ถ้าหลงก็ผิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตอนมาอยู่โพธารามใหม่ๆ เราคิดว่าเอาพวกเรามาปฏิบัติธรรม แล้วให้พวกญาติโยมมาเหยียบย่ำ แหม.. มันสะเทือนใจนะ เหมือนเรามานั่งทำความดีกัน แล้วให้คนมาเหยียบย่ำๆ นี่มันทนไม่ได้ ฉะนั้น ทนไม่ได้นี่เราต้องปกป้อง เราเป็นหัวหน้าเราต้องปกป้องดูแล เราจะปล่อยให้คนมาเหยียบย่ำ เหมือนกับเหยียดหยามธรรมะนี่เราทนไม่ได้ ทำไม่ได้ แต่คนไม่คิดอย่างนั้นไง คิดว่า อู้ฮู.. ไฟเว้ยไฟ ไฟเผาแล้ว แต่เขาไม่ได้มองว่าไฟมันปกป้องใคร ไฟมันดูแลใคร แล้วไฟมันดูแลคนอื่นนี่มันดูของมันนะ ฉะนั้น โลกก็เป็นโลก
มันข้อ ๕๔๓. ไม่มีเนาะ
ข้อ ๕๔๔. นี่ฟังคำถามนะ
ถาม : ๕๔๔. เรื่อง ฌานที่เกิดจากการนึกถึงความตาย
ผมได้เจอประโยคหนึ่งที่พระพุทธเจ้าสนทนากับพระอานนท์ดังนี้ครับ..
พระพุทธเจ้าทรงถามพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอคิดถึงความตายอย่างไร?
พระอานนท์ตอบว่า คิดถึงทุกวันเลยพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงเฉย
พระอานนท์ก็ตอบอีกว่า คิดวันละ ๓ เวลา พระพุทธเจ้าก็ยังเฉย
พระพุทธเจ้าทรงส่ายพระพักตร์แล้วตรัสว่า
เธอควรคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกเพื่อความไม่ประมาท ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเราหนีความตายไม่พ้น ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง แล้วเราจะโลภ จะโกรธ จะหลงไปทำไม? เมื่อจิตไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่อยากก็เข้าสู่อุเบกขาคือการวางเฉย ในฌาน ๔ มีองค์ประกอบอยู่ ๒ อย่างคือ อุเบกขากับเอกัคคตารมณ์
คำถาม!
๑. ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า การระลึกถึงความตาย ทำให้จิตสงบเข้าถึงฌานได้จริงหรือไม่ครับ
๒. ฌานที่เกิดจากมรณานุสติ แบบนี้กำลังมากพอที่จะประหารกิเลสแบบสมุจเฉทปหานได้ไหมครับ เพราะมีคนบอกว่าทำได้
๓. แบบนี้จัดเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหมครับ
หลวงพ่อ : นี่พูดถึงคำถามนะ แต่เขาบอกประสบการณ์มาพร้อม ประสบการณ์ที่เขาปฏิบัติมานี่มันก็เลยก้ำกึ่ง นี้คือการที่เขาศึกษามาปริยัติ
ถาม : อันนี้เป็นความเห็นของผมที่เจอมาแล้ว ทำให้เกิดความสงสัย (นี่คือประสบการณ์นะ)
การประหารกิเลสด้วยการคิดพิจารณาถึงความตาย ประสบการณ์เกี่ยวกับความป่วยเฉียดตายของตน พิจารณาจนจิตปล่อยวางเพราะเข้าใจว่าความตายเป็นธรรมดา พิจารณาไล่ไปเห็นความดับหมดของทุกสรรพสิ่ง อาจเข้าใจว่าทุกสิ่งไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนได้ อาจเข้าใจผิดได้ ว่าได้ละสักกายทิฏฐิได้แล้วในตอนนี้
เมื่อใจยอมรับและปล่อยวางทุกสิ่งได้ชั่วคราว เพราะผลของการเห็นความดับทั้งหมดของทุกสิ่ง จะทำให้รู้สึกว่ากิเลสในใจที่เรียกว่าตัณหา ๓ สงบลง เหมือนหายไปเกือบหมดได้ เรียกว่าตัณหาลดลง จนผู้ปฏิบัติรู้สึกได้ชัดเจนในช่วงนี้ ทั้งอาการของปีติ และความศรัทธาในพระรัตนตรัยจะมีมากมายจนเหมือนหมดสงสัยในทันใด ทำให้รู้สึกว่าละวิจิกิจฉาได้แล้ว หรือการรักษาศีลได้สมบูรณ์ก็เป็นเรื่องง่าย หลังจากที่ตัณหาลดลงแล้ว ก็จะเกิดการพิจารณาทบทวนดูสิ่งใดหนอที่เรายังเหลืออยู่ และควรทำเพื่อลดละเป็นอย่างไรต่อไป
ทั้งหมดนี้แม้จะไม่ได้เป็นผู้ที่มีการศึกษาเรื่องวิปัสสนาญาณ ๑๖ มาก่อน แต่จิตใจก็จะเป็นไปในทางที่เข้ากันได้กับญาณ ๑๖ ยิ่งการศึกษาหรือวิปัสสนาญาณ ๑๖ มาก่อน จิตใจก็ยิ่งเชื่อมั่นในสิ่งที่พบเห็นได้สัมผัสมากขึ้น เชื่อหนักแน่นขึ้นว่าได้บรรลุธรรมแล้วแน่ๆ วิธีป้องกันคือศึกษาเรื่องปหานะ ๓ ให้มากๆ ให้ตรวจสอบตนเอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นแค่ตทังคปหาน หรือวิขัมภนปหาน ซึ่งเป็นการประหารกิเลสชั่วคราว ยังไม่ใช่สมุจเฉทปหาน แต่ก็มีประโยชน์มาก เพราะทำให้จิตใจผู้ที่ทำให้ประหารชั่วคราวทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น ได้เป็นจิตที่กิเลสตัณหาเบาบางลง จิตว่างจากนิวรณธรรมต่างๆ เป็นผู้มีสติสมบูรณ์ชัดเจน แม้แต่แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่จิตนั้นมีคุณสมบัติที่จะบรรลุธรรมได้จริง
ถ้าดำเนินต่อเนื่องในทางที่ถูกต้องได้ ไม่หยุดอยู่แค่ที่ได้สัมผัสแล้วนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะหยุดอยู่เท่านั้นเพราะเป็นผลของวิปัสสนูกิเลสอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อีกอย่างหนึ่งที่ผู้ที่ปฏิบัติธรรมควรศึกษาให้รู้ให้ดีเพื่อตรวจสอบตนเอง ก็คือวิปัสสนูกิเลส
กระผมขอรบกวนหลวงพ่อ ๒ คำถามนี้เท่านั้นครับ ยังไม่มีคำถามที่เกี่ยวกับการภาวนาของตัวเองเลย
หลวงพ่อ : เวลาคิดถึงความตาย มรณานุสติ คำถามว่า..
