ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปัญญาเกิด

๗ ส.ค. ๒๕๕๔

 

ปัญญาเกิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๕๖๑. มันไม่มี

ข้อ ๕๖๒. ไม่มี

มันเป็นข้อ ๕๖๓.

ถาม : ๕๖๓. เรื่อง “ทำถูกวิธีหรือไม่”

ในอดีต เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิ จิตจะไม่สงบ คิดแต่เรื่องต่างๆ แต่พยายามหาวิธีต่างๆ แต่ในขณะนี้ข้าพเจ้าใช้วิธีเปิดคำเทศน์ของหลวงตา แล้วนั่งสมาธิและเดินจงกรม และเพิ่มขึ้นในเวลาขับรถไปทำงาน ในขณะนี้เวลานั่งสมาธิเพียงแค่หลับตา และดูลมหายใจตลอดเวลา ข้าพเจ้ามีความสุขมาก และรู้สึกว่าไม่อยากให้ช่วงเวลานี้ผ่านไปเลย และสามารถเดินจงกรมได้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน และพยายามให้มีพุทโธตลอดเวลา ไม่ทิ้งคำว่าพุทโธเพื่อให้จิตมีกำลัง

ตอนแรกๆ ก็สงสัยมากๆ แต่เมื่อทำตลอดเวลาแล้ว ถึงรู้ว่าจิตมีกำลังเป็นอย่างไร เมื่อครั้งหลับตาและดูลมหายใจ จิตสงบขึ้นมาทันที และอยากแต่จะทำอย่างนี้ตลอดเวลา

คำถาม!

๑. ข้าพเจ้าทำถูกวิธีหรือไม่

๒. และทำอย่างไรต่อไปเพื่อความก้าวหน้า

หลวงพ่อ : เขาบอกแต่เดิมเขาทำแล้วมันไม่ได้ผล แล้วก็ฟังเทศน์หลวงตา เปิดเทศน์หลวงตา แล้วก็กำหนดตาม แล้วก็กำหนดพุทโธ พุทโธ พอจิตมันดีขึ้น นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก

ปัจจัตตังหมายถึงว่าเราจะรู้เอง เห็นเอง เวลาเราภาวนาแล้วถ้ามันไม่ได้ผล เห็นไหม เหมือนลงทุนแล้วขาดทุน ทำงาน ทำการค้าแล้วขาดทุนๆๆ ทุกคนก็เบื่อ ทุกคนทำการค้าแล้วมันขาดทุนตลอดใครจะทำไหวล่ะ? แต่ถ้าทำแล้วเราหาเหตุหาผลนะ เวลาทำแล้วมันก็เริ่มจากขาดทุนแล้วเราก็มีกำไรบ้าง อะไรบ้าง นี่เวลาทำขึ้นมาแล้วมีความสุขมาก มีความสุขมาก

ปฏิบัติแล้วมันต้องมีความสุขสิ แต่! แต่ก่อนที่จะมีความสุขมันต้องถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องนะมันเป็นแบบว่ากึ่งๆ เป็นกึ่งๆ ก็เหมือนทางโลก ทางโลก เห็นไหม เวลาเขาสุข เขาทุกข์กัน มันก็คือสุข ทุกข์แบบโลกเขา แต่ถ้าเป็นทางธรรมนะ เวลาสุขขึ้นมานี่มันสุขเหนือโลกนะ หลวงตาบอกว่า

“ใครทำสมาธิได้หนหนึ่ง แล้วไม่เคยทำได้อีกเลย สิ่งที่ทำได้นั้นมันจะฝังหัวใจไปตลอดชีวิต มันฝังไปกับเราเลย” เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเป็นขึ้นมานี่สุขมาก สุขมาก นี่ปัจจัตตัง แล้วมันยืนยันกับเราไง พระกรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาผลนั้นมันฝังหัวใจ นี่มันฝังใจแล้วมันจะรู้ของมัน แต่เวลาถ้าเป็นการบอกเล่า เป็นการเราฟังมา มันลังเลสงสัย มันกึ่งๆ ไปตลอด แต่เมื่อใดเราได้สัมผัสแล้วนะ อันนั้นล่ะเรารู้ได้ แล้วมันจะฝังใจเราไปตลอดไป

ฉะนั้น เราจะย้อนกลับไปว่า “ทำถูกวิธีไหม?”

ถูกวิธี เห็นไหม ๑. มีความสุข ๒. มีกำลัง คำว่ามีกำลังนี่นะ จิตมันสงบแล้วเวลาออกพิจารณาไป มีดที่มันคมกล้าดี มันจะไปสับ ไปฟันอะไร มันจะได้ประโยชน์ มีดเรานี่นะเหมือนกับท่อนไม้ ไปสับ ไปฟันอะไรมันก็ฟันไม่เข้า มันเป็นอะไรล่ะ? น่าคิดนะ

ศีล สมาธิ ปัญญา.. จิตที่ได้เป็นสมาธิ ได้รักษาดีแล้วเหมือนมีดที่มันคม มีดเครื่องมือของเรามันสมบูรณ์ ไปใช้ทำสิ่งใดมันก็ได้ประโยชน์ เครื่องมือของเราขาดตกบกพร่อง แต่มันก็มี มันก็มี.. เราบอกว่ามี โดยปกติสามัญสำนึกนี่ คนมีสมาธินะ คนขาดสมาธิคือคนบ้า คนบ้าเท่านั้นขาดสมาธิ คนของเรานี่เรามีสมาธิ แต่เป็นสมาธิของปุถุชนไง เป็นสมาธิของมนุษย์

ดูสิเด็กเล็กๆ เขาบอกว่าเด็กสมาธิสั้น สมาธิยาว สมาธิสั้นเราต้องดูแลเขา เพราะเขาควบคุมตัวเขาเองไม่ได้ สมาธิปกติ เด็กควบคุมได้ เห็นไหม เด็กก็มีสมาธิ ทีนี้สมาธิมันมีของมันอยู่แล้ว ฉะนั้น พอเราบอกว่าเราไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิ.. สมาธิมันมีอยู่แล้ว แต่! แต่มันไม่พอใช้ไง มันจะใช้ให้เป็นอริยทรัพย์ ใช้ให้มันเกิดปัญญาขึ้นมา มันไม่เกิดตามความเป็นจริง

มันก็มีอยู่ สมาธินี่มีอยู่ แต่มีพอเพียงความเป็นมนุษย์เท่านั้นเอง แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป เห็นไหม เวลาปฏิบัติมันเป็นอริยทรัพย์ อริยทรัพย์นะ มนุษย์เป็นผู้รู้ จิตใจนี้เป็นผู้รู้ เราต้องทำสมาธิให้มันมากขึ้นไปกว่านี้ พอสมาธิมากไปกว่านี้ ความคิดลึกซึ้งมากกว่านี้ ความคิดมันจะกินเข้าไปในเนื้อใจเลย มันเข้าไปสัมผัสความรู้สึกเลย แล้วมันถอดมันถอนนะ มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์จนรู้ว่าอะไรเกิด อะไรตาย

เวลาเกิด ปฏิสนธิจิตมันปฏิสนธิเข้าไปในไข่ของมารดาได้อย่างไร? มันเป็นโอปปาติกะ ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมได้อย่างไร? มันเกิดนรกอเวจีนี่มันไปอย่างไร? เวลามันรู้ รู้ขนาดนั้นนะ รู้ว่าอะไรมาเกิด แล้วอยู่อย่างไร แล้วแก้ไขอย่างไร แล้วเวลามันตายตายอย่างไร?

