เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะ เห็นไหม เราว่าเรารู้กันหมดแล้ว แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ถึงอานิสงส์ของการฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ แก้ความลังเลสงสัย นี่แก้ความลังเลสงสัยของตัว ทำให้จิตใจผ่องแผ้ว นี่พูดถึงเรื่องอานิสงส์ของการฟังธรรม
แต่เวลาเราบอกว่าเราเข้าใจแล้ว เราศึกษาแล้ว ก็พูดเรื่องเก่าๆ นั่นแหละ คำว่าพูดเรื่องเก่าๆ นะ แต่มันไม่โดนใจ มันไม่สะเทือนใจ ถ้าไม่สะเทือนใจ เห็นไหม เพราะเวลาเราศึกษาธรรมะ มีคนทุกข์คนยากแล้วไปศึกษาธรรมะ พอศึกษาธรรมะแล้วนี่ อืม.. พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างนั้น บางคนนี่ชีวิตเรามีความร่มเย็นเป็นสุข อยากจะหาที่พึ่งเราก็ศึกษาธรรมะกัน
จิตใจของคนศึกษาธรรมะมันมุมมองแตกต่าง ความแตกต่าง ความเข้าใจเราแตกต่างกัน แต่เวลาศึกษามาแล้วนะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าปริยัติคือการศึกษา ถ้าปริยัติแล้วมันต้องเป็นวงของปริยัติ คือวงของการศึกษา วงของการศึกษานั้นมันไม่ใช่วงการปฏิบัติ
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
มันต้องมีการปฏิบัติ มีการค้นคว้า มีการเข้าไปประสบการณ์ ประสบการณ์อันนั้น เห็นไหม ฉะนั้น ประสบการณ์อันนั้นเราไม่มีไง มันเลยเป็นชาล้นถ้วยไง เวลามานี่ เข้ามาในวัดโอ่อ่านะ ความรู้ท่วมหัว มันล้นถ้วยหมดเลย ชาล้นถ้วยนะ แก้วชามันก็ไม่รู้ว่าชารสชาติอะไร น้ำที่จะล้นถ้วยไปมันก็ไม่ได้ประสบการณ์สิ่งใดเลย นี่ไงศึกษามากไง รู้มากไง แล้วฟังธรรมๆ ฟังธรรมของเก่าๆ ทั้งนั้นแหละ แต่ธรรมของเก่าๆ แต่ถ้ามันสะเทือนใจนะ กิเลสมันอยู่ที่ใจ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเราไม่ทำชาล้นถ้วย เห็นไหม เราศึกษามากน้อยขนาดไหน มันเป็นความรู้ของเรา แต่เวลาเราเคยมีแง่ มีเกร็ด มีความรู้ มีมุมมองในศาสนาอย่างใด เวลาฟังธรรมไปนะ อืม.. เรื่องนี้เราไม่เคยคิดเลยเนาะ อืม.. ทำไมเรื่องนี้เรามองข้ามไปเลยเนาะ
นี่เพราะอะไรล่ะ? เพราะมันล้นถ้วยไง ชามันล้นถ้วยมันเลยไม่มีสิ่งใดเข้าไปในหัวใจของมัน แต่ถ้ามันพร่องถ้วยนั้นแล้วนี่ธรรมะมันจะเข้าไปสะเทือนใจของตัว ถ้าเข้าสะเทือนใจของตัว เข้าสะเทือนใจที่ไหนล่ะ? นี่เวลาศึกษา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา.. ศีลนี่ท่องได้ นกแก้ว นกขุนทองมันก็ท่องได้ นกแก้วมันท่องดีกว่าด้วย มันท่องได้ทั้งวันทั้งคืนเลย นกแก้วลองสอนมันสิ มันพูดได้ทั้งวันทั้งคืนเลย แต่มันไม่รู้เรื่อง
นี่ก็เหมือนกัน เราก็รักษาศีลกัน รักษาศีลๆ ศีลเป็นกฎ ศีลเป็นข้อห้าม แล้วความจริงของมันอยู่ไหนล่ะ? ศีลในกรรมฐานเรา เห็นไหม ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติมันไม่ผิดศีลหรอก ถ้าใจมันปกติ ใจมันไม่ได้ทำอะไรเสียหายเลยมันผิดไปตรงไหน? แต่เราก็ระแวงไปหมด ระแวงระวังไปหมดเลย เลยกลายเป็นเกร็งไง ศีลเกร็ง ศีลเคร่งไง
