คู่กรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราเอาคำถามจากในอีเมล์มาตอบก่อน เพราะว่านี่คำถามเขาไม่ได้มาในเว็บไซต์ไง แล้วให้ไปถามในเว็บไซต์ เขาถามว่า
เขาจะขออนุญาตเอาหนังสือไปลงในอีบุ๊คของใครนี่แหละ เขาเอาไปลงแล้ว แล้วเขามาขออนุญาตทีหลังไง
ธรรมดาเราไม่อนุญาต เราไม่อนุญาต ฉะนั้น เขาบอกว่าทำเพื่อประโยชน์ๆ ถ้าไม่อนุญาตทำไมเราทำหนังสือแจกล่ะ? ทำไมเราก็มีอีบุ๊คของเราเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้ามันเป็นประโยชน์ เราคิดว่าถ้ามันเป็นประโยชน์เนาะ สิ่งที่เป็นประโยชน์เราอนุญาต ทีนี้พออนุญาตปั๊บมันก็จะเละ เราไม่ต้องการให้คนเอาไปอ้างอิง เอาไปทำให้มันเสียหาย
ฉะนั้น ยิ่งเราพูดนะ เพราะเวลาลูกศิษย์บอกว่าหลวงพ่อนี่อันตราย เพราะเขาพูดอะไรไปในทางตลาด ในทางโลกนี่เราไม่ไปกับเขาเลย เราพูดอะไรเราพูดยืนหลักการ แล้วมันก็ไปขัดผลประโยชน์ ฉะนั้น เขาจะตัดเสียงของเราเฉพาะคำพูดคำเดียว แล้วก็ไปบอกว่านี่เราพูดผิด แต่ความจริงคำว่าพูดถูก พูดผิดมันเป็นตัวอย่างไง บอกว่าคำพูดอย่างนี้คือคำที่ผิด ทีนี้คำพูดอย่างนี้ปั๊บเขาเอาแต่คำนี้ไปคำเดียว
คำพูดอย่างนี้เป็นคำที่ผิด แต่เขาบอกคำพูดอย่างนี้ นี่ฟังสิเสียงพระสงบด้วย ท่านพูดว่าคำพูดนี้ คำพูดนี้ แต่เราบอกว่าคำพูดอย่างนี้แล้วต่อไปไง คำพูดอย่างนี้มันจะผิดอย่างนั้นๆ คำพูดอย่างนั้นถึงจะถูก เขาตัดเฉพาะคำพูดอย่างนี้ แล้วเสียงของเราด้วย เห็นเขาเอาไปออกกันอยู่ มีคนเอามาให้ดู เออ.. อย่างนั้นก็มี เห็นไหม ฉะนั้น จะบอกว่าเราจะปิดกั้นยากมาก
ฉะนั้น เขาถามว่า..
ถาม : ให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ให้ถามหลวงพ่อด้วย การที่กระผมนำไปลงในเว็บไซต์ ฝากเรียนกราบหลวงพ่อด้วยว่า การที่ผมได้นำไปลงในเว็บไซต์ดังกล่าว หลวงพ่อท่านมีความคิดเห็นว่าสมควรหรือไม่อย่างไร และผมขอกราบขออภัยที่นำไปลงล่วงหน้าโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตท่านก่อน ตอนนำไปลงลืมคิด เพิ่งนึกขึ้นได้ครับ หากหลวงพ่อเห็นว่าไม่สมควร ผมก็จะรีบลบไฟล์ทิ้งทั้งหมด
(เขาว่าอย่างนั้นนะ) หากถ้าหลวงพ่ออนุญาต ผมก็จะขออนุญาตเอาไฟล์เสียงเทศน์อื่นๆ ทยอยลงไปอีกครับ
หลวงพ่อ : อันนี้มันพอสมควร ไอ้ที่ว่าเอาไปลงนี่ เขาเอาไปลง ๒ กัณฑ์นะ เรื่อง กว่าจะเป็นหลวงตา กับ ปลูกดอกบัวที่ใจ เขาเลือกลงดีด้วย เอาไปลงในอีบุ๊คของเขา อีบุ๊คสาธารณะไง
ฉะนั้น จะบอกว่าโดยทั่วไปไม่อนุญาต คำว่าไม่อนุญาตนี่มันเป็นเพื่อป้องกันตนไว้ก่อนไง ป้องกันไม่ให้คนเอาไปทำเสียหาย ป้องกันไว้ ฉะนั้น ถ้าเขาอยากได้ธรรมะ เขาอยากศึกษา เขาก็ควรจะขวนขวาย คือเขาจะเข้ามาดูได้ แต่ถ้าเขาเอาไปทำอย่างนี้แล้ว จะบอกว่าถ้าเป็นประโยชน์ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าโดยทั่วไปไม่อนุญาต โดยทั่วไปไม่อนุญาต แต่ถ้าเขาบอกว่ามันเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ก็ดูความสมควร ว่าอย่างนั้นเลยนะ
อันนี้จบ ตอบแค่นี้ แล้วธรรมดาแล้วไม่อนุญาตเลย แต่นี้เขาบอกว่าถ้ามันเป็นประโยชน์นะจะเอาไปลงอีก.. ไม่ต้องหรอก เอาไปลงอีก ถ้าไม่อนุญาตจะลบทิ้งหมดเลย แต่ไม่อนุญาตโดยพื้นฐานอยู่แล้ว โดยทั่วไปไม่! แต่นี้มันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์
ทีนี้อันนี้เป็นอีเมล์เหมือนกัน ถ้าอีเมล์นี่นะอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นอีเมล์ให้เข้ามาในเว็บไซต์สิ ในเว็บไซต์ถาม-ตอบมันจะเป็นเรื่องๆ มาเลย นี่ข้อที่ ๒. ไง
ถาม : ๑. เรื่องการที่ว่าจะถามสดได้ไหม?
หลวงพ่อ : ได้.. คำว่าถามสดนะ หมายถึงว่าใครมาที่วัดนี้ถ้ามีปัญหาให้เขียนขึ้นมาเลย หรือให้ถามเดี๋ยวนี้เลย เพราะเราถือว่าอย่างนี้นะ ถือว่าคนที่มาที่นี่ เดินทางไกลมาแล้วต้องมีสิทธิ์สิ ทำไมคนที่เข้าเว็บไซต์มา เขาอยู่ที่บ้านทำไมเขามีสิทธิ์ถามเรา ทำไมคนมาถึงวัดเราไม่มีสิทธิ์ถามเรา
มีสิ คนมาที่วัดมีสิทธิ์ถามเรา ทุกคนมีสิทธิ์ถามเรา ทุกคนมีสิทธิ์คุยได้ เพียงแต่ว่าที่เราพูดอยู่คนเดียวนี่ก็คิดว่าพวกโยมไม่กล้าถามไง บอกให้ถามไม่มีใครถามสักคน เราก็พูดอยู่คนเดียวนี่แหละ แต่ถ้าใครมีอะไรให้ถามมาได้เลย มีสิทธิ์ แล้วมีสิทธิ์มากกว่าด้วย มีสิทธิ์เพราะอะไร? เพราะมันซึ่งหน้า
ความผิดซึ่งหน้านะ เจ้าหน้าที่จับได้เลยไม่ต้องขอหมายศาล ไอ้อีเมล์นั่นมันหมายศาลมานะ หมายศาลมากว่าจะได้อ่าน กว่าจะอะไร แต่ความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ไม่จับนี่บกพร่องต่อหน้าที่เลย.. นี่มาเจอกันซึ่งๆ หน้าแล้วไม่มีสิทธิ์ถามได้อย่างไร? ถามได้ สิทธิถามได้เลย ใครมาก็แล้วแต่นะสดๆ นี่ถามได้เลย เอาไมค์มาตั้งไว้ให้ด้วย พูดได้เดี๋ยวนี้เลย
นี่พูดถึงว่าถามสดได้ไหม? ได้ นี่พูดให้รู้กันนะ แต่พูดอย่างนี้ปั๊บมันก็เข้าเว็บไซต์ไป สุดท้ายใครมาก็มาถามอีก หลวงพ่อถามสดได้ไหม? หลวงพ่อถามสดได้ไหม? คือไอ้คนมาใหม่มันไม่เคยดูข้างใน มันก็ว่า หลวงพ่อถามสดได้ไหม? ได้หมด ถามสดได้ ถามสดเลย เพียงแต่ว่าอย่างพวกไฟฟ้ามาเขาถามเราตอนเย็นไง ตอนเย็นกระดาษเป็นตั้งๆ เลยนะ
ได้! ฉะนั้น อย่างที่ว่านี่พูดถึงว่าถามสดได้
ข้อ ๒. อันนี้ตอบไปแล้ว ไอ้ที่ว่าผู้บริหารนี่นะ ทีนี้ผู้บริหารนี่พูดนิดหนึ่ง นี่ว่าผู้บริหารเขาให้ปฏิบัติทุกวันใช่ไหม สติปัฏฐาน ๔ แล้วพอเรามาพุทโธ ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีที่เขาเรียกว่าแก้ทิฐิคนนี่ยากมาก การแก้ทิฐิคน เห็นไหม แล้วถ้าเป็นผู้ใหญ่ด้วย ฉะนั้น ในองค์กรใดก็แล้วแต่ถ้าเปลี่ยนผู้นำ..
