ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ติดคือติด

๑๓ ส.ค. ๒๕๕๔

 

ติดคือติด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๕๗๑. ไม่มีใช่ไหม

ข้อ ๕๗๒. นี่เวลาถามมา ถามอย่างนี้ถ้ามันตอบนะมันเหมือนกับมันมีอะไรหรือเปล่า มีหน้าม้าถามหรือเปล่า อยากจะตอบปัญหาไง

ถาม : ๕๗๒. เรื่อง “ข้อแตกต่างของการภาวนา และการเจริญสติ”

หลวงพ่อ : ข้อนี้เขาว่าเขามีข้อสงสัย เขาถามมาบ่อย ข้อที่ ๑. นะ

ถาม : ๑. ขอเรียนถามว่า ถ้าเป็นพระโสดาบันขึ้นไป จะเข้าใจผิดว่าความสุข ความสงบที่เกิดจากสมาธิเป็นนิพพานใช่ไหมครับ ผมมีความเห็นว่า ถ้าเป็นโสดาบันแล้ว ถึงจะติดสุขในสมาธิ แต่จะไม่คิดว่าสุขในสมาธินั้นคือพระนิพพานครับ

หลวงพ่อ : เข้าใจผิดเนี่ย

ถาม : ๒. ขอกราบเรียนถามถึงข้อที่แตกต่างของการภาวนากับการเจริญสติ เช่นภาวนาพุทโธกับพุทธานุสติ เพราะผมมีความเห็นว่า การภาวนาพุทโธไม่น่าจะเป็นพุทธานุสติ เพราะผมมีความเห็นว่า การภาวนานั้นไม่ว่าจะภาวนาว่าอะไร ขณะภาวนา ผู้ภาวนาจะไม่ระลึกถึงความหมายของคำภาวนานั้น เช่นว่าพุทโธนี้เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีคุณอย่างนี้ๆ

แต่ถ้าเป็นการทำพุทธานุสติ เราต้องมีสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่นพุทธประวัติเป็นต้น หรือมรณานุสติ เจริญมรณาก็ต้องระลึกถึงความตาย คือเรื่องของความตายหรือกายคตาสติ ผู้เจริญจะต้องมีสติระลึกรู้อยู่ในอิริยาบถของกาย ความเป็นปฏิกูล

๓. ขอกราบเรียนถามว่า เหตุที่ทำให้จิตสงบ และการภาวนากับการเจริญสตินั้น มันแตกต่างกันอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : นี่ข้อ ๑. “ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่เข้าใจผิดว่าความสุข ความสงบระงับของสมาธิเป็นนิพพาน”

คือเขาเข้าใจว่าเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่ติดอะไรเลย จะเข้าใจทุกอย่างหมดเลย ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ เป็นนิพพานก็เป็นนิพพาน นี่ความเข้าใจ เห็นไหม ความเข้าใจ.. ความเข้าใจมันก็เข้าใจผิด อย่างนี้มันต้องให้พวกโสดาบันกับโสดาบันเขาคุยกันเอง เวลาใครได้การันตีเป็นโสดาบันแล้วนะ แล้วความเป็นโสดาบันของพวกนี้นะ นี่บอกว่า “เอ็งเป็นโสดาบัน”

“เป็นโสดาบันได้อย่างไรหนูไม่รู้เรื่องอะไรเลย”

“นั่นแหละโสดาบัน”

“ทำไมไม่รู้เรื่องอะไรเลย”

“ก็ไม่รู้เรื่องนั่นแหละคือโสดาบัน”

โสดาบันพวกนี้เขาจะคุยกัน คุยว่าโสดาบันเป็นอย่างนั้น โสดาบันเป็นอย่างนี้ไง ก็โสดาบันในอ่างไง ก็มั่วกันอยู่ในอ่างไง ฉะนั้น โสดาบันมันต้องรู้ว่าเป็นโสดาบัน คำว่าโสดาบันนี่เป็นโสดาบันจริงๆ แล้วโสดาบันก็คือจบขั้นตอนของโสดาบันไง แต่กิเลสขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นอรหันต์นะ มันหลอกเอาหัวปั่นเลย

เป็นไปไม่ได้หรอกที่ว่าเป็นพระโสดาบันแล้วจะแยกแยะได้ว่าอันนั้นเป็นสมาธิ อันนี้เป็นนิพพานจะแยกแยะได้ พอมันปล่อยวางก็คือปล่อยวาง ปล่อยวางสมาธิเป็นไรไปล่ะ? สมาธิก็คือสมาธิไง นี่เวลาสมาธิ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านอ่อนน้อมถ่อมตน เวลาท่านติดของท่าน ท่านบอกท่านติดในสมาธิ ติดในสมาธิ เราก็คิดว่าเป็นแต่ปุถุชนติดในสมาธิ แต่ความจริงโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง

ท่านพิจารณาผ่านเวทนาไปแล้ว พิจารณาจนโลกนี้ราบไปหมดเลย นี่โลกนี้ราบจนสว่างไสวไปหมดนะ รวมใหญ่เลย ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า

“อ้าว.. ก็มีหนเดียวแหละเว้ย!”

นี่เวลามันขาดมันขาดหนเดียว แต่เวลาถ้าติดสมาธิ มันเข้าสมาธิเข้าๆ ออกๆ ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าว่าสมุจเฉทปหานมันขาด มันขาดหนเดียว เวลามันขาดไปแล้ว เห็นไหม นี่ขนาดขาดไปแล้วหลวงปู่มั่นบอกหนเดียวก็ยังติดเลย นี่ท่านติดเพราะกิเลสมันพาติด

อันนี้ก็เหมือนกัน พระโสดาบันนี่ติดอยู่แล้ว ทีนี้เพียงแต่พระโสดาบัน พอถ้าเป็นพระโสดาบันนะเขาก็คิดว่าเขาเป็นพระโสดาบัน ทีนี้พอพิจารณาไป เวลาพระโสดาบันนะมันมีพื้นฐาน เวลาพิจารณาไป ถ้ามันไม่มีอำนาจวาสนามันก็จะวนอยู่นั่นล่ะ แต่ถ้ามีอำนาจวาสนานะ มันพยายามจะดันเข้าไป พอดันเข้าไปมันจะไปจับกิเลสอันละเอียด

นี่กายนอก กายใน กายในกาย.. กายนอกเป็นพระโสดาบัน กายในเป็นสกิทาคามี กายในกายเป็นพระอนาคามี กายของจิตเป็นพระอรหันต์ เวลาพิจารณากายมันมีขั้นตอนของมัน มันยังมีที่ละเอียดลึกซึ้ง เห็นกายเหมือนกันแต่กายไม่เหมือนกัน พิจารณากายเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีเหมือนกันสักอย่างหนึ่ง แล้วไม่เหมือนกันอย่างไรล่ะ? ก็ต้องให้โสดาบันกับโสดาบันเขาคุยกัน ให้โสดาบันกับโสดาบันเขาไปถามกัน นี่เขาถึงรู้ว่าเป็นโสดาบัน

นี่กึ่งๆ ไง ติดมันก็คือติด มันก็คือติดทั้งนั้นแหละ โธ่.. ถ้าไม่ติด เวลาติดแล้ว คนถ้าติดแล้วนะ แล้วไม่มีทางออก ติดไม่รู้ว่าติดก็มี ติดรู้ว่าติดก็มี อย่างเช่นหลวงปู่คำดี เห็นไหม หลวงปู่คำดี เวลาท่านภาวนาไปท่านรู้เลยว่ามันติด แล้วหาทางออกไม่ได้ พอหาทางออกไม่ได้ ออกไปเลย ออกไปที่กลางแจ้งจุดธูปเลย แล้วปักธูปเลยนะ

“ขออาราธนาให้พระมหามาช่วยที พระมหาบัวมาช่วยที”