ถ้ามันมีกิเลสอยู่นะ เวลามันตาย เห็นไหม จิตพอมันหมดอายุขัยใช่ไหม เวรกรรมมันถึงที่สุด ร่างกายมันเจ็บไข้ได้ป่วยจนทนไม่ได้ จิตมันก็ออกจากร่างไป เวลามันออก มันออกมาอย่างไร? ออกมาแล้วมันเป็นโอปปาติกะอย่างไร? ออกมาแล้วมันเสวยภพอย่างไร? มันรู้ มันเห็นไปหมดแหละ

ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วนี่มันจะรู้ จะเห็นของมัน นี้เวลาปัญญาที่มันเกิดจากสมาธิไง ศีล สมาธิ ปัญญา.. แต่ถ้าปัญญาเกิดจากสามัญสำนึก ปัญญาเกิดจากปุถุชน เขาเรียกโลกียปัญญา เพราะจิตนี่มันมีอวิชชาอยู่ จิตนี้มันมีอวิชชา มีเจ้าอำนาจบาตรใหญ่อยู่ในหัวใจ มันคิดอยู่ใต้อำนาจของเจ้าอำนาจบาตรใหญ่ มันก็คิด เห็นไหม

ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา ถ้าเป็นของเราเราต้องเข้าใจ ถ้าเป็นของเราเราไม่ต้องสงสัย นี้มันไม่ใช่ของเรา เป็นของพระพุทธเจ้า แต่ขนาดของพระพุทธเจ้านะ ศึกษาแล้วยังทึ่งเลย โอ้โฮ! โอ้โฮ! นะ แล้วก็มีความสุข เห็นไหม เพราะเหตุและผลมันลงตัวไง

นี่เหตุและผลคือธรรม เหตุของพระพุทธเจ้ามันไปแก้ปมในใจ พอแก้เสร็จมันก็เออ.. ใช่! เออ.. ใช่! แล้วเป็นธรรมไหมล่ะ? เป็นธรรมหรือเปล่าล่ะ? เป็นธรรมทำไมสงสัยล่ะ? เออ.. ใช่! แต่ใช่เรื่องอะไรล่ะ? เออ.. ยังงงอยู่

ใช่นะ แต่ใช่ก็ยังงงอยู่ ยังงงไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามันเข้ามาแก้ของเราเองนะ มันเป็นอริยทรัพย์ มันเป็นมรรคของเรา มันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญามันเกิดจากเรา พอมันถอดมันถอนนะ เออ.. ใช่ มันถอดมันถอนนะ ถอนรากถอนโคนเลยนะ โอ๋ย.. มันดึงออกมาจากหัวใจเลย เออ.. อย่างนี้สิ! แล้วอย่างนี้แล้วนะ นี่นักศึกษาแพทย์ฝึกงานจบแล้วจะเป็นอาจารย์สอนนิสิตแพทย์ก็ได้ จะเป็นหมอรักษาคนไข้ก็ได้

จิตที่มีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นมาในหัวใจ จนมันแก้ไขใจมันแล้ว ตัวมันเองมันก็รู้ตัวมันเองด้วย มันจะสอนใครมันก็สอนได้ด้วย มันทำอะไรมันก็ทำได้ด้วย แต่ถ้ามันไม่ใช่นะ ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้านะ อืม.. ใช่แต่งง ให้สอน เอ๊ะ.. สอนก็ไม่แน่ใจนะ สอนไปเดี๋ยวก็ผิดนะ ตัวเองก็ยังคลำๆ อยู่ แล้วใครจะไปสอนใคร? เห็นไหม นี่เขาเรียก “โลกียปัญญา” ปัญญาเกิดจากการศึกษา แต่มันก็ต้องเริ่มจากตรงนี้ จากการศึกษาเข้ามา

นี้เขาพูดถึงว่า “ถูกวิธีไหม?”

โอ้โฮ.. พูดยาวเลย เพราะ! เพราะเวลามันเป็นปัจจัตตังนี่มันสะเทือนไง ปัจจัตตัง เวลาเกิดมันรู้ เวลาคนปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ นี่เขาถามว่า..

ถาม : ข้อ ๑. ข้าพเจ้าทำถูกวิธีหรือไม่

หลวงพ่อ : ถ้าทำถูกวิธีนะ เราตั้งสติไว้แล้วกำหนดพุทโธไว้ เราอ้างหลวงตาประจำ เพราะหลวงตาสอนเรามา หลวงตาบอกว่า

“มีสติอยู่กับพุทโธไม่เสีย ใครอยู่กับพุทโธ จิตนั้นไม่เสียเด็ดขาด”

อยู่กับสติ อยู่กับพุทโธนี่ไม่เสีย รับประกันว่าไม่เสีย เราเกาะไว้ เกาะพุทโธ พุทโธไว้ ถ้าเกาะไว้โดยไม่ทิ้งนะ เหมือนเราทำหน้าที่การงานของเรา ทำได้ถูกต้องตามวิธีนะ ทำไปนี่งานมันเสร็จ พองานมันเสร็จจะทำอะไรต่อ?

พุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตมันสงบเข้ามานี่มันพุทโธไม่ได้ มันนึกไม่ได้ เพราะมันเข้าสู่ตัวมันเองแล้ว พอมันเข้าสู่ตัวมันเอง มันพุทโธไม่ได้มันก็เป็นตัวมันเอง มันจะเสียหายไปไหน? พอมันคลายตัวออกมามันก็คิดได้ คิดได้ก็พุทโธต่อ เห็นไหม ถ้าไม่ทิ้งสติ ไม่ทิ้งพุทโธ ไม่เสีย รับประกันว่าไม่เสีย แต่พวกเรานี่พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หลับไปเลยนะ พุทโธหาย พุทโธไม่ได้ เราก็จะบอกว่า

“สมมุติว่าพุทโธได้ไหม?”

