เทศน์พระ

อมภูมิ

๑๔ ส.ค. ๒๕๕๔

 

อมภูมิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งสติ ตั้งใจ ระลึกรู้ให้เป็นกิจจะลักษณะ เราอยู่โดยความสะดวกสบายเรา เราก็อยู่มาแล้ว ตอนนี้เราฟังธรรม เราตั้งใจ เราฟังธรรม เห็นไหม คนเขาหุงหาอาหาร เวลาข้าวเขาจะสุก สมัยก่อนเขาหุงข้าวเช็ดหม้อ เขาจะรู้เลยว่าข้าวนี่ควรจะสุกขนาดไหน ถ้ามันสุกแล้ว เขาจะเช็ดหม้อของเขา ข้าวของเขาจะขึ้นหม้อ ข้าวของเขาเขาจะได้เลี้ยงครอบครัวของเขา นี่หุงหาอาหารมาเพื่อดำรงชีวิต

เราเป็นพระนะ เราเป็นนักปฏิบัติ การตั้งสติ การทำอุโบสถ เวลาหลวงตาท่านไปลาหลวงปู่มั่นออกไปวิเวก มันจะคาบเกี่ยวกับอุโบสถ ท่านบอกนะ “ให้ทำคนเดียวนะ อุโบสถ ตั้งใจ ให้ไปคนเดียว ให้ถือบุคคลอุโบสถ” คณะอุโบสถ สังฆอุโบสถ คำว่า “ทำอุโบสถ” ถ้าเราตั้งใจทำอุโบสถ เราทำของเรา ถ้าใครทำจริง ใครตั้งสติ หุงหาอาหาร เขายังหุงหาอาหารมาเพื่อข้าวปลาอาหารเขาอุดมสมบูรณ์ เพื่อความหอมหวานของข้าวปลาอาหารของเขา เราทำอุโบสถสังฆกรรมกัน เราตั้งใจของเรานะ ทำเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของใจของเรา

ถ้าใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ เวลาไปนั่งสมาธิภาวนามันก็องอาจกล้าหาญรื่นเริงในการกระทำ แต่ถ้าจิตใจเราเศร้าหมอง จิตใจเราไม่อาจหาญรื่นเริง เราไปทำสิ่งใดเราไม่กล้าทำ หรือทำไปแล้วก็เกิดนิวรณธรรม นิวรณธรรมมันปิดกั้นจิตนะ ฉะนั้น การทำอุโบสถสังฆกรรมของเรา เราตั้งใจของเรา ตั้งใจฟังธรรม

พอตั้งใจ งานสิ่งใดที่เป็นภาระ ที่เป็นหน้าที่รับผิดชอบวางไว้ เดี๋ยวทำก็ได้ เดี๋ยวค่อยทำ ให้เสร็จจากอุโบสถสังฆกรรมแล้วเราค่อยทำหน้าที่ของเรา

“กิจของสงฆ์” สงฆ์ควรทำอย่างใด กิจกรรมของเรา เรามีสิ่งใดเราทำเพื่อหัวใจของเรา เราทำเพื่อความสงบระงับในใจของเรา ถ้าใจเราสงบระงับ จิตใจเราเป็นสงฆ์นะ

“ผู้ใดเห็นสมณะ เป็นมงคลอย่างยิ่ง”.. สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ สมณะมีกี่ระดับ? สมณะไง เห็นสมณะที่ ๑ เห็นสมณะที่ ๒ เห็นสมณะที่ ๓ เห็นสมณะที่ ๔

สมณะที่ ๑ ก็สงบระงับระดับหนึ่ง

สมณะที่ ๒ สงบระงับมากขึ้น

สมณะที่ ๓ สงบระงับเกือบถึงที่สุดแล้ว

สมณะที่ ๔ สงบระงับเป็นความจริง

สิ่งที่อยู่ที่เหลือนี้คือกิริยาเท่านั้นเอง มันเป็น “ภารา หเว ปัญจักขันธา” ธาตุขันธ์นี้เป็นภาระอย่างยิ่ง เป็นภาระที่สืบทอดดูแลรักษาให้ถึงที่สุด ให้มันหมดอายุขัยของมันไป แต่จิตใจมันหมดตั้งแต่สิ้นกิเลส พอชำระกิเลสในหัวใจเสร็จสิ้นไปแล้วไม่มีสิ่งใดๆ มันเป็นธรรมธาตุ มันเป็นสัจธรรมทั้งหมดเลย สิ่งที่สงบระงับถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่มีเหลืออยู่นั่นคือกิริยา กิริยาที่แสดงออกให้สื่อสารกับผู้ที่ยังไม่เข้าใจได้เป็นประโยชน์

ฉะนั้น เราทำความสงบระงับในใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ ถ้าใครมีความสงบระงับมากน้อยขนาดไหน มันจะเป็นคุณงามความดีของเรามากขึ้นขนาดนั้น คุณงามความดีนะ

“ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาบวชเป็นพระเป็นเจ้ากัน เพื่อพยายามจะรื้อค้นของเรา เพื่อประพฤติปฏิบัติเราให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ ขณะที่สุดแห่งทุกข์ ระยะทางการก้าวเดินในผลของวัฏฏะนะ ในพระไตรปิฎกบอกไว้ว่า “เหมือนคนเดินอยู่กลางทะเลทราย แล้วหิวกระหาย ไม่มีอาหารเลี้ยงกระเพาะอาหาร ล้มลงแล้วยังมองไปข้างหน้านะ ยังต้องก้าวไปอีก” นี่ผลของวัฏฏะ

“ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” ผลของวัฏฏะ เราจะก้าวเดินไปขนาดไหน เวลาเราหลงอยู่กลางทะเลทรายนี่ ล้มลงแล้วไม่มีทางไป เวลาเกิดในนรกอเวจี จิตเวลามันตกทุกข์ได้ยาก มันไม่เคยตายไง เหมือนเราล้มอยู่กลางทะเลทราย แต่มันไม่ตาย มันกระเสือกกระสนแต่มันไม่ตาย! แต่ในชีวิตจริงมันตาย มันตายเพราะร่างกายมันขาดอาหาร แต่จิตมันไม่เคยตาย

ทีนี้ผลของวัฏฏะที่มันวนเวียนไป ผลของมันน่ะมันไม่ตาย จิตนี้ไม่เคยตาย แต่มันตายในภพในชาติไง ในวิบากกรรมมันเป็นคราวเป็นวาระ ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” แต่ในชีวิตนี้ ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องตั้งสติของเรา เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมีความเข้มแข็งใช่ไหม เราถึงจะประพฤติปฏิบัติของเรา