แต่ถ้าเราไม่ทำสิ่งใด จิตใจเราปกติไม่ทำสิ่งใด ถ้าทำสิ่งใดมันผิดพลาด ความผิดพลาดนั้น เห็นไหม คนมีกิเลสอยู่ต้องมีความผิดพลาด พระถึงมีการปลงอาบัติ นี่พวกฆราวาสเราก็มีการต่อศีล เพราะคำว่าศีลขาดก็ต่อศีล ศีลขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย.. มันไม่ขาดหรอก มันไม่ขาด มันด่างพร้อย มันด่างพร้อยเพราะอะไร? เพราะเราวิตกกังวลไปเองไง วิตกกังวล มันมีความทุกข์ ความยาก นี่ศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ มันมีของมันเป็นชั้นเป็นตอนของมัน มันมีองค์ประกอบของมันไง
ปาณาติปาตา เราจะฆ่าสัตว์ เราจะคิดฆ่าสัตว์ เราเดินไปจะฆ่าสัตว์..ยังไม่ขาด เราลงมือฆ่าสัตว์.. สัตว์ตาย ปาณาติปาตาครบองค์ประกอบของมัน ศีลขาด
เราจะคิดฆ่าสัตว์ อืม.. แต่มันคิดตรงข้าม เออ.. น่าสงสารมันเนาะ มันก็มีชีวิตเหมือนกันเนาะ จะไปทำมันทำไม? ขาดไหม? ไม่ขาดหรอก แต่ด่างพร้อยไหม? ด่างพร้อย เศร้าหมอง ศีลเศร้าหมองนะ เพราะเราคิดอยากกระทำ แต่ไม่ได้กระทำ มันเศร้าหมองในหัวใจของเรา เห็นไหม แต่มันไม่ขาดเพราะไม่ได้ทำ แต่ถ้ามันทำไปแล้วนี่มันขาด ถ้าขาดแล้วเราก็ต่อของเรา เราต่อศีลเพราะความผิดพลาดใช่ไหม?
กรรม! กรรมคือการกระทำ ทำไปแล้วจะไปลบล้างมันได้อย่างไรล่ะ? จะไปลบล้างสิ่งที่ทำไปแล้วได้อย่างไร? แต่ถ้าเราสารภาพ เรายอมรับผิด เห็นไหม นี่เราก็สบายใจของเรา ใช่ เราผิดพลาดไปแล้ว พอเราผิดพลาดไปแล้วเราก็จะแก้ไข พอแก้ไข เห็นไหม พระเรานะเวลาปลงอาบัติบอกว่า ข้าพเจ้าจะไม่ทำความผิดอย่างนี้อีกแล้ว ข้าพเจ้าจะสำรวมระวังต่อไปข้างหน้า เวลาท่องปลงอาบัตินั่นน่ะ นี่สาธุ สุฏฐุ ข้าพเจ้าจะมีสติ ข้าพเจ้าจะตั้งใจ ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งนี้อีกแล้ว มันเป็นการประจานตัวเอง
การประจานตัวเองนี่พระพุทธเจ้าสอนว่า เป็นอริยวินัย ผู้ใดทำความผิดพลาดแล้วรู้สำนึกว่าผิด แล้วมีการแก้ไข นั้นเป็นคนดี ผู้ใดมีความผิดพลาดแล้วทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนนั้นเป็นคนไม่แก้ไข เห็นไหม เวรกรรมก็จะต่อเนื่องกันไป แต่ถ้ามันทำกรรมแล้ว กรรมก็คือกรรม กรรมดีและกรรมชั่ว
กรรมคือการกระทำ เราเคยทำผิดพลาดไปแล้ว เรามาทำคุณงามความดี กรรมที่ทำมาแล้วนะมันก็เหมือนเกลืออยู่ในภาชนะ เราทำความดีก็เหมือนน้ำ น้ำเจือจางๆๆ ไป เกลือนั้นมันก็รสเจือจางไป เจือจางไป เพราะคุณงามความดีของเรา เห็นไหม แต่บอกว่ามันไม่มี เป็นไปได้อย่างไรมันไม่มี ทำแล้วคือกรรม กรรมสิ่งใด ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำดีต้องได้ดี ใครทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่ทำความดีนี่ทำไมไม่เห็นมีความสุขซักที เพราะ! เพราะเราไม่รู้จักว่าความสุขมันคืออะไรไง
ความสุขคือบุญกุศลนะ ในครอบครัวเรามีความร่มเย็นเป็นสุขนะ ในครอบครัวเราคุยกันรู้เรื่อง นี่บุญอันนี้หายากมากเลย ไอ้แก้วแหวนเงินทองมันยังหามาจากข้างนอกได้ ถ้าไม่ได้ก็ยังช่วยเหลือเจือจานกันได้ แต่ความเข้าใจกัน ความรู้สึก ความเข้าใจกัน ความร่มเย็นเป็นสุข นี่อันนี้หายากมาก
ฉะนั้น จิตใจเวลาภาวนาก็ภาวนาตรงนี้ เวลาชามันล้นถ้วยมานี่ โอ้โฮ.. มันเข้ามาบอกว่ารู้หมดแล้ว หลวงพ่อไม่ต้องพูดหรอก พูดทุกวันน่าเบื่อ.. น่าเบื่อไม่เห็นทำดีซักที น่าเบื่อก็ยังหนวกหูทุกวัน น่าเบื่อก็ยังต้องจ้ำจี้จ้ำไชอยู่นี่ ถ้าน่าเบื่อ ทำดีแล้ว..