“ได้ค่ะ! ถ้าสมมุตินะ ถ้าจริงๆ ไม่ได้ ไม่ได้”

เพราะมันปฏิเสธไง มันอยากได้มรรค ได้ผล มันอยากให้เป็นไปนะ มันบอกว่าพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ แล้วถ้าสมมุติว่าพุทโธได้ไหม? ได้ค่ะ ถ้าสมมุติได้นะ แต่พุทโธจริงๆ ไม่ได้ เพราะมันกลัวมันเสียหน้า กิเลสมันกลัวเสียหน้า กลัวรู้ทันมัน มันจะบอกว่าพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้

พุทโธไม่ได้แล้วมันพูดได้อย่างไรล่ะ? พุทโธไม่ได้มันคิดได้อย่างไรล่ะ? คิดก็พุทโธนั่นแหละ.. พุทโธได้! แต่มันไม่ยอมพุทโธ แล้วมันอ้างเล่ห์ว่าพุทโธไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเราเกาะพุทโธไว้ เกาะพุทโธไว้นะ แล้วพุทโธไปเรื่อยๆ เวลาเป็นจริงนี่มันเป็นของมันเอง เป็นจริงๆ แล้วพุทโธไม่ได้จริงๆ

“พุทโธได้ไหม?”

“ไม่ได้!”

“ไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ?”

“ก็มันพุทโธไม่ได้ มันรู้ตัวมันเองชัดเจนเลย”

ไม่ได้มันก็มีเหตุมีผล ทำไมถึงพุทโธไม่ได้ ไม่ได้ก็มันหดตัวเข้ามาเป็นตัวมันเอง มันไม่ออกรู้มันจะพุทโธได้อย่างไร? เออ.. เห็นไหม ถ้ามันไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้? แล้วไม่ได้เพราะอะไร? มันอธิบายได้หมดเลย ถ้าใครพุทโธไม่ได้นะ มันบอกได้เลย “พุทโธไม่ได้!”

“ไม่ได้เพราะอะไร?”

“ไม่ได้เพราะอย่างนั้น อย่างนั้น”

นี้บอกพุทโธไม่ได้ ถ้าสมมุติล่ะ? เออ.. สมมุติได้ สมมุติได้ นี่มันหลอกตัวเอง เห็นไหม ฉะนั้น ถ้าไม่ทิ้งพุทโธนะ ขยันไป เพียงแต่พวกเราจินตนาการไป แล้วเราคาดหมายไป แล้วเราได้ศึกษาสภาวะสังคม สภาวะแวดล้อมนะ เขาบอกพุทโธมันจะต้องหายไป นี่เราคาดการณ์กันไป แล้วเราอยากให้เป็นแบบนั้น เราก็สร้างจินตนาการว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วก็หลับไปเลย นี่เขาเรียกว่าตกภวังค์หายไปเลย

แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนะ มันลงขนาดไหนนะมันชัดของมัน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะพุทโธไม่ได้เลย พุทโธไม่ได้แต่ตานี่ใส สักแต่ว่ารู้ นี่รู้แจ่มชัดมากเลย พุทโธไม่ได้เลย แต่ผู้รู้แจ่มชัดเลย นี่แหละของจริง

“พุทโธได้ไหม?”

“ไม่ได้”

“แล้วผู้รู้ล่ะ?”

“ผู้รู้ก็หายไปแล้ว หลับสบายเลย”

อย่างนั้น เห็นไหม นี่มิจฉากับสัมมา การปฏิบัติมีถูกและผิดมาคู่กันไป ฉะนั้น เราต้องทบทวนตัวเราเอง เขาถามว่า “ถูกไหม?”

ถูก! ถูกแล้วทำต่อเนื่องไป

ถาม : ข้อ ๒. ทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้ก้าวหน้า

หลวงพ่อ : เพื่อให้ก้าวหน้า ทำความสงบของใจ พอใจสงบแล้วนะออกหัดใช้ปัญญา พอจิตมันสงบ จิตมันโล่งโถงนี่ฝึกใช้ปัญญา ฝึกใช้ปัญญาคือออกมาตรึกในธรรม ออกมาตรึกในชีวิตประจำวันนี่แหละ แล้วพอกลับไปพุทโธมันสะดวกขึ้น เพราะถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธใช่ไหม? มีดนี่เราลับแล้วคมแล้ว เรารู้ว่าคมหรือไม่คม เราว่าคม แต่ไม่รู้ว่ามันใช้ประโยชน์ได้หรือ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เราลองไปฟันอะไรดู เห็นไหม ใช้ประโยชน์ดู

นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธ พุทโธ จิตมันสงบแล้วมันโล่ง มันสบายใจ ก็ใช้ปัญญาดู ใช้ปัญญา ก็เหมือนเอามีดไปหัดฟัน หัดทำครัว หัดใช้ประโยชน์ พอมันเห็นโอ้โฮ.. คมเนาะ คมกริบเลยอย่างนี้ มันยิ่งคิด ยิ่งมีปัญญากลับมา แต่ถ้ามันคิดออกไปนะ เวลาไปฟันแล้วฟันไม่เข้าเลย เอามีดไปฟันนะ ฟันหมูไปนี่หมูแหลกหมดเลยไม่ขาด โอ้โฮ เอ๊ะ.. คมทำไมคมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ? เห็นไหม

พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอใช้ปัญญานี่แสดงว่าพุทโธมันไม่จริง มีดเราคมไม่จริง สมาธิเราไม่เป็นสมาธิจริงๆ ถ้าสมาธิเราเป็นสมาธิจริงๆ นะ มีดคมกล้านะ เวลาเฉือนหมู อู้ฮู.. หมูนี่สวยมาก ขาดออกมาสวยมากเลย ถ้าสมาธิดี พอพิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยวางโล่งไปหมด เห็นไหม พิจารณาเรื่องกาย กายก็ไม่ใช่เรา พิจารณาเรื่องเวทนา เวทนานี่ก็โง่ไปรู้มันเอง พิจารณาเรื่องธรรม โอ้โฮ.. ธรรมะกระจ่างแจ้ง

นี่มันคมกล้า คมกล้ามันพิจารณาสิ่งใดไปมันจะปล่อยวาง ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยอำนาจของปัญญา มันทะลุทะลวงเข้าไป มันปล่อยหมดๆ มีดได้ใช้ มีดคมๆ แล่ไก่ แล่ปลา อู้ฮู.. ปลาสวยมากเลย โอ้โฮ.. สมาธิเราใช้ได้ แต่อย่าเผลอนะ มีดใช้แล้วมันต้องทื่อเป็นธรรมดา ปัญญาพอใช้แล้วจิตมันต้องถอยเป็นธรรมดา มันเจริญแล้วเสื่อม

การใช้สอย เงินทองใช้แล้วต้องพร่องเป็นธรรมดา สมาธิออกไปฝึกใช้ปัญญาแล้วมันต้องถอยค่าลงเป็นธรรมดา ต้องกลับมาพุทโธอีก พอมีดเราคมแล้วใช่ไหม? คมเพราะเหตุใด คมแล้วเราใช้พุทโธใช่ไหม นี่เราก็กลับมาพุทโธ เรามาลับมีดอีก เราก็ไปแล่ไปทำของเราอีก นี่ฝึกใช้ปัญญา