ข้อ ๑. ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า การระลึกถึงความตายจะทำให้จิตสงบเข้าถึงฌานได้จริงหรือไม่ครับ
คำว่าฌานนี่มันเป็นชื่อ นี้พูดถึงชื่อนะ พอคำว่าฌานปั๊บมันก็เป็นเรื่องฌานโลกีย์ เรื่องโลก เพราะว่าในภาคกลางเรานี่ ส่วนใหญ่แล้วเป็นเกจิอาจารย์ คำว่าเกจิอาจารย์ ส่วนใหญ่เขาทำฌานสมาบัติกัน เพื่อเอาฌานสมาบัตินี้เพ่งวัตถุสิ่งของให้มีคุณค่า
เกจิอาจารย์กับสุปฏิปันโน คนละเรื่องนะ.. กรรมฐานเรานี่ทำสุปฏิปันโน ปฏิบัติตรงต่อธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แต่ถ้าผู้ที่ไม่มีครูบาอาจารย์นะมันจะทำฌาน เห็นไหม ทั้งเข้าฌาน ทั้งสมาบัติ พอฌานสมาบัตินะจิตมันมีกำลัง การเพ่งมันก็เป็นฌานโลกีย์ รู้วาระจิตต่างๆ มันเป็นเรื่องฌานโลกีย์ทั้งนั้นแหละ
ฉะนั้น มรณานุสติมันก็เป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พิจารณาความตายเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ฉะนั้น เขาทำเพื่อความสงบของใจ ฉะนั้น คำว่าฌานๆ นี่หลวงตาจะบอกเลย ฌาน แฌน นี่อย่ามาพูดกับเรา ท่านไม่พูดเรื่องสิ่งนี้เลยเพราะอะไร? เพราะมันจะเข้าไปสู่โลกๆ ไง
พอเวลาเราปฏิบัติกันเพื่อเข้าสู่อริยสัจ เห็นไหม สุปฏิปันโน อุชุ-ญาย สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงต่อธรรม ถ้าเราปฏิบัติตรงต่อธรรม มรณานุสติก็เพื่อความสงบของใจ ไม่เกี่ยวกับฌาน
นี่ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌานก็ว่าฌาน พอขึ้นฌานปั๊บมันก็แบ่งเลย พระพุทธเจ้าไม่ต้องการตรงนี้ไง นี่เราพูดไว้แล้ว ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่รู้ พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้าก็ทำตรงนี้แหละ เพราะเขาบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้กำหนด พุทโธ
อ้าว.. พระพุทธเจ้ากำหนดพุทโธได้อย่างไร? พุทโธยังไม่มี พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ พุทธะพระพุทธเจ้ายังไม่รู้จักพุทธะเป็นอย่างไร ในเมื่อพระพุทธเจ้ารู้จักพุทธะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว พระพุทธเจ้าถึงสอนพุทธานุสติ พุทโธ ธัมโม สังโฆ
พุทโธ พุทโธ ธัมโม ธัมโม สังโฆ สังโฆ นี่พุทธานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ฉะนั้น มรณานุสติมันก็เป็นอยู่ห้องหนึ่งในกรรมฐาน ๔๐ อย่างนั้น ฉะนั้นปฏิบัติไป นี่ศีล สมาธิ ปัญญา มีสมาธิเพื่อความสงบของใจ ฉะนั้น..
ถาม : มรณานุสติ กำหนดระลึกถึงความตายจิตสงบได้ไหม
หลวงพ่อ : ได้!
ถาม : แล้วเข้าถึงฌานได้จริงหรือเปล่าครับ
หลวงพ่อ : เข้าถึงความสงบได้ เข้าฌานไม่เข้า ฌานเข้าไปก็ไม่เอา เพราะมันจะเป็นมิจฉาก็ได้ นี่พอเข้าฌานไปแล้วมันส่งออก ฌานนี่มันส่งออก ฌานไว้เพื่ออะไร? ไม่มีศีล ฌาน ปัญญาไม่เคยเห็น ศีล ฌาน ปัญญาไม่มี มีแต่ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาปั๊บ ถ้าพูดถึงเขาว่าญาณ ๑๖ ประสาเราว่ามันกอดตำราไว้แจ๋เลยไง กอดตำราไว้ขยับไม่ได้เลยไง แต่ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาล่ะ? ถ้าเราไม่เอาฌานล่ะ? ทำไมต้องเป็นฌานด้วยล่ะ?
นี่พูดถึงคำว่า มรณานุสติ ระลึกถึงความตายเข้าถึงความสงบได้ไหม?
ได้!
แล้วเข้าถึงฌานได้ไหม?
