ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ยุคเสื่อม

๑๔ ส.ค. ๒๕๕๔

 

ยุคเสื่อม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามนี่มันถามมาเรื่อยๆ นะ บางทีมันก็ต้องตอบ เหมือนกับเวลาตอบคำถามนี่หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ หลวงตาท่านพูดว่า “เวลาโครงการช่วยชาติขาดอยู่อย่างเดียว ขาดคำถาม ไม่ได้ถามธรรมะท่าน มีแต่ท่านเทศน์ไง”

ท่านบอกถ้าโครงการช่วยชาติถ้ามีคำถามนะ แล้วไปถามที่นู่นน่ะ ที่ตาก เห็นไหม นิพพานเป็นนิพพานอะไรนี่ ท่านบอกว่าเวลาโครงการช่วยชาติขาดเฉพาะคำถาม ถ้าคำถามปั๊บมันเหมือนกับเปิดให้ธรรมะได้ออกได้ แต่ถ้าคำถามมันตื้นๆ มันก็แบบคนฟังน่าจะเบื่อ แล้วคนฟังก็จะถามว่า “หลวงพ่อไม่เบื่อบ้างหรือ?” (หัวเราะ)

หลวงพ่อก็เบื่ออยู่ แต่! แต่ไม่ตอบมันก็ไม่ได้ เพราะคนถามมันเป็นปัญหาที่หนักหน่วงของเขา เด็กเวลามันยกอะไรไม่ขึ้นมันก็ว่าหนักมาก ผู้ใหญ่ยกอะไรมันก็ดูเบาๆ ใช่ไหม? ไอ้นี่คนปฏิบัติใหม่ ไอ้คนปฏิบัติเก่าก็เอ้อ.. เรื่องไม่เป็นเรื่องก็ถามตอบกันอยู่นั่นแหละ แต่ไอ้เรื่องที่เป็นเรื่องก็ไม่เห็นมีสักทีเนาะ มันมีแต่เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไอ้เรื่องเป็นเรื่องหาไม่เจอสักที

ข้อ ๕๗๕. เนาะ ถามเรื่อง “การปฏิบัติ”

ถาม : เคยถามคำถามพระอาจารย์หลายครั้งแล้ว เมื่อคราวที่แล้วถามว่า “ก่อนนี้ไม่เห็นนิมิต แต่พักหลังๆ เห็นเป็นหน้าตาตัวเองแว็บๆ” พระอาจารย์ตอบแล้วเข้าใจค่ะ ก็เพราะว่าคาดหวังผลไปก่อน แต่! แต่ตอนนี้ก็ติดขัด ที่พอเห็นก็อยากเห็นให้มันชัด อยากเห็นมากขึ้นเลยเพ่ง พอเข้าสมาธิก็จดจ้องอยู่ที่ความมืด ดูว่าเมื่อไหร่จะก่อตัวขึ้นมาเป็นภาพ ทำให้เพ่ง เครียด และบางทีไม่เห็นอะไรเลย เลยอยากขอวิธีแก้ไข จะทำอย่างไรเวลาทำสมาธิเราจะไม่ต้องเพ่งมองใช่ไหมคะ ควรกำหนดจิตอยู่ที่ใด?

หลวงพ่อ : มันเริ่มต้นนะ อย่างเช่นโค้ชหรือผู้ฝึกสอนเขาจะสอนนักกีฬา เริ่มต้นเขาจะให้ออกกำลังก่อน แล้ววางเบสิกให้ได้ก่อน ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นของเรา เราต้องทำความสงบของใจก่อน เห็นไหม ทำความสงบของใจก็บอกว่าให้นักกีฬานั้นมีกำลัง ให้ร่างกายนั้นแข็งแรง แล้วพื้นฐานนี่ต้องวางพื้นฐาน พุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิคือพื้นฐาน

พื้นฐานหมายถึงว่าเราจะต้องให้จิตใจเราไม่วอกแวก วอแว ให้จิตใจเราเข้มแข็ง หลวงตาบอกว่าจิตนี่มันหิวอารมณ์ พอหิวนะ คนหิวกระหายทำงานไม่ได้ จิตนี้มันหิวอารมณ์ พอความคิดเกิดแว็บนี่มันเสวย คือมันคิด มันยึดของมัน มันยึดของมัน แต่เราทำความสงบของใจจิตนี้มันอิ่ม คนอิ่มหนำสำราญสิ่งใดมามันก็อยากกินนั่นแหละ แต่มันคัดเลือกเป็น นี่ความคิดที่ดีและความคิดที่ไม่ดี

ฉะนั้น พื้นฐานของมัน เราต้องวางพื้นฐานก่อน ถ้าพื้นฐานมันแน่นแล้ว ดีแล้ว เห็นไหม นักกีฬาพอพื้นฐานดี เบสิกดีเขาก็สอนอีกขั้นตอนหนึ่งออกไป แล้วถ้านักกีฬาเป็นทีมเขาต้องให้ลงฝึกซ้อมเป็นทีมเพื่อเล่นกันได้ เพื่อเข้าขากัน ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้านักกีฬาใช่ไหม บางคนมีทักษะดี บางคนช้างเผือกมีแววดี เขาก็ดูว่านักกีฬาคนนั้นสมควรเล่นตำแหน่งไหน ควรเล่นอย่างใด

จิต! จิตเวลามันภาวนาไป เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบมันรู้มันเห็นนะ อย่างเช่นเห็นนิมิตต่างๆ คำว่าเห็นนิมิต ในการปฏิบัติของพวกนามรูป พวกอภิธรรมเขาจะติเตียนมาก บอกพุทโธนี่จะเห็นนิมิต พุทโธจะติดนิมิต.. นี่ถ้าเราติดกันเขาถึงเอาไปติไปเตียนได้นะ แต่ขณะที่เราปฏิบัติ เห็นหรือไม่เห็นเหมือนทักษะของนักกีฬา บางคนเขามีความชำนาญของเขา เขามีพรสวรรค์ของเขา