นี้พูดถึงว่า “จะทำอย่างไรต่อไปให้ก้าวหน้า”

ถ้าพุทโธ พุทโธจิตก็เข้าไปสงบ เข้าไปพัก นี่มีดเรารักษาดีแล้วเราก็ต้องลองใช้ดู ต้องใช้ ถ้าไม่ใช้จะรู้ได้อย่างไรว่าคมหรือไม่คม เราก็ว่าคมนั่นแหละ แต่เวลาเอาไปใช้แล้วนะมันสับอะไรไม่เข้าเลย มันคมไม่จริงไง ถ้าคมจริงนี่ฝึกอย่างนี้ ฝึกไปแล้วมันจะเจริญก้าวหน้า เจริญก้าวหน้าเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ

ข้อ ๕๖๔. ไม่มี

ถาม : ๕๖๕. เรื่อง “การคิดแบบนี้ คือการคิดแบบวิปัสสนาใช่หรือไม่”

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมเดินจงกรม นึกพุทโธชัดๆ ตามรู้ลมหายใจชัดๆ แล้วผมก็เห็นจิตที่นึกพุทโธสงบนิ่ง ตั้งมั่นชัดเจนขึ้นมาในใจ แต่อารมณ์ในใจมันเคลื่อนไหวพลิ้วไปพลิ้วมา แล้วผมก็คิดขึ้นมาว่า “หลังจากที่เราตายแล้ว ร่างกายของเราก็จะกลายเป็นดิน” อารมณ์ในใจที่เห็นอยู่นี้ก็จะหายไป มันก็หมายความว่าอารมณ์ในใจเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน

พอผมคิดมาถึงตรงนี้ ผมก็มีไอเดียผุดขึ้นมาว่า

“ก็ในเมื่ออารมณ์เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เราก็ไม่ต้องทำตามความอยากของอารมณ์ก็ได้นี่นา อารมณ์มันไม่มีตัวตนแล้วมันจะบังคับเราได้อย่างไร? ถ้าเราไม่ทำตามมัน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้อยู่ดี แล้วเราจะต้องกลัวมันอีกทำไม?”

เมื่อผมคิดดังนี้ ผมรู้สึกโล่งใจและขบขันตัวเองเป็นอย่างมาก ผมเดินจงกรมต่อไปด้วยความขบขัน และโล่งใจ เหมือนกับได้ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากภาระที่มองไม่เห็น สักพักหนึ่งความโล่งใจและความขบขันก็ค่อยๆ เจือจางไป แล้วผมก็กลับมาคิดถึงเรื่องเดิมเหมือนเมื่อตะกี้นี้อีก ผมก็เกิดความโล่งใจและความขบขันขึ้นมาอีก ผมเดินจงกรมไปยิ้มไป กับความคิดเดิมๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนหมดแรงเดินแล้วผมก็เข้านอน

ผมกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. การนึกคิดตามที่ผมได้เล่ามานี้ คือการคิดเป็นวิปัสสนาหรือไม่ครับ

๒. ถ้ายังไม่เป็นวิปัสสนา ผมจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไปผมจึงจะเป็นวิปัสสนาครับ

๓. ความคิดที่ผมเล่ามานี้มันจะไม่เหมือนความคิดทั่วๆ ไป คือหลังจากที่ผมตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้า ความโล่งใจและความขบขันมันก็ยังมีอยู่ครับ แต่ขำตัวเองว่าทำไมเมื่อก่อนหน้านี้ผมต้องยอมตามความอยากของอารมณ์ด้วย ทั้งๆ ที่อารมณ์มันก็ไม่มีตัวตน ซึ่งเราไม่ทำตามมัน มันก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่เราได้อยู่แล้ว เมื่อก่อนผมยอมทำตามความอยากของอารมณ์ไปทำไมไม่รู้เหมือนกันครับ นึกๆ ไปแล้วผมก็ขำดี ผมมันโง่ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : คนถามนี่เขาถามมาบ่อย แล้วแต่ก่อนหน้านั้นเขาห่วงมาก ห่วงว่ามันเป็นวิปัสสนาหรือไม่เป็นวิปัสสนาไง ตอนนี้เวลาเขาเกิดขึ้นมาแล้ว เขาจะถามเข้ามาอีกว่าเป็นวิปัสสนาไหม?

เราบอกว่าเป็น นี่เราจะบอกว่าเวลาปัญญามันเกิด เวลาปัญญามันเกิดนะ ปัญญาในพุทธศาสนาไง คือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง เรามีความคิดอยู่นี่ ความคิดสามัญสำนึกเรานี่แหละ แล้วมันมีปัญญาอีกตัวหนึ่งรู้ทันความคิดเรา ถ้ามันรู้ทันความคิดเรา มันเอาความคิดเรามาตีแผ่ เห็นถูกเห็นผิดมันปล่อยวางได้ไหม? มันปล่อยวางได้ แต่ตอนนี้ความคิดเป็นเราไง

ความคิดนี่มันเป็นเรา สังขารเป็นเรา เราเป็นสังขาร เราเป็นความคิดเดิม แต่เวลาปัญญามันเกิด มันมีปัญญาอีกอันหนึ่งทันความคิด เห็นไหม มันก็เลยบอกว่า เออ.. เรานี่มันโง่เนาะ อารมณ์มันก็เป็นอย่างนี้เนาะ เมื่อก่อนเราต้องยอมมัน เชื่อมัน นี่ปัญญาเกิด!

ปัญญาอย่างนี้เกิด แล้วปัญญาอย่างนี้เกิด มันก็เหมือนปัญญาธรรมดานี่แหละ เวลาพูดเหมือนกันทั้งนั้นแหละ นี่ปัญญาก็คือปัญญา ความคิดก็คือความคิดไง แต่ความคิดที่เกิดจากสมาธิ กับความคิดโดยกิเลสมันคนละเรื่องกันนะ ถ้าคนละเรื่องกัน เวลาคนเป็นหรือไม่เป็นพูดมานี่รู้หมดแหละ

ฉะนั้น “ข้อ ๑. การนึกคิดที่ผมเล่ามานี้ คือการคิดที่เป็นวิปัสสนาใช่ไหมครับ”

ใช่ คำว่าเป็นวิปัสสนานี่นะ เวลาเราทำสมาธิ เราเดินจงกรมแล้วมันเกิด แต่ถ้ามันเป็นธรรมเกิด เราจะพูดบ่อย ธรรมเกิดหมายถึงว่าเรานั่งเฉยๆ นี่แหละ แล้วมันเกิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุไม่มีผล แต่นี้เราเดินจงกรม เราพุทโธ แล้วเราพิจารณาของเรา เห็นไหม เห็นอารมณ์แล้วก็ขำกับอารมณ์ เห็นอารมณ์นี่จิตเห็นอาการของจิต อารมณ์คืออาการของจิต อารมณ์คือเงา