เอ้อ ไม่อยากจะพูดเหมือนกันแหละ แต่นี่ด้วยการตอกย้ำ เวลาเราประพฤติปฏิบัตินะ เวลาเราออกมาจากครูบาอาจารย์ เวลามันห่อเหี่ยว เฉา เศร้าสร้อย ก็ไปหาครูบาอาจารย์ซะที ไปชาร์ตไฟไง ไปให้ท่านเทศนาว่าการ ถ้าประสาเราก็ไปให้ท่านด่านั่นแหละ ไปถึงท่านก็ด่าเลยนะ ไปธุดงค์มานี่ได้อะไรมา เขาไปธุดงค์เพื่อความสงบวิเวก เอ็งไปธุดงค์มา เอ็งไปเอายาฝิ่นมา ไปเอายาเสพติดมาใช่ไหม?
ไปธุดงค์มาก็ไปเที่ยวบ้านนั้น ไปเที่ยวบ้านนี้ ก็ไปเห็นบ้านนั้นมีความสุข บ้านนั้นมีความทุกข์ความยาก ยาเสพติดทั้งนั้น พอไปเห็นขึ้นมามันก็ทุกข์ใจไง นู่นก็ดี นี่ไม่ดี มีดีและไม่ดี มันก็กดถ่วงใจ ถ้าเขาไปธุดงค์นะ เขาเข้าป่าเข้าเขาใช่ไหม? มีความสงบระงับ ไปธุดงค์ก็ไปเอาความสงบสงัด ความวิเวกในหัวใจ เอากำลังของใจมา เออ.. นี่ไปธุดงค์
ไปธุดงค์นะก็ไปดูบ้านนั้น ไปดูบ้านนั้น ที่นู่นเจริญ ที่นี่ไม่เจริญ ที่นั่นมีการค้าดี ที่นี่ไม่ดี กลับมาได้อะไรกลับมา ได้ยาเสพติดมา ออกไปเที่ยวก็ได้ยาเสพติดมา เวลากลับมาหาหลวงตาท่านจะใส่ทุกทีเลย ไปธุดงค์กลับมาได้อะไรมา ใครไปธุดงค์กลับมาจะถามว่าได้อะไรมา? ได้ความดีหรือได้สิ่งที่ติดข้องในหัวใจมา นี่แล้วเรารู้อะไรล่ะ?