จิตก็เหมือนกัน จิตบางดวงจะเห็นนิมิตบ้าง ไม่เห็นนิมิตบ้าง มันเป็นทักษะ มันเป็นบารมีของจิตดวงนั้น ฉะนั้น ถ้าเห็นหรือไม่เห็น เราก็ไม่บอกว่ามันเป็นประเด็นไง มันเป็นประเด็นที่ว่าเวลาเราเห็น หมายถึงว่าทักษะหรือว่าจิตเรามันมีรูปแบบอย่างนี้ มันจะออกมาในรูปแบบนี้ ถ้ารูปแบบนี้นะ ถ้านักกีฬาคนนั้นเผลอ นักกีฬาคนนั้นหยิ่งผยองว่าตัวเองมีความสามารถดี นักกีฬาคนนั้นจะไม่รุ่งโรจน์หรอก เพราะมันพื้นฐานไม่ดี

จิต! จิตพอเห็นนิมิตมันเหมือนทักษะ มันไปเห็นสิ่งใดมันต้องวางไว้ก่อนไง คือนักกีฬามีพรสวรรค์ก็จริงอยู่ แต่เราวางสิ่งนี้ไว้ แล้วเราฝึกฝนตัวเราให้ชำนาญใช่ไหม? ไอ้พรสวรรค์นั้นมันก็อยู่กับเรา มันจะหายไปไหน? จิตถ้าเห็นนิมิตก็เหมือนกัน มันจะเห็นนิมิตอย่างไรเราก็วางไว้ก่อน แล้วเราทำความสงบของใจเรา ถ้าใจเราสงบขึ้นมา นี่สิ่งนั้นเรามีทักษะดีอยู่แล้ว ถ้าร่างกายเราแข็งแรงอยู่แล้วนะมันจะดีขึ้น มันจะเข้มแข็งขึ้น

ในการปฏิบัติ เห็นไหม ฉะนั้น พอที่มันเห็น ก่อนที่มันเห็นนี่มันเห็นโดยความชำนาญ โดยความต่างๆ แต่พื้นฐานในการปฏิบัติมันไม่มั่นคง มันไม่แข็งแรง ฉะนั้น ถ้าเวลามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์เรา กรรมฐานเราจะบอกว่าให้ทำความสงบของใจก่อน ทำความสงบของใจก่อน ให้ทุกคนมีความเข้มแข็ง ให้แข็งแรง แล้วทักษะนี่เราฝึกเอา เราฝึกเอา

ถ้าจิตมันสงบแล้วมันไม่เห็นใช่ไหม มันไม่เห็นสิ่งต่างๆ ก็น้อมไป พยายามน้อมไป รำพึงขึ้นมา น้อมก็คือสัญญานั่นแหละ เห็นไหม บอกว่าสัญญานี่เป็นโทษมาก แต่เวลาคนก็ต้องใช้สิ่งนั้น ดูวัคซีนสิ วัคซีนที่เขาเอามาป้องกันโรคเอามาจากไหนล่ะ? เขาเอามาจากโรคนั้นแหละ เอาจากโรคนั้นแหละแล้วมาดัดแปลง มาฆ่าเชื้อมัน แล้วเขาก็เอาเชื้อโรคนั่นแหละมาทำวัคซีน

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นสัญญานั่นแหละ แต่! แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว เห็นไหม แหม.. นักวิทยาศาสตร์นะเว้ย เอาเชื้อโรคจะมาทำวัคซีน ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราเอาจิตเรา เอาความเห็นของเรานั่นแหละ เอาสิ่งนั้นมา ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันเห็นไม่ได้ นี่ทักษะพื้นฐานเราไม่ดีเลย ทำอะไรสิ่งใดไม่ดีเลย เราก็ต้องเลียนแบบ เห็นไหม เลียนแบบเพื่อทำให้ได้ นี่พูดถึงนิมิตไง

กรณีนิมิต อภิธรรมเขาจะติมาก ติบอกว่าพุทโธ พุทโธนี่ติดขัดไปหมด หลงไปหมด ติดนิมิตกันไปหมด ไปไม่รอด เขาจะติเตียนมาก แต่โดยข้อเท็จจริงล่ะ? โดยข้อเท็จจริงคนไข้ จิตมันเป็นแบบนั้น แล้วจะทำอย่างไร? เราจะทำอย่างไรกับมัน

ฉะนั้น พอจะทำอย่างไรกับมัน เราก็ต้องฝึกของเรา นี่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านจะรู้ว่าถ้าจิตดวงนี้มันเห็นใช่ไหม? อย่างเช่นเวลาเห็นแว็บๆ เห็นอะไร เห็นนิมิต เห็นไหม เห็นไปแล้วก็คือแล้วไปแล้ว ถ้าจิตมันเห็นก็คือมันจะเห็น แต่ถ้าจิตมันจะเห็นนะ เรากำหนดตั้งแต่ก่อนนั่งสมาธิว่าไม่ต้องการ ไม่อยากเห็น แล้วถ้าจิตมันเห็นนะ เห็นแล้วก็กลับมาพุทโธชัดๆ มันจะกลับมา

พอจิตมันเข้มแข็งแล้วนะ พอมันจะเห็นขึ้นมา ตอนนี้พอเราพื้นฐานก็ดี ทุกอย่างก็ดี พอเห็นนิมิตขึ้นมา นักกีฬาฝึกมาดี กำลังดี ทักษะดี มีความสด ลงสนามแล้วมีโอกาสชนะมากเลย นี่พอจิตมันดีแล้วนะเราก็พิจารณาอย่างนั้น