ดูสิอินโดนีเซียเป็นดินแดนพุทธศาสนานะ บุโรพุทโธนี่ใหญ่มาก แต่พอกษัตริย์เปลี่ยนจากพุทธเป็นอิสลาม อินโดนีเซียกลายเป็นอิสลามหมดเลย ทีนี้ผู้นำนี่นะ ผู้นำองค์กรใดมีทิฐิอย่างใด ความเห็นอย่างใดนะ เขาก็จะนำองค์กรนั้นไปทางนั้น แล้วผู้นำองค์กร เราไม่อยากจะพูดหลายองค์กรมาก เมื่อก่อนเป็นลูกศิษย์หลวงตา พอเขาเกษียณไปแล้ว พอขึ้นมาใหม่นะมันไปอีกแนวทางหนึ่งเลย
ทีนี้พอไปอีกแนวทางหนึ่ง ลูกเขามาเล่าให้ฟังอยู่ นี้เรื่องของเขา ฉะนั้น เวลาผู้นำ เห็นไหม แล้วเขาให้ปฏิบัติแนวทางอย่างนั้น แล้วเราเป็นผู้ตาม พอเวลาปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติไปแล้วเราก็รู้เองได้ใช่ไหมว่าเราปฏิบัติแล้วได้ขนาดไหน
ทีนี้พอเรามากำหนดของเรา เราทำตามจริง ปริยัติ ปฏิบัติ พอปฏิบัตินี่ ปฏิบัติพุทโธ พุทโธไป ถ้าจิตมันสงบ จิตมันรู้เห็นสิ่งต่างๆ เราจะรู้ของเรา แล้วรู้ของเรา นี่เราอธิบายไป เพราะเริ่มต้นพื้นฐาน เรามีพื้นฐาน เราจะอธิบายให้เขาเข้าใจได้อย่างไร? แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ จะแก้ผู้ใหญ่นี่ จะแก้ผู้ใหญ่มันต้องเคลียร์ไง
อย่างลูกศิษย์หลวงตาหลายคนมาก ข้าราชการผู้ใหญ่แต่ก่อนทิฐิทั้งนั้นแหละ แต่พอมาเจอหลวงตานะ อ้าว.. เวลาวันไหนที่หลวงตาท่านจะเอานะ เอาเลยว่ามา ท่านจะคุยด้วยเหตุด้วยผล จนพวกผู้ถามจนด้วยเหตุผลหมด อย่างเช่น! เช่นเลยนะหลวงปู่ฝั้น นี้ลูกศิษย์เขาเล่าเป็นต่อๆ กันมา เช่นหลวงปู่ฝั้นนะ ท่านอยู่ที่วัด แล้ววันนั้นหมออวย ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ไปกราบท่านนะ ท่านหันมาพูดกับลูกศิษย์พระท่านนะ ท่านบอกว่า
วันนี้จะทรมานหมออวยเว้ย
ทีนี้หมออวยมา หมออวยท่านเอากล้องไปใช่ไหม? หมออวยก็ถ่ายรูปฉับ! ฉับ! ฉับ! พอไปล้างมาไม่มีเลย ตั้งแต่นั้นมาหมออวยเริ่มศรัทธาหลวงปู่ฝั้น พอเริ่มศรัทธาหลวงปู่ฝั้นนะ พอเข้ามานี่ พอศรัทธาหลวงปู่ฝั้นปั๊บก็ศึกษา
หมออวยกับข้าราชการผู้ใหญ่หลายคนมากไม่อยากเอ่ยชื่อ นี่พอเขาได้ศรัทธาหลวงปู่ขาว ได้ศรัทธาหลวงปู่ฝั้น ศรัทธาก็แล้วแต่ พอเขาเริ่มศรัทธาปั๊บเขาเริ่มศึกษา เพราะพวกนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ด็อกเตอร์ พอศรัทธาแล้วเขาต้องศึกษาสิ เพราะว่าเขามีปัญญาของเขานะ พอศรัทธาหลวงปู่ฝั้นปั๊บก็ไปศึกษากับหลวงปู่ชอบ ไปศึกษากับหลวงปู่ขาว ไปศึกษากับหลวงตา แล้วก็มาเรียบเรียงของเราไง ว่าธรรมะของครูบาอาจารย์มันถูกต้องชอบธรรมไหม? ใครหลอกใครไหม?
พวกที่มีปัญญาเขาจะศึกษาของเขา เขาจะค้นคว้าของเขา ไม่ใช่ฟังคนนี้แล้วจะเชื่อนะ ฟังองค์นี้ว่าอย่างนี้ หลักการว่าอย่างนี้ นี่ก็ไปศึกษากับหลวงปู่ขาว ไปศึกษากับหลวงปู่ชอบ ไปศึกษากับหลวงปู่คำดี แล้วก็เทียบเคียง
เพราะเราได้ยินอยู่ ได้ยินที่ครูบาอาจารย์ท่านพูดอยู่ บอกว่าเวลานี่เขาจะไปศึกษาทั่วเลย แล้วเขาสรุปรวมยอดไง แล้วก็ไปคุยกันบอกว่าแนวทางแตกต่างหลากหลาย แต่ลงจุดเดียวกัน ลงจุดเดียวกัน ถ้าลงจุดเดียวกันมันก็ถูกต้อง
ทีนี้ย้อนกลับมาที่การปฏิบัติเรา ถ้าเราพุทโธของเรา หรือเราภาวนาของเรา นี่รวมจุดของเรา เห็นไหม รวมจุดของเราว่ามันไปได้ไหม? ถ้ามันไปได้ สิ่งนี้เราอธิบายได้ไหม? ถ้าเราอธิบายนะมันก็แก้กันด้วยเหตุด้วยผล เราไม่ใช่ว่าเราเอาทิฐิมานะมาเบียดกัน มาแทรกแซงกัน แต่ถ้ามันด้วยเหตุด้วยผลมันก็ต้องเชื่อตรงนั้น
ฉะนั้น ไอ้ตรงนี้เราทำของเรา ทีแรกเราอ่านแล้วเราคิดว่า เขาให้เราหยุด หรือเราให้เขาหยุด ถ้าเขาให้เราหยุดคือว่าเขาใจคับแคบไง คือว่าถ้าคนจะปฏิบัตินอกจากแนวทางของเรา เราบอกว่าเราไม่ให้ทำ.. ให้ทำเลย ผิดถูกให้ทำเลยแล้วพิสูจน์กัน แต่ถ้าเราหยุดเองนี่อีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้น ข้อที่ ๒. ที่บอกว่า..
