอดเวลา มันไม่มีเวทนาก็จับอารมณ์ตัวเองพิจารณาซ้ำไปๆ ซ้ำไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ถ้าในขณะคนจะตาย”

เออ.. ถ้ามีสติมันพร้อมหมด สติ เห็นไหม เพราะหลวงตาท่านบอกท่านรั้งไว้หลายที เวลาจะตายปั๊บจิตมันจะหดเข้ามา รวมเข้ามาอยู่ศูนย์กลางแล้วออกเลย คนตายมันจะออกตรงนั้น มันจะหดเข้ามาเรื่อยๆ เราเป็นลม เวลาคนเป็นลมมันจะวูบอย่างไร? แต่คนเป็นลมเวลาวูบไม่รู้เรื่องหรอก แต่ถ้าจิตนะมันจะหดเข้ามาเลย เข้ามาถึงจุดปั๊บออก ออกก็คือสิ้น

ฉะนั้น ถ้ามันมีสติปัญญาเป็นอย่างนี้ไหม? เป็น! เป็นอย่างนี้แหละ แต่ถ้าคนเป็นอย่างนี้แล้วไม่ให้ตายก็ได้ คือไม่ให้ไป ฉะนั้น เวลาคนตาย ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า

“เหมือนคนออกจากบ้าน”

บ้านคือร่างกาย คนก้าวออกจากบ้าน จิตก้าวออกจากกาย ถ้าร่างกายนี้มันไม่เสียหายจนเกินไปนัก คือไม่เจ็บปวดนัก เหมือนบ้านเรามันยังอยู่ได้ รั้งไว้คือว่าเราไม่เดินออกไปมันจะตายได้อย่างไร? ถ้าคนไม่ออกจากบ้าน บ้านนั้นก็ยังมีชีวิตตลอดไป แต่ถ้าเดินออกจากบ้าน บ้านนั้นไม่มีวิญญาณครอง มันก็ซากศพ

นี่พูดถึงเวลาคนตายนะ แต่ถ้าเรามีสติของเรา ไม่มีปัญหา อันนี้พูดถึง “พิจารณาเวทนา”

เคลียร์ไหม? ไม่เคลียร์ว่ากันใหม่ อันนี้มันข้อ ๕๔๑. ที่จบ ข้อ ๕๔๑. จบเนาะ

ข้อ ๕๔๒. อันนี้มันเป็นความที่เขาสงสัย ไม่ตอบก็ไม่ได้ ไม่ตอบก็บอกว่ามันคาใจไง

ถาม : เรื่อง “ลัทธิพระจีนเชิญชวนทำความดีเพื่อคืนสู่พระนิพพาน”

หลวงพ่อ : แล้วก็ว่าไปเรื่อยเลย.. กราบนมัสการหลวงพ่อ เขาว่าไปนะ เขาได้ฟังเทศนาจากครูบาอาจารย์ของเขา

ถาม : ๑. พระพุทธเจ้าไม่กล้าบัญญัติลงในพระธรรมวินัยว่าห้ามกินเนื้อสัตว์ เพราะกลัวว่าคนจะไม่เข้ามาเรียนธรรมะจากท่าน และอ้างว่า ราชวงศ์ของพระพุทธเจ้าไม่กินเนื้อสัตว์กันเลย

๒. ให้ทำความดี ให้ช่วยเหลือคน บำเพ็ญบารมี ไม่จำเป็นต้องทำสมาธิ ไม่ต้องเจริญวิปัสสนา (แต่บอกว่าให้ทำความดี) แม้จะไม่ได้การันตีอริยผลในชาติปัจจุบัน แต่ก็การันตีว่าการกระทำเพียงเท่านี้ในชาติถัดๆ ไป จะทำให้ตกกระแสโสดาบันแน่นอน และอาจได้ไปเกิดในสมัยพระศรีอารย์ด้วย

๓. อ้างว่ามีคาถา ๕ คำเป็นภาษาจีน อ้างว่าพระศรีอารย์จะจุติที่ประเทศที่ใช้ภาษาจีน ที่สำคัญคือ ห้ามใครบอกคาถานี้กับคนอื่นที่ยังไม่ได้เข้าพิธีรับศีลของลัทธิเขา และมีการยกตัวอย่างว่า อธิษฐานด้วยคาถานี้แล้วเกิดผลสิ่งที่ต้องการ เช่นมีคนที่เคยเข้ารับพิธีรับศีลจากสำนักนี้มาช่วยเหลือเจือจานกันยามที่ต้องการความช่วยเหลือ

