เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ ก.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ทุกคนอยากเป็นคนดี เราก็อยากเป็นคนดี แต่ความดีนี่ดีของใคร? เวลาความดีของเด็ก ดีของผู้ใหญ่ ดีของผู้ที่ผ่านโลกมามาก ความดียิ่งกว่านี้ยังมีอยู่ แต่ความดีอย่างใดล่ะ? เรารู้ได้แค่นี้ไง ถ้าเรารู้ได้แค่นี้ ความดีของเรา เราก็ขวนขวายของเรา

สิ่งที่เรามา เห็นไหม พระพุทธศาสนาสอนให้มีการเสียสละทาน เวลาองค์หลวงตาท่านพูดถึง ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีคนไปทำบุญกุศลกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาศาล เขาบอกว่า “นี่เพราะว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้มีชื่อเสียงไง คนถึงได้ไปทำบุญกุศลกัน”

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่ใช่! ไม่ใช่! เป็นเพราะทานของเรา เป็นเพราะการสร้างบารมีของเรามาตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์ การเสียสละของเรามามหาศาล”

การเสียสละมหาศาลนะ สิ่งนี้มันตอบแทนมาไง แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทานนั้นเป็นพื้นฐาน ทำให้จิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจกว้างขวาง จิตใจมีหลักมีเกณฑ์ จึงได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พวกเรานี่อยากพ้นทุกข์ อยากมีความสุข เราปรารถนาเป็นคนดี เราก็เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นเหตุแล้วเราทำบุญกุศลกัน

นี่เราอยากเป็นคนดี ถ้าเราอยากเป็นคนดี การเสียสละเป็นคนดีไหม? ทีนี้การเสียสละ เห็นไหม ถ้าการเสียสละด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ นี่เทวดามาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“บุญมันคืออะไร? ทำบุญที่ไหน? ทำบุญอย่างใด?”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “การทำบุญนะ แม้แต่การที่เราล้างภาชนะ สาดน้ำไปในน้ำคร่ำ พวกสัตว์ พวกสิ่งต่างๆ มันได้อาหารนั้น อันนั้นก็เป็นบุญแล้ว”

“แต่ถ้าจะเอาผลล่ะ? เห็นไหม ถ้าจะเอาผล”

“ถ้าจะเอาผลนะ เอาผลก็ต้องว่าเนื้อนาบุญ”

นี้พูดถึงว่าสิ่งที่เป็นสาธารณะ สิ่งที่เป็นบุญกุศล การเสียสละนี่เสียสละได้แล้ว แต่! แต่ว่าเวลาเสียสละไปแล้วเราพัฒนาไหมล่ะ? เห็นไหม เวลาคนคิดว่าพุทธศาสนาแก่นหลักฐานมันก็คือการทำบุญกุศล การทำบุญกุศลมันยังมีอีกมหาศาลเลยที่เราทำได้ นี่อนุโมทนาไปกับเขา การทำบุญโดยที่ไม่ต้องเป็นวัตถุเยอะแยะไปหมด

การทำบุญนะ การให้วิชาการนี้ก็เป็นบุญนะ การให้ธรรมเป็นทานนี้ประเสริฐที่สุด เราให้วิชาการเขา เราให้ความรู้เขา เราเตือนเขา เราสอนให้เขาเป็นคนดี นี้ก็เป็นบุญ แต่บุญอย่างนั้นมันเป็นระหว่าง ๒ คนใช่ไหม? ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ แต่การเสียสละนี่เห็นไหม ขึ้นป้ายกัน ขึ้นอะไรกันเพื่อจะเอาชื่อเอาเสียงกัน ทีนี้เอาชื่อเอาเสียงกัน เห็นไหม ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์

นี้พูดถึงพื้นฐานเราอยากเป็นคนดี พออยากเป็นคนดี เราเชื่อมั่นของเราว่าที่ไหนเป็นเนื้อนาบุญของเรา เราก็อยากจะสละที่นั่น พอสละที่นั่น ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานี่ธงนำ เวลาเราอยู่ใต้ร่มธงของพุทธศาสนานะ พุทธศาสนานี่ ผู้ที่นำเราคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรามีครูบาอาจารย์เป็นธงนำของเรา ถ้าธงนำของเรา เห็นไหม คอยเตือนสติเราไง การเตือนสติบอกถูกบอกผิดเรา

เวลาเราติดดีนะ นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า โทษนะ เวลาติดชั่วยังชี้แนะกันได้ง่าย ติดดีนี่ชี้แนะไม่ได้เลย มันติดของมัน ทำคุณงามความดีแล้วติดดี เห็นไหม ฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติไป ติดดีๆ เพราะมันติด พอมันติดมันถึงไม่เจริญก้าวหน้า ถ้ามันเจริญก้าวหน้ามันต้องปล่อยตรงนั้นมา นี่ที่ว่า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

คนถามบ่อยมาก “หลวงพ่อ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดเป็นอย่างไร?”

มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง มรรคหยาบคือความรู้ของเรานี่แหละ ความรู้ความเห็นของเรานี่แหละ แต่เรายึดมั่นถือมั่นมัน เราไม่วิจัยต่อเนื่อง ถ้าวิจัยต่อเนื่องนะมันจะวางความรู้ที่พื้นฐานนี้ไว้ แล้วมันจะต่อยอดขึ้นไป ต่อยอดขึ้นไป แต่เวลาเรารู้แล้วนี่เราจะยึดมั่นของเราไง มันไม่วิจัยต่อเนื่อง มันไม่ต่อยอดขึ้นไป ถ้ามันต่อยอดขึ้นไปนี่มรรคละเอียด มรรคมันจะละเอียดเข้าไป

ทีนี้เวลาใครประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ว่า “โอ้โฮ.. ปัญญานี่นะมันละเอียดลึกซึ้งๆ นัก”

ยัง! ยังหรอก เพราะว่าโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันคนละมรรคนะ กิเลสมันคนละตัว กิเลสหยาบกิเลสละเอียดก็แตกต่างกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มรรคหยาบ มรรคละเอียดก็แตกต่างกัน ทีนี้พอถ้ามรรคหยาบๆ เห็นไหม ในทางโลกหลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ

“คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก คนโง่มากกว่าคนฉลาดแน่นอน”

ทีนี้คนโง่ท่านเปรียบเหมือนเขาโคกับขนโค ทีนี้เขาโคกับขนโค แค่! แค่เรามาทำบุญ คนที่เขาไม่ทำบุญเขาก็ว่าแล้ว โอ้.. พวกนี้เวลาว่างเยอะเนาะ มันต้องขวนขวายขนาดนั้น ต้องไปกันปากกัดตีนถีบกันขนาดนั้นเพื่อจะไปทำบุญกุศลกัน เห็นไหม

นี่เพราะว่าคนโง่มากกว่าคนฉลาดไง เพราะคนโง่เขาเห็นได้แค่นั้น เขาเห็นได้แค่นั้น แต่ที่เรามาเสียสละกันนี้ มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมเท่านั้นเอง เราเสียสละอย่างนี้แล้วนะ เรายังเสียสละเวลาของเราล่ะ? เวลาที่มีค่า เวลาเราทำงานเราได้ผลประโยชน์เท่าไหร่? เราทิ้งอันนั้นมา แล้วเราขวนขวายมา แล้วมาวัดแล้วนี่ มานั่งสมาธิภาวนาให้มันเจ็บปวดอีกนะ นั่งสมาธิก็เจ็บหลัง เจ็บเอว เดินจงกรมก็ตากแดด ตากฝน นี่เขาทำทำไม?

แต่ถ้าคนเขาเห็นนะ ในสมัยพุทธกาล เห็นไหม ฃ เวลากษัตริย์ออกบวชแล้ว เวลาสิ้นสุดแห่งทุกข์นะ อยู่โคนต้นไม้นี่บอกว่า “สุขหนอ สุขหนอ” จนพระเขาเห็นว่ากษัตริย์เวลาพูดนี่สงสัยคิดถึงราชวัง ก็ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธนิมนต์มาบอกว่า

“เธอพูดอย่างนั้นจริงๆ หรือ?”

“ครับ”

“พูดว่าอย่างไร?”

“สุขหนอ! สุขหนอ!”

“แล้วทำไมสุขหนอล่ะ?”

“โอ้โฮ.. มันสุขจริงๆ สมัยเป็นกษัตริย์นะมันต้องบริหารราชการ มันต้องบริหารอำนาจ มันต้องบริหารทุกอย่าง เครียดไปหมดเลย มันต้องรับผิดชอบมาก”

นี่พอเสียสละออกมา ถ้าไม่ถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ ถ้ามันคิดถึงราชบัลลังก์นะมันก็ทุกข์จริงๆ แต่พอเวลามันเสียสละออกมาแล้ว มันพิจารณาของจิตนี้ พิจารณาจนจิตนี้ชำรอกกิเลสออกหมด เห็นไหม อยู่ที่โคนไม้นี่ไม่มีใครแย่งหรอก โคนไม้ใครจะแย่ง อยู่ในป่าใครจะมาแย่ง

หนึ่งไม่มีใครมาแย่งเพราะอะไร? สิ่งนั้นมันป่าเขาลำเนาไพร มันเป็นที่สาธารณะ มันเป็นที่มหาศาลไป อันนั้นเพราะมันไม่มีใครแย่งชิงจากสถานที่อยู่แล้ว แล้วมันไม่มีใครแย่งชิงในหัวใจของเราไง ถ้าในหัวใจของเรามันชำระกิเลส นี่มันสุขหนอ สุขหนอนะ..

