ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วิมุตติสอง

๖ ส.ค. ๒๕๕๔

 

วิมุตติสอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๕๕๐. ข้อ ๕๕๑. ไม่มี

ข้อ ๕๕๒. นี่เขาแค่ถามมาเร่งรัดคำถามเฉยๆ

ข้อ ๕๕๓. ข้อ ๕๕๔. ข้อ ๕๕๕. ไม่มีนี่คือว่าเราไม่เปิด มันเป็นเหมือนไวรัสเข้ามาเยอะมาก เขาพยายามจะฆ่า ไปทิ่มเขาเรื่อย

ข้อ ๕๕๖. นี่เขาก็ถามมา

ถาม : ๕๕๖. เรื่อง “หนังสือธรรมเรื่องเจโตวิมุตติ”

ได้อ่านหนังสือธรรมของท่านอาจารย์ที่ได้รับแจกมา หน้าปกเรื่อง “เจโตวิมุตติ” อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงการเดินเส้นทางนี้ยากมาก และละเอียดมากที่ต้องใช้ความสังเกตอย่างมีสติสัมปชัญญะในทุกขณะของการเปลี่ยนแปลงของจิต ตนเองอาจจะปฏิบัติไม่ถึงขั้นตามที่ท่านอาจารย์ชี้แจงไว้ แต่ก็ต้องการเรียนสอบถามว่า การเกิดขั้นตอนดังกล่าวในจิต มันจะเป็นลำดับขั้นๆ ไปแบบนั้นทุกคนไหมคะ แล้วมีการเกิดที่แตกต่างเป็นอย่างไรบ้าง

ท่านอาจารย์มีพูดไว้เกี่ยวกับปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาวิมุตติบ้าง แต่ไม่ละเอียดเหมือนขั้นตอนของเจโตวิมุตติ จึงอยากกราบรบกวนท่านอาจารย์อธิบายถึงปัญญาวิมุตติ อาการของจิตจะแตกต่างจากเจโตอย่างไร เพราะการปฏิบัติของตนเองจะฟุ้งซ่านและมีความคิดเกิดขึ้นมาก มากกว่าจะลงสมาธิได้เร็ว ต้องเคลียร์ความคิดเหล่านั้นให้ตกก่อน จิตจึงพอสงบได้ ก็เลยไม่รู้ว่าตัวเองเดินแบบไหน

หลวงพ่อ : นี่พูดถึง “เจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ”

ปัญญาวิมุตติหนังสือเราแจกแล้วมีนะ ปัญญาวิมุตติพูดถึงเราบอก.. นี่เขาอ่านแล้ว เราเข้าใจว่าคนถามยังอ่านไม่เจอไง มันมีโดยตรงเลยล่ะ ปัญญาวิมุตติกัณฑ์หนึ่ง เทศน์บนศาลา วันที่จำไม่ได้ แต่เราพิมพ์หนังสือเป็นปัญญาวิมุตติกับเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติเป็นหนังสือพิมพ์ใหม่ หนังสือนี่จะพิมพ์มานานแล้ว แต่ไม่มีสตางค์เพิ่งพิมพ์

ฉะนั้น พอพิมพ์ออกมาแล้วนี่เพิ่งแจกออกไปเรื่องเจโตวิมุตติ แต่เราว่าปัญญาวิมุตติละเอียดกว่า ปัญญาวิมุตตินี่พูดถึงนะให้ไปเปิดในเว็บไซต์ เทศน์บนศาลาแล้วลองไล่ไป เรื่อง “ปัญญาวิมุตติ” จะเทศน์เหมือนเจโตวิมุตติ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ หรือปัญญาวิมุตติ การอธิบายตอบปัญหามันไม่ละเอียดเท่า

มันไม่ละเอียดเท่าหมายถึงว่าคำถามมันหลากหลาย มันเยอะ พอคำถามหลากหลาย มันเยอะ พอมันเกี่ยวเนื่องอะไรเราจะอธิบายเป็นเหตุเป็นผลเฉพาะเหตุผลนั้น แต่ปัญญาวิมุตติในเทศน์บนศาลา เห็นไหม กับเจโตวิมุตติมันเทศน์อบรมตอนกลางคืน ตอนปฏิบัติ มันเหมือนเทศน์อบรมปฏิบัติโดยตรง ฉะนั้น มันก็จะเทศน์เริ่มต้นมาตั้งแต่การทำความสงบของใจ เริ่มต้นตั้งแต่จะเข้าถึงกัลยาณปุถุชน จากปุถุชน กัลยาณปุถุชน จะขึ้นเป็นโสดาปัตติมรรค เป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป มันก็เลยแบบว่าชัดเจน

ฉะนั้น เวลาเข้าไปในเว็บไซต์มันมีเทศน์พระ นั่นก็เฉพาะพระเลย แล้วเทศน์พระนี่มันใช้ศัพท์ที่ว่าพระกับพระเขารู้กันอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบายกว้างขวาง มันก็เลยแบบว่าเฉพาะ มันเป็นศัพท์เฉพาะของพระ มันก็ตรงๆ เลย แล้วถ้าเป็นเทศน์บนศาลามันก็เป็นเรื่องของการอบรมโดยเฉพาะเลย มันก็ไปเฉพาะอบรมเลย ถ้าเทศน์ตอบปัญหาธรรมะนี่มันหลากหลาย ฉะนั้น มันเลยแบบว่าเหมือนกันเองไง เหมือนพูดโดยธรรมดา มันก็เลยแบบว่าศัพท์มันเยอะมาก ฉะนั้น คำพูดมันก็เลยนั่นไป

นี้พูดถึง “เจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ” ฉะนั้น ตอบปัญหาก่อน

ถาม : ได้อ่านหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์ที่ได้รับแจกมา หน้าปกเรื่อง “เจโตวิมุตติ” อ่านแล้วรู้สึกว่า รู้สึกได้ถึงการเดินทางเส้นนี้ยากมาก และละเอียดมากที่ต้องใช้ความสังเกตอย่างมีสติสัมปชัญญะทุกขณะ และการเปลี่ยนแปลงของจิต ตนเองอาจจะยังปฏิบัติไม่ถึงขั้นตามที่อาจารย์ชี้แจงไว้ (นี่เอาแค่นี้ก่อน)

หลวงพ่อ : นี่เขาบอกว่า “เจโตวิมุตติอ่านแล้วรู้สึกถึงขั้นตอนที่เดินเส้นทางนี้ยากมาก เพราะมันละเอียดมาก” ความเข้าใจของคนมันก็เป็นแบบนั้น แต่เวลาพูดถึงโดยหลักการมันเป็นแบบนี้

โดยหลักการเป็นแบบนี้ แต่เดิมในการประพฤติปฏิบัติ กึ่งพุทธกาลแล้วคนก็คิดว่าศาสนาเป็นแค่พิธีกรรม ศาสนามีไว้เป็นสถาบัน เห็นไหม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่มรรคผลนี่คนมองข้าม แล้วไม่มั่นใจว่ามันจะมีจริงหรือไม่ได้ ฉะนั้น ในวงการปฏิบัติมันก็เลยหละหลวม โดยการกระทำมันไม่ค่อยกระชับ

