ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปลงสังเวช

๑๒ ส.ค. ๒๕๕๔

 

ปลงสังเวช
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามนี้ก่อนนะ คำถามสด มันมีคำถามเรื่อง “อาการที่เกิดขณะนั่ง”

ถาม : ในขณะที่เรากำหนดเวทนา คือมันปวดมากจนไม่สามารถจะแยกจิตและกายออกจากกันได้ มันคลุมเครือกันอยู่ สักพักปัญญามันเกิดมันบอกว่า

“ทำไมถึงให้กายเป็นนาย ควรให้จิตเป็นนายสิ”

พอปัญญามันเกิดอย่างนี้ จิตกับกายก็แยกออกจากกัน เวทนาที่เกิดก็ไม่สามารถรบกวนจิตได้ จึงกำหนดรู้ไปเรื่อยๆ สักพักจิตมันเกิดหัวเราะและยิ้ม (คล้ายๆ กับว่าชนะอะไรสักอย่าง) ปัญญามันบอกว่านี่คือ “จิตยิ้ม” สักพักอาการมันก็เปลี่ยนไป จิตมันพลิกไปเป็นอาการที่เรียบ ตึง ขึงเหมือนหน้ากลองเพล ว่างไปหมดไม่มีอะไรเลย แต่ดูเฉยๆ ปัญญามันก็บอกว่า “จิตว่าง”

สักพักอาการมันก็เปลี่ยนไปอีก จิตที่เรียบตึงก็ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพเป็นอ่อนโยน นุ่มนวล ละเอียดละไมมากๆ บอกไม่ถูก ปัญญาบอกว่านี่คือ “จิตเมตตา” สักพักอาการมันก็คลายตัว เกิดปีติตามมาขนลุกไปหมด และวันนั้นทั้งวันหนูรู้สึกว่าจิตเบิกบานและมีกำลังสดชื่นมาก

คำถาม!

๑. อาการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการแสดงของจิตใช่ไหมคะ และการที่หนูได้แต่เฝ้าดูอาการที่เกิดขึ้น และรับรู้เรื่อยๆ มีความหมายอย่างไรบ้างคะ

๒. อาการที่เกิดระหว่างวัน ในระหว่างวันที่ขณะที่ทำงานหรือทำอะไรก็แล้วแต่ เมื่อนึกขึ้นได้หนูจะกำหนดอาการเด่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยกำหนดไว้ที่ลิ้นปี่ค่ะ เช่นเวลามีอาการโกรธ เบื่อ ท้อ หดหู่ หนูก็จะดูอาการและกำหนดตามไปด้วย ทำอย่างนี้มาระยะหนึ่งแล้วค่ะ ปัจจุบันนี้ เวลามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น หนูสังเกตว่ามันจะมีอาการร้อนผ่าวๆ ขึ้นที่ลิ้นปี่ และบางทีก็จะมีอาการไหวตัวอยู่ในใจ ทำให้รู้และมีสติจับได้ทัน โดยที่หนูไม่จำเป็นต้องกำหนดเหมือนเคยแต่จะตามรู้ค่ะ

คำถาม.. อาการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการการจดจำหรือเปล่าคะ และอาการที่หนูเล่ามาถวายนี้มีความหมายอย่างไรบ้างคะ

หลวงพ่อ : ข้อที่ ๑. นี่บอกว่าเวลาเวทนามันเกิดใช่ไหม? แล้วเวลานั่งภาวนาไปแล้วมันปวด พอปวดมาก เวลาพิจารณาไปแล้วจิตมันทัน เห็นไหม จิตบอกว่า

“อย่าให้กายเป็นนายสิ ให้จิตเป็นนายสิ”

นี่คำว่าปัญญา คนจะคิดว่าปัญญาต้องแยกแยะทุกอย่างไป ปัญญาที่แยกแยะเป็นปัญญาเทียบเคียง.. การถาก การไถ เห็นไหม เวลาเขาไถนานี่เขาต้องไถขึ้นมา แต่เวลาเสร็จมันเสร็จ ทีนี้เวลาพิจารณาเวทนา พอจิตมันทันปั๊บมันบอกว่าอย่าให้กายเป็นนายสิ ต้องให้จิตเป็นนายสิ เวลาถ้ามันทันปั๊บมันก็ปล่อย พอมันปล่อยปั๊บมันก็บอกว่าเหมือนกับการชนะอะไรอย่างหนึ่ง นี่แล้วบอกว่ามีอาการ “จิตยิ้มๆ”

จิตยิ้มนี่มันเป็นศัพท์ มันเป็นศัพท์นะ จิตยิ้มมันก็เหมือนกับเรายิ้มก็ได้ คนยิ้มก็ได้ จิตยิ้มก็ได้ คนยิ้มก็คือคนยิ้ม คนมีอารมณ์ดีก็ยิ้มได้ นี่ถ้าจิตมีความสบายใจมันก็ยิ้มได้ แต่จิตมันสบายใจ เวลาจิตมันทุกข์นะมันไม่ยิ้มหรอกมันคอตก มันคอตกเลย แต่ถ้ามันยิ้ม ยิ้มคือมันเป็นศัพท์ เห็นไหม ทีนี้จิตจะยิ้มหรือไม่ยิ้ม มันเป็นศัพท์ที่มันเป็นบุคลาธิษฐานที่บัญญัติขึ้น เป็นสาวกภาษิต แต่ถ้าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะจิต ถ้าจิตมันเป็นนะ แล้วขณะจิตมันเป็นอย่างไร? ขณะจิตเขาจะรู้กันเอง

ฉะนั้นว่าเวลามันเป็นอย่างนั้นไปแล้ว คำถาม เห็นไหม

“อาการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการของจิตใช่ไหมคะ”

นี่มันเป็นกระบวนการของมัน แล้วถ้าเป็นกระบวนการของมัน อาการมันเป็นแบบนั้น นี่อาการที่มันเป็นขึ้นมามันเป็นได้หมดแหละ แต่อาการที่เป็นขึ้นมา นี่เด็กนั่งอยู่ ผู้ใหญ่นั่งอยู่ คนแก่นั่งอยู่ เห็นไหม เด็กนั่งอยู่ นี่เด็กก็นั่งอยู่ประสาเด็ก ผู้ใหญ่นั่งอยู่ คนแก่นั่งอยู่ คนแก่นั่งนี่ คนแก่ก็นั่งมาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ประสบการณ์เขาเยอะมาก

ทีนี้เวลาคนแก่จะลุกจะนั่ง มันก็มีอาการของมันอย่างหนึ่ง แต่เด็กนี่โอ้โฮ.. มันวิ่งของมันนะ มันพรืดนั่งได้เลย เวลามันจะลุกนะมันพรวดไปเลย เพราะเด็กกระดูกมันยังอ่อนอยู่ เด็กนี่ยิ่งล้มยิ่งโตนะ ยิ่งล้มยิ่งโต ผู้ใหญ่ล้มยังรักษาได้ แต่คนแก่ไม่ต้องล้ม นั่งก็นั่งไม่ไหวแล้ว เวลาจะนั่งจะนอนมันไม่ไหว อันนี้คือประสบการณ์

นี่อาการของจิตๆ ใช่ไหม? อาการของจิตมันจะมีอย่างนี้ตลอดไป ฉะนั้น สิ่งที่เป็นอาการที่มันผ่านไป มันก็เหมือนประสบการณ์ของใจนะ ผลของวัฏฏะ เราเกิดชาติหนึ่งๆ เห็นไหม เวียนตายเวียนเกิดไปชาติหนึ่ง จิต! จิตพิจารณาเวทนาแล้วมันปล่อย มันก็อารมณ์รอบหนึ่งๆ นี่เวลาว่าปฏิสนธิจิต เวลาจิตเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นมนุษย์ แต่อารมณ์เกิดอารมณ์หนึ่งนั่นก็ชาติหนึ่งนะ ชาติของอารมณ์

อารมณ์หนึ่ง เห็นไหม ความโกรธหนึ่ง ความทุกข์หนึ่ง เวลาปล่อยความทุกข์หนึ่ง ประสบการณ์หนึ่ง วงรอบหนึ่งของจิต ปฏิจจสมุปบาทวงรอบหนึ่งของมัน รอบหนึ่งของมัน เวลามันปล่อยของมัน นี่มันจะเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น สิ่งที่มันผ่านไปแล้วก็คือผ่านมา เวลาเราเกิดตายนี่เราเกิดตายจากภพจากชาติเลยนะ แต่ประสบการณ์ของจิตเวลามันปล่อยเวทนา มันปล่อยต่างๆ มันก็เป็นประสบการณ์ของมันรอบหนึ่ง รอบหนึ่งก็เกิดอีก

คนเรานะ เกิดมานี่ความคิดหลากหลายมาก แต่เวลาความคิด นี่จิตที่มันเกิดตายๆๆๆ มันเกิดตายวันละกี่ร้อยรอบ มันเกิดตายวันละกี่พันรอบ มันเกิดมาแล้วแล้วความคิดก็ตายไป แล้วความคิดใหม่ก็เกิดอีก ความคิดใหม่ก็ตายไป มันเกิดจากจิตนั่นแหละ

ฉะนั้น “มันเป็นอาการของจิตใช่ไหม?”