เข้าถึงฌานนะ มันก็แบบว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่เวลาเข้าไปเลย เวลาเข้าแล้วถอยกลับมา ฉะนั้น มรณานุสติเขาเข้าเพื่อความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วนี่เขาออกใช้ปัญญา นี่ศีล สมาธิ ปัญญา.. ปัญญามันชำระกิเลสได้ไหม? เดี๋ยวจะรู้กันข้างหน้า รู้กันข้างหน้าต้องปฏิบัติให้ถูกต้องไง
ทีนี้การปฏิบัติ ประสบการณ์ที่บอกว่าพอจิตกำหนดแล้วมันเฉียดถึงความตาย มันรู้อย่างไร นี่มันระหว่างไง ในการประพฤติปฏิบัติ มรรคหยาบ มรรคละเอียดมันก็ต้องก้าวเดินไปอย่างนั้นแหละ นี้การก้าวเดินไป นี่เวลาวิทยาศาสตร์ โลกนะเงิน ๑ บาทก็มีค่าเท่ากับ ๑ บาท วัตถุชิ้นหนึ่ง ก็มีค่าเท่ากับวัตถุชิ้นหนึ่ง ฉะนั้น เขาถึงเปรียบเทียบว่าจิตไง
จิตเวลาตั้งสมาธิ ก็สมาธิเหมือนสมาธิสิ แต่จิตนี้มันเหมือนต้นไม้ จิตนี้เป็นนามธรรม จิตนี้เป็นสิ่งที่มีชีวิต จิตนี่แบบว่าเวลามันเข้มแข็งขึ้นมานี่เข้มแข็งเลย เวลามันอ่อนแอหายหมดเลย อ้าว.. ต้นไม้เดี๋ยวก็ต้นใหญ่โตเลย เวลาต้นไม้มันหายไป ต้นไม้มันหายไปไหน? ต้นไม้หายไปไหน? ต้นไม้ไม่มีเลย ตรงนี้ที่โล่งหมดเลย พอเดี๋ยวตั้งสมาธิขึ้นมา อ้าว.. ต้นไม้โผล่มาอีกแล้ว นี่ต้นไม้โผล่มาอีกแล้ว เดี๋ยวพอจิตมันล้มเหลว ต้นไม้ก็หายไปหมดเลย
มันไม่ใช่วัตถุ ในเมื่อมันไม่ใช่วัตถุแล้ว เห็นไหม เราจะบอกว่าสิ่งหนึ่งก็เหมือนกับสิ่งหนึ่ง สมาธิก็ต้องเป็นสมาธิ ปัญญาก็ต้องเป็นปัญญา ปัญญาที่เป็นปัญญานะ เวลามีดนี่เหมือนกับคมของปัญญา ถ้าเราไปสับฟันสิ่งที่เป็นวัตถุที่อ่อนนิ่ม วัตถุที่มันฟันเข้าได้ มันก็ฟันได้ มีดไปฟันเหล็ก ไปฟันก้อนหิน มีดมันจะฟันเข้าไปได้ไหม? กิเลสของคนเวลามันอ่อนแอ เวลามันเข้มแข็ง เวลาคนเรานี่มันเป็นอย่างไร?
นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้นว่าสิ่งหนึ่งคือสิ่งหนึ่ง วัตถุหนึ่งคือวัตถุหนึ่ง แต่จิตไม่เป็นอย่างนั้น จิตมันมหัศจรรย์มากกว่านั้นเยอะ ฉะนั้น เวลาพูดนี่ ถ้ากอดตำราไว้แจ๋เลย กอดตำราไว้แน่นเลยมันพูดกันยาก ฉะนั้น เวลาปฏิบัติแล้วต้องวางตำราก่อน แล้วมาตรวจสอบตามข้อเท็จจริง แล้วข้อเท็จจริงให้จิตเข้าไปประสบมา
นี่กรรมฐานเขาสอนกันอย่างนี้ไง เขาถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน แล้วสงบจริงหรือเปล่าล่ะ? อ้าว.. สงบคืออะไร? ก็ ส.เสือ ง.งู บ.ใบไม้ไง อ้าว.. ก็สงบแล้ว สงบของคนพูดไง แต่คนตรวจสอบมันไม่สงบจริงไง มันเป็นสัญญาอารมณ์ไง นึกว่าให้สงบ เวลานึกให้นึกว่าไม่มีอะไรเลย นึกให้ว่าง นึกว่าง ว่าง ก็ว่างอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วได้อะไรต่อไป ก็นึกให้ว่างไง
นึกให้ว่างแต่มันไม่ว่างจริง ว่างแต่ข้างนอก นึกให้ว่างแต่ตัวมันนี่อัตตาเต็มตัวเลย ว่างๆ ว่างๆ แต่ทิฐิมานะเต็มหัวใจเลย ว่างๆ ว่างๆ ว่างอะไรของมึง? แต่ถ้ามันพุทโธเข้ามา พุทโธเข้ามานะ มันต้องมาว่างจากตัวมัน ต้องมาว่างจากตัวจิต ถ้าตัวจิตมันว่างจริงนะ โอ้โฮ..
อย่างเช่นมือของเรานี่ เห็นไหม เรากำสิ่งใดไว้อย่างหนึ่ง แล้วบอกว่ามือนั้นไม่ได้กำอะไรไว้เลย มือนี้ว่าง แต่กำไว้แน่นเลยบอกมือนี้ว่าง แต่ถ้าเขาแบออกล่ะ? มือนี้ไม่มีอะไรเลย แบออกไม่มีอะไรเลย แต่ถ้ามันกำทิฐิมันไว้ ความมานะของมันไว้นะ บอกว่างๆ ว่างๆ กำไว้แน่นเลย นี่ไงมือเหมือนมือไง
นี้พูดถึงวัตถุอันหนึ่ง วัตถุอันหนึ่ง ทีนี้พูดถึงประสบการณ์นะ เขาถามว่า
การระลึกถึงความตายนี่จิตสงบได้ไหม?
กรรมฐานเขากำหนดความตายกันอยู่แล้ว มรณานุสติเขาทำกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทำตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่น เขาทำกันมาอยู่แล้ว ถ้าคนทำอยู่แล้ว มันเหมือนกับเรานี่ทำจนเป็นนิสัย เราทำกันจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาเนาะ คนไม่เคยทำมาเห็นเข้าตื่นเต้นนะ โอ้โฮ! โอ้โฮ! แต่กรรมฐานนี่นะ มรณานุสติเขาทำกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทำได้อยู่แล้ว
ถาม : ข้อ ๒. ฌานที่เกิดจากมรณานุสติ แบบนี้กำลังมากพอที่จะประหารกิเลสแบบสมุจเฉทปหานได้หรือไม่ครับ เพราะมีคนบอกว่าได้
หลวงพ่อ : วัตถุชิ้นหนึ่งมีราคาหนึ่งล้าน เรามีเงินบาทหนึ่ง เราซื้อวัตถุสิ่งนั้นได้ไหม? วัตถุสิ่งหนึ่งมีราคาหนึ่งล้าน แต่เรามีเงินหนึ่งบาท แต่เรามีความขยันหมั่นเพียร สะสมเงินหนึ่งบาท สองบาท ห้าบาท ร้อยบาท แสนบาท เก้าแสนบาท ถึงล้านบาทเราซื้อสิ่งของนั้นได้ไหม?