นี่พูดถึง “ตอนนี้อยากเห็นกำหนดจ้องไปในที่มืด” อยากไปหมด อยากรู้ไปหมด พออยากเห็นเพราะอะไร? เพราะเห็นแล้วใช่ไหม? อย่างคนเรานี่สามล้อถูกหวยนะ เรานี่สามล้อ ถีบสามล้อส่งผู้โดยสาร หาเงินหาทองเลี้ยงครอบครัวทุกข์ยากมาก วันนี้ถูกหวยขึ้นมานี่แหม.. สามล้อถูกหวยเลย

จิต! เวลาปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เวลาไปเห็นแว็บๆ แว็บๆ นั่นแหละสามล้อถูกหวย พอสามล้อถูกหวย มันไม่รู้จักใช้เงินใช้ทองเดี๋ยวมันก็หมด แต่ถ้าเราเป็นสามล้อนะ เราเองเราก็ส่งผู้โดยสารหาเงินหาทอง ถ้าเราถูกหวย เราได้ลาภขึ้นมาเรารู้จักประหยัด เรารู้จักมัธยัสถ์มันก็ไม่เสียหาย มันก็ไม่เสียหาย

นี่ก็เหมือนกัน ต้องกลับมาที่ความสงบนะ ไม่ต้องไปจ้องมันที่มืด การจ้อง การเพ่งนี่เสียหมดแหละ นี่พูดถึงว่าทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ไง แล้วถ้าทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องตั้งสติ ทำไมต้องทำความสงบของใจ แล้วเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนา เมื่อไหร่จะใช้ประโยชน์?

ไอ้ที่วิปัสสนานี่นะ จิตสงบแล้วเห็นตามความเป็นจริง เห็นไหม เราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แต่ถ้าจิตไม่สงบแล้วนึกเอามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอมไง ที่เขาบอกว่ากำหนดนะใช้ปัญญานี่แหละมันเป็นวิปัสสนา พุทโธมันเป็นสมถะ.. วิปัสสนาก็วิปัสสนาหลอกๆ นึกเอาเองทั้งนั้นแหละมันไม่มีจริงหรอก

ถ้าจิตไม่สงบนี่ไม่มีจริง แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ เห็นไหม มันเป็นสมถะ มันเป็นการนึกเอาไหม? ใช่ แต่ต้องการความสงบ ถ้าสงบแล้วนะจิตมันมีกำลังของมัน พอมันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงนะ มันจะขนพองสยองเกล้า มันจะเป็นวิปัสสนาจริงๆ มันจะเป็นวิปัสสนานะ เป็นสติปัฏฐาน ๔ ของจริง แต่กว่าจะได้จริงได้ปลอม เหมือนเรานี่เราศึกษามาแล้วเราอยากทำงาน เราต้องสมัครงาน เราต้องสอบคัดเลือก

จิต! จิตเวลามันรู้ขึ้นมาแล้ว เวลาปฏิบัติถ้าจิตมันสงบแล้วนี่มันจะสอบคัดเลือก ถ้ามันสอบคัดเลือกได้ มันเข้าทำงานได้ เห็นไหม มันไปรู้จริงเห็นจริงได้มันจะได้มีผลงาน เราได้ทำงานเราก็มีผลตอบแทน ถ้าเราไม่ได้ทำงานเราก็ไม่มีผลตอบแทน คนเตะฝุ่นไม่มีผลตอบแทนนะ เว้นไว้แต่รัฐสวัสดิการ

นี่ก็เหมือนกัน จิตเราไม่สงบ เราเตะฝุ่นของเราไป เราใช้ปัญญาของเราไปนะ ใช้ปัญญานี่เป็นวิปัสสนา ไอ้พวกพุทโธ พุทโธนี่สมถะไม่ใช่วิปัสสนา.. มีค่าเท่ากันแหละ เหมือนกัน แต่หลงผิดไปเท่านั้นเอง นึกเอาเองไง นึกว่าวิปัสสนาไง แล้วพอพุทโธ พุทโธก็บอกว่ามันไม่ใช่วิปัสสนา

ไอ้ใช่วิปัสสนา ถ้าทำถูกต้องเขาจะเข้าแนวทางได้ถูกต้อง แล้วเขาจะได้อริยสัจ เขาจะได้สู่ความจริง เป็นความจริงๆ ไอ้ที่ว่าตัวเองหลงผิดอยู่ว่าเป็นวิปัสสนาๆ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิทั้งนั้นแหละ มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก มันเป็นตรรกะ มันไม่ใช่ธรรมเลย

นี่พูดถึงความที่เขาติเตียนนะ ฉะนั้น เราจะไม่ให้เขาติเตียนใช่ไหม? เราก็พุทโธแล้วอยู่กับเรา จ้องไปที่มืดนี่เราส่งออกแล้ว เราไม่ต้องจ้องไปที่มืด เพราะความอยากเห็น อยากเห็นให้ถึงตายก็ไม่เห็น แต่ถ้าจิตสงบมันถึงเห็น ถ้าจิตมันสงบใช่ไหม พอจิตสงบ นี่จิตสงบ ตาของจิตออกรู้ ถ้าออกรู้นั่นคือเห็น ถ้ามันไม่ออกรู้นะมันไม่เห็นหรอก

แล้วยิ่งถ้าไปจ้อง เหมือนเราเข้าถ้ำเลย แล้วจ้องในถ้ำมันจะเห็นอะไร? เรามองเข้าไปในถ้ำ มองไปในที่มืดมันจะเห็นสิ่งใด? มันจะเห็นสิ่งใดขึ้นมาล่ะ? ถ้ามันเห็นมันก็เป็นอุปาทาน นึกเอาเห็นเอาว่านิมิตเป็นอุปาทาน อ้าว.. ก็ลองให้เป็นนิมิตจริงๆ แล้วจะรู้ไง