ใช่ แล้ววิธีแก้ไข.. วิธีแก้นะสิ่งนั้นผ่านไปแล้ว เราก็ทำความสงบของใจ แล้วพิจารณาซ้ำให้มากขึ้น เห็นไหม ซ้ำมากขึ้น แยกมากขึ้น ถ้าจิตมันสงบแล้วจับเวทนาได้ ก็สู้กับเวทนาอีก จับจิตได้พิจารณาไปเรื่อยๆ เวลามันปล่อยแล้วนี่มันเป็นตทังคปหาน

นี่ที่เราว่าจิตยิ้ม จิตมันอะไร อันนี้มันเป็นศัพท์ แต่ถ้ามันพอใจมันสุขของมันนะ มันปล่อย มันว่าง มันโล่ง แต่ว่างโล่งขนาดไหน เห็นไหม สงสัย ในใจมีอะไรคาอยู่ในใจ มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ไง มันไม่ชำระล้าง ถ้ามันสมุจเฉทนี่นะมันจะสะอาด มันสะบัดทิ้งนะ มันสะเด็ดน้ำแล้วจะไม่มีอะไรคาใจเลย

แต่อย่างนี้ ว่างไหม? ว่าง.. สงสัยไหม? สงสัย.. รู้ไหม? รู้.. แล้วรู้เรื่องอะไร? ไม่รู้.. มันคาอยู่ เห็นไหม แต่มันเป็นอาการของมัน

วิธีแก้.. วิธีแก้คือสิ่งที่ได้มานั้นคือประสบการณ์ เราทำดีมาแล้ว อย่างเช่นชีวิตเราทั้งชีวิตหนึ่ง เราเคยทำธุรกิจเจริญรุ่งเรืองมา อันนี้ก็ฝังใจเราอยู่ แต่เวลาเราล้มลุกคลุกคลานล่ะ? เวลาเราคิดถึงที่เราเจริญรุ่งเรืองเราก็ภูมิใจ แต่ในปัจจุบันนี้กูล้มลุกคลุกคลานว่ะ กูแย่เต็มทีเลย จิตเวลามันพัฒนาแล้วมันปล่อย มันก็ขณะดีของมันหนหนึ่ง แล้วต่อไปมันจะเสื่อมไง ต่อไปมันก็จะล้มลุกคลุกคลาน แล้วพอมานึกถึงสิ่งนี้มันก็เป็นการยืนยันว่าเราเคยเห็น เราเคยเป็น แล้วเรามีความมุมานะว่าเราทำได้

นี่เขาให้ซ้ำ ให้พิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ หลวงตาบอกว่า คนเรานะ คนทุกข์ทนเข็ญใจ เวลาหาเงินได้ก้อนหนึ่งนี่สุขมาก เศรษฐี มหาเศรษฐีล้มละลายนะ แล้วมาทำความเพียรใหม่ มาทำธุรกิจใหม่ มันได้เงินมาเล็กๆ น้อยๆ มันคิดถึงอันเก่า มันไม่มีความสุขเหมือนกับคนทุกข์จนเข็ญใจ แล้วเขาทำธุรกิจประสบความสำเร็จเห็นไหม มีความสุข

การปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาจิตมันดี เหมือนคนทุกข์จนเข็ญใจเพราะเราไม่เคยเห็นอะไรเลย พอปฏิบัติไปแล้วนี่ อู๋ย.. สุดยอดเลย แหม.. ดีมากเลย ทีนี้พอมันรู้แล้ว พอมันเสื่อมนะ แล้วเวลาล้มลุกคลุกคลานแล้วจะไปเริ่มต้นใหม่นี่ โอ้โฮ..

เราจะบอกว่า เวลาเป็นนี่มันดี แต่เวลาจะเอามันขึ้นมาอีก อู้ฮู.. ทุกข์น่าดูเลย ต้องทำ ต้องเข้มแข็ง ต้องซ้ำเข้าไป การปฏิบัติ เห็นไหม ในเรื่องของวัตถุ ถ้าปฏิบัติได้แล้วก็คือได้กองอยู่นี่ แต่ถ้าเรื่องนามธรรมนะ ปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ได้แล้วเอาไว้อยู่นี่ แล้วอยู่ไหนล่ะ? ไม่มี หาไม่เจอ คือได้แล้วมันเป็นนามธรรมไง เราตั้งสติไม่เป็น สติเรารักษาไม่เป็น มันหายหมดนะ มันเสื่อมหมดไง เราถึงต้องพยายามตั้งสติแล้วทำให้ได้

ฉะนั้น คำถาม

ถาม : อาการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการของจิตใช่ไหม? และการที่หนูเฝ้าดูอาการ

หลวงพ่อ : เห็นไหม เฝ้าดูอาการ อาการคืออดีตนะ ปล่อยให้เป็นปัจจุบันไง

ถาม : การที่หนูเฝ้าดูอาการที่จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ มีความหมายอย่างไรบ้างคะ

หลวงพ่อ : สิ่งที่ผ่านไปแล้วเป็นอดีต อนาคต ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปัจจุบันธรรม สิ่งที่ผ่านมาแล้ว เป็นอดีตไปแล้ววาง นี่เป็นอดีตไปแล้ววาง มันเป็นการฝึกฝน ฝึกฝนให้จิตใจเราให้รู้จริง เห็นจริง ให้เห็นสิ่งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริงแล้ววางไว้ วางไว้แล้วเราทำของเราใหม่ เราทำของเรา ทำในปัจจุบัน ทำในปัจจุบันนั้น

กลับมาพุทโธ กลับมาอานาปานสติ กลับมาปัญญาอบรมสมาธิแล้วพิจารณาซ้ำแล้ว ซ้ำแล้ว นี่พอซ้ำแล้วมันจะเป็นอย่างนั้น.. นี่คืออาการอาการหนึ่ง นี่พอปัญญามันเกิดไง ถ้าปัญญาไม่เกิด เพราะตอนที่มันเกิดว่า ทำไมต้องให้กายเป็นนายล่ะ? นั่นล่ะมันไล่กันเข้ามาถึงจุดปลายทางแล้ว จุดนี้ถ้ามันทันปั๊บนะ พอปัญญามันทันปั๊บมันก็จบไง

แต่ถ้ามันคิดอยู่ข้างนอกนะ คิดอยู่เรื่อยแหละมันไม่มีผลหรอก แต่ถ้ามันไล่เข้ามาถึงฐีติจิต เข้ามาถึงต้นขั้วของมัน แล้วมันจบได้ไง พอมันพิจารณาแล้วมันปล่อยพั่บ! แล้วพอเวลาภาวนาครั้งต่อไปมันก็ไล่เข้ามาเรื่อย ไล่เข้ามาจนเข้ามาจุดศูนย์กลาง เข้ามาถึงต้นขั้ว พอต้นขั้วมันทันปั๊บมันก็ปล่อย ถ้าไม่ถึงต้นขั้วนะ นี่มันก็หมุนอยู่ในรอบมันนั่นแหละ วังวนอยู่อย่างนั้นแหละ ให้ทำอย่างนี้!