๔. อ้างว่ามนุษย์ทุกคนกำเนิดมาจากจิตเดิมแท้ มาจากแดนนิพพานเป็นอัปสรพรหม แต่มาสัมผัสกิเลสบนโลก เลยกลายมาเป็นมนุษย์และสัตว์ต่างๆ จึงต้องหาทางบำเพ็ญบารมีเพื่อให้จิตเดิมแท้กลับคืนสู่นิพพาน

๕. อ้างว่าช่วงนี้เป็นช่วงปลายกัป ก่อนที่จะถึงภัยพิบัติจึงได้มีการส่งธรรมคำสอนนี้มากระจายในช่วงนี้ เพื่อเป็นการคัดคนดีให้รอดพ้นภัย โดยมีการอ้างว่าพระธรรมคำสอน กับบุคคลธรรมดา ที่ไม่ใช่นักบวช พระธรรมคำสอนนี้เหมาะกับบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่นักบวช ลัทธินี้เกิดในเมืองจีนมาหลายร้อยปีแล้ว แล้วเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ ๑๐ ปี

หลวงพ่อ : คำว่าอ้างว่าๆ นี่เนาะ มันเป็นการอ้างว่า หลวงตาท่านใช้คำว่า “แว่วๆ” เราได้ยินแว่วๆ คือมันไม่จริงไง คืออ้างว่าๆ ก็เอ็งอ้างว่า แล้วเอ็งก็มาถาม แล้วเราก็อ้างว่า มันก็ไม่จริงนั่นล่ะ เพียงแต่ว่าของอย่างนี้มันเกิดมานาน แล้วเกิดมาเห็น มันมีมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว สังคายนาตั้งแต่ทีแรก พระที่เขาไม่เห็นด้วยมันก็ออกมาแล้ว แล้วพอสังคายนาครั้งที่ ๓ มันก็แตกเป็น ๑๘ นิกาย แล้วมันก็ไปเรื่อย

ฉะนั้น เวลาแบบว่าศาสนสัมพันธ์ คือการเปิดกว้าง คำสอนของเขา หรือคำสอนของลัทธิต่างๆ เราก็เปิดกว้างการรับรู้ แต่มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน คนมีอำนาจวาสนาแค่ไหน ฟังได้หรือไม่ได้ อย่างเช่นคำว่า..

“ข้อ ๑. พระพุทธเจ้าไม่กล้าบัญญัติลงในธรรมวินัยว่าห้ามกินเนื้อสัตว์ เพราะกลัวว่าคนจะไม่เข้ามาเรียนธรรมจากท่าน และอ้างว่าราชวงศ์พระพุทธเจ้าไม่กินเนื้อสัตว์กันเลย”

ไอ้นี่เวลามันพูด เห็นไหม พระพุทธเจ้าไม่กล้าบัญญัติ.. ทำไมจะไม่กล้าบัญญัติ? พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพานนะ

“อานนท์ เธอบอกเขานะ สิ่งที่เขามาถวายทานๆ บอกว่าเป็นอามิส เป็นสิ่งที่บูชา ให้ปฏิบัติบูชาเถิด”

พระพุทธเจ้าต้องการให้เราประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าต้องการให้เราเข้าใจ นี้เขาว่าพระพุทธเจ้าไม่กล้าบัญญัติเพราะกลัวคนไม่เข้ามาเรียนธรรมะ.. เวลาเผยแผ่ พระพุทธเจ้าพุทธกิจ ๕ นะ พอพุทธกิจ ๕ เช้าขึ้นมาเล็งญาณ เล็งญาณว่าจิตของใคร จิตเขามีอำนาจวาสนา แล้วเขาจะได้เป็นพระอรหันต์ แล้วเวลาจิตเขาสั้น พระพุทธเจ้าไปเอาคนนั้นก่อน