ฉะนั้น เขาถามว่าเมื่อก่อนเคยถามมาแล้ว แล้วเราตอบไปหลายหนแล้ว แล้วตอนนี้ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ด้วยความอยากรู้อยากเห็นก็พยายามทำ.. ที่อธิบายพื้นฐานมานี่คือพยายามจะพูดให้เข้าใจไง ให้เข้าใจว่าจิตมันทำงานอย่างไร แล้วธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างใด ฉะนั้น ธรรมชาติของจิตมันเป็นแบบนี้ เราไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมัน ไม่ต้องไปตื่นเต้น เราพุทโธของเราไป พุทโธของเราไปเพื่อภาวนา เห็นไหม

พุทธานุสติ พอเรากำหนดพุทโธ เราทำความสงบของใจ เราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเอากิริยาของเรา เอาร่างกายของเรา เอาความรู้สึกนึกคิดของเราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำเพื่อบุญกุศล ถ้าทำเพื่อบุญกุศลนะ ทำเพื่อความรู้จริงของเรา ทำเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของเรา เห็นไหม นี่ผลประโยชน์ของเราไง

เราทำตรงนี้ แล้วถ้าจิตมันสงบ มันรู้ของมันจริง เดี๋ยวเราจะบริหารจัดการของมันถ้าจิตมันสงบ ถ้าจิตมันไม่สงบเราพยายามจ้อง พยายามเพ่งมันยิ่งไม่มีใหญ่ คือเหมือนกับเรา ในเมื่อเราทำผิดแล้วเราพยายามจะซ้ำไป มันก็ยิ่งจะไปไกลใช่ไหม? เราต้องปล่อยวางหมดแล้วกลับมาพุทโธเฉยๆ พุทโธ พุทโธให้จิตมันสงบเข้ามา หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ นี่สิ่งที่เห็น

นี้คำถามของเขานะ “พยายามจ้องไปที่มืด ดูว่าเมื่อไหร่มันจะก่อตัวขึ้นมา” เห็นไหม

ขนาดเราเห็นว่าภาพนิมิตมันก่อตัวขึ้นมาเป็นภาพ ไปเพ่งจนเครียดไปหมดนะ ปล่อยวางให้หมด แล้วที่พูดเมื่อกี้นี้ พูดถึงความเป็นจริงของจิต จิตมันจะเป็นความจริงแบบนี้ ถ้าจิตมันเร่าร้อน จิตมันมีความเครียดมันก็ทุกข์ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่จิตมันปล่อยวางมันก็เป็นความสุข สุขเพราะมันสลัดทิ้งความฟุ้งซ่าน แล้วถ้าจิตสงบแล้วออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันไม่ออกรู้เราก็พยายามรำพึง พยายามฝึกหัดให้มันเป็นไป ถ้ามันเป็นไปได้มันก็จบไง

ค่อยๆ ฝึกไป ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ หัด ปริยัติ ปฏิบัติ.. การปฏิบัติมันต้องฝึกเอาอย่างนี้แหละ มันไม่มีใครทำให้ แล้วมันไม่มีใครยื่นให้เราหรอก เราต้องฝึกหัดของเรา ทำตามความเป็นจริง แล้วมันจะได้ผลประโยชน์ตามความเป็นจริงนะ

ข้อ ๕๗๖. อันนี้มันเป็นเรื่องปัญหาสังคม แล้วเราจะตอบไม่ได้ เพียงแต่เราจะอธิบายว่าเราก็รู้ แล้วมันเป็นปัญหาของคนที่นี่ด้วย เขาพูดอย่างนี้

ถาม : ๕๗๖. เรื่อง “การเรียกอาวุโส กับภันเต”

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ พอดีผมฟังเทศน์หลวงพ่อมาได้ประมาณ ๒ เดือนแล้วครับ ก็เลยหันมาฝึกทำสมาธิดูหลังจากที่ทิ้งไปนาน ประกอบกับได้มีโอกาสเข้าพรรษาด้วย ก็เลยทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น เพราะการรักษาศีล ๕ ค่อนข้างครบถ้วน ผมสงสัยเกี่ยวกับคำว่าอาวุโส ภันเต ในไฟล์เสียงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑ ของหลวงพ่อครับ

เพราะตอนผมบวชพรรษาหนึ่ง ได้มีโอกาสอ่านและสอบนักธรรมตรี จำได้ว่า คำว่า “อาวุโส” ในภาษาบาลีนั้นหมายถึงผู้ที่มีอายุพรรษาน้อยกว่า และผู้ที่บวชเข้ามาภายหลังนั่นเอง ส่วนคำที่พระภิกษุผู้มีพรรษาน้อยกว่า เรียกพระภิกษุที่มีพรรษามากกว่าว่า “ภันเต”

หลวงพ่อ : นี่ในตำรา ถูกต้อง!

ถาม : ในสังคมปกติทั่วไป ตั้งแต่เราเรียนมา ไม่ว่าจะประมาณประถม มัธยม อุดมศึกษา การใช้คำว่าอาวุโสที่ใช้กันทั่วๆ ไป ก็หมายถึงผู้ที่มีอาวุโส อายุงาน อายุทางวุฒิการศึกษา เป็นต้น แต่มักตีความว่าเป็นคนเฒ่า คนแก่ ผู้สูงวัยไปเสียมากกว่า ตกลงที่ถูกคืออย่างไรครับเริ่มงง

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) เขาเขียนว่าเริ่มงง แล้วกราบนมัสการลา

ในพระไตรปิฎกเขาพูดอย่างนั้นจริงๆ พูดถึงอาวุโส เราเรียกผู้อาวุโสว่า “ภันเต อาวุโส” แล้วภันเตจะเรียกเด็กว่า “อาวุโส” มันก็เหมือนกับว่าการอ่อนน้อมถ่อมตน ในสมัยพุทธกาลนะอาวุโสนี่เวลาพระทักกันไง อาวุโสจะพูด จะสอน จะบอกเขาเรียกอาวุโส ทางที่อายุน้อยกว่าก็เรียกภันเต