“หา” หาความจริงในหัวใจ ถ้าใครหาความจริงในหัวใจของตัวเองพบนะ ทรัพย์อันประเสริฐไง เวลาทำความสงบของใจ ถ้าจิตใจมันสงบระงับนะ มันจะตื่นเต้น มันจะมีจุดยืนของมัน ดูสิ เวลาจิตเป็นสมาธิ เห็นไหม จิตมันมีจุดยืนของมัน มันมีหลักเกณฑ์ของมัน มันไม่เหลวไหล แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิน่ะ มันว่างๆ ว่างๆ แต่มันเหลวไหล เหลวไหลเพราะเหตุใด เหลวไหลเพราะจับต้องสิ่งใดไม่ได้ มันเร่ร่อนพเนจรของมันไป แต่มันว่างนะ มันว่างของมันเพราะเหตุใดล่ะ เพราะความไม่รู้ของมัน ความไม่รู้ของมันคืออวิชชา

แต่ถ้าเรารู้ของเราล่ะ เรารู้ของเราด้วยสติปัญญาของเรา เรารู้ได้มากน้อยแค่ไหนล่ะ ถ้าเรารู้ได้มากขึ้นมา มันก็เป็นความจริงมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราไม่รู้สิ่งใดเลย แต่เราอวดรู้น่ะ เราอวดรู้.. เวลาคนมันอมทุกข์ เห็นไหม มันอมทุกข์ สิ่งที่มันอมทุกข์ มันอมภูมิ อมภูมิเพราะอะไร อมภูมิเพราะอะไร เพราะมันไม่รู้สิ่งใดมันถึงอมทุกข์ แต่มันอมภูมิของมันนะ นี่รู้สิ่งนั้น รู้สิ่งนี้นะ ถ้ารู้จริงทำไมมันพูดสิ่งนั้นไม่เคลียร์ไม่กระจ่างแจ้งล่ะ

สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔.. เขาเคลียร์ของเขานะ

สมณะที่ ๑ วุฒิภาวะ คุณธรรมของเขา เขารู้แจ้งของเขา

สมณะที่ ๒ เขาต้องรู้แจ้งของเขาในสมณะที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ สมณะน่ะ เขารู้ได้ชัดเจนของเขา ถ้าชัดเจนของเขา จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าขึ้นมา จิตใจของคนที่มีภูมิมากน้อยแค่ไหน จะชี้นำ จะบอกกล่าวได้ในภูมิของตัว

ถ้ามันอมภูมิ มันอมภูมิ มันอมไว้เฉยๆ มันไม่มีภูมิ ถ้ามันอมภูมิขึ้นมา.. ถูกก็ไม่ใช่ ผิดก็ไม่เชิง.. ถ้าผิดทำไมมันรู้ล่ะ มันพูดของมัน มันพูดแจ้วๆๆ ได้นะ เวลาอมภูมิ พูดน่ะ แหม มันน่าฟังนะ แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ น่ะ เขาจริงของเขา เป็นภูมิของเขา เขาไม่ได้อมภูมิของเขา จริงของเขา เป็นภูมิของเขาจริงๆ แต่เราอมภูมิของเรา เราไม่รู้จริงของเรา

ถ้าไม่รู้จริงนะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เราควรวางสิ่งนั้นไว้ ดูสิ กระทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จ มันกึ่งๆ มันครึ่งๆ กลางๆ มันไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้ามันทำตามความเป็นจริง มันทำถึงที่สุดมันผ่านวาระนั้นไป มันเป็นจริงของมันนะ ถ้ามันเป็นจริงของมัน ความเป็นจริงอันนี้เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์นะ “อานนท์.. ไม่มีกำมือในเรา” ไม่มีสิ่งใด ไม่อมไว้ ไม่มีเคล็ด ไม่มีสิ่งใดปิดกั้น ไม่มีสิ่งใดจะให้พิเศษกับใคร ไม่มีเคล็ด “ไม่มีกำมือในเรา” แต่ในความเป็นจริงนะ เคล็ดในการปฏิบัติ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ขณะจิตที่มันเป็น นั่นน่ะ มันไม่ใช่เคล็ด แต่มันเป็นความจริงของมัน แต่ถ้าใครรู้จริงมันก็เหมือนเคล็ดน่ะ เคล็ดลับในระดับ ระดับ ๑, ๒, ๓, ๔ มันมีขณะของมัน มันมีความจริงของมัน แต่ถ้าพูดถึงทางโลก นั่นน่ะเคล็ดของมัน คือข้อเท็จจริงของมัน ถ้าข้อเท็จจริงของมัน นั่นไม่ใช่เคล็ดลับ นั่นเป็นข้อเท็จจริง

ถ้าคำว่า “ข้อเท็จจริง” แต่ข้อเท็จจริง ถ้าคนรู้จริงมันจะเป็นความจริงของมัน นี่ภูมิของเขามีจริง เขาจะรู้จริงของเขา แต่ถ้ามันไม่มีจริง มันเหมือนเคล็ดลับๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่มีกำมือในเรา ไม่มีเคล็ดลับของเรา” ฉะนั้นเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรมขึ้นมา แสดงธรรมตามความเป็นจริง

แต่พวกเรา จริตนิสัย ความชอบ การกระทำของเรามันแตกต่าง ถ้ามันแตกต่างสิ่งนั้นเป็นหลัก แต่วิธีการของเรา วิธีการที่เราทำ “โดยหลัก” โดยหลักคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “โดยหลัก” โดยการกระทำวิธีการของเรา เราจะต้องพยายามแสวงหาเพื่อการกระทำของเราให้มีหนทาง ให้มีความจริง จะเข้าสู่ความจริงได้ ถ้ามันเข้าสู่ความจริงได้ วิธีการที่เราจะแสวงหา เราทำความเป็นจริง เราต้องซื่อสัตย์กับเรานะ จริงก็คือจริง ถ้าไม่จริงต้องพิสูจน์ อย่าไปอมพะนำไว้ ถ้าอมพะนำไว้นะ กลืนก็ไม่เข้า คายก็ไม่ออกน่ะ มันอมพะนำของมันไว้นะ

ถ้ามันอมภูมิไว้นะ เราจะไม่ได้สิ่งใดเลย เราคายออกมาแล้วเราพยายามทำของเรา ทำตามความเป็นจริงของเรา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่มีกำมือในเรา”.. แจ่มแจ้ง! แจ่มแจ้งให้เราการกระทำ