วัตถุมีค่าเท่ากับหนึ่งล้าน หมายถึงกิเลสมันเข้มแข็ง มันเกาะกินหัวใจเรามาสาหัสสากรรจ์ แล้วเวลาเรากำหนดมรณานุสตินี่ เราประหารกิเลสเราได้ไหม? เพราะเราบอกว่าได้ ได้นี่เงินหนึ่งล้าน เรามีเงินหนึ่งบาทเราก็จะซื้อของเงินหนึ่งล้านนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เงินหนึ่งบาท สะสมๆๆ จนกว่ามันครบล้าน นี่มันซื้อได้แน่นอน
มรณานุสติเราฝึกหัดของเรา แล้วมันจะตทังคปหานอย่างใด มันทำอย่างไรนี่เราฝึกฝนบ่อยๆ การฝึกฝนนั่นล่ะคือการสะสมเงิน การที่เราถึงเวลาจะไปฆ่ากิเลส เอาอะไรไปฆ่ามัน? ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญา พอเรามีสมาธิแล้วเราก็ใช้ปัญญาฝึกฝนมันไป พอฝึกฝนมันแยกทีหนึ่งก็ตทังคปหานหนหนึ่ง มันอยู่ที่การฝึกฝนไง อย่างที่ว่ากุปปธรรม อกุปปธรรมไง
กุปปธรรมคือสัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วอกุปปธรรมมันคืออะไรล่ะ? อกุปปธรรม อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าอกุปปธรรมนี่มันทำได้ แต่ว่าทำได้ไม่ใช่ว่าทำหนเดียวก็ได้ ถ้าคำว่าทำได้หรือทำไม่ได้ มันก็เหมือนกับที่เราพูดเมื่อกี้นี้ พูดถึงว่าวัตถุสิ่งหนึ่งก็มีค่าเท่ากับสิ่งหนึ่ง แต่นี้เราบอกว่ามันทำได้ แต่มันทำได้ต่อเมื่อจิตใจมันเข้มแข็ง จิตใจมันแข็งแรงแล้วมันทำได้
แต่ถ้าเกิดจิตใจนี่มันทำได้ แต่ทำได้ระดับนี้ไง มรรคหยาบๆ ไง ถ้าละเอียดขึ้นไปมันทำได้แน่นอน ถ้าทำได้แน่นอนแล้วมันจบสิ้นที่ไหนล่ะ? นักกีฬานะ เราไปหาเด็กนี่ช้างเผือกมาฝึกนักกีฬาเยอะแยะเลย แล้วเวลาผู้ที่ประสบความสำเร็จมีกี่คน
นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่เข้าไปถึงที่ว่ามันฆ่ากิเลส มันถึงตรงนั้นมันก็ได้ แต่ถ้ามันยังไม่ถึง มันก็ทำในระหว่าง ฉะนั้น ที่เขาบอกว่า..
ถาม : สมาธิที่เกิดจากมรณานุสติ ประหารกิเลสแบบสมุจเฉทปหานได้หรือไม่ได้ เขาบอกว่าทำได้
หลวงพ่อ : ได้ ได้ ได้แต่ต้องทำต่อเนื่องไป จนสะสมเงินครบหนึ่งล้าน คำว่ากิเลสมีค่าเท่ากับหนึ่งล้าน เรามีเงินหนึ่งบาท ร้อยบาท แสนบาท คุณค่าของธรรมะเราอ่อนด้อยกว่าค่าของเงินหนึ่งล้านนั้น แต่ถ้าเราทำบ่อยครั้งเข้า เราเพิ่มทวีคูณมากขึ้น เราสะสมกำลังจนกำลังไปเสมอกัน หนึ่งล้านต่อหนึ่งล้าน พอหนึ่งล้านต่อหนึ่งล้าน ฆ่าหนึ่งล้านอีกหนึ่งล้านได้ไหม? ถ้าฆ่าไม่ได้นะ หนึ่งล้านกับหนึ่งล้านแยกกันอยู่ก็ซื้อไม่ได้
ถ้าพอเรามีค่าเท่ากับหนึ่งล้าน จิตพอเวลาสงบ จิตที่มันใช้ปัญญาจนเลอเลิศเลยนะ แต่มันงานไม่ชอบ มันทำไม่ถึงความจริงของมัน มันก็ฆ่าไม่ได้ ถ้ามันฆ่าได้มันต้องสมดุลของมัน มันบริหารของมัน สมดุลของมัน มันถึงจะฆ่าของมันได้
ถาม : ข้อ ๓. แบบนี้จัดเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหมครับ
หลวงพ่อ : ปัญญาอบรมสมาธิ หรือสมาธิอบรมปัญญา มันอยู่ที่เราใช้งาน อย่างเช่นรถยนต์ เกียร์อัตโนมัติก็มี เกียร์ธรรมดาก็มี เราจะใช้รถรุ่นไหนล่ะ? รถยี่ห้ออะไรล่ะ? นี่ก็เหมือนกัน ถ้าบางทีเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แต่บางทีเราก็ใช้สมาธิอบรมปัญญา อยู่ที่เราใช้ของเรา
ฉะนั้น ที่ถามว่า อย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่า
ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันก็อย่างที่ว่าสะสมเงินขึ้นไปนี่แหละ สุดท้ายแล้วมันก็จะไปถึงที่นั่น ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติมา.. นี้พูดย้อนกลับมาที่ว่าประสบการณ์ที่ทำมา มันแบบว่า ถ้าปฏิบัติไปแล้วจะเข้าใจได้ว่าเราละสักกายทิฏฐิ
ก็นี่ไง เวลาปฏิบัติขึ้นมาเราบอกว่าเราจะฆ่ากิเลส เห็นไหม กรรมฐานเราบอกว่า
กิเลสนี่เหมือนสวะ มันอยู่บนน้ำ น้ำต่ำลง สวะนั้นมันก็ต่ำลงตาม จำนวนน้ำมากขึ้น มันก็ยกสวะให้สูงขึ้น
ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาว่าตทังคปหาน เราจะเข้าใจได้ว่าเราละสักกายทิฏฐิแล้ว นี่ก็คือความหลง เห็นไหม จิตใจเราพัฒนาขึ้นมาจนสูงส่งขนาดไหน กิเลสคือสวะที่มันอยู่บนน้ำนั้นมันก็สูงขึ้นไปด้วย ฉะนั้น เราถึงจะต้องสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง นี่สันทิฏฐิโกรู้จำเพาะตน แล้วต้องรู้จริง ยถาภูตัง! ยถาภูตังฆ่ากิเลสนะ เกิดญาณทัศนะว่ารู้ว่าฆ่าแล้วอีกนะ
แต่ถ้าบอกว่าเราฆ่ากิเลสแล้ว เราทำเสร็จสิ้นแล้ว เราละสักกายทิฏฐิได้แล้ว นี่พูดถึงคนหลง ประสบการณ์ที่เขียนมานะ นี่ผู้ที่ปฏิบัติมันมีอย่างนี้มาทั้งนั้นแหละ แต่มีแล้วนะ อยู่ที่ว่าคนมีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีศักยภาพมากเขาจะไม่เชื่อ เขาจะตรวจสอบ กาลามสูตรว่าเป็นจริงหรือเปล่า? มันจะถูกต้องดีงามไหม? มันจะพิสูจน์ตัวเองตลอด พิสูจน์เปรียบเทียบตลอด
แต่เวลาถ้ามันสมุจเฉทปหานนะ นี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เห็นไหม สักกายทิฏฐิ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พอมันขาดไปแล้วนี่ ค้นหาๆๆ ค้นหาอย่างไรก็ไม่เจอ ตรวจสอบอย่างไรก็ไม่เจอ นี่พูดถึงตัวเองไปเจอก่อน