ถาม : หลวงพ่อบอกว่าให้นั่งภาวนาตลอดรุ่ง แล้วทำอย่างนี้ถูกต้องไหม?
หลวงพ่อ : คำว่าเราบอกว่าให้ภาวนาตลอดรุ่ง ความหมายของเราคือบอกว่าให้ปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชา กับการบูชาด้วยอามิสไง เห็นไหม ถวายพวงมาลัย ถวายต่างๆ ถวายของ นี่ก็เป็นอามิสบูชา แต่เราบอกว่าถ้าจะเป็นประโยชน์ให้ไปปฏิบัติบูชา ให้นั่งตลอดรุ่งเลย แล้วเขาก็ไปทำตลอดรุ่งจริงๆ อันนี้เป็นการปฏิบัติบูชา ความหมายคือให้ได้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัตินี่ดีแล้ว ปฏิบัตินี่ถูกต้องแล้ว ปฏิบัตินี่ถูกต้องดีงาม ต้องการให้ปฏิบัติบูชา
ฉะนั้น ที่ว่าไปทำนี่ถูกไหม? ถูก เพราะเป้าหมายแค่ให้ปฏิบัติบูชา ทีนี้ปฏิบัติได้มากได้น้อยมันก็อยู่ที่ความสามารถของคนๆ นั้น ถ้าความสามารถดีก็ดีมากๆ ฉะนั้น อันนี้ตอบแค่นี้เนาะ
นี้ข้อต่อไป คำถามนี่คำถามสด เห็นไหม ถามสดๆ เลย
ถาม : ๑. การเด็ดต้นหญ้าหรือพืชชนิดใดๆ เพื่อนำมาทำยารักษาโรคของตัวเอง หรือของผู้อื่น โดยพืชดังกล่าวเกิดในที่ของบุคคลอื่น และเราก็ไม่รู้จักเจ้าของที่ เรียนว่าไม่ได้รับอนุญาตเขาจะถูกต้องหรือไม่
หลวงพ่อ : นี่พูดถึงกรณีการเด็ดยา เด็ดหญ้าของเขาเนาะ ถ้าไปเด็ดหญ้าของเขา เราว่ามันเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องที่ว่าเรารู้จักยาใช่ไหม แต่เราว่าจะถูกต้องหรือไม่ โดยทั่วไป เวลาโดยธรรมชาตินะ ถ้ามันไปเห็น อย่างเช่นพระนี่ พระไปในป่าในเขา เห็นไหม ของที่ว่าบังสุกุลเอา ถ้าอย่างนี้ของที่เราบังสุกุลเอาล่ะ? ถ้าเราบังสุกุลเอา ไม่ได้ลัก ขอ ต้องขอ
นี่พวกที่เขาถือของเขามีสัจจะ พวกที่เขาเล่นของนะ เวลาเขาจะไปเด็ดพืชที่ไหน เขาจะเอาไม้ทำเป็นไม้ตะขอแล้วแขวนไว้ คือขอก่อน ทำเป็นไม้ตะขอแล้วแขวนไว้ตรงใกล้ๆ แล้วก็เด็ด คือเราขอเจ้าที่เจ้าทาง ขอทุกอย่าง คือเราไม่ได้ถือสิทธิ์.. การขอ ทีนี้การขอมันก็เหมือนกับเราซึ่งๆ หน้านี่ ถ้าเราขอสิ่งใดกันเราก็ให้กันได้ แต่ถ้าใครมาหยิบฉวยของเราเรามีความรู้สึกนะ เราเสียใจ แต่ถ้าใครได้ขอเรา แหม.. เราชื่นใจนะ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจะแก้ด้วยการว่าขอ เอาเศษไม้แขวนไว้ คือเราแสดงเจตนาไว้ ไม่ได้ลัก เราแสดงเจตนาว่าเราขอ แต่ของนี่เป็นของสาธารณะ ของทั่วไปเราก็ขอ นี่แขวนไว้ ขอ ถ้าขอแล้วมันก็จบ แต่ถ้าไม่ขอไปเด็ดเอา เห็นไหม นี่มันก็เกี่ยวกับสมัยพุทธกาล พระไปโค่นต้นไม้แล้วไปสร้างกุฏิ แล้วรุกขเทวดาอยู่ต้นไม้นั้นก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า บอกว่าพระอยากได้กุฏิ เทวดาก็อยากมีเรือนเหมือนกัน เทวดาก็อาศัยต้นไม้นั้นอยู่ แล้วพระนี่มาโค่นได้อย่างไร? พระมาโค่นได้อย่างไร?
ฉะนั้น เวลาไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกถ้าอย่างนั้นเธอไปอยู่ต้นอื่น รุกขเทวดาไงให้ไปอยู่ต้นอื่น แล้วตั้งแต่นั้นมาก็ปรับอาบัติพระ พระห้ามพรากของเขียว ห้ามทำทุกๆ อย่าง เพราะมันไปสะเทือนคนอื่น ถ้าพระหรือว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีหูมีตาท่านจะเข้าใจอย่างนั้น แต่พระเราไม่เข้าใจสิ่งใดก็ทำตามใจเรา นี่ก็เหมือนกัน เราทำอะไรเราขอซะก็จบ ถ้าเราขอ
ถาม : ๒. ขณะที่ภาวนาในเวลาค่ำคืน แล้วเกิดเสียงมารบกวน นี่เรื่องเสียงน้ำ เสียงอาบน้ำ พูดคุย เหตุการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นช่วงวันหยุดและมีผู้คนมาก เราผู้ภาวนาควรทำอย่างไร?