พุทธศาสนาพิเศษ พิเศษมาก “พุทธศาสนาไม่บังคับให้ใครเชื่อ ไม่ต้องการให้ใครเชื่อ” แต่เวลาขณะที่ว่ากาลามสูตร “แม้แต่อาจารย์ของเราสอนก็อย่าเชื่อ” แต่เราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเราขึ้นมา แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ เราจะลงใจ ความลงใจนะ ความลงใจเพราะมันมีความจริงเป็นเครื่องรองรับ ถ้าไม่มีความจริงเป็นเครื่องรองรับ เราเอาอะไรเป็นมาตรวัดกันว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก

เราตั้งใจของเรา วางไว้แล้วทำให้ได้ ถ้าทำให้ได้ขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นที่ว่ามีคุณค่า คำว่า “มีคุณค่า” นะ สินค้าทางโลก อยู่ทางโลกมันเกื้อหนุนเจือจานกันได้ แต่เวลาเป็นธรรมวินัย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนพ่อแม่ที่รักลูกมากนะ แต่พ่อแม่ก็พยายามจะให้ปัญญากับลูก.. ให้ปัญญากับลูก ให้ลูกมีปัญญา ให้ลูกมีวุฒิภาวะ จะยืนอยู่ในสังคมด้วยความทะนงตน ด้วยความทะนงเลยว่า “เราทำได้! เราทำได้!” ถ้าอย่างนั้นพ่อแม่จะมีความชื่นใจมาก จะมีความสบายใจมาก เพราะลูกของเราเจอวิกฤตอย่างไหน ลูกของเราจะเอาตัวรอดได้ใช่ไหม

สิ่งที่ว่าพ่อแม่พยายามสอนให้ลูกมีปัญญา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พยายามบอกพวกเรา ให้เราทำของเราขึ้นมาได้ ถ้าทำของเราขึ้นมาได้สิ่งนั้นเป็นความจริง สิ่งนั้นมีคุณค่ามาก ถ้ามีคุณค่า เวลาเราเกิดเราตาย บุญกุศลพาเกิด พอบุญกุศลพาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้วมันก็มีเวรกรรมของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันนะ คำว่า “เวรกรรมของคน” นะ ในเหตุการณ์ๆ เดียวกัน บางคนมีความสุข มีความพอใจในเหตุการณ์นั้น บางคนมีแต่ความทุกข์ บางคนมีพอประมาณ นี่เหตุการณ์ นี่ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือสภาคกรรม

ผลของสังคม สังคมมันเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนไปตลอด สังคมมันเปลี่ยนแปลง ดูสิ ผู้เฒ่าผู้แก่ สมัยโบราณเขาอยู่กับสภาวะแวดล้อมที่ดี เขาอยู่กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากนะ เขาอยู่มีความสุขของเขา เขาว่ามีความสุขนะ แต่เราไปมองเขาว่าเขามีความทุกข์ไง เพราะเขาไม่มีความสะดวกสบายเหมือนพวกเรา เราจะมีความสะดวกสบายมาก เห็นไหม สินค้าทุกอย่างเราก็หาของเราได้ ตลาดก็มี ทุกอย่างก็มี เราจะสะดวกสบายกับพ่อแม่เรา สะดวกสบายกว่าปู่ย่าตายายของเรา แต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราท่านจะลำบากในการดำรงชีวิต แต่ท่านอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี ท่านอยู่ในบรรยากาศที่ดี ท่านอยู่ในอากาศที่ดี เขาหาอยู่หากินได้

ถ้าคนขยันหมั่นเพียรนะ สมัยโบราณนะ เสื่อผืนหมอนใบ ทุกคนจะมีโอกาส เพราะถ้าขยันหมั่นเพียร แต่ในปัจจุบันนะ การแข่งขันยิ่งสูงขึ้น ทุกอย่างสูงขึ้น นี่พูดถึงทางโลก แต่เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา การแข่งขันของเรา การแข่งขันกับกิเลสของเรา กิเลสของเราจะมาแซงหน้าของเราไปก่อนนะ มันจะรู้ไปก่อน ถ้าเราไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อ เราก็จะไม่มีการกระทำสิ่งใดเลย

ถ้ามีศรัทธามีความเชื่อ เราก็พยายามแสวงหาของเรา ถ้ายิ่งแสวงหาของเรา ด้วยความด้อย ด้วยจิตใจที่เราอ่อนแอ ด้วยความด้อยด้านของเรา เราศึกษาสิ่งใดก็แล้วแต่ เพราะมันอยู่ในอีกมิติหนึ่ง “มิติของธรรม”

แต่เราศึกษาในมิติของโลก “มิติของโลก” คือวิทยาศาสตร์ไง พิสูจน์ตรวจสอบกันด้วยวิทยาศาสตร์ ด้วยทฤษฎี พอเราศึกษาไป เราเชื่อ แล้วเราเห็นมากนะ ในสังคมผู้นำองค์กรต่างๆ เป็นปัญญาชนน่ะ แต่เวลาเขาไปปฏิบัติน่ะ ทำไมเขาไปเชื่อสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุมีผล เรามองอยู่นะ เขาไปเชื่อในสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุมีผล ถ้าเขาตั้งสติของเขาแล้วใช้เหตุผล ใช้ตรรกะ พิสูจน์น่ะ ของนั้นมันของง่ายๆ น่ะ ของง่ายๆ แต่คนพอมันเชื่อขึ้นไปแล้ว มันศรัทธาขึ้นไปแล้ว สิ่งนั้นมันปิดกั้นบังตา พอบังตาขึ้นไป

“กาลามสูตร” ถ้ากาลามสูตรนะ “ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อความจริง”

ถ้าความจริงขึ้นไปนะ พอจิตเราสงบขึ้นมา พอจิตสงบมันเป็นสากลน่ะ มาตรฐานของมันมี ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สงบก็คือสงบน่ะ ถ้าสงบขึ้นไปแล้ว สงบก็คือสงบ ถ้าสงบแล้วมันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข

แต่ความร่มเย็นเป็นสุขนั้นน่ะ ครูบาอาจารย์ที่ผ่านความสงบมาแล้วนะ ท่านรู้ เพราะความสงบนี้มันเป็นอนิจจัง ความสงบนี้ เขาพยายามขวนขวายของเขาขึ้นมาด้วยสติปัญญาของเขาขึ้นมา สิ่งนี้ ดูสิ อาหารที่เราทำให้สุกแล้ว ถ้าเราไม่อุ่นไม่ดูแลรักษานะ มันบูดเน่าเสียหมดน่ะ อาหารมันบูดเน่าเสียเพราะอะไร เพราะมันบูดเน่าของมันโดยธรรมชาติของมัน นี่ก็เหมือนกัน จิตที่เป็นสมาธิ จิตที่มีความสงบระงับ เราแสวงหามาขนาดไหน เรามีความสุขของเรานะ