สิ่งที่เป็นมรรค เป็นผล สิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิด นี่บุญกุศลคือความชุ่มชื่นหัวใจ บุญกุศลคือความอบอุ่นหัวใจ บุญกุศลนะ เราไปมองกันว่าบุญกุศลนี่เราต้องได้ลาภ ลาภมันเป็นสิ่งที่ตามมานะ ลาภสักการะมันเป็นสิ่งที่ตามมา มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ แต่ถ้าหัวใจมันพัฒนาของมันแล้วนี่ มรรคญาณ กิจจญาณ สัจจญาณ สัจจะความจริงในหัวใจมันพิจารณาของมัน มันแก้ไขของมันเข้าไป

นี่เราทำตรงนั้น เพราะเราต้องการเป็นคนดี ทุกคนอยากเป็นคนดี เราถึงขวนขวายกันมาเพื่อทำบุญกุศลนี้ ทำบุญกุศลนี้เพื่อเสียสละ เห็นไหม การเสียสละนะ

“กลิ่นของศีลหอมทวนลม กลิ่นของคุณงามความดีหอมทวนลม”

สิ่งต่างๆ มันหอมทวนลม เราขวนขวายของเราไป นี่บัณฑิตคบบัณฑิตไง อเสวนา จ พาลานํ เขาไม่คบคนพาล พ่อแม่ เห็นไหม เวลาลูกคบเพื่อน ต้องคอยสังเกตดูแลเพื่อนมันพากันไป นี่ลูกคบเพื่อน แต่ถ้าเพื่อนเขาดีนี่คบบัณฑิต แล้วในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“สิ่งที่เป็นบัณฑิตที่ประเสริฐที่สุดที่ในการคบ คือคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เราก็คบธรรมวินัย แต่ธรรมวินัยมันเป็นศาสดาของเรา เราคบ เราศึกษา แล้วศึกษาแล้วนี่เราจะมีความรู้ความเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน? ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม นี่สนทนาธรรม

“ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง”

แต่อย่าเอากิเลสทิฐิมานะเข้าไปเถียงกัน ถ้าไปเถียงกัน ถ้าเขาเริ่มเถียงกันนะ คนนั้นเขาโกรธ เขามีความโกรธ เขามีความยึดมั่นถือมั่นของเรา ถ้าเราโกรธตอบ เราโง่กว่าเขาเยอะเลย ถ้าเขามีปฏิกิริยา เห็นไหม นี่เราเก็บของเราไว้ สิ่งนี้มันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้าไม่เป็นจริงนะเราเก็บของเราไว้

ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง มงคลชีวิตไง การศึกษา การใคร่ครวญ การสนทนาธรรมนี่เป็นมงคลชีวิต ทีนี้เรามาประพฤติปฏิบัตินี้เราเอาจิตใจเราเข้าสัมผัสเลย ถ้ามีสติมันก็ยับยั้งความคิดเราได้ ถ้ามีสมาธิจิตตั้งมั่นได้ เห็นไหม

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

แต่จิตสงบนี้มันก็เป็นอนิจจัง เพราะสมาธิเป็นอนิจจัง เราก็ใช้ปัญญา พอจิตสงบแล้วเราใช้ปัญญามากขึ้น เราพิจารณาค้นคว้ามากขึ้น นี่มรรคละเอียด มรรคละเอียด มรรคละเอียด.. เวลาพิจารณาไปมันปล่อยวางๆ ปล่อยวางขนาดไหน? ทุกคนบอกปล่อยวางแล้วนี่ธรรมะเป็นอย่างนี้

ไม่ใช่! ไม่ใช่! การปล่อยวางนี้มันต้องมีผลสรุปของมัน ผลสรุปของมันคืออกุปปธรรม สิ่งที่ยังไม่มีผลสรุปของมัน เห็นไหม การพิจารณานี่เราพิจารณาของเราไปบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า เขาเรียกว่ากุปปธรรม