ถาม : ข้อ ๒. อาการที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน หนูเฝ้าดูแล้วท้อแท้

หลวงพ่อ : เห็นไหม ท้อแท้ หดหู่อะไรเนี่ย เวลามันเบื่อมันก็หดหู่ นี่เวลาล้มลุกคลุกคลาน โดยธรรมชาติของมันจิตนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง

“สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

ความหดหู่ ความท้อแท้ ความเบื่อหน่ายต่างๆ มันก็อนิจจังเหมือนกัน พอมันท้อแท้นะ เราสู้มันเดี๋ยวท้อแท้มันก็หายไป เดี๋ยวความเบื่อมันก็หายไป แต่เวลามันเป็นความว่าง เห็นไหม พอมันเบื่อ มันท้อแท้ มันสิ้นสุดกระบวนการของความว่างมันก็มาเบื่อหน่าย พอว่างๆ ขึ้นมาเบื่อ ว่างๆ ทำไมหดหู่ล่ะ?

นี่หดหู่ หรือท้อแท้ หรือความว่างนี่อนิจจังทั้งนั้นเลย พออนิจจังทั้งนั้น พอเรามีสติปัญญาปั๊บเราก็ตั้งตัวของเราใหม่ เราทำของเราใหม่ เห็นไหม

ถาม : อาการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการของการจดจำหรือเปล่า? และอาการที่หนูเล่ามานี้มีความหมายอย่างไร?

หลวงพ่อ : มันจะเป็นความจดจำก็แล้วแต่ มันเป็นประสบการณ์วางไว้ คำว่าวางไว้ๆ ถ้าไม่วางไว้นี่ตัณหาซ้อนตัณหา เราเคยมีเงินอยู่ แล้วเราใช้เงินหมดไปแล้ว เวลาหาเงินก็อย่างหนึ่งนะ แต่ไปคิดถึงเงินเก่าๆๆ อยู่นั่นแหละ นั่นคือสัญญาวางให้ได้

คนเรามันมีทั้งสูง ทั้งต่ำ มันมีลุ่มๆ ดอนๆ ในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น ปัจจุบันมีเท่าไร? ปัจจุบันทำได้อย่างไร? นี่วางให้ได้ ถ้าวางไม่ได้ เราไปคิดแต่เรื่องเงินเก่าๆ เห็นไหม ตัณหาซ้อนตัณหา เพราะความคิดเรื่องเงินเก่าๆ ก็เป็นภาระรุงรังในใจ ขณะงานทำปัจจุบันนี้ก็เป็นภาระรุงรังในใจ เห็นไหม ตัณหาซ้อนตัณหามันเข้ามาสอง มันกระทบสอง

ขณะที่ทำงานปัจจุบันมันก็เป็นความทุกข์ ความยากอันหนึ่งเลยแหละ ทำงานก็ทำอย่างนี้แหละ แต่ไอ้ที่คิดถึงปัญหาเก่าๆ วางให้หมด นี่มันก็เหลือแต่สัญชาตญาณ คือกิเลสเพรียวๆ กิเลสซึ่งๆ หน้า กิเลสตรงๆ แต่ถ้ากิเลสตรงๆ ก็มีอยู่ แล้วก็ไปวิตกกังวลว่าเคยดี เคยเด่น เคยอะไรมา เห็นไหม กิเลสมันซ้อนมา ๒ ชั้น ๓ ชั้น

นี่วางให้ได้ ถ้าเราวางได้เท่ากับเราผ่อนคลายเราเอง เราวางไว้ เราทำให้หัวใจเราไม่ต้องแบกรับภาระ ๒ ข้าง ๓ ข้าง ไม่ใช่ภาระ เห็นไหม ศัตรูรอบด้านเลย ให้ศัตรูเหลือตัวเดียว ศัตรูเฉพาะกิเลสซึ่งๆ หน้านะ นี่เอาซึ่งๆ หน้าแล้ววางให้ได้ แล้วทำไป แล้วซ้ำไป นี่ถ้าทำไปแล้วมันจะกลับมาเหมือนข้างต้น มันจะทัน แล้วมันจะปล่อยของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป.. นี่พูดถึงการปฏิบัตินะ!

นี่อันนี้มันจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คน อันนี้นะ ข้อ ๕๖๘.

ถาม : ๕๖๘. เรื่อง “แค่นี้ก็ทุกข์ได้”

หลวงพ่อ : เขาถามมานะ แค่นี้ก็ทุกข์ได้ เพราะเขารู้ของเขาเองไง แล้วเขาถามว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง หนูขอเล่ารายละเอียด ตอนนี้หนูไม่ได้ภาวนาเป็นกิจจะลักษณะ เพราะทำงาน ๒ ที่ เวลาไม่ว่างติดกันเป็นเวลานาน กลับบ้านดึก นอนตี ๑ ตี ๒ แต่อาศัยระหว่างวัน ระหว่างการเดินทาง ก่อนนอน และก่อนตื่นนอน ทำความรู้สึกตัวหรือภาวนาพุทโธ ปกติหนูจะชอบทบทวนตัวเองในตอนเงียบๆ อยู่คนเดียว เช่น ทำไมเราถึงทำแบบนั้น? หรือทำไมเราถึงรู้สึกแบบนั้น? หาสาเหตุ ทีนี้ก็มีเหตุให้เขียนมาถามหลวงพ่อค่ะ

ข้อ ๑. วันหนึ่ง หนูก็ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ที่ทำงาน หลังจากกลับบ้านพักผ่อนหนูก็พิจารณาตัวเอง มันรู้สึกเหมือนนี่มันหลอก มันไม่จริง มันเหมือนละคร มันเหมือนทำเข้าไปได้อย่างไร? คือหนูเป็นคนจริงใจ ไม่ได้เสแสร้ง ไม่โอเว่อร์ แต่พอพิจารณาแล้วรู้สึกแบบนั้นค่ะ เป็นระยะเวลาประมาณ ๒ อาทิตย์

ข้อ ๒. ทีนี้หนูก็คิดว่า ถ้ามันเป็นธรรม มันต้องรู้สึกยินดี ร่าเริง แต่หนูกลับรู้สึกไม่ดี มันเหมือนกลัว เหมือนเราเพี้ยน หมายถึงการกระทำ การแสดงออก ถ้ามองให้ลึกลงไป ในหัวใจมันก็ทุกข์ ทั้งที่ความคิดเรามีสติ มีตัวรู้อยู่

ข้อ ๓. ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ หนูเกรงว่าถ้าคิดพิจารณาเองอาจจะเพี้ยนจากความเป็นจริง จึงขอเรียนลัด ขอให้หลวงพ่อเมตตาช่วยแนะด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : ข้อที่ ๑. นะ ทำกิจกรรมกับเพื่อน แล้วกลับไปแล้วมันไปคิดเอาเองไง ว่านี่มันเป็นการหลอกกัน มันไม่จริงใจ มันเหมือนละคร นี่มันทำให้มีความรู้สึกไง เราจะพูดอย่างนี้นะ

“โลกกับธรรม”

โลกกับธรรมนะ เราอยู่กับโลก เห็นไหม สิ่งที่โลกกับธรรมเขาบอกว่า เวลาธรรมะนี่เห็นไหม น้ำบนใบบัว น้ำมันไม่ติดบนใบบัว ถ้าเป็นธรรม ธรรมนี่มันจะเข้าใจสภาวะความเป็นจริง แล้วมันปล่อยวางไว้ได้ แต่! แต่ในเมื่อเราอยู่กับโลก

นี่โลกกับธรรมนะ เราทำงานด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เวลาเรากลับไปบ้านนะ เออ.. มันหลอกเนาะ มันเสแสร้งเนาะ มันไม่จริงเนาะ มันทำไปได้อย่างไร? นี่ทำแล้วรู้สึกมันสะเทือนใจ ถ้ามันสะเทือนใจ เห็นไหม นี่เราอยู่กับโลกไง