ทีนี้คำว่าอาวุโสมันเหมือนกับเราอ่อนน้อมถ่อมตน ยกย่องเขาใช่ไหม มันเลยกลับหัวกลับหางไง มันกลับหัวกลับหางในปัจจุบันนี้ คำว่าอาวุโสคือคนที่มีอาวุโสกว่า ภันเตคือเล็กกว่า คือความหมายมันเปลี่ยน นี่คำว่าอาวุโส ภันเตก็คือคำเก่านั่นแหละ แต่ความหมายมันเปลี่ยนแปลง ไป

ในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างนั้นจริงๆ คำว่าอาวุโสคืออายุน้อยกว่า ภันเตคือมากกว่า จริง! แต่ในความเข้าใจของสังคมเดี๋ยวนี้ อาวุโส ภันเต อาวุโสต้องมากกว่าจริงไหม? ภันเตต้องน้อยกว่า แต่ในพระไตรปิฎกเป็นอย่างนี้จริงๆ แล้วเป็นอย่างนี้จริงๆ มันเป็นจริงๆ แต่เวลามันเคลื่อนไปมันเคลื่อนอย่างนี้ มันเคลื่อนไปแล้วคนก็งง เขาก็งง เราก็งง

แต่เราคิดว่าสังคมเขาเข้าใจกันอย่างนี้ไง สังคมเขาเข้าใจกันว่าเรียกอาวุโสคือผู้ที่มีอาวุโสกว่า ภันเตคือผู้ที่ด้อยกว่า แต่ในพระไตรปิฎก อาวุโสมันคือคนที่ด้อยกว่า ภันเตคือคนที่สูงกว่า นี่ในพระไตรปิฎกนะ เราก็เข้าใจอย่างนี้ แต่เราก็พูดของเราอย่างนี้ เพราะสังคมเขาเข้าใจกันอย่างนี้ไง เราพูดเพื่อความเข้าใจของสังคม ไม่ได้พูดให้หนังสือเข้าใจไง ไม่ได้พูดให้อาวุโส ภันเตมันเข้าใจ แต่พูดให้คนเข้าใจ

ถ้าคนเข้าใจ.. เพราะเดี๋ยวนี้คนเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว คนเขาเข้าใจกันว่าอาวุโสคือผู้ที่สูงกว่า ภันเตคือผู้ที่ต่ำกว่า แต่ในหนังสือเขาบอกว่าภันเตนี่สูงกว่า อาวุโสต่ำกว่า นี่หนังสือเขียนมาอย่างนี้จริงๆ ในพระไตรปิฎกมีความหมายอย่างนี้จริงๆ แต่ความหมายมันเปลี่ยนไปแล้ว สังคมเขาเข้าใจกันอย่างนี้ ฉะนั้น เวลาเราพูดเราก็พูดเพื่อให้คนฟัง พูดเพื่อให้เขาเข้าใจ

ในเมื่อมันอยู่ในพระไตรปิฎกนะ นี่เวลามันไปอย่างนี้ พอมันเคลื่อนไปอย่างนี้แล้วใครจะเอาคืนล่ะ? แล้วเอาคืนอย่างไร? ถ้าเอาคืน เห็นไหม นี่วัฒนธรรม แล้วความเชื่อ ความรู้สึก เราจะดึงมา นี่เวลามันไหลไป มันไหลไปอย่างนี้แหละ

ฉะนั้น ที่ถามมานี่เราก็เข้าใจอย่างนี้ เราก็เข้าใจอย่างที่เขียนมานี่แหละ เราก็รู้ เราก็เห็น เพราะพระไตรปิฎกใครก็อ่าน อ่านแล้วก็เข้าใจ ทีนี้เราจะพูดตามพระไตรปิฎกเลย เห็นไหม พุทธพจน์นะ ภันเต อาวุโส ภันเตต้องเป็นเด็ก แต่พูดไปแล้วรู้อยู่คนเดียว แต่โลกเขาเข้าใจกันอย่างนี้ โลกเขาเข้าใจกันอย่างนี้

นี่พูดถึงพรรษา เห็นไหม ไอ้ตรงนี้ชัดเจนมาก แล้วตอนนี้ชัดเจนมากปั๊บก็ย้อนกลับไป ย้อนกลับไปในเรื่องอริยสัจ ในเรื่องการปฏิบัติ ในเรื่องความเป็นจริงในพระไตรปิฎก กับความเข้าใจของสังคมมันแตกต่างกันอย่างไร? ฉะนั้น ในพระไตรปิฎกมันก็มี.. ความเคลื่อน ในพระไตรปิฎกนี่ไม่เคลื่อน แต่หัวใจของพวกเราพวกชาวพุทธนี่เคลื่อน เคลื่อนไป คำว่าอาวุโส ภันเตก็เป็นแบบนี้

ในพระไตรปิฎกเป็นอย่างนั้นจริงๆ อาวุโสหมายถึงผู้ที่มีอายุพรรษาน้อยกว่า เขาเรียกว่าอาวุโส ก็เหมือนกับเราเรียกอาวุโส เห็นไหม นั่นก็ว่าภันเต แต่ตอนนี้มันกลับกันมาแล้ว มันเป็นความเข้าใจของสังคม สังคมเข้าใจกันอย่างนี้ เพราะสังคมพระก็เป็นสังคมพระนะ แต่สังคมข้างนอกมันเป็นใหญ่ สังคมข้างนอกคือสังคม แล้วมันก็อย่างที่ว่าแหละ พระก็ตามกันไป ตามกันไปก็เข้าใจ แล้วถ้าตามกันไปมีแต่ติเขานี่ แล้วเราจะต้องฝืนใช่ไหม? เราต้องพูดอยู่คนเดียวใช่ไหม? นี่มาถึงก็ภันเตๆ