รู้ว่าติดนะแต่ออกไม่ได้ หลวงปู่ฝั้นเวลาหลวงตาท่านไปแก้ไง พอหลวงตาท่านบอกว่า

“โอ้โฮ..นึกว่าไปถึงไหนแล้วมาติดอยู่นี่”

พอบอกไป หลวงปู่ฝั้นท่านบอก “รู้แล้วๆ รู้แล้วๆ”

รู้แล้วเหมือนกัน พอรู้แล้วท่านก็ไปของท่านได้

ติดทั้งนั้นแหละ! นี่วงกรรมฐานเขาถึงติดครูบาอาจารย์กันไง ถ้าครูบาอาจารย์องค์ไหนเป็นผู้ชี้ทาง คอยบอกเราออกจากในวัฏฏะ ออกจากสิ่งที่เป็นป่ารกชัฏได้นะ เราจะซึ้งบุญคุณอันนั้นมาก การซึ้งบุญคุณอันนั้น นี่มันลงครูบาอาจารย์นั้นไง เห็นไหม ทำไมหลวงปู่คำดีท่านพูดกับด็อกเตอร์เชาวน์ บอกว่า “หลวงตามหาบัวเป็นอาจารย์ของเรา” เพราะหลวงตามหาบัวพรรษาท่านน้อยกว่าหลวงปู่คำดี

ฉะนั้น พอหลวงตาท่านได้ฟังอย่างนั้นท่านบอก

“อู๋ย.. พูดอย่างนี้ได้อย่างไร! พูดอย่างนี้ได้อย่างไร!”

เพราะหลวงปู่คำดีพรรษามากกว่า อาวุโส ภันเต ท่านต้องเคารพกันใช่ไหม? แต่หลวงตาไปแก้ ไปเปิดช่องให้ท่านออกได้ ท่านถึงเคารพหลวงตามาก ท่านบอกเลยว่าหลวงตาเป็นอาจารย์ของท่าน แต่ความจริงแล้วหลวงตาเป็นอาวุโสน้อยกว่าท่านเยอะเลย แล้วหลวงปู่คำดีเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นใหญ่ใช่ไหม? แล้วหลวงตาเป็นรุ่นหลังไง แต่ด้วยปัญญา ด้วยอำนาจวาสนาของคนมันไม่เหมือนกันไง

นี่ติด! นี้เขาคิดว่าเป็นพระโสดาบันจะไม่ติดอะไรเลย ถ้าไม่ติดก็ไม่เห็นว่าสมาธิเป็นนิพพาน ไอ้นี่ก็โสดาบันให้คุยกันในกลุ่มของโสดาบัน เพราะตอนนี้โสดาบันเต็มประเทศไทยเลย เพราะเราฟังข่าวอยู่ คนนู้นก็บอกอย่างนั้น คนนั้นก็บอกอย่างนี้ โสดาบันทั้งนั้นแหละ

พอโสดาบันนี่ไง ข้อที่ ๑. นะ แล้วข้อที่ ๒. กับข้อที่ ๑. มันมาในมุมมองเดียวกัน มันถึงมาเป็นข้อที่ ๒ .ไง เพราะข้อที่ ๑. เห็นไหม ด้วยความคิดของเราเองนั่นแหละ ว่าเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่ติดในสมาธิเลย มันคิดว่าสมาธิเป็นนิพพาน เวลาชื่อเราก็ใส่ให้มันได้ทั้งนั้นแหละ ดูสิคนในประเทศไทยชื่อมีร้อยแปดพันเก้า เดี๋ยวนี้พูดชื่อมาไม่รู้ว่าชื่อผู้หญิง ผู้ชาย ชื่อนี่ใส่กันเต็มไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์ใจ อารมณ์อันเดียวนี่ใส่ชื่อมันเข้าไปสิ ชื่อเป็นอย่างนั้น ชื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็มาเถียงกัน แล้วมันเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ? มันเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า?

ถาม : ๒. ขอกราบเรียนถามถึงข้อที่แตกต่างของการภาวนากับการเจริญสติ เช่นภาวนาพุทโธกับพุทธานุสติ เพราะผมมีความเห็นว่า การภาวนาพุทโธไม่น่าจะเป็นพุทธานุสติ เพราะผมมีความเห็นว่า การภาวนานั้นไม่ว่าจะภาวนาว่าอะไร ขณะภาวนา ผู้ภาวนาจะไม่ระลึกถึงความหมายของคำภาวนานั้น เช่นว่าพุทโธนี้เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีคุณอย่างนี้ๆ แต่ถ้าเป็นพุทธานุสติ.. เห็นไหม

แต่ถ้าเป็นการทำพุทธานุสติ เราต้องมีสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่นพุทธประวัติ

หลวงพ่อ : นี่มันยึดติดกันเกินไป ถ้าพุทธานุสติต้องใช้ปัญญา ต้องระลึกถึงประวัติพระพุทธเจ้า ต้องระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าถึงเป็นพุทธานุสติ แล้วพุทโธนี้ไม่ใช่พุทธานุสติ

พุทโธนี่พุทธานุสติ! เพราะพุทโธมันชัดกว่าเพื่อนเลย เพราะพระพุทธเจ้าบอกเลย “เรานี่ชื่อพุทโธ” พระพุทธเจ้าพูดในพระไตรปิฎกนะ พุทธะไง พระพุทธเจ้าคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะคือชื่อพระพุทธเจ้า ก็เหมือนมาตรารัฐธรรมนูญใช่ไหม ต้องกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า! แล้วกฎหมายอาญาต่างๆ มันจะมาขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน พุทธะคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือรัฐธรรมนูญ แล้วคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นคุณงามความดีของพระพุทธเจ้าแตกย่อยๆ ไป ถ้าแตกย่อยๆ ไป เราคิดถึงพระพุทธเจ้า เราคิดถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า แล้วตัวพระพุทธเจ้าไม่เอาใช่ไหม? ไม่เอาตัวพระพุทธเจ้าหรือ?

เออ.. นี่ไงเขาบอกว่า ถ้าพุทโธไม่ใช่พุทธานุสติ ถ้าพุทธานุสติต้องระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า คิดถึงการกระทำของพระพุทธเจ้า เพราะประวัติพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วตัวพระพุทธเจ้าล่ะ? ตัวพระพุทธเจ้าอยู่ไหน? ตัวพระพุทธเจ้านี่ผู้รู้ ขนาดพุทโธนี่นะ ในวงกรรมฐานบอกพุทโธมันเป็นสมมุติ พุทโธนี้เป็นชื่อ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย ตัวพุทโธแท้ๆ คือพุทโธไม่ได้ คืออึ๊! อึ๊! อึ๊!

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ผู้ใดเห็นธรรม พอมันพุทโธจนเข้าไปถึง พุทโธจนพุทโธไม่ได้ เราพุทโธนี่เราสมมุติขึ้นมา เพราะความคิด ความคิดไม่ใช่จิต ตัวจิตคือตัวพุทธะ ถ้าตัวจิตคือตัวพุทธะ นี่เรามีจิตอยู่ แต่เราก็มีความคิดอยู่ด้วย ความคิดเกิดจากจิตใช่ไหม? เราก็ใช้พุทโธ พุทโธ ใช้ความคิด มันจะคิดเรื่องร้อยแปดพันเก้าให้มันคิดพุทโธ บังคับให้มันคิดพุทโธ ให้ระลึกถึงพุทธานุสติ

พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเลย ระลึกๆ ระลึกๆ ระลึกเข้าไปเรื่อยๆ ระลึกจนมันถึงตัวมันเอง จนมันระลึกไม่ออก ระลึกไม่ออก เอ๊อะ! นั่นแหละพุทธะแท้ๆ นั่นยิ่งพุทธานุสติเข้าไปใหญ่

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

นี่พูดถึงในวงการปฏิบัติไง แต่นี้ในทางวิชาการใช่ไหม? ในทางวิชาการ ในตรรกะใช่ไหม? ถ้าเราจะระลึกถึงพุทธานุสติ เห็นไหม ก็ต้องระลึกถึงพระพุทธเจ้า รูปลักษณะของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเช้าขึ้นมาบิณฑบาต ฉันแล้วพระพุทธเจ้าว่าอร่อยหรือไม่อร่อยอย่างนั้นนะ พระพุทธเจ้าฉันแล้ว พระพุทธเจ้าเข้าคันธกุฎีอย่างไรเนาะ..