โลกกับธรรมนะ ฉะนั้น ถ้าเราอยู่กับโลกกับธรรมนี่เรามีปัญญาที่เหนือกว่า อย่างเช่นผู้ใหญ่คุยกับเด็ก เด็กมันเล่นอะไรอย่างไร เราจะควบคุมมันอย่างไร? เราจะเข้าใจอย่างไร? เวลาเราจะคุยกับเด็กนะ เราต้องลดอายุเราเท่ากับเด็ก มีความรู้สึกเท่ากันแล้วคุยกับมัน ถ้าเราเอาอายุเราคุยกับเด็กนะไม่รู้เรื่องหรอก แล้วมันเข้าใจกันไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน โลกกับธรรมนะ นี่ความคิดทางโลกไง เราอยู่กับเขา โลกเป็นอย่างหนึ่ง ธรรมเป็นอย่างหนึ่งแต่อยู่ด้วยกัน ถ้าอยู่ด้วยกันนี่มันเหมือนกับผู้บริหารเลย เราต้องบริหารจัดการองค์กร นี่เราจะควบคุมลูกน้องเราได้อย่างไร? เราจะดูแลลูกน้องเราได้อย่างไร? นี่มันต้องให้งานนี้ขับเคลื่อนไปได้

นี่พูดความจริงมากเท่าไร แต่ถ้าเรารู้เรารู้จริงๆ ถ้ามันเป็นธรรม เห็นไหม เป็นธรรมนี่เรานั่งอยู่ของเราคนเดียว นี่อยู่โคนต้นไม้คนเดียว เราบริหารจิตใจของเรามันเป็นเรื่องจริงเลย แล้วเราควบคุมมันให้ได้ แต่นี้เราควบคุมใจเราได้แล้วใช่ไหม? แต่เราอยู่กับหมู่คณะ อยู่กับเพื่อนมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่งเรารักษาใจอย่างไร?

เวลาเขาเขียน เห็นไหม นี่จิตใจที่มันออกไปข้างนอก มันส่งออกๆ มันส่งออกอย่างใด? ถ้าเราเข้าใจตรงนี้นะมันจะเป็นประโยชน์กับเราได้ นี่เขาเรียก “โลกกับธรรม” โลกกับธรรมนะ ถ้ามันมีสติมันดีมากเลย นี่เพราะทำแล้วเรากลับไปทบทวน เห็นไหม เขาบอกว่าเขาภาวนานี่ เขาไม่ได้ภาวนาเป็นกิจจะลักษณะ แต่เขาทบทวนเอา แต่มันก็สังเวช มันมีความทุกข์ไง มันมีความทุกข์ มีในหัวใจว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น

มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาธรรมะพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว

“มนุษย์คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง”

ฉะนั้น เวลาเขาพูด มรรยาทสังคมเขาก็ต้องพูดเอาใจกัน เวลาเราพูด เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า กิเลสมันอยู่ในหัวใจ ฉะนั้น เวลาเราจะแสดงธรรม ต้องแสดงให้ธรรมนี้มันพุ่งเข้าไปชนกิเลสเลย คือพุ่งเข้าไปในหัวใจของสัตว์โลกเลย มันก็เหมือนทางโลกว่าเป็นการพูดแทงใจดำ ทีนี้การพูดแทงใจดำมันพูดแล้วมันรับไม่ได้ไง

แต่ถ้าพูดโดยมรรยาทสังคมมันก็ผิวเผิน มรรยาทสังคมนี่สะเทือนใจกันไม่ได้ ต่างๆ ไม่ได้ นี่ถ้าเป็นโลกเขาทำกันอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม เวลาเตือนโอ้โฮ.. พอเตือนนี่มองหน้าเลยนะ จับผิดกันนี่หว่า จับผิดอย่างเดียว อ้าว.. ก็มันผิดจริงๆ ก็บอกกัน ถ้าเป็นธรรมมันบอกได้ นี่พูดถึงโลกกับธรรมนะ

ถาม : ข้อ ๒. ทีนี้หนูคิดว่า ถ้ามันเป็นธรรม มันต้องรู้สึกยินดี ร่าเริง แต่หนูกลับรู้สึกไม่ดี เหมือนกลัว เหมือนเราเพี้ยน ถ้าเรามองให้ลึกลงไปในหัวใจมันก็เป็นทุกข์ ทั้งที่เราคิดว่าเรามีสติ มีตัวรู้

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่านะ “ปลงธรรมสังเวช” เวลาธรรมสังเวช ถ้ามีสติมันเป็นอย่างนี้แหละ นี่หนูเขียนมาหนูมีสติ หนูเขียนมาเป็นอย่างนี้ ถ้าหนูขาดสตินะ หนูไปกับเขาสบายเลย แล้วจะเป็นหัวหน้าชวนเขาด้วย คนเราถ้ามีสตินะมันเป็นธรรมนะ หลวงตาบอก

“ทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีสติเราจะมองออกเลยว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว แล้วถ้ามันเป็นความชั่ว มันสะเทือนใจเรา เราจะสะเทือนใจมาก”

คำว่าสะเทือนใจนี้คืออะไร? คือธรรม ธรรมสังเวชไง ดูสิเวลาเขาปลงธรรมสังเวช ไปดูซากศพ เห็นไหม ดูแล้วคอตกเลยนะ มรณานุสติดูแล้วเศร้าใจ มันสังเวช แล้วมันเป็นธรรม ถ้าสังเวชเป็นธรรมนี่มันเบรกได้หมดนะ รถเวลามันไปได้เร็วมาก เขามีเบรกเขาจะเบรกรถนั้น ชะลอรถนั้นได้

ความคิดเรามันเห่อเหิม มันไปเต็มที่เลย มันไปเต็มที่เลย ถ้าเราไปพิจารณาธรรมนี่มันเบรกเลยนะ เบรกชีวิตเรา เบรกอารมณ์ความรู้สึก เบรกตัวเราอยู่ได้เลย นี่ธรรมสังเวช มันสังเวชแล้วน้ำตาไหล น้ำตาร่วง ธรรมสังเวช!

ฉะนั้น เขาสงสัยไง เขาสงสัยว่าทำไมมันเป็นทุกข์ล่ะ มันต้องร่าเริงสิ คำว่าร่าเริง ร่าเริงจะให้ดูมหรสพหรือ? ร่าเริงในธรรมนี่นะมันปล่อยวาง มันมีความสุขนะ อย่างเช่นมันพิจารณาแล้วนี่ ถ้ามันเป็นธรรม มันต้องรู้สึกยินดี ร่าเริงสิ แต่หนูกลับรู้สึกว่ามันเป็นความกลัว เหมือนเราเพี้ยนไป ถ้ามันเป็นความกลัวเหมือนเราเพี้ยนไป เห็นไหม ในการแสดงออกแบบนั้นเราก็ไม่แสดงออก เราอยู่ในใจของเรา อยู่ในใจของเรา เราทันใจของเรา ทันใจของเรา

นี้คำถามเขาบอกว่าเขาไม่ได้ภาวนานะ เพียงแต่เขามาตรึก เขาบอกว่าเขาคิดระหว่าง เขาคิดทบทวน แล้วอารมณ์ความรู้สึกมันเกิด เห็นไหม เขายังไม่ได้ภาวนานะ ถ้าภาวนามันเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ นี้เขาไม่ได้ภาวนา เขาเพียงแต่เอาความคิด เอากระบวนการความคิดของเขานี่มาทบทวน พอทบทวนเขาก็เกิดอาการแบบนี้ พอเกิดอาการแบบนี้ขึ้นมามันสังเวช

อาการทบทวนนี่นะ เพราะเราทำงานกัน คนเรานี่ถ้าผิดพลาด ผิดพลาดเพราะขาดสติ ผิดพลาดเพราะเข้าข้างตัวเอง ผิดพลาดเพราะเรารู้ เราดี เราเก่ง เราแน่ แล้วมันทำให้เราผิดพลาดตัวเอง แต่พอมาทบทวนนี่ปัญญาอบรมสมาธิ พอทบทวนตัวเรา เห็นไหม

นี่วันหนึ่งๆ พ่อแม่สอนลูกก็ตรงนี้แหละ อยากให้ลูกได้คิด อยากให้ลูกได้เป็นคนดี แล้วนี่เราทบทวนตัวเราเอง ปัจจัตตัง เราทบทวนเราเอง เราดูตัวเราเอง ทบทวนเราเอง แล้วถ้ามีสตินะ แล้วมาภาวนาไปมันจะย้อนกลับเข้ามาข้างใน