โอ๋ย.. ไปธุดงค์นะ แบกกลดแบกบาตรเข้าป่าเข้าไปนะ กลับมานี่เก่งมาก นี่พระป่าออกจากป่ามา เสือมันอยู่ในป่า ช้างเป็นโขลงๆ มันอยู่ในป่า ไม่เห็นมันเป็นอะไรดีขึ้นมาเลย มันอยู่ในป่าโดยสัญชาตญาณของมัน มันเป็นสัตว์ป่า มันอยู่ในป่าของมัน เรายังมีความเมตตาของมัน เห็นไหม ช่วยดูแลปกป้องมันเพราะมันอยู่ในป่า นี่สัตว์ป่า
แต่เราเป็นคน เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราหาชัยภูมิ ชัยภูมิในการต่อสู้กับกิเลสของเรา ในเมื่อมันอยู่ในหมู่คณะ อยู่ในที่สงบร่มเย็น มันจะพึ่งคนนั้น จะพึ่งคนนี้ คนนู้นจะช่วยเหลือเรา ผีก็ไม่กลัว อะไรก็ไม่กลัว โอ๋ย.. คนอยู่เยอะเต็มไปหมดเลย พอเข้าป่าไปแล้วนะผีก็กลัว สัตว์ก็กลัว ทุกอย่างก็กลัว เห็นไหม
นี่ชัยภูมิ ชัยภูมิเพราะจิตใจมันเริ่มดีดดิ้น เราไม่มีที่พึ่งแล้ว ปัจจุบันนี้ไม่มีที่พึ่งแล้ว พึ่งใครก็ไม่ได้เพราะอยู่คนเดียว อยู่ในป่าในเขาอยู่คนเดียว สัตว์ป่ามันจะกินหัวเอาเดี๋ยวนี้จะเอาที่พึ่งที่ไหน? มันก็ต้องรักษาใจของตัว นี่มันหาชัยภูมิของตัวเองเจอ เข้าป่าเข้าเขา ไปธุดงค์มาไม่ใช่ว่าไปแบกกลดแบกบาตรไปแอ๊คเขา นี่พระธุดงค์นะ จะสักหน้าผากเลยพระธุดงค์นะ ธุดงค์มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่เวลากลับมาหาครูบาอาจารย์ ท่านบอกว่าไปเที่ยวธุดงค์มาได้อะไรกลับมา ได้อะไรกลับมาต้องมาเล่าให้ท่านฟัง ฉะนั้น เวลาพวกเราเฉา เหงาหงอย เศร้าสร้อย เราก็ไปหาครูบาอาจารย์เพื่อไปชาร์ตไฟกัน เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน ฟังเทศน์ๆ ฟังเทศน์คือปลุกเร้าหัวใจ คือกระตุกหัวใจ หลวงตาเวลาท่านพูดบอกว่า ต้องกระตุกบ้าง กระตุกคือด่าแรงๆ ถ้าเรียบๆ ก็เออ.. ธรรมดาปกติ ต้องกระตุก เพราะเราไม่รู้สึกตัว เหมือนพ่อแม่ดูแลลูก ลูกผิดลูกถูกเราก็ต้องดูแลมัน ลูกของเราถ้าผิดไปถูกไป พ่อแม่ก็ต้องรับผิดชอบไปจนหมดชีวิต เราจะไปตัดมันได้อย่างไร?
นี่ก็เหมือนกัน ศากยบุตรพุทธชิโนรส เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็ดูแลพวกเรา ดูแลพวกเรา จะดูแลพวกเราให้ไปให้ได้ดี ไอ้เราก็ว่านู่นก็ดุ นี่ก็ดุ.. ดุนี่ดุใครล่ะ? ดุความพลั้งเผลอของเรา ดุความไม่เอาไหนของเรา ดุความผิดพลาดของเรา แล้วเวลาผิดพลาดขึ้นมาก็เหมือนชาล้นถ้วยไง นี่ผิดได้อย่างไร? ดูสิมันล้นออกมานี่ โอ๋ย.. ล้นถ้วยเลย
นี่ยึดมั่นถือมั่นความเห็นของตัว มันไม่พร่องตัวมันเอง มันจะไม่ได้อะไรในใจมันเลย ใจมันจะต้องพร่องลงนะ ถ้าเราพร่องชามันไม่ล้นถ้วย ศึกษาขนาดไหนก็แล้วแต่ศึกษาไว้ แต่ถ้าเป็นภาคปฏิบัติ เห็นไหม เราปฏิบัติขึ้นมาแล้วประสบการณ์อันนั้นเป็นความจริงนะ ถ้าประสบการณ์เป็นความจริงแล้วรสชาติได้หมดนะ
รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง
รสของความสงบของใจ เห็นไหม เราบอกอยากหาความสุขๆ กัน เราก็แสวงหากัน นี่ไปพักผ่อน ไปตากอากาศ มันก็เป็นทางโลกคือได้ผ่อนคลาย เขาว่าบรรเทาไม่ใช่แก้ มันบรรเทาไง บรรเทาพอให้รอดตายไง เวลามันเครียด มันจะตายซะทีก็ เออ.. ไปชายทะเล โอ๋ย.. ไปภูเขา โอ๋ย.. มีความสุขกลับมา มันไปผ่อนคลาย นั่นล่ะเวลาไปผ่อนคลาย
สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
จิตสงบ เห็นไหม เราอยู่ของเรานี่จิตสงบ นั่งเฉยๆ เป็นการผ่อนคลาย ให้หัวใจมันได้พักได้ผ่อนของมัน หลวงตาบอกว่าเครื่องยนต์ เวลาประกอบเสร็จแล้วก็ติดเครื่องแล้วไม่เคยดับเลย นี่เครื่องยนต์นะ เพราะเราเห็นตั้งแต่เวลาประกอบเสร็จ
จิต! จิตมันไม่เคยหยุดเลย อยู่ภพใดชาติใดพลังงานตัวนี้จบไม่ได้ ปฏิสนธิจิตมาเกิดเป็นมนุษย์ ตั้งแต่เกิดขึ้นมาความคิดมีตลอดเวลา นอนก็ฝัน หลับลึกๆ นั่นน่ะเข้าพักบ้าง แต่ถ้ามันนั่งสมาธินะ พอจิตมันสงบ ตื่นๆ อยู่นี่แหละมันสงบ รู้ชัด รู้แจ้ง ไม่ได้สักแต่ว่าว่างๆ รู้ชัดแล้วสดชื่นมาก แล้วมีคุณค่ามาก แต่! แต่กว่าจะได้มานะ
พอกำหนดพุทโธตั้งสติขึ้นมานะ นี่กิเลสมันขับดันมาก คนไม่ทำงานนะ คนไม่ได้ภาวนานะก็ว่า อืม.. เราก็สบาย เราก็อยู่ได้นะ พอไปภาวนาเข้า เอ๊ะ.. ทำไมเราเป็นคนเลวขนาดนี้ล่ะ ทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำไมฟุ้งซ่าน นี่เริ่มเห็นความผิดของตัวแล้ว เห็นไหม ชาไม่ล้นถ้วยแล้ว แต่ถ้ามันชาล้นถ้วยนะ โอ้โฮ.. ดีไปหมด ยอดไปหมด ยอดเยี่ยม อู๋ย.. ดีไปหมดเลย แต่ดีทำไมตั้งสมาธิไม่ได้? ดีทำไมตั้งสติไม่ได้? ดีทำไมดูแลตัวเองไม่ได้? ก็มันไม่ดีจริงน่ะสิ
ถ้ามันไม่ดีจริง เห็นไหม มันก็เริ่มตั้งสติ ถ้าไม่นั่งภาวนา ถ้าเราไม่บังคับตัวเราเองนะ อู้ฮู.. ดีหมดเลยแหละ สบายมาก ทำอะไรก็สบาย พอบังคับตัวเองเท่านั้นแหละมันดิ้นทันทีเลยนะ กิเลสมันดิ้นทันทีเลยนะ พอกิเลสมันดิ้น นั่นแหละชาจะไม่ล้นถ้วยแล้ว เพราะ! เพราะสิ่งที่เป็นชาล้นถ้วยไม่มีรสชาติ ไม่มีสิ่งใดเลย เพราะถ้วยแก้วมันไม่มีชีวิต ชานั้นมันก็ไม่มีชีวิต
สิ่งที่เป็นชาล้นถ้วยมันเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต มันเป็นวัตถุ แต่หัวใจเรามันมีความรู้สึก แต่กิเลสมันล้นถ้วยอยู่ มันปิดบังอยู่ มันไม่ให้เราเข้าใจตัวเราเองเลย แล้วเราไปศึกษาสิ่งใดนี่อ้างหมด อ้างว่ารู้ อ้างว่ารู้ ไปศึกษามานี่ทฤษฎีของใคร เขาพิสูจน์ เขาตรวจสอบมาเป็นทฤษฎีแล้ว เราไปศึกษาเท่านั้นแหละ นี่อ้างว่ารู้หมด รู้แล้วทำอะไรได้ขึ้นมา? นี่ทั้งชีวิตศึกษามาๆ เอามาใช้กับชีวิตตัวเองมากน้อยแค่ไหน?