เวลาคนเรายืนในที่แสงจะมีเงาทันทีเลย ความคิดนี่เกิดจากจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามาเป็นสมาธิ นี่ตัวจิตเป็นสมาธิ ตัวจิต! ตัวจิต! แล้วตัวจิตเห็นอารมณ์ ตัวจิตเห็นอาการของจิต อาการของจิตคืออะไร? คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

อารมณ์ความรู้สึกนี่มันเป็นรูป มันเป็นรูปเลยนะ แต่เป็นรูปของใคร? เป็นรูปของจิตที่มันจับได้ไง แต่ไม่ได้เป็นรูปของเรา เป็นรูปของจิต พอจิตมันจับได้ จิตมันพิจารณาได้ มันแยกของมัน มันก็รู้ทันอารมณ์ เห็นไหม เราก็ขำ มันก็ เออ.. เราจะบอกว่าเวลาจิตดี สมาธิดีมันเป็นอย่างนี้แหละ เดี๋ยวเวลาจิตเสื่อมนะไม่เห็นมันหรอก แล้วมันกระทืบเอานี่ โอ้โฮ.. หัวทิ่มเลยล่ะ

มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญนะ ขณะที่เจริญเป็นอย่างนี้ เวลาปัญญาเกิดเกิดอย่างนี้ แล้วเกิดแล้วรักษาไว้ แล้วขยันหมั่นเพียรนะทำไปบ่อยๆ นี่เวลาทำครั้งแรก รสชาติของอาหาร อาหารร้านไหนอร่อย ไปกินครั้งแรก โอ้โฮ.. อร่อยน่าดูเลย ไปกินสัก ๑๐๐ ครั้งนะ อืม.. มันชักไม่ค่อยอร่อยแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเกิดบ่อยๆ วันหลังจะถามเลย “หลวงพ่อ ทำไมมันไม่เห็นเหมือนเมื่อก่อนเลย ทำไมอารมณ์มันไม่ดีเหมือนเก่าเลย” อ้าว.. อาหารกินตั้งร้อยกว่าหนแล้ว มันจะอร่อยเหมือนครั้งแรกได้อย่างไร? อาหารครั้งแรกมันก็อร่อยสิ มันประสบครั้งแรกไง ฉะนั้น ให้ขยันหมั่นเพียรแล้วทำไปบ่อยๆ แล้วผิดถูกค่อยถามมาใหม่เนาะ

ถาม : ข้อ ๒. ถ้ายังไม่ใช่วิปัสสนา ผมจะปฏิบัติอย่างไรต่อไปครับให้มันเป็นวิปัสสนา

หลวงพ่อ : วิปัสสนาหมายความว่าจิตเป็นสมถะ คือจิตสงบแล้ว จิตมีกำลังแล้ว พอจิตมีกำลังแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยความเป็นจริง ถ้าจิตไม่สงบมันไม่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ไม่เป็นความจริงเพราะอะไร? เพราะกายเป็นเรา จิตเป็นเรา เวทนาเป็นเรา ธรรมเป็นเรา

เป็นเราหมายถึงว่ากิเลสมันรู้อารมณ์ มันคลุกเคล้ากันไปหมดเลย มันแยกไม่ออกว่าอะไรถูกอะไรผิด ทุกอย่างเป็นเรา ทุกข์ยากไปหมด ทุกข์ก็เป็นเรา ยึดมั่นก็คือเรา สุขก็คือเรา นั่นล่ะอย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนา เป็นอารมณ์สามัญสำนึก พอจิตมันสงบมันปล่อย มันปล่อยหมด ปล่อยอารมณ์ความรู้สึก ปล่อยทุกอย่าง

สงบแล้วไม่เห็นกาย ไม่เห็นเวทนา ไม่เห็นจิต ไม่เห็นธรรม ก็ยังไม่เป็นวิปัสสนา พอจิตมันสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันถึงเป็นวิปัสสนา.. เราเห็นอารมณ์ของเรา เห็นไหม แล้วเราบอกว่าเมื่อก่อนทำไมโง่กับมันขนาดนี้ นี่เป็นวิปัสสนาหรือไม่เป็นล่ะ? เป็นไหม? เป็นไหม?

จิตเห็นอาการของจิต! จิตเห็นความคิด จิตเห็นความคิด เวลาพูดนี่ทฤษฎีมันง่ายนะ แต่เวลาทำ คนทำไม่ได้พูดไม่ได้หรอก ฉะนั้น ถ้าจิตมันเห็นแล้วมันจับต้องได้ นี่วิปัสสนา แล้ววิปัสสนาไปแล้ว วิปัสสนาก็เสื่อมได้ วิปัสสนามันเป็นสมถะก็ได้ วิปัสสนาจนไม่มีอะไรเลยก็ได้ ไม่ใช่ว่าขึ้นวิปัสสนาแล้วนะ วิปัสสนามันจะอยู่กับเราตลอดไปนะ

สมถะวิปัสสนามันเป็นสภาวธรรม สภาวะคืออาการของจิต คืออารมณ์ ฉะนั้น เขาบอกว่าสภาวธรรม สภาวธรรม เราไม่ยอมรับ.. เราไม่ยอมรับสภาวธรรมตามความเป็นจริงนะถ้าเป็นโสดาบัน อันนั้นไม่ใช่สภาวธรรม นั่นเป็นธรรม! สภาวะคือการเปลี่ยนแปลง สภาวะคืออารมณ์ที่มันแปรปรวน

ทีนี้ความแปรปรวน เห็นไหม เป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา นี่มันแปรปรวน มันเป็นอนิจจัง สภาวธรรมมันถึงแปรปรวน มันถึงเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะอนัตตามันเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นธรรมแท้ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอกุปปธรรม

ฉะนั้น “ข้อ ๒. มันเป็นวิปัสสนาใช่ไหม?”

เป็น แต่พอเป็นแล้วนะ จะยืนยันว่าเป็นแล้วก็คือเป็นไง เหมือนซื้อเสื้อมาตัวหนึ่ง เสื้อต้องเป็นของเรา เอาเข้าตู้ไว้ เสื้อก็คือเสื้อ แต่อารมณ์มันไม่ใช่นะ วิปัสสนานี่ซื้อไม่ได้นะ ซื้อวิปัสสนามาใส่ไว้ เดี๋ยววิปัสสนามันก็หายไปหมด มันปลิวไปหมดเลย

วิปัสสนามันเสื่อมได้ เพราะเราบอกว่าใช่วิปัสสนา แต่วิปัสสนานี่เป็นนามธรรม เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราคงที่

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

หน้าที่ของเราคือสร้างเหตุ สร้างสมาธิ ตั้งสติทำสมาธิแล้วใช้ปัญญา มันเป็นนามธรรม แต่ต้องขยันหมั่นเพียรแล้วมันจะอยู่กับเรา

ถาม : ข้อ ๓. ความคิดที่ผมเล่ามานี้มันจะไม่เหมือนความคิดทั่วๆ ไป หลังจากที่ผมตื่นขึ้นมา

หลวงพ่อ : ใช่ ไม่เหมือนหรอก ความคิดทั่วๆ ไปคือความคิดทางโลก ถ้าเป็นธรรมแล้วนี่มันจะรู้ การภาวนา การปฏิบัติ ถ้ามีครูบาอาจารย์นะพอพูดก็รู้แล้ว พอพูดแบบอารมณ์โลกมันเป็นจินตนาการ

มันมีสุตมยปัญญา ปัญญาจากการศึกษา การศึกษานี่เขาเอาไว้อ้างอิงนะ ปริยัตินี่ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เอาไว้อ้างอิง นี้คือปริยัติ นี่คือสุตมยปัญญา.. จินตมยปัญญาคือจินตนาการ นี่พอจินตนาการ มันก็จินตนาการของมันไป แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา เห็นไหม มันเป็นความจริง เพราะมันสัมผัส มันถูกต้อง มันสัมผัส เพราะภาวนามยปัญญา..