พระพุทธเจ้าเล็งญาณนะเล็งญาณ พระพุทธเจ้าพุทธกิจ ๕ พุทธกิจนี่ที่ว่าอจินไตย ๔ พุทธวิสัย ความสามารถของพระพุทธเจ้านี่ไม่มีใครจะรู้ได้ ไม่มีใครสามารถไปรู้ได้ขนาดนั้นหรอก แล้วเราบอกว่า “พระพุทธเจ้าไม่กล้าทำอย่างนั้น ไม่กล้าทำอย่างนี้” มันเป็นไปไม่ได้หรอก

มันเป็นไปไม่ได้ เพราะคำที่ว่า “ห้ามกินเนื้อสัตว์” นี่เพราะเทวทัตเป็นคนขอ ขนาดมีคนไปขอท่านเลย ท่านยังไม่ให้เลย ท่านไม่ให้ ท่านบอกว่าสิ่งที่ว่าไม่ให้ฉันเนื้อสัตว์ๆ ท่านบอกว่า

“คนเรามันไม่ใช่ดีอยู่ที่การกิน”

ถ้ามันอยู่ที่การกินนะ มันก็ว่าเรากินอย่างนี้แล้วจะเป็นคนดีๆ คนกินอาหารอย่างใดก็แล้วแต่ ในกลุ่มชนนั้นมีทั้งคนดีและคนเลว ท่านไม่ได้พูดถึงการกิน แต่ท่านพูดถึงการปฏิบัติ ท่านพูดถึงการชำระกิเลส แล้วเวลาพูดถึงเนื้อสัตว์ เห็นไหม เนื้อ ๓ ส่วน.. ที่เธอไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง ที่ไม่ได้เจาะจงเพื่อเธอ ถ้าเธอไม่รับรู้ สิ่งนั้นเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์เพราะอะไร? เพราะมันเป็นประโยชน์ได้ไง

คนเราไม่ใช่อยู่ที่การกินเนาะ ถ้าเอาการกิน อ้าว.. ฉันไม่กินเนื้อสัตว์ ฉันเก่งกว่าคนกินเนื้อสัตว์ แล้วไอ้คนกินเนื้อสัตว์ บางคนคนดีก็มี คนเลวก็มี คนไม่กินเนื้อสัตว์ คนดีก็มี คนเลวก็มีเหมือนกัน คนเราไม่ได้อยู่ที่การกิน ฉะนั้น พอไม่ได้อยู่ที่การกิน เอาการกินนั้นมาปิดกั้นผลประโยชน์ของชาวพุทธ หรือของนักบวช ของผู้ที่ปฏิบัติ พระพุทธเจ้าเห็นตรงนี้พระพุทธเจ้าถึงไม่บัญญัติ

ทีนี้ถ้าใครเห็นโทษของมัน เห็นไหม นี่อย่างปัจจุบันนี้เขาบอกว่ากินเนื้อสัตว์แล้วมันมีสารหลั่งอะไรต่างๆ ใครเห็นโทษของมันก็ไม่กิน ใครเห็นโทษกับทางวิทยาศาสตร์นะ พอบอกว่าไม่กินแล้วนี่ ไม่กินแล้วเอ็งเป็นพระอรหันต์หรือเปล่าล่ะ? เอ็งเป็นพระอรหันต์หรือยัง? อ้าว.. ถ้าเอ็งไม่กินแล้วเอ็งเป็นพระอรหันต์นะ กูก็จะไม่กินเนื้อสัตว์เหมือนกัน

วัว ควายนี่มันกินอะไร? ช้าง ม้ามันกินอะไร? ช้างมันกินไหม? แล้วมันเป็นอะไร? แล้วยักษ์มันกินอะไร? แล้วเสือล่ะมันกินอะไรเนาะ บางคนมาบ่นอย่างนี้นะ อ้าว.. ถ้าถือศีล ๕ ศีล ๕ อย่างนี้เสือมันก็ไม่มีโอกาสถือศีล ๕ สิ อ้าว.. บางคนคิดเป็นธรรมนะ บอกว่าถือศีล ๕ นี่อย่าฆ่าสัตว์นะ แล้วเขาบอกว่าอย่างนี้เสือมันต้องกินเนื้อมันจะทำอย่างไร?