แต่ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้ว สิ่งนี้เป็นอนิจจัง เดี๋ยวมันก็เสื่อม มันต้องเป็นไปของมัน แต่สิ่งที่เขาไม่เสื่อมเพราะอะไร เพราะเขาขยันหมั่นเพียรของเขา เขารักษาของเขา คนเรานะเวลาทำความสงบของใจขึ้นมาแล้วเสื่อมไปรู้สึกว่าเสียดายมาก พอเสียดายมากก็เห็นโทษใช่ไหม พอเห็นโทษเราก็มาใช้ตรรกะ ใช้ปัญญาของเราน่ะ “มันเสื่อมเพราะอะไรล่ะ? เสื่อมเพราะขาดการบำรุงรักษา เสื่อมเพราะเราไม่ดูแล เสื่อมเพราะเราประมาท เสื่อมเพราะเราอยากทดสอบ” นี่ความเสื่อม เหตุผลมันมหาศาลเลย

แต่เวลามันเป็นล่ะ เวลามันสงบ เหตุผลมันคืออะไรล่ะ? เหตุผลของมัน เห็นไหม “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เพราะมีสติปัญญาของเรารักษาของเรา

โดยธรรมชาตินะ โดยธรรมชาติของจิต ไฟสุมขอน “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ผ่องใสคืออะไร? คือพลังงาน พลังงานมันมีเห็นไหม นี่ไฟสุมขอน โดยธรรมชาติของมันน่ะไฟสุมขอน จะมีความสงบระงับขนาดไหนนะ “จิตใจทุกดวงใจว้าเหว่” สงบสงัดมันก็เฉา มันก็เหงาหงอย มันเหงาหงอยนะ เวลาเราทำพุทโธๆๆ จนจิตสงบ มันตื่นเต้น มันมีความสุขระงับมันน่ะ แต่จิตลึกๆ มันไม่ได้แก้ไข เพราะกิเลสมันยังไม่ได้เอามาชำระล้างนะ มันก็ลังเลของมัน มันก็ถนอมรักษาของมันขนาดไหน มันก็ต้องเสื่อม

ทีนี้ผู้ที่จิตเจริญแล้วเสื่อมขึ้นมา เขาทดสอบของเขาแล้ว นี่เขาหาเหตุผลของเขา ฉะนั้น “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ทำไมถึงสงบล่ะ? พอมันสงบแล้ว เราตั้งสติของเรา เพราะตั้งสติ ถ้ามีปัญญา เพราะมีการเลือกเฟ้น ผู้ที่ภาวนาเขาจะหลีก เขาจะเร้น เขาจะหาที่สงบระงับ เขาจะไม่คุยมากเกินไป เขาจะไม่คลุกคลีกันมากเกินไป การคลุกคลีมาก การคุยมาก นี่ช่องมันออกทางนี้ ฉะนั้นคนที่ภาวนาเป็นนะ เขาจะหลบ เขาจะหลีก เขาจะหาความสงบวิเวกของเขา

ถ้าวิเวกของเขา พอมีความสงบวิเวกของเขา เขามีสติของเขา เขามีคำบริกรรม คำบริกรรมเป็นกรอบ ปัญญาอบรมสมาธินี่เป็นกรอบ ถ้าเป็นกรอบนี่รักษาจิต รักษาจิต เห็นไหม ถ้ารักษาจิตของเรา จิตของเราเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง ถ้ามีเจ้าของดูแลมัน ดูแลสัตว์ตัวนั้น ถ้ามีสติ พอมีคำบริกรรม นี่มันมีเจ้าของ สติรักษาใจ ทั้งๆ ที่ใจนี้เป็นของเราเราเป็นเจ้าของ แต่เราก็เผลอ เราก็ไม่เข้าใจ เราก็ปล่อยให้มันเร่ร่อน แต่ถ้ามีสติขึ้นมา มันมีคนดูแลมัน มันมีคนรักษามัน สัตว์ถ้ามีคนดูแลมัน มันก็จะไม่ไปไกลนัก ไม่ไปทำความเสียหายมากนัก

ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา รักษามัน ถ้าเรารู้จักรักษามัน แล้วใช้คำบริกรรมเพื่อให้จิตสงบเข้ามา.. จิตสงบเข้ามา.. นี่มันสงบบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. สัตว์ที่มีเจ้าของรักษาจนสัตว์กับเจ้าของเขาคุ้นเคยกันนะ ถ้าสัตว์กับเจ้าของคุ้นเคยกันนะ เขาผิวปาก เขาเรียกมัน มันจะเข้ามาหาเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพุทโธ เราใช้สติปัญญารักษาใจของเรา นี่ชำนาญในวสี ชำนาญในการดูแลรักษา ถ้าชำนาญในการดูแลรักษา พูดถึงว่า “ถ้ามันเสื่อมๆ” ถ้าเราชำนาญในวสีแล้วมันจะเสื่อมไหมล่ะ โดยธรรมชาติของมัน พลังงานทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลง มันถึงเสื่อม! สมาธิก็ต้องเสื่อมเป็นธรรมดา แต่มันชำนาญน่ะ มันชำนาญการรักษา มันรักษาบ่อยครั้งเข้ามันจะเสื่อมอีกไหมล่ะ สิ่งที่มันเสื่อมคือของเก่ามันเสื่อมไป แต่การรักษา การเข้าออก นี่มันก็ตั้งมั่นของมัน มันก็ดีขึ้นของมัน เพราะ! เพราะสิ่งที่มันเสื่อมไป สิ่งที่มันเป็นไป มันเห็นโทษของมันไง มันเลยมีสติปัญญารักษาของเรา นี่ภูมิของสมาธิ

ปุถุชน กัลยาณปุถุชน.. ถ้ามันมีภูมิตามภูมิ มันพูดได้ตามภูมินั้น แล้วมันจะรู้ตามภูมิของตัวเองว่าภูมิตัวเองชัดเจนมาก มันไม่อมภูมิ อมไว้ ไม่เข้าใจ อมภูมิไว้ ไม่ดูแล ไม่สงวนรักษา แต่มีสติปัญญาของเรา คือไม่หวงไม่แหนน่ะ ไม่ติดใจกับมัน แต่มีการกระทำ มีการดูแลรักษาตลอดไป

มันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นความจริง พอมันมีความชำนาญขึ้นมา เห็นไหม ภูมิของสมาธิ-ภูมิของปัญญา ถ้าภูมิของปัญญานะ สมาธิมันเกิดขึ้นมาแล้วเราฝึกใช้ปัญญา “สมาธิเมื่อไรจะเกิดขึ้น เมื่อไรเราจะได้ใช้ปัญญา?” ถ้ามีสมาธินะ หลวงตาบอกว่า “พออยู่พอกินไง” ถ้าคนมีสมาธิ จิตใจเรารักษาใจเราได้ เราร่มเย็นเป็นสุขนะ

เราจะอยู่ในสถานะไหน เป็นฆราวาสก็เป็นฆราวาสที่มีสติปัญญา รักษาชีวิตได้ รักษาความรู้สึกนึกคิดของเรา เราจะดูแลรักษาเรา อยู่ดำรงชีวิตด้วยความสุข มีความร่มเย็นเป็นสุขตามอัตภาพ ถ้ามีความสงบระงับในของฆราวาส ถ้าเราเป็นพระเรามีความร่มเย็นเป็นสุข จิตเราสงบระงับ เราก็มีสถานะในทางภิกษุ ในทางพระ ว่าเรามีความสงบระงับของเรา ถ้ามีความสงบระงับ มันมีความสุข ถ้ามีความสุขมีความสงบ มันพอใจในการดำรงชีวิต มันไม่เดือดร้อน ไม่ดิ้นรน ไม่กวัดแกว่ง มันเป็นความสงบของใจ แล้วใจมันออกทำงานของมันนะ นี่พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่

เราเป็นนักบวชนะ เราแสวงหา เราเห็นภัยในวัฏสงสาร ภัยในวัฏสงสารมันไม่มีต้นไม่มีปลายนะ แล้วใครจะเป็นคนรื้อค้น ใครจะเป็นคนดูแลมัน ในปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์นะ เห็นภัยในวัฏสงสาร เรามาบวชเป็นพระ เราว่าเราเข้าใจเรื่องธรรมะ เราว่าเข้าใจต่างๆ สิ่งที่เราอยู่อาศัยกันนี้ มันเป็นศาสนวัตถุ ภิกษุอยู่ในอาวาสอยู่ในอาราม เพราะภิกษุไม่มีบ้านไม่มีเรือน อารามเราก็มีข้อวัตรปฏิบัติดูแลมัน

โยม โยมเขาอยู่บ้านของเขา คฤหัสถ์เขาอยู่บ้านของเขา เขาก็ต้องรักษาบ้านเรือนของเขา ในปัจจุบันนี้เขามีแม่บ้านดูแลรักษา เขาก็ต้องมีค่าใช้จ่ายของเขา มันเป็นการบริหารจัดการ

แต่เราเป็นพระ เราต้องทำตามหน้าที่ของเรา เราทำข้อวัตรปฏิบัติของเราเพื่อให้จิตใจมันได้ออกของมันน่ะ ไม่ให้หมักหมมไง จิตใจของเรานะ เวลานั่งสมาธิภาวนา เห็นไหม มันอั้นตู้ มันทำสิ่งใดมันไม่มีทางออกเลย แต่เราทำข้อวัตรแล้วมันปลอดโปร่ง มันได้มีการบริหารจัดการนะ พอเราทำข้อวัตรของเรา มันปลอดโปร่ง มันไม่มีสิ่งใดตกค้างในหัวใจ พอไปภาวนามันก็ง่ายขึ้น ฉะนั้น ในการทำข้อวัตร เราทำเพื่อการบริหารใจของเรา

ในทางโลกของเขา เขามีแม่บ้านของเขา เขามีผู้รักษาของเขา แต่แม่บ้านของเขา เขาลักของของเขา เขาโกงของเขา ก็ทำของเขาเสียหายเหมือนกัน ใครมันจะซื่อสัตย์สะอาดบริสุทธิ์ไป มันอยู่ในสังคมโลกมันก็ต้องตรวจสอบกัน ต้องดูแลกัน

แต่ในหัวใจของเราล่ะ เวลากิเลสมันตอดเราล่ะ เวลาธรรมของเรา เราจะบริหารจัดการมัน กิเลสมันก็งัดของเรา มันก็ไม่พอใจ มันไม่พอใจเพราะไปควบคุม ถ้าจิตใจเราปล่อยนะ ดูสิ เวลาโลกเขา เขายังบอก “มีความสุข มีความสบาย เกิดมาแล้ว ทำไมเกิดมาแล้วต้องไปทนทุกข์ทนยาก เกิดมาแล้วก็จะอาศัยแต่ความสุข ใช้ชีวิตแบบความพอใจของตัว” นี่กิเลสมันไม่ได้ควบคุม

พอกิเลสมันไม่ได้ควบคุมมันก็มีความสุขของมัน แต่จริงๆ แล้วน่ะ ในดวงใจทุกดวงใจว้าเหว่ ในทุกดวงใจคอตกหมดนะ แต่กิเลสมันก็ข่มขี่มาตลอด เขาก็ใช้ชีวิตของเขาอย่างนั้นน่ะ เขาว่าเขามีความสุขๆ ด้วยสายตาสั้น ด้วยความคิดสั้นๆ ด้วยความคิดตื้นเขิน ด้วยความคิดความเห็นเท่านั้นน่ะ

แต่ของเราน่ะ สายตาเราจะไม่ยาวไกลก็แล้วแต่ แต่เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีศาสดาครูเอกของโลก เราเป็นชาวพุทธ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่งอาศัย เราก็เชื่อในปัญญาคุณในเมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเชื่อแล้วเราอยากตรวจสอบ เราอยากแก้ไข

๑. ได้ตรวจสอบด้วยว่าจริงหรือเปล่า

๒. ได้แก้ไขไปพร้อมกัน! ได้แก้หัวใจดวงนี้ไปพร้อมกัน

ถ้าเราแก้ไข เราตรวจสอบเราไป เราจะรู้จริงขึ้นมาพร้อมกับการกระทำของเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากทุกข์ไปแล้ว ถ้าเราเชื่อในปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะแก้ไขเราจะตรวจสอบใจของเรา ตรวจสอบใจของเรานี่ ใจเวลามันเกิด มันเกิดในครรภ์ของมารดา มันเกิดตามเวรตามกรรมขึ้นมา เวลาเรามานี่ใครควบคุมมันได้?

ดูสิ เวลาแสงสว่างมันพุ่งลงมา แสงพุ่งเข้ามาในครรภ์ ในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ เวลามันเกิด กำเนิด ๔ มันมานี่ ใครควบคุมมัน แล้วเกิดเป็นเราขึ้นมาแล้วเราก็หันรีหันขวางอยู่นี่ แล้วเรามีสติปัญญาขึ้นมา มาบวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา เราศึกษาอยู่นี่ ศึกษาขึ้นมาก็เป็นปริยัติ ศึกษาขึ้นมาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ตั้งสติขึ้นมา ให้มันมีภูมิจริงๆ ขึ้นมา! ให้มันมีความเห็นความจริงขึ้นมา!