หลวงพ่อ : เราผู้ภาวนาก็ควรหลบหลีกเอานั่นแหละเพื่อให้คุ้นชิน ต้องหลบหลีกเอานะ เสียงคือเสียง ไอ้อย่างนี้มันอยู่เบื้องหน้าและลับหลังไง เบื้องหน้า ต่อหน้าและลับหลัง เวลาต่อหน้า เวลาคุยกันไม่มีเสียง แต่ลับหลัง เห็นไหม ลับหลังคนที่มาใหม่เขาก็เพิ่งมา แล้วคนที่มาใหม่ก็มาใหม่ตลอด พอมาใหม่ตลอดเขาก็คิดว่าเขาทำเสียงไม่ดัง เสียงไม่ดัง แต่คนอยู่มันเสียงดัง ถ้าเสียงดังมันก็ต้องหลบหลีก
ฉะนั้น หลบหลีก ตอนนี้กำลังจะตั้งกติกากันอยู่ว่า เราจะควรเข้าได้ตอนไหน ไม่ควรเข้าได้ตอนไหน ไม่ให้เสียงเราเข้าไปดังรบกวน ฉะนั้น พอพูดอย่างนี้ปั๊บ โดยฝ่ายปฏิบัติทั่วไปก็บอก โอ้โฮ.. พวกนี้เรื่องมาก พวกปฏิบัตินี่เรื่องมาก ทำอะไรก็มีแต่ปัญหาไปหมดเลย แต่เขายังไม่ได้ปฏิบัตินะ ถ้าเขาปฏิบัติเขาจะรู้เลยว่าเวลาปฏิบัติแล้วเสียงมันจะรบกวนอย่างไร
แต่ถ้ายังไม่ปฏิบัติเขาจะบอกไอ้พวกปฏิบัตินี้มันเรื่องมาก ทำอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ เวลาให้ปฏิบัติจริงๆ มันก็ดันนั่งคุยกันอีก มันไม่ปฏิบัติจริงๆ อีก ฮู้.. ปฏิบัตินี่เรื่องเยอะจริงๆ เลย มันเป็นอารมณ์ไง อารมณ์ความรู้สึกของคน มันมีความรู้สึก ฉะนั้น เรื่องกระทบนี่มันกระทบอยู่แล้วแหละ
แล้วนี้มันเป็นคนไง เวลาเสียงนก เสียงกามันไปอีกอย่างหนึ่งนะ เสียงนก เสียงกา เสียงลม มันเป็นสัตว์ ที่ไม่ใช่คนไม่มีชีวิต ใจมันก็ไม่คิดนะ แต่ถ้าเป็นเสียงคนมันคิดเลยนะ ทำไมคนทำอย่างนั้น? ทำไมทำอย่างนั้น? ฉะนั้น หนึ่งเราก็ดูใจเรา แล้วกรณีอย่างนี้ก็พยายามจะดูแลกันอยู่ พยายามจะรักษากันอยู่ พยายามจะทำให้มันดีว่าอย่างนั้นเถอะ
นี่ถ้าภาวนาจริงๆ มันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าภาวนาทั่วไป อย่างว่าเนาะ เขาจัดเป็นคอร์สเนาะ มาพร้อมกัน เลิกพร้อมกันมันก็ไม่กระเทือน แต่ไม่จัดอย่างนั้นมันกระเทือนนะ อันนี้พูดถึงโดยทั่วไปนะ จบ
อันนี้สิ ข้อ ๕๗๘. เนาะ อันนี้น่าสงสารนะ
ถาม : ๕๗๘. เรื่อง แรงอาฆาต
หลวงพ่อ : เขาถามว่าทำไมใจเขาเป็นอย่างนั้น
ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อ หนูรู้สึกว่าอาฆาตแฟนมาก ทั้งๆ ที่คนรอบข้างก็บอกว่าเขาดี แต่หนูก็มองเขาในแง่ร้าย และอยากให้เขาเจ็บปวด อยากทะเลาะกันอยู่หลายครั้ง ไม่เคยเข้าใจกัน ถึงแม้ว่าบางครั้งเขาจะพยายามปรับตัวเอง แต่ก็ยังรู้สึกว่าเขาไม่ดี รู้สึกแย่กับตัวเองมาก ไม่อยากอาฆาตเลย รู้ว่าไม่ดีแต่ก็ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็ไม่เคยเป็นขนาดนี้ และปกติก็นั่งสมาธิ แต่หนูก็ยังควบคุมตัวเองไม่ได้ หนูไม่อยากจองเวรอีก พยายามหาวิธีที่จะเลิกจองเวรเขาแต่ก็ทำไม่ได้ ขออาจารย์ช่วยเมตตาแนะนำว่าควรจะวางความพยาบาทลง และทำอย่างไรจึงจะสามารถรู้สึกตัวได้ตามความเป็นจริงไม่ปรุงแต่ง
หลวงพ่อ : เห็นไหม คนเรามันก็มีเวรมีกรรมอย่างนี้ เวลาอยู่ด้วยกันมา อยู่ด้วยกันมาได้ แต่ว่าตอนนี้มันเหมือนเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่มันแตกต่าง อารมณ์นี่ควบคุมยาก ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความอาฆาตมาดร้าย แม้แต่คนที่เขาโกรธ เราโกรธตอบ สิ่งนั้นยังไม่ดีเลย พระพุทธเจ้ายังว่าไม่ดีเลย ทีนี้เวลาเขาโกรธนะ แต่นี้เขาไม่ได้โกรธ เขาไม่ได้โกรธ แล้วเขาพยายามจะปรับตัวเขาเองด้วย
นี่เขาเขียนมาบอกว่าเขาพยายามจะปรับตัวเขานะ เขาพยายามปรับตัวเขาอยู่ แต่ทำไมเรายังมองเขาในแง่ร้ายอยู่ตลอดเวลา.. นี่คำพูดอย่างนี้ดี ดีเพราะอะไร? ดีเพราะเรายังรู้ว่าเรามองเขาในแง่ร้าย เราต่างหากเป็นคนที่จับผิด เป็นคนที่รับเขาไม่ได้ แต่ทำไมเราถึงรับเขาไม่ได้ล่ะ? ถ้ารับเขาไม่ได้นะ เราก็ตั้งสติของเราสิ รักษาจิตให้อยู่ในตัวของเรา ในเมื่อมันเป็นชีวิต ชีวิตที่เราต้องดำรงชีวิต ชีวิตคู่ ชีวิตต่างๆ ไป อย่างนี้เราต้องทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจก็แผ่เมตตา
ทำความเข้าใจนะ รักษาในใจของเรานี่แหละ ไปมองเขานี่มองไม่จบหรอก ยิ่งมองเขามันยิ่งมีปัญหา แต่ถ้ารักษาใจเราจบนะ รักษาที่เราจบแล้วนะ เดี๋ยวเขาจะเป็นแบบคนดีมากๆ เลย พอคนดีมากๆ มันจะกลับมามองตัวเองนะ ทำไมเมื่อก่อนไม่มองเขาอย่างนี้ล่ะ? เมื่อก่อนเขาก็เป็นอย่างนี้แหละ นี่เขาก็เป็นอยู่อย่างนี้ เรามองเขาด้วยความอาฆาตมาดร้าย ก็มองเขาในแง่ร้าย แต่พอเราปรับปรุงตัวเราได้นะ เขาก็คนเก่านั่นแหละ ทำไมตอนนี้เป็นเทวดาเลย อู๋ย.. ตอนนี้ดี๊ดีเลย ทำไมตอนนี้มันดีล่ะ?
ดีหรือไม่ดี ใจเรานี่สำคัญ ถ้าใจเราสำคัญ เราแก้ไขที่นี่ มันเป็นเรื่องของเวรของกรรมนะ เรื่องของเวรของกรรมเวลามันหมุนมาๆ มันมาลงเอยเมื่อไหร่? นี่ทำไมมองเริ่มต้นมองว่าเขาดี ทำไมมาท่ามกลาง ตอนนี้มันมีปัญหา แล้วถึงที่สุดแล้วมันจะลงกันอย่างไรล่ะ?
เวร! ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
ทีนี้ความไม่จองเวรนี่รักษาใจนะ มันมีมุมกลับนะ ในมุมกลับนี่เราคนดี๊ดี เราทำเสียดี๊ดีเลย เขามีแต่ว่าร้ายเราอยู่ตลอดเวลานะ คนอย่างนี้ก็มี มี อย่าหัวเราะ มีคนร้องไห้มาปรึกษาเยอะ ทำไมเราทำดีขนาดนี้ทำไมเขาเห็นว่าเราไม่ดี เราทำดีขนาดนี้
มีคนมาอุทธรณ์เยอะนะ ทีนี้เราก็สอนอย่างนี้ เขาก็บอกว่าต้องดูตัวเราใช่ไหม? ต้องรักษาที่ตัวเราใช่ไหม? เขาบอกว่าก็ดูตัวเองหมดแล้ว ก็รักษาตัวเองหมดแล้ว เขาก็ยังมองแง่ร้าย เวลาเราสอนเขาปั๊บเขาพูดก่อนเลย ต้องเป็นคนดีใช่ไหม? ต้องทำตัวเราเองให้ดีก่อนใช่ไหม? ต้องทำดีใช่ไหม?