ทีนี้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาปฏิบัติของท่าน พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมาปฏิบัติของท่าน เห็นไหม หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เล่าให้ครูบาอาจารย์ฟังมาว่า จะไปที่ไหนคนเห็นพระห่มผ้าดำๆ มานี่ เขากลัว เขาหนีกันเลย เขาไม่แน่ใจว่ามันจะมีจริงได้หรือมีจริงไม่ได้

ในสมัยนั้น ความเชื่อถือเรื่องมรรค เรื่องผล มันไม่มีใครเชื่อถือว่ามันมีจริงหรือไม่มีจริง ฉะนั้น การกระทำของครูบาอาจารย์ท่านถึงทำจริงของท่าน คือในสังคมก็เหมือนกับตลาดมันไม่มี นี่สินค้านั้นในตลาดไม่มี พอจะเสนอสินค้าเข้าไปในตลาดมันจะเสนอเข้าไปได้ยากมาก สังคมเขาไม่เชื่อถือ มรรคผลมันไม่มีอยู่แล้ว ฉะนั้น พูดเรื่องมรรคผลนี่ไม่ต้องไปคุยกัน เพราะเขาไม่เชื่อกันอยู่แล้ว

ฉะนั้น พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านทำตัวของท่าน จนความเชื่อถือศรัทธามันเกิดขึ้นมา พอความเชื่อถือ ความศรัทธามันเกิดขึ้นมา เขาเชื่อถือ เขาศรัทธากัน แล้วเขาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทีนี้พอปฏิบัติขึ้นมานี่ตลาดมันมีแล้ว พอเริ่มมีตลาด สินค้าทุกอย่างก็จะเข้าตลาดนั้น เข้าตลาดนั้น เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน พอเขาเชื่อถือมรรค ผล นิพพานขึ้นมาแล้ว เวลาครูบาอาจารย์มาสอน ก็สอนแตกต่างหลากหลาย นี่ไงคำที่บอกว่า

“อ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าเส้นทางนี้ยากมาก ละเอียดมาก”

นี้มันเป็นแค่หลักการ หลักการให้เห็นว่าในตลาดนี่หลักการต้องเป็นแบบนี้ ในมรรค ในผล ถ้าความเป็นจริงมันต้องเป็นแบบนี้ ฉะนั้น บอกว่าถ้ามันละเอียด ละเอียดก็เป็นข้อเท็จจริง มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้ มันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่เดิมมันไม่มี เพราะครูบาอาจารย์ท่านพูดมา.. นี่คนที่ยังไม่มีเพราะไม่มีตลาด มันก็ไม่ต้องมีกรอบกติกาสิ่งใดขึ้นมา พอมีตลาดขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่มีกรอบกติกามันก็หลากหลาย คนก็เข้ามาด้วยฉก ด้วยชิง ด้วยความเห็นของตัว

ฉะนั้น เวลาบอกว่า “เวลารู้สึกว่าเส้นทางนี้มันยาก”

นี่ก็คือหลักการไง คือหลักการว่ามันต้องเป็นแบบนี้ ถ้ามันไม่เป็นแบบนี้ หรือไม่เป็นที่ว่ามันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป แล้วมันเป็นอย่างใดล่ะ? มรรค ผลมันมีอันเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว นี่มันเป็นการยืนยันไงว่าจริงหรือไม่จริง ทำได้หรือไม่ได้ แล้วในตลาดมันก็ต้องมีกติกาใช่ไหม? มีการทุ่มตลาดไหม? การทุ่มตลาดมันทำให้ตลาดนั้นเสียหายไหม? นี่มันต้องมีกติกาสิ ถ้ามีกติกาขึ้นมาแล้วมันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมาไง

ฉะนั้น เราบอกว่า เส้นทางนี้มันก็เป็นเหมือนกติกาของตลาดนั่นแหละ กติกาของมรรค ของผล ฉะนั้น เราปฏิบัติถึงหรือไม่ถึงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราไปบอกว่าอย่างนี้ ถ้าเราคิดอย่างนี้นะ มันก็มีพระหรือมีผู้ที่ชี้นำเขาบอกว่า “เส้นทางนี้เส้นทางลัด ตลาดนี้นะเอาวางเท่าไรก็ขายหมด สินค้ามาเถอะ วางลงไปรับรองว่าหายหมด”

เราก็ชอบน่ะสิ แล้วมันเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ? เป็นจริงหรือเปล่า? นี่ในตลาดมันเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องมรรค ผลมันเป็นนามธรรม จะพูดอย่างไรก็ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ ฉะนั้น เราจะบอกว่า ในเมื่อเป็นหลักนี่เราต้องยืนไว้ แล้วเราปฏิบัติได้หรือไม่ได้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเราพยายามทำของเราให้ได้อย่างนั้น ถ้าได้อย่างนั้นนะ นี่อย่างที่ว่า..

“แล้วในการปฏิบัติ ขั้นตอนต้องเป็นอย่างที่อาจารย์ชี้แนะไว้ไหม?”

มันก็เหมือนกับจริตนิสัย มันก็เหมือนกับรถไฟฟ้า เราจะต้องขึ้นรถไฟฟ้ากันที่ไหน? ที่สถานีมันจอดใช่ไหม? เราบอกว่าเราจะขึ้นทางลัด รถไฟฟ้าวิ่งมานี่กูจะกระโดดขึ้นเลย ไม่ต้องขึ้นที่สถานีได้ไหม? มันก็ไม่ได้ มรรค ผลก็เป็นแบบนี้ มันต้องขึ้นที่สถานีรถไฟนั้น

นี่เวลาสถานีรถไฟ เห็นไหม ดูสิผู้โดยสารเขามาแตกต่างหลากหลายอาชีพ หน้าที่การงานก็ไม่เหมือนกัน แต่เขามาขึ้นที่สถานีรถไฟเดียวกัน แต่เวลาหน้าที่อาชีพเขาแต่ละคน แต่ละอาชีพเขาไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ทีนี้การปฏิบัตินะ ที่มานี่ เห็นไหม แม้แต่เจโตวิมุตตินะ นี่เพราะเราฟังหลวงตา เราฟังครูบาอาจารย์ท่านคุยเรื่องธรรมะกัน หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านคุยธรรมะกัน เรานั่งอยู่นั่นเลย เรานั่งฟังอยู่เลย

เวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่เจี๊ยะ เห็นไหม การพิจารณากาย นี่เจโตวิมุตติ ท่านพูดถึงหลวงปู่คำดี นี่ก็เจโตวิมุตติ เพราะว่าเป็นพิจารณากาย พูดถึงหลวงปู่ชอบ พูดถึงหลวงปู่บัว นี่แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน พิจารณาไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนะมันซ้อนวิทยานิพนธ์ คือลอกเลียนแบบกันมา เป็นสัญญา สัญญาไม่ได้ ถ้าสัญญานะ สัญญามันเป็นการเอาผลงานของคนอื่นมาเป็นของเรา นี่เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น ในเจโตวิมุตติก็ไม่เหมือนกัน แม้แต่หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ขาว หลวงปู่บัว ไม่เหมือนกันนะ พิจารณากายเหมือนกัน เพราะหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่บัวให้หลวงปู่เจี๊ยะฟังไง บอกว่า “ท่านเจี๊ยะ นี่พระผู้เฒ่ากำลังพิจารณากายด้วยความเข้มข้นนะ กำลังพิจารณากายด้วยความละเอียดนะ” นี่เล่าให้หลวงปู่เจี๊ยะฟัง แล้วหลวงปู่เจี๊ยะก็เล่าให้เราฟัง เรื่องนี้