เราบอกว่าของอย่างนี้มันเป็นเวรเป็นกรรม ทำไมเอ็งต้องไปเกิดเป็นเสือด้วยล่ะ? ทำไมเอ็งไม่มาเกิดเป็นสัตว์กินพืชล่ะ? นี่มันเป็นเวรเป็นกรรมนะ ถ้าเวรกรรมเกิดขึ้น แล้วเราอยู่ที่ดุลพินิจ เพราะมันเกิดขึ้นมานี่เสวยภพ พอเสวยภพแล้วก็เป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึง “กินเนื้อสัตว์”

ถาม : ๒. ทำความเพียร ให้ช่วยเหลือคน ให้ทำความดี ไม่ต้องทำสมาธิ ไม่ต้องเจริญวิปัสสนา

หลวงพ่อ : แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องเจริญวิปัสสนา ขิปปาภิญญาก็ต้องเจริญวิปัสสนา เวลาคนเรานี่นะ เวลาสร้างคุณงามความดีนี่ความดีมันเกิด ถ้ามีสติปัญญา ความดีจะเป็นความดีชอบ

ความดีนะบางคนถาม มีคนถามอย่างนี้จริงๆ นะ บอกว่า “เขาปล้นมานี่เป็นบุญ”

เราบอกว่า “เป็นบุญอย่างไรล่ะ?”

“อ้าว.. ก็ปล้นมาเลี้ยงพ่อแม่”

เออ.. คิดได้นะ เขาบอกเขาไปลักชิงวิ่งราวมานี่เป็นบุญ เพราะว่าเขาไม่ได้เอาไปใช้ส่วนตัว เขาลักชิงวิ่งราวมาแล้วเขาเอาไปเลี้ยงพ่อแม่ ก็ถือว่าการเลี้ยงพ่อแม่นี้เป็นบุญ อ้าว.. นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาคิดอย่างนี้ได้ไง เขาได้มาด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ แต่เขาเอามาทำประโยชน์ เขาบอกอย่างนี้เป็นบุญของเขา อย่างนี้มันเป็นความไม่สะอาดบริสุทธิ์ไง

ปฏิคาหก สิ่งที่เราได้มาทำบุญกุศลนี่มันสะอาดบริสุทธิ์ไหม? ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม ขณะที่ทำสะอาดบริสุทธิ์ ทำแล้วมีความพอใจ นี่ปฏิคาหกผู้ให้.. ผู้รับเป็นพระที่สะอาดบริสุทธิ์ไหม? ถ้าสะอาดบริสุทธิ์ เห็นไหม ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ บุญอย่างนี้สูงส่งมากเลย

แต่สำหรับเราได้มาด้วยความไม่บริสุทธิ์แต่อยากทำบุญ ก็ทำบุญได้บุญไหม? ได้ แต่มันสะอาดไหม? อ้าว.. พอทำไปแล้วนะ โอ๋ย.. นั่งเสียดาย โอ้โฮ.. ไม่ทำก็ดี ไม่ทำก็ดี โอ้โฮ.. นี่ปฏิคาหกไง แต่ทำไปแล้วมันชื่นใจ เห็นไหม นี่ความคิดอย่างนี้มันมี มันไม่เสมอภาคหรอก

ฉะนั้นถึงบอกว่า ถ้าพูดถึงไม่ต้องทำสมาธิ ไม่ต้องทำความเพียร สร้างแต่บารมี คือช่วยเหลือคนไปเรื่อยๆ จะตกกระแสเป็นโสดาบัน มันก็มีส่วนเป็นไปได้ หมายถึงคนทำดีตลอดไป ความดีจะส่งเสริม อันนี้เราก็เห็นด้วย แต่ถ้าสิ้นปัจจุบันนี้ล่ะ?

ดูสิพระโพธิสัตว์ หลวงปู่มั่นนี่ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์เหมือนกัน แต่เวลาท่านปฏิบัติไปแล้วมันเข้าถึงอริยสัจไม่ได้ พอไม่ได้นี่ท่านลาโพธิสัตว์เลย พอลาโพธิสัตว์ขึ้นมาแล้ว เห็นไหม พอพิจารณาไป มันไปแล้ว มันไปแล้ว เพราะก่อนที่ท่านลาโพธิสัตว์ท่านใช้ปัญญาของท่านไง ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นสาวก สาวกะ สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน

พระอรหันต์เหมือนกัน แต่มันต่างกันที่อำนาจวาสนาบารมี พระพุทธเจ้าพุทธวิสัย โอ้โฮ.. บารมีธรรมนี่ดีหมดเลย แต่ก็ผ่านเหมือนกัน ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านถึงลาโพธิสัตว์ ลาโพธิสัตว์แล้วก็มาบรรลุธรรม