นี่ไอ้กรณีอย่างนี้นะ ดีหรือร้าย ถ้ากิเลสมันไม่พอใจแล้ว จะดีแค่ไหนมันก็มองว่าร้าย แล้วถ้ากิเลสนี่ เขาจะดีขนาดไหนก็มองเขาว่าร้าย ถ้ามันปิดตาเราแล้ว แต่ถ้าเราหลงไปนะ ดูสิพ่อแม่บอกว่าคนๆ นี้เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ ไอ้เรากำลังอู้ฮู.. สุดยอด สุดยอด สุดยอด ร้ายก็มองเขาว่าดี ถ้าจิตใจเราคิดฝักใฝ่ เขาร้ายขนาดไหนเราก็มองว่าเขาดี
ถ้าจิตใจของเรานะ เวลามันมีกิเลส เขาดีขนาดไหนมันก็มองว่าเขาร้าย ถ้ามองว่าเขาร้ายมันเป็นที่ไหนล่ะ? มันเป็นที่ไหน? มันเป็นที่ใจเราใช่ไหม? ถ้าเป็นที่ใจเรานี่ตั้งสติ ตั้งสติระงับมันให้ได้ ถ้าระงับใจเรานะ เขาอย่างกับพ่อพระเลย เราไปอาฆาตเขาทำไม? เรายิ่งอาฆาตเขานี่ยิ่งเป็นกรรมนะ ดูสิพระอริยเจ้า เห็นไหม พระอริยเจ้าเป็นผู้ที่ไม่มีเวรมีภัยกับใคร แล้วยิ่งไปทำร้าย ยิ่งไปใส่ไคร้ เราจะเป็นทุกข์เป็นกรรมของเราเลย แล้วถ้าเขาเป็นคนดีแล้วเราไปคิดอย่างนี้ นี่เป็นที่ใครล่ะ?
นี่ธรรมะไง ธรรมะมันจะสอนเข้ามาที่นี่ สอนเข้ามาให้ดูใจเรา วัดกันที่ใจเรา ถ้าใจเราวัดได้ ใจเราควบคุมได้ เขาจะดี เขาจะร้ายมันก็เรื่องของเขา ในเมื่อมาอยู่ด้วยกัน อย่างนี้เราต้องพัฒนาของเรา เขาจะดีหรือเขาจะร้ายนะ ในสมัยพุทธกาล นายพรานป่าเขาต้องออกป่าล่าสัตว์ตลอด เขาสร้างอะไรล่ะ?
เขาล่าสัตว์ เห็นไหม อาชีพของเขาเป็นนายพรานป่า ภรรยาของเขาต้องหุงหาอาหารทุกวันเลย แล้วเตรียมคันธนูไปตลอด แต่ขณะที่ทำนี่บอกว่าไม่เคยเห็นด้วยเลย ไม่เคยเห็นด้วยเลย แต่เป็นหน้าที่เพราะเป็นสามี ภรรยากัน เป็นสามี ภรรยากันนะ อยู่ในเหตุการณ์นั้นเลย สามีออกล่าสัตว์มาเพื่อดำรงชีพไง ภรรยาในครอบครัวใช่ไหมก็ต้องเตรียมอาหารให้ เตรียมอาหารให้ตลอดเวลา แต่เวลาทำนี่ไม่เห็นด้วยๆ เลย
นี่อยู่ในพระไตรปิฎก เวลาครอบครัวนี้ สามีตายไปตกนรกอเวจีเพราะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำลายมาเพื่อเลี้ยงชีพ ภรรยามีส่วนร่วมด้วยไหม? ในเมื่อเตรียมอาวุธให้ เพราะภรรยาใช่ไหม ผู้อุปัฏฐากสามีไง เวลาสามีจะออกไปก็เตรียมอาหารให้ เตรียมทุกอย่างให้ แต่ไม่เคยเห็นด้วยเลย ไม่เคยเห็นด้วยเลย แล้วมีสติด้วย ไปสวรรค์น่ะเพราะเขามีสติ
นี่ย้อนกลับมาที่ความอาฆาตมาดร้าย เห็นไหม ความอาฆาตมาดร้ายนี่เรารักษาใจเรา ดูสิเขาออกป่าล่าสัตว์ แต่ตัวเองมีหน้าที่ นี่ไม่เห็นด้วยๆๆ ไม่เคยเห็นด้วยเลยแต่เป็นหน้าที่ เป็นตามหน้าที่ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจเรามันคับแคบ จิตใจเรามันคับแค้นนัก นี่เราก็ดูใจเรา ไม่ต้องไปมองหาเหตุหาผลที่นั่นหรอก พอหาเหตุผลนะมันส่งออกไปแล้ว
เราจะบอกว่ามันมีเวร มีกรรมไง พอมีเวร มีกรรม เขาทำดีขนาดไหนเราก็มองความดีเขาไม่เห็นเลย แต่ถ้าหมดเวร หมดกรรมนะ เราเห็นแต่ความดีหมดเลย ฉะนั้น ถ้าจะไปมองแก้ที่เขามันช้า ต้องแก้ที่ใจเราเลย แก้ที่ใจเรา ย้อนกลับมาตั้งสติๆ ตั้งสติแล้วเราอยู่บ้านนั่นแหละ แต่เราดูแลใจเรา เราทำหน้าที่ของเรา
เรื่องของเขาเป็นเรื่องของเขา คือไม่ปล่อยใจออกไปเพ่งโทษเขาว่าอย่างนั้นเลย ไม่ให้ใจไปเพ่งโทษ ไม่ให้ใจไปดู รักษาใจเราไว้จนกว่ามันจะอยู่ จนกว่าใจมันจะหมอบ จนกว่ากิเลสมันจะหมอบลงนะ ถ้ากิเลสมันหมอบลงแล้วนะ เหตุการณ์เหมือนเดิมเลย เรามองไปมันคนละเรื่องเลย แต่ตอนนี้กิเลสมันยังฟุ้งฟูขึ้นมา มันทำให้เราคิดในแง่ลบตลอดไป ไปมองมีแต่เรื่องลบๆ ทั้งนั้นแหละ
ถ้ามองแล้วเกิดเรื่องลบนี่ไปมองทำไม? ยิ่งมองนะ ความรู้สึกเรายิ่งคับแค้น แล้วมันยิ่งฟูมาก ฉะนั้น ปิดตาเลย อยู่กับเขาเหมือนไม่มีเขาในใจนะ ไม่มีเขาคือว่าไม่ไปยุ่งกับเขา แต่หน้าที่เรา เราก็ทำหน้าที่เรา คือรักษาใจเราไว้ รักษาใจเราไว้ จนกว่าใจมันจะดีขึ้น แล้วใจมันจะหาย พอใจมันจะหายแล้วเราค่อยเป็นปกติ เราค่อยปล่อย ปล่อย ปล่อยตามสบาย แต่ตอนนี้ให้รักษาใจ
ขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำไง ช่วยแนะนำว่าอยากลดความพยาบาทลง ไม่อยากให้เกิดสิ่งนี้เกิดขึ้น ไม่อยากปรุงแต่ง.. ไม่อยากปรุงแต่งเราก็กลับมา คนเหมือนคน! คนเหมือนคน! แฟนก็เหมือนแฟน แฟนก็เหมือนคน คนมีเท่านี้ ถ้าคนมีเท่านี้นะ เปลือกนอกไง เปลือกนอกคนเหมือนคนมันต่างกันตรงไหน? ทำไมคนอื่นดี ทำไมของเราไม่ดี ถ้าของเราไม่ดี ทำไมของคนอื่นดี นี่มันต่างกันตรงไหน?