ตรวจสอบข้างนอกก็ตรวจสอบมาแล้ว ถ้าตรวจสอบของเรา ล้มลุกคลุกคลานนะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจับต้นชนปลายไม่ถูกเลย ยิ่งศึกษามากขนาดไหน ดูสิ เวลาคนเขาเที่ยวป่า ถ้าเขาชำนาญป่า เขามีมีดไปเล่มเดียวเขาเข้าป่าได้สบายเลย เขาดำรงชีวิตในป่าได้สบายมาก ไอ้เราจะเข้าป่านะ มีเต็นท์นะ มีสัมภาระ มีเสบียง มีอาหาร มีกระป๋อง มี.. ขนไปหมดเลย เดินไม่ไหวน่ะ เข้าป่าไม่ไหวน่ะ ล้มลุกคลุกคลาน

ศึกษามาเยอะ ธรรมะนี่เข้าใจไปหมดเลย พะรุงพะรังไปหมดเลย เห็นไหม เวลาปฏิบัติเริ่มต้น เดินไม่ถูก ไปไม่ได้เลยล่ะ แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านเดินตัวปลิวเลยนะ ท่านไปตัวเปล่า แล้วถ้าไปเจอสิ่งใด เวลาสิ่งใดมันเกิดขึ้นมาท่านก็แก้ไขของท่านไป.. แก้ไขของท่านไป..

“จิตทำไมมันง่วงเหงาหาวนอน ทำไมจิตมันไม่ลง” จิตไม่ลง.. เดินให้มากขึ้น จิตมันเป็นอย่างไร? เหมือนกับนายพรานป่าเขาเดินป่า เขามีมีดเล่มเดียว เขาเข้าป่าสะดวกสบาย น้ำเราก็ไปเอาข้างหน้า ที่ใดมีน้ำก็ตักปั๊บ น้ำมันหยดมาเขากินได้เลย ไอ้เรานะ ใส่กระติกน้ำไปตั้งแต่บ้าน ยังเผื่อไว้อาบน้ำข้างหน้าด้วยนะ พรุ่งนี้เช้าจะหุงอาหารต้องหาบไป ๕ ปี๊บ นี่มันขนเข้าไปไม่หวาดไม่ไหวแล้วมันเดินไม่ออกเลย

ภาวนาเริ่มต้นของเราเป็นกันอย่างนี้ ทุกคนเป็น เราก็เป็น พรรษาแรกออกธุดงค์น่ะ ขนกันจนแบกไม่ไหวน่ะ จำเป็นไปหมดน่ะ แต่พอไปจริงๆ แล้วมันใช้จริงหรือเปล่า? ที่เอามานี่ไม่ได้ใช้เลยนะ เอามานี่แบกมาทุกข์เกือบตาย แทบไม่ได้เลย แต่เวลาจะออกนะ จำเป็นไปหมดน่ะ

การศึกษา เราศึกษามาแล้ว เวลาพูดถึงวัตถุ เราแบกเราหามไปเราก็เห็นนะ ว่าเราแบกเราหามมาด้วยความโง่ ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ วิตกกังวลไปหมดว่าจำเป็นต้องใช้ เวลาจิตมันคิดถึงปัญญาของเราน่ะ ที่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันแบกหามด้วยหัวใจนี่นะ แบกหามในนามธรรม เราเครียดไปหมดเลย จะเริ่มต้นอย่างไรก็กลัวผิด จะก้าวก็ไม่กล้าก้าว จะนั่งก็ไม่กล้านั่ง นั่งไปแล้วมันก็จะเป็นอย่างไร นั่งไปแล้วก็เห็นผีเห็นสาง วุ่นวายไปหมดเลย ฉะนั้น เริ่มต้นปฏิบัติน่ะ มันจะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ วาง.. วาง.. วาง.. วาง..

“วางแล้วมันก็ผิดน่ะสิ ขนาดหาบหามมามันยังทำไม่ได้เลย แล้ววางมันจะถูกอย่างไรน่ะ”

“วาง” แต่มีสติไง วางแบบผู้รู้ ไม่ใช่วางแบบคนเซ่อ

เวลาว่าซื่อสัตย์น่ะมันดี สัจจะนี่ดีมากนะ แต่ซื่อจนเซ่อนี่มันไม่ดี แต่ถ้าสัจจะล่ะดี เวลาเราซื่อ ซื่อจนไม่มีใช้ปัญญาเลย ใช้ปัญญาก็กลัวว่ามันจะไม่มีสัตย์ สัตย์นี่นะ มีสัตย์ “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ถ้าไม่รู้เลยก็จะแก้กิเลสไม่ได้ ทุกคนจะเถียงอย่างนี้ทุกคนนะ “ถ้าไม่รู้เลย จะเกิดปัญญาได้อย่างไรล่ะ ก็ต้องใช้ปัญญาสิ” อันนี้มันเป็นปัญญาหรือเป็นสัญญาล่ะ? นี่เราว่ามันเป็นปัญญาๆ น่ะ มันหาบหามมาจนหลังแอ่น มันยังบอกว่าเป็นปัญญาอยู่เหรอ?

“ปัญญา” ปัญญาต้องหาบหามมาไหม? คนเขามีปัญญา เขาเกิดในปัจจุบันนั้น เหตุการณ์เฉพาะหน้าเขาแก้ไขของเขานะ ปัญญามามันจัดการได้ทุกเรื่องเลย แต่นี่ปัญญายังไม่เกิดนะ มันจะเกิดเรื่องอย่างนั้นใช่ไหม เราต้องเตรียมทุกอย่างมาหมดน่ะ นั่นมันสัญญา มันหาบหามมาตั้งแต่ต้นนะ มันแบกมาน่ะ นี่ไงว่ามีภูมิไง รู้มากไง อมภูมิมานะ มันคาคับมาหมดเลยน่ะ คับปากคับพุงมา แล้วไม่ได้ใช้ด้วย

เวลาจริงๆ สงบมันไม่เป็นสงบอย่างนี้หรอก เวลาจิตสงบมันก็ไม่ใช่จิตสงบแบบภูมิรู้นี้ เวลาจิตสงบไปน่ะ มันงงไปหมดเลยนะ “เอ๊อะ เอ๊อะ” แล้วปัญญายิ่งเกิดนะ โอ้โฮ.. มันซาบซึ้งนะ แต่กว่าจะซาบซึ้งนะ “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้ ไม่ปฏิบัติก็ไม่เข้าใจ แล้วถ้าปฏิบัติแล้วมันก็ไม่ลงสักที เพราะมันกลัวจะผิด กลัวจะพลาดไง