“นี่ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อันนี้ประเสริฐ ในธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนเรื่อง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แต่กว่าตนจะเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ ตนต้องมีคนชี้นำถ้าคนอ่อนแอ ถ้าเราทบทวนเราได้ เราก็ว่าเราเป็นคนดีคนหนึ่งแหละ แล้วนี่มีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้วใช่ไหม เราถึงได้ประโยชน์ตรงนี้ขึ้นมาไง

ถาม : ข้อ ๓. ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ หนูเกรงว่าความคิดพิจารณาเองอาจจะเพี้ยนจากความเป็นจริง หนูขอเรียนทางลัดค่ะ

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) พิจารณาไปเรื่อยๆ นี่แหละ ถ้าสติมันดีนะ เราพิจารณาของเราไปมันจะดีขึ้นมา แล้วกรณีอย่างนี้ หนึ่งตัวเราเป็นคนดีก่อน เห็นไหม เราอยู่ในสังคมเพื่อนฝูงที่ทำด้วยกัน สังคมนี่ผู้ทำงานร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วเรามาคิดดู เอ๊ะ.. นี่มันไม่จริงนี่หว่า นี่มันหลอกกันนี่หว่า เห็นไหม เรายังรู้ทันได้

นี่สิ่งนี้มันไม่จริง นี้มันหลอกกัน แต่! แต่สังคมเขาต้องอยู่กันอย่างนี้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ฉะนั้น ความสามัคคี ในองค์กรการทำงานร่วมกันเขาต้องบริหารจัดการของเขา โลกเป็นแบบนี้ โลกกับธรรม โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน คนเดียวกันนี่หัวใจนะ..

ดูสิเหรียญมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นโลก บริหารจัดการทางโลก อีกด้านหนึ่งเป็นธรรม ต้องเอาตัวเองรอดให้ได้ ต้องเอาตัวเองให้พ้นจากกิเลสให้ได้ แต่พ้นจากกิเลสมันเป็นเรื่องส่วนตัว มันเรื่องส่วนในหัวใจ แต่เรื่องของโลกนี่เราอยู่กับเขา เราต้องบริหารจัดการอย่างไร?

อย่างเช่นพระ เห็นไหม พระบอกเลย อู้ฮู.. พระเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ต้องยุ่งกับโลกเลย แล้วจะไปบิณฑบาตที่ไหนล่ะ? เช้าก็ยังบิณฑบาตนะ ยังไปบ้านเขาอยู่ นี่ในเมื่ออาหาร ๔ ของสัตว์โลก กวฬิงการาหาร วิญญาณาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร ในเมื่อชีวิตนี้มันต้องการอาหาร ชีวิตนี้ก็ต้องการพ้นทุกข์ด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติธรรมวินัยนี้ไว้ไง

นี่เวลาคฤหัสถ์ก็ให้ทำบุญ ตักข้าวปากหม้อใส่บาตร.. ผู้ทรงศีล นี่ในเมื่อทรงศีลใช่ไหม ต้องการพ้นจากทุกข์ใช่ไหม? เราไปทำไร่ไถนามันก็ผิดศีลไปหมดแหละ ทำไร่ไถนาก็ผิดศีลไปหมด เราก็เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง บิณฑบาต นี่พระพุทธเจ้าฉลาดมาก ให้ฆราวาสเขาก็ได้ทำประโยชน์ของเขา พระถ้าเอาตามจริงนะ เอาความเป็นจริงนะ ก็ปัจจัย ๔ ก็บิณฑบาตเลี้ยงชีพ

ฉะนั้น สิ่งที่ทำ เห็นไหม มันต้องมี อาหารมันต้องมี ฉะนั้น ถ้าจะไม่ยุ่งกับใครก็ต้องเป็นนักบวช แต่ถ้ายุ่งกับเขาเราต้องมีหน้าที่การงาน ก็ต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ นี่มันอยู่ที่ภาวะเป็นไปได้

ฉะนั้นเขาบอกว่า “ถ้าหนูปล่อยไปเรื่อยๆ การพิจารณาอาจจะเพี้ยนได้”

ถ้ามีสติมันไม่เพี้ยน ถ้ามีสตินะมันจะละเอียดขึ้น ดีขึ้น ฉะนั้น ทำงานนี่ งานบริหารจัดการอย่างนี้ดี ดีหมายความว่า เวลามีสติคิดนี่มันพักใจ ไม่เครียด ไม่เหนื่อยนะ คนเราทำงานเต็มที่นะ โรคเครียดนี่ บริหารจัดการขึ้นมาเครียดมาก ทุกข์กังวลมาก นี่มันต้องพักไง แต่พอมาพิจารณาอย่างนี้ นี่ใจมันพักโดยตัวมันเอง พอใจมันพักเหมือนเครื่องยนต์ เครื่องยนต์พอมันพัก เห็นไหม เครื่องยนต์มันก็ไม่ร้อน

นี่จิตใจมันได้พักของมัน มันก็มีสติปัญญาคิดสิ่งใดได้ ถ้าจิตใจไม่ได้พักนะ มันคิดแต่เรื่องงาน หมกมุ่นอยู่กับเรื่องงาน จิตใจหนักหน่วงอยู่กับเรื่องงาน นี่ทุกข์มาก แต่พอมันใช้ปัญญาทบทวนมันได้พัก มันได้พัก พอได้พักขึ้นมามันถึงได้มีความคิด เห็นไหม ความคิดในธรรมมันไม่เหมือนกับโลก พอความคิดในธรรมเราก็เห็น อย่างนี้ไม่จริง อย่างนี้หลอกลวง อย่างนี้เป็นเรื่องของเล่นละคร

ก็โลกนี้คือละคร ชีวิตนี้ก็คือละคร แต่ละครแบบโลก แต่จิตใจนี่ทำจริงได้จริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราก็ทำจริงของเรา เห็นไหม ฉะนั้น ถ้าหนูพิจารณาไปแล้วหนูจะเพี้ยน ถ้ามีสติแล้วไม่เพี้ยน ไม่เพี้ยน

นี่พูดถึงว่า เรื่อง “แค่นี้ก็ทุกข์ได้” แค่อารมณ์ความรู้สึก ความจริงเขาพูดผิด วัตถุทุกข์ไม่ได้ เงินทุกข์ไม่ได้ เพชร นิล จินดาทุกข์ไม่ได้ คนที่ไปเกาะเกี่ยวมันต่างหากที่ทุกข์ แล้วนี่เขาบอกว่า “แค่นี้ก็ทุกข์ได้” นี่คือตัวทุกข์เลยล่ะ อารมณ์ความรู้สึก จิตนี่คือตัวทุกข์เลยล่ะ อย่างอื่นเราไปเกาะเกี่ยวมันเฉยๆ

“แค่นี้ก็ทุกข์ได้” แต่ทุกข์เพื่อให้เราพิจารณานะ พิจารณาเพื่อจะเป็นประโยชน์กับเรา

ข้อ ๕๖๙. เนาะ ข้อ ๕๖๙. เขาถามมาแปลกๆ เลยล่ะ ถามมาคำเดียว “จิต”

ถาม : หลวงพ่ออธิบายเรื่อง “จิต” ผู้รู้ วิญญาณ จิต การทำลายภพ คนบ้าไม่มีสติ ตัวผู้รู้ที่ถูกต้องต้องมีสติ แต่ที่ไม่มีผู้รู้ไม่ใช่สติ ถ้าไม่มีตัวรู้ไม่ใช่ผู้รู้

หลวงพ่อ : อืม.. อันนี้คำถามเขาเนาะ คำถามนี่เวลาคนไข้ไปโรงพยาบาล ถ้าคนไข้คนไหนไปโรงพยาบาลนะ แล้วเจ็บไข้ได้ป่วย หมอเขาจะดูอาการ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยพอประมาณ หมอก็ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้าคนไข้คนไหนควรนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เขาก็จะรับไว้ในโรงพยาบาล ฉะนั้น ถ้าคนไข้ผู้ป่วยเล็กน้อย หรือไม่ป่วยเลย เราไปตรวจร่างกายเป็นเวลาเขาก็ให้กลับบ้าน

อันนี้ก็เหมือนกัน คำถามนี่ คนถามไม่ใช่ผู้ป่วย คือคนถามไม่ได้สงสัยอะไรเลย แล้วจะให้ตอบเรื่องอะไรล่ะ? (หัวเราะ) ถามเรื่องจิต นี่ก็คือเขาคงจะฟังเว็บไซต์ เพราะว่า ผู้รู้ วิญญาณ จิต การทำลายภพ คนบ้าไม่มีสติ ผู้รู้ไม่มีสติไม่ใช่ผู้รู้ อะไรเนี่ย เพราะนี่เขาจับประเด็นจากที่บอกว่าคนบ้า..