ฉะนั้น เวลาไปธัมมสากัจฉา ไปคุยกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านตรวจสอบทีเดียวเท่านั้นแหละ เพราะท่านถามได้ ท่านถามเรา ถามสิ่งที่เราคาดไม่ถึง ถ้าเราตอบถูกนะใช่หมด แล้วถ้าเรารู้จริงเราตอบได้หมด ถ้ารู้ไม่จริงตอบไม่ได้
นี่พูดถึง เพราะปัญหานี้ประสบการณ์เขาบอก ถ้าทำอย่างนี้แล้วมันเหมือนกับว่าคนเข้าใจผิดได้ง่าย มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อสถานะของเราเจริญขึ้น ดีขึ้น เห็นไหม อย่างเช่นตอนนี้ว่าชนชั้นกลางมีมากขึ้น คนชั้นกลางต้องการความเป็นอยู่ ต้องการสินค้ามากขึ้น เราก็ต้องผลิตสินค้ามากขึ้น ขายให้คนชั้นกลาง เพราะคนชั้นกลางมีเงินมาซื้อสินค้ามากขึ้น
การปฏิบัติของใจ ใจมันพัฒนาขึ้นไป เหมือนคนชั้นกลางมีมากขึ้น มันก็ต้องหลงตัวมันเองเป็นธรรมดา พอหลงตัวมันเองขึ้นมานี่เราจะพัฒนาอย่างไร? จะสูงขึ้นไปอย่างไร? เขาต้องดูกันตรงนั้น
ฉะนั้น ที่บอกว่า เหมือนกับมันจะละสักกายทิฏฐิ
นี้เขาว่าเขาเหมือนนะ แล้วจิตมันทำให้สมบูรณ์ขึ้น ทุกอย่างสมบูรณ์ขึ้น ไอ้เรื่องการพิสูจน์ ไม่ใช่พิสูจน์แล้วแน่นอน.. ไอ้นี่ประสบการณ์นะ กระผมขอรบกวนหลวงพ่อ ๒ คำถาม นี่คำถามเรื่องกรรมฐาน เรื่องปฏิบัติ
ข้อ ๕๔๕. ไม่มี
ข้อ ๕๔๖. ไม่มี
ถาม : ข้อ ๕๔๗. เรื่อง นั่งแล้วเจ็บ
นั่งแล้วระยะหนึ่งจะเจ็บมาก ไม่ทราบว่าผมจะทำอย่างใด หรือพิจารณาอย่างใดดีครับ
หลวงพ่อ : ถ้าเจ็บมากนะ มันอยู่ที่ว่าจิตใจเข้มแข็งและจิตใจที่อ่อนแอ คนเรานี่นะ ร่างกายเข้มแข็ง ร่างกายอ่อนแอ จิตใจเข้มแข็ง จิตใจอ่อนแอ ถ้าจิตใจเข้มแข็งนะ เจ็บก็เจ็บ ฉะนั้น ยิ่งเจ็บนี่ยิ่งเจ็บมาก คนเราเล่นการพนัน เขานั่งทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืนเขานั่งได้นะ เพราะ! เพราะเขาส่งใจไปอยู่ที่การได้เสียของเขา เขาจะไม่รับรู้เรื่องร่างกายของเขาเลย แต่พอเขาเลิกเล่นการพนันนะ เขาเจ็บไข้ได้ป่วยเลยก็ยังมี
ฉะนั้น เพราะจิตใจเขานี่ เขาไปหมกมุ่นอยู่กับการเล่นการพนันของเขา จิตใจนี่เขาไม่รับรู้อาการเจ็บปวดของเขา เขาถึงไม่มีอาการเจ็บปวด เขาก็นั่งเหมือนกัน แต่เวลาเรานั่งสมาธิกัน เห็นไหม เรานั่งกันชั่วโมง ๒ ชั่วโมงนี่เจ็บปวดมาก เจ็บปวดมาก เพราะว่าเราจะควบคุมใจของเรา ใจของเรามันก็จดจ่ออยู่กับกิริยาของเรา จดจ่ออยู่กับความเห็นของเรา มันก็ชัดเจนขึ้นมา
ฉะนั้น สิ่งนี้ถ้ามันชัดเจนขึ้นมาก็เหมือนกับคนตั้งใจ คนตั้งใจทำดี ตั้งใจทำสิ่งใดมันก็จะเห็นชัดเจน คนไม่ได้ตั้งใจทำสิ่งใดเลย มันฟลุ๊คได้ มันไม่ได้ตั้งใจทำเลยมันสำเร็จได้ แต่ความสำเร็จอย่างนี้ งานที่สำเร็จอย่างนี้มันเป็นงานฟลุ๊ค คำว่าฟลุ๊คนะมันไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่ความเห็นชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันเป็นการฟลุ๊คส้มหล่น มันเป็นธรรมเกิด พอธรรมเกิดนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ
นี่จะพูดถึงว่าเขานั่งได้ระยะหนึ่งแล้วเจ็บมาก เจ็บมาก.. เจ็บมากก็ต้องรู้ เจ็บมากก็ตั้งสตินะ ตั้งสติ เจ็บปวดอย่างนี้ ความเจ็บปวดนี้เราซาดิสก์หรือ? เราต้องการให้มันเจ็บปวดอย่างนั้นหรือ? มันไม่ใช่ มันเป็นที่จิตใจเข้มแข็งและจิตใจที่อ่อนแอ ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งนะ ความเจ็บปวดอย่างนี้เราก็รักษาของเรา เราดูแลของเรา นี่ผ่อนคลายบ้างก็ได้ แล้วถ้าตั้งสติดีๆ นะ พัฒนาขึ้นไป
แต่ถ้ามันน้อยเนื้อต่ำใจนะ จิตใจนี่เวลาเจ็บปวดนะกิเลสมันจะโถมใส่ บอกว่า เห็นไหมทำดีก็ไม่ได้ดี เขาก็เที่ยวไปมีแต่ความสุข คนเขาก็มีแต่ความสุขรื่นเริง เรามาทนทุกข์ทนยาก นี่กิเลสมันมาโถมใส่ มันทำให้เราเสียหายเลย ฉะนั้น เวลามันเจ็บขึ้นมาใช่ไหม นี่มันเจ็บมันเป็นเพราะอะไร? ยิ่งคิด ยิ่งค้นคว้ามันก็ยิ่งเจ็บมาก
พูดถึงนะเราเห็นใจ เราเห็นใจคนที่ตั้งใจทำความดี แล้วเจออุปสรรค เราจะฝ่าความวิกฤตินั้นไปอย่างไร ให้มันได้สัมผัสไง นี่พวกเราวิตกกังวลไปเอง เราจะวิตกกังวลมากนะ นั่นก็จะไม่สำเร็จ นู่นก็จะไม่ได้ดี เราวิตกกังวลไปหมดเลย เวลาจะปฏิบัตินะเขาให้วางให้หมด แล้วถ้าอานาปานสติกำหนดลมหายใจก็ได้ กำหนดพุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เพราะ! เพราะเราจะค้นหาตัวเอง
การชนะศึกหมื่นแสนนะ ชนะกองทัพ ชนะใครก็แล้วแต่ ชนะมากน้อยแค่ไหน สร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้น ในพุทธศาสนาให้ชนะตนเอง ให้ชนะเราให้ได้ ถ้าเราชนะให้ได้ เห็นไหม มันก็เอาเจ็บปวดนี้มาขวางไว้ เอาทุกอย่างมาขวางไว้ เพราะเราจะเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน ฉะนั้น เวลาเราเจอสิ่งนี้แล้ว เราจะแก้ไขเราได้อย่างไร? เราจะชนะตนเองเราได้อย่างไร?
ถ้าเราชนะตนเองได้นะเจ็บปวดนี้หายหมด มันปล่อยวางหมด ถ้าเจ็บปวดมันปล่อยวางหมดนะ แต่การผ่านด่านการเจ็บ การปวด บางคนเขาไม่เจ็บล่ะ? บางคนนั่งทั้งวันทั้งคืนไม่เจ็บ ไม่เคยเป็นอะไรเลย ไม่เห็นอะไรเลย นั่นก็อีกกรณีหนึ่ง นี่ถึงว่ามันเป็นแต่ละกรณีของคนไง แล้วอย่างเช่นคนมีโรคประจำตัว ผู้เฒ่า ผู้แก่อย่างนี้
มีคนบอกว่าต้องนั่งสมาธิ นั่งสมาธิ คนแก่อายุเกือบร้อยนั่งสมาธิอย่างไร? ก็นอนสมาธิไง นอนก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน เขาทำเพื่อความสงบของใจ เขาไม่ได้เอากิริยาหรอก แต่กิริยาท่านั่งเป็นกิริยาที่แบบว่าเป็นมาตรฐาน คนเรานั่งแล้วมันนั่งได้นานที่สุด เพราะคำว่านั่งนานที่สุด นานเพื่ออะไร? นานเพื่อสืบต่อดูใจไง เพราะว่าชีวิตนี้อยู่บนกาลเวลา เวลามันเคลื่อนไป ชีวิตเราอยู่ นี่เรามีชีวิตอยู่ ถ้าชีวิตมันดับ เวลามันก็ยังอยู่
ฉะนั้น ชีวิตอยู่บนกาลเวลา นี่กาลเวลาที่เรานั่งอยู่ กาลเวลาที่มันเคลื่อนอยู่นี่เราดูมัน เรารักษามัน เราจะค้นคว้ามัน ถ้าเราค้นคว้ามันด้วยพุทโธ พุทโธ เห็นไหม นี่จะหามัน ถ้าหามันได้นี่เราจะหาตัวตนของเรา เอาตัวตนของเรามาซักฟอก มาทำความสะอาด มาทำให้มันพ้นจากทุกข์ ให้มันพ้นจากความวิตกกังวลในใจ
นี่ใจวิตกกังวลไปหมดเลย นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ดี ชีวิตนี้ก็มีแต่ความทุกข์ แต่ถ้าเราตั้งสตินะ ดูโลกทั้งโลกเขาก็ทำงานกันอย่างนี้ โลกทั้งโลกเขาก็ขับเคลื่อนกันไปอย่างนี้ แล้วเราเป็นใคร เราจะเหนือโลกไปจากไหน? เราก็คนๆ หนึ่ง เห็นไหม ทำให้ทิฐิลดลงมา ทุกอย่างลดลงมาแล้วนะ สังคมร่มเย็นเป็นสุขมาก
นี่พูดถึงว่าถ้ามันเจ็บนะ เขาบอกว่า
นั่งมาระยะหนึ่งแล้วเจ็บมาก ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร หรือให้พิจารณา
ถ้าพิจารณาได้ ถ้าจิตมันมีกำลังมันจะพิจารณาของมันได้ ถ้าจิตมันไม่มีกำลังพิจารณาไม่ได้หรอก ถ้าไปพิจารณา หรือว่าเราไปจับความเจ็บ เจ็บมันจะทวีคูณไปสองเท่า สามเท่านะ เขาเรียกว่า ตัณหาซ้อนตัณหา
โดยธรรมชาติของมันก็เจ็บอยู่แล้ว แล้วเราอยากให้มันหายเจ็บ พออยากให้มันหาย ความอยากให้หายนี่ตัณหามันซ้อนเข้าไป มันคูณ มันกำลังสอง ความเจ็บนั้นมากขึ้น แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธให้ชัดๆ เห็นไหม พุทโธให้ชัดๆ นี่เปลี่ยนความรู้สึกที่มันอยู่ที่เจ็บมาอยู่ที่พุทโธ
เหมือนกับพวกเล่นการพนัน เขาเปลี่ยนความรับรู้สึกของเขาไปอยู่ที่ผลการได้เสีย เราก็เปลี่ยนจากความรู้สึกของเราที่มันอยู่ที่เจ็บ ให้มาอยู่ที่พุทโธ แต่ธรรมดาพอเปลี่ยนมาอยู่ที่พุทโธ เพราะพุทโธมันไม่เหมือนการได้เสียของการพนัน ได้เสียนี่มันได้ลาภ มันชอบ แต่พอบอกไปอยู่กับพุทโธนี่พุทโธทำไม? มันเลยไม่ยอมไป มันไม่ยอมไปนะ มันไม่ยอมไปอยู่กับพุทโธหรอก พอไม่ยอมไปมันก็ยังเจ็บอยู่อย่างนั้นแหละ
ตั้งสติ! ตั้งสติดีๆ แล้วบังคับ ทำจนไปได้นี่เขาเรียกว่าหลบ หลบจากที่มันอยู่กับความเจ็บปวดไปอยู่ที่พุทโธ ไปอยู่ที่ลมหายใจ ไปอยู่ที่ปัญญา ไปอยู่ต่างๆ แล้วทำให้มันมีกำลัง พอมันปล่อยวางกำลัง พอมันปล่อยปั๊บนี่เจ็บปวดหายไปแล้ว เพราะเจ็บปวดเป็นเวทนา พอสติมีกำลังปั๊บนะ พอสติมีกำลังขึ้นมา ความเจ็บปวดนี่คุณค่ามันลดลงทันทีเลย แต่ถ้าจิตเราอ่อนแอ ความเจ็บปวดจะเพิ่มค่าขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เหยียบย่ำหัวใจเรา เหยียบย่ำนี่มันเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ
นี้พูดถึงจริตของคนนะ แต่ถ้าจริตของคนที่เขาไม่เจ็บปวดขนาดนั้น จิตใจเขาเข้มแข็ง เขาแยกแยะได้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร จิตควรยึดหรือไม่ควรยึด เขาควบคุมใจเขาได้นะ มันจะได้ง่ายกว่านี้ จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ปัญหาของคนไม่เหมือนกัน คนไปโรงพยาบาลเหมือนกัน หมอรักษาคนไม่เหมือนกัน รักษาตามอาการของความเจ็บไข้ได้ป่วยมากน้อยแค่ไหน นี้คือข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ นี้พูดถึงการเจ็บ!