แต่ถ้าเราตั้งสตินะ คนที่เวลาเขาหลุดนะ เวลาเขาเสียจริตไปน่ะ เพราะเขาตกใจ แล้วเพราะเขามีกรรมของเขา เวลามีกรรมของเขานะ ถ้าจิตเขาวูบลง ถ้ามีสติมันวูบขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าเขาไปเห็นผีเห็นสาง เห็นสิ่งที่น่ากลัวแล้วตกใจจนขาดสติ จนหลุดไป นั้นก็เวรกรรมของเขา แต่ถ้าเรามีสตินะ เวลาเราวูบลงไปน่ะ เราจะไปรู้เห็นสิ่งใดนะ มันก็น่ากลัว เห็นใหม่ๆ นี่มันน่ากลัว มันขนพองสยองเกล้าทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราตั้งสติไว้นะ สิ่งที่น่ากลัวๆ เห็นไหม ดูสิ ไฟนี่นะ มันเผาผลาญทุกอย่างไปหมดเลย แต่ทางวิชาการ ทางการทำอุตสาหกรรมน่ะ ไฟนี่เขาเอาไว้ใช้ประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ เขาควบคุมอุณหภูมิของเขา การหลอม การทำอุตสาหกรรมต่างๆ เขาต้องใช้เพื่อประโยชน์ของเขาทั้งนั้นน่ะ ทำไมเขาใช้เพื่อประโยชน์ของเขาได้ล่ะ แต่ถ้าเราเข้าไปเจอสิ่งนั้นมันเป็นความตกใจน่ากลัว มันก็เหมือนกับไฟ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้วเราใช้ปัญญานะ เราดูแลรักษาแล้วเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญนะ จากสิ่งที่น่าตกใจ สิ่งที่น่ากลัวน่ะ มันก็เป็นการฝึกหัดปัญญา “ฮื่อ.. มันใช้ประโยชน์ได้ มันแก้ไขได้ มันดูแลได้ มันรักษาได้” มันก็เป็นผลประโยชน์กับเราหมด เห็นไหม

จากสิ่งที่น่ากลัว ถ้ามีสติ มีประสบการณ์ มีต่างๆ มันไม่ใช่น่ากลัวหรอก ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันไม่ใช่ผี ไม่ใช่เปรตหรอก มันเห็นสัจธรรม “กาย เวทนา จิต ธรรม” สัจจะ อริยสัจจะ การวิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดอย่างใด มันพิจารณาอย่างใด มันแก้ไขอย่างใด

แต่เราไปเหมารวมไง เหมารวมว่าไปเจอซากศพเฟะๆ เน่าๆ เปื่อยๆ มันคือผี เวลาผีมาน่ะฮูย.. เห็นผีตาถลนเลยนะ ผีมันเป็นผี เขาทำมาให้เห็นอย่างนั้น จิตวิญญาณเขาตกทุกข์ได้ยาก เขาทำให้เห็นอย่างนั้น มาขอส่วนบุญ ขอให้เราอุทิศส่วนกุศลให้เขา ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรมต่อกัน แต่เวลาเราเห็นน่ะ ถ้าเราไปเห็นผีเห็นสางอย่างนั้นมันไม่ใช่สัจจะ ไม่ใช่อริยสัจ มันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔

ถ้ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ เวลามันเห็นขึ้นมาเราเป็นคนเห็น เราเป็นคนเห็นกายเราเอง เราเป็นคนเห็นเวทนาเราเอง เราเป็นคนเห็นจิตเราเอง เราไปเห็นธรรมารมณ์ในใจเราเอง ถ้าเราไปเห็นผีเห็นสาง มันคนละจิตคนละดวง คนเรามันจะไปแก้ไขใคร แต่มันส่งออกไปนู่นน่ะ

แต่ถ้ามันเห็นกายของเรา เห็นเรา เห็นกายของเรา เห็นกายของเราเพราะจิตมันสงบ เห็นกายของเราเห็นเป็นโครงกระดูก เห็นเป็นต่างๆ เห็นแล้วให้วิปัสสนาให้มันเป็นปฏิกูล สิ่งที่เป็นปฏิกูล สิ่งที่ไม่ใช่ของน่ารัก ร่างกายไม่ใช่ของน่ารัก ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่จิตอาศัย มันเป็นเรือนร่างให้จิตอาศัยในร่างกายนี้ ร่างกายอาศัยเรือนร่างนี้มันก็ว่ามันเป็นของมัน มันก็ยึดของมัน เวลาจะเป็นจะตาย เวลาสละมัน มันก็ทุกข์มันก็ยากของมัน

แต่ถ้ามันรู้จริงของมัน เราอาศัยกัน มันเป็นธาตุ จากไข่ของแม่ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ของแม่ มันมีเซลล์คือสิ่งมีชีวิต เวลาสเปิร์มของพ่อ ปฏิสนธิของจิตมันหยั่งลง นี่มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่อเนื่อง เป็นอีกจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมาเป็นทารก เป็นคนๆ หนึ่งอยู่ในครรภ์แล้วเจริญเติบโตมา ๙ เดือน แล้วก็คลอดออกมาเป็นทารก แล้วก็เกิดมาเติบโตมาเป็นเราอยู่นี่ แล้วจิตใจมันก็ว่า “เป็นมันๆ” เวลามันจะตาย มันต้องตาย มันจะต้องทิ้งร่างไป โอ้โฮ.. มันโศกเศร้า โอ้ย มันอาลัยอาวรณ์ไปหมดน่ะ!

