เทศน์บนศาลา

คลื่นของวัฏฏะ

๗ ส.ค. ๒๕๕๔

 

คลื่นของวัฏฏะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เราเกิดมามีวาสนานะ เราเกิดมามีวาสนา เพราะเรามีชีวิตจิตใจ เราถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เวลาเกิดเป็นสัตว์เห็นไหม สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรกอเวจี เทวดา อินทร์ พรหม เขาก็เกิดเหมือนกัน แต่เวลาเขาเกิด ถ้าเขาอยากทำคุณงามความดีของเขา เขาก็ทำคุณงามความดีของเขาตามแบบพระโพธิสัตว์ เวลาพระโพธิสัตว์เกิดเป็นสัตว์นะ เป็นหัวหน้าสัตว์ เป็นผู้ดูแลหมู่คณะ ดูแลฝูง รักษาฝูงของตัวไว้เพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมี

อำนาจวาสนาบารมีคือการเสียสละ ให้ฝูงนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข รับผิดชอบนะ ผู้ที่อาศัยเห็นไหม อาศัยหัวหน้าที่ดี นั่นพระโพธิสัตว์เวลาเกิด “ผลของวัฏฏะ” คลื่นของวัฏฏะมันซัดไป มันซัดให้จิตใจไปเกิดตามสถานะต่างๆ แล้วแต่เวรแต่กรรม แต่เพราะเราทำคุณงามความดี เราถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ทำคุณงามความดีนะถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วเห็นไหม ได้เกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เรามีโอกาสของเรา เรามีหน้าที่การงาน เราเกิดมามีชีวิต หน้าที่เริ่มต้นเลยคือหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของตัว

การหายใจเข้าและหายใจออกเพื่อให้ดำรงชีวิตนี้ไว้ แล้วการทำมาหากินเพื่อดำรงชีวิตนี้ไว้ เราเป็นพระเป็นเจ้าเพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงบวชเป็นพระเป็นเจ้า การบวชเป็นพระนะ เวลาเราบวชขึ้นมาแล้ว จิตใจที่มั่นคง จิตใจที่มีหลักมีเกณฑ์ อยากจะพ้นจากทุกข์ เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนอยากพ้นจากทุกข์ ทุกคนอยากพ้นจากวัฏสงสาร เห็นไหมคลื่นของวัฏฏะมันซัดมานะ ซัดให้จิตใจนี้เกิดในวัฏฏะ

เวลาเกิด เกิดในที่สูงๆ ต่ำๆ เวลาเกิดเป็นเทวดานะ เทวดาด้วยกันก็ยังมีฤทธิ์มีเดชมีอำนาจวาสนาแตกต่างกันไป เกิดในสถานะเดียวกันก็มีสูงมีต่ำ ทุกๆ มิติของการเกิดในวัฏฏะ มีสูงมีต่ำเพราะเหตุใดล่ะ มีสูงมีต่ำเพราะการกระทำของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน

การกระทำของมนุษย์เห็นไหม เรามีโอกาสทำเหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาของคน มุมมอง ทิฐิมานะ ความเป็นไปของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน ทำคุณงามความดีก็เหมือนกัน เวลาทำคุณงามความดีของแต่ละบุคคล คุณค่าของมันไม่เท่ากัน ผลของวัฏฏะเห็นไหม คลื่นของมันซัดเราไป เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ ดูสิเวลาเรืออยู่ในคลอง เรือใหญ่คลื่นก็ใหญ่กว่า เวลามันแล่นผ่านมา เราเรือเล็กเห็นไหมแทบจะคว่ำลงแม่น้ำ ยิ่งถ้าออกไปปากน้ำ การจราจรทางน้ำที่เขาคับคั่ง เรือใหญ่เขามีคลื่นมากกว่า เขากีดขวางทางน้ำได้มากกว่า นั้นผลของคลื่นที่มันกระทบกระเทือนกัน

จิตใจที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาตั้งแต่ในแวดวงตระกูลของเรา ในการต่างๆ มันมีการกระทบกระเทือนกันมา มีการกระทบกระเทือนเห็นไหม คลื่นของวัฏฏะ มีเหตุมีผลไปตลอด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระราชวัง มีแต่ความสงสัยไปหมด เวลาไปเที่ยวสวนนะ เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เวลาราหุลเกิดแล้ว จิตใจพะว้าพะวงไปหมด ดูสิคลื่นมันซัดในหัวใจ มันซัดให้หัวใจเร่าร้อนไปหมด ทั้งๆ ที่จะออกบวชนะ ทั้งๆ ที่เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย บารมีเต็มเห็นไหม “เราจะเป็นอย่างนั้นหรือ เราจะไม่เป็นแบบนั้น” ถ้าเราจะไม่เป็นแบบนั้นเราจะทำอย่างไร ไม่เป็นแบบนั้นนะ ในเมื่อมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องมีฝั่งตรงข้ามว่า ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ถ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย จะแสวงหาที่ไหนล่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ ในลัทธิศาสนาต่างๆ มีลัทธิบางลัทธิที่เขาระลึกอดีตชาติได้ เขารู้ของเขาได้ คลื่นของวัฏฏะเขารู้ของเขา เกิดจากไหน เกิดมาอย่างไร อดีตชาติเขาเข้าใจได้ แต่เขาแก้ไม่ได้... เขาแก้ไม่ได้..

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเห็นไหม เวลาจะเริ่มตรัสรู้ เวลาจะเริ่มกำหนดอานาปานสติ จิตมันย้อนไป เวลาจิตมันสงบเข้ามา ข้อมูลมันมีขึ้นมา มันรู้ขึ้นมา บุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกอดีตชาติได้ไม่มีต้นไม่มีปลาย ตามไปๆ ตามไปก็รู้ไป มันไม่มีจบเห็นไหม

ถ้ายังไม่มีมรรคญาณ ยังไม่มีอริยสัจ สิ่งนี้รู้ แต่ไม่มีทางแก้ไขได้ เวลาเราดึงกลับมาเห็นไหม เพราะอันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่หมายความว่า ถ้าจิตนี้ยังย้อนอดีตชาติไป แล้วสิ่งที่มีในอดีตชาติ มันมีรสมีชาตินะ แต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าชาติที่สูงขึ้นมา เราก็มีความภูมิใจ ถ้าชาติที่ต่ำต้อยระลึกขึ้นมาเราก็คอตกเห็นไหม จิตใจเรามันคอตก นี่ไงคลื่นของกิเลสมันซัดสาดหัวใจ ทั้งๆ ที่การกระทำอยู่นั้น เวลาเราย้อนกลับมาเห็นไหม ดูสิ จุตูปปาตญาณ ถ้าไม่มีที่สิ้นสุดมันจะไปเกิดอย่างนั้นๆๆ มันเป็นไปของมันเห็นไหม

อดีต อนาคต เวลามันกำหนดพิจารณา เวลาเข้าสู่วิชา เข้าสู่มรรค แล้วเข้าสู่มรรค มรรคญาณที่เกิดขึ้น ถ้ามรรคญาณที่เกิดขึ้น เวลาชำระกิเลสออกไป สิ่งนี้ไงเวลาชำระ คลื่นมันจะซัดใส่อะไรล่ะ คลื่นมันจะซัดใส่อะไรอีก ในเมื่อทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายหัวใจทั้งหมด ทำลายสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ปฏิสนธิจิต จิตที่เกิดที่ตาย จิตที่มันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ มันโดนคลื่นซัดมัน ทำลายมัน ทำแล้วทำเล่า แต่จิตนี้มันก็ยังคงทนถาวรของมันเห็นไหม

ตกนรกอเวจีขนาดไหน หมดเวรหมดกรรมมันก็ขึ้นมาๆ ขึ้นมาจนมาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าสร้างคุณงามความดีมันก็เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม มันก็เวียนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ขึ้นมา ใครจะแก้ไขมัน ใครจะแก้ไขหัวใจดวงนี้ ถ้าหัวใจดวงนี้เห็นไหม เวียนตายเวียนเกิดอยู่ แล้วปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มันก็ซัดเรามา กิเลสมันซัดพาเรามา ซัดพาเรามาให้เรามาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วในปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วมันทุกข์ยากขนาดไหนล่ะ มันซัดสาดในหัวใจของเราเห็นไหม

สิ่งใดที่ปรารถนา สิ่งใดที่อยากให้เป็นสมบัติพัสถานของเรา มันอยู่กับเรานานไหมล่ะ ยิ่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดกับสิ่งที่มันเป็นความทุกข์ยากที่มันพัดกระหน่ำหัวใจมันทุกข์ยากขนาดไหน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วนะ เข้าใจสภาวะแบบนี้ทั้งหมดเลยเห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ สิ่งที่มันซัดมันกระหน่ำมา สิ่งที่สร้างคุณงามความดีมา ทั้งที่สร้างคุณงามความดีเห็นไหม ก็ต้องมีการสร้างมีการกระทำขึ้นมา แล้วมันจะพัฒนาเห็นไหม พันธุกรรมของจิตมันตัดแต่งของมันขึ้นมา มันได้พัฒนาของมันขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาเรื่อย คนก็ทำแต่คุณงามความดี มีหลักมีเกณฑ์ มีความมั่นคงมาเรื่อย จนมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก่อนสมัยพุทธกาล เจ้าลัทธินักบวชต่างๆ เขาก็ระลึกอดีตชาติของเขาได้ แต่เขาชำระกิเลสของเขาไม่ได้ เหมือนกับโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่มียารักษา นี่ไง แต่ในปัจจุบันนี้อริยสัจมันเป็นยา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ผู้ใดมีธรรมาวุธ “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” ถ้ามันทำลายของมันได้ ทั้งๆ ที่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ในปัจจุบันนี้คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาย้อนของเขา เขาระลึกอดีตของเขา เขามีอยู่ ถ้ามีอยู่แล้วเขาทำอย่างไรต่อไปล่ะ เขาทำอย่างไรต่อไป

ก่อนสมัยพุทธกาลก็มีคนที่มีอำนาจวาสนาสามารถรู้ได้ รู้ได้แล้วได้ประโยชน์สิ่งใดขึ้นมา ในปัจจุบันนี้ในการกระทำของเรานักบวชเรา สิ่งที่ย้อนได้ก็มี สิ่งที่มีแล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ถ้าไม่มีการกระทำให้มันมีความจริงจังของเราขึ้นมา ถ้ามีความจริงจังของเราขึ้นมาเห็นไหม เวลาคลื่นกิเลสมันซัดใส่เรานะ มันทุกข์มันยากมาก มันทุกข์มันยาก ดูสิเวลาคนเราเห็นไหม นี่พูดถึงชาวพุทธเรา แล้วที่ไม่สนใจการประพฤติปฏิบัติ แล้วยังย่ำยีด้วยนะ ย่ำยีว่า คนที่เข้าวัดเข้าวา คนที่ประพฤติปฏิบัตินั้นคนที่ไม่มีทางไป มันยังคิดย่ำยีเขานะ