คนเหมือนคน ด้วยสภาพของคน แต่จิตใจคนไม่เหมือนกัน จิตใจคนไม่เหมือนกัน นี่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตใจเขาคิดอย่างไรกับเรา เกิดถ้าเขาคิดกับเรา เขารักเรา เขาปรารถนาดีกับเรา เขาอยากจะดูแลเราอย่างดีที่สุดเลย แต่เราไปคิดกับเขาอย่างนี้ อายเขาไหม? มันก็น่าจะอายเขา ถ้าจะอายเขาเรารักษาใจเรา เห็นไหม
คนเรามีทั้งร่างกายและจิตใจ ร่างกายเข้มแข็ง จิตใจเข้มแข็ง ร่างกายเข้มแข็งดูแลร่างกาย สุขภาพที่ดี สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี สุขภาพคือคน ทุกคนเหมือนกันหมดเลย แต่สุขภาพจิต สุขภาพจิตเราบกพร่อง ตอนนี้เราว่าเขาไม่ดีๆ ถ้าสุขภาพจิตเราแย่กว่าเขาอีก เพราะเราเพ่งโทษเขา
เราเพ่งโทษเขา เราอาฆาตมาดร้ายเขา ตอนนี้สุขภาพจิตเราแย่กว่าเขาเยอะเลย ฉะนั้น เรากลับมาดูสุขภาพจิตของเรา ถ้าสุขภาพจิตดีแล้วนะ เราจะมองเขาเป็นคนดี ถ้ามองเขาเป็นคนดีแล้วนี่ก็เออ.. จบกัน
เวร! ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
มาอยู่ด้วยกันคงจะมีเวร มีกรรมมาด้วยกัน คู่สร้าง คู่สม คู่ทุกข์ คู่ยาก.. คู่สร้าง คู่สม คู่ทุกข์ คู่ยาก คู่ล้าง คู่ผลาญ ถ้ามันหมดเวรกันไปแล้วนะมันก็เป็นคู่สร้าง คู่สมไง คู่ที่ดี อันนี้พูดถึงการอาฆาตนะ แล้วจะไปแก้ที่ไหนล่ะ? ส่วนใหญ่แล้วพออาฆาตปั๊บมันก็เหมือนกับทางการแพทย์ไง ทางสุขภาพกายไง พอป่วยไข้ก็ต้องหาเหตุผลใช่ไหม? ฉีดยา ดูแลรักษาไปใหญ่เลย
นี่ก็เหมือนกัน พออาฆาตเขาก็ อู๋ย.. อาฆาตเรื่องอะไร? พออาฆาตเรื่องอะไรมันก็หาเหตุหาผลใช่ไหม? อาฆาตเพราะเขาด่าเรา เขาด่าเรื่องอะไร? เขาด่าเราไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร? โอ๋ย.. ตายเลย จะหายารักษาไงมันเลยฟูไปใหญ่เลย กลับมาดูใจเรา สงบที่ใจเรา ไม่ต้องหาเหตุผลหรอก ยิ่งหาเหตุผลนะยิ่งเท่ากับใส่ยาพิษ ยิ่งใส่ยาพิษเข้าไป
เว้นไว้แต่จิตสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วใช้ปัญญานะ เออ.. ไม่เห็นมีอะไรเลย บ้าอยู่คนเดียว ถ้าจิตสงบแล้วนะ ถ้าจิตยังไม่สงบนี่โอ๋ย.. มันผิดไปหมดเลย คนนู้นก็ผิด คนนี้ก็ผิด พอจิตมันสงบนะ พอเกิดปัญญานะ เฮ้อ! บ้าอยู่คนเดียว เขาไม่รู้อะไรกับเราเลย เราไปเพ่งโทษเขาอยู่คนเดียว ถ้าจิตสงบนะ ถ้าจิตไม่สงบ ถ้าไปหาเหตุหาผลนี่เขาว่าเรื่องอะไร? ว่าเพราะอะไร? ว่าทำไม? โอ้โฮ.. ไปแล้ว ไปไกลเลยล่ะกว่าจะกลับมา แต่ถ้ามีสติแล้วกลับมาดูแลใจ
นี่พูดถึงว่าการที่ว่าจะไม่อาฆาต พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว
เวร! ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
การจองเวร จองกรรม หาเหตุ หาผลเพื่อจะชำระล้างกันไม่จบ แต่หาเหตุหาผลโดยใช้ปัญญาชำระล้าง นั่นเป็นอีกกรณีหนึ่งนะ ถ้าจิตสงบแล้วนะ จิตสงบแล้วมันไม่มีอะไรมาชักใย เวลาปัญญามันเกิด ปัญญามันเกิดด้วยศีล สมาธิ ปัญญา นี่ปัญญาในสมาธิ เพราะถ้าเป็นสมาธิได้ไม่มีตัวตน ไม่มีการเข้าข้าง ไม่มีการลำเอียง
ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะเรา ลำเอียงเพราะเขา ถ้าไม่มีสมาธิลำเอียงแน่นอน พอมีสมาธิมันไม่ลำเอียง ถ้าลำเอียงเป็นสมาธิไม่ได้ พอเป็นสมาธิขึ้นมานี่ไม่ลำเอียงเพราะเขา ไม่ลำเอียงเพราะเรา ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่ชัง ไม่อะไร เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมามันสมดุล เห็นไหม นี่มันจะเป็นมรรคสามัคคี
นี้พวกเรามันไม่มีสมาธิไง คิดว่ามี ตู่ว่ามี แล้วก็บอกว่าว่างๆ ว่างๆ สมาธิไม่มีสักนิดหนึ่ง ตู่เอา แหม.. จิตสงบแล้วว่างจะใช้ปัญญา มันยังลำเอียงอยู่นั่นเราก็ใช้ปัญญา มันก็หมุนกลิ้งไปนั่นแหละ แล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ? มันก็ไม่ได้ ทำใจให้สงบแล้วใช้ปัญญานะ พอเรามีปัญญาขึ้นมาแล้วนี่เป็นจริง สัจจะคือสัจจะ สัจจะนะมันเป็นจริงของมัน มีเหตุมีผลของมัน
พอจิตสงบแล้วนี่สัจจะ.. ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นมรรค ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ เกิดญาณ เกิดปัญญา เกิดแสงสว่าง เกิดความหยั่งรู้ เกิดการปล่อย ธรรมะสอนตรงนี้ ตั้งใจ แล้วแรงอาฆาตจะหมดไปนะ อาฆาตมาดร้ายเราก็รู้ว่าไม่ดี ในธรรมะก็ว่าไม่ดี แต่เราแพ้ เพราะเราไม่ได้ฝึกฝน เราไม่มีสติปัญญาต่อสู้มัน ถ้าเราฝึกฝนแล้วนะ พอมันเป็นขึ้นมานะ
โอ้โฮ.. ธรรมะพระพุทธเจ้าสุดยอดขนาดนี้เลย เวลาทำแล้วได้อย่างนี้เลย นี่มันจะรู้ขึ้นมาแล้วมันซึ้งใจมาก แต่ถ้ายังทำไม่ได้นะ ถูไถอยู่อย่างนี้ไม่เห็นเลยล่ะ มันเหมือนกับชามข้าว มีแต่ชามไม่มีข้าว แต่ถ้าชามข้าวมีข้าวด้วย โอ๋ย.. ชามข้าวนั้นโอ้โฮ.. มีคุณภาพมาก