เพราะมันเกิดสังโยชน์ร้อยรัด แต่ในสัจธรรมเรื่องนี้เป็นความจริง นี่ผลของวัฏฏะนะ นี่เรื่องจริงๆ ตามสมมุติหมดนะ “เรื่องจริง” แต่ธรรมะมันละเอียดไปกว่านั้น “เรื่องจริง” เอาเรื่องจริงมาวิเคราะห์วิจัยด้วยจิตของเราว่า “วัฏฏะมันเป็นอย่างนี้ วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ แล้วผลที่มันวิวัฏฏะที่มันหลุดออกไปจากวัฏฏะ มันมีอะไรเป็นเครื่องหมายเป็นเครื่องดำเนิน” มันก็มีสติ มีปัญญา มันมีสติ มันจะสงบของมัน มันจับของมัน นี่มันพิจารณาของมันไปนะ มันถอดมันถอนไง สิ่งที่มันเกิดมันตายเรื่องจริงทั้งนั้นน่ะ

ที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ๆ วิทยาศาสตร์เป็นความจริงๆ น่ะ...ใช่ มันเป็นความจริง แต่มันสมมุติน่ะ จริงตามสมมุติคือชั่วคราว คือชั่วอายุขัย คือชั่ววงรอบของมัน วงรอบของมันเป็นแบบนี้ จริงอย่างนี้ก็จริงๆ ของมันอย่างนี้ แล้วมันก็วงรอบอย่างนี้ เราก็จะมาเป็นวงรอบอย่างนี้ๆๆ ตลอดไป

แต่เพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เพราะวงรอบหนึ่ง เกิดหนหนึ่ง ตายหนหนึ่ง วัฏฏะหนหนึ่ง ไปหนหนึ่งอยู่อย่างนี้ แต่เพราะเรามีวุฒิภาวะ แล้วเรามีศรัทธามีความเชื่อ เราถึงบวชมาเป็นนักพรต นักบวช เป็นนักรบจะสู้กับกิเลสในใจของตัว การชนะตนเองเป็นผลที่ประเสริฐที่สุด พุทธศาสนาให้เอาชนะตนเอง ข่มขี่ใจนี้ให้มันสงบระงับ แล้วพอข่มขี่ใจนี้ให้สงบระงับแล้ว การฆ่ากิเลสประเสริฐที่สุด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เบียดเบียนใคร ไม่ให้ทำร้ายใคร ไม่ส่อเสียด ไม่พูดจาเพ้อเจ้อ ไม่พูดจายุแหย่ตะแคงรั่ว...ไม่ให้ทำทั้งนั้นเลย! แต่การฆ่าที่ประเสริฐที่สุดคือการฆ่ากิเลส พระพุทธเจ้าอนุโมทนา ถ้าใครฆ่ากิเลสได้พระพุทธเจ้าสาธุ! สาธุนะ! อนุโมทนากับบุคคลคนนั้น บุคคลคนนั้นรู้จริงเห็นจริง พ้นจากกิเลสได้ตามความเป็นจริง

ถ้ามีภูมิรู้ มันมีภูมิจริงๆ ไม่ใช่อมภูมิ ถ้าอมภูมิน่ะมันพูดเหนือพูดใต้ไม่ถูกสักอย่าง เหลียวซ้ายก็ผิด เหลียวขวาก็ผิด เดินไปข้างหน้าก็ผิด ถอยหลังก็ผิด เพราะมันอมภูมิ มันไม่มีภูมิ แต่รู้นะ รู้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สัจจะมันเกิดขึ้นมาจากเรา แล้วงานอย่างนี้ ดูสิ งานทางโลก เขาต้องใช้ชั่วชีวิตของเขานะ แล้วทำแล้วทำเล่าไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีวันจบ แต่งานของเรา เราทำนี่จบได้นะ ถ้ามันทำถึงที่สุด

หลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นคนว่างงาน ไม่มีงานในหัวใจ สิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่นี้ การกิน การอยู่นี้เป็นกิริยาเฉยๆ การกิน การอยู่ ก็เพื่อดำรงชีวิตให้ธาตุขันธ์มีอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงเพื่อสืบต่อชีวิตนี้ รอวันเวลาถึงที่สุดของมัน ไม่มีอะไรวิตกกังวล

แต่ของเราน่ะ พะรุงพะรังเหมือนคนบ้าจะเข้าป่า กับพรานป่ามันจะเข้าป่า เขามีมีดเล่มเดียวน่ะ เขาดำรงชีวิตในป่าก็ได้ เขาทำสิ่งใดเขารักษาชีวิตของเขาได้สะดวกสบาย ไอ้ของเรานี่ขนจนเต็มไปหมดเลยนะ แล้วป่ามันก็ไม่มีถนนหนทางใช่ไหม มันก็ต้องเดินไปใช่ไหม เราก็หอบพะรุงพะรังไปหมดเลย

อมภูมิน่ะมันแบกไปจนเกือบตาย แต่ถ้าเขามีภูมิจริง เขามีภูมิตามความเป็นจริงนะ เขาเหมือนนายพรานป่า เขาไปด้วยความสะดวกสบายของเขา นี่เราประพฤติปฏิบัติ ให้เปรียบเทียบหัวใจของเรา ให้หัวใจมันคัดเลือก คัดแยก ควรทำอย่างใดให้เป็นประโยชน์กับใจของเรา ควรทำอย่างใดให้จิตใจของเราได้สมบัติ ได้สมบัตินะ

เวลาทางโลกเขาทำบุญกุศลกัน เขาอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ให้กับครูบาอาจารย์ ให้กับปู่ย่าตายาย เขาพยายามฝากฝังกันไป แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติมันเป็นสมบัติของใจ ใจรับรู้ไง เราเอาไปเอง เราสัมผัสเอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์แล้วน่ะ เราระลึกถึงท่าน ทำบุญเพื่อบุญของเราไง อุทิศส่วนกุศลให้พระอรหันต์น่ะ ท่านเต็มแล้วน่ะ แต่เราระลึกถึงบุญคุณของท่านที่มีต่อเรา เราทำก็เพื่อเรานั่นน่ะ เราเอาท่านเป็นเหตุต่างหากล่ะ ไม่ใช่ทำเพื่อท่าน ทำเพื่อเรา พระอรหันต์ไม่บกพร่องแล้ว พระอรหันต์เต็มเปี่ยมแล้ว ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง สิ่งที่ไม่บกพร่อง น้ำเต็มแก้ว เทไม่ลงหรอก เรานี่มันพร่องอยู่ เราทำสิ่งใดให้มันเต็มอิ่ม เต็มพอ ให้มันเต็มขึ้นมา มันจะได้ไม่พร่องอีก

แต่เราก็อาศัยครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เราอาศัยครูบาอาจารย์นะ อ้างเหตุนั้นทำบุญกุศล...ใช่

แต่ถ้าทำเพื่อท่าน...ไม่ใช่ ไม่ใช่

ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ เราก็ทำเพื่อเรา ทำเพื่อหัวใจของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเรานะ ในใจของเรานี้มันว้าเหว่ มันไม่มีที่ไป เขาอุทิศส่วนกุศลกัน เขาทำฝากกันไป แต่เรามีสติปัญญา เราจะทำของเราเอง เราจะหาเพื่อหัวใจของเรา เราจะถมให้หัวใจนี้เต็ม ให้มันเกิดวุฒิภาวะ ให้มันเป็นความจริงของเรา เอวัง