นี้เขาว่า “มันถึงไม่เหมือนความคิดทั่วๆ ไป”

ถูกต้อง ไม่เหมือนความคิดทั่วๆ ไป ถ้าเหมือนก็ไม่ใช่ แล้วจำให้เหมือนก็ไม่ได้ จำให้เหมือนก็ไม่ได้ ทำให้เหมือนก็ไม่ได้ มันเป็นของมันเอง แต่เป็นจากการขยันหมั่นเพียร นี่ถูกต้อง! ถูกต้อง ฉะนั้น ทำมาแล้วถูกต้อง

พูดนิดหนึ่ง นี่เขาถามต่อเนื่องมาหลายๆ ที แล้วก็มีอยู่ครั้งที่แล้วเขียนมา บอกว่าเขาเป็นอย่างนี้แล้วไปคุยกับเพื่อน ไปคุยกับอะไร แล้วเขาบอกผิดหมดนี่เขาจะทิ้งเลยนะ แล้วบังเอิญเขาเขียนมาถามเรา แล้วเราบอกว่าถูกหมด เขาบอกเลยตอนนี้เขาไม่คุยกับใครเลย เขาจะคุยกับเว็บไซต์เราอย่างเดียว มันจะเข้าในเว็บไซต์ไม่คุยกับใครเลย มันจะคุยกับเว็บไซต์

เพราะ! เพราะไปที่อื่นแล้ว.. นี่เดินมาถูกทางนะ ถ้าคนไม่เป็นเขาบอกผิดหมดแหละ แล้วเสียหมดเลย นี่เขาพูดเองเลยบอกว่าเขาคิดย้อนไปแล้วเขาเสียวมาก เขาอยู่ในหมู่เพื่อนเขา แล้วหมู่เพื่อนเขาบอกว่าเขานี่ผิด ต้องทำแบบเพื่อนเขา คือว่าไม่มีอะไรเลย ธรรมชาติ ธรรมชาติอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วพอมาทำอย่างนี้ปั๊บเพื่อนเขาบอกว่าผิด แต่พอนี่มันขึ้นมาเรื่อยๆ เลย เพราะเราคอยแนะๆ นี่มันขึ้นมาเรื่อยๆ แล้ว

ขึ้นมาเรื่อยๆ คือว่านี่ขำกับตัวเอง ขำกับอารมณ์ตัวเองก็ยังได้นะ ขำกับความทุกข์ตัวเองก็ยังได้ นี่มันตลกขำกับชีวิตเราเอง เออ.. ใช้ได้แล้ว คือมันไม่ทุกข์เกินไปไง แต่ถ้ามันไม่ขำนี่มันทุกข์นะ ชีวิตนี้ขำๆ เออ.. พอใช้ได้อยู่ แต่ถ้าชีวิตซีเรียสนี่ แหม.. ทุกข์น่าดูเลย ชีวิตเราซีเรียสเกินไปเราทุกข์เต็มที่ แต่ถ้าชีวิตขำๆ เออ.. ใช้ได้ ใช้ได้

ฟังอันนี้สิ อันนี้มาต่อว่าแรงเลย

ถาม : ๕๖๖. เรื่อง “จิตสองดวง” (เออ.. น่าดูๆ)

กราบหลวงพ่อเจ้าค่ะ กราบเรียนชี้แจงเบื้องต้น

๑. หากหลวงพ่อพูดว่า “อ่านหนังสือมากูไม่ตอบ” ถ้าไม่อ่านหนังสือมาบ้าง ไม่รู้จะหาคำที่ตรงที่สุดได้อย่างไรคะ

(นี่โอ้โฮ.. แล้วเขายาวเหยียดเลย)

๒. หลวงพ่อพูดว่า “กูไม่ตอบ ทำได้จริงหรือ ปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้อย่างไรบอกกูมา”

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดถึงเวลาเราพูดไป เราพูดเพราะเราเห็นแล้วมันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจตรงที่ว่าปล่อยผู้รู้ ปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้แล้วเขาภาวนาได้ มันขัดแย้งกับความเป็นจริงนะ อย่างเช่นกรณีดูจิต ที่เราโต้แย้งไปกรณีดูจิต ถ้าเป็นหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดถูกต้องเราจะไม่โต้แย้งเลย แต่ถ้าเวลาพูดผิด เห็นไหม เขาบอกว่า

“สติตั้งเป็นสติตัวปลอม สติเผลอ เผลอสติมาเอง เป็นสติตัวจริง”

กรณีอย่างนี้ นี่เอามาเป็นตัวอย่าง ถ้ากรณีอย่างนี้มันเป็นความจริงไปไม่ได้

ย้อนกลับมาคำถามนี้ ปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้แล้วชัดเจน มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น พอเป็นไปไม่ได้ปั๊บ เราพูดแบบอะลุ้มอล่วยเต็มที่แล้วนะ เราพูดแบบว่าคนที่ภาวนานี่บางทีไปดูหนังสือมา เราถึงบอกไปดูหนังสือมาเราไม่ตอบ แต่ถ้าปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้แล้วชำนาญในวสี แล้วมันเป็นอัตโนมัติ มันรู้.. ปล่อยก็คือมันไม่มี สมาธิมันต้องมี สมาธินี่มีสตินะ ชัดเจนมากถ้าเป็นสมาธินะ

โอ้โฮ.. อย่างเรานี่นะ เรามีเงินหนึ่งล้านในกระเป๋า เงินหนึ่งล้านในกระเป๋าเรามันจะหนักขนาดไหน? แล้วมันมีน้ำหนักขนาดไหนเงินหนึ่งล้าน แล้วเราจะภูมิใจว่าเรามีเงินหนึ่งล้าน สมมุติว่า เราคิดว่าเรามีเงินหนึ่งล้านแต่เราไม่มี มันอารมณ์ต่างกันไหม?