จิตใจของเรามีแต่จิตใจไม่มีธรรม ทุกข์ร้อนมาก มีจิตใจคือชามข้าว แต่ไม่มีข้าวเลย ไม่มีสัจธรรม พอชามข้าวมีข้าวขึ้นมา โอ้โฮ.. เลี้ยงชีวิตก็ได้ เลี้ยงใครก็ได้ ทำอะไรก็ได้ พอจิตมันสงบเข้ามามันมีข้าว มันมีสัจธรรม มันมีปัญญาของมัน
ชามข้าวมีข้าวมีคุณค่ามาก จิตใจเราฝึกฝนแล้วมีค่ามาก พระพุทธเจ้าถึงบอกไง ธรรมะนี่สุดยอดมาก ผู้ที่ฝึกดีแล้ว จิตใจที่ฝึกดีแล้ว รอดพ้นจากบ่วงเวร บ่วงกรรมทั้งหมดเลย จิตใจเรายังติดอยู่ในบ่วงเวร บ่วงกรรม เราถึงมาพยายามต่อสู้กันอยู่นี้เพื่อจะให้พ้นบ่วงเวร บ่วงกรรม ทีนี้ให้ขยันหมั่นเพียร นี่จากเรื่อง แรงอาฆาต
ต่อไปข้อ ๕๘๐. เนาะ เรื่อง จับแต่ไม่ติด จับแต่ไม่ติดนี่เขาถามมาเหมือนกัน
ถาม : กระผมเคยพิจารณาแล้วจับติดความคิดได้ทวนมาแล้วจนจับเป็นสัญญา และมันจะเก้อเขิน ครั้งนั้นเป็นงานครั้งแรก จากนั้นมาการจับติดบางครั้งไม่ติด แต่บางทีจับเวทนาได้ด้วยปัญญา ก็แยกเป็นของถูกรู้ ก็พอกันการไหวนิดหน่อย แต่ถ้าสมาธิปัญญาไม่ทันก็เสร็จมัน ช่วงหลังมาเมื่อจับมันไม่ติด มันก็ไม่ได้เนื้อ ไม่ได้หนังอะไรเลย บางทีจิตเข้าสมาธิได้ก็พิจารณามันหมดเลยครับ มันจะอยู่กับพุทโธ รู้พุทโธ มีเสียงมากระทบ รู้เสียงมันแฉลบไปเวทนา จะรู้ทันแต่ไม่เฉียบคมและไม่ชัดเจนเหมือนที่เคยภาวนาได้ ท้อใจแต่ไม่ถอยครับ จึงส่งคำถามมาหาหลวงพ่อว่าจะให้อุบายอย่างไรครับ
หลวงพ่อ : ท้อใจ เขียนว่าท้อใจเลยนะ.. เวลาภาวนานะ คนเรานี่มันเหมือนแทงหวย เขาบอกว่าห้ามพูดเรื่องอบายมุขนะเนี่ย นี่พูดธรรมะนะ แต่พูดเรื่องแทงหวยเลย คนเรานี่เวลาแทงหวยถูกนะ คนไม่เคยซื้อหวยเลย ถูกหวยครั้งแรก อู๋ย.. ดีใจใหญ่เลย แต่ซื้อไปเถอะ อีก ๑๐๐ ทีก็ไม่ถูก อีก ๑,๐๐๐ ทีก็ไม่ถูก
นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาไป เวลาจิตมันสงบ เห็นไหม พอมันจับได้มันเก้อ มันเขินจับได้หนหนึ่ง เหมือนแทงหวยถูกทีหนึ่ง แล้วก็แทงไปอีก แทงหวยอยู่นั่นแหละไม่เคยถูกเลย มันถึงท้อแท้ ท้อแท้ใจมาก.. อันนี้พูดถึงการว่าแทงหวย เราเปรียบถึงว่ามันเป็นนามธรรม เรื่องของได้ลาภ การได้ลาภมาทุกคนจะดีใจมาก ทั้งๆ ที่เสียไปมหาศาลนะ แทงเป็นพันครั้ง หมื่นครั้งไม่เคยถูกเลย ถูกเข้าไป ๕๐ สตางค์นี่โอ้โฮ.. ดีใจมากเลยนะว่าถูกหวยๆ
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบ พอจิตมันลงไปนะมันจับได้ มันเป็นสัญญา จับได้หนหนึ่ง แล้วพอไม่ได้มันท้อใจ เราจะบอกว่าการภาวนานี่ เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับของมันได้ มันเหมือนเราได้ลาภ มันได้ลาภ มันได้สิ่งที่ประทับใจ มันจะฝังใจมาก แล้วพอมันไม่ได้มันก็เดือดเนื้อร้อนใจ ถ้าเดือดเนื้อร้อนใจมันก็เป็นกิเลสอันหนึ่ง
ฉะนั้น ในการปฏิบัติของเราให้คิดอย่างนี้ การปฏิบัตินี่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม? เป็นสัตว์ประเสริฐใช่ไหม? นี่การทำบุญร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหน พันหนึ่ง ไม่เท่ากับมีสมาธิหนหนึ่ง มีสมาธิร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับปัญญาเกิดจากการภาวนาหนหนึ่ง
นี้เราภาวนา เราพุทโธของเรา เราภาวนาของเรา เห็นไหม นี่เราถือว่าเราภาวนา.. ทาน ศีล ภาวนา การภาวนา ทำบุญกุศลไม่ต้องการลงทุนด้วยปัจจัยนะ แต่ต้องลงทุนด้วยความเพียรของเรา ถ้าเราลงทุนด้วยความเพียรของเรา นี่ถ้าเรามีสติ มีปัญญานะ ชีวิตเรามันก็ไม่เดือดร้อนจนเกินไปกับเขา
ดูโลกสิโลกเขาเดือดร้อนกันมากนะ โลกเขาทุกข์กันมาก ต้องแข่งขัน ต้องขวนขวาย ต้องทำทุกอย่างเลย อันนั้นมันมีแต่เติมเชื้อไฟใส่ใจ นี้เราก็อยู่กับเขา แล้วเราก็เดือดร้อนกับเขา แล้วเรามาพุทโธ มาภาวนาของเรา เห็นไหม เท่ากับว่าเราเอาน้ำอมตะธรรมราดรดบนหัวใจของเราเพื่อให้มีความสงบบ้าง แต่เราก็ไปคิดไง ต้องสงบนะ ต้องจับสัญญาได้นะ ต้องพิจารณาได้นะ
ถ้ามันพิจารณาได้ นั่นก็เป็นขั้นตอนการภาวนา จะสิ้นสุดแห่งทุกข์ คือภาวนาไปแล้วสิ้นกิเลส แต่ถ้ามันสิ้นไม่ได้ สิ้นไม่ได้เราก็ภาวนาเพื่อเอาบุญกุศลไง ทีนี้ถ้าไม่ได้บุญกุศล คือประสาเรานะว่าทำแล้วมันครบสมบูรณ์แล้ว เราได้ประโยชน์ของเราแล้ว ถ้าได้ประโยชน์ของเราแล้ว ประโยชน์ของเรา เห็นไหม แล้วถ้าชาตินี้ภาวนาไม่สิ้นสุดแห่งทุกข์ นี่พื้นฐานของการภาวนา พอเกิดธาตุต่อๆ ไปมันอยากภาวนา ภาวนาแล้วมันจะง่ายขึ้น มันจะสะดวกขึ้น มันก็เกิดจากตรงนี้แหละ