เห็นคลื่นที่มันซัดเข้าฝั่งไหม “คลื่นกระทบฝั่ง” คลื่นกระทบฝั่งมันยังเป็นประโยชน์กับสัตว์น้ำ มันเป็นประโยชน์กับการที่มันมีออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น คลื่นกระทบฝั่งมันยังมีค่ากับหัวใจของเรา ที่เกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วไม่สนใจในพุทธศาสนา ไม่สนใจไง คลื่นกระทบฝั่งนะ เหมือนน้ำที่กระทบไปแล้วมันก็เป็นฟองเป็นอะไรต่างๆ มันไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับใครเลย

ชีวิตของเรานะ ถ้ามันไม่สนใจนะ เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” เราจะต้องถึงที่สุดแห่งชีวิตนี้แน่นอน แล้วชีวิตนี้เห็นไหม สร้างคุณงามความดี บาปและกุศลนั้นจะติดกับดวงใจนั้นไป จิตใจเห็นไหม ทำดีทำชั่ว เป็นผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิด จิตใจถ้าไม่มีความนึกคิดถึงความดีความชั่ว มันจะทำสิ่งนั้นมาได้อย่างไร แต่ถ้าจิตใจมันมีกิเลสนะ คิดชั่วมันก็ว่าดี คิดดีมันว่าชั่ว คิดทำคุณงามความดีมันหาว่าเป็นการเสียเปรียบ เป็นสิ่งที่ว่าเราขาดทุนสูญเปล่า แต่ถ้าคิดชั่วมันทำลายเพื่อเป็นบาปอกุศลมัน มันว่ามันทำความดีเห็นไหม

การคิดดีและคิดชั่วตามสัจธรรม มันก็เป็นความจริงของมันอันหนึ่ง แต่มันก็จะไม่ได้ผลประโยชน์กับหัวใจที่ไม่ได้มีการกระทำขึ้นมา แต่ถ้ามันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนั้น มันก็จะทำลายหัวใจนั้น ทำลายโอกาสของใจดวงนั้นเห็นไหม เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากพาคิดเห็นไหม ชีวิตของเราถ้าไม่สนใจมันเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง คลื่นที่ไม่มีประโยชน์สิ่งใดๆ เลย แต่ถ้ามันมีความสนใจขึ้นมานะ ดูสิคนเราเห็นไหม

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด คนเราถ้าประมาทกับชีวิตนะ ใช้ชีวิตไปวันหนึ่งๆ ผัดวันประกันพรุ่งนะ ดูสิเราเป็นชาวพุทธเห็นไหม เห็นเขาบวชเขาเรียนกัน ปีหน้าก็จะบวช ปีนั้นก็จะบวช ชาติหน้าก็จะบวช มันคิดของมันไปเรื่อย มันผลัดของมันไปเรื่อย แล้วคนนั้นก็ไม่ได้บวช แต่ถ้าคนไหนจะบวชนะ เราคิดว่าจะบวช บวชเลย! มันจะมีอุปสรรคขัดข้องขนาดไหนเราก็จะบวชก็จะทำ ถ้าทำไปแล้วนะ ถ้าบวชขึ้นมา แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราก็ต้องตั้งใจของเรา มีความตั้งใจของเรา ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทำไมท่านรู้ของท่านได้

การประพฤติปฏิบัติมันจะลอยจากฟ้ามาจากไหนล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี ไปเที่ยวศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ แล้วก็มารื้อค้นของเรา แล้วก็มาความคิดโดยกิเลส ความคิดโดยสามัญสำนึกเห็นไหม “สรรพสิ่งเป็นเรา ถ้าเป็นเราแล้วก็ต้องอดอาหาร อดนอนผ่อนอาหารทำลายอวิชชา ทำลายให้มันเข้าใจให้ได้ กิเลสมันอยู่กับชีวะอยู่กับชีวิตนี้” ก็อดกลั้นลมหายใจจนสลบไปถึง ๓ หน

ถ้าจิตใจยังไม่ได้ภาวนา ยังไม่ได้มีการกระทำ ก็คิดอยู่อย่างนั้นเห็นไหม การกระทำเหมือนกันนะ พระอรหันต์ทำกับเราปุถุชนทำเหมือนกัน แต่พระอรหันต์ทำนะ ไม่มีบาปมีกรรมนะ แต่เราปุถุชนทำสิ่งใดไปสร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้น ปัญญาของคนถ้ามันพัฒนาแล้วนะ มันพัฒนาขึ้นไป ทำสิ่งใดมันจะทำแต่สิ่งที่เป็นคุณงามความดี สิ่งที่ดีกว่ามัน นี่พูดถึงไง การปฏิบัติเหมือนกัน จิตใจมันพัฒนา ทำเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน คนเราเห็นคนไปวัดไปวา จิตใจกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็ติเตียนเขา มันก็ทำลายเขา แล้วเวลาเราทำสิ่งใดของเราขึ้นมา เราก็ยกย่องแล้ว ทำเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะอะไร เพราะคลื่นกิเลสมันซัดใส่หัวใจนั้นตลอด! คลื่นกิเลสมันซัดใส่เรามา เราจะยับยั้งคลื่นนี้อย่างไร เห็นไหมดูสิคลื่นของวัฏฏะมันพัดเรามา มันทำเรามาให้เราทุกข์เรายากนะ

เราทุกข์เรายากเพราะผลของวัฏฏะ แต่เพราะเราเกิดในพุทธศาสนาความทุกข์ความยากในการประพฤติปฏิบัติ เราจะพอใจทำ เราพอใจทำนะ บวชมาเป็นพระเห็นไหม คนบวชมาในสังคมโลก ผู้ที่บวชนี่ไม่สู้สังคม ไม่กล้าสู้สังคม แต่เขาไม่เข้าใจหรอกว่าเวลาพระบวชมาแล้ว ครูบาอาจารย์ของเรา คนนะ ถ้าเป็นคนดี คนที่มีปัญญา คนที่มีอำนาจวาสนาบารมี เป็นฆราวาสไม่บวชพระนะ เขาจะทำสิ่งใดด้วยความจริงจังของเขา ทำด้วยสติปัญญาของเขา เขาจะประสบความสำเร็จของเขานะ คนจริงถ้าอยู่ทางโลกเขาก็ประสบความสำเร็จ

บวชแล้วเป็นพระนะ ถ้าจริงจังกับตัวเองนะ จริงจังในการปฏิบัติ เขาก็จะประสบความสำเร็จ คนจริงจะอยู่ในเพศใด คนนั้นเป็นคนจริง คนจริงคนกระทำความจริง อยู่ในเพศใดคนนั้นชีวิตของเขาก็ไม่ทุกข์ยากจนเกินไป ฉะนั้นเวลาเขาบวชพระขึ้นมา เขาไม่ใช่ว่าสิ้นไร้ไม้ตอกหรอก เขาเห็นคุณประโยชน์ เขาเห็นว่าถ้าเราไม่บวช “ทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ ทางของพระเป็นทางที่กว้างขวาง” ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย ในพระไตรปิฎก ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม บัญญัติวินัยข้อนี้เพราะเพื่อข่มขี่ไอ้คนหน้าด้าน ไอ้คนที่เห็นแก่ตัว ไอ้คนที่ทำลายคนอื่นข่มขี่คนคนนั้น ส่งเสริมให้คนหน้าบาง คนที่เป็นสุภาพบุรุษเขาจะได้ประพฤติปฏิบัติด้วยความสุขสะดวกสบายของเขา

ถึงที่สุดแล้ว ธรรมวินัยนี้บัญญัติขึ้นมาให้คนที่ปฏิบัติ ให้คนที่ศรัทธาเขาศรัทธาแล้วมากขึ้น ให้คนที่ไม่ศรัทธาเขามาศรัทธาในพุทธศาสนา แล้วปฏิบัติขึ้นมา เวลาถึงข้อสุดท้าย ทางของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ทางของนักบวชเป็นทางที่กว้างขวาง ทางของฆราวาสเป็นทางที่คับแคบ เราจะเข้าใจได้อย่างไรว่าทางที่คับแคบ คับแคบเพราะอะไร คับแคบเพราะเราจะต้องทำหน้าที่การงานของเรา แล้วเราจะต้องประพฤติปฏิบัติไปด้วยเพราะเราอยากจะพ้นทุกข์ไปด้วย มันก็ต้องแบกรับภาระเป็นภาระรุงรังมาก

แต่ถ้าเรามั่นใจเรานะ เราบวชเป็นพระ แล้วเราจะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าเราเจอผู้นำที่ดี เราเจอครูบาอาจารย์ที่ดีนะ หน้าที่ของพระเวลาบวช อุปัชฌาย์เห็นไหม ให้อยู่รุกขมูล นิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ สิ่งที่ทำได้ ๔ อย่าง สิ่งที่ทำไม่ได้ ๔ อย่าง ทำได้ ๔ อย่างเห็นไหม บิณฑบาตเป็นวัตร สิ่งที่บิณฑบาตเลี้ยงชีพ อาศัยอยู่โคนต้นไม้ อาศัยอยู่ที่เรือนว่าง ฉันยาดองมูกเน่าเอาไว้รักษาเรา ใช้บริขาร ๘ ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร นี่กิจของสงฆ์ ๔ อย่าง

“เธอบวชแล้วนะ จงประพฤติปฏิบัตินะ จงอยู่ป่าอยู่เขาเพื่อพ้นที่สุดแห่งทุกข์นะ ถ้าเราทำของเรา อุปัชฌาย์ก็สั่งมาแล้ว อุปัชฌาย์ก็บอกแล้ว เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ให้พิจารณาของเรา พิจารณากาย เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เห็นไหม แต่เรามีครูบาอาจารย์ท่านบอกให้เราทำความสงบของใจ เราก็ พุทโธๆ ทำความสงบของใจ อุปัชฌาย์ท่านให้กรรมฐานมาแล้ว เวลาเราเจอครูบาอาจารย์ที่ดี ท่านจะให้เวลาเรา จะให้เวลาเห็นไหม ๒๔ ชั่วโมง นี่ทางที่กว้างขวาง

ทางที่กว้างขวางเพราะเรามีเวลาประพฤติปฏิบัติตลอดเวลา ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นกรรมฐานนะ ท่านจะเห็นเวลานี่มีค่าที่สุด เวลาทุกวินาทีมันขยับไปแล้วมันไม่กลับมานะ เวลาคนเรานะ สิ้นอายุขัยแล้วนะ ได้แต่นั่งพิรี้พิไรร้องไห้รำพันถึงกัน ร้องไห้ขนาดไหนมันก็ฟื้นมาไม่ได้หรอก เวลาที่มันล่วงไป แล้วเวลาของเราเห็นไหม เวลาชีวิตของเราถ้ามันล่วงไปแล้วนะ ถ้าวันไหนชีวิตนี้หมดอายุขัยไป ใครจะร้องไห้ ใครจะคร่ำครวญขนาดไหน ใครจะเห็นใจขนาดไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้วล่ะ จิตนั้นต้องไปตามเวรตามกรรมนั้นแล้ว