ฉะนั้น บอกว่า “เจโตวิมุตติมันละเอียดนัก”

ละเอียดมันคือขั้นตอน คือขั้นของสถานีรถไฟฟ้า จากสถานีหนึ่งไปสถานีหนึ่ง เราขึ้นสถานีนี้ไปลงสถานีหน้า จากสถานีหน้า เราจะไปลงสถานีต่อไป เห็นไหม จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ขึ้นเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพาน ๑

การขึ้นสถานีรถไฟ เราขึ้นแต่ละสถานี ไปลงแต่ละสถานี เห็นไหม นี้คือโดยอริยสัจไง อริยสัจ มรรค ๔ ผล ๔ ไง แต่คนที่มาหลากหลาย การปฏิบัติแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอาชีพไม่เหมือนกัน สถานที่ทำงานอยู่ใกล้เคียงกันแต่ไม่ใช่เหมือนกัน แม้แต่เดี๋ยวนี้อาคารเดียวกัน คนละชั้นก็ไม่เหมือนกันแล้ว ฉะนั้น สิ่งนี้โดยหลักไง

เราจะพูดบอกว่า “รู้สึกอ่านแล้วเส้นทางนี้มันเดินยากมาก โอ๋ย.. มันละเอียดเกินไป”

อ้าว.. ก็อย่างที่ว่านี่แหละ เพราะเห็นว่าคนออกมาชี้นำมันสับสนกันไปหมดแล้ว ไปไหนกันบ้างก็ไม่รู้ ก็ไม่ใช่ว่าเราจะถูกต้องดีงามไปหมด แต่เราก็พูดด้วยภูมิของเราแค่นั้นแหละ ก็พูดไว้เพื่อประโยชน์ แล้วได้หรือไม่ได้นั่นเราก็พิจารณากันเอาเองนะ

ถาม : แต่! แต่ก็ต้องมีการสอบถามว่า การเกิดขั้นตอนดังกล่าวในจิต มันจะเป็นลำดับขั้นๆ ไปแบบนั้นทุกคนไหมคะ? แล้วมีความเกิดที่แตกต่างเป็นอย่างไรบ้าง ท่านอาจารย์มีพูดไว้เกี่ยวกับปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาวิมุตติบ้าง แต่ไม่ละเอียดเหมือนขั้นตอนของเจโตวิมุตติ

หลวงพ่อ : ในปัญญาวิมุตตินี่นะ ตอนที่พูดถึงปัญญาวิมุตติ ก็พูดถึงบอกว่า ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติจริง กับเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่เราใช้กันโดยสามัญสำนึก นี่เขาเรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” ปัญญาอบรมสมาธิเพราะว่าพวกเรายังมีกิเลสเต็มหัวใจไง

พวกเรายังมีกิเลสอยู่ ยังมีพื้นฐานเป็นปุถุชนอยู่ มีพื้นฐานเป็นคนดิบอยู่ ว่าอย่างนั้นเลย มีพื้นฐานแบบคนมีกิเลสอยู่ ถ้าเราใช้ปัญญาขนาดไหน มันก็แค่ทำให้สงบเท่านั้นเอง! มันไม่ใช่เป็นปัญญาฆ่ากิเลสหรอก ฉะนั้น มันต้องทำความสงบของใจก่อน พอใจมันสงบแล้ว เห็นไหม นี่จากคนดิบ จากสิ่งที่ความคิดสิ่งใดมันสะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะมันมีกิเลสเกี่ยวเนื่องด้วย

กิเลสมันนอนเนื่อง กิเลสเป็นอนุสัย มันจะตามไปด้วย พอทำสมาธิๆ สมาธิคือการกรอง การกรองให้ใจมันสะอาด พอใจมันสะอาดเป็นสมาธิแล้ว เพราะสมาธิคือกิเลสมันสงบตัวลง แล้วพอมันใช้ปัญญา เห็นไหม ปัญญามันจะสะอาด สะอาดนี่ปัญญามันเป็นมรรค เป็นมรรคเป็นโลกุตตระ มันไม่ใช่เป็นโลกียะ

โลกียะคือว่าปัญญาโดยสามัญสำนึก คนดิบ ความคิดดิบๆ ความคิดที่เกี่ยวไปด้วยกิเลสเรา ถึงเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สูงสุดเป็นแค่นั้นแหละ สูงสุดคือสมถะ สูงสุดคือสมาธิ ไม่มีอะไรเกินไปกว่านั้น แต่ด้วยความเข้าใจผิดไง พอใครขบปัญหา ใครพิจารณาแล้วมันปล่อยหมด ว่าง ว่าง อู๋ย.. ได้โสดาบัน ว่างทีหนึ่งก็ได้มรรค ผลขั้นหนึ่งไง

เขาหลงผิดกันขนาดนั้นนะ เขาหลงผิดกัน เพราะเราฟังเวลาเขาสอนกัน ฉะนั้น เราถึงบอกที่ว่าปัญญาวิมุตติโดยการอธิบาย บอกว่าปัญญาตั้งแต่ปากน้ำ เราพูดถึงว่าปากน้ำนะ ปากแม่น้ำนี่แหละ นี่ปัญญาของโลกๆ ปากแม่น้ำมันจะมีสัตว์น้ำมาก มันเป็นน้ำกร่อยไง น้ำจืดกับน้ำเค็มมันมาปะทะกัน เห็นไหม ตรงนั้นจะมีสัตว์น้ำ จะมีแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ อู๋ย.. มันจะสุดยอดไปหมดเลย

นั้นคือปัญญาสามัญสำนึกไง นั้นคือปัญญาของเราเองไง แล้วก็ปัญญากลางน้ำ ปัญญาต้นน้ำ ต้นน้ำคืออะไร? ต้นน้ำคือตัวจิต ตัวภพ ตัวที่มีความรู้สึก แล้วปัญญามันเกิดที่นี่ไง ที่บอกว่าดูตัวเหี้ย ตัวเหี้ย อยู่ในจอมปลวก มันโผล่ มันโผล่นี่ ถ้าจับตรงนั้นได้มันถึงจะเป็นปัญญาวิมุตติ คำว่าปัญญาวิมุตติคือการฆ่ากิเลสไง การฆ่ากิเลสมันจะไปฆ่ากันที่ต้นน้ำ แต่ในปัจจุบันนี้เราใช้กันที่ปากน้ำ อู้ฮู.. ปากน้ำนะทำประมง อู้ฮู.. ได้สัตว์เยอะไปหมด อู้ฮู.. ผลประโยชน์มหาศาล อู้ฮู.. เก่งไปหมดเลย

ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะว่ามันเป็นปากแม่น้ำ แม่น้ำทั้งสายมันไหลมาอีกยาวไกล กิเลสมันนอนอยู่ต้นน้ำนู่นแหน่ะ แล้วเราทำประมงกันอยู่ที่ปากน้ำนี่ แล้วเอ็งจะฆ่ากิเลสกันอย่างไรล่ะ? เอ็งทำอะไรกันอยู่นั่นล่ะ? นี่ในนี้ตอนที่เราพูดเรื่องปัญญาวิมุตติ โจทย์มันเป็นแบบนี้ ฉะนั้น การอธิบายขั้นตอนมันก็มีอยู่นะ เราว่าใช้ได้อยู่ ฉะนั้น ทีนี้หนังสือนี่มันมีแจกอยู่ นี่ปัญญาวิมุตติที่นี่ก็มี ปัญญาวิมุตติยังไม่หมด เจโตวิมุตตินี่คู่กัน

ฉะนั้นจะบอกว่า ถ้าพูดถึงว่า “เวลาคนปฏิบัติแล้วขั้นตอนจะเป็นอย่างนั้นไหมคะ”

แน่นอน เวลาขั้นตอนนี่เป็นแบบนี้ เว้นอย่างเดียวเท่านั้นแหละ เว้นแต่ขิปปาภิญญา ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แต่! แต่ขั้นตอนก็เป็นแบบนี้ เพราะขั้นตอนของมันคือเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ เพราะอริยภูมิแต่ละขั้นตอน เวลาเราปฏิบัตินะเขาเรียกว่า “เสือกตาย” เสือกตายคือกระเสือกกระสนจนเกือบเป็นเกือบตาย ทางภาษาอีสานเขาพูดสั้นๆ เห็นไหม นี่กระเสือกกระสนกันกว่าเราจะได้แต่ละขั้น แต่ละตอน

ฉะนั้น “ขั้นตอนเป็นแบบนี้ไหม?”

แน่นอน แน่นอนมาก แล้วคำว่าแน่นอนแล้วนี่ เวลาหลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่แหวน ไปคุยกับหลวงปู่ขาว ไปคุยกันก็คุยขั้นตอนนี่แหละ เวลาไปคุยกับหลวงปู่คำดี เห็นไหม

“มีอะไรว่ามา”

หลวงปู่คำดีท่านก็พูดมาเป็นชั้นๆ แล้วพอไปถึงที่สุดท่านไปไม่ได้ นี่ท่านรู้แล้วท่านบอกว่า “ต้องทำอย่างนี้ๆ อย่างนี้ต่อไป”

นี่มันเป็นขั้นตอนที่รู้กันได้ นี่ไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ไง การพูดธรรมะ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง นี้การสนทนาธรรม ธรรมกับธรรมเข้ากันได้ไง ผู้ที่ผ่านขั้นตอน กับผู้ที่กำลังเดินขั้นตอนอยู่นี่จะคุยกันได้ ไอ้คนที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอน กับคนที่ผ่านขั้นตอนแล้วคุยกันนะ ไอ้คนที่ผ่านขั้นตอนแล้วก็บอกว่าขั้นตอนจะเป็นอย่างนี้ๆๆ ไอ้คนที่ไม่ผ่านขั้นตอนมันก็นึกเอาว่าเป็นอย่างนี้ๆๆ ตามไป แล้วมันก็บอกว่าอย่างนี้ๆๆ เหมือนกันแต่ไม่ใช่ เพราะมันไม่เคยผ่าน มันจะเป็นใช่ได้อย่างไร?

เพราะว่าถ้าคนไม่ใช่ เวลาพูดนี่นะมันขึ้นต้นไม่ได้ ระหว่างที่จิตมันทำมันก็ไม่รู้ เวลาสรุปที่จบมันก็พูดไม่ถูก แต่ถ้าคนเป็นนะ ระหว่างขึ้นต้น ระหว่างท่ามกลาง ท่ามกลางคือปัญญามันหมุนแล้ว ขึ้นต้นคือว่าเข้าเป็นโสดาปัตติผล นี่เห็นกาย เห็นจิตตามความเป็นจริง

ระหว่างคือมันซักฟอกกัน มันพิจารณาแล้วมันเป็นตทังคปหาน คือมันปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ถ้าคนไม่มีหลักมีเกณฑ์มันก็เสื่อมหมด เสื่อมหมดก็กลับมาปุถุชน แต่ถ้าระหว่างนี่สู้แล้วสู้เล่ามันก็พยายามต่อสู้กัน ต่อสู้กัน ธรรมกับกิเลสมันจะสู้กัน พอกิเลสมันเริ่มอ่อนตัวลง กิเลสมันโดนธรรมะเริ่มใช้ปัญญาคลี่คลาย มันก็สงบตัวลง

สงบตัวลงเขาเรียกตทังคปหาน คือชั่วคราวๆๆ ถ้าใครไม่มีหลักเกณฑ์ คือจิตใจไม่มั่นคงนะ มันก็จะไม่ละเอียดรอบคอบ มันก็จะเสื่อมไป แต่ถ้าละเอียดรอบคอบ ทำแล้วทำเล่ามันจะปล่อยวาง จะสูงส่ง ดีเด่นขนาดไหน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอถึงที่สุดนะมันสรุป เห็นไหม ระหว่างขึ้นต้น ขึ้นต้นคือเริ่มต้น ระหว่างคือการต่อสู้ แล้วสรุป สรุปคือมันสมุจเฉท เวลาสรุปมันขาด

นี่ไงขั้นตอนมันเป็นแบบนี้เด็ดขาด! แล้วต้องทำเป็นด้วย ต้องกล่าวได้ถูกต้องด้วย ฉะนั้น พระกรรมฐานเรา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านคุยกัน แล้วท่านไม่คุยพร่ำเพรื่อนะ ท่านพูดคำเดียว ไอ้นี่คืออะไร? ไอ้นี่เป็นอย่างไร? จบ นี่พูดคำเดียว คำเดียวเท่านั้นแหละ คนเป็นกับคนเป็นนี่คำเดียวๆ แล้วรู้กัน พอบอกจบแล้วก็คือจบ พอจบก็คือจบ

ฉะนั้น “ขั้นตอนจะเป็นอย่างนั้นไหม?”

เป็น ขั้นตอนจะเป็นอย่างนั้น แม้แต่ว่าขิปปาภิญญา หมายถึงผู้ที่นั่งอาสนะเดียวเป็นพระอรหันต์เลยก็รู้ระหว่าง เพราะจิตใจมันต้องละเอียดลึกซึ้ง ลึกซึ้งมาก อย่างเช่นที่ว่าสามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ จิตใจของเขาต้องมีการกระทำ เขาต้องรู้ของเขา เป็นความจริงแบบนั้น

ฉะนั้น ที่เขาบอกว่า..