เราพูดถึงจิตไง ระหว่างคนบ้ากับคนไม่บ้า คนบ้าก็มีจิตเหมือนกัน แต่ไม่มีสติ แต่คนดี เห็นไหม นี่มันมีสติและมีสมาธิด้วยก็เลยไม่บ้า การทำลายภพก็คือการทำลายกิเลส เพราะกิเลสอาศัยอยู่บนภพ ภพหยาบ ภพละเอียด มีผู้รู้ก็มีการกระทำ ถ้ามีผู้รู้มันก็มีการพิจารณา

ผู้รู้ เห็นไหม วิญญาณ.. วิญญาณนี่วิญญาณอะไรล่ะ? วิญญาณในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณ

จิต! จิตก็คือจิต จิตคือใจ ทีนี้เวลาอธิบาย เพราะว่ามันต้องบอกผู้ที่ภาวนา ภาวนาติดขัดสิ่งใด ก็ถามมาเป็นสิ่งนั้น อันนี้เวลาฟังจากเว็บไซต์ ฟังเทศน์แล้วนี่มันสงสัย สงสัยก็เอาสิ่งที่เป็นความสงสัยนั้นตั้ง ตั้งขึ้นมานะ แล้วใช้ปัญญาพิจารณา เดี๋ยวมันจะเกิดปัญญาแตกแขนงออกไปเป็นปัญญาของเรา

นี่เวลาฟังเทศน์นะมันเป็นศัพท์ เห็นไหม ผู้รู้ วิญญาณ จิต ทำลายภพ คนบ้าไม่มีสติ ผู้รู้มีสติ อะไรเนี่ย แล้วเราก็ตั้งเป็นประเด็นสิ เราตั้งเป็นประเด็นใช่ไหม แล้วเราก็พิจารณาของเราสิ ว่าผู้เทศน์เทศน์จริงหรือเปล่า ผู้เทศน์ว่าอย่างนี้ แล้วความจริงของเรามันจะเหนือผู้เทศน์ได้มากน้อยแค่ไหน? โอ๋ย.. ผู้เทศน์แสดงว่าเทศน์ไม่จริง ผู้เทศน์เทศน์ไม่ถูก เราพิจารณาไปแล้วมันจะแตกแขนงไป ปัญญาเราจะไล่ไป เออ.. เรารู้จริง รู้กว้างขวาง รู้พิเศษ เออ.. อย่างนี้จะได้ประโยชน์

ให้ตั้งขึ้นมา ให้กลับไปเอาคำถามนี่ตั้งเป็นประเด็นนะ แล้วใช้ปัญญาไล่ เอาปัญญาไล่เลย ปัญญาของเราไล่เข้าไปเลย ผู้รู้อยู่ที่ไหน? ผู้รู้มีจริงหรือเปล่า? นี่วิญญาณมีจริงหรือเปล่า? จิตเห็นอยู่ที่ไหน? การทำลายภพทำลายอย่างไร? คนบ้ากับคนไม่บ้ามันแตกต่างกันอย่างไรนะ เราใช้สติเรา ใช้ปัญญาเราไล่เข้าไปเลย เดี๋ยวเราจะเกิดปัญญาขึ้นมามหาศาลเลย พอเราเกิดปัญญาขึ้นมาได้นะ แล้วไปจดลิขสิทธิ์ไว้เลย เดี๋ยวจะมีคนเอาปัญญานั้นมาใช้

เวลาปัญญามันเกิดนะไปจดลิขสิทธิ์ไว้เลย บอกว่านี่ปัญญาเกิดจากการไตร่ตรองของเราเอง ไม่ใช่ปัญญาของพระพุทธเจ้า นี่ไปจดลิขสิทธิ์ไว้เลย.. เพราะมันไม่ใช่ประเด็นไง ที่เราพูดอย่างนี้มันอยู่ที่เวลาการให้ยา เวลาคนภาวนาขึ้นมา คนติดขัดของเขาใช่ไหม? ติดขัดขึ้นมานี่เขาบอกว่าเขามีความยึดมั่นอย่างนั้น เราก็บอกว่าคนบ้ากับคนไม่บ้ามันต่างกันอย่างนี้

เวลาเขาสอน เทคนิคการสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาท่านสอนคนนะ บอกว่าถ้าคนที่มันมีภัยอันตราย ท่านบอกให้ดำรงชีวิตแบบเต่า เพราะเต่านี่นะ เวลามันเจอภัยมันจะหดตัวเข้ามาหมดเลย หดเข้ามาในกระดอง เพราะกระดองนี่มันจะรักษาตัวมันได้

พระพุทธเจ้าเวลาท่านเทศน์ ท่านสอนคนนี่นะ ท่านจะมีบุคลาธิษฐาน เทคนิคการสอน ท่านสอนของท่าน แล้วท่านสอนมันจะได้คนๆ นั้นแหละ คนที่เขากำลังมีความคิดอย่างนั้น พอเขามีความคิดอย่างนั้นปั๊บ พระพุทธเจ้าสอนแบบเต่าปั๊บ เขาจะปิ๊ง! เลยนะ แต่เราก็เอาโจทย์นั้นมาตั้ง แล้วเราก็พิจารณาอยู่ เราไม่ค่อยได้ผลหรอก ได้ผลน้อยมาก แต่มันเพียงแต่เป็นคติธรรมที่เราเอามาระลึกกันเท่านั้นเอง

อันนี้ก็เหมือนกัน ตัวเองไม่ได้สงสัยเรื่องอย่างนี้ คือตัวเองไม่ได้เป็นคนไข้ ให้ยาไปก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องหรอก แต่ถ้าเป็นคนไข้นะ คนที่มัน เอ๊ะ.. ผู้รู้อยู่ไหน? ค้นหาผู้รู้ไม่เจอนะ เขาบอกว่าที่เอ็งหาอยู่ก็อยู่ที่เอ็งนั่นแหละ แหม.. มันจะปิ๊ง! เลย อ๋อ! อ๋อ!

แล้วหาผู้รู้เราก็เดินใหญ่เลยนะ ไปบ้านคนนู้น ไปหาที่นี่ ไอ้คนที่เดินอยู่ผู้รู้มันอยู่ในใจ แล้วมันวิ่งหายไปไหนล่ะ? นี่เวลาพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ท่านจะแก้นะ ท่านแบบช็อตไง ช็อตให้เขาได้สติกลับมา ปึ๊ก! เขาจะได้ประโยชน์ของเขา

นี้พูดถึงการจะแก้ไง ฉะนั้น ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นโจทย์มาเลย เป็นโจทย์มาเลย เป็นอย่างนี้มันก็เท่ากับเป็นปริยัติไง คือตั้งโจทย์มาแล้วก็ให้ตอบ ตั้งโจทย์มาแล้วก็ให้ตอบ แล้วตอบให้ใครฟังล่ะ? ก็ตอบให้กระดาษฟังไง ก็เขียนมาในกระดาษใช่ไหม? ตอบเสร็จแล้วกระดาษก็จดไป แล้วมันก็อยู่ในกระดาษนั่นแหละ แต่ถ้าภาวนามันจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

นี่พูดถึงนะ โอ้โฮ.. ให้อธิบายเลย เห็นอย่างนี้แล้วมันแบบว่าเราสะเทือนใจเอง เราสะเทือนใจว่าเวลาเราพูดนี่พูดให้จิตฟัง พูดให้คนภาวนาฟัง พูดให้ความรู้สึกฟัง แต่เวลามันตอบกลับมานี่มันเป็นกระดาษ เป็นโจทย์ เป็นสิ่งที่เหนื่อยเปล่า มันเสียแรง แต่ถ้าพูดไปแล้วนะจิตมันฟัง คนจิตฟังมันก็ไปพิจารณาของมันใช่ไหม? ภาคปฏิบัติไง ภาคปฏิบัติคือค้นคว้าหาเหตุหาผล แต่ถ้าเป็นภาคปริยัตินี่เรียนเอาความรู้กัน แล้วก็มาเถียงกันปากเปียกปากแฉะ

“ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” ไอ้นี่ธรรมะ โอ้โฮ.. เถียงกันจะเอาหน้าดำหน้าแดงไง มันเห็นปัญหาแล้วมันสะเทือนเลย พูดให้ใครฟังวะเนี่ย

ฉะนั้น ข้อ ๕๗๐. เนาะ อันนี้เขาถามมาเหมือนกัน คำพูดเราอีกแหละ แปลกเนาะ มันฟังเว็บไซต์ แล้วมันก็เอาในเว็บไซต์แหละถามกูกลับมา ไม่รู้ไม่มีปัญหาใหม่เลย ปัญหาพูดไปในเว็บไซต์นั่นแหละ แล้วก็ฟังในเว็บไซต์นั่นแหละ แล้วก็กลับมาถามอีก

ถาม : ๕๗๐. เรื่อง “กราบพระให้โดนพระ ควรตั้งใจอย่างใด”

หลวงพ่อ : เออ.. เวียนหัวเลย (หัวเราะ)

ถาม : ขออภัยที่ถามคำถามที่ไม่เป็นการภาวนา เนื่องจากกระผมได้ฟังเทศน์ของอาจารย์อยู่ตอนหนึ่ง (ก็เทศน์เรานั่นแหละ) แล้วติดคำสอนอยู่ในใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือการที่ไหว้พระหรือกราบพระให้โดนพระ (ผมไม่แน่ใจว่าหลวงพ่อใช้คำว่าโดนพระหรือถึงพระ ขออภัยด้วย) ซึ่งเป็นคำสอนของอาจารย์มหาบัว ที่อาจารย์สงบเคยยกขึ้นมากล่าวถึง

ผมขอกราบเรียนถามว่า การไหว้พระให้โดนพระเราควรตั้งจิตอย่างไร? ในขณะที่ผมกราบพระ ที่ผ่านมาผมจะพยายามข่มใจให้นิ่งสักครู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอธิษฐานหรือตั้งจิตอย่างใด ได้แต่นึกถึงรูปพระพุทธรูปที่นึกออกมาได้ขณะนั้น หรือนึกถึงครูบาอาจารย์ที่กระผมเคารพนับถือ บางครั้งก็นึกพร้อมๆ กัน แต่ผลที่ได้ส่วนใหญ่ใจจะแกว่ง สับสน ลังเล ไม่แน่ใจว่าจะตั้งจิตอย่างไร กลายเป็นว่าแทนที่จะมีความสงบ กลับได้ความว้าวุ่นไปแทน เพราะช่วงเวลาที่กราบหรือไหว้พระมีเพียงไม่กี่วินาที ผมตั้งจิตไม่ถูกและไม่ทัน กระผมอยากขอให้อาจารย์ช่วยพิจารณาอธิบายด้วย

หลวงพ่อ : มันอยู่ที่จริตของคน คนที่มุ่งมั่น ทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ เราโลเล เพราะความโลเลของเรา ประเพณีถึงบอกว่าเวลาทำบุญแล้วกรวดน้ำต้องรินน้ำๆ รินน้ำเพราะคนเราโลเล นี่กรวดน้ำๆ ถ้ากรวดน้ำนะ กรวดน้ำแล้วได้บุญนะ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลองมันได้บุญที่สุด มันไหลทั้งวันเลย แต่เพราะพวกเรามันโลเล เขาถึงให้เอาน้ำมารินไง

มันเป็นประเพณีเฉยๆ นะ พอรินน้ำขึ้นมาเราก็จ้องที่น้ำใช่ไหมให้จิตใจเรามั่นคง พอมั่นคงเราก็อุทิศส่วนกุศลไง แต่ถ้าคนเขามั่นคงแล้วนะเขาไม่ต้องใช้น้ำนั้น เขาใช้กำลังจิตไง เขาเรียกว่า “กรวดแห้ง” ไง กรวดน้ำเปียก กับกรวดน้ำแห้ง กรวดน้ำเปียกก็คือเอาน้ำมาริน เอามารินไว้ให้ใจเราเพ่งที่น้ำไง พอจิตใจเราเพ่งที่น้ำแล้วก็ เออ.. จิตมันไม่วอกแวก เราก็อุทิศส่วนกุศลไป เพราะถ้าจิตไม่วอกแวก เราอุทิศส่วนกุศลมันจะได้บุญมาก

ฉะนั้น นี่เวลากรวดน้ำเขาก็เหตุผลอันเดียวกันนี่แหละ นี่พูดถึงเวลาเรากราบพระ เห็นไหม เวลากราบพระมันเหมือนกับที่นั่นสกปรกเลย ไปถึงก็แผล็บๆ แผล็บๆ มันจะไปปัดให้สะอาดไง กราบ ๓ ที แผล็บๆ แผล็บๆ ไปแล้ว ทำเป็นพิธีกันเฉยๆ ไง

แต่เมื่อก่อนหลวงตาท่านแข็งแรงนะ ใครเห็นหลวงตากราบพระสะดุ้งหมดนะ ท่านกราบพระนะอู้ฮู.. กราบน้อมลงนะ แต่ละเที่ยวนะท่านกราบจากหัวใจ ใครเห็นแล้วมันดูดดื่ม คือท่านคิดถึง ท่านระลึกถึงพระพุทธเจ้า ท่านกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยกิริยามรรยาทออกจากใจไง คือมันออกจากใจ กราบด้วยความนุ่มนวล โอ้โฮ.. กราบได้สวยงาม โอ๋ย.. คนเห็นก็ยังทึ่งเลย แต่เดี๋ยวนี้ท่านชราภาพท่านก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อก่อนเวลากราบพระ ลูกศิษย์เขาจะคุยกัน

“ให้ดูหลวงตากราบพระ ให้ดูหลวงตากราบพระ”

ท่านกราบของท่านด้วยหัวใจนะ กราบนี่โอ้โฮ.. หนึ่งกราบพระพุทธ กราบพระธรรม กราบพระสงฆ์ แล้วก็กราบ.. ท่านกราบ ๗ หนหรือ ๙ หน กราบบนศาลานี่ เพราะกราบถึงอุปัชฌาย์ท่านด้วย กราบถึงสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กราบถึงอาจารย์เก่าๆ ของท่าน ท่านกราบจากหัวใจ ฉะนั้น นี่กราบพระถึงพระเขากราบกันอย่างนั้น เขากราบถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เขากราบถึงปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมตตาคุณ เมตตา ความเมตตาของพระพุทธเจ้า ความเมตตา ปัญญาของพระพุทธเจ้า เราระลึกถึงตรงนั้น เหมือนกับพ่อแม่เราเลย เห็นไหม พอพ่อแม่ตายเขาจะมีรูปพ่อแม่แขวนไว้ แล้วก็กราบ แล้วถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ก็ถามสิ

“มึงกราบทำไมกระดาษน่ะ? รูปพ่อแม่ก็เป็นกระดาษกราบทำไม?”