เราคิดว่าเรามีเงินล้านหนึ่งนะ แต่เราไม่มีอะไรเลย เราก็คิดของเราเองเฉยๆ แต่ถ้าเราคิดว่าเรามีเงินหนึ่งล้าน แล้วเรามีเงินหนึ่งล้านในตัวเราด้วย เงินสดๆ น้ำหนักของแบงก์ล้านบาทมันจะมีน้ำหนักขนาดไหน? แล้วเรากำเงินสดๆ ของเราหนึ่งล้านนี่ เราจะภูมิใจขนาดไหนว่าเรามีเงินหนึ่งล้าน แต่ถ้าเราคิดว่าเรามีเงินหนึ่งล้านแต่เราไม่มีเลย เห็นไหม มันต่างกัน

คำว่ามีเงินหนึ่งล้าน นี่สมาธิมันมีสติ มันมีธาตุรู้ มันมีพร้อม แต่บอกว่าปล่อยธาตุรู้ ปล่อยตัวรู้ ก็เหมือนกับคิดว่ามีเงินหนึ่งล้าน แต่มันไม่มีเงินนี่จะทำอย่างไร? เราถึงพูดว่าอะลุ้มอล่วยแล้วนะ บอกว่าถ้าอ่านหนังสือมาไม่ตอบ อ่านหนังสือมาไม่ตอบ แต่ถ้าจะบอกว่ามันเป็นการภาวนานะ ไอ้คำพูดว่า “ปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้”

อย่างเช่นเราบอกว่าเราขับรถมา เราปล่อยพวงมาลัยหมดเลย แล้วนั่งมาเฉยๆ เลย รถมันวิ่งมาถึงวัดเองนี่มันแปลกไหม? อ้าว.. ขึ้นนั่งรถปั๊บ ติดเครื่องแล้วเราก็นั่งเลย รถมันก็วิ่งมาเอง รถมันก็มาจอดหน้าประตูวัดหลวงพ่อเลย หนูก็เดินลงมาเดี๋ยวนี้ อืม.. มันก็แปลกเนาะ เออ.. ถ้าขับรถมามันก็ต้องคุมพวงมาลัยมาเนาะ เออ.. มันก็

เราพูดอะไรบางทีนะเราจะถนอม หมายถึงว่าถ้าคนภาวนานี่เราจะให้กำลังใจ เราจะไม่ถึงกับตัดรอน แต่ทีนี้พอบอกว่าปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้ ไอ้ตรงนี้มันสะเทือนใจ มันถึงบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ฉะนั้น พอเป็นไปไม่ได้นะคำถามก็มาเรื่อยๆ คำถามต่อมานะ นี่เขาบอกว่า

“ถ้าต่อหน้าหลวงพ่อ หนูรับรองตัวเองว่าหนูรู้ หนูพิจารณาได้ หนูบอกได้”

ถาม : ข้อ ๓. ถ้าหลวงพ่อย้อนพิจารณาคำถามเก่าๆ ของลูก ที่ว่าไม่ใช่จิต

หลวงพ่อ : คำว่าไม่ใช่จิตมันต้องมีสติพร้อม สักแต่ว่ามันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จิตจริงๆ ก็เรื่องหนึ่ง สักแต่ว่ามันก็เรื่องหนึ่ง ฉะนั้น เขาบอกว่า “ถูกต้องใช่ไหมคะ?”

อันนี้มันเป็นคำถามเนาะ เขาจะถาม เขาจะเรียกร้องว่าเขาถามมาเยอะมากเลย แล้วเราก็โอเคมาตลอดเลย คือว่าเราก็รับรองมาตลอด ทำไมอันนี้มาไม่ยอมรับ ฉะนั้น ถึงว่าคำถามมันมาเยอะ อันนี้เพราะคำว่า “ปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้ แล้วจิตมันเป็น มันดีไปหมด” อันนี้เราสะดุ้งเลยล่ะ เราสะดุ้ง เห็นไหม

นี่เวลาพระที่ปฏิบัติเป็นนะเขาธัมมสากัจฉา ถ้าพูดผิดนะ มันเหมือนกับเข็มทิศ เข็มทิศทั้งหมดมันชี้ไปทางทิศเหนือ มีเข็มทิศอันหนึ่งชี้ไปทางทิศใต้ อืม.. ก็แปลกเนาะ แล้วบอกว่าเราเห็นเข็มทิศชี้ไปทางทิศใต้ เราบอกอันนี้ใช้ได้ อันนี้มาตรฐาน อืม.. ไอ้คนพูดก็แปลกอยู่ เข็มทิศทั้งหมดเขาชี้ไปทางทิศเหนือ มีเข็มทิศอันหนึ่งชี้ไปทางทิศใต้ แล้วเราก็รับประกันว่าเข็มทิศอันนี้มาตรฐานใช้ได้หมดเลย.. ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเคยถามมาเยอะมากแล้วเรายอมรับ นั่นเป็นคำถามที่เราคุยกันเป็นธรรมะ หนึ่งอันนี้คำถามเขาถามมานะ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ มาเรื่อยแหละ แล้วก็มา ๑ อีกแล้ว

ถาม : ในสภาวะนี้ดำเนินต่อไปให้เป็นวสีเป็นอัตโนมัติแล้วเจ้าค่ะ ในสภาวะนี้เปรียบว่าดำเนินไปได้เป็นปกติสบายได้หรือยังเจ้าคะ จิตไม่พัก ไม่หลับ ไม่นอน จะเซฟกายได้อย่างไรบ้างเจ้าคะ

หลวงพ่อ : นี่เพราะว่ามาอย่างนี้ปั๊บ อย่างที่ว่ามันเป็นหนังสือเราไม่ตอบ เพราะพอเวลามันมามากเข้าๆ มันก็จะไปเข้าถึงตำรา พอเข้าถึงตำรา.. นี่ปริยัติเขาเอาไว้อ้างอิง ปริยัติเขาเอาไว้อ้างอิง

คำว่าอ้างอิง นี่พุทธพจน์ๆ เป็นธรรมและวินัย ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้พวกเราก้าวเดิน เราจะต้องยึดธรรมและวินัยนี้เป็นแบบอย่างแน่นอน เป็นแบบอย่าง แต่ในการปฏิบัติ เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นมามันจะรู้จริงของมัน ฉะนั้น พอเราปฏิบัติแล้วนี่ เราพยายามอ้างอิงแต่ธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วตัวเราเอง ตัวความจริงเราเป็นอย่างใด?