แล้วเวลาศึกษาขึ้นมา ในธรรมะ เห็นไหม เราไปศึกษามาเพื่อใช้กับชีวิตตัวเองเท่านั้น อย่างเช่นการเสียสละ นี่เสียสละไปพระได้แล้ว ดูพระเอาไปหมดเลยแล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ? พระได้แต่วัตถุไป แต่คุณค่าของน้ำใจ คุณค่าของบุญกุศลเราเป็นคนฝึกหัดใจ ให้ใจมันได้ฝึกหัด มันได้เสียสละ ให้มันรับรู้ของมัน พอรับรู้ของมัน สิ่งที่รับรู้นั่นล่ะบุญมันอยู่ที่นี่ แล้วฝึกหัดจนมันเคยชินของมันนะ
จิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ เขาจะหวั่นไหวขนาดไหน โลกเขาคึกคะนอง เขาจะหวั่นไหวขนาดไหน เราดูเขานะ เห็นไหม ในนวโกวาท ที่ไหนมีเสียงเพลงก็ไปที่นั่น ที่ไหนมีการพนันก็ไปที่นั่น ที่ไหนมีการสนุก มีการครึกครื้น ไปที่นั่น ไปที่นั่น ไปกับโลกหมดเลย.. แต่ที่ไหนมีมหรสพเราไม่ไป ที่ไหนมีเราไม่ไป เรามีหลักมีใจของเรา เห็นไหม ถ้ามีหลักมีใจนี่เราไม่ไปกับเรา นี่ไงคนที่มีหลักมีเกณฑ์มันไม่หวั่นไหวไปกับโลกไง
โลกพร่องอยู่เป็นนิจนะ โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจไม่มีวันเต็ม มันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงอนิจจังตลอดไป นี่แต่หัวใจเราเต็มได้ เราตั้งของเราได้ เห็นไหม ฉะนั้น เราศึกษาแล้วเรามาปฏิบัติของเรา.. พิสูจน์ นี่กาลามสูตรไม่ให้เชื่อ เราพูดนี่เขาก็ไม่ให้เชื่อ เราพูดอยู่นี่ก็อย่าเชื่อ เชื่อเรานี่ แล้วถ้าเราตายไปจะเอาใครเป็นคนค้ำประกันล่ะ?
เราก็ต้องตายไปข้างหน้านะ ไม่มีใครค้ำประกันใครหรอก ไม่ให้เชื่อ แล้วพิสูจน์ขึ้นมา ทำใจของเราขึ้นมา พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ ให้เชื่อความจริงในหัวใจที่เราสัมผัส แล้วถ้าความจริงในหัวใจมันมีอยู่เดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่นี่มาคุยกัน ถ้าใจใครมันสูงส่งกว่าเปิดมา แล้วบอกว่าเราเป็นคนสอนนี่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เป็นคนสอนเขาแท้ๆ แล้วเรื่องในใจอย่างนี้ไม่รู้แสดงว่าภาวนาไม่เป็น! ถ้าภาวนาเป็นมันจะรู้ของมัน
นี่ใจอันนี้นะไม่ให้เชื่อ ให้เชื่อประสบการณ์ ให้เชื่อการกระทำของเรา เราทำมาเพื่อหัวใจของเรานะ นี่ชาไม่ล้นถ้วย ถ้าชาไม่ล้นถ้วยเราจะได้ประโยชน์กับเรา ถ้าชาล้นถ้วย ไปที่ไหนเราจะไม่ยอมฟังอะไรเลย นี่ฟังแล้วไปคิด ไปพิจารณา สิ่งที่ความเห็นที่เราศึกษามามันเป็นอะไร? แล้วที่เราพูดมันเป็นจริงไหม? อย่าให้ชาล้นถ้วย
ชาล้นถ้วยนี้มันเป็นการเปรียบเทียบของเซนเขา แต่ถ้าประสาเราก็ว่ากิเลสมันล้นฝั่งไง กิเลสในหัวใจเรามันท่วมท้นใจเรา มันท่วมท้นหัวใจแล้วมันเหยียบย่ำอยู่นี่ แล้วไปหลงว่ามันเป็นธรรมๆ หลงว่าเป็นความดี นี่พร่องมัน แล้วแก้ไขมัน เราจะได้ประโยชน์กับเรานะ ถ้าได้ประโยชน์กับเราขึ้นมา เห็นไหม เราจะเป็นชาวพุทธ ฟังธรรมแล้วได้ประโยชน์ เอวัง