เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ ส.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ ต้องคุยธรรมะเนาะ.. ธรรมะ เทศน์ธรรมเห็นไหม สัจธรรมความจริง ความจริงมันเป็นประโยชน์กับเรานะ ดูสิเมื่อวานพูดเรื่องศาสนากับวัฒนธรรม ศาสนากับความเชื่อ ศาสนากับความคุ้นเคย ดูสิเวลาคนที่เขาไม่มีเขากระเสือกกระสน เวลาไม่มีศาสนา เห็นไหม ถือผีถือสางต่างๆ เวลามีศาสนาเข้าไป คนที่มีศาสนาแล้วเขามาบีบคั้น เขาต้องหนี เขาต้องเค้น เขาโดนบีบคั้น เขาพยายามจะทำตามความเชื่อของเขา เขาจะโดนบีบคั้นมาก

เพราะการโดนบีบคั้นอย่างนั้นเขาถึงแสวงหา เขาถึงเห็นคุณค่าของมัน แต่ของเรามันได้มา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หาไว้ให้ มันคุ้นชินไง ถ้ามันคุ้นชินขึ้นมามันไม่มีค่าเลย ของมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าของมันไม่มีสิ ให้กระเสือกกระสนหากันเอง ถ้ากระเสือกกระสนหากันเองนะ ของนั้นจะมีคุณค่ามาก แต่ถ้าของมันคุ้นชินแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันคุ้นชินของมันไป

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น ยิ่งหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านจะบอกเลย นั่งต้องให้ลุก อย่าให้รากงอก เพราะมันคุ้นชิน พอมันคุ้นชินแล้วนะมันไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดเลย เพราะกิเลสมันจะพอก ดินพอกหางหมู ถ้าจิตมันคุ้นชินแล้วนะมันไม่ตื่นตัว

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์เรา เห็นไหม โดยนิสัยใจคอ หลวงตาท่านเป็นคนแบบว่ากันเองมากนะ แต่เวลาท่านฝึกพระขึ้นมา เวลาท่านพูดถึงนะ หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นไง เวลาหลวงปู่มั่นท่านดุนะ ท่านบอกว่า “ทำไปอย่างนั้นเองแหละ”

ในทำนองหลวงตาก็เหมือนกัน ท่านก็ทำไปอย่างนั้นเองแหละ เพราะท่านเมตตานะ แต่ต้องทำอย่างนั้นเพราะเหตุใดล่ะ? เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นแล้วเราไปคุ้นเคยกับท่าน เราไปคุ้นชินกับท่าน คำสั่งคำสอนของท่านมันไม่เข้าถึงหัวใจของเรา แต่ถ้าเราไม่คุ้นชินกับท่านนะ นี่คำสั่งคำสอนมันทิ่มเข้าหัวใจของเรานะ

ถ้าเข้าหัวใจของเรา นี่เพราะความคุ้นชินของเราเหมือนมดแดงเฝ้าพวงมะม่วง ถ้ามันอยู่กับมะม่วงนะมันไต่ไปไต่มา ไต่ไปไต่มา มันว่าของมันๆ มันไม่เคยได้กินหรอก มีแต่มนุษย์เรา คนเราเจ้าของมะม่วงเขาปลูกไว้ เขาไปสอยมันเอามาเพื่อเป็นประโยชน์ เห็นไหม เป็นประโยชน์ของเขา เขาใช้ประโยชน์ของเขา แต่เราเป็นมดแดงเฝ้ามะม่วง

ฉะนั้น การคุ้นชินมันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากนะ เพราะเรื่องกิเลสใช่ไหม? กิเลสต้องรักษาหน้ารักษาตา จะเข้าไปไหนต้องมีคนนำทาง จะต้องมีต่างๆ แต่ถ้าเราเป็นความจริงนะ เราไปอยู่ไหนก็แล้วแต่ อย่างเช่นหลวงตาท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านดุจนร่ำลือทั่วประเทศไทย ฉะนั้น เวลาใครมาก็ว่าหลวงปู่มั่นดุ หลวงปู่มั่นดุ

หลวงตาท่านคิดอย่างนี้นะ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ คนที่เป็นพระอรหันต์ต้องเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมนะจะตัดสินสิ่งใดโดยความลำเอียงมันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นคำว่าดุๆ ของท่าน ยิ่งดุยิ่งเข้าหาเลย ไปเลย นี่ท่านก็ไปหาเลยนะ เวลาไปถึงหลวงปู่มั่นก็โดนจริงๆ นั่นแหละ หลวงปู่มั่นดุเอาตัวสั่นเลย แต่! แต่ตัวเองก็ได้ประโยชน์มากเลย