เพราะความจริงเป็นอย่างใด? พอพูดไป พอเราอธิบายไป สิ่งที่มันเป็นความสัมพันธ์กันไป เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปมันจะชัดเจนของมัน แต่พอมันมีอะไรสะดุด มันทำให้คนแปลกใจ อย่างเช่นการสร้างบ้านสร้างเรือน เขาบอกเขาไม่ต้องปักเสาเลย เขาไม่ต้องปักเสาเลย เขาไม่มีเสาเลย เขาจะสร้างบ้านได้เสร็จมันก็แปลกนะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาจะสร้างบ้านสร้างเรือนเขาต้องมีเข็ม มีคานคอดิน เขาต้องมีเสา มีพื้น มีอะไรของเขาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันก็เป็นบ้านของเขา บ้านของเขานี่ข้อเท็จจริงที่มันเป็นเห็นได้

ฉะนั้น คำถามนี่นะ ถามไปถามมา.. เราจะบอกว่าปริยัติเขาเอาไว้ให้อ้างอิง แต่ความจริงของเราล่ะ? ความจริงของเรา นี้เขาบอกว่าเป็นสภาวะเป็นอย่างนั้น อืม.. ถ้าภาวนานะ ถ้าจิตมันสงบทบทวนใหม่ ทบทวนตัวจิตเรา ถ้าจิตสงบแล้วออกใช้ปัญญา ถ้ามันจะว่างๆ ว่างอย่างไร? ว่างอย่างไร? อืม..

เพราะว่าเขาเรียกร้องว่า “หลวงพ่อไปดูคำถามเก่าๆ สิ คำถามเก่าๆ ถามมาตั้งเยอะตั้งแยะเลย ทำไมหลวงพ่อเห็นว่าถูกหมดเลย พอมาคราวนี้หลวงพ่อบอกว่าปริยัติไม่ตอบ” (หัวเราะ)

มันก็เหมือนกับว่า คำถามนี่ถ้ามันเป็นเหตุเป็นผลก็ตอบ แต่เวลาอันใดที่มันจะเข้าด้ายเข้าเข็ม เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ! ปฏิบัติของหลวงตาท่านจะบอกว่า “มันต้องมีหนักมีเบา” เวลาเด็กมันเล่น จิตนี่เหมือนเด็กๆ ถ้าเราบังคับขู่เข็ญมันเกินไป เด็กมันอยู่ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เด็กอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าเด็กคนนั้นไปทำสิ่งใดจะเกิดเป็นความเสียหาย ทำให้เด็กคนนั้นเกิดอุบัติเหตุ เราถึงจะต้องคอยบอก

นี้ก็เหมือนกัน ในคำถามที่เราถามมา สิ่งใดถ้ามันเป็นประโยชน์เราก็ตอบ เราก็ตอบ ตอบมาเรื่อย แต่สิ่งใดถ้ามันเป็นโทษ เห็นไหม มันเป็นสิ่งที่จะทำให้เสียหาย บอกว่า “ปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้ แล้วจิตสงบ” อืม.. ก็เหมือนกับไม่ต้องทำอะไรเลย นอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาก็เป็นสมาธิ มันก็แปลกอยู่ อันนี้มันทำให้เสียหาย เราถึงบอกว่ามันเป็นหนังสือ อย่างนี้ไม่ตอบ

ถ้าเรารับประกันว่าปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้แล้วเป็นสมาธิได้ แล้วจะเป็นปัญญาได้ จะเกิดมรรค ผล นิพพาน.. นี่เพราะหลวงตาบอกว่า “จิตต้องมีคำบริกรรม” ถ้าไม่มีคำบริกรรมนะเดี๋ยวมันหายไป เดี๋ยวพอมันเสื่อมแล้วเอาคืนไม่ได้ แต่ถ้ามีพุทโธไว้ มีคำบริกรรมไว้ เกาะไว้ มีที่พึ่งที่อาศัยอยู่ จิตมันจะไม่เสียหาย

แล้วนี่บอกว่าปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้ ก็เหมือนหลวงตาบอกว่า “ต้องมีคำบริกรรม! จิตเราเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือนเพราะขาดคำบริกรรม เราถึงเข้ามาบริกรรมมันถึงดีขึ้น”

นี่พูดถึงว่าเวลาผู้ที่เขาปฏิบัติเขาจะเห็นโทษของมันไง ฉะนั้น พอโยมบอกว่าปล่อยตัวรู้ ปล่อยธาตุรู้ แล้วจิตมันเข้าความสงบเลย แล้วมันว่างหมดเลย.. แล้วตอนนี้บอกถ้ามันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความจริง แล้วโยมมั่นใจว่าโยมถูกต้อง โยมก็รักษาใจโยมไว้ แต่ของเรา เราก็ว่าของเราอย่างนี้

นี่ไง อริยสัจมีหนึ่งเดียว ความจริงต้องเป็นอันเดียวกัน แล้วให้เวลาพิสูจน์ว่าพระสงบนี่ตอบผิด พระสงบเป็นคนพาล ไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมรับ ก็ให้เห็นว่าพระสงบต่อไปข้างหน้าจิตต้องเสื่อมหมด พระสงบจะต้องกลับมาถามโยมให้โยมสอนแล้วกัน แต่ถ้าโยมมั่นใจตัวเองนะ โยมก็รักษาใจให้ดี แล้วออกใช้ปัญญาไป ถ้ามันเป็นอริยทรัพย์ อริยภูมิแล้ว วันหลังมาเยี่ยมมาเยียนกัน มาคุยกัน มันจะได้รู้ว่าใครจริงใครไม่จริงเนาะ

เขาโกรธมาก โอ๋ย.. หัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยล่ะ ก็หลวงพ่อตอบมาตั้งเยอะ รับรองมาตั้งเยอะ อันนี้หลวงพ่อบอกว่าไม่ได้ อู้ฮู.. หัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย อันนี้เป็นการรักษากันนะ หลวงตานี่ เวลาพระหลงทางแล้วมีอารมณ์รุนแรง ท่านจะบอกว่า

“อืม.. ให้ปฏิบัติให้ดีๆ นะ แล้วถ้ามันบรรลุมรรค ผล นิพพานแล้วกลับมาสอนผมด้วยนะ กลับมาสอนผมด้วย ถ้าผมผิดอย่างไรกลับมาสอนผมที”

นี่พอเวลาเขาหัวฟัดหัวเหวี่ยงไง อันนี้ถ้าหัวฟัดหัวเหวี่ยงก็ อืม.. พระสงบเป็นคนพาล เหตุผลไม่มี พูดอะไรก็เอาแต่เข้าข้างตัวเองเนาะ แล้วให้เวลามันพิสูจน์เนาะ เพราะตรงนี้ตรงที่ปล่อยธาตุรู้ ปล่อยตัวรู้ ปล่อยทุกอย่างเลยแล้วมันเป็นไป นี่มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ อันนั้นเราก็เลยพูดเตือนไว้นิดหนึ่ง แล้วพอเตือนไปแล้ว มันก็เหมือนกับว่ามันไปลบล้างคำที่เราเห็นด้วยมาตลอด ก็เลยโกรธใหญ่เลย

การโกรธเป็นกิเลสนะ (หัวเราะ) โกรธนั้นน่ะมันเป็นโทสะนะ ต้องฆ่ามันแล้วถึงจะเป็นปฏิบัติเนาะ เอวัง