อีกข้อหนึ่ง ข้อ ๕๔๙. เนาะ
ถาม : ๕๔๙. เรื่อง รักษาศีล
กราบหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างหมดใจ มีวิธีอย่างใดให้เราปฏิเสธการทำผิดศีลเจาะจงข้อที่ ๓. ค่ะ รบกวนหลวงพ่อเมตตาสั่งสอนชี้แนะให้ลูกด้วย
หลวงพ่อ : หลวงตาท่านบอกว่า ตัณหามันล้นฝั่ง
นี่สิ่งที่ล้นฝั่งนะ ตัณหาล้นฝั่ง เราถมทะเลให้ไม่เต็ม ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากาเมสุมิจฉาจาร เราไปหมกมุ่น ไปคิดถึงมัน มันก็ยิ่งมากขึ้น มันจะมากขึ้น มันมากขึ้นของมันไป การแก้ เห็นไหม เขาแก้ด้วยอสุภะ แก้ด้วยอสุภะโดยข้อเท็จจริงนะ โดยข้อเท็จจริงมันเป็นอสุภะ แต่โดยสมมุติ โดยโลกมันเป็นสุภะ สุภะคือมันสวยงาม สวยงาม ต้องใจ โดนใจ นี่คือสุภะ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าศีลข้อ ๓ นะ แม้แต่เราเป็นปุถุชน ในเมื่อเราเป็นปุถุชน เราไม่สามารถละสิ่งนี้ได้ ฉะนั้น สิ่งนี้ถ้าคู่ครองของตน นี่ไม่ผิดศีลในคู่ครองของตน แต่ถ้าไม่ใช่คู่ครองของตนผิด ผิดเด็ดขาด! เขาว่าเป็นความสมัครใจ ไม่สมัครใจ ผิดทั้งนั้น เพราะคนมีพ่อมีแม่ เราต้องขอจากพ่อจากแม่เขามา มันสะเทือนหัวใจนะ ข้อนี้เรื่อง การรักษาศีล
ฉะนั้น สิ่งที่เราจะทำได้เราต้องแผ่เมตตาไว้ก่อน เราต้องแผ่เมตตานะ สรรพสิ่งในโลกนี้เราเป็นญาติกัน ญาติกันโดยธรรม เห็นไหม เราเป็นญาติกัน พอเป็นญาติกันโดยธรรมปั๊บ เป็นญาติเรา เราจะไม่คิดนอกลู่นอกทาง นี้พูดถึงขอบเขตของมัน ถ้าขอบเขตของมันนะ แล้วเราก็จะมาพิจารณาใจของเรา ใจของเรานี่เราดูแลใจของเรา เห็นโทษของมันไง
นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้โทษของมันนะ เหมือนกับหลุมถ่านเพลิง นี่มันจะมีแต่ความเร่าร้อน ชีวิตในการครองเรือนนะ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า
เหมือนวิดทะเลทั้งทะเลเพื่อเอาปลาตัวเดียว
ความสุขเล็กน้อย ความทุกข์มหาศาล แต่! แต่โลกเขาอยู่กันอย่างนั้น นี่หลวงตาท่านบอกว่า ไฟในเตา ในเมื่อเรามีไฟในเตา เรารักษาของเราเพื่อประโยชน์ในครอบครัวของเรา แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ว่ามันทรมานใจนี่มันต้องหักห้าม สิ่งนี้มันต้องหักห้าม
มันก็กลับมาที่จริต จริตของคน ถ้าจริตของคนเป็นอย่างนั้นนะ เราเตือนใจไว้ด้วยปัญญาสิ ให้เห็นโทษของมัน ให้เห็นโทษของมัน ถ้าสิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งใดที่กระทบกระเทือนกันไปแล้ว มันได้ไม่คุ้มเสียไง ถ้าได้ไม่คุ้มเสีย สิ่งที่เราทำไปแล้วมันไม่ได้คุ้มเสียนี่เราทำทำไม? เราทำไปทำไม?