“อ้าว.. ก็พ่อแม่กู กูก็กราบพ่อแม่ ก็กูรักพ่อแม่กู”

ทำไมมันคิดได้ล่ะ? อ้าว.. ก็พ่อแม่กู ทำไมกูจะกราบไม่ได้ แต่เวลาไหว้พระบอกกราบทองเหลืองนะ แต่เวลาไหว้พ่อแม่บอกกราบพ่อแม่ อ้าว.. พ่อแม่ก็รูปเหมือนกัน โกศก็ทองเหลือเหมือนกัน กระดูกอยู่ในโกศก็ทองเหลืองเหมือนกัน แล้วกราบทำไม? เอ็งกราบโกศทำไม โกศก็ทองเหลืองเอ็งกราบทำไม? อ้าว.. ก็พ่อแม่นี่กราบ แล้วเวลาจะกราบพระบอกกราบทองเหลือง

อ้าว.. ฉะนั้น ถ้าบอกว่ากราบทองเหลือง ถ้ากราบให้ถึงพระก็กราบพุทธคุณ กราบปัญญาคุณ กราบถึงเมตตาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นี่เวลาท่านเมตตามาก เมตตาสั่งสอนคอยบอกนะ แล้วรู้เลยนะคนไหนนี่ ดูสิองคุลิมาล ถ้าท่านไม่ไปวันนั้นฆ่าแม่ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ไปนะ วันนั้นองคุลิมาลจะฆ่าแม่ แล้วองคุลิมาลจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าไปเอาก่อนเลย ลอยไป เห็นไหม องคุลิมาลวิ่งตามใหญ่เลย

“หยุดก่อน! สมณะหยุดก่อน หยุดก่อน”

นี่เวลาแบบที่เราพูดเมื่อกี้ ถ้าจะแก้กันนะ หยุดก่อนๆ เพราะองคุลิมาลเป็นนักรบ เรียนมาไง เรียนวิชามา วิ่งเร็วกว่าม้านะ ม้าตัวไหนก็แล้วแต่วิ่งไม่ทันองคุลิมาลหรอก องคุลิมาลนะ ถ้าขี่ม้าวิ่งไปนี่องคุลิมาลวิ่งทัน แล้วฉับ! เรียบร้อย วิ่งเร็วกว่าม้า

ฉะนั้น เขาภูมิใจของเขาว่าเขามีวิชาของเขา ฉะนั้น พอพระพุทธเจ้าไปพระพุทธเจ้าก็เคลื่อนไปด้วยฤทธิ์ไง องคุลิมาลก็วิ่งตามนะ วิ่งตามใหญ่ วิ่งตามใหญ่ วิ่งตามอย่างไรก็ไม่ทัน ก็งงสิ ตัวเองไม่เคยช้าขนาดนี้ไง ก็เลยอยากได้มากก็หลุดปากเลย

“สมณะหยุดก่อน หยุดก่อน”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราหยุดแล้ว เธอต่างหากไม่หยุด”

โอ้โฮ.. วิ่งเกือบตายไม่ทันบอกหยุดแล้ว มันหยุดอะไร? งงน่ะสิ วิ่งเกือบตายยังไม่ทันเลยบอกว่าเราหยุดแล้ว เราหยุดแล้ว เธอต่างหากไม่หยุด พองงก็ขอให้หยุดแล้วถาม

“ทำไมท่านพูดอย่างนั้นล่ะ?”

“อ้าว.. เราหยุดจากการทำบาป ทำกรรมทุกอย่างเลย เธอนั่นแหละไม่หยุด ถือดาบอยู่นั่นน่ะ”

โอ้โฮ.. คอตกเลยนะ วางดาบเลย กราบพระพุทธเจ้า ขอบวชเลย วางดาบเลย วิ่งเร็ว เห็นไหม นี่บอกว่าหยุดก่อนๆ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ไปเอานะ ไม่ไปเอาหมายถึงว่าไม่ไปโปรดองคุลิมาล องคุลิมาลนี่วันนั้นแม่จะมาบอก เพราะว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเอากองทัพมาจับ ทีนี้ด้วยความรักของแม่ แม่นี่ห่วงลูกมาก ก็จะมาบอกลูกว่าวันนี้กองทัพจะมาฆ่าลูกแล้วนะ คือจะมาบอกข่าว แต่วันนั้นถ้ามานะโดนก่อน องคุลิมาลต้องการนิ้วสุดท้าย รอนิ้วสุดท้าย

นี่พูดถึงเวลาแก้มันแก้กันอย่างนั้น แก้ตรงๆ ฉะนั้น ดูความเมตตาของพระพุทธเจ้าสิ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเรากราบพระให้โดนพระ เขากราบถึงคุณงามความดี เขากราบถึงเมตตาคุณ เขากราบถึงว่านี่สังคมไทย สังคมพุทธ พระพุทธเจ้าเป็นคนวางไว้ คือบารมีของพระพุทธเจ้าครอบคลุมมา จนเราเกิดมาร่มเย็นเป็นสุข ยังได้อาศัยบารมีของพระพุทธเจ้ามาจนป่านนี้ เรากราบกันตรงนั้นไง เราถึงได้บอกว่ากราบพระถึงโดนพระไง

นี่เขาถามว่า “กราบพระอย่างไรให้โดนพระ”

ตอบแล้วเดี๋ยวก็มาอีก ตอบแล้วนะเดี๋ยวมันก็เอาคำถามนี่กลับมาถามอีกแหละ เพราะมันไม่ฟังตอนนี้ มันไปอ่านดูแล้วเดี๋ยวก็กลับมาถามอีก มันเบื่อ คือเราไม่ได้ไปตอบปัญหาใคร คือตอบปัญหาตัวเอง เพราะพูดไปเอง แล้วก็ถามกลับมาอีก แล้วกูก็พูดเอง แล้วก็ตอบเอง แล้วก็ตอบปัญหาตัวเอง แล้วก็วนอยู่นี่ ฉะนั้น สิ่งนี้เพียงแต่มันเป็นความทุกข์ของเขา เห็นไหม

นี่เขาบอกว่า “แต่กระผมทำแล้วจิตใจมันแกว่ง มันสับสน มันว้าวุ่น กราบพระเลยไม่มีความร่มเย็นในใจ”

ก็ตั้งสติสิ! ตั้งสติ เห็นไหม หลวงตาบอกว่า “สติเหมือนฝ่ามือ” คิดดูสิฝ่ามือสามารถกั้นคลื่นทะเลได้นี่มันแปลกไหม? ถ้าตั้งสติไว้มันจะกั้นความฟุ้งซ่าน อารมณ์ ความว้าวุ่น.. อารมณ์ ความว้าวุ่น ความฟุ้งซ่าน มันเกิดจากความขับดันของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันน้ำล้นฝั่ง ตัณหาล้นตลิ่ง ล้นฝั่ง เราก็ตั้งสติของเราไว้

ไปกราบพระๆ ก็กราบพระความชื่นใจเท่านั้นแหละ แต่ถ้ามันจะระงับยับยั้งมันต้องตั้งสติ พุทโธ พุทโธนี่ตั้งสติไว้ พอเราตั้งสติขึ้นมา พอเราฝึกสติได้ ทำได้ ไอ้ความว้าวุ่นมันก็สงบลง คลื่นนี่ คลื่นล้นฝั่ง ตัณหามันล้นฝั่งมันพัดมา ถ้าเราตั้งสติไว้มันก็สงบตัวลง ถ้ามันสงบตัวลงแล้วนะแล้วจะมาไหว้พระ คราวนี้ไหว้โดนพระเลย ถ้าจิตใจมันสงบร่มเย็นแล้วนะ ตอนนี้ไหว้พระโดนพระเต็มๆ เลย ไม่ใช่ว้าวุ่นอย่างนี้

มันคนละกรณีกัน ถ้าจิตใจว้าวุ่นนี่มันเป็นความว้าวุ่นของใจแล้ว ใจมันว้าวุ่นของมัน แต่กราบพระนี่เรากราบพระ เห็นไหม เรากราบเพื่อเป็นรัตนตรัย แก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึกของชาวพุทธนะ ชาวพุทธยึดรัตนตรัยแก้วสารพัดนึก นึกเอาสวรรค์ก็ได้ นึกเอาพรหมก็ได้ นึกเอาสมาธิ เอาปัญญา นึกเอานิพพาน นึกเอานะ แก้วสารพัดนึก นึกเอาแล้วต้องทำนะ ไม่ทำก็ไม่ได้ นึกเอาแล้วทำ เห็นไหม แก้วสารพัดนึก

ฉะนั้น เรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยของเรา แก้วสารพัดนึก แล้วเราทำแล้วนี่ คนดี เห็นไหม คนดีทำแต่เรื่องดีๆ คนดีทำความชั่วได้ลำบากยากเย็นนัก เพราะคนดีคิดชั่วไม่ได้ คนชั่วทำแต่เรื่องชั่วๆ คิดดีไม่ได้ ถ้าเราทำจิตใจของเราสงบร่มเย็น แก้วสารพัดนึก รัตนตรัยใสสว่าง นี่สิ่งนั้นคนดีมันจะทำอะไรล่ะ? มันก็ทำแต่สิ่งดีๆ ชีวิตนี้จะประสบแต่คุณงามความดี ชีวิตนี้จะประสบแต่ความสำเร็จในชีวิต เอวัง