นี่ก็เหมือนกัน ความที่มีปัญญาอันนี้มันจะทำให้คนเข้าถึง ฉะนั้น บอกว่า “ไม่ต้องทำสมาธิ ไม่ต้องวิปัสสนา ทำความดีอย่างเดียว” ทำความดีอย่างเดียวมันก็สายพานการผลิตไง มันก็หมุนไปเรื่อยๆ อย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันทำจริงมันก็ได้จริงของมัน

นี่พูดถึงนะบอกว่า “ถ้ามีปัญญา ทานอันนั้นจะเลิศ” ถ้ามีปัญญา.. ศีล สมาธิอันนั้นจะเลิศ ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา ทีนี้เขาบอกว่าไม่ต้องทำสมาธิ ไม่ต้องวิปัสสนา ปัญญามันเกิดไหม? ถ้าปัญญามันเกิด เห็นไหม ทานอันเลิศ สมาธิอันเลิศมันก็เกิด ฉะนั้นบอกว่าไม่ต้องวิปัสสนา เออ.. โทษนะ มันก็ดักดานอยู่อย่างนั้นน่ะสิ แต่ถ้ามันมีสมาธิ มันมีวิปัสสนา มันจะดีขึ้น ทำทุกอย่างดีขึ้น ทุกอย่างประเสริฐขึ้น

นี้พูดถึง เห็นไหม นี่เอาปัญญาเทียบเคียง ถ้าเอาปัญญาเทียบเคียงเราจะเข้าใจได้

ถาม : ๓. อ้างว่ามีคาถาภาษาจีน

หลวงพ่อ : อันนี้อ้างว่าอย่างนี้ อันนี้มันเป็น... เราเห็นมาเยอะนะ คือบอกเช่นว่าจะไปต่อศีล จะต้องไปทำอะไรเนี่ยมันเป็นเทคนิค เหมือนกับเอาคนของเขาไว้ ถ้ายังไม่ได้รับศีลห้ามบอกใครนะ ถ้าจะบอกใครต้องบอกกันเองนะ อันนั้นมันเรื่องของเขา

ถาม : ๔. อ้างว่ามนุษย์ทุกคนกำเนิดมาจากจิตเดิมแท้ มาจากแดนนิพพาน เป็นอัปสรพรหม แต่มาสัมผัสกิเลสบนโลก

หลวงพ่อ : อันนี้คิดอย่างนี้มันเป็นจินตนาการ เพราะจินตนาการแบบนี้ เห็นไหม เขาถึงบอกว่าจิตนี้มาจากพระเจ้า ต้องกลับไปสู่พระเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันมีอยู่ นิพพานมีอยู่แล้ว ถ้านิพพานมีอยู่แล้ว เหมือนกับจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แล้วมันเอาอะไรมาเกิด? นิพพานนี่ พอจิตมันเข้าสู่นิพพาน แต่นิพพานไม่มีอยู่แล้วหรอก ถ้านิพพานมีอยู่แล้วมันจะสกปรกมาได้อย่างไร?

นี่เป็นความเห็นไง มันเป็นเทคนิคในการสอนของเขานะ บอกว่านิพพานมีอยู่แล้ว แล้วเพียงแต่ว่าเรามาเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าจะพูดถึงทฤษฎีไง

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แต่ตัวผ่องใสนั่นแหละคือปฏิสนธิจิต ตัวผ่องใสคือปฏิสนธิจิต นั่นแหละตัวจิตตัวเกิดตัวตาย พอกลับไปถึงตรงนั้นปั๊บนี่มันฐีติจิต ตัวจิตเดิมแท้พาเกิดพาตาย นี่เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เห็นไหม

เวลาจิตเดิมแท้อยู่กลางอกเราเลย จิตเดิมแท้มีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรามาเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม? สัญชาตญาณของมนุษย์คือธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันก็เหมือนกับธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ คุมจิตนี้ไว้ แล้วพอจิตนี้ปฏิสนธิจิต เวลาตายจากนี่ไป เวลาออกไปมันก็ไปสู่ตรงนั้น ก็ไปเกิดอีก มันก็หดเข้ามาแล้วก็ไปเกิดอีก มันก็เหมือนเมล็ดพันธุ์พืช ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมอีก ถ้าไปเกิดอีก เห็นไหม นี่มันมีจิตเดิมแท้แต่ไม่ใช่นิพพาน ไม่ใช่! เป็นจิตเดิมแท้แต่ไม่ใช่นิพพาน