ถาม : แต่ที่ต้องการสอบถาม การเกิดขั้นตอนดังกล่าวในจิตมันจะเป็นลำดับขั้นตอนไปแบบนี้ทุกคนไหม? และมีการเกิดที่แตกต่างกันอย่างไร? ท่านอาจารย์ได้พูดไว้

หลวงพ่อ : การแตกต่างก็แตกต่างด้วยปัจจุบัน ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของตน แม้แต่เดินเส้นทางเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน เดินเส้นทางเดียวกันไม่เหมือนกัน ไม่มีใครเหมือนกัน นี่ไม่มีวิทยานิพนธ์ใดไปซ้อนกัน ไม่มีลายมือของใจซ้อนกัน ลายมือที่เหมือนกันไม่มี พิมพ์ลายนิ้วมือจะเหมือนกันไม่มี พิมพ์ลายมือของจิต มรรคผลของจิตไม่มีเหมือนกัน

ฉะนั้น ไม่เหมือนกันเด็ดขาด! ไม่เหมือนกัน แต่เวลาธัมมสากัจฉานี่รู้กันได้ มรรคผลมีอันเดียว เหมือนอันแรกที่ว่านี่ “ทำไมมันละเอียดลึกซึ้งนัก มันยากนัก” ก็พูดไว้เป็นหลักเกณฑ์ พูดไว้เป็นหลักฐาน

ถาม : จึงอยากรบกวนท่านอาจารย์อธิบายเรื่องปัญญาวิมุตติ อาการของจิตแตกต่างจากเจโตวิมุตติอย่างไร เพราะการปฏิบัติของตนเองจะฟุ้งซ่านและมีความคิดเกิดขึ้นมาก จนกว่าจะลงสมาธิได้ไม่เร็ว ต้องเคลียร์

หลวงพ่อ : เห็นไหม อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่เราใช้ปัญญาคลี่คลาย นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ พอปัญญามันใคร่ครวญไปมันจะถอดถอนไง ถอดถอนสิ่งที่คาใจเราอยู่ ใช้ปัญญาไล่เข้าไป ไล่เข้าไปมันจะถอดมันจะถอน พอมันจะถอดถอน ความคิดอันเดิมก็มี แต่ไม่มีรสชาติ แต่ถ้าปัญญาเราอ่อนนะความคิดเหมือนกันแต่รสชาติมาก หมายถึงว่าเราเจ็บก็เจ็บมาก เวลาสะเทือนใจก็สะเทือนใจมาก แต่เราใช้ปัญญาถอดถอนบ่อยๆ ความคิดอันนั้นไม่มีรสชาติ ความคิดนั้นปล่อยได้ พอความคิดนั้นปล่อยได้ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม แล้วบอกว่า “อยากรบกวนท่านอาจารย์อธิบายเรื่องปัญญาวิมุตติ”

ปัญญาวิมุตตินะ เจโตวิมุตตินี่เราพุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตมันสงบ พอจิตมันสงบ จิตนี่ออกรู้กาย ออกรู้กายด้วยการเห็นภาพคือเจโตวิมุตติ ออกรู้กายโดยไม่เห็นภาพด้วยปัญญา แต่ปัญญาโดยทางเจโตนี่มันเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติพอจิตสงบนะ พอจิตใช้ปัญญาอบรมสมาธิพอจิตสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วนี่มันสงบของมัน มันจะรู้ตัวของมัน จิตสงบแต่มีสติรู้พร้อม รู้พร้อมนี่มันออกเสวยอารมณ์ ออกเสวยความคิดไง ออกเสวยความคิด ถ้าจับความคิดได้ เห็นไหม จับความคิดได้ก็คือจับกายได้

“นี่อารมณ์ความรู้สึกของเธอ เหมือนวัตถุอันหนึ่ง”

ความคิดเหมือนวัตถุอันหนึ่ง ถ้าเป็นปัญญาวิมุตตินะ ปัญญาวิมุตตินี่ละเอียดมาก ละเอียดคือว่ามันจับความคิดได้ แล้วเอาความคิดมาเป็นวัตถุเลย เป็นแยกแยะเลย นี่พอมันแยกแยะแล้ว มันแยกแยะของมันไป ทีนี้การใช้ปัญญาวิมุตติมันใช้แบบพระสารีบุตร พระสารีบุตรนี่เป็นปัญญาวิมุตติ พระโมคคัลลานะเป็นเจโตวิมุตติ

พระโมคคัลลานะ เห็นไหม พุทโธ พุทโธง่วงเหงาหาวนอน พระพุทธเจ้าไปสอนให้ดูฟ้า ให้ดูดาว ให้เอาน้ำลูบหน้า เพราะจิตมันเจโตวิมุตติ มันใช้สมาธิ แล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมแล้วพิจารณา นั้นเป็นเจโตวิมุตติ

ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ เห็นไหม พระสารีบุตรถวายงานพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ตอนนั้นพระโมคคัลลานะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว พระสารีบุตรยังไม่สำเร็จ นี่กำลังถวายงานพัดอยู่ หลานของพระสารีบุตรมาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเอาพระสารีบุตรมาบวชไง นี่บอกว่าไม่พอใจนั้น ไม่พอใจนี้ ไม่พอใจ คือจะพูดตรงๆ ก็เกรงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยเทศนากับหลานของพระสารีบุตรนะ

“ถ้าเธอไม่พอใจอะไรทั้งหมด เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ของเธอด้วย เพราะอารมณ์ของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

อารมณ์ของเราก็เป็นสิ่งที่ขัดขวางในหัวใจของเรา พระสารีบุตรพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ข้างหลัง ปิ๊ง! เป็นพระอรหันต์เลย เห็นไหม นี่ใช้ปัญญา ใช้ปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์สอนหลานนะ แต่พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ นี่ปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติใช้ปัญญา แต่ปัญญามีสมาธิไง ปัญญาที่มีหลักมีเกณฑ์แล้ว

อย่างเช่นพวกเรา เห็นไหม หลวงตาพูดบ่อย ว่าเวลาพระจะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องภาวนา เพราะปัญญามันกำลังหมุน พอไปถึงพระกุฎี ไปถึงกุฏิฝนมันตกหนัก พอฝนตกหนัก ข้างล่างมันก็เป็นน้ำเจิ่งนองไปหมดเลย เพราะฝนมันตกจากชายคามันก็เป็นต่อมขึ้นมา พระนั้นก็ไปยืนพิจารณา พอมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป ปิ๊ง!

นี่ปิ๊งเพราะใจมันหมุนอยู่แล้วไง ไอ้อย่างเรานี่เอามาฉายซ้ำฉายซากนะ เอายัดใส่ลูกกะตามันยังไม่ปิ๊งเลย เพราะใจมันอยู่กับกิเลสไง แต่เวลาจิตมันหมุนแล้วนะ หนึ่งถ้าปัญญามันหมุน เพราะทำให้สมาธิสงบแล้ว มันไม่มีกิเลสเข้ามายุ่งกับเรา มันเป็นปัญญาเพียวๆ จะว่าปัญญาสะอาดบริสุทธิ์ก็ไม่ถูก เพราะกิเลสมันยังมีอยู่ แต่เป็นปัญญาล้วนๆ ปัญญาที่ไม่สัมปยุตไปด้วยกิเลส

เพราะกิเลสมันเป็นสมาธิใช่ไหม มันเป็นปัญญาล้วนๆ แต่ปัญญาล้วนๆ ทำงานยังไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นก็จะงง งงก็ไปหาพระพุทธเจ้า พอไปหาพระพุทธเจ้าก็ไปเห็นตุ่มน้ำ หยดน้ำ เห็นไหม เพราะปัญญามันเป็นปัญญาเพียวๆ กิเลสมันไม่ได้ผสม แต่มันก็ไม่สำเร็จ พอไปเจอเหตุการณ์อย่างนั้นปั๊บมันกระเทือน ปิ๊ง! เป็นพระอรหันต์เลย นี่ปัญญาวิมุตติ