ธรรมะที่สอนว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา” สภาวะที่เป็นอนัตตา มันเป็นสภาวะที่มีการพัฒนาการของมัน จิตมันจะมีพัฒนาการของมันด้วยมรรคญาณไปบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันปล่อยวางขนาดไหน? นี่ใครถามปัญหาหลวงตาไป หลวงตาจะบอกว่า “ถูกต้อง แล้วให้ซ้ำไปๆ” คือต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันสิ้นกระบวนการ มันจบกระบวนการ สรุปมันยังไม่สรุป ถ้าสรุปไม่ได้มันไม่เป็นอกุปปธรรม มันเป็นกุปปธรรม

กุปปธรรมคือสภาวะที่มันเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์แปรปรวนนี่แหละ แต่เดี๋ยวนี้อารมณ์มันดี มันพัฒนาขึ้นไปมันก็ดีๆๆๆ แต่ดียังไม่ถึงที่สุดไง ถ้าถึงที่สุดนะ ธรรมะแท้ๆ นี่ข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว ถ้าดี พอมันพ้นจากดีมันก็ชั่ว พ้นจากชั่วมันก็ดี มันก็สับไปสับมา

กระบวนการนี่เราเร่งกระบวนการของเรา พัฒนาของเราไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันตทังคปหานได้ ถึงที่สุดเวลามันสรุปของมันนะ เวลามันขาดของมันนะ อกุปปธรรม อฐานะ ธรรมะที่ไม่อยู่ในกระบวนการของสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะที่เปลี่ยนแปลง นี่อกุปปธรรม โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี คงที่ของมัน แต่โสดาบันคงที่ในระดับที่ว่ามันสูงขึ้นได้ไง เป็นสกิทาคามีได้ เป็นอนาคามีได้ เป็นพระอรหันต์ได้ แต่ไม่ต่ำลง ไม่ต่ำลงเด็ดขาด

ฉะนั้น ถึงว่าถ้าเป็นโสดาบันแล้วนะ ถ้าชาตินี้สิ้นชีวิตไปเป็นโสดาบัน นี่โสดาบันอีก ๗ ชาติอย่างมากต้องสิ้นสุดแห่งทุกข์ นี่มันถึงว่าไม่เสื่อม ไม่ต่ำสภาพลงไป เป็นอกุปปธรรม.. อกุปปธรรมเกิดจากผลสรุปของสิ่งที่แปรปรวน สิ่งที่เป็นอนิจจัง คือวัตถุข้าวของเงินทอง แล้วทั้งยศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งความรู้สึกนึกคิด

อารมณ์ความรู้สึกนี่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเพื่อนเลย เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่เวลามันถึงที่สุดแล้ว เห็นไหม ตัวฐาน ตัวฐีติจิต ตัวภวาสวะ ตัวที่ตั้งของความคิด ความคิดตั้งอยู่บนอะไร? อารมณ์ความรู้สึกมันตั้งอยู่บนอะไร? ตรงนั้นแหละมันแก้ไขตรงนั้น สิ้นกระบวนการตรงนั้นถึงเป็นอกุปปธรรม เป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ส่วนบุคคล ไม่มีใครแตะต้องได้ ไม่มีใครทำลาย ไม่มีใครมาเคลื่อนที่ได้ เราเท่านั้น เจ้าของเท่านั้น

นี่อริยทรัพย์ เราอยากเป็นคนดี เราถึงสร้างคุณงามความดีกัน ทำคุณงามความดีเข้ามา นี้เป็นประเพณีวัฒนธรรม เป็นเรื่องของสังคม เห็นไหม นี่อยู่ในโลกโดยไม่ติดโลก โลกเป็นอย่างนี้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกัน แต่ถ้าจิตของเรามีหลักมีเกณฑ์นะ เรามองเขาเหมือนผู้ใหญ่มองเด็ก เห็นเด็กเล่นกันมีความสุข เราก็ชื่นใจไปกับเขา เด็กทะเลาะเบาะแว้งกัน เราก็เห็นว่ามันไม่ควรทำ เรามองโลกแบบนั้นถ้าเรามีสติปัญญา ใครจะรู้กับเราไม่รู้ แต่จิตใจเรารู้ เรารู้ของเรา

นี่อยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก เห็นไหม เราเกิดจากโลก ธรรมะเกิดจากโลก เกิดจากฐีติจิต เกิดจากอวิชชานี่แหละ พิจารณาใคร่ครวญมัน เราปรารถนาเป็นคนดี เราทำคุณงามความดีจากข้างนอก แล้วเราพัฒนาเป็นคุณงามความดีจากข้างใน แล้วจะรู้ได้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ชัดเจนแค่ไหน จิตใจของเราเวลาปฏิบัติแล้วนี่ ปัจจัตตังมันชัดเจนแค่ไหน นี้จะเป็นสมบัติของเรา เอวัง