เรานี่นะ สมมุติถ้าเราไปหาเจ้าคณะจังหวัด หรือผู้ที่ปกครองเราเป็นเจ้าฟ้า เจ้าคุณ ไปเรียกเขาว่าภันเตนี่ยุ่งเลยล่ะ เขาคิดอย่างนั้นไง สังคมเข้าใจกันไปอย่างนั้นแล้ว นี่ความเข้าใจ สังคมเข้าใจนะ เราพูดกับสังคมก็เป็นอย่างหนึ่ง.. ถ้าพูดมากไปเรื่องนี้เดี๋ยวมันจะสะเทือนถึงเราด้วย เพราะเราก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนะ

นี่ความเข้าใจนะ เรื่อง “การเรียกอาวุโส ภันเต” นี้การเรียกอาวุโส ภันเต ถ้ากรณีนี้เราคิดให้เป็นประโยชน์ คิดให้เป็นประโยชน์ เห็นไหม ขนาดว่าชื่อเรียกยังเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ แล้วถ้าพูดถึงกิริยา คำกิริยามันก็ไปอีกนะ คำกิริยาต่างๆ ไปหมด ฉะนั้นพอไปหมด ปฏิบัติไปนี่หลวงตาถึงบอก เห็นไหม

“ไม่รู้พูดไม่ได้ ไม่รู้เขียนไม่ได้”

แล้วไม่รู้พูดไม่ได้ แล้วนี่เขาพูดผิดทำไมต้องไปพูดตามเขา ทำไมพูดตามเขาอยู่? เวลาสังคมเขาพูดกันอย่างนี้ เราก็ต้องเป็นไปอย่างนี้ แล้วเราจะไปค้านนี่.. เราไม่พูดเดี๋ยวมันออกนอกเรื่อง

ข้อ ๕๗๗. เนาะ

ถาม : ๕๗๗. เรื่อง “สมาธิระดับนี้ควรออกใช้ปัญญาหรือยังคะ”

หนูปฏิบัติโดยการกำหนดพุทโธไว้ที่ใจ มันก็สงบระดับหนึ่ง แต่บางครั้งก็มีการส่งออกไปคิดถึงคนอื่นบ้าง พอได้อ่านหนังสือของหลวงปู่เจี๊ยะท่านให้กำหนดพุทโธเร็วๆ หนูก็เลยทำตาม ช่วงแรกเหนื่อยมาก รู้สึกเหมือนมีพลัง แต่ต้องฝืนกับการขี้เกียจกำหนดพุทโธโดยไม่ให้ขาด ก็อดทนทำไปเพราะอยากรู้ว่าสมาธิจริงๆ เป็นอย่างไร

มีอยู่วันหนึ่งนั่งสมาธิแล้วจิตก็เลื่อนลงเหมือนเราลงลิฟต์ ปรากฏเห็นกายของเราทั้งตัว จากปกติเริ่มบวม อืด เน่า มีหนอนขึ้น ภาพนั้นก็แสดงไปเรื่อยๆ เหมือนเราดูหนัง สุดท้ายมันจบลงตรงที่เหลือแต่หัวกะโหลกของเรา ขณะที่เห็นภาพ ตัวหนูก็ร้องไห้สลดสังเวชใจมาก ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่ว่าเราต้องตาย ความรู้สึกตอนนั้นบรรยายไม่ถูก แต่รู้สึกว่าจิตตอนนั้นสงบและมีสมาธิมาก ไม่เคยเป็นอย่างนี้เลย

พอหลังจากนั้นในระหว่างวัน บางครั้งก็เห็นตัวเองเป็นโครงกระดูก แต่แค่เห็นแว็บเดียวแล้วก็หายไป เคยเห็นผู้หญิง แล้วในใจคิดว่าผู้หญิงคนนี้สวยดี พอความคิดจบลง หนูก็เห็นผู้หญิงคนนั้นเป็นโครงกระดูกทั้งตัว จนต้องเอามือขยี้ตาว่าเราเห็นอะไรกันแน่

คำถาม.. สมาธิระดับนี้ควรออกใช้ปัญญาหรือยังคะ และอย่างที่หนูเคยเห็น หนูควรจะเริ่มพิจารณาอย่างไรถึงจะถูกวิธีคะ ขอคำแนะนำจากหลวงพ่อด้วย เพราะหนูฝึกสมาธิมาประมาณ ๑ ปีแล้ว

หลวงพ่อ : ทำอย่างนี้ถูกต้อง คำว่าถูกต้อง เห็นไหม คำว่าถูกต้องก็ดีแล้ว นี่ว่าพุทโธไวๆ พุทโธไวๆ เพราะพอสมาธิลง นี่เวลาจิตมันลงไปแล้ว ถ้าจิตมันลงแล้วคนมีวาสนา แบบว่าเวลาฝึกจิต พอจิตมันลง ทุกอย่างมันลง เหมือนทักษะดี ทุกอย่างดี มันมีอำนาจวาสนาของมัน มันก็ออกรู้ออกเห็น พอออกเห็น เริ่มเห็นเป็น..

นี่เวลาเห็นนะ เรามองร่างกายเราด้วยตาเนื้อสิ เราเห็นด้วยความชัดเจนใช่ไหม? แต่จิตเราสงบแล้ว พอเราเห็นภาพ เราเห็นกาย ถ้าเราเห็นร่างกาย เห็นไหม มันบวม มันอืด มันเน่า หนอนมันขึ้น คือว่ามันย่อยสลายไง พอมันย่อยสลายไป เพราะโดยจิตใต้สำนึกของเรามันยึดมั่นถือมั่นว่าสรรพสิ่งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรานี่โดยจิตใต้สำนึก แต่สภาวะแบบนี้มันเป็นสภาวธรรม