ปัญญาวิมุตติมันเป็นการเดินหนักทางปัญญา คือปัญญาออกหน้า มรรค ๘ เหมือนกัน แต่หนักไปทางปัญญา ปัญญาเป็นหัวรถจักร ปัญญาเป็นตัวชักนำมา แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ นี่มันใช้สมาธิออกหน้า สมาธิออกหน้า สมาธิเป็นตัวนำ เป็นเอาความสงบ เอากำลังสมาธิเป็นตัวหัวรถจักรลากมา นี้เป็นเจโตวิมุตติ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตตินี่ใช้ปัญญา แต่ปัญญานี้เป็นหัวรถจักรดึงมรรค ๘ ไปมันถึงเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติเป็นทางพระสารีบุตร ถ้าเป็นเจโตวิมุตติเป็นพระโมคคัลลานะ

ฉะนั้น นี้เป็นที่เข้มข้น เป็นหลักการ แต่เวลาปฏิบัติแล้วนะมันแตกต่างหลากหลาย เพราะกึ่งพุทธกาล พวกเราบารมีตัดไปครึ่งหนึ่ง สมัยพุทธกาลนี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หมดแหละ ในสมัยกึ่งพุทธกาลเราด้อยค่ากันไปครึ่งหนึ่งนะ ความสามารถพวกเราหดไปครึ่งหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้าเราจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างเช่นครูบาอาจารย์เราท่านก็สำเร็จจริงๆ แต่ความชำนาญหรือว่าความเข้มข้น อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดบ่อยว่าของหลวงปู่มั่นนี่ชัดเจนมาก ท่านรู้ไปหมด แต่หลวงตาท่านบอกว่าปัญญาของท่านกว้างขวาง แต่ท่านก็บอกว่าของหลวงปู่มั่นท่านชัดเจนกว่า

นี่สมัยพุทธกาลเป็นอย่างนี้ เรื่องปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ แต่ในกึ่งพุทธกาลแล้วพวกเราจะด้อยค่าลง แต่ด้อยค่าลงด้วยอำนาจวาสนานะ แต่เวลาทำปฏิบัติแล้วมันจะเหมือนกัน คำว่าเหมือนกันคือว่าทุกข์เหมือนกัน มรรคต้องเหมือนกัน กำลังต้องเท่ากัน มันถึงแก้ทุกข์นั้นได้ แต่ด้วยความชัดเจน ด้วยความกล้าคมนี่มันอ่อนด้อยลงไปครึ่งหนึ่ง ฉะนั้น พวกเราถึงต้องพยายามเข้มแข็งไง

นี่พูดถึงว่า “เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติเนาะ” นี้อย่าเพิ่งท้อใจนะ นี่บอกว่าพออ่านของหลวงพ่อแล้ว โอ้โฮ.. เส้นทางนี้มันยากมาก แล้วคงจะไม่ไหวอะไรเนี่ย.. มันเป็นหลักการไง เวลาคน เห็นไหม ดูสิเรายืนดูรถไฟฟ้ามันวิ่งไปเร็วมากเลยนะ แต่ถ้าเราไปนั่งอยู่บนรถไฟฟ้า มันก็พาเราไปได้เหมือนกันนั่นล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นว่าหลักการมันยากมากเลยนะ แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราขึ้นมา จิตใจมันเป็นขึ้นมานะ เราก็นั่งอยู่บนรถไฟฟ้านะ เออ.. มันจะเร็วแค่ไหนเราก็นั่งอยู่ในนั้นแหละ มันก็เอาเราไปถึงที่ได้เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติอย่าเพิ่งคิดว่าเราไม่มีความสามารถสิ อย่าไปคิดว่ารถไฟฟ้านี้วิ่งเร็วมาก วิ่งเร็วมาก แล้วเราจะขึ้นอย่างไร? ก็ขึ้นที่สถานีสิ ตีตั๋ว จ่ายสตางค์ ตีตั๋วก็ขึ้นได้

นี่ก็ทำความสงบของใจสิ ทำใจให้สงบแล้วพยายามพิจารณานะขึ้นได้ พอเราขึ้นได้ไปแล้วนะ โอ้โฮ.. เร็วขนาดไหนเราก็นั่งอยู่บนรถไฟฟ้านะ นี่มีคนเขาบอกบ่อย ความคิดนี้เร็วมาก ทุกอย่างนี้เร็วมาก สติมันจะเร็วกว่านั้นนะ สตินี่มันจะกั้นได้หมดเลย มันจะทันความคิดเราหมดเลย ความคิดที่เร็วๆๆ สติมันยับยั้งได้หมดเลย แล้วเวลาปัญญาเราเกิดนะ สิ่งที่เราว่าสุดความสามารถ สุดความสามารถ เราทำได้ทั้งนั้นแหละ แต่ตอนนี้ทำอะไรก็ไม่ไหว อะไรก็ไม่ไหว

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงปัญญาวิมุตติ มันอยู่ในเทศน์บนศาลานะ ไปเปิดดู ไล่เข้าไป วันที่จำไม่ได้ นี่ปัญญาวิมุตติ แล้วเอามาเทียบกับเจโตวิมุตติ นี้พูดไว้เพื่อเป็นหลัก เห็นผู้ชี้นำ เห็นพระเขาสอนกันไป มันลัด มันไปไหนกันจนไม่รู้ว่ามันจะขึ้นเหนือล่องใต้ มันสับสนไปหมด ทิศเหนือเป็นทิศใต้ ทิศใต้เป็นทิศเหนือ อะไรมันวุ่นไปหมดเลย ก็เลยพูดเป็นหลักไว้เฉยๆ

ข้อ ๕๕๗. ไม่มี

ข้อ ๕๕๘. ไม่มี

ข้อ ๕๕๙. ไม่มีเนาะ

เอาอันนี้ อีกอันเดียวจบแล้ว

“ไม่รู้อาการของใจ” ไม่รู้เนาะ เขาไม่รู้แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรเนาะ คำถามเขาเขียนอย่างนี้จริงนะ

ถาม : เรื่อง “ไม่รู้อาการของใจ”

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ หนูขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาตอบคำถามของหนูครั้งที่แล้วค่ะ อย่างที่หลวงพ่อเมตตาตอบคำถามในครั้งที่แล้ว หลวงพ่อบอกว่า “อาการขาหายไปเป็นแค่อาการปีติ” หนูก็เลยคิดได้ค่ะว่าเรามาติดอยู่แค่นี้ ฉะนั้น จากนี้ไปหนูจะพุทโธเท่านั้น แต่หนูยังมีความสงสัยอยู่อีกนิดหนึ่งค่ะ หนูคงถามหลวงพ่อก่อนเพียงเท่านี้ เพราะหนูจะพุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ ให้ก้าวหน้า

๑. จากคำถามครั้งที่แล้ว อาการขาหายไปใช่ขณิกสมาธิหรือไม่ หลวงพ่อบอกว่าเป็นอาการปีติ ถ้าอย่างนั้นหนูสงสัยว่า เวลานั่งสมาธิและพุทโธ เราก็จะไม่รู้เลยหรือคะว่าเป็นสมาธิหรือเปล่า จะรู้ได้ก็คือถ้าเราปีติใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นเวลาเราพุทโธ เราก็ไม่ต้องสนใจด้วยว่าเป็นสมาธิหรือเปล่าใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : เดี๋ยวนะเอาคำถามนี้ก่อน คำถามนี้มันสับสน คำถามนี่ฟังนะ ฟัง..