เออ.. จริงของท่าน! จริงของท่าน! จริงของท่าน! แต่เรานี่เนื้อตัวสั่นเลยนะ แต่มันจริงของท่าน จริงของท่านเพราะอะไร? เพราะจิตใจเราต้องการ เหมือนพ่อแม่เลย พ่อแม่เวลาดูแลลูก เห็นไหม ดูแลลูกนี่ถ้าโอ๋กันไปนะ คุณหนูนะ ลูกเรานะจะไม่เข้มแข็ง แต่ถ้าลูกเรานี่ พ่อแม่ของเรา พ่อแม่ใครไม่รักลูก รักทั้งนั้นแหละ แต่ก็ต้องให้ลูกเข้มแข็ง ให้ลูกทันคน ต้องฝึกลูกขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาไปหลวงปู่มั่นท่านว่า ชื่ออะไร? แล้วเราว่า ผมๆๆ นี่ท่านใส่เอาตัวสั่นเลย แต่ตัวสั่นท่านก็บอกว่าจริงของท่าน จริงของท่าน มันไม่มีทางโต้แย้งเลย เห็นไหม นี่ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ ลูกศิษย์กับอาจารย์นะ แต่ในใจของเราล่ะ?

ระหว่างกิเลสกับเรา ถ้าเป็นกิเลสนี่เราเสียหน้าแล้ว ทำไมเราเพิ่งมาวันแรกเลย ทำไมท่านถึงตำหนิเราขนาดนั้น แต่ถ้าเป็นธรรม.. เป็นธรรม เห็นไหม เราเคยคุ้นเคยกับโลก เราคุ้นเคยกับสังคมมาตลอด เราไม่เคยเข้าไปหาพระอรหันต์ เราไม่เคยเข้าไปหาสัจจะความจริง พอเราเข้าไปหาสัจจะความจริง สัจจะความจริงแสดงออกแล้ว เห็นไหม

สัจจะความจริงแสดงออกมาด้วยสัจจะ พอแสดงออกด้วยสัจจะ นี่ความคุ้นเคยของกิเลสในหัวใจของเรามันคุ้นเคยอยู่แล้วใช่ไหม? พอมาเจอสัจจะเข้า นี่ถ้าคนมีเหตุมีผลมันรับได้ไง พอมันรับได้ เห็นไหม นี่ความคุ้นชิน ถ้าความคุ้นชิน เวลาประพฤติปฏิบัติ พอเวลาครูบาอาจารย์ของเราไปอยู่ที่ไหนท่านจะต้องไปของท่านนะ พอคุ้นชินกับสถานที่ ไปแล้วเคลื่อนไป ๗ วัน เดือนหนึ่ง ไปเรื่อย

พอเปลี่ยนสถานที่ใหม่กลัวผีกลัวสาง ยิ่งเสือดุๆ นะ ทางเสือผ่าน เสือต้องผ่านทางนี้นะ ไปนั่งขวางทางมันเลยนะ เวลานั่งขึ้นมานี่ขนหัวตั้ง ยิ่งขนหัวตั้งขนาดไหนนะ นั่นล่ะกิเลสมันตื่นตัว นี่ถ้ากิเลสตื่นตัวขึ้นมามันก็ทำให้กลัว แล้วกลัวขึ้นมา เวลาคนปฏิบัติส่วนใหญ่จะบอกว่า จะวิปัสสนาอย่างไร? จะเห็นจิตอย่างไร? เห็นกายอย่างไร?

นี่แต่เวลาไปที่กลัวก็กลัวนะ แต่ถ้าไปที่กลัวนั่นล่ะมันแสดงตัว พอมันกลัวขึ้นมา ถ้าเรามีธรรม เห็นไหม นี่มีสติ มีปัญญา บริกรรมพุทโธ พุทโธ ถ้ามันทันนะมันก็สงบตัวลง พอสงบตัวลงนี่ที่กลัวๆ หายไปไหน? เวลากลัวนี่กลัวจนตัวสั่นนะ แต่เวลาพอมันสงบตัวลง มันกล้าหาญจนขนลุกขนพองนะ มันจะเข้าไปเผชิญหน้าทุกๆ อย่างนะ