สภาวธรรมหมายถึงว่าถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตมันสงบแล้วนี่สัจจะ.. สัจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ โดยสัจจะ เห็นไหม ของทุกอย่างเป็นอนิจจังหมด มันแปรสภาพหมด ทีนี้ร่างกายของคนมันเป็นสสาร มันเป็นเนื้อ เป็นต่างๆ มันเป็นน้ำ มันเป็นธาตุ ถ้ามันมีจุลินทรีย์ต่างๆ มันยิ่งเน่าเร็วขึ้นไปใหญ่ ทีนี้การย่อยสลายของมันนั้นเรื่องหนึ่งใช่ไหม? แต่เวลาจิตมันเห็น ความจริงมันเป็นแบบนั้น ความจริงมันไม่เป็นแบบที่เราเป็นอยู่หรอก

สิ่งที่เราเป็นอยู่มันเป็นเพราะว่าอำนาจของกรรมใช่ไหม? อำนาจของกรรมเพราะชีวะ มีชีวิต มีธาตุ มันก็เผาผลาญอยู่ ธาตุไฟมันหล่อเลี้ยงอยู่ ร่างกายก็เลย มันเสื่อมสภาพ แต่มันไม่เป็นอนิจจังถึงกับย่อยสลายขนาดนั้น ฉะนั้น พอจิตมันเห็นสัจจะความจริงมันก็สะเทือนใจ พอมันสะเทือนใจมันก็จะไปกระตุกไง ไปกระตุกความยึดมั่นถือมั่นของใจ

นี่ที่เราทำกันอยู่นี้ เราปฏิบัติกันอยู่นี้ เราพยายามจะแก้จิตของเรา จิตของเรามันมีสิ่งยึดมั่นถือมั่นในใจ คือสังโยชน์มันรัดอยู่ ถ้ามันพิจารณาของมันไปแล้วมันจะปล่อยของมัน มันจะคลายของมัน มันจะทำดีของมัน แล้วถ้าเห็นอย่างนี้ปั๊บมันก็จะขยันหมั่นเพียรถ้ามันทำได้

ฉะนั้น คำถามว่า “สมาธิระดับนี้ควรใช้ปัญญาหรือยังคะ”

ขณะที่เห็นนั่นล่ะคือปัญญานะ ถ้าเวลาเราเห็นนี่นะ แล้วเราพิจารณาของเรา นั่นล่ะคือปัญญาแล้ว ทีนี้คำว่าปัญญาของเรา เราต้องใช้คิดหรือ? ปัญญาของเรา ปัญญาที่เราคิดกันอยู่นี้มันเป็นปัญญาโลกๆ นะ มันเป็นปัญญาข้างนอก เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ.. เจโตวิมุตติมันก็มีปัญญา

นี่ถ้าการเห็นมันเป็นเจโตเพราะมันเห็นภาพ เวลาภาพมันย่อยสลาย ภาพมันเปลี่ยนแปลง ภาพมันต่อเนื่องไป นั่นล่ะคือปัญญานะ ปัญญาของเจโตวิมุตติมันไม่ใช่คิดเอาอย่างที่เราคิดนี้ ที่เราคิดนี้ เวลาถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ มันมีสมาธิด้วยแล้วมันใช้ปัญญาหมุนไป สมาธิรองรับมันลึกซึ้งกว่านี้ไง ฉะนั้น “โลกียปัญญา กับโลกุตตรปัญญา”

นี่ถามว่า “สมาธิแบบนี้ควรใช้ปัญญาหรือยัง?”

ควรใช้ ควรใช้ เพราะถ้าเราใช้ปัญญานะ บางทีพอเราจะคิด ดูสิเวลาจิตเราเป็นสมาธิแล้วเรากลัวเราจะไม่มีปัญญา พอเราคิดปั๊บมันกระตุกจิตของเราออกมาเลย เพราะความคิดนี่มันหยาบ มันหยาบกว่าจิตเราอีก เพราะจิตเราลงสมาธิมันละเอียดใช่ไหม? พอจิตลงสมาธิมันละเอียด ถ้าความคิดของเรา ความคิดจากสมองมันเป็นปัญญา แต่ความคิดจากใจล่ะ?

ความคิดจากใจ นี่ถ้าจิตมันละเอียด เห็นไหม ความคิดอันนั้นเราจะอธิบายไม่ได้เลย เราจะอธิบายถึงขณะปัญญาที่มันหมุนอยู่ข้างใน เราจะอธิบายได้อย่างไร? นี่มันรู้อยู่ เห็นอยู่ แต่อธิบายไม่ได้ แต่ถ้าความคิดเรานี่เราจำได้ ความคิดที่เราคิดอยู่ในปัจจุบันนี้เราจำได้ เราคิดเรื่องอะไร? คิดเรื่องดี เรื่องชั่ว เห็นไหม นี่ความคิดอย่างหยาบกับความคิดอย่างละเอียด ทีนี้ความคิดอย่างละเอียด นี่ปัญญาสมอง ปัญญาจิต ถ้าปัญญาเกิดจากจิตเพราะอะไร? เพราะจิตมันสงบมันเป็นของมัน

นี่เราฝึกตรงนี้! เราฝึกตรงนี้ไง เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต ปัญญาเกิดจากจิตมันก็ถอนรากแก้วจากจิตของเรา ถอนกิเลสออกจากจิตของเรา ถ้ามันถอนได้ ปัญญามันถอนได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม ฉะนั้น..