“อาการขาหายไปใช่ขณิกสมาธิหรือไม่คะ”

อาการขาหายไป อาการที่ทุกอย่างมันหายไป มันว่างหมดนะ ขาหายไป คำว่าปีตินะ เวลาอาการตัวสั่น อาการไหวมันเป็นปีติ แต่! แต่ปีติมันจะเกิดได้มันต้องมีสมาธิ ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิมันจะเกิดปีติได้อย่างไร? อย่างเช่นเรากินข้าว เวลาเราอิ่มข้าวนี่ทำไมถึงอิ่มล่ะ? อิ่มเพราะเรากินข้าวมันถึงอิ่มใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ก็ถามมาว่า “อาการขาหายไปมันคืออะไรคะ?” เราก็บอกว่าอาการขาหายไปมันก็เป็นปีติไง แล้วมันไม่ใช่สมาธิหรือ? เพราะอยากได้สมาธิ ไม่อยากได้ปีติ

ปีติมันเกิดต่อเนื่องมาจากสมาธิ คือจิตมันต้องมีสมาธิก่อน พอจิตมีสมาธิขึ้นมาใช่ไหมมันก็เกิดปีติ ปีติ สุข เห็นไหม นี่วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์.. ปีติมันเกิดเพราะอะไร? เพราะจิตมันสงบ จิตมันมีหลักของมันมันถึงมีปีติ พอเกิดปีติมันก็เกิดสุข เกิดสุข เกิดเอกัคคตารมณ์ตั้งมั่น ตั้งมั่นเพราะอะไร? ตั้งมั่นเพราะจิตมันสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าจนมันตั้งมั่น มันผ่านปีติเข้าไป มันผ่านสุขเข้าไปมันก็เป็นสมาธิ

ฉะนั้น “อาการขาหายไปเป็นขณิกสมาธิหรือเป็นปีติ”

ฉะนั้น มันเป็นปีติสิ มันเป็นปีติ ปีติเพราะว่าผลของปีติมันเกิดจากสมาธิ เกิดจากจิตที่มันพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอจิตมันเกิดสมาธิใช่ไหม มันก็ปล่อย พอปล่อยขามันก็หาย มันก็ว่าง เวลาจิตมันเริ่มเป็นขณิกะ เริ่มมีความสงบ เห็นไหม กลวงหมดเลย ร่างกายนี่กลวงหมดเลย เหมือนไม่มีอะไรในร่างกายนี้เลย พอเราพุทโธ พุทโธไป พอจิตมันเริ่มเป็นสมาธิร่างกายจะใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น เหมือนกับตัวเราใหญ่ครอบโลกเลย

นี้มันเป็นอาการของปีติ มันเหมือนการหายใจ นี่หายใจครั้งที่หนึ่งกับหายใจครั้งที่สอง หายใจครั้งที่หนึ่งกับครั้งที่สองอันไหนถูกล่ะ? มันก็หายใจเหมือนกัน นี่พูดถึงอาการของปีติหรือสมาธิ

ถาม : เวลานั่งสมาธิหรือพุทโธ เราจะไม่รู้เลยหรือว่าเราเป็นสมาธิ

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นสมาธินะจิตมันจะตั้งมั่นแล้วสุขมาก ขณะที่มันรู้นะ เห็นไหม เวลาเขาพูดถึงสมาธิ เขาให้ลุกขึ้น เม้มปาก แล้วนั่งลง

ถ้าอธิบายสมาธินี่มันเป็นสมาธิสร้างนะ คำว่าสมาธิสร้างทุกคนบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ”

แล้วเราว่า “ว่างๆ เป็นอย่างไรล่ะ?”

“ว่างๆ ก็คือว่างๆ”

“แล้วว่างๆ เป็นอย่างไรล่ะ?”

“ว่างๆ ก็คือว่างๆ ไง”

แต่ถ้าเป็นสมาธินะ..

“ว่างๆ เป็นอย่างไรล่ะ?”

“อู้ฮู.. ว่างๆ นะสติมันตั้งมั่นเลย พอพุทโธ พุทโธ นี่พุทโธมันละเอียดเข้ามา อู๋ย.. มันพูดอะไรไม่ถูกเลย” เห็นไหม

ความจริงนี่นะเราอธิบายไม่ถูกเลยล่ะ แต่ถ้ามันเป็นสัญญา มันเป็นการเปรียบเทียบ มันเป็นจินตนาการนะ ว่างๆ ว่างๆ คือมันจินตนาการให้ว่างไง ตอนนี้มันเป็นอย่างนั้นกันเยอะนะ ฉะนั้น นี่บอกว่าเราอยากจะเอาสมาธิ หรือเราจะเอาปีติล่ะ? ฉะนั้น เราพุทโธไว้ เราอย่าไปสงสัยอะไร ถ้าเราพุทโธไว้แล้วจิตมันสงบ มันมีความสงบระงับ มันมีความร่มเย็น ถูกแล้ว

นี่ไงสมาธิก็มีค่าเท่าสมาธิไง พอทำสมาธิบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า เวลาเราหัดใช้ปัญญา เราจะใช้ต่อไปว่าศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ที่พูดไว้เมื่อ ๒ วันนี้ ที่บอกว่า “สมาธิตกภวังค์” จิตตกภวังค์อันหนึ่ง จิตเป็นสมาธิหัวตออันหนึ่ง เป็นสมาธินี่ เป็นสมาธิแต่เข้าใจว่าเป็นนิพพาน แล้วจิตลงสมาธิ สัมปยุตด้วยปัญญา

ถ้าจิตมันลงสมาธิ สัมปยุตด้วยปัญญา มันจะเกิดแล้ว เกิดมรรคแล้ว เกิดมรรคคือมันมีสมาธิแล้วปัญญามันจะเคลื่อนเดินตัวไป เห็นไหม ถ้าเวลาจิตลงสมาธิ ลงภวังค์นี่แว็บหายไปเลย เหมือนคนนอนหลับแล้วสะดุ้งตื่น นี่ลงภวังค์.. แต่ถ้ามันเป็นสมาธิเฉยๆ สมาธินี่นะแต่มันติดตัวมันเองไง เป็นสมาธิก็คือสมาธิ เป็นสมาธิคือมรรคผล อันนี้สมาธิหัวตอ

แต่ถ้าเป็นสมาธินะแล้วเกิดปัญญา เกิดไหวพริบ เกิดปัญญา นี่สัมปยุตด้วยปัญญา พอสัมปยุตด้วยปัญญา เห็นไหม มันจะเป็นสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธินี่มันจะก้าวเดินออกเป็นมรรคไง มันจะออกไปพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี้เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