นี่มันก็คิดไปนู่นเลย นี่เขาเรียกว่า “ส่งออก! ส่งออก!” เพราะพลังงานกับความคิดไง มันคิดส่งออกไง ส่งออกไปข้างนอก แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันจะไล่ความคิดเข้ามา มันจะปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา เพราะความคิดมันเกิดจากอะไร? เกิดจากพลังงาน พอปล่อยความคิดแล้วมันเหลือแต่พลังงาน เห็นไหม เหลือแต่พลังงานก็เหลือแต่ความรู้สึก ความรู้สึกตัวนั้นแหละเป็นสมาธิ

ฉะนั้น พุทโธนี่คือพุทธานุสติ เพียงแต่เราบอกว่า

“ถ้าพุทโธต้องคิดถึงประวัติของพระพุทธเจ้า ต้องคิดถึงอิริยาบถ”

ก็เพราะอย่างนี้ไงมันถึงต้อง หนอ.. ต้องรับรู้ไปตลอดไง แล้วมันไปไหนล่ะ? มันก็สร้างอารมณ์อารมณ์หนึ่งไง นี่มันอยู่ที่โลกทัศน์ อยู่ที่วิสัยทัศน์ อยู่ที่ผู้นำ ถ้าผู้นำมีความเห็น มีความรู้ แล้วสั่งสอนกันมา แล้วก็เดินตามๆ กันมา แต่ยังไม่ได้พิสูจน์ไงว่าการสั่งสอนหรือการกระทำแบบอื่น แล้วเราทำแล้วมันจะมีผลแตกต่างอย่างใด ถ้ามีผลแตกต่างอย่างใด เห็นไหม

“มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ”

เพราะเขาบอกว่า “ถ้าการใช้ปัญญานี้จะเป็นวิปัสสนา” เขาพูดไปนู่นเลยนะ เขาไม่ได้พูดถึงพุทธานุสติหรอก เขาพูดถึงวิปัสสนาแล้ว เขาบอกว่า “ถ้ามีปัญญาจะเป็นวิปัสสนา พุทโธนี่เป็นสมถะ พุทโธนี่..”

เออ! ให้สมถะเถอะ ขอให้มันสมถะให้ได้จริงเถอะ ถ้าสมถะได้แล้วนะ ถ้าจิตมันออกรู้นะมันจะมีความลึกลับมหัศจรรย์ มันจะเข้าไปสู่สัจจะความจริง มันจะเข้าสู่อริยทรัพย์ มันเข้าไปสู่สัจธรรม แต่ถ้ามันยังใช้ตรรกะ บอกว่าพุทธประวัติเนาะ โอ้โฮ.. พระพุทธเจ้า คุณงามความดีของพระพุทธเจ้าเนาะ อันนี้เป็นพุทธานุสตินะ เหมือนกับเรานี่ เราคิดถึงพ่อแม่เรา เราคิดถึงญาติเรา เราก็นั่งคิดอยู่นี่ เศร้า เหงา คิดถึงไปนะ แต่ถ้าเราอยู่กับญาติเรา เรากอดญาติเราไว้เลย ญาติเราจะมีความสุขกว่า

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรากอดไว้ เวลากอดมันต้องคิดไหมล่ะ? เห็นไหม วันแม่ กราบแม่กอดแม่อยู่นี่ มันต้องคิดถึงแม่ไหมล่ะ? แต่ถ้าอยู่ห่างแม่มันคิดถึงแม่เนาะ แต่พอกอดแม่ มองตากันพูดอะไรไม่ออกเลยล่ะ น้ำตาไหล

นี่ก็เหมือนกัน พุทธานุสติ เห็นไหม พุทธา พุทธะ กอดพุทธะอยู่เลยมันต้องไปคิดถึงไหมล่ะ? ต้องไปคิดถึงพุทธประวัติอะไรอีกไหม? นี่ไง นี่พูดถึงความเห็นเรานะ กระแสนี่เวลาพูดแล้ว เพราะพอพูดอย่างนี้ปั๊บเรามองถึงลักษณะการภาวนาของแต่ละสายทางไง เขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เขาถึงภาวนากันแบบนั้น แล้วเขาภาวนาแบบนั้น เขาจะเข้าถึงความจริงได้มากน้อยแค่ไหน? เขาจะเข้าได้จริง ไม่ได้จริงใช่ไหม?

พอเข้าไม่ได้จริงนี่ เห็นไหม เพราะคำพูดมันฟ้อง บอกเลยนะ “ถ้าเป็นพุทธานุสติต้องระลึกถึงสิ ต้องมีสติระลึกรู้อยู่กับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ต้องระลึกถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า ต้องคิดว่าพระพุทธเจ้าทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้” มันก็ฟุ้งอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะไปไหนล่ะ? มันก็ฟุ้งอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วนี่หรือพุทธานุสติ?

เราไม่ได้บอกว่านี่มันมารนะ นี่มันมาร แล้วอิงพระพุทธเจ้า อิงศาสนา แล้วนี่พูดไป.. ถ้ามันเป็นปริยัติถูกต้อง การศึกษาเราต้องศึกษาค้นคว้า ศึกษาค้นคว้า เห็นไหม ดูสิดูเวลาเขาเรียงความ เขาแปลบาลีอย่างนี้ เรียงความ แปลบาลีเขาต้องแต่งบาลีของเขาให้มันถูกต้อง เวลาเรียนมหากัน เวลาเรียนก็คือเรียน มันเป็นสุตมยปัญญา เวลาจินตมยปัญญา เวลาภาวนามยปัญญามันไปคนละเรื่องแล้ว มันไปคนละเรื่อง

นี่พูดถึงพุทธานุสตินะ พุทโธนี่แหละพุทธานุสติ ธัมโมนี่ธัมมานุสติ สังโฆนี่สังฆานุสติ เห็นไหม เขาบอกว่าต้องเป็นมรณานุสติ เวลามรณานุสติ คิดถึงความตายๆ มันเป็นมรณานุสติได้อย่างไรล่ะ?

ถาม : ผู้เจริญมรณานุสติระลึกถึงความตาย คือเรื่องของความตายหรือกายคตาสติ เรื่องของความตาย

หลวงพ่อ : ไม่ต้องหรอก! คิดถึงตายๆๆๆๆ อย่างเดียวนี่แหละ พอตายขึ้นไปมันก็เศร้าแล้ว นี่เขาบอก โอ๋ย.. ตายอย่างไร? ตายเพราะเป็นมะเร็ง พอเป็นมะเร็งแล้วนี่ โอ้โฮ.. ไปหาหมอ หมอให้ยาผิดก็เลยตาย

นี้พูดถึงเขาบอกว่าระลึกถึงความตายไง ระลึกถึงความตายก็คือมันตาย คนเราต้องตาย เอ็งตายต้องตายเดี๋ยวนี้ เอ็งต้องตาย พอตายขึ้นมานี่สมบัติหามาให้ใครล่ะ? ทุกอย่างหาให้ใครนะ ไอ้ที่ว่าจะโกรธใคร จะห่วงหาอาวรณ์ใครนะมันทิ้งหมดเลย เราไปเจออะไรก็ไม่รู้นี่

มรณานุสติคือไม่ให้จิตมันออก จะวิธีการใดก็แล้วแต่ ต้องการให้จิตมันอยู่ในตัวมันเอง ให้จิตพลังงานมันคงที่ของมัน แล้วคงที่ของมัน มันจะเป็นสมาธิขึ้นมา แล้วมันจะมีกำลังของมัน แล้วจะเป็นประโยชน์ของมันนะ

ถาม : ข้อ ๓. ขอกราบเรียนถามว่า ถ้าทำจิตได้สงบในการภาวนา กับเจริญสติ

หลวงพ่อ : เวลากินแกงนี่นะ อะไรมันเป็นกะทิล่ะ? อะไรมันเป็นแกงไก่ล่ะ? อะไรมันเป็นมะเขือล่ะ? มันยิ่งกินน้ำ น้ำรสชาติอะไรล่ะ? ความจริงนะสติมันเป็นพื้นฐาน อย่างเช่นคำว่าพุทโธชัดๆ เนี่ย ถ้าเราพุทโธชัดๆ เพราะสติมันมีมันถึงพุทโธชัดๆ ได้ ถ้าสติมันครึ่งๆ กลางๆ นะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วมันไม่รู้ไปไหนเลย ถ้ายิ่งจิตอ่อนด้วยนะ มันพุทโธแต่ปากเลย จิตมันคิดไปอีกเรื่องหนึ่งเลย นี่ก็พุทโธ พุทโธนะมันก็คิดไปรอบบ้าน คิดไปเรื่อยเปื่อย นี่ขาดสติแล้วนะ มันไปหมดแล้ว

ฉะนั้น เขาบอกว่า “คำว่าจิตสงบ การภาวนาให้จิตสงบ กับเจริญสติมันแตกต่างกันอย่างใด?”

มันเกี่ยวเนื่องกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน เห็นไหม เวลาบอกพุทโธนี่ต้องอธิบายใช่ไหม? ต้องตั้งสตินะ ระลึกให้ได้ นึกให้ได้ พุทโธ พุทโธ.. นึกนี่นึก นั่นล่ะสติ! ระลึกรู้อยู่คือสติ แล้วพอเวลาพุทโธ พุทโธนี่คือการวิตก วิจาร ระลึกรู้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่มันเป็นของมันไป นี่ไงมันก็ไปเข้าข้อที่ ๒. ถ้าเป็นพุทธานุสติต้องระลึกประวัติเลย

ไอ้นี่พุทโธต้องทำวิทยานิพนธ์เรื่องพุทโธก่อน ต้องวิทยานิพนธ์เรื่องการภาวนานะ ถ้าจิตภาวนามันจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ที่มา จิตมาจากไหน? จิตปฏิสนธิเกิดในครรภ์ ในไข่ โตมาแล้วมันจะมาภาวนา พอมันมาภาวนาเสร็จแล้วต้องทำวิทยานิพนธ์เรื่องพุทโธก่อนนะ เสร็จแล้วก็ต้องทำวิทยานิพนธ์เรื่องสติ!

“สติมันคืออะไร?”

“อ๋อ.. สติคือการมีสติ การไม่ผิดพลาด สติ อ๋อ.. ต้องทำวิทยานิพนธ์เรื่องภาวนา ทำวิทยานิพนธ์เรื่องสติ แล้วก็เอาวิทยานิพนธ์มาเทียบเคียงกันว่าต้องทำอย่างไรก่อน”

นี้มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่ถ้าเรื่องการภาวนา สติก็คือระลึก สตินะ ถ้ามีสติทุกอย่างจะเป็นความเพียร ถ้าขาดสติแล้วมันก็สักแต่ว่าทำ ถ้าสักแต่ว่าทำก็จะไม่ได้ผล แล้วคำว่าได้ผล ถ้ามีสติ สติฟื้นมามันก็จะดีขึ้นมาตลอด

ฉะนั้น สติก็คือสติ สมาธิก็คือสมาธิ ปัญญาก็คือปัญญา ยิ่งมรรค ๘ เห็นไหม ดำริคือความเห็นชอบ เพียรชอบ งานชอบ.. งานชอบนะ เวลาระลึกพุทโธนี่ตั้งไว้ที่ไหน? งานชอบ ไม่ชอบ ระลึกพุทโธห่วงแต่งาน ระลึกพุทโธไปคิดเรื่องอื่น นี่มันไม่ชอบ เพราะสิ่งอื่นเข้ามาเบียดเบียน ก่อกวนในการระลึกรู้ มันก็ไม่ชอบเพราะมันไม่สะอาดบริสุทธิ์ ถ้าเราพุทโธชัดๆ นี่มันชอบธรรม

ในการระลึกพุทโธ ถ้ามันชอบธรรม เห็นไหม ระลึกชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมเนี่ย ความชอบธรรมแล้วมันเป็นจริงหรือยังล่ะ? ยัง ยังเพราะอะไร? เพราะชอบธรรมแต่มันไม่กลมกลืน ชอบธรรมแต่มันไม่สมดุล ไม่สมดุลเพราะอะไร? เพราะมันไม่มัชฌิมาไง มันยังเอียงข้าง เอียงกระเท่เร่อยู่ เห็นไหม พุทโธแล้วก็ยังเอียงไปอีกทางหนึ่ง เราก็พยายามทำให้มันสมดุล มัชฌิมาปฏิปทา

พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่กลมกล่อม ทำให้มันสมดุลของมัน แล้วเราคอยดู คอยสังเกตใจของเรา การกระทำของเรา แล้วถ้ามันสมดุลของมันนะ จะดึงไว้ให้มันลงมันก็ลง ดึงไว้ไม่ให้ลงไง อยากจะทำวิจัยพุทโธก่อน อย่าเพิ่งให้มันลงนะ มันก็ลงวูบ! ไปเลยล่ะ

ถ้ามันสมดุลใครห้ามก็ไม่อยู่ ใครดึงไว้ก็ไม่ได้ มันเป็นของมัน แต่ถ้ามันไม่เป็น อยากให้มันเป็นนะ โอ๋ย.. ลงๆ สิ ลงหน่อยหนึ่ง ลงนิดหนึ่งมันก็ไม่ลง มันก็ไม่ลง แต่ถ้ามันสมดุลของมัน นี่ไงมันเป็นความชอบธรรมไง มันถึงเป็นสัจจะ มันเป็นอริยสัจจะ มันเป็นสัจจะอันหนึ่งไง แต่เรามีกิเลสตัณหาไง เรามีความสงสัยไง เราถึงให้ค่ามัน บิดเบือนมัน ต้องการมัน ขมขู่มัน อยากให้มันเป็นอย่างที่เราปรารถนา แล้วมันเป็นไหมล่ะ? ไม่เป็น

นี่ไงการปฏิบัติ นี่ความจริงมันเป็นแบบนี้ไง ถ้าความจริงเป็นแบบนี้นะเราก็ตั้งใจของเรา ทีนี้ก็บอกว่าทำแล้วก็ลำบาก ทำแล้วมันก็ทุกข์ มันก็ยาก.. ทุกข์ยากเพราะความพอใจนะ เราตั้งใจทำของเรา

นี้พูดถึงเวลาตอบนะ นี่คนถามเขาจะบอกว่า โอ้โฮ.. วันนี้หลวงพ่อเล่นแรงอีกแล้ว ไม่ใช่หรอก เราอยากจะให้มันชัดเจนกันไปไง ถ้าเป็นปริยัติเราศึกษาเนี่ย เราไม่ได้ต่อต้านปริยัติเลยนะ เราไม่เคยต่อต้านปริยัติเลยนะ การศึกษานะ ปัญญาของคน คนจะดีเพราะการศึกษา เด็กมันจะโตได้เพราะการศึกษามั่นคง แต่การศึกษาแล้วนี่ เรียนจบแล้วนะ เอ็งจบแล้วนะ เอ็งต้องทำมาหากินแล้ว ไม่ใช่ว่าเวลาเรียนก็เรียนนะ พอจบแล้วก็ แหม.. หนูจะเรียน หนูจะเรียน อะไรก็จะพูดแต่..

เวลาศึกษาเราต้องศึกษานะ พอศึกษาแล้วเราจะปฏิบัติเราต้องวาง เราเรียนจบแล้วเราต้องหางานทำ เราจะต้องพยายามทำตัวของเราให้เป็นประโยชน์กับตัวเรา เราต้องเลี้ยงตัวเองได้ ฉะนั้น เวลามาปฏิบัติแล้ว สิ่งที่ว่าเป็นปริยัติที่ถามมา เห็นไหม แนวทางที่เขาว่าอย่าให้มันก้ำกึ่ง เพราะก้ำกึ่งแล้วมันก็.. นี่ที่หลวงปู่มั่นบอกกับหลวงตา

“มหา มหาเรียนจนเป็นมหานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ประเสริฐมาก ให้เทิดใส่ศีรษะไว้ แล้วใส่ลิ้นชักไว้ก่อน ลั่นกุญแจมันไว้นะอย่าให้มันออกมา ถ้ามันออกมานะ เวลาปฏิบัติมันจะเตะ มันจะถีบกันอย่างนี้”

มันจะเตะ มันจะถีบกันคือว่างงไง จะปฏิบัติหรือก็กลัวจะไม่ใช่พุทธานุสติ ไอ้จะพุทธานุสติหรือก็กลัวจะไม่ได้สมาธิ ไอ้ทำสมาธิหรือก็กลัวจะผิด ไอ้ไม่ทำหรือก็อยากจะได้ มันเตะ มันถีบ มันขัด มันแย้งกันไปหมดเลย ถ้าเราไม่วางอันใดอันหนึ่ง วางเอาไว้ หลวงตาท่านบอกว่า

“เทิดใส่ศีรษะไว้ แล้วเก็บไว้ในลิ้นชัก”

ไม่ใช่ดูถูกเหยียดหยาม เคารพครูบาอาจารย์ขนาดนี้มันจะไปเหยียดหยามอะไร? แต่เวลาเราเอามาทำพร้อมๆ กันมันขัดแย้งกันไปหมด แล้วเราก็งงกันอยู่นี่ แล้วครูบาอาจารย์องค์ไหนจะอธิบายให้เราเข้าใจได้ ถ้าพออธิบายไม่เข้าใจก็บอก อู้ฮู.. นี่กล่าวตู่พุทธพจน์นะ นี่ต่อต้านพระพุทธเจ้านะ อู้ฮู.. ปวดหัวเลยนะ ปวดหัว

ไม่ได้ต่อต้าน ต่อต้านกิเลสของคนปฏิบัติ ต่อต้านกิเลสเรา มันออกมาทำให้เราปั่นป่วนกันอยู่นี่ จะไปหน้าก็ไปไม่ได้ ไอ้จะถอยหลังหรือก็ถอยไม่ได้ ไอ้จะไปข้างหน้าก็ไม่ไป ไอ้จะถอยหลังหรือก็อยากได้ นี่วางไว้

นี่ไงกรณีอย่างนี้ทำให้การปฏิบัติมันมีปัญหานะ ถ้ามีปัญหาเราก็จะมีปัญหาของเราแหละ เฮ้อ! เพราะเวลาพูดไปนี่ เวลาคนไม่เข้าใจก็ว่า โอ้โฮ.. ไปว่าเขาแรงไง ไอ้ว่าก็แรง ไม่ว่าก็แรงนี่มันไม่ใช่ มันจะบอกว่าทำแล้วพิสูจน์กันด้วยข้อเท็จจริงไง ถ้าข้อเท็จจริงมันได้ก็คือได้นั่นแหละ

ฉะนั้น ที่ว่า “การทำจิตสงบ กับการเจริญสติ”

ถ้าการจะทำให้จิตสงบ กับการเจริญสติ.. มันก็เหมือนกับเมื่อก่อน ตอนนี้เราอายุ ๒๐ไง ตอนที่เป็นทารกมันเป็นสติ แล้วตอนนี้อายุ ๒๐ มันกำลังเจริญสติจะทำการภาวนา มันก็ห่างไกลกันเกินไปนั่นแหละ สติมันเป็นพื้นฐานนะ ทีนี้มันจะแยกออกมาเป็นอย่างนั้น ทุกคนก็คิดอย่างนั้นแหละ เห็นไหม บอกว่าเวลามรรคนี่ มรรค ๘ สติเท่าไร สมาธิเท่าไร? ที่ว่ามรรคสามัคคีมันสมดุลเท่าไรมันจะได้เป็นพระโสดาบัน

คิดจนตายเลย ยิ่งคิดมากเท่าไรนะ กิเลสมันรู้มากเท่าไรนะ มันยิ่งหลอกหัวปั่นมากขึ้นเท่านั้นแหละ ฉะนั้น วางไว้หมดเลย ปัจจุบันธรรม อะไรเกิดเดี๋ยวนั้นเป็นไอ้นั่น เกิดอะไรซึ่งหน้าเดี๋ยวนั้น ล่อกันเดี๋ยวนั้น ถ้ากิเลสมันรู้ทันนะ มันก็จะสร้างปัญหาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็ต้องสู้กันไป มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนา บุญ กรรมของคนที่สร้างมา แล้วเราต้องเอาของเราให้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าการภาวนานะ

การภาวนานี่ เวลาเราภาวนาจบแล้ว เราจะมาศึกษาพระไตรปิฎกนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาภาวนาต้องปล่อยหมด วางไว้ให้ได้ วางพระไตรปิฎกไว้ก่อน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ขณะที่ปฏิบัตินี่ปริยัติวางไว้ แล้วให้มันเกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นจริงกับการกระทำนั้น แล้วมันเป็นจริงแล้วค่อยออกมาทบทวน

แล้วที่ถามมาอย่างนี้นะ ที่ตอบอย่างนี้มันก็เหมือนเมื่อวานน่ะ เมื่อวานก็ตอบคำถามเราเอง อันนี้ก็คือตอบความสงสัยในทฤษฎี แล้วก็ปฏิบัตินิดหน่อย แล้วก็บอกหลวงพ่อว่าอย่างไร? ก็เหมือนกับเราเข้าไปในสำนักปฏิบัติไหน พอทำแล้วผู้เป็นอาจารย์ต้องการันตีว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นไง

มันไม่ใช่ มันต้องเราทำของเราเอง เราฝึกของเราเอง.. อันนี้อันหนึ่งนะ จะไปแล้ว

ข้อ ๕๗๓. เนาะ

ถาม : ๕๗๓. เรื่อง “พุทโธชัดๆ ถึงขนาดต้องขยับปากท่องออกมาหรือไม่ครับ”

๑. มีหลายครั้งที่ผมนั่งสมาธิแล้วตกภวังค์สั้นๆ น่าจะประมาณ ๑ นาที หรือนานกว่านั้นไม่มาก ผมเลยแก้โดยพุทโธขยับปากท่องเบาๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะตกภวังค์ยาวแน่นอน และพอจิตเริ่มจับพุทโธชัดๆ ได้ก็ค่อยหุบปาก ผมไปเปรียบตรงที่ เหมือนที่หลวงพ่อบอกว่า “รถยนต์ ถ้าเครื่องมันจะดับ เราก็ต้องลงมาเกียร์ ๑ ก่อน” ไม่ทราบว่าอย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

หลวงพ่อ : ถูกต้องสิ ชักเก่งแล้ว ชักรู้จังหวะ ถอยเกียร์ได้ เห็นไหม เวลาเราจะขึ้นทางสูง ทางชันเราก็ต้องปลดเกียร์มาให้ต่ำ เพื่อให้รถเครื่องเรามีแรง นี่ถ้าเราปฏิบัติไปนะ สติเราดีเราจะควบคุมได้ คนขับรถนะ มีสติไม่ประมาทจะไม่เกิดอุบัติเหตุ เว้นไว้แต่รถมันพิการ รถมันเสียหาย

เราจะขับจิตเราไป เราจะภาวนานี่เราจะดูแลจิต จิตเหมือนรถคันหนึ่ง แล้วสติปัญญาเราขับมันไป จะดูแลมันไป เห็นไหม ฉะนั้น พอเราพุทโธ พุทโธไปแล้วนี่ถ้ามันรู้อยู่ ถ้ามันแว็บหายมันจะตกภวังค์อะไรนี่ เราก็พยายามทำตรงนี้แล้วฝึก แล้วไม่ต้องไปเสียดายว่ามันจะได้สมาธิหรือไม่ได้สมาธิ ถ้าตกภวังค์ไปแล้วนะ พอจิตมันเคยนะ จิตของเรานี่มันมีกิเลสอยู่ในนั้น มีกิเลสคืออวิชชา พอเราทำความดีอะไรก็แล้วแต่มันจะหาข้อต่อรอง

ฉะนั้น พอจิตมันเคยตกภวังค์ไปแล้วนี่ นั้นคือผลงานของกิเลส เพราะคำว่าตกภวังค์มันเป็นมิจฉา มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีงามที่ทำให้เราติดขัด ติดข้อง เพราะถ้าตกภวังค์ไปแล้วนี่เหมือนสุญญากาศ เครื่องบินถ้าตกหลุมอากาศ เครื่องบินไปไม่ได้นะ เห็นไหม มันต้องดูดอากาศ มันถึงพาเครื่องบินนี้ไปได้

จิต! จิตที่มีคำบริกรรมอยู่ มีสติอยู่ มันจะดูดตัวมันเองให้เข้าสู่สมาธิได้ แต่ถ้ามันตกภวังค์มันเหมือนเครื่องบินตกหลุมอากาศ มันวูบไปเลยอย่างนี้แล้วมันไปไม่ได้ ถ้าจิตมันตกภวังค์มันจะมีผลเสียอย่างนั้นไง แล้วถ้ามีผลเสียอย่างนั้นปั๊บ ถ้ามันเคยตัวนะ ถ้ามันเคยตกภวังค์แล้วนะ เครื่องบินเรานี่ คิดดูสิมันไปไหนไม่ได้ เครื่องบินเราจะมีประโยชน์อะไร?

แล้วมันก็ติดนะ แล้วเวลาบอกว่า อ้าว.. ภาวนานะ เขาขับเครื่องบินเราก็ขับเครื่องบินเหมือนกัน เขาขึ้นเราก็ขึ้น เครื่องบินเขาไปถึงอเมริกานะ ไอ้เครื่องบินกูวนอยู่กลางทะเลนี่ไปไหนไม่ได้ แล้วมันมีประโยชน์อะไรล่ะ? แล้วถ้ามันเป็นบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า เขาเรียกตกภวังค์นี่นะมันจะมากขึ้นๆๆ มันจะเสียหายไง

ฉะนั้น ถ้ามันจะตกภวังค์มันจะเป็นผลเสียกับเรา ฉะนั้น เราพยายามแก้ไขไม่ให้ตกภวังค์ แล้วถ้าเกิดไม่ให้ตกภวังค์แล้วนี่ เห็นไหม เครื่องบินเวลาขึ้นแล้วอากาศมันเป็นปกติของมัน แล้วเครื่องบินเราจะไปไหนล่ะ? เครื่องบินเราจะไปถึงที่ไหนก็ได้ วนไปที่ไหนก็ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราแก้ไขของเราอย่าให้มันตกภวังค์ ถ้าตกภวังค์ไปแล้วนะ ดูสิบริษัทการบินนี้ เขาบินแล้วเขามีผลกำไรมหาศาลเลย ไอ้บริษัทเรานะ ยิ่งบินเท่าไรยิ่งขาดทุนเท่านั้น นี่เสียค่าน้ำมัน ยิ่งบินยิ่งขาดทุน

ฉะนั้น เราพยายามแก้ไขตรงนี้ดีที่สุด อย่างน้อยก็ไม่ขาดทุน แล้วถ้ามันแก้ไขจบแล้วนะ บริษัทนี้จะมีกำไร บริษัทนี้จะมีผลตอบสนองมหาศาล ฉะนั้น พุทโธถูกแล้ว แก้ไขของเราไปนี่ถูก ถ้ามันจะตกภวังค์ เห็นไหม เราพุทโธชัดๆ ไว้ พุทโธชัดๆ ไว้ แล้วตั้งสติไว้ ถ้ามันจะละเอียดนะ

มันจะละเอียดหมายถึงว่ามันจะวูบ มันจะเป็นอย่างไรนี่ตั้งสติไว้ ให้มันเป็นไป ให้มันเป็นไป ถ้ามันไปไม่ได้ให้กลับมาพุทโธอีก กลับมาพุทโธ แล้วถ้าพอปกติแล้วเราใช้ปัญญาเทียบเคียงเลย พอปกติแล้วใช้ปัญญาตรึกในธรรม ตรึกในชีวิตประจำวัน ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ แล้วจะกลับมาพุทโธได้ง่ายขึ้น เพราะเราใช้ปัญญาถากถางมัน แก้ไขมัน ดัดแปลงมัน ดัดแปลงหัวใจให้สมควรแก่งาน แล้วจะมาภาวนาได้ง่ายขึ้น

ถาม : ๒. การทำสมาธิเพื่อให้เรียนดีขึ้น จำเป็นที่จะต้องถึงอุปจาระไหมครับ ผมคิดว่าบริกรรมเพื่อให้จิตไม่วอกแวก แต่ไม่ถึงกับขนาดต้องเข้าอุปจาระได้ แต่ถ้าเข้าได้ก็คงจะแก้ปัญหาการเรียนได้ทุกชนิด ไม่ทราบว่าผมเข้าใจผิดหรือเปล่าครับ เพราะเคยฟังหลวงพ่อเทศน์ว่า “ก่อนอ่านหนังสือไปนั่งสมาธิให้จิตสงบก่อน” เลยไม่แน่ใจว่าต้องสงบในสมาธิขั้นไหน ขณิกะหรืออุปจาระ

หลวงพ่อ : คำว่าขณิกะ คำว่าอุปจาระ คำว่าอัปปนานี่เราไม่ต้องเอามาเป็นประเด็น ขณิกะ อุปจาระ หรืออัปปนา จิตมันสงบมาก สงบน้อย ขณิกะก็คือจิตเราสงบ.. จิตเราสงบนะโดยฆราวาสธรรม แค่เราทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบแค่นี้ก็เป็นบุญกุศลแล้วนะ เพราะอะไร? เพราะจิตมันไม่วอกแวก ไม่คิดเรื่องมาทับถมใจ

ธรรมดาใจนี่เป็นนามธรรม แล้วเราไปคิดวิตกกังวลนะ นั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่เสร็จ อู้ฮู.. นี่มันเอามาทับถมยิ่งเครียดใหญ่เลย แต่ถ้าชีวิตของเราเป็นฆราวาสใช่ไหม? ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันสงบ มันสงบนี่มันอิ่มเต็มของมัน มันพอใจของมัน มันไม่ไปหาอารมณ์ มันไม่ไปหาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามมาทับถมไง เหมือนเรานี่ เราเป็นเชื้อโรค เราไปหาแต่เชื้อมา เราสบายขึ้นมาไม่ได้หรอก มันก็ป่วยไข้ตลอด

ฉะนั้น ขณิกะ อุปจาระ อัปปนานี่ไม่ต้องเอามาเป็นระดับของมัน เราพยายามทำได้แค่ไหนแค่นั้น แล้วที่ว่า “ถ้าเรียนดีนี่นะ ไม่ต้องเข้าอุปจาระใช่ไหม?” ใช่ คำว่าเรียนดีหมายถึงว่าจิตมันไม่เครียด ไม่วอกแวก วอแว นี่อ่านหนังสือมันเข้าใจแล้ว ถ้ามันเข้าใจอย่างนี้ใช้ได้ แต่ถ้าเข้ามาอุปจาระได้มันก็แจ๋วนะสิ มันก็ได้จริงๆ นั่นแหละ

ถูกต้อง ถูกต้อง ถ้าเราทำจิตเราสงบแล้ว พอจิตสงบมันสบายใจแล้วเราก็ดูแลของเรา เราก็แก้ไขของเรา แก้ไขชีวิตประจำวันนะ แก้ไขชีวิตของเราไปได้ แล้วชีวิตเราจะดีขึ้น

(ข้อ ๓. เขาอ้างเหตุการณ์จริงเลยนะ อันนี้เป็นการถามนะ)

ถาม : ๓. ถ้าหากว่ามีผู้นำไฟล์เสียงเทศน์ของพระรูปหนึ่ง หากท่านเป็นพระอรหันต์ หรืออริยะชั้นใดก็ตาม แต่คำพูดของท่านอาจไม่น่าฟัง แล้วมีการตัดเสียงเฉพาะส่วนที่ไม่น่าฟังนั้นไปเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตให้คนที่มาฟังไปด่าพระรูปนั้น โดยที่ไม่รู้ตัวว่าด่าพระที่มีคุณธรรมเข้าไปเสียแล้ว อยากทราบว่าจะเกิดผลกรรมใด สำหรับผู้ที่ตัดไฟล์เสียงนั้นไปหลอกคนอื่นให้ด่าครับ จะเกิดผลกรรมใดสำหรับผู้ที่เข้ามาด่าโดยที่ไม่รู้เรื่องครับ

หลวงพ่อ : อื้อฮือ.. หลายเรื่องเลยเนาะ ไอ้ตัดไฟล์เสียงไปมันก็แย่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่าคนที่ตัดไปนี่ถ้าเขาไม่รู้ นี่พูดถึงเขาไม่รู้ก่อนนะ นี่พูดถึงข้อเท็จจริง บางคนเขาไม่รู้ว่าพระองค์ไหนดีหรือไม่ดีหรอก แต่พูดอะไรไม่ถูกหูเขาก็ตัดไปใส่ อันนั้นก็หนักพอสมควรแหละ แต่ถ้ารู้นะ ถ้ารู้นี่เราหลอกลวง เห็นไหม ถ้าเรารู้ว่าพระองค์นี้เป็นพระที่ใช้ได้ เป็นพระที่จริง แต่ไม่ถูกใจเรา เราก็ไปตัดตรงนั้นไปให้คนอื่นไปด่า เพราะคนด่าไปแล้วมันมีโทษต่อเนื่องกันมหาศาลเลยล่ะ ทีนี้มันก็เป็นเวรกรรมต่อเนื่องกันไป

อย่างเช่นหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ตื้อท่านอยู่ทางเชียงใหม่นะ ท่านไปพูดให้พระฟัง ท่านเทศน์สอนพระแล้วท่านก็กลับ สุดท้ายท่านก็เดินกลับมาอีกนะ บอกว่า “ที่ผมพูดไปข้อนั้นผิดนะ”

พระที่หลวงปู่ตื้อเทศน์สอนท่านบอก “โอ้โฮ.. อาจารย์ไม่ต้องมาก็ได้ มาเมื่อไหร่ก็ได้”

ท่านบอกว่า “ไม่ได้! เดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าท่านไปพูดให้ใครฟังผมเสียด้วยไง”

ท่านสอนผิดนะ ท่านรีบกลับมาแก้เลย หลวงปู่ตื้อนี่แหละ นี่มันเป็นผลที่กรรมฐานเราถือกันมา ฉะนั้น ขนาดว่าพูดผิดแล้วคนอื่นพูดต่อไปมันยังเป็นผลเสีย ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมท่านไม่ต้องการให้ใครเสียไง

ฉะนั้น อย่างที่ว่าเวลาตัดเสียงไปแล้วให้คนอื่นมาด่าต่อ คนอื่นเขาไม่รู้เรื่องไง เขาฟังเฉพาะตอนนั้น ดูสิในสมัยพุทธกาล เห็นไหม ที่พระอรหันต์ไง มีพ่อค้าเขาขายของนะ เขาจะไปตลาดนัด สมัยพุทธกาลเขาก็มีของเขา เป็นตลาดชั่วคราวนั่นแหละ เขาก็เอาดีปลีมาไง เอาดีปลีจะมาขายใส่กระสอบมา ทีนี้ไปเจอพระอรหันต์นะ พระอรหันต์นิสัยท่านเป็นอย่างนั้น ท่านจะเรียกใครว่า “ไอ้ถ่อย ไอ้ถ่อย”

ทีนี้พอเจอกันจะสวนทางกันไง ทีนี้จะสวนทางกันพระก็ถามพ่อค้าคนนี้ว่า

“ไอ้ถ่อยจะไปไหน?”

อู้ฮู.. พูดอย่างนี้ไม่ถูกใจเลย โกรธมากไง ก็ถามพระอรหันต์กลับไป

“แล้วไอ้ถ่อยมึงจะไปไหนล่ะ?”

พระอรหันต์นั้นก็เฉยนะ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม? พ่อค้านี้ก็พูดไปแล้วก็สะใจแล้ว ได้เถียงแล้วใช่ไหมก็เข็นดีปลีไปขาย พอไปถึงไปจัดที่ขายจะเอาดีปลีออกมา ดีปลีมันกลายเป็นขี้หนูหมดเลย พอดีปลีมันกลายเป็นขี้หนู ทีนี้พ่อค้าที่เขาอยู่ข้างๆ เขารู้ เพราะพ่อค้าด้วยกันใช่ไหม ดีปลีด้วยกัน เขาบอกว่า “ตอนที่เอ็งมาเอ็งมีอะไรบ้างล่ะ?”

เขาบอกว่า “เจอพระองค์หนึ่งเขาพูดอย่างนั้นน่ะ”

ไอ้นี่รู้เลยบอกว่าให้กลับไปขอขมาท่าน.. ยังทันนะ กลับไปขอขมาท่าน พอพ่อค้าคนนั้นกลับมานะขี้หนูกลับเป็นดีปลีเลย ขี้หนูกลับเป็นดีปลีขึ้นมาได้ใหม่

นี้พูดถึงอันนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เห็นไหม ขนาดที่ว่าพระอรหันต์ แต่ว่าท่านนิสัยเป็นอย่างนั้น คือเรียกไอ้ถ่อยๆ จะเรียกใครเป็นสร้อยเลยนะ ไอ้ถ่อยไปไหน? ไอ้ถ่อยดีไหม? ไอ้ถ่อย เรียกอย่างนั้นแหละ ไอ้คนฟังมันฟังไม่ได้ มันฟังไม่ได้ ไอ้ถ่อยมาก็ไอ้ถ่อยสวนกลับไปเลย พอสวนกลับไปนี่ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์เราไม่ได้เป็น

อันนี้ผลของมันนะ แต่นี้ของเรานี่นะ บอกว่าเราคิดว่าเราไม่มีผลๆ หลวงตานะ หลวงตานี่ท่านบอกว่าท่านสิ้นกิเลส แล้วท่านพยายามจะพูดให้สังคมมั่นคงกับท่าน เพื่อจะให้ช่วยกันยกชาติขึ้น แต่ก็มีคนติเตียนทั้งต่อหน้าและลับหลังเยอะมาก สุดท้ายแล้วนะ คนที่ติเตียนท่านมากราบขอขมาท่าน ปากเบี้ยวอย่างนี้มาขอขมาหลายคนมาก หลายคนมากมาขอขมาหลวงตา หลวงตาบอกว่า “เราให้ขมาตั้งแต่ยังไม่ขอ”

เพราะท่านไม่ต้องการทำร้าย หรือไม่ต้องการให้ใครมาเดือดร้อนกับท่าน แต่ท่านต้องการช่วยเหลือชาติ! ท่านต้องการช่วยเหลือสถาบันที่เป็นส่วนรวมที่เราอาศัยกันอยู่นี้ แต่คนมันมีความคิดแตกต่างหลากหลาย มันก็คิดแตกต่างหลากหลายของมันไป

ฉะนั้น ท่านบอกว่าท่านให้อภัยมาตั้งแต่ไม่ได้ขอ คือว่าท่านไม่ต้องการให้พวกนี้มีโทษด้วย แต่! แต่เพราะท่านมีความจำเป็นที่ท่านจะต้องปกป้อง ท่านจะต้องดูแลชาติ ท่านบอกท่านให้คนไทยนี่นะ ที่ตอนลดค่าเงินบาทให้ทุกข์ขนาดนั้นท่านทนไม่ได้ ท่านถึงออกมาแบกรับภาระไง แล้วท่านพูดอยู่ ท่านพูดบ่อยนะเวลาพูดกับลูกศิษย์ บอกว่า

“การที่ออกมาช่วยชาตินี้! การที่ออกมาช่วยชาตินี้! เสียดายอยู่อย่างเดียว! เสียดายอยู่อย่างเดียว! คนที่ติเตียนมันจะตกนรกอเวจี”

ท่านพูดอย่างนี้! ออกมาช่วยชาติท่านจะเหนื่อยขนาดไหน ท่านจะลำบากลำบนขนาดไหน ใครจะติเตียนอะไรท่านขนาดไหน ท่านไม่เคยคิดเสียใจเลย ท่านบอกท่านเสียใจอย่างเดียว เสียใจไอ้คนที่มันติเตียนแล้วตกนรกอเวจี เสียใจแค่นี้! แค่นี้! อย่างอื่นท่านไม่เคยคิดอะไรเลย นี้พูดถึงหัวใจ เห็นไหม ท่านไม่เคยคิดอะไรเลย แต่มันความจำเป็น ความจำเป็นต้องให้คนช่วยกัน ให้คนเขามาช่วยเหลือกันเพื่อความมั่นคง

อันนี้พูดถึงผลมันมีไง ผลมันมี ฉะนั้น ไอ้คนที่ตัดไปใส่นี่ ฉะนั้น ถ้าไม่ได้เป็นผู้ถามตัดใส่ก็ไม่มีปัญหา (หัวเราะ) ทีนี้ถ้าผู้ถามตัดไปใส่ แล้วผู้ถามกลัวมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ตัดไปใส่นะ แล้วเราไม่ได้ทำซะอย่างหนึ่ง เราอย่าทำ เพราะเราไม่ทำ ถ้าไม่ทำแล้วหลวงพ่อล่ะ? เวลาหลวงพ่อบอกคนอื่นว่าอย่าทำๆ ทุกคนเลย แต่หลวงพ่อนี่ใส่เขาเปรี้ยง! เปรี้ยง! เลย

ไม่ใช่หรอก ไอ้ที่ใส่นี่นะ ที่เราพูดมันเหมือนกับจราจร เวลาจราจรเป่านกหวีดมันต้องเสมอภาค นี่รถมาด้วยกัน รถติดต้องติดหมด รถไปได้ก็ต้องไปได้เหมือนกัน ในธรรมะนี่นะถ้าถูกมันก็คือถูก ผิดมันก็คือผิด ฉะนั้นเรานี่เหมือนกับจราจร รถใครจะฝ่าไฟแดงมากูต้องเป่าปี๊ด! ปี๊ด! แน่นอน มึงฝ่าไฟแดงมาได้อย่างไร? มึงแซงมาได้อย่างไร? เออ.. ถ้ามาด้วยกันก็ถูก ธรรมะถ้าถูกมันก็คือถูก

ฉะนั้น สังเกตได้ไหมเวลาจราจรเป่านกหวีด หรือจราจรเรียกใคร คนโดนเรียกไม่พอใจหรอก ไม่พอใจ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาหลวงพ่อพูด แหม ไม่พอใจหรอก ไม่พอใจ ฉะนั้น พอไม่พอใจก็บอกว่าด่าเขาแรงเหลือเกิน ด่าเขาแรงเหลือเกิน.. ไม่ใช่กูเป่านกหวีดเว้ย มันฝ่าไฟแดงมาก็ต้องปี๊ด! ปี๊ด! แล้ว แล้วถ้าจบแล้วก็คือแล้วกัน ถ้าไม่ฝ่าไฟแดงมามันก็ไม่มีปัญหาหรอก ถ้ามันฝ่าไฟแดงมามันก็เจอนกหวีดอยู่แล้ว มันก็เท่านั้นแหละ

ฉะนั้น ไอ้ที่ว่านี่ “ถ้ามีผู้ใดตัดไฟล์เสียงไปใส่”

ทีนี้ถ้ามันเป็นพระอย่างนั้นนะ ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ? นี่ไอ้ตรงนี้แหละมันถึงทำให้การกระทำ วุฒิภาวะของคนไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันก็คือจบเนาะ ถ้าเราไม่ทำ หรือถ้าใครทำมันก็เป็นเวรกรรมของเขานะ เราไม่ทำ เราอย่าไปทำ

เพราะว่าในโลกนี้ วุฒิภาวะของคน คนชอบ คนไม่ชอบมันแตกต่างกัน ประชาธิปไตย เห็นไหม ประชาธิปไตยต้องฟังเสียงส่วนน้อย เสียงส่วนน้อยเขาไม่เห็นด้วยกับเรา แต่เขาก็เป็นชาวไทย เป็นพลเมืองไทยเหมือนกัน เราต้องฟังทั้งเสียงส่วนน้อยและฟังเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนใหญ่ก็อย่างหนึ่ง เสียงส่วนน้อยมันมีทุกที่ มันไม่มีฉันทามติเหมือนพระหรอก พระนี่ฉันทามตินะ เสียงเดียวค้านก็ไม่ได้ เวลาทำสังฆกรรมเสียงเดียวค้านไม่ได้ ต้องหมด ต้องหมด ทีนี้พอต้องหมดมันยังมีปัญหากันเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าโลกเขาเป็นอย่างนั้น เราจะบอกว่า จะจับให้คนมีความคิดเหมือนกัน จับให้คนเห็นเหมือนกัน กว่าที่เราจะเห็นดีอย่างนี้เราก็โดนหลอกมามากขนาดไหน ไอ้คนที่ว่าถูกๆๆ นี่โดนหลอกมาเยอะนะ หลงทางมาตั้งเท่าไร แล้วกว่าจะมาถูกทาง แล้วคนอื่นเขาต้องเป็นเหมือนเรานั่นแหละ

ฉะนั้น เวลาหลงเป็นอย่างไรล่ะ? เวลาเราเชื่อความผิดใครมาแตะเราได้ไหมล่ะ? แล้วเวลาตอนนี้มันถูกแล้วนี่ เราจะบอกให้ทุกคนมาเห็นเหมือนเราหมดเลย ถ้าไม่เป็นปั๊บก็จะมาทำงานอย่างนี้มันก็กระเทือนกันไง ฉะนั้น มันเป็นจริต เป็นนิสัย มันเป็นเวร เป็นกรรมเนาะ ถ้าเป็นเวรกรรมของเขา ก็แล้วแต่ว่ากรรมของเขา เขาสร้างของเขา เราพยายามทำความดีของเราเท่านั้นแหละเนาะ เอวัง