นี่ว่าจิตมีนิพพานอยู่แล้ว นิพพานอยู่แล้ว.. มีจิตเดิมแท้ แต่จิตเดิมแท้มันมีอวิชชาครอบมันอยู่ นี่พูดถึงโดยสัจจะ แต่นี้พอจิตใจเรานี่ ปัญญาเราไม่ถึงใช่ไหม? เราก็บอกว่ามันมีนิพพานอยู่แล้ว มีนิพพานอยู่แล้ว คือจิตเดิมแท้นี่ใช่ ฐีติจิต แล้วนิพพานคืออะไร?

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

นี่อัปสรพรหมเขาว่าของเขากันไป ยังดีนะยังยอมรับตรงนี้.. เราจะบอกว่าธรรมะมันมีอยู่ แต่วุฒิภาวะของเรานี่เรียนไม่ถึง พอเรียนไม่ถึงเราก็อธิบาย มันก็เลยฟั่นเฟือนมาไง แล้วมันก็จะไป

นี่ก็เหมือนกัน เพราะมหายาน พวกเซนมันเป็นมหายาน เป็นอาจริยวาท ถ้าอาจารย์ที่ดี อาจารย์ที่ลึกซึ้งนะ จะไม่คลาดเคลื่อน ไม่ผิด แต่ถ้าอาจารย์ที่ยังเข้าไม่ถึงแล้วมาสอน เห็นไหม ก็ครึ่งๆ กลางๆ นี่พูดถึงมันเป็นปัญญาวิมุตติถ้าถึงที่สุดนะ ถ้าไม่ถึงที่สุดมันก็เป็นแบบนี้แหละ

“นี่คนเกิดมาจากจิตเดิมแท้ มาจากแดนนิพพาน เป็นอัปสรพรหม แต่เพราะสัมผัสกิเลสบนโลกเลยกลายมาเป็นมนุษย์และเป็นสัตว์ต่างๆ”

โอ้โฮ.. อันนี้มันเป็นเวรกรรม เรื่องของกรรม

ถาม : ๕. อ้างว่าช่วงนี้เป็นช่วงปลายกัป ก่อนที่จะมีภัยพิบัติจึงส่งคำสอนชนิดนี้มา

หลวงพ่อ : จึงส่งคำสอน.. ใครส่งล่ะ? อันนี้ไม่ว่ากันเนาะ เพราะว่าคนถามเขาเพิ่งไปเจอเขาก็ตื่นเต้น แต่กรณีอย่างนี้ เพราะเราเป็นนักบวช เราอยู่ในสังคมของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ อยู่ในสังคม กระแสสังคมเดี๋ยวก็แรงขึ้นมาพักหนึ่ง พอสักพักหนึ่งมันก็ตก แล้วเดี๋ยวพอเรื่องมันซาๆ ไปก็จะมีขึ้นมาอีกพักหนึ่ง มันเป็นการหมุนเวียนอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น คนที่มีประสบการณ์แล้ว สิ่งที่คนถามมามันเป็นเพราะเขาเพิ่งไปเจอ เพิ่งมาสนใจในศาสนา ก็ดูแล้วมันเป็นของตื่นเต้น แต่คนที่อยู่ในศาสนา เรื่องนี้เป็นของเก่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะมีอย่างนี้มาตลอด มันมีมาตลอดนะ อันนี้อันหนึ่ง

อันนี้พูดถึงคำถามอันนี้เนาะ จะเอาอีกข้อหนึ่งนี่ไหวไหม? อันนี้ยาวพอสมควรนะ เพราะเดี๋ยวเราจะมีธุระ เราเอาแค่นี้ก่อนได้ไหม? เอาแค่นี้ก่อนเนาะ เอวังก่อน เพราะเดี๋ยวจะเทศน์อีกรอบหนึ่ง เดี๋ยว ๑๑ โมงเทศน์แล้วเดี๋ยวพระมา เอวัง