นี่พูดถึง “มันเป็นสมาธิ หรือมันเป็นปีติ”

อาการของปีตินี่ร้อยแปด อาการปีติมันคือการรับรู้อารมณ์ รับรู้ความสุข รับรู้อาการรับรู้ นั่นคือปีติ แล้วบางทีมันรู้ถึงขนาดว่าเห็นเทวดา อินทร์ พรหม โอ้โฮ.. เห็นไปหมดเลย ปีตินี่มันกว้างขวางมาก ทีนี้บอกว่าเป็นปีติ เพราะว่าเวลานั่งๆ ไปเรารับรู้ตัวเองใช่ไหม แล้วตัวเองหายไปท่อนหนึ่ง ท่อนล่างหายไป เห็นไหม แล้วท่อนล่างหายไป ถ้าเป็นสมาธินะ แสดงว่าสมาธิครึ่งหนึ่งหายไป ครึ่งหนึ่งอยู่หรือ? มันก็ไม่ใช่ มันเป็นอาการของปีตินะ แต่ปีติมันเกิดจากสมาธินั่นแหละ

ถาม : ๒. หนูสงสัยว่า บางครั้งหนูร้องไห้เวลาฟังเทศน์หลวงตา หลังจากนั้นพุทโธไปสักระยะ ในขณะที่ร้องไห้อยู่มันก็เหมือนจะสงบและนิ่งๆ ได้ แต่ในขณะเดียวกัน หนูก็สงสัยและอยากถามตัวเองว่า “เราเศร้าหรือเปล่า? ทำไมเราร้องไห้?”

คือหนูสงสัยว่า ทำไมหนูร้องไห้โดยหาความเศร้าไม่เจอ สมมุติว่าเราอยู่ในชีวิตประจำวันแล้วมีคนมาด่าว่าเรา เราก็จะโศกและร้องไห้ คือมันชัดเลยว่าเราเศร้าถึงร้องไห้ หนูคิดว่าการที่หนูร้องไห้เวลาฟังเทศน์นี้ มันคงเกิดจากการที่เราสะเทือนใจแต่เราไม่รู้สึก คือเราไม่เห็นมันหรือคะ นมัสการด้วยความเคารพยิ่ง

หลวงพ่อ : อืม.. ร้องไห้ โดยโลกเขาคิดกันอย่างนี้แหละ โดยสามัญโลกเขาคิดแบบนี้ การร้องไห้คือการเสียใจ คือการเศร้า คือการทุกข์ไง แต่โลกเขาไม่เข้าใจว่าเวลาธรรมสังเวชน้ำตามันก็ไหลพรากเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความเศร้า มันเป็นความสะเทือนใจ อย่างเช่นเราเข้าใจผิดสิ่งใดอยู่ แล้วเราเข้าใจถูกนี่มันปล่อยโฮเลยล่ะ มันปล่อยโฮแล้วมันถอดถอนเลยล่ะ ถอดถอนสิ่งที่มันฝังใจอยู่ มันปล่อยโฮเลย เห็นไหม การปล่อยโฮออกมาอย่างนั้นคือธรรมสังเวชนะ

นี่มันเป็นธรรม ธรรมะไง ธรรมะแล้วสะเทือนใจ ธรรมะคือเหตุและผล ธรรมะคือความจริง ฉะนั้น เวลาร้องไห้มันไม่ใช่ร้องไห้ด้วยความโศก ความเศร้าหรอก นี่มันเป็นบารมีของผู้ถามไง เวลาฟังเทศน์หลวงตา พอธรรมะมันสะเทือนหัวใจ เห็นไหม น้ำตามันก็ไหล มันก็สะเทือนใจ ดูสิเวลาเราเห็นหลวงตาทุกข์ หลวงตายาก เราเองก็น้ำตาไหล เราเองก็สะเทือนใจกันเลย นี่บางคนคิดเลย ถ้าท่านเจ็บไข้ได้ป่วยเราอยากจะเจ็บไข้ได้ป่วยแทน เห็นไหม เรายังคิดได้อย่างนั้นเลย

ฉะนั้น เราจะคิดบอกว่าการร้องไห้จะเป็นการเสียใจ ไม่ใช่หรอก การร้องไห้จากดีใจก็ได้ คนพลัดพรากกันมา ๒๐ ปี เจอกันทีแรก อู้ฮู.. พ่อกับแม่นะ แม่ลูกพลัดพรากจากกัน เจอกันนี่โอ้โฮ.. ร้องไห้เป็นตุ่มๆ เลย ร้องไห้น้ำตานี่เอาตุ่มใส่ ๒ ตุ่ม อ้าว.. มันร้องไห้ด้วยความสุข อู้ฮู.. มันปีติ มันกอดกันร้องไห้แล้วร้องไห้อีก อันนั้นเป็นอะไรล่ะ? มันเป็นความสุขนะ สุขเกิดจากร้องไห้ก็มี ทุกข์เกิดจากร้องไห้ก็มี

นี่พูดถึงว่าปีติก็ไม่เข้าใจ เวลาร้องไห้ ร้องไห้ด้วยความเสียใจนี่เราเห็นอยู่ เรารู้อยู่ เด็กก็ร้องไห้เรียกร้องจากพ่อแม่ ไอ้ของเรานี่ธรรมะมันสะเทือนใจเราร้องไห้ แต่ไม่ต้องไปบอกใครหรอก เขาไม่เชื่อหรอก ไปพูดกับเขาเขาบอกว่านี่เวลาปฏิบัติ พวกปฏิบัติมันก็เข้าข้างกัน ร้องไห้มันก็ว่าเป็นความสุข มันไม่เคยมีที่ไหนหรอกร้องไห้เป็นความสุข มันก็จะว่าพวกปฏิบัติมันเข้าข้างกัน มันลงคะแนนเสียงทางเดียวกัน มันก็ว่ากันไป

ปัจจัตตัง! มันเป็นปัจจัตตังนะ เราจะรู้ได้ด้วยเฉพาะเรานะ.. ฉะนั้น ไอ้ที่บอกว่า นี่เวลาถามคำถามมาแล้ว แล้วเราเข้าใจว่าอย่างไร? เราจะบอกว่าเวลาปฏิบัติไปมันเกิดความสงสัย เกิดอะไรอยู่ นี่มันคาใจอยู่ ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วนะ พอเรารู้จริงนะ สิ่งนี้มันจะหลุดไปจากใจหมด แต่เพียงแต่เราปฏิบัติใหม่ แล้วเรามีอะไรสงสัยเราก็อยากถามก่อนไง พอถามมาเราก็ตอบไปก่อน พอตอบไปแล้ว เรายังไม่ถึงอารมณ์อย่างนั้นเราก็ยังไม่เข้าใจ พอไปถึงอารมณ์อย่างนั้นนะ

อืม.. ไม่น่าถามหลวงพ่อเลย ทำให้หลวงพ่อเหนื่อยด้วย แหม.. ถามหลวงพ่อไปได้ พอปฏิบัติแล้วมันก็รู้ ถามมาให้หลวงพ่อตอบซะเหนื่อยเลยเนาะ เอวัง