อ้าว.. ก็มันทนไม่ได้ จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์เราก็รักษาของเรา จงใจของเรา อันนี้เรื่อง การรักษาศีล เพราะรักษาศีลนะ รักษาศีล ๕ ธรรม ๕ พอธรรม ๕ ขึ้นมา เห็นไหม เราใช้ความเมตตา เราใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพื่อให้สิ่งนี้มันเจือจางไป มันเจือจางไปในใจของเรา แต่ถ้าเรารักษาศีลโดยปกติก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ทำอะไรเลยมันเป็นปกติของใจไง
ศีลคือความปกติของใจ ข้อห้ามคือกฎหมาย กฎหมาย ถ้าเราไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายจะให้โทษเราไหม? ถ้าโดยปกติเราไม่ทำให้มันผิด มันจะให้โทษเราไหม? แต่เราไประแวงไง กฎหมายนี้ลำบากมาก กฎหมายถ้าเราไม่ทำสิ่งใดผิดกฎหมายเลย กฎหมายก็คือกฎหมาย
ศีล ๕ ธรรม ๕ เห็นไหม ไม่ทำความผิด ถ้าเราไม่ทำความผิด เราไม่ทำสิ่งใดเลย มันก็เหมือนเป็นวัตถุธาตุ เราไม่ทำสิ่งใดเป็นความผิดเลย แต่เราทำประโยชน์ด้วย เห็นไหม ธรรม ๕ ไม่ลักทรัพย์ แต่เราก็ดูแลเจือจานกัน ไม่ทำผิด เราดูแลรักษาของเรา
ธรรม ๕ ไง ในเมื่อเรารักษาศีล ๕ รักษาศีล รักษาเพื่อให้เป็นความปกติของใจ แล้วมีธรรม ๕ ของเรา พอมีธรรม ๕ ปั๊บใจมันเคลื่อนไหวไปแล้ว แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นมันเจาะจงที่ข้อกฎหมาย ข้อบังคับ แล้วก็ไปทุกข์ร้อนกับการแบกข้อบังคับไว้ นี่วางข้อบังคับไว้ แล้วเราสร้างคุณประโยชน์ สร้างธรรม
ศีล ๕ ไม่ทำแล้วตรงข้าม ตรงข้ามคือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ใน ๕ ข้อ มันก็พ้นไป มันก็เป็นประโยชน์ไป ไม่ให้จิตใจไปหมกมุ่นกับสิ่งนั้น ถ้าจิตใจไม่หมกมุ่นกับสิ่งนั้นนะมันก็ไม่เป็นภาระไง ส่วนใหญ่แล้วเวลาคนถือศีลนี่ไปเกร็งไง ไปเกร็งกับศีล เกร็งมากเลย ไม่ถือศีลนี่ แหม.. อยู่สุขสบายมาก ทำอะไรก็สะดวกสบาย พอถือศีลนะ โอ้โฮ.. ขยับไม่ได้เลย จะผิดไปหมดเลย
เราไม่ต้องไปเกร็งขนาดนั้น เราตั้งสติไว้ เราไม่มีเจตนาทำผิด นี้พูดถึงศีลที่ไม่กระทบกระเทือนใครนะ เราไม่มีเจตนาทำผิด ถ้ามันผิดไปแล้วเราก็สารภาพ พระปลงอาบัตินี่สารภาพผิดมันก็จบ แต่เราไม่ทำให้มันผิดขนาดนั้น ถ้ามันผิดขนาดนั้นมันก็ทำให้เสียหายไง สิ่งใดถ้ามันทำให้กระทบกระเทือนเสียหาย สิ่งนั้นไม่ดีเลย พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วไง
สิ่งใดที่ทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย
แต่ไม่ดีเลยทำไมทำล่ะ? ทำเพราะขาดสติ เห็นไหม เราถึงตั้งสติของเราไว้ ตั้งสติของเราไว้ เกิดมาในชาติปัจจุบันนี้ก็มีปัญหาขนาดนี้แล้ว แล้วเรายังสร้างบาปสร้างกรรมกันไปอีก แล้วพอเวลาไปเจอสิ่งใดกระทบกระเทือนก็ว่าไม่อยากพบๆ ไม่อยากเจอ ก็เราทำมาทั้งนั้นเลย
ฉะนั้น เราอย่าไปทำสิ่งนั้น เราอย่าทำ เราฝืนทน ฝืนตนก็เท่ากับฝืนกิเลส ถ้าฝืนกิเลส เห็นไหม ดูสินักพรตทำไมเขาอยู่ได้ล่ะ? นักบวช นักพรตทำไมเขาอยู่ได้ เราต้องอยู่ได้ ถ้าเราอยู่ของเราได้ เราไม่ต้องถึงกับนักพรต นักบวชนะ
เราพูดบ่อย เวลาพวกโยมมาบ่นว่าทุกข์ๆ ทุกข์ๆ พวกโยมก็ยังมีระบายนะ ทุกข์ๆ ก็เดี๋ยวไปเที่ยวชายทะเลกัน พระเวลาทุกข์นี่ไปไหนก็ไม่ได้ ทุกข์ก็ต้องอยู่โคนไม้นี่แหละ ทุกข์ก็ต้องอยู่กับทุกข์นี่แหละ ทุกข์แล้วไม่มีทางออกเลย โยมมาบ่นว่าทุกข์ๆ ทุกข์ๆ ก็เดี๋ยวไปเที่ยวต่างประเทศกัน กลับมาก็หายทุกข์แล้ว แต่พระนี่ทุกข์กับทุกข์ ทุกข์กับทุกข์ ทุกข์จนถึงที่สุด
ฉะนั้น ทุกข์ของโยมไม่เท่ากับพระ แต่ถ้าพระปฏิบัติดีแล้วนะ
สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
อยู่กับความสงบสงัดนี่สุขมาก เพราะสิ่งที่ขยับออกไป มันเป็นเรื่องของมารยาสาไถยทั้งหมด ดูสิโลกนี่เวลาเขาจัดงานขึ้นมา เห็นไหม พอจัดเสร็จแล้วอะไรเนี่ย? มายาภาพทั้งนั้นเลย โลกอยู่กับสิ่งที่เป็นมายา แล้วเราอยู่กับความจริง ความจริงก็นี่ไงพระอาทิตย์ขึ้นกับพระอาทิตย์ตก นี่มันเป็นอย่างนี้
ความจริงเป็นแบบนี้ วัดป่าเป็นแบบนี้ นี่ความจริง พระอาทิตย์ขึ้นแล้วก็พระอาทิตย์ตก แล้วพรุ่งนี้ก็ขึ้นอีกแล้วก็ตกอีก แต่ทางโลกนะมีแต่แสง สี เสียง มายา เห็นไหม แต่พวกโยมก็มีความสุขกัน
นี่พูดถึงโลกนะ ถ้าโลกเป็นอย่างนั้นเราต้องทันโลกนะ โยมอยู่กับโลกต้องทันโลก เพราะเราอยู่กับโลก แต่เวลาผู้ที่เป็นนักปฏิบัติต้องวางโลก ต้องวาง! ต้องวางโลก แล้วให้อยู่กับความเป็นจริง แล้วถ้ามันเป็นความจริงได้
สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เอวัง