ฉะนั้นเวลากลัวก็กลัวจนตัวสั่น เวลากล้าก็กล้าจนไม่มีเหตุมีผล นี่มันไม่เป็นธรรม ถ้ามันเป็นธรรมนะ สิ่งที่มันเป็นไปตามสัจจะ เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น ผีสาง เทวดา เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น ไอ้เราก็อยู่ของเรา นี่วัฏฏะมันซ้อนกันอยู่อย่างนี้ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันซ้อนกันอยู่ ด้วยเวรด้วยกรรมของสัตว์โลก

สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม เราก็จะสร้างคุณงามความดีของเรา ถ้าเราไม่มีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็คุ้นชินกับความรู้สึก ความนึกคิดของเรานี่แหละ บอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งที่พอใจสิ่งนี้เป็นประโยชน์ สิ่งที่ไม่เป็นความพอใจสิ่งนั้นเป็นกิเลสหมดเลย นี่แล้วมันก็รักษาไว้ รักษาหน้ารักษาตาไว้ แต่เวลาเป็นธรรมขึ้นมามันไม่รักษาหน้ารักษาตา มันเป็นจริง เห็นไหม ผู้ใหญ่ผิดก็คือผู้ใหญ่ผิด เด็กผิดก็คือเด็กผิด

นี่เวลาเด็กผิด เด็กมันผิด เวลาผู้ใหญ่ผิด เออ.. ผู้ใหญ่ไม่เป็นไร ผู้ใหญ่ประมาทเฉยๆ นี่มันก็ว่ากันไปนะ แต่ถ้าเป็นความจริง เด็กผิดก็คือเด็กผิด ผู้ใหญ่ผิดก็คือผิด ผิดถูกมันเรื่องธรรมดา คำว่าเรื่องธรรมดา เห็นไหม นี่การขาดสติ แต่พอขาดสติแล้ว พอทำแล้วเราต้องระลึกรู้แล้วเราเปลี่ยนแปลงเรา ถ้าเราเปลี่ยนแปลงเราได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา นี่ผู้ใหญ่ผิดก็คือผู้ใหญ่ผิด เด็กผิดก็คือเด็กผิด

แต่! แต่เวลาถ้าเราทำของเราขึ้นมา ถ้าศาสนากับวัฒนธรรม เห็นไหม วัฒนธรรมก็คือความเชื่อต่างๆ มันเป็นวัฒนธรรมประเพณี ทำแล้วมันก็สมประโยชน์ของเขา ทำแล้วก็ทำตามประเพณีวัฒนธรรม นี่ความเชื่อๆ ความเชื่อของกิเลสมันครอบงำอยู่ ความคุ้นชินมันก็เป็นกิเลสอันหนึ่ง ถ้าเป็นกิเลสอันหนึ่งความคุ้นชินมันทำให้เราคุ้นชิน มันเสียเวลาเรามากนะ มันเสียโอกาสของเรามาก ถ้าไม่เสียโอกาสของเรานะ เราตื่นตัวตลอดเวลา

การตื่นตัว เห็นไหม ถ้าความเพียรชอบ เวลาเดินจงกรมสักแต่ว่าเดิน เดินทีหนึ่ง ๑๒ ชั่วโมง ๑๓ ชั่วโมง เดินทีหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง แต่ถ้าเราเดิน ๕ นาที ๑๐ นาทีแต่จิตมันลงล่ะ? นี่ ๕ นาที ๑๐ นาทีดีกว่านะ ดีกว่าเดินทั้งวันทั้งคืน แต่! แต่ในระหว่างการประพฤติปฏิบัติของคน จิตมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญเป็นเรื่องธรรมดา

เจริญแล้วเสื่อม เห็นไหม เวลา ๕ นาที ๑๐ นาทีนี่ดีมากเลยอยากได้อีก อยากได้อีกเดินอีก ๒๔ ชั่วโมงเลยมันไม่ได้ ฉะนั้นมันไม่ได้ การเดินเห็นไหม ถ้าการเดินอย่างนั้น ถ้าเราไม่คุ้นชินกับมัน เราตื่นตัวตลอดเวลามันจะเป็นประโยชน์นะ แต่ถ้าคุ้นชินปั๊บ เห็นไหม คุ้นกับมัน ชินกับมัน นี่มันนอนจมกับกิเลส กิเลสเหยียบย่ำ แม้แต่ในทางจงกรม ในการนั่งสมาธิภาวนา กิเลสมันก็เหยียบย่ำ ฉะนั้นเราต้องไม่คุ้นชินกับสิ่งใด ตั้งสติพร้อม

ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องสติ เรื่องสมาธิ มันเป็นการฝึกฝน เป็นการกระทำ พอมันมีความชำนาญ เห็นไหม ชำนาญในวสี ชำนาญในการบำรุงรักษา นี่สติเราระลึกรู้ ถ้าเราปฏิบัติใหม่ๆ นะ จับพลัดจับผลูผิดทุกเรื่องเลย แต่พอเวลาปฏิบัติไป จากผิดๆ มันก็มีผิดบ้างถูกบ้าง แต่พอมันเริ่มชำนาญขึ้นนะ มันจับต้องไปนะ เห็นไหม จับอีกแล้ว ผิดอีกแล้ว

นี่เวลาอารมณ์มา พอจิตมันเข้าไปคุ้นชินกับมัน นี่เราเสียดายอารมณ์ของเรานะ อารมณ์อะไรคิดดีๆ อยากจะคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องอย่างนั้น พอไปคิด นี่พอคิดเรื่องดีๆ อยากคิดเรื่องอย่างนั้น อ้าว.. เสียดายอารมณ์ พอเสียดายอารมณ์กิเลสมันก็เอาอารมณ์นั้นมาหลอกเรา

“ว่างนะ นั่งไป ๕ นาทีมันจะเป็นสมาธินะ พอสมาธิเกิดขึ้นมาใช้ปัญญาแบบวันนั้นแหละ วันนั้นดีมากๆ เลย” เห็นไหม มันเอาความดีของเรา เอาธรรมะนี่มาหลอก ถ้าเราไปคุ้นชินกับมันกิเลสมันสวมเขาเลย กิเลสมันบังเงาเข้ามาทันทีเลย

ฉะนั้น ถ้าเราไม่คุ้นชิน เราตื่นตัวตลอดเวลา ไอ้ที่ได้ก็ได้มาแล้ว ไอ้ปัจจุบันนี้จะได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่รู้เลย แต่เราทำของเรานะ ตั้งสติของเรา คำบริกรรมของเรา นี่เขาว่าสภาวธรรมๆ เห็นไหม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สภาวะตั้งสติก็เป็นสภาวะหนึ่ง เวลาคำบริกรรมพุทโธเป็นสภาวะหนึ่ง จากสภาวะจะเข้าไปสู่สัจจะ ถ้าสู่สัจจะขึ้นมาแล้วไม่ใช่สภาวะ มันเป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริง

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

เหตุมันคืออะไร? เหตุคือมันตั้งสติ เหตุคือมันมีสติปัญญา เหตุคือมันทำด้วยความมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยความสมดุลของมัน ถ้าสมดุลของมันมันก็เข้ามา ถ้าเข้ามามันก็เป็นความจริงของมัน เห็นไหม ถ้าเรารู้ตัวของเรา เราเห็นของเรา เราทำของเรา แล้วเราปฏิบัติของเราขึ้นมา ผลมันเกิดขึ้นมาตามความเป็นจริงอันนั้น

ฉะนั้นเวลาปริยัติ เห็นไหม เวลาเราบอกว่าพุทธพจน์ๆ ถ้าพุทธพจน์เราก็อ้างพุทธพจน์กันตลอดเวลา แต่จิตมันเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ? บอกว่าพุทธพจน์ๆ นี่เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ก็ไปคุ้นเคย จำแม่นเลย จำแม่นทุกอย่างเลย แล้วก็เป็นกรอบนะ เดินไม่ได้เลยนะ ผิดหมดเลย ทำอะไรผิดหมดเลย

แต่เวลาปฏิบัตินะ เด็ก! เด็กเวลามันจะหัดเดินมันต้องล้มไหม? เด็กมันจะหัดเดินต้องล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นแหละ แต่เดี๋ยวมันจะวิ่งได้ จิตใจนี่นะเวลาทำขึ้นมาเป็นความจริง กรอบนั้นมันบังคับไว้ แล้วเราทำอะไรไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้เลย แล้วมันจะยืนได้อย่างไรล่ะ? เด็กมันจะฝึกเดินได้อย่างไร? เด็กมันจะก้าวเดินไปได้อย่างไร? เด็กมันต้องก้าวเดินไปได้สิ ถ้าเด็กมันก้าวเดินไปได้ เห็นไหม ล้มลุกคลุกคลานก็ต้องล้มสิ

ฉะนั้นมันจะผิดจากพระพุทธเจ้าสอนไว้ ผิดก็ผิด ผิดก็ผิดเพราะเราไม่เป็น มันต้องผิดแน่นอน ผิดเด็ดขาด ภาวนานี่เราบอกว่าภาวนาเริ่มต้นผิดทั้งนั้นแหละ ใครภาวนาแล้วถูกหายากมาก แต่! แต่ทำไป ชำนาญไป ดีไป ฝึกฝนไป ทำไป เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ.. เราจะฝึกฝนของเรา พอมันเป็นธรรมขึ้นมา เราไม่คุ้นชินกับมันแล้วเห็นโทษของมันด้วยนะ

เวลาผู้ที่ปฏิบัติเป็นนะ คำว่าสัญญาๆ น่ากลัวที่สุด สัญญาน่ากลัวที่สุด แต่ในการปฏิบัติก็ต้องอาศัยสัญญา เวลาจิตมันสงบแล้วนะ ถ้าจะให้มันพิจารณานี่ มันไม่ทำจะทำอย่างไร? ก็ต้องใช้สัญญา สัญญานี่ความจำนั่นแหละ ใช้ความจำขึ้นมาจุดประกาย แต่พอเป็นความจำมันก็เป็นอย่างหนึ่ง เพราะเป็นความจำ เรานึกให้เห็นกายมันก็เห็นกายใช่ไหม?

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เรานึกให้เห็นกายมันไปเห็นกะโหลก นึกกะโหลกมันเห็นเส้นขน นึกเส้นขนมันเห็นตับ นี่ไงมันไม่เป็นอย่างที่คิดหรอก เพราะสัญญาคือข้อมูลใช่ไหม? แต่ถ้ามันเป็นความจริงมันเกิดเอง มันเกิดขึ้นมาจากสมาธิ มันเกิดขึ้นมาจากฐานของมัน พอมันเป็นขึ้นมานี่มันคาดหมายไม่ได้หรอก ถ้าเราใช้สัญญา เรานึกกะโหลกก็คือกะโหลก เพราะเราสร้างภาพกะโหลก เราสร้างภาพกะโหลกมันก็เห็นเป็นกะโหลกใช่ไหม?

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ นึกกะโหลกมันไปเห็นข้อมือ นึกข้อมือมันเห็นข้อเท้า มันเป็นความจริง มันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงอย่างนั้น นั่นล่ะปัจจัตตัง! นั่นล่ะสันทิฏฐิโก! ถ้าเป็นอย่างนั้นขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะเราไม่ไปคุ้นกับมัน ไม่ไปชินกับมัน มันเป็นความจริงของมัน

นี่สัจจะมันเป็นอย่างนั้น สัจจะเป็นอย่างนั้นเพราะจิตเป็นขึ้นมา ถ้าเราทำของเรา เห็นไหม นี่ศาสนากับความคุ้นชินมันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานนะ แต่ถ้าเราตั้งใจของเรา เราทำของเรา มันก็เริ่มมาจากว่าสัญญาเป็นสิ่งที่น่าอันตรายมาก แต่ในทางโลกนะ ความจำ ความศึกษา การใคร่ครวญนั้นมันเป็นสมบัติของเขา นั่นโลกียปัญญา

ถ้าโลกุตตรปัญญา เห็นไหม สัญญาความจำมันเป็นโทษมาก โทษมากเพราะสัญญามันมาจากจิต ความคิดมาจากจิต กิเลสมาจากจิต ถ้ามันเริ่มมาจากจิต อย่างไรก็แล้วแต่มันมีกิเลสบวกมาตลอด เป้าหมายนี้มันมีกิเลสบวกมาด้วย มันจะทำให้มันถูกต้องเป็นไปได้อย่างไร? แต่ถ้าพอจิตมันเป็นสมาธิ กิเลสมันก็สงบตัวลง พอมันเห็นของมันนี่เห็นตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง พิจารณาตามความเป็นจริง นี่เห็นตามความเป็นจริง พิจารณาตามความเป็นจริงเข้าไปแล้วมันก็เป็นสัจธรรม สัจธรรมปฏิบัติไปมันถึงจะได้เห็นผลจริง เห็นไหม

นี่การกระทำตั้งแต่ภายนอก ถ้าเราตื่นตัวตลอดเวลามันจะเป็นประโยชน์กับเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งพระไว้นะ คำสุดท้ายเลย

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ความประมาท ความเลินเล่อ ความคุ้นเคย เห็นไหม มันมาด้วยกันทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนเราไว้แล้วนะ

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” เอวัง