ถาม : ถ้าสมาธิระดับนี้ควรใช้ปัญญาหรือไม่ แล้วอย่างที่หนูเห็นนี้ควรจะเริ่มต้นพิจารณาอย่างไรถึงจะถูกคะ

หลวงพ่อ : ตั้งจิตไว้ ถ้าพิจารณาให้ถูกตั้งสติไว้ ถ้าจิตสงบนะมันจะเห็นกายนี้เรื่อยๆ ถ้าจิตมันสงบน้อยกายก็จะหายไป นี่แล้วกายจะหายไปมันก็จะย้อนกลับไปคำถามแรก ถ้ากายมันหายไปก็จะเพ่งไปที่มืด เพ่งให้มันเห็นกายมันไม่เห็นหรอก ถ้าจิตมันสงบแล้วมันถึงจะเห็น ถ้าจิตไม่สงบมันเป็นสัญญา

เห็นโดยสัญญานะ มันจืดๆ ชืดๆ เห็นโดยสัญญาคือการสร้างภาพ เห็นโดยจิตมันขนพองสยองเกล้า เห็นโดยจิตมันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนใจเรามาก นั้นเห็นโดยจิต ถ้าเห็นโดยจิตคือเห็นโดยข้อเท็จจริง ฉะนั้น จะเห็นโดยจิตเราพยายามทำความสงบของใจให้ใจเราสงบเข้ามา ถ้าสงบแล้วมันออกรู้ออกเห็น ออกรู้ออกเห็นนั่นล่ะวิปัสสนาเกิดตรงนั้นแหละ

ออกรู้ออกเห็นแล้วแยกแยะ นั่นใช่เป็นปัญญาแล้ว ปัญญาในเจโตวิมุตติคือเห็นภาพการย่อยสลาย การรำพึง คือความรู้สึกนึกคิดเหมือนเรากำหนดจิต ให้จิตมันบังคับบัญชาจิต ให้จิตมันรำพึงไป พอรำพึงปั๊บ พอรำพึงที่จิตใช่ไหม? ภาพเกิดจากจิตใช่ไหม? พอจิตรำพึงภาพนั้นมันจะไปตามนั้นเลย แว็บ! แว็บ! เร็วมากนะ

ให้มันเน่า ให้มันเปื่อย ให้มันผุพัง พั่บ! พั่บ! เลยนะถ้าเป็นเจโตวิมุตติ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ มันจับของมันนะมันต้องใช้ปัญญา แต่ปัญญาก็เป็นปัญญาละเอียด ปัญญาเกิดจากจิตมันจะเทียบเคียงของมัน พอเทียบเคียงของมันใช่ไหม? มันจะเน่าเปื่อยอย่างนั้น มันจะเสียหายอย่างนั้น มันจะดูแลของมันอย่างนั้น

ฉะนั้น การใช้ปัญญานี่ ถ้าเห็นภาพแล้ว ถ้าจิตมันเป็นไปได้มันจะรู้ นั่นล่ะเป็นปัญญา แต่มันจะรู้จะเข้าใจได้ ต่อเมื่อมันครบวงจรแล้วย้อนกลับมามันจะเห็น มันจะเข้าใจ แต่ขณะที่เราทำงานอยู่นี่เราไม่เข้าใจ ขณะที่เราทำงานอยู่เราล้มลุกคลุกคลาน เราทำของเรานะ นี่อย่างนี้มันไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่ถ้ามันทำของมันนะ มันทำของมันจบแล้วเรามาทบทวนนะมันจะเข้าใจหมดเลย

ฉะนั้น ไอ้เข้าใจหรือไม่เข้าใจนี่เราขยันของเรา เราทำของเรา ถ้าผิดถูกเดี๋ยวเราออกมาแล้วเรามาพิจารณาของเรา ฉะนั้น..

ถาม : สิ่งที่เป็นอย่างนี้ต้องใช้ปัญญาใช่ไหม?

หลวงพ่อ : ใช่แล้ว มันใช้ปัญญาอยู่แล้ว

ถาม : แล้วอย่างนี้หนูควรจะทำอย่างไรต่อไป

หลวงพ่อ : ควรทำความสงบของใจ ควรสร้างกำลังแล้วพิจารณา ถ้ากำลังเราดีนะภาพนี้จะเห็น ถ้าภาพนี้ไม่เห็นนะ เรารำพึงขึ้นมานี่ภาพมันเห็น บางทีมันแบบว่าส้มหล่น คนมีวาสนานะ อย่างเช่นพระนะ พระในสมัยพุทธกาล ถ้าสร้างบุญกุศลมา เวลาบวชบริขารเป็นทิพย์มาเลย บริขารเป็นทิพย์ ผ้าผ่อนนี่มาได้เลย แต่บางคนจะบวชนะขอเท่าไรมันก็ไม่มี

พาหิยะ เห็นไหม ฟังพระพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์ แล้วขอบวช พระพุทธเจ้าบอก เธอไม่มีบริขาร ๘ ไปหาบริขาร ๘ ไปหาบาตร หาผ้า นี่โดนควายขวิดตายเลย นี่วาสนาของคนมันเหมือนกันที่ไหนล่ะ? แต่ถ้าคนที่มีวาสนานี่มันเป็นทิพย์ เป็นทิพย์มันจะมาเลยชุดแรก คือบริขารลอยมาเลย แต่ครั้งที่ ๒ ก็ต้องเปลี่ยนแล้ว มันมีหนเดียว

นี่ก็เหมือนกัน นี่ถ้ามันเป็นปัญญานะ ถ้าปัญญามันพิจารณาของมัน เวลามันปล่อย มันขาดนะมันก็มีหนเดียว นี่มันเป็นประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัตินั้น ฉะนั้น สิ่งที่มันมีหนเดียว มันไม่มีอีกแล้วเราก็ต้องฝึกหัดนะ ถ้าจิตสงบแล้วก็รำพึง พิจารณาเรื่องกาย พิจารณาไปๆ พอจิตมันดีขึ้น พอจิตมันสงบแล้วพิจารณาเรื่องกาย ใช้ความคิดเทียบเคียง พอจิตมันเริ่มสะอาดขึ้น กว้างขึ้น เดี๋ยวมันจะเกิด ถ้ามันเกิดขึ้น มันรู้ขึ้น มันเห็นขึ้น มันก็เป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติของเรา นี้พูดถึงการฝึกหัดนะ

นี่เขาถามว่า “สมาธิระดับนี้ควรออกใช้ปัญญาหรือยังคะ”

มันใช้ปัญญาของมันอยู่แล้ว แล้วใช้ได้ด้วย แล้วจะเป็นประโยชน์กับเราด้วยเนาะ เอวัง