ดูพระโพธิสัตว์สิ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พระพุทธเจ้าทำไมถึงภาวนาได้ ๔ อสงไขยนี่พื้นฐานทำมาขนาดไหน? ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยต้องทำมาขนาดนั้น แล้วทำมาขนาดนั้น พอมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชาติสุดท้ายยังภาวนาอีก ๖ ปี ๖ ปีกว่าจะบรรลุธรรม ท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วถึงจบ
นี้ของเรามันจับพลัดจับผลู ฉะนั้น เราตั้งใจของเรา เราทำของเรา โลกเขายังแข่งขันแสวงหาเพื่อหาทรัพย์สมบัติ เราจะภาวนาของเรา เราก็แข่งขันกับกิเลสของเรา นี่ไม่ได้แข่งขันกับใครเลย ทางโลกเขาแข่งขันกันนะ เขามีตลาดนะ เขาต้องแข่งขันกันนะ เขาต้องทำวิจัยตลาดนะ เขาทำทุกข์ยากขนาดนั้นเขายังเต็มใจทำ ไอ้นี่ทำอยู่คนเดียว นั่งอยู่โคนไม้คนเดียว สู้กับตัวเองมันท้อแท้ ไม่สู้ ถ้าท้อแท้ไม่สู้แล้วก็บอกว่านู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ เราก็ไม่ได้เหมือนกันแหละ เราก็ไม่ได้
ทำได้ เราทำมาพอแรงแล้วไง นี่ให้ตั้งใจทำ ให้ตั้งใจแล้วทำไป นี่มันไม่ได้เนื้อได้หนังอะไร ไม่ได้หนังแล้วตั้งสติ ไม่ได้เนื้อไม่ได้หนังก็รู้ว่าไม่ได้เนื้อไม่ได้หนัง ได้เนื้อได้หนัง ก็รู้ว่าได้เนื้อได้หนัง แล้วถ้าทำได้มันก็ว่าทำได้ ถ้าทำได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม เราทำของเราได้ เราทำเพื่อประโยชน์กับเราได้แล้ว ถ้าเราทำได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา
ตั้งใจทำ ตั้งใจทำเป็นประโยชน์กับเรานะ จับไม่ติด ฉะนั้น พอว่าจับติด จับติดก็จับเวทนาได้ จับขันธ์ ๕ ได้ พอจับได้แล้วพิจารณาได้ ถ้าไม่ได้เรากลับมาพุทโธสิ กลับมาทำความสงบของใจสิ เข้าไปในห้างสรรพสินค้าจะไปซื้อสินค้าไม่มีสตางค์สักสลึง เข้าไปนี่หยิบฉวยแล้วเขาจับเลยนะขโมยของ แต่ถ้ามีเงินวางให้เขา ๕ บาท ๑๐ บาทก็วางให้เขา แลกเขามาเลย
นี่ก็เหมือนกัน ทำสมาธิของเรา ถ้ามีสมาธิขึ้นมามันก็จับได้ มีสมาธินะ มีปัญญามันก็เหมือนกับมีทุน มันก็มีทุน จะแลกมาให้เห็นกายก็ได้ เห็นภาวนา เห็นจิต เห็นธรรมก็ได้ มีเงินเท่าไรก็ได้ ของแพงขนาดไหนมีเงินเหนือมันวางปั๊บหยิบสินค้ามาเลย
จิตสงบแล้ว สงบมาก สงบน้อยมันก็จับได้ ไอ้นี่เงินก็ไม่มีเลย แต่อยากได้สินค้า จับไม่ติด จับไม่ติด คืออยากได้ของแต่มันไม่มีสตางค์ซื้อ อยากได้ของแล้วไม่มีสตางค์ซื้อก็ทุกข์ตายสิ อยากได้ของก็ทำภาวนาสิ อยากได้ของก็ตั้งใจไว้ ภาวนาพุทโธนี่หาเงินมา แล้วมีเงินแล้วเดี๋ยวไปแลกมาเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามีสมาธิแล้วกลับมาพุทโธเดี๋ยวจะจับติด ไอ้จับไม่ติด จับไม่ติดนั่นน่ะ ถ้าเราจะจับๆ เขา จะเอาของเขาให้ได้แต่ไม่หาสตางค์ แต่พอหาสตางค์กลับมาพุทโธนะ กลับมาที่พุทโธ ถ้าทำแล้วไม่ได้ไม่ต้องไปทำ กลับมาที่สมถะ นี่พื้นฐานสมถะสำคัญตรงนี้ไง ที่ว่าพุทโธ พุทโธ ถ้าไม่มีพุทโธ สติปัฏฐาน ๔ ปลอมทั้งนั้นแหละ
ถ้ามีพุทโธ ถ้าจิตสงบแล้วสติปัฏฐาน ๔ ก็จริง จริงเพราะอะไร? จริงเพราะมันมีจิต จริงเพราะว่าจิตสงบ จิตสงบแล้วจิตออกรู้ ต้องมีตัวนี้ ถ้ามีตัวนี้ขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบแล้ว ไอ้ที่ว่าถูกหวยๆ เพราะว่ามันแทงมันถึงถูกไง ไม่มีสตางค์ไปแทงหวยได้อย่างไร?
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตสงบแล้วมันจับได้มันก็ถูกหวยไง มันก็จับได้ จับติดไง พอไม่มีสตางค์ไปแทง แทงเชื่อเขาไว้นะเดี๋ยวเขาจะมาทวงหนี้ ถูกก็ไม่ถูก แถมเป็นหนี้ด้วย แทงหวยแล้วเป็นหนี้ด้วย นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธไว้ กลับมาที่พุทโธ กลับมาเพื่อเรา ทำเพื่อเราให้ดีนะ ถ้าทำให้ดีแล้วมันก็เป็นไปได้
นี่พูดถึงว่า ให้หลวงพ่อให้อุบายด้วย
ให้อุบายแล้ว นี่ให้อุบายแล้วตั้งใจของเรา ทำของเราเนาะ การภาวนาไม่ใช่งานเล่นๆ หรอก ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่าอยู่ฟากตาย เวลากิเลสมันอยู่บนใจของเรา เราจะทำอะไรให้พ้นจากใจของเรา มันก็อ้างว่าทำนู้นเดี๋ยวจะลำบากนะ ทำนี่เดี๋ยวจะตายนะ
นี่ธรรมะมันอยู่ฟากตายไง ตายอยู่ตรงนี้ ข้ามตายไปมันถึงจะเป็นธรรมะ ธรรมจริงๆ จะเกิดอย่างนั้นเลย นี่เวลามันทุกข์ยากขนาดไหน ตายแล้วสู้ไม่ได้แล้ว เลิก เสร็จมันหมดแหละ เอาตายมาอ้างล้มลุกคลุกคลานหมดเลย แต่เพราะเราเข้มแข็งนะ.. ตาย อะไรตายก่อน ขอดูซิอะไรตายก่อน ข้ามพ้นตายไปก็จิตสงบ จิตเป็นธรรมะ จิตปฏิบัติพ้นจากกิเลสไป
นี่การกระทำของภาวนา ถึงบอกว่าการภาวนาไม่ใช่ของง่าย แต่! แต่ไม่พ้นวิสัยของมนุษย์ ไม่สุดวิสัยที่เราจะทำได้ ทุกคนทำได้นะ ทุกคนทำได้ แต่ต้องเข้มแข็ง เข้มแข็งแล้วพยายามของเรา พยายามเพื่อประโยชน์กับใคร? ประโยชน์กับตัวเราเอง เอวัง