แต่ในปัจจุบันนี้เรายังมีชีวิตอยู่เห็นไหม แล้วเรามีครูบาอาจารย์ชักนำเห็นไหม เวลามีค่ามาก ถ้าเวลามีค่ามากนะ เราจะต้องบริหารเวลาของเรา เราจะแบ่งเวลาของเรา ฉันข้าวแล้วเราทำสิ่งใด เราภาวนาอย่างไร จะพักแค่ไหน จะทำข้อวัตรอย่างไร เราจะต้องบริหารเวลาของเราส่วนบุคคล ให้เข้ากับเวลาสาธารณะ เวลาข้อปฏิบัติในวัดนั้น นี่ทางกว้างขวาง ถ้าทางกว้างขวางเราต้องบริหารของเรา เราต้องทำตามความจริงของเรา ทีแรกเขาเป็นทางคับแคบเพราะเขาเห็นภัยในวัฏสงสาร เขาถึงบวชมา บวชแล้วให้เจอครูบาอาจารย์ที่ดี บวชแล้วให้เจอหมู่คณะที่ดี

หมู่คณะที่ดี “สัปปายะ ๔” หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ สัปปายะนะเราปฏิบัติขึ้นมาแล้วเราจะรู้ได้ เราปฏิบัติไปแล้วครูบาอาจารย์ชี้นำเราได้ ถ้าชี้นำเราได้ เราทำสิ่งใดขึ้นมา เราแก้ไขของเรา ทำเพื่อเรา นี่ไงเวลามันเกิดธรรมขึ้นมา “ศีล สมาธิ ปัญญา” เวลาคลื่นมันกระทบมานะ มันสร้างแต่ความเศร้าหมอง สร้างแต่ความกระทบกระเทือน สร้างแต่ความทุกข์ยากให้เรา เวลาคลื่นของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็ซัดเรามาให้เกิดเป็นมนุษย์ พอมาเกิดเป็นมนุษย์นะ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะสร้างธรรมจักร

จักรเห็นไหม ธรรมจักรเข้าไปทำลาย ทำลายสิ่งที่เป็นคลื่นซัดมา คลื่นมันซัดมานะ ถ้าเราซัดเรามา เราเห็นโทษในวัฏสงสาร เราบวชเป็นพระเป็นเจ้า แม้แต่เราไม่บวช เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็มีหลักมีเกณฑ์ของเรา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เวลาทำความสงบของใจขึ้นมา ใจของเรามันจะไปชำระล้าง มันจะไปทำลายภวาสวะ ตัวภพ ตัวชาติ ถ้าตัวภพตัวชาติถ้ามันสงบเข้ามานะ มันสงบเข้าไปสู่จิต ถ้ามันไม่สงบเข้ามา มันไม่เห็นจิตของมัน มันเห็นแต่อารมณ์ความรู้สึก

เวลาเรามีเรือลำหนึ่ง คนเกิดมามีเรือมาคนละลำ ร่างกายนี้เปรียบเหมือนเรือลำหนึ่ง แล้วเราจะพาเรือลำนี้ข้ามพ้นวัฏฏะ เราอยู่กลางทะเล เวลาเรือแตกขึ้นมา เขาเกาะขอนไม้แผ่นเดียว เขาก็พยายามจะดำรงชีวิตของเขาไว้ เราเกิดมาเราได้สถานะของมนุษย์มาเราได้ร่างกายนี้มา ถ้าได้ร่างกายนี้มา เราพาร่างกายนี้ทำมาหากิน เราพาร่างกายนี้ บริหารจัดการร่างกายนี้เพื่อผลประโยชน์ของเรา แต่เราไม่เอาร่างกายนี้เรือลำนี้ ให้จิตใจมันได้พิจารณาของมัน ให้จิตใจนี้เห็นว่าร่างกายนี้ ที่ได้สถานะของมนุษย์มา แล้วจิตใจอยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายนี้เปรียบเหมือนเรือ แล้วจิตใจที่อยู่ในเรือ มันจะเอาเรือของเราเข้าสู่ฝั่งได้ไหม

ถ้าเข้าสู่ฝั่งได้นะ เท้าแตะพื้นได้ คือโสดาบัน แล้วถ้าเราขึ้นฝั่งได้จนถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ เราเข้าสู่ธรรม เข้าสู่ธรรมทั้งหมด ฉะนั้นจิตใจของเรา เราจะต้องพิจารณา ถ้าจิตใจเราพิจารณานะ เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในชีวิต ถ้าเห็นภัยในชีวิตนะ เราจะไม่ประมาทกับชีวิต แต่ถ้าเราไม่เห็นภัยในชีวิต เราจะประมาทกับชีวิต แล้วใช้ชีวิตนี้ไปเห็นไหม คลื่นของวัฏฏะ ตายแล้วมันก็จะซัดไปอีกนะ มันจะซัดไปเกิดอีก เกิดภพเกิดชาติ เกิดในชาติใดก็แล้วแต่ ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง

ถ้าเกิดในชาติปัจจุบันนี้นะ เราอุตส่าห์ขวนขวายกันเห็นไหม เราขวนขวายกันมาเพื่อฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเตือนสติ เตือนสติว่า “ชีวิตนี้เราจะปล่อยไปอย่างนี้อีกหรือ?” หน้าที่การงานก็เป็นหน้าที่การงาน แต่ถ้าเรามีทางประพฤติปฏิบัติได้ เราบอกว่าเราไม่มีเวลา หลวงปู่ฝั่นบอกว่า “หายใจทิ้งเปล่าๆ” ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ถ้าเราทำงานของเรา ทำงานหน้าที่การงานก็แล้วแต่ ถ้ามีสติ ลมหายใจเข้า จิตรับรู้จิตอยู่กับเรา ลมหายใจออกจิตรับรู้จิตอยู่กับเรา อานาปานสติ จิตเกาะสิ่งใดไว้ จิตจะไม่เที่ยวเร่ร่อนไป

แต่ถ้าเป็นคลื่นของกิเลส มันคิดร้อยแปดพันเก้า เวลามันคิดน่ะเราคิด พอเราคิดขึ้นมา เราเลือดจะสูบฉีดแรงมาก คิดสิ่งใดแล้วมีแต่ความวิตกกังวลไปหมดเลย ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด มันไปร้อยแปดเห็นไหม หน้าที่การงานเราก็ทำ ถ้ามีเวลาว่าง เราจะกำหนดพุทโธทันที กำหนดอานาปานสติทันที จิตใจเราจะเป็นเอกเทศทันที มันไม่เป็นขี้ข้าของคลื่นกิเลสที่มันซัดไปเห็นไหม

กำหนดลมหายใจ แล้วถ้ากำหนดได้ กำหนดลมหายใจได้ เรากำหนดพุทโธได้นะ เวลาจิตมันสงบเข้ามา มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราจะเห็นคุณค่าชีวิตทันที เราจะมีความสุขของเรานะ ความสุขถ้าเราประสบความสำเร็จ เราได้สิ่งใด เวลาได้ลาภ ถูกหวยถูกรางวัลได้ล้านสองล้าน โอ้โห มีความสุขมาก มีความพอใจใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเดี๋ยวก็หมดแล้ว ยิ่งถูกรางวัลขึ้นมานะ เพื่อฝูงมา พาเลี้ยงสองทีก็จบแล้ว ความสุขอย่างนั้นเห็นไหม ความสุขอย่างนั้นได้ลาภสิ่งใดมาก็แล้วแต่เราก็ต้องบริหารมัน

แต่ถ้าจิตมันสงบสิ เวลาเราพุทโธ หรืออานาปานสติ เวลาจิตมันสงบขึ้นมานะ พอจิตสงบแล้ว จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นความรู้สึกนึกคิดนะ เวลาเมื่อก่อนนะ ถ้าเรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ฟังครูบาอาจารย์พูดแล้วงงนะ อะไรเป็นเรา อะไรไม่เป็นเรา โอ้โห มันสับสนไปหมดเลย ฟังแล้วก็งง ฟังแล้วงงมาก เหมือนคนทำงานไม่เป็น คนทำงานไม่เป็นเห็นหัวหน้าทำงานเป็นสั่งงานนะ ไอ้คนสั่งงาน ยิ่งสั่งมันก็ยิ่งโมโหนะ ก็ของมันเล็กน้อยทำแค่นี้ก็จบแล้ว ไอ้คนทำงานไม่เป็นนะ เหลียวซ้ายแลขวา หันหน้าหันหลัง หันรีหันขวาง ทำอะไรไม่ถูกซักอย่าง

จิตใจ... เวลาฟังธรรมไม่รู้จักธรรม เวลาปฏิบัติจะไม่มีเหตุมีผล เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ จิตสงบแล้วจะมีความสุข จิตสงบแล้วจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันก็งงไปหมด หันรีหันขวางไปเลยนะ แล้วไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจแล้วนะ ตั้งสติแล้วพยายามทำของเรา... ตั้งสติแล้วพยายามทำของเรา... สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง มันจะเกิดกับเรา ฟังเท่าไรก็ไม่รู้ พยายามคิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด พยายามทำให้เหมือนขนาดไหนมันก็ไม่รู้ เพรามันเป็นสอง อารมณ์ความรู้สึกกับพลังงาน

เรามีพลังงานอยู่ คือตัวจิต ภวาสวะตัวภพ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” โดยพลังงานคือตัวที่มันผ่องใส แต่โดยสัญชาตญาณ มันหมองไปด้วยอุปกิเลส ไม่ใช่กิเลสนะ อุปกิเลสคือจิตที่ละเอียดกว่า “อุปกิเลส ๑๖” ความผ่องใส โอภาส ความว่างเห็นไหม ความว่างมันเป็นอุปกิเลสไง ว่างๆ ที่เป็นมิจฉาทิฐินั่นน่ะ ว่างที่เป็นมิจฉาสมาธิน่ะ ว่างอย่างนั้นเห็นไหม ถ้าว่างจริง “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ว่างจริงมันเข้าสู่ความผ่องใส ความสงบระงับ แต่ถ้ามันว่างไม่จริมันอุปกิเลส ๑๖ เห็นไหม

ถ้ามันมีอุปกิเลส ๑๖ เวลามันคิด มันฟุ้งมันซ่านขึ้นไป นี่กิเลสทั้งนั้น แต่กิเลสอย่างละเอียด ถ้ากิเลสอย่างหยาบๆ ก็โทสะ โมหะ นี่กิเลสอย่างหยาบๆ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอมันว่างๆ ว่างๆ มันเป็นอุปกิเลส “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” ฉะนั้นจิตเดิมแท้มันหมองอยู่แล้ว ฉะนั้นเราพุทโธๆ ให้มันแยกจากกัน ถ้ามันเป็นความจริง พอมันแยกจากกัน แล้วเราตั้งสติ แยกจากกันเห็นไหม ฝึกฝน ต้องฝึกฝน ถ้าไม่ฝึกฝนนะ คลื่นของกิเลสมันซัดคนเกิดคนตายในผลของวัฏฏะมันมาตลอด

นักบวชก่อนสมัยพุทธกาล เขาก็รู้ของเขา เราระลึกอดีตชาติของเขา เขาทำของเขาเห็นไหม แต่เพราะเขาไม่มีความสงบมา แล้วเขาไม่มีจิตสงบเข้ามาแล้ว เขาทำความสงบของเขา แต่สงบแบบฤๅษีชีไพร มันเป็นฌานโลกีย์ มันก็รู้ของมันตามประสามัน แต่เพราะเรามีธรรม เราเกิดมาเป็นชาวพุทธพบพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงอริยสัจ สอนถึงสัจจะความจริง “ทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์ ทุกดับ วิธีการดับทุกข์” เห็นไหม

แล้ววิธีการดับทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน “ศีล สมาธิ ปัญญา” ฉะนั้นเวลาเราทำความสงบของใจเข้ามา จากอารมณ์สองนะ อารมณ์สองหมายถึงว่า สิ่งที่มันเป็นของคู่ พลังงานตัวจิตนี้ที่มันเป็นพลังงาน “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันหมองด้วยอุปกิเลส” มันเป็นสองอย่าง ของคู่ มืดคู่กับสว่าง สุขคู่กับทุกข์ ถ้าจิตเดิมแท้ผ่องใสเห็นไหม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” “ความสุขเท่ากับจิตสงบไม่มี” เห็นไหมนี่สุข เวลามันทุกข์ล่ะ มันสงสัย อุปกิเลสมันสงสัย มันอยากรู้อยากเห็นอยากเป็น นี่ฟังเท่าไรก็ไม่รู้ อยากจะรู้ อยากจะเป็นธรรมเห็นไหม สุขกับทุกข์มันคลุกเคล้ากันอยู่ ถ้าสุขกับทุกข์มันคลุกเคล้ากันอยู่ เวลาเราพุทโธหรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้อานาปานสติมันก็ลังเลสงสัย มันก็นิวรณ์ มันคลุกเคล้ากันเห็นไหม มันเป็นสอง แล้วตั้งสติให้ดี ตั้งสติ วางให้หมด สลัดทิ้งเลย

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดถึง เราก็ไม่เข้าใจ เราก็หันรีหันขวาง แล้วเราก็อยากจะได้ จับพลัดจับพลูเหมือนคนบ้า! เห็นคนบ้าอยู่ตามสี่แยกไหม มันมีย่ามใบหนึ่ง มันก็เอาใส่เข้าใส่ออก เอาเข้าย่ามเอาออกจากย่าม นับแล้วนับอีก นี่ก็เหมือนกัน อยากจะสงบ อยากจะมีปัญญา เหมือนคนบ้า! จับยัดเข้ายัดออกอยู่นั่นน่ะ วางให้หมด สลัดทิ้งให้หมด ไม่ใช่คนบ้า! เรามีสติ เราเป็นคนดี ถึงจะเป็นย่าม จะเป็นของที่คนบ้ามันเก็บ มันเก็บเพราะมันไม่รู้

แต่เวลาเราเก็บอารมณ์ เก็บความสงสัย เก็บทุกอย่างที่มันอยากให้ได้อยากให้เป็น เหมือนคนบ้า! วางให้หมด เวลาคนบ้ามันวาง มันวางไม่ได้ เพราะเขาไม่มีสติพอ มันเป็นเหตุสุดวิสัยนะ เขามีจิตเหมือนเรานี่แหละ แต่เขาขาดสติไป เขาขาดสติจนไม่มีความรู้สึกนึกคิด จะทำสิ่งใดก็ทำแต่ตามความพอใจ แต่เราเป็นคนมีสติ เราไม่ใช่คนบ้า เราวางให้หมด คนบ้ามันหยิบเก็บสิ่งใด มันเป็นของที่ไม่มีค่า แต่เรามีสติเห็นไหม เราไปหยิบเก็บเพราะเราคิดว่ามันมีค่าไง

อยากจะเป็นสมาธิ อยากจะมีสติ อยากจะมีปัญญา มันก็ไปหยิบเก็บมา เหมือนคนบ้าเอามาใส่ย่าม ฉะนั้นวาง มันต้องเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ถ้ามันเกิดขึ้นตามความเป็นจริงเห็นไหม จิตมันเป็นอารมณ์สอง มันยังคลุกเคล้ากันอยู่ เราก็ตั้งสติไว้ อานาปานสติกำหนดลมหายใจ ชัดๆ ชัดๆ ให้ชัดๆ ไว้ เกาะไว้ วางให้หมด แล้วให้มันเป็นจริง ถ้าพุทโธก็พุทโธให้ชัดๆ

ตามหลักกรรมฐานต้องตั้งสติ “งานใดก็แล้วแต่สติเป็นพื้นฐาน” งานทุกอย่างต้องมีสติ ถ้าขาดสตินะ งานนั้นจะล้มเหลว เราก็ตั้งสติ ทีนี้เราตั้งสติระลึกพุทโธมันก็เป็นการตั้งสติ คำว่าสติชัดๆ พุทโธชัดๆ ลมชัดๆ ทุกอย่างชัดๆ สติมันพร้อมมันก็ถือว่าชัด เพราะเราได้ศึกษาปริยัติมาแล้วว่า อานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าออกก็อยู่กับลม ถ้าชัดๆปั๊บก็สมบูรณ์ใช่ไหม เพราะเราได้ศึกษามาแล้ว ถ้าเราพุทโธชัดๆ เราพุทธานุสติ เราก็กำหนดพุทโธๆ ให้ชัดๆ ไว้ ชัดๆ แล้วเดี๋ยวมันก็จางลง เราก็พยายามตั้งสติของเราให้มันชัดเจนไว้ ถ้ามันเกาะเข้ามา.. เกาะเข้ามา.. มันสลัดเข้ามาเรื่อยๆ นะ ละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ นะ

ถ้าละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ เห็นไหม มันวางทุกสิ่งไว้ เวลาเป็นจริงขึ้นมานะ มันเป็นจริง จิตมันเป็นจริงๆ ตำรา สติเขาบอกว่า ระลึกรู้ เวลาตำราบอกสมาธิ สมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิ แต่ถ้ามันชัดๆ ขึ้นมา ชัดๆ คือเหตุให้เกิดธรรม จิตมันเกาะพุทโธ เกาะอานาปานสติ เกาะเข้ามา แล้วเราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ เรากำหนดลมหายใจเรื่อยๆ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเรื่อยๆ วางให้หมด! วางให้หมด! ไม่ต้องการสิ่งใด! ไม่ต้องการสมาธิ! ไม่ต้องการอะไรทั้งหมด! ไม่ต้องการสิ่งใดเลย! แต่เราทำเหตุไว้เห็นไหม

เรานะ เราตักน้ำใส่ตุ่ม ตักน้ำใส่ภาชนะ เราบอกไม่เต็มๆ ไม่ต้องการให้เต็ม แต่เราตักของเราเรื่อยๆ ตั้งสติไว้มันจะไปไหนล่ะ แต่นี่เหมือนคนบ้า อยากให้เต็ม อยากให้เป็นไป แต่มันเป็นไม่ได้เลย เห็นไหมนี่เราทำเป็นอารมณ์สองมันคลุกเคล้ากันมาอย่างนี้ไง แต่เรากำหนดบ่อยครั้งเข้ามันเป็นตามความเป็นจริงนะ เวลาเราปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา มันจะมีความสงบ พอสงบแล้ว มีกำลังแล้ว เราฝึกใช้ปัญญาของเรา

ฝึกใช้ปัญญา ตรึกในธรรม ฝึกใช้ปัญญาในชีวิต “ชีวิตนี้มันคืออะไร? จิตมันเกิดมาอย่างไร?” แล้วอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมันเป็นอย่างไรพิจารณา ถ้ามีสมาธิ มีกำลังของจิต พิจารณาแล้ว มันจะมีความปลอดโปร่ง มีความโล่งใจ แล้วฝึกใช้ปัญญาแล้วมันกลับมาอานาปานสติอย่างเดิมอีก กลับมาทำความสงบของใจอีก มันจะส่งเสริมกันไง บอกว่าเรากำหนดพุทโธอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็ใช้ปัญญาอยู่อย่างนั้น มันก็อยู่อย่างนั้นไม่ไปไหนเลย ต้องทำ..

มือเราสกปรกนะ เราหยิบจับสิ่งใด สิ่งนั้นจะสกปรกไปกับมือเรา จิตใจของเรามันหันรีหันขวาง มันโดนอวิชชาครอบงำ มันมีพญามารควบคุมอยู่ ถึงจะตรึกในธรรม ถึงจะพิจารณาขนาดไหน มันก็ต้องเศร้าหมองไปด้วยกิเลสของเราทั้งนั้น เวลาเราพิจารณาจนจิตมันว่างๆ ว่างๆ เห็นไหม “อุปกิเลส ๑๖” ความว่างๆ มันไม่มีกำลังเพราะมันเป็นกิเลสอย่างละเอียด แต่ถ้าเราพุทโธ หรือใช้ลมหายใจเข้ามาจนชัดเจนขึ้นไป มันออกไปพิจารณาเห็นไหม ฝึกฝน พอฝึกฝนมันกลับมาอานาปานสติ กลับมาพุทโธ มันจะเห็นคุณค่า ฝึกฝนอย่างนี้ อย่าใจร้อน! เพราะเราใจร้อนด่วนได้ พยายามจะทำให้ได้ แล้วบอกเราเป็นคนที่มีกำลัง เราเป็นคนที่มีสัจจะ เราเป็นคนจริง เราต้องทำได้ กิเลสมันหลอกอย่างนี้นะ

นี่คลื่นของกิเลสนะ มันหลอกทั้งซ้ายและขวา ถ้าขี้เกียจมันก็ดึงให้ลงต่ำไปเลย ถ้าขยันขันแข็งมันหลอกให้หัวปั่นไปเลย กิเลสในหัวใจของเรานะ ซ้ายก็ผิด ขวาก็ผิด ฉะนั้นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว” ถึงเป็นความดีมันก็ติดดี คนที่ติดชั่ว คนชั่ว ชี้ให้เห็นชัดๆ เลย ว่านี่เป็นความผิดพลาดเป็นความชั่ว เขาเห็นได้ชัดๆ แต่เป็นคนดี บอกว่านี่ติดดี “อ้าวติดดีได้อย่างไร ก็ของดีก็ต้องทำความดีสิ” จริงๆ ก็ต้องทำความดีนี่แหละ

สติปัญญาเห็นไหม การกระทำของเราก็อาศัยความดี อาศัยบุญกุศลนี้เป็นทางเดิน แต่ถึงที่สุดนะ สิ่งนี้มันก็ติดนะ ติดดีแล้วพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วอย่างไรแค่ไหนมันไม่ติดล่ะ เราต้องทำมัชฌิมาปฏิปทา เราทำของเราเห็นไหม เราทำของเรา เราพิจารณาของเรานะ ถ้าเราไปติดดี อยากได้ดี อยากเป็นไป เราก็ติดโดยสัญชาตญาณ เวลาจิตใต้สำนึกทุกคนอยากได้ดีหมดล่ะ แต่เวลาปฏิบัติแล้ว อยากได้มรรคได้ผลเห็นไหม “ตัณหาซ้อนตัณหา” เวลาติดดีขึ้นมาแล้วมันก็บอกว่าดี ทำทุกอย่างก็ว่าทำดี แล้วไม่ได้ผลตามความดี เราก็นั่งคอตก

ทุกคนจะพูดคำนี้หมดนะ “ทำดีมาทุกอย่างเลยทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ ทำทุกอย่างเลย” ฉะนั้นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ทำคุณงามความดี บุญกุศลนั้นทิ้งเหว” คือทำแล้วไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ทำจนจิตใจเรามันปลอดโปร่ง ทำจนไม่มีสิ่งใดคาหัวใจเลย มันเป็นไปโดยสัจจะ พุทโธๆ จนเป็นแบบนี้ มันเป็นความจริง มันจะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา คลื่นสิ่งใดมันก็หลอกเราไม่ได้ เรือเราแล่นไปบนน้ำแต่ไม่มีคลื่นนี่แปลกนะ เรือเวลาแล่นไปบนแผ่นน้ำมันต้องมีคลื่นแน่นอน มันไปรบกวนคนอื่นหมดเลย

แต่พอจิตเราสงบเข้ามานะ มันปลอดโปร่งหมดเลย เอ้อ.. เรืออะไรที่มันไม่มีคลื่น มันไม่มี แต่ก็มีเรืออยู่ ก็มีเราอยู่ จิตสงบแล้วเราหัดฝึกฝนของเรา เราพิจารณาของเรานะ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ฝึกฝนนะ ฝึกฝนเพื่อให้หัวใจมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าหัวใจมีหลักมีเกณฑ์นะ คนที่ภาวนาเป็นแล้ว หลวงตาท่านบอกว่า “เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์นะ ท่านเทศน์เริ่มจากสมาธิขึ้นไปเลย” แล้วพวกเราปฏิบัติใหม่ เราก็อยากได้ความสงบของใจ หลวงปู่มั่นท่านก็พยายามจะแนะนำ เกร็ด วิธีการ ให้เราเห็นให้เราเดินตาม เหมือนจูงมือนะ นั่นก็ผิด นี่ก็ผิด นี่ก็ไม่ควรทำ แล้วตั้งใจของเราไว้

พูดถึงหลักเกณฑ์ว่าจิตสงบแล้ว เริ่มต้นพอจิตสงบแล้วให้ออกพิจารณา ฉะนั้นพอพิจารณา ผู้ปฏิบัตินะระดับที่พิจารณา จะจับตามไปเลย จับตามไปเลย ฉะนั้นจิตเราถ้าเคยสงบแล้วนะ เราจะเห็นโทษของเราเอง แล้วเวลาเห็นโทษของเราเองนะ มันเขินนะ เมื่อก่อนทำไมไม่รู้.. เมื่อก่อนทำไมไม่เห็น.. เห็นไหมเมื่อก่อนเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ให้ฟัง เราก็ว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร หันรีหันขวางเลย แต่พอเราเป็นแล้วเห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด “อื้ม ใช่เลย” เวลาท่านพูดต่อไป เราจะตามไปเรื่อยๆ

ตั้งแต่จิตมันสงบแล้ว ออกพิจารณา ถ้าจิตสงบแล้วออกพิจารณาในอะไร ถ้าไม่มีสิ่งใดพิจารณามันจะพิจารณาสิ่งใด แต่ถ้าเรายังฝึกฝนของเรา เราก็พิจารณาธรรม มันยังคิดได้ พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ เราก็พิจารณาธรรม จิตมันจะละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ พิจารณาโดยธรรม ธรรมมันเกิดบนอะไร? ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตำรับตำรา เป็นทฤษฎีที่เราศึกษา แล้วธรรมเวลามันเกิด พิจารณาธรรมๆ เวลาเราพิจารณาเราก็ว่าพิจารณาธรรม

พิจารณาธรรม ธรรมอารมณ์ อารมณ์ที่กระทบ สุขทุกข์นี่พิจารณาธรรม ถ้าจิตมันละเอียดไปเรื่อยๆ นะ ธรรมมันเกิดบนอะไร? ธรรมมันเกิดบนสังขาร ธรรมมันเกิดบนความคิดเราไง ธรรมมันเกิดบนสัญญาเรานี่ไง ถ้าสติมันไล่ไปเรื่อยๆ ไล่ไปเรื่อยๆ มันปล่อยไปเรื่อยๆ จากการพิจารณาธรรมๆ พอมันปล่อยขึ้นมา ธรรมมันตั้งอยู่บนอะไร? ธรรมมันจะเกิดได้อย่างไร? หนังสือมีชีวิตไหม? ทุกอย่างมันมีความรู้สึกเหรอ? ไม่มีหรอก

สิ่งที่มีความรู้สึกเห็นไหม ชีวะมีคุณค่ามาก ความรู้สึกของหัวใจนี่มีคุณค่ามาก เพราะมีความรู้สึกมันถึงมีความเศร้า มีความสุข มีความทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะมันมีชีวิตไง ถ้าไม่ชีวิตนะ ซากศพมันเดือดเนื้อร้อนใจไปกับใคร สิ่งที่ไม่มีชีวิตมันมีความรู้สึกไหม? สิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็ไม่มีความรู้สึก แล้วเราพิจารณาของเรา จิตมันสงบแล้วมันมีความคิด มันตรึกในธรรม มันตรึกบนอะไร? ใครเป็นคนไปตรึกมัน? ก็จิตไง! ก็สังขารไง! เห็นไหมถ้าเราพิจารณาของเราบ่อยครั้งจนละเอียดขึ้นมา เราพิจารณาธรรมบ่อยครั้งเข้า มันก็จะเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

การพิจารณาธรรม ธรรมมันตั้งอยู่บนอะไร? ธรรมก็ตั้งอยู่บนรูปไง รูปก็อารมณ์ความรู้สึกไง แล้วความรู้สึกมันเกิดบนอะไรล่ะ? ความรู้สึกมันก็เกิดบนข้อมูล บนสัญญาไง สัญญากับสัญญา สังขารมันก็ปรุงไง

ถ้าเราใช้ปัญญาของเราละเอียดรอบคอบขึ้นไป มันจะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป การฝึกงาน การกระทำมันต้องมีเหตุมีผลของมัน แต่ถ้าเราศึกษามา เรารู้ไปหมดล่ะ รู้ก่อนเกิด ขายก่อนซื้อ ไม่มีสินค้าซักตัวเลย บอกว่ามีกำไรแล้ว ขายได้แล้ว ยังไม่ทันเกิดเลย บอกว่า ฉันเป็นปัญญาชน ยังไม่ทันเกิดเลย นี่ก็เหมือนกัน ศึกษามาแล้วรู้หมดเลย แล้วมีอะไรต่อล่ะ มีอะไรต่อ

ศึกษามาเห็นไหม เพราะเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ มันเป็นอวิชชา คือความไม่รู้จริง พอศึกษาไปสิ่งใดแล้วคิดว่ารู้ เข้าใจว่ารู้ มันถึงไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์เลยเห็นไหม นี่คือปริยัติ ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ปริยัติเขาให้ศึกษานะ เราชาวพุทธนี่ต้องศึกษา ถ้าเราไม่ศึกษาพุทธประวัติ ไม่ศึกษาประวัติของพระอรหันต์ ๘๐ องค์ เอตทัคคะ เราจะคุยกันรู้เรื่องไหม อย่างเช่นเราจะเดินทางออกไปต่างประเทศ หรือเราจะเดินทางไปไหน เราต้องมีแผนที่จะศึกษาเส้นทางเดินทางของเราไหม ถ้าใครศึกษาเส้นทางที่เราจะเดินทาง เวลาเดินทางจริงๆ เขาจะปลอดภัย เพราะเขาได้ศึกษามาแล้ว เขาได้ศึกษามาว่าเส้นทางนั้นมันมีทางปลีกแยกอย่างไร

ฉะนั้น เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพราะเหตุนี้ไง เราศึกษามาแล้วเป็นเส้นทางเดิน เราจะเดินทาง เราจะออกต่างประเทศ เราจะออกไปไหนก็แล้วแต่ เราจะไปโลกพระจันทร์ เราจะไปดาวอังคาร เราก็ศึกษามาหมด ว่าการไปนั้นมันกี่ปีแสง กี่ล้านปีแสงกว่าจะไปถึงเส้นทางนั้น นี่ก็เหมือนกัน พอเราศึกษามาแล้ว เราศึกษาปริยัติ เราศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ปริยัตินี่ศึกษาเพื่อปฏิบัติ! แล้วถ้าปฏิบัติขึ้นมา ถ้าปฏิบัติโดยปริยัติมันก็สร้างภาพทั้งนั้นล่ะ เห็นไหมสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา สร้างภาพไปเรื่อย สร้างภาพไปเรื่อย

แต่ในการปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา เราเห็นโทษ เห็นโทษในกิเลสที่มันหลอกเรา เห็นโทษจากอารมณ์ความรู้สึกในใจเรานี่แหละ ไม่ต้องไปเห็นโทษที่อื่น ถ้าเห็นโทษในความรู้สึกในหัวใจของเราเห็นไหม ทุกคนเห็นไหมเราศึกษาธรรมะแล้ว ครูบาอาจารย์การันตียืนยันอยู่เนี่ย หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านยืนยันอยู่แล้วว่าสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้! พอสิ้นสุดแห่งทุกข์ มันพ้นจากกิเลสแล้ว มันจะมีอะไรมาซัดมันอีก มันไม่มีภพ ไม่มีสิ่งใดจะตามหามันให้เจอ

ครูบาอาจารย์ยืนยันเราขนาดนั้น พอครูบาอาจารย์ยืนยันเราขนาดนั้นเห็นไหม เราก็จะปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริง เราก็ต้องพยายามทำให้เป็นความเป็นจริง อย่าทำแบบคนบ้า.. เที่ยวเก็บ เที่ยวแบกหามไป นั่นมันของเรา นี่ก็ของเรา เรารู้ทุกอย่างไปหมดเลย เหมือนคนบ้า! แต่ไม่มีความจริง

แต่เราปฏิบัติแบบคนจริงเรา เราทำตามความเป็นจริงเห็นไหม หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นนะ ท่านเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ ท่านรื้อค้นของท่านเอง ไม่มีสิ่งใดเลย เวลาเข้าป่า หลวงปู่เสาร์ท่านพาหลวงปู่มั่นออกธุดงค์ เริ่มต้นกันจากที่ไม่มีต้นไม่ปลายเลย ท่านยังรื้อค้นของท่านมา

นี่เรามีครูมีอาจารย์ ทีนี้มีครูมีอาจารย์เราคิดจินตนาการไปก่อนเลย “จะเป็นอย่างนั้นๆ” วางให้หมดแล้วทำนะ พอจิตมันพิจารณาของมันไป จิตสงบแล้วก็ฝึกใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาพิจารณาธรรม พิจารณาทุกๆ อย่าง พิจารณาไปมันจะเห็นตัวจริง เห็นตัวจริงเห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต พิจารณาธรรมมันก็เป็นสามัญสำนึกนี่แหละเราก็พิจารณาไป แต่เพราะเราพยายามทำความสงบของใจ เราเห็นโทษของความฟุ้งซ่าน เราเห็นโทษของอารมณ์ของตัณหาความทะยานอยาก เราเห็นความฟุ้งซ่านของใจ ที่มันคิดสรรพสิ่งต่างๆ เราปล่อยหมดแล้วเราไปทำความสงบของใจ ทำอานาปานสติหรือกำหนดพุทโธ แค่นี้แหละ

ทำอานาปานสติ กำหนดพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันเป็นจริง มันรู้มันเห็นมันจับมันต้องแล้วทึ่งมาก! มันจะทึ่งขึ้นมา ทึ่งที่ไหน? ทึ่งที่มันเป็นปัจจัตตังไง! ทึ่งที่ขนพอสยองเกล้าไง! ทั่งที่หัวใจที่มันเป็นมันสั่นไหวไปถึงขั้วหัวใจเลย! เพราะจิตมันพาเกิด ปฏิสนธิจิตมันพาเกิด แล้วเราศึกษามาก็ศึกษากันมาจนน้ำจะท่วมปอดตาย คือศึกษาความรู้จนล้นสมอง ความรู้ท่วมหัว! แต่ไม่เคยเจอความจริงเลย! ถ้ามันเจอความจริงขึ้นมา ปฏิบัติแล้วมันเจอความจริงขึ้นมา มันสะเทือนหัวนะ มันสะเทือนหัวใจมันก็สะเทือนกิเลสไง มันสะเทือนไอ้เจ้าวัฏจักรไง เจ้าวัฏจักรมันพาเราเกิดเราตายอยู่นี้ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันสะเทือนขึ้นมา พอมันสะเทือนขึ้นมา มันเห็นคุณค่าเห็นไหม

ปริยัติ เรียนมาเพื่อปฏิบัติ เรียนทฤษฎี เรียนแผนที่เครื่องดำเนินทางแล้ว เราจะมาปฏิบัติ ถ้าเวลามาปฏิบัติแล้วมันต้องวางปริยัติ ปฏิบัตินะกางแผนที่เลย ระยะทางเท่านั้น กำหนดพุทโธ ๕ คำ แล้วมันจะได้อย่างนั้นๆ เหมือนกับเราปฏิบัติเอาเวลากันนะ ตั้งนาฬิกาไว้ แล้วเวลาปฏิบัติแล้วก็มองนาฬิกา พอเข็มนาฬิกามันกระดิกไปนะ “เอ้อ ได้ ๑ ชั่วโมงได้ ๒ ชั่วโมง” ปฏิบัติเอานาฬิกา! ไม่ได้ปฏิบัติเอาความสงบ นี่พูดถึงปฏิบัตินาฬิกานี่เราก็เห็นนะ แล้วพูดถึงปริยัติ ถ้าเราคิดมันก็เหมือนปฏิบัติเอานาฬิกา ต้องให้เหมือนให้ได้ ต้องให้เป็นอย่างนั้นให้ได้ กลัวจะผิดกลัวจะพลาด

มันจะผิดมันจะพลาดนะ ตำรามันก็มีตรวจสอบได้ เดี๋ยวเวลาปฏิบัติปั๊บ ออกจากปฏิบัติแล้ว เพราะครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมานะ หลวงปู่มั่นท่านเข้ามาที่วัดบรมนิวาส ท่านก็มาตรวจสอบกับพระไตรปิฎกนี่แหละ ท่านมาตรวจสอบกับเจ้าคุณอุบาลีเห็นไหม เวลาเราปฏิบัติเข้าป่าเข้าเขา เราทุ่มเต็มที่เลย แล้วถ้าถึงเวลาเราปฏิบัติไปแล้ว ถึงจะเป็นความจริงก็ตรวจสอบ ถ้าเราพิจารณาไปแล้วมันเกิดผลมา แต่ยังไม่แน่ใจก็ต้องตรวจสอบ แล้วเวลาจิตมันเป็นจริงแล้วก็ตรวจสอบ!

จริงอย่างนี้ ความรู้สึกเป็นอย่างนี้ แล้วกับตำราเป็นอย่างนั้น ตรวจสอบแล้ว “อืม.. มันไปกันได้ มันไปกันได้” เพราะตรวจสอบเพื่อจะไม่ให้เราผิดพลาดไง ฉะนั้นต้องตรวจสอบ ตรวจสอบกับตำรา แต่ตรวจสอบขณะที่เราออกจากภาวนามาแล้วไง แต่นี่มันยังอยู่ในขณะภาวนา คนเราจะกินอาหารแล้วก็จะตรวจสอบๆ ไม่ได้ กินอาหารถ้าอาหารมันสำเร็จรูปมาแล้ว เราก็กินอาหารเสร็จแล้วเราก็ไปตรวจสอบของเราทีหลัง เวลาเราภาวนาเราวางให้ได้ ไม่ใช่เราภาวนาแบบคนบ้านะ เราภาวนาแบบคนดี วาง.. แล้วถ้าเกิดกิเลสมันแรง เวลาจิตมันไม่มีกำลังกิเลสมันแรงมันโหมใส่มา เราจะวางขนาดไหนมันก็วางไม่ลง

ถ้าวางไม่ลงเราก็ต้องมีขันติแล้วสู้กับมัน บางทีมันต้องมีหนักมีเบา ถ้าเราอ่อนแอเราทำแต่ความนุ่มนวลอยู่นะ เราจะเจริญงอกงามไม่ได้ ดูสิเวลาเราปลูกต้นไม้ เวลาใส่ปุ๋ยเราก็ต้องให้ปุ๋ย เวลาให้น้ำเราก็ต้องให้น้ำ เวลาเขาจะเร่งของเขา เขาจะไม่ให้น้ำเลย เวลาเขาปลูกต้นไม้ เขาจะตัดมา เขาจะปล่อยให้มันอดน้ำ พอปลูกปุ๊บเขาจะเร่งน้ำมันจะแตกใบอ่อนทันที มันจะติด มันจะไปได้ไวเลย

จิตใจก็เหมือนกัน เวลาหนักเวลาเบามันต้องมี ถ้าเวลาหนักเวลาเบามีนะ ถ้าเราจะต่อสู้ เราจะพิสูจน์กับหัวใจว่า เราจะมีความเข้มแข็งแค่ไหน เราก็สู้กับมัน แต่ถ้าเวลามันนุ่มนวล เวลาหนักเราก็ต้องหนักกับเขา แต่เวลานุ่มนวลเราก็ไม่ควรจะไปหนักกับเขา ถ้าจิตมันดี บางวันอารมณ์ดีบางวันจิตดี เราก็ตั้งสติกำหนดแล้วตามไป แต่ถ้าวันไหนจิตมันเรรวน กิเลสมันรังแกอยู่ เราต้องทุ่มเต็มที่ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านพาทำเห็นไหม ท่านถึงมีอดนอนผ่อนอาหาร มีคราวหนักมีคราวเบา มีคราวที่ต้องเข้มแข็ง มีคราวที่ต้องต่อสู้

ถ้าคราวต่อสู้นะ อย่างเช่นพระเราเห็นไหม ก่อนเข้าพรรษาเราก็อธิษฐานพรรษากัน การอธิษฐานพรรษาเห็นไหม เราจะเข้มงวดกับตัวเราเอง “ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส” กิเลสมันอยากจะสะดวกสบาย อยากจะใช้สอยตามความพอใจนั่นแหละ เราให้มัน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หรือให้มัน ๒๕ เปอร์เซ็นต์พอ เพราะสิ่งนี้เราก็ใช้สอยมาตลอดแล้ว ถ้าใช้สอยไปมากกว่านี้มันก็เท่านั้นแหละ แต่ลองไม่ใช้สอยดูบ้าง ถ้าเราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเราเห็นไหม เวลาพิจารณาเข้าไป พิจารณาซ้ำพิจารณาธรรม ธรรมมันตั้งอยู่บนอะไร มันตั้งอยู่บนขันธ์ ถ้ามันจับได้นะ มันจะเห็นขันธ์

นี่พูดถึงเป็นปัญญาวิมุติ แต่ถ้าจิตมันสงบนะ เวลาพิจารณาไปแล้วถ้าจิตมันสงบ มันจะเห็นกาย ถ้าเห็นกายเห็นไหม เห็นกายเป็นอวัยวะต่างๆ เห็นกายเป็นรูปทั้งร่างกาย ถ้าจิตมีกำลังนะ มันแปรสภาพให้เราเห็น มันจะแปรสภาพ เพราะมันเป็นของน่ารังเกียจ คำว่าน่ารังเกียจ รังเกียจเพราะเหตุใด? เราทุกคนสงสัยนะ สงสัยว่าเวลาจิตสงบแล้ว เวลาจิตมันเห็นกายให้มันพุมันพองไป มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ?

มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เห็นไหม ดูสิเวลาธรรมนะ “ศีล สมาธิ ปัญญา” เวลาเกิดศีล ศีลความปกติของใจ พอเกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิมีกำลังของมัน เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา เวลาพิจารณากายเห็นกาย พิจารณาให้มันแปรสภาพเขาเรียกว่า “ไตรลักษณ์” มันแปรสภาพของมัน ถ้าแปรสภาพของมัน นี่กำลังของจิตมันพอ มันมหัศจรรย์มาก เวลาจิตสงบแล้วนะ เห็นร่างกายของเรา เราใช้มีดฟัน ใช้อะไรต่างๆ มันเป็นนิมิตนะ ฟันให้มันขาดลงไป ตกลงไปบนพื้นมันจะแปรสภาพของมันไป สิ่งที่มันเกิดขึ้นอย่างนี้ มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวง

ถ้ามันพิจารณาซ้ำแล้วมันเป็นตามจริง พอพิจารณาไป พอจิตเริ่มใช้กำลังแล้ว มันเห็นภาพอยู่ แต่มันไม่เป็นไปแล้ว เพราะว่าให้มันแปรสภาพมันไม่แปรสภาพ มันคงที่ แล้วถ้าจิตยังทำอยู่นะ จิตมันเสื่อมถอยไปนะ ให้เห็นกายแล้ว ภาพมันก็ไม่คงที่ มันจะเคลื่อนไหวแล้ว ไม่ใช่เคลื่อนไหวให้มันแปรสภาพนะ มันเคลื่อนไหวที่มันจะเสื่อม

ถ้าจิตของเรา เราไม่เคยกระทำเห็นไหม เราก็แปลกใจ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ๆ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านผ่านประสบการณ์มาแล้วนะ เพราะจิตมันอ่อนแอแล้ว เราก็ต้องกลับมาพุทโธ กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้กำลังมันเข้มแข็งขึ้นมา แล้วกลับไปพิจารณาซ้ำ ถ้ามันปล่อย มันปล่อยคือตทังคปหาน มันปล่อยด้วยวงรอบนะ ดูสิเวลาสมุจเฉทปหานมันก็เหมือนกับปล่อย สมุจเฉทปหานพิจารณาไปแล้วมันจะขาดเลย

แต่ถ้าเวลามันปล่อย พิจารณาแล้วมันปล่อยตทังคปหาน มันปล่อยเหมือนกัน ปล่อยเหมือนกันเพราะเหตุใด มันปล่อยเหมือนกันเพราะพิจารณาแล้วมันเป็นการก้าวเดินของมรรค มันเป็นการก้าวเดินเห็นไหม เวลาคลื่นกิเลสมันซัดมามันรุนแรง เวลาอริยสัจ สัจจะความจริง มรรคญาณ นี่ธรรมจักร มันจะเข้าไปปราบปราม แต่กิเลสมันแก่นกิเลสมันเหนียวแน่นเพราะจิตใจเราเกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลาย พอพิจารณาไปแล้วกำลังของกิเลสมีกำลังมากกว่า แต่กำลังของธรรมมากกว่ากิเลส พิจารณาแล้วมันจะปล่อย แต่ปล่อยแล้วกิเลสมันไม่ยอมแพ้ไง มันหลบมันซ่อนอยู่ มันก็ปล่อย แต่มันไม่มีผลตอบสนอง

ตทังคปหานกับสมุจเฉทปหานมันแตกต่างกันอย่างไร กุปปธรรม อกุปปธรรม มันแตกต่างกันอย่างไร? กุปธรรมเห็นไหม “สัพเพ ธัมมา อนัตตา” สภาวะที่เป็นอนัตตา สภาวะที่มันเคลื่อนไหว สภาวะที่มันเป็นไป นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตา ทีนี้ในตำราบอกว่า “ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา”

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะการที่เป็นอนัตตาเพราะการกระทำของเรา เราพิจารณาของเรามันถึงเป็นอนัตตา! แล้วสิ่งที่เป็นอนัตตามันเป็นผลได้อย่างไร ดูสิ ดูกระดาษเขาต้องมาพิมพ์มันถึงเป็นแบงก์ กระดาษมันเป็นแบงก์ได้ที่ไหน]jt การดาษมันต้องพิมพ์ใช่ไหมมันถึงเป็นแบงก์ เพราะมันมีทองคำหนุนหลังมันถึงมีค่าใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นอนัตตาๆ มันก็เหมือนมันเป็นกระดาษมันยังไม่เป็นแบงก์ ถ้าเป็นแบงก์ขึ้นมาแล้ว พอพิมพ์เป็นแบงก์ขึ้นมาแล้ว กระดาษมันเลอะเปื้อนหมึกแล้วมันจะกลับไปขาวอีกได้ไหม นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาซ้ำพิจารณาซากพิจารณาไป ทำไมถึงเป็นตทังคปหาน ตทังคปหานเพราะการกระทำเห็นไหม ดูสิ เวลาเราทำงาน ถ้าเรายังไม่เคยทำงาน พอทำงานขึ้นมาประสบความสำเร็จ แต่ประสบความสำเร็จนั้นมันยังไม่สรุปไง ไม่ถึงกับว่าเป็นผลงานที่ตายตัว มันเป็นการฝึกงานๆๆ ต้องมีความชำนาญ มีความชำนาญแล้วพิจารณาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันจะปล่อยวางขนาดไหนก็ซ้ำ!

คำว่าซ้ำนะ ถ้ามันเป็นตทังคปหาน งานยังไม่เสร็จ งานยังไม่เสร็จนี่กิเลสมันยังหลบซ่อนอยู่ กิเลสหลบซ่อนอยู่ถ้าเรามีสติปัญญา เรารื้อค้นเราจะเจอกิเลสทันทีเลย เจอกิเลสหมายความว่า ถ้าจิตมันสงบแล้ว จับกายก็เห็นกาย จับจิตก็เห็นจิต จับเวทนาก็เห็นเวทนา มันยังมีอยู่ ของที่มีอยู่เห็นไหม กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสนี้เป็นนามธรรมก็อาศัยสิ่งนี้ อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเครื่องแสดงออก ถ้ายังจับต้องสิ่งใดได้ แสดงว่ากิเลสมันยังมีอยู่

ฉะนั้นพอจิตมันสงบแล้ว จิตมีกำลังแล้ว พิจารณาซ้ำ พอซ้ำไปแล้วพิจารณาซ้ำไปด้วยปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา มันก้าวเดินหมุนไป พิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยๆๆ ถ้าปล่อยแล้วมีความสุข มีความโล่ง มีแต่ความสุขมาก ทีนี้ความสุขเห็นไหม ข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว สุขและทุกข์ ถ้ามีความสุขมันก็ติดสุข มันก็พอใจ มันก็เป็นความว่าง มันก็เป็นความพอใจว่า สิ่งนี้เป็นธรรมๆ

นี่.. เวลาเป็นบาปอกุศลความชั่วก็ทุกข์ยากนัก เวลาเป็นความดี ความดีมันก็ทำให้เราหลงใหลได้เหมือนกัน ฉะนั้นต้องตั้งสติ มันมีความสุขขนาดไหน เราเสวย เสวยอยู่กับสุข ถึงเวลาหน้าที่การงานเราก็พิจารณาของเรา พิจารณาของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะทำงานนะ ถ้าผลตอบสนองไม่มี เราทำแล้วนะ บางคราวพิจารณาแล้วก็ปล่อย บางคราวพิจารณาแล้วก็ไม่ปล่อย ถ้าพิจารณาไม่ปล่อยเราก็เหนื่อยมาก เวลาเหนื่อยนะ พอพิจารณาแล้วละล้าละลังเห็นไหม ต่อสู้ด้วยปัญญามันสรุปลงไม่ได้ ถ้าสรุปลงไม่ได้ เหนื่อยมาก ถ้าเหนื่อยมากแสดงว่ากำลังจิตไม่พอ ต้องวางแล้วกลับมาทำความสงบ

คนเราเห็นไหม เวลาเราส่งสินค้า เราวางบิลเก็บตังค์เราชอบตรงนั้นไง แต่ถ้าสินค้าเราไม่มี เราจะเอาอะไรไปส่งเขา นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตพิจารณาแล้วปล่อยก็ชอบใจมาก เหมือนกับเราส่งสินค้าเรียบร้อยแล้ว แต่เวลาจิตมันเสื่อมล่ะ เวลาไม่มีสินค้าจะส่ง อะไรจะไปส่งเขา นี่ไงเวลามันพิจารณาแล้วมันปล่อย มันไม่ปล่อย พอมันไม่ปล่อยก็กลับมาพุทโธ กลับมาพุทโธก็สร้างกำลังไง เราก็สร้างกำลังของเราเพื่อจะมาสร้างผลงานของเรา เพื่อจะมาพิจารณาของเรา

ถ้าปฏิบัติไปแล้ว มีครูมีอาจารย์คอยแนะนำนะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มีความขยันหมั่นเพียร ถึงที่สุดแล้วมันขาดนะ เวลากิเลสมันขาดเห็นไหม เวลามันไม่ขาด เวลาตทังคปหานมันก็มีความสุขอันหนึ่ง เวลามันขาดนะ “ดั่งแขนขาด” ทำงานจบแล้วนะ มันจะไม่มีงานในขั้นตอนนี้ให้ทำอีก ถ้าจบนะ ถ้าจบสมุจเฉทปหานนี้เป็นอกุปปธรรม คำว่าอกุปธรรมไม่มีสิ่งใดเคลื่อนไหวอีกแล้ว คงที่ของมันตลอดไป อกุปปธรรมพ้นจากสัพเพ ธัมมา อนัตตา

ถ้าสัพเพ ธัมมา อนัตตาเห็นไหม สภาวธรรม สภาวที่เป็นการเคลื่อนไหว สภาวะที่เราทำอยู่ ใช่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา มันเป็นสภาวธรรมเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของของธรรมะนี้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้นมา ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางธรรมไว้

สัพเพ ธัมมา อนัตตา ความเป็นไปนี้เป็นอนัตตา โลกตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล เขาก็รู้ของเขา แต่เขาไม่มีอนัตตา เขาไม่มีความเป็นไป ไม่มีอนิจจัง ไม่มีใครรู้ได้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของสัพเพ ธัมมา อนัตตา แต่เราปฏิบัติขึ้นไป เราทำของเรา มันเป็นจริงของเราขึ้นมา เป็นปัจจัตตัง เป็นความรู้จากหัวใจ เป็นความรู้จากการกระทำ เห็นชัดเจน!

คนที่รู้ที่เห็นชัดเจน จิตเวลามันสงบ มันสงบอย่างไร? จิตเรามันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม มันจับอย่างไร? แล้วเวลามันพิจารณาใช้ปัญญา เวลามันปล่อยวางตทังคปหานมันปล่อยวางอย่างไร?

คนที่ปฏิบัติแล้วไม่หลงผิด ปฏิบัติไปแล้วไม่มีสิ่งใดมากีดขวางไม่มีหรอก! ไม่มี!

ฉะนั้นสิ่งที่เราพิจารณาไปแล้วเวลามันปล่อยวางมันเป็นอย่างไรนี่รู้ ฉะนั้นสิ่งนี้จะรู้บ่อยมาก เพราะมันอยู่ระหว่างที่เรากำลังต่อสู้กับกิเลส อยู่ระหว่างที่เราจะชำระกิเลส เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เรามีความเข้มแข็ง เรามีความตั้งใจ เรามีความจงใจ เราเป็นคนจริง เราเป็นคนประพฤติปฏิบัติ เวลาทำไปมันจะพัฒนาของมันไปเรื่อย มันจะเห็นของมันไปเรื่อย

พอเริ่มปล่อย มีความชำนาญขึ้น มีความคล่องตัวขึ้น ทำได้ง่ายขึ้น เวลาปล่อยเห็นไหม เวลาพิจารณาครั้งแรก พอมันปล่อยนะ ตื่นเต้นมาก เป็นความมหัศจรรย์มาก เวลาทำครั้งที่ ๒ ชักหันรีหันขวางแล้ว เพราะกิเลสมันรู้ทัน แต่พอเราพิจารณาบ่อยครั้งเข้า มีความชำนาญมากขึ้น ปล่อยครั้งที่ ๑ คล่องตัวมาก พอปล่อยครั้งที่ ๒ มันมีอะไรต่อต้านแล้ว เราก็ใช้ปัญญาให้มากขึ้น ใช้ความละเอียดรอบคอบมากขึ้น มันก็ปล่อยได้ พอครั้งที่ ๓ ขึ้นไปมันก็ดีขึ้น คล่องตัวขึ้น แล้วมีความผิดพลาดจากสมาธิอ่อน จากสติอ่อน จากปัญญาอ่อน มันก็พยายามส่งเสริมขึ้นมา มันทำแล้วทำเล่าๆ สิ่งนี้มันรู้ได้ทันที มันรู้ได้หมดเลย

แล้วเวลามันสมุจเฉทปหาน มันแตกต่างกับตรงนี้เยอะมาก! มันแตกต่างกับตทังคปหาน เพราะตทังคปหานนี่มันปล่อย มีความสุข มีความอะไร แต่กิเลสมันซ่อนอยู่ตลอดนะ แต่เวลาสมุจเฉทปหานนี่ดั่งแขนขาด! กิเลสขาด! สังโยชน์ขาด! มีหนเดียว จะไม่มีอีกแล้ว จะไม่มี จะหาสิ่งนี้ไม่เจอเลย พอมันสมุจเฉทปหานมันจบไปแล้ว นี่ไง

ในเมื่อธรรมจักรมันซัดสาดขึ้นไป เพื่อจะให้ชีวะ ให้ภวาสวะ ให้ภพ ให้หัวใจของเราที่เกิดเป็นมนุษย์ได้มีธรรมะ ธรรมะ-สัจธรรมเราปฏิบัติขึ้นมาเพื่อเข้ามาชำระล้างสิ่งที่มันซัดทอด ซัดเรามาเกิดในภพในชาติ เกิดมาแล้วเห็นไหม เกิดมาในพุทธศาสนา แล้วเราต้องประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่มีใครทำให้ใครได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเป็นคนชี้ทางเท่านั้น

เวลาครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราท่านสมบุกสมบันของท่านมา แล้วท่านได้ประสบการณ์ในการปฏิบัติของท่านมา ท่านถึงเป็นครูบาอาจารย์ที่ชี้นำคอยบอกพวกเรา มันเป็นบุญกุศลมหาศาล ในเมื่อคนเจ็บไข้ได้ป่วย ยาไม่มีที่จะรักษาโรคนั้นได้ เราก็ต้องทนเอา ยอมตายไปกับโรคภัยไข้เจ็บเพราะมันไม่มียา

แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมี มันมีธรรมโอสถ มันมียาอยู่แล้วที่จะรักษา แต่ถ้ามียาแล้วรักษาไม่เป็น รักษาไม่ได้ เราก็ใช้ไม่เป็น แต่เรามีครูบาอาจารย์ เหมือนหมอคอยชี้นำเรา เรามีทั้งครูบาอาจารย์ มีทั้งยา มีทุกอย่างเลย เราต้องขยันของเรา เราเกิดมาในพุทธศาสนา แล้วเรายังมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ เราต้องภูมิใจในตัวเรา ฉะนั้นในการกระทำเราต้องทำเอง มันจะทุกข์ มันจะยากแค่ไหน เราต้องเข้มแข็ง แล้วพยายามอดทนปฏิบัติของเราขึ้นมา แล้วเดินทางต่อไป

พิจารณาเห็นไหม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล มันละเอียดลึกซึ้งไปนะ นี่ขั้นของพื้นฐาน มันเป็นแค่หลานมันนะ ลูกหลานของกิเลส ลูกหลานของตัณหาความทะยานอยากนะ ลูกหลานของพญามาร เวลาสูงขึ้นไปๆ มันจะมีนะ เพราะกิเลสมันละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ เวลากิเลสมันละเอียดขึ้นไปเรื่อย เล่ห์เหลี่ยมพลิกแพลงของมันจะละเอียดกว่านี้ ถ้าละเอียดกว่านี้เห็นไหม เราต้องมีสติปัญญามากกว่านี้

ถ้าเรามีสติปัญญามากกว่านี้ เราทำความสงบ พุทโธเหมือนกันนี่แหละ เวลามรรคสูงขึ้นไปขนาดไหนก็พุทโธ พุทโธเพื่อให้จิตสงบ เพราะว่าการใช้ปัญญาทุกขั้นตอนมันต้องใช้กำลังของจิต มันต้องให้จิตมีกำลัง จิตมีความตั้งมั่น ถ้าจิตมีความตั้งมั่น แล้วมันจะตั้งมั่นด้วยวิธีใดล่ะ มันก็ตั้งมั่นด้วยคำบริกรรม ถ้าคนมีความชำนาญนะ ผู้ที่ชำนาญเท่านั้น ไม่บริกรรมก็ได้ ไม่บริกรรมเห็นไหม กำหนดของเราใช้รักษาความสงบ ถ้าไม่บริกรรม ก็ได้.. แต่บางทีก็ต้องบริกรรม เพราะจิตของเรามันคลอนแคลนมันไม่เหมือนกัน

เวลาอารมณ์ดี สิ่งกระทบไม่รุนแรง มันก็รักษาได้ ทำได้ แต่ถ้ารุนแรงก็ต้องพุทโธไว้เกาะไว้ เหมือนคนที่มีความชำนาญ จะชำนาญขนาดไหน เขาก็ต้องฝึกซ้อมของเขาตลอดนะ ถ้าเขาจะทำหน้าที่การงานนั้น เขาก็จะต้องฝึกของเขา เขาจะไม่ปล่อยให้เขาห่างเหินจากสิ่งนั้นไป นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ เขาจะกำหนดของเขา เขาจะดูแลของเขา เพื่อให้จิตใจมันได้พัก ให้จิตใจได้พักแล้วจิตใจออกพิจารณา ถ้าจิตมันสงบมากขึ้น เวลาเราจับไป ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างละเอียดสุด พิจารณากายนอก กายใน กายในกาย

ฉะนั้นพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เวลาพิจารณานะ จับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วให้ถึงที่สุด แล้วถ้าคราวต่อไปจะเจอเวทนา จะเจอสิ่งใด จับให้มันเป็นปัจจุบัน ในการปฏิบัติพวกเรานักปฏิบัติ บางทีซื่อตรงเกินไป ถ้าพิจารณากายก็ต้องเห็นกายอย่างเดียว อย่างอื่นจะไม่พิจารณาเลย ถ้าพิจารณาเวทนาก็จะพิจารณาเวทนาอย่างเดียว แต่จิตใจของเราเวลากิเลสมันหลบนะ มันฉ้อฉลของมัน มันจะหลบไปอยู่ที่เวทนาเห็นไหม กิเลสนี้เป็นนามธรรม อาศัยกายกับจิตเราออกหากิน ออกหากินโดยขันธ์ ๕ ออกหากินโดยกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม

เดี๋ยวมันก็หลบไปอยู่ที่เวทนา เวทนามันก็เด่นชัดขึ้น มันหลบไปที่ไหนที่นั่นก็เด่นชัดขึ้น เราจับสิ่งนั้นแล้วพิจารณา “อย่างใดอย่างหนึ่ง” แล้วทำให้จริงจัง เพราะกิเลสมันหลอกมันล่อตลอดนะ มันจะหลอกล่อให้เราไขว้เขว หลอกล่อให้เราพ้นจากเป้า ถ้าเรายิงเข้าเป้าก็ยิงเข้าสู่กิเลส ถ้ายิงไม่เข้าเป้า เราก็สับสน เวลาเราต่อสู้กับกิเลส มันมีเหตุผลอย่างนี้ตลอดมา ฉะนั้นเราจะต้องตั้งสติ แล้วพิจารณาของเรา

ถ้าจิตมันสงบมันจับได้นะ จับได้เห็นได้ พอจับได้มันก็ได้งาน ถ้าจับไม่ได้ก็ไม่ได้งาน เหมือนพนักงานสอบสวน ไม่มีผู้ต้องหาไปสอบสวนใคร ถ้ามันมีผู้ต้องหาเห็นไหม ฉะนั้นงานที่ขุดคุ้ยนะ งานที่ต้องขุดคุ้ยหากิเลส มันต้องแสวงหา ถ้าจิตสงบแล้วไม่ออกแสวงหา แล้วก็เรียกร้องไง กิเลสๆ มันไม่มี ก็กิเลสมันตายไปแล้ว แล้วจะไปดูที่ไหน จะไปหามันได้อย่างไรก็มันไม่มี

ความหลงผิดนะ สิ่งที่ไม่มีตัวเองก็ยังพูดอยู่นี่ ตัวเองก็ยังคิดได้อยู่ จิตใจมันยังคิดได้อยู่ จิตใจนี้มันยังมีตัวตนของมัน แล้วมันจะบอกมันไม่มีได้อย่างไรล่ะ มันก็บอกว่า นั่นก็ไม่มี นี่ก็ไม่มีเห็นไหม เวลากิเลสมันสวมรอยนะ มันบังเงานะ กิเลสถ้าต่อหน้ามันก็หลอกล่อเราซึ่งๆ หน้า แต่ถ้าเวลาเรามีสมาธิ มีปัญญามากขึ้น มันก็บังเงา อ้างว่าธรรมะหรือสมาธินี่เป็นเรา เป็นธรรม ไม่มีกิเลสแล้ว กิเลสนะเวลามันบังเงา มันไปแอบอิงกับสมาธิก็ได้ มันไปแอบอิงกับธรรมะก็ได้ “เราบรรลุธรรม เราก็รู้ธรรม” เห็นไหม ทั้งที่กิเลสมันแอบอ้าง

เวลาที่กิเลสมันบังเงาก็อย่างหนึ่ง กิเลสมันสู้เราซึ่งๆ หน้าก็อย่างหนึ่ง ฉะนั้นกิเลสมันจะพลิกแพลง “มารเอย เธอเกิดจากดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดในดวงใจของเราไม่ได้เลย” เห็นไหม เธอเกิดจากความดำริ ความดำริเป็นความคิดหรือเปล่า ขณะที่เราใช้ความคิด เราใช้ปัญญา กิเลสมันเกิดจากความดำริ ก่อนที่จะคิดมันต้องมีความดำริ จะคิดเรื่องอะไร ดำริเรื่องอะไร มารมันเกิดจากความดำริ แล้วเวลาเราคิดขึ้นมา มันก็มากับเราทั้งนั้น

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ ใจเราสงบระงับบ้าง มันได้พักบ้าง นี่กิเลสมันมาไม่ทัน กิเลสมันมาไม่ทัน หลวงตาท่านบอกว่า “เวลากิเลสมันมาไม่ทัน กิเลสมันนอนหลับ สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี พอกิเลสมันตื่นขึ้นมานะ โอ้โห มันทำลายหมดเลย” ฉะนั้นถ้าจิตมันสงบ สมาธิมันมาไม่ทัน เราตั้งสติไว้ ตั้งสติแล้วเราทำความสงบของใจแล้วออกพิจารณา ถ้าเราขยันหมั่นเพียรนะ เราจะพิจารณาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตมรรค อรหัตผล เราจะต้องขยันหมั่นเพียร ทำของเราขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนนะ ถ้าเราทำของเราขึ้นไปได้ คลื่นของวัฏฏะมันก็มาจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าเราได้ทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากแล้ว คลื่นมันจะพัดไปที่ไหน มันจะมีอะไรให้มันกระทบ เห็นไหม

คนเราเกิดมาหลงในตัวเอง เกิดมาไม่มีสติปัญญา เวลาคลื่นมันกระทบฝั่ง ชีวิตนี้ไม่มีค่าอะไรเลย เกิดมาชาติหนึ่งก็ตายชาติหนึ่ง แต่เวลาเรามีธรรมจักรเห็นไหม มันซัดเข้าไปถึงกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ภวาสวะ ภพ มันทำลายหมดแล้วมันจะไปซัดสิ่งใดล่ะ มันจะรู้ได้ต่อเมื่อเรามีมรรค ๔ ผล ๔ ทำลายหมดสิ้นแล้วมันก็จบ พอจบแล้วนะมันก็เป็นประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเห็นไหม

นี่คือธรรมจักร เวลาคลื่นของกิเลสมันซัดมา คลื่นของวัฏฏะเห็นไหม คลื่นของกิเลสซัดมามันก็เป็นผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะก็มาเป็นเรา เป็นเราขึ้นมา เราเกิดมาในพุทธศาสนา เราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อกลับไปทำลาย “เกลือจิ้มเกลือ” เกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก เวลาเกิดเป็นมนุษย์ทุกข์ยากมาก แต่เวลาปฏิบัติทุกข์ยากมากกว่า ความที่ทุกยากมากกว่า ด้วยอริยสัจ ด้วยสัจจะความจริง กลับไปทำลายกิเลสเห็นไหม มนุษย์มีคุณค่าที่จะชำระกิเลสได้ มนุษย์มีคุณค่าเพราะทุกข์ยากมันบีบคั้นอยู่ เรากลับไปทำลายมันเพื่อประโยชน์กับเราเห็นไหม

เราเป็นชาวพุทธ เกิดมาในพุทธศาสนา ออกบวชเป็นพระเป็นเจ้าเพื่อจะต่อสู้กับกิเลส